ฉบับที่ 197 ข้อระวัง ในการมอบอำนาจฟ้องคดี

เชื่อว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์เคยมอบหมายงานบางอย่างให้ผู้อื่นทำแทนบ้าง  ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องทำหลักฐานมอบอำนาจขึ้นมาโดยทำเป็นหนังสือ เช่น มอบอำนาจให้ไปแจ้งความ ไปยื่นเอกสาร ติดต่อที่หน่วยงานต่างๆ  เป็นต้น  ซึ่งในการดำเนินคดีก็เช่นกัน เราก็มักจะมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนเรา ซึ่งบางคนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในคดีหนึ่ง ก็มีการโต้แย้งกันในเรื่องหนังสือมอบอำนาจ จนเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลฏีกา เรื่องมีว่า โจทก์สองคน ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียว ซึ่งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ต้องมีการติดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยสู้ว่าไม่ติดให้ครบถ้วน ซึ่งสุดท้าย ศาลฏีกาก็วินิจฉัยว่า เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลเดียว กระทำการครั้งเดียว การติดอากรแสตมป์ของโจทก์ทั้งสองครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นหลักฐานในคดีได้  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง  ตามนัยคำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557 คำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557    หนังสือมอบอำนาจระบุข้อความว่า “โจทก์ทั้งสองขอมอบอำนาจให้ อ.เป็นผู้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสองเพื่อฟ้องร้องและดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยทั้งห้า ในข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด  สัญญาประกันภัย เรียกค่าเสียหาย ต่อศาลจังหวัดพัทยา โดยให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ...” ข้อความที่ระบุแจ้งชัดเช่นนี้ ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้า ฐานละเมิด ประกันภัย และเรียกค่าเสียหายคดีนี้เท่านั้น มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งห้า หรือฟ้องบุคคลอื่น อันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม แต่เป็นเพียงวิธีการที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฏากร ข้อ 7 (ก) กำหนดให้ปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลผู้มอบคนละ 10 บาท โจทก์ทั้งสองจึงต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจรวม 20 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ จำนวน 30 บาท จึงครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฏากร มาตรา 118 จากคำพิพากษาศาลฏีกาข้างต้น เราจะเห็นว่า เรื่องการมอบอำนาจฟ้องคดีมีความสำคัญ หากหนังสือมอบอำนาจไม่ระบุข้อความให้ชัดเจน หรือติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย  ทำให้อำนาจฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ ศาลอาจยกฟ้องได้ อีกประเด็นคือกรณีมีผู้มอบอำนาจสองคน มอบหมายในหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลเดียวทำการแทน การติดอากรแสตมป์ต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่มอบอำนาจ อย่างเช่นในคดีนี้ มีผู้มอบอำนาจสองคน ต้องติดคนละ 10 บาท รวม 20 บาท  แต่ถ้าเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวปิดอากรแสตมป์ จำนวน 30 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 8 ปี บทเรียนการใช้กฎหมายคดีผู้บริโภค

ความเป็นมา            ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องคุณภาพสินค้าหรือบริการ  และขาดอำนาจในการต่อรอง เช่นในการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เท่าเทียม ตลอดจนไม่อาจเท่าทันความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจ นั่นทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภค ที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตน ทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง จึงทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ขึ้น เพื่อตามให้ทันเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภค โดยการวางแนวทางการพิจารณาไปในทางระบบไต่สวนมากขึ้น สังเกตได้จากการที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดเจนให้ศาลมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร โดยมีหลักการที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการดำเนินคดี คือ ความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว และเป็นธรรมขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากการบังคับใช้กฎหมาย พบว่ายังมีปัญหาข้อขัดข้องหลายประการทั้งปัญหาด้านข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติส่งผลให้ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง อันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้  ที่มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรมประเทศไทยได้บังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว มีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่น่ากังวล คือ คนที่นำคดีมาฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ประกอบธุรกิจ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งสะท้อนว่า กฎหมายมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ให้มีระบบวิธีพิจาณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคธรรมดาสถานการณ์การฟ้องคดีผู้บริโภค            หลังจากที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551 นั้น จากข้อมูลสถิติคดีของสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551  - 2558  พบว่า มีคดีผู้บริโภคขึ้นสู่ศาลจำนวน  2,794,208 คดี  ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 ของคดีผู้บริโภค ที่เข้าสู่สารบบคดีของศาลเป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภค  โดยเฉพาะในปี 2558 มีคดีผู้บริโภคที่ขึ้นสู่ศาลทั่วราชอาณาจักร จำนวน 592,561 คดี จากคดีแพ่งทั้งหมด 847,551 คดี หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของคดีแพ่งทั้งหมด   นอกจากนี้ในคดี ผู้บริโภคที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลในปี พ.ศ.2558 นั้น  ประเภทข้อหาแห่งคดี 5 อันดับแรกของข้อมูลการฟ้องคดี  เป็นคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคเป็นคดีผู้บริโภค มีดังนี้สินเชื่อบุคคล / กู้ยืม / ค้าประกัน จำนวน 250,527 ข้อหาบัตรเครดิต จำนวน 99,822 ข้อหากองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 92,775 ข้อหาเช่าซื้อ (รถยนต์) จำนวน 73,071 ข้อหาเช่าซื้อ (รถจักรยานยนต์) จำนวน 5,194 ข้อหาจากสถิติข้อหาแห่งคดี หรือการฟ้องคดีผู้บริโภคของศาล จะเห็นได้ชัดเจนว่า การฟ้องคดีผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย เพื่อบังคับให้ผู้บริโภคชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ  จึงทำให้มีหลายคนวิตกว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจาณาคดีผู้บริโภคฯ จะตกเป็นเครื่องมือให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในการทวงหนี้ และทำให้คดีแพ่งที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มีมากเกินไป อย่างที่เรียกว่า “คดีล้นศาล” ซึ่งส่งผลกระทบดังนี้  1 ผลกระทบต่อความรวดเร็วในการดำเนินคดี            การมีคดีที่ไม่ควรจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภค เข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และการที่กฎหมายคดีผู้บริโภคกำหนดให้ศาลต้องนัดพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่ยื่นฟ้อง เพื่อจะเป็นวิธีพิจารณาพิเศษที่ทำให้คดีเสร็จไปโดยเร็วนั้น ปรากฏว่าในทางปฏิบัติ ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีคดีอื่นที่ไม่ใช่ผู้บริโภคเข้าสู่ระบบคดีผู้บริโภคของศาลจำนวนมาก ทำให้วันนัดของศาลเต็ม จึงไม่อาจทำตามเงื่อนไขของกฎหมายที่กำหนดไว้ได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี เจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้ไม่อาจบรรลุผลได้เต็มที่2  ผลกระทบต่อผู้บริโภคในการต่อสู้คดี            เนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ได้นำระบบไต่สวนมาใช้ กล่าวคือศาลสามารถไต่สวนหาความจริง โดยเรียกบุคคลหรือพยานหลักฐานได้เอง   แต่ที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ศาลจะใช้อำนาจในส่วนนี้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภค เช่น ฟ้องให้ชำระหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อ กู้ยืมเงิน ซึ่งคดีลักษณะดังกล่าว จะมีการไปฟ้องยังภูมิลำเนาของผู้บริโภคที่โดยมากมักไม่ได้อยู่อาศัยเนื่องจากเข้ามาทำงานในกรุงเทพ หรือจังหวัดอื่น ทำให้เสียโอกาสต่อสู้คดี อีกทั้งศาลก็จะถือข้อเท็จจริงตามที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอ โดยไม่ได้ใช้อำนาจไต่สวนคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบเข้ากับการที่มีคดีอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้มากเกินไป ทำให้บทบาทของศาลในการไต่สวนคดีทำได้ไม่เต็มที่  มีส่วนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดีผู้บริโภคอื่นไปด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ            สำหรับสาเหตุในเรื่องการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดีได้อย่างจริงจังหลายประการนั้น  จากการเสวนาแลกเปลี่ยนในหลายเวทีและจากการสังเคราะห์ข้อมูล ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าปัญหาโดยสรุปมีดังนี้ยังต้องใช้ทนายความในการดำเนินคดี แม้ว่ากฎหมายจะบทบัญญัติให้ผู้บริโภคที่จะฟ้องคดีสามารถฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ยื่นฟ้องคดีด้วยวาจา โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้บันทึกและจัดทำคำฟ้องให้ รวมถึงการฟ้องคดีด้วยเอกสาร ไม่ต้องมีทนายความเป็นผู้จัดทำคำฟ้องให้ โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ตรวจเอกสารและจัดทำคำฟ้องให้เช่นกัน แต่กระบวนการดังกล่าวก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเมื่อฟ้องคดีและศาลรับคำฟ้องไว้แล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องจัดหาทนายความเพื่อมาดำเนินคดีแทน ในคดีเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะคดีที่มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อน เช่น คดีทางการแพทย์  รวมถึงการจัดทำคำร้อง คำแถลง ต่างๆ เนื่องด้วยผู้บริโภคไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีด้วยตนเองได้การนิยามของคำว่า “คดีผู้บริโภค” และ “ผู้บริโภค” ไม่ชัดเจน ทำให้นอกจากผู้บริโภคจะมีสิทธิฟ้องคดีผู้บริโภคแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิผู้ประกอบการฟ้องคดีผู้บริโภคได้ด้วย ก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาล เนื่องจากคดีส่วนมากที่เข้ามาอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจประเภทสถาบันการเงิน ไฟแนนซ์ เป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเพื่อขอให้ชำระหนี้ ทำให้มีปริมาณคดีผู้บริโภคกลุ่มนี้ขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี และทำให้ศาลและเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ตามบทบาทได้อย่างไม่เต็มที่ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคให้การ บังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้วางไว้เจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีความมุ่งหมายที่จะให้ ศาลเข้ามามีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ ในคดีแพ่งมากขึ้นเพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันในการ ต่อสู้คดีระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ โดยการวางแนวทางการพิจารณาไปในทางระบบไต่สวนมากขึ้น จึงได้กำหนดให้มี "เจ้าพนักงานคดี” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือศาลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมาย กำหนดไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการสืบหาพยานหลักฐานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี   อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานคดีก็ยังไม่เพียงพอ คือ ในปัจจุบันมีเจ้าพนักงานคดีประจำอยู่ที่ศาลแห่งละหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพียงพอ เป็นเหตุให้ไม่มีเจ้าพนักงานคดีมากพอที่จะตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการคดี ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานคดีที่ถูกส่งไปประจำศาลในจังหวัดต่างๆกลับถูกใช้ให้ไปทำงานในด้านธุรการด้านอื่นๆ โดยไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีอย่างแท้จริง ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่กฎหมายไม่ได้ยกเว้น แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้บริโภคฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งปวง แต่ในทางปฏิบัติพบว่า การเสียค่าธรรมเนียมฟ้องคดี หากเป็นผู้บริโภคที่ฟ้องคดีนั้นค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นเกือบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีอย่างมากสำหรับการเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้สะดวกมากขึ้น แต่นอกจากค่าธรรมเนียมฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนพิจารณาคดียังมีค่านำหมาย ค่าส่งคำคู่ความ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ พบว่ายังมีการลักลั่นของศาลแต่ละแห่ง ที่ยังคงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับผู้บริโภคที่ฟ้องคดีอยู่ศาลยังมีทัศนคติและความเคยชินอยู่กับจารีตปฏิบัติในระบบกล่าวหาและขาดความชำนาญในการไต่สวน พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ศาลใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ศาลจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นหาความจริง มีอำนาจที่จะให้มีการรวบรวมพยาน เอกสาร สืบพยาน หรืองดสืบพยาน ไม่ใช่รอพยานหลักฐานจากคู่ความ การกำหนดกรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการสืบพยานค่อนข้างยืดหยุ่น เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง ระบบไต่สวนจึงเหมาะสมกับคดีที่ คู่ความมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก เช่น คดีผู้บริโภค นี้ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่าศาลยังใช้อำนาจหรือมีบทบาทในการไต่สวนในคดีผู้บริโภคยังไม่เต็มที่ เนื่องด้วยศาลยังมีทัศนคติและความเคยชินอยู่กับจารีตปฏิบัติในระบบกล่าวหาและยังขาดความชำนาญในการไต่สวน พบได้ในหลายกรณีที่ศาลเลือกจะไม่ใช้อำนาจในส่วนนี้ แต่จะถามหาทนายความจากผู้บริโภคเพื่อให้มาดำเนินคดีแทน หากเป็นเช่นนี้ผู้บริโภคก็ยังคงต้องว่าจ้างทนายความ และทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายยังไม่อาจเป็นจริงได้ บทเรียนการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกว่า 8 ปี ที่มีคดีผู้บริโภคเข้าสู่สารบบของศาลทั่วราชอาณาจักรมากถึงกว่า  2.8 ล้านคดี แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคเสียมากกว่านั้น ย่อมน่าสนใจว่าทำไมผู้บริโภคจึงไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีเท่าที่ควร เมื่อได้นำข้อมูลจากการช่วยเหลือผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาวิเคราะห์ ก็พบว่าเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น  ความเสียหายที่ได้รับเมื่อคิดเป็นมูลค่านั้นเล็กน้อยเกินไป ไม่คุ้มค่าทนาย ค่าใช้จ่าย  หรือความกังวลว่า จะมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานานในการดำเนินคดี สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีกฎหมายเพื่อช่วยให้การฟ้องคดีไม่ยุ่งยากเช่นในอดีตจากสถิติการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการช่วยดำเนินคดีให้ผู้บริโภคที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิ ตั้งแต่ปี 2551 –  2558  พบว่า มีคดีผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือ จำนวน 289 คดี แบ่งเป็นคดีชุดรถโดยสารสาธารณะ    จำนวน    183     คดีคดีประกันภัย                    จำนวน     52     คดี       คดีผิดสัญญา                    จำนวน     31     คดีคดีละเมิด                        จำนวน     23     คดีและแม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพียงองค์กรเดียวที่มีนโยบายและความสามารถเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิในการฟ้องคดีผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมากถึง 289 คดี  โดยเป็นคดีที่หลากหลาย เช่น รถยนต์ชำรุดบกพร่องผู้ประกอบธุรกิจผิดสัญญา กรณีอาคารชุด และบ้านจัดสรร เรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับปริมาณคดีผู้บริโภคทั้งหมดของศาลนับตั้งแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ต้องถือว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ข้อเสนอ            แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยในการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้แก้ไขคำนิยาม “คดีผู้บริโภค” , “ผู้บริโภค” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ชัดเจน  ปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการดำเนินคดี การทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี หรือการทำหน้าที่ของศาลในการไต่สวนคดี มีสาเหตุประการหนึ่งคือ มีคดีที่ไม่ควรจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภคเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงสมควรจัดคดีเหล่านี้ให้ไปอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามเดิม ซึ่งได้แก่ คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องทวงหนี้จากผู้บริโภคโดยไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแต่อย่างใด และคดีเกี่ยวกับสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันเพื่อประโยชน์ทางการค้าของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย การแก้ปัญหานี้อาจกระทำได้โดยการแก้ไขคำนิยาม “คดีผู้บริโภค” , “ผู้บริโภค”   และ “ ผู้ประกอบธุรกิจ” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หรือโดยการออกกฎหมายแก้ไขคำนิยามเหล่านี้เพิ่มและพัฒนาศักยภาพของเจ้าพนักงานคดี การมีเจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอและไม่มีประสบการณ์นั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดทำคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ ให้แก่เจ้าพนักงานคดี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเจ้าพนักงานคดี การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอควรจัดให้มีการเผยแพร่แนวคำวินิจฉัยของศาล เพื่อจะได้พิจารณาได้ว่าคดีใดควรเป็นคดีผู้บริโภค เพราะการได้ทราบแนวคำวินิจฉัยจะทำให้เกิดความชัดเจน และทำให้คดีที่จะนำขึ้นสู่การวินิจฉัยลดน้อยลง ซึ่งก็จะสามารถแก้ไขปัญหาความล่าช้าของคดีได้บ้างให้ศาลฎีกาออกข้อกำหนดประธานศาลฎีกา กำหนดเวลาพิจารณาคำสั่งการขออนุญาตฎีกาที่ชัดเจน ในหลายคดีที่ผู้บริโภคชนะในชั้นอุทธรณ์แต่คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจมักจะขออนุญาตฎีกา ทำให้คดีล่าช้าไม่เสร็จไปโดยเร็ว ดังนั้นจึงเสนอให้ศาลฎีกา ออกข้อกำหนดประธานศาลฎีกา กำหนดเวลาพิจารณาคำสั่งการขออนุญาตฎีกาที่ชัดเจน เช่น ภายใน 60 หรือ 90 วัน เพื่อให้คดีผู้บริโภคเสร็จไปโดยเร็วพัฒนาการบริหารงานของศาลยุติธรรมและการจัดทำคู่มือตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ในคดีผู้บริโภค แม้กระบวนพิจารณาของคดีผู้บริโภคจะอยู่บนพื้นฐานของระบบไต่สวน แต่ในทางปฏิบัติผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีภาระต้องพิจารณาทั้งคดีผู้บริโภค คดีแพ่งทั่วไปและคดีอาญาด้วย และยังเคยชินอยู่กับการพิจารณาคดีที่อยู่บนพื้นฐานของระบบกล่าวหาและยังขาดความชำนาญในการไต่สวน โดยศาลไม่ได้ใช้บทบาทในเชิงไต่สวนแต่กลับถามหาทนายความของฝ่ายผู้บริโภค             ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ในเชิงการบริหาร ด้วยการพัฒนาการบริหารงานของศาลยุติธรรมโดยแยกออกตามสายงานตามระบบการพิจารณาคดีแบบกล่าวหาและแบบไต่สวน เพื่อให้ผู้พิพากษามีความชำนาญและไม่เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ และการจัดทำคู่มือตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ในคดีผู้บริโภค หรือการจัดตั้งศาลแผนกคดีผู้บริโภคเพื่อการพิจารณาคดีผู้บริโภคไปในทิศทางเดียวกันข้อมูลรศ. ดร. อนันต์ จันทรโอภากร. “ปัญหาข้อขัดข้องการบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 42,ฉบับที่ 3 (2556)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 แสงสว่างที่อยู่ใต้หลอดไฟ

มีอะไรในโคด สะ นาสมสุข หินวิมานในกลุ่มของนักโบราณคดี มักมีคำถามข้อหนึ่งว่า อารยธรรมของมนุษย์เราก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อใด บ้างก็ว่า ต้องเป็นยุคที่มนุษย์เราเริ่มต้นค้นคิดตัวอักษรขึ้น เพื่อจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาเอาไว้ แต่บางคนก็แย้งว่า น่าจะเป็นช่วงที่มนุษย์ยุคโบราณเริ่มรวมตัวอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นเหล่า เป็นเผ่า เป็นพันธุ์ จังหวะนั้นแหละที่มนุษย์ได้เริ่มมีการสั่งสมทรัพยากรต่างๆ ขึ้นมา จนเกิดกลายเป็นอารยธรรมสังคม แต่อย่างไรก็ดี มีนักโบราณคดีบางคนที่ยืนยันว่า ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เราคิดประดิษฐ์ตัวอักษรหรือสั่งสมทรัพยากรขึ้นมาหรอก หากแต่อารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดนี้รู้จักการใช้ไฟในการดำรงชีพ นักโบราณคดีกลุ่มหลังนี้เห็นว่า ในยุคที่มนุษย์เรายังเป็นแค่ไพรเมทอยู่นั้น เราจะถูกจัดให้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ดิบเถื่อนอยู่มาก จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่คนเรานั้นได้ค้นพบวิธีการจุดไฟหรือก่อไฟขึ้นมา เพื่อให้เกิดเป็นแสงสว่าง หรือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหุงหาอาหาร ไฟจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือแห่งการก่อรูปอารยธรรมของมนุษย์ตั้งแต่ครั้งบุพกาล หากความข้างต้นของนักโบราณคดีกลุ่มหลังนี้เป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว ผมกำลังคิดตามมาว่า แล้วอารยธรรมของมนุษย์เราจะหยุดอยู่แค่ช่วงของการใช้ฟืนไฟในการดำรงชีวิตเท่านั้นเองหรือ ??? โดยส่วนตัวผมแล้วนั้น การค้นพบวิธีก่อไฟอาจเป็นเพียงช่วงเวลาของการเกิดอารยธรรมของมนุษย์ในระลอกแรกเท่านั้น แต่สำหรับระลอกสองของคลื่นอารยธรรมแห่งมนุษย์แล้ว น่าจะเกิดขึ้นเมื่อราวๆ ศตวรรษที่ 19 เมื่อนักประดิษฐ์ชาวตะวันตกอย่าง โธมัส เอดิสัน คิดค้นนวัตกรรมหลอดไฟฟ้าขึ้นครั้งแรกในโลกใบนี้ แล้วหลอดไฟนี้สำคัญอย่างไร และทำไมหลอดไฟจึงสำคัญถึงขนาดที่กลายมาเป็นนวัตกรรมในระลอกหลังของอารยธรรมมนุษย์ไปได้? คำตอบต่อความสองข้อหลังนี้ สาธิตให้เห็นชัดเจนอยู่ในโฆษณาหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานยี่ห้อหนึ่ง ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์มาในช่วงหลายเดือนนี้ โฆษณาเริ่มต้นด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ฟังสบายๆ กล้องจับไปที่ภาพของพิธีกรชายผู้ดำเนินรายการสารคดีโทรทัศน์รายการหนึ่ง กล้องมุมเงยช้อนให้เห็นใบหน้าของเขาที่กระทบกับแสงอาทิตย์เป็นประกายสว่างทะลุม่านเมฆเข้ามา และมีเสียงของเขาพูดขึ้นมาว่า “ชีวิตคือการค้นหา...” จากนั้น ภาพชีวิตของพิธีกรหนุ่มที่กำลังค้นหา ก็ตัดสลับมาที่ภาพของขุนเขาดงไพรแห่งหนึ่ง มีฝูงนกบินผ่านเข้ามา มีเด็กนักเรียนชาวเขากำลังกระโดดโลดเต้น หยอกล้อ และจับกลุ่มกันเล่นกลิ้งล้อยางกันอย่างสนุกสนานอยู่ในแดนดอย เรื่องดำเนินต่อไป เมื่อเด็กนักเรียนชาวเขากลุ่มนี้เดินเข้ามาในห้องเรียน แม้แสงอาทิตย์ข้างนอกจะส่องทะลุเข้ามาแบบรำไรๆ อยู่บ้าง แต่หลอดไฟในห้องกลับติดๆ ดับๆ นักเรียนตัวน้อยหลายคนเดินเข้ามาในห้องด้วยความงุนงงหลงทาง เพราะมองอะไรไม่เห็น ห้องเรียนที่ขาดแสงสว่างเช่นนี้ ก็เหมือนกับปัญญาของเด็กชาวเขาที่มีแต่ความมิดมืดและงุนงง เสียงพิธีกรหนุ่มบรรยายต่อออกไปว่า “…แสงสว่างทำให้ผมค้นพบประสบการณ์ใหม่ ๆ...และในที่สุด ผมก็ค้นพบ...” และภาพก็ตัดมาที่คุณพิธีกรหนุ่มยื่นหลอดไฟให้กับเด็กๆ ตัวน้อย และเขาก็นำหลอดไฟอันใหม่นั้นไปเปลี่ยนแทนหลอดที่ติดๆ ดับๆ อยู่ ในฉากจบ เมื่อเด็กหญิงตัวเล็กคนหนึ่งเอื้อมมือไปเปิดสวิทช์ไฟ ห้องเรียนทั้งห้องก็พลันสุกสว่างสดใสขึ้นในทันที นักเรียนทั้งห้องต่างส่งเสียงแสดงความดีใจ และบรรยากาศของห้องก็เปี่ยมไปด้วยความสุข พร้อมกับตัดภาพมาที่หน้าของพิธีกรที่พูดปิดท้ายว่า “...ที่สุดของประสบการณ์ความประหยัดที่อยากให้คนไทยได้ลอง ต้อง...(ชื่อยี่ห้อผลิตภัณฑ์)...เท่านั้น” นักวิชาการด้านสื่อสารศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ที่ชื่อ มาร์แชล แมคลูฮัน ได้เคยสรุปความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “เทคโนโลยี” ไว้ด้วยวลีที่สั้นๆ ว่า เทคโนโลยีก็คือ “กระบวนการขยายศักยภาพของมนุษย์ออกไป” เช่นเดียวกับกรณีของหลอดไฟฟ้านั้น ก็คือเทคโนโลยีชนิดหนึ่งที่ช่วยขยายศักยภาพการเห็นของมนุษย์ออกไป จากชีวิตที่ไม่สามารถเห็นได้ในโลกที่ไร้แสง แต่ด้วยการคิดค้นประดิษฐกรรมหลอดไฟฟ้าขึ้นมาของโธมัส เอดิสัน มนุษย์เราตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มออกห่างความมืดมน และไม่จำเป็นต้องยืนอยู่ภายใต้ความมืดมิดอีกต่อไป คุณลุงแมคลูฮันยังได้เคยอธิบายเจาะจงถึงกรณีของเทคโนโลยีอย่างหลอดไฟฟ้าเอาไว้ด้วยว่า แม้ตัวหลอดไฟเองจะไม่ได้บรรจุคุณค่าความหมายอันใดเอาไว้ในตัว เนื่องจากหลอดไฟก็มีสถานะเป็นแค่หลอดที่บรรจุธาตุบางอย่างที่สามารถแปลงพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแสงเท่านั้น แต่ทว่า การก่อกำเนิดขึ้นมาของหลอดไฟกลับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในประสบการณ์และการค้นพบของมนุษยชาติเลยทีเดียว ก็อย่างที่โฆษณาโทรทัศน์เขาสาธิตให้เราเห็นนั่นแหละครับ จากชุมชนชาวเขาที่เคยมืดมิด การเข้ามาของเทคโนโลยีหลอดไฟฟ้าได้กลายมาเป็นช่องทางที่ช่วยขยายสัมผัสทางตาออกไป เด็ก ๆ ตัวน้อยจึงเห็นความสว่างไสวได้แม้แต่ในพื้นที่อับแสง เพราะฉะนั้น แม้หลอดไฟฟ้าจะดูเหมือนไม่มีอะไร หรือเป็นเพียงแค่วัตถุธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่ง แต่ทว่า วัตถุธรรมดาที่ไม่ธรรมดานี้กลับส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรับรู้โลกรอบตัวของเด็กนักเรียนชาวเขากลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ดี คุณลุงแมคลูฮันยังได้ขยายความเอาไว้อีกด้วยว่า แล้วเมื่อการเห็นของมนุษย์เราได้เปลี่ยนไป จิตสำนึกและปัญญาของคนเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในแง่นี้ หากเด็กนักเรียนต้องใช้ชีวิตอยู่แต่เฉพาะในห้องมืดที่ไร้แสงสว่าง แม้โลกรอบตัวของพวกเด็กๆ จะเป็นขุนเขาและป่ากว้าง แต่ทว่าโลกทัศน์ของพวกเขานั้นกลับจะไม่กว้างขวาง แต่มืดบอดไม่แตกต่างไปจากสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่พวกเขาสัมผัสอยู่ทุกวัน ตรงกันข้าม เมื่อเทคโนโลยีหลอดไฟฟ้าสมัยใหม่เข้ามาสู่ชุมชนขุนเขานั้น หากเทคโนโลยีคือช่องทางแห่งการขยายศักยภาพของมนุษย์ออกไป เมื่อแสงไฟฟ้าสว่างขึ้น ห้องที่เด็กนักเรียนใช้ชีวิตอยู่อย่างสว่างไสว ก็จะทำให้โลกทัศน์และชีวทัศน์ของเด็กๆ เหล่านั้น มีแนวโน้มจะขยับขยายออกไปกว้างไกลมากขึ้น หลอดไฟฟ้าจึงกลายมาเป็นช่องทางที่ทำให้มนุษย์เห็นโลกที่กว้างขึ้น และขยายศักยภาพของพวกเขาในการสร้างสรรค์ปัญญาและอารยธรรมทางสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป หรืออีกนัยหนึ่ง หลอดไฟฟ้าได้เปลี่ยนโลกที่เป็นอวิชชา ให้เป็นโลกที่เจริญปัญญาของมวลมนุษย์ โดยจุดยืนของผมนั้น แม้ด้านหนึ่งจะเห็นด้วยกับทัศนะของลุงแมคลูฮันที่ว่า เทคโนโลยีอย่างหลอดไฟฟ้านั้นมีคุณูปการอเนกอนันต์ต่อชีวิตของมนุษย์เรา แต่ผมก็มีคำถามตามมาบางประการกับการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบนี้ แม้หลอดไฟฟ้าจะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องมือแห่งการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความงมงายและอวิชชา และนำพามนุษยชาติให้บังเกิดความรู้ที่เป็น “แสงสว่างทางปัญญา” ก็ตาม แต่ความรู้ที่มากับแสงไฟนั้น บ่อยครั้งก็มักจะเป็นความรู้จากโลกภายนอก เพราะเมื่อเทคโนโลยีอย่างหลอดไฟเองก็เป็นศักยภาพที่มาจากคนนอก ดังนั้น วิชชาความรู้ที่แนบมาด้วยก็อาจจะมีไม่มากก็น้อยที่ไม่ได้เป็นอำนาจอันเกิดมาแต่คนในสังคมท้องถิ่นดั้งเดิมเอง นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าชุมชนแบบชาวเขาท้องถิ่นเขาจะไร้ซึ่งองค์ความรู้หรือปัญญาในการเข้าใจโลกแต่อย่างใด แต่ความรู้ที่เขามีอยู่นั้น อาจถูกตีความว่าเป็นความรู้ที่ล้าหลัง ไม่เป็นระบบ และไม่นำไปสู่การพัฒนาความเจริญก้าวหน้าแบบที่โลกทันสมัยเขากระทำกัน หรือเทียบเคียงง่าย ๆ ก็คือ ความรู้แบบนักเรียนชาวเขานั้น เป็นปัญญาที่ติดๆ ดับๆ เหมือนกับหลอดไฟที่ติดๆ ดับๆ จนไม่เอื้อให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ได้ “ค้นพบประสบการณ์ใหม่ ๆ” แบบที่คนในอารยธรรมที่เจริญกว่าเขา “ค้นพบ” กันอยู่ทุกวัน ฉะนั้น ในขณะที่มนุษย์เรากำลังแหวกว่ายอยู่ในคลื่นอารยธรรมระลอกใหม่ ที่เปลี่ยนผ่านจากการก่อกองไฟมาเป็นเทคโนโลยีหลอดไฟฟ้าสมัยใหม่นั้น คำถามที่เรายังไม่ได้คำตอบก็คือ แล้วทุกครั้งที่เราเปิดสวิทช์หลอดไฟ ใครกันบ้างที่มีอำนาจในการผลักดันปัญญาและความรู้ของมนุษย์ในคลื่นระลอกแล้วระลอกเล่าเหล่านี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 174 สัญญาต้องเป็นสัญญา”’

 สิ่งที่น่าปวดใจ เมื่อเราได้ตกลงทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ไว้คือการที่อีกฝ่ายไม่ทำตามสัญญา ซึ่งจะนำมาสู่ความสูญเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียเงินสำหรับการฟ้องร้องคดีหากไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ หรือเสียเวลาหากคดีนั้นต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย หรืออาจจะเสียใจหากคดีของเราถูกตีกลับมาพิจารณาใหม่เพราะฟ้องร้องคดีผิดประเภท!! ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นต่อไปนี้สิ่งที่ผู้ร้องต้องการ เป็นเพียงการเช่าพื้นที่ขายของในโครงการ ตลาดน้ำสวนทวดจีบ กับบริษัท วัชรธร ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนรังสิต-นครนายก ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  โดยผู้ร้องทั้ง 15 คนได้จ่ายเงินไปแล้วรวมกันมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้มีกำหนดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้เช่าตั้งแต่เมื่อปลายปี 2554 อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดเวลาก็ไม่มีการดำเนินงานแต่อย่างใดสิ่งที่บริษัทฯ ทำ มีเพียงการแจ้งขอเลื่อนส่งมอบพื้นที่ไปเป็นปลายปี 2555 และกำหนดใหม่ว่าโครงการจะเปิดต้นปี 2556 แน่นอนว่าการเลื่อนระยะเวลาการเปิดตลาดออกไปเรื่อยๆ ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เพราะเงินที่เสียไปแล้วไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้เลย อีกทั้งการที่บริษัทฯ มาแจ้งใหม่ว่าจะเปิดโครงการในต้นปี 2556 ทำให้ผู้ร้องเกิดความรู้สึกไม่เชื่อถือ เพราะเห็นว่าเป็นกำหนดการที่ไม่มีความชัดเจน ดังนั้นผู้ร้องจึงต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ผู้ร้องจึงรวมตัวกันร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา  สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนคือ ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะบริษัทฯ จะคืนเงินด้วยการฝากขาย แต่ผู้ร้องต้องการให้คืนเงินในงวดเดียว ต่อมาเมื่อมีการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ผู้ร้องก็พบว่าบริษัทฯ ได้มีการแอบเปลี่ยนข้อความในข้อเท็จจริงว่ายินยอมให้มีการฝากขาย ดังนั้นเมื่อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จึงมีมติดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทฯ แทนผู้ร้องเพื่อบังคับให้คืนเงิน คดีจึงเข้าสู่ชั้นศาลเมื่อกลางปี 2558 แม้เหตุการณ์ดูเหมือนว่ากำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภคแต่เป็นคดีแพ่งทั่วไป ทำให้ สคบ.ไม่มีอำนาจในการฟ้องแทน และต้องกลับไปเริ่มฟ้องใหม่โดยการเปลี่ยนประเภทคดี!! แนวการการแก้ปัญหา    สิ่งที่เสียไปแล้ว คือเวลา 4 ปีที่รอศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี เพียงเพื่อพบว่าฟ้องคดีผิดประเภท แม้ผู้บริโภคจะเสียใจ แต่สิ่งที่ยอมให้เสียไปอีกไม่ได้ก็คือสิทธิของเราเอง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆ ในการทำสัญญา คัดลอกคำตัดสินของศาล และตรวจสอบว่ายังมีการเปิดพื้นที่ให้เช่าในโครงการดังการดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งหากมีการเปิดพื้นที่จริง ปัจจุบันรายละเอียดของสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ก็จะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกครั้ง พร้อมหาช่องทางดำเนินการกฎหมายกับบริษัทฯ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ยังไม่ต้องกลัวหมดอายุความ เพราะเป็นเรื่องของการผิดสัญญาที่มีอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ก็ยังต้องรอคำตัดสินของศาลชั้นต้นอีกครั้งว่าจะยกฟ้องและให้ฟ้องใหม่ หรือให้แก้ฟ้องจากคดีผู้บริโภคเป็นคดีแพ่งทั่วไป โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ก็จะติดตามคดีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 คดีประวัติศาสตร์ ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง

 ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน  เคยเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารภายในซอยร่วมฤดีขึ้น ในครั้งนั้นรถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาในซอยเพื่อดับเพลิงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากสภาพของซอยร่วมฤดี เป็นซอยขนาดเล็กในใจกลางเมืองใหญ่ มีความกว้างของถนนเพียงรถยนต์วิ่งไปได้กลับ 2 เลน เท่านั้น ทำให้รถดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่ เข้าไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังเป็นภาพของความหวาดกลัว และวิตกกังวลถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้อยู่อาศัยภายในซอยร่วมฤดีจวบจนปัจจุบันจนกระทั่งในปี 2548 เริ่มมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวน 2 อาคาร โดยมีอาคารที่มีความสูง 18  ชั้น ของบริษัท ลาภประทาน และ อาคารที่มีความสูง 24 ชั้น ของบริษัท ทับทิมทร  ของบริษัทเอกชน ขึ้นบริเวณปากซอยร่วมฤดี 2 ภายในซอยร่วมฤดี  โดยอ้างเอกสารการรับรองความกว้างของถนนว่าซอยร่วมฤดีมีความกว้างของถนน 10 เมตรตลอดแนวของสำนักงานเขตปทุมวันซึ่งต่อมาชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบเขตก่อสร้างอาคารดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตปทุมวัน และสำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เนื่องจากความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว ซึ่งการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าวจึงขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535  ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แต่การก่อสร้างก็ยังคงดำเนินการต่อไป เมื่อการร้องเรียนไม่เป็นผล กลุ่มผู้ร้องเรียน โดยนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวก 24 คน ได้มอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง  ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลปกครองกลางได้พิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้นำเสนอแล้วพิจารณาเห็นว่า ซอยร่วมฤดีซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นสถานที่ตั้งอาคารที่พิพาทมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง ตามข้อมูลการรังวัดของกรมที่ดิน ซึ่งได้ทำการรังวัดรังวัดสอบเขตทางตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จึงได้มีคำสั่งพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ ผู้อำนวยการเขตปุทมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่คู่กรณีทั้งสามฝ่ายอุทธรณ์และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557  ศาลปกครองสูงสุดออกอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ใช้อำนาจตามตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชาบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับผู้ร้องสอด คือ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า     " คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ชัดถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว  และแม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะยาวนานกว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ท้ายที่สุดอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"    นายแพทย์สงคราม  ทรัพย์เจริญ   ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ การที่กทม.อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวได้นั้นขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าไม่คุ้มครองประชาชน เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าว ดังนั้น จากคำพิพากษานี้ ข้าราชการกทม.และในภูมิภาคอื่นๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จำเลยไม่จ่ายก็ต้องยึด(ทรัพย์)

ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีให้เห็นกันไม่หยุดหย่อน แต่ละเหตุการณ์มีทั้งคนเจ็บคนตาย หลายเรื่องเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็เงียบไป เพราะอาจจะตกลงกันได้ หรือไม่ติดใจเอาความ แต่อีกหลายเรื่องก็ต้องฟ้องคดีกัน บางคดีต้องใช้เวลานาน ถึงชนะแล้วก็ยังไม่ได้เงินชดเชยเยียวยาก็มี และกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของผู้ประสบเหตุที่นอกจากจะต้องสูญเสียคนที่รัก คนที่สำคัญของครอบครัวไปแล้ว กระบวนการยุติธรรม การชดเชยเยียวยาก็ล่าช้า ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เสียหายเลย...จากกรณีที่ นางสาวภัทราพร ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2) คันหมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทางสายนครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุ ยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด ผู้ขับขี่ไม่สามารถบังคับรถให้ทรงตัวอยู่ได้ ทำให้รถเสียหลักตกลงไปในร่องกลางถนน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากหลังเกิดเหตุ ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยค่าสินไหมทดแทนจากตัวแทนบริษัท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ มีการท้าทายถ้าอยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา...คดีจึงต้องไปว่ากันที่ศาล โดยนางปุ่น ชุ่มพระ ได้มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ และมูลนิธิฯ ได้จัดหาทีมกฎหมายเข้าช่วยเหลือทางคดี โดยฤกษ์ดีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555  ได้เข้ายื่นฟ้องนายทองใบ ศรีโนรักษ์ ผู้ขับขี่ ,  บริษัท ประหยัดทัวร์, นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ฐานผิดสัญญารับ-ส่งคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีนี้ศาลใช้เวลาพิจารณาคดี 7 เดือน และในวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นมีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมชดเชยเงิน 1,370,540 บาท ให้กับนางปุ่น ชุ่มพระ มารดาผู้เสียชีวิต เนื่องจากนายทองใบ ผู้ขับขี่ให้การรับสารภาพในคดีอาญา และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัย ควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ต้องร่วมรับผิดชอบ (ส่วนจำเลยที่ 5 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมในระหว่างพิจารณาคดีจนครบตามกรมธรรม์แล้ว จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้)ผลของคดีเหมือนจะจบลงด้วยดี หากฝ่ายจำเลยยอมรับคำตัดสินของศาล แต่กรณีนี้ไม่ใช่ นายทองใบ ศรีโนรักษ์ จำเลยที่ 1  ผู้ขับขี่ และ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 2 ผู้ให้สัมปทานรถร่วม ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์เวลาผ่านไปอีก 22 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่แก้ในส่วนของค่าเสียหายให้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,150,540  บาท ของต้นเงินจำนวน 140,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาทแทนโจทก์ด้วย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า “ การพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาภายใต้การบังคับมาตรา 52 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด ”อ่านกันถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงคิดว่าจำเลยคงยอมจะจ่ายเงินตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์อย่างแน่นอน โดยโจทก์ไม่ต้องรออีกต่อไป แต่ผ่านไปอีก 17 เดือน ฝ่ายจำเลยก็นิ่งเงียบไม่ยอมจ่าย แม้โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ฝ่ายจำเลยก็ยังเงียบกริบเหมือนไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้นดังนั้นในวันที่ 17  พฤศจิกายน 2557 นางปุ่น ชุ่มพระ จึงต้องตัดใจยื่นเรื่องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย ชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557  โดยในวันดังกล่าวนางปุ่น ชุ่มพระ พร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้เข้ายึดทรัพย์ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 4 ในคดี เพื่อรับการชำระหนี้จำนวน 1,190,066 บาท ซึ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด ก็ยินยอมชำระหนี้เป็นเช็คเงินสดของธนาคารกรุงไทยให้แต่โดยดี แม้จะใช้เวลานานไปบ้างในขั้นตอนการออกเช็คก็ตามนับเป็นการสิ้นสุดคดีความและการรอคอยการจ่ายค่าสินไหม รวมเวลานับแต่เกิดเหตุจนคดีสิ้นสุดได้รับการชำระค่าเสียหายเป็นเวลา 45 เดือน ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นได้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการชดเชยเยียวยาต่อผู้บริโภคที่เสียหาย ที่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดและใช้เวลานาน โดยจำเลยที่เป็นหน่วยงานรัฐจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเลย หากคดีไม่ถึงที่สิ้นสุด รวมถึงความอ่อนแอของขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับคดี เนื่องจากจำเลยยังมีช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชดใช้ค่าเสียหายได้มารดาของ นางสาวภัทราพร กล่าวว่า “ดีใจที่เรื่องนี้จบซะที แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา ซึ่งไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย อยากขอให้เป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว ดิฉันมีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เพราะลูกคือความหวังของชีวิต”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 บริษัท บุญแปด ยอมถอนฟ้องคดีขี้ไก่เหม็น

ทนายความของฟาร์มไก่ไข่ บริษัทบุญแปด ใส่เกียร์ถอยหลัง ขอถอนฟ้องคดีชาวบ้าน “ร้องขี้ไก่เหม็น” หลังเจรจาในศาลร่วม 2 ชั่วโมง โดยมีข้อตกลงร่วมหากเกิดข้อร้องเรียนอีก ให้ตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้าทำการตรวจสอบทันที เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้นัดชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 27 ราย ซึ่งถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท เพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งหลังจากที่เคยมีการเจรจาก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยศาลออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. และได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านพร้อมนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีจากชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้ง 27 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิงกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก 2 ราย กับทนายความและตัวแทนของบริษัทบุญแปด จำกัด โจทก์ผู้ฟ้องคดี ผลของการเจรจาไกล่เกลี่ย ทนายความของบริษัทบุญแปดได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งหมด 29 ราย โดยแถลงว่า ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีข้อร้องเรียนในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญของกลิ่นเหม็นจากมูลไก่ และคาดว่าจะมาจากฟาร์มให้สามารถทำการร้องเรียนได้ผ่านช่องทางปกติถึงองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง และให้ตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบเหตุที่ร้องเรียนนั้น ตามวิธีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายวันชัย ฤทธิ์ลิขิต ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ย ได้กล่าวถึงผลของคดีว่า การที่บริษัทถอนฟ้องคดีกับชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะดคีไม่มีมูล ชาวบ้านให้ข้อมูลในปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็น ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการของฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้แก่ อบต.ลาดกระทิงไปตามความเป็นจริง ไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายป้ายสีให้บริษัทบุญแปดเสียหาย แต่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นให้หมดไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ซึ่งมีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองระยองได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 และหลังจากนี้ตนและชาวบ้านจะได้ร่วมมือกับ อบต.ลาดกระทิง จัดการปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นอย่างจริงจัง หากบริษัทฯ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้คงต้องเร่งรัดขอให้ อบต.ลาดกระทิง สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่ขัดต่อคำสั่งของศาลปกครองระยองสำหรับเหตุข้อพิพาทเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 บริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน เลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัว แต่บริษัทฯมีการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงหรือ 350,000 ตัว โดยไม่ได้รับอนุญาต ซ้ำยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้น การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากกลิ่นเหม็นของมูลไก่ที่เกิดจากฟาร์มไก่แห่งนี้มาโดยตลอดและได้พากันร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 คดีความเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิต : ศาลต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนในยุคบริโภคนิยม

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการเรื่องที่ผมจะนำเสนอในฉบับนี้ จะเป็นลักษณะ “เสียงจากผู้บริโภค” โดยนำคดีเกี่ยวกับการฟ้องร้องเรื่องการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่เอาเปรียบผู้บริโภคในเยอรมนี และในประเทศไทยเองผู้บริโภคจำนวนมากก็ผจญกับปัญหาหนี้บัตรเครดิต ที่นับวันปัญหาก็จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม เรื่องก็มีอยู่ว่า นายยิลดิซ เป็นนักศึกษานิติศาสตร์ อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ได้ทำสัญญา เปิดบริการใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร Barclay Card ของ Barclay เยอรมนี ในปี ค.ศ. 2000 โดยสามารถชำระเงินคืนบางส่วนได้ คล้ายๆ กับเงื่อนไขการชำระเงินของบัตรเครดิตรในประเทศไทยของเรานั่นเอง แต่อัตราดอกเบี้ย ตอนที่เริ่มทำสัญญานั้น  อยู่ที่ 14.84 % ต่อปี และในสัญญาบัตรเครดิตก็ยังได้ระบุไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะตลาด ในปี ค.ศ. 2007 อัตราดอกเบี้ยได้ถีบตัวสูงขึ้นไป ถึง 19.99 % ต่อปีและไม่มีทีท่าว่าจะลดตามสภาวะของตลาดที่อัตราดอกเบี้ยโดยรวมลดต่ำลงมากเพราะเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง และการที่ผู้บริโภคสามารถแบ่งชำระจ่ายได้บางส่วน ทำให้วงเงินที่เป็นหนี้บัตรเครดิตสูงขึ้นๆ อันเนื่องมาจากดอกเบี้ยที่สูงมากนั่นเอง และทำให้นายยิลดิซ ไม่สามารถชำระหนี้จำนวน 8,000 ยูโรได้ จนกระทั่งทางธนาคารให้บริษัททวงหนี้เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยกับนายยิลดิซ แต่นายยิลดิซ ไม่ตกลงยินยอม คดีจึงเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมตั้งแค่ปี ค.ศ. 2009  ในกรณีนี้ศาลตัดสินว่า ในข้อสัญญาที่ระบุว่าให้ธนาคารสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาดได้นั้น เป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่ต้องสงสัย "unzweifelhaft unwirksam" เพราะฉะนั้นสัญญาในข้อนี้จึงเป็นโมฆะและสั่งให้ธนาคารกลับไปคิดอัตราดอกเบี้ยใหม่โดยให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตอนเริ่มทำสัญญา ผลของคำตัดสินในคดีนี้ส่งผลต่อ ผู้บริโภครายอื่น ที่ทำสัญญาบัตรเครดิตในลักษณะเดียวกันนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลทางเวบไซต์พบว่า มีบัตรเครดิตภายใต้สัญญาที่เป็นโมฆะดังกล่าวเป็นจำนวนถึง 1.3 ล้านใบ และอาจต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทุกรายด้วย แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่จบ โดยจะดำเนินการพิพากษาคดีต่อในเดือนมีนาคม 2014 แต่ถึงแม้ว่าคดียังไม่จบ ทางธนาคาร Barclay ก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงสัญญาที่เป็นโมฆะใหม่แล้วตั้งแต่ปี 2011   ปัจจุบันนี้นายยิลดิซ ได้เรียนจบแล้ว และได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง CDU ที่นายกหญิงเหล็ก แองเจลา แมร์เคิลเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ เรื่องที่เล่ามานี้เกิดขึ้นจริง ในประเทศเยอรมนี ที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในอียู ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ศาลได้ทำหน้าที่ดำรงความยุติธรรม เพื่อรักษาความเป็นนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญและเป็นที่พึ่งของคนเล็กคนน้อยมิให้ถูกธนาคาร ที่เป็นองคาพยพหนึ่งในระบอบทุนนิยมเอารัดเอาเปรียบมากจนเกินไป  และหวังว่าจะได้เห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรในเร็ววันนี้ เพื่อมาเป็นปากเสียงให้กับประชาชน ผู้บริโภคไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญครับ (ที่มา www.welt.de วันที่ 12.11.2013) รูปแสดงอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 2010-2013: ที่มา Deutsche Bundesbank

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 149 การไกล่เกลี่ยคดี ของเยอรมนี: บริบททางสังคมที่ต่างจากประเทศไทย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลและเรียบเรียงมาจากบทความในวารสาร Finanztest  ซึ่งเป็นวารสารสำหรับผู้บริโภคในเรื่องเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการเงิน ฉบับเดือน มกราคม 2555 เพื่อเสนอเป็นข้อมูลประกอบสำหรับการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ในบทความนี้การไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ในเยอรมนี ให้การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องของเอกชนครับ (รัฐไม่ได้เข้าไปยุ่งในกระบวนการเหมือนบ้านเรา ที่รัฐต้องยุ่งทุกเรื่อง และก็ยุ่งเป็นยุงตีกัน ท้ายสุดประชาชนไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร และรัฐต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถดำเนินการได้ไม่ว่าเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในที่ทำงานบริษัท ห้างร้าน และภายในหน่วยงานราชการ ปัจจุบันในเยอรมนีมี พ.ร.บ. ที่ออกมาเพื่อสนับสนุนกระบวนการไกล่เกลี่ย คดีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เช่น คดี ครอบครัว เช่นมีคดีหนึ่งที่สามีภรรยา แยกทางกัน และมีข้อพิพาทในประเด็นที่ว่า จะส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนไหน และใครจะดูแลจัดการเรื่องใด เช่นใครจะไปรับไปส่งตอนไหน ใครจะดูแลเรื่องเครื่องแต่งกาย คดีแบบนี้ทางรัฐสนับสนุนให้ใช้การไกล่เกลี่ย เพราะมีรายละเอียดมากสำหรับการที่จะตกลงร่วมกันในการดูแลลูก   กรณีตัวอย่างนี้ใช้เวลาในการไกล่เกลี่ย 12 ครั้งกว่าจะได้ข้อยุติ  ซึ่งการไกล่เกลี่ยจะเป็นผลดีต่อ พ่อ แม่และลูก มากกว่าการฟ้องร้องคดีกัน  การไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นนี้มีค่าใช้จ่ายสำหรับคู่ความคือ 600 ยูโร(คู่กรณียอมรับว่าเป็นเงินที่คุ้มค่า) โดยปกติราคาสำหรับการไกล่เกลี่ยคดีจะอยู่ระหว่าง 90- 400 ยูโรต่อชั่วโมง (3600 – 16000 บาท) ขึ้นอยู่กับลักษณะคดี  ค่าครองชีพของเมืองที่เกิดคดี และความสามารถและทักษะของผู้ไกล่เกลี่ย ผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจะเป็นคนกลาง (Mediator) ไม่ได้เสนอคำตอบหรือทางออกสำหรับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาท แต่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ (Moderator) ไกล่เกลี่ยให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งคู่กรณีทั้งสองสามารถหาทางออกได้ด้วยตัวเอง คดีที่มีข้อพิพาทกันในครอบครัว ระหว่างเพื่อนบ้าน กรณีพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ธนาคารกับลูกค้า ประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็สามารถใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ (แต่ไม่ยักมีคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการนะครับ) ในเยอรมนี เป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ใช้การไกล่เกลี่ยแก้ไขข้อพิพาท  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2012 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ย หลังจากใช้เวลาร่างและพิจารณากฎหมายในสภา bundestag เป็นเวลากว่า 3 ปี พ.ร.บ.นี้จะมีส่วนสนับสนุนการไกล่เกลี่ย ตลอดจนสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรการไกล่เกลี่ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อแนะนำสำหรับการไกล่เกลี่ยคือ คู่กรณีควรมีทนายความของตนเองมาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้การรักษาความเป็นกลางของผู้ไกล่เกลี่ยเป็นไปได้ง่ายขึ้น “ มิชาเอล พลาสสมานน์ นักไกล่เกลี่ยและทนายความให้คำแนะนำ การทำงานของผู้ไกล่เกลี่ยควรต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค องค์ประกอบของทีมประกอบด้วยเพศหญิงและเพศชาย นักกฎหมาย และนักการศึกษา ครู อาจารย์ เมื่อคู่กรณีตกลงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ก็ต้องรักษาข้อเสนอเป็นความลับทั้งคู่กรณีและผุ้ไกล่เกลี่ย ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ผู้ไกล่เกลี่ยก็สามารถปฏิเสธ การเป็นพยานในชั้นศาลได้ (Zeugnisverweigerungsrecht)   ผู้ไกล่เกลี่ยที่ได้รับการรับรอง (Certified Mediator) ใน พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดวิธีการสอบ หรือหลักสูตรบังคับ แต่จะระบุลักษณะที่พึงปรารถนาของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียน เช่น ต้องผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 120 ชั่วโมงสำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิชากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ย เทคนิคการต่อรอง และการสื่อสาร (Verhandlungs- und Kommunikationstechnik) การดำเนินรายการสานเสวนา (Gesprächführung) และการจัดการความขัดแย้ง (Konfliktkompetenz) นอกจากนี้ยังมี เนื้อหาที่เป็นภาคปฏิบัติ โดยที่จะมีระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการตรวจสอบของผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อพัฒนาความสามารถของนักไกล่เกลี่ยในระหว่างการฝึกอบรม สหพันธ์การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง (www.bmev.de) เป็นองค์กรเอกชนระดับสหพันธรัฐ ที่พัฒนาหลักสูตรการไกล่เกลี่ย สำหรับนักไกล่เกลี่ยมืออาชีพ ข้อดีของการไกล่เกลี่ยคือ เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่มีราคาถูกสำหรับคู่ความในกรณีที่ มีมูลค่าสูงๆ เช่น คดีมรดก ข้อดี อีกอย่างหนึ่งสำหรับการไกล่เกลี่ยคือ ได้ข้อยุติที่รวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการฟ้องร้องคดีในศาล สำหรับคนเยอรมันเองนั้นนับว่าการไกล่เกลี่ยเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะคนเยอรมันจะมีประกันความยุติธรรม (Rechtsschtuzversicherung เบี้ยประกันความยุติธรรมจะอยู่ระหว่าง 200- 360 ยูโรต่อปี) ที่บริษัทรับประกันมีกรมธรรม์คุ้มครองลูกค้า ในกรณีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้น Rechtschutzversicherung ก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยด้วย การไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จ คือ การที่คู่กรณีได้ลงนามตกลงในสัญญาไกล่เกลี่ย ซึ่งคู่ความควรจะต้องให้ทนายฝ่ายตนตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อนลงนามในข้อตกลง ในกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาดังในข้อตกลงดังกล่าว ก็สามารถนำเรื่องฟ้องศาลเพื่อบังคับคดีต่อไปได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 173 เตรียมพร้อมก่อนใช้ “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”

ประเทศไทยเรากำลังจะมีกฎหมายการฟ้องคดีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เชื่อว่ามีประโยชน์และช่วยให้เราในฐานะผู้บริโภคได้มีเครื่องมือสำหรับการฟ้องร้องปกป้องสิทธิของตัวเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกรณีที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากปัญหาในลักษณะเดียวกันจากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการคนเดียวกัน ซึ่งกฎหมายการฟ้องคดีที่ว่านี้ก็คือ “กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” หรือ “Class Action” ซึ่งจุดเด่นของกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มก็คือ การฟ้องคดีเพียงครั้งเดียว ด้วยโจทก์คนเดียว แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง ช่วยให้ผู้เสียหายเกิดการรวมตัวกัน นอกจากจะช่วยลดภาระและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่อกลุ่มผู้เสียหายแล้วนั้น ยังช่วยให้ศาลสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการฟ้องคดีแบบกลุ่มยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่งกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม จะสามารถใช้ได้จริงในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ที่จะถึงนี้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เราลองมาทำความรู้จักกฏหมายการฟ้องคดีแบบใหม่นี้กันดูดีกว่าว่ามีวิธีการใช้อย่างไร และเมื่อมีแล้วผู้บริโภคอย่างเราจะได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างไรบ้างแบบไหนถึงเรียกว่าเป็น “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม”?การดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีจุดสำคัญคือเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก (ตามกฎหมายไม่ได้มีการระบุจำนวนเอาไว้ หมายความว่า แค่มีผู้เสียหายหลัก 10 คน หรือมากเป็นหลัก 1,000 คน ก็สามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ ถ้าศาลเห็นสมควร) โดยผู้เสียหายทั้งหมดจะต้องมีข้อเท็จจริงของความเสียหายที่ได้รับร่วมกัน และใช้ข้อกฎหมายในการพิจารณคดีแบบเดียวกัน เช่น ในคดีผู้บริโภค ที่มีกลุ่มคนที่ได้ความเสียหายจากการซื้อสินค้ายี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อฟ้องร้องต่อบริษัทผู้ผลิตด้วยวิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ โดยหลักสำคัญๆ ที่ศาลจะใช้ในการพิจารณาว่าคดีที่ต้องการฟ้อง เข้าข่ายที่จะใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้หรือไม่ มีดังนี้1.ความเหมือนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของกลุ่มสมาชิกที่ต้องการฟ้องร้อง ข้อกล่าวหาได้แสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบต่อกลุ่มคนทั้งหมดที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มฟ้อง และเมื่อเกิดการพิจารณาคดีจนถึงขั้นมีบทลงโทษแล้ว กลุ่มสมาชิกผู้เข้าร่วมฟ้องทั้งหมดจะได้รับการชดเชยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม2.เป็นคดีที่ผู้เสียหายหลายคนรวมกลุ่มกันแสดงตัวว่ามีความประสงค์จะเข้าร่วมการฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากใช้การดำเนินคดีแบบคดีสามัญทั่วไปจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการดำเนินคดี สร้างภาระต่อศาลและทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของคดี3.ถ้าหากใช้วิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว จะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ4. “โจทก์” หรือ ตัวแทนของกลุ่มผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดำเนินคดีตามขั้นตอนต่างๆ ในศาล ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันของกลุ่มบุคคลที่ต้องการฟ้องคดีที่ชัดเจนเพียงพอ เป็นตัวแทนที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพพอในการทำหน้าที่แทนสมาชิกทั้งหมดในกลุ่ม 5.โจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องพิจารณาผู้ที่เป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์โดยละเอียดและรอบคอบข้อดีของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม1.ช่วยลดจำนวนคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ส่งผลให้การดำเนินการพิจารณาและบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วขึ้น และเกิดแนวทางตัดสินที่ไม่ขัดแย้งกัน เพราะหากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบทั่วไป คดีในลักษณะเดียวกันแต่มีผู้เสียหายจำนวนมาก หากผู้เสียหายแต่ละคนต่างคนก็ต่างไปฟ้องคดี จะทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า 2.ลดภาระของผู้เสียหายบางกลุ่ม บางคน ที่อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินคดีในศาล การฟ้องคดีแบบกลุ่มจึงเหมือนเป็นการลดภาระให้กับกลุ่มคนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหาย และสมควรได้รับการชดเชยเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนของผู้เสียหายด้วยกันทำหน้าที่ต่างๆ ในการฟ้องคดีแทนให้3.ช่วยสร้างบรรทัดฐานของการพิจารณาคดี เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมาก เพราะหากผู้เสียหายจำนวนมากใช้วิธีฟ้องแบบทั่วไป ต่างคนต่างฟ้อง ผลของคดีที่ออกมาอาจไม่เหมือนกัน การชดเชยเยียวยาที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้อาจไม่มีความเท่าเทียมกัน การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผลของคดีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้เสียหายทุกคนที่มีชื่อร่วมอยู่ในกลุ่มจะได้รับการชดเชยเยียวเฉลี่ยกันอย่างเหมาะสมเท่าเทียม4.เป็นเครื่องเตือนใจให้หน่วยงานต่างๆ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ไม่กล้าทำละเมิดหรือสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป เพราะหากมีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความผิดที่เกิดขึ้นจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็อาจถูกนำมาฟ้องร้องเป็นคดีความได้ด้วยการรวมกลุ่มฟ้อง ทำให้ความเสียหายที่เคยมองว่าเล็กน้อย กลายเป็นความเสียหายที่ใหญ่ขึ้น การชดเชยก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายส่วนมากเมื่อได้รับความเสียหายที่เล็กน้อยมักจะเพิกเฉย ไม่ได้เรียกร้องสิทธิหรือฟ้องร้องเป็นคดีความเพราะมองว่าไม่คุ้มกับเงินและเวลาที่ต้องใช้ในการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มการฟ้องร้องต่อศาลก็จะง่ายขึ้น คนไม่รู้กฎหมายหรือไม่เข้าใจเรื่องการฟ้องคดีก็สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีได้คดีอะไรบ้าง ที่สามารถฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม1.คดีละเมิด 2.คดีผิดสัญญา3.คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า“โจทก์” = คนที่มีบทบาทสำคัญในฐานะ “ตัวแทนกลุ่ม” เป็นธรรมดาที่การฟ้องร้องคดีความต่อศาลจะต้องมีฝ่ายผู้ร้องหรือก็คือฝ่าย “โจทก์” เป็นผู้ตั้งต้นเรื่องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับฝ่ายที่สร้างความเสียหายหรือก็คือฝ่าย “จำเลย” นั่นเอง ถ้าเป็นในคดีทั่วไปย่อมไม่มีปัญหาในการกำหนดคนที่เป็นฝ่ายโจทก์ ซึ่งก็คือผู้ที่ร้องต่อศาลในการดำเนินคดี แต่สำหรับในกรณีที่เป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ผู้ที่จะทำหน้าที่โจทก์ถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญไม่น้อยในดำเนินรูปแบบของคดีให้ไปถึงยังจุดที่ตั้งไว้ บทบาทไม่แพ้ทนายที่รับดูแลคดีเลยทีเดียว    คุณสมบัติที่ดีของผู้ที่จะมาเป็นโจทก์ในคดีแบบกลุ่ม ซึ่งก็คือผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มทั้งหมดในการดำเนินคดีในศาล ดูแลการดำเนินการทุกๆ อย่าง เรื่องค่าใช้จ่าย เอกสารหลักฐานต่างๆ ข้อมูลสำคัญ การหาพยาน ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่เข้าใจถึงปัญหา ความเป็นมาของคดีอย่างถ่องแท้ สามารถสื่อสารข้อมูลทั้งหมดให้กับทั้งทนายและสมาชิกทุกคนในกลุ่มที่ร่วมกันฟ้อง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ประสบปัญหาและริเริ่มที่จะนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลแล้วเกิดเล็งเห็นว่าคดีนั้นสร้างความเสียหายในวงกว้างน่าจะเป็นคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มได้แน่นนอนว่าผู้ที่ทำหน้าที่โจทก์หรือผู้แทนกลุ่มอาจไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกับสมาชิกทุกคนในกลุ่ม แต่ผู้ที่รับหน้าที่โจทก์ก็ต้องแสดงตัวให้เห็นตนเองเป็นผู้แทนของกลุ่มจริงๆ โดยมีข้อร้องเรียนในคดีที่ให้ผลในส่วนรวม และพร้อมที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม เพราะต้องไม่ลืมว่าการฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้นมุ่งหวังผลที่จะปกป้องสิทธิของคนทั้งกลุ่ม ไม่ใช่แต่ของโจทก์เพียงคนเดียว ซึ่งศาลก็จะมองในจุดนี้เป็นเหตุผลประกอบในการจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ฟ้องเป็นคดีกลุ่มหรือไม่“โจทก์” แบบไหน? ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนกลุ่ม1.โจทย์ขาดคุณสมบัติในความเชื่อมโยงต่อคดีและกลุ่มสมาชิก2.โจทก์เสียชีวิตหรือกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถ3.เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์4.โจทก์ทิ้งฟ้อง5.เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา6.โจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ7.เมื่อโจทก์ร้องขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์ที่จะเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนกลุ่มต่อไป***เมื่อเปลี่ยนตัวโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่ม โจทก์เดิมยังสามารถเป็นสมาชิกกลุ่มต่อไปได้***ถ้าหากศาลไม่อนุญาตให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์ผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่ม หรือไม่มีการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้กระทำไปแล้วมีผลผูกพันการดำเนินคดีสามัญของโจทก์ต่อไปด้วย***เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต***ในกรณีที่โจทก์ไม่นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางศาล โดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุผล ให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันสมาชิกกลุ่มที่ร่วมฟ้องคดีมีสิทธิดังต่อไปนี้1.เข้าฟังการพิจารณาคดี หรือจะแต่งตั้งทนายของตัวเองมารับฟังในศาลก็ได้2.ร้องขอให้ศาลสั่งแสดงความเหมาะสมและคุณสมบัติของผู้ที่ทำหน้าที่โจทก์ 3.ขอตรวจเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนในสำนวนความหรือขอคัดสำเนาเอกสารเหล่านั้นได้4.จัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนทนายความกลุ่ม 5.ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ หากศาลพิจารณาแล้วว่าโจทก์มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม6.คัดค้านการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ 7.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้สมาชิกที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม มีสิทธิในการขอถอนตัวออกจากกลุ่ม ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้***สมาชิกกลุ่มมีสิทธิออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้โดยแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และให้ถือว่าสมาชิกกลุ่มดังกล่าวไม่เป็นสมาชิกกลุ่มนับตั้งแต่วันที่ได้แจ้งความประสงค์นั้นต่อศาล***เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลกำหนดในการแจ้งขอออกจากลุ่ม สมาชิกจะออกจากลุ่มไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และคำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด***บุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว จะร้องขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกไม่ได้***สมาชิกกลุ่มและบุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มจะร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีแบบกลุ่มไม่ได้ ***ห้ามไม่ให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ยื่นฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคุณอาจมีส่วนร่วมในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม “โดยไม่รู้ตัว”ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการฟ้องคดีแบบกลุ่มก็คือ การฟ้องคดีจะมีผลในการสร้างกลุ่มแบบอัตโนมัติ คือ แค่เพียงโจทก์สามารถแสดงในศาลให้เห็นว่าเรื่องที่ร้องต่อศาลนั้นเป็นเหตุที่สร้างผลกระทบให้กับคนจำนวนมากจริงๆ ที่เห็นชัดคือ คดีสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานแห่งหนึ่งปล่อยสารเคมีออกมาทำให้ประชาชนให้ชุมชนใกล้เคียงชุมชนหนึ่ง ได้รับผลกระทบเรื่องมลพิษ มีโจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีกับโรงงานต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หากศาลรับเป็นคดี นั่นเท่ากับว่าประชาชนที่อาศัยมีชื่อตามทะเบียนบ้านในชุมชนดังกล่าว ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มการฟ้องคดีดังกล่าวด้วย มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลของคดีที่จะออกมาหากคำพิพากษาเสร็จสิ้นเพราะฉะนั้นศาลจึงได้ออกข้อบังคับเพื่อให้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เป็นเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้างโดยทั่วถึง เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีโดยไม่รู้ตัว ได้รับรู้ว่าขณะนี้ตัวเองได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีดังกล่าว โดยมีสิทธิที่จะขอถอนตัวจากกลุ่มในการฟ้องคดีได้แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดศาลจะต้องส่งคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มรับทราบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน รวมทั้งทางสื่อมวลชนอื่นหรือวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควรคำบอกกล่าวและประกาศอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้1.ชื่อศาลและเลขคดี2.ชื่อและที่อยู่ของคู่ความและทนายความฝ่ายโจทก์3.ข้อความโดยย่อของคำฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน4.ข้อความที่แสดงว่าศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และวันเดือนปีที่ศาลมีคำสั่ง5.สิทธิของสมาชิกกลุ่มตามกฎหมาย6.กำหนดวันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน7.ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม8.ผลของคำพิพากษาเมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น ที่จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่ม9.ชื่อและตำแหน่งผู้พิพากษาผู้ออกคำสั่งฉบับนี้ขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มขั้นตอนการขออนุญาต1.โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม2.โจทก์ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยชัดเจนถึงข้อหาหรือข้อบังคับ ที่ตัวโจทก์และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมฟ้องได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุผลที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องมีการระบุหลักการและวิธีคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ลงไปด้วย 4.ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลต้องจัดส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จากนั้นศาลต้องฟังคู่ความทุกฝ่ายและมีการไต่สวนตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้ใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่5.เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะรับคำร้องนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของศาลต่อไป โดยทนายความของโจทก์ก็ถือว่าเป็นทนายความของกลุ่มด้วย6.ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ หรืออาจทำการขออุทธรณ์อีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากศาลมีคำสั่งแรกออกมา โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุดการพิจารณาคดี1.เมื่อคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ขั้นต่อไปก็เข้าสู่ระบบการพิจารณาในชั้นศาล โดยจะต้องมีการแจ้งคำสั่งเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่มเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่อยู่ร่วมในกลุ่มฟ้องทราบผ่านทางหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 3 วัน และเพื่อให้สิทธิในการออกจากกลุ่ม2.ในกรณีที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะไม่คุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มอย่างเพียงพอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มอีกต่อไป ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้พิจารณาไปแล้วมีผลผูกพันต่อการดำเนินคดีสามัญของโจทก์และจำเลยต่อไปด้วย3.หากในระหว่างการพิจารณาคดี แล้วพบว่าทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม หรือทนายความฝ่ายโจทก์ขอถอนตัวจากการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่หากโจทก์และสมาชิกกลุ่มไม่ดำเนินการตามที่ศาลสั่ง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มและดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ คำพากษาและการบังคับคดี1.คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันกับโจทก์และสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มตามที่ได้แจ้งไว้ต่อศาลในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้โจทก์หรือทนายฝ่ายโจทก์มีอำนาจในการบังคับคดี2.หากทนายความฝ่ายโจทก์ไม่สามารถดำเนินการบังคับคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ศาลอาจสั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายคนใหม่มาดำเนินการบังคับคดีแทนได้3.ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม4.จำเลย หรือ คู่ความ มิสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาของศาลในคดีฟ้องแบบกลุ่มได้ตัวอย่างการฟ้องคดีกลุ่มในต่างประเทศเฟซบุ๊คละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ใช้งานผ่านโปรแกรมเสริม Beaconในปี 2007 ฌอน เลน หนุ่มชาวอเมริกันตั้งใจจะซื้อแหวนเพชรสักวง เพื่อจะมอบให้เป็นของขวัญเซอร์ไพรซ์แฟนสาว โดยเขาได้สังซื้อแหวนทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อ Overstock.com แต่แล้วกลับเกิดเรื่องที่ทำให้เขาถึงกับอึ้ง เมื่อการกดคลิ้กสั่งซื้อแหวนเพชรผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว กับถูกเผยแพร่แบบอัตโนมัติทางเฟซบุ๊ค ซึ่งทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊คของเขานับร้อยคน ซึ่งแน่นอนว่า 1 ในนั้นมีแฟนสาวของเขารวมอยู่ด้วย รู้ในทันทีว่า เลน ได้สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว ไอ้ที่ตั้งใจว่าจะเซอร์ไพรซ์ก็เลยกลายเป็นทุกคนรู้เรื่องที่เขาซื้อแหวนเพชรกันหมดฌอน เลน จึงเอาเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาล ด้วยวิธีการฟ้องเป็นคดีกลุ่ม โดย เลน อ้างว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เฟซบุ๊คอีกกว่า 3.6 ล้านคน ในเรื่องที่เฟซบุ๊คกระทำการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊คในส่วนของกิจกรรมที่นอกเหนือจากการที่ทำในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ซึ่งผลจากการพิจารณาคดี ศาลตัดสินว่าเฟซบุ๊คได้กระทำการละเมิดผู้ใช้เฟซบุ๊คจริง เฟซบุ๊คจึงต้องทำการยกเลิกโปรแกรม Beacon พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนด้วยเงินจำนวน 9.5 ล้านดอลล่าร์ ในการดูแลและพัฒนาเรื่องโปรแกรมความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านสังคมออนไลน์(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Lane_v._Facebook,_Inc.)เมื่อผู้พิการทางสายตาเรียกร้องให้เว็บไซต์ขายสินค้าทำระบบเพื่อให้พวกเขาใช้งานได้เหมือนคนปกติในปี 2006 สภาผู้พิการทางสายตาแห่งชาติอเมริกาฟ้องเว็บไซต์ของร้านค้าเฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง Target ที่ไม่ยอมจัดทำระบบที่เอื้อต่อผู้พิการให้สามารถใช้บริการและสั่งซื้อสินค้าในเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อได้มีการนำเรื่องฟ้องต่อศาล ศาลก็ตีความให้คดีนี้เป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพราะโจทก์ฟ้องคดีเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ต่อส่วนรวมคือผู้พิการทางสายตาทั่วไปไม่ใช่เพื่อองค์กร ซึ่งผลของคดีนี้ทำให้เว็บไซต์ Target ก็ได้สร้างระบบในส่วนที่เอื้อให้ผู้พิการสายตาสามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าได้และยังทำความร่วมมือกับสภาผู้พิการทางสายตาแห่งชาติอเมริกาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(ที่มา :https://en.wikipedia.org/wiki/National_Federation_of_the_Blind_v._Target_Corp.)เติมน้ำมันแล้วเครื่องยนต์พัง เจ้าของรถรวมตัวฟ้องเรียกค่าชดเชยผู้ใช้รถยนต์ในอเมริการวมตัวกันฟ้องบริษัทน้ำมัน “เชลล์” ในแคนาดา เนื่องจากขายน้ำมันเบนซินที่มีการเติมสารบางตัวซึ่งทำให้เครื่องยนต์ของรถที่เติมน้ำมันชนิดดังกล่าวเข้าไปเกิดปัญหา ซึ่งเชลล์ยอมรับว่าน้ำมันที่เป็นปัญหาถูกผลิตออกมาขายในช่วงปี 2001 ถึง 2002 คาดว่าน่าจะมีผู้ที่เติมน้ำมันชนิดนี้ไปอยู่ที่ 1 แสนถึง 2 แสนคน ซึ่งเชลล์ก็ยอมรับที่จะชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้าที่เติมน้ำมันไปตามสัดส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น(ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Shell_Canada_lawsuit)โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสารพิษลงแหล่งน้ำทำประชาชนป่วยโรคมะเร็งตัวอย่างคดีฟ้องกลุ่มที่โด่งดังมากๆ คดีหนึ่ง โด่งดังถึงขั้นถูกสร้างเป็นหนังมาแล้ว นั้นคือคดีของ “อิริน บร็อคโควิช” สาวลูก 3 ที่ทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานกฏหมาย ได้ฟ้องบริษัท PG&E ที่ปล่อยสารพิษลงในแหล่งธรรมชาติในเมืองฮินกี้ รัฐแคริฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก อิริน เป็นต้นเรื่องในการส่งเรื่องนี้ให้ศาล พร้อมไปกับการล่ารายชื่อเชิญชวนผู้ที่ได้รับเสียหายรวมกันฟ้องคดี สุดท้ายศาลสั่งให้ PG&E ต้องชดเชยความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเงินสูงถึง 333 ล้านดอลล่าร์ ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การพิจารณาคดีในอเมริกา (ฉบับภาพยนตร์ใช้ชื่อว่า Erin Brockovich (ปี 2000))( ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Erin_BrockovichXคดีฟ้องกลุ่มที่ปลุกจิตสำนึกเรื่องการคุกคามทางเพศในอเมริกาปี 1988 หลุยส์ เจนสัน กับเพื่อนร่วมงานหญิงอีก 14 คน ฟ้องร้องให้ศาลเอาผิดกับ Eveleth Taconite Co บริษัทที่พวกเธอทำงาน ฐานที่ปล่อยให้บรรดาเพื่อนร่วมงานผู้ชายแสดงกิริยา ท่าทาง วาจา คุกคามทางเพศพนักงานผู้หญิงที่อยู่ร่วมบริษัทเดียวกัน แม้จะต้องต่อสู้นานร่วม 10 ปี แต่สุดท้ายศาลก็มีคำสั่งให้บริษัท Eveleth จ่ายเงินชดเชยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวทั้ง 15 คนเป็นเงิน 3.5 ล้านดอลล่าร์ ที่สำคัญที่สุดคดีนี้ให้ทำผู้คนทั่วสหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสำคัญและเคารพเรื่องสิทธิสตรีมากขึ้น (คดีนี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน นั่นคือเรื่อง North Country (ปี 2005))(ที่มา : http://www.iveyengineering.com/blog/class-action-lawsuits-2/)การฟ้องคดีแบบกลุ่มกับปัญหาด้านคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เกิดข้อพิพาทของผู้บริโภคที่ลักษณะความเสียหายหรือถูกละเมิดในลักษณะกลุ่มเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณี ลูกค้าสถานออกกำลังกาย “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ถูกยกเลิกการให้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบและไม่มีการคืนเงินค่าบริการที่ผู้ใช้บริการได้จ่ายไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนกว่า 2,000 คน มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 50 ล้านบาท หรือจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ครูซ และแคปติวากว่า 20 ราย พบว่ารถที่ใช้งานอยู่มีปัญหาที่ระบบเกียร์ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย แม้จะแจ้งกับทางบริษัทผู้ผลิตแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม จนเกิดการรวมกลุ่มกันแล้วเข้าฟ้องร้องต่อ สคบ. แต่เหมือนปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม ลองคิดกันดูว่าถ้ามีกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ตัวอย่างปัญหาที่ยกขึ้นมาน่าจะได้ช่องทางและวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบและรวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ช่วยผู้บริโภคในการฟ้องคดี อย่าง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค แต่กฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มจะช่วยในกรณีที่ความเสียหายเกิดกับผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้ศาลเห็นถึงภาพความเสียหายที่ชัดเจนกว่าการแยกกันฟ้องเป็นรายบุคคล เป็นการลดขั้นตอน ลดภาระในการฟ้องคดีของทั้งผู้บริโภคและศาล แม้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีข้อดีตรงที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางศาลในการดำเนินคดี แต่หากเป็นกรณีที่ความเสียหายไม่มากผู้บริโภคก็อาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินเรื่องฟ้องเป็นคดีต่อศาล แต่หากใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ไม่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใด แต่หากเป็นความเสียหายในลักษณะเดียวกัน มีคู่ความเป็นคนเดียวกัน ก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกในการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ โดยไม่ต้องทำหน้าที่เป็นโจทก์ เพียงแค่อาจต้องให้ข้อมูลในส่วนของการพิจารณาคดีเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 132 พลิกแฟ้มประวัติศาสตร์ 10 ปี กับ “คดีฟ้อง” ของผู้บริโภค

  “ฟ้องร้อง” “ขึ้นโรงขึ้นศาล” ... แน่นอนว่า สำหรับประชาชนคนเดินดินธรรมดาๆ ย่อมไม่มีใครอยากข้องแวะกับเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะในสถานะ “โจทก์” หรือ “จำเลย” ก็ตามที แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในปีที่ผ่านมา “คดีผู้บริโภค” มีมากกว่า 3 แสนคดี!!! อะไรหรือที่ทำให้ผู้บริโภคอดรนทนไม่ได้จนต้องลุกขึ้นมา “ฟ้อง”? โจทย์ตั้งต้นที่ต้องไข ”ไฉนจึงต้องฟ้อง”? เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเก็บเงียบไว้ บ่นกับเพื่อน หรือหากคิดว่าถ้าดำเนินการแล้วไม่คุ้มก็จะเลิกดำเนินการ การฟ้องคดี มักเป็นหนทางสุดท้ายที่ผู้บริโภคใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับตนเอง  หลังจากที่เริ่มต้นจากการคุยกับผู้ประกอบการ การร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นตัวกลางในการเจรจา และช่วยเหลือให้ปัญหาถูกแก้ไขได้โดยเร็ว รวมทั้งพัฒนามาตรการในการป้องกันปัญหาเหล่านี้ แต่หลายครั้งกลับพบว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลกำกับการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ต้องประนีประนอมมากกว่าการจัดการขั้นเด็ดขาด การเจรจาแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรือหากมีผลสำเร็จ ผู้บริโภคก็ต้องทนยอมรับมากกว่าจะต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดกลับมา นอกจากนี้ การให้องค์กรผู้บริโภคช่วยเหลือ มีหลายครั้งที่เจรจาไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ สภาพเหล่านี้นำมาซึ่งการตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีในที่สุด   ----------------------------------------------------------------------------------------------   “สิทธิสุดขอบฟ้า” มี...แต่คว้าไม่ถึง แม้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่การตัดสินใจฟ้องคดีกับการคลี่คลายปมไม่เป็นธรรมนั้นมีเส้นทางที่ห่างไกลกันอย่างยิ่ง ข้อมูลจากประสบการณ์รับเรื่องร้องทุกข์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียน ส่วนใหญ่จะต้องเจอกับอุปสรรคหลายประการ  จนทำให้การทวงถามความเป็นธรรมจากระบบยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก ยากลำบากเพียงไร...ค้นหาคำตอบบางส่วนได้จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับ บังอร มีประเสริฐ ที่สรุปอย่างย่นย่อได้ดังนี้ ต้นเดือนเมษายน 2545 บังอร มีอาการอึดอัด แน่นท้อง และท้องโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่เนื่องจากกินยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปีเศษ โดยไม่มีประจำเดือนตลองช่วงเวลานั้น จึงไม่คิดว่าตนเองตั้งครรภ์ได้ สถานีอนามัยได้ตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น แต่เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ จึงใช้การคลำท้อง พบก้อนเนื้อ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกหรือตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลให้ทราบผลแน่ชัด ที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจปัสสาวะ ตรวจปากมดลูก เอกซเรย์ปอด แล้ววินิจฉัยว่า เป็นเนื้องอก จึงนัดมาผ่าตัด เมื่อถึงวันผ่าตัด กลับพบว่า “ก้อนเนื้องอก” ในท้องเป็นทารกแฝด จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บังอร ได้ร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข ขอความเป็นธรรมให้ชดเชยความเสียหายที่ถูกผ่าท้องฟรี ตามสิทธิในพระราชบัญญัติความรับทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย จำนวน 6 คน ซึ่งลงความเห็นและมีคำสั่งในขั้นสุดท้ายว่า “การผ่าท้องเป็นการวินิจฉัยโรค” หลังจากนั้น เธอฟ้องต่อศาลปกครองกลาง 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การผ่าท้องเป็นการกระทำละเมิด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเยียวยาความเสียหาย ประเด็นที่สอง คือ ขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาข้อร้องเรียนไม่ให้โอกาสผู้เสียหายได้ชี้แจงและมีส่วนร่วมในกระบวนการ ผลคือ บังอรแพ้คดี เนื่องจากศาลปกครองมีคำสั่งว่า กระบวนการที่กระทรวงสาธารณสุขวินิจฉัยเรื่องนี้ดีแล้ว แต่ไม่ได้พิจารณาว่า เป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ ต่อมา บังอร ได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่    โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า คดีนี้เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จริง แต่เรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ให้โอนคดีไปที่ศาลยุติธรรมหรือจังหวัดสมุทรสงครามแทน ขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ว่าการผ่าตัดฟรีเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ ใช้เวลาถึง 7 ปี นับตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนลูกแฝดไปโรงเรียนชั้นประถม และภาระต่างๆ ในการการพิสูจน์ความเสียหาย การหาข้อมูล หาพยานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้รับบริการจากระบบบริการสาธารณสุข ตกเป็นของบังอรแต่ผู้เดียว สภาพเช่นที่เกิดขึ้นกับบังอรเป็น “เรื่องธรรมดาสามัญ” ที่พบได้ในแฟ้มคดีผู้บริโภค นั่นคือ ก่อนฟ้องคดีมักเริ่มต้นจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อฟ้องแล้ว ยังพบมีขั้นตอนมากมาย และใช้ระยะเวลานาน...โดยไม่เกิดอะไรขึ้นเลย นี่คือเหตุสำคัญอันนำไปสู่ผลที่สอดคล้องกับงานวิจัยของ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่พบว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมีเพียง ร้อยละ 2 เท่านั้น ที่มีการดำเนินการจนถึงกระบวนการสุดท้ายของการใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน ---------------------------------------------------------------------------------------------- ถามหาความเป็นธรรม เส้นทางแสนทุรกันดาร ความทุกข์ของผู้บริโภคในการใช้ “สิทธิอันพึงมีพึงได้” นั้นมีอยู่มากมายหลายด้าน ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ประมวลและสรุปออกมาได้ 5 ข้อหลัก ดังนี้ • ไม่รู้จะไปร้องที่ไหน ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ หรือแม้แต่หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนที่มีจำนวนมาก จนยากที่ผู้บริโภคธรรมดาจะรู้เท่าทันว่าจะต้องใช้สิทธิกับหน่วยงานใด • ไม่ใส่ใจนำพา ความไม่โปร่งใส ความไม่เป็นธรรม และไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือเมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ • ไม่มีปัญญาเดินเรื่อง การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และระยะเวลาในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ล่าช้า ภาระในการพิสูจน์ความผิดความเสียหาย การเข้าถึงข้อมูลของผู้ผลิตและผู้ให้บริการ รวมทั้งขาดพยานผู้เชี่ยวชาญ (ก่อนมีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551) • ไม่ได้รับการชดเชยความเสียหาย ถึงแม้จะชนะคดีก็ยังพบปัญหานี้บ่อยๆ  เช่น เมื่อซื้อบ้านแล้วเจ้าของโครงการล้มละลายบ้านนั้นถูกขายทอดตลาด นับว่ามีโอกาสน้อยมากที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยแถมบางคนถูกไล่ออกจากบ้านของตนเอง สามีติดคุกเพราะตนเองดื้อเพ่งที่จะอยู่บ้านที่ซื้อมากับมือ • ไม่ถือประโยชน์ผู้บริโภคใหญ่ ปัญหาความทุกข์ ความเสียหายของผู้บริโภคในปัจจุบัน มาจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น รัฐคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยมากกว่าผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยจำกัดไม่น้อยกว่าล้านคน และเกิดผลต่อเนื่องทั้งผู้บริโภคทุกฝ่าย อู่คู่สัญญา และกลุ่มพนักงานบริษัท   “ฟ้องแทนผู้บริโภค” บทบาทอีกด้านของ มพบ. เมื่อปี 2544 ได้เกิดปัญหาและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค กรณีการควบรวมกิจการของธุรกิจเคเบิ้ลทีวี 2 รายใหญ่ คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ “ไอบีซี” และ บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ “ยูทีวี” ได้รวมตัวเป็น กลุ่มบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ “ยูบีซี” ทำให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพบริการ ราคาแพง และมีโฆษณาในผังรายการเหมาจ่ายรายเดือน มูลนิธิ ฯ จึงร่วมมือกับ โครงการสื่อสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้ส่งต่อข้อร้องเรียนนี้ไปยังศาลปกครองกลาง ข้อร้องเรียนกล่าวถึง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ทำให้เกิดผู้ให้บริการรายเดียว และ อสมท.ได้ประโยชน์จากการอนุมัติให้ขึ้นราคา เพราะได้ส่วนแบ่งรายได้โดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่าย ข้อร้องเรียนนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปรับเพิ่มราคาค่าสมาชิกของ อสมท. แม้ท้ายที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาว่า เป็นอำนาจที่ อสมท.สามารถทำได้ และโจทย์เป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ศาลปกครองกลางก็ได้พิพากษาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้เสียหายในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้มูลนิธิฯ เริ่มต้นเดินหน้าในการ “ฟ้องคดีเพื่อผู้บริโภค” อย่างจริงจังมาจนถึงวันนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่า คดีปฐมบท “พ่ายแพ้” แต่กลายเป็น “อิฐก้อนแรก”   404 คดี ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิฯ “ฟ้องคดีเพื่อผู้บริโภค” เป็นจำนวน 404 คดี แม้ดูเหมือนเป็นจำนวนไม่น้อย แต่หากพิจารณาคดีผู้บริโภคทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 336,549 คดี  ในปีที่ผ่านมาของศาลแล้ว คดีที่มูลนิธิฯฟ้องแทนผู้บริโภค จำนวน 404 คดี คิดเป็นเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น! การดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ของมูลนิธิฯ เกี่ยวข้องกับ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น กรณีการถูกเรียกเก็บเงิน 107 บาท จากบริษัทโทรคมนาคม เมื่อผู้บริโภคไม่จ่ายค่าบริการโทรศัพท์ติดต่อกันสองเดือน อันจะทำให้ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ต่อเมื่อไปจ่ายค่าบริการและขอใช้บริการใหม่จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มทันทีจำนวน 107 บาท ทั้งๆ ที่ประกาศมาตรฐานสัญญาในการให้บริการของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เดิม ระบุไว้ชัดเจนว่า บริษัทฯ ไม่สามารถเก็บเงินเพื่อการนี้ได้ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังฟ้อง คดีที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ปัญหาสาธารณะ อีกหลายต่อหลายคดี เช่น กรณีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของบริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังไม่รับรู้สิทธิของตนเองในฐานะผู้ใช้บริการ และเมื่อเกิดปัญหา แทนที่จะได้รับการเยียวยาหรือชดเชยอย่างเป็นธรรม กลับมักถูกผู้ให้บริการรถโดยสารข่มขู่หรือหาทางปิดคดีโดยเร็ว รวมทั้ง การฟ้องคดีเพื่อให้ปรับปรุงมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการฟ้อง คดีสาธารณะเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น การอนุญาตให้เอกชนขึ้นค่าทางด่วนจาก 50 บาทเป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ หรือการฟ้องคดีเพื่อสนับสนุนการทำงานของขบวนการทำงานขององค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ในการกรณีการผลักดันการเข้าถึงยาจำเป็นต่อชีวิต เช่น การฟ้องศาลปกครองกลางกรณีคำสั่งสำนักงานแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่มีมติว่า การกระทำของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (มหาชน)(ABBOTT) จากสหรัฐอเมริกา ที่ได้ขอให้บริษัทในประเทศถอนทะเบียนยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวน 10 รายการจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ขัดต่อกฎหมายแข่งขันทางการค้า เนื่องจากบริษัทไม่พอใจที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ทำให้สามารถมียาราคาถูกในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุในการถอนทะเบียนยา ปัจจัยในการฟ้องคดีต่างๆ ข้างต้น เกิดจากการละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยธุรกิจข้ามชาติ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นข้อพิพาทของผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งกระทบต่อสาธารณประโยชน์ ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับข้อพิพาทส่วนใหญ่มีความสลับซับซ้อน ยากที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจะมีโอกาสและความสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง บางกรณีเป็นเรื่องผลกระทบที่เกิดจากผลประโยชน์ทางนโยบายของรัฐ นักการเมือง หรือภาคเอกชน ที่มีอำนาจและอิทธิพลเหนือผู้บริโภค และเป็นฝ่ายที่มีความรู้และสถานะที่เหนือกว่าในเรื่องข้อมูลข่าวสารและความเชี่ยวชาญ รวมถึงการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแห่งคดี มากกว่าผู้บริโภค   “แพ้ชนะ” ไม่ใช่เป้าหมายสิ่งที่ได้คือก้าวไปข้างหน้า เมื่อถอดบทเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเรื่องของการฟ้องคดีของผู้บริโภค พบว่า ผลคดีไม่ว่าลงเอยด้วยการแพ้หรือชนะก็ตาม ได้สั่งสมเป็นคลังประสบการณ์ ที่ส่งผลในภาพรวมให้ขบวนการผู้บริโภคไทยก้าวไปข้างหน้าในหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ สามารถหยุดกระบวนการที่ทำให้รัฐและสาธารณะประโยชน์เสียหาย หรือเกิดผลเสียต่อผู้บริโภค รวมทั้งปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ สาธารณะและประชาชน เช่น กรณีการฟ้องการแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สามารถหยุดการกระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ และทำให้ต้องยกเลิกนำการไฟฟ้าเข้าจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ หรือการมีคำสั่งให้ บริษัท ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน รอนสิทธิ เวนคืนหรือใช้เงินลงทุนของรัฐคืนให้กับกระทรวงการคลัง ประการต่อมาคือ ทำให้สิทธิของผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการได้รับการชดเชยความเสียหาย เช่น สิทธิของคนเล็กคนน้อยที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมักจะไม่รู้ว่าตนมีสิทธิ หรือหากลุกขึ้นมาใช้สิทธิก็จะต้องยุ่งยาก ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ เกิดบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีที่ได้รับความเสียหายแบบเดียวกัน สำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังทำให้ ผู้บริโภคเท่าทันข้อมูลและมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคถูกบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น การเก็บเงิน 107 บาท ในการต่อสัญญาณโทรศัพท์ หรือการรับรู้ว่าการขึ้นรถโดยสารสาธารณะเป็นผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และตัวอย่างของการฟ้องคดีที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังทำให้ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ กล้าที่จะลุกขึ้นหรือใช้สิทธิหรือใช้การฟ้องคดีในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับการเยียวยาเพิ่มขึ้น เพราะขั้นตอนและการใช้สิทธิไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย ไม่ต้องใช้เงินในวางศาล และไม่จำเป็นต้องใช้ทนาย ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและมีความกล้าในการพิทักษ์สิทธิตนเอง ผลด้านอื่นๆ ก็คือ บทบาทในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดความระมัดระวังในการดำเนินงานของข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การฟ้องคดีปกครองกรุงเทพมหานคร และที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ บทเรียนการฟ้องคดีสาธารณะในหลายกรณี นำมาซึ่งการยกระดับนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดมาตรการหรือกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสมจริงจัง เช่น กรณีการฟ้องคดีเพื่อให้ปรับปรุงมาตรการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข หรือกรณีการถอนทะเบียนยาของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด เป็นต้น   ประมวลอุปสรรคที่ผ่านมาเมื่อ “ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค” การดำเนินการฟ้องคดีของมูลนิธิฯ แทนผู้บริโภค เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการมูลนิธิ ฯ ดำเนินการโดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการ นักกฎหมายและกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา ประมวลปัญหา อุปสรรค เพื่อใคร่ครวญยกระดับงานด้านนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้ดังนี้ • แม้ว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะมีบทบาทต่อสังคม ในฐานะองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ดำเนินการปกป้องสิทธิผู้บริโภคในทุกๆด้าน รวมถึงการฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ในทางกฎหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เป็นองค์กรที่สามารถฟ้องคดีได้แทน ตามมาตรา 40 ให้เป็นองค์กรหรือสมาคมให้มีสิทธิและอำนาจฟ้องคดีได้ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันหรือตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 เป็นต้น • ขาดนักกฎหมายหรือทนายความที่ปฏิบัติงานภายในองค์กร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเจ้าหน้าที่ประจำไม่น้อยกว่า 20 คน แต่ไม่มีนักกฎหมายและทนายความในระดับเจ้าหน้าที่ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นระบบอาสาสมัครที่เข้ามาสนับสนุนการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้เกิดความจำกัดในการดำเนินคดีด้วยตนเอง รวมทั้งขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการดำเนินคดี เช่นการเงินการธนาคาร บริการสาธารณะ สื่อและโทรคมนาคม ผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดีให้ประสบความสำเร็จ • งบประมาณที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นงบประมาณโครงการ ที่ไม่ต่อเนื่อง แต่ขณะที่การดำเนินคดีใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ถึงแม้มูลนิธิฯ จะใช้ระบบทนายอาสาที่ใช้ระบบค่าตอบแทนที่เป็นเพียงค่าตอบแทนวิชาชีพ แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากต่อปีในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนวิชาชีพ การสืบค้นข้อมูลในการดำเนินคดี การคัดถ่ายเอกสาร ค่าพาหนะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินคดี การวางแผนการประชุมผู้เชี่ยวชาญ และหากเป็นการดำเนินคดีสาธารณะ หรือผู้บริโภคที่ยากจนก็ต้องรับภาระในส่วนนี้แทนทั้งหมด • นโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าและทันสมัยยังขาดความเข้าใจและรับรู้โดยหน่วยงาน หรือบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  อาทิ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ที่มุ่งหมายจะก่อให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่สมบูรณ์ทั้งในด้านการป้องกันความเสียหาย และเยียวยาความเสียหาย เช่น การระงับการจำหน่ายสินค้าอันตราย ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองตนเองของผู้บริโภค การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล การพิจารณาคดีเชิงลงโทษ ความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดี แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติกลับยังมีข้อติดขัดหลายประการ ที่ยังไม่สามารถใช้ได้จริงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ถูกคัดค้านจากผู้ประกอบวิชาชีพ จนกระทั่งต้องออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย หรือรวมถึงปัญหาการยอมรับและการร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรเอกชนต่างๆ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการสนับสนุนข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่อการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   แปลงปัญหา สู่ ปัญญานำพาพลังแห่งการ “ฟ้อง” จากประสบการณ์ การประมวลบทเรียนที่ผ่านมา และการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะต่อการฟ้องคดีสาธารณะเพื่อผู้บริโภคในอนาคต ดังนี้ ประการแรก เร่งให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า “ สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ในการตราและบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระด้วย ประการที่สอง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคควรมีอำนาจในการฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินคดีโดยผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค ยังขาดแคลนทั้งความเชี่ยวชาญ ทรัพยากรบุคคล และงบประมาณ    ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์การอิสระที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในการเยียวยาความเสียหาย ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน หรือนักการเมือง ที่จัดตั้งขึ้น และสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  และมีบทบาทในการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้อย่างโปร่งใส และมีความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และการบังคับใช้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  และเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้มีสามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและผลประโยชน์ของสาธารณะได้จริง ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใด ๆ ประการที่สาม หน่วยงานรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำคดีผู้บริโภค ข้อเสนอระยะสั้น รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนว่า หากมีการดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดๆ ของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นควรสนับสนุนงบประมาณให้แก่ องค์กรผู้บริโภค หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยผู้บริโภคดำเนินการฟ้องร้องคดี ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ และสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเกิดความเข้มแข็งและช่วยเหลือฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ประการที่สี่ เร่งอุดช่องโหว่ปัญหาการบริหารกิจการของรัฐโดยไม่ตอบสนองประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง จากกรณีคดีตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านมาตรการหรือนโยบายของรัฐ การกำกับดูแล และการใช้กฎหมายที่ถูกละเลย รวมถึงการไม่ให้ความสำคัญกับประโยชน์สาธารณะ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งเน้นประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือผลประโยชน์กับธุรกิจบางประเภท   โดยที่หลายคดีทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในประเทศอย่างมหาศาล   หรือเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อคนบางกลุ่มบางประเภท แต่ภาพโดยรวมของความเสียหายแล้วเกิดได้กับคนทุกคน จะเห็นได้ว่า ปัญหาหรือข้อพิพาทต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยองค์กรของรัฐเอง และส่งผลต่อระบบธรรมาภิบาลของการบริหารราชการแผ่นดิน และมีผลต่อทุกภาคส่วนในสังคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อม ที่เป็นผลจากนโยบาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเลยการใช้กฎหมาย ที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ประการสุดท้าย เผยแพร่บทเรียนสู่สังคมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันเผยแพร่บทเรียน ความสำเร็จในคดีสำคัญเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค ให้เกิดความเข้าใจ ปลุกกระแสความตื่นตัว เป้าหมายปลายทาง คือ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการคุ้มครองตนเอง และให้ทุกๆ ฝ่ายมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และร่วมกันตรวจสอบ นโยบายและการดำเนินการของรัฐ และหยุดการดำเนินการที่เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ รวมถึง การยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาคเอกชนที่มีผลต่อประโยชน์สาธารณะด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point