ฉบับที่ 260 คำหลอกลวงของพ่อค้า...มีอะไรในหมอนข้าง

        ในสังคมออนไลน์มีเรื่องที่ผู้บริโภคโพสต์เล่าประสบการณ์การซื้อสินค้าหรือบริการจำนวนมาก บางครั้งก็เป็นสิ่งน่ารัก และบางครั้งก็น่า...ตกใจ มาลองอ่านประสบการณ์นี้กัน         คุณสุดรักเป็นแฟนนิตยสารฉลาดซื้อได้ทักมาสอบถามในกล่องข้อความของเพจนิตยสารฉลาดซื้อว่า เห็นข่าวสาวคนหนึ่งไปเดินงานสหพัฒน์แฟร์กับแฟน และไปซื้อหมอนข้างราคาใบละ 100 บาท พ่อค้าก็บอกว่าเป็นหมอนข้างเกรดพรีเมี่ยมใช้ในโรงแรม แต่นำมาขายราคาถูกเพียง 100 บาท เธอก็หลงเชื่อคำโฆษณาของพ่อค้าเลยซื้อมาเพราะหมอนข้างสภาพดี ปลอกหมอนขาวสะอาด แต่หลังจากหมอนข้างใบนั้นมาอยู่บนที่นอน เธอถูกมดกัดบนที่นอนบ่อยมาก เก็บกวาดห้องก็แล้ว ซักผ้าปูที่นอนก็แล้ว มดยังราวีเธอไม่เลิกรา เลยเริ่มหาสาเหตุอย่างจริงจัง สุดท้ายพบว่า มดมาจากหมอนข้างที่เธอซื้อมานั่นเอง         คุณสุดรักจึงแกะรื้อหมอนข้างดูด้านใน ก็พบว่าไส้หรือวัสดุด้านในเป็นฟองน้ำและมีเศษอะไรก็ไม่รู้ที่ทำให้หมอนข้างนิ่มๆ พร้อมกับกองทัพมดที่ยั้วเยี้ยผุดโผล่ออกมาจากฟองน้ำ คุณสุดรักสอบถามมาว่าเหตุการณ์แบบมีกฎหมายเอาผิดกับผู้ขายบ้างไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อแอดมินเพจนำข้อสอบถามมาสอบถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้คำตอบมว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์นำหลักฐานการซื้อขายเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ/หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย ไม่ให้พ่อค้าแม่หลอกลวงผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 259 สั่งซื้อน้ำผึ้งขวดออนไลน์ได้ไม่ครบจำนวน

        ซื้อของออนไลน์ได้ของไม่ครบจำนวนใครไม่เคยเจอต้องบอกว่า โชคดีมาก เผอิญว่าคุณปุณไม่โชคดีตลอดไป คราวนี้พลาดท่าให้กับการสั่งซื้อน้ำผึ้งจากร้านค้าออนไลน์เข้าเสียแล้วเรื่องราวมีอยู่ว่า คุณปุณสั่งซื้อน้ำผึ้งผ่านทางแอปพลิเคชันสีส้มชื่อดัง โดยก่อนที่จะซื้อเธอเช็กทั้งยอดขายที่มีการรีวิวสินค้าว่าเป็นอย่างไร และคิดว่ายอดขายเยอะน่าจะขายดี เมื่อลองเช็กดู อย.ก็พบว่ามี สินค้าดูน่าเชื่อถือ เมื่อผ่านการตรวจสอบขั้นต้นแล้วเธอจึงสั่งซื้อไป 2 ขวด จ่ายเงินเรียบร้อย ต่อมาได้รับสินค้าตามระยะเวลาที่ทางร้านแจ้ง (แอบดีใจ) แต่เมื่อแกะกล่องออกมาคุณปุณพบว่า มีเพียงแค่น้ำผึ้งเพียงขวดเดียว อ้าว! “ฉันสั่งสองขวดไหม” จึงรีบทักไปแจ้งกับทางร้านค้าผ่านช่องทางอินบ็อกทันที เมื่อร้านค้าทราบก็บอกว่าจะทำการจัดส่งให้อีก 1 ขวดนะคะคุณลูกค้า คุณปุณก็สบายใจคิดว่าคงไม่น่าจะหลอกหรอก ขายในแอปส้มเลยนะแต่เมื่อเวลาผ่านไปเดือนกว่าแล้วยังไม่ได้สินค้าที่ว่าทักไปถามก็บอกว่าส่งแล้ว แต่พอคุณปุณขอเลขพัสดุก็บอกว่าทำหาย เมื่อพูดคุยกันไปมาก็บอกว่าจะทำการส่งให้ใหม่ แต่พอทักไปถามเลขพัสดุอีกครั้งไม่มีการตอบกลับจากเจ้าของร้านค้าน้ำผึ้งในแอปส้มเจ้านั้นอีกเลย จึงได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โทรไปสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่แอปพลิเคชันที่ให้บริการเพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งทางแอปฯ แจ้งรับเรื่องและขอช่องทางติดต่อผู้ร้อง โดยจะส่งอีเมล์ให้ผู้ร้องเพื่อให้ส่งข้อมูล เช่น การแชทที่คุยกับร้านไม่เกิน 48 ชั่วโมง  สินค้าที่ได้รับ หมายเลขคำสั่งซื้อ โดยทางแอปฯ แจ้งจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินให้ แต่...หลังจากนั้นทางแอปฯ ได้ติดต่อมายังเจ้าหน้าที่ว่าไม่สามารถทำเรื่องขอคืนเงินได้เนื่องจากระยะเวลากำหนดให้ทำได้ภายใน 30 วัน         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแจ้งทางแอปฯ ขอให้ตรวจสอบร้านค้าเนื่องจากร้านตั้งใจไม่ส่งสินค้าให้ครบตามคำสั่งซื้อเข้าข่ายฉ้อโกง         หลังจากที่ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ประสานไปทางแอปพลิเคชันที่ให้บริการแล้ว ทางแอปฯ แจ้งว่าได้โทรไปหาคุณปุณอีกครั้ง เพื่อเสนอให้โค้ดส่วนลดทดแทนได้ไหม?  เนื่องจากสินค้าที่สั่งซื้อระยะเวลาเกินกำหนด 30 วัน ไม่สามารถคืนเงินได้หากต้องการเงินคืนหรือสินค้าให้ทางลูกค้าต้องติดต่อร้านค้าเอง         คุณปุณคิดว่าไม่ใช่สิ ติดต่อร้านค้าไปแล้วหลายครั้งแต่ร้านค้าไม่ส่งของให้ หลังๆ ก็ไม่ตอบข้อความใดๆ เลย เธอจึงยืนยันกับทางแอปฯ ว่าไม่เอาโค้ดส่วนลดตนจะเอาเป็นสินค้าหรือเป็นเงินคืน และขอให้ทางแอปฯ ช่วยประสานงานกับร้านค้าด้วย ไม่นานทางคุณปุณก็ได้เลขพัสดุการส่งสินค้าของร้านค้านั้น เมื่อเช็กเลขพัสดุก็พบว่า “ร้านค้าเพิ่งจัดส่งของให้คุณปุณ” เมื่อคุณปุณได้รับสินค้าแล้ว จึงอีเมลตอบกลับทางแอปฯเพื่อยืนยันว่าได้สินค้าแล้ว และอยากฝากขอให้ทางแอปฯ ตรวจสอบร้านค้าต่างๆ อีกด้วย เนื่องจากการทำแบบนี้เข้าข่ายฉ้อโกง เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แอปฯ ควรเข้ามามีส่วนในการจัดการปัญหา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ถูกหลอกซื้อบ้านที่ต้องเวนคืน มีสิทธิเรียกร้องอะไรบ้าง

        ก่อนที่เราจะตัดสินใจมีบ้านสักหลัง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีข้อมูล เพื่อให้เราเลือกบ้านได้ตามที่เราต้องการ ฝั่งผู้ประกอบธุรกิจขายบ้านก็มักมีคำโฆษณาชวนเชื่อหลากหลายเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ ซึ่งแน่นอนว่าคำโฆษณาเหล่านี้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อข้อความที่โฆษณาเป็นส่วนสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านสักหลัง ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีความสุจริตในการทำโฆษณาไม่หลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด  มิเช่นนั้นผู้บริโภคก็จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าบ้านและค่าใช้จ่ายต่างๆ คืนจากผู้ประกอบธุรกิจได้          ผมขอยกตัวอย่างคดีที่ผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจอยากมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่เมื่อทำสัญญาซื้อขายกันไปแล้วต่อมาทราบข้อมูลภายหลังว่า บ้านที่ตนซื้อเป็นพื้นที่กำลังโดนเวนคืน จึงเกิดความเสียหายเพราะผู้ประกอบธุรกิจปกปิดข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคจึงฟ้องศาลเรียกเงินค่าบ้านคืน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการทำสัญญาซื้อบ้านดังกล่าว  เช่น ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย เป็นต้น         ลักษณะข้างต้นเช่นนี้ศาลถือว่าเป็นการใช้ “กลฉ้อฉล” โดยวิธีปกปิดไม่บอกความจริงเกี่ยวกับบ้านว่าอยู่บนพื้นที่เวนคืน ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการหลงทำสัญญาซื้อบ้านดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561         การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้         จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี         หากขณะทำสัญญาซื้อขาย ผู้ประกอบธุรกิจไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เช่นนี้ ไม่ถือว่าปกปิดข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงไม่ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2537         ในขณะที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เพียงแต่จำเลยทั้งสองพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆ เท่านั้น ทั้งโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องระวังอยู่แล้วการเวนคืนถึงหากจะมีก็ยังไม่เป็นการแน่นอน ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการเวนคืนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งตกอยู่ในเขตที่ดินที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนโดยทุจริตแต่อย่างใดจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 โทรมาชวนให้ทำประกันฟรี แต่เรียกเก็บค่าเบี้ยตอนหลัง

        การทำประกันภัยในรูปแบบต่างๆ ถ้าผู้บริโภคไม่พอใจเงื่อนไขในกรมธรรม์ก็สามารถขอยกเลิกได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่เพื่อไม่ให้ต้องเสียเงิน เวลา และสุขภาพจิตโดยใช่เหตุ ผู้บริโภคควรศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดของกรมธรรม์นั้นๆ ให้รอบคอบก่อนตอบตกลง หรือถ้ามีตัวแทนประกันโทรศัพท์มาชักชวนให้ทำประกันอุบัติเหตุโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย อยากให้เอะใจสักนิด จะได้ไม่โดนหลอกเหมือนคุณพร         เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง คุณพรได้รับโทรศัพท์จากคุณอ้อม ที่แนะนำตัวว่าเป็นตัวแทนขายประกันที่มีใบอนุญาตถูกต้อง จากบริษัทตัวแทนซึ่งเป็นนายหน้าของบริษัทประกันภัยชื่อดัง เธอโทร.มาแนะนำกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล แบบพิเศษพลัส โดยแจ้งว่าเป็นโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้บัตรเครดิตของธนาคารที่คุณพรเป็นลูกค้าอยู่ คุณพรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด พร้อมชี้แจงว่าเป็นประกันอุบัติเหตุที่ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล มีค่ารักษาพยาบาลอุบัติเหตุจ่ายตามจริงครั้งละไม่เกิน 40,000 บาท หากเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุจะได้รับเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท พอฟังจบ คุณพรก็ตอบตกลงไป         คุณพรมารู้ตัวว่าโดนหลอกซะแล้ว เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุฉบับนี้พร้อมกับใบเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันปีละ 9,834 บาท จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า หากตนจะขอยกเลิกกรมธรรม์นี้โดยไม่ให้เสียเปรียบผู้ประกอบการนั้นจะทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณพรต้องทำเรื่องขอยกเลิกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์มา โดยจะต้องทำเป็นหนังสือหรือจดหมายแบบลงทะเบียนตอบรับ พร้อมทั้งแนบสัญญากรมธรรม์นี้ ส่งไปถึงบริษัทประกันภัยที่เป็นคู่กรณี จากนั้นให้ทำสำเนาจดหมายขอยกเลิกสัญญานี้ส่งถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคปภ.ด้วย เมื่อทางบริษัทประกันภัยได้รับหนังสือแล้วจะต้องยกเลิกสัญญากรมธรรม์ให้คุณพรภายใน 30 วัน หากครบกำหนดแล้วบริษัทฯ ยังไม่ยอมยกเลิกสัญญาให้ คุณพรสามารถทำเรื่องร้องเรียนไปยัง คปภ.หรือสายด่วน 1186 ได้ทันที เพื่อให้ทาง คปภ.ดำเนินเรื่องให้ต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2565

นำกัญชา-กัญชงออกนอกประเทศระวังบทลงโทษหนัก        หลังไทยปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” จากยาเสพติดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น นางสาวรัชดา ธนาดิเนก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำต่อประชาชนว่า ห้ามนำ “กัญชา-กัญชง” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการปลดล็อกนี้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น หากจะเดินทางไปต่างประเทศโดยมีส่วนต่างๆ ของกัญญาไว้ครองครองอาจต้องโทษตามกฎหมายประเทศต่างๆ ดังนั้นหากคิดนำออกไปควรตรวจสอบกฎหมายประเทศปลายทางนั้นด้วย         ตัวอย่างประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงในคดีการครอบครองกัญชา กัญชง 1) อินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ จำคุก 5 ปี – ตลอดชีวิต โทษสูงสุดประหารชีวิต 2) ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 7 ปี (กรณีนำเข้า/ส่งออก) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน (กรณีจำหน่าย)  3) เวียดนาม ปรับ 5,000,000 - 500,000,000 เวียดนามด่ง จำคุกตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต 4) เกาหลีใต้ จำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือตลอดชีวิต (กรณีลักลอบนำเข้า) โทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปี (กรณีปลูก/จำหน่าย) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกเนรเทศห้ามเข้าเกาหลีใต้ (กรณีครอบครองหรือเสพ) 5) สิงคโปร์ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีครอบครองหรือเสพ) โทษประหารชีวิต (กรณีลักลอบค้า/นำเข้า/ส่งออก) โทษจำคุก 5-14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ หรือ 6) ออสเตรเลีย โทษจำคุกและปรับ (กรณีนำเข้ากัญชา)  17 รูปแบบ อาชญากรรมทางออนไลน์         พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนภัยต่อประชาชนถึงวิธีการต่างๆ ที่ทางมิจฉาชีพใช้ในการหลอกบนโลกออนไลน์ว่า มี 17 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ 3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ   4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว 6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า 7.ชื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา8.หลอกให้รักแล้วลงทุน 9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล  12.แฮกระบบคอมพิวเตอร์ 13.ล่วงละเมิดทางเพศ 14.ข่าวปลอม 15.แชร์ลูกโซ่ 16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ 17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ ดังนั้นพึงระมัดระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ กทม.เปิดช่องทาง ขอภาพกล้องวงจรปิดได้ 24 ชั่วโมง         นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการขอภาพกล้องวงจรปิดทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง หากประสงค์จะชี้ชัดในกรณีเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามหากต้องการขอไฟล์ภาพกล้องวรจรปิดต้องทำการแจ้งความที่สถานีตำรวจ ณ ที่เกิดเหตุก่อน ถึงจะสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ โดยช่องทางที่ติดต่อขอภาพได้ คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK         เอกสารประกอบการขอรับไฟล์ภาพ 1.บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.หมายเลขกล้องวงจรปิด  4.รายละเอียดวันเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการ เมื่อได้รับเรื่องแล้วทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านทางไลน์ และทางอีเมล์ที่ได้แจ้งไว้กับทางหน่วยงาน  มพบ.เผยศาลปกครองเพิกถอนมติที่ประชุม กทค.ให้กลับไปคิดค่าบริการตามจริง แบบไม่ปัดเศษ         19 กรกฎาคม ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ได้ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องขอให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 11 มกราคม 2560 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่กำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นต่างๆ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด         ทั้งนี้ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ ถือว่าผลคำพิพากษาเป็นแนวทางที่ดีต่อผู้บริโภค ศาลปกครองกลางเห็นถึงปัญหาการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า การคิดค่าบริการต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ไม่ว่าจะมีหน่วยวัดเป็นนาทีหรือวินาทีก็ตาม ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นหน่วยนาทีได้จะต้องครบจำนวน 60 วินาทีเท่านั้น จะใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีไม่ได้ และคำพิพากษาในวันนี้เป็นคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก นิตยสารฉลาดซื้อ รับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”         20 กรกฎาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าร่วมงานรับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ประเภทสื่อออนไลน์ จากกองกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง จัดงานมอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตสื่อคุณภาพ ที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขึ้นรับมอบประกาศนียบัตรโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ในส่วนของสื่อออนไลน์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 255 คนกทมร้อยละ 60.8 ตัดสินใจซื้อรถยนต์จากราคาของรถยนต์ ร้อยละ 75 ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,119 กลุ่มตัวอย่าง                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้กล่าวถึงเหตุผลของการสำรวจครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถิติข้อมูลในปี 2564 ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนมากถึง 8,218 ราย ทำให้เห็นว่าความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากก็คือ รถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของ มาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ ทั้งระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (ACTIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยป้องกัน หรือหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และส่วนระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข (PASSIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยลด หรือหลีกเลี่ยงอันตรายให้แก่ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งรถยนต์ทุกคันควรต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์โดยการกำกับจากหน่วยงานของทางภาครัฐ ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ รวมไปถึงเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องของการรับประกันอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ด้วย         ในกรณีของการรับประกับอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ โดยส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายรถยนต์จะมีเงื่อนไขการรับประกันเอาไว้ให้ ซึ่งจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา อย่างเช่น รับประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร โดยเงื่อนไขนี้หมายความว่า รถยนต์ใหม่จะมีการรับประกันคุณภาพเอาไว้ในระยะทาง 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ถ้าเราใช้รถ 100,001 กิโลเมตรภายใน 1 ปี ก็ถือว่าสิ้นสุดระยะรับประกัน หรือใช้รถเพียง 300 กิโลเมตร แต่เกิน 3 ปี แล้ว การรับประกันก็สิ้นสุดลงเช่นกัน โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่รับรถยนต์และการรับประคุณภาพรถใหม่ โดยมีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ซึ่งกรณีที่กล่าวมานี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อรถยนต์ได้รับการชี้แจงเงื่อนไขจากผู้ขายหรือไม่        การสำรวจในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับคำถามในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ และสอบถามถึงเรื่องของเงื่อนไขการรับประกันด้วยว่าผู้บริโภคในกลุ่มตัวอย่าง กทม. นั้นมีความคิดเห็นเช่นไร ซึ่งพอที่จะสรุปภาพรวมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรถยนต์ประเภท รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) ร้อยละ 33.1 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ร้อยละ 18.1 อันดับที่สาม คือ รถกระบะ (Pick-Up) ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่ คือ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car) ร้อยละ 10.5 และอันดับที่ห้า คือ รถอีโคคาร์ (ECO-Car) ร้อยละ 5.4        ในส่วนของการตัดสินใจซื้อรถยนต์จะพิจารณาจาก ราคาของรถยนต์ ร้อยละ 60.8 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รูปแบบการใช้งานของผู้ซื้อ ร้อยละ 60.1 อันดับที่สาม คือ ยี่ห้อรถยนต์ ร้อยละ 47.3 อันดับที่สี่ คือ รุ่นรถยนต์ ร้อยละ 47.1 และอันดับที่ห้า คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยของรถยนต์ ร้อยละ 33.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า รถยนต์ใหม่ที่ซื้อจะมีเงื่อนไขการรับประกัน โดยจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา  โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ร้อยละ 83.2 ทราบว่า รถยนต์ใหม่จะมีเงื่อนไขการรับประกัน จะเป็นการรับประกันเฉพาะ “ชิ้นส่วนหลัก” ที่ไม่ใช่วัสดุสิ้นเปลือง ร้อยละ 76.3         และทราบว่า การรับประคุณภาพรถใหม่ มีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ร้อยละ 73.5 โดยเคยอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ร้อยละ 72.0             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ที่มีความจำเป็นมากที่สุดคือ             เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 60.9            อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.3            อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 50.0            อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 37.3             และอันดับที่ห้า ระบบควบคุมความเร็ว ร้อยละ 37.1           โดยคิดว่ารถยนต์ควรมีอุปกรณ์ความปลอดภัย เพื่อช่วยให้ปลอดภัยในการขับขี่ มากที่สุดคือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 57.3 อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 56.4 อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 52.7 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 47.7 และอันดับที่ห้า ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 44.0         เมื่อสอบถามความคิดเห็น ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ว่าขึ้นอยู่กับราคารถยนต์ (รถยิ่งแพงมาตรฐานยิ่งสูง) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 61.2 และ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นของรถยนต์ทุกคัน ร้อยละ 75.0 โดยคิดว่าอุปกรณ์มาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีในรถยนต์ทุกคันไม่ว่าราคา รุ่น หรือยี่ห้อใด คือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 59.7 อันดับที่สอง คือ ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 53.4 อันดับที่สาม คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.9 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 52.7 และอันดับที่ห้า ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 51.0 เก็บข้อมูลในวันที่ 17 - 23 กรกฏาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 แก็งเก็บเงินพัสดุปลายทางกำลังระบาด ระวังกันด้วย

        ใครไม่เคยชอปปิ้งออนไลน์นี่ต้องเรียกว่า ใจแข็งมาก เพราะทุกวันนี้การขายสินค้าทางออนไลน์ได้เข้ามาเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของชีวิตไปแล้ว สังเกตได้จากการเติบโตของธุรกิจการรับขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายเจ้ามากที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ ถ้าใครอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน ก็คงสังเกตได้ถึงรถมอเตอร์ไซต์ที่วิ่งเข้าออกซอยนั้นซอยนี้ เพื่อส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค แน่นอนว่ามันก็เป็นโอกาสด้วยเช่นกันที่มิจฉาชีพจะใช้ช่องทางนี้ทำมาหากินเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่กำลังเป็นข่าวคราวอยู่ในเวลานี้คือ การส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง หรือ ที่เรียกว่า COD (Cash on Delivery)         คุณปลาย ซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณอายุแต่ยังคงมีบทบาทหน้าที่ในด้านการให้คำปรึกษากับหน่วยงานบางแห่งอยู่ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เล่าเรื่องที่ตนเองก็พลาดเหมือนกันกับเจ้า COD นี้ ดังนั้นจึงอยากให้ทาง มพบ.นำมาเตือนผู้บริโภค         วันหนึ่งมีพนักงานบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งนำพัสดุแบบ COD มาส่ง ซึ่งคุณปลายก็รับไว้เพราะราคาที่แจ้งเก็บเงินนั้นตรงกันพอดีกับสินค้าที่สั่งซื้อไป ยอมรับเลยว่า “ตนเองไม่ได้พิจารณาให้ดีก่อน พอได้สินค้ามาก็สเปรย์แอลกอฮอล์ที่กล่องสินค้าไว้ก่อนวางทิ้งหนึ่งคืน” ต่อเมื่อแกะสินค้าดูจึงพบว่า ไม่ใช่สินค้าที่สั่ง         คุณปลายจึงลองติดต่อกับบริษัทขนส่งเพราะต้องการทราบรายละเอียดว่า ผู้ที่นำสินค้ามาส่งและเก็บเงินตนเองไปนั้นเป็นใคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ข้อมูลอะไร ทำให้สงสัยว่าทำไม มิจฉาชีพรายนี้จึงมาส่งถูกและเก็บเงินได้ตรงกับสินค้าที่ตนเองสั่งพอดีขนาดนั้น จึงโทรไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเกรงว่า ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรของคุณปลายอาจหลุดไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งสินค้าผิดกฎหมายก็เป็นได้ ซึ่งคุณเจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าแค่ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรไม่น่าจะเป็นอะไร และต่อไปหากมีพัสดุน่าสงสัยมาส่ง หรือเกิดกรณีแบบนี้อีกก็ให้โทรแจ้งทาง สน. ซึ่งจะส่งสายตรวจมาช่วยดูแลให้ นี่ก็ขอบใจทั้งบริษัทขนส่งและทาง สน.ไปแล้ว ส่วนเรื่องเงิน ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะราคาไม่สูง แต่ก็อยากฝากเตือนทุกคนไว้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขออนุญาตนำข้อมูลของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) มาแจ้งเตือนผู้บริโภค ดังนี้        วิธีป้องกันไม่ให้สูญเงินกับพัสดุเก็บเงินปลายทางที่คุณไม่ได้สั่ง         ทำไมมิจฉาชีพ ถึงรู้ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของเรา ในการส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง        1. ทำเว็บไซต์หลอกขึ้น เช่น เปิดรับสมัครงาน รายได้ดี ใครสนใจกรอกข้อมูลตามลิงก์นี้ โดยให้ใส่ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน,ที่อยู่, อายุ, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทร และเลขที่บัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้จากการให้กรอกเลขที่บัญชีธนาคาร ทั้งที่ยังไม่ได้รับเข้าทำงาน ยังไม่ได้จ่ายเงินเดือน        2. เปิดเฟซบุ๊กโพสต์สินค้าประเภทพรีออเดอร์ ของพรีเมียม สินค้าราคาพิเศษ แล้วให้กรอกชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่ และ เบอร์โทร. เพื่อใช้สิทธิ์จองสินค้า ซึ่งสังเกตได้จากการออกอุบายจ่ายเงินเมื่อของมาถึง ทำให้เราตายใจว่ายังไม่ต้องเสียเงิน แต่เสียข้อมูลส่วนตัวไปให้แล้ว        3. เป็นไปได้ที่ข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ จะรั่วไหลจากบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการค้าขาย หรือบริษัทด้านการขนส่ง ที่อาจจะมีพนักงานของบริษัทเหล่านี้ ลักลอบนำข้อมูลลูกค้าออกไป.วิธีป้องกัน        1. ก่อนจ่ายเงินค่าพัสดุเก็บเงินปลายทาง กรณีรับพัสดุแทน ญาติ เพื่อน หรือ คนรู้จัก ให้โทรสอบถามเจ้าตัวว่า ได้โทรสั่งสินค้าเรียกเก็บเงินปลายทาง จริงหรือไม่ ต้องจ่ายเงินเท่าไร        2. ดูบนกล่องพัสดุ จะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรผู้ส่ง ให้โทรกลับไปตรวจสอบว่า ส่งอะไรมาให้ มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่เมื่อโทรกลับจะติดต่อไม่ได้ เพราะเป็นเบอร์โทรปลอม.ที่มา : ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร)         บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) คือตัวเลือกการชำระเงินรูปแบบหนึ่ง ที่ลูกค้าจะชำระเงินก็ต่อเมื่อพัสดุที่สั่งไปจัดส่งถึงมือลูกค้าแล้วเท่านั้น และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็จะได้รับเงินค่าสินค้าหลังจากลูกค้าชำระเงินกับบริษัทขนส่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทขนส่งแต่ละเจ้าจะคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ซื้อไข่จากห้างใหญ่มาพบว่า เน่ายกแผง

        “เราจะ​ไม่​ซื้อ​อาหาร​ตาม​ร้าน​ค้า​ทั่วๆ​ ไป​ที่​ไม่ได้มาตรฐาน​ความ​ปลอด​ภัย​ค่ะ และเรา​ก็เชื่อ​มั่น​​เสมอ​ว่าจะ​ได้สินค้า​ที่ดี​จากห้างนี้ค่ะ”         คุณแพรวคิดแบบนี้มาตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะมา​เป็นสมาชิก​ของห้างค้าปลีกแห่งนี้ซะอีก จนกระทั่งความไว้เนื้อเชื่อใจนี้เองที่ทำให้เธอต้องซื้อ”ไข่เน่ายกแผง” กลับมาบ้าน         คุณแพรวเล่าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า  ครอบครัว​เธอ​เป็น​ลูกค้า​ประจําที่ห้างค้าปลีกใหญ่ในกรุงเทพฯ​ นี้ โดยทุกอาทิตย์จะต้องไปจับจ่ายซื้อ​ของ​สดของแห้งเข้า​บ้าน​ วันเกิดเหตุนั้นเธอหยิบไข่ 1 แผง มี 30 ฟอง ใส่รถเข็นรวมไปกับของอื่นๆ โดยไม่ได้พิเคราะห์อะไรมากเพราะ​​เชื่อ​ใจ​ใน​มาตรฐาน​ด้าน​ความ​สด​ ใหม่​ สะ​อาด​ ใน​สินค้า​​ห้างนี้อยู่แล้ว ​ก็เลยไม่ได้ตรวจ​เช็กอะไรมากนัก ​แต่เมื่อกลับถึงบ้านพอเปิดฝาครอบแผงไข่ออกมาก็ได้กลิ่นเหม็นมาก แล้วก็ต้องผงะตกใจกับกองทัพ​หนอน​ไต่​ยั้วเยี้ย​อยู่ในไข่เน่าแผงนั้น เธอจึงรีบนำไปทิ้ง จนลืมดูวันหมดอายุที่ติดอยู่บนฝาครอบนั้นไปด้วย           ถึงจะเสียความมั่นใจไปบ้าง แต่คุณแพรวคิดว่าต้องมีความรับผิดชอบจากผู้ขายนะ เธอจึงรีบโทรศัพท์​ไปตามเบอร์ของ​สาขา​ที่​ให้​ไว้​บน​ใบ​เสร็จทันที แต่...ไม่มีใครรับสาย ก็เลยไปค้นหาเฟซบุ๊ก​ของห้างใหญ่​สาขาที่ประสบปัญหา​นี้​ เจอแล้ว ทักแล้ว แต่...ไม่มี​แอด​มิ​นเพจ​ทํางาน ​ในที่สุดเธอก็ขวนขวายจนหาเบอร์ติด​ต่อเพื่อร้องเรียนได้ที่ 1756 ซึ่งพนักงานคอลเซนเตอร์​ได้รับ​เรื่อง​​ไว้และแจ้งคุณแพรวว่า “จะประสาน​ไป​ที่​สา​ขาให้นะคะ​ คุณลูกค้ารอเลยค่ะจะ​มี​เจ้าหน้าที่​ติดต่อ​กลับ​แน่นอน” ทว่าสิ่งที่ได้ในวันนั้นคือความเงียบจากห้าง เหลือเพียงความเดือดเนื้อร้อนใจของคุณแพรวเท่านั้น​ ​         อย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้น​ พนักงาน​ประจําสาขาห้างค้าปลีกนี้​ติดต่อ​​มาบอกว่า ไข่แผงนั้นน่า​จะหลุด QC ​ให้เธอนําไข่มา​เปลี่ยน​คืน​หรือ​จะ​รับ​เงิน​คืน​ก็​ได้ แต่คุณแพรว​แจ้ง​​ไป​ว่า​ไม่สะดวก​ เพราะเธอเพิ่งกลับจากขับรถออกไปซื้อไข่จากห้างอื่นมาเอง พนักงาน​เลย​บอก​ว่า​ถ้างั้นวัน​ไหนเธอจะ​เข้า​มา​ให้โทร.​แจ้ง​ก่อน​แล้ว​จะชดเชยให้เธอด้วยไข่แผงใหม่กลับ​ไป​         คุณแพรวจึงเขียนเล่าเรื่องนี้มาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้คือสินค้า​ที่​ซื้อ​มาอาจหมด​อายุ​หรือ​มี​สิ่ง​แปลก​ปลอม​ สิ่งแรกที่ต้องทำคือถ่าย​รูปตัวสินค้าและฉลาก​(​เน้นวัน​ผลิต​-วัน​หมด​อายุ)​ ​เก็บ​บรรจุ​ภัณฑ์ของ​สินค้า​และ​ใบ​เสร็จ​จาก​ร้าน​ที่​ซื้อ​ไว้เป็น​หลักฐาน​ (ถ่าย​สําเนา​​เก็บ​ไว้​ด้วย​) จากนั้นติดต่อ​ร้าน​ที่​ซื้อ​มา​และ​แจ้งว่าเราต้องการ​ให้​เขา​ดําเนิน​การ​อย่าง​ไร​ เพื่อ​แก้ไข​ปัญหา​พร้อม​ชด​เชย​ เยียวยาความ​เสีย​หาย​ที่​เกิด​ขึ้น​ เช่น ขอ​เปลี่ยน​สิน​ค้า ขอ​เงิน​คืน ขอให้จ่าย​ค่า​เสีย​เวลา​ ค่า​ขาด​ประ​โยชน์​ และ​ค่า​ใช้จ่าย​ใน​การ​ติดต่อ​กับ​ผู้ประกอบ​การ แนะนำให้​ทําเป็นหนังสือ​ชี้แจง​เหตุ​ของ​สิ่ง​ผิด​ปกติ​และควรขอให้แสดงคำ​ขอโทษ​ต่อผู้​เสีย​หาย​และ​สา​ธารณะ​ เป็น​ต้น แต่หาก​ตกลงกันไม่ได้​ ให้​ทําหนังสือ​ยื่น​กับ​ผู้ประกอบ​การ​ เล่า​สรุป​ปัญหา​ที่​พบ​ พร้อม​ข้อ​เรียก​ร้อง​ โดย​ส่ง​ถึง “​เจ้าของ​ร้าน​ค้า” หรือกรณีนี้คือผู้บริหารห้างค้าปลีกดังกล่าว ซึ่งขณะนี้คุณแพรวกำลังพิจารณาว่าตนเองต้องการให้ทางห้างชดเชยอย่างไรเพื่อส่งเป็นข้อเสนอกลับไป         จากกรณีนี้ขอแนะนำว่า แม้มั่นใจกันมากแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่ซื้อสินค้า ผู้บริโภคก็ควรพิจารณาสินค้าให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะสิ่งที่สามารถมองเห็นหรือจับสังเกตได้ง่าย ถ้าพบเจอขณะซื้อสินค้าควรรีบแจ้งให้ทางร้านค้าดำเนินการจัดเก็บออกไปจากชั้นวาง แต่หากเผลอซื้อมาแล้ว ผู้บริโภคต้อง​เก็บ​ใบเสร็จรับ​เงิน​ไว้ เผื่อใช้​เป็น​หลัก​ฐาน​ยืนยัน​การ​ซื้อ​และ​ระบุตัว​ตนได้ว่า​เป็น​ผู้​เสีย​หาย ซึ่งทางร้านค้าก็ยากจะปฏิเสธความรับผิดชอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ไม่ครบตามจำนวน

        หลายๆ บ้าน น่าจะสนิทกับบริษัทขนส่งของ เพราะว่าช่วงนี้คงจะมีของมาส่งที่บ้านอยู่ไม่น้อย เพราะว่าช่วงโควิด 19 หลายบ้านน่าจะสั่งสินค้าออนไลน์กันบ่อยๆ มาดูกันว่าถ้ามีปัญหาจากกันสั่งสินค้าออนไลน์ เราจะสามารถจัดการปัญหาอย่างไรได้บ้าง         ช่วงสถานการณ์โควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ATK (ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง) เป็นที่ต้องการอย่างมาก คุณบุปผาได้สั่งซื้อ ATK จากเพจเฟสบุ๊กชื่อ แหล่งรวมความถูกที่สุด ชุดละ 37 บาท จำนวน 20 ชุด เป็นเงินจำนวน 790 บาท โดยเขาจ่ายเงินค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง เมื่อสินค้ามาส่งเขาไม่ได้อยู่บ้าน คนที่บ้านรับไว้ให้ และได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบริษัทขนส่งไป แต่เมื่อเขากลับมาเปิดกล่องสินค้าพบว่า มี ATK แค่ 12 ชุด ขาดไป 8 ชุด เขารีบติดต่อไปที่เพจที่สั่งสินค้ามา แต่เพจไม่ยอมตอบกลับเขาและแสดงความรับผิดชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การสั่งสินค้าออนไลน์ โดยการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง (COD) เมื่อตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่า สินค้าได้ไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ สามารถแจ้งไปยังบริษัทขนส่งเพื่อให้ระงับเงินโอนไปยังผู้ขายได้ โดยทำผ่านแอปพลิเคชัน หรือโทรศัพท์ หรือสำนักงานสาขาก็ได้ หลังจากนั้นบริษัทจะติดต่อไปยังผู้ขายให้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ซื้อยาทางไลน์กับร้านยาแต่ไม่ได้ของ

        คุณยุเป็นลูกค้าประจำของร้านยาที่จำหน่ายยาในบริเวณตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แน่นอนว่าเป็นร้านยาขนาดใหญ่ขายยาราคาไม่แพงและครอบคลุมหลายชนิด ปกติเธอเดินเข้าออกร้านเพื่อซื้อยาทุกรอบสองสามเดือน ต่อมาช่วงโควิดระบาดหนักเข้า ทางร้านแจ้งทางไลน์กลุ่มว่า สามารถสั่งซื้อยาทางไลน์และรอรับยาที่บ้านได้เลย ทางร้านจะส่งผ่านบริษัทขนส่งไปให้ ไม่ต้องเดินทางมาที่ร้านซึ่งเสี่ยงภัย คุณยุจึงทดลองสั่งยากับทางร้านเป็นจำนวนเงิน ราว 4,000 บาท        รอสินค้าอยู่ประมาณสองอาทิตย์คุณยุก็ยังไม่ได้รับยาตามสั่งซื้อ จึงติดต่อกลับมาทางร้าน ซึ่งเธอบ่นว่า ร้านแทบไม่ยอมรับสายเธอเลย เหมือนปิดการสื่อสารไป จนเธอต้องใช้วิธีใช้เบอร์อื่นโทรเข้าร้านยา ทางร้านจึงยอมรับสาย เมื่อเธอทวงถามสินค้า ทางร้านบอกว่าจัดส่งไปแล้วกับบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการรับประกันว่าหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับจะเงินชดเชยความเสียหายหรือค่าประกันสินค้าให้ แต่คุณยุต้องเอาเลขที่พัสดุไปติดตามเอง โดยทางร้านอ้างว่า บริษัทขนส่งแจ้งมาว่ามีผู้เซ็นชื่อรับสินค้าไปแล้ว           จุดหงุดหงิดอยู่ตรงนี้เอง คุณยุไม่คิดว่าทางร้านยาจะปัดความรับผิดชอบโยนภาระการติดตามสินค้าให้กับผู้บริโภค เธอจ่ายเงินให้ทางร้านยา แต่เมื่อสินค้าไม่ถึงมือเธอกลับต้องเป็นคนไปติดตามเรื่องเอง เรื่องนี้คือสิ่งที่เธอสอบถามมายังมูลนิธิฯ ว่าเรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของร้านหรือเธอ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้คุณยุได้พยายามนำเลขพัสดุไปติดตามกับบริษัทขนส่งเอง ได้รับคำตอบว่า พนักงานที่อ้างว่ามีผู้รับสินค้าไปแล้วนั้น ได้ลาออกไปแล้ว ทางบริษัทขนส่งจะติดตามเรื่องให้และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน หากเกิดจากความผิดพลาดของบริษัท จะมีการชดเชยเงินให้กับทางผู้ร้องตามเงื่อนไข         ส่วนกรณีเรื่องความรับผิดชอบ โดยทั่วไปทางร้านหรือผู้ขายควรเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามสินค้าให้แก่ผู้ซื้อถือเป็นบริการหลังการขาย อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าเมื่อสินค้าถึงส่งเข้าระบบของบริษัทขนส่ง ความรับผิดชอบส่วนนี้จะตกเป็นของบริษัทขนส่งที่ต้องรับผิดชอบชดเชยหากสินค้าไม่ถึงมือผู้รับ         แต่จุดที่น่าสนใจของกรณีการร้องเรียนนี้คือ  ยา จัดเป็นสินค้าพิเศษมีกฎหมายควบคุมเฉพาะ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ร้านยาไม่สามารถขายยาผ่านทางไลน์หรือช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภายในร้านยา(สถานที่ที่ได้รับอนุญาต) ได้ เพราะเจตนาของกฎหมายคือ ต้องการให้ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำให้กับผู้บริโภค การขายยาอันตรายโดยรับขายไลน์และส่งทางไปรษณีย์ ถือว่าผิดกฎหมาย  ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะได้นำเรื่องนี้แจ้งต่อทางหน่วยงานกำกับดูแลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 น้ำส้มกล่องหมดอายุ

        มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เราก็สะดวกด้วย อยากได้อะไรก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย แต่บางทีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว อาจไม่ได้หมายถึงว่า เราควรจะวางใจจนไม่รอบคอบ ทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ เรามาดูกรณีนี้กัน         ภูผา อยากดื่มน้ำส้มหวานๆ เย็นๆ ให้ชื่นใจสำหรับหน้าร้อนอันแสนทรมาน จึงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อระหว่างเดินไปทำงาน ด้วยความรีบ (เพราะสายแล้ว) เขาเดินปรี่เข้าไปหยิบน้ำส้มในตู้แช่มา 1 กล่อง แล้วรีบไปจ่ายเงินโดยความรวดเร็ว พอถึงสำนักงานหลังจากสแกนนิ้วเข้าสถานที่ทำงานได้เรียบร้อย ก็เจาะกล่องน้ำส้มดูดอย่างว่องไว แต่แล้วก็ต้องหน้าเบ้เพราะพบว่ารสชาติแปลกๆ เขาจึงหมุนกล่องไปดูวันหมดอายุที่นี้แหละรู้เลยว่าทำไม น้ำส้มถึงรสชาติแปลกๆ นั่นก็เพราะว่า น้ำส้มกล่องนี้หมดอายุไปแล้ว 2 วัน “อ้าว หมดอายุแล้วเอามาวางขายได้ไง”  ภูผาไม่เข้าใจว่าทำไมร้านสะดวกซื้อถึงเอาสินค้าหมดอายุมาขายให้เขา ร้านสะดวกซื้อน่าจะตรวจสอบให้ดีกว่านี้นะ ออกจะเป็นร้านมากสาขาใหญ่เสียขนาดนั้น แม้ราคาน้ำส้มกล่องไม่กี่บาท แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างไหม เพราะว่าไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป จึงมาขอคำปรึกษามูลนิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปกล่องน้ำส้ม ถ่ายให้เห็นฉลากสินค้าวันผลิต – วันหมดอายุ ล็อตการผลิต พร้อมเก็บกล่องน้ำส้มและใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วยป้องกันใบเสร็จลบเลือน)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจบริเวณใกล้ที่ทำงาน เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อร้านสะดวกซื้อที่ซื้อน้ำส้มมา ขอให้ทางร้านแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องคิดให้ดีว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา, ค่าขาดประโยชน์, ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ถ้าไม่สามารถตกลงกับร้านสะดวกซื้อสาขาที่เกิดเหตุได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับบริษัท (สำนักงานใหญ่) โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า        กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนคนอื่น แต่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถ

ในการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ แน่นอนว่าประวัติทางการเงินของผู้เช่าซื้อก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะนำมาพิจารณา หากประวัติไม่ดี บริษัทหรือสถาบันการเงินอาจจะพิจารณาไม่อนุมัติการเช่าซื้อรถยนต์ของผู้เช่าซื้อได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้แล้ว ผู้เช่าซื้อจะไปหาบุคคลอื่นที่มีประวัติการทางด้านการเงินดีกว่าตน มาเป็นผู้เช่าซื้อแทน ที่เห็นกันอยู่เสมอคือคนใกล้ชิดหรือใช้บุคคลในครอบครัวมาทำสัญญาเช่าซื้อ เช่น คนเป็นแฟนกัน หรือพี่น้องกัน ก็ ทำให้การทำสัญญาเช่าซื้อไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะผู้เช่าซื้อในสัญญา ไม่ใช่ผู้เช่าซื้อตัวจริง         ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ ผู้เช่าซื้อตัวจริงผิดนัดไม่จ่ายเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญา ผู้เช่าซื้อที่มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อจึงถูกทวงถามจากบริษัทหรือธนาคารที่เช่าซื้อหรือให้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืน  เช่นนี้เองผู้เช่าซื้อ (ตามสัญญา) จึงไปเอารถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เช่าซื้อ (ตัวจริง) โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เช่าซื้อที่แท้จริง กลายเป็นปัญหาว่า การกระทำของผู้เช่าซื้อตามสัญญาจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่        เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดเรื่องราวจนฟ้องร้องกันถึงศาลฏีกา ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้น ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้อง เพราะมองว่าผู้เช่าซื้อที่ทำสัญญาเช่าซื้อ ไม่มีเจตนาทุจริต  การกระทำจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ศาลฏีกาพิพากษากลับให้ผู้เช่าซื้อมีความผิดฐานลักทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยคือผู้เช่าซื้อผู้มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตัวจริง เพื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 2 ตกลงจะชำระเงิน 50,000 บาท แก่จำเลยแล้วให้จำเลยคืนรถที่เช่าซื้อแก่ผู้เสียหายที่ 2 ที่บริษัทผู้จำหน่าย และเมื่อถึงวันเวลานัด จำเลยขับรถที่เช่าซื้อไปรอผู้เสียหายที่ 2 ก็หาทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่สำเร็จแล้วกลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดไม่         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6117/2562                 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว         ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 สั่งซื้อกางเกงออนไลน์ใส่ไม่ได้เพราะมันคือกางเกงเด็ก

        การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์นั้น แม้จะเลือกซื้อจากเว็บขายสินค้าของบริษัทที่มีชื่อเสียง ก็ยังคงต้องรอบคอบ และอย่ารีบร้อน มิฉะนั้นจะยุ่งยากทั้งการขอเปลี่ยนสินค้าหรือขอเงินคืน        คุณภูผา ท่องเว็บไซต์ขายสินค้าเพราะต้องการหาของขวัญวันเกิดให้พี่สาวคุณบุปผา ทันใดนั้นก็สะดุดตาเข้ากับกางเกงตัวหนึ่ง ที่ปักลายแบบที่คุณพี่สาวชอบ จึงคลิกเข้าไปดูรายละเอียดทันที “แหม ราคาดีมาก” เลยรีบกดสั่งซื้อเนื่องจากทางหน้าเว็บบอกว่า ราคาลดไปถึง 30 %          ภูผาสั่งซื้อด้วยวิธีการเก็บเงินปลายทาง ไม่กี่วันต่อมาเมื่อพนักงานขนส่งนำพัสดุมาให้ ภูผาก็รีบแกะถุงเพื่อเตรียมห่อของขวัญให้คุณพี่สาว “อ้าว นี่มันกางเกงเด็กนี่นา”  จึงรีบโทรศัพท์ไปแจ้งกับคอลเซ็นเตอร์ของเว็บไซต์ที่ขายเสื้อผ้าแห่งนั้น         เขาแจ้งพนักงานว่า การแสดงภาพสินค้าในเว็บไซต์ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่า เป็นกางเกงของเด็ก ไซส์ที่ให้เลือกก็เป็นเบอร์อย่างไซส์ฝรั่ง คือ 2 4 6 8 เขาก็เข้าใจว่าเบอร์ที่เลือกให้พี่สาวคือเบอร์ 6 ต้องพอดีกับพี่สาวแน่ๆ เพราะเป็นไซส์กางเกงที่พี่สาวใส่อยู่ เขาอยากขอเปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แต่พนักงานคอลฯ แจ้งว่า “กางเกงตัวนี้เป็นสินค้าราคาพิเศษไม่สามารถแลกหรือเปลี่ยนคืนเงินได้นะคะ” ภูผาจึงต่อรองขอตนเองลองคุยกับผู้จัดการได้ไหม ตนเองไม่ได้ต้องการเงินคืนแต่อยากขอซื้อสินค้าใหม่แล้วเพิ่มเงินจากยอดเดิมที่จ่ายไปได้ไหม (ก็ชอบกางเกงตัวนี้นะ) พนักงานคอลฯ ก็ตอบเหมือนเดิมว่า เป็นนโยบายของบริษัท ถ้าเป็นสินค้าลดราคา ไม่สามารถเปลี่ยนได้ค่ะ        ภูผาจึงมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองพอจะทำอะไรได้บ้างไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีคุณภูผา ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิได้แนะนำ ให้ทำหนังสือส่งถึงบริษัทเพื่อแจ้งขอคืนเงินพร้อมส่งสินค้าไปยังบริษัทตามสิทธิผู้บริโภคอ้างอิง  พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งคุณภูผาก็ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของมูลนิธิฯ           ต่อมาทางบริษัทได้ติดต่อกลับมาหาคุณภูผาว่า ทางบริษัทจะให้การชดเชยเป็นส่วนลด และลูกค้าสามารถนำส่วนลดนี้กลับมาซื้อสินค้าที่บริษัทใหม่ได้ ทั้งนี้ยังบอกด้วยว่า กางเกงแบบที่คุณภูผาสั่งซื้อมีแบบของผู้ใหญ่ด้วยนะคะ  ลูกค้าใส่กางเกงเบอร์อะไร คุณภูผาจึงตอบไปว่า เบอร์เอสหรือเอ็ม ซึ่งทางบริษัทวางสายไปสักพักและโทรกลับมาใหม่ว่า ไม่มีขนาดที่บอกสินค้าหมด คุณภูผาจึงยืนยันไปว่า ถ้างั้นขอเงินคืน พนักงานบริษัทแจ้งว่า จะต้องนำเรื่องกลับไปขออนุมัติกับหัวหน้าก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ คุณภูผารู้สึกร้อนใจจึงถามกับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ว่า ถ้าบริษัทไม่คืนเงินเราจะทำอะไรเพิ่มได้ไหม         ผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้โดยใช้สิทธิเลิกสัญญา กล่าวคือให้ส่งสินค้าคืนไปยังผู้ประกอบธุรกิจ หรือเก็บสินค้าไว้ภายในระยะเวลา 21 วันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา และจะต้องคืนสินค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้มารับสินค้าที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภค หรือส่งสินค้าคืนทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ตามคำขอของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อซื้อสินค้านั้น เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินเต็มจำนวน ภายในกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา (พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง)         แต่ยังไม่ทันจะเตรียมตัวฟ้องร้อง บริษัทก็โทรมาแจ้งคุณภูผาว่า บริษัทจะคืนเงินให้ เป็นอันว่าจบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 โรลออนทิพย์

        เหตุเกิดที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่สุดในประเทศนี้ หลายครั้งที่การร้องเรียนของผู้บริโภคที่ผูกโยงจากร้านสะดวกซื้อมีความหลากหลาย เป็นสินค้าหมดอายุบ้าง ใช้งานไม่ได้บ้าง ซึ่งผู้บริโภคบางรายก็อาจจะได้รับการเยียวยาจากร้านสะดวกซื้อบ้างแล้ว หรือบางคนก็อาจจะรอไม่ไหวจนปล่อยผ่านไปบ้าง คราวนี้มีผู้บริโภคท่านหนึ่งแจ้งมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ซื้อโรลออนมาแล้วใช้ไม่ได้ ทำอย่างไรดี         คุณวันดีเล่าว่า เธอเดินทางไปที่จังหวัดระยองเพื่อไปสัมมนา ณ เกาะเสม็ด วันนั้นเป็นเช้าที่สดใสเมื่อถึงเวลาออกเดินทางรถก็แล่นไปตามเวลาจนเดินทางไปถึงท่าเรือเพื่อที่จะข้ามฟากไปที่เกาะเสม็ดเพื่อเข้าที่พัก ก่อนจะข้ามฟากเธออยากจะซื้อของใช้ส่วนตัวสักหน่อย ประจวบเหมาะกับที่ท่าเรือมีร้านสะดวกซื้อพอดี จึงเข้าไปในร้านและซื้อโรลออนระงับกลิ่นขนาดกะทัดรัดมา 1 ชิ้น ด้วยไม่แน่ใจว่า ตนเองจัดลงกระเป๋ามาด้วยหรือไม่ ซื้อเผื่อไว้ก็ไม่เสียหาย จ่ายเงินแล้วเพื่อนก็เร่งให้รีบไปขึ้นเรือ         เมื่อข้ามเรือไปเสม็ดและเข้าที่พักแล้ว ตอนที่อาบน้ำเสร็จคิดที่จะใช้โรลออนเสียหน่อย ปรากฏว่าโรลออนที่ซื้อมามันใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ยังไงล่ะ? คือ เจ้าโรลออนตัวนี้มันมีแค่ขวดโรลออนลูกกลิ้ง แต่ไม่มี “เนื้อครีมข้างใน” เอาง่ายๆ มันมีแต่ขวดนั่นเอง         คุณวันดีต้องหาซื้อจากร้านค้าบนเกาะแทน และสัมมนาอย่างเข้มข้นโดยลืมเรื่องดังกล่าวไป แต่มาเจอเจ้าขวดเปล่านี้อีกครั้งตอนเก็บเสื้อผ้าจากกระเป๋าเมื่อกลับมาถึงบ้านที่กรุงเทพฯ แล้ว ทำไงดีรู้สึกไม่ถูกต้องหากจะปล่อยเรื่องไป เงินก็อยากได้คืน แต่ก็ไม่สะดวกที่จะกลับเอาสินค้าไปเปลี่ยนที่ร้านสะดวกซื้อสาขาเดิม จึงขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดี   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้โทรศัพท์ไปแจ้งเรื่องกับทางร้านค้าสะดวกซื้อผ่านคอลเซนเตอร์ (ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์) ซึ่งทางคอลเซนเตอร์รับเรื่องไว้และแจ้งว่าจะประสานงานให้ทางสาขาดังกล่าวคืนเงินให้กับลูกค้า ต่อมาทางสาขาที่มีสินค้าโรลออนทิพย์นี้ได้ติดต่อกลับมาเพื่อคืนเงินให้ ทั้งนี้โชคดีที่คุณวันดียังเก็บใบเสร็จไว้ จึงมีหลักฐานว่าได้ซื้อสินค้านี้จริง เมื่อทางร้านสะดวกซื้อได้โอนเงินคืนคุณวันดีเรียบร้อย คุณวันดีก็สบายใจ  ดังนั้นมีเหตุการณ์เข้าข่ายนี้ให้รีบติดต่อฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของร้านสะดวกซื้อ อย่างไรก็ตามใบเสร็จคือหลักฐานสำคัญอย่าเพิ่งรีบทิ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ซื้อบ้านในโครงการ และอยากรื้อรั้วของโครงการเพื่อขยายที่ดินทำได้ไหม

        หลายคนคงเคยเจอปัญหาจากการซื้อบ้านจัดสรร ทั้งปัญหาข้อพิพาทเรื่องการใช้สิทธิในถนน และที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคของโครงการอยู่ เช่นเมื่อที่ดินมีราคาสูงขึ้น เจ้าของโครงการบางแห่งกลับนำส่วนที่เป็นถนนหรือสาธารณูปโภคไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทำให้เกิดข้อพิพาทตามมาในเรื่องของกรรมสิทธิ์หรือการใช้สิทธิที่ดินดังกล่าว หรือบางกรณีมีปัญหาการใช้สิทธิในถนนของโครงการ ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันจนคดีถึงศาลฎีกา         มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องของเจ้าของบ้านหลังหนึ่งซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับรั้วหมู่บ้าน เเล้วจะขอรื้อรั้วหมู่บ้านเพื่อล้อมใหม่ เเต่ผู้จัดสรรไม่ยอม เจ้าของบ้านจึงฟ้องผู้จัดสรรที่ดิน ซึ่งต่อมาเรื่องก็ไปจบที่ศาลฏีกา โดยศาลได้ตัดสินว่าเจ้าของบ้าน รื้อรั้วของหมู่บ้านจัดสรรมิได้  คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7800/2552  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7800/2552         หมู่บ้านจัดสรรของจำเลยได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย แสดงว่ามีการจัดทำแผนผังโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินหรือประโยชน์เกี่ยวกับสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม การจราจร ความปลอดภัย การสาธารณูปโภค และการผังเมือง มีหลักเกณฑ์และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการและได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้ว สิ่งก่อสร้าง ถนน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินดังกล่าวนี้ ย่อมถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน บุคคลใดจะทำให้เสื่อมค่าทำให้ขาดประโยชน์ หรือผิดแผกไปจากที่ได้รับอนุญาตแล้วมิได้ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจัดสรรโฉนดเลขที่ 6516 พร้อมบ้านจากโครงการของจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 911 จากผู้มีชื่อ อันเป็นที่ดินนอกโครงการจัดสรรและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่มีอาณาเขตด้านหนึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 6516 โจทก์ประสงค์จะรื้อรั้วด้านที่ติดกันออก แล้วกั้นรั้วใหม่ให้เป็นผืนเดียวกันและถมที่ดินให้มีระดับเสมอกัน แต่จำเลยห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองรื้อรั้วและใช้ทางเพื่อประโยชน์ของที่ดินโฉนดเลขที่ 911 เห็นว่า รั้วและทางเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรจัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ผู้ใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือก่อให้เพิ่มภาระผูกพันโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิรื้อรั้วและใช้ถนนหมู่บ้านเพื่อประโยชน์ของที่ดินโจทก์ทั้งสองที่อยู่นอกหมู่บ้านจัดสรรได้         จากคำพิพากษาของศาลฏีกา จะเห็นได้ว่า “รั้วและทาง” ถือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และนิยามคำว่า “สาธารณูปโภค” ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หมายถึง“สิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสัญญาหรือตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต” เมื่อกฎหมายต้องการให้รั้วและทางเป็นของใช้ร่วมกัน ดังนั้น แม้การรื้อรั้วอย่างกรณีตามคดีนี้จะไม่กระทบใคร แต่เมื่อรั้วและทางถือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภค แม้เป็นผู้ซื้อบ้านในโครงการก็ไม่สามารถที่จะนำสาธารณูปโภคใดๆ ก็ตามมาเป็นของส่วนตัวได้ เพราะเป็นของใช้ส่วนรวมของทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ฝากไว้ให้คิดการซื้อซิมมือถือจากร้านสะดวกซื้อ

        เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณเอนกได้แจ้งข้อความมาที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ที่ consumerthai.org ว่า ตนเองได้สั่งซื้อซิมทรูมูฟเอชจาก  7- 11 Dilivery สาขามวกเหล็ก-เขาใหญ่ ซึ่งซิมมือถือนั้น จะยังไม่สามารถใช้งานได้ หากไม่มีการลงทะเบียน         แต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน คุณเอนกนำซิมที่ได้รับ ไปที่ร้านเซเว่นสาขาดังกล่าวเพื่อลงทะเบียน ปรากฏว่า พนักงานแจ้งว่า ซิมนี้ได้มีการลงทะเบียนแล้ว ขณะนั้นผู้ร้องไม่ได้นึกสงสัย เพราะคิดไป (เอง) ว่า คงเนื่องจากทางร้านค้าหรือ 7- 11 Dilivery อาจจะมีข้อมูลของผู้ร้องอยู่แล้วผ่านระบบ All Member จึงอำนวยความสะดวกโดยทำการลงทะเบียนให้เรียบร้อย พอคิดไปเช่นนั้นก็เลยทำให้เผลอประมาทไม่ได้ถามไถ่ให้เรียบร้อยว่าชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนนั้นเป็นชื่อของตนเองหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นชื่อตัวเองแล้วและทางพนักงานเซเว่นก็ไม่ได้ช่วยบอกอะไรนอกจากบอกว่า ซิมลงทะเบียนแล้ว ผู้ร้องจึงใช้ซิมดังกล่าวมาโดยตลอดกว่า 5 เดือน         จนเข้าตุลาคม 2564 ผู้ร้องซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่จึงโหลดแอพพลิเคชัน TRUE 4 U มาโดยแอพดังกล่าวเป็นแอพเฉพะสำหรับผูกกับเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะสามารถสะสมแต้มเพื่อแลกและลุ้นรางวัลต่างๆได้ คราวนี้เมื่อผู้ร้องเช็ครายละเอียดเจ้าของบัญชีปรากฏว่า อ้าว ! ไม่ใช่ชื่อเรานะที่เป็นผู้ลงทะเบียนซิมนี้ โดยชื่อผู้ลงทะเบียนกลายเป็นชื่อใครก็ไม่รู้ ที่คุณเอนกไม่รู้จัก เป็นเรื่องแล้วงานนี้        คุณเอนกจึงรีบไปที่เซเว่นสาขาที่ซื้อซิม  แต่ทางพนักงานบ่ายเบี่ยงไม่ตอบปัญหา ไม่แก้ปัญหา แจ้งให้ผู้ร้องไปติดต่อที่ศูนย์ทรูช้อปเอง ผู้ร้องจึงไปศูนย์ทรูสาขาเซนทรัล ปิ่นเกล้า เพื่อขอข้อมูลและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดให้พนักงานทราบ แต่ทางพนักงานไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ร้องได้เนื่องจากชื่อที่ใช้ลงทะเบียนไม่ได้เป็นชื่อผู้ร้อง โชคดีที่ผู้ร้องยังเก็บซองซิมไว้  จึงนำซองไปติดต่อเซเว่นอีกรอบเพื่อยืนยันว่าได้มีการซื้อซิมหมายเลขดังกล่าวจริง         คราวนี้พนักงานได้โทรศัพท์มาขอโทษและแจ้งว่าจะทำการติดต่อไปที่ศูนย์ทรูเพื่อระงับหมายเลขดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันซิมดังกล่าวก็ยังไม่ถูกระงับ ผู้ร้องจึงตัดสินใจจะไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการให้ทางร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางผู้ร้องแจ้งว่าขณะนี้กำลังเจรจากับทางร้านสะดวกซื้ออยู่ ที่ส่งเรื่องเข้ามาเพื่อให้ทางมูลนิธิฯ ได้นำเรื่องของตนมาเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น ให้รอบคอบอย่าเผลอคิดไปเองอย่างที่เกิดขึ้นกับตน  

อ่านเพิ่มเติม >