ฉบับที่ 183 สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 “ร่วมผลักดันระบบการคุ้มครองผู้สูงวัย”

ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งส...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!

ฉบับที่ 186 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

    การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่คุ้นกันในชื่อ เออีซี (Asean Economic Community) สร้างโอกาสมากมายให้กับประเทศในอาเซียนที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสินค้า-บริการระหว่างกัน    ทว่า โอกาสมักมาพร้อมความท้าทาย ในมิติสิทธิผู้บริโภค เออีซีนำปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสนใจ ลองนึกดูว่าถ้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนถูกส่งเข้าไปขายในอาเซียนด้วยกัน หากสินค้ามีปัญหาจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยคุ้มครองดูแลผู้บริโภคใน 10 ประเทศได้ แล้วถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทอาหารหรือยา ผลกระทบก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และติดตามการทำงานของภาครัฐในการดูแลสิทธิของผู้บริโภค    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียนขึ้น เท่าที่ปรากฏขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 องค์กรหลักคือ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี (SEACC: Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และไทย ที่จะคอยเกาะติดประเด็นสิทธิผู้บริโภค คู่ขนานไปกับอีกองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศในอาเซียนที่เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน หรือ เอซีซีพี (ACCP : ASEAN Committee on Consumer Protection) โดยในส่วนของประเทศสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในเอซีซีพีถามว่าเอซีซีพีมีภารกิจอะไร คำตอบคือ เพื่อคอยประสานงานด้านการดำเนินการและกำกับติดตามการจัดทำกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคƒ    อุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ACCP ได้มีการร่างแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยส่งร่างเข้าไปยังที่ประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วยกัน 4 ประการเรียกว่า แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2559-2568 ตามแผนนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งหมด 4 ด้านยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ให้มีการกำหนดหลักการขั้นสูงด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึง การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นระดับสากล ซึ่งจะต้องมีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิก และเมื่อพอทบทวนเสร็จจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายของประเทศภายในสมาชิกให้เป็นสากลยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคในระดับสูง ยุทธศาสตร์นี้จะพูดในเรื่องของการส่งเสริม เช่น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้บริโภค และต้องมีการนำเสนอประเด็นข้อกังวลของผู้บริโภคต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและทำธุรกรรมข้ามพรมแดน วิธีการก็คือส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการตั้งกลไกการหารือและการพัฒนาชุดเครื่องมือข้อมูลข่าวสาร มีการบังคับใช้กฎมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสินค้าต่างๆ มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยหรือที่เรียกว่า Alert System ขึ้นมา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน การส่งเสริมให้มีการประสานกันในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกับส่วนอื่นๆ เช่น ประเด็นการแข่งขันทางการค้า E-Commerce และจะต้องมีการพัฒนาดัชนีการเพิ่มขึ้นของความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของผู้บริโภคในอาเซียน มีการพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อผู้บริโภคเหล่านี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะจบลงในปีนี้ ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมว่า จะต้องพัฒนามาตรฐานระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศและรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีในประชาคมอาเซียน การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎระเบียบด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การปรับปรุงกฎหมายระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงช่องทางการรับข้อร้องเรียน พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ จากการร้องเรียน การเพิ่มสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สร้างความตระหนักของ ผู้บริโภคในการรักษาสิทธิและดูแลผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระตุ้น จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชนสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน การผนึกกำลังของภาคประชาสังคมสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายเพิ่มเติมว่า“แต่เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยและในอาเซียนมีการแยกส่วน ตัว สคบ. หรือเอซีซีพีดูเฉพาะเรื่องสินค้าปลอดภัยหรือความร่วมมือในบางเรื่อง แต่ก็มีกรรมการเฉพาะด้าน เช่น กรณีอาหารเสริมหมามุ่ย มีคณะกรรมการที่เรียกว่า Traditional Medicine and Health Product ซึ่งกรรมการชุดนี้จะดูเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งก็ไปกำหนดกติกาอีกที ทำแนวทางเรื่องยา เครื่องสำอาง คือ เขาจะมีกรรมการเฉพาะในบางด้านอีกต่างหาก ไม่ได้หมายความว่าเอซีซีพีดูทุกเรื่อง ซึ่งก็คล้ายๆ กับบริบทในประเทศ เพราะแต่ละที่ก็จะมีเหมือน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของทุกประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในประเด็นเฉพาะบางด้านก็มีความร่วมมือแยกออกไป”อีกด้านหนึ่ง ฟากคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และได้ผลักดันจนเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี โดยมีพันธกิจในการก่อตั้งคือ เป็นตัวแทนและส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค  ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเสนอความเห็นเพื่อการตัดสินใจของอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคสารี กล่าวว่า SEACC เป็นอีกหนึ่งกลไกที่พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนให้เกิดกลไกคุ้มครองผู้บริโภคข้ามแดนขึ้น และอีกข้อผลักดันหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่รัฐบาลประชุมก็ขอให้มีการจัดประชุมกับองค์กรผู้บริโภคควบคู่กันไป แล้วให้โอกาสภาคประชาสังคมเข้าไปเสนอประเด็นเรื่องผู้บริโภคในการประชุมของเอซีซีพีกติกากลาง-การเชื่อมโยงข้อมูล งานหลักที่ต้องรีบดำเนินการ    อุฬาร อธิบายว่า เบื้องต้นขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของตนเอง บางประเทศเพิ่งร่าง บางประเทศเพิ่งผ่านสภา เช่น กัมพูชาที่เพิ่งจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเมียนมาร์ก็เพิ่งตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เป็นต้น ซึ่งการจะมีกฎหมายกลางระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาต่อไป ในเบื้องต้นมีแค่ความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุฬารเห็นว่าการสร้างกติการ่วมกันนั้นมีความเป็นไปได้“มันมีความเป็นไปได้ เนื่องจากประชาคมอาเซียน เราก็อยู่ในสังคมโลกเหมือนกัน ทางสหประชาชาติก็กำหนดไกด์ไลน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคออกมา ซึ่งประเทศสมาชิกก็ต้องรับมาปฏิบัติ มีคณะกรรมการ กรรมาธิการกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ ก็ประชุมกันเพื่อกำหนดเกณฑ์ในเรื่องของกฎหมายการค้า ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคมันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็คงจะต้องปรับแก้กฎหมายของตนเองให้สอดคล้อง พอกฎหมายของตนเองสอดคล้องแล้ว มันก็จะมีกำหนดกติการ่วมกันได้ในอนาคต”อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับอาเซียน อุฬารยอมรับว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยยังกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ สคบ. พยายามปรับองค์กรเพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเชื่อมโยงข้อมูลกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ด้วย เพราะทาง สคบ. เห็นว่าทาง มพบ. มีข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอยู่มากพอสมควร ซึ่งควรนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลส่วนในระดับชาติจะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางอาเซียนก็ได้เริ่มจัดทำอินเตอร์เน็ต แพล็ตฟอร์มขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศสมาชิกสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและจะมีการพัฒนาต่อไป“ตอนนี้น่าจะยังไม่มีตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นการพูดคุยกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพทอ. (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวผม เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำมากำหนดนโยบายพื้นฐาน ถ้าเราขาดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาให้ครบถ้วน วิธีการแก้ไขปัญหามันก็จะไม่ตอบโจทย์ ซึ่งตอนนี้รูปธรรมยังไม่ออกมาเป็นแพทเทิร์นที่สมบูรณ์ จะมีเรื่องการระงับข้อพิพาทข้ามแดน การเยียวยาผู้บริโภค การเจรจาไกล่เกลี่ยออนไลน์ ต่างๆ เหล่านี้พ่วงเข้ามาด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการริเริ่มเบื้องต้นเท่านั้น อย่าง สคบ. เอง ตอนนี้ก็กำลังเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงระบบงานเพื่อให้สอดคล้องและมีความเป็นสากลมากขึ้นกับทาง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อนเสนอทางรัฐบาลต่อไป”อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสารี สะท้อนทัศนะวิพากษ์ต่อการดำเนินการเรื่องของรัฐบาลว่ายังไม่มีความกระตือรือร้นมากนัก โดยยกตัวอย่างว่า“มีความร่วมมือตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าการรายงานผลิตภัณฑ์ที่เอาออกจากท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย อยู่ในหน่วยที่เรียกว่า Product Alert อันนี้คือฝั่งเอซีซีพี พบว่าประเทศไทยเข้าไปแอคทีฟกับการรายงานเรื่องพวกนี้น้อยมาก ทั้งที่เรามีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเรื่องสินค้า บริการเยอะแยะ ด้วยความที่มันอาจจะมีหน่วยงานเยอะก็ได้อย่างของเวียดนามมีการรายงานเรื่อง โน้ตบุ๊ค เลอโนโว รถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้ที่มีปัญหา เราเสนอให้ สคบ. นำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ เพราะบางรุ่นอาจจะผลิตที่เวียดนาม เราเชื่อว่า ถ้าพบความผิดพลาดในบางประเทศ ก็น่าจะพบความผิดพลาดที่บ้านเรา ถ้าผู้บริโภครู้ก็จะได้แก้ปัญหา แต่ขณะนี้ต้องบอกว่ามีแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น ที่เอาข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เอาข้อมูลออกมาทำเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนตื่นตัว รู้ว่ามีสินค้ารุ่นนี้ที่ประเทศนี้เอาออกจากท้องตลาดหรือในยุโรปที่ใช้กติกาเดียวกัน ใช้ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน เช่น ไทยส่งผักไปยุโรปและพบว่ามีซัลโมเนลลา(เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ) ปนเปื้อน ภายใน 24 ชั่วโมง 27 ประเทศในยุโรปจะรู้หมดว่าผักนี้อยู่ในตลาดไหน บ้านเรายังไม่มีระบบแบบนี้ แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับสินค้าปลอดภัยที่ค้าขายกันอยู่ตามชายแดน เรายังไม่เห็นระบบเตือนภัยลักษณะนี้ หรืออย่างอินโดนีเซียก็ก้าวหน้ามาก เขาเอาไดร์เป่าผมออกจากท้องตลาดเพราะไม่มีฉลากเป็นภาษาบาฮาซาร์ ซึ่งมันสะท้อนระดับความจริงจังของการจัดการเรื่องพวกนี้ที่แตกต่างกัน”สารีเห็นว่า การสร้างกติกากลางเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยยกตัวอย่างว่าขณะนี้สิงคโปร์มีกฎหมายคืนสินค้า ถ้าสิงคโปร์สั่งรถจากไทยไป แล้วพบว่ามีการชำรุด บกพร่อง คนสิงคโปร์จะได้เงินคืนหรือได้รถคันใหม่ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการทำนองนี้ เพราะฉะนั้นต้องทำกติกากลางร่วมกัน    ในมิตินี้ อุฬาร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันภายในประเทศ เรื่องขอความกระจัดกระจายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการซ้ำซ้อน เกิดช่องว่าง ซึ่งตรงนี้มันจะต้องมาปรับทัศนคติหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในประเทศให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ตอนนี้ สคบ. ก็เสนอให้มีศูนย์ประสานการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาบูรณาการในเรื่องของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการและก็มีการแก้ไขกฎหมายไปพร้อมๆ กัน“อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากว่าช่องว่างระหว่างรายได้ การศึกษาของของบุคคลในประเทศเรามีค่อนข้างหลากหลาย ทีนี้จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงกระบวนการเยียวยาได้โดยง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องช่วยกันทำ”    อุฬาร เสริมว่า การทำ One Stop Service ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง สคบ. กำลังพัฒนา โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางเพื่อส่งต่อข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภค ส่วนในกรณีสินค้าจากต่างประเทศ อุฬารอธิบายว่า“สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ไปซื้อสินค้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และผู้บริโภคของเราเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคมาเรียกร้องขอให้ชดเชย เยียวยา พอเข้าระบบนี้ก็จะถูกคัดกรองและส่งผ่านระบบการเยียวยาข้ามแดนไป จากไทยผ่านไปที่ สปป.ลาว ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่นก็ไปดำเนินการเพื่อเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายจากผู้ผลิตที่นั่น เป็นต้น”ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดที่ทาง สคบ. กำลังดำเนินการ แม้ว่าจะพบเผชิญอุปสรรคอยู่บ้าง ขณะที่สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซีก็ยังคงเกาะติดการทำงานของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปหมายเหตุ หน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรอบอาเซียนคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการขอสัมภาษณ์ แต่เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการ และการส่งต่อคำร้องขอสัมภาษณ์อันไม่สิ้นสุด จึงทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลจากทาง อย. มาเสนอได้ทันในการนำเสนอครั้งนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 เรื่องที่คนรักสุขภาพต้องรู้ ก่อนสมัครเป็นสมาชิก “ฟิตเนส เซ็นเตอร์”

ยุคนี้เป็นยุคของคนรักสุขภาพ ใครๆ ก็หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ เล่นกีฬา ออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ การที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น เป็นผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ เปิดให้บริการรองรับกระแสคนอยากออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากเหตุการณ์ของ “แคลิฟอร์เนีย ว๊าว” ฟิตเนส เซ็นเตอร์ชื่อดัง ที่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปิดตัวลงในปี 2555 จากการหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีความผิดร้ายแรงถึงขั้นเป็นคดีฉ้อโกง มีผู้เสียมากกว่าหนึ่งพันคน ผลจากกรณีของ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่กับทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องหันกลับมามองหามาตรการควบคุมดูแล และรวมถึงตัวผู้บริโภค ผู้ใช้บริการสถานออกกำลังกาย ที่ต้องให้ความสนใจในเรื่องของมาตรฐานการบริการและเรื่องสัญญาการให้บริการมากขึ้น ปกป้องตัวเองไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว การเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ต้องคำนึงถึงหลายๆ องค์ประกอบ มากกว่าจะมองเพียงแค่สุขภาพหรือรูปร่างที่เราจะได้ แต่ยังต้องมองถึงเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายจากการใช้บริการ ระบบดูแลที่มีมาตรฐานของสถานที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ชวนให้ตกใจ เมื่อมีผู้ใช้บริการฟิตเนสเสียชีวิตเนื่องจากเหตุไฟไหม้อาคารที่ฟิตเนสดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่แม้ต้นเพลิงจะเกิดขึ้นในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ตรงส่วนของฟิตเนสก็ตามแต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานปัจจุบัน สถานบริการด้านการออกกำลัง หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ มีกฎหมายที่ควบดูแลหลักๆ อยู่ 4 ฉบับ คือ   สถานออกกำลังกาย แบบไหนน่าใช้บริการ จากจำนวนของสถานออกกำลังกายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการสถานที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานอย่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออก  “ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” เพื่อเป็นแนวทางให้กับสถานออกกำลังกายต่างๆ นำไปเป็นปฏิบัติ ซึ่งในมุมของผู้ใช้บริการเองก็จำเป็นต้องทราบถึงมาตรฐานต่างๆ ที่มีการกำหนดควบคุม เพื่อที่เราจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย 1.มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม- อาคาร สถานที่ตั้ง ทั้งภายใน ภายนอก ต้องดูแล้วมีความมั่นคง แข็งแรง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร - ต้องมีการแสดงแผนผังสถานที่ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายบอกทางหนีไฟ ป้ายห้ามสูบบุหรี่ และระเบียบการใช้บริการที่ชัดเจน- ต้องมีการติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 1,000 ตารางเมตรสำหรับอาคารขนาดใหญ่ และติดตั้ง 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 100 ตารางเมตร สำหรับอาคารขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละเครื่อง ต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร สามารถมองเห็นได้ง่าย และนำไปใช้ได้โดยสะดวก- จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ (ไม่น้อยกว่า 200 ลักซ์ (มาตรความสว่าง (lux meter))- ห้องออกกำลังกายที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีคุณภาพการปรับอากาศที่ดี มีอุณหภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส และห้องออกกำลังกายที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีการถ่ายเทอากาศที่เพียงพอไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์- ความดังของเสียงในห้องออกกำลังกายเฉลี่ยสูงสุดต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ)- มีการแบ่งพื้นที่ให้บริการออกกำลังกาย เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ต้อนรับ พื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย และพื้นที่กิจกรรมการออกกลุ่ม- พื้นที่จัดวางอุปกรณ์ ควรมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และช่องทางเดินร่วมไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร- พื้นที่กิจกรรมการออกกำลังกายกลุ่ม มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2x2 ตารางเมตร- มีห้องน้ำ แยกชาย-หญิง อย่างละ 1 ห้องต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 15 คน, 2 ห้อง ต่อผู้ใช้บริการ 40 คน, 3 ห้อง ผู้ใช้บริการไม่เกิน 80 คน และเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ 1 ห้อง ต่อจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 50 คน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ ล็อคเกอร์เก็บของ และอ่างล้างมือแยกชาย-หญิง ที่สะอาดและเพียงพอ2.มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย- ต้องมีอุปกรณ์ หรือรูปแบบวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การสร้างเสริมระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต การสร้างเสริมระบบกล้ามเนื้อ และการสร้างเสริมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ- มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาดและพร้อมใช้งานทุกวัน- ต้องมีป้ายคำแนะนำ คำเตือนในการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดไว้เห็นได้ชัดเจน- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านสุขภาพ ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เครื่องวัดความดันโลหิต และ สายวัดรอบเอว3.มาตรฐานด้านการให้บริการ- มีการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพแก่สมาชิก ก่อนการให้บริการครั้งแรก เพื่อคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต การจัดทำประวัติสุขภาพ และการตอบแบบสอบถามการประเนิมความพร้อมก่อนออกกำลังกาย- จัดให้มีคำแนะนำ หลักการ และขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โปรแกรมการออกกำลังกาย การประเมินผลสมรรถภาพทางกายและสัดส่วนของร่างกาย- จัดทำป้ายคำแนะนำและคำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ป้ายคำแนะนำหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ วิธีการออกกำลังการที่เหมาะสมกับเพศและวัย ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย และข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ- มีบริการน้ำดื่มที่สะอาดและมีปริมาณเพียงพออยู่ใกล้บริเวณที่ออกกำลังกาย โดยไม่คิดค่าบริการ4.มาตรฐานบุคลากรผู้ให้บริการ- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ควรมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ, วิทยาศาสตร์การกีฬา, พลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (instructor exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับการเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ได้รับการฟื้นฟูวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างน้อยปีละครั้ง- บุคลากรผู้ให้บริการด้านการออกกำลังกาย สามารถทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกาย คัดกรองสุขภาพก่อนกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย และประเมินสมรรถภาพของสมาชิกทั้งก่อนและหลังการรับบริการ- มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ 1 คนต่ออุปกรณ์ออกกำลังกายทุกชนิดไม่เกิน 15 เครือง และกรณีการออกกำลังกายกลุ่ม มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำ 1 คน ต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 30 คน5.มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน- ต้องมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน ได้แก่ แผนการช่วยชีวิต และแผนการระงับอัคคีภัย อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์สถานพยาบาลใกล้เคียงติดไว้ในที่มองเห็นชัดเจน- ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล พร้อมใช้ตลอดเวลา โดยชุดปฐมพยาบาลควรเก็บไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิท หรืออุปกรณ์ที่กันน้ำ และติดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานพยาบาลต่างๆ ไว้ด้วย ที่มา : คู่มือ ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฉบับที่ 1โดย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรม อนามัย กระทรวงสาธารณสุข คนไทยกับการออกกำลังกาย   สุขภาพดีได้ไม่ต้องง้อฟิตเนสประโยคที่บอกว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” คงไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินความจริงแต่อย่างใด เพราะต่อให้มีเงินไปสมัครตามฟิตเนสชื่อดัง ค่าสมาชิกหลักพันหลักหมื่น อุปกรณ์แน่น เทรนเนอร์เก่ง แต่ถ้าได้แค่สมัครสมาชิกทิ้งไว้โดยไม่เคยไปใช้บริการเลย หรือเดือนหนึ่งจะได้เข้าไปออกกำลังสักครั้งสองครั้ง แบบนั้นสุขภาพดีๆ ก็คงไม่ทางเกิดขึ้นกับเราแน่นอน ฉลาดซื้อ ขอเสนอทางเลือกให้กับคนที่มีใจรักอยากจะออกกำลังกาย อยากจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่ไม่อยากต้องเสียทรัพย์ไปกับฟิตเนส เซ็นเตอร์ ด้วย 3 ทางเลือกในการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายด้วยตัวของคุณเอง 1.ออกไปสูดอากาศอันสดชื่นที่ “สวนสาธารณะ”ประเทศไทยเรามีสวนสาธารณะอยู่ทั้งหมด 593 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ (ข้อมูลจากการสำรวจของกองออกกำลังกายฯร่วมกับศูนย์อนามัย) ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นผู้คนจำนวนมากทุกเพศทุกวัย ไปใช้เวลาว่างหลังเลิกงานเลิกเรียน เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งหลักๆ ก็มักจะเลือกวิธีเดินหรือวิ่ง แต่สวนสาธารณะหลายๆ ที่ก็ยังมีกิจกรรมออกกำลังกายวิธีอื่นๆ เตรียมไว้รอคนรักสุขภาพ ทั้งเต้นแอโรบิก รำมวยจีน รวมทั้งมีเครื่องออกกําลังกายกลางแจ้ง สำหรับคนที่อยากอยากลองออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์แต่ไม่อยากลงทุนซื้อเครื่องมาไว้ที่บ้าน และก็ไม่อยากต้องเสียเงินไปสมัครเป็นสามาชิกตามฟิตเนส เซ็นเตอร์ เรียกว่าเราสามารถมีสุขภาพดีได้ไม่ยาก ขอแค่แบ่งเวลาวันละนิด อย่างน้อย 30 นาที หารองเท้าสำหรับออกกำลังกายดีๆ สักคู่ แค่นี้ก็ออกไปออกกำลังกายกันที่สวนสาธารณะใกล้บ้านได้แล้ว2.ฟิตผ่านหน้าจอ กับช่องออกกำลังกายใน “Youtube”เดี๋ยวนี้เราสามารถหาดูคลิปวิดีโอต่างๆ ได้เกือบจะทุกอย่างผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) แน่นอนว่าวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายก็มีให้ชมมากมายเช่นกัน ในต่างประเทศจะมีช่องรายการในยูทูป (Youtube Channel) ที่เสนอวิดีโอเฉพาะเกี่ยวกับการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก สำหรับช่องรายการที่ทำโดยคนไทยที่ให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ฉลาดซื้ออยากแนะนำ 3 ช่องรายการเกี่ยวกับการออกกำลังกายในยูทูป ที่สอนทั้งท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆ แค่ดูก็ทำตามได้ทันที พร้อมด้วยความรู้เกี่ยวการดูแลสุขภาพ เรื่องของโภชนาการ เอาไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เอาเป็นว่าไปเปลี่ยนชุดสำหรับออกกำลังกาย แล้วเปิดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ คลิ้กรอไว้ที่เว็บไซต์ยูทูปได้เลยFitjunctionsหนุ่มๆ สาวๆ ที่อยากฟิตหุ่นให้เฟิร์ม อยากมีกล้ามอย่างสร้างซิกแพ็ค น่าจะชื่นชอบช่องรายการนี้เป็นพิเศษ  เพราะ Fitjunctions มีคลิปวิดีโอที่สอนท่าออกกำลังกายตั้งแต่เริ่มต้นสำหรับคนทั่วไป ไปจนถึงความรู้สำหรับที่อยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ปรับรูปร่างให้ดูใหญ่ขึ้น ที่สำคัญคือมีคลิปที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับร่างกายของเรา การออกกำลังกายแบบไหนมีผลต่อรูปร่างอย่างไร รวมทั้งเรื่องการกินอาหาร ว่ากินอย่างไรถึงจะดีต่อร่างกาย ตามสโลแกนของช่องที่ว่า “แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับการ ฟิตหุ่นและรักษาสุขภาพ  เน้นหลักๆ 3 ข้อ คือ ไม่อดของอร่อย ไม่หักโหม และเน้นที่การสอนความรู้ที่เข้าใจง่าย แต่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์”KalamareTVช่องรายการของพิธีสาวเก่งชื่อดังอย่าง “กะลาแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ” ที่ทำยูทูป แชนแนล เป็นของตัวเอง โดยในช่องรายการของเธอก็จะรวบรวมหลากหลายผลงานในฐานะพีธีกรของเธอเอาไว้ให้แฟนคลับและคนที่ชอบผลงานของเธอได้เข้ามาชมกัน ซึ่ง 1 ในรายการที่มีให้ชมทาง KalamareTV ก็คือรายการ “ทุกที่ทุกท่ากับกาละแมร์” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่พิธีกรคนเก่งจะมาสอนท่าออกกำลังกายง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เรียกว่าเป็นท่าออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากอิริยาบถธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน  ทั้งการนั่ง การยืน การนอน ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องง่ายสุดๆ ไม่ต้องออกไปไหนไกล แค่อยู่บ้านก็ออกกำลังกายได้Fit Minutes [by Mahidol]ช่องรายการนี้เป็น ช่องรายการย่อยของ มหิดล แชนแนล (Mahidol Channel) เป็นช่องรายการที่จะมาสอนการออกกำลังกายแบบถูกต้องถูกวิธี ที่เราสามารถเข้าใจและทำตามได้ง่ายๆ เพราะมีการอธิบายขั้นตอนต่างๆ แบบละเอียดในการออกกำลังกายแต่ละท่า คำแนะนำที่ถูกต้อง ได้ความรู้ว่าท่าออกกำลังกายแต่ละท่าที่เราทำอยู่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างไร ส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนไหน  สามารถทำได้เองสบายๆ ที่บ้าน ซึ่งเราสามารถทำได้ไปพร้อมกับๆ เทรนเนอร์ผู้ฝึกสอนในคลิปได้ทันที3.สุขภาพดีผ่านตำรา ด้วยสารพัดคู่มือออกกำลังกายปัจจุบันมีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เทคนิคต่างๆ ในการดูแลสุขภาพและรูปร่างออกมาว่างจำหน่ายเป็นจำนวนมาก สามารถซื้อมามาลองอ่านลองฝึกด้วยตัวเองดูได้ นอกจากนี้ยัง E-book เกี่ยวกับการออกกำลังกายให้โหลดไปอ่านกันฟรีๆ  ซึ่งมี 2 เว็บไซต์ที่ฉลาดซื้ออยากจะแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพอยากออกกำลังกายลองคลิ๊กเข้าไปดูกัน 1.เว็บไซต์ของกองออกกำลังกาย กรมอนามัย (dopah.anamai.moph.go.th) ที่นี่มี E-book ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย ทั้งความรู้ในการการเล่นกีฬา และดูแลรักษาสุขภาพสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่น การเดินเพื่อสุขภาพ การออกกำลังสำหรับผู้สูงวัย การออกกำลังกายสำหรับเด็ก การยืดเหยียดพื้นฐาน ฯลฯ2.ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร สสส. (resource.thaihealth.or.th) ในเว็บไซต์นี้จะมีบริการ E-book ให้โหลดไปอ่านกันแบบฟรีๆ จำนวนมาก โดย 1 หมวดหมู่ยอดนิยมก็คือ หมวดการออกกำลังกาย ซึ่งมี E-book ที่แนะนำเรื่องการออกกำลังกายมากกว่า 100 เล่มให้ได้ลองโหลดไปอ่านและฝึกออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 สำรวจเครื่องหมาย Q ปลอดภัย-ได้มาตรฐาน? และเรื่องราวที่ใหญ่กว่านั้น

พูดถึงพืชผักผลไม้ ความวิตกกังวลของผู้บริโภคอย่างเราๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องสารเคมีตกค้าง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกประการหนึ่งของไทย ยิ่งเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ที่เปิดเผยผลการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้เป็นประจำทุกปี พบว่า ตัวอย่างผักผลไม้ที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q มีสารพิษตกค้างเกินค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRL มากที่สุดถึงร้อยละ 57.14เรียกได้ว่าข่าวนี้เพิ่มความไม่ไว้ใจต่ออาหารของผู้บริโภคและสะเทือนไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของเครื่องหมาย Q ถึงขนาดว่ากรมวิชาการเกษตรตั้งท่าจะฟ้อง Thai-PAN ในข้อหาหมิ่นประมาท ขณะที่ Thai-PAN ก็ตอบรับด้วยการบอกว่าจะฟ้องกลับฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่    ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะทำความรู้จักกับเครื่องหมาย Q และปัญหาสารเคมีตกค้างทางการเกษตร ที่ไม่ใช่แค่มิติแคบๆ ว่าเพราะเกษตรกรเห็นแก่ตัว แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนสารเคมี-คิว-อาหารปลอดภัย ปัญหางูกินหาง ผู้บริโภคไม่มั่นใจ    ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่รู้กันในวงกว้างจนอาจไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันอีก มันไม่ใช่แค่ว่าเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมากและส่งต่อยาพิษสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีปัญหาเชิงระบบที่ทำให้เรื่องนี้แก้ยากกว่าที่คิด (ดูล้อมกรอบ-สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด)    และแล้วมันก็สร้างเขาวงกตอันวกเวียนให้เรื่องนี้ เพราะเมื่อสารเคมีตกค้างเป็นปัญหา ภาครัฐซึ่งพยายามส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยก็ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไข แต่ยังไม่สามารถควบคุมที่ต้นตออย่างการจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้สารเคมีได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งคืออิทธิพลของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรยักษ์ใหญ่ ในบรรดานโยบายยิบย่อยเหล่านั้นก็มีเครื่องหมายคิวรวมอยู่ด้วย เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัย คิวจึงเกิดขึ้นเพื่อการันตีว่าผักผลไม้ที่ติดเครื่องหมายนี้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งแน่นอนว่า ราคาของพืชผักประเภทนี้ย่อมมีราคาสูงกว่าตามท้องตลาดโดยทั่วไป ทว่าการตรวจสอบของ Thai-PAN กลับทำให้เห็นว่า คิวไม่สามารถการันตีได้ทั้งที่จ่ายแพงกว่า แล้วผู้บริโภคจะจ่ายแพงกว่าเพื่ออะไร  อิสรีย์ เจียมอนุกูลกิจ เป็นคนหนึ่งที่บริโภคผักผลไม้อินทรีย์มาเกือบ 10 ปีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและคิดว่าผักและเนื้อสัตว์ปลอดสารมีรสชาติดีกว่า โดยปกติเธอจะซื้อสินค้าเหล่านี้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและตลาดนัดเกษตรกรบางโอกาส แม้เธอจะไม่รู้จักเครื่องหมายคิวมาก่อน แต่เมื่อเธอรู้ข่าวเรื่องนี้ เธอบอกว่า“รู้สึกหดหู่และผิดหวังที่เราให้ความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เจ้าของฟาร์มได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากในกรุงเทพฯ เลยเลือกมองเรื่องความสด สะอาด และรสชาติแทน และหลีกเลี่ยงผักที่มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีเยอะๆ”-----------------------------------------------------------------------------------------------   สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด    การปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักผลไม้เป็นเพียงปลายเหตุของห่วงโซ่ปัญหาที่ยาวกว่านั้น รากฐานปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้คือประเทศไทยไม่มีการควบคุมดูแลการนำเข้าและการใช้สารเคมีให้อยู่ในร่องในรอย โดยข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2553-2558 เรียงตามลำดับคือ 117,815 ตัน, 164,538 ตัน, 134,480 ตัน, 172,826 ตัน, 147,375 ตัน และ 149,546 ตัน    กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก Thai-PAN กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมดจากต่างประเทศ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงจะสามารถจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งการที่สารเคมีตัวหนึ่งจะขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีการตรวจสอบตามหลักวิชาการว่าปลอดภัย หมายถึงไม่มีพิษเกินไปทั้งต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ไม่มีการตกค้างยาวนาน การลดจำนวนการขึ้นทะเบียนสำหรับสารเคมีอันตรายถือเป็นการควบคุมชั้นที่หนึ่ง    “ชั้นที่ 2 คือควรมีการควบคุมการขาย การโฆษณาอย่างเข้มงวด มีการกำกับดูแลการใช้ให้เป็นไปตามหลักวิชาการจริงๆ คือทุกครั้งที่ชี้ปัญหานี้ขึ้นมาก็จะโทษว่าเกษตรกรเห็นแก่ตัว แค่นี้มันแก้ปัญหามั้ย อันนี้เป็นโจทย์การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือกรมวิชาการเกษตรที่ยังทำหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการใช้อย่างถูกต้องได้ เขาห้ามใช้ในอาหารก็เอาไปใช้ ห้ามใช้ในข้าวก็ใช้ในข้าว คือสารเคมีเวลาขึ้นทะเบียนจะถูกระบุด้วยว่าใช้ในอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ถูกใช้ทั่วไปดังนั้นต้องคุมที่การขายด้วยว่าเอาไปใช้อะไร คนขายจึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญการ ได้รับการอบรมเหมือนการขายยารักษาโรค คุณปลูกคะน้า ปลูกแตงโม ใช้อันนี้ๆ ได้ ไม่ใช่เอาไปใช้กับทุกสิ่งอย่าง นี่คือการควบคุมกำกับดูแลการใช้ ซึ่งหมายถึงคุณต้องไปควบคุมที่การขายและการโฆษณา”เปรียบเทียบผลย้อนหลัง แนวโน้มดีขึ้นThai-PAN ทำการสำรวจสารเคมีตกค้างในผักตั้งแต่ 2555-2559 (ยกเว้นปี 2556 ที่ตรวจข้าวบรรจุถุงแทน) พบว่า กลุ่มสินค้าผักซึ่งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2555, 2557 และ 2558 เมื่อนำข้อมูลภาพรวมทั้ง 3 ปีมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2559 โดยนำเฉพาะการวิเคราะห์สารตกค้างใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น พบว่า ตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างสูงกว่าค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดหรือ MRL (Maximum Residue Limit) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลดลงเป็นลำดับ จากที่เคยพบสูงถึงร้อยละ 48.57 ในปี 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 38.71 ในปี 2557 ร้อยละ 22.50 ในปี 2558 และลดลงเหลือร้อยละ 17.98 ในปี 2559มองในแง่นี้หมายความว่า การสุ่มตรวจสอบตัวอย่างและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะช่วยสร้างการตื่นตัวและผู้ประกอบการเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการลดการปนเปื้อน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เชื่อว่าวิธีการนี้ Thai-PAN มาถูกทาง“กลุ่มที่เราจับตาดูมีแนวโน้มดีขึ้น คือมีการตกค้างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานน้อยลง แสดงว่าเมื่อชี้ปัญหา ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข มีการระวังตัวมากขึ้น ดีขึ้น แต่พอมาปีนี้เราขยายขอบเขตการตรวจ จากเดิมเราตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 90 กว่าชนิด ปีนี้ตรวจหาเพิ่ม 450 ชนิด ตัวเลขก็เลยขึ้นมา อันที่เราไม่เคยเจอก็เข้ามา ถ้าเราจับตาดูเพิ่มขึ้น ชี้เป้ามากขึ้น มันก็มีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมตัวสารเคมีตกค้างมากชนิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าอาหารเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น”การเพิ่มจำนวนสารเคมีที่ตรวจหาทำให้พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตราคิวพบสารเคมีตกค้างมากที่สุดจากทุกแหล่ง โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.14ตีให้ตรงจุด    ภายหลังที่มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ออกมาโดย Thai-PAN กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาโต้แย้งและพยายามอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายคิว 2 ประเภท แต่นี่คงไม่ใช่จุดที่ต้องขยายความให้ยืดยาว เพราะอะไร? กิ่งกรชี้ประเด็นว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ผู้บริโภคย่อมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าพืชผักผลไม้นั้นๆ ย่อมมีความปลอดภัย คงไม่ใช่หน้าที่ที่จำเป็นนักที่ผู้บริโภคจะต้องแยกแยะได้ว่าอะไรคือความต่างของเครื่องหมายคิวแต่ละชนิด    “ประเด็นหลักของเราไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร หรือไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่การมีตราคิวติด ถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร กรมวิชาการเกษตรหรือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ต้องไปดูว่าใครเอาตราของตนเองไปใช้โดยไม่ถูกต้อง มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก ถ้าผู้บริโภคซื้อไปด้วยความเข้าใจว่าเป็นตราคิวจริง มีตัวเลขการรับรองเป็นปัจจุบัน ใช้ถูกต้อง แต่สินค้าผิดสเป็กก็เป็นหนึ่งประเด็น แต่ถ้าไม่ใช่ตราคิวจริงหรือปลอมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้รับตรานี้ไปใช้ เอาไปใช้โดยผิดกฎหมาย ทั้งสองประเด็นเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็ของเจ้าของตรา เราคิดว่านี่คือการปล่อยปละละเลยที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลให้เป็นที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ทำเสมือนว่าคุณปล่อยให้ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการหลอก โดยเอาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่อ้างมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคจะซื้อได้ตามท้องตลาด” กิ่งกร อธิบายอะไรคือจุดอ่อนของเครื่องหมายคิว?ผศ.พีรชัย กุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการทรัพยากร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ตรวจอิสระของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) อธิบายว่า ประเด็นนี้ต้องเริ่มจากตัวเกษตรกรก่อน เพราะว่ากระบวนการตรวจสอบโดยทั่วๆ ไปก็เหมือนกับระบบคุณภาพแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของตัวสินค้า ผู้ผลิตต้องมีความตระหนักเรื่องนี้ก่อน สองคือเรื่ององค์กรรับรอง ผู้ตรวจก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป หมายถึงผู้ตรวจตรารับรอง ในองค์กรรับรองก็จะมีตัวมาตรฐานว่าข้อหนึ่งสองสามต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องศึกษาก่อนว่าถ้ารับการรับรองจากมาตรฐานนี้ เราจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ เพราะมันมีหลายมาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรต้องมีการเตรียมตัว แล้วพอผู้ตรวจไปตรวจอย่างน้อยปีละครั้งก็จะเขียนรายงานขึ้นมา แล้วก็จะมีกรรมการอีกชุดหนึ่งเรียกว่าอนุกรรมการรับรอง อนุฯ นี้ก็จะดูจากเอกสารและพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ นี่คือกระบวนการคร่าวๆ“แต่อันที่จริงถ้าผู้ผลิตซื่อสัตย์และทำตามมาตรฐาน มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร กระบวนการรับรอง เราไม่ได้รับรองตัวผลผลิต แต่เรารับรองกระบวนการผลิต หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการป้องกันการปนเปื้อนหรือสารเคมีในทุกขั้นตอน แต่โดยธรรมชาตก็มีสารเคมีล่องลอยอยู่แล้ว ปนเปื้อนได้บ้าง แต่ต้องไม่เกิดค่ามาตรฐาน”การตรวจสอบของ มกท. จะตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลผลิตมีควรจะมีมากน้อยแค่ไหน เช่น เกษตรกรแจ้งมาว่าจะปลูกผักกวางตุ้ง 1 ไร่ ในรอบการผลิตนั้นในระบบอินทรีย์ปริมาณการผลิตไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ ถ้าปริมาณสูงขึ้นมาอย่างผิดปกติก็ต้องชี้แจงว่าเพราะเหตุใด มีการสวมสิทธิ์หรือไม่ การรับรองของ มกท. เกษตรกรจะเป็นผู้ชำระเงินเพื่อรับการตรวจ หากผ่านก็จะได้รับการรับรองจาก มกท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอีกทีจากสหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ หรือไอโฟม (International Federation of Organic Agricultural Movement: IFOAM) หมายความว่าตัวเกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะได้รับการตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะที่ตัวองค์กรผู้ตรวจเองก็ต้องรักษามาตรฐานการตรวจสอบของตนเพื่อไม่ให้สูญเสียความน่าเชื่อถือแต่ในกรณีเครื่องหมายคิว ผศ.พีรชัยตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องหมายคิวเป็นของรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบคล้ายๆ กับ มกท. เพียงแต่มีข้าราชการเป็นผู้ตรวจสอบและมีรอบของการทำงาน แต่เพราะมีการให้การรับรองจำนวนมาก แบบปูพรม ตัวนโยบายก็ต้องการให้เกษตรกรได้เครื่องหมายคิว ทำให้การติดตามตรวจสอบหรือการตรวจซ้ำอาจมีปัญหา ผศ.พีรชัย ประเมินจากระบบว่า“ถ้าเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ พอได้คิวแล้วก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ พอจังหวะราคาดีก็อาจจะเร่งโดยการใช้สารเคมีเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผลผลิตได้จำนวนหรือผักสวยตามที่ตลาดต้องการ ด้านหน่วยงานรัฐ งบประมาณที่ลงไม่มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ก็ทำตามงบประมาณ แต่ระบบของเอกชน คุณต้องจ่ายเงิน เหมือนกับเราซื้อตรา ซื้อความมั่นใจ แต่เราไม่สามารถปั๊มตราเองได้ ต้องให้องค์กรตรวจสอบมารับรองเรา องค์กรตรวจสอบก็ต้องเอาจริงเอาจัง หลุดไม่ได้ เพราะเกษตรกรอุตส่าห์จ่ายตังค์ให้ได้ตรา ทำแบบนี้ ความเชื่อมั่นระยะยาวจะไม่เกิดแต่คิวเป็นของฟรี หน่วยราชการบริการ มีข้อจำกัดด้านกำลังคน งบประมาณ บางทีการตรวจสอบไปไม่ถึง ลงรายละเอียดไม่ถึง ก็อาจจะมีจุดบกพร่องหรือรั่วไหล แต่ราชการก็พยายามชูคิวขึ้นมาเพื่อให้ดูว่ามีมาตรฐาน มีการรับรอง แต่ว่าก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น อันนี้ก็เป็นข้ออ่อนประการหนึ่ง”คราวนี้ลองมาฟังเสียงเกษตรกรบ้าง สุรศักดิ์ ใจโปร่ง เจ้าของสวนฟุ้งขจร-บึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่ทำเกษตรอินทรีย์มา 9 ปี เขาเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเครื่องหมายคิวรับรองเรื่องกระบวนการผลิตในด้านหนึ่ง สุรศักดิ์มองว่า สินค้าเกษตรปลอดภัยหรืออินทรีย์ ตลาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น เครื่องหมายคิวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม จากพื้นฐานที่เริ่มจากตลาดสีเขียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ทำให้สุรศักดิ์มีทัศนะว่า ตลาดสีเขียวเน้นเรื่องความไว้ใจระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ส่วนเครื่องหมายคิวเป็นปัจจัยในการก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้น “คิวที่เราเห็นตามห้าง เหมือนเป็นกลลวงทางสังคมที่ว่าเป็นการแอบอ้าง คิวเป็นแค่ความปลอดภัย ไม่มีความเชื่อใจเป็นส่วนผสม ตรวจปีละครั้ง แต่เราจะเข้าสู่สังคม เราก็ต้องเอามาตรฐานคิวเป็นก้าวแรก ที่เราเห็นมีการปนเปื้อนเยอะ จุดหนึ่งเพราะเกษตรกรไม่มีพื้นที่ปลูกของเขาเอง ต้องไปรับซื้อจากเกษตรกรที่เขาเชื่อใจระดับหนึ่ง ถ้าคนเรามีความโลภ ขาดจิตสำนึก ก็จะมองแค่จะขายผลผลิตเยอะ ก็ขัดกับหลักการเกษตรอินทรีย์ของเรา ที่จะไม่เน้นผลผลิต แต่เน้นทำงานด้วยความสบายใจ ผักที่เราให้กับผู้บริโภคเราคิดว่ามันเป็นยา ไม่ทำให้เขาไม่สบาย ให้ผู้บริโภคได้ทานของที่ดีที่สุด”    ขณะที่ ผศ.พีรชัยและสุรศักดิ์จะให้มุมมองเรื่องความซื่อสัตย์ของตัวเกษตรกรว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ด้านกิ่งกรกลับแสดงทัศนะอีกมุมหนึ่งเชิงระบบว่า การผลิตสินค้าเกษตรมีคนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่จำนวนมาก การรับรองก็มีรายละเอียดที่ยุ่งยาก เช่น เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานในพื้นที่กี่แปลงและในพื้นที่แปลงนั้นผลิตอะไรบ้าง จะต้องมีการทำบัญชีตามระบบ ถ้าได้รับการรับรองคะน้า กะหล่ำ ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดอื่นจะได้รับการรับรองตามไปด้วย จึงต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กิ่งกร กล่าวว่า ตัวระบบฐานข้อมูลตรวจสอบรับรองค่อนข้างมีปัญหา ระบบมาตรฐานที่ดีตัวระบบฐานข้อมูลต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเกษตรกรคนหนึ่งได้รับการรับรองเป็นเนื้อที่กี่ไร่ มีผลผลิตอะไรบ้างในปีนั้นๆ ระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานจะมีการรับรองกันปีต่อปี มีการสุ่มตรวจสอบ ดังนั้น    “ถ้าระบบตรวจเช็คไม่ดี มันสอดไส้ได้ตลอดเวลา บอกเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ แน่นอน ถ้าไม่ซื่อสัตย์ก็ทำได้ตลอด ได้ทุกทาง เช่นเอามาสวม เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความน่าเชื่อถือตลอดทั้งระบบ ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดีรองรับและมีการตรวจสอบตลอดเวลา มีการอัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ แล้วคนทำทำตามหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ถูกต้องก็ทำให้ถูกต้อง มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างไรก็ทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เขาเซ็นชื่อ จะมาบอกว่าคนนั้นซื่อสัตย์ คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ มันไม่ใช่ประเด็น”    กล่าวโดยสรุปคือจะต้องมีระบบที่ดี ที่มีประสิทธิภาพกว่านี้    แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างที่รากเหง้าอย่างแท้จริง หากภาครัฐยังปล่อยปละละเลยการจำกัดการนำเข้าสารเคมีจนท่วมประเทศเช่นเวลานี้--------------------------------------------------------------------------------------------------------เครื่องหมาย Q คืออะร? คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 29  กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือเครื่องหมาย Q เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อใช้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความ ปลอดภัย พร้อมทั้งสื่อถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เป็นที่มาของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551  หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของลักษณะของเครื่องหมาย การได้มาก การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมาย Q มีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากและซับซ้อน ในที่นี้จึงขออธิบายเฉพาะเครื่องหมายรับรอง Q กับสินค้าเกษตรและอาหารโดยย่นย่อเครื่องหมายรับรอง Q หมายถึง เครื่องหมายรับรองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศใช้เพื่อแสดงถึงการให้การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศโดยหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น  (Essential Quality) โดยผู้ที่ต้องการใช้เครื่องหมาย Q จะต้องยื่นคำขอกับหน่วยรับรอง ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่หน่วยรับรองกำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วจึงสามารถติดเครื่องหมาย Q บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น โดยผู้ได้รับการรับรองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการรับรองผลิตภัณฑ์และการแสดงเครื่องหมายรับรองที่หน่วยรับรองกำหนด    หลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น การผลิตในระดับฟาร์มของสินค้าเกษตรต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง, ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายต้องมีระบบการเรียกคืนหรือติดตามสินค้าได้ กรณีที่พบว่ามีปัญหา และสินค้าต้องถูกตรวจสอบคุณภาพที่จำเป็นและตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตามแผนการตรวจที่หน่วยรับรองกำหนด เป็นต้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.acfs.go.th/qmark

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 182 ผู้บริโภคกับความตกลง TPP 3 ผลกระทบที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

ความลุ่มๆ ดอนๆ ของเศรษฐกิจไทยและการติดหล่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นตัวเร่งให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนไทยต้องหันมาผลักดันการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานี้ มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีของโลก ครอบคลุมประเทศต่างๆ สองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวจักรสำคัญ ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศคือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม และยังมีประเทศที่ให้ความสนใจจะเข้าร่วมอีก 5 ประเทศ คือ โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และไต้หวัน ขณะที่สหรัฐอเมริกา หัวเรือใหญ่ผู้ผลักดันข้อตกลงนี้ก็เป็นตลาดขนาดใหญ่ของไทย จึงเป็นเรื่องยากที่ไทยจะทำเฉยกับรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า โดยไม่มีไทยอยู่บนขบวนรถ ฟากฝั่งภาคธุรกิจเอกชนแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ไทยเข้าร่วม ส่วนฟากรัฐบาลนั้น แม้จะมีความสนใจ แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เนื่องจากเนื้อหาในข้อตกลงมีบางส่วนที่อาจสร้างความเสียหายในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเศรษฐกิจ เช่น การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เป็นต้น บนจุดยืนของผู้บริโภค ทีพีพีเหมือนจะเป็นประเด็นระดับรัฐ ระดับโลกที่ห่างไกล ทว่า เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว แรงกระแทกจากทีพีพีอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยาและอาหารซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน ทั้งยังรวมถึงการแทรกแซงอำนาจในการออกนโยบายต่างๆ ของรัฐ ที่สุดท้ายแล้วจะกระทบกับการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขบวนนี้อาจจะนำมาซึ่งหายนะอีกมหาศาลเท่าใดยังคาดการณ์ไม่ได้   ยา : ผูกขาดไม่สิ้นสุด ยาน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะส่งผลกระทบวงกว้างและเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าประเด็นหลักๆ ที่อยู่ในทีพีพีประกอบด้วยการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ซึ่งจะบังคับให้องค์การอาหารและยา (อย.) ที่รับหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาจะต้องยินยอมให้ยาใหม่ที่ขึ้นทะเบียนในไทยผูกขาดข้อมูลความลับทางการค้า 5 ปี หรือ 8 ปี นี่ย่อมเท่ากับการกีดกันบริษัทที่ผลิตยาชื่อสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่าไม่ให้สามารถขึ้นทะเบียนยาและเข้าสู่ตลาดได้หรือเข้าสู่ตลาดช้าลง ประเด็นต่อมาคือเรื่องข้อบ่งใช้ ในทีพีพีอนุญาตให้สามารถจดสิทธิบัตรการใช้ใหม่ของสารเก่าได้ หมายถึงยาตัวเก่าที่มีอยู่เดิม เช่น แอสไพรินที่ต่อมารู้ว่าเมื่อรับประทานไปนานๆ จะทำให้เม็ดเลือดจางลง จึงสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ เมื่อพบข้อบ่งใช้ใหม่ ทีพีพีระบุว่าต้องยินยอมให้จดสิทธิบัตร กับอีกประเด็นที่มาคู่กันคือวิธีการใหม่ของการใช้สารเก่า ยกตัวอย่างเช่นเพราะเด็กรับประทานยายาก จึงดัดแปลงยาแก้ปวดสำหรับเด็กที่ใช้ทานเป็นแปะหน้าผากหรือแปะที่ผิวหนังเพื่อให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนัง ลักษณะนี้ก็สามารถจดสิทธิบัตรได้ ทั้งที่ทั้งสองกรณีนี้ไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่เลย นี่ย่อมเท่ากับเป็นการยืดอายุการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรออกไปไม่สิ้นสุดหรือที่เรียกว่า Evergreening Patent ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้ยืดอายุสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปีหรือการที่ระบุให้ อย. ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจแทนเจ้าของสิทธิ์ นั่นคือถ้ามียาชื่อสามัญเดียวกันจะมาขึ้นทะเบียน อย. ต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิ์รู้โดยละเอียด ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ อย. โดยไม่จำเป็น “ผลการศึกษาพบว่า ถ้าให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 8 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่ถ้าเรายืดอายุสิทธิบัตรไป 5 ปี ในปีที่ 5 เราจะเสียไป 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ทำไมการขยายอายุจึงมีมูลค่าน้อยกว่าการผูกขาดข้อมูลยา เพราะการผูกขาดข้อมูลยา ถ้าเกิดขึ้น มันจะเกิดวันนี้เลย แต่การยืดอายุสิทธิบัตรนั้น พอยาจะหมดมันก็ยืดไป มันจึงใช้เวลา แต่พอสุดท้ายปลายทาง การผูกขาดข้อมูลยาในปีที่ 30 ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่การขยายอายุสิทธิบัตรจะเป็น 6 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เนื่องจากพอขยายอายุไปเรื่อยๆ ทุกยาก็ขยายอายุหมด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายด้านยาก็จะสูงขึ้น เพราะยาไม่หมดอายุสักที” เป็นภาระทางงบประมาณจำนวนมหาศาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพในที่สุด   จีเอ็มโอ: โจรสลัดชีวภาพจีเอ็มโอหรือสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตา ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ แต่ก็ถูกภาคประชาชนกดดันจนต้องล้มเลิกไป มีการตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอที่ผ่านมาสอดรับกับความต้องการในทีพีพี หากไทยเข้าร่วมทีพีพี เราจะถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมยูปอฟ 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants: UPOV) หรือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้สิทธิบริษัทหรือนักปรับปรุงพันธุ์สามารถผูดขาดพันธุ์พืชทุกชนิดเป็นเวลา 20 ปี และไม่อนุญาตให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี อธิบายว่า “สมมติว่าถ้าเกษตรกรนำพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทแห่งหนึ่งมาปรับปรุงพันธุ์ต่อ ทางบริษัทก็จะอธิบายว่ามันเป็นอนุพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ของเขา และการคุ้มครองพันธุ์พืชจะไม่ใช่แค่ส่วนขยายพันธุ์เท่านั้น ถ้าคุณเอาเมล็ดไปปลูกแล้วให้ผลผลิตขึ้นมาก็ถือว่าละเมิด เขาสามารถตามไปยึดผลผลิตได้ อันนี้เองที่คนบอกว่ายูปอฟ 91 ก็คือกฎหมายสิทธิบัตรที่ขยายมาสู่พืช ซึ่งจะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นสองถึงหกเท่าตัว” ประเด็นที่ 2 คือการขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต โดยในรายละเอียดของตัวบทยังเรียกร้องให้ขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในดีเอ็นเอหรือหน่วยพันธุกรรม ประเด็นที่ 3 คือการเรียกร้องให้ไทยเข้าร่วมในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ให้เป็นไปโดยง่าย ซึ่งคำว่าจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์นี้ยังสามารถขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรดีเอ็นเอ หมายความว่ากินความรวมไปถึงหน่วยพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ วิฑูรย์ กล่าวว่า “ถ้าสรุปก็คือมันทำลายกลไกการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นของประเทศอย่างร้ายแรง และเอื้ออำนวยให้เกิดโจรสลัดชีวภาพ ปัจจุบัน โลกนี้มีกติการะหว่างประเทศอันหนึ่งชื่อว่าอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศทั่วโลกทุกประเทศเป็นสมาชิก ยกเว้นประเทศเดียวคืออเมริกา อนุสัญญานี้บอกว่าใครก็ตามที่เอาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ไปใช้ประโยชน์ เอาไปปรับปรุงพันธุ์ คุณต้องขออนุญาตเจ้าของทรัพยากร ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ไปใช้ฟรีไม่ได้ ซึ่งกฎหมายไทยเขียนรองรับไว้หมดแล้ว แต่ภายใต้ทีพีพีบอกว่าถ้าคุณเข้ายูปอฟ 91 คุณต้องแก้กฎหมายพันธุ์พืช ปี 2542 ซึ่งพูดถึงหลักการแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้” เพิ่มตัวเลขผลกระทบ   การคุ้มครองการลงทุน: อำนาจรัฐที่สาบสูญประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องห่างไกลตัวที่สุด แต่ผลกระทบอาจครอบคลุมวงกว้างมากกว่า เพราะอะไร? กล่าวโดยรวบรัดได้ว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมทีพีพี ไทยจะต้องดูแลนักลงทุนต่างประเทศเฉกเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่จุดเป็นจุดตายของเรื่องนี้คือ นักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในไทยสามารถฟ้องร้องรัฐบาลไทยได้ หากพวกเขาเห็นว่าการดำเนินนโยบาย มาตรการ หรือการออกกฎหมายของรัฐกระทบต่อผลกำไรจากการลงทุน ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองประชาชนในประเทศ เช่น กรณีออสเตรเลียที่ออกนโยบายบังคับให้ซองบุหรี่จะต้องไม่มีตราสินค้าและออกแบบให้ไม่ดึงดูด เพื่อต้องการลดปริมาณการสูบบุหรี่ในประเทศที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่รัฐบาลออสเตรเลียกลับถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกฟ้องร้องผ่านกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) ภายใต้หลักการคุ้มครองการลงทุน โดยการฟ้องนี้ไม่ใช่การฟ้องต่อศาลยุติธรรมภายในประเทศ แต่เป็นการฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเลือก ผลชี้ขาดออกมาเช่นไร คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามนั้นและไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ สิ่งนี้ย่อมเท่ากับจำกัดอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยที่จะดำเนินนโยบายใดๆ เพื่อดูแลประชาชนภายในประเทศ เพราะหากนโยบายดังกล่าวถูกนักลงทุนมองว่าจะก่อผลกระทบ การฟ้องร้องผ่านกลไกไอเอสดีเอสย่อมส่งผลให้นโยบายนั้นชะงักงัน หรือทำให้รัฐบาลต้องคอยเกรงอกเกรงใจนักลงทุนต่างประเทศ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ ว็อทช์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “เมื่อก่อนมักจะมีคนบอกว่าบทการลงทุนดูแลนักลงทุนดีกว่าคนในชาติ ซึ่งผิดหลักการปฏิบัติที่เท่าเทียมในข้อตกลงเขตการค้าเสรี ในเมื่อบอกว่าต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่ทำไมจึงดูแลนักลงทุนดีกว่า ในทีพีพีครั้งนี้เลยเขียนชัดๆ เลยว่าการดูแลนักลงทุนต่างชาติดีกว่าคนในชาติ ไม่ถือว่าขัดกับหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แปลว่าต่อจากนี้คุณไม่ต้องดูแลคนในชาติก็ได้ ถ้าคุณบอกว่าเดิมต้องเอาร่างกฎหมายมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อแต่นี้ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ได้ แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนต่างชาติ “ยกตัวอย่างเรื่องการลงทุนที่เป็นรูปธรรมแล้วกัน ที่เราห่วงมากอย่างป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ ประปา ไฟฟ้า ก๊าซ พวกนี้จะมีข้อกำหนดแบบหนึ่งเลยที่เมื่อก่อนเราไม่เคยมีในฉบับอื่นๆ แต่เคยได้ยินว่ามีวิธีการเขียนแบบนี้อยู่ มันเรียกว่า Umbrella Cause หมายถึงเขียนเป็นร่ม คือถ้าต่อจากนี้ทำสัมปทานกับรัฐ แล้วเขียนกติกาต่างๆ ไว้น้อยกว่าในทีพีพี ให้ถือว่าสัมปทานนั้นถือกติกาเท่ากับทีพีพีโดยอัตโนมัติทันที และสามารถฟ้องรัฐผ่านกลไกไอเอสดีเอสได้เช่นกัน” .......... ขณะที่สหรัฐฯ ผ่านบทบาทของสภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียนก็โน้มน้าวให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมทีพีพี ล่าสุด ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ส่งเทียบเชิญชวน แม้ว่ารัฐบาลไทยจะแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ขอศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อน แต่ความพยายามปรับแก้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายจีเอ็มโอ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กลับมีทิศทางสอดคล้องกับทีพีพีโดยบังเอิญเป็นความบังเอิญจริงๆ หรือไม่ ผู้บริโภคต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดต่อไป ----------------------------------------------------------------ความเคลื่อนไหวของสภาธุรกิจอเมริกันฯทีพีพีมีความเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะพบว่า ประเด็นนี้ค่อยๆ เพิ่มกระแสขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2558 เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 โดยสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยยังอยู่ในระดับเทียร์ 3 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งหมายถึงไทยยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ขณะที่คิวบา อุซเบกิซสถาน และมาเลเซียได้รับการเลื่อนขึ้นจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่สมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษแม้จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ไม่ครบถ้วน แต่ถือว่ามีความพยายาม จุดสังเกตที่ทำให้รายงานชิ้นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงคือ กฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามมิให้รัฐบาลของตนทำข้อตกลงกับประเทศใดๆ ที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 และมาเลเซียก็คือหนึ่งในสมาชิกของTPP ที่กำลังจะมีการลงนามข้อตกลงนี้หลังจากรายงานฉบับดังกล่าวออกมา หลังจากนั้นเพียง 10 วัน สภาธุรกิจอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยอเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน ประธาน USABC พร้อมผู้แทนจาก 29 บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น แอบบ็อตต์, ไมโครซอฟต์, อีไล ลิลลี่, ฟิลิปส์ มอร์ริส, มอนซานโต้ เป็นต้น ได้เข้าพบอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือในประเด็นว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในวันที่ 6 สิงหาคม ต่อด้วยการเข้าพบจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนของบริษัทจากสหรัฐฯ โดยมีอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมหารือด้วย วันที่ 7 สิงหาคม USABC เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาการพูดคุยเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน โร้ดแม็ปการปฏิรูปการเมือง และ ‘ทีพีพี’ จะเห็นได้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในประเด็นทีพีพีต่อประเทศไทย น่าจะมีการวางจังหวะก้าวเอาไว้แล้ว ทุกอย่างจึงสอดรับกันเช่นนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ความคิดเห็น (0)