ฉบับที่ 157 กระแสต่างแดน

รถยนต์ความเสี่ยงสูง ข่าวนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในอินเดียไม่น้อย เมื่อองค์กรทดสอบรถยนต์ Global NCAP ได้ทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดียจำนวน 5 รุ่น และพบว่าระดับคะแนนความปลอดภัยของทุกรุ่นเท่ากับ ... 0 ดาว (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) เขาทดสอบด้วยการชนด้านหน้า ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยรถรุ่นพื้นฐาน (ซึ่งไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย) เขาพบว่าโครงสร้างของ Suzuki Maruti Alto 800 / Tata Nano และ Hyundai i10 มีความปลอดภัยต่ำเสียจนกระทั่งแม้จะมีถุงลมนิรภัยก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บสาหัสจากการชนได้ ส่วนอีก 2 รุ่นคือ Ford Figo และ Volkswagen Polo นั้น ยังพอทำเนาตรงที่มีโครงสร้างแข็งแรงกว่า และการติดตั้งถุงลมนิรภัยก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นได้ (หลังการทดสอบครั้งนี้ Volkswagen ประกาศเลิกขายรุ่นที่ไม่ทีถุงลมนิรภัย) Max Mosley ประธาน Global NCAP กล่าวว่าขณะนี้ระบบความปลอดภัยของรถยนต์อินเดียยังล้าหลังยุโรปหรืออเมริกาอยู่ถึง 20 ปี อีกครั้งที่ประชากรของประเทศที่สามารถผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก กลับต้องขับรถยนต์ตกมาตรฐานอยู่ในบ้านตัวเอง ปีที่ผ่านมา รถยอดนิยมทั้ง 5 รุ่นมียอดขายรวมกันเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในอินเดีย     เลือกกินไม่ได้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าความหลากหลายของการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงศตวรรษที่ 20 ลดลงไปถึงร้อยละ 75 และยิ่งไปกว่านั้น 1ใน 3 ของความหลากหลายที่เหลืออยู่ ณ วันนี้อาจจะหายไปภายในปี 2050 ด้วย ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอาหารการกินของผู้คนในโลกเปลี่ยนไป และโลกาภิวัฒน์ด้านอาหารก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ต่างถิ่นกันบริโภคอาหารที่เหมือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้พลังงานสูงอย่าง ข้าว มันฝรั่ง อ้อย และข้าวสาลี (อย่างหลังนี้เป็นหนึ่งในอาหารหลักในร้อยละ 97 ของประเทศทั่วโลก)  และพืชที่ไม่เคยมีความสำคัญเลยเมื่อ 50 ปีก่อนก็กลับมีความสำคัญขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารใน 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้พืชเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความหิวโหยของประชากรโลกได้ แต่การบริโภคพืชที่ให้พลังงานสูงเป็นหลักก็เป็นสาเหตุของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเช่นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่นับว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นเสี่ยงต่อความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช และโรคต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และพันธุ์พืชบางชนิดยังถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่ราย ซึ่งนิยมลงทุนในพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์อีกด้วย ทางเลือกในการกินของเราจึงถูกจำกัดด้วยประการฉะนี้     “มีฉลากก็ไม่ช่วย” ภายใต้กฎหมาย Affordable Care Act ของอเมริกานั้น ผู้ประกอบการตู้ขายอาหารอัตโนมัติหยอดเหรียญจะต้องติดฉลากโภชนาการแสดงปริมาณแคลอรี่ ไว้ในบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่วางอาหาร(ขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม) กฎหมายที่จะมีผลภายในหนึ่งปีนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีตู้ขายอาหารอัตโนมัติตั้งแต่ 20 ตู้ขึ้นไป(ข่าวบอกว่ามีประมาณ 10,800 ราย) ร้านอาหารที่มีสาขามากกว่า 20 สาขาขึ้นไป ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโยบายจาก Heritage Foundation บอกว่าที่ผ่านมานั้นชัดเจนแล้วว่าฉลากเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอเมริกันไม่ได้ เขาว่ารัฐบาลอาจมาผิดทาง เพราะปัญหาคือประชาชนยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างถูกต้อง จึงควรให้ความรู้เรื่องแคลอรี่ในอาหารกับผู้บริโภคเสียก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคอยากควบคุมปริมาณแคลอรี่ด้วยตนเอง ด้านผู้ประกอบการ(ซึ่งกว่าร้อยละ 75 เป็นรายย่อยที่มีลูกจ้างไม่เกิน 3 คน) บอกว่าเรื่องนี้มีค่าใช้จ่ายมากโขอยู่ บริษัทขนาดเล็กจะมีค่าใช้ประมาณ 2,400 เหรียญในปีแรก และ 2,200 เหรียญในปีต่อๆ ไป และเงินที่ลงไปก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจด้วย อัตราส่วนประชากรต่อตู้ขายอาหารอัตโนมัติของอเมริกาอยู่ที่ 40 คนต่อ 1 ตู้ และร้อยละ 5 ของเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายนอกบ้านเป็นการใช้จ่ายกับตู้เหล่านี้    มันช่างน่าอิจฉายิ่งนัก นอกจากเนเธอร์แลนด์จะมีนายกอินดี้ที่ขี่จักรยานไปทำงาน (ขออภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องการหาเลขเด็ดเพราะจักรยานเขาไม่มีหมายเลขทะเบียน) องค์กรผู้บริโภคของเขาก็ยังเปรี้ยวไม่แพ้กันอีกด้วย Netherlands Authority for Consumers and Markets หรือ ACM บอกว่าปีที่ผ่านมาเขาสามารถช่วยชาวบ้านประหยัดเงินได้ถึง 300 ยูโร (13,400 บาท) ต่อครัวเรือนเลยทีเดียว รวมๆ แล้วการทำงานของ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภคลงได้มากกว่า 1,850 ล้านยูโร (80,000 ล้านบาท) จากค่าแก๊ส ไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นวงดนตรีก็ต้องเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์กรุ๊ป” เพราะเป็นการรวมตัวของ 3 องค์กรที่ดูแลผู้บริโภค เหมือนการรวม สคบ. เข้ากับ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เข้าด้วยกัน ล่าสุด ACM ขู่จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากร้านค้าปลีกว่ามาสเตอร์การ์ดเก็บค่าธรรมเนียมจากพวกเขาแพงเกินไป แต่ยังไม่ทันลงมือ มาสเตอร์การ์ดก็ยอมปรับลดค่าธรรมเนียมลงจากปัจจุบันที่ร้อยละ 0.9 เหลือ 0.7 ในเดือนมิถุนายนและลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคมปี 2016 แน่นอนจริงๆ แค่เงื้อก็ได้ผลแล้ว หมายเหตุ : เรื่องร้องเรียน 3 อันดับต้นของผู้บริโภคชาวดัทช์ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริการโทรคมนาคม(ซึ่งปีนี้ถูกเบียดตกมาอยู่อันดับสอง) และบริการขนส่งและการท่องเที่ยว   ฟินแลนด์ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศฟินแลนด์จะยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องเงื่อนไขการจ้างงานในฟิตเนส จนทำให้บรรดาครูฝึกต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแบบใครตัวมัน แม้จะไม่มีองค์กรด้านวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่ ERTO องค์กรด้านแรงงานก็เคยเสนอค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับงานครูผู้ฝึกสอนในฟิตเนสไว้ที่ชั่วโมงละ 29.90 ยูโร (1,300 บาท) ในเมืองหลวง และ 26.10 ยูโร(1,165 บาท) ในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีใครจ่ายอัตราที่ว่าเลย ผู้ประกอบการฟิตเนสบางรายจ่ายค่าจ้างพื้นฐานต่ำกว่า 5 ยูโร แล้วให้ค่าหัวตามจำนวนผู้เรียนในคลาสหัวละ 50 เซนต์ (ถ้าครูฝึกสอนคลาสละ 10 คน ก็จะได้ค่าจ้างรวมชั่วโมงละ 10 ยูโรเท่านั้น)  ส่วนบางแห่งก็จ่ายเพียงชั่วโมงละ 20 ยูโร ให้กับครูฝึกที่มีประสบการณ์การสอนมากกว่า 10 ปี การปริปากบ่นก็ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเจ้าของฟิตเนสพร้อมที่จะหาครูหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์เข้ามาแทนที่อยู่เสมอ หรือไม่ก็อาจถูกย้ายช่วงเวลาสอนไปอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังจ่าย “โบนัสวันอาทิตย์” น้อยกว่าที่ควรด้วย ปกติแล้วโบนัสนี้ต้องจ่ายตามค่าแรงรายชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการหัวใสกลับแจ้งค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่าที่จ่ายจริง เช่นในจำนวน 30 ยูโรที่จ่ายนั้น มีเพียง 10 ยูโรที่แจ้งเป็นค่าแรง ที่เหลือกลับเรียกว่าเงินที่ชดเชยให้สำหรับเวลาที่ใช้เตรียมสอน เป็นต้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 กระแสต่างแดน

  อภินิหารกังหันลมครองพิภพ สองสามปีที่ผ่านมามีฟาร์มกังหันลมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในชนบทของอิตาลี ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะการมีพลังงานทดแทนไว้ใช้ย่อมเป็นเรื่องดี แต่เรื่องมันมาปูดตอนที่มีข่าวว่านักธุรกิจที่ชื่อ วีโต้ นิคาสตริ ซึ่งขณะนี้เป็นที่รู้จักกันในฉายา “ลอร์ดออฟเดอะวินด์” (Lord of the Wind) ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์สินมูลค่าถึงหนึ่งพันห้าร้อยล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท) ในบรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปจากบุคคลผู้นี้ นอกจากอสังหาริมทรัพย์กว่า 100 แห่งทางตะวันตกของเกาะซิซิลีแล้ว ยังมีธุรกิจพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 43 บริษัทด้วย   คนส่วนใหญ่ก็เพิ่งจะรู้ว่าที่แท้จอมบงการเบื้องหลังกังหันลมเหล่านั้นคือนายวีโต้ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มมาเฟีย “โคซา โนสตรา” ที่แทรกซึมเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนจากลมมาได้สองสามปีแล้ว เรื่องนี้เป็นกระแสฮือฮาไม่น้อย เพราะมันหมายถึงธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลได้กลายเป็นแหล่งให้เงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย อาศัยเป็นช่องทางฟอกตัวไปแล้ว เรียกว่ามาเฟียเขาได้ไปสองเด้ง ขูดรีดชาวบ้านโดยตรงไปรอบหนึ่งแล้วยังขูดทางอ้อมผ่านรัฐบาลได้อีก   ข่าวบอกว่าอย่าให้รัฐบาลเลือกแก้ปัญหานี้ด้วยการหันไปใช้พลังงานนิวเคลียร์แทนก็แล้วกัน ทุกวันนี้อิตาลีผลิตพลังงานลมได้มากเป็นอันดับสามของยุโรป รองจากเยอรมนีและสเปน ปลายปีพ.ศ. 2552 อิตาลีมีฟาร์มกังหันลมทั้งหมด 294 ฟาร์ม และที่ผ่านมาธุรกิจนี้ในอิตาลีเติบโตถึงร้อยละ 20 ต่อปี-------------------------------------------------------------------------------------   ขาปั่นขอร้อง นาทีนี้จะพูดเรื่องทางสำหรับจักรยานมันก็คงเชยไปแล้วสำหรับประเทศในยุโรป คนที่เดนมาร์กเขาขยับไปถกกันเรื่องของทางจักรยานแบบไม่มีสัญญาณไฟกันแล้วเรื่องของเรื่องคือ ชาวเมืองโคเปนเฮเกนที่เขานิยมปั่นจักรยานไปทำงานหรือไปทำธุระ เขารู้สึกหงุดหงิดเหมือนกันนะที่ต้องติดไฟแดง คับข้องใจได้ไม่นานรัฐบาลเขาก็จัดให้ ด้วยการประกาศแผนการสร้างมอเตอร์เวย์สำหรับจักรยาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานให้มากขึ้น สมาคมนักปั่นเขารับรองว่าแผนนี้จะทำให้มีจำนวนคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นสองเท่า (ปัจจุบันชาวเมืองโคเปนเฮเกนเกือบร้อยละ 30 ไปทำงานด้วยพาหนะสองล้อที่ต้องอาศัยพลังงานส่วนตัวนี่แหละ) นอกจากทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะแล้ว เขายังจะจัดสถานีบริการให้เป็นระยะ เพื่อให้นักปั่นได้ใช้บริการสูบลม รับน้ำดื่ม หรือสอบถามข้อมูลเรื่องเส้นทางด้วย … อิจฉาจัง ...-------------------------------------------------------------------------------------     น้ำพุโซดา คนปารีสเขาติดน้ำขวดอัดคาร์บอน (หรือโซดานั่นแหละ) กันงอมแงม ถึงขั้นที่เทศบาลเมืองปารีสต้องหาวิธีมาช่วยให้คนเหล่านี้หย่าขาดจากมันให้ได้คุณอาจสงสัยว่าดื่มโซดาแล้วมันมีปัญหาอะไรหรือ เรื่องของเรื่องเทศบาลเขากังวลเรื่องปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งฝรั่งเศสมีศักยภาพในการผลิตได้ถึง 262,000 ตันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศที่บริโภคน้ำบรรจุขวดมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และสาเหตุที่คนที่นี่เขาชอบดื่มน้ำขวดก็เพราะว่ามันเป็นน้ำอัดแก๊สที่ดื่มแล้วซ่าได้ใจนั่นเอง เทศบาลที่นั่นเขาทำการสำรวจแล้วพบว่า คนจะดื่มน้ำจากก๊อกมากขึ้นถ้ามันซ่าด้วย ไม่เชื่อดูได้จากยอดขายถล่มทลายของเครื่องอัดแก๊สแบบใช้ตามบ้านก็ได้ว่าแล้วก็ควักกระเป๋าไป 75,000 ยูโร (หรือประมาณ 3 ล้านบาท) เพื่อติดตั้งน้ำพุโซดาในสวนสาธารณะให้ชาวบ้านพากันมาดื่มฟรีกันทุกวันไม่เว้นวันหยุดตั้งแต่ 8 โมงเช้า – 3 ทุ่มครึ่ง นี่เป็นขั้นทดลอง ถ้าเสียงตอบรับดีก็จะมีการติดตั้งเพิ่มขึ้นในสวนสาธารณะอื่นๆ ด้วย-------------------------------------------------------------------------------------   เมื่อ “สี” อาจก่อความไม่สงบนักโภชนาการและองค์กรด้านเด็กออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียประกาศห้ามใช้สีสังเคราะห์ในอาหาร ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไฮเปอร์แอ็คทีฟในเด็ก ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่อย่าง Aldi เก็บผลิตภัณฑ์ที่มีสีเหล่านี้เป็นส่วนผสมออกไปจากชั้นหมดแล้ว งานสำรวจของกลุ่ม Karitane พบว่าหนึ่งในสามของแม่ชาวออสเตรเลียสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของลูก ว่ามีอาการอยู่ไม่สุก ลุกลี้ลุกลน บางทีก็ก้าวร้าว หลังจากกินอาหารที่มีสีผสมอาหารเข้าไป สมาคมนักโภชนาการแห่งออสเตรเลียบอกว่าร้อยละ 21 ของเด็กออสซี่วัย 9 ขวบ รับประทานเค้กหรือบิสกิตทุกวัน และแม่ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเด็กหลังกินอาหารที่มีสารกันบูดและสีได้ชัดเจน สีที่เป็นปัญหากลุ่มนี้มีอีกฉายาว่า “หกอันตรายเซาท์แทมตัน” (ได้แก่ sunset yellow (E110) quinoline yellow (E104) carmoisine (E122) allura red (E129) ponceau 4R (E124) and tartrazine (E102)) ที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์แทมตัน ในปีค.ศ. 2007 พบว่าสารทั้งหกตัวมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมไฮเปอร์แอคทีฟในเด็ก จึงทำให้ร้านค้าในอังกฤษพากันสมัครใจถอนสินค้าออกไป หลังจากที่องค์กรมาตรฐานอาหารอังกฤษได้ออกเป็นคำแนะนำไป สหภาพยุโรปก็ออกข้อกำหนดให้อาหารที่ใส่สีจะต้องมีคำเตือนทำนองว่า: “ตาตราซีน (หรือสารตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว) อาจมีผลในทางลบต่อความตื่นตัวและความสนใจของเด็ก” แต่สถาบันมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลับบอกว่ายังไม่มีหลักฐานแน่นหนาพอที่จะสั่งแบนสีสังเคราะห์เหล่านั้น และให้ผู้บริโภคดูแลตัวเอง (อ้าว) ด้วยการดูที่ฉลากซึ่งกฎหมายระบุให้แจ้งสีผสมอาหารไว้แล้ว-------------------------------------------------------------------------------------   รอการพิสูจน์ รับจดหมายเตือนกันไป สำหรับบริษัทผู้ผลิตน้ำยาบ้วนปากที่โฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถกำจัดคราบพลัคหรือรักษาโรคเหงือกได้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ทำจดหมายไปถึงผู้ผลิตน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อลิสเตอรีน ซีวีเอส และวอลกรีน ให้รีบจัดการแก้ไขโฆษณาเหล่านั้นภายใน 15 วัน จริงอยู่น้ำยาบ้วนปากเหล่านี้มีส่วนผสมของโซเดียมฟลูออไรด์ ซึ่งทางอย.ก็ยอมรับว่าสามารถป้องกันฟันผุได้ แต่ทั้งนี้ทางผู้ผลิตยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามันสามารถกำจัดคราบพลัค หรือป้องกันโรคเหงือกได้อย่างที่โฆษณาไว้ ตามกฎหมายแล้วผู้ผลิตไม่สามารถกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนรักษาโรคได้ จนกว่าข้อกล่าวอ้างเหล่านั้นจะผ่านการพิสูจน์โดย อย.เสียก่อน ถ้ามันทำได้จริงก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยา และอนุญาตให้สามารถวางขายในร้านขายยาทั่วไปได้ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บหรือผลในทางลบต่อสุขภาพจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้แต่ อย. ก็ขอแจ้งให้พี่น้องทราบว่าอย่าเพิ่งคาดหวังว่าน้ำยาบ้วนปากจะสามารถป้องกันหรือรักษาโรคเหงือกได้ และถ้าคุณเคยอ่านหนังสือเรื่อง “100 สิ่งที่ไม่ต้องทำ (ก็ได้) ก่อนตาย” คุณก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาบ้วนปากเลยด้วยซ้ำไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 การเลือกซื้อที่ล็อครถจักรยาน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการฉบับที่แล้วได้เล่าถึงการเลือกซื้อจักรยานโดยดูจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สำคัญในการขี่ ฉบับนี้ขอเล่าถึงการเลือกซื้อที่ล็อครถจักรยานสำหรับป้องกันการขโมยดูบ้าง ตามสถิติการก่ออาชญากรรมในประเทศเยอรมนีนั้น ขโมยจะใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ในการตัดหรือทำลายที่ล็อคจักรยาน หากใช้เวลานานกว่านั้น ย่อมเสี่ยงที่จะถูกจับ ดังนั้น แทนที่ขโมยจะใช้เวลานานในการปฏิบัติการทำลายที่ล็อคจักรยานคันนี้ ก็เลือกที่จะไปขโมยรถจักรยานคันอื่นที่ขโมยง่ายกว่าแทน ในแต่ละปีในประเทศเยอรมนีจะมีจักรยานถูกขโมยไม่ต่ำกว่า 300,000 คัน การป้องกันด้วยการล็อคจักรยานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกขโมยได้ ประเภทของที่ล็อครถจักรยาน•    ที่ล็อคแบบตัว U (U-lock) เป็นประเภทที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง ยากที่จะใช้เครื่องมือตัดหรือทำลาย•    ที่ล็อคแบบ amored cable lock ลักษณะแข็งนอก อ่อนใน เนื่องจากข้างในเป็นลวดโลหะสามารถตัดได้ง่าย•    ที่ล็อคแบบ spiral cable lock ข้อดีของที่ล็อคประเภทนี้คือ เป็นลวดยาวๆ ล็อคจักรยานได้ง่าย แต่ก็โดนตัดทำลายได้ง่ายเช่นกัน•    ที่ล็อคแบบ folding clamp และ แบบ 2-folding-clamp lock ข้อดีคือ พกพาได้สะดวก พับเก็บง่าย แต่มีข้อเสียคือ มีขนาดสั้น ไม่ยาว•    ที่ล็อคแบบห่วงโซ่ (chain lock) เป็นที่ล็อคที่มีความแข็งแรงปลอดภัยสูง ตัดให้ขาดยาก แต่ก็มีน้ำหนักมาก•    ที่ล็อคแบบ folding cable lock มีลักษณะเป็นลวดโลหะที่สามารถพับเก็บได้ โดนตัดหรือทำลายได้ง่ายมากการล็อคจักรยานเป็นการป้องกันการลักขโมยในเบื้องต้น แต่ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารู้จักใช้ที่ล็อคดีๆ ก็สามารถประวิงเวลาขโมยในการตัดหรือทำลายตัวล็อคได้ การล็อคจักรยานที่ดีคือ การล็อคล้อ และโครงจักรยานให้ติดกับรั้ว ที่ไม่สามารถยกหนีไปไหนได้ นอกจากนี้การเลือกสถานที่จอดรถจักรยานที่เหมาะสม มีคนพลุ่กพล่าน และไม่เป็นที่ลับตาคน ก็ช่วยป้องกันขโมยได้เช่นกัน วิธีการล็อคจักรยานที่ถูกต้อง •    ล็อคตัวจักรยานไว้กับสิ่งปลูกสร้าง เช่น ที่จอดรถจักรยาน เสาไฟฟ้า หรือ กำแพง•    ล็อคจักรยานให้สูงไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ขโมยใช้เครื่องมือตัดได้ง่าย โดยล็อคบริเวณตัวโครงจักรยาน นอกจากนี้ ควรจะล็อคที่ส่วนอื่นๆ ของจักรยานเพิ่มเติมเช่น ล้อรถจักรยาน•    ควรเลือกสถานที่มีคนพลุกพล่าน จะช่วยทำให้ขโมยต้องยับยั้งชั่งใจ และไม่ควรจอดรถจักรยานทิ้งไว้ข้ามคืนสำหรับใครที่มีจักรยานราคาแพงๆ แล้ว ก็สมควรหาที่ล็อคที่เหมาะสมกับราคาจักรยานด้วย โดยรวมแล้วที่ล็อคจักรยาน แบบ U- lock นั้น มีประสิทธิภาพสูงที่สุดจากผลการทดสอบขององค์กรผู้บริโภค (Stiftung Warentest) คือ จากการทดสอบที่ล็อคแบบ U lock 10 ยี่ห้อ ได้คะแนนระดับดี 6 ยี่ห้อ ในขณะที่ ที่ล็อคแบบ folding clamp ได้คะแนนระดับ ดี เพียง 1 ยี่ห้อจากที่ทดสอบทั้งหมด 8 ยี่ห้อ ที่ล็อคแบบ ห่วงโซ่ (chain lock) ได้คะแนนระดับดี เพียง 1 ยี่ห้อเช่นกัน จากที่ทดสอบ 9 ยี่ห้อและที่ล็อคแบบ amored cable lock ไม่มียี่ห้อใดเลยได้คะแนนระดับดี จากที่ทดสอบ 3 ยี่ห้อหวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อที่ล็อคจักรยานและวิธีป้องกันขโมยได้บ้างพอสมควร(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/2007 และ 5/ 2015) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 การเลือกซื้อจักรยาน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการขี่จักรยานนอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ในอนาคตจะมีราคาสูงขึ้นและนับวันจะมีแต่หมดลงทุกที แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังการขี่จักรยานในเมืองใหญ่ คือ เรื่องความปลอดภัยจากผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์โดยสารสาธารณะ และคนเดินทางเท้า การจำกัดความเร็วในการขับขี่รถยนต์บนถนนแต่ละสาย จะทำให้การขับรถบนถนนนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ด้วย ในเขตที่อยู่อาศัยและสถานที่ราชการ เช่น ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย จะมีป้ายจำกัดความเร็ว ซึ่งกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  จากข้อมูลของสมาคมขับขี่จักรยานแห่งเยอรมนี(The German Cyclist’s Association: ADFC) ชี้ให้เห็นว่า การกำหนดความเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นจะทำให้บรรยากาศและสวัสดิภาพของคนขี่จักรยานและคนเดินถนนดีขึ้น และยังทำให้การไหลลื่นและความคล่องตัวของการจราจรโดยรวมดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสามารถลดมลภาวะจากเสียง มลภาวะจากควันได้ ตลอดจนสามารถลดการใช้พลังงานกลุ่มฟอสซิล ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นทรัพยากรสิ้นเปลือง มีราคาแพงและมีวันหมดไปในอนาคต ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนให้ถนนในเมืองใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปี 1983 ในเขตเมือง Buxtehude       ที่ได้ประกาศกำหนดความเร็วบนถนนในเมือง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั้น ปรากฏว่า คนที่ขับรถยนต์ กลับประหลาดใจว่า สภาพการจราจร ในเมืองดีขึ้น การจราจรไหลลื่นขึ้น ผิดความคาดหมายว่าจะเกิด “สภาพจลาจลในเมืองขึ้น” เวลาที่ใช้ในการขับรถผ่านเมืองใช้เวลาเพียง 48 วินาทีเท่านั้น จากการทดลองในเมืองดังกล่าวได้นำไปสู่การขยายผล กำหนดเป็นกฎจราจรที่ใช้บังคับในอีกหลายเมืองตามมา  สำหรับเนื้อหาในวันนี้จะเล่าถึงการเลือกซื้อจักรยานเบื้องต้น จะต้องพิจารณาอะไรบ้างในการลงทุนซื้อจักรยานนอกจากราคาแล้วยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เราควรต้องคิดถึงด้วยเช่นกัน   การเลือกระบบเกียร์ ถ้าเราขี่จักรยานบ่อย ๆ ควรจะเลือกซื้อจักรยานที่มีคุณภาพดี สำหรับจักรยานที่มี 27 เกียร์นั้น เราไม่ได้ใช้เกียร์หมดทุกเกียร์ ส่วนใหญ่แล้วเราใช้ 15- 16 เกียร์เท่านั้นเอง เกียร์ที่สำคัญในการขับขี่จักรยาน คือ เกียร์ต่ำสุด และเกียร์สูงสุด การเลือกซื้อจักรยาน 27 เกียร์นั้น เหมาะสำหรับนักกีฬาปั่นจักรยานที่ขับผ่านเทือกเขาสูง เพราะนักกีฬาที่เข้าแข่งขันจะคุ้นเคย ทราบถึงความละเอียดและความเหมาะสมของเกียร์ในสนามแข่งขันดีกว่าคนที่ขับขี่จักรยานทั่วไป ซึ่งใช้เพียง 7 เกียร์ ก็เพียงพอแล้ว ระบบของเกียร์จักรยานแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ ·       derailleur gear (Kettenschaltung) ·       internal gear hub (Nebenschaltung) ปัจจุบันมี 4 ยี่ห้อที่เป็นผู้นำในตลาดได้แก่ ·         Shimano ·         SRAM (เดิมคือยี่ห้อ Sachs) ·         Campagnolo และ ·         Rohloff ระบบเบรก การขับขี่จักรยานทั่วๆ ไป ใช้ drum brake และ back pedal brake ก็เพียงพอ เนื่องจากเป็นเบรกที่ประกอบสำเร็จใน gear hub บำรุงรักษาง่าย และใช้งานได้ดีในสภาวะพื้นถนนลื่น เบรกประเภทนี้ ไม่เหมาะสำหรับการขับขี่จักรยานลงภูเขา เป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะจะเกิดความร้อนสูงมาก อาจทำให้เบรกไหม้ได้ สำหรับนักกีฬาจักรยาน การใช้เบรก ประเภท caliper brake หรือ disc brake จะเหมาะสมกว่า แต่ caliper brake นั้นความสามารถในการเบรกจะลดลงในสภาวะถนนเปียก ข้อด้อยอีกอย่างหนึ่งของเบรกประเภทนี้ คือ การสึกหรอของผ้าเบรก และการสึกหรอของล้อจักรยาน ในขณะที่ dis brake จะไม่มีปัญหามากเรื่องการสึกหรอนี้ ล้อรถจักรยาน มี 2 ประเภท ตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต คือ ล้ออะลูมิเนียม และ ล้อเหล็กกล้า ซึ่งมีราคาถูกกว่า ล้ออะลูมิเนียม ในกรณีที่ใช้ล้อเหล็กกล้า ก็ไม่ควรใช้ กับ caliper brake เพราะความสามารถในการเบรกแย่มาก บนถนนเปียก ปัจจุบัน เรามักพบว่า จักรยานหลายยี่ห้อใช้ล้ออะลูมิเนียม ซึ่งมักจะมีตัวบ่งบอกการสึกของ ล้อ ( wear indicator) ช่วยบอกการสึกหรอที่เกิดจากการเบรก ซึ่งจะช่วยให้คนขับขี่จักรยานสามารถเปลี่ยนล้อได้ทัน ก่อนที่ล้อจะแตกหัก ยางรถจักรยาน แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน สำหรับนักปั่นจักรยานสำหรับการแข่งขัน ชอบยางรถจักรยานทื่มีความกว้างของยางน้อยๆ และไม่มีดอกยาง ในขณะที่นักปั่นจักรยานวิบาก (mountain bike) ชอบยางที่มีความกว้างของยางมากๆ และมีดอกยางหยาบๆ   สิ่งที่สำคัญสำหรับยางรถจักรยานไม่ได้อยู่ที่ความกว้างหรือความแคบของยาง แต่ขึ้นอยู่กับแรงดันอากาศในยางและดอกยาง ถ้านักปั่นที่ขับขี่จักรยานที่มีดอกยางหยาบๆ บนถนนลาดยาง เสียงจะดัง ซึ่งก็คือ การเสียพลังงานจากการปั่น ไปเป็นพลังงานเสียงโดยไม่จำเป็น จริงๆ แล้ว ควรเลือกใช้ยางจักรยานที่มีดอกยางไม่ต้องหยาบมาก และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ ล้อฟรี (Aquaplanning) ถ้าความเร็วไม่เกิน 400 km/ชั่วโมง เพราะการเกาะถนนไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดอกยาง แต่ขึ้นอยู่กับส่วนผสมทางเคมีของวัสดุที่นำมาผลิตยางรถจักรยาน และก่อนจะตกลงซื้อ ควรลองขับขี่ดูก่อนว่า จักรยานคันที่เราสนใจนี้ เป็นอย่างไร เพราะต้องเข้าใจว่า ราคาจักรยานสมัยนี้ไม่ได้มีราคาพันสองพันบาทแล้ว บางคันมีราคาเป็นหลักหมื่น หวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อจักรยานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับเงินได้บ้างพอสมควร   (ที่มา: http://www.fa-technik.adfc.de/Ratgeber/Fahrradkauf/index.html)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ปั่นสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน

พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษ ปี พ.ศ. 2557  ท่ามกลางการจราจรหนาแน่นตามสี่แยกใหญ่ทั่วเมืองกรุง อารมณ์ผู้คนบนถนนต่างขุ่นหมองไม่ต่างจากหมอกควันปลายท่อไอเสียรถยนต์ มีพาหนะชนิดหนึ่งที่เคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ซอกแซก ลัดเลาะ ไหลลื่นไปไม่ยี่หระกับสภาพการจราจรที่อยู่ตรงหน้า พาหนะที่ว่านี้ไม่ใช่นวัตกรรมล้ำยุคสุดไฮเทค แต่เป็นเพียงพาหนะเรียบง่ายแสนธรรมดาที่เรียกว่าจักรยานนั่นเอง ด้วยความที่มีขนาดเล็ก ทุ่นแรงได้ดี เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็วมาก ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ปล่อยมลพิษและไม่ส่งเสียงดัง เลยไม่ก่อความรำคาญสร้างความรบกวนใครสักเท่าไหร่นัก  จักรยานจึงช่วยให้ผู้ที่ขับขี่สามารถเดินทางฝ่าทุกสภาพถนน(หรือแม้แต่ฝ่าม็อบปิดถนน) ไปได้ทุกที่ และหลุดพ้นจากวังวนปัญหารถติดในเมืองกรุงฯ ได้ ทุกวันนี้เราแทบจะสังเกตเห็นผู้คนปั่นจักรยานบนท้องถนนเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะยังมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับจำนวนยานพาหนะอื่นๆ แต่หากเทียบกับสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยบนท้องถนนที่มีให้แก่จักรยานเพียงน้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นเลนจักรยาน ที่จอดจักรยาน หรือแม้กระทั่งการรับรู้ว่าจักรยานมีสิทธิในการสัญจรบนถนนเท่าเทียมกับรถยนต์ ผมคิดว่าการที่ยังมีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ชัดเช่นนี้เป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน   ผลสำรวจความต้องการใช้จักรยานของคนกรุงเทพฯ[i] ที่มูลนิธิโลกสีเขียวทำการสำรวจขึ้นเนื่องในโอกาสวันคาร์ฟรีเดย์เมื่อปี 2554 เป็นการสะท้อนความต้องการใช้พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษนี้ได้อย่างชัดเจน จากการสอบถามชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 4,333 คน ทั้งผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (2,858 คน) และผ่านทางการสำรวจแบบตัวต่อตัวตามย่านชุมชน (1,475 คน) ได้แก่ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จตุจักรและท่าเตียน โดยมีคำถามสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ ถ้าสามารถขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย คุณจะขี่ไหม ? ถ้าต้องแบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน คุณจะยอมไหม ? ผลสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 86 บอกว่าจะออกมาขี่จักรยานบนท้องถนน หากรู้สึกว่าสามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย และร้อยละ 93 ที่ยินยอมให้จัดสรรแบ่งปันพื้นที่จราจรบนถนนมากั้นเป็นเลนให้จักรยาน ผลสำรวจสะท้อนความต้องการใช้จักรยาน ทั้งๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 48  ไม่เคยใช้จักรยานในกรุงเทพฯ มาก่อนเลย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าถนนหนทางในกรุงเทพฯ ยังไม่ใช่ที่ทางที่จักรยานจะสามารถปั่นได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง นี่เป็นที่มาที่ชาวจักรยานและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับจักรยานรณรงค์ร้องขอทางจักรยานที่ปลอดภัย   วิวัฒน์ทางจักรยานในกรุงฯ กับฝันค้างของนักปั่น เท่าที่มีบันทึกในเอกสารของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานครเริ่มมีทางจักรยานสายแรกตั้งแต่ปี  2535 เป็นทางยกระดับเลียบคลองประปาฝั่งตะวันตก แต่ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ให้ข้อมูลจากความทรงจำว่า ก่อนหน้านั้นเคยมีทางจักรยานตั้งอยู่บริเวณถนนรามคำแหง  เริ่มตั้งแต่สี่แยกคลองตันถึงสนามกีฬาหัวหมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขาดการบำรุงรักษา เส้นทางจักรยานทั้ง 2 เส้นนั้นก็รางเลือนไปตามกาลเวลาจนหายไปในที่สุด ในสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 12 ดร.พิจิตต รัตตกุล (2539-2543) ความฝันเรื่องทางจักรยานดูจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ มีการสร้างทางจักรยานเฉพาะขนานถนนตัดใหม่แยกออกจากพื้นผิวถนนอย่างชัดเจน เส้นทางที่เด่นชัดที่สุดคือ ทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม(จากถนนพระราม 9  - ถนนรามอินทรา) ระยะทาง ไป - กลับ รวม 24 กิโลเมตรโดยมีต้นปาล์มขั้นกลางยาวตลอดแนว ตลอดสมัยนี้มีการสร้างทางจักรยานยาวรวมกัน 34 กิโลเมตรรวม 5 เส้นทาง แต่เมื่อใช้งานจริงกลับประสบปัญหา เส้นทางไม่มีความต่อเนื่อง อยู่คนละทิศละทาง ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ความฝันเรื่องทางจักรยานจึงเป็นจริงได้เพียงตัวเลขกิโลฯ บนเอกสารและเส้นสีที่เปรอะเปื้อนบนก้อนอิฐที่ค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ จนมาถึงสมัยของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน นโยบายเรื่องทางจักรยานก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง โดยเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวจักรยานตื่นเต้นเป็นที่สุดคือเมื่อ มีการริเริ่มโครงการ "จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์" หรือ Green Bangkok Bike (ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok Smiles Bike) ถนนหลายสายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนตะนาว ถนนมหาไชย  มีการสร้าง ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ ด้วยการจัดแบ่งเลนสัญจรใหม่ให้แคบลงนิดหน่อยเพื่อเพิ่มเลนจักรยานทางด้านซ้ายของทางเดินรถ มีการติดป้ายสัญญาณจราจร ป้ายเตือน มีจุดให้บริการยืมคืนจักรยานอยู่ทั่วบริเวณ นับเป็นครั้งแรกที่จักรยานมีเลนของตัวเองบนผิวถนนเฉกเช่นเดียวกับพาหนะติดเครื่องยนต์อื่นๆ แต่ฝันของชาวจักรยานยังต้องกลายเป็นฝันค้างอีกครั้งเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการไปโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายและขาดการสื่อสารกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อขีดสีตีเส้นจนสีแห้งสนิทเพียงไม่กี่วัน เลนจักรยานที่เป็นสิ่งแปลกใหม่บนท้องถนนก็ถูกรถราต่างๆ ที่เคยชินกับการจอดชิดขอบถนน เข้ามาจอดทับทางเฉกเช่นเคย ราวกับว่าไม่เคยมีเลนจักรยานมาก่อน ในสมัยของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เลนจักรยานได้ถูกสร้างขึ้นอีกในถนนหลักหลายสาย ทั้งแบบ ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ เช่น ถนนโดยรอบวงเวียนใหญ่ ถนนสาธร และแบบ ‘ทางจักรยานร่วมบนทางเท้า’ ให้ขี่จักรยานบนฟุตปาธร่วมกับคนเดิน เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนสุขุมวิท แต่ทางจักรยานส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นล้วนประสบปัญหาการตั้งวางสิ่งของ จอดรถกีดขวาง มีผู้คนพลุกพล่าน ผิวทางไม่ราบเรียบ เนื่องจากทางจักรยานบนผิวจราจรจะอยู่เลนด้านซ้ายสุดของถนนซึ่งมักอยู่ในแนวท่อระบายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ดีในสมัยของคุณอภิรักษ์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานด้านจักรยานที่ชื่อ “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” โดยมีผู้แทนทั้งจากภาครัฐและนักจักรยานจากสมาคม องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานเข้าร่วมด้วย ผู้ว่าฯ คนต่อมา มรว.สุขุมพันธ์ บริพัทธ (สมัยที่ 1) ช่วงครึ่งวาระแรกแทบไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายจักรยานใดๆ แม้จะเป็นผู้ว่าที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์ก็ตาม จนกระทั่งมูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ และกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ “Big Trees” ขอเข้าพบรองผู้ว่าฯ ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ (ตำแหน่งในสมัยนั้น) เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาวิถีจักรยาน จนทำให้เกิดการรื้อฟื้น “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” ขึ้นมาอีกครั้ง งานในสมัยนั้นเป็นไปในทิศทางด้านการรณรงค์ค่อนข้างมาก มีการจัดกิจกรรม Bangkok Car Free Sunday เป็นประจำทุกเดือนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น มีโครงการให้เช่าจักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพื่อเอื้อให้ผู้คนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือชาวบ้านในพื้นที่เดินทางไปถึงจุดหมายด้วยจักรยานได้สะดวกขึ้น แต่นอกจากมีสถานีให้เช่าจักรยานหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมระบบสมาร์ทการ์ดและป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ก็ไม่มีปรับปรุงทางกายภาพใดๆ เพื่อการปั่นจักรยานเลย แม้จะฝันค้างมานานแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีอะไรคืบหน้า เหตุการณ์การรวมตัวกันของชาวจักรยานที่น่าจดจำที่สุดในยุคนั้นคือการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานผ่านทางเว็บไซต์ Change.org[ii] จนทำให้กรุงเทพมหานครเร่งเปลี่ยน/ซ่อมฝาท่อระบายน้ำบนผิวถนนที่ชำรุดหรือมีโอกาสทำให้ล้อเล็กๆ ของจักรยานตกไปได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้จักรยานมากเพราะ หากล้อติดตะแกรงจะทำให้คนขี่ล้มทันที หากเลี้ยวหลบก็มีโอกาสถูกเฉี่ยวชนจากพาหนะอื่นๆ  โดยหลังจากผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ รับเป็นนโยบายแก้ไขให้ ชาวจักรยานได้รวมตัวกันหลายครั้งเพื่อสำรวจฝาท่อที่มีปัญหาในเขตพื้นที่ต่างๆ ส่งเป็นรายงานระบุพิกัดพร้อมรูปถ่ายที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป  นับเป็นแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและปลุกให้นักปั่นที่ฝันค้างมานานตื่นและพบว่า เราสามารถทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงได้ด้วยมือของเราเอง ในส่วนของภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างคึกคักมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา แวดวงนิตยสารดังต่างทยอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำเรื่องจักรยาน  มีกิจกรรมใหญ่สำหรับจักรยานเพิ่มขึ้น  แทบทุกวันในสัปดาห์ล้วนมีทริปปั่นจักรยานที่จัดโดยกลุ่ม องค์กรต่างๆ มากมาย  จนทุกวันนี้หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นจักรยานอยู่ตามรายการทีวี บิลบอร์ด โฆษณาต่างๆ อยู่เสมอ  จักรยานกำลังสอดแทรกตัวเองเข้าไปในสื่อกระแสหลักเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปในฐานะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ รักษ์โลก รักสุขภาพ อินดี้ นอกกรอบ พึ่งตนเอง หลังครบวาระ ‘สุขุมพันธ์ 1’ เป็นยุคที่กระแสจักรยานเป็นที่นิยมมากจนผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนต่างต้องนำเสนอนโยบายจักรยานควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการวิวัฒน์ทางความคิดต่อแง่มุมเรื่องจักรยาน  แม้ว่าทางจักรยานส่วนใหญ่ยังมิเปลี่ยนแปลงใดๆ   ************************************************************** ทำไมต้อง ‘จักรยาน’ A cycle-lized city is a civilized city เมืองน่าอยู่คือเมืองน่าปั่น จักรยานเป็นมากกว่ากระแสแฟชั่น ด้วยความเล็ก เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็ว ใช้แรงคน จึงไม่ปล่อยมลพิษและส่งเสียงดัง และใครๆ ก็สามารถหามาครอบครองได้ จักรยานจึงเป็นทางออกง่ายๆ ของปัญหาซับซ้อนหลายประการในเมืองใหญ่ เช่น คุณภาพอากาศ การจราจรติดขัด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกจึงเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการสัญจรในเมืองให้สามารถใช้จักรยานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยและออกมาตรการสนับสนุนจูงใจให้ผู้คนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น  จักรยานกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นตัวบ่งชี้ของเมืองน่าอยู่ที่ยอมรับกันในสหประชาชาติ[iii] **************************************************************   ทางจักรยานในปัจจุบัน กับเส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองรถถีบ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีทางจักรยานรวมทั้งสิ้น 35 เส้นทาง เป็นระยะทาง 232.66 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นทางจักรยานเฉพาะ 5 เส้นทาง ทางจักรยานบนผิวจราจร 10 เส้นทาง และทางจักรยานร่วมบนทางเท้าอีก 20 เส้นทาง แต่มีทางเพียง 2 กิโลเมตรเศษเท่านั้น (5 เส้นทาง) ที่มีการประกาศรองรับให้เป็น ‘ทางที่จัดไว้ให้สำหรับจักรยาน’ ตามกฎหมาย พ.ร.บ จราจรทางบก พ.ศ. 2522[iv] และที่แย่ไปกว่านั้นมีเส้นทางเพียง 600 เมตรบนถนนพระอาทิตย์เท่านั้นที่ได้รับการดูแล มีหลักล้มลุกกั้นไม่ให้รถยนต์จอดกีดขวาง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อันเกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจ สน.ชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร กิจการร้านค้าและหน่วยงานต่างๆ ในบริเวณถนนพระอาทิตย์ และชาวจักรยานจากทุกสารทิศ สำหรับทางจักรยานอีกหลายสิบสายที่เหลือ มีการพิจารณาทบทวนความต้องการใช้ ศักยภาพ และความเหมาะสมต่างๆ ใหม่ เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงมีความคุ้มค้าและสามารถใช้งานได้จริง โดยคณะกรรมการเรารักกรุงเทพ ฯ เรารักจักรยานได้คัดเลือกเส้นทางเพื่อพิจารณาปรับปรุงก่อน 10 เส้นทางและมอบหมายให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สนใจเรื่องจักรยานและมูลนิธิโลกสีเขียวช่วยกันทำการประเมินและนำเสนอแนวทางปรังปรุงให้ใช้ได้จริง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กำลังรอหารือกับผู้บังคับการจราจรซึ่งเป็นผู้มีอำนาจประกาศรับรองทางจักรยานตามกฎหมายต่อไป ในส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานใหม่ กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือทั้ง 50 สำนักงานเขตร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยช่วยกันคัดเลือกเส้นทางที่มีศักยภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการใช้จักรยานของคนในพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางจักรยานใหม่ที่เน้นว่าต้องใช้ได้จริงและเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงถึงกันต่อไป แม้เส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยานจะยังอีกไกลโข แต่ผมเชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ และมันจะเร็วขึ้นมากหากเราทุกคนช่วยกัน  กรุงเทพฯ เมืองหายใจสะอาด เมืองสัญจรสะดวก เมืองแห่งความเท่าเทียม เมืองแห่งสุขภาพ เมืองสีเขียวร่มรื่น เมือง.. ฯลฯ กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกเราทุกคน   [i] อ่านผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/1476 [ii] อ่านเรื่องราวการเรียกร้องเปลี่ยนฝาท่อเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2136 ‘Change ฝาท่อ We must believe in’ [iii] อ้างอิงจาก ‘ทำไมจึงเป็นแผนที่ปั่นเมือง’ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์. Bangkok Bike Map แผนที่ปั่นเมือง : คู่มือหาเส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานคร.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโลกสีเขียว, 2555. [iv] อ่านบทความเกี่ยวกับกฎหมายจักรยานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2004 ‘กฎหมายจักรยาน... ใครว่าไม่มี ?’   //

อ่านเพิ่มเติม >