ฉบับที่ 167 ทีวีจอโค้ง Vs. ทีวีจอแบน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการในปัจจุบันเราจะเห็นทีวีจอโค้งได้วางขายในห้างร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยใช้การตลาดและการโฆษณามาจูงใจให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทีวีจอโค้งที่มีราคาสูงกว่าทีวีจอแบนนั้น คุณภาพจะต้องดีกว่าทีวีจอแบนตามราคาที่สูงขึ้นไปด้วย บทความในวันนี้จะมาไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภคที่กำลังจะตัดสินใจซื้อทีวีจอโค้งว่า จะได้ทีวีคุณภาพดีสมกับที่โฆษณาไว้หรือไม่ จากข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนีนั้น ทีวี 3 มิติ ไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีนักจากตลาด และ ทีวีแบบความคมชัดสูงมาก (UHD: Ultra High Definition) ก็หาแผ่นดีวีดี หรือ รายการที่ส่งข้อมูลด้วยความคมชัดสูงมากได้ยาก ดังนั้นสินค้าตัวใหม่ที่นำเสนอตลาดเพื่อล่อตาล่อใจผู้บริโภคนั้นคือ ทีวีจอโค้ง จากผลการทดสอบคุณภาพของทีวีจอโค้งนั้น (Samsung UE55H8090 จอโค้ง ราคา 1990 ยูโร) ได้ผลออกมาว่า คุณภาพและความคมชัดของภาพไม่ได้แตกต่างหรือมีผลต่อการมองเห็นไปจากทีวีจอแบนแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับทีวีจอแบน (Samsung UE55H7090 จอแบน ราคา 1750 ยูโร หรือ LG 47LB630 V ราคา 580 ยูโร) เพราะฉะนั้น การเลือกซื้อทีวีจอโค้งหรือจอแบน เป็นเรื่องของความชื่นชอบส่วนบุคคลเสียมากกว่า สิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงในการเลือกซื้อทีวี คือ ต้องพิจารณาถึงความชื่นชอบในรายการที่ดูเป็นรายบุคคล ในกรณีที่ชอบดูรายการประเภทกีฬา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล วอลเลย์บอล มวย หรือแบดมินตัน ความไวของภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีการเคลื่อนไหวของภาพด้วยความเร็วสูง การแสดงภาพบนจอต้องต่อเนื่อง ไม่ขาดๆหายๆ หรือภาพต้องไม่มีการเหลื่อมซ้อนทับกัน จากผลการทดสอบมี 3 รุ่นที่ไม่แนะนำสำหรับการรับชมรายการประเภทกีฬา เนื่องจากเกิดการกระตุกของภาพเคลื่อนไหวคือ Philips รุ่น 48PFK 5509 Samsung UE 48H5570 และ Sony รุ่น KDL 48W605B สำหรับผู้บริโภคที่นิยมการบันทึกรายการเพื่อนำกลับมาดูย้อนหลัง ก็ต้องเลือกทีวีที่สามารถอัดรายการได้ และสามารถดูรายการช่องอื่นไปพร้อมๆ กับการอัดรายการได้ด้วย(TV with double receiver) ปัจจุบันผู้ผลิตทีวีมักจะไม่ให้ คู่มือการใช้งานชนิดที่เป็นรูปเล่มแบบสมบูรณ์เหมือนสมัยก่อน แต่มักจะเป็นคู่มือที่อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กโทรนิกส์ที่จัดเก็บไว้ในทีวี ในกรณีที่ทีวีไม่มีปัญหาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดตัวทีวีมีปัญหาขึ้นมา และผู้บริโภคต้องการค้นหาข้อมูลก็จะเกิดความยุ่งยากทีเดียว นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงการประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยเช่นกัน จากผลการทดสอบ ทีวีที่ประหยัดไฟ คือ Philips 55PFK7199 จอแบน ราคา 1170 ยูโร สำหรับคุณภาพของเสียง ทีวีจอโค้งของ Samsung รุ่น Samsung UE55H8090 จอโค้ง ได้รับคะแนนสูงสุด เท่ากับทีวีจอแบน ของ Samsung รุ่น Samsung UE55H7090 หวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อทีวีเครื่องใหม่ ในยุคดิจิตอลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับเงินได้บ้างพอสมควร (ที่มา: วารสาร Test ฉบับ 12/2014)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 Smart TV ข้อน่ากังวลสำหรับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้การประมูลทีวีดิจิตัลก็เสร็จเรียบร้อย กำลังทดลองออกอากาศในบางพื้นที่ แต่นโยบายแจกกล่อง set top box กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงถึงความโปร่งใส และราคาคูปองที่จะแจกให้ผู้บริโภค ที่ราคาอาจจะสูงเกินจริง จนทำให้ประเทศชาติเสียหายได้ ถ้าไม่ระมัดระวังและมีการควบคุมวิธีการแจกคูปองที่ดี อย่างไรก็ตามสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การสื่อสารยุคดิจิตัล การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตัลเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ผมขอนำสถานการณ์เกี่ยวกับ เรื่อง Smart TV ของเยอรมนี ที่อยู่ในยุคทีวีดิจิตอล แล้วเป็นข้อกังวลสำหรับคนที่ต้องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมานำเสนอครับ Smart TV คือ อะไร คำว่า smart แปลเป็นภาษาไทย คือ ฉลาด และ smart TV เป็นโทรทัศน์ที่นอกจากสามารถดูรายการต่างๆ ได้เหมือนกับเครื่องรับโทรทัศน์อื่นๆ แล้ว ยังสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และสามารถลง Application เหมือนกับ Smartphone ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารไปยัง social media ไม่ว่าจะเป็น facebook Twitter และ Youtube ผู้ชมสามารถใช้รีโมต ที่สามารถพิมพ์ตัวอักษร ในการเลือกช่องทางการสื่อสารที่สามารถเกิดขึ้นได้ไปพร้อมๆ กับการชมรายการทางโทรทัศน์  ที่เกิดขึ้นบนจอเดียวกัน สำหรับการเลือกซื้อ Smart TV ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาถึงความคมชัดของจอภาพ หากผู้ใดสนใจ ว่า Smart TV รุ่นไหนดีอย่างไรนั้น ต้องสอบถามมาที่ กอง บก. เนื่องจากสามารถเข้าถึงผลการทดสอบ Smart TV ของ ICRT ได้ แต่เงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องมี Wifi หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อ  โดยจะต้องมีความเร็วของอินเตอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 6 Mbits/ Second และสำหรับการรับชม HD Video ก็ไม่ควรมีความเร็วต่ำกว่า 8 Mbits/sec   ข้อน่ากังวลต่อประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สถานีโทรทัศน์ในเยอรมนีหลายช่อง รวมทั้ง Google ได้มีการเก็บข้อมูล ด้วยโปรแกรมที่ทำหน้าที่เหมือนกับสปาย (Google Universal Analytics) ที่สามารถสะกดรอยทางดิจิตัล (Digital trace) ผ่าน smart TV ได้ เมื่อผู้ชม Smart TV ใช้บริการของ Gmail หรือ Google ก็จะรู้ทันทีว่าใครเป็นผู้ใช้ ไม่สามารถปกปิด Identity ได้ นอกจากนี้ Smart TV บางยี่ห้อ เช่น ซัมซุง จะมีกล้องติดไว้ที่ Smart TV ด้วย เพื่อการสื่อสาร face to face communication Smart TV ก็จะจำหน้าของคนในครอบครัวที่ดูทีวีได้อีกด้วย ซึ่ง Smart TV จะจำได้ว่าสมาชิกในครอบครัวคนไหน ชอบดูรายการใด และสามารถรู้ได้อีกเช่นกันว่า ตรงไหนคือ เวลาโฆษณา ซึ่งจะทำให้ซัมซุงมีข้อมูลของผู้ชมทุกคนในครอบครัว หากใครต้องการปกปิดข้อมูลส่วนตัวนี้ ก็สามารถไปปิด Function Smart TV ที่เรียกว่า Personlization and Recommendation service นอกจากนั้นยังจะมีไมโครโฟนสำหรับใช้เสียงสั่งงานด้วย เช่น การใช้เสียงเปลี่ยนช่องรายการ เสียงที่ส่งไปยัง TV นั้น เป็นข้อมูลที่สำคัญเฉพาะตัว (Biomimetric data) ที่ไม่สมควรจะปล่อยออกไปยังอินเตอร์เน็ต เพราะสามารถถูกโจรกรรมข้อมูลและขโมย password ของเราได้ ทางที่ดีเราไม่ควรใช้งานอินเตอร์เน็ตด้วยระบบสั่งการด้วยเสียง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นงานที่สำคัญในเชิงเทคนิคสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ในการสื่อสารยุคดิจิตัลที่พลเมืองในฐานะผู้บริโภคต้องได้รับความคุ้มครอง การมีคณะกรรมการระดับชาติจึงมีความจำเป็น แม้ว่า ใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2553 จะมี มาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการรับมือกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนมาสู่ยุคดิจิตัล แน่นอนว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างแน่นอน   แหล่งข้อมูล test ฉบับที่ 12/2011 และ test 5/2014  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 เข้าสู่ยุคดิจิตัล: ทางเลือกของผู้บริโภคในการรับชมรายการทีวี บทเรียนจากเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการขณะที่คนไทยต่างกำลังตั้งหน้าตั้งตารอชมทีวีดิจิตัล ที่จัดการประมูลสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดีนั้น  ทางเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุค ทีวีดิจิตัล ในระบบ DVB-T (Digital Video Broadcasting- Terrestrial) ซึ่งรับส่งสัญญาณบนภาคพื้นดินเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเฉพาะในเขตที่เป็นชุมชนมีผู้อาศัยอย่างแน่นหนา เช่นเมืองมิวนิค มีจำนวนผู้ที่รับสัญญาณผ่านระบบนี้น้อยลง จนส่งผลให้สถานี RTL (Royal Television Luxemburg) ได้ใช้อ้างเพื่อที่จะระงับการส่งสัญญาณผ่านภาคพื้นดิน ซึ่งทำให้กลุ่มทุนสื่อของ ProsiebenSat 1 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ภาคเอกชน เข้าใช้ช่องสถานีที่ว่างลง โดยได้เล็งเห็นว่าในอนาคต การรับส่งสัญญาณผ่านภาคพื้นดินนั้นจะกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เมื่อสถานีโทรทัศน์สามารถส่งสัญญาณในระบบความคมชัดสูง (HD-TV) แต่อย่างไรก็ตามคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่นับวันจะมีการใช้งานลดลง เป็นสิ่งที่ นักลงทุนคาดหวังและต้องการที่จะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เมื่อเทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) หรือ  4 G ในสมาร์ตโฟนมีประสิทธิภาพเต็มรูปแบบ ก็จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่สามารถรับชมรายการต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา   สิ่งที่ผู้บริโภคในอนาคตจะต้องพิจารณาก็คือ ช่องทางใดที่ผู้บริโภคจะเลือกรับชมรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น ผ่านดาวเทียม ผ่านทีวีเคเบิล หรือผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม ข้อดีของทีวีดาวเทียมคือ มีช่องรายการมากมาย และสามารถรับสัญญาณได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (ฟรีทีวี) ยกเว้นช่องสถานีที่มีการส่งสัญญาณแบบความคมชัดสูง(HD) ที่มีการใส่รหัสการส่งสัญญาณที่เป็น เพย์ทีวี ที่ต้องสมัครเป็นสมาชิก จ่ายเป็นรายเดือน หรือ จ่ายตามรายการที่สนใจ (Pay per view) และข้อดีของทีวีดาวเทียมคือ จานดาวเทียมมีระบบที่รองรับการส่งสัญญาณทั้งแบบความคมชัดสูง (HD-TV) และแบบความคมชัดธรรมดา (SD Standard Definition-TV) อยู่แล้วก็จะทำให้ต้นทุนในการติดตั้งการรับสัญญาณนั้นราคาไม่แพงเหมือนการรับสัญญาณผ่านระบบอื่นๆ ข้อเสียของทีวีดาวเทียมคือ การติดตั้งจานดาวเทียม เพราะในเยอรมนีมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในเรื่องของการติดตั้งจานดาวเทียมนอกอาคาร เพราะจะเป็นการรบกวนทางทัศนียภาพ ซึ่งปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้โดยการรวมกลุ่มติดตั้งจานดาวเทียมของผู้อยู่อาศัยในอาคาร เพื่อจะลดจำนวนจานดวเทียมในการติดตั้ง   เคเบิลทีวี มีจำนวนช่องรายการน้อยกว่าทีวีดาวเทียม แต่ช่องรายการที่มีความคมชัดสูงก็สามารถส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิลได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการรับชมรายการช่องสาธารณะ ก็สามารถรับชมผ่านทางเคเบิลทีวี (และทีวีดาวเทียม ได้ทุกช่อง การรับชมผ่านเคเบิลทีวี ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกและจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือน และเนื่องจากทางผู้ประกอบการเคเบิลทีวีต้องหารายได้จากค่าโฆษณา ส่งผลให้การบันทึกรายการทีวีเคเบิลค่อนข้างยุ่งยาก คือการบันทึกรายการทีวีก็จะติดโฆษณารวมไว้ด้วย   อินเตอร์เน็ตทีวี (IPTV) ในเยอรมนีมีผู้ชมผ่านช่องทางนี้ 2-3 ล้านครัวเรือนที่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ตของบริษัท ด้อยทช์เทเลคอม (Entertain) และบริษัทโวดาโฟน (Vodafone TV) เมื่อเปรียบเทียบกับการรับชมผ่านเคเบิลทีวีนั้น การรับชมผ่านอินเตอร์เน็ตทีวีจะมีช่องรายการมากกว่าและการบันทึกสัญญาณนั้นสามารถทำได้สะดวกกว่า โดยสามารถบันทึกรายการเพื่อมารับชมภายหลังผ่าน ฮาร์ดดิสก์ ที่ติดมาพร้อมกับกล่องรับสัญญาณ ข้อเสียของอินเตอร์เน็ตทีวีคือ เรื่องราคา เพราะเป็นการเลือกชมรายการทีวีผ่านอินเตอร์เน็ตจะมีราคาสูงที่สุด และความเร็วของอินเตอร์เนตต้องสูง ทำให้ราคาในการเลือกรับชมทีวีผ่านช่องทางนี้สูงตามไปด้วย ซึ่งในทางเทคนิค ต้องเป็นเทคโนโลยีแบบ Broadband Internet จึงจะเหมาะสมกับการเลือกรับชมผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มา http://www.test.de/DVB-T-Antennenempfang-RTL-steigt-aus-4585522-0/   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 บทเรียนจาก ทีวีอนาลอก สู่ยุคดิจิตอล: บทสรุปของความสำเร็จในประเทศเยอรมนี (ตอนจบ)

สำหรับบทความในวันนี้ จะขอแปลบทสรุปของประเทศเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital Video Broadcasting- Terrestrial: DVB-T)  ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบนี้ในอนาคต ตามแผนแม่บทกิจการโทรทัศน์ที่ได้กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนการส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล นอกจาก กสทช.ที่เป็นองค์กรกำกับดูแลแล้ว หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน และต้องทำอย่างจริงจัง ไม่เกี่ยงงอนปัดความรับผิดชอบ ทำงานแบบร่วมไม้ร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ผลประโยชน์โดยรวมก็จะตกถึงประชาชนคนไทยตามเจตนารมณ์ของแผนแม่บทที่ได้ประกาศไว้   ปี 2003 ทดสอบการส่งสัญญาณระบบดิจิตอล ในเชิงพาณิชย์ เป็นครั้งแรกในเขตพื้นที่ เบอร์ลินและพอรท์สดัม หลังจากทดสอบนานกว่า 6 เดือน ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ได้นำไปสู่  โครงการนำร่องในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล ของการส่งสัญญาณทั่วประเทศเยอรมนี   ปี 2005 สถานีโทรทัศน์สาธารณะ(ฟรีทีวี) ทั้งสองช่อง คือ ช่อง ARD และ ZDF ได้ทำการตกลงร่วมกันในการติดตั้งและสร้างโครงข่ายสถานีกระจายสัญญาณให้คลอบคลุมการเข้าถึงสัญญาณ ของประชากร 90 %ทั้งประเทศ และตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ก็ได้มีการขยายการส่งสัญญาณออกไปยังรัฐอื่นตามมา เริ่มจาก รัฐเมคเคลนบวร์ก ทางตะวันออก และสามารถเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณเสร็จสมบูรณ์ ในปี 2008 สำหรับความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีครั้งนี้ คือการที่ประชาชนได้ตัดสินใจ ยอมรับการรับสัญญาณในระบบดิจิตอล สืบเนื่องมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ หน่วยงานกกำกับดูแลด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ ให้กับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคสื่อสารมวลชน อย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ในระดับภูมิภาค เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชน และเตรียมความพร้อมในการรับสัญญาณ เนื่องจากในประเทศเยอรมนีการส่งสัญญาณภาคพื้นดินคลอบคลุมถึง 90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลจึงส่งสัญญาณเป็นแบบ DVB-T (Digital Video Broadcasting- Terrestik*) นอกจากนี้ประชากรกว่า 30% ก็สามารถรับสัญญาณด้วยหนวดกุ้งได้ และจากรายงานของสมาคมผู้ประกอบการเครื่องรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ (Gesellschaft für Unterhaltungs- und Kommunikationselektronik) สามารถจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ได้มากกว่า 16 ล้านเครื่อง (ข้อมูลวันที่ 21 พฤศจิกายน  2008) ซึ่งเครื่องรับโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนี้ ก็เป็นโทรทัศน์จอแบน ที่ได้ออกแบบมาให้สามารถรับสัญญาณแบบดิจิตอลได้ โดยไม่ต้องไปเพิ่มอุปกรณ์เสริมใดๆ อีก นอกจากนี้การรับสัญญาณโดโทรทัศน์โดยตรงผ่านคอมพิวเตอร์ แล็บทอป ก็สามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์เสริม ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอลในรถยนต์มาตั้งแต่ ปี 2002 จากข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ มีการติดตั้งทีวีดิจิตอลในรถยนต์ไปแล้วกว่า 550,000 คัน ในส่วนของการรับประกันคุณภาพของอุปกรณ์รับสัญญาณแบบดิจิตอลนั้น ก็ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการทำงานของอุปกรณ์ประเภทนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถมั่นใจในการเลือกซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว ว่าจะได้รับอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งอุปกรณ์ใดๆ ผ่านการทดสอบมาตรฐานดังกล่าว ก็จะได้รับเครื่องหมายนี้ แผนการในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการส่งสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล จะต้องคำนึงถึงประเด็น Digital Divide เพราะคลื่นที่เคยใช้ส่งสัญญาณในช่วงความถี่ (UHF: Ultra High Frequency) จะว่างลง ซึ่งจะต้องมีการวางแผนและเตรียมการใช้คลื่นความถี่นี้ ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างสูงสุด และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจะต้องคำนึงถึง ความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค สร้างภาระและข้อจำกัดกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ -------------- หมายเหตุ : ระบบการส่งสัญญาณแบบดิจิตอลของเยอรมนีจะมี 3 ประเภทได้แก่ DVB-T: Digital Video Broadcast-Terrestrial การส่งสัญญาณดิจิตอลภาคพื้นดิน DVB-S: Digital Video Broadcast-Satellite การส่งสัญญาณดิจิตอลระบบดาวเทียม DVB-C: Digital Video Broadcast- Cable การส่งสัญญาณดิจิตอลระบบเคเบิล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 บทเรียนจาก ทีวีอนาลอก สู่ยุคดิจิตอล : บทสรุปของความสำเร็จในประเทศเยอรมนี

คดีระหว่างองค์กรผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3, 5 ช่อง 9 อสมท. และกองทัพบกยังไม่จบครับ แม้นจะเป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไม่ยอมออกคำสั่งคุ้มครอง โดยศาลให้เหตุผลว่าหากศาลมีคำสั่งให้ทางทีวีสาธารณะเผยแพร่สัญญาณออกอากาศทุกช่องทาง อาจทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ คือ UEFA สั่งระงับสัญญาณการถ่ายทอดสัญญาณได้ทันที ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจศาล และมีผลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับชมบอลยูโรได้ และการที่ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครอง ก็ยังสามารถรับชมการถ่ายทอดสัญญาณผ่านช่องทางอื่นได้ (ถ้ายังจำกรณีวิกฤติระหว่างประเทศทั้งสองที่เครื่องบินส่วนพระองค์ถูกทางเยอรมันอาญัติไว้เป็นการชั่วคราว จนทำให้มีหลายคนในรัฐบาลเดือดร้อนกันไปตามๆ นั้น จะเห็นได้ว่า การตัดสินของศาลเยอรมนี จะคำนึงถึงหลักนิติธรรม เป็นที่ตั้ง ในกรณีนี้ หากเป็นศาลไทยผมยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ศาลคงหาเหตุผลมาอธิบายในการที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ซึ่งประชาชนอย่างเราก็ต้องจับตามองการทำงานขององค์กรศาลด้วยเช่นกัน)   สำหรับประเด็นการทำผิดกฎหมายแล้วอยู่นอกเหนืออำนาจศาลนั้น เคยมีกรณีของศาลอาญาเยอรมนี ได้สั่งให้ทางเฟสบุค ซึ่งเป็นผู้เก็บข้อมูล ไว้ที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ส่งหลักฐานมาให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณา จริงๆ แล้ว หากศาลของเรามีความตั้งใจจริงในการไต่สวน เพราะในคดีผู้บริโภคก็ได้เปิดช่องไว้เช่นกันนั้น น่าจะลองทำดู โดยการส่งหนังสือเรียก  UEFA มาเป็นพยานให้การ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดี ที่ในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องพรมแดนและขอบเขตอำนาจศาล ในประเด็นการทำผิดหรือละเมิด ในโลกไซเบอร์อย่างแน่นอน สำหรับบทความในวันนี้ จะแปลบทสรุปของประเทศเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital Video Broadcasting- Terrestic: DVB-T) ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบนี้ในอนาคต ใครอยากเตรียมความพร้อม ในเรื่องนี้ ผมจะหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังเป็นระยะๆ เพราะขณะนี้ไม่มีองค์กรไหนที่ผู้บริโภคสามารถพึ่งพาได้เลย  เป็นเรื่องที่ต้องยึดถือพุทธสุภาษิตว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รายงานฉบับนี้มีทั้งหมด 21 หน้าครับ สำหรับวันนี้ผมจะสรุปให้ฟังดังนี้ บทสรุปการเปลี่ยนการส่งสัญญาณแพร่ภาพและกระจายเสียงจากอนาลอกมาสู่แบบดิจิตัล (DVB-T) ตั้งแต่ปี ค ศ. 2008 เป็นต้นมาการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณการแพร่ภาพจากแบบอนาลอก มาเป็นแบบดิจิตอลนั้น ของโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกประการ  การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนอกจากไม่ใช่จะเป็นไปตามที่ข้อกำหนดของกฎหมายที่ระบุไว้เพียงเท่านั้นแต่ยังดีกว่าที่กำหนดอีกด้วย เพราะ การเปลี่ยนการส่งสัญญาณแต่เดิมนั้น จะต้องทำให้เสร็จสิ้นในปี 2010 แต่การเปลี่ยนการส่งสัญญาณสำเร็จล่วงหน้าก่อน 2 ปี คือ ปี 2008 เนื่องจากการส่งสัญญาณภาคพื้นดินในเยอรมนีนั้น ครอบคลุมประชากรถึง 90 กว่า % ประชากรจำนวน 74 ล้านคนสามารถเข้าถึงการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล (DVB-T) ผ่านเสาก้างปลา และประชากรจำนวน 24 ล้านคนสามารถรับสัญญาณด้วยเสาหนวดกุ้งได้เช่นกัน ขณะนี้ (เดือน ธันวาคม 2008) สามารถขายเครื่องแปลงสัญญาณได้มากกว่า 16 ล้านเครื่อง หมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค เรเนสซองส์ ของการรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน  Renaissance of the Terrestic) การตัดสินใจในการเปลี่ยนเทคโนโลยีการส่งสัญญาณนั้นนับได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลนี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นการแข่งขันของตลาดการส่งสัญญาณแพร่ภาพ และมีผลต่อตลาดเครื่องรับโทรทัศน์แบบมือถือ (Mobile- TV) และโทรทัศน์แบบเคลื่อนที่ (Portable- TV) อีกด้วย คอนเซปต์ในการเปลี่ยนการส่งสัญญาณ ปี ค.ศ. 1998 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ (Bundeswirtschaftministerium) ได้นำเสนอโครงการ ความคิดริเริ่มในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล (Inititative Digitaler  Rundfunk) โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเศรษฐการ และรัฐบาลท้องถิ่นของเยอรมนี ตลอดจนตัวแทนจากสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ สถานีวิทยุโทรทัศน์เอกชน และองค์กรกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ (Federal Network Agency) และผู้ประกอบการให้บริการโครงข่ายสัญญาณ ก่อนที่จะได้ข้อสรุป การส่งสัญญาณแพร่ภาพกระจายเสียงมาเป็นระบบดิจิตอลนั้น ได้มีการนำเสนอโมเดลรูปแบบต่างๆ เพื่อทำการทดลอง ปี ค.ศ. 1998- 2004 ได้ติดตั้งและทดสอบโครงข่ายส่งสัญญาณทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี ได้แก่ ระหว่างเมือง โวล์ฟสบวร์ก (Wolfsburg) ถึงเมือง เบรเมนฮาเวน (Bremenhaven) และระหว่างเมืองฮันโนเวอร์ (Hannover) ถึงเมืองฮัมบวร์ก (Hammburg) นอกจากนี้ยังได้ทดลองส่งสัญญาณในกรุงเบอร์ลิน ตามสนธิสัญญาเชสเตอร์ (Chester Agreement) ปี 1997 การทดสอบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อหาเงื่อนไข (Parameter) ที่ดีที่สุดในการส่งสัญญาณ ปี 1997-1999 ทดสอบระบบส่งสัญญาณดิจิตอล แบบ DVB-T ในย่านเมืองมิวนิค รัฐบาวาเรียทางตอนใต้ของเยอรมนี ที่เมืองโคโลญจ์ ทดสอบการรับสัญญาณด้วยเครื่องทีวีแบบพกพา ภายใต้การเคลื่อนที่ความเร็วสูง(เรียกว่า การทดสอบ Maserati-Test : เนื่องจากทดสอบภายใต้การรับสัญญาณที่ความเร็วสูง เหมือนกับรถสปอร์ต Maserati) ปี 2000 มีการจัดงานงาน EXPO 2000 ที่เมืองฮันโนเวอร์(มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายคนไปเยี่ยมชมงานนี้กัน) ซึ่งทางเยอรมนีได้จัดเตรียมรถโฟล์กสวาเกน (VW) สำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองที่ไปเยี่ยมชมงานนี้ ในรถรับรองแขกบ้านแขกเมืองนั้น ได้ติดตั้งระบบรับสัญญาณ DVB-T จนนำมาสู่การยอมรับของระบบส่งสัญญาณและแพร่ภาพด้วยระบบนี้ วันนี้หมดเนื้อที่สัมปทานครับ ไว้มารายงานต่อคราวหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 136 บทเรียน ทีวี จอดำ กับมาตรการป้องกันผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรป หรือ ศึกยูโร 2012 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สำหรับคนที่สนใจในเกมส์การแข่งขันแล้ว แต่สำหรับคนทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน น่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่จะมีการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้ ใครที่เป็นสมาชิกทรูวิชันส์ ดูทีวีผ่านระบบเคเบิล หรือผ่านระบบดาวเทียมนั้นต่างก็ก่นด่า และเบื่อหน่ายรำคาญ กับการเห็นแก่ได้ของฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรู แกรมมี หรือแม้แต่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเองก็ตาม การเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยลิขสิทธิ์ในทางการค้านั้น แม้แต่ในประเทศเยอรมนีเอง ที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองเป็นอิสระจากระบบทุนมากกว่าของไทยเรา เพราะพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของระบบทุนนิยมสามานย์ นั้น มีการจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ บทความฉบับนี้ผมขออนุญาตนำบทเรียนจากทางเยอรมันมาเล่าสู่กันฟังครับ   ผู้บริโภคโดนจำกัดสิทธิ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่คุณธรรมที่ล้าหลัง ในประเทศเยอรมนีเองนั้น หลังจากเปลี่ยนการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาลอกมาเป็นระบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2012 แล้ว ผู้บริโภคก็ประสบปัญหาไม่สามารถรับชม รายการโทรทัศน์ทั้งจาก ฟรีทีวีได้ ถึงแม้ว่า จะมีช่องฟรีทีวีที่หลากหลาย และรายได้ของช่องสถานีฟรีทีวีจะมาจากโฆษณาก็ตาม ช่องรายการของโทรทัศน์สาธารณะที่มีอยู่  2 ช่องในระดับสหพันธรัฐ และอีก 1 ช่องในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่และมีบทบาทเหมือนกับช่องไทย พีบีเอสบ้านเรา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ต้องการจะขายเครื่องรับสัญญาณของตนให้กับผู้บริโภคโดยถือโอกาสใช้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปใช้ในการหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับบ้านเรา และที่ร้ายไปกว่านั้น ในกรณีที่ผู้บริโภคย้ายที่อยู่จากมลรัฐหนึ่งไปอยู่อีกมลรัฐหนึ่ง กล่องรับสัญญาณที่ผู้บริโภคมีอยู่เดิมนั้นไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณอีก เพราะในการเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้น ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณไปด้วย ในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะจ่ายสองเด้ง คือ จ่ายในรูปของภาษี เพราะช่องรายการโทรทัศน์สาธารณะนั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะดูรายการก็ต้องจ่ายสตางค์เพื่อจะซื้อกล่องรับสัญญาณอีก ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงรายการสาธารณะโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ในกรณีของฟรีทีวี ซึ่งมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ถึงแม้นว่าประชาชนได้ชมรายการจากฟรีทีวี ก็ต้องดูโฆษณาจากฟรีทีวีด้วย ผู้ประกอบการฟรีทีวีได้รับรายได้สองต่อคือค่าโฆษณาและเงินรายได้จากสถานีโทรทัศน์ที่ต้องการเพิ่ม rating ให้กับสถานีของตน แต่ประชาชนขาดทุนสองเด้งเช่นกัน คือ จ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัทประกอบกิจการเคเบิลทีวี และจ่ายภาษีให้กับรัฐด้วย   ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในเยอรมันทำอย่างไร ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (VZBV) และ สหพันธ์องค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่า (Der Deutsche Mieterbund) และสหพันธ์องค์กรผู้ประกอบกิจการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (Bundesverband deutscher Wohnungs- und Immobilienunternehmen) ได้ทำหนังสือแถลงการณ์ประท้วงไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงสื่อทีวีสาธารณะเช่นนี้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภค ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialog) ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (น่าสังเกตว่านักการเมือง ของเขานั้น ไม่ได้เติบโตมาจากกลุ่มทุน แต่เติบโตมาจากพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจอย่างสิ้นเชิง กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากแวดวงธุรกิจเหมือนกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในบ้านเรา)   บทเรียนของเยอรมนีกับการกำกับดูแลภายใต้ กสทช. สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่านั้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะ คนเยอรมันส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง จะอยู่ห้องเช่า (Wohnung) เป็นส่วนมากของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่บ้านเช่าเพื่อมิให้ถูกบริษัทธุรกิจทำบ้านให้เช่านั้นเอาเปรียบ เนื่องจากบ้านเช่าหรือห้องเช่าในเยอรมนีนั้นส่วนมากจะมีระบบรับสัญญาณเคเบิลทีวี  อยู่ในห้องแล้วเรียบร้อย ผู้เช่าห้องสามารถบอกรับการเป็นสมาชิกได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องติดตั้ง หรือต่อสายเข้ามาในบ้านเหมือนบ้านเรา สำหรับเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลนั้น กสทช. สมควรจะเข้ามาควบคุมดูแล ร่วมกับบริษัทเอกชน เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หาก กสทช. กำกับดูแลดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์และเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับจะเกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555- 2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้นว่า กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองสั่งปรับทรู วิชันส์ วันละสองหมื่นบาทนั้น ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด มูลค่าในการสั่งปรับน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับธุรกิจ  และไม่สามารถเยียวยาผู้บริโภคได้เลย หลังจบฟุตบอลยูโรแล้ว กสทช. ฟรีทีวี และทีวีสาธารณะอาจต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันการผูกขาด ที่มาในรูปของลิขสิทธิ์ที่กลุ่มทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึง Event ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิคในอนาคต เหมือนกับที่สื่อสาธารณะของเยอรมนี ไม่ยอมก้มหัวให้กับการหากำไรของทุนนิยมในประเทศของเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล ผู้บริโภคต้องเตรียมตัวอย่างไร

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ของคณะทำงานในการเตรียมตัวการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลของเยอรมัน เนื่องจากประเทศเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลก่อนเราไปล่วงหน้าหลายปี องค์ความรู้ในด้านการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนผู้ให้บริการ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้บริโภค ประเทศเขาสามารถทำได้และทำร่วมกันได้เป็นอย่างดี เราสามารถขอหยิบยืมองค์ความรู้ของเขามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ ก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเป็นภาระกับผู้บริโภคได้อย่างน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ตอนนี้เรามี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว และเป็นความคาดหวังใหม่ของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค ที่ไม่ต้องการการถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคธุรกิจเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา นอกจากการควบคุมกิจการในด้านนี้แล้ว ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลที่จะเดินเข้ามาหาเราในเร็วๆ นี้ การเตรียมความพร้อมในยุคของทีวีดิจิตอลนั้น สำหรับผู้บริโภคที่มีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ก็ต้องจัดหา อุปกรณ์ตัวแปลงสัญญาณที่เราเรียกว่า Set-Top-Box ที่จะแปลงสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล สำหรับทีวีที่มีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบ สการ์ต (Scart) เวลาที่เราเลือกซื้อ Set Top Box นั้น ก็จะต้องพิจารณาดูว่า มีจุดเชื่อมต่อสำหรับ การต่อผ่านแผ่น สการ์ตหรือไม่ดังรูปที่ 1 ถ้าทีวีที่ไม่มีแผ่นสการ์ต แต่มีจุดเชื่อมต่อเป็น coaxial cable ก็ต้องเลือก Set-Top-Box ที่มีตัวรับตัวเสียบดังรูปที่ 2ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นดีวีดี หรือแอมปลิฟายเออร์ การเลือกซื้อ Set – Top- Box ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มีจุดที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง แผ่นสการ์ต และจุดเชื่อมต่อแบบโคแอกเซียลดังรูปที่ 3   บทสรุป ผู้บริโภคต้องเตรียมการสำรวจอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้วในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี และแอมปลิฟายเออร์ ว่า มีจุดเชื่อมต่อกี่จุด และมีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบใดแล้ว ผู้บริโภคก็ควรจะเลือกอุปกรณ์ Set Top Box ที่เหมาะสมสามารถที่จะต่อเชื่อมเข้ากับเครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้ว โดยดูจากจุดเชื่อมต่อของ Set top box ว่าจะมีจุดเชื่อมต่อให้หลายจุดและเพียงพอหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาต่อในเรื่องคุณภาพของสัญญาณ และราคา ในส่วนของ กสทช. ควรต้องกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ Set Top Box ที่จะนำมาเสนอขายในท้องตลาด โดยกำหนดให้อุปกรณ์นั้นรองรับกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่มีอยู่ในครัวเรือนและที่ขายในตลาดบ้านเรา โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนและประเภทของจุดเชื่อมต่อขั้นต่ำ ที่จะต้องมีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมากเกินไปในการจัดหาอุปกรณ์เสริมและสายสัญญาณต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการรับสัญญาณระบบดิจิตอลที่ได้เริ่มมีการทดลองออกอากาศกันบ้างแล้ว     รูปที่ 1 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบแผ่นสการ์ต   รูปที่ 2 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบสายโคแอกเซียล   รูปที่ 3 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นทั้งแบบสายสการ์ตและสายแบบโคแอกเซียล   แหล่งข้อมูลอ้างอิงwww.ueberallfernsehen.de

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 สำรวจราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี

หลายคนคงมีโอกาสได้รับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลกันบ้างแล้ว ซึ่งประเทศไทยเราได้เริ่มทำการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทีวี (Digital Television) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยระยะแรกจะยังรับชมได้แค่ในบางพื้นที่ของประเทศ แต่คาดว่าจะสามารถออกอากาศครอบคลุมให้ได้ในพื้นที่ 80% ของประเทศภายในต้นปี 2558 เชื่อว่าบางคนก็คงสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากการรับชมทีวีแบบแต่ก่อนเคยดูมา อย่างน้อยก็เรื่องของช่องรายการที่มีเพิ่มมาให้ได้รับชมกันมากขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนก็อาจมีข้อสงสัยว่า ทีวีดิจิตอลจริงๆ แล้วมันคืออะไร ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นดิจิตอลทีวี จำเป็นมั้ยที่ต้องเปลี่ยน แล้วถ้าที่บ้านอยากจะดูดิจิตอลทีวีบ้างต้องทำอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของราคาคูปองแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตัลทีวีที่ทาง กสทช. จะแจกให้ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยเคาะราคาออกมาอยู่ที่ 690 บาท ปรับลดลงมาจากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 1,000 บาท คูปองนี้เอาไปใช้ยังไง และทำไมต้อง 690 บาท เอาเป็นว่าเรามาค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันได้เลย จาก 1,000 ทำไมถึงกลายมาเป็น 690 หลายคนที่ติดตามข่าวเรื่องแผนการแจกคูปองสำหรับเป็นส่วนลดแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีของทาง กสทช. คงจะพอทราบแล้วว่าเกิดปัญหามาต่อเนื่องเรื่องวงเงินของมูลค่าคูปอง จากที่ กสทช. บอกว่าจะแจกคูปองทุกบ้านบ้านละ 1 ใบ มูลค่า 1,000 บาท ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น องค์กรผู้บริโภคโดยคณะทำงาน “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน” ก็ได้ออกมาคัดค้านว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เหมาะ และเรียกร้องให้ปรับลดลงมาให้เหลือที่ 690 บาท   ต้นทุนจริงกล่องดิจิตอลทีวีแค่ไม่กี่ร้อยบาท ผู้บริโภคหลายคนคงจะสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกร้องให้ลดราคาคูปอง ได้ 1,000 ก็น่าจะดีกว่าได้แค่ 690 ไม่ใช่หรือ? ผู้บริโภคต้องไม่ลืมว่าคูปองที่ได้นำไปแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ใช้ได้แค่เป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีหรือทีวีที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลพร้อมในตัวเท่านั้น การตั้งราคาคูปองที่สูงเกินไปของทาง กสทช. ส่งผลให้การตั้งราคากล่องรับสัญญาณสูงตามไปด้วย ทั้งที่มีการศึกษาข้อมูลมาแล้วว่าต้นทุนของราคากล่องรับสัญญาณจริงๆ อยู่ในหลักไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บขายอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคออนไลน์ทั่วโลก พบว่า ราคากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี รุ่น DVTB T2 มีราคาขายอยู่ที่เพียง 403 บาท สำหรับการสั่งซื้อที่ขั้นต่ำ 5,000 ชิ้น นอกจากนี้ ทาง กสทช. น่าจะทราบดีอยู่แล้วถึงราคาต้นทุนของกล่อง เพราะมีอำนาจในการตรวจสอบโครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ แรกเริ่มเดิมที่ กสทช. มีมติเรื่องแนวทางการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลทีวี ซึ่งกำหนดมูลค่าคูปองไว้ที่ 690 บาท แจกให้กับผู้บริโภค 22 ล้านครัวเรือน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้คือ 15,190 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) กลับมีมติเห็นชอบอนุมัติมูลค่าราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท ทำให้งบประมาณที่ใช้พุ่งสูงไปถึง 25,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะและไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งคูปองส่วนลด 1,000 บาทนี้ ถูกกำหนดให้สามารถนำไปแลกเป็นส่วนลดได้ทั้ง 1.กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี พร้อมสายอากาศแบบติดตั้งภายในอาคารที่มีภาคขยาย (Active Antenna) 2.เครื่องรับโทรทัศน์ที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลในตัว และ 3.กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รุ่นที่รองรับการรับชมความคมชัดสูง หรือ HD ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลัง กสทช. ปรับราคาคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท นอกจากงบประมาณของประเทศจะถูกใช้เพิ่มมากขึ้น ผิดไปจากหลักการที่กำหนดไว้แต่แรกแล้ว ยังส่งผลเสียโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะทำให้ราคากล่องรับสัญญาณมีราคาสูงขึ้นตามมูลค่าของคูปอง ซึ่งจากการสำรวจราคากล่องดิจิตอลที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ราคาจะอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาท แต่อย่างที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วว่าต้นทุนจริงๆ ของกล่องดิจิตอลต่อให้บวกราคาที่บริษัทผู้ผลิตได้กำไรแล้ว ราคาขายก็ไม่น่าเกิน 1,000 บาท   ผลเสียของคูปอง 1,000 บาท กลายเป็นภาระของผู้บริโภค การประกาศให้ราคาคูปองที่ 1,000 บาทจึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้ประเทศชาติเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมีเพียงกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการที่ กสทช. อนุมัติราคาคูปองที่ 1,000 บาท มีเพียงแค่ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ค้ากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่สามารกำหนดราคากล่องสูงๆ ตามราคาคูปองได้ 2 .บริษัทจำหน่ายดิจิตอลทีวี ซึ่งราคาคูปอง 1,000 บาทสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคนำไปใช้เป็นส่วนลดซื้อทีวี และ 3.ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี เพราะผู้บริโภคสามารถนำคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องดาวเทียมหรือเคเบิล ซึ่งแม้ราคาจะแพงกว่ากล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีธรรมดา แต่รายการที่มีให้รับชมดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากกว่า แต่นั้นก็ถือเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีในรูปแบบฟรีทีวี ไม่ต้องมีภาระในการจ่ายค่าบริการรายเดือน เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้เรียกร้องให้ กสทช. ต้องปรับลดราคาคูปองจาก 1,000 บาท ลงมาเหลือที่ 690 บาท เพื่อไม่เป็นสร้างภาระให้กับผู้บริโภค ไม่ใช้งบประมาณของประเทศไปอย่างไม่เหมาะสม พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลปรับลดราคาสินค้าของตัวเองลงให้เหมาะสมกับต้นทุนจริง เพื่อคูปองถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้เป็นเครื่องช่วยให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงการรับชมดิจิตอลทีวีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม   พลังของผู้บริโภคมีผล กสทช.ยอมปรับราคาคูปองที่ 690 ในที่สุดความตั้งใจดีขององค์กรผู้บริโภคก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. กสทช. ก็ได้มีมติสรุปราคาคูปอง (น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้ว) ให้ลดลงมาอยู่ 690 บาท โดยคูปองราคา 690 บาทนี้จะสามารถใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อได้เฉพาะ โทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีภาครับในตัว และอุปกรณ์แปลงสัญญาณระบบดิจิตอล (Set-Top-Box) มาตรฐาน DVB-T2 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. (มีสติ๊กเกอร์ตราครุฑแปะอยู่ที่กล่อง) เท่านั้น ไม่สามารถนำไปแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีแบบที่เคยกำหนดไว้ในคูปองราคา 1,000 บาท โดยคูปองแลกซื้อดิจิตอลทีวีจะแจกให้กับ 22.9 ล้านครัวเรือน ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2557 โดยจะส่งทางไปรษณีย์  คาดว่าจะเริ่มส่งได้ช่วงปลายเดือนกันยายนหรือกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะเริ่มแจกก่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น *สำรวจราคาล่าสุดสิงหาคม 2557 --------------   ขอต้อนรับเข้าสูยุค “ดิจิตอลทีวี” ดิจิตอลทีวี เป็นชื่อเรียกของระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ทั้งภาพและเสียงเข้าสู่เครื่องรับโทรทัศน์ของแต่ละบ้าน ซึ่งก็คือช่องรายการต่างๆ ที่เรารับชมกันอยู่ แต่ก่อนแต่ไรมาระบบสัญญาณโทรทัศน์ในบ้านเราจะเป็นระบบที่เรียกว่า ระบบอนาล็อก (Analog) ซึ่งส่งสัญญาณช่องรายการทีวีที่ทุกบ้านสามารถดูได้ฟรีๆ 6 ช่องรายการ คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 (NBT) และ ไทยพีบีเอส โดยการรับชมก็ขอแค่มีทีวีสักเครื่องติดเข้ากับเสาอากาศสักอัน จะเป็นก้างปลาหนวดกุ้งก็แล้วแต่ แค่นี้ก็รับชมฟรีทีวี 6 ช่องรายการที่บอกไว้ได้แล้ว แต่การมาถึงของดิจิตอลทีวีจะทำให้การรับชมฟรีทีวีของคนไทยต้องเปลี่ยนไป และน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลจะช่วยทำให้คุณภาพของภาพและเสียงมีความคมชัดสูงมากกว่าระบบอนาล็อกเดิม ระบบเสียงจะเปลี่ยนเป็นระบบ Surround จากเดิมที่เป็นแค่ระบบ Stereo ส่วนภาพก็มีช่องรายการที่ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง (High Definition – HD) ต่างจากระบบอนาล็อกที่มีแค่ช่องรายการที่ความคมชัดของภาพอยู่ในระดับปกติ (Standard Definition – SD) เท่านั้น แถมช่องรายการที่เป็นฟรีทีวีก็มีเพิ่มมากขึ้นจาก 6 ช่อง เพิ่มเป็น 48 ช่อง เพียงแต่การที่จะรับชมช่องรายการทีวีระบบดิจิตอลนั้น จำเป็นต้องมีตัวช่วย คือ กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล หรือ Set top Box นำมาติดตั้งเข้ากับทีวีเครื่องเดิมที่บ้านเพื่อแปลงสัญญาณดิจิตอลแสดงผลผ่านหน้าจอทีวี กลายเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงต้องหาซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีมาต่อเข้ากับทีวีที่บ้าน ซึ่งทาง กสทช. ก็ช่วยเหลือประชาชนส่วนหนึ่งด้วยการแจกคูปองมูลค่า 690 บาท ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดสำหรับแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีและทีวีรุ่นใหม่ๆ ทีมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัวไม่ต้องติดกล่องก็ชมได้     นอกจากนี้ดิจิตอลทีวี จะได้เปรียบทีวีดาวเทียม คือ หากมีการถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญๆ ทีวีดาวเทียมจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จึงทำให้จอดำ แต่ทีวีดิจิตอล สามารถรับได้ปกติ เพราะเป็นระบบฟรีทีวีแบบเดียวกับการใช้เสาหนวดกุ้ง (ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด)   อยากดูดิจิตอลทีวีต้องทำยังไง? ถ้าหากอยากให้ทีวีทีบ้านออกอากาศช่องรายการในระบบดิจิตอลทีวี มีวิธีหลักๆ อยู่ 3 วิธีด้วยกัน หาซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่มีตัวรับสัญญาณหรือจูนเนอร์ที่รองระบบดิจิตอลทีวีในตัว (integrated Digital Television หรือ iDTV) ซึ่งสามารถรับสัญญาณระบบดิจิตอลทีวีได้ทันที ไม่ต้องติดกล่องรับสัญญาณ หรือ Set Top Box แค่นำทีวีต่อเข้ากับเสารับสัญญาณโดยตรงก็สามารถรับชมช่องรายการทีวีดิจิตอลได้ทันที (สามารถตรวจสอบ ยี่ห้อ รุ่น ของทีวีที่รองรับระบบสัญญาณดิจิตอลในตัวเครื่องได้ที่ https://broadcast.nbtc.go.th/tools/idtv) ส่วนถ้าใครไม่อยากเสียเงินซื้อทีวีใหม่ แต่ทีวีที่บ้านยังเป็นรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็นทีวีจอตู้ หรือจะเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ ทั้งพลาสม่า, LCD, LED ถ้าหากเขาไม่ได้เป็นทีวีรุ่นที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัว ยังไงก็ดูช่องรายการดิจิตอลทีวีไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่าง กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี โดยกล่องรับสัญญาณต้องเป็นรุ่นที่สามารถแปลงสัญญาณที่เรียกว่า DVB T2 ได้ โดยขั้นตอนการติดตั้งเพื่อรับชมก็ไม่ยากแค่นำกล่องรับสัญญาณไปต่อสายนำสัญญาณที่มาจากเสาอากาศ ก้างปลา หรือหนวดกุ้ง ก็แล้วแต่สะดวก จากนั้นก็ใช้สาย AV หรือสาย HDMI ต่อเข้าที่ทีวีแค่นี้ก็ชมดิจิตอลทีวีได้แล้ว (ข้อควรรู้สำหรับคนที่ตั้งใจจะชมช่องรายการความคมชัดสูง หรือ ช่อง HD จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล ต้องต่อสายรับสัญญาณจากกล่องรับสัญญาณเข้าสู่ทีวีด้วยสาย HDMI เท่านั้น เพราะสายสัญญาณ AV เป็นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก การรับชมช่องแบบ HD ก็จะได้คุณภาพความคมชัดไม่สมบูรณ์ 100% เพราะฉะนั้นถ้าอยากดูช่อง HD ที่คมชัดจริงๆ ต้องต่อด้วยสายสัญญาณ HDMI นั้นแปลว่า ทีวีที่จะรับชมก็ต้องมีช่องสำหรับเสียบสัญญาณ HDMI มาพร้อมด้วยเช่น งานนี้ใครที่ยังใช้ทีวีรุ่นเก่าพวกทีวีจอตู้ก็จะต้องเจอปัญหาเพราะไม่มีช่องรับสัญญาณ HDMI ถ้าอยากชมก็ต้องยอมเปลี่ยนเป็นทีวีจอแบนรุ่นใหม่ๆ แทน) แต่ถ้าที่บ้านใครปกติรับชมทีวีผ่านกล่องจานดาวเทียมหรือเคเบิลอยู่แล้ว (เช่น True, GMMZ, IPM, sunbox, PSI ฯลฯ) สามารถรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวีได้ทันที 48 ช่องเช่นกัน แต่รูปแบบการเรียงลำดับช่องรายการก็แตกต่างจากช่องรายการที่เรียงไว้เป็นมาตรฐานของกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีทั่วไป นอกจากนี้หากอยากจะรับชมช่องรายการที่เป็นแบบ HD ก็ต้องเลือกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รองรับระบบ HD ด้วยเช่นกัน การรับชมก็แค่ถอดปลั๊กกล่องรับสัญญาณดาวเทียมที่รับชมอยู่ แล้วเสียบใหม่ไปที่เครื่อง เครื่องจะเริ่มทำงานใหม่และค้มหาสัญญาณดิจิตอลทีวีโดยอัตโนมัติ   วิธีการติดตั้งกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1. ตรวจสอบสายอากาศ สายสัญญาณ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติดีหรือไม่ 2. นำสายสัญญาณที่เชื่อมต่อมาจากเสาอากาศต่อเข้ากับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล 3. เชื่อมต่อสายสัญญาณจากกล่องดิจิตอลทีวี ด้วยสายสัญญาณ AV หรือสาย HDMI เข้าสู่ทีวี 4. เปิดเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี เมื่อกล่องรับสัญญาณทำงานที่หน้าจอทีวีจะแสดงหน้าเมนู อันดับแรกให้เลือกภาษาที่แสดงเป็นภาษาไทย (กล่องรับสัญญาณทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจาก กสทช. ต้องมีเมนูเลือกเป็นภาษาไทย) จากนั้นให้ตั้งค่าเปิดไฟเลี้ยงสำหรับทีวีที่ใช้เสาสัญญาณแบบที่มีไฟเลี้ยง (Active Indoor Antenna ส่วนใหญ่จะเสาอากาศขนาดเล็กที่ติดตั้งภายในอาคาร) จากเลือกเมนูคำสั่งค้นหาช่องรายการ กล่องรับสัญญาณก็จะทำการค้นหาสัญญาณและช่องรายการแบบอัตโนมัติ เท่านี้ก็ดูทีวีดิจิตอลได้แล้ว   มาตรฐานด้านเทคนิคของเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี 1.ต้องสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบ Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System (DVB-T2) ได้ทั้งแบบมาตรฐานความคมชัดปกติ (Standard Definition: SD) และแบบมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition: HD) 2. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมีคุณลักษณะทางไฟฟ้าและความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มอก. 1195  หรือฉบับที่ใหม่กว่า 3. ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility) ข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าสําหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรฐาน CISPR 13 หรือ มอก. 2185-2547 4. ครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องมาพร้อมกับคู่มือการติดตั้งและใช้งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 5. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มนูนสัมผัส (Tactile marking) บนปุ่มกดตัวเลข “5” 7. รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ต้องมีปุ่มสําหรับการเลือกช่องสัญญาณเสียงที่รองรับการใช้งานการบรรยายด้วยเสียง (Audio Description) ได้ โดยอาจเป็นปุ่มสําหรับเลือกช่องสัญญาณเสียงโดยทั่วไป เช่น ปุ่ม “Audio” หรือเป็นปุ่มสําหรับเปิดหรือปิดการบรรยายด้วยเสียงเป็นการเฉพาะ เช่น ปุ่ม “AD” 8. การแสดงผลภาพ ต้องรองรับการแสดงผลความคมชัดสูง ดังต่อไปนี้ -ความละเอียด 1920x1080 แบบ interlace (1080i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดสูง -ความละเอียด 1280x720 แบบ progressive (720p) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 50 ภาพต่อวินาที และอัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 รองรับการแสดงผลความคมชัดปกติ -ความละเอียด 720x576 แบบ interlace (576i) ที่มีอัตราเฟรม (frame rate) 25 ภาพต่อวินาทีและ อัตราส่วนภาพ (aspect ratio) 16:9 และ 4:3 9. การถอดรหัสสัญญาณเสียงแบบ 2 ช่องเสียง (stereo) แบบ MPEG-4 HE AACv2 ตามมาตรฐาน ISO/IEC 14496-3 10. เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลต้องรองรับการแสดงผลเมนูบนจอภาพเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีค่าเริ่มต้นเป็นภาษาไทยหรือผู้ใช้ต้องสามารถเลือกภาษาได้ในการใช้งานครั้งแรก   (ที่มา : ประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 147 ชวนกันเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล

คาดว่าในระยะปีหรือสองปีต่อไปนี้ การรับชมโทรทัศน์ของคนไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง จากที่เคยดูฟรีทีวี(ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส) ได้เพียง 6 ช่อง คนไทยจะสามารถดูฟรีทีวีได้ถึง 48 ช่อง ด้วยภาพและเสียงที่คมชัดในระบบดิจิตอล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อาจเทียบได้กับเมื่อครั้งที่เราเปลี่ยนจากการรับชมทีวีภาพขาวดำเป็นทีวีภาพสี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือการก้าวเข้าสู่โลกของ “ทีวีดิจิตอล” นั่นเอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ต้องนับว่าเร็วมาก จนหลายคนอาจจะตามไม่ทัน และเริ่มมีความกังวลกับ  "ทีวีที่บ้านของตัวเอง" ว่าจะยังรับชมรายการได้ตามปกติหรือเปล่า? แล้วจะซื้อทีวีใหม่ตอนไหน? แล้วทีวีดาวเทียมกล่อง Set top Box ที่มีอยู่เต็มบ้าน ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล จะดูได้หรือไม่ จะต้องเปลี่ยนอีกหรือเปล่า? หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้น หลายคนก็ยังไม่รู้คำตอบ เอาเป็นว่า เรามาเตรียมความพร้อมไปกับฉลาดซื้อด้วยกันเลย   Time line การออกอากาศรายการโทรทัศน์ไทย เริ่มออกอากาศรายการโทรทัศน์ในระบบขาวดำเป็นครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2498 โดยใช้ชื่อว่า "สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม" พัฒนาจากโทรทัศน์ระบบขาวดำมาสู่โทรทัศน์ระบบสี พ.ศ. 2510 คนไทยสามารถรับชมโทรทัศน์(ฟรี)ได้ 6 ช่อง ภายใต้ระบบสัมปทานผูกขาดยาวนาน โดยบริษัทและหน่วยงานรัฐไม่กี่หน่วยงาน เกิด กสทช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ปี พ.ศ. 2550 ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นโทรทัศน์เพื่อความเหมาะสมของประเทศ(ยกเลิกการผูกขาด) ปลายปี 2556 การออกอากาศรายการโทรทัศน์จะเริ่มเปลี่ยนจากสัญญาณระบบอนาล็อก(ภาพ-เสียงไม่คมชัด)เป็นสัญญาณระบบดิจิตอล(ภาพ-เสียงคมชัด) ปี 2558 จะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ถึง 48 ช่อง   อะไรคือ “ทีวีดิจิตอล” ที่ผ่านมาการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านช่องฟรีทีวี ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส โดยอาศัยเพียงการใช้เสาอากาศแบบก้างปลาหรือหนวดกุ้ง เราจะพบปัญหาเรื่องภาพและเสียงที่ไม่คมชัด บางทีภาพก็เป็นเงาซ้อนๆ กัน หรือเป็นเม็ดแตกพร่าบนหน้าจอโทรทัศน์ รวมทั้งเสียงที่ไม่ชัดเจน นั่นก็เป็นเพราะว่า การส่งสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ทั้ง 6 ช่องนั้น ยังเป็นการส่งสัญญาณภาพและเสียงด้วยระบบเก่า(เทคโนโลยีเดิม) ที่เรียกว่า การส่งสัญญาณระบบอนาล็อก ซึ่งหากต้องการแก้ปัญหาเรื่องความไม่คมชัดของภาพและเสียง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ในการส่งสัญญาณที่เรียกว่า ระบบดิจิตอล หรือ โทรทัศน์ดิจิตอล การส่งสัญญาณด้วยระบบดิจิตอลไม่เพียงช่วยให้ภาพเสียงคมชัดเท่านั้น ยังทำให้สามารถเพิ่มช่องสำหรับการรับชมรายการโทรทัศน์ได้มากขึ้นด้วย ขนาดที่ว่าจากเคยทำได้แค่ 6 ช่อง สามารถเพิ่มได้สูงสุดถึง 48 ช่อง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลนั้น ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเขาทำกันไปนานแล้ว ส่วนประเทศไทยเพิ่งเข้าที่เข้าทางและ กสทช. ได้ประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2555 และคาดว่าไทยพร้อมจะเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเต็มรูปแบบในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า (ตอนนี้สถานีไทยพีบีเอส สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ก็เริ่มทดลองส่งสัญญาณการออกอากาศในระบบดิจิตอลไปแล้ว)   ปัจจุบันภาคการส่งและรับสัญญาณรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย มี 3 รูปแบบ คือ 1.ระบบแพร่ภาพภาคพื้นดิน (DVB-T the Digital Video Broadcasting - Terrestrial System) หรือการรับชมฟรีทีวี (ช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส) ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนจากสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิตอล 2.ระบบแพร่ภาพผ่านสายเคเบิลทีวี (DVB-C the Digital Video Broadcasting - Cable System) รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณที่มาทางสายเคเบิล เป็นการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก ผู้ชมต้องจ่ายค่าแรกเข้าและบริการรายเดือน 3.ระบบแพร่ภาพผ่านดาวเทียม (DVB-S The Digital Video Broadcasting - Satellite System) รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยครั้งแรกจะต้องมีการติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ หรือปัจจุบันมีขายเฉพาะกล่องสัญญาณ(โดยผ่านจานดาวเทียมอะไรก็ได้ที่ติดตั้งไว้ก่อนแล้ว) ส่วนใหญ่เมื่อติดตั้งครั้งแรกแล้ว จะไม่มีค่ารายเดือนอีก เว้นแต่มี คอนเทนต์พิเศษ ที่ต้องเข้ารหัสเก็บเงินค่าดู     สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเตรียมสำหรับการรับชมทีวีดิจิตอล เนื่องจากโทรทัศน์ในประเทศไทยใช้ระบบอนาล็อกมาโดยตลอด อุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์ที่เราใช้จึงเป็นระบบอนาล็อกทั้งหมด เมื่อจะมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล ไม่เพียงทางผู้ประกอบการหรือสถานีจะต้องเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณเท่านั้น เราในฐานะผู้บริโภคหรือผู้รับชมรายการก็จะต้องลงทุนเพิ่มด้วย ซื้อกล่องแปลงสัญญาณ กรณีที่ไม่อยากเปลี่ยนเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ เราต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือ Set top Box (หน้าตาคล้ายๆ กล่องเวลาดูโทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิล) เพื่อต่อกับเครื่องรับโทรทัศน์เก่าของเรา 1 กล่องต่อ 1 จุดรับชม(เครื่องรับ) ถ้าบ้านท่านมีทีวี 3 เครื่องก็ต้องซื้อ 3 กล่อง คาดว่า ราคาน่าจะไม่เกิน 800 บาท (ต้องจุดนี้ทาง กสทช. กำลังออกมาตรการมาช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการออกคูปองส่วนลดเพื่อซื้อกล่อง Set top Box แต่ยังไม่ฟันธงแน่ชัด ต้องตามข่าวกันต่อไป) ซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ที่รองรับการดูทีวีระบบดิจิตอลได้ กรณีนี้ก็ไม่ต้องหาซื้อกล่องแปลงสัญญาณ หรือ Set top Box มาเสริมให้ยุ่งยาก ซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่เลย แต่ต้องเลือกที่มีระบบรองรับการดูทีวีดิจิตอลเท่านั้น   --------------------------------------------------------------------------------------------------------   การเลือกซื้อโทรทัศน์ใหม่เพื่อดูทีวีดิจิตอล ณ ปัจจุบันเครื่องรับโทรทัศน์ในบ้านเรายังไม่มีระบบรองรับสำหรับการดูทีวีดิจิตอล แต่เชื่อแน่ว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเต็มรูปแบบ ผู้ผลิตก็พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ติดไว้ในเครื่องรับโทรทัศน์อย่างแน่นอน สำหรับระบบทีวีดิจิตอลบ้านเรา กสทช. ได้เลือกให้นำระบบของยุโรป หรือ “DVB-T2” มาเป็นมาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินของประเทศ ดังนั้นหากจะเลือกซื้อโทรทัศน์ใหม่(ที่กำลังจะมาขายในอนาคต) ถ้าต้องการให้รับชมทีวีดิจิตอลได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกล่อง Set top Box ต้องตรวจดูว่า โทรทัศน์เครื่องนั้นมีระบบ “DVB-T2” หรือเปล่า เครื่องรับโทรทัศน์ บ้านเราปัจจุบันมี 3 แบบ แบ่งออกเป็นของจำเป็นพื้นฐานกับของพิเศษ(คล้ายๆ กับ มือถือธรรมดากับสมาร์ทโฟน) ได้แก่ - ทีวี-จอแก้ว , จอพลาสม่า LCD , LED ทั่วไป ล้วนแต่มีภาครับเป็นระบบอนาล็อก ถ้าจะดูระบบดิจิตอลต้องมีกล่อง set-top-box มาต่อพ่วง - ทีวี.ดิจิตอล, จอพลาสม่า LCD  LED  ที่เปลี่ยนภาครับเป็นระบบดิจิตอลแล้ว (อีกไม่นานจะมาครองตลาด ราคาก็พอ ๆ กับ กลุ่มข้างบน) สองอันนี้จัดเป็นของจำเป็นพื้นฐาน - สมาร์ท-ทีวี อันนี้เป็นทีวีที่รวมความสามารถของสมาร์ทโฟน-แท็ปเล็ต-และทีวี เข้าด้วยกัน ถ้าจะดูทีวีดิจิตอลด้วย ก็ต้องมีระบบรองรับ  “DVB-T2”   ถ้าที่บ้านดูโทรทัศน์ผ่านเคเบิลหรือดาวเทียมอยู่แล้วต้องซื้อกล่องเพิ่มอีกไหม 12 ล้านครัวเรือนไทย ดูทีวีผ่านดาวเทียมกับเคเบิล ซึ่งเยอะกว่าคนที่รับชมฟรีทีวี ผ่านเสาหนวดกุ้ง ก้างปลาเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านครัวเรือน กลุ่มที่ดูผ่านเคเบิลหรือดาวเทียม ไม่จำเป็นต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณเพิ่มแต่อย่างใด ท่านสามารถรับชมรายการในกลุ่มฟรีทีวี 48 ช่องได้เลย อย่างไรก็ตามคุณภาพอาจไม่ดีเท่า เพราะทีวีดิจิตอลนั้นมีหลายช่องที่ออกอากาศด้วยระบบ HD แต่เมื่อชมผ่านดาวเทียมหรือเคเบิล คุณภาพอาจไม่ได้มาตรฐาน HD   ช่องหรือสถานีเดิม ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส จะยังดูได้อีกไหม ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอลเราจะยังคงมีสถานีโทรทัศน์ช่องเดิมๆ  ที่เราดูอยู่ให้ติดตามต่อไปอีกหลายปี(ประมาณ 10 ปี) แต่สิ่งที่เราได้เพิ่มขึ้น คือ มีช่องใหม่ๆ รายการใหม่ๆ ให้เลือกรับชมมากกว่าเดิม โดยเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลแล้ว รายการโทรทัศน์ต่างๆ จะมีความหลากหลายขึ้น การออกอากาศรายการโทรทัศน์จะดำเนินควบคู่กันไปทั้งระบบอนาล็อก(6 ช่อง) และดิจิตอล(48 ช่อง) บ้านไหนไม่ต้องการซื้อกล่อง  Set top Box หรือซื้อทีวีใหม่ ก็สามารถรับชมรายการทั้ง 6 ช่องได้เหมือนเดิม แต่ถ้าได้รับชมทั้งสองแบบแน่นอนว่า ทีวีดิจิตอลที่คมชัดกว่า มีรายการให้เลือกมากกว่า ก็จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบได้เอง   -------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส จะไม่ใช่ช่องเดิมอีกต่อไป กสทช. มีคลื่นโทรทัศน์สำหรับการออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลอยู่จำนวน 48 ช่อง โดย กสทช. ต้องทำหน้าที่จัดสรรคลื่นให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ ตามแผนของ กสทช. ได้แบ่งสัดส่วนทั้ง 48 ช่องเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทบริการสาธารณะ 12 ช่อง ประเภทบริการชุมชน 12 ช่อง และประเภทบริการธุรกิจ 24 ช่อง ช่อง 3,7,9 เดิมนั้น จะเข้าข่ายประเภทบริการธุรกิจ(เพราะขายโฆษณาหากำไรเป็นหลัก) ผู้ประกอบการทั้ง 3 ช่องนี้ต้องไปประมูลใบอนุญาตแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งถ้าประมูลได้(คงได้แหละ) ก็จะไม่ได้เลขช่องในเลข 3,7,9 เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะ กสทช. กำหนดช่องประเภทบริการธุรกิจให้เริ่มต้นที่ช่อง 13-36 (ใครประมูลสูงสุดได้เลือกก่อน) ส่วน ช่อง 5 ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส ตามกฎหมายจะได้เข้าไปอยู่ในประเภทบริการสาธารณะโดยไม่ต้องไปแข่งกับใคร แต่ช่อง 5 กับ ช่อง 11 ต้องปรับผังรายการให้เข้ากับนิยามหรือเงื่อนไขของประเภทบริการสาธารณะ หลักๆ คือ ไม่มีโฆษณา ซึ่งช่องที่ได้รับการจัดสรรสำหรับโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะคือ ช่อง 1-12 (ตอนนี้เดากันว่า ช่องไทยพีบีเอส คงได้เลข 1 ไปครอง) ทำไมต้องเปลี่ยนจากทีวีอนาล็อกเป็นทีวีดิจิตอล ถ้าประเทศไทยไม่รีบเป็นทีวีดิจิตอลภายในปีสองปีนี้ จะส่งผลกระทบอย่างน้อย 2 ประการคือ 1. ผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการมีความเสี่ยงที่จะไม่มีอุปกรณ์คุณภาพดีใช้งานภาย หลังปี 2558 เนื่องจากทั่วโลกจะเริ่มยกเลิกการผลิตในระบบอนาล็อก ส่งผลให้อุปกรณ์มือสองจากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามาขายในไทยแต่อุปกรณ์มือหนึ่งจะหาได้ยากขึ้น 2. ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการเข้าถึงผู้บริโภค ได้ถึง 90% ของครัวเรือนไทยภายในปี 2558 จากปัจจุบันที่มีอัตราการเข้าถึงผู้บริโภคอยู่ที่ 50-60% ทำให้ดิจิตอลทีวีที่เกิดขึ้นในภายหลังอาจไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และลดความน่าสนใจในการลงทุน   ทีวีดิจิตอลมีข้อเสียหรืออะไรที่ต้องระวัง ข้อเสียสำคัญคือ ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะเราต้องซื้อกล่องแปลงสัญญาณต่อกับทีวีเครื่องเก่าหรือซื้อทีวีเครื่องใหม่ ซึ่งเป็นต้นทุนเพิ่มเติมของผู้บริโภค ข้อที่ต้องระวังมากๆ คือ การมีทีวีระบบดิจิตอล ทำให้มีสถานี รายการ และเนื้อหาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ยิ่งทำให้ยากในการกำกับดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การโฆษณาผลิตภัณฑ์อันตราย ผลิตภัณฑ์หลอกลวง ต้องจุดนี้ต้องมีระบบการป้องกันและลงโทษที่เข้มแข็ง และผู้บริโภคต้องช่วยกันเฝ้าระวัง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 140 จับตาการจัดการปัญหา “คอนเทนต์ขยะ” จากทีวีดาวเทียม

หลังจากปล่อยให้คนไทยได้ลิ้มชิมรสชาติรายการจากทีวีดาวเทียมที่มี “คอนเทนต์ขยะ” (เนื้อหารายการแย่ๆ ทั้งขายสินค้าอันตราย สินค้าอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รายการขายเซ็กส์ ยาอวดอ้างสรรพคุณทางเพศ ฯลฯ) กันมาเนิ่นนานหลายปี ซึ่งมีคนเจ็บ ตายกันไปพอสมควรแล้ว ในที่สุด กสทช. ก็เตรียมคลอด ระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดาวเทียม เสียที ------------------------------------------------------------- เสพสื่อขยะกันมานาน...กว่ากลไกคุ้มครองจะมาถึง พฤติกรรมการเสพสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตมาก หลายรายการผู้ชมไม่ต้องรอเฝ้าหน้าจออีกแล้ว เพราะสามารถย้อนกลับมาดูได้ ด้วยการดูรายการย้อนหลังจากช่อง ยูทูป เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต และรายการยอดนิยมในปัจจุบันก็ไม่ได้จำกัดหรือผูกขาดเฉพาะแต่ในฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องเท่านั้น แต่เป็นรายการโทรทัศน์ที่รับชมผ่านทีวีดาวเทียม (หรือเคเบิลทีวี ที่นำคอนเทนต์มาจากทีวีดาวเทียมอีกที)   ด้วยจำนวนช่องที่มีเป็นจำนวนมากถึง 200 ช่อง ทำให้ทีวีดาวเทียมต้อนรับผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ที่เป็นใครก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็น “ขาใหญ่” ในวงการเท่านั้น เรียกว่าใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์เองได้ มีช่องรายการของตนเองได้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เกิดทางเลือกที่หลายหลายสำหรับผู้ชมรายการโทรทัศน์ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับชมรายการที่มีความแตกต่างจากฟรีทีวีปกติ รูปแบบรายการที่น่าสนใจ ใหม่ แนวและตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย ที่สำคัญคือ เปิดโอกาสผู้ชมเจอกับรายการที่ไม่เหมาะสม หลอกลวง ชวนเชื่อ งมงาย ตลอดจนรายการที่มุ่งแต่จะขายสินค้า และทำโฆษณาอย่างไร้จรรยาบรรณ  โดยรายการเหล่านี้สามารถออกอากาศซ้ำๆ (รีรัน) ได้มากกว่า 1 ครั้งในวันเดียวกันด้วย เรียกว่าเป็นสวรรค์สำหรับ รายการประเภทขายสินค้าหลอกลวงกันเลยทีเดียว ที่สำคัญไม่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎ ระเบียบ ใดๆ ด้วย   หากมองจากฐานผู้ชมรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน คนไทยเปิดรับกับทีวีดาวเทียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขล่าสุด Penetration อัตราการเข้าถึงครัวเรือนไทยของจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี จากการสำรวจของบริษัท AGB Nielsen ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุดเดือน ส.ค.2555 จากเดิมในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว อัตราการเข้าถึงเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 50% เท่ากับ 10.5 ล้านครัวเรือนไทย เพิ่มเป็นประมาณอัตราการเข้าถึงประมาณ 60% ของครัวเรือนไทย หรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือนแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าครัวเรือนไทยเกินกว่า 90% น่าจะติดตั้งเคเบิลทีวีและจานดาวเทียมเรียบร้อยแล้ว คนไทยนิยมชมชอบการเสพสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ จาก "รายงานประเมินผลกระทบการออก หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์" ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของ กสทช. ระบุว่า การเข้าถึงสื่อต่างๆ ของคนไทย ทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงได้สูงสุดถึง 98% หรือประมาณ 63 ล้านคน วิทยุ 40 ล้านคน หนังสือพิมพ์ 12 ล้านคน (การเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ของครัวเรือนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก ที่อยู่ในระดับประมาณ 84% ของครัวเรือน แต่อัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสิ่งพิมพ์ของไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียแปซิฟิกถึง 3 เท่า) เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงทีวีดาวเทียมของผู้ชมจึงรุดหน้าไปก่อน “การกำกับควบคุม” ซึ่งอยู่ภายใต้ พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิ่งเกิดเมื่อ 20 ธันวาคม 2553 แต่...กว่าจะได้ คณะกรรมการ กสทช. ตัวจริง 11 คน ก็เดือนกันยายน 2554 ดังนั้นในช่วงเวลาก่อนที่จะมี กสทช.ตัวจริง จึงเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า สุญญากาศ คือใครใคร่ทำอะไรก็ได้ บางคนก็เรียกช่วงเวลานั้นว่า ช่วงเวลาสื่อเถื่อนเกลื่อนเมือง ทั้งทีวีดาวเทียมเถื่อน เคเบิลทีวีเถื่อน และสถานีวิทยุเถื่อน (จนตอนนี้ กันยายน 2555 ก็ยังเถื่อนอยู่เพราะยังไม่มีการออกใบอนุญาตตามกฎหมาย ประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551) ความที่เป็นสุญญากาศนี้เอง ทำให้โฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้ชาวบ้านเบ่งบานเต็มที่ แม้ในบางผลิตภัณฑ์เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่มีหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลการโฆษณาอยู่ ก็ทำอะไรได้ไม่มาก สั่งจับ สั่งปรับไม่ทันผู้ประกอบการที่ไร้จรรยาบรรณ ทำได้แค่เตือนผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะฟัง อย.เท่าไหร่เพราะเชื่อผู้จัดรายการมากกว่า ก็แหม...คนดังในสังคมทั้งนั้น ทั้งทนายความที่อ้างตัวว่าทำเพื่อชาวบ้าน ดารานางแบบที่ออกมาสอนเพศศึกษากันอย่างเปิดเผยจนน่าหวาดเสียว ต่างก็ร่วมกันช่วยขายสินค้าที่อวดอ้างว่าดีต่อสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ รักษาได้ทุกโรค แก้เซ็กส์เสื่อม เพิ่มประสิทธิภาพให้อวัยวะเพศ ทั้งชาย หญิง ทำให้ผอมเพรียวได้ในสามวัน เจ็ดวัน และอีกสารพัดด้วยตรรกะที่เหนือธรรมชาติ ผู้ประกอบการบางรายมีช่องรายการเพื่อขายสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ ได้ถึง 4-5 ช่อง ทั้งวันก็เวียนรายการซ้ำไปซ้ำมา เพื่อเชิญชวนให้ซื้อสินค้า ซึ่งราคาแพงทั้งสิ้น (เขาว่าถ้าตั้งราคาถูกเกินไป คนจะไม่เชื่อถือ ของดีต้องแพงว่างั้น) ทำให้ผู้ประกอบการต่างก็ร่ำรวยกันไปถ้วนหน้า แค่เอาเศษผัก ผลไม้มาป่นขาย ก็ทำให้มีเงินขนาดซื้อทีมสโมสรฟุตบอลระดับไทยพรีเมียร์ลีกได้ และสรรพคุณที่ตอกย้ำซ้ำซากมานานหลายปี ก็ทำให้ชื่อสินค้าติดตลาดไปเรียบร้อย โดยสามารถเอาชื่อไปออกสื่อฟรีทีวีได้โดยไม่ต้องบอกสรรพคุณอีกแล้ว เป็นการยกระดับสินค้าไปอีกขั้น โดยกฎหมายก็ตามไปเอาผิดอะไรไม่ได้ ------------------------------------------------------------- ทำให้ถูกกฎหมายจะได้จัดการได้เสียที หลังจากปล่อยให้ฟอนเฟะกันมาหลายปี ก็ได้เวลาสำหรับการจัดระเบียบแล้ว ล่าสุด(กันยายน 2554) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติ ร่างประกาศกสทช. ที่เกี่ยวกับโครงข่ายกิจการบรอดแคสติ้ง, สิ่งอำนวยความสะดวก, กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์และกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมฯ รวม 4 ฉบับ ที่คงจะลงราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ในอีกไม่นาน (หากไม่มีกรณีฟ้องร้องจากฝั่งผู้ประกอบกิจการเสียก่อน) โดยรูปแบบการออกใบ อนุญาตประกอบกิจการนั้น จะเริ่มด้วย  การออกใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีก่อน เพื่อเร่งให้ช่องรายการต่างๆ ทั้งเคเบิลทีวีกว่า 1,000 รายและทีวีดาวเทียมกว่า 200 รายเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลก่อน จากนั้นจึงออกใบอนุญาตระยะ 4-14 ปี “เพราะหากออกใบอนุญาตฯ ระยะยาวแก่ผู้ประกอบการ จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดและใช้เวลากว่า 1เดือนต่อการออกใบอนุญาต 1 ใบ ทำให้ขั้นตอนการนำผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลจะล่าช้ายิ่งขึ้น อาจใช้เวลานานหลายปี” สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. สายบรอดแคสติ้ง กล่าวกับสื่อมวลชน โดยหลังให้ใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีแล้ว การออกใบอนุญาตระยะที่ 2 จะพิจารณาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต ซึ่งหากมีผู้ร้องเรียนมาก ระยะเวลาของใบอนุญาตระยะที่ 2 ก็จะสั้นลงหรือเพิกถอนใบอนุญาตก็เป็นได้ ส่วนการกำหนดผังรายการทีวีดาวเทียมแบบไม่บอกรับสมาชิก จะผ่อนผันให้สามารถรายงานผังรายการยืดหยุ่นได้มากกว่าฟรีทีวีภาคพื้นดิน (กรุงเทพธุรกิจ 10 กันยายน 2555) สรุปว่านับจากนี้ไปจะไม่มี "ทีวีเถื่อน" หลังจากที่เถื่อนกันมานาน และนับจากนี้ไปก็คงต้อง “จับตา” ดูกันล่ะว่า เมื่อผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าสู่กฎ ระเบียบ แล้ว จะยังมีรายการขยะ โผล่ออกมาให้ประชาชนได้เสพกันอยู่อีกหรือไม่ และคงได้วัดกันไปว่า หน่วยงานทั้งหลายจะมีน้ำยาพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันการรับชมรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย ทำได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ฟรีทีวี (ช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส) โดยผ่านเสาอากาศทีวี(แบบหนวดกุ้งหรือก้างปลา) หรือรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณของเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม อีกที 2.เคเบิลทีวี รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณที่มาทางสายเคเบิล เป็นการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก ผู้ชมต้องจ่ายค่าแรกเข้าและบริการรายเดือน 3.ทีวีดาวเทียม รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยครั้งแรกจะต้องมีการติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ หรือปัจจุบันมีขายเฉพาะกล่องสัญญาณ(โดยผ่านจานดาวเทียมอะไรก็ได้ที่ติดตั้งไว้ก่อนแล้ว) ส่วนใหญ่เมื่อติดตั้งครั้งแรกแล้ว จะไม่มีค่ารายเดือนอีก เว้นแต่มี คอนเทนต์พิเศษ ที่ต้องเข้ารหัสเก็บเงินค่าดู ------------------------------------------------------------- “เจนิฟู้ด จะขายเสียอย่าง ใครจะทำไม” แม้ อย.จะออกแถลงข่าวเรื่องการลงดาบ เจนิฟู้ด ดังนี้ อย. สั่งเชือดโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู้ด หลังดื้อแพ่งโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีคำสั่งให้ระงับโฆษณา ส่อเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย และทำธุรกิจอย่างไร้จริยธรรม หลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ อย. เอาจริง ลงโทษหนัก ทั้งโฆษณาเป็นเท็จ มีโทษจำคุก และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจะปรับทุกครั้งที่พบการโฆษณาทั้งผู้โฆษณาและ สื่อที่เผยแพร่ พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะเป็นการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ จากการที่มีผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” นำเข้าโดย บริษัท เบสไฟว์ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นเครื่องดื่มพืชผักผลไม้ผสม (ตราเจนิฟู้ด) เลขสารบบอาหาร 10-3-10838-1-0001 มีการโฆษณาอ้างว่าเป็น “เอนไซม์” ทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีกว่า 10 ช่อง โดยมีข้อความโฆษณาอวดอ้างรักษาได้สารพัดโรค เช่น ป้องกัน ยับยั้งต่อต้าน ทำลายโรคต่าง ๆ เป็นทางเลือกที่ได้ผลสูง , รักษาแผลกดทับเนื่องจากอัมพฤกษ์, ใช้โรยแผลที่มีเนื้อมะเร็งแผลบวม มีหนองจะช่วยดูดซับสารพิษทั้งหมด ฯลฯ โดยนำบทสัมภาษณ์ผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ไขมันอุดตัน มะเร็งเต้านม หัวใจตีบ ฯลฯ ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เอนไซม์ดังกล่าวแล้วอาการป่วยดีขึ้น หรือหายจากอาการป่วย หรือนำผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคมมาโฆษณา เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ ซึ่ง อย. ได้มีคำสั่งระงับโฆษณาดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีให้งดเผยแพร่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีหลายช่อง ได้แก่ Home Channel, I Channel, OHO Channel, DooDee Channel, Nice Channel,MYTV, Thai Vision, เกษตร แชนแนล, MY MV5, Hi Channel, Star Channel และช่องลายไทย โดยการกระทำดังกล่าวถือว่าเจตนาละเมิดคำสั่งการระงับโฆษณา ซึ่ง อย. เตรียมดำเนินการอย่างเข้มงวด ตามนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยจะดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท และฝ่าฝืนคำสั่งระงับโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันวันละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 พันบาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากนี้ สื่อที่ทำการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าว อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี จะมีความผิดในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของ ดังนั้นแม้ในความเป็นจริง ทั้ง อย.ได้สั่งลงโทษ และ กสทช.ได้มีคำสั่งแบนโฆษณา "เจนิฟู้ด" ไปแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะหาเจ้าภาพไปดำเนินการไม่ได้ ขณะเดียวกัน อาหารเสริม "เจนิฟู้ด" ได้เปิดช่องทีวีดาวเทียมทั้งระบบซีแบนด์ และเคยูแบนด์ 5 ช่องคือ เย็นใจ, เบาใจ, พอใจ, เพลินใจ และช่องทนายประมาณ ทำซีเอสอาร์ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองต่อไป มิเพียงเท่านั้น "เจนิฟู้ด" ได้รับการประสานงานมาจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือสโมสรฟุตบอลสมุทรสงคราม เอฟซี โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "เจนิฟู้ด สมุทรสงคราม เอฟซี" ซึ่งเวลานี้ "นายพล คนขอนแก่น" กลายเป็นคนดังในวงการไทยพรีเมียร์ลีกไปโดยปริยาย ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีจำนวน 21 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่รับชมผ่านจานดาวเทียม 10 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น จานดำ 6 ล้านครัวเรือน จานแดง 1.5 ล้านครัวเรือน จานเหลือง 1.5 ล้านครัวเรือน และจานส้ม 1 ล้านครัวเรือน ส่วนอีก 11 ล้านครัวเรือน จะดูผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น 4 ล้านครัวเรือน และอีก 7 ล้านครัวเรือน ที่รับชมโทรทัศน์ผ่านเสาก้างปลา  ทั้งนี้ ประเมินว่าจากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เสาก้างปลาจะหมดไปจากตลาดของประเทศไทย เพราะผู้บริโภคจะหันมาติดจานดาวเทียมแทน ขณะที่ราคาการติดจานเคเบิลทีวี ในปัจจุบัน เริ่มต้นที่ 1,200 บาทเท่านั้น ถือว่ามีราคาลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ขณะที่ปีหน้าจะมีดาวเทียมไทยคม 6 เกิดขึ้น คาดว่าจะมีช่องเคเบิลทีวีเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 150-200 ช่อง เพราะดาวเทียมไทยคมมีช่องรับสัญญาณจำนวนมาก ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจดาวเทียมต่อปีจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ที่มา http://www.thaipost.net/node/53665 ------------------------------------------------------------- อันตราย! สินค้าหลอกลวงเกลื่อนเมืองสื่อดาวเทียมตัวแพร่ระบาด ในท้องตลาดตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่มากมายและต่างก็มีกลเม็ดโฆษณา ทำการตลาดแตกต่างกันไป สิ่งที่เป็นจุดเดียวกันคือการมีสรรพคุณที่ดูดีเกินจริง โดยมักจะมีคำอธิบายในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านความงามและเรื่องเพศ กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพหรือรักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งผลของการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปได้ที่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งอาจได้ผลลัพธ์ที่พอใจ แต่ก็พบกรณีร้องเรียนมากมายถึงการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด กฎหมายไม่สามารถกระทำอวดอ้างได้ ทว่าปัญหาก็คือตอนนี้ยังไม่มีกลไกการลงโทษที่ทำให้โฆษณาเหล่านั้นหายไปเสียที คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนมากกว่า 100 กรณีต่อ 1 เดือน ซึ่ง ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยาเผยว่า จากข้อมูลที่แยกเป็นประเภทของลักษณะการทำผิดกฎของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพบว่า การโฆษณาอวดอ้างถือเป็นกรณีที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ประเด็นเรื่องโฆษณานี่เยอะที่สุด สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาหารไม่ใช่ยา เราไม่ให้โฆษณาสรรพคุณทางยา แต่ส่วนใหญ่แล้วทำขึ้นมาจะต้องโฆษณาสรรพคุณใช้ป้องกันรักษาได้ ซึ่งก็จะโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น ทั้งนี้มาตรการในการดำเนินการลงโทษนั้นมีตั้งแต่ระงับโฆษณา และดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ ซึ่งหากไม่หยุดโฆษณาก็จะมีโทษที่หนักขึ้น โดยโฆษณาเหล่านี้จะพบเห็นบ่อยตามช่องทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี(ซึ่งส่วนใหญ่ก็นำเนื้อหามาจากทีวีดาวเทียม) ในทางปฏิบัติก็มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในการควบคุม ทว่ากลับไม่มีอำนาจมากนัก เพราะยังคงพบการฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการควบคุมลงโทษนั้น สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า แม้ อย.ร่วมกับ กสทช.สั่งห้ามโฆษณาเหล่านี้ในสื่อทุกประเภท ทว่าในทางปฏิบัติอย่างการเผยแพร่สัญญาณนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือ จากบริษัท ไทยคม จำกัดในการตัดสัญญาณเพื่อปิดสถานีที่ฝ่าฝืนกฎ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยร่วมกับเครือข่ายที่ทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค 16 จังหวัด สำรวจการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร และเสริมอาหารทั้งหลายที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา ซึ่งพบว่า มันมีปัญหาเยอะ และทาง กสทช. ได้สั่งให้ห้ามโฆษณาแล้ว แต่ก็ยังพบว่ายังมีการโฆษณากันอยู่ เพราะทางไทยคมไม่สั่งระงับสัญญาณ ต้องไปขอความร่วมมือที่ไทยคม แต่ไทยคมมีความรับผิดชอบต่อกรณีนี้น้อยเกินไป โดยอ้างว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ แต่ความจริงแล้วหากไทยคมพบว่า สถานีต่างๆ ยังมีการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือโฆษณาที่ไม่เป็นจริง ก็สามารถให้ปิดรายการหรือปิดสถานีได้เลย ไทยคมต้องดำเนินการตามนั้น หากไทยคมจะอ้างว่าตัวเองได้สัมปทานจากไอซีทีไม่ต้องทำตามกฎหมาย มันไม่ได้ เพราะว่าไทยคมเป็นคนดูแลหรือควบคุมโฆษณาของพวกนี้ ผ่านพวกช่องดาวเทียมโดยตรง ขณะเดียวกัน กสทช. ก็จะบอกว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีกติกาที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จริงๆ เขาได้มีความร่วมมือกับ อย. ดังนั้น เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่เป็นเท็จหลอกลวง มันทำไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็อยากให้ไทยคมร่วมมือ สิ่งที่สำคัญ คือ อย.กับ กสทช. ต้องมีเครื่องมือในการบังคับลงโทษ หากมีเพียงคำสั่งห้ามแต่ไม่มีกลไกที่ในการติดตาม การดำเนินการก็ไร้ผล และโฆษณาที่ชวนเชื่อเกินจริงก็ยังคงอยู่”   ที่มา หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ------------------------------------------------------------- ทุกข์ล้นเหลือเหยื่อโฆษณา จากการที่กลไกการควบคุมโฆษณานั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ที่จ้องฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจ ทำมาหากินบนการหลอกลวงหนทางที่เปิดกว้างให้เห็นกำไร และความสำเร็จชนิดตีหัวเข้าบ้าน ทำให้โศกนาฏกรรมอย่างการกินอาหารเสริมที่เชื่อว่าจะรักษาโรค กลับยิ่งทำให้โรครุมเร้าหนักขึ้นอาจถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ลอย เจ้ขี้เกียจพิมพ์ แนบ พีดีเอฟไฟล์ มาให้ เอาหน้า 9-12 ลงที นะ เป็นตัวอย่างกรณีดื่มเจนิฟู้ด แล้วอันตราย ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ : www.thaidrugwatch.org/download/books/adsvictim.pdf

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point