ฉบับที่ 260 กระแสต่างแดน

 แน่นจนน่ากลัว         เหตุการณ์ที่อิแทวอนทำให้ผู้โดยสารรถไฟไต้ดินของกรุงโซลเริ่มวิตก เพราะในชั่วโมงเร่งด่วนมีผู้คนหนาแน่น เบียดเสียดกันทั้งในสถานีและในขบวนรถเช่นกัน         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางสาย 1 ช่วงระหว่างสถานีกูโรและสถานีกิล การสำรวจโดยบริษัท SK Telecom  พบว่า มีความหนาแน่นของผู้โดยสารถึงร้อยละ 252 หรือเท่ากับ 403 คนต่อคัน (ทั้งที่ควรเป็น 160 คนเท่านั้น)         รายงานระบุว่าผู้ประกอบการรถไฟใต้ดินมีแผนจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระบบแจ้งความหนาแน่นในตัวรถ รวมถึงจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะผ่าน “ประตู” สถานีเข้ามา ด้านนักวิชาการเสนอให้มีการปรับปรุงตารางรถ ไม่ให้รถไฟเข้าชานชาลาพร้อมกัน รวมถึงเพิ่มเส้นทางรถเมล์ด้วย          ระหว่างนี้เขาจะใช้มาตรการชั่วคราวไปก่อน ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่มา “ยืน” ให้มากขึ้น นักวิชาการของเกาหลีบอกว่าแผนนี้ใช้ได้ เมื่อคนเกาหลีเห็นเจ้าหน้าที่ ก็จะเกรงใจและขึ้นลงอย่างเป็นระเบียบมากขึ้น ไม่เบียด ไม่ผลัก และไม่พยายามแทรกเข้าขบวนรถที่เต็มแล้ว ตั๋วเดือนกลับมาแล้ว         ผลตอบรับที่ดีของ “ตั๋ว 9 ยูโร” ในฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลเยอรมนีเตรียมขาย “ตั๋วเดือน 49 ยูโร”  (ประมาณ 1,800 บาท) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ตามแผนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้น่าใช้มากขึ้น         ตั๋วที่ว่านี้สามารถใช้ได้กับขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ ทั้งรถราง U-Bahn (รถไฟใต้ดิน)  S-Bahn (รถไฟในเมือง) และรถไฟข้ามเมืองของ Deutsche Bahn เช่นเดียวกับตั๋ว 9 เหรียญ         ตั๋วเอื้ออาทรนี้ใช้เงินอุดหนุนประมาณ 3 ล้านยูโร โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันจ่ายคนละครึ่ง   นอกจากนี้เยอรมนียังเตรียมขยายระบบขนส่งมวลชนโดยจัดสรรงบประมาณไว้ปีละหนึ่งพันล้านยูโร (และเพิ่มให้อีกร้อยละ 3 ต่อปี         ผลโพลล์พบว่าร้อยละ 55 ของคนเยอรมันชอบตั๋วแบบนี้มากถึงมากที่สุด เพราะทุกวันนี้จ่ายอยู่เดือนละ 80 - 100  ยูโร แต่ก็มีถึงร้อยละ 23 ที่ไม่ชอบแนวคิดนี้         บ้างก็ว่าราคานี้ยังแพงไป ที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือ “ตั๋วปี” ในราคา 365 ยูโรรถสะอาด อากาศดี         ฝรั่งเศสเล็งเพิ่มพื้นที่ “มลพิษต่ำ” จาก 11 พื้นที่ในปัจจุบันเป็น 43 พื้นที่ภายในสิ้นปีหน้า         พื้นที่ดังกล่าวไม่อนุญาตให้รถรุ่นเก่าเข้ามาวิ่ง หรือวิ่งได้เพียงบางช่วงเวลา และรถที่จะเข้าพื้นที่ได้ต้องมีสติกเกอร์ Crit’Air ซึ่งทางการจะออกให้หลังตรวจประเมินระดับการปล่อยมลพิษ (ระดับ 0 ถึง 5) การขับรถที่ไม่มีสติกเกอร์เข้าเขตดังกล่าวจะมีค่าปรับระหว่าง 68 ถึง 750 ยูโร         รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายขณะนี้ยังไม่ดีพอและไม่มีมาตรฐาน แต่เขากำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติโดยใช้กล้องวงจรปิดเข้ามาช่วยในเร็วๆ นี้         ด้านประชาชนที่เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า (ค่ามลพิษระดับ 0) จะได้ “โบนัส” 7,000 ยูโร โดยรถที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนต้องมีราคาระหว่าง 7,000 - 47,000 ยูโร โดยเจ้าของจะต้องใช้รถอย่างน้อยหกเดือน หรือขับอย่างน้อย 6,000 กิโลเมตร ก่อนจะขายต่อได้         ความนิยมรถไฟฟ้าในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการจดทะเบียนในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 93,344 คัน  รีวิวหลอกดาว         อเมซอนยื่นฟ้องบริษัทนายหน้าจัดหาผู้มารีวิวสินค้าในประเทศสเปนและอิตาลี หลังพบว่า “ลูกค้า” ที่เข้ามารีวิวสินค้าในอเมซอนไว้อย่างเลิศเลอนั้นไม่ใช่ลูกค้าตัวจริง         อเมซอนบอกว่าเขาตรวจสอบได้ว่าใคร “ถูกจ้าง” โดยทั่วไปลูกค้าจะได้เงินคืนก็ต่อเมื่อไม่ได้รับสินค้า สินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่อง หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่กรณีนี้ผิดสังเกต เพราะลูกค้าที่พึงพอใจมากกลับทำเรื่องขอเงินคืน แล้วก็ได้คืน “เต็มจำนวน” เสียด้วย สุดท้ายพบว่าเงินดังกล่าวคือค่าตอบแทนนั่นเอง         บริษัทที่เป็นจำเลยอ้างว่า พวกเขาเพียงแต่เลือกคนที่พวกเขารู้ล่วงหน้าแล้วว่ายินดีจะซื้อสินค้า และจะมีความพึงพอใจขนาดโพสต์รีวิวให้ถึงห้าดาว วิธีการแบบนี้แพร่หลายมากขึ้นช่วงโควิดระบาดที่ผู้คนนิยมเดินห้างออนไลน์ ก่อนหน้านี้อเมซอนยุโรป ได้ส่งคำเตือนไปยังเว็บไซต์ 5 เว็บในเยอรมนี ให้หยุดการกระทำดังกล่าว ซึ่งเว็บเหล่านั้นก็ยินยอมเพราะไม่ต้องการถูกฟ้อง   ร้อน แล้ง เครียด         ปัจจุบันจำนวนคนชั้นกลางที่มีฐานะดีและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นมมีจำนวนมากขึ้นทั่วโลก แต่อากาศที่ร้อนแล้งขึ้นทุกปีส่งผลให้วัวให้น้ำนมได้น้อยลงเพราะ “ความเครียด” และการขาดแคลนทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตจากนมวัวจึงมีแนวโน้มจะลดลงและมีราคาแพงขึ้น         มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตจากนมวัวของออสเตรเลียจะลดลงไปถึงร้อยละ 50 เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกกิจการไปเพราะเจอกับคลื่นความร้อนหลายปีติดต่อกัน  ด้านอเมริกาก็มีรายงานว่าหากสถานการณ์โลกร้อนยังไม่ดีขึ้น ก่อนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมวัวนมที่นั่นอาจขาดทุนถึงปีละ 2,200 ล้านเหรียญ         ในขณะที่ฝรั่งเศสประกาศหยุดผลิตชีสยอดนิยมที่เรียกกันว่า  Salers เพราะไม่มี “วัตถุดิบ” เพียงพอ วัตถุดิบที่ว่านั้นคือน้ำนมจากแม่วัวที่กินหญ้านั่นเอง         ส่วนอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำนมวัวรายใหญ่ที่สุดของโลก สถานการณ์ก็ย่ำแย่เช่นกัน เกษตรกรรายย่อย จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาลงทุนติดตั้งอุปกรณ์หรือสร้างโรงเรือนเพื่อทำความเย็นให้กับวัวนั่นเอง     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อันตรายของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม

หลังจาก ‘กัญชา’ ถูกปลดออกจายาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ ก็เกิดสภาพปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อยเพราะปลดล็อคแบบไร้การกำกับดูแล เกิดข่าวผู้บริโภคกัญชาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไปจนถึงมีการเสพภายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวหลังปลดล็อกกัญชา        เบื้องต้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เพื่อกำกับดูแลในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหาดังนี้         1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม         2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร         3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย         4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยตั้งข้อสังเกตและแสดงจุดยืนว่าเนื้อหาในข้อ 2 เท่ากับปล่อยเสรีและสุ่มเสี่ยงที่เยาวชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด อีกทั้งน่าจะขัด พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต’ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าควรยกเลิกประกาศข้อ 2 และรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา        ถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็มีการรวบรวมรายชื่อแพทย์จำนวน 851 คน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้         ถ้าดูสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เราจะไม่แปลกใจ เพราะหลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า ผลเบื้องต้นยังพบการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56 ในผู้ป่วยนอก และร้อยละ 44.33 ในผู้ป่วยใน ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์         ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการผลักดันให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์แบบสั้นๆ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก นักวิชาการและนักวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ รองประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอยู่มากและค้นพบประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของสารที่อยู่ในพืชชนิดนี้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทย กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยา         เป็นที่มาของการผลักดันโดยกลุ่มนักวิชาการให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายหลังจึงมีภาคประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้วเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดปี 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ต่อมาพรรคการเมืองก็นำไปใช้เป็นนโยบายกัญชาเสรีในการหาเสียง เท่ากับว่าการปลดล็อกกัญชารอบนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์         “ที่ผ่านมาเราควบคุมว่ามันเป็นยาเสพติด แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในทางยาเราก็ทำไม่ได้ ทำให้มีการเรียกร้องว่าน่าจะต้องจัดวิธีการควบคุมใหม่ แทนที่จะไปอยู่ในลิสต์ของยาเสพติด น่าจะมีกฎหมายแยกเฉพาะเพื่อคุมมัน อันนี้ข้อเรียกร้องข้อเสนอมาแต่แรกๆ มีเครือข่ายขับเคลื่อน อาจารย์สำลี ใจดีก็เป็นผู้นำในยุคนั้น”         ตามที่ ภก.ยงศักดิ์ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเป็นการเปิดกัญชา ‘เสรี’ ชนิดใครอยากปลูก อยากเสพ อยากขายก็ทำได้ แต่มีการควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะและจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ ครั้นนำมาปฏิบัติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เขาเห็นด้วยกัญชาทางการแพทย์เป็นโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมกำกับให้อยู่ในทางการแพทย์        “ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะกระโจนไปสู่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็มันก็มีข้อควรระวังเยอะแยะที่จะเปิดให้ใช้กัญชาโดยทั่วไป ข้อกังวลเหล่านี้มีเหตุมีผลมีหลักฐานทางวิชาการและควรรับฟัง มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าสามารถรวบรวมหรือทำให้คนหรือภาคีต่างๆ ในสังคมที่เขาสนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้กฎหมายและการควบคุมเป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน” เสรีกัญชาแบบไร้การควบคุม         นอกจากนี้ บรรดาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลก็ชวนตั้งคำถามทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมายและการนำไปปฏิบัติจริง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่าข้อ 2 ในประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เป็นประกาศที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 44 และ 45  ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ไว้         “ปกติแล้วการจะอนุญาตเรื่องสมุนไพรควบคุม ตัวอย่างเช่นกราวเครือที่มีการประกาศไปแล้วตามมาตรา 45 จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการครอบครอง การดูแล การเก็บรักษา การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องออกเป็นรายละเอียด แต่ว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 16 มิถุนายนไม่มีรายละเอียดก็เลยไม่มีอำนาจในการออก เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขัดแย้งกับมาตรา 46 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย เพราะมาตรา 46 บัญญัติว่าไม่ให้วิจัย ส่งออก รวมถึงจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ก็คือว่าใครที่จะเอาพวกกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายให้กับประชาชนเพื่อการค้าจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่เคยอนุญาตให้ใครตามมาตรา 46 เลย ที่ขายกัญชาในสถานบันเทิง การขายดังกล่าวเป้นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ตามมาตรา 46 แต่ว่ากรมแพทย์แผนไทยแค่ไปตักเตือน ไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย มันมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย”        สรุปคือแม้ว่ากัญชาจะถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่มันก็ยังถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อยู่ ใครที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อนทุกกรณี ซึ่งยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประกาศควบคุมกัญชาที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางกฎหมายให้ต้องพิสูจน์กันต่อ         ส่วนกรณีการปลูกเพื่อใช้เองในครัวเรือนสามารถทำได่โดยไม่ต้องขออนุญาต ไพศาลมองว่าจะสร้างผลกระทบมาก ซ้ำยังผิดหลักการที่ควรต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปลูกเองได้ เขายกตัวอย่างว่าหากในบ้านมีเด็กและเยาวชนนำกัญชาไปสูบเองหรือนำไปผสมในอาหารในปริมาณมากเกินไป กรณีคนที่มีอาการแพ้กัญชาอาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ ยังไม่นับว่ากัญชามีคุณสมบัติดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในดิน การใช้อย่างไม่มีความรู้ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชา         ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่าเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับภาวะสุญญากาศในการกำกับดูแลกัญชา เขาเห็นว่ามี 2 ส่วนที่รัฐจำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ประเด็นแรกคือการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป         ประเด็นต่อมาคืออาหารการกิน วีรพงษ์อธิบายว่าเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้อนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียน ถือว่ายังมีการดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มีปัญหาว่ายังไม่มีมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากคำเตือนว่ามีส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น         จุดที่วีรพงษ์คิดว่าน่าเป็นห่วงกว่าคือกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะแต่ละร้านปรุงกันเองใส่กันเอง ไม่มีการกำกับดูแล คงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร สามารถสร้างกลไกกำกับดูแลได้แค่ไหน         ไพศาลวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ว่าเนื้อหาไม่ค่อยดีนัก หลักการค่อนไปทางส่งเสริมกัญชาเสรี อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้โดยไม่จำกัดแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ส่วนมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค เด็กและเยาวชนก็มีน้อย         “ถ้าจะให้ทำจริงๆ อาจจะต้องแก้ไขย้อนกลับไปที่ตัวประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกลับไปใช้ประกาศฉบับเก่าปี 2563 ที่เขียนไว้ว่าให้ตัวต้น ตัวดอกกัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ แล้วกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่วมกันในฐานะที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้คนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาตามหน่วยงานเสนอ ไม่ใช่ให้ ส.ส. เสนอเพราะทำให้ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง การรับฟังความเห็นก็ทำน้อย ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายก่อน อันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบก่อนรอบด้าน แต่คงจะยากเพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมเสนอร่างกฎหมาย ปล่อยให้ ส.ส.เสนอ เหมือนว่ารัฐบาลก็เกียร์ว่าง”         ไพศาลยังเห็นว่ากฎหมายกัญชากับกัญชงควรแยกคนละฉบับเพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกินได้ ขณะที่กัญชายังยาเสพติดในหลายประเทศยังต้องควบคุมเข้มงวดมากกว่านี้ ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกในระยะแรกควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านโดยต้องมาจดทะเบียน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปอาจจะอนุญาตให้ปลูกได้ในระยะต่อไปโดยจำกัดในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้         ด้าน ภก.ยงศักดิ์ แสดงทัศนะว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเร็วเกินไปสำหรับสังคมไทย เขายกตัวอย่างแคนาดาซึ่งกว่าจะอนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการได้ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนกว่า 10 ปี เปิดให้โอกาสให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน วางระบบควบคุม และสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น การควบคุมแหล่งผลิต พื้นที่ขายว่าบริเวณไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ห้ามขายให้ใคร มีระบบติดตามว่าใครเป็นผู้ซื้อ ซื้อไปจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น        ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีเลยในไทย เราจึงอยู่ในสภาพเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาจะมีหน้าตาอย่างไร เกิดภาวะสุญญากาศ มึนๆ งงๆ และเป็นบทเรียนอีกครั้งว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ไม่วิเคราะห์ผลกระทบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วม สุดท้ายก็ต้องมาตามแก้ไขกันไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ผลทดสอบสารทาเลตและบีพีเอในผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ          ทาเลท (Phthalates) เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ DEHP และ DINP (ชนิดของทาเลท) ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์         นอกจากนี้ยังมีสารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือบีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร ทั้งนี้มนุษย์อาจจะได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ โดยสารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในสินค้าแก่ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำมาบรรจุอาหาร จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ประกอบด้วยภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาสารทาเลตอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สารบีพีเอ โดยวิธีการทดสอบทาเลตอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. ส่วนการทดสอบ บีพีเอ (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) โดยบริษัท TUV เป็นผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ผลการทดสอบ         ผลไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าเลย (ดูตารางที่ 1) และการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารบิสฟีนอล (เอ) ผล ไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่า สรุป         ภาชนะบรรจุอาหารที่อยู่ในตลาดและได้รับการสุ่มตรวจ 30 ตัวอย่างทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารทาเลทหรือ บีพีเอเกินกว่าค่ามาตรฐาน         อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆ อีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซีจะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ผู้บริโภคจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก   ตารางที่ 1          ทาเลทเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะDEHP และ DINP ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก มีการใช้งานตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ของเล่นและผลิตภัณฑ์ในการดูแลเด็ก สหภาพยุโรปได้รับกำหนดทาเลท 5 ชนิดที่มีความสำคัญและต้องควบคุม ได้แก่ ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง: di-isononyl phthalate (DINP), di-isodecyl phthalate (DIDP) เป็น 80% ของทาเลทที่ใช้ในยุโรป ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ: dibutyl phthalate (DBP), benzyl-butyl phthalate (BBP), di-2-ethyl-hexyl phthalate (DEHP) ซึ่งมีอันตรายมากกว่าและเป็นพิษ         ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตัวอ่อนในครรภ์มารดาที่ได้รับทาเลทพบว่าระยะห่างระหว่างรูทวารกับอวัยวะเพศมีลักษณะแคบกว่าเด็กปกติ (anogenital distance) (Swan et al.,Environ Health Perspect. 2005)  ทารกที่ได้รับสารทาเลทจากนมแม่ มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนเพศโดยลดฮอร์โมนเพศชาย และเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง (Main et al., Environ Health Perspect. 2006) และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารทาเลท(ทั้งในครรภ์และระหว่างผู้ใหญ่) กับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (Tang-Peronard et al., Obesity Reviews, 2011) และโรคเบาหวาน (Swensson et al., Envir. Res.) ในเพศชายที่ได้รับสารทาเลทสูงพบเชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติและมี DNA เสียหาย รวมทั้งพบการหลั่งฮอร์โมนของการสร้างน้ำนม (โปรแลคติน) (Duty et al., Hauser et al) พบว่าความเข้มข้นของสารเมตาโบไลต์ของทาเลทที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก (Trafno G. et al. tox. lett., 2011) อย่างมีนัยสำคัญ        แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ กระบวนการก่อมะเร็งและแม้กระทั่งในความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัม พบว่า การได้รับทาเลทในวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืด (Bornehag et al., 2004) (Jaakkola et al., 1999) การให้ DEHP ทำให้เกิดมะเร็งตับ (Ito et al., 2007) และตับอ่อนในหนู (Selenskas et al.,1995) พบเนื้องอกของระบบสืบพันธ์เช่น endometriosis และ uterine leiomyomata มีความสัมพันธ์กับระดับของสารทาเลท (Weuve et al., Environ Health Perspect. 2010) นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในเด็กออทิสติก 48 คน พบว่าปัสสาวะของเด็กเหล่านี้มีสาร DEHP สูงกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท        นับวันประชากรทั่วโลกจะได้รับสารทาเลทมากขึ้น การศึกษาการได้รับสาร DEHP ซึ่งเป็นทาเลทชนิดหนึ่ง ในประชากรผู้ใหญ่ชาวเยอรมันที่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง 85 ราย (Koch et al., 2003) และเด็กๆ 254 ราย (Becker et al., 2004) พบว่าเด็กได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายสูงกว่าปริมาณอ้างอิง (RfD, 20 ไมโครกรัม/กก/วัน) ถึง 26 คน (ร้อยละ 10.23) ขณะที่ผู้ใหญ่พบสารสูงกว่าค่าอ้างอิง 7 คน (ร้อยละ 5.95) จึงสันนิษฐานได้ว่าเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการได้รับ DEHP มากว่าผู้ใหญ่ และอาจเป็นเพราะการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในเงื่อนไขต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ในสหภาพยุโรปได้จำกัดการใช้ทาเลทในภาชนะอาหารหรืออุปกรณ์การกินทั้งหลายที่สัมผัสกับอาหารที่นำเข้าปากมาเป็นเวลาหลายปี  เนื่องจากอาจเกิดการเคลื่อนย้ายสารทาเลทจากภาชนะพลาสติกไปยังอาหาร พบว่ากระบวนการนี้จะถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยให้ความร้อน (Directive 2002/72/EC) และอาหารที่มีไขมัน         สารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ บีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร มนุษย์ได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ สารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน บีพีเอถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย         การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีปริมาณสารบีพีเอวัดได้ในปัสสาวะ ในสัตว์ทดลองพบว่าสารบีพีเอเป็นสารก่อกวนต่อมไร้ท่อที่เลียนแบบผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนหลายอย่างของร่างกายเช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนทัยรอยด์ นอกจากนั้นยังพบว่า มีผลรบกวนระบบเผาผลาญอาหารได้แก่การทำงานของอินซูลิน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ การแท้งบุตรซ้ำ ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกในครรภ์         ส่วนสารทาเลทยังถูกพบว่า ได้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและน้ำ. อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมนต่อมไร้ท่อของมนุษย์ได้ในห่วงโซ่อาหารและน้ำ (Rzybylinska P A and WyszkowskI M, ECOL CHEM ENG S. 2016)         มาตรฐานความปลอดภัยชองสารทั้งสองชนิดในผลิตภัณฑ์เด็กรวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม ที่เด็กเป็นผู้ใช้ ได้กำหนดค่าปริมาณสารทาเลตต่อน้ำหนักวัสดุ และปริมาณสารทาเลทหรือบีพีเอที่สามารถเคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติกมาปนเปื้อนกับอาหารหรือสามารถสัมผัสได้ทางผิวหนัง สูดดมหรือทางปาก หากเป็นภาชนะอาหารเพื่อดูว่าจะมีสารนี้รั่วไหลออกมาสัมผัสกับอาหารได้มากน้อยเพียงใด         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสารทาเลทในของเล่นและผลิตภัณฑ์ของใช้กับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารและนำเข้าปาก โดยให้รวม สารทาเลท 4 ชนิด (จากเดิม 3 ชนิด) ได้แก่ DBP/ BBP/ DEHP + DIBP แล้วต้องน้อยกว่า 0.1% ของน้ำหนักวัสดุ และกำหนดค่าสารทาเลทที่เคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติก (SML: specific migration limit) กำหนดไว้ที่ 60 มก./กก. (.006%)         สำหรับสารบีพีเอ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นโมโนเมอร์ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารพลาสติก และยังใช้เพื่อผลิตวัสดุและสิ่งของอื่นๆ ที่สัมผัสกับอาหาร รวมทั้งอีพอกซีเรซินที่ใช้ในเคลือบเงา เมื่อเร็วๆ นี้ ค่า SML ใหม่ถูกกำหนดไว้ที่ 0.05 มก. (หรือ 50ไมโครกรัม) /กก. โดยระเบียบคณะกรรมาธิการ (EU) และไม่อนุญาติให้มีส่วนประกอบของสารนี้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสามปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สวัสดีปีใหม่เดินทางปลอดภัย

        ขณะทำต้นฉบับนี้ อีกไม่กี่วันปี 2564 ก็จะจากไป ขณะที่หลายคนต่างหวาดกลัวและกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาอีกมั้ย แต่พฤติกรรมคนส่วนใหญ่กลับละเลยการป้องกันตนเอง และกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันแล้ว โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาจากพฤติกรรมการขับขี่ การขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย (เหมือนเดิม) และกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ออก เมื่อทุกคนคิดว่าการมาของโควิด-19 นั้นทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง จึงมีผลทำให้หลายมาตรการของรัฐหย่อนยานลดประสิทธิภาพลงตามไปด้วย         แน่นอนว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ รัฐบาลใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อหยุดการเดินทางของผู้คนทั้งประเทศ ตลอดจนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มของมึนเมาเพื่อลดการรวมกลุ่มสังสรรค์ในทุกกิจกรรม รวมถึงการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้เองว่า ต้องป้องกันตนเองจากสถานการณ์โรคระบาดและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในทุกกิจกรรม         อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะน่ากลัว แต่ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้แล้วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมีผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดของโรคระบาดโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ         นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นเพื่อต้องการหยุดเจ็บหยุดตายและป้องกันทุกชีวิตจากโควิด-19 ให้ได้ แต่เมื่อหันกลับมามองดูสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่มีคนเจ็บและตายมากกว่าหลายเท่าตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “ยังไม่เห็นความทุ่มเทของหน่วยงานเจ้าภาพหลักของประเทศและหน่วยงานในสังกัดทุกภาคส่วน ที่มีเป้าหมายร่วมเพื่อจะหยุดเจ็บหยุดตายให้ได้เหมือนโควิด-19” หากแต่เป็นเพียงวาทะกรรมอันสวยหรูของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและสังคมบางกลุ่ม เน้นสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ รณรงค์แบบเดิมทุกปี ที่สำคัญยังทำแค่เพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น         ขณะที่ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 – 2563 (ที่ล้มเหลว) มาแล้วรอบหนึ่ง และปัจจุบันกำลังเข้าสู่แผนความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษหน้า พ.ศ. 2565 – 2575 และยังมีแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติภายใต้แผนแม่บทด้านความมั่นคง เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัทางถนน มีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตางถนนลงร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2565 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกและดิจิทัล มีเป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศไทยรับมาดำเนินการด้วย เช่น 12 เป้าหมายโลกสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ Global road safety performance targets ปฏิญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Declaration) หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีแผนดำเนินการและแผนปฏิบัติการมากมายหลายระดับชั้น เพื่อเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของข้อตกลงที่กำหนดไว้ หากแต่เมื่อขั้นตอนและระบบปฏิบัติงานยังขาดความชัดเจนต่อเนื่องและเชื่อมต่อในแต่ละระดับ หลายฝ่ายจึงมีความเชื่อในทางเดียวกันว่า เป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรภายใน 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 นั้น “ไม่น่าจะทำได้”         เพราะหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 27.20 คนต่อแสนประชากร หรือมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ 17,831 คน ลดลงจากในปี 2562 ที่ 19,904 คน (ส่วนหนึ่งที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลงมีผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19) ซึ่งต่อจากนี้หากจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรภายในปี 2570 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือเพียง 8,474 คนเท่านั้น         ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว เป้าหมายการลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ หากถอดบทเรียนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็อาจจะพอพิสูจน์ให้เห็นว่าความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและลดจำนวนลงได้  อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องเวรกรรมความเชื่อหรือมายาคติของสังคมอีกต่อไป การสร้างมาตรการ เป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนตรงประเด็นเป็นนโยบายหลักของประเทศ ตั้งแต่ระบบการบังคับบัญชาลงมาถึงส่วนปฏิบัติงาน รวมถึงการสนับสนุนภาคีเครือข่าย และท้องถิ่นเพื่อให้มีการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนคือสิ่งที่ควรต้องดำเนินการให้จริงจังได้เท่ากับมาตรการป้องกันโควิด 19         แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องการเวลาและความร่วมมือ และปลายทางอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ระหว่างทางตัวเลขผู้เสียชีวิตต้องน้อยลงกว่านี้ให้ได้ เพราะเราคงไม่หวังให้มีโรคระบาดใหม่เพื่อมาหยุดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนอีกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2564

สคบ.ชี้ “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมาย        จากกรณีกระแสนิยมซื้อขายสินค้ากล่องสุ่มในโลกออนไลน์ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา          รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทางคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สคบ. ได้เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง มาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทางออนไลน์ และมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมารีวิว โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ จะมีกำหนดทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         สคบ.มองว่าการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลักที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ คือ 1) อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน หากไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง 2)  เกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้าเครื่องสำอางหรือของใช้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่นๆ ของสินค้า เช่น ฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ว่าต้องได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ แบงก์ชาติแจงไม่สนับสนุนชำระสินค้าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล         จากกรณีที่มีธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกาศรับชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “ไม่สนับสนุนการรับชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว” นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า  การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางแบงก์ชาติไม่สนับสนุน เพราะได้ประเมินแนวโน้มการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีผู้ต้องการใช้บริการขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือทางการเงินดูแลเศรษฐกิจ และกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคต ทั้งนี้ ทางแบงก์ชาติยังอยู่ในระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างแผนทางการเงินใหม่ให้มีแนวทางออกแบบนโยบาย มาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุมประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สามารถชำระสินค้าและบริการได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน สาธารณสุขเผยคนไทยสูบบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง                 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องหากเปรียบเทียบจากปี 2560 ที่มีร้อยละถึง 19.1 โดยที่ผ่านมา 4 ปี ทางคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ ทั้งนี้ จากการประชุมยังมีความห่วงกังวลกับสถานการณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับกลุ่มเยาวชน และรวมถึงกลุ่มต้องการเลิกสูบบุหรี่และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ยกฟ้อง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.มูลนิธิไบโอไทยกรณีเคลื่อนไหวแบน 3 เคมีอันตราย         15 ธันวาคม 2564 ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในคดีระหว่าง นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยากรวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ ในฐานความผิดหมิ่นประมาท นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากที่เพจ BIOTHAI ได้เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ซึ่งมีประเด็นของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต และการกล่าวถึงกลุ่มที่ค้านการแบนสารพิษว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมี         ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายรัษฎา มนูรัษฏา ทนายความนายวิฑูรย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ศาลพิจารณายกฟ้องในชั้นไต่สวน โดยศาลให้เหตุผลว่า เรื่องที่นายวิฑูรย์ให้สัมภาษณ์หรือโพสต์ข้อความเป็นเพียงประเด็นเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลมองว่าไม่ได้เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงพิพากษายกฟ้อง มพบ. เสนอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการขึ้นค่าทางด่วน        จากกรณีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564  ปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ , 6-10 ล้อ , รถมากกว่า 10 ล้อ นั้น        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคว่า “กระทรวงคมนาคมควรต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมต้องขายคูปองเพื่อให้ได้ราคา 50 บาทเท่าเดิม ในเมื่อยังมีผู้บริโภคที่ไม่สะดวกซื้อคูปอง แต่ต้องจ่ายราคา 65 บาท ซึ่งในอัตราที่ปรับขึ้นนี้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค”           นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการจ่ายด้วยคูปองและซื้อคูปองตามจุดที่เปิดขาย เพราะบางคนสะดวกเติมเงินผ่านระบบ easy pass มากกว่า ทว่าหากต้องการราคาเดิมต้องซื้อคูปองแทนการใช้ easy pass การซื้อคูปองตรงจุดที่เปิดขายจึงเป็นการสร้างภาระเพิ่ม อีกทั้งการซื้อคูปองจะต้องซื้อเป็นเล่ม (เล่มละ 20 ใบ) ในราคา 1,000 บาท เหมือนเป็นการบังคับซื้อ บังคับให้ต้องจ่ายค่าทางด่วนล่วงหน้า ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทางด่วนนั้นเป็นประจำ บางทีในระยะเวลา 1 ปี อาจจะใช้ไม่หมดก็ได้ นอกจากนี้การเก็บเงินประชาชนล่วงหน้า 1,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ทางด่วนหรือไม่ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาทบทวนเรื่อง การซื้อคูปองลดราคาค่าผ่านทางพิเศษ และเสนอให้กระทรวงคมนาคมไม่ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวน “มาก” และกินเวลา “นาน” เสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา         บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือ “โฆษณา” หรือ “รายการโทรทัศน์” เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม         ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า         เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19         แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น         ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย         ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว         แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น         กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย        พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง สำรวจโฆษณาทีวี         เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ         จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง          โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ?         ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ         ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ)         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่        1) ช่องบริการทางสาธารณะ        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)          พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที มุมมองผู้บริโภค         ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี “โฆษณา” ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53)         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25)         และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)        หากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ         จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับ “โฆษณา” แต่รับไม่ได้กับ “โฆษณาแฝง” และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที         ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ         รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา         ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย น.ส.บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)อ้างอิงhttp://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20 www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-พ.aspxwww.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspxhttp://www.supinya.com/2016/06/7578https://www.thansettakij.com/content/428726https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

        นิตยสารฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่ต้องควบคุมพิเศษ ซิลเดนาฟิลและทาเดลาฟิล ที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย โทษปรับสูงสุด 150,000 บาท         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ Lazada และ Shopee จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564         น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า “ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย ที่เราสุ่มสำรวจนั้น นำมาตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ 3 ชนิด ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบ 7 ใน 23 ตัวอย่าง มีซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาร์เดนาฟิล แบ่งเป็นตรวจพบทั้งซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ NATURAL HERBS COFFEE Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา         และตรวจพบซิลเดนาฟิล อีกจำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา 2. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 3. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 4. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 5. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว (ม้า 3 ตัว) สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 6. AAAAA Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee         จากเรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งผลทดสอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยบทลงโทษของการพบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชายนั้น กฎหมายให้ปรับสูงสุดที่ 150,000 บาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และมีซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ซึ่งถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับกรณีของการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคุณสมบัติ หรือบรรยายสรรพคุณเกินจริงนั้น ระวังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบเป็นความผิดจริง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับดอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1) "อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่นำจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท"         ด้าน ภญ.ชโลม  เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า “จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อยาเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาลาย ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคตับและไต ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจนถึงชีวิตได้”         นส.มะกรือซง สาแม คณะทำงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “การเก็บตัวอย่างในพื้นที่นั้นเก็บจากการร้องเรียนของผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลจากผู้บริโภคว่าได้รับประทานกาแฟผสมสมุนไพรและมีอาการมึนไป 2 วัน จึงได้ตรวจสอบไป 13 อำเภอ ซึ่งไม่ได้มีแค่ตัวเดียวแต่มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ 12 ตัวอย่าง เมื่อเก็บตรวจสอบไปเจอ 2 ตัวอย่างที่พบสาร ซึ่งภาพรวมเกี่ยวกับสินค้าในพื้นที่จำหน่วยโดยลักษณะมีรถนำมาฝากขายร้านค้าซึ่งไม่ได้เป็นของทางร้านค้าจำหน่ายเอง”         น.ส.จุฑา สังขชาติ    ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงการทำงานเฝ้าระวังครั้งนี้ว่า “การที่เลือกสินค้าตัวนี้มาทดสอบเพราะอะไรเริ่มจากทางภาคใต้มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องกรีดยางและต้องดื่มกาแฟตอนเช้า และจากการที่ได้ร่วมงานกับเครือข่ายนราธิวาส มีผลิตภัณฑ์ที่กาแฟลักษณะแบบนี้เป็นที่นิยมหลากหลายยี่ห้อมีลักษณะราคาแพงกว่ากาแฟทรีอินวันทั่วไป ซึ่งมีราคาแพงและเป็นที่นิยม เช่น 4 ซอง 100 บาท ซึ่งมีผู้บริโภคได้กินกาแฟประเภทนี้และหัวใจวาย จึงได้ตรวจสอบพบว่ามีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ในหลายพื้นที่จังหวัด  ส่วนการทำงานในพื้นที่ต่อ ทางเราจะมีการเฝ้าระวังในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกับ สสจ.นราธิวาส และจากการได้พูดคุย เราจะทำการเตือนภัยและให้ความรู้ไปยังผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ และเรามองไปถึงการทำงานระยะยาวระหว่างคณะกรรมการไทยร่วมกับทางมาเลเซียในการเฝ้าระวังสินค้าชายแดน โดยจะผลักดันให้มีตัวแทนผู้บริโภคไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น และร่วมผลักดันในเชิงนโนบายต่อไป” ติดตามรายละเอียดผลการทดสอบได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3789 ประสานงานรายละเอียดได้ที่ : ชนิษฎา วิริยะประสาท โทรศัพท์ 081 356 3591  หรือ 086 765 9151

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในกาแฟสำเร็จรูป

        ทุกวันนี้คนวัยทำงานนิยมดื่มกาแฟกันมาก เพราะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการให้ร่างกายทำงานโดยไม่มีอาการง่วงซึมระหว่างวัน เพราะในกาแฟมีสารคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นการตื่นตัวของสมอง ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า อย่างไรก็ตามได้มีผู้ผลิตหัวใสใส่ไอเดียเพิ่มความพิเศษให้กาแฟด้วยการโฆษณาว่า ดื่มเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ด้วยโดยเฉพาะคุณผู้ชาย ซึ่งผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปในรูปแบบนี้จะอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยให้อวัยวะเพศชายของผู้บริโภค ฟิตเปรี๊ยะ อึด ทน เมื่อดื่มจะมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น โดยอ้างว่าเป็นฤทธิ์จากสมุนไพรที่นำมาผสมในกาแฟ แต่แท้จริงแล้วเกิดจากการนำยากลุ่มรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศผสมในกาแฟ ซึ่งเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้         นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ LAZADA และ SHOPEE จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 เพื่อทดสอบหาสารซิลเดนาฟิล ( Sildenafil) ,ทาเดลาฟิล (Tadalafil) ,วาเดนาฟิล(Vardenafil) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ  สรุปผลทดสอบ        ผลการทดสอบหาสาร(ยา) ซิลเดนาฟิล ( Sildenafil),ทาเดลาฟิล(Tadalafil) ,วาเดนาฟิล(Vardenafil) ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปทั้ง 23 ตัวอย่าง พบว่า 7 ใน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์พบสารซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาเดนาฟิล ดังนี้        1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) พบสารซิลเดนาฟิล ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา        2. NATURAL HERBS COFEE Kopi Jantan Tradisional พบสารซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา        3. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง  พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE        4. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE        5. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ พบสารซิลเดนาฟิล LAZADA ONLINE        6. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว(ม้า 3 ตัว) พบสารซิลเดนาฟิล LAZADA ONLINE        7. AAAAA Kopi Jantan Tradisional พบสารซิลเดนาฟิล SHOPEE ONLINE ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผสมยาแผนปัจจุบันมีโทษตามกฎหมาย     ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยและมีสารซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ถือว่าเป็น”อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ตลกร้ายของประเทศนี้

        ไทย ประเทศที่มีผู้คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือเฉลี่ย 20,000 คน ต่อปี แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีพันธะสัญญากับองค์การอนามัยโลกและนานาชาติว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ตามปฎิญญามอสโกที่กำหนดให้ ปี 2554 - 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ทว่าสิบปีผ่านไปทุกอย่างกลับล้มเหลว และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับสองหมื่นคนไม่ได้ลดลงตามเป้าหมาย         แย่ยิ่งกว่านั้นทิศทางหรือนโยบายของรัฐบาลยังสวนทางกับเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งยังขาดประสิทธิภาพในการกำกับบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความปลอดภัยทางถนนอีกด้วย  แม้ว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบร้อยละ 70 จะมีสาเหตุจากรถจักรยานยนต์ แต่ภาพรวมของความรุนแรง บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพาหนะทุกประเภทเกือบทั้งหมดล้วนมาจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด         ขณะที่ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมยังส่งเสริมให้คนเข้าถึงความเร็วของถนนได้มากขึ้นกับกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เริ่มคิกออฟเส้นทางแรก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทางประมาณ 50 กม.         กฎกระทรวงฉบับนี้มีสาระสำคัญที่กำหนดให้ผู้ขับรถยนต์ใช้ความเร็วบนถนนทางหลวงได้สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. หากใช้ช่องขวาสุดต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ซึ่งเงื่อนไขของถนนที่จะใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. ประกอบด้วย มี 4 ช่องจราจร ไปกลับสองช่องจราจร เกาะกลางถนนแบบกำแพงและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน โดยต้องเป็นเส้นทางที่ประกาศโดย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เท่านั้น         ที่สำคัญกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาท่ามกลางข้อทักท้วงจากนักวิชาการถนนปลอดภัยที่ต่างให้ข้อคิดเห็นว่ากฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ยังไม่ใช่ทางออก และไม่เหมาะสมที่จะประกาศใช้ ชี้ความเร็วคือจุดเริ่มต้นของปัญหาอุบัติเหตุและความรุนแรง อีกทั้งถนนในบ้านเรายังไม่รองรับความเร็ว 120 กม/ชม. ที่มีก็อาจจะมีเพียงทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เท่านั้น แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นเพียงเสียงลมพัดผ่าน เพราะถึงตอนนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ผ่านออกมาบังคับใช้แล้ว        ส่วนประเด็นความไม่พร้อมของถนนที่นักวิชาการทักท้วงนั้น ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงคมนาคม เพราะมีหลายคนบอกต่อกันว่า “เขาออกกฎหมายมาก่อนแล้วค่อยสร้างถนนตามทีหลัง” ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง ภายหลังที่กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. มีผลบังคับใช้ หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ต่างประกาศแผนสร้างถนนรองรับนโยบายความเร็ว 120 กม/ชม. อีกกว่า 25 เส้นทางทั่วประเทศทันที เรียกได้ว่าพร้อมขานรับนโยบายเจ้ากระทรวงกันเต็มที่         ขณะที่ข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เรื่องความเร็วกับถนนยกตัวอย่างของต่างประเทศจะดูตามสภาพของถนนและกายภาพของถนน โดยจะแบ่งถนนเป็นลำดับชั้น เช่น Freeway เทียบได้กับทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ในบ้านเรา โดยจะต้องเป็นถนนที่มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีทางเข้าออกอื่น ไม่มีจุดยูเทิร์น  ไม่มีรถจักรยานยนต์วิ่ง ต่อมา คือ ถนน Arterial หรือถนนสายหลักเทียบได้กับถนนสายเอเชีย สุขุมวิท มิตรภาพ ที่เป็นถนนแบบมีทางเข้าออก มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีจุดยูเทิร์นกลับรถ ซึ่งในต่างประเทศการกำหนดความเร็วของถนนจะกำหนดตามลำดับชั้นก่อน ถ้าเป็น Freeway ก็จะวิ่งได้ความเร็วสูงกว่าถนนลำดับรอง แต่ก็ดูต้องด้วยว่าถนนเส้นนั้นอยู่ในเขตเมืองหรือนอกเมืองอีกด้วยหรือไม่ ที่สำคัญในต่างประเทศถ้าเป็นถนนฟรีเวย์แบบนอกเมืองที่ไม่ค่อยมีรถวิ่งจะจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ไม่เกิน 110 กม./ชม. และยังไม่เห็นมีประเทศไหนที่กำหนดความเร็ว 120 กม./ชม. เหมือนบ้านเรา         กลับมาที่ถนนสายเอเชียที่เป็นจุดคิกออฟความเร็ว 120 กม./ชม. แม้จะได้รับการปรับปรุงเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐมนตรี แต่กายภาพของถนนสายเอเชียไม่ได้ถูกออกแบบเหมือนถนน Freeway เช่น ทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ ที่มีทางเข้าออกชัดเจน ไม่มีจุดกลับรถ แต่ถนนสายเอเชียโดยปกติ มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีรถขับออกมาจากถนนด้านข้าง ไม่มีแบริเออร์กั้นกลาง หรืออาจจะมีคนเดินข้ามถนน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากความเร็วของรถที่วิ่งไปมาได้         นอกจากนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. ยังส่งผลถึงพฤติกรรมผู้ขับรถยนต์ที่รู้สึกอยากขับรถเร็วขึ้น เพราะเบื่อเลนขวาแต่ขับช้า พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดความคุ้นชินในการขับรถเร็วที่ต่อไปอาจจะไม่อยู่แค่ในเขตเส้นทางที่กำหนดก็เป็นได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุต่อไปได้         อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้วกฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. อาจจะถูกใจคนขับรถเร็ว และเอาใจรัฐมนตรีที่ประกาศนโยบายไว้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์ความปลอดภัยทางถนน และยังไม่เห็นถึงข้อดีตามแบบที่รัฐมนตรีคิดไว้  ที่สำคัญรัฐควรตาสว่าง ไม่ควรมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้ความเร็วที่ไม่ปลอดภัย แต่ควรส่งเสริมความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมากกว่า เพราะคงเป็นเรื่องตลกขำไม่ออกที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามลดความเร็วลงเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน แต่รัฐบาลประเทศไทยกลับมุ่งมั่นทำให้ทุกคนได้ขับรถเร็วขึ้น มันน่าอายเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สายรัดวัดความฟิต

                กลับมาอีกครั้งกับผลการทดสอบเปรียบเทียบสายรัดข้อมือที่ Which? องค์กรผู้บริโภคของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ได้ทำไว้ในช่วงปลายปี 2020 คราวนี้เรามีให้คุณได้เลือก 18 รุ่น ที่สนนราคาระหว่าง 699ถึง 7,290  บาท        การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 7 ด้าน        - ร้อยละ 45 ประสิทธิภาพ/ความแม่นยำในการนับก้าวขณะเดิน วิ่ง และทำงานบ้านทั่วไป รวมถึงความแม่นยำในการวัดระยะทางและอัตราการเต้นของหัวใจ        -  ร้อยละ 20 ความสะดวกในการใช้งาน เช่นตั้งค่า เข้าถึงข้อมูล มองหน้าจอได้ชัดในสภาพแสงต่างๆ        -  ร้อยละ 10 ความอึดของแบตเตอรี โดยวัดจากชั่วโมงการใช้งานหลังชาร์จแบตฯ จนเต็ม        -  ร้อยละ 10 การทำงานของแอปฯ        -  ร้อยละ 5 การแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดีย การรับส่งข้อความ รับโทรศัพท์        -  ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือน สายรัด รวมถึงความทนทานของหน้าจอต่อรอยขูดขีด        -  ร้อยละ 5 ฟีเจอร์ การปรับแต่งได้ตามต้องการ และความเข้ากันได้กับแอปฯ อื่นๆ         จากผลทดสอบครั้งนี้พอจะสรุปได้ว่า ราคาไม่ได้บ่งบอกประสิทธิภาพเสมอไป หลายรุ่นที่ราคาปานกลางได้คะแนนดีกว่ารุ่นที่ราคาแพงด้วยซ้ำ ในขณะที่รุ่นที่ราคาต่ำมากๆ ก็มีประสิทธิภาพน้อยตามราคา         ·  ค่าใช้จ่ายในการทดสอบครั้งนี้อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,800 ยูโร (ประมาณ 66,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง        · ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อเคยเสนอผลทดสอบ fitness trackers ไว้ในฉบับที่ 168 และ 184 หากสนใจติดตามอ่านย้อนหลังได้ในเล่มออนไลน์        ตลาดอุปกรณ์ fitness trackers ทั่วโลกในปี 2019 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,410 ล้านเหรียญ และมีการคาดการณ์ว่าจะสูงกว่า 90,000 ล้านเหรียญในปี 2027  อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.fortunebusinessinsights.com/fitness-tracker-market-103358

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

กระเป๋าเดินทาง

        สมาชิกฉลาดซื้อหลายท่านอาจกำลังเตรียมตัวออกเดินทางเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่พักหรือร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ท่องเที่ยว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบกระเป๋าเดินทางแบบล้อลาก ชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ มีทั้งแบบกล่องแข็งและแบบผ้าหนา ในขนาด “เคบินไซส์” หรือขนาดที่หิ้วขึ้นเครื่องบินได้ ผลที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลีย CHOICE ได้ทำไว้ทั้งหมด 12 รุ่น ราคาระหว่าง 1,100 ถึง 8,500 บาท        คะแนนรวม 100 คะแนน แบ่งออกเป็น        ร้อยละ 60      ความแข็งแรงทนทาน (การทดสอบในห้องแล็บฯ เปรียบเทียบความแข็งแรงทนทานของตัวกระเป๋า ล้อ และคันชัก รวมถึงการกันน้ำ)         ร้อยละ 40      การใช้งานได้สะดวก (ความพึงพอใจของอาสาสมัคร 3 คนที่ทดลองใช้)          ในภาพรวม กระเป๋าทุกรุ่นผ่านการทดสอบการตกจากที่สูงไปด้วยคะแนน 100 เต็ม (ใส่น้ำหนัก 4 กิโลกรัม ทดสอบการตก 300 ครั้ง) ยกเว้นรุ่น Voyager Boston Collection ที่ได้ไป 80 คะแนน)  กระเป๋าเหล่านี้ได้คะแนนแตกต่างกันในเรื่องความทนทานต่อการถูกเจาะเมื่อมีของแหลมมีน้ำหนักหล่นใส่ หรือประสิทธิภาพการกันน้ำ (ทดสอบด้วยการตากฝนเทียมเป็นเวลา 10 นาที) ส่วนเรื่องการใช้งานสะดวกเวลาเข็นออกจากลิฟต์ หิ้วลงบันได ลากบนพื้นพรม ยางมะตอย และซีเมนต์ ก็อยู่ในขั้นดีถึงดีมากแทบทุกรุ่นรุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดคือรุ่นที่ราคาประมาณ 2,350 บาท ส่วนรุ่นที่ราคาถูกที่สุด (ประมาณ 1,100 บาท)* ก็ไม่ได้ขี้เหร่เลย เรียกว่าทุกรุ่นที่เรานำมาเสนอนั้นได้คะแนนดีเลยทีเดียว คงต้องแล้วแต่ความพึงพอใจในรูปลักษณ์ภายนอกและงบประมาณที่อยากลงทุนของแต่ละคน ไปดูกันเลยว่าคุณชอบแบบไหน         หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินของออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนธันวาคม โปรดตรวจสอบราคาที่เป็นปัจจุบัน ณ จุดขาย อีกครั้ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 234 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2563

แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว        จากการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อหมูหมักเลือดวัวมาปลอมเป็นเนื้อวัวเพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น           กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว คือต้องพิจารณาว่า ต้องสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด สำหรับเนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล         ทั้งนี้ผู้ปลอมแปลงอาหารผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รู้ยัง ธปท. ห้ามมือถือรุ่นเก่า-เวอร์ชั่นต่ำใช้โมบายแบงกิ้ง         ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกกฎการรักษาความปลอดภัยในการใช้บริการโมบายแบงกิ้ง ห้ามโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า เวอร์ชั่นต่ำ-เจลเบรก มีผลบังคับเริ่ม 31 ธ.ค. 63 นี้          เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจบริการชำระเงินมีการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นช่องทางหลักและใช้บริการผ่านช่องทางดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีหลากหลายซับซ้อนขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นเพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ ธปท.จึงออกนโยบายเพิ่มเติม โดยมีมาตรฐานควบคุมรักษาความมั่นคงปลอดภัย 2 ระดับด้วยกัน คือมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เปิดสิทธิให้เข้าถึงระบบปฏิบัติการ (rooted/jailbroken) เข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น ,ไม่อนุญาตให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการล้าสมัย ,ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการใช้แอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นต่ำกว่าผู้ให้บริการกำหนด  ส่วนมาตรการเพิ่มเติม เช่น ให้มีการกำหนด ตั้งค่า PIN หรือรหัสผ่านที่ซับซ้อน ในการเข้าใช้งานบนแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ยากต่อการคาดเดาฯลฯ  สมอ.เอาจริง 10 เดือนลุยจับสินค้าไม่ได้ มอก. พร้อมทำลายทิ้ง         นายจุลพงษ์ ทวีศรี ประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า  กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที         โดยระยะเวลา 10 เดือน (1 ตุลาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563) ที่ผ่านมา สมอ. จับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์อายัดแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งยังจับมือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และ SCG เตรียมทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานอีกกว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ทั้งนี้ สมอ. ยังเพิ่มมาตรการกำกับดูแลให้ตลาดออนไลน์ชื่อดังอย่าง "LAZADA" และ "SHOPEE" ต้องไม่ปล่อยให้ผู้เช่าพื้นที่ขายสินค้าไม่มีมาตรฐาน โดยสั่งลงโทษอย่างจริงจังหลังตรวจสอบพบมีการจำหน่ายสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้งหม้อทอดไร้น้ำมัน ตู้เย็น และพัดลมไอเย็น บนแอปพลิเคชั่น          ยืนยันงานวิจัยผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กทารกเป็นข้อเท็จจริง          จากกรณีที่สมาคมวิทยาการวัชพืช เผยแพร่ข้อความโฆษณาว่า งานวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกแรกเกิด เป็นงานวิจัยที่ ‘ใช้ข้อมูลเท็จ’ โดยหวังผลเพื่อให้มีการทบทวนการแบนสารเคมี ‘พาราควอต’ ซึ่งปัจจุบัน 60 ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วนั้น         กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ร่วมมหิดลจับมือคณะแพทย์ 3 รพ. แจงรายละเอียดการร่วมวิจัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขั้นตอน ย้ำพบพาราควอตตกค้างในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกจริง ทั้งนี้ ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำทีมวิจัยเรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า “ผลงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการในปี 2553 เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น มีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์ กับโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก”         โดย นพ.วิโรจน์ พญ.นภาพร และพญ.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองเป็นหมอเด็ก มีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ตนเองรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชม. หลังคลอด และตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิด ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้แพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้         เช่นเดียวกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวสรุปว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน         อนึ่งผลการวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบสำคัญคือ  พบว่า 1) ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์ และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย 2) หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20 % และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก 3) นอกจากนี้ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย  ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดตัว โครงการ ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ หวังเพิ่มความรู้และทักษะทางการเงินแก่เยาวชน เพื่อเพิ่มความรู้ทางการเงินและทักษะในการบริหารจัดการเงินให้แก่เยาวชน โดยมีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันการเงิน การจัดทำวีดีโอ ภาพยนตร์สั้น และฝึกอบรมให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ใน 30 โรงเรียนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยหลักสูตรมี 5 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) สิทธิผู้บริโภค 2) ที่มาของรายได้ 3) การวางแผนทางการเงิน 4) รู้ทันภัยการเงิน และ 5) หนี้ จากนั้นจึงนำหลักสูตรไปอบรมให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 โรงเรียน สามารพติดตามความเคลื่อนไหวได้จาก เฟซบุ๊ก https://facebook.com/finfinconsumer/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 สังฆทานที่โยมถวายมา มียาหมดอายุ

        เมื่อกล่าวถึงการเข้าวัดทำบุญ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่อาจนึกถึงกิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือปล่อยนกปล่อยปลา เช่นเดียวกับคุณนริศที่ชอบซื้อชุดสังฆทานไปถวายพระ ซึ่งเดิมเคยคิดว่าการทำบุญนั้นไม่น่าจะยุ่งยากอะไร แต่เมื่อต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า คุณนริศจึงทราบว่าการทำบุญนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเช่นกัน         เช้าวันหนึ่งคุณนริศได้จอดรถแวะซื้อชุดสังฆทานที่ตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปทำบุญที่วัดแถวละแวกบ้าน  คุณนริศเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่ชอบถวายสังฆทานเป็นประจำ เพราะมีความเชื่อว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เมื่อเดินทางมาถึงวัดและถวายสังฆทานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย หลวงพี่ท่านหนึ่งก็ได้บอกกับคุณนริศว่า สังฆทานที่โยมเคยนำมาถวายครั้งก่อนนั้น มีของหมดอายุ โดยเฉพาะพวกยาต่างๆ นั้นไม่สามารถใช้การได้เลย         คุณนริศทราบเช่นนั้น จึงเกิดความไม่สบายใจ และคิดว่าทำไมคนขายสังฆทานถึงได้บรรจุของที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะยาที่หมดอายุเอาไว้ในชุดสังฆทานเช่นนี้ หรือคนขายก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ของที่ถูกบรรจุอยู่ในชุดสังฆทานนั้นหมดอายุ จึงได้สอบถามมาขอคำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหา เพราะตนนั้นก็ชอบทำบุญด้วยการถวายสังฆทานอยู่บ่อยครั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนริศสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166 หรือ สคบ.ประจำจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายชุดสังฆทานดังกล่าวได้ เพราะชุดสังฆทาน หรือ ชุดไทยธรรม นั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ สคบ.         โดยชุดสังฆทานที่จำหน่ายทั่วไปนั้น ต้องติดหรือแสดงฉลากเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจน มีการระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และแจกแจงราคาของสินค้าแต่ละรายการ รวมถึงวันหมดอายุ และวันเดือนปีที่บรรจุชุดสังฆทาน โดยหากพบผู้จำหน่ายชุดสังฆทานที่ไม่มีฉลาก หรือ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีนี้ ยังพบว่ามียาหมดอายุซึ่งถือว่าเป็นยาที่เสื่อมคุณภาพแล้วบรรจุอยู่ในชุดสังฆทาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นหากผู้บริโภคจะเลือกซื้อสังฆทานไปทำบุญ ก็ขอให้เลือกซื้อแบบที่มีฉลากถูกต้อง โดยสามารถดูรายการสินค้าแต่ละชนิด และวันหมดอายุได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ประชาชนจะพึ่งใคร คณะกรรมการการทางพิเศษ คณะรัฐมนตรีต่างยอมรับตัวเลขมโนแพ้คดีเกินจริง กรณีทางด่วนขั้นที่ 2

        ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน,BEM) โดยใช้เหตุผลว่า เพื่อยุติการฟ้องคดี         วันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวมทั้งเพิกถอนมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผลปรากฎว่า ศาลปกครองกลางยกคำร้อง บอกว่า ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน ส่วนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ ศาลจะพิจารณาในภายหลัง         โดยก่อนหน้านี้ ทางมูลนิธิ ฯ ได้ยื่นร้องสอดขอเป็นจำเลยร่วมจำนวน 2 คดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด กรณีการฟ้องร้องของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ มหาชน (BEM) ต่อการทางพิเศษ เกี่ยวกับการปรับราคาค่าทางด่วน        เหตุผลในการฟ้องคดีมีหลายประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขหนี้เป็นตัวเลขมโน คิดไปเองว่าจะแพ้คดีทั้งที่ยังไม่ได้ต่อสู้หรือถูกฟ้องทั้งหมด เนื่องจากการพิจารณาแก้ไขสัญญาเพื่อยุติข้อพิพาทตามมติคณะรัฐมนตรีไม่สามารถแยกได้ว่าหนี้ที่แท้จริงของแต่ละสัญญามีมูลค่าเท่าใด แต่กลับต่อระยะเวลาของสัญญาทั้ง 3 ออกไป โดยไม่มีที่มาที่ไป        เอื้อประโยชน์ให้เอกชน 26,415 ล้านบาท โดยการรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล แทนเอกชน โดยใช้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาไม่โปร่งใส ใช้ฐานข้อมูลรายได้ของรัฐที่ต่ำเกินความเป็นจริง         มติครม. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม ไม่เกิดการแข่งขันในการให้บริการต่อประชาชน        มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับหน่วยงานของรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เอกชนมีสิทธิเหนืออำนาจปกครอง และเป็นการเปิดช่องให้ใช้วิธีการสมยอมโดยทุจริตได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ         ผู้บริโภค ควรได้ใช้ทางด่วนที่หมดสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ถูกลง ยิ่งนาน ค่าผ่านทางควรถูกลง หากคิดรายได้การทางพิเศษ ร้อยละ 60% ค่าผ่านทางสามารถลดลงได้มากถึง 40% ที่เป็นส่วนแบ่งให้บริษัท นั่นคือเราจะใช้ทางด่วนในราคา 36 บาทเท่านั้น จากปัจจุบันราคา 60 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

4 เดือนโครงการรับยาใกล้บ้าน ยอดแตะ 91 รพ. 750 ร้านขายยา        สปสช.โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย “โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2563 รวม 4 เดือนพบว่า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด โดย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว มีจำนวน 2,453 รายแล้ว อย. เรียกเก็บน้ำเกลือล้างแผลพบการปนเปื้อน        รายงานข่าว นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือที่ สธ 1009.5/ว 1955 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน การเรียกเก็บยา KLEAN & KARE NORMAL SALINE เลขทะเบียน 1A 512/56 รุ่นการผลิต 061607 คืนจากท้องตลาดโดยสมัครใจ 29 มี.ค. มอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกคันต้องได้ยูโร 4         นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย ชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4  ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษหรือ PM 2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจน ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3         นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับดังกล่าวนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เสวนา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบยอดร้องเรียนสูงแต่เอาผิดได้น้อย        5 กุมภาพันธ์ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ งานเสวนา “12 ปี  พ.ร.บ  ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เผยสถิติ แม้มียอดร้องเรียนนับพันแต่เอาผิดตามกฎหมายได้น้อย        นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น จึงมีผู้ร้องเรียนเมื่อพบข้อมูลการทำผิดกฎหมายมากถึง 1,100 กรณี สำหรับความผิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 60) คือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ “เครือข่ายฯ ยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆ มักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ภัยคุกคามสำคัญ”         นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า         “มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 2,000 เคส แต่พบว่า สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ต้องกระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ”  สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1        18 กุมภาพันธ์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม         ในตอนหนึ่งของการเสวนา การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสาร นักวิจัยระบุ การทำประกันภัยให้รถโดยสารสาธารณะช่วยผู้บริโภคได้ดีกว่าการฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ มพบ. ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องยังจำเป็นเพราะผู้เสียหายอาจเสียเปรียบจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะการตีความตามบทบัญญัติที่ไม่สื่อสภาพจริงของสังคม         ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป”         ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็ว แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี ทั้งนี้ในรายละเอียดยังมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการคำนวณ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ ทายาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่งหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากอ้างว่ารถที่ผู้เสียหายใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อนทั้งที่ขึ้นในสถานีของทางขนส่งเอง”

อ่านเพิ่มเติม >