ฉบับที่่ 269 กระแสต่างแดน

เอาที่ไหนมาพูด          Champstudy แพลตฟอร์มติวข้อสอบเจ้าดังของเกาหลีใต้ ถูกคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม สั่งปรับเป็นเงิน 285 ล้านวอน (ประมาณ 7.6 ล้านบาท) หลังปล่อยโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเขาเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิตินักเรียนสอบผ่านสูงที่สุด         บริษัท Hackers Language Institute ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดังกล่าว อ้างว่าเป็น “อันดับหนึ่ง” ในเรื่องการสอบเข้ารับราชการและการสอบเป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค (ไม่ใช่การเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ)         นอกจากนี้ยังโฆษณายังอ้างว่าผู้เรียนจะสอบผ่านได้ “เร็วที่สุด” โดยไม่ได้ให้รายละเอียด คณะกรรมาธิการฯ จึงลงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดคอร์สออนไลน์ของเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,340 ล้านบาท) ในปี 2021         ก่อนหน้านี้บริษัท Eduwill ก็เคยถูกสั่งปรับด้วยความผิดนี้มาแล้วเช่นกัน  ขับสบาย นั่งสบาย         กระทรวงคมนาคมจีนขอให้แพลตฟอร์มเรียกรถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและการจัดการเพราะรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน         ผู้โดยสารจะต้องได้รับบริการและประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจะต้องเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนคนขับและยานพาหนะที่ใช้ และหากมีปัญหาก็ต้องสามารถร้องเรียนให้เกิดการแก้ไขได้         ขณะเดียวกัน คนขับก็ต้องมีสภาพการทำงานที่ดี ไม่ถูก “กดดัน” ให้ใช้ความเร็วสูง ทำงานเลยเวลา หรือทำงานต่อเนื่องนานเกินไป และพวกเขาควรได้รับข้อมูลการจราจรและสภาพอากาศอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังขอให้บริษัทพิจารณาลดค่าคอมฯ ที่เรียกเก็บจากคนขับทุกครั้งที่รับงานด้วย         อุตสาหกรรมนี้ในจีนเติบโตมาก ขณะนี้มีบริษัทขนส่งที่ได้รับอนุญาตถึง 318 ราย (ในจำนวนนี้มี 15 แพลตฟอร์ม) มีคนขับขึ้นทะเบียน 5.79 ล้านคน ยานพาหนะขึ้นทะเบียน 2.43 ล้านคัน ในเดือนมิถุนายนมีการเรียกใช้บริการถึง 763 ล้านครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ต่อเดือน  ย่อยนานไป ไม่ผ่าน         ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไต้หวันจะ “แบน” ช้อน ส้อม จาน ชาม และภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก “พลาสติกชีวภาพ”         หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวันกล่าวว่าได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เพิ่มการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลีแลคไทด์ (PLA) ที่เคยเชื่อกันว่าสามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ”        เพราะพลาสติกชนิดนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบรีไซเคิล และยังเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของไต้หวันที่ต้องการลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย        กฎหมายดังกล่าวห้ามหน่วยงานรัฐ โรงเรียน (ทั้งรัฐบาลและเอกชน) ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด ใช้แก้ว ชาม จาน จานรอง กล่องอาหาร และถาดที่ทำจากพลาสติก PLA        ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,375 – 6,900 บาท)    ต่ำกว่าเป้า         สองปีก่อนเนเธอร์แลนด์เปิดตัวเลนจักรยานฝังโซลาเซลล์ที่ยาวที่สุดในโลก (350 เมตร) ที่หมู่บ้าน Maartensdijk อย่างยิ่งใหญ่         โครงการนำร่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองอูเทรคต์ และบริษัทก่อสร้าง Strukton ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 ล้านยูโร (ประมาณ 49 ล้านบาท) เจ้าของโครงการยืนยันว่าถ้าประสบความสำเร็จ ต้นทุนในการสร้างเลนแบบนี้จะถูกลงเพราะจะทำให้เกิดความต้องการและการผลิตเป็นจำนวนมาก         แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด จากที่ตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 137 kWh ต่อปี ผลประกอบการในปีที่แล้วกลับทำได้เพียงร้อยละ 27 ของเป้าหมาย ทั้งที่ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นแดดค่อนข้างแรงจัด ในขณะที่ตัวเลขของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 26 เท่านั้น         ผู้เชียวชาญบอกว่าอาจเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบลื่นเท่าที่ควร เพราะเลนจักรยานต้องการความฝืดเพื่อป้องกันการลื่นล้มของผู้ขับขี่ ประกอบกับฝุ่นหรือโคลนจากล้อรถที่มาบดบังแสงอาทิตย์ด้วย         โครงการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เดือนมิถุนายนปีหน้าจะได้รู้กัน  บำบัดไม่ทัน         เมื่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นทางเลือกในการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวจีน ระบบบำบัด “ของเสียจากมนุษย์” ต้องทำงานเกินความสามารถจนอาจถึงขั้น “ล่ม” ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน        การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า ระดับสารประกอบออกานิก (ที่แสดงถึงการปนเปื้อนจากของเสียจากมนุษย์) ในแหล่งน้ำเหล่านี้สูงกว่าในน้ำเสียจากครัวเรือนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า อาจส่งผลให้สาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง และอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิชนิดต่างๆ อีกด้วย         ส้วมในรถไฟไฮสปีดนั้นทั้งสะอาดและสะดวก แต่ของเสียในถังเก็บไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยความเร็วของรถไฟและจำนวนผู้ใช้บริการ และระบบบำบัดน้ำเสียที่สถานีก็ยังไม่ได้รับการอัปเกรดให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กระแสต่างแดน

ปลูกข้าวกันเถอะ        รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยด่วน ...ตามความเห็นของนายโตชิยูกิ อิโตะ อดีตนายพลประจำกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีคานาซาว่า  หลายสิบปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวและปลาน้อยลงมาก ในขณะที่ขนมปังและเนื้อสัตว์อื่นๆ  ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้แต่ปลาที่นิยมก็เป็นปลาแมคเคอเรลและแซลมอนที่นำเข้าจากนอร์เวย์หรือชิลี“ครัว” ของคนญี่ปุ่นปัจจุบันจึงพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลัก แม้แต่ธัญพืชอาหารสัตว์ก็นำเข้าแทบทั้งหมด  เรื่องเงินไม่ใช้ปัญหาใหญ่ เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้น แต่หากเส้นทางขนส่งทางเรือมีเหตุให้ถูกปิดลง  เพราะสงครามที่อาจปะทุขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน คนญี่ปุ่นลำบากแน่วันนี้ญี่ปุ่นมีพื้นที่ผลิตข้าวน้อยลงมากเพราะดีมานต์ที่ลดลง ประกอบกับชาวนาอายุมากขึ้นและไม่มีลูกหลานสนใจสืบทอด คนรุ่นใหม่ที่เข้าวงการก็เลือกที่จะปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แม้สภาพดินฟ้าอากาศจะเอื้ออำนวยให้ปลูกได้ถึงปีละสองครั้งก็ตาม ประหยัดไฟ        ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าของเดนมาร์กในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเกือบร้อยละสิบ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 Energinet หรือ “การไฟฟ้าเดนมาร์ก” ให้ข้อมูลว่าการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับพฤติกรรม “นิวนอร์มอล” ของคนเดนมาร์กที่ประหยัดไฟด้วยการงดทำอาหารประเภทที่ต้องอบนาน ไม่ใช้เครื่องอบผ้า รวมถึงเปลี่ยนไปซักผ้า/ล้างจาน ในตอนกลางคืน และเลือกซัก/ล้างด้วยโปรแกรม “ประหยัด”  ค่าไฟในเดนมาร์กพุ่งขึ้นเป็น 7.72 โครนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จาก 2.87 โครน ในช่วงต้นปี ผู้ใช้ไฟฟ้าจึงพากันดาวน์โหลด “แอปฯ มอนิเตอร์ค่าไฟ” เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่ค่าไฟถูกก่อนหน้านี้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าไฟให้กับผู้มีรายได้น้อย 400,000 ครอบครัว ในอัตราครัวเรือนละ 6,000 โครน (ประมาณ 30,000 บาท) ทั้งนี้เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีสมาชิกครอบครัวที่อายุมากที่สุดโดยอัตโนมัติ  สองล้อกลับมาแล้ว        นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนสร้างความปวดหัวให้ผู้คนไม่น้อย แต่ผลพลอยได้คือการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น หลังซบเซาไปนานเพราะผู้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์หรือรถสาธารณะเช่น สถิติการใช้จักรยานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังหยุดยาวช่วงวันแรงงานที่รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนบางส่วนและขอให้ผู้คนงดออกจากบ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ หรือกรณี “เซี่ยงไฮ้ล็อคดาวน์” ที่ผู้คนต้องสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เพราะรัฐอนุญาตให้คนที่ออกจากบ้านได้เดินทางด้วยจักรยานเท่านั้นจนถึงวันนี้ ย่านใจกลางกรุงปักกิ่งก็มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.8 นอกจากนโยบายโควิดแล้วยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการขับขี่จักรยานด้วยรายงานระบุว่าเรื่องนี้ส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมผลิตจักรยานในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านเหรียญ ด้วยกำลังผลิตปีละ 76.4 ล้านคัน และผู้ผลิตจักรยานในอเมริกาและยุโรปซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นชนชั้นกลาง ที่ยินดีจ่ายค่าจักรยานได้ถึงคันละ 14,800 เหรียญ (ประมาณ 550,000 บาท) ขอคนช่วยเลี้ยง        สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรของเยอรมนีอาจดูน่าอิจฉาในสายตาของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลจัดหาเดย์แคร์ หรือศูนย์รับเลี้ยง ให้กับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไปที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน   แต่ปัจจุบันศูนย์ฯ เหล่านี้มีไม่เพียงพอ และไม่มีใครสนใจอยากสมัครมาทำงาน เพราะเป็นตำแหน่งพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนน้อย และไม่มีโอกาสก้าวหน้า รายงานระบุว่าเยอรมนียังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อีกอย่างน้อย 160,000 คนเมื่อพ่อแม่ไม่อยากใช้เวลา 90 นาที ขับรถไปส่งลูกที่ “ศูนย์ใกล้บ้าน” จึงหาทางออกด้วยการฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย ใช้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชน หรือจ้างพี่เลี้ยงไว้ที่บ้านหากเงินถึง และมี “คุณแม่” จำนวนไม่น้อยตัดสินใจอยู่บ้านเลี้ยงลูกเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เพราะเมื่อไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็มีเงินสะสมน้อยและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะ “จน” ในยามแก่ กินน้อยก็ปัง        คอนเทนต์ประเภท “โชว์กินดะ” จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนคำว่า “ม็อกบัง” ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดในปี 2021 แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเกาหลีเองก็มีไม่น้อยนอกจากการกินมากไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือกินทิ้งกินขว้างที่ทำให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็นแล้ว พฤติกรรมบางอย่างในคลิปเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมเกาหลี เช่น การกัดเส้นบะหมี่ให้ขาดทั้งที่ยังไม่หมดคำ หรือการเขี่ยอาหาร ที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายคนส่วนหนึ่งจึงหันไปสนใจ “โซซิกจวา” ซึ่งเป็นรายการที่พูดถึงพฤติกรรมการกินอาหารเพียงเล็กน้อย (เพราะเจ้าตัวรู้สึกว่าเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนัก) และการเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้นานขึ้น ของเหล่าเซเล็บเกาหลีช่อง Unnies without Appetite ที่มีซานดารา พัค อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1  มาแชร์ประสบการณ์ว่าเธออยู่ได้ทั้งวันด้วยการกินกล้วยเพียงหนึ่งผล ก็มีผู้ยอดเข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านวิว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 หมวกนิรภัยสำหรับนักปั่น

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจทั้งสายเขียวและสายสปอร์ต ด้วยผลทดสอบ “ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายต่อศีรษะ” ของหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน         คุณอาจสงสัย ... จะทดสอบไปทำไม สินค้าแบบนี้ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยก่อน จึงจะวางขายในตลาดได้ ไม่ใช่หรือ         คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว หมวกนิรภัยทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบนั้นผ่านมาตรฐานที่มีในปัจจุบัน เพียงแต่มาตรฐานดังกล่าวกำกับเฉพาะการลดแรงกระแทกกับพื้นในแนวตั้งฉาก และเกณฑ์ที่ให้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน ก็วัดจากประสิทธิภาพในการป้องกัน “การบาดเจ็บรุนแรงต่อศีรษะ” เท่านั้น         องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสตราสบวร์ก ประเทศฝรั่งเศส และ Certimoov องค์กรที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยของหมวกนิรภัยจักรยาน ทำการทดสอบครั้งนี้ขึ้นตามวิธีทดสอบที่พัฒนาให้สอดคล้องกับลักษณะการเกิดอุบัติเหตุของคนขี่จักรยานมากขึ้น เช่น เวลาที่ถูกรถยนต์ชนแล้วตัวลอยขึ้นไปจนศีรษะกระแทกกับกระจกหน้ารถ เป็นต้น         ในการทดสอบครั้งนี้นอกจากจะวัดประสิทธิภาพการป้องกันการบาดเจ็บเมื่อศีรษะกระแทกในแนวตั้งฉาก (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) แล้ว ยังทดสอบการกระแทกกับพื้นเอียง 45 องศา (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) อีกด้วย ทั้งหมดเป็นการทดสอบด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ และเก็บข้อมูลด้วยเซนเซอร์ในหัวหุ่นยนต์ทดสอบ         นอกจากนี้ยังเพิ่มเกณฑ์ที่อ้างอิงงานวิจัยด้านชีวกลศาสตร์ รวมถึงนำ “อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ” หรือ “อาการโคม่าในระยะสั้น” มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำข้อเสนอในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น         จากหมวกนิรภัยที่เปิดตัวในปี 2021 จำนวน 27 รุ่น ที่นำมาทดสอบ เราพบว่ากลุ่มที่ดีที่สุดได้ไป 70 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ในขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดนั้นได้ไป 80 คะแนน สนนราคาก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ 1,100 บาท ไปจนถึง 6,700 บาท        ข่าวดีคือหมวกนิรภัยประสิทธิภาพดีในราคาไม่เกิน 2,000 บาทนั้นมีอยู่จริง และเรายังได้ข้อสรุปเช่นเคยว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดี และของดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่หากของชิ้นไหนถูกมากก็อย่าเพิ่งวางใจ ว่าแล้วก็พลิกไปดูผลการทดสอบกันเลย        · ขอย้ำว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นเรื่อง “ความปลอดภัย” ล้วนๆ  เรื่องความสวยงามหรือความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ต้องแล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือการทดลองสวมก่อนตัดสินใจ และราคาที่เราแจ้งเป็นราคาที่องค์กรสมาชิกในยุโรปซื้อจากร้านทั่วไปเป็นหน่วยเงินยูโร ที่เราแปลงมาเป็นหน่วยเงินบาท ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบอีกครั้งเช่นกัน  ---------- กฎหมายว่าด้วยการสวมหมวกนิรภัย        ปัจจุบันมีเพียงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ที่ขับขี่จักรยาน (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) สวมหมวกนิรภัย ในขณะที่กฎหมายประเทศมอลต้าใช้บังคับกับผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนสวีเดน สโลเวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก นั้นบังคับเฉพาะในกลุ่มเด็ก บางประเทศอย่างสเปนบังคับการสวมหมวกเมื่อขับขี่จักรยานในเขตเมือง แต่ยกเว้นให้กรณีที่ถีบขึ้นเขา         บางประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีการ “บังคับสวมหมวก” เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้จักรยาน การรณรงค์ให้คนสวมหมวกนิรภัยนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้คนรู้สึกว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องอันตราย และไม่อยากใช้จักรยาน         ในออสเตรเลียก็มีกลุ่ม Bicycle Network ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายบังคับสวมหมวก โดยอาจมีช่วงทดลอง 5 ปี ให้บุคคลอายุเกิน 17 ปีสามารถเลือกได้ว่าจะสวมหมวกนิรภัยหรือไม่ และรัฐจะต้องใส่ใจลด “ตัวอันตราย” ที่แท้จริงสำหรับนักปั่น ซึ่งพวกเขาบอกว่ามันคือรถยนต์นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 249 แผนปั่นให้โลกเย็น

        ในการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว สก็อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สหพันธ์จักรยานแห่งทวีปยุโรป (European Cycling Federation) ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกที่ลงนามโดย 350 องค์กรทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเร่งด่วนและกว้างขวาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น        โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จักรยานในเมืองใหญ่ ร้อยละ 80 ของก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในเขตเมือง และโดยเฉลี่ย ผู้คนประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศก็อยู่ในเมือง การสำรวจยังพบว่าคนเหล่านี้ยืนยันจะเป็นคนเมืองต่อไป แม้เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การล็อคดาวน์ หรือวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงโควิดจะทำให้การใช้ชีวิตลำบากไปบ้างก็ตาม         หลายเมืองใหญ่ในโลกได้ลงมือส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง ประสบความสำเร็จบ้าง ประสบปัญหาบ้าง เรามาดูตัวอย่างกัน...         -        อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ อยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้จักรยาน การออกแบบผังเมืองที่ดี การจำกัดความเร็วรถยนต์ รวมถึงขนาดของเมืองที่เล็กกะทัดรัด ทำให้มากกว่าร้อยละ 50 ของการเดินทางในเมือง เป็นการเดินทางด้วยจักรยาน ปัจจุบันเมืองนี้มีประชากร 1.15 ล้านคน จักรยานจดทะเบียนมากกว่า 900,000 คัน และเลนจักรยานความยาว 400 กิโลเมตร ไม่เพียงอัมสเตอร์ดัมเท่านั้น ร้อยละ 25 ของประชากรเนเธอร์แลนด์ใช้จักรยานในการเดินทางประจำวัน อัตราการถือครองจักรยานเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่คนละ 1.33 คัน (ด้วยสถิติโจรกรรมจักรยานที่ค่อนข้างสูง คนส่วนหนึ่งจึงถีบจักรยานเก่าๆ ไปทำงาน แต่จะมีจักรยาน “ไฮเอนด์” อีกคันจอดไว้ที่บ้าน สำหรับใช้ปั่นออกทริปไกลๆ)  ข้อมูลของประเทศเนเธอร์แลนด์ระบุว่าการใช้จักรยานจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ 21 กรัมต่อกิโลเมตร ขณะที่การใช้รถส่วนตัวทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 271 กรัมต่อคน/ต่อกม. แม้แต่การใช้รถเมล์ก็ยังทำให้เกิดก๊าซดังกล่าวถึงคนลั 101 กรัม/กม.  และการเปลี่ยนจากรถยนต์มาใช้จักรยานยังลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ลงได้ร้อยละ 65 แถมประหยัดเงินได้ปีละไม่ต่ำกว่า 8,000 ยูโรเนเธอร์แลนด์ยังเคาะตัวเลขออกมาว่าทุกๆ 1 กิโลเมตรที่จักรยานผ่านไป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 0.68 ยูโร ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลและรถเมล์จะเป็นภาระต่อสังคมคิดเป็นมูลค่า 0.37 และ 0.29 ยูโร ต่อกิโลเมตร         -        ลอสแอนเจลิส เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานด้วยสาเหตุด้านสุขภาพ ทั้งๆ ที่โครงสร้างเดิมจะเป็นเมืองที่เกิดมารองรับการใช้รถยนต์ (อาจจะมากกว่าเมืองอื่นๆ ในอเมริกาด้วยซ้ำ) เมืองนี้ติดอันดับเมืองที่ประชากรวัยเด็กเป็นหอบหืดมากที่สุดในอเมริกา และปัญหารถติดสาหัสในเมืองก็ทำให้เกิดการสูญเสียทางผลิตภาพไปปีละไม่ต่ำกว่า 19,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่ามีการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวผ่านสายด่วน 911 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 ในวันที่รถติดหนัก ที่สำคัญยังพบว่ารถเมล์เมืองนี้วิ่งได้เร็วแค่ประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ต่างอะไรกับความเร็วจักรยาน และการเดินทางส่วนใหญ่ (เกินร้อยละ 65) มีระยะไม่เกิน 8 กิโลเมตร สิ่งที่เป็นปัญหาของแอลเอคือเรื่องความปลอดภัย สถิติการเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้จักรยานที่นี่ค่อนข้างสูง แต่ความนิยมใช้จักรยานที่เพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ภาครัฐหันมาให้ความใส่ใจปรับปรุงเรื่องนี้อย่างจริงจังขึ้น         -        ปารีส เมืองนี้ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะเขามีนายกเทศมนตรีที่มุ่งมั่นจะปรับปรุงคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการส่งเสริมให้การขี่จักรยานเป็นโหมดการเดินทางหลักของคนเมือง            หลังได้รับตำแหน่งในปี 2014  แอนน์ อิดัลโก ก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง เช่น ลดพื้นที่จอดรถยนต์ ลดกำหนดความเร็วรถจาก 50 กิโลเมตร/ชม. เป็น 30 กิโลเมตร/ชม.) เพิ่มทางจักรยาน ทั้งโดยการเปลี่ยนจากเลนรถยนต์และการสร้างเลนจักรยานขึ้นใหม่ รวมๆ แล้วปารีสได้ทางจักรยานมา 300 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 150 ล้านยูโร         ปัจจุบัน “เครือข่าย” จักรยานในปารีสมีระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ในนี้รวมเอา “เลนโคโรนา” หรือเส้นทางชั่วคราวสำหรับใช้จักรยานในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ระยะทาง 52 กิโลเมตร ที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นเลนจักรยานถาวรอยู่ด้วย           นอกจากนี้ใจกลางกรุงปารีส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น มหาวิหารนอร์เทรอดาม ยังถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามรถยนต์เข้า นับว่ากร้าวมากสำหรับเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก  ล่าสุด แอนน์ อิดัลโก นายกเทศมนตรีปารีสสองสมัยคนนี้ได้ประกาศลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปีหน้า (2022) แน่นอนว่าเธอยังชูนโยบายเดิม ด้วยการประกาศว่าจะทำให้ปารีสเป็นเมืองที่ใช้จักรยานได้ 100% ภายในปี 2026         หันมาดูกรุงเทพมหานครของเรา เมืองที่มีผู้อยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน มีรถยนต์และจักรยานยนต์ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคัน และคุณภาพอากาศแบบคุ้มดีคุ้มร้าย ผู้คนมีทางเลือกสองทางเมื่อใช้ขนส่งสาธารณะ (จะเลือกแบบคุณภาพดีราคาแพง หรือแบบคุณภาพต่ำราคาถูก) ไหนจะปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อ ในขณะที่คนพร้อมจะใช้จักรยานยังต้องยอมรับความเสี่ยงและความลำบากยุ่งยาก         ทั้งหมดนี้ดูแล้วยังไม่ใช่ “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” แต่ปัญหานี้ยังไม่เคยถูกจัดการอย่างเป็นระบบ  ได้แต่หวังว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ ในการเลือกตั้งที่ (คาดว่า) จะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้า จะมีนโยบายยกระดับคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืนเสียที https://www.france24.com/en/france/20211103-residents-react-to-mayor-hidalgo-s-plans-for-a-100-bikeable-parishttps://www.dutchcycling.nl/en/https://www.amsterdamtips.com/cycling-in-amsterdamhttps://cop26cycling.com/https://streetsforall.org/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 กระแสต่างแดน

โรงเรียนปิด “โรงไฟฟ้า” เปิด               รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปิดโรงเรียนประถมจำนวนมากเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดโจทย์ให้คิดกันว่าจะใช้ประโยชน์จากโรงเรียนปลดระวางเหล่านี้อย่างไร         จนกระทั่งบริษัท ELM Inc. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เขาเสนอขอใช้พื้นที่ในสระว่ายน้ำของโรงเรียน (เพราะทักษะการว่ายน้ำถือเป็นสิ่งจำเป็น โรงเรียนประถมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีสระว่ายน้ำ) เป็นพื้นที่สำหรับแผงโซลาลอยน้ำ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องกลัวปัญหาโอเวอร์ฮีทในวันที่ร้อนเกินไป ส่วนห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ๆ ก็ดัดแปลงเป็นห้องเก็บคอนเวอร์เตอร์         โรงเรียนแรก (จากทั้งหมด 15 โรง ในโครงการ) ที่เริ่มติดตั้งระบบดังกล่าว อยู่ในเขตมินามิซัตสึมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ สระว่ายน้ำทั้งสองแห่งของโรงเรียน (สระ 25 เมตร และสระ 6 เมตร) ที่รองรับแผงโซลาเซลล์ได้รวมกัน 160 แผง จึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 61,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่บริษัทจะขายให้กับ คิวชูอิเล็กทริคพาวเวอร์ ผู้ประกอบการด้านพลังงานในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นปั่นไม่ทันจีน         ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 2030 ยอดขายจักรยานจะแซงยอดขายรถยนต์ ... อย่างน้อยๆ ก็ในยุโรป เนเธอร์แลนด์มีประชากร 17 ล้านคน แต่มีจักรยาน 22.1 ล้านคัน ในขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้อยู่อาศัยในเมืองโคเปนเฮเกน ใช้จักรยานในการเดินทาง         ร้อยละ 90 ของจักรยานที่คนยุโรปใช้ ผลิตในประเทศจีน เมื่อจีนลดกำลังการผลิต/ปิดโรงงาน และการขนส่งทำได้ล่าช้า (เพราะคอนเทนเนอร์จะจัดส่งได้ก็ต่อเมื่อมันบรรจุสินค้าจนเต็มเท่านั้น) บวกกับความต้องการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นในยุคที่โควิด-19 ระบาด ยุโรปจึงขาดแคลนจักรยาน         ความจริงยุโรปก็ผลิตจักรยานเองได้ เขาผลิตได้ถึง 2.7 ล้านคันในปี 2019 ผู้ผลิตรายใหญ่สามอันดับแรกได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี แต่จักรยานเหล่านี้ราคาแพงกว่าจักรยานจีนซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า         คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังทำการสอบสวนกรณีที่จีนส่งจักรยานไฟฟ้าเข้าไปตีตลาดในราคาต่ำ (เพราะได้รับการสนับสนุนต้นทุนจากรัฐบาล) จนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในยุโรปไม่ต่ำกว่า 800 ราย  บ่อขยะของยุโรป        โปแลนด์รับขยะหลายพันตันในยุโรปเพื่อ “นำมารีไซเคิล” โดยร้อยละ 70 ของขยะเหล่านั้นมาจากเยอรมนี ที่เหลือเป็นขยะจากสหราชอาณาจักร อิตาลี และออสเตรีย         เกิดเหตุการณ์โป๊ะแตกเมื่อธุรกิจรับกำจัดขยะในโปแลนด์ถูกเปิดโปงว่า ไม่ได้รีไซเคิลขยะที่ได้มา หลักๆแล้วนำไปทิ้งรวมในบ่อขยะ ซ้ำร้ายบางทีก็เผาทิ้งเพื่อประหยัดต้นทุน ให้ชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมแบกรับผลกระทบ           บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์จากข้อตกลงของสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้ “ขยะรีไซเคิล” เช่นกระดาษ หรือพลาสติก สามารถถูกส่งไปยังประเทศในกลุ่มโดยไม่ต้องรายงานตัวเลข เขาก็เลยให้ต้นทางจั่วหัวขยะสารพัดชนิดว่าเป็น “ขยะรีไซเคิล” ก่อนส่งมาที่โปแลนด์        รัฐบาลโปแลนด์ยังโดนวิจารณ์หนัก ที่อนุญาตให้เอกชนไปรับขยะจากประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ขยะในบ้านตัวเองก็ยังจัดการไม่ได้ ไม่มีโรงงานรีไซเคิลมากพอ ไม่มีเทคโนโลยีการกำจัดที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่มีการกำกับดูแลหลังออกใบอนุญาตด้วย ปัญหาไม่มุ้งมิ้ง         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เดนมาร์กสั่งปิดฟาร์มมิงค์ทั้งประเทศ (1,500 กว่าฟาร์ม) และสั่งประหารชีวิตมิงค์ทั้ง 17 ล้านตัว ตามด้วยการออกกฎห้ามการเลี้ยงมิงค์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 หลังพบว่ามีตัวมิงค์ติดเชื้อโควิดชนิดที่กลายพันธุ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการหาวิธีรักษาโรคโควิด-19         แต่คำสั่งนี้ผิดกฎหมายและกำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนความผิดของรัฐบาล         อย่างไรก็ตามล่าสุดสภาเดนมาร์กมีมติอนุมัติเงินเยียวยา 1,600 ล้านยูโร (ประมาณ 58,000 ล้านบาท) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์และพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธุรกิจนี้ไม่ล้มละลายและสามารถเปิดดำเนินการได้ใหม่หลังสิ้นสุดการแบน         แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ควรจะมีอยู่ในโลก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องช่วย “ฟื้น” มันขึ้นมาอีก         เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดในโลกมันยังไม่สุก         คนอเมริกันคุ้นเคยกับอาหารแช่แข็งมานาน สถิติระบุว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคนพึ่งพา “อาหารเย็นแช่แข็ง” แต่งานวิจัยล่าสุดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) กลับพบว่าพวกเขาเตรียมอาหารกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะและมัก “การ์ดตก” ไม่ระมัดระวังเหมือนเตรียมอาหารดิบ           จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างที่มาประกอบอาหารแช่แข็งในครัวทดลอง จำนวน 403 คน เขาพบว่าร้อยละ 97 ไม่ล้างมือระหว่างประกอบอาหาร (อีกร้อยละ 3 ที่ล้าง ก็ทำได้ไม่ถูกต้อง) และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 165 องศา ในการประกอบอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้เพราะเชื้อโรคยังไม่ตาย         ยิ่งกว่านั้น ร้อยละ 61 ของคนที่เคยป่วยหรือมีคนในครอบครัวล้มป่วยเพราะอาหาร ก็ยังไม่ “เปลี่ยน” วิธีการเตรียมอาหารอีกด้วย         USDA แนะนำให้จัดการกับอาหารแช่แข็งเสมือนเราจัดการกับอาหารดิบไว้ก่อนเป็นดีที่สุด แม้ว่ามันจะดูเป็นสีน้ำตาล หรือมีรอยไหม้เหมือนผ่านการทำสุกแล้วก็ตาม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 กระแสต่างแดน

ต้องได้ใบเสร็จ        ก่อนหน้านี้ ลูกค้าร้านอาหาร ร้านขนมปัง ร้านกาแฟ ร้านตัดผม หรือร้านค้าย่อยอื่นๆ ในเยอรมนี จะไม่ได้รับใบเสร็จหากไม่ร้องขอ         แต่กฎหมายใหม่ว่าด้วย “การป้องกันการแก้ไขบันทึกการขายดิจิทัล” ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2559 กำหนดว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ธุรกิจทุกประเภทจะต้องออกใบเสร็จให้ลูกค้าโดยไม่ต้องถาม ไม่ว่าธุรกรรมนั้นจะมีมูลค่าเท่าไร         ร้านที่ใช้เครื่องคิดเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องแสดงเลขที่ใบแจ้งหนี้ หมายเลขเครื่องคิดเงิน ชื่อ/ที่อยู่ของผู้ประกอบการ และวันที่ทำธุรกรรม ส่วนร้านที่ไม่มีเครื่องดังกล่าวก็ให้จดบันทึกการขายไว้เพื่อการตรวจสอบของสรรพากร         หลายคนมองว่ามาตรการปราบปรามการเลี่ยงภาษีรูปแบบนี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะมันเพิ่มขั้นตอนการทำงานและยังสร้างขยะกระดาษเพิ่มขึ้นด้วยมาตรฐานฝุ่นควัน        กลุ่ม Air Clean Taiwan ออกมาเรียกร้องให้รัฐสภาไต้หวันออกกฎหมายเพิ่มมาตรฐานในการ เฝ้าระวังฝุ่นละอองพีเอ็ม 10 ให้เท่ากับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 20 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อปี          แม้ในภาพรวม ค่าพีเอ็ม 10 ของไต้หวันลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 17 นายเย่กวงเผิง ผู้ก่อตั้งองค์กรดังกล่าวซึ่งรณรงค์เรื่องนี้มากว่าเจ็ดปีบอกว่า      ปัจจุบันเขตเกาสงและอีกหลายๆ ที่ในไต้หวันมีค่าฝุ่น ละอองเกินมาตรฐานดังกล่าวถึงสามเท่า         ค่ามาตรฐานของไต้หวัน (125 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันหรือ ค่าเฉลี่ยต่อปี 65 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร) ยังไม่เคยถูกปรับตั้งแต่ปี 2542         ล่าสุดองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของไต้หวันเตรียมกำหนดมาตรฐานใหม่เป็น 100 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันหรือค่าเฉลี่ยต่อปี 50 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ให้เท่ากับที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กฎเหล็ก        สวิตเซอร์แลนด์มีกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับผู้พักอาศัยในอพาร์ตเมนท์ ถึงขั้นลือกันไปผิดๆ ว่าเขาห้ามการกดชักโครกในยามวิกาลด้วย           สวิตเซอร์แลนด์มีสิ่งที่เรียกว่า “ช่วงเวลาพักผ่อน” ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง ช่วงเวลาดังกล่าวในซูริคอยู่ระหว่างสี่ทุ่มถึงเจ็ดโมงเช้า และห้าทุ่มถึงเจ็ดโมงเช้าในวันศุกร์และเสาร์           ในช่วงเวลานี้ผู้อยู่อาศัยพึงงดพฤติกรรมก่อความรำคาญทุกชนิดและไม่ทำ “เสียงที่ไม่จำเป็น” หลังเวลาสองทุ่ม หรือในวันอาทิตย์         นอกจากข้อห้าม (เช่น ห้ามนำสัตว์มาเลี้ยง) กฎระเบียบยืดยาวที่เจ้าของอาคารติดประกาศแจ้งต่อผู้อยู่อาศัยยังกำหนดความรับผิดชอบไว้ชัดเจนด้วย เช่น ในฤดูหนาว ผู้เช่าจะเป็นผู้ทำหน้าที่กวาดหิมะ           ที่ผ่านมายังไม่มีการห้ามผู้เช่ากดชักโครกในยามวิกาล แต่ถึงจะห้ามจริงก็เอาผิดผู้เช่าไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ากฎระเบียบเหล่านี้จะมีผลผูกพันต่อเมื่อมันสมเหตุสมผลเท่านั้น...ค่อยยังชั่ว  ปารีสเมืองปั่น        แอน ฮิลดาโก ผู้ว่าราชการนครปารีสเคยประกาศไว้ตอนหาเสียงเมื่อสี่ปีก่อนว่าจะทำให้ปารีสเป็นเมืองจักรยานให้ได้         แม้การทำให้ชาวปารีส “ทุกคน” ใช้จักรยานอาจดูเกินเอื้อม แต่สถิติล่าสุดก็ช่วยยืนยันว่า “แผนจักรยาน” ของเธอกำลังไปได้สวย ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้จักรยานมีมากกว่าจำนวนผู้ใช้มอเตอร์ไซค์และสกู๊ตเตอร์รวมกัน และยังมากกว่าจำนวนผู้ใช้รถไฟไต้ดินบางสายด้วย         เดือนกันยายนปี 2561 จำนวนผู้ใช้จักรยานในปารีสเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 และในแต่ละวันมีผู้ใช้จักรยานบนท้องถนนถึง 1,030 คน จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 1,630 คนในปี 2562         นอกจากนี้การใช้รถยนต์ระหว่างปี 2553 ถึง 2561 ยังลดลงร้อยละ 5 ในขณะที่การใช้จักรยานเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 30         ปารีสขยับขึ้นจากเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานอันดับที่ 17 ในปี 2558 มาเป็นอันดับที่ 8 ในปีนี้  เป้าหมายสูงสุดของผู้ว่าฯ คนนี้คือทำให้ปารีสเป็นเมืองหลวงจักรยานอันดับหนึ่ง ปาดหน้าโคเปนเฮเกน อัมสเตอร์ดัม และออสโล ไปเลยจ้า  โนเคป็อป        ที่ผ่านมาการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในเกาหลีใต้ ส่งผลให้สถิติการดื่มในผู้หญิงและเยาวชนอายุต่ำกว่า 19 ปีที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ         จำนวนนักดื่มหญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.5 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 50.5 ในปี 2560 (ในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 ในนักดื่มชาย) ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะการใช้ศิลปินเคป็อปในการโฆษณาแอลกอฮอล์นั่นเอง         รายงานระบุว่าผู้ประกอบการทุ่มงบปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านวอน (ประมาณ 507 ล้านบาท) เพื่อการนี้         ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะออกกฎหมายกำหนดอายุพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ที่ 24 ปี หลังจากศิลปินสาว “ไอยู” ซึ่งขณะนั้นอายุ 21 ปี รับเป็น “หน้าตา” ให้กับโซจูยี่ห้อหนึ่งในปี 2557 แต่กฎหมายดังกล่าวไม่เคยถูกนำเข้าสู่การพิจารณา         ล่าสุดกระทรวงสวัสดิภาพและสาธารณสุขเตรียมออกประกาศห้ามใช้ศิลปินดาราเคป็อปในการโฆษณาหรือเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 บทเรียนจากหนึ่งของการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.

        การเดินทางของทุกคนในปัจจุบัน ล้วนมีปัจจัยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเกิดจากจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความประมาท หรือเกิดจากการที่พวกเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยเวลาเราใช้รถใช้ถนน จากจุดเล็กๆ นำพาไปสู่ความสูญเสียทั้งของครอบครัว ญาติพี่น้องมิตรสหาย ตลอดจนความเสียหายของเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศเลยทีเดียว         หลายครั้งพวกเราอาจจะมองภาพรวมว่าอุบัติเหตุทางถนนมักจะต้องเกิดกับรถขนาดใหญ่ที่ชนกันตามภาพข่าวสารที่ให้เราเสพอยู่ทุกวัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับถนนสายรอง เช่น ถนนในหมู่บ้านชุมชน ที่ส่วนใหญ่มักละเลยกฎระเบียบจราจรเป็นนิสัย ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เห็นกันจนชินตาอยู่ทุกวัน         และไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมถนนสายรองตามชุมชนหมู่บ้านจะเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็น คือ ภาพวัยรุ่นแว้นจักรยานยนต์กันไปมาด้วยความเร็ว ขี่จักรยานยนต์ซ้อนสามโดยไม่สนใจใคร และที่สำคัญไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคเลยซักคน         หากวันไหนดวงตกรถล้มพลิกคว่ำแล้วพาคนอื่นล้มเจ็บไปด้วย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เหมือนเรื่องที่จะบอกต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนคิดน่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกคนได้ หากวันหนึ่งเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเรา         เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในเวลาเช้าของทุกวัน คุณแม่ของผู้เขียนจะขี่จักรยานไปตลาดตามประสาแม่บ้าน เมื่อซื้อของเสร็จแล้วและกำลังขี่จักรยานกลับ โดยขี่อยู่ในช่องทางด้านซ้ายของตนเอง อยู่ดีๆ ก็ถูกรถจักรยานยนต์ของวัยรุ่นสาวที่ซ้อนสามพุ่งเข้าชนที่ด้านท้ายรถจักรยานอย่างจัง จนทำให้คุณแม่ของผู้เขียนกระเด็นล้มลงกลางถนนศีรษะฟาดพื้น         หลังเกิดเหตุมีพลเมืองดีได้เข้ามาช่วยเหลือและรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉินทันที แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเช้าประมาณ 7.45 น. ขณะนั้นได้รับแจ้งจากปลายทางว่าตอนนี้ไม่มีรถฉุกเฉินรองรับ หากรีบให้พาผู้บาดเจ็บมาเองได้เลย แต่ด้วยเรายังไม่แน่ใจในอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจไม่เคลื่อนย้ายคุณแม่ตามที่ปลายสายแนะนำ เพราะหากมีการเคลื่อนย้ายโดยผู้ไม่มีความรู้ อาจจะทำให้อาการที่บาดเจ็บเดิมมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้         แต่โชคดียังมีพลเมืองดีช่วยเรียกรถฉุกเฉินที่รู้จักมารับ แม้จะรอนานเกือบยี่สิบนาทีก็ตาม เมื่อรถฉุกเฉินมารับแล้วและพาไปถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เขียนแจ้งความประสงค์จะขอใช้สิทธิ พ.ร.บ.หรือประกันภัยภาคบังคับของรถคู่กรณี เพราะเตรียมเอกสารไปด้วยแล้ว แต่พยาบาลบอกจะใช้ได้ต้องให้คู่กรณีไปลงบันทึกประจำวันให้ตำรวจชี้ก่อนว่าเป็นฝ่ายผิด เพื่อที่เราจะสามารถนำบันทึกประจำวันนั้นมาเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของ พ.ร.บ. หรือประกันภาคบังคับรถจักรยานยนต์คู่กรณีได้         หลังจากนั้นผู้เขียนจึงรีบติดต่อตามคู่กรณีมาลงบันทึกประจำวัน เมื่อถึงสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกยังชี้ผิดถูกไม่ได้ เพราะคุณแม่ยังบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ ต้องรอให้หายดีก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงจะชี้ได้ว่าใครผิดใครถูก…         จากอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนนึกในใจเพราะเป็นแบบนี้ คนที่มีความจำเป็นถึงเข้าใช้สิทธิ พ.ร.บ.ได้ยาก คนส่วนใหญ่เขาถึงรอไม่ไหว ต้องสำรองเงินส่วนตัว หรือประกันภัยอื่นๆ (ถ้ามี) จ่ายไปก่อน เช่น ผู้เขียนเป็นต้น ที่ตัดสินใจไม่รอแล้ว พ.ร.บ. ใช้ประกันอุบัติเหตุจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคุณแม่ไปก่อนแทน         แม้ว่าแนวทางที่รัฐกำหนดเรื่องสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้จะดีในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาถึงขั้นตอนกระบวนการในแต่ละส่วนแล้วพบว่า ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้บริโภคที่เดือดร้อนเสียหายอยู่         ในกรณีนี้จริงๆ แล้ว โรงพยาบาลทุกแห่งควรมีระบบตรวจสอบข้อมูลและทำเรื่องโดยตรงกับบริษัทประกันภัยของรถคู่กรณีได้เลย ตามสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นที่กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถคันที่ขับขี่หรือนั่งซ้อนท้ายมา กรณีรถจักรยานยนต์หรือนั่งโดยสารมาในรถกรณีรถยนต์  รวมถึงคนเดินถนน ที่ไม่ได้ขับขี่หรือซ้อนท้ายหรือโดยสารในรถคันอื่นๆ โดยไม่ต้องรอสรุปผลทางคดี         แต่ในทางปฏิบัติของการเคลมค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยทางถนนในหลายกรณี ยังพบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่คุณแม่ผู้เขียนพบเจออยู่ ประเด็นหลัก คือ การไม่สามารถเชื่อมต่อหรือถ่ายโอนข้อมูลผู้บาดเจ็บ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาล บริษัทประกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าด้วยกันได้         ทั้งที่ผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บสมควรที่จะต้องได้รับการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นกลับเข้าไม่ถึงสิทธิ บางรายต้องสำรองเงินส่วนตัวหรือกู้หนี้ยืมสินบุคคลภายนอกหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล         ที่ผ่านมาเราได้แต่แนะนำให้คนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนไปใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อนทุกครั้ง แต่พอเจอกับตัวถึงรู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะขอใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.นี้  จะทำยังไงให้ พ.ร.บ. ใช้ง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่มีคนต้องการใช้จริงๆ จะได้ไม่ยุ่งยากแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 รถจักรยานยนต์รับจ้างกับการคิดค่าบริการ

ท่ามกลางวิกฤติจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องการเร่งรีบในการเดินทาง  การเลือกหารถโดยสารซักคันเพื่อเดินทาง จึงกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นทางออกของคนเมืองที่ต้องใช้งานกันแทบทุกวัน แต่ทางเลือกนี้กลับพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะโก่งราคาค่าโดยสาร ขับรถเร็วหวาดเสียว เรียกแล้วไม่ไป หรือไปแต่ส่งไม่ถึงจุดหมาย บางครั้งปริมาณรถมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนใช้ ที่แย่ไปกว่านั้น แม้บางคนเลือกที่จะเดินไปต่อแถวขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถแท้ๆ แต่กลับได้รถคันที่ขึ้นเป็นรถป้ายขาว หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแทน แน่นอนว่าในใจคงไม่อยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่ารถคันที่ขึ้นเป็นใครมาจากไหน แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้ต้องขึ้นเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แม้ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกจะออกมาตรการควบคุมราคาค่าโดยสาร กำหนดให้ระยะทาง 2 กม.แรก จัดเก็บอัตราค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท กม.ที่ 2 – 5 ไม่เกิน กม.ละ 5 บาท และหากระยะทางมากกว่า 15 กม.ขึ้นไป ให้สามารถเลือกการตกลงราคากันเอง หรือให้คิดค่าโดยสาร กม.ละไม่เกิน 10 บาท โดยย้ำทุกวินต้องทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติมักพบว่า มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่สูงกว่าความเป็นจริง และยังมีวินเถื่อนรถเถื่อนแอบให้บริการอยู่ทั่วไปจากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ในกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีรถจักยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศมากถึง 194,393 คัน แต่ในความเป็นจริงนอกจากกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนถูกต้องแล้ว ยังมีกลุ่มรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอยู่อีกเช่นกัน เพราะรถที่นำมาวิ่งให้บริการส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นรถป้ายเหลืองหรือขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะ  ทั้งนี้ตามกฎหมายรถจักรยานยนต์ที่นำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัว ที่ถูกต้องตรงกันตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสะสมมาถึงจุดหนึ่ง และมีผู้เข้าร่วมวงใหม่อย่าง GrabBike ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็วและมารับถึงที่ แถมราคาถูกกว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิม ปรากฏขึ้น จึงเป็นที่ถูกใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แม้จะเป็นบริการผิดกฎหมายไทยก็ตาม โดยกรมการขนส่งทางบกยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า การให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร, มาตรา 5 (15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่เมื่อ GrabBike ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า เราจึงเห็นภาพความขัดแย้งผ่านสื่อทั้งหลาย ระหว่างผู้ให้บริการเดิมกับ GrabBike  อยู่บ่อยๆ จึงกลายเป็นคำถามว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่บอกว่า ผิดกฎหมายนั้น ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีสิทธิหรือไม่ แล้วจะมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะได้มีการคิดทบทวนกันว่า เหตุใดการให้บริการที่ถูกกฎหมายอย่างรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ควบคุมโดยรัฐ จึงมีคุณภาพบริการที่แย่กว่าบริการเอกชนที่รัฐบอกว่าผิดกฎหมาย ทางออกจะนำไปสู่การพัฒนาระบบรถรับจ้างให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ขณะเดียวกันหากจะยอมรับผู้ประกอบธุรกิจในมิติใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าถูกหรือผิด หากผิดแล้วยังฝ่าฝืนก็ต้องมีบทลงโทษที่ควบคุมจัดการได้ มิเช่นนั้นปัญหาการทะเลาะวิวาทแบบนี้ก็จะยังคงมีอยู่ ด้วยต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิและประโยชน์ที่มี ท่ามกลางความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริโภคที่ยังคงเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับความเสี่ยงกับระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้ต่อไปเหมือนเดิม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 จักรยานหาย ในพื้นที่ของห้างฯ

เพราะปัญหารถจักรยานหายมีให้พบเห็นได้ทั่วไป ผู้บริโภคหลายคนจึงป้องกันด้วยการจอดในพื้นที่ ที่ดูมีความปลอดภัย แต่ความจริงก็คือ ทุกพื้นที่ล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ลานจอดของห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยเดินตรวจตราอยู่ก็ตามคุณพลพลปั่นจักรยานคู่ใจไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน ซึ่งเขาได้นำรถจักรยานไปจอดในบริเวณจอดรถที่ห้างฯ จัดไว้ให้ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงไม่ได้ใช้กุญแจล็อกล้ออย่างที่เคยทำประจำ ครั้นเวลาผ่านไปเมื่อซื้อของกลับออกมาปรากฏว่ารถจักรยานหาย เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อขอให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หากรถจักรยานหายในบริเวณที่ทางห้างสรรพสินค้าจัดไว้ให้ ถือว่าทางห้างฯ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมาตรา 420 ความรับผิดเพื่อละเมิด ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ผู้นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับกรณีร้องเรียนนี้ ทางศูนย์ฯ สามารถช่วยผู้ร้องทำหนังสือไปยังห้างฯ ดังกล่าว เพื่อขอเจรจาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อตรวจสอบเรื่องราวแล้วพบว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว ซึ่งเลยอายุความละเมิดไปเรียบร้อย เพราะสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายนั้นมีอายุความ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงจำต้องยุติการร้องเรียนไป ศูนย์ฯ จึงอยากฝากเตือนผู้บริโภคที่พบลักษณะปัญหาทำนองเดียวกันนี้ว่า ควรรีบร้องเรียนให้ขอให้มีการรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันคดีหมดอายุความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 กระแสต่างแดน

เปลี่ยนแล้วปังปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นเริ่มหันมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมกันมากขึ้น นี่คือข้อสรุปจากรายงานของ Baptist World Aid Australia ที่สำรวจแบรนด์เสื้อผ้า 407 แบรนด์มีผู้ได้คะแนนสูงสุด (A+) แปดราย แต่ที่น่าสนใจคือแบรนด์ที่เคยได้คะแนน B- เมื่อห้าปีก่อนอย่าง Cotton On สามารถเพิ่มคะแนนจริยธรรมการประกอบการของตนเองขึ้นมาเป็นระดับ A ได้สวยๆ  บริษัทยอมรับว่าผลสำรวจคราวก่อนเป็นแรงผลักดันให้คิดใหม่ทำใหม่ ต้องเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ บริษัทแสดงรายชื่อโรงงานกว่า 2,500 แห่งที่ผลิตสินค้าของบริษัทให้ผู้สนใจเข้าดูได้ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนไร่ฝ้ายในเคนยาที่มีการจ้างงานคนท้องถิ่นกว่า 1,500 คน และมีโครงการรับเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้ากลับไปรีไซเคิลด้วย  ในขณะเดียวกันรายที่ได้คะแนนต่ำอ้างว่าการสำรวจนี้ให้เวลาน้อยเกินไป ถามคำถามจุกจิก และเกณฑ์ของผู้สำรวจไม่ตรงกับเกณฑ์ที่บริษัทใช้อยู่ อืม...นะ(เผื่อคุณสงสัย... Zara และ H&M ได้คะแนน A- และ B+ ตามลำดับ)  ปิดบัญชีตำรวจเซี่ยงไฮ้กำลังจับตาบัญชีธนาคารที่ไม่มีเงินฝาก เพราะมีแนวโน้มจะเป็นบัญชีที่แก๊งมิจฉาชีพใช้หลอกลวงให้คนโอนเงินผ่านมือถือหรืออินเทอร์เน็ต ล่าสุดเขาสั่งปิดบัญชีแบบนี้ไป 405 บัญชี หน่วยปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และโทรคมนาคมของเซี่ยงไฮ้ พบว่ามีโทรศัพท์ “น่าสงสัย” วันละไม่ต่ำกว่า 2,000 สาย โดยคนที่โทรมามักแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเป็นผู้ดูแลที่อยู่อาศัยที่ ทางการส่งมา การหลอกลวงรูปแบบนี้แพร่ระบาดมากขึ้น สองปีก่อนตอนที่เริ่มก่อตั้งหน่วยฯ สถิติโทรศัพท์โทรศัพท์หลอกลวงอยู่ที่วันละ 100 สายเท่านั้น นอกจากจะตามปิดบัญชีเปล่าแล้ว หน่วยนี้ยังจัดการอบรมให้กับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ผู้สูงอายุ นักศึกษา มหาวิทยาลัย และพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทต่างๆ ด้วย  “คุณกำลังคิดอะไรอยู่”เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยที่ดี กฎหมาย Fair Housing Act ของอเมริกาจึงห้ามการโฆษณาขายหรือให้เช่าที่อยู่อาศัยแบบเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ ความพิการ หรือสถานะครอบครัว  ล่าสุด กลุ่มผู้รณรงค์ด้านที่อยู่อาศัยร่วมกันฟ้อง facebook ที่ยอมให้มีการเจาะจงเลือกเสนอโฆษณาขายหรือให้เช่าบ้านกับคนบางกลุ่ม ในขณะที่ “ผู้หญิง” และ “ครอบครัวที่มีเด็ก” เสียโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยเพราะไม่สามารถมองเห็นโฆษณานั้นได้  องค์กรพัฒนาเอกชน ProPublica เคยทดลองปลอมเป็นตัวแทนขายบ้านและซื้อโฆษณากับ facebook โดยระบุเงื่อนไขว่าไม่ต้องแสดงโฆษณาดังกล่าวกับ คนเชื้อสายยิว ชาวต่างชาติจากอาร์เจนตินา คนที่พูดภาษาสเปน คนที่เคยแสดงความสนใจเรื่องทางลาด และคุณแม่ชาวอัฟริกันอเมริกันที่มีลูกกำลังเรียนมัธยมปลาย สิ่งที่เขาพบคือ facebook ยินดีจัดให้ตามนั้นจริงๆ  จัดก่อนจรการใช้จักรยานร่วมกัน (bike sharing) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในเยอรมนี ขณะนี้มีผู้ให้บริการไม่ต่ำกว่าสิบบริษัทในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ แน่นอนการเปลี่ยนมาใช้จักรยานเช่านั้นมีข้อดีหลายอย่าง ตามข้อตกลงการใช้ ผู้ขับขี่สามารถจอดจักรยานไว้ตรงไหนก็ได้เพื่อให้คนที่ผ่านมาใช้แอปเปิดล็อกและใช้ต่อได้เลย แต่สิ่งที่เริ่มเป็นปัญหาตอนนี้คือ จักรยานที่จอดเกะกะอยู่ทั่วทั้งเมือง ตั้งแต่กลางทางเท้า เลนจักรยาน หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะ เมื่อจำนวนจักรยานดูเหมือนจะมากเกินพื้นที่จอด หลายเมืองในเยอรมนีจึงต้องรีบออกมาจัดระเบียบ เมืองโคโลญกำหนดโซนห้ามจอดจักรยานแล้ว ในขณะที่มิวนิคและแฟรงค์เฟิร์ตจัดพิมพ์คู่มือให้ผู้ประกอบการนำไปใช้กำหนดพื้นที่จอด รวมถึงจำนวนจักรยานที่อนุญาตให้จอดได้ต่อหนึ่งจุดด้วยด้านสมาคมจักรยานก็กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่จอดจักรยานเสียเลย วนิลาบุกป่าไม่นานมานี้ มาดากัสการ์เบียดเม็กซิโกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตวนิลาอันดับหนึ่งของโลก ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา(ปัจจุบันกิโลละประมาณ 16,000 บาท) ใครๆ ก็อยากปลูกสิ่งที่เกิดตามมาคือการถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกวนิลา และอัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การลักขโมยผลผลิต การข่มขู่รีดไถโดยกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ไปจนถึงการลงมือทำร้ายหรือสังหาร “ผู้ร้าย” โดยกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ต้องการพึ่งพาตำรวจพืชที่ให้กลิ่นรสหอมหวานนี้ยังกลายเป็นสินค้าหลักในการฟอกเงินของขบวนการลักลอบค้าไม้พยูงไปยังประเทศจีนอีกด้วย  ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เกาะมาดากัสการ์ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพอันน่าทึ่งนี้คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ใช้เทคโนโลยีช่วยจำ ระวังทำสมองเสื่อม ข้อมูลจากงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12 และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดที่ส่งผลกับการทำงานของสมองและความผิดปกติของต่อมไธรอยด์แล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ก็มีผลกับโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง เช่น บันทึกข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะแล้วต้องคอยอ่านเนื้อเพลงแทนการจดจำ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการใช้สมองคำนวณ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสมองเสื่อมก็อาจจะตามมา   สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม วิธีง่ายๆ คือพยายามฝึกใช้สมองเป็นประจำ เช่น การท่องจำหรือคิดคำนวณต่างๆ เล่นเกมที่ฝึกสมอง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยการกระตุ้นทำงานของสมองได้ ------------------------------------------------------     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบุกยึดประเทศไทย เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากจนน่าตกใจ ว่ากันว่าสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ซึ่งปริมาณมากแบบนี้ย่อมมีผลกระทบกับคนที่รับประทานผักแน่นอน นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่าในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ข้อมูลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นต้นเหตุของร้ายโรคอันตราย โดยเฉพาะมะเร็ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูง นอกจากการที่ภาครัฐฯ ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสารเคมีแก่เกษตรกรแล้ว ยังมีเรื่องของการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งควรยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายเฉียบพลัน โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศยกเลิกทั้งผลิตและนำเข้าไปแล้ว     เตือน! “สบู่ดำ” พิษถึงตาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี แจ้งเตือนอันตรายของ “เมล็ดสบู่ดำ” สมุนไพรพื้นบ้านที่มีพิษร้ายแรง ถ้าหากใครเผลอรับประทานเข้าไปมีสิทธิเสียชีวิต เพราะพิษของเมล็ดสบู่ดำมีผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้หากน้ำยางถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนรุนแรง ยิ่งถ้าหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยอาหารพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เก็บเมล็ดมาทานด้วยความไม่รู้ แนะวิธีป้องกันให้หน่วยงานและชุมชนที่ปลูกควรทำป้ายชื่อกำกับ แจ้งคำเตือนว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทาน เมล็ดสบู่ดำนิยมปลูกมากในหลายจังหวัด เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากเมล็ดสบู่ดำนอกจากเป็นพืชสมุนไพร เพราะเปลือกและใบสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะและเป็นยาแก้ไอ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพลังงานทดแทนเพราะนำไปสกัดเป็นน้ำมันได้     ปั่นต้านโลภ เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม "ปั่นต้านโลภ หยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน” เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีผู้ปั่นจักรยานเข้าร่วมขบวนรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้กว่า 200 คัน ซึ่งเส้นทางในการปั่นจักรยานเริ่มต้นจากสวนสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน แล้วไปจบที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน สำนักงานใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านข้อเรียกร้องที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น   หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและรถยนต์ ที่กำหนดเริ่มเดือนเมษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคปิโตรเคมีที่ใช้ แอลพีจี เป็นวัตถุดิบในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท เหมือนที่เรียกเก็บกับอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่หมดไปในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ หยุดการผูกขาดของธุรกิจก๊าซและพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัดและอธิบดีในกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค --------------     ประกวดสปอตโฆษณา องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ประกาศผลผู้ชนะไปแล้วเรียบร้อย สำหรับกิจกรรมการประกวดสปอตโฆษณา “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือและร่วมเป็นหนึ่งแรงในการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ให้กับสังคม ซึ่งผลงานสปอตโฆษณาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่เรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน” จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้อีกหนึ่งผลงานจากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อว่า “การคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน” ก็ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวตด้วยอีกหนึ่งรางวัล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง “Guinness Van” จากทีม SWEET KID รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง “หยุดเอาเปรียบฉัน” จากทีมลูกหมาสามตัว ใครที่อยากชมผลงานสปอตที่ได้รับรางวัลและผลงานคลิปอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเฟซบุ๊คมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค www.facebook.com/cindependence   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ฉลาดขี่ (จักรยาน)

สมัยนี้จะมองไปทางซ้ายหรือขวา ก็เห็นผู้คนหันมาใช้ “จักรยาน” ตามท้องถนนกันมากขึ้น มีทั้งที่ปั่นกินลมชมวิว และฮิตที่สุดก็คงจะเป็นเทรนด์ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามสำหรับมือใหม่ที่กำลังสนใจจะปั่นจักรยานก็คงต้องศึกษาวิธีการเลือกซื้อ - เลือกใช้จักรยาน ให้เหมาะสมกับกิจกรรม เพราะเท่าที่รู้มา กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งประเภทและลักษณะการใช้งานจักรยานมาเป็น 5 ประเภท แบบแรกจักรยานทั่วไปหรือจักรยานแม่บ้าน จักรยานประเภทนี้ส่วนมากไม่มีเกียร์ มีตะแกรงหน้าไว้สำหรับใส่ของ และมีน้ำหนักต่อคันค่อนข้างมาก ต้องใช้แรงถีบมากหน่อย แต่ข้อดีคือ มีราคาถูก ควักกระเป๋าซื้อหาได้สบายตามร้านขายจักรยานทั่วไป และเมื่อชำรุดก็มีร้านรับซ่อมหาง่ายอีกด้วย แบบที่สองจักรยานพับได้ เดี๋ยวนี้มีผลิตในประเทศไทยแล้วแต่ที่นักปั่นนิยมใช้มักสั่งมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ จักรยานมือสองของญี่ปุ่น ลักษณะพับได้ กะทัดรัด ซึ่งหากจะใช้มือหนึ่งคงต้องยอมจ่ายแพงหน่อย แบบที่สามจักรยานออกกำลังกายและท่องเที่ยว จักรยานประเภทนี้เมื่อปั่นแล้วจะรู้สึกเบาแรง เพราะติดระบบเกียร์ที่ช่วยเบาแรงนักปั่น โดยแบ่งตามลักษณะเฉพาะ คือ (1) จักรยานเสือหมอบ คล้ายจักรยานแข่งแต่คุณภาพอุปกรณ์จะด้อยกว่า จึงเหมาะสำหรับปั่นบนทางเรียบเท่านั้น (2) จักรยานท่องเที่ยว นอกจากปั่นไปเที่ยวบนทางราบหรือทางขรุขระเล็กน้อยแล้วยังใช้ปั่นออกกำลังหรือปั่นไปทำงานได้ด้วย ลักษณะมีตะแกรงด้านท้ายไว้สำหรับวางสัมภาระ ซึ่งมีระบบเกียร์ให้เลือกตั้งแต่ 10 - 27 สปีด (3) จักรยานเสือภูเขา เป็นจักรยานที่ออกแบบไว้ปั่นขึ้นลงเขา สามารถใช้งานสมบุกสมบัน  มีโครงสร้างที่แข็งแรง ล้อยางใหญ่หรืออ้วน ดอกยางใหญ่และหนา ทำให้เกาะพื้นถนนได้ดีโดยเฉพาะเวลาปั่นขึ้นเนินชัน ๆ ทั้งยังสามารถใช้งานได้ในทุกพื้นผิวถนน แถมมีระบบเกียร์ให้เลือกตั้งแต่ 10 - 27 สปีด และมีแบบลูกผสมหรือจักรยานเมือง (ซิตี้ไบค์) สามารถปั่นบนถนนธรรมดาได้เร็ว มีลักษณะเหมือนเสือภูเขา แต่ยางล้อเล็กกว่า ดอกยางไม่ลึกเมื่อเทียบกับเสือภูเขา เวลาปั่นในเมืองจะเปลืองแรงน้อยกว่า แบบที่สี่จักรยานแข่ง หรือจักรยานแบบเสือหมอบ ส่วนใหญ่นักกีฬาใช้แข่งขัน มีน้ำหนักเบามาก มีเกียร์ตั้งแต่ 1 - 27 สปีด ตัวถังเล็ก เพรียวลม ยางรถจะผอมและทนแรงดันได้สูง มีการตัดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น เช่น ขาตั้ง บังโคลน ออกเพื่อให้เบาแรงได้ดี จักรยานชนิดนี้มีราคาแพงมาก มีตั้งแต่ราคาหลักหมื่น จนถึงหลายแสนบาท แบบที่ห้าจักรยานฟิกซ์เกียร์ จักรยานประเภทนี้มีสปีดเดียว เฟืองหลังเป็นแบบตายหรือฟิกซ์ คือปล่อยฟรี หรือปั่นขาทวนกลับไม่ได้ การขี่จึงต้องหมุนขาไปข้างหน้าตลอดเวลา เพราะหากไม่หมุนขาเฟืองก็จะไม่หมุน ซึ่งก็คือการเบรกนั่นเอง และถ้าต้องเบรกเร็ว ๆ แรง ๆ ก็ให้กระทืบขาย้อนกลับหลัง จักรยานจะหยุดทันที แบบนี้น่าจะเหมาะกับคนที่ขี่เก่งแล้ว   อุปกรณ์ความปลอดภัยที่สำคัญ เมื่อเลือกซื้อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ควรละเลยเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัย ซึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ ก่อนก้าวเท้าปั่นจักรยานออกจากบ้าน ที่พอจะสรุปข้อมูลได้จากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย มีดังนี้ 1.หมวกกันน็อค ทุกครั้งควรใส่เพราะหากเกิดอุบัติเหตุและสมองได้รับการกระทบกระเทือน ก็ไม่รู้ว่ามากน้อยแค่ไหน เลวร้ายอาจพิการถึงขั้นเสียชีวิตไปเลยก็เป็นได้ 2.ไฟหน้าและไฟท้าย ถือเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับหมวกกันน็อค เพราะจะทำให้รถคันใหญ่หรือรถคันเล็กที่วิ่งบนถนนเดียวกัน สามารถเห็นเราได้ถนัด โดยเฉพาะยิ่งเวลากลางค่ำ กลางคืน ฝนตก หรือแม้แต่หมอกหนาจัด ก็จะเพิ่มความปลอดภัยได้เช่นกัน 3.กระจกส่องหลัง อุปกรณ์ที่เป็นตาหลังให้นักปั่นขณะที่จะต้องเลี้ยวก็ไม่ต้องหันไปมองรถคันหลังหรือรถที่กำลังแซง เพราะถ้าหันไปมองแล้วอาจเสียหลักและเกิดอุบัติเหตุนี่จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มสมาธิให้นักปั่น เวลาจะเปลี่ยนเลนหรือแซงคันข้างหน้า 4.กระดิ่ง , แตรไฟฟ้า ในกรณีนี้จะช่วยส่งสัญญาณเตือนให้รถที่สัญจรได้เห็นจักรยานที่ปั่นอยู่ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ยิ่งมีสัญญาณดังเท่าไรยิ่งดี 5. เสื้อ,กางเกง ,ปลอกแขนและผ้าปิดจมูก สำหรับนักปั่นสายกีฬา คงต้องมีไว้ติดกายใส่ก่อนปั่นทุกครั้ง อาทิ เสื้อนักปั่น ต้องเหมาะสมช่วยระบายเหงื่อได้เร็ว ไม่อึดอัด ยางยืดที่ชายเสื้อ จะช่วยให้ลมเข้าสู่ร่างกาย เหงื่อไม่หมักหมม จนรำคาญขัดจังหวะการปั่นจักรยาน กางเกงต้องมีฟองน้ำ , เจล กระชับแนบเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวดน่องหลังจากปั่นเป็นเวาลานาน ๆ สำหรับปลอกแขน มีไว้กันแดด ควรเลือกที่ระบายเหงื่อได้ดี และผ้าปิดจมูกนอกจากกันแดดแล้ว ยังจำเป็นในการปั่น ณ บริเวณเมืองใหญ่ ๆ เพราะจะช่วยป้องกันฝุ่นและควันได้ดี แต่กรณีปั่นเที่ยวหรือจ่ายตลาดทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องจัดเต็มทั้งชุดที่กล่าวมาก็ได้ เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเงินเปล่า ๆ ดังนั้นปั่นใกล้ ๆ เลือกสวมใส่เสื้อที่เหมาะสม ถนัด ชุดทะมัดทะแมงคล่องตัว 6. ถุงมือ จำเป็นยิ่งสำหรับมือใหม่หัดปั่น ในสายกีฬาอย่าคิดว่าถุงมือไม่สำคัญ เพราะเมื่อปั่นไปเรื่อย ๆ มือจะมีเหงื่อเหนียวและลื่น ทำให้ปั่นไม่ถนัดจะพลาดเกิดอุบัติเหตุ 7. แว่นตา เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สามารถป้องกันฝุ่นควัน แมลง แถมยังถนอมสายตาอีกด้วย 8.กระเป๋า อุปกรณ์สุดท้ายที่ขาดไม่ได้ เพราะนอกจากใส่สิ่งของจำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าตังค์ แล้วในนั้นควรจะมียาสามัญไว้ปฐมพยายบาลเบื้องต้น ป้องกันไว้กรณีมีอุบัติเหตุจะได้รักษาได้ทันท่วงที และที่สำคัญอย่าลืมบันทึกเบอร์สำคัญ ๆ เช่นโรงพยาบาล สถานีตำรวจ และเก็บเบอร์โทรญาติคนสนิทไว้ด้วย เผื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ที่มาพบเห็นจะได้โทรแจ้งและช่วยเหลือได้ ด้วยเหตุที่บนท้องถนนมีรถสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก เรา ๆ ท่านๆ คงไม่อยากให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น โดยเฉพาะยิ่งรถจักรยาน พาหนะคันเล็ก ๆ ที่โบราณเรียกเนื้อหุ้มเหล็ก ดี ๆ นั่นเอง จึงยิ่งต้องเพิ่มความปลอดภัยและเคารพกติกามารยาทบนท้องถนน และเมื่อไรหนอประเทศไทยบ้านเราจะมีเลนบนถนน เว้นพื้นที่ไว้ให้ “นักปั่น” เหมือนกับประเทศศิวิไลซ์ทั้งหลายบ้างนะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 ปวดหัวกับพี่วิน ปัญหานี้มีทางออก

ปัญหาที่มีร้องเรียนเข้ามามากมายอย่างต่อเนื่องของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในหมวดบริการสาธารณะก็คือ ปัญหาจากการบริการของมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือว่า พี่วิน ของเราท่านนั่นเองปัญหาที่ผู้บริโภคพบส่วนใหญ่คือ คิดราคาแพง เกินกว่าป้ายบอกราคา   หรือแพงกว่าที่ควรจะเป็น  ตั้งราคาเอง  วินเถื่อน  การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารที่มีรูปร่างอวบอ้วน น้ำหนักตัวมาก กิริยา วาจา ไม่สุภาพ หรือบางรายเข้าข่ายลวนลามลูกค้าก็มี  เรื่องทำนองนี้มีมาเข้ามามิได้หยุดหย่อน แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีเมื่อเจอกับปัญหาลักษณะนี้คุณแสนดี เป็นผู้หนึ่งที่ใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่เป็นประจำ เพราะบ้านพักอยู่ในซอยที่ค่อนข้างเปลี่ยวและลึก และวันหนึ่งเธอก็ใช้บริการตามปกติ กับวินเดิม แต่สิ่งที่ทำให้คุณแสนดีปรี๊ดแตกก็คือวันนั้นพี่วินไม่ยอมเข้าไปส่งเธอถึงบ้านพักเพราะอ้างว่า ซอยเปลี่ยวและดึกเกินไป ทั้งที่นาฬิกาข้อมือบอกเวลาที่ 19.00 น. เท่านั้นคุณแสนดีพยายามบอกให้คนขับเข้าไปส่งเพราะเธอไม่อยากเดินเข้าไปในซอยเพราะแม้ไม่ดึก แต่ก็มีคนงานตั้งวงดื่มสุรากันริมทาง เกรงจะไม่ปลอดภัย แต่คนขับก็ยืนยันไม่เข้าไปส่งท่าเดียว จนในที่สุดคุณแสนดีต้องจำใจเดินเข้าซอยท่ามกลางความหวาดระแวงตลอดทางจนถึงบ้าน แต่ด้วยความรอบคอบเธอสามารถจดจำหมายเลขทะเบียนรถ และหมายเลขเสื้อของคนขับได้ครบถ้วนจึงได้นำเรื่องมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าท่านพบเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกับคุณแสนดี หรือถูกเอาเปรียบในเรื่องอื่นๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้ดังต่อไปนี้ -  จดจำรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่ตั้งวิน หมายเลขทะเบียนรถ หมายเลขที่เสื้อคนขับ พื้นที่ให้บริการซึ่งจะระบุไว้ที่ตัวเสื้อ และช่วงเวลาที่เกิดเหตุ -  ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ควบคุม ดูแล ประกอบด้วย1) ตำรวจ ท้องที่ที่เกิดเหตุ 2) สำนักงานเขต 3) กรมการขนส่งทางบก -  การร้องเรียน แจ้งเบาะแส พฤติกรรม ต้องดำเนินการทำเป็นลายลักษณ์อักษร จะเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะสามารถติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆที่รับเรื่องร้องเรียนได้ด้วย หากไม่มีความคืบหน้าก็สามารถดำเนินการทางปกครองกับหน่วยงานเหล่านี้ตาม มาตรา 157 (ละเว้นปฏิบัติหน้าที่) ค่ะ   จุดสังเกตว่าเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ผิดกฎหมาย หรือ วินเถื่อน - ไม่มีการสวมเสื้อวิน - ไม่มีเบอร์ หรือหมายเลขปรากฎด้านหลัง - ไม่มีการระบุเขตพื้นที่การวิ่งรถ - ไม่มีการระบุชื่อ พนักงานขับรถที่หน้าอกเสื้อวิน หากพบว่า เป็นวินเถื่อน แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ซื้อจักรยานราคาแพง ได้ยางแตกลายงา

“จักรยานของพี่ราคาไม่กี่ร้อยบาท...”ยอดรัก สลักใจ สมัยยังหนุ่มเคยร้องเพลง “จักรยานคนจน” บอกราคาไว้ในเนื้อเพลงเสร็จสรรพ  แสดงว่าจักรยานสมัยก่อนราคาไม่แพงมาก แต่ตอนนี้ราคาจักรยานเปลี่ยนไปมากแล้วจักรยานที่คุณสุรัตน์ไปซื้อที่ร้านแห่งหนึ่ง แถวสบตุ๋ย จ.ลำปาง  เป็นจักรยานของ LA  รุ่น ELILE ราคา 7,000 บาท ซึ่งคุณสุรัตน์ไม่ได้ติดใจในเรื่องราคามากนัก แต่ที่เป็นปัญหาคือ หลังซื้อมาได้เพียง 6 เดือน สังเกตเห็นว่าขอบยางล้อจักรยานมีรอยแตกลายงาโดยรอบทั้งสองเส้น ก็ไม่รู้ว่าไปเลียนแบบปัญหาป้ายทะเบียนรถยนต์แตกลายงาด้วยหรือเปล่า คุณสุรัตน์บอกว่า จักรยานถูกใช้งานน้อยมากส่วนใหญ่จอดอยู่ในโรงรถวันต่อมาจึงนำรถจักรยานไปให้เจ้าของร้านที่ขายจักรยานดูเพื่อขอเปลี่ยนยางใหม่ คิดว่ายางไม่น่าจะหมดอายุไวขนาดนี้ ร้านน่าจะช่วยรับผิดชอบได้ แต่เจ้าของร้านกลับพูดว่า รับผิดชอบให้ไม่ได้เพราะเป็นจักรยานรุ่นที่บริษัทโละมาขาย“ตอนที่เราซื้อมา ร้านไม่ได้พูดแบบนี้ และยังท้าให้เราไปฟ้อง สคบ. ใช้กิริยาที่ไม่สมควรหลายอย่าง เช่น บอกว่าจะต่อโทรศัพท์ให้เราคุยกับตัวแทน แต่พอต่อได้ กลับคุยกันเรื่องอื่นหลายเรื่อง เช่น เรื่องเป้าของบริษัท เรื่องการไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่สนใจว่าเรารอคำตอบอยู่” สุดท้ายในการเจรจาวันนั้น ร้านตัวแทนจำหน่ายให้ข้อเสนอว่า จะรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่ายาง 2 เส้นใหม่ให้ในราคารวมสองร้อยบาท พอคุณสุรัตน์ได้เห็นยางใหม่ที่เจ้าของร้านเอามานำเสนอ ก็ต้องส่ายหน้าเพราะเป็นยางคุณภาพต่ำ คุณสุรัตน์ยืนยันขอเปลี่ยนเป็นยางยี่ห้อเกรดเดียวกับที่ขายมากับรถ แต่ทางร้านบอกจัดให้ไม่ได้ แถมแนะนำให้ไปฟ้อง สคบ. เสียอีกเรื่องนี้คุณสุรัตน์ไม่ได้ไปที่ สคบ. แต่ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแทน แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาความรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้า กฎหมายกำหนดว่าให้ผู้ซื้อเรียกร้องให้ผู้ขายต้องรับผิดได้ภายในหนึ่งปี พ้นจากนี้ไปจะเรียกร้องบังคับกันไม่ได้ นี้คือหลักพื้นฐานของกฎหมายที่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นแนวทางในการเจรจาเรียกร้องต่อผู้ขายให้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวสินค้าเราได้แนะนำให้คุณสุรัตน์มีหนังสือไปถึงบริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเปลี่ยนยางเส้นใหม่รุ่นเดิมให้ หลังคุณสุรัตน์ส่งหนังสือไปไม่นานเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงได้ติดตามเรื่องให้อีกทางกับฝ่ายการตลาดของบริษัท ซึ่งได้ขอให้คุณสุรัตน์ช่วยส่งภาพถ่ายรถ และยางที่เกิดปัญหาให้กับบริษัทได้ตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งในที่สุดบริษัทฯ ได้แสดงความรับผิดชอบตามที่คุณสุรัตน์ร้องขอ ด้วยการส่งยางจักรยานเกรดเดียวกับที่คุณสุรัตน์ต้องการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายถามว่าเรื่องนี้ทำไมผู้บริโภคถึงสามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ผล พอกลับมาดูเนื้อจดหมายที่คุณสุรัตน์เขียนถึงบริษัทก็เลยถึงบางอ้อ คุณสุรัตน์ทิ้งท้ายไว้ว่า“ขอให้ทางบริษัทอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แล้วไม่เอาใจใส่ เพราะอาจกระทบถึงชื่อเสียงของบริษัท หากไม่มีความรับผิดชอบ และขอให้บริษัทพิจารณาคุณภาพการบริการของตัวแทนจำหน่ายด้วย”อย่างนี้ต้องเรียกว่ามีลูกอ้อนลูกประณามลูกฟ้องครบครัน      หากบริษัทไม่รับผิดชอบก็ไม่ไหวแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รถหาย แต่ถูกขู่ว่ายักยอกทรัพย์

ในปัจจุบันต้องถือว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ซื้อง่ายและหายก็คล่อง อย่างที่มีข่าวว่า มีการค้นพบสุสานโครงรถจักรยานยนต์ในคลองแห่งหนึ่งที่แก๊งค์ลักรถนำมาทิ้งไว้ ทำให้มีคำถามเข้ามามากว่า เมื่อรถหายแล้วผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถคันนั้นมาจะต้องผ่อนกุญแจรถต่อไปหรือไม่ คำถามนี้มีคำตอบครับคุณนฤมลได้ร้องเรียนมาว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 1 คัน ในราคา 41,000 บาท กับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) โดยตกลงชำระเป็นงวด 36 งวด ๆ ละ 1,750 บาท คุณนฤมลได้ชำระมาถึงงวดที่ 19 ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์สุดที่รักถูกขโมยหายไป ได้แจ้งความกับตำรวจไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่ปรากฏว่าบริษัทอิออนได้มีเอกสารมาแจ้งให้คุณนฤมลชำระเงินต่อให้หมดอีก 17 งวดที่เหลือ คุณนฤมลพยายามต่อรองขอส่วนลดกับอิออนโดยขอชำระส่วนที่เป็นเงินต้นที่ค้างอยู่ แต่ทางอิออนบอกว่า ไม่ได้ ต้องจ่ายให้หมด ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องข้อหายักยอกทรัพย์อ้าว...! ไหงเป็นอย่างนี้ล่ะ คุณนฤมลร้อง อุตส่าห์ยอมที่จะผ่อนกุญแจรถให้แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรไปเสียนี่ จึงอยากจะให้ทางมูลนิธิ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาว่าตามกฎหมายแล้ว ในฐานะผู้บริโภคจะสามารถจ่ายในส่วนของเงินต้นที่ค้างอยู่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดีนัก รายรับไม่แน่นอน จึงอยากจะเก็บสะสมเงินก้อนเพื่อนำไปจ่ายหนี้สินให้กับทางอิออนให้หมดไป มารดาจะได้ไม่ต้องทุกข์ใจเมื่อทางเจ้าหน้าที่โทรและส่งจดหมายมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นของไฟแนนซ์หรือลิซซิ่งไหนก็แล้วแต่ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสัญญาตามประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้คุ้มครองผู้บริโภคไม่ต้องผ่อนค่ากุญแจต่อไปจนครบสัญญาในกรณีที่รถหรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เพราะถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้ระงับลงแล้วเมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้สูญหายไปดังนั้น หากผู้บริโภคมั่นใจว่าการสูญหายของรถนั้นไม่ได้เกิดมาจากความประมาทหรือความจงใจของตนก็ให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที และให้ส่งสำเนาหลักฐานการแจ้งความไปให้อิออนครับ ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ เก็บตัวจริงไว้เป็นหลักฐาน หากจะมีการกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นผู้ยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้นเองฝ่ายผู้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเช่นกันครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 แร็คแขวนจักรยานท้ายรถ

ใกล้วันหยุดยาวกันแล้ว ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลการทดสอบอุปกรณ์เพื่อการพกพาจักรยานคันโปรดของคุณและสมาชิกครอบครัวไปด้วยในยามที่ไปพักผ่อนนอกสถานที่ แร็คจักรยานทั้งหมด 22 รุ่นยอดนิยมในยุโรป ถูกส่งไปที่ห้องแล็บของสถาบันทดสอบทางวิศวกรรมในสาธารณรัฐเช็ก โดยสมาชิกในยุโรปขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing การทดสอบดังกล่าวแบ่งการให้คะแนนออกเป็น 3 ด้านดังนี้ร้อยละ 50    ประสิทธิภาพการใช้งาน ดูจากเวลาที่ใช้ในการนำจักรยานขึ้นไปติดตั้ง การถอดจักรยานออก        จากอุปกรณ์ และการทดสอบบนถนน ด้วยการนำรถที่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าววิ่งบนสภาพถนน         3 ประเภท แล้วตรวจสอบว่าเกิดการโยกแยก เลื่อนหลุด มากน้อยแค่ไหน -    ทางหลวง เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง-    ถนนสายรองประเภทที่ 2 และ 3 (ตามเกณฑ์ของยุโรป) ที่มีความชัน ทางโค้ง เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 10-18 กิโลเมตร/ชั่วโมง-    ถนนดิน/กรวด เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 10-18 กิโลเมตร/ชั่วโมงร้อยละ 35    ความแข็งแรงทนทาน ดูจากคุณภาพการประกอบชิ้นงาน ความปลอดภัยของชิ้นส่วนและ            กลไกต่างๆ  ความทนทานต่อการขึ้นสนิม (เมื่อทิ้งไว้ในห้องที่มีฝุ่นเกลือเป็นเวลา 48 ชั่วโมง)         รวมถึงความเป็นไปได้ในการล็อคกันขโมยร้อยละ 15     ความสะดวกในการประกอบอุปกรณ์ ติดตั้ง รวมถึงคู่มือและเวลาที่ใช้ในการติดตั้ง     คราวนี้เรานำเสนอเพียง 18 รุ่น (จากทั้งหมด 22 รุ่น) เพราะที่เหลือได้คะแนนน้อยกว่า 3 ดาว นอกจากนี้เรายังพบว่าของถูกนั้นมี แต่ของดีที่ได้คะแนนรวมสูงนั้นราคาไม่ถูก บอกเลยว่าถ้าอยากได้ของดี คุณต้องเตรียมควักเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท  * หมายเหตุ ราคาที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นราคาที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ท และคำนวณเป็นเงินบาทจากอัตราแลกเงินในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 กรุณาตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ                              

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ปั่นปลอดภัย ไปกับหมวกนิรภัย

เป็นที่รู้กันดีว่าการขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง แถมยังเป็นการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดอยู่ตรงที่หลายคนยังไม่มั่นใจว่าการใช้จักรยานสัญจรไปมาจะปลอดภัย มูลนิธิโลกสีเขียวมีผลสำรวจความคิดเห็นที่ยืนยันว่าร้อยละ 85 ของคนกรุงเทพฯ ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม (ประมาณ 4,500 คน) ยินดีจะใช้จักรยานในการเดินทางถ้าพวกเขารู้สึกว่าสามารถขับขี่ได้โดยไม่มีอันตราย ระหว่างที่เรากำลังรอให้เกิดทางจักรยานที่ปลอดภัยและใช้สะดวกมากขึ้น ฉลาดซื้อ ขอนำเสนอผลการทดสอบหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บเป็นหลัก ตามด้วยความสะดวกสบายในการสวมใส่ การระบายอากาศ และการปลอดสารเคมีอันตราย   ด้วยเนื้อที่อันจำกัด เราจึงขอนำเสนอเฉพาะ 10 รุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงสุด (จากหมวกที่เข้าทดสอบทั้งหมด 25 รุ่น) และได้คะแนนประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บในระดับ 4 ดาว ต้องบอกไว้ตรงนี้ว่ายังไม่มีรุ่นไหนที่ได้คะแนน 5 ดาวไปเลย     Casco Activ-TC ราคา  2,390 บาท น้ำหนัก 291 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         5 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     Specialized Align  ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 336 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Specialized Echelon ราคา 2,500 บาท น้ำหนัก 293 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Giro Savant  ราคา 3,000 บาท น้ำหนัก 240 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Profex FZ-006 ราคา 720 บาท น้ำหนัก 257 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศ  - ไม่ระบุ     Giro Transfer ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 261 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Cratoni  Evolution ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 501 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         3 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Uvex Discovery  ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 398 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  3 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Casco E.Motion ราคา 5,500 บาท น้ำหนัก 464 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       3 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     BELL Muni  ราคา 3,200 บาท น้ำหนัก 326 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       2 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5     รุ่นอื่นๆ ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 3 ดาว Nutcase URS - 011S BELL Venture BELL Faction ABUS ASA Aven-U Etto B-1350 City Safe Uvex xp 17 city ALPINA City Giro Surface GUB GUBX5   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 2 ดาว Rudy Project Snuggy ABUS HS-17 Urbanaut Limar 525 KED Sky Two   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 1 ดาว MET Cameleonte Executive ---   ฉลาดซื้อแนะ หมวกนิรภัยมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเลือกที่จะซื้อแบบ “มือสอง” มาใช้ อย่าลืมตรวจเช็คว่ามีรอยบุบหรือไม่ (เพื่อจะได้มั่นใจว่ามันยังไม่ผ่านการชนหรือกระแทกมาแล้ว) ที่สำคัญวัสดุต่างๆที่ใช้ทำตัวหมวกก็มีอายุจำกัด ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงหมวกที่ผลิตมาแล้วเกิน 5 ปี เมื่อมีหมวกแล้วก็ต้องรู้จักวิธีสวมใส่ที่ถูกต้องด้วย ใส่แบบไหนแล้วเท่เราตอบไม่ได้ แต่ถ้าจะใส่ให้ปลอดภัย หมวกของคุณจะต้องอยู่ในแนวระนาบเท่านั้น สำคัญอย่างยิ่ง คือการสวมใส่หมวกนิรภัยเสมอเมื่อคุณขับขี่จักรยาน เพราะอุบัติเหตุไม่เลือกเวลาหรือระยะทางอยู่แล้ว แต่หมวกนิรภัยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับเราได้ เรายังต้องการทางจักรยานที่สะดวกและปลอดภัย เพื่อประสบการณ์การขับขี่ที่สุนทรีย์ด้วย ---- จากใจคนรักจักรยาน กรุงเทพฯ อาจจะยังห่างไกลจากการเป็น “เมืองจักรยาน” แต่มีคนอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งที่นิยมชมชอบการขี่จักรยานทั้งเพื่อเดินทางมาทำงานและเพื่อเป็นกิจกรรมผ่อนคลายในวันหยุด เรามารู้จักกับนักปั่น 3 คน จากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อให้เกิดระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในบ้านเรา มาดูกันว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับขี่จักรยานอย่างไรกันบ้าง สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการฯ สุรชัยให้ความเห็นว่า แม้กรุงเทพฯ จะมี “ทางจักรยาน” แต่จากการใช้เส้นทางจริงนั้นพบว่ายังไม่สามารถใช้ได้สะดวก ทางจักรยานซ้อนทับทางเท้า  ทางจักรยานไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยก็มี ทางไม่มีการปรับให้เรียบ มีแต่เพียงเส้นขีดไว้เท่านั้น เขามองว่า “ทางจักรยาน” ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ได้สะดวก บางครั้งทางไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยเสียดื้อๆ บางช่วงก็ซ้อนทับทางเท้า พื้นผิวทางโดยรวมก็ไม่มีการปรับให้เรียบ บ่อยครั้งไม่มีทางลาดช่วยในการเปลี่ยนระดับ (ทำให้ผู้ขับขี่ต้องจอดและยกรถจักรยาน) แถมบางพื้นที่ยังกลายเป็นแผงขายของไปอีกด้วย และที่เป็นเรื่องท้าทายสุดๆ สำหรับนักปั่น ตามความเห็นของเขาคือ ฝาท่อระบายน้ำที่บ้างก็วางในแนวขวาง บ้างก็วางในแนวขนานไปกับถนน เรียกว่าเผลอไม่ได้เลยทีเดียว สุรชัยซึ่งใช้จักรยานในการสัญจรมาตั้งแต่ปี  2548 เคยประสบอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ในวันที่คิดว่าออกไปไม่ไกลบ้าน จึงไม่ได้สวมหมวกนิรภัย แต่จักรยานล้มในช่วงที่กำลังเข้าโค้งหน้าปากซอย ผลคือคิ้วแตกและโหนกแก้มยุบ ทำให้ต้องหยุดงานไปประมาณ 4 เดือน แถมเสียค่ารักษาพยาบาลไปไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท เขาจึงอยากจะย้ำว่าหมวกนิรภัยนั้นเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย   สุภาภรณ์ มาลัยลอย เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ สุภาภรณ์ค้นพบว่า การขี่จักรยานมาทำงานนั้นเป็นประสบการณ์ที่รื่นรมย์อย่างยิ่ง จะขัดใจอยู่บ้างก็ตรงป้ายโฆษณาที่วางระเกะระกะบนทางจักรยาน และบางช่วงของทางที่ไม่เอื้อต่อการผ่านไปของจักรยานนี่แหละ เธอปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร จากบ้านในซอยลาดพร้าว 62 มายังสำนักงานในซอยรามคำแหง 39 เจ้าตัวยืนยันว่ามันสะดวกอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้าซึ่งรถติดมากๆ เธอก็ยังสามารถมาถึงสำนักงานได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ที่สำคัญประหยัดค่าเดินทางไปวันละ 66 บาท แม้จะต้องจ่ายค่าซ่อมเกียร์ เติมลม ปะยางบ้าง ก็ยังถือว่าคุ้ม สำหรับเธอ แม้ทางจักรยานจะยังไม่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานสากล แต่การได้ขี่จักรยานเองก็ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยกว่าการนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์อยู่ดี   สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ รายนี้ขัดใจกับ “ทางจักรยาน” ในเส้นทางที่เขาใช้ประจำ จนต้องหลบลงไปปั่นบนพื้นถนนอยู่บ่อยครั้ง เขาอยากให้มีการนำแนวคิดการจัดพื้นที่ถนนให้สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถยนต์และจักรยาน เจ้าตัวบอกว่าอยากให้เหมือนกับถนนที่เจนีวา ที่แบ่งพื้นที่ถนนครึ่งเลนให้กับจักรยานไปเลย สงกรานต์บอกว่าความจริงแล้วเลนจักรยานบนถนนสีลมบ้านเราก็มี เพียงแต่ยังถูกใช้เป็นที่จอดรถอยู่  หลักๆ แล้วเขาเชื่อว่าจะมีคนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ถ้ามีการออกแบบทางจักรยาน (ย้ำว่าต้องเป็น “ทางจักรยาน” ไม่ใช่การขีดเส้นเฉยๆ) โดยยึดหลักความปลอดภัย ความสะดวก และการเชื่อมต่อกับบริการสาธารณะ เช่นที่สำหรับจอดรถจักรยานที่สะดวกและปลอดภัยจากการโจรกรรมนั้นยังมีอยู่น้อยมาก ทำให้หลายคนไม่กล้าเสี่ยง สงกรานต์ลงทุนซื้อจักรยานไป 4,500 บาท ใช้ปั่นมาทำงานทุกวัน เขายืนยันว่าไม่เกิน 5 เดือนก็คืนทุน แต่ทั้งนี้ใครอยากจะสร้างเสริมประสบการณ์การขับขี่ของตนเองด้วยการลงทุนเพิ่มก็ไม่ว่ากัน ทีมนี้เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าเราอยากให้จักรยานเบาลง 1 กิโลกรัม เราก็จะต้องใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท เพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนจากเหล็กเป็นไทเทเนียม เป็นต้น เอาเป็นว่าถูกก็ได้ แพงก็ดี ลองพิจารณาหาจักรยานมาปั่นกันดู จะไปตลาด ไปทำงาน หรือไปส่งลูกที่โรงเรียนก็ตามแต่ใจ แต่อย่าลืมใส่หมวกนิรภัยด้วยแล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 กระแสต่างแดน

ดื่มตามลำดับทิม ฮันท์ บรรณาธิการร่วมของนิตยสาร Ethical Consumer ชักชวนให้คนอังกฤษเปลี่ยนจากการเดินเข้าร้านกาแฟใหญ่ๆ ด้วยความเคยชิน ไปอุดหนุนร้านกาแฟอิสระเจ้าเล็กบ้างการสำรวจโดยนิตยสารดังกล่าวพบว่าร้านอย่างสตาร์บัคส์  คอสตา  หรือคาเฟ่เนโร ได้คะแนนจริยธรรมการประกอบการในอันดับต่ำมากเมื่อเทียบกับร้านกาแฟเจ้าเล็กกว่าในขณะที่ร้านที่ได้คะแนนความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 3 อันดับต้นคือ ร้านโซโห คอฟฟี่  เอสไควร์ คอฟฟี่ และเอเอ็มที คอฟฟี่  คุณฮันท์เขาบอกว่าร้านพวกนี้ไม่เคยเลี่ยงภาษี แถมยังใช้เมล็ดกาแฟที่จัดซื้อมาด้วยราคาเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านโซโห ที่ใช้ชา กาแฟ และผงโกโก้ที่มีตรารับรอง “Fairtrade” หรือ “การค้าที่เป็นธรรม” ทั้งสิ้น หรือร้านเอเอ็มที ที่ใช้นมออร์กานิกเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มในทางกลับกัน ร้านใหญ่อย่างสตาร์บัคส์ กลับละเมิดข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน ยกเลิกการจ่ายค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน และไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะจัดหาน้ำมันปาล์มจากแหล่งที่ถูกที่ควร ส่วนคาเฟ่เนโร และคอสตา คอฟฟี่ ก็แทบไม่มีหลักฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย    ที่สำคัญ สามเจ้านี้มีสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 สาขาทั่วอังกฤษจะไม่บอกก็กระไรอยู่ว่าเจ้าที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ Harris + Hoole ของเทสโก ที่สร้างภาพว่าเป็นแบรนด์กาแฟอิสระ เจ้านี้ไม่มีข้อมูลด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม จริยธรรม หรือการจัดซื้อที่ชัดเจนเลย     ขอถนนเพื่อคนเดินบ้าง“ร้อยละ 92 ของผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนในซิดนีย์ทุกวันนี้เป็นคนเดินเท้า แต่ทำไมพวกเขาถึงถูกปฏิบัติต่อราวกับเป็นพลเมืองชั้นสอง” นี่เป็นคำถามจาก โคลเวอร์ มัวร์ ผู้ว่าการเมืองซิดนีย์  เธอยังสงสัยต่อไปว่า ทำไมเวลาในการยืนรอข้ามถนนถึงนานกว่าระยะเวลาที่รถติด ระยะเวลาที่ให้เดินข้ามก็สั้นกว่าเวลาที่ปล่อยให้รถวิ่ง ... เราจัดลำดับอะไรผิดหรือเปล่า?คงมีหลายคนข้องใจเหมือนๆกัน จึงทำให้ในที่สุดเทศบาลเมืองซิดนีย์วางแผนจะเพิ่มและปรับปรุงทางเท้าและทางข้ามถนน โดยใช้เงินปีละไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเหรียญ (ประมาณ 400 ล้านบาท)โครงการที่ใช้งบประมาณทั้งหมด 60 ล้านเหรียญ (1,600 ล้านบาท) นี้ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เดินทางด้วยเท้า ลดเวลาการเดินทาง ขยายทางเท้า และทำให้การทางเดินไปยังร้านค้าต่างๆ สะดวกสบายขึ้น ที่สำคัญคือต้องลดอุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดกับคนเดินเท้าลงให้ได้ร้อยละ 50 แม้ว่าจำนวนคนถูกรถชนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังน่าตกใจ เช่น ในรัศมี 400 เมตรจากสถานีรถไฟเซ็นทรัล มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ 131 คน และในรัศมี 300 เมตรจากศาลาว่ากลางเมืองซิดนีย์มีคนเดินที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 142 คน ดราม่าบะหมี่ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเคยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของผู้คนทั้งในจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพราะทั้งสะดวก อร่อย และถูกคนจีนบริโภคบะหมี่ดังกล่าวปีละ 40,000 ล้านซอง (ครึ่งหนึ่งของบะหมี่ที่ชาวโลกบริโภค) แต่เสน่ห์ของอาหารเส้นชนิดนี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรายได้น้อย ข่าวบอกว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2014 ยอดขายลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะคนจีนเริ่มมองว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารขยะ ที่อาจทำให้เป็นโรคหัวใจได้ถ้าบริโภคบ่อยเกินไป ปัจจุบันจีนมีผู้ผลิตบะหมี่เจ้าใหญ่อยู่เพียง 2 ราย ได้แก่ Uni-President China และ Master Kong (บริษัทบะหมี่ถึงร้อยละ 90 ปิดกิจการไปในช่วงปี 2000 ถึง 2010) นอกจากนี้รายงานจากนีลเซนยังพบว่า ร้อยละ 75 ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจ ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่ไม่มีสารปรุงแต่ง หรือไม่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมด้วย   นอกจากความกังวลเรื่องสุขภาพแล้ว การสำรวจโดย China Confidential ยังพบว่า แรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปมากที่สุด มีการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองเล็กๆ ในขณะที่บริษัทบะหมี่ยังคงทำการตลาดอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้นแต่เดี๋ยวก่อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไฮเอนด์ที่นำเข้าจากเกาหลียังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เพราะกระแสความนิยมละครทีวีของเกาหลีที่ยังแรงไม่หยุดนั่นเอง บิดลดควันเวียดนามมีแผนจะทำให้ร้อยละ 20 ของรถจักรยานยนต์ลดการปล่อยควันเสียลงให้ได้ภายในปี 2013 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเริ่มกันใหม่ ด้วยมาตรการตรวจควันเสียดานังจะเป็นเมืองแรกที่มีมาตรการบังคับดังกล่าว นี่คือข้อเสนอต่อกระทรวงขนส่งที่ระบุว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2018 เป็นต้นไป เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป จะต้องนำรถเข้ารับการตรวจควันปีต่อมาจะขยายผลไปยังรถที่อายุ 5 ปีขึ้นไป และภายในปี 2020 แผนนี้จะถูกนำไปใช้ในเมืองฮานอย ไฮฟอง เกิ่นเทอ และโฮจิมิห์นซิตี้ ด้วยเจ้าของรถคันที่ตรวจแล้วไม่ผ่าน จะต้องนำไปปรับปรุงแล้วมารับการตรวจวัดใหม่ ถ้าผ่านก็จะได้ตรารับรองไป ใครไม่ยอมปรับปรุงและยังขับขี่รถที่ไม่มีตรารับรอง ก็จะโดนปรับชาวบ้านโอดว่าค่าธรรมเนียมรถมอเตอร์ไซค์ที่จ่ายอยู่จะไม่ยิ่งสูงไปกว่าเดิมหรือ แต่ทางการยืนยันว่าค่าตรวจสอบรายปีนั้นไม่เกิน 150,000 ดอง (230 บาท) ว่าแล้วเขาก็บอกว่ากำลังจะขอความร่วมมือจาก ฮอนดา ซูซูกิ พิอาจิโอ และยามาฮา ให้ช่วยตั้งสถานีตรวจควันด้วยสาเหตุที่เลือกดานังเป็นเมืองแรกเพราะขนาดประชากรที่พอเหมาะ (1 ล้านคน) และการบริหารจัดการที่ดีของหน่วยงานรัฐ และเมืองนี้มีจักรยานยนต์ 713,000 คัน งดขายงดดื่ม         พรรคอิสลามของอินโดนีเซียเสนอให้มีการห้ามผลิต ขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีแอลกอฮอลมากกว่าร้อยละ 1 และให้มีโทษจำคุกถึง 2 ปีสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้ที่อาจจะประกาศใช้ภายในสิ้นปี 2015 ระบุว่า การห้ามดังกล่าวเป็นไปเพื่อสุขภาพมากกว่าเรื่องของศีลธรรม แต่มียังข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเขาบอกว่าอาจจะต้องยกเว้นให้กับโรงแรมห้าดาวและเกาะบาหลี เพราะ “คนตะวันตกนั้น มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต”ด้านสมาคมผู้ผลิตก็บอกว่าการสั่งแบนดังกล่าวอาจทำให้มีคนตกงานกว่า 200,000 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งเบียร์สัญชาติอินโดนีเซียอย่าง บินตัง (ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือไฮเนเก้น) ไปจนถึงเครื่องดื่มของผู้ประกอบการจากต่างประเทศอย่างคาร์ลสเบิร์กและดีอาจิโออินโดนีเซียมีประชากร 250 ล้านคน และมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันรั้งอันดับ 10 ของเอเชีย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กระแสต่างแดน

ดีเซลไม่ดีจริง ทุกปีมีชาวลอนดอนประมาณ 4,300 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะทางอากาศ และสภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของเมืองนี้ก็เลวร้ายถึงขั้นต้องประกาศให้ผู้คนงดออกจากบ้านกันเลยทีเดียว ลอนดอนมีระดับมลพิษเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว นายกเทศมนตรีของลอนดอน นายบอริส จอห์นสันก็ยอมรับว่าเขาคิดว่ามหานครแห่งนี้คงจะลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ให้อยู่เกณฑ์ได้ก่อนปี 2030 แน่นอน แนวคิดล่าสุดที่เขาเสนอเพื่อลดมลพิษในเมือง คือการจ่ายเงินให้กับเจ้าของรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ปล่อยมลพิษน้อยลง โดยเริ่มจากรถรุ่นที่ผลิตก่อนปี 2013 เขาคาดว่าแผนการที่อาจต้องใช้งบประมาณถึง 300 ล้านปอนด์นี้ น่าจะลดจำนวนรถเก่าออกไปจากท้องถนนลอนดอนได้ประมาณ 150,000 คัน (ทั้งนี้ค่าชดเชยอยู่ที่คันละไม่เกิน 2000 ปอนด์) นายบอริสบอกว่า เขาเห็นใจคนที่โดนกล่อมให้ซื้อรถดีเซลด้วยความเชื่อว่ารุ่นใหม่ๆ จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยมลพิษที่น้อยกว่าและค่าเชื้อเพลิงที่น้อยลง และเขาก็บอกด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักว่ามันคือความผิดพลาดทางนโยบาย (ปัจจุบันรถดีเซลมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 ของตลาดในอังกฤษ) ทั้งนี้แผนส่งเสริมการใช้รถพลังไฟฟ้าที่เขาประกาศไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ก็ยังไม่ได้ผล จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมี 25,000 คันภายในปี 2015 ขณะนี้ยังมีเพียง 1,400 คันเท่านั้น เรื่องนี้เขาบอกว่าต้องโทษกลไกตลาด ที่ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ต่ำเท่าที่ควร     ซูเปอร์ฟู้ดเอาตัวไม่รอด ปีนี้แคลิฟอร์เนียกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก และมันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะร้อยละ 80 ของเมล็ดอัลมอนด์ที่มีขายอยู่ในตลาดโลกมาจากที่นี่ เมื่อน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบพากันเหือดแห้ง เกษตรกรผู้ปลูกอัลมอนด์จึงสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ และตกเป็นจำเลยข้อหาเอาน้ำใต้ดินที่ควรเป็นแหล่งน้ำสำรองของผู้คนรัฐแคลิฟอร์เนียมาใช้เพื่อผลิต “ซูเปอร์ฟู้ด” ราคาถูกออกมาป้อนตลาดโลก มีผู้ให้ความเห็นว่าเมื่อเกษตรกรไม่มีต้นทุนค่าน้ำ พวกเขาจึงสามารถขายอัลมอนด์ให้พ่อค้าที่ราคาขายส่งแค่ 3 – 4 เหรียญต่อปอนด์เท่านั้น แต่ถ้ามีการคิดต้นทุนที่แท้จริงแล้วละก็ ผู้บริโภคจะต้องจ่ายมากกว่านั้นถึง 3 เท่า ด้านสมาคมผู้ปลูกอัลมอนด์แห่งแคลิฟอร์เนียบอกว่า อัลมอนด์เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และปีนี้เกษตรกรก็ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 33 ต่อการผลิตอัลมอนด์หนึ่งปอนด์ และตั้งคำถามกลับว่าการที่น้ำจะไม่พอใช้นั้นอาจเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของรัฐเองหรือเปล่า ความจริงแล้วแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตนมและองุ่นได้ในปริมาณสูงกว่าอัลมอนด์ด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังนี้อัลมอนด์ได้รับความนิยมสูง(ด้วยสรรพคุณมากหลายตั้งแต่ลดโคเลสเตอรอล ลดความอยากอาหาร บำรุงผิว ฯลฯ) จึงมีคนนิยมปลูกมากขึ้น และทำรายได้ถึง 4,300 ล้านเหรียญต่อปีจากพื้นที่เพราะปลูกประมาณเกือบหนึ่งล้านเอเคอร์ ปีนี้ราคาอัลมอนด์สูงที่สุดในรอบ 9 ปี(ตันละ 10,500 เหรียญ) แต่ปัญหามันอยู่ที่มีเงินก็อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าอาจไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในคริสต์มาสนี้   ผลพลอยได้ ผู้ผลิตปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก คืออินโดนีเซียเพื่อนบ้านของเรา มีเกาะอยู่ทั้งหมด 17,000 เกาะ และมีประชากรหลายสิบล้านคนที่ทำประมงเลี้ยงชีวิต ปัจจุบันเขามีเรืออวนไม่ต่ำกว่า 33,000 ลำ และทุกครั้งที่เรืออวนออกไปจับปลาทูน่า ก็มักมีผลพลอยได้เป็นปลาฉลามมาด้วย ปลาทูน่าจะถูกส่งไปขายในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนปลาฉลามที่ติดมาด้วยนั้น ชาวบ้านที่นั่นเขาก็นำมากินกันเป็นเรื่องธรรมดา หนังปลาฉลามยังเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนในชุมชนริมทะเล และถ้าคุณไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็หาซื้อลูกชิ้นปลาฉลาม หรือลูกปลาฉลามได้ไม่ยาก อินโดนีเซียจับปลาฉลามได้ปีละ 109,000 ตัน(น่าจะเป็นประเทศที่จับปลาฉลามได้มากที่สุดในโลกด้วย) และสามารถจับได้อย่างเสรี ไม่มีโควตา ไม่กำหนดขนาดของปลา จึงทำให้นักอนุรักษ์เริ่มวิตก สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว ปลาฉลามจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นอาหารเหลาเหมือนในอีกหลายๆ ประเทศที่เราเคยได้ยินข่าวการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก แต่นักวิชาการเขาก็ยืนยันว่าถ้าเราคิดให้ถี่ถ้วน เราจะพบว่า ฉลามตัวเป็นๆ ที่ยังโลดแล่นอยู่ในทะเลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าฉลามที่ตายแล้วหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลียพบว่า นอกจากมันจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทางทะเลแล้ว ตลอดอายุขัยของมัน ฉลามหนึ่งตัวจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1.9 ล้านเหรียญ ขาปั่นทำป่วน เราอาจรู้จักโคเปนเฮเกนในฐานะเมืองหลวงจักรยานของยุโรป และเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก แหม่ ... ก็เขามีเลนจักรยานที่มีความยาวรวมกันทั้งหมดถึง 400 กิโลเมตรเชียว ไม่อยากจะคุยต่อว่าเทศบาลเขาประกาศว่าปีหน้าจะจัดงบให้อีก 75 ล้านโครน เพื่อเพิ่มเส้นทางและขยายช่องทางจักรยานด้วย ว่ากันว่าผู้คน 1 ใน 3 ของเมืองนี้เดินทางด้วยจักรยานเพราะมันถูกและเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่สาแก่ใจเทศบาลโคเปนเฮเกนที่ต้องการให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 50 เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2020 แต่เดี๋ยวก่อน ... หลายคนเริ่มสงสัยว่าพวกเขาหมกมุ่นกับการสร้าง “เมืองสองล้อ” มากเกินไปหรือเปล่า ... คุณอาจคิดว่ามันเป็นสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักปั่น แต่พักหลังนี้เสียงบ่นทั้งจากตัวผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่ร่วมใช้เส้นทางกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที นักปั่นเริ่มฝ่าฝืนกฎจราจรกันมากขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมาเทศบาลต้องมีมาตรการลงโทษผู้ใช้จักรยานที่ละเมิดกฎหมาย เช่น ถ้าฝ่าไฟแดงจะถูกปรับ 1,000 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) ถ้าขึ้นมาขี่บนฟุตบาทก็จะโดนค่าปรับ 700 โครน (ประมาณ 4,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยยกจักรยานที่จอดในสถานที่ส่วนบุคคลไปเก็บ และคิดค่าไถ่จักรยานคันละ 187 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) เป็นต้น เริ่มมีเสียงร้องเรียนว่าคนใช้จักรยานทำเหมือนตัวเองมีสิทธิพิเศษ ใครๆ ก็ต้องหลีกทางให้ ขึ้นรถไฟก็ต้องได้ที่นั่งและที่เก็บจักรยาน ปั่นอยู่บนถนนก็ไม่ต้องหยุดรอให้ผู้โดยสารที่ลงจากรถเมล์เดินขึ้นฟุตบาทก่อน เจอผู้พิการก็ไม่ชะลอ ... แหม่ ... นี่เข้าข่าย “เมืองดีแล้ว แต่ประชากรยังต้องปรับปรุง” เหมือนกันนะ เรื่องกินสอนกันได้ เด็กๆ ที่ฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีอัตราน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าร้อยละ 20 ว่ากันว่าเรื่องนี้อยู่ในวิถีชีวิต คนฝรั่งเศสเชื่อว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการสอนให้กินอาหารเป็น เช่นเดียวกับที่พวกเขาถูกสอนให้สามารถอ่านหนังสือได้นั่นเอง และการรักในรสชาติของอาหารก็เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นจะต้องสอนกันตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ชาวฝรั่งเศสมักจะไม่ถามลูกว่า “อิ่มหรือยัง?” แต่จะถามว่า “ยังหิวอยู่ไหม?” และเวลาจะชักชวนลูกให้ทานอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่า “ทานสิลูก อร่อยนะ” ไม่ใช่ “ทานสิลูก มีประโยชน์นะ” นอกจากนี้ในร้านอาหารของฝรั่งเศสเขาจะไม่มี “เมนูสำหรับเด็ก” เพราะเชื่อว่าเด็กควรทานทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ใหญ่ (แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบมันในตอนแรกก็ตาม) ทั้งนี้เพราะเด็กที่นี่ได้เรียนรู้การกินอาหารเพื่อสุขภาพทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน สำหรับเด็กประถมนั้น เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารกลางวันแบบ 4 คอร์ส (สลัด จานหลักที่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์ จานชีส และของหวานที่มีผลไม้) และเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวบนโต๊ะอาหารคือน้ำเปล่า กระทรวงศึกษาฯ เขามีนโยบายที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น โรงเรียนจะต้องให้เด็กได้ใช้เวลาทานอาหารกลางวัน อย่างต่ำ 30 นาที และเวลาพักกลางวันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กมีเวลาเล่น และห้ามตั้งเครื่องเครื่องขายขนมอัตโนมัติในโรงเรียนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >