ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 กระแสต่างแดน

แบนดีไหม         ฮ่องกงกำลังพิจารณาห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น หลังสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อนุมัติให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัด ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลงสู่ทะเลได้ในช่วง 30 ปีข้างหน้า         นอกจากอาหารทะเลชนิดสด แห้ง ดอง แช่เย็น และแช่แข็ง ฮ่องกงยังจะแบนเกลือทะเล สาหร่าย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น (คิดเป็นร้อยละ 13 ของร้านอาหารที่จดทะเบียนในฮ่องกง) ได้รับผลกระทบ อาจมีถึง 3 ใน 10 ร้านที่ต้องเลิกกิจการ         ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว            ส่วนประเทศไทย อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมานานแล้ว  ช่วยน้องกลับบ้าน         สืบเนื่องจากการร้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในกัวลาลัมเปอร์ ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ในช่วงปิดเทอม เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงรัฐซาบาห์ ซาราวัก หรือเกาะลาบวน ซึ่งต้องเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ราคาตั๋วกลับสูงเกินเอื้อม แม้จะทำงานพิเศษ ก็ยังมีรายได้ไม่พอซื้อตั๋ว         ในที่สุดกระทรวงคมนาคมมาเลเซียตัดสินใจแจกเวาเชอร์มูลค่า 300 ริงกิต (ประมาณ 2,300 บาท) ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินในประเทศ รายงานระบุว่าแผนนี้สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า 56,000 คน ด้วยงบประมาณ 16.8 ล้านริงกิต โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 15 สิงหาคมนี้         สภานักศึกษาฯ มองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มด้วย เช่น นักศึกษาบางคนต้องนั่งเครื่องบินมากกว่าหนึ่งต่อ รวมถึงรัฐควรจัดให้มีความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น การกลับบ้านด่วนเพื่อไปร่วมงานศพของคนในครอบครัว         เมื่อต้นปีรัฐบาลประกาศว่าจะเจรจากับผู้ประกอบการสายการบินให้จัดตั๋วราคาพิเศษสำหรับนักศึกษา แต่แผนดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า    ไม่มาเลยดีกว่า         การรถไฟสวิตเซอร์แลนด์ (SBB) ภูมิใจในความตรงต่อเวลาในการให้บริการมาโดยตลอด แต่เมื่อเปิดบริการ “ขบวนรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ” จากเยอรมนีเข้ามายังเมืองหลักในประเทศ เช่น คูร์ ซูริค หรือ อินเทอร์ลาเคน สถิติความล่าช้าของเขากลับเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง         เพราะขบวนรถจากเยอรมนีมาสายบ่อย ตารางเวลาเดินรถที่ออกแบบไว้เพื่อการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถใช้การได้ สถิติปีที่แล้วระบุว่าร้อยละ 80 ของขบวนรถไฟที่มาช้าคือขบวนที่มีต้นทางในเยอรมนี         เพื่อไม่ให้เสียชื่อไปมากกว่านี้ สำนักงานขนส่งของสวิตเซอร์แลนด์ จึงเสนอว่าเมื่อสัญญาร่วมให้บริการหมดลงในปี 2035 เขาจะให้รถไฟจากเยอรมนีส่งผู้โดยสารเป็นป้ายสุดท้ายที่สถานีเมืองบาเซิลตรงชายแดนเท่านั้น ผู้โดยสารที่ต้องการเข้าเมืองจะต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟขบวนท้องถิ่น         หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การตัดลดเส้นทางไม่น่าจะเอื้อต่อแผนลดโลกร้อน นักท่องเที่ยวคงไม่อยากหอบกระเป๋าขึ้นลงหลายรอบ แม้แต่รัฐบาลกลางก็ไม่เห็นด้วยและเกรงว่าเรื่องนี้อาจยังแก้ไม่ถูกจุด   กติกานักสู้         หน่วยงานป้องกันการผูกขาดทางการค้าของอิตาลีเริ่มสอบสวน CoopCulture ผู้ให้บริการขายตั๋วเข้าชม “โคลอสเซียม” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าการซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่แห่งนี้ด้วยตนเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบริษัททัวร์ใหญ่ๆ กว้านซื้อไปหมดแล้ว         จากการตรวจสอบพบว่า จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีตั๋วเหลืออยู่เพียง 3 ใบในเว็บขายตั๋วอย่างเป็นทางการของโคลอสเซียม (ราคาตั๋วปกติอยู่ที่ 18 ยูโร หรือประมาณ 700 บาท)        แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เว็บของบริษัททัวร์หลายเจ้ากลับมี “ทัวร์โคลอสเซียมพร้อมตั๋วและไกด์” ให้เลือกมากมายในราคาตั้งแต่ 37.50 ถึง 74 ยูโร (1,430 ถึง 2,820 บาท)        CoopCulture ยืนยันว่าบริษัทมีระบบป้องกันการกว้านซื้อ และยินดีให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ในขณะที่องค์กรผู้บริโภค Codacons ก็ออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายห้ามการซื้อตั๋วไปขายต่อ รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย  ผิดซ้ำต้องแฉ         ตั้งแต่ต้นปี 2566 สำนักอนามัยเทศบาลเมืองไทเป ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ขนมหวานแช่แข็งและเครื่องดื่มเย็นทั้งหมด 299 รายการ เพื่อหาแบคทีเรียที่เป็นอันตราย (เช่น ซัลโมเนลลา อีโคไล) และพบว่ามี 20 ผลิตภัณฑ์หรือร้อยละ 6.7 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์        ตามระเบียบของไทเป ผู้ประกอบการที่มีอาหารหรือเครื่องดื่ม “ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย จะได้รับแจ้งจากสำนักฯ พร้อมกับ “เดดไลน์” ในการปรับปรุง แต่การตรวจครั้งล่าสุดยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ยังคงสอบตกเหมือนเดิม        พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอนามัยด้านอาหารของไต้หวันกำหนดโทษปรับสำหรับร้านค้าที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องปริมาณจุลินทรีย์ไว้ที่ระหว่าง 30,000 ถึง 3,000,000 เหรียญ         สำนักอนามัยฯ ยังเตือนภัยผู้บริโภคด้วยการเปิดเผยชื่อเมนู ชื่อร้าน รวมถึงสาขาที่ตั้ง พร้อมรูปถ่ายในการแถลงข่าวด้วย หากสนใจกดเข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4947489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เครื่องดื่มเกลือแร่ ผสมเกลือแร่ แบบพร้อมดื่ม

        วันไหนร่างกายต้องเสียเหงื่อมาก จากการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือการออกกำลังกาย หลายคนอาจเลือกดื่มน้ำเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ แบบพร้อมดื่ม ที่มีส่วนประกอบหลักคือน้ำ น้ำตาล และแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เพื่อเพิ่มพลังงาน ชดเชยการสูญเสียน้ำและ รักษาสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย มาช่วยแก้กระหาย และทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้โดยไว         ปัจจุบันผู้ผลิตคิดสูตรให้มีรสชาติหอม หวาน อร่อย ใครเผลอดื่มบ่อยๆ ควรระวังปริมาณน้ำตาลด้วย รวมทั้งการได้รับโซเดียมและโพแทสเซียมที่อยู่ในเครื่องดื่มเกลือแร่มากเกินไป ก็มีผลต่อการทำงานของตับและไต การเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติได้         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกเครื่องดื่มเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ แบบขวดพร้อมดื่ม จำนวน 11 ตัวอย่าง 3 ยี่ห้อ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มาสำรวจฉลากเพื่อดูปริมาณโซเดียม โพแทสเซียม น้ำตาล และข้อความที่ควรแสดงตามที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก        - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 920 มิลลิกรัมต่อลิตร และโพแทสเซียมไม่เกิน 195 มิลลิกรัมต่อลิตร        - มี 5 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า 460 มิลลิกรัมต่อลิตร ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (แอคทีฟ + ซิ้งค์, แอคทีฟ สตรอเบอร์รี่ และแอคทีฟ กลิ่นมะนาว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นส้ม และกลิ่นมะนาว)          - ยี่ห้อสปอนเซอร์ แอคทีฟ + ซิ้งค์ มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ 380 มิลลิกรัมต่อลิตร        - ยี่ห้อสปอนเซอร์ โก ไม่มีน้ำตาล มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 905 มิลลิกรัมต่อลิตร        - พบปริมาณโพแทสเซียมระหว่าง 0 - 180 มิลลิกรัมต่อลิตร        - มี 6 ตัวอย่างที่มีปริมาณน้ำตาลตามกำหนด คือมีซูโครสไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของน้ำหนัก ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี, แอคทีฟ + ซิ้งค์, ออริจินัล)   ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต พลัส (เขียว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส)          - มี 4 ตัวอย่าง ที่ไม่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และออริจินัล) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว  และกลิ่นบลูบลาส)          - มี 5 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อความคำเตือนตามประกาศ ข้อ 7(2) ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และ ออริจินัล) ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต พลัส (เขียว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส)       ·     เปรียบเทียบปริมาณพลังงานต่อ 1 หนึ่งหน่วยบริโภค        - ยี่ห้อสปอนเซอร์ ออริจินัล  มีพลังงานมากสุดคือ 100 กิโลแคลอรี        - ยี่ห้อสปอนเซอร์  โก ไม่มีน้ำตาล มีพลังงานน้อยสุด คือ 30 กิโลแคลอรี        - ยี่ห้อเกเตอเรด กลิ่นส้ม ไม่มีน้ำตาล  ระบุพลังงานเป็น 0 กิโลแคลอรี     ·     เปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หนึ่งหน่วยบริโภค        - ยี่ห้อสปอนเซอร์ ออริจินัล มีน้ำตาลมากสุด คือ 24 กรัม        - ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต (ฟ้า) มีน้ำตาลน้อยสุด คือ 9 กรัม        - มี 2 ตัวอย่าง ระบุว่าไม่มีน้ำตาล ได้แก่ ยี่ห้อเกเตอเรด กลิ่นส้มและยี่ห้อสปอนเซอร์ โก         ·     เปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร        -ราคาแพงสุดคือ 0.06 บาท ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และ ออริจินัล)         -ราคาถูกสุดคือ 0.04 บาท ได้แก่ ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต ((ฟ้า), พลัส(เขียว)) และยี่ห้อสปอนเซอร์ โก ไม่มีน้ำตาล ข้อสังเกต        - มี 7 ตัวอย่าง ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล        - มี 3 ตัวอย่าง ระบุว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย ได้แก่ ยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นส้ม กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส)   ฉลาดซื้อแนะ        - ควรเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ที่มีเครื่องหมาย อย. เพื่อความปลอดภัย        - คนที่เสียเหงื่อมากจากการออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างหนัก และต้องการเติมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ควรเลือกซื้อชนิดที่ได้ครบทั้งน้ำตาลและเกลือแร่        - คนที่ทำกิจกรรมเบาๆ มีเสียเหงื่อบ้าง ควรเลือกชนิดที่ให้น้ำตาลและเกลือแร่น้อยหรือปานกลาง หรือบางครั้งจะสลับดื่มน้ำเปล่าก็ทดแทนได้เช่นกัน        - ควรดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อร่างกายรู้สึกขาดน้ำจริงๆ ไม่ควรดื่มพร่ำเพรื่อ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้ฟันผุ เนื่องจากส่วนผสมของน้ำตาลและกรดต่างๆ จะไปกัดกร่อนสารเคลือบฟัน        - หากมีอาการขาดน้ำจากท้องเสีย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่แก้ท้องเสีย (ORS) โดยเฉพาะ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับการออกกำลังกายแทน เพราะอาจทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้นได้        - การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่ถ้าไม่หายหรือรุนแรงขึ้นควรปรึกษาแพทย์ข้อมูลอ้างอิงข่าวจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ : เผยผลตรวจเครื่องดื่มเกลือแร่ (1 มิ.ย. 2563)https://www.pobpad.com : เครื่องดื่มเกลือแร่ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 265 กระแสต่างแดน

ถูกใจสิ่งนี้        ชาวเน็ตจีนแห่สรรเสริญมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหูหนาน ที่ใช้วิธีการอันแยบยลในการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงิน         จากการวิเคราะห์ข้อมูล “บิ้กดาต้า” เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินซื้ออาหารกลางวันของนักศึกษา 40,000 กว่าคน มหาวิทยาลัยพบว่ามีอย่างน้อย 2,000 คน ที่กินข้าวในโรงอาหารวันละ 3 มื้อ โดยใช้เงินไปไม่ถึง 11 หยวน (ประมาณ 55 บาท)         มหาวิทยาลัยจะพิจารณาว่านักศึกษาคนใดในกลุ่มนี้สมควรได้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะโอนมูลค่าเครดิต 200 หยวนเข้าไปใน “บัตรอาหาร” โดยอัตโนมัติ โดยจะโอนให้ปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กันยายน และ พฤศจิกายน         ผู้บริหารบอกว่าเด็กที่ฐานะทางบ้านยากจนส่วนใหญ่จะไม่กล้าติดต่อขอความช่วยเหลือ จึงเลือกใช้วิธีนี้เพราะสามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้กินอาหารอิ่ม โดยไม่ต้องรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นฉลากไม่เป็นมิตร         องค์กรผู้บริโภคยุโรป (BEUC) เรียกร้องให้แบนคำว่า “carbon neutral” “CO2 neutral” หรือ “climate positive” บนฉลากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรป        การสำรวจพบว่าข้อความคลุมเครือเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสินค้าที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มประเทศสมาชิก         นอกจากฉลากหรือสัญลักษณ์ที่อ้างความ “เป็นมิตรต่อโลก” ในยุโรปที่มีมากถึง 230 แบบ จะสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ทั้งที่จริงๆ แล้วบริษัทเพียงใช้วิธีปลูกป่าเพื่อนำมาหักล้าง โดยยังคงสร้างคาร์บอนต่อไป และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่สร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นต้น          ปัจจุบัน “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ที่ใช้กันทั่วโลกมีถึง 450 แบบ จึงน่าจะมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าตัวเองได้เลือกสินค้าที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อุปสรรคสำคัญ         สหประชาชาติระบุ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามของรัฐในการจัดหาแหล่งน้ำดื่มสะอาดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรายงานล่าสุดจาก UN University ที่สำรวจอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดใน 109 ประเทศ ยังพบความเหลื่อมล้ำอีกด้วย น้ำดื่มบรรจุขวดในซีกโลกเหนือจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้คนซื้อดื่มเพราะต้องการน้ำที่รสชาติดีและดีต่อสุขภาพแต่ผู้คนในซีกโลกใต้ต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดเพราะต้องการน้ำดื่มสะอาด และกำไรมหาศาลของบริษัทน้ำดื่มในเอเชียแปซิฟิกก็ตอกย้ำความเฉื่อยชาของภาครัฐในการลงทุนกับระบบน้ำดื่มสาธารณะ ที่น่าสนใจคือผู้คนยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย แต่แทบไม่มีการสุ่มตรวจคุณภาพโดยภาครัฐเลยธุรกิจที่ดึงน้ำมาใช้ด้วยต้นทุนต่ำและผลิตน้ำบรรจุขวดขายในราคาแพงกว่าน้ำประปาถึง 150 – 1,000 เท่านี้ยังเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน เพราะนอกจากจะสร้างขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ด้วยไต้หวันจะไม่ทน         ไต้หวันเตรียมเสนอร่างกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนนในเดือนเมษายนนี้จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เครือข่ายถนนของไต้หวันถือเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอยู่ที่ 12.67 คนต่อประชากร 100,000 คนการจราจรในไต้หวันได้รับการขนานนามจากสื่อว่าไม่ต่างอะไรกับสนามรบ และยังเป็นนรกสำหรับคนเดินถนนโดยแท้ ในปี 2565 มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่หยุดรถที่ทางม้าลายให้คนข้ามถึง 50,000 รายรายงานข่าวระบุว่าปัญหาหลักของถนนไต้หวันคือการออกแบบและการก่อสร้างที่ล้าสมัย บวกกับการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงเพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากเกินไป ถนนในไต้หวันทำมาเพื่อรองรับรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก (แนวคิดเดียวกับถนนอเมริกาในยุค 60) ขนส่งมวลชนและคนเดินถนนจึงถูกละเลยการเพิ่มจำนวนไฟจราจรและกล้องวงจรปิดพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสิ่งที่ไต้หวันต้องเปลี่ยนจริงๆ คือการออกแบบถนน และการปรับทัศนคติของผู้ขับขี่รถยนต์ ต้องมากกว่าหนึ่ง        นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลจะทบทวนการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรมโดยแต่ละกระทรวงได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาเหตุผลและความเป็นมาที่รัฐบาลเคยให้สิทธิดังกล่าวกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำการประเมินอย่างรอบคอบและเป็นธรรมว่าจะให้สิทธินั้นต่อหรือไม่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ต่ออายุสัมปทานแบบผูกขาดให้กับบริษัท Puspakom ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตรวจสภาพรถยนต์ตาม พรบ. ขนส่งทางบก ค.ศ. 1987 แต่เพียงผู้เดียวในมาเลเซียตั้งแต่ปี 1994 ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหมายความว่าเมื่ออายุสัมปทานดังกล่าวหมดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทอื่นที่ผ่านคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดก็สามารถประกอบกิจการดังกล่าวแข่งกับ Puspakom ที่ได้รับสัมปทานต่ออีก 15 ปีได้ เป็นที่ยินดีของผู้บริโภคที่จะไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องทนกับภาวะไร้ทางเลือกอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ผลสำรวจฉลากเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink)

        เครื่องดื่มชูกำลัง  เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นเคย เพราะเริ่มต้นจากสร้างภาพโฆษณาการขายจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ชาวบ้าน และด้วยราคาจำหน่ายที่ไม่แพง เข้าถึงง่ายทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก เกิดมูลค่าทางการตลาดสูง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ผลิตหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้นโดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2564 ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverage) รวมอยู่ที่ราว 97-1.99 แสนล้านบาท ในจำนวนมูลค่าทั้งหมดนี้ เครื่องดื่มชูกำลัง ถือสัดส่วนมากเป็นลำดับที่ 3 คือราวร้อยละ13 มีมูลค่าในตลาดกว่า 30,000 ล้านบาทเป็นรองจากเครื่องดื่มน้ำอัดลมและโซดา (ร้อยละ 31)  และน้ำดื่ม (ร้อยละ 22) เท่านั้น         ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มชูกำลังมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง จากเครื่องดื่มสำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  เมื่อเพิ่มส่วนผสมวิตามินต่างๆ และสมุนไพร  เช่น โสม กระชายดำ ทำให้มีภาพลักษณ์เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารกรุงเทพที่พบว่า การปรับให้มีภาพว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ช่วยผลักดันตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตขึ้นแม้ในสถานการณ์โควิด 19  เครื่องดื่มชูกำลังยังขยายกลุ่มเป้าหมาย ปรับเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และเฉพาะกลุ่มมากขึ้นบางแบรนด์ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าคือกลุ่มผู้ชอบเล่นเกมส์โดยเฉพาะ          นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง จำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ  ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคพิจารณาได้ครบถ้วน            ผลการสำรวจฉลาก        1.  20 ตัวอย่าง ระบุว่า ใช้วัตถุกันเสีย          2.  19 ตัวอย่าง  ระบุว่าใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  มี 1 ตัวอย่าง คือ  คันโซ  คูณสอง ระบุไม่ผสมวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล        3.  เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่ให้พลังงานมาก 5 ลำดับแรก  1) คันโซ คูณสอง ให้พลังงาน 110 กิโลแคลอรี(Kcal) ต่อ 1 หน่วยบริโภคหรือ 1 ขวด  2) ไทยเทเนียม พาวเวอร์ ให้พลังงาน 100 (Kcal) 3) คอมมานโด  ออริจินอล และอัศวิน เครื่องดื่มสมุนไพรให้พลังงาน 80 (Kcal)  4) โสมพลัส ให้พลังงาน 70 (Kcal)   และ 5) กระทิงแดง  ทีโอเปล็กซ์- แอล และเอ็ม 150 กระชายดำ ให้พลังงาน 60 (Kcal)           4.  เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่ให้ปริมาณน้ำตาลมาก 5 ลำดับแรก  1) คันโซ คูณสอง ให้น้ำตาล 28 กรัมต่อ 1 ขวด  2) คือ ไทยเทเนียม พาวเวอร์ ให้น้ำตาล 20 กรัม 3) คอมมานโด  ออริจินอล 18 กรัม 4) เอ็ม 150 กระชายดำ  15 กรัม และ 5) โสมพลัส 14 กรัม        5.  เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงที่สุดคือยี่ห้อร็อคสตาร์ 0.12 บาท และถูกที่สุดคือ พรีเดเตอร์ช็อต แอคทีป กลิ่นเบอร์รี่  ราคา 0.04 บาท        การควบคุมเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน/เครื่องดื่มชูกำลัง อยู่ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 402 พ.ศ.2562 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 2)         สาระสำคัญคือการแสดงฉลากกำหนดให้ระบุข้อความว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ...(ขวดหรือกระป๋องตามลักษณะบรรจุภัณฑ์) เพราะอาจทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” ด้วยตัวอักษรเส้นทึบสีแดง ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นขาว ฉลาดซื้อแนะ          -          เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนกำลังถูกชูภาพว่าช่วยเพิ่มพลังให้ร่างกายและปัจจุบันยังฉายภาพการเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยิ่งขึ้น แต่บางยี่ห้อให้ปริมาณน้ำตาลและพลังงานสูงกว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมด้วยซ้ำ เช่น เครื่องดื่มเป๊บซี่ – โคล่า 1 แก้ว (200 มล.) ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี และให้น้ำตาล 16 กรัม แต่ในเครื่องดื่มชูกำลัง  คันโซ  คูณสอง  (150 มล.) ให้พลังงาน 110 กิโลแคลอรี่ ให้น้ำตาล 28 ก. เครื่องดื่มชูกำลังจึงทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ไม่ต่างจากน้ำอัดลมและผู้ป่วยเบาหวานควรบริโภคอย่างพิจารณาระมัดระวัง        -          เมื่อเทียบปริมาณน้ำตาลที่เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด สามารถมีน้ำตาลได้ถึง 5 – 6 ช้อนชา ขณะที่ปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายควรได้รับไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน  อีกทั้งในแต่ละวันเรายังได้รับปริมาณน้ำตาลจากอาหารอื่นๆ อีกมาก จึงควรบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังเป็นครั้ง        -     มีวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีพลัง ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำสะอาดตั้งแต่ตื่นนอนจะช่วยปลุกให้ร่างกายเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสดใสจากภายใน การรับประทานอาหารที่ดีที่มีสารอาหารที่ครบถ้วน และการออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ กิจการที่กฎหมายควบคุมแต่พบเถื่อนใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์

        จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวน 3,041 คน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนร้อยละ 70 เชื่อมั่นเรื่องคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญที่ใช้บริการอยู่ ถึงแม้ว่าจะสังเกตว่ามีการใบแสดงการขออนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น         น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาไม่แพงหากเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งจากผลสำรวจทำให้ได้คำตอบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 70 แต่น้ำจากแหล่งทั้งสองมีการควบคุมกำกับที่ต่างกัน น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทควบคุมกำกับด้วย พ.ร.บ. อาหารมี อย.ทำหน้าที่กำกับดูแล  แต่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แม้เป็นกิจการที่กฎหมายให้อำนาจการควบคุมให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ประเภทที่ 3) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กล่าวคือบังคับให้ต้องมีการขออนุญาตดำเนินกิจการ โดยต้องขอใบอนุญาตจากราชการส่วนท้องถิ่นที่ตู้น้ำดื่มวางไว้เพื่อบริการประชาชน แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่า กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง เรียกว่าคนทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงหยิบมือ แต่ “ตู้เถื่อน” เกลื่อนเมือง         ผลสำรวจเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ         2559 มพบ. สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มีใบอนุญาต         2561 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวนทั้งสิ้น 3,964 ตู้ แต่มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้ (ร้อยละ 4)         2562 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 6,114 ตู้ มีใบอนุญาตถูกต้อง 4,515 ตู้ หรือร้อยละ 73.85 ไม่มีใบอนุญาต 1,599 ตู้ หรือร้อยละ 26.15         ในปี 2561 กรุงเทพมหานครวางแนวทางไว้หลายอย่างเพื่อผลักดันให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเข้าสู่การกำกับดูแลตั้งแต่เรื่อง การขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง หากพบว่าไม่มีใบอนุญาตจะใช้กฎหมายบังคับ การตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสามเดือน หากพบว่าน้ำไม่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานจะมีการแจ้งให้เจ้าของตู้หรือผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไข จัดทำสติกเกอร์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสะอาดและปลอดภัย ติดหน้าตู้น้ำดื่มที่ได้ขออนุญาตถูกต้อง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน หรือการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาต ซึ่งทำให้ในภาพรวมจากการรายงานพบว่า ตู้น้ำดื่มมีการขอใบอนุญาตมากขึ้น แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของกิจการหรือความนิยมที่พุ่งขึ้นเกือบสองเท่า           อย่างไรก็ตามการเติบโตของกิจการตู้น้ำดื่มยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำง่ายลงทุนไม่มาก อีกทั้งการควบคุมกำกับหย่อนยาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังสืบเนื่องเพื่อบอกกับสังคมว่า กิจการนี้ต้องได้รับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ได้หรือยัง                   ผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 2565         การสำรวจแบ่งเป็นสองส่วน        1.อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำจำนวน 1,530 ตู้ ระหว่างวันที่ 15-31 ส.ค. 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ครอบคลุมพื้นที่ 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า         มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,380 ตู้ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง พบไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ 1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 91         2.สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 3,041 คน  ใน 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจ ดังนี้        ·     คิดว่าตู้น้ำที่ใช้บริการอยู่สะอาดถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 70         ·     ไม่พบว่ามีการขอใบอนุญาต ร้อยละ 81 เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร้อยละ 76 แสดงความเห็นด้วย        ·     สถานที่ตั้งและความสะอาดของหัวจ่าย ส่วนใหญ่พบว่า สะอาด สถานที่ตั้ง ร้อยละ 67 , หัวจ่าย ร้อยละ 58        ·     สำหรับความมั่นใจว่ามีการเปลี่ยนไส้กรองสม่ำเสมอหรือไม่ พบว่า ไม่มั่นใจถึงร้อยละ 51 (สอดคล้องกับผลสำรวจตู้เรื่องการแสดงฉลากการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 87.2 ไม่มีการแสดงฉลากทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูล)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ดื่มน้ำวิตามินวอเตอร์ยี่ห้อดังแล้วท้องเสีย อาเจียน

        แม้ในน้ำดื่มบรรจุขวดปิดสนิทก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนได้ ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะของสี ตะกอนและกลิ่นของน้ำ ก่อนดื่มทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย         คุณรัชเป็นคนหนึ่งที่เผลอดื่มน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าไป เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอดื่มน้ำวิตามินยี่ห้อดัง โดยเปิดขวดใหม่แล้วดื่มทันทีไม่ทันได้สังเกตอะไร แต่พอดื่มแล้วกลับได้กลิ่นน้ำในขวดนั้นเหม็นคล้ายสารเคมีมากๆ เมื่อลองดมน้ำในขวดให้แน่ใจอีกที เธอก็เริ่มปวดศีรษะนิดๆ พอยกขวดขึ้นส่องดู ก็เห็นตะกอนลักษณะเป็นวุ้นลอยอยู่ในขวดชัดเจน จึงหยุดดื่มทันทีแต่หลังจากดื่มน้ำขวดนี้ไปประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง เธอก็ท้องเสียและอาเจียน         โชคดีที่คุณรัชมีการอาการเพียงเล็กน้อย จึงไม่ต้องไปหาหมอ เมื่ออาการดีขึ้นเธอก็โทร.ไปเล่าเรื่องให้บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มวิตามินยี่ห้อดังนี้รับรู้ ซึ่งทางบริษัทฯ ชี้แจงเบื้องต้นว่าตะกอนที่เห็นนั้นเป็นของดอกเก๊กฮวยที่ผสมมากับน้ำ ส่วนเรื่องกลิ่นนั้นยังบอกไม่ได้ว่าคืออะไรกันแน่ ทางบริษัทจึงขอติดต่อเข้ารับตัวอย่างน้ำดื่มขวดที่มีปัญหานั้นไปตรวจสอบให้แน่ชัดอีกที         คุณรัชรู้สึกว่าสิ่งที่เจือปนมากับน้ำอาจไม่ผ่านมาตรฐานแน่และไม่น่าใช่อย่างที่บริษัทฯ ชี้แจง จึงสอบถามเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านช่องทางไลน์ว่าตนเองควรจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร           แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ สอบถามเพิ่มเติมคุณรัชได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่าทางบริษัทฯ มารับตัวอย่างน้ำดื่มกลับไปตรวจสอบแล้ว พร้อมมอบน้ำดื่มเพื่อชดเชยแก่คุณรัชไว้ 3 แพ็ค เป็นการขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ทางบริษัทฯ ได้ส่งผลตรวจมาให้ พบว่าในน้ำดื่มมีแบคทีเรียที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เจือปนอยู่ด้วยจริง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอท้องเสียและอาเจียนหลังจากดื่มน้ำ         ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำให้คุณรัชนำหลักฐานทั้งหมดที่มีไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านและให้ทำหนังสือถึงบริษัทฯ เพื่อแจ้งว่ามีสิ่งเจือปนในน้ำดื่ม ขอให้ทางบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่าสิ่งเจือปนในน้ำดื่มนั้นคืออะไรและเรียกร้องขอค่าชดเชยจากกรณีดังกล่าวตามสมควรได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 สำรวจฉลาก “กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม”

        กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มเป็นที่นิยมแพร่หลาย เพราะหาซื้อง่ายในราคาที่จ่ายได้ เปิดปุ๊บ ดื่มปั๊บ ตาสว่างปิ๊ง มีรสชาติให้เลือกตามชอบ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คอกาแฟทุกเพศ ทั้งในกลุ่มนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน คนทำงานเป็นกะ พนักงานออฟฟิศ ไปจนถึงระดับผู้บริหาร         ในปี 2562 ตลาดกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มมีมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท เติบโต 2.3% จาก 5 ปีย้อนหลัง ตลาดโตเฉลี่ย 3.4%  มีสัดส่วน 45% ของตลาดกาแฟทุกหมวดหมู่ แม้ในปี 2563 คนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน ทำให้ตลาดเติบโตลดลง -5% มีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น (ที่มา: https://www.brandage.com/article/23891/Nescafe) ดังจะเห็นว่าตอนนี้มีหลายบริษัทจัดแคมเปญการตลาดและออกกาแฟสูตรใหม่ๆ มาแข่งขันกันเต็มที่ ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อโดยพิจารณาที่ปริมาณคาเฟอีน รสชาติ และผลกระทบต่อสุขภาพควบคู่กับการตลาดที่โดนใจด้วย         นิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งดำเนินโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับ สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม” จำนวน 13 ตัวอย่าง 4 ยี่ห้อ เมื่อเดือนกันยายน 2565 มาสำรวจฉลากดูปริมาณคาเฟอีน พลังงาน น้ำตาลและราคา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค         ผลการสำรวจฉลาก “กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม” 13 ตัวอย่าง         - ปริมาณ คาเฟอีนต่อ 100 มิลลิลิตร มากที่สุดคือ 90 มิลลิกรัม ในยี่ห้อเนสกาแฟ โรบัสต้า แบล็ค โรสต์และน้อยที่สุดคือ 39.2 มิลลิกรัม ในยี่ห้ออาราบัส สูตรคาราเมลมัคคิอาโต้         - ปริมาณ คาเฟอีนต่อกระป๋อง/ถ้วย ยี่ห้อเนสกาแฟ ทริปเปิล เอสเปรสโซ  มีมากที่สุดคือ   176 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้ออาราบัส สูตรคาราเมลมัคคิอาโต้ มีน้อยที่สุดคือ 78.4 มิลลิกรัม         - ปริมาณน้ำตาลต่อกระป๋อง/ถ้วย มากที่สุดคือ 18 กรัม ในยี่ห้ออาราบัส สูตรมอคค่า และสูตรคาราเมลมัคคิอาโต้ ส่วนยี่ห้อเบอร์ดี้ โรบัสต้า โลว์ชูการ์ มีน้อยที่สุดคือ 4 กรัม         - ปริมาณพลังงานต่อกระป๋อง/ถ้วย มากที่สุดคือ 150 กิโลแคลอรี ในยี่ห้อทรู คอฟฟี่ ซิกเนเจอร์ ลาเต้, อาราบัส สูตรมอคค่า และสูตรคาราเมลมัคคิอาโต้ ส่วนยี่ห้อเบอร์ดี้ โรบัสต้า โลว์ชูการ์ มีน้อยที่สุดคือ 45 กิโลแคลอรี         - เทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่าราคาแพงสุดอยู่ที่ 0.2 บาท คือยี่ห้อทรูคอฟฟี่ ซิกเนเจอร์ ลาเต้ ส่วนราคาถูกสุดอยู่ที่ 0.08 บาท ได้แก่ยี่ห้อ อาราบัส เอสเพรสโซผสมน้ำมะพร้าวแท้, ยี่ห้อเบอร์ดี้ สูตรโรบัสต้า สูตรโรบัสต้า โลว์ชูการ์ และสูตรลาเต้ น้ำตาลน้อยกว่า และยี่ห้อเนสกาแฟ สูตรเอสเปรสโซ โรสต์ สูตรลาเต้ และสูตรโรบัสต้า แบล็ค โรสต์ .............ข้อสังเกต        - มี 5 ตัวอย่างที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ได้แก่ ยี่ห้อเบอร์ดี้ สูตรโรบัสต้า สูตรโรบัสต้าโลว์ชูการ์ และลาเต้ น้ำตาลน้อยกว่า และยี่ห้อเนสกาแฟ สูตรเอสเปรสโซ โรสต์ และโรบัสต้า แบล็ค โรสต์          - ยี่ห้อเบอร์ดี้ โรบัสต้า โลว์ชูการ์ มีราคาถูกที่สุด มีพลังงานและน้ำตาลต่อกระป๋องน้อยที่สุด        - ยี่ห้ออาราบัส สูตรคาราเมลมัคคิอาโต้  มีคาเฟอีนต่อถ้วยน้อยที่สุด มีพลังงานและน้ำตาลต่อถ้วยมากที่สุด        - มี 8 ตัวอย่าง ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คิดเป็น 61.54 % ของตัวอย่างทั้งหมด        - สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้มากที่สุด คือ แอซีซัลเฟมโพแทสเซียม รองลงมาคือซูคราโลส และสติวีออลไกลโคไซต์ ตามลำดับ        - เมื่อนำผลจากฉลาดซื้อฉบับที่ 192 (ปี 2557) ที่เคยสำรวจ “ปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม” มาเทียบกัน พบการเปลี่ยนแปลงใน 2 ตัวอย่าง คือยี่ห้ออาราบัส สูตรลาเต้ มีคาเฟอีนต่อ100 มิลลิลิตร ลดลงจาก 45.4 เป็น 44.4 มิลลิกรัม และยี่ห้อเนสกาแฟ เอสเปรสโซ โรสต์ มีน้ำตาลต่อกระป๋องลดลงจาก 16 กรัม เป็น 11 กรัม    ตารางเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2557 และ ปี 2565ปีที่สำรวจจำนวนตัวอย่างมีปริมาณคาเฟอีน(มิลลิกรัม) ต่อ 100 มิลลิลิตรมีปริมาณน้ำตาล(กรัม)ต่อกระป๋อง/ถ้วยพ.ศ. 255726 ตัวอย่าง19 ยี่ห้อ29 - 91.1 มิลลิกรัม14 - 49 กรัมพ.ศ. 256513 ตัวอย่าง4 ยี่ห้อ39.2 - 90 มิลลิกรัม4  - 18  กรัม        จากตารางเปรียบเทียบนี้จะเห็นว่า ผ่านมาเกือบ 8 ปี ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม 100 มิลลิลิตรนั้นไม่ต่างจากเดิมมากนัก ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลต่อกระป๋อง/ถ้วยน้อยที่สุดลดลง 3.5 เท่าและปริมาณน้ำตาลต่อกระป๋อง/ถ้วยมากที่สุดนั้นลดลงประมาณ 2.7 เท่า (อาจเนื่องจากมีการปรับสูตรเป็นการเติมสารให้ความหวานแทนน้ำตาล)  ฉลาดซื้อแนะ         - ควรอ่านฉลากเพื่อดูส่วนประกอบ ข้อมูลโภชนาการและคำแนะนำเฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง         - ใน 1 วัน ร่างกายควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 300 – 400 มิลลลิกรัม และน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัมทั้งนี้แต่ละวันเรายังได้รับคาเฟอีนและน้ำตาลจากอาหารอื่นๆ ด้วย คำแนะนำบนผลิตภัณฑ์คือ ไม่ควรบริโภคกาแฟปรุงสำเร็จเกินวันละ 2 กระป๋อง/ถ้วย จึงไม่ควรละเลย             - ควรเลือกประเภทที่น้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำ โดยอาจใช้เกณฑ์ของสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณาในเบื้องต้นได้ เช่น  ในปริมาณ 100 มิลลิลิตร ควรมีน้ำตาล ≤  6 กรัม พลังงาน ≤ 60 กิโลแคลอรี และ ≤ 40 กิโลแคลอรี กรณีสูตรมีน้ำตาลและวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล         - ใครที่ชื่นชอบดื่มกาแฟรสชาติหวานๆ มันๆ ควรเลี่ยงหรือลด และควรออกกำลังกายด้วยเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากร่างกายมีน้ำตาลและไขมันสะสมมากเกินไป         - เลือกบรรจุภัณฑ์ที่นำไปรีไซเคิลได้ เพื่อลดปริมาณขยะข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 192 “ปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม”https://healthierlogo.com (หลักเกณฑ์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์-กลุ่มเครื่องดื่ม)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ยกระดับคุณภาพน้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำได้จริง

กลางเดือน กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภคและสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ จัดเสวนาหัวข้อ “การคุ้มครองผู้บริโภค กทม. จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง” และได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาสำคัญ 3 เรื่อง คือ ระบบขนส่งสาธารณะ คุณภาพตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ  และเรื่องผังเมือง         ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครมายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญก่อนการจัดเวทีและยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ ทีมงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 15 – 31 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,530 ตู้ในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ พบข้อมูลสำคัญ คือตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สำรวจว่าร้อยละ 90 ไม่ติดใบอนุุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ร้อยละ 91 ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ และร้อยละ 87.2 ไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรอง        ฉลาดซื้อพูดคุยกับ คุณก้อ ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ที่ทำงานเฝ้าระวังคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าแม้สถานการณ์คุณภาพของตู้ดื่มน้ำหยอดเหรียญจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เรื่องตู้น้ำมีความสำคัญอย่างไรมาเริ่มทำงานเรื่องนี้ได้อย่างไร         เรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราเริ่มเห็นว่าตู้สกปรกมาก ฝุ่นเกาะ  หรือเอากระป๋องนมที่ขึ้นสนิมมารอง แบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  เพราะประชาชนเสียเงิน เขาควรได้รับความปลอดภัย         เราทำงานมาตั้งแต่ปี 2559 -2560 ทำงานและสื่อสารตั้งแต่ทำให้รู้ว่าส่วนประกอบของตู้น้ำคืออะไร  ตอนนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนภาษี การขออนุญาตตอนแรกตู้ละ 2,000 บาท ผู้ประกอบการรายย่อย เขาบอกว่า เขาไม่ไปจดทะเบียนนะเพราะบางตู้ คนมากดยังไม่ถึงเลย  พอได้เงินแล้วเขาต้องหักค่าไฟ ค่าน้ำ ตอนหลังการจดทะเบียนไม่ถึง 2,000 บาทแล้ว เหลือ 500 บาทในตู้แรก ตู้ต่อไป 25 บาท 2 ตู้จ่าย 525 บาท ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ทำงานอย่างไรบ้าง         การทำงานคล้ายๆ อสม. แต่ศูนย์สิทธิฯ เรารับเรื่องร้องเรียน สถานที่จะเป็นที่สาธารณะ หรือที่บ้านก็ได้ แต่ขอให้ประชาชนที่มาสามารถมาร้องเรียนหรือ เล่าเรื่องของเขาได้ ปัจจุบันศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ก็ทำงานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วย ตามมาตรา 50 (5) เป็นการบันทึกข้อมูลในระบบ CRM แล้วเราไม่ได้นั่งรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่ลงตรวจคุณภาพน้ำด้วย เราสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจโคลิฟอร์ม เรากำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบกันชัดเจน ว่าในพื้นที่ที่แต่ละคนดูแลอยู่จะต้องสุ่มตรวจอย่างน้อยกี่ตู้ พอได้ผลเป็นอย่างไร เราจะคืนข้อมูลให้สำนักงานเขต เขตก็ลงมาตรวจตู้ ถ้าน้ำไม่สะอาดเขาต้องไปเปลี่ยนไส้กรอง การทำงานที่ผ่านมา พบปัญหา อุปสรรคอย่างไร           เราพบจากการสำรวจว่า ผู้ประกอบการรายย่อยก็ยังไม่รู้นะ ว่าต้องไปขออนุญาต ไม่มีคนมาแนะนำว่าเขาต้องไปจด เขาถามว่าทำไมเราต้องลงไปสำรวจ เราก็บอกว่าเราทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค บางทีเจ้าของตู้ก็ด่า บางทีเจ้าของบ้าน เขาก็เป็นเจ้าของเองหน้าบ้านเขาก็ตั้งตู้น้ำดื่ม เขาจะได้กินด้วย มีรายได้ แล้วพอไปตรวจ เขาก็กลัวว่าเราไปจับผิดเขา เพราะว่าที่เราลงไป เรามีการทำหนังสือ เหมือนเขาก็เดือดร้อนว่าต้องไปจดใบอนุญาต แล้วเมื่อผ่านได้ใบอนุญาตมาแล้ว ทางเจ้าของจะกลัวว่า จะถูกสุ่มลงมาตรวจ ไม่ได้ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรองไหม เขาเลยตั้งตู้เฉยๆ อยู่แบบนั้นไม่ไปจด คนที่ขอไปแล้ว แต่ไม่ไปเอาใบอนุญาตจึงเยอะ  เพราะเขากลัวว่าเรื่องจะเยอะตามมา         แล้วหากน้ำไม่สะอาด การล้างแต่ละครั้งต้องมีช่างมาล้าง  เจ้าของตู้เขาต้องใช้เงินจากกำไร ที่เขาต้องได้เป็นพันก็ต้องมาจ่ายตรงนี้ แต่ก่อนจากที่เขาได้กำไรเยอะตอนที่ตู้ยังน้อย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมีตู้เยอะขึ้น แล้วเวลามีข่าวตู้น้ำดื่มไม่สะอาด คนก็หันมาติดตั้ง เครื่องกรองน้ำที่บ้านมากขึ้น         ส่วนชาวบ้านเขาก็คิดว่า แล้วทำไมต้องมาจด รัฐบาลไม่มีเงินเลยจะมาเอาเงินภาษี แบบนี้ก็มี แต่คนทำงานมองว่าสถานการณ์คุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเริ่มดีขึ้น         ใช่ ทำงานตอนแรก ทั้งชาวบ้าน ทั้งผู้ประกอบการ เขาไม่ได้สนใจเลย ชาวบ้านด้วยก็ไม่ได้สนใจ แต่พอเรารณรงค์มากขึ้น ชาวบ้านเขาเริ่มรู้ ทำงานไปเรื่อยๆ ก็ต้องแอบนะเพราะเขาเริ่มรู้ว่าเรามาทำอะไร เขาเห็น เขาก็มาเช็ดๆ ตู้ เราก็บอกเขาว่าไม่ใช่ ต้องทำความสะอาดข้างในด้วย เขาก็ทำด้วย เราบอกว่ากลัวว่ากดไปดื่มแล้วจะท้องเสีย         แล้วบางทีจุดตั้งตู้อยู่ใกล้ถังขยะ เปิดแล้วหนูก็วิ่งขึ้นไป คือตอนที่สำรวจอาจจะยังไม่เจอหนูก็จริง แต่สภาพแวดล้อม สถานการณ์มันมีได้         ตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงคือเราเห็นตู้ใหม่ๆ เยอะ การขอใบอนุญาตไม่ยากแล้ว   สำนักงานเขตจะมีข้อมูล ผู้ประกอบการที่เขายอมเปลี่ยนแปลงได้เพราะอะไร           เขาไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร แต่บางทีเราชี้แจง แล้วตัวเขาบางทีเขากดไปกินน้ำด้วย เขาตั้งตู้แล้วเขาก็กินเองด้วย เขาก็แก้ไข บางคนเขาดีนะ เราบอกแล้วเขาก็แก้ไข บางทีเขาไม่รู้ว่า ตู้น้ำต้องไปขอใบอนุญาต  เขาก็กลัวว่าเขาจะมีความผิดเหมือนกัน  บางคนเขาทำแล้ว มาบอกเราให้ไปทดสอบเลยว่า คุณภาพดีขึ้นไหม  มาตรวจเลย         แล้วผู้ประกอบการบางคนเขามีใบอนุญาตนะ แต่เขาไม่รู้ว่าต้องนำมาติดไว้ที่ตู้ ทำงานมาเรื่อยๆ เขาก็รู้มากขึ้น         การทำงานที่ผ่านมา เราคิดว่า ทางเขตตอบรับเราดี ลงมาตามเรา เขาบอกว่าถ้ามีอะไร ให้เขาลงไป  เขายินดี ถ้าเราจะไปสำรวจอะไร เขาดีใจที่มีอาสาสมัครมาทำงานแบบนี้ แล้วจริงๆ เขตเขามีคนน้อย การทำงานของศูนย์สิทธิผู้บริโภค ช่วยให้เขตทำงานได้ถูกจุดมากขึ้น         ใช่       การทำงาน เมื่อเราแจ้งเขต เป็นการกระตุ้นให้เขาทำงานด้วย พอเราส่งข้อมูลให้เขต เขตบอกว่าจะไปตรวจ  ตอนแรกเขาจะตักเตือนก่อน  แต่ตักเตือนแล้วยังไม่ทำ  เขาก็จะฟ้อง เพราะมีกฎหมาย เขาเลยจะเตือนมาก่อนตอนนี้ กทม. มีเทศบัญญัติ แล้ว เทศบัญญัติที่มีเกิดจากการทำงานของเครือข่าย         เทศบัญญัติที่มีมาตั้งแต่ ปี 2562 เกิดจากการทำงานของเครือข่าย  ไปผลักดันจนเกิดนโยบาย ช่วงปี 60- 61 พี่ไปที่สำนักงานเขต ถามเขาว่า ถ้าเกิดเจอตู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตบอกว่า หัวหน้าสิ่งแวดล้อมบอกว่าเขาจะตักเตือน ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วยังไม่มา เขาจะลงไปเอาโซ่ล่าม การฟ้องมันใช้เวลา ส่วนมากจะจบที่การไกลเกลี่ย เขาไม่อยากถูกฟ้อง เขาก็ต้องทำ         การทำงานที่ผ่านมาเรายังได้ ประสานกันหลายฝ่าย เราก็ได้พัฒนาตัวเองด้วย  น้ำที่ไม่สะอาด พอเอาโคลิฟอร์มมาตรวจ น้ำจะเปลี่ยนสีเลย น้ำที่ได้มาตรฐาน จะเป็นสีส้ม น้ำที่ตรวจเจอแล้วเป็นสีเหลือง มันมีอันตรายอย่างไร คือเป็นน้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ท้องร่วงได้ เราก็ให้ศูนย์สาธารณสุขมาให้ความรู้กับ อาสาสมัครเราด้วย         พี่เลยมองว่า สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนมีความรู้มากขึ้น ผู้ประกอบการเขาก็มีความตระหนักขึ้นนะ แล้วการทำงานร่วมกันในพื้นที่ก็มีส่วนเสริมกัน เรามองว่าช่วยกันได้ แล้ว อาสาสมัครถ้าทำงานไปเรื่อยๆ ก็ได้พัฒนาตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

        หลายคนคงเคยใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เนื่องจากราคาถูก ง่ายต่อการใช้บริการ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง หาง่ายในแหล่งชุมชนต่างๆ แต่จากการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครพบว่ามีหลายตู้ตกมาตรฐาน        คุณต้นไม้ พักอยู่ที่คอนโดแห่งหนึ่งใจกลางลาดพร้าว 101 เขามักซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นประจำ เพราะรู้สึกว่า ถูก ง่าย สะดวก เอาขวดน้ำที่ดื่มน้ำหมดแล้วมากรอกได้เลย แต่อยู่มาวันหนึ่ง เขาก็มาหยอดเหรียญโดยนำขวดมากรอกน้ำเหมือนเคย แต่พอดื่มเข้าไปแล้ว เขารู้สึกว่ารสชาติผิดปกติ ไม่เหมือนที่เคยดื่ม ลองเอามาดมก็มีกลิ่นแปลกๆ ไม่เหมือนเดิม เพราะทุกทีน้ำไม่มีกลิ่น เขาจึงลองไปหยอดเหรียญกรอกอีกรอบ ก็ยังพบว่าน้ำดื่มมีความผิดปกติทั้งรสชาติและกลิ่นไม่เหมือนที่เคยดื่ม ดังนั้นเลยลองเสิร์ชดูในกูเกิลเจอว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยออกข่าวเกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน สกปรก จึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ช่วยตรวจสอบเนื่องจากมีคนในคอนโดใช้บริการจำนวนมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ซึ่งกำหนดให้มีการขออนุญาตก่อน หากมีการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องมีการเปลี่ยนไส้กรอง การซ่อมบำรุง และต้องรายงานคุณภาพน้ำด้วย เมื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วต้องมีสติ๊กเกอร์การได้รับอนุญาต ผลคุณภาพน้ำ ระยะเวลาในการเปลี่ยนไส้กรอกติดไว้ที่ตู้ด้วย         ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตบางกะปิ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาขอให้ช่วยตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้ที่ผู้ร้องคือคุณต้นไม้ได้ร้องทุกข์ไว้ ทราบต่อมาว่าทางเขตบางกะปิได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังกล่าวแล้วและทางเขตสั่งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ตู้น้ำดื่มมีคุณภาพน้ำที่สะอาดสำหรับการบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ไขข้อข้องใจ “กัญชา” กิน – ใช้อย่างไร ได้ประโยชน์

        เดิมทีประเทศไทยได้มีการปลดล็อคให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ จนถึงขณะนี้ มีการอนุญาตราวๆ 3 กลุ่มโรค คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ และกลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต รวมถึงระยะหลังได้เริ่มมีการอนุญาตให้สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมผลิตภัณฑ์ และแหล่งที่มาของกัญชาที่ทำมาใช้ แต่ล่าสุดประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5  มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา สามารถนำมาใช้ปรุงอาหาร เครื่องดื่มได้คล่องมากขึ้น หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่า “กัญชาเสรี”         อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมีข้อกังวล เพราะต่างรู้ว่ากัญชามีประโยชน์ก็จริง แต่ “โทษ” ยังไม่หายไป ถ้าเช่นนั้นแล้วประชาชนจะใช้อย่างไรให้ได้รับประโยชน์จากกัญชาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ไขข้อข้องใจกับ นิตยสารฉลาดซื้อ ดังนี้....   กลุ่มที่ห้ามรับประทาน หรือใช้กัญชาคือใครบ้าง         กัญชามีประโยชน์ แต่หากใช้ไม่ถูกก็เกิดอันตรายได้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่ควรรับประทาน หรือใช้กัญชาเลยคือ สตรีมีครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคตับ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะกัญชาจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้ไอคิวลดลง กระทบเซลล์สมอง ซึ่งมีการทดลองในหนู พบว่าสาร THC ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดนั้น จะทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้ จึงห้ามเด็ดขาดในเด็ก   การควบคุมอาหารที่ใส่กัญชา         ขณะนี้กรมอนามัยได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร ที่ใช้กัญชาจะต้องปฏิบัติดังนี้ 1.จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา 2.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด 3.แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู เป็นต้น 4.แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ 5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้กลุ่มเสี่ยงทราบ เช่น ระบุข้อความ "เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเสี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน" "หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที" "ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือสาร CBD ควรระวังในการรับประทาน" ... "อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเสี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล" และ 6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค ส่วนใดของกัญชา กัญชง ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้บ้าง แต่ละเมนูมีข้อแนะนำอย่างไร         ต้องบอกว่าการที่ร้านอาหารนำกัญชามาเป็นส่วนประกอบนั้น เป็นความเชื่อว่ากัญชาจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้ดีขึ้น เพราะในกัญชาจะมีสารกลูตามิกแอซิด คล้ายๆ กับผงชูรส แต่ต้องมีการใช้กัญชาปริมาณเยอะมากถึงจะได้รสชาติที่ว่านั้น แต่สิ่งที่เราไม่ปรารถนาคือ จะทำให้ สาร THC จะออกมาด้วย ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารตอนนี้ คือ ใช้เฉพาะ “ใบสด” เท่านั้น ส่วน ช่อดอก หรือ ดอก ไม่แนะนำ เพราะมีสาร THC สูงเกินไป และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังกำหนดให้ใช้ช่อดอก และดอกสำหรับผลิตยาทางการแพทย์เท่านั้น         ทั้งนี้ ปริมาณที่ใช้ ตลอดจนวิธีการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นจะให้สาร THC, CBD แตกต่างกัน คำแนะนำเบื้องต้นคือ แต่ละเมนูไม่ควรใช้ใบสดเกิน 2 ใบ และใน 1 มื้อไม่ควรกินเกิน 2 เมนู หากต้องการบริโภคเกิน 2 เมนู ต่อวัน แนะนำว่าแต่ละเมนู ควรบริโภคเพียง 3 ช้อนกินข้าว เพื่อลดการได้รับ THC มากเกินไป เพราะความไวต่อสาร THC ของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนรับเพียงเล็กน้อยก็มีอาการได้ หากเป็นเรื่องดื่มใช้ 1 ใบสดต่อ 1 แก้ว ดื่มไม่เกินวันละ 2 แก้ว ทั้งนี้ใน 1 วัน โดยสรุป 1 วันบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ไม่ควรเกิน 2 เมนู และขอย้ำว่าไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน         “ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภททอดกับทอด หรือ ทอดกับผัด หรือผัดกับผัด เพราะในน้ำมันจะดูดซึมสาร THC ได้ดี จะทำให้ได้รับสาร THC เกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 427/2564 กำหนดหน่วยบรรจุมีสาร THC ได้ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม” คำแนะนำสำหรับผู้บริโค        กรณี “คนที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน” ควรเริ่มในปริมาณน้อย ประมาณครึ่งใบ - 1 ใบ ต่อวัน ซึ่งการรับประทานสัดส่วนนี้จะมีปริมาณสาร THC ราวๆ 1-2.5 มิลลิกรัม และควรรอดูผลหลังรับประทานภายใน 2 ชั่วโมง หากพบว่ามีผลข้างเคียงแนะนำให้หยุดทันที แล้วดื่มน้ำตามมากๆ         สำหรับ “บุคคลทั่วไป” ก็ควรบริโภคในปริมาณน้อย ไม่เกินวันละ 5 ใบ หากรับประทานมากกว่า 5 ใบ อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน และปวดหัวได้ ทั้งนี้ จะต้องสังเกตอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 30 - 60 นาที แต่อาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณชั่วโมงครึ่ง - 3 ชั่วโมง  ดังนั้นทางที่ดีจึงควรรอดูผลหลังจากบริโภคไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง         “ถ้าคนแพ้กัญชาใน 60 นาทีแรกเห็นผลเลย คือ คอแห้ง ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ถ้าเป็นมากคือใจสั่น และหากใจสั่นมาอาจจะหมดสติ ช็อคได้ ดังนั้นหากมีอาการหากคอแห้ง ปากแห้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ จะช่วยขับออกมาได้  ถ้ารู้สึกเวียนหัว ให้ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง เกลือเล็กน้อย หรือน้ำขิงเพื่อแก้อาการเมา แต่หากที่กล่าวมายังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์”         และที่สำคัญเลย เราพบว่าคนที่อยากรับประทานเมนูกัญชาเพราะเชื่อว่าฤทธิ์เล็กน้อยจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สบาย แต่หากรับประทานมากเกินไป จะไปกดสมองส่วนกลางทำให้ง่วงนอนได้ แต่อย่างที่บอกว่าผลที่เกิดกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน บงคนออกฤทธิ์ทันที บางคนไปอกฤทธิ์ภายหลัง ซึ่งฤทธิ์ของกัญชานั้นจะอยู่ในร่างกายได้นานถึง 6 ชั่วโมง ดังนั้นจึงต้องเตือนคนที่ขับยานพาหนะ และทำงานกับเครื่องจักรไม่ควรรับประทานเพราะแรก ๆ อาจจะยังไม่รู้สึก แต่มาออกฤทธิ์ภายหลัง อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับยานพาหนะลดลง เกิดอุบัติเหตุได้ และห้ามกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มีฤทธิ์ทั้งกดประสาท และกระตุ้นประสาท ส่งให้การหายใจผิดปกติ กระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นเร็วเกินไป   อาหารที่ห้ามมีส่วนผสมของกัญชา กัญชงโดยเด็ดขาด         ข้อยกเว้นอาหารที่ไม่ให้ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ได้แก่ อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กนมดัดแปลงสำหรับทารกและนมตัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน อาหารอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพราะหากเด็กได้รับสาร THC บ่อยอาจจะทำให้เด็กมีการพัฒนาทางด้านสมองช้า เนื่องจากสาร THC จะไปทำลายเนื้อเยื่อสมองของเด็ก กรณีสารสกัดในกัญชา CBD และ THC สามารถใช้ประกอบอาหารได้แค่ไหน         การใช้สารสกัด CBD และ THC ในการประกอบอาหารตามประกาศกระกรวงสาธารณสุข 427 โดย อย. กำหนดให้สามารถใช้สารสกัด THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ            นอกจากการรับประทานในอาหารแล้ว ขณะนี้พบว่ามีการใช้สันทนาการด้วย ในส่วนนี้มีการควบคุมกำกับอย่างไร          ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป เนื้อหาในประกาศกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าว จะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ         อย่างไรก็ตาม เราไม่แนะนำให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ หรือใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 1.กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม 2. ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 3.เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ 4. มีผลการศึกษาระบุว่า กัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM 2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา         ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท ให้หลีกเลี่ยงใช้ หรือสัมผัสควันกัญชา สำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือสถานที่อื่นใด หลีกเลี่ยงส่งเสริมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการ         กรณีถูกร้องเรียนเรื่องการสร้างความรำคาญ จะมีโทษปรับ 25,000 บาท จำคุกสูงสุด 3 เดือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 เครื่องดื่มสุขภาพ..มีจริงหรือ

        วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย มีบทความเรื่อง 3 เครื่องดื่มสุขภาพ ถ้าดื่มมากเกินไปหรือดื่มเป็นเวลานาน จะทำให้ภูมิตก เสี่ยงติดโควิด-19 ได้ง่าย จริงหรือ? โดยเนื้อข่าวสรุปแล้วกล่าวประมาณว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นของ 3 เครื่องดื่มสุขภาพนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยราชการหนึ่งพบว่า เป็นข้อมูลจริง โดยหน่วยราชการนั้นอธิบายเหตุผลที่ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อประมาณว่า “น้ำผักผลไม้สำเร็จรูปส่วนใหญ่เติม น้ำ น้ำตาล สารคงสภาพ ทำให้คุณประโยชน์ที่ได้น้อย แต่อาจได้น้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากแทน ส่วนการดื่มนมวัวโดยเฉพาะนมรสหวานในปริมาณมากอาจทำให้อ้วนได้จริง และเครื่องดื่มชูกำลังจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งน้ำตาลนั้นหากกินมากไปเสี่ยงทำให้ภูมิคุ้มกันลด ควรเลี่ยง”         ผู้เขียนขอละที่จะกล่าวว่า ความเห็นของหน่วยราชการนั้นถูกหรือผิด แต่ขอแสดงความเห็นว่า น่าเสียดายมากที่หน่วยราชการนั้นอาจจำเป็นต้องประหยัดตัวหนังสือในการให้ข้อมูลการประเมินข่าวแก่ผู้บริโภคว่าข้อความนั้น จริงหรือเท็จ จึงไม่ได้อ้างการสนับสนุนข้อมูลนั้นด้วยหลักฐานทางวิชาการว่า มาจากแหล่งใดหรือจากบทความวิชาการที่เป็นงานวิจัยในวารสารใด เพื่อผู้บริโภคจะได้นำหลักกาลามสูตร 10 มาพิจารณา         จริงอยู่ที่ว่าเราควร ละ เลี่ยง เลิก ในการกินหวาน มัน เค็ม เพื่อลดภาวะการทำลายสุขภาพของไต ซึ่งส่งผลถึงความผิดปรกติอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง แต่ในกรณีของน้ำผักผลไม้รวมสำเร็จรูปนั้น สินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง เพราะดื่มน้อยอร่อยดีแต่ถ้าดื่มมากและบ่อยเกินไปปัญหาด้านสุขภาพอาจตามมา ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปที่ดื่มบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเพิ่มรสชาติของชีวิต จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเลิกดื่มผลิตภัณฑ์นี้ ในประเด็นว่าถ้าดื่มมากแล้วภูมิคุ้มกันต่ำจนเสี่ยงโควิด-19 ง่าย ถ้ามีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า เครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาลทำอันตรายผู้บริโภคโดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ควรมีการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพิกถอนตำรับสินค้ากลุ่มนี้เสียเลย         ประเด็นที่ควรสนใจคือ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้น..มีจริงหรือ เพราะเท่าที่พยายามสืบค้นทางอินเตอร์เน็ทแล้วนั้น ความหมายอย่างเป็นทางการหรือเป็นที่ยอมรับทางวิชาการโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือนั้น ดูเหมือนจะไม่มี         โดยปรกติแล้วเครื่องดื่มทุกชนิดที่ขายในท้องตลาดและผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. มักมีลักษณะตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท” ซึ่งก็ไม่ได้พูดถึง เครื่องดื่มสุขภาพ ส่วนในกรณีที่สินค้าใดจะอ้างว่า องค์ประกอบของสินค้านั้นมีผลต่อสุขภาพ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดในเอกสารชื่อ คู่มือสำหรับประชาชน การขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพียงเข้าไปใน google แล้วลองค้นหาด้วยคำว่า “health claims on food labels ของ อย.”) ก็มิได้มีคำจำกัดความของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพ         เมื่อค้นหาโดยใช้ google ถึงความหมายของเครื่องดื่มสุขภาพนั้น เว็บไซต์หนึ่งได้ให้ความหมายตามใจเว็บเองว่า “หมายถึงเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ที่จับต้องได้และเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือเป็นเครื่องดื่มที่มีการบ่งบอกชัดเจนถึงคุณประโยชน์ เฉพาะเจาะจงเช่น น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของแอล-คารนิทีน ชาเขียวผสมคอลลาเจน นมพร้อมดื่มผสม คอลลาเจน เครื่องดื่มธัญพืชที่ช่วยให้สุขภาพผิวดีขึ้น เครื่องดื่มที่ช่วยลดความอ้วนที่สกัดจากชาหรือสารอาหารจากธรรมชาติ” ซึ่งใครจะเชื่อก็ได้หรือไม่เชื่อก็ได้         มีบทความหนึ่งในอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่ง (ที่ชอบคิดค้นสินค้าที่อ้างว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ) พยายามให้ความหมายประหนึ่งว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้นเป็น functional drink ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้ว functional drink นั้นคืออะไร และเมื่อค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตต่อก็พบว่า คำ ๆ นี้ยังไม่มีการให้คำจำกัดความทางวิชาการที่แท้จริงเช่นกัน มีแต่ที่จำกัดความกันเองตามใจชอบ เช่นบางเว็บไซต์บอกว่า “คือเครื่องดื่มที่ให้ Benefit กับร่างกายของผู้ดื่มไม่ว่าจะเพื่อช่วยย่อยอาหาร ผิวสวย บำรุงสมอง” ซึ่งเมื่อพิจารณาดีๆ ก็พบว่าเป็นคำจำกัดความที่ค่อนข้างแคบไปหน่อย         ผู้เขียนคิดว่า functional drinks นั้นคงล้อมาจากคำว่า functional foods ซึ่งในความเป็นจริงนั้นถ้าเขียนให้ถูกในความหมายที่มีการอธิบายความเป็นตัวตนของสินค้านี้ ควรใช้คำว่า physiologically functional foods ซึ่งคำๆ นี้น่าจะปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง Studies on Functional Foods in Japan: State of the Art ในหนังสือ Food Factors for Cancer Prevention พิมพ์โดย Springer-Verlag Tokyo ในปี 1997 ซึ่งกล่าวถึงโครงการระดับชาติ 3 ปีที่ได้รับการสนับสนุนโดย the Ministry of Education, Science and Culture ของญี่ปุ่นที่มี Dr. Soichi Arai เป็นประธานซึ่งได้เริ่มโครงการชื่อ Analysis and Molecular Design of Physiologically Functional Foods จากบทความนี้ได้สรุปความหมายของ physiologically functional foods ว่าคือ อาหารที่ออกแบบมาให้มีประโยชน์ทางสรีรวิทยาและ/หรือลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเหนือกว่าอาหารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับโภชนาการขั้นพื้นฐาน โดยอาจมีลักษณะภายนอกดูคล้ายกับอาหารทั่วไปและบริโภคโดยเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารปกติ อย่างไรก็ตาม คำว่า physiologically functional foods นั้นดูยาวเยิ่นเย้อ จึงมีการลดทอนคำไปเป็น functional foods แทน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมวิชาการ         ดังนั้นสินค้าที่อ้างว่าเป็น functional drinks นั้น ควรเป็นเครื่องดื่มที่ดูไม่ต่างจากเครื่องดื่มธรรมดาแต่ถูกปรับให้มีศักยภาพในการส่งผลให้สุขภาพมนุษย์ดีขึ้นกว่าการดื่มเครื่องดื่มธรรมดา เช่นการเติมสารสกัดจากอะไรสักอย่างหนึ่งลงไปในเครื่องดื่ม แล้วทำการศึกษาจนได้เห็นว่า มีประโยชน์จริงในมนุษย์        อาจมีผู้บริโภคสงสัยว่า functional drinks นั้นเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเมื่อพิจารณาจากโฆษณาทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า น่าจะมีลักษณะเป็น เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา (Sport Drink ) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นเกลือแร่และน้ำตาลเพื่อชดเชยแร่ธาตุและพลังงานที่เสียไประหว่างออกกำลังกาย แต่ประเภทที่ดูว่าขายดีที่สุดคือ เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานพร้อมกลุ่มวิตามินและกรดอะมิโนในปริมาณหนึ่ง ซึ่งแม้มีประโยชน์บ้างก็ตามแต่จริงแล้วสารเคมีที่ต้องการขายจริงคือ คาเฟอีน ซึ่งช่วยให้คลายความง่วงนอนและมีความตื่นตัว สำหรับเครื่องดื่มเข้มข้น (Enriched Drink) นั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมองค์ประกอบในอาหารและไม่ใช่อาหาร เช่น คอลลาเจน โคคิวเท็น สารสกัดจากเมล็ดหรือเปลือกหรือรากของพืช  โดยมักอ้างว่ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือช่วยการเผาผลาญไขมัน ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้บางชนิดเป็นสินค้าเกิดใหม่ บรรพบุรุษเราไม่เคยพบเห็น         สำหรับงานวิจัยที่กล่าวว่า การกินน้ำตาลมากมีผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้น เท่าที่หาได้จาก PubMed และ ScienceDirect คือ บทความเรื่อง A high-sugar diet affects cellular and humoral immune responses in Drosophila ในวารสาร Experimental Cell Research ของปี 2018 ซึ่งเป็นการเลี้ยงแมลงหวี่ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงราว 6.7 เท่าของอาหารปรกติ ทำให้พบข้อบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับความสามารถด้านฟาโกไซโทซิส* (phagocytosis) ของแมลงหวี่ในการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมคือ เม็ดยางลาเท็กซ์และสปอร์ของเชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana เป็นเชื้อราใช้กำจัดแมลง โดยสปอร์งอกและแทงเส้นใยทะลุตัวแมลง ทำให้แมลงมีอาการผิดปกติ อ่อนแอ จนแมลงตายในที่สุด)         อีกทั้งยังพบว่า อาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงกระตุ้นการพัฒนาของ lamellocytes (เซลล์ที่มีเฉพาะในตัวอ่อนแมลงที่สามารถต่อสู้เชื้อโรคที่บุกรุก) ในต่อมน้ำเหลืองและระบบเลือดมากเกินไป ซึ่งปรกติไม่เกิดขึ้นในแมลงที่แข็งแรง นั่นแสดงว่าการพัฒนาเพื่อเป็นแมลงตัวโตเต็มวัยนั้นถูกชะลอหรือชะงักด้วยการกินน้ำตาลทรายมากเกิน ซึ่งบทความเรื่องนี้โดยสรุปแล้วให้ข้อมูลว่า อาหารที่มีน้ำตาลสูงนั้นน่าจะส่งผลต่อความผิดปรกติของระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติซึ่งรวมถึงการอักเสบด้วย         *ฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันหลายชนิดทำหน้าที่นี้เช่น นิวโทรฟิล แมคโครฟาจ เซลล์เดนไดรต์ เป็นต้น กระบวนการฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นการกลืนเชื้อโรคเข้าในเซลล์แล้วย่อยทำลายทิ้งด้วยเอ็นซัม เซลล์ฟาโกไซต์บางชนิดได้นำโปรตีนที่ย่อยแล้วและมีส่วนที่เป็น epitope ซึ่งแสดงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (antigenicity) ของเชื้อโรคไปแสดงบนผนังเซลล์ทำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีหรือเปลี่ยนไปเป็น T-killer cell

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 เป็นพุทธมามกะนั้น..ยาก

        วิกิพีเดียไทยให้ข้อมูลว่า พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าขอถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ หรือผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และ www.trueplookpanya.com อธิบายต่อว่า ในชีวิตประจำวันนั้นพุทธมามกะมีหน้าที่ปฏิบัติตน 6 ประการคือ 1) ศึกษาหลักธรรมให้เป็นสัมมาทิฏฐิคือ แนวคิดที่ถูกต้อง มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว 2) ฟังธรรมหรือสนทนาธรรมตามกาล 3) ทำบุญตักบาตร 4) ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน 5) ปฏิบัติตนตามศีล 5 เป็นอย่างน้อย 6) ปฏิบัติกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นถ้าสำรวจกันตามหลักวิชาทางสถิติแท้ ๆ แล้ว ผลที่ได้ออกมาอาจเป็นว่า คนไทยส่วนหนึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่าตนเป็นพุทธมามกะเพราะยังทำตามศีล 5 ไม่ได้         ศีลที่ผู้อ้างว่าเป็นพุทธมามกะมักบกพร่องคือ ศีลข้อที่ 5 พิสูจน์จากข้อมูลในเว็บของกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 มีประเด็นข่าวว่า 'XXX' ห่วงคนไทยดื่มเหล้าติดอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเนื้อข่าวให้ข้อมูลว่า มีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุ 15–19 ปี เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ต่อปี เพราะคนไทยใช้เวลาเดินเพียง 4.5 นาที ก็ถึงร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นี่แสดงว่าประชาชนซื้อหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายมาก และองค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุดในทุกช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวและก่อปัญหาสังคมอื่นตามมา เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ และอาชญากรรมอื่น ๆ         เว็บ https://alcoholrhythm.com มี infographic ที่อ้างข้อมูลจากหนังสือ ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ.2559-2561 ซึ่งมี สาวิตรี อัษณางค์กรชัย เป็นบรรณาธิการและพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สหมิตรพัฒนาการพิมพ์ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2562 ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 มีนักดื่มในประเทศไทยราว 15.89 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยในจำนวนนี้มีคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์มากถึง 6.98 ล้านคน หรือร้อยละ 12.5 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป (แสดงว่ายังมีอีก 8.91 ล้านคนดื่มมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ใช่ไหม) โดยเชียงรายครองอันดับหนึ่งของจังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุดร้อยละ 45.3 ตามด้วยลำพูน (ร้อยละ 44.1) พะเยา (ร้อยละ 44.0) น่าน (ร้อยละ 42.4) และสุรินทร์ (ร้อยละ 40.6) ทำให้เห็นได้ว่าชาวเหนือและอีสานมีจำนวนผู้ละเมิดศีลข้อ 5 เยอะ ส่วนจังหวัดที่มีนักดื่มน้อยที่สุดอยู่ในภาคใต้คือ ยะลามีนักดื่มเพียงร้อยละ 2.3 ตามด้วย ปัตตานี (ร้อยละ 3.9) นราธิวาส (ร้อยละ 4.9) สตูล (ร้อยละ 9.9) และสงขลา (ร้อยละ 13.2)         คนไทยวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะความเครียดจากการทำงาน พบว่าผู้ชายเริ่มดื่มเมื่ออายุ 19 ปี (ปีที่เริ่มเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา) ซึ่งโดยเฉลี่ยดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50 กรัมขึ้นไปต่อวัน ส่วนผู้หญิงเริ่มดื่มหลังที่อายุได้ 24 ปี (น่าจะเพราะเริ่มมีรายได้จากการทำงานและคิดว่าตนเป็นผู้ใหญ่พอ) ซึ่งดื่มโดยเฉลี่ย 12-50 กรัมต่อวัน         ที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจในปี 2560 สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศไทยมี 583,880 แห่ง หรือเท่ากับ 1 ร้านสามารถให้บริการประชากรได้ 113 คน นอกจากนี้ในบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด เบียร์ได้รับความนิยมมากที่สุด พบว่าคนไทยดื่มเบียร์มาก ถึงร้อยละ 47.4 ของการดื่มทั้งหมด รองลงมาเป็นสุราขาวหรือสุรากลั่นชุมชน (ร้อยละ 26.6) และสุราสีหรือสุราแดง (ร้อยละ 22.0)         ข้อมูลจากเว็บ www.expensivity.com เผยข้อมูลดัชนีเบียร์โลกประจำปี 2021 ว่า กาตาร์ขายเบียร์แพงที่สุดในโลก เพราะเรียกเก็บภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์เกินร้อยละ 100 เบียร์จึงมีราคาประมาณ 400 บาทต่อขวด ส่วนแอฟริกาใต้มีเบียร์ราคาถูกที่สุดคือ 51 บาทต่อขวด สิ่งที่น่าละอายใจคือ ตำแหน่งขี้เมาเบียร์ประจำเอเชียตกเป็นของคนไทย เพราะคนไทยดื่มเบียร์คนละ 142 ขวด/คน/ปี (จริงแล้วคงมากกว่านี้เพราะคนไทยอีกหลายคนไม่เคยเมาเลยแต่ถูกนำมารวมเป็นตัวหารในการคำนวณหาค่าเฉลี่ย) ตามด้วยคนเกาหลีใต้ 130 ขวด/คน/ปี และ คนจีน 127 ขวด/คน/ปี นอกจากนี้น่าอดสูใจมากที่คนไทยยังหมดเงินไปกับการดื่มเบียร์มากที่สุดโดยเฉลี่ยราวคนละ 21,093 บาทต่อปี ตามมาด้วยคนเกาหลีใต้และคนญี่ปุ่นตามลำดับ         ด้วยข้อมูลข้างต้นนี้คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะนั้นน่าจะถูกนับว่าผิดศีลข้อที่ 4 ด้วยเพราะพูดปด โกหกมดเท็จ พูดไม่อยู่กับร่องกับรอยเพิ่มอีก 1 ข้อ ดังนั้นจึงมีผู้พยายามหาเหตุผลว่า ทำไมคนไทยถึงชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคำตอบนั้นมีหลากหลายประมาณว่า เพื่อคลายเครียด เพื่อให้การเข้าสังคมเป็นเรื่องง่ายซึ่งบางกรณีมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ และที่น่ากังวลคือ การอ้างผลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณดีต่อสุขภาพ         เคยมีนักวิชาการด้านสุขภาพของประเทศทางตะวันตกกล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณนั้นส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่น ลดโอกาสมีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ดังในบทความเรื่อง Effect of alcohol consumption on biological markers associated with risk of coronary heart disease: systematic review and meta-analysis of interventional studies ในวารสาร BMJ (British Medical Journal) ของปี 2011ได้ให้ข้อสรุปว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ดูเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของหลอดเลือดและหัวใจหลายประการเช่น เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางจะมีการเพิ่มขึ้นทั้ง HDL (คลอเรสเตอรอลตัวดี) และ adiponectin ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ไขมันและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันภาวะดื้อต่ออินซูลิน/เบาหวาน ต้านการอักเสบ และลดการแข็งตัวของเลือดที่เกินพอดี โดยผ่านกลไกที่แตกต่างกันที่เป็นการสนับสนุนทางอ้อมถึงการป้องกันต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และในบทความเรื่อง Mediterranean alcohol-drinking pattern and mortality in the SUN (Seguimiento Universidad de Navarra) Project: a prospective cohort study ในวารสาร British Journal of Nutrition ของปี 2014 ซึ่งให้ข้อมูลว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะที่ดีต่อสุขภาพคือ ดื่มพอประมาณ (moderate drinking) ราว 10–50 กรัม แอลกอฮอล์ต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 5–25 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิงนั้น มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเลยหรือดื่มมากเกินคำแนะนำ         อย่างไรก็ดีคำแนะนำเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่เกี่ยวกับสุขภาพในปัจจุบันได้เริ่มเปลี่ยนไป โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2018 เว็บ www.bbc.com/thai มีบทความเรื่อง ผลวิจัยล่าสุดชี้ "ระดับปลอดภัย" ในการดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีจริง ซึ่งทำให้หลายคนที่เชื่อเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยดีต่อสุขภาพ อาจต้องทบทวนในความคิดนี้ใหม่ ยืนยันได้จากบทความเรื่อง No level of alcohol consumption improves health ใน www.thelancet.com เมื่อ 22 กันยายน 2018 รายงานผลการศึกษาใน 195 ประเทศ ให้ข้อมูลสรุปประมาณว่า ความเชื่อเดิมว่าการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองจำต้องเปลี่ยนไป เพราะความเสี่ยงต่อโรคภัยโดยรวมที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินจนไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้จากการดื่มเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพบางประการ และชี้ว่าหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาล (ที่ไม่ได้หวังภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นรายได้หลัก) ควรออกคำเตือนให้ประชาชนงดเว้นการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง พร้อมไปกับการพิจารณายกเลิกคำแนะนำเรื่องปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยที่มีอยู่เดิมเสีย เนื่องจากอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ เช่นมะเร็ง หรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละวัน โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 1 หน่วย (มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ 10 กรัม) มีความเสี่ยงต่อโรคภัยและการบาดเจ็บสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มเลย 0.5% ส่วนคนที่ดื่มวันละ 2 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 7% และคนที่ดื่มวันละ 5 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 37%         สำหรับ www.mayoclinic.org ซึ่งเคยให้ข้อมูลเห็นด้วยเกี่ยวกับประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะพอเหมาะแก่สุขภาพมานานได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีแล้ว จากการเข้าดูข้อมูลของเว็บนี้ในปี 2021 พบตอนหนึ่งในบทความเรื่อง Alcohol use: Weighing risks and benefits กล่าวว่า ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของแอลกอฮอล์นั้นค่อนข้างน้อยและอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน ประกอบกับคำแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกัน (American Dietary Guidelines) ล่าสุดกล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครควรเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หรืออ้างประโยชน์ต่อสุขภาพจึงดื่มบ่อยขึ้น เนื่องจากประโยชน์ที่อาจมีนั้นไม่ได้มีมากกว่าความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นแนวทางที่ดีที่สุดถ้าหวังมีสุขภาพที่ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รู้เท่าทันกัญชากินได้

        ทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงให้กัญชาเป็นสารที่สามารถผสมในอาหารและขนมต่างๆ เพื่อการบริโภคได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งประเทศไทยก็พยายามให้ส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ดอก ไม่เป็นสารเสพติด สามารถนำมาบริโภคหรือใส่ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้ (โดยยังมีระเบียบการผลิต การปลูกกัญชาควบคุมอยู่) มีร้านอาหารบางร้านทั้งภาครัฐและเอกชนนำกัญชามาเป็นเมนูของอาหารที่ร้าน กัญชากินได้ในอาหารและขนมต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ มีข้อดีข้อเสียต่อสุขภาพอย่างไร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ กัญชากินได้คืออะไร         กัญชากินได้คืออาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันทั่วโลกในขณะนี้ ความจริงแล้วการกินกัญชามีมานานหลายพันปีทั้งในเอเชียและประเทศทางตะวันตก ปัจจุบัน ในประเทศอเมริกา แคนาดา ยุโรป สามารถหาซื้อขนมปัง หมากฝรั่ง ช็อกโกแลต ยาอม น้ำดื่มใส่กัญชา เป็นต้น ในบ้านเราก็มีเมนูอาหารหลายอย่างที่เริ่มนำใบกัญชามาใส่ในอาหาร ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่         การกินกัญชาในอาหารทำให้เราได้รับสรรพคุณของกัญชาโดยไม่ต้องสูบ การกินก็ง่ายกว่าและดึงดูดใจมากกว่า เราจึงต้องรู้วิธีการกินและการดื่มที่เหมาะสม เพราะเมื่อกินกัญชาเข้าไป กว่ากัญชาจะออกฤทธิ์ต้องใช้เวลา 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง เพราะต้องผ่านระบบทางเดินอาหารก่อนดูดซึมเข้าในกระแสเลือด จึงอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงและระดับความเข้มข้นของกัญชาจะค่อยๆ เพิ่มจนถึงขีดสูงสุด ดังนั้น ระดับของกัญชาในเลือดจึงอาจกินเวลา 2-3 ชั่วโมงจนถึงตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับว่าเรากินกัญชามากน้อยแค่ไหน กลุ่มเสี่ยงต่อการกินกัญชาในอาหาร         วารสารทางการแพทย์แคนาดารายงานว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกินกัญชาในอาหารคือ กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงในการกินมากเกินไป และเผลอกินเพราะนึกว่าเป็นขนมทั่วไป         ในต่างประเทศ กัญชาในอาหารหลายชนิดจะทำเป็นคล้ายลูกกวาด หมากฝรั่งที่มีรสหวาน ช็อกโกแลต ซึ่งผสม THC (tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีผลต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการทางจิตได้ กัญชากินได้เหล่านี้เหมือนขนมเด็ก ทำให้เด็กหลงกินเข้าไป         กัญชากินได้ต้องผ่านการย่อยและดูดซึม ทำให้ผู้ที่ไม่รู้บริโภคมากเกินไป เพราะออกฤทธิ์จะช้า ทำให้กินเข้าไปมาก         กลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะต้องการการบริโภคเพื่อช่วยให้จิตใจสบาย และเจริญอาหาร แต่ก็มีรายงานว่า มีผลข้างเคียงร้ายแรงต่อสุขภาพ บางรายต้องรับรักษาตัวในโรงพยาบาล ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ก็มีรายงานผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลจากการกินกัญชาในอาหาร         ปัจจัยที่มีผลต่อการกินกัญชากินได้คือ เพศ น้ำหนัก อาหาร และความทนต่อกัญชา         ปัญหาใหญ่ของการกินกัญชาคือ กว่ากัญชาจะออกฤทธิ์จะนานกว่าการสูบ ประมาณว่า 3 ชั่วโมงหลังการกิน เมื่อไม่รู้สึกว่ากัญชาออกฤทธิ์ ก็จะกินมากขึ้นเพื่อให้ออกฤทธิ์ เมื่อกัญชาออกฤทธิ์ก็จะเกิดอาการของการกินกัญชามากเกินไป ทำให้เกิดอาการทางจิต เกิดความหวาดกลัว สับสน และเกิดภาพหลอน ในผู้สูงอายุสามารถเกิดอาการทางหัวใจได้         ดังนั้น กัญชาในอาหารมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ จึงต้องมีมาตรการในการดูแลอย่างรอบคอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 เครื่องปั่นอเนกประสงค์

        ฉลาดซื้อฉบับนี้มีภาคต่อของผลทดสอบเครื่องปั่นผสมอาหารและเครื่องดื่มมาฝากคุณอีกแล้ว คาวนี้มีให้เลือก 15 รุ่น (กำลังไฟตั้งแต่ 300 ถึง 1800 วัตต์) ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้แก่ Consumentenbond จากเนเธอร์แลนด์ และ OCU-Ediciones จากสเปน ได้ร่วมกันทำไว้ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา               เกณฑ์การให้คะแนนยังเป็นเช่นเดิมคือ คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วยคะแนนประสิทธิภาพในการทำสมูตตี้ผักและผลไม้ บดน้ำแข็ง และเตรียมอาหารเหลว (50 คะแนน) ความสะดวกในการใช้งาน (30 คะแนน) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงดังเกินไป (10 คะแนน) และความแข็งแรงทนทาน (10 คะแนน)         ทีมทดสอบพบว่าไม่มีรุ่นไหนได้คะแนนรวมถึง 70 คะแนน เครื่องปั่น KitchenAid ( ราคา 799-12,900 บาท ) ที่ได้คะแนนดีที่สุดในกลุ่ม ก็ได้ไปเพียง 68 คะแนน เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายรุ่นที่ “สอบตก” เพราะได้ต่ำกว่า 50 คะแนน         พลิกไปดูกันเลยว่าควรซื้อหารุ่นไหนมาไว้ใช้งานในวันที่อยู่บ้านฝึกฝนการเป็นเชฟมือใหม่กันได้เลย          ทั้งนี้ทีมได้ทดสอบเปรียบเทียบการประหยัดพลังงาน แต่ไม่ได้นำมาประมวลผลในการให้คะแนนรวม ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้นทุกได้คะแนนในระดับ 5 ดาว จึงไม่ได้นำมาประมวลผลเช่นกัน         หมายเหตุ        -          การทดสอบดังกล่าวมีค่าใช้จ่าย 400 – 500 ยูโร (ประมาณ13,500 ถึง 17,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง         -          ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่พบออนไลน์ และอาจเป็นการแปลงจากหน่วยเงินต่างประเทศ โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ         -          สามารถติดตามผลการทดสอบเครื่องปั่นครั้งก่อนหน้าได้ที่ ฉลาดซื้อ ฉบับ 227

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 239 ว่าด้วยเรื่องการคงอยู่ของวิตามินซี

ฉลาดซื้อฉบับนี้ พารองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องวิตามินซี ถึงรายละเอียดเรื่องการทดสอบและเหตุของการอยู่และหายไปของวิตามินซี การวิเคราะห์ของวิตามินซีโดยทั่วไปใช้วิธีการอะไร        วิตามินซี เป็นวิตามินที่อ่อนแอต่อแสง อากาศ (ก๊าซออกซิเจน) และความร้อน หรือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  การวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีจะต้องทำในห้องที่ไม่มีแสงยูวี  แสงยูวีปกติอยู่ในแสงแดด  ในหลอดไฟฟ้า  และทำในห้องที่ปรับอากาศ อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียสนะครับ  โดยจะทำการสกัดวิตามินซีออกมาด้วยตัวทำละลายวิตามินซี  โดยจะต้องเป็นการสกัดเย็น จากนั้นทำการตรวจวัดด้วยเครื่อง  HPLC หรือ ชื่อเต็มว่า High Performance Liquid Chromatography   วิธีที่ใช้เครื่อง HPLC เป็นวิธีที่ดีที่สุด และมีความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์  ซึ่งโดยทั่วไปวิตามินซีในธรรมชาติหรือในเครื่องดื่มต่างๆ จะมีอยู่ทั้งสองรูปแบบ  คือ  แบบออกซิไดซ์ (oxidized form) และ  แบบรีดิวซ์  (reduced form)    มีบางคนก็พูดถึงไปแล้วว่ามันถูกออกซิเดชันได้ง่ายจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน  ทำให้มีฟอร์มที่เป็นออกซิไดซ์เพิ่มขึ้น  ซึ่งการออกซิเดชันแบบไม่รุนแรง วิตามินซีไม่ได้สูญหายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปไป แต่หากเป็นการออกซิเดชันที่รุนแรงที่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อากาศ แสงและอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น หรือมีสารประเภทโลหะร่วมด้วย  วิตามินซีจะถูกทำลายในระดับโครงสร้าง แบบนี้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้คือ สลายตัวไปเลย ดังนั้นในการวิเคราะห์วิตามินซีทั้งหมดในอาหารจะต้องวิเคราะห์ทั้งสองฟอร์มจะวิเคราะห์เพียงฟอร์มใดฟอร์มหนึ่งไม่ได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเติมสารเคมีบางอย่างลงไปทำปฏิกิริยารีดักชันเพื่อทำให้วิตามินซีมาอยู่ฟอร์มเดียวกันทั้งหมดก่อนที่จะทำการตรวจวัด   ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วไม่พบว่ามีวิตามินซี  ไม่ได้แปลว่า ค่าที่ได้เป็นศูนย์หรือไม่มีวิตามินซีเสมอไป  แต่สามารถบอกได้แค่ว่า  ปริมาณที่มีอยู่ต่ำกว่าที่เครื่องมือจะตรวจวัดได้เขาเรียกว่าเป็น Detection Limit คือ ต่ำกว่าขีดจำกัดการตรวจจับได้ของการวิเคราะห์นั้น  ทำให้ไม่สามารถบอกเป็นปริมาณได้ บางเครื่องอาจจะตรวจวัดและรายงานผลได้ตั้งแต่  0.5 มิลลิกรัมขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านี้ไม่สามารถจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ซึ่งโดยทั่วไปจะรายงานว่า ตรวจไม่พบ (not detected หรือ nd)            เราไปคุยประเด็นเรื่องเขาบอกไม่ตรงฉลาก  หนึ่งคือว่าตัววิตามินซีมันสามารถที่จะสลายได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยแสง อากาศ ออกซิเจนและก็ความร้อนนะครับ รวมถึงอาจจะเรื่องของการเก็บ การขนส่ง Transportation มันก็ทำให้มันเกิดการสูญเสียได้ ทีนี้ออกซิเจนมันมาจากไหน  คือในตัวขวดมันก็จะมีอากาศอยู่แล้ว ตรงช่วงต่อระหว่างฝากับตัวน้ำ เขาเรียก Head Space ตัวนั้นนะครับ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งถ้าขนส่งมันก็อาจจะมีการเขย่า มีอะไรทำไปอีกด้วยมันก็มีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายขึ้นได้เพิ่มขึ้น  แล้วก็คือวิตามินซีในฟอร์มที่มันเป็นแบบแห้งมันจะคงอยู่ทนกว่าไงครับ  ทีนี้พอมันเป็นแบบที่เป็นน้ำการออกซิเดชันมันเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมันสามารถทำปฏิกิริยากับอากาศได้ง่ายขึ้น  เพราะฉะนั้นมันสลายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพการเก็บรักษาการขนส่งว่าทำให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในอีกฟอร์มหนึ่งที่เปลี่ยนกลับได้หรือว่าสลายหายไปเลย  (อันนี้ ต้องขอบอกก่อนว่าผมพูดในด้านวิชาการนะครับ   ส่วนประเด็นที่เป็นข่าวไม่ได้ส่งมาวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการนะครับ) อายุการเก็บของวิตามินซี         อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์กับอายุการเก็บของวิตามินซี   ต้องแยกออกจากกัน  อายุการเก็บมันเก็บได้ไม่เน่าเสีย แต่ว่าอายุการเก็บมันอาจจะไม่ได้ถูกศึกษาด้วยตัววิตามินซีว่ามันเหลือเท่าไหร่   คืออายุการเก็บเขาจะดูการเสื่อมสภาพ การเป็นตะกอน การเสียรสชาติ อะไรอย่างนี้มากกว่า  ที่เขาเอามาใช้  หรือการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เน่าเสียหรือก่อโรค  ที่เขาเอามาใช้เป็นอายุการเก็บ  ไม่ใช่อายุการเก็บวิตามิซี บางคนบอกว่ามันอยู่ได้ถึง 1 ปี แต่วิตามินมันไม่เหลือแล้ว  จริงๆ แล้ววิตามินซีมันสลายเร็วกว่าวิตามินตัวอื่นๆ เมื่อเทียบกัน  วิตามินซี ถือว่าสลายได้เร็วที่สุด  เพราะฉะนั้น ในทางโภชนาการเขาใช้วิตามินซีเป็นตัวชี้วัดการคงอยู่ของวิตามินที่อยู่ในอาหาร   ถ้าวิตามินซีมันอยู่ได้ตัวอื่นก็อยู่ได้ ถ้าตัวมันอยู่ไม่ได้ตัวอื่นๆ ก็อาจจะยังอยู่  แต่ว่ามันก็จะเหลือน้อยลง  แต่ถ้าวิตามินซียังอยู่เยอะแสดงว่าตัวอื่นๆ ก็ยังอยู่เยอะ  แต่ถ้าวิตามินซีหายไปเยอะค่อยไปดูตัวอื่นๆ น่าจะลดลงไปบ้าง  แต่มันก็ไม่ลดเท่าวิตามินซีนะ   สมมติว่าออกจากโรงงานแล้วบริษัทเขาส่งไปวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ  ที่เขาส่งไปวิเคราะห์เขาก็ได้ค่าหนึ่ง  ค่าอันนั้นเขาก็เอาไปขึ้นทะเบียนทำเป็นฉลาก  แต่ทีนี้พอเวลาไปเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ซ้ำ  มันได้ไม่เท่ากันก็คือมันไม่ใช่ตัวอย่างเดิม  มันถูกสลายแล้ว ที่ออกมาจากโรงงานแล้วก็ส่งเข้า Lab เลยนี่มันก็จะได้อีกค่าหนึ่งนะมันก็ยังไม่ได้สลายไปไง  เพราะฉะนั้นวิตามินซีมันลดลงตั้งแต่เริ่มออกจากโรงงาน ตั้งแต่วันแรก   คือมันก็ค่อยๆ ลดลงขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งสองอาทิตย์ก็อาจจะเหลืออยู่สักครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยด้วย   เรื่องการขนส่ง  (Transportation) อุณหภูมิในการเก็บ  และระยะเวลาการเก็บ อันนี้ดูจากวันผลิตก็ได้  ถ้าหากเก็บอุณหภูมิในตู้เย็นก็จะยืดระยะเวลาที่จะสลายตัวให้ช้าลงได้ แต่มันก็ยังสลายตัวอยู่นะไม่ใช่ไม่สลายนะ   หากไปวางตั้งไว้ข้างนอกบางทีอยู่นอกร้านภูมิอากาศบ้านเรามันก็ร้อนนะวิตามินมันก็เกิดการสูญเสียเร็วขึ้นนะครับ    ความแตกต่างของภาชนะบรรจุส่งผลต่อการสลายของวิตามินซีไหมคะ         โดยหลักการภาชนะบรรจุที่ทึบแสง หรือที่แสงผ่านเข้าไม่ได้  และภาชนะที่ไม่มีโลหะผสมจะป้องกันวิตามินซีได้ดีกว่าภาชนะบรรจุที่ใสและแสงผ่านเข้าได้   คนจะสงสัยค่ะอาจารย์ว่ามันก็ใสเหมือนกันขวดแบบเดียวกันทำไมอันหนึ่งมันอยู่ Stable อีกอันหนึ่งทำไมมันหายไป        น่าจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิต  การขนส่ง ระยะเวลาหลังจากผลิต  การเก็บรักษา  อุณหภูมิในการเก็บอะไรต่างๆ  บางทีจะเห็นไปตั้งเอาไว้เป็นสต็อกไม่โดนแอร์เลย  ตั้งเอาไว้ข้างร้านๆ   บางทีตั้งไว้อยู่ริมถนน  อากาศมันก็ร้อนนะ  บางทีโดนแดดคือผมพยายามไม่พูดถึงยี่ห้อนะครับ ผมพูดเรื่องวิชาการอย่างเดียวนะครับ   มีคำแนะนำสำหรับคือการผลิตจะมีคำแนะนำอย่างไรดีคะสำหรับการคงคุณภาพหรือการผลิตที่ต้องดูแลควบคุม         ก็ต้องเริ่มจากการควบคุมกระบวนการผลิต   เลือกใช้สารวิตามินซีที่มีความบริสุทธิ์หรือมีเปอร์เซนต์ของวิตามินซีสูง   อุณหภูมิขณะเติมวิตามินซีและตลอดกระบวนการผลิตไม่ควรเกิน 25 องศา  ควรใช้ขวดทึบแสงหรือขวดที่ป้องกันแสงผ่านได้   ลดพื้นที่อากาศบริเวณปากขวดให้เหลือน้อย เก็บรักษาในที่เย็น ห่างจากแสงแดดและความร้อน           ในแต่ละวัน เราสามารถรับวิตามินซีจากแหล่งอาหารอื่นๆ จากที่ไหนได้บ้าง         ผลไม้รสเปรี้ยวเป็นแหล่งของวิตามินซี รวมทั้ง  ส้ม ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มะขามป้อม  สตรอว์เบอร์รี  เป็นต้น กรณีที่มีบางยี่ห้อเราตรวจได้ปริมาณวิตามินซีมากๆ         อย่างเช่นถ้าเราตรวจพบ   500 ต่อ Serving เพราะฉะนั้นถ้าคนไปกินแทนน้ำนี่มันก็มีความเสี่ยงถ้าคนกินแทนน้ำวันหนึ่งสักสามขวดอย่างนี้  ขวดหนึ่งมัน  140 มิลลิลิตรเองนะ ขวดเล็กด้วยนะ  ถ้าหากใครกินสามขวดก็จะได้ไป 1,500 มิลลิกรัม  ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับมากเกินไป  เช่น  โรคนิ่วในไต  แต่อย่างไรก็ตามโรคนิ่วในไต มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย  เช่น  กรดออกซาลิก  กรดยูริก  แต่ถ้าจะลดความเสี่ยง ก็คือวันหนึ่ง  ไม่ควรกินเกิน 1,000 มิลลิกรัม ขณะที่ในอาหารเสริม หนึ่งเม็ดก็จะมี 500 หรือ 1,000 มิลลิกรัม กินวันละเม็ดเดียวก็พอแล้ว    เพราะเรายังได้รับวิตามินซีจากอาหารอีก  เพราะเราไม่ได้กินแต่น้ำ  จริงๆ แล้วร่างกายต้องการน้ำเพื่อแก้กระหาย  น้ำเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย  ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกายและช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายแต่มีการไปเติมวิตามินลงไปเพื่อให้มันมี  เพื่อความสะดวกคือดื่มน้ำแล้วได้วิตามินซีด้วยแต่มันไม่เสถียร  ไม่คงทน  มันสลายได้จึงอยากให้เน้นกินผลไม้ที่มีวิตามินซีที่สด  ซื้อมาปอกเปลือกแล้วกินเลยอันนี้เราควบคุมได้เองวิตามินซีอยู่ครบหรือลดลงแค่เล็กน้อย   เราจะได้ทั้งวิตามินซีทั้งใยอาหารด้วย  ใยอาหารช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ทำให้ผิวพรรณสดใส  เมื่อลำไส้เราสะอาดผิวพรรณเราก็จะสดใสก็จะเปล่งปลั่งขึ้นมา    ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายรับได้ต่อวันเป็นอย่างไร         การกินวิตามินซีวันละ  60 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย   อย่างไรก็ตาม ร่างกายสามารถรับวิตามินซีในปริมาณมากกว่านี้ได้ มีผลวิจัยว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันบางโรค ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและอาจช่วยป้องกันหวัดหรือบรรเทาอาการหวัด   ข้อดีของวิตามินซี คือ เป็นวิตามินซีที่ละลายในน้ำ   เพราะฉะนั้นหากได้รับมากจนเกินไปร่างกายก็จะขับออกทางปัสสาวะ  อย่างไรก็ตามไม่ควรกินเกิน  1,000 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วในไต

อ่านเพิ่มเติม >