ฉบับที่ 109 ไทยแอร์เอเซีย ชดใช้ผู้บริโภคเหตุเครื่องบินดีเลย์

image0040

เรื่องนี้...เป็นเรื่องยาวข้ามประเทศครับ

คุณรุจน์ และภรรยา มีกิจธุระที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และเลยไปท่องเที่ยวยังเมืองที่ชื่อว่า ย๊อกยาการ์ตา ซึ่งอยู่ในประเทศอินโดนีเซียเช่นกัน

ทั้งสองสามีภรรยาเลือกใช้บริการสายการบินราคาประหยัดไทยแอร์เอเซีย โดยซื้อตั๋วจากเว็บไซต์ของสายการบินแห่งนี้ ได้ตั๋วขาไปออกเดินทางในวันที่ 21 มีนาคม 2552 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 20.15 น. และถึงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเวลา 23.45 น. และตั๋วขากลับเครื่องบินจะออกจากจาการ์ตาในวันที่ 29 มีนาคม 2552 เวลา 16.20 น. และถึงกรุงเทพฯ เวลา 19.45 น. ทั้งนี้เพื่อจะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ให้ทันในเช้าวันรุ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่ต้องเดินทางกลับนั้น สองสามีภรรยายังอยู่ที่เมืองย๊อกยาการ์ตา เพื่อไม่ให้พลาดเที่ยวบินขากลับจากจาการ์ตาไปกรุงเทพฯ ทั้งสองจึงได้ซื้อตั๋วจากไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินจากย๊อกยาการ์ตามาถึงจาการ์ตาในเวลา 12.45 – 13.45 น. อีกด้วย

คุณรุจน์และภรรยาทราบจากโฆษณาว่า สายการบินแอร์เอเซีย เป็นสายการบินที่ให้บริการแบบ “จุดต่อจุด” ไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินต่อเนื่อง ผู้โดยสารต้องรับผิดชอบตัวเองในการไปเช็คอินให้ทันเที่ยวบินถัดไป คุณรุจน์จึงไม่ประมาทเพราะกลัวตกเครื่องบิน ก่อนออกเดินทางคุณรุจน์และภรรยาจึงช่วยกันเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อรวบรวมข้อมูลเที่ยวบินของสายการบินอื่นๆ ที่ให้บริการในเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา ในเวลาใกล้เคียงกันกับเที่ยวบินของไทยแอร์เอเซียไว้เผื่อเหนียว

ขาไปไม่มีปัญหาอะไร ทำธุระและท่องเที่ยวอยู่ในอินโดนีเซียจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552 จึงได้เดินทางมาถึงเมืองย๊อกยาการ์ตา ก่อนออกจากสนามบินย๊อกยาการ์ตาจึงได้นำตั๋วเครื่องบินเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา และ จาการ์ตา – กรุงเทพฯ ที่ซื้อไว้แล้วไปยืนยันการเดินทางกับพนักงานไทยแอร์เอซีย พนักงานก็จิ้ม ๆ ดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์แล้วบอกว่าเที่ยวบินที่สำรองที่นั่งไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คุณรุจน์และภรรยาจึงออกจากสนามบินไปท่องเที่ยวและทำธุระในเมืองย๊อกยาการ์ตาอย่างสบายใจ

พอถึงวันเดินทางกลับในวันที่ 29 มีนาคม 2552 ซึ่งจะต้องบินออกจากย๊อกยาการ์ตาไปจาการ์ตาในเวลา 12.45 น. คุณรุจน์และภรรยา จึงรีบเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า เดินทางมาถึงสนามบินย๊อกยาการ์ตา และเช็คอินในเวลา 10.30 น. ได้ถามพนักงานไทยแอร์เอเซียว่าเที่ยวบิน “ตรงเวลา” หรือเปล่า ได้รับคำตอบจากพนักงานยืนยันว่าเที่ยวบินนี้ตรงเวลา

จนถึงเวลา 12.15 น. พนักงานของท่าอากาศยานได้ประกาศเรียกให้ผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินที่จะไปจาการ์ตาเข้าไปรอที่หน้าประตูทางออก คุณรุจน์และภรรยาก็เบาใจว่าได้ขึ้นเครื่องบินตรงเวลาแน่ จึงได้ผ่านกระบวนการซื้อสิทธิการใช้ท่าอากาศยานและผ่านการตรวจค้นอาวุธเพื่อไปรอที่ประตูทางออก

รอกันอยู่ที่ประตูทางออกจนถึงเวลาที่เครื่องบินจะต้องออกคือเวลา 12.45 น. ไม่เห็นวี่แววจะมีเครื่องบินของไทยแอร์เอเซียมารับไปจาการ์ตาเสียที มองไปที่ลานบิน เห็นเครื่องบินของสายการบินอื่นที่ได้เล็งไว้เผื่อเป็นเที่ยวบินสำรองเวลามีเหตุฉุกเฉิน ก็ทยอยโผผินบินไปทีละลำๆ

โอย...นี่มันเหตุฉุกเฉินแล้วนี่ คุณรุจน์และภรรยามองหน้ากันเลิ่กลั่ก และทำสิ่งที่อาจหาญที่สุดเท่าที่เคยทำในชีวิตที่ผ่านมาด้วยการ ขออนุญาตพนักงานรักษาความปลอดภัยของสนามบินวิ่งย้อนออกไปถามข้อมูลเรื่องความล่าช้าของเที่ยวบินกับพนักงานไทยแอร์เอเซีย

กระทั่งเวลาบ่ายโมงเศษถึงได้รับข้อมูลว่า เครื่องบินที่จะใช้เดินทางนั้นเกิดความล่าช้าในการบินจากสนามบินสิงคโปร์มาสนามบินย๊อกยาการ์ตา ทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางออกจากย๊อกยาการ์ตาเป็นเวลา 15.00 น. และถึงจาการ์ตา เวลา 16.00 น.

การที่พนักงานไทยแอร์เอเซียเพิ่งมาบอกข้อมูลการดีเลย์ของเที่ยวบิน ทำให้คุณรุจน์และภรรยาหมดสิทธิที่จะไปเช็คอินเที่ยวบินจาการ์ตา – กรุงเทพฯ ได้ทัน เพราะเครื่องบินจะออกเวลา 16.20 น. แต่ต้องเช็คอินก่อนเครื่องบินออกอย่างน้อย 45 นาที สองสามีภรรยาจึงได้แต่นั่งทำใจ

หลังจากนั่งทำใจอยู่ในสนามบินย๊อกยาการ์ตาจนเบื่อแล้วเบื่ออีก ท้ายที่สุด คุณรุจน์และภรรยาได้ขึ้นเครื่องจากย๊อกยาการ์ตาในเวลา 15.30 น. ล่าช้าไปกว่ากำหนดการเดิม 2 ชั่วโมงครึ่ง และถึงจาการ์ตาเวลา 16.30 น. ซึ่งเที่ยวบินที่ซื้อจองไว้โบยบินไปกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว

ทำให้คุณรุจน์และภรรยาต้องควักเงินซื้อตั๋วเครื่องบินหาทางกลับกรุงเทพฯ ใหม่ทั้งหมด และกลับมาถึงกรุงเทพฯ เกือบเที่ยงคืน นับเป็นการเดินทางที่ต้องใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัสและต้องจดจำไปอีกนาน

แนวทางการแก้ไขปัญหา
หลังเกิดปัญหา คุณรุจน์และภรรยา ได้พยายามติดต่อไปที่ไทยแอร์เอเซียเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบใช้เวลาไปอีก 26 วัน ถึงจะได้คำตอบว่า ไทยแอร์เอเซีย ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ โดยอ้างว่าความล่าช้าของเที่ยวบินที่เกิดขึ้น เป็นความล่าช้าจากระบบของสนามบินสิงคโปร์ที่ขัดข้องอย่างกะทันหัน ทำให้เครื่องบินของไทยแอร์เอเซียจากสิงคโปร์ไม่สามารถบินมารับผู้โดยสารที่ย๊อกยาการ์ตาได้ตรงตามเวลา

เมื่อเห็นการปัดความรับผิดชอบเช่นนั้น คุณรุจน์และภรรยาจึงอีเมลล์ไปสอบถามข้อเท็จจริงกับทางท่าอากาศยานสิงคโปร์ ไม่นานได้รับคำตอบกลับมาว่า เหตุล่าช้าของเที่ยวบินเจ้าปัญหานั้น เกิดความบกพร่องของสายการบินไทยแอร์เอเซียเอง ไม่ใช่ความผิดพลาดของสนามบินสิงคโปร์ คำตอบดังกล่าวทำให้ลิมิตความอดทนของคุณรุจน์และภรรยาขาดสะบั้น แบกความชอกช้ำระกำใจจูงมือกันมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยทำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซียให้หลาบจำเสียที

ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องทั้งสอง ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซีย โทษฐานผิดสัญญาการให้บริการ รวมเป็นเงิน 65,000 บาทเศษ

ศาลได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ย ท้ายที่สุดไทยแอร์เอเซีย ยอมชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถแท๊กซี่ ในการที่ต้องวิ่งวุ่นไปมา ตามจำนวนที่ถูกเรียกร้องมาทั้งหมดคือ 15,844 บาท และยังยอมชดใช้ค่าเสียความรู้สึกอีกเป็นเงิน 30,000 บาท จากที่เรียกร้องไปในส่วนนี้ 50,000 บาท ทำให้คุณรุจน์ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการเดินทางด้วยความทรมานของสายการบินไทยแอร์เอเซียเป็นเงินทั้งสิ้น 45,844 บาท

ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้โดยสารอื่นๆ ว่า ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์แล้วไม่รับผิดชอบนั้น อย่าปล่อยให้สายการบินลอยนวลโดยเด็ดขาด

 

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ไทยแอร์ เครื่องบิน ดีเลย์ เดินทาง

ฉบับที่ 277 มือถือหาย 4 ปี แต่โดนเรียกเก็บหนี้ย้อนหลัง

        ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคนไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนเพราะนอกจากใช้โทร ส่งข้อความ ยังใช้ทำได้ทุกอย่างอีกด้วยไม่ว่าจะทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงิน ฟังเพลงหรือเล่นโซเชียลต่างๆ  แต่ถ้ามือถือสุดที่รักที่เป็นแทบจะทุกอย่างเลยของเราดันหายไป และแถมยังโดนเรียกเก็บเงินเงินย้อนหลังอีกล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี         เหมือนกับเคสของคุณโรส เธอได้มาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มีจดหมายแจ้งหนี้มาถึงที่ทำงานของเธอว่า ให้เธอไปชำระหนี้ค่าบริการซึ่งใช้กับมือถือเครื่องเก่า (ที่หายไป) จำนวน 7,400 บาท ซึ่งเบอร์ที่เคยใช้บริการพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นระยะเวลามันผ่านไป 4 ปีแล้ว          ตอนที่มือถือหายก็ว่าเสียใจมากแล้ว แต่ก็พยายามทำดีสุดในความคิดของเธอคือ รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและไปที่สำนักงานใหญ่ค่ายมือถือ ตอนนั้นมันช่วงโควิดที่ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น  โดยขอให้ค่ายมือถือช่วยตามหาสัญญาณจากเบอร์ของเธอ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถตามหาสัญญาณได้ จึงต้องทำใจปล่อยไป กระทั่งปัจจุบันมีจดหมายส่งมาที่ทำงานของเธอ ทำให้ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะยอดดังกล่าวนั้นเธอไม่ได้ใช้สิ เพราะเธอได้เปลี่ยนเครื่องใหม่กับเบอร์ใหม่ไปแล้วด้วย อีกอย่างเครื่องเก่าที่หายเธอก็ผ่อนชำระหมดไปแล้วด้วยซ้ำ        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องก็ต้องหาทางแก้ไข เธอเลยต้องไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือดังกล่าว (ดีหน่อยไม่ต้องไปถึงสำนักงานใหญ่) พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น ทางบริษัทมือถือจึงได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ โดยขอให้แจ้งความแบบดำเนินคดี (ขอเอกสารตราครุฑ) ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นนำหลักฐานมาแจ้งความกับทางบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณโรสบอกว่า เธอได้ไปแจ้งความตามที่บริษัทแนะนำและได้นำหลักฐานไปแจ้งต่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งต่อเธอว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้งผลเป็นอย่างไรจะติดต่อไปอีกครั้ง จนปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการติดต่อกลับมาฉลาดซื้อ อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า          1.ในกรณีมือถือหายแนะนำไปแจ้งความแบบต้องการดำเนินคดี (เอกสารที่ตำรวจออกให้จะต้องมีตราครุฑ         2.นำเอกสารไปแจ้งต่อศูนย์บริการค่ายมือถือทันที เพื่อให้พนักงานระงับการใช้งานเบอร์ดังกล่าวไว้ก่อน และป้องกันนำไปแอบอ้างใช้งานอีกด้วย         3.ในกรณีที่ยังไม่หายก็อยากแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามสัญญาณตัวเครื่องไว้หน่อย เพื่อไว้มีช่องทางในการตามหาได้ และควรตั้งรหัสมือถือไว้ตลอด

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ซื้อประกันเดินทางแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

        ปัญหาเคลมประกันไม่ได้ ประกันไม่จ่ายตามเงื่อนไข หรือจ่ายน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ รวมไปถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำประกันภัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในครั้งนี้คือเรื่องของคุณพีพีกับการประกันการเดินทาง         คุณพีพีได้ซื้อกรมธรรม์การเดินทางภายในประเทศจาก จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในระยะ 4 วัน ไปกลับจากกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 คุณพีพีนั้นไม่เคยซื้อประกันการเดินทางมาก่อน แต่ก็ได้ลองศึกษาจากเว็บไซต์ รวมถึงพิจารณาเอกสารต่างๆ ที่บริษัทแนะนำแล้วยังโทรไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ทั้งยังจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ว่าหากบาดเจ็บกรณีต่างๆ ประกันจะได้ครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ให้คำตอบยืนยันว่า หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ดังกล่าว         การประกันคือการคุ้มครองความเสี่ยง ดังนั้นคงไม่มีใครอยากจะบาดเจ็บหรือมีทรัพย์สินเสียหาย แล้วเข้าสู่การเคลมประกัน  การซื้อของคุณพีพีครั้งนี้คือ เพื่อความสบายใจ แต่...วันที่ 1 ธ.ค. 2566 คุณพีพีก็เกิดอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้มจากการที่รถตกหลุมถนนทำให้คุณพีพีมีแผลถลอกที่เข่าซ้าย – ขวา ข้อศอกทั้งสองข้าง แผลถลอกใหญ่ที่หน้าแข้ง ฝ่ามือซ้ายและขวา ฟันหน้าบนบิ่น 1 ซี่และหัก 1 ซี่ และอีกหลายอาการเจ็บปวด คุณพีพีจ่ายค่ารักษาไปทั้งหมด 23,917 บาท แต่บริษัทประกันกลับพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท เท่านั้น โดยบริษัทประกันได้อ้างว่าคุ้มครองการบาดเจ็บภายในระยะวันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 เท่านั้น ไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บที่ต่อเนื่องแม้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ประกันคุ้มครองก็ตาม         คุณพีพีไม่ยอมรับการพิจารณาของบริษัทประกันภัยเพราะก่อนการตัดสินใจซื้อได้โทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าหากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย รวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ ของบริษัทก็ใช้ถ้อยความให้ผู้ซื้อประกันเข้าใจว่าครอบคลุมจนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงเข้ามาขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพี่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ตนเอง  แนวทางการไขแก้ปัญหา         หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว มูลนิธิฯ ได้ประสานกับคุณพีพีเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานประสานส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยคุณพีพีได้เข้าร้องเรียนที่ คปภ.ทำให้บริษัทประกันภัยได้เข้ามาชี้แจงข้อปัญหาที่เกิดขึ้นต่อ คปภ. บริษัทยืนยันว่ากรมธรรม์ไม่ครอบคลุมการรักษาต่อเนื่องแต่เกิดจากความผิดพลาดของการสื่อสารภายในของบริษัทเอง จึงพิจารณาให้ “สินไหมกรุณา” ให้กับคุณพีพีจากเดิมที่บริษัทพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท คุณพีพีจึงได้รับค่าสินไหมกรุณาแล้วจำนวน 20,000 บาท  อย่างไรก็ตามเมื่อได้พิจารณารายละเอียดของข้อความที่ทำให้ตีความได้กว้างและบริษัทนำมาใช้อ้างว่าไม่ครอบคลุมเพราะไม่มีการระบุไว้ชัดเจนนั้น คุณพีพีได้ส่งร้องเรียนถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย คปภ. โดยเฉพาะเพื่อให้พิจารณาว่ากรณีของคุณพีพีเป็นการตีความที่ไม่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางศูนย์ฯ ของ คปภ. กำลังดำเนินการ         “ผลการพิจารณาของ คป. สำคัญมาก ทำให้สังคมรู้ว่าข้อความอะไรในกรมธรรม์ที่คลุมเครือแล้วจะถูกเอาเปรียบได้ แล้วบริษัทจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร ซึ่งผมจะติดตามต่อไป เพราะกรมธรรม์ที่ชัดเจนจะทำให้ผู้บริโภคคนอื่นๆ ไม่ตกเป็นเหยื่อแบบผมครับ”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ร้านไม่รับผิดชอบ เจาะหูลูกค้าพลาดจนใบหูฉีกขาด

        หากคุณกำลังคิดจะไปใช้บริการเจาะหูตามร้านเครื่องประดับต่างๆ ขอให้อ่านเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์         แม้เหตุการณ์จะผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่ยังปรากฏร่องรอยความเสียหายไว้ชัดเจน...วันนั้นคุณโนริตัดสินใจไปใช้บริการเจาะหูที่ร้านเครื่องประดับเงินแห่งหนึ่ง ย่านกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยเธอเลือกรูปแบบเป็นการเจาะหูเพื่อดามกระดูกอ่อนใบหูในแนวทแยง (Cartilage) ส่วนบนติดกับขมับ แต่...เกิดข้อผิดพลาด เมื่อใบหูบนส่วนที่เจาะกระดูกออกขาดเนื่องจากทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง ทำให้ใบหูของเธอฉีกขาด เธอตกใจมากและถามหาความรับผิดชอบ แต่ทางร้านบอกปัดว่าไม่ใช่ความผิดของทางร้าน         วันนั้นเธอจึงไปลงบันทึกประจำวันเรื่องที่ได้รับความเสียหายจากกการใช้บริการเจาะหูจนใบหูขาดนี้ที่สถานีตำรวจไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา แพทย์แจ้งว่าจะต้องทำการศัลยกรรมเพื่อให้ใบหูกลับมาเป็นปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เธอจึงได้กลับไปเจรจากับทางร้านอีกครั้ง โดยยืนยันว่าที่ใบหูเธอขาดก็เพราะทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง แต่ทางร้านก็ยังปฏิเสธเสียงแข็งเหมือนเดิมว่าไม่ได้ทำอะไรผิด         จากวันที่เกิดเหตุการณ์ ขณะนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วที่คุณโนริยังไม่ได้รักษาใบหูให้ติดกันเป็นปกติเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือว่าทำอย่างไรจึงจะให้ทางร้านเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ มูลนิธิฯ ได้โทร.กลับไปเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แล้วให้ผู้ร้องส่งเอกสารมาทางอีเมลของมูลนิธิฯ ได้แก่ สำเนาใบลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ สำเนาใบรับรองแพทย์  ภาพหน้าจอข้อความที่สนทนากับทางร้าน และภาพความเสียหายที่ใบหู จากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือนัดหมายให้คู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทกันอีกครั้ง (เพราะเคยผ่านการพูดคุยกันมาบ้างแล้ว)         สิ่งสำคัญของการเรียกร้องการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้บริการต่างๆ  คือผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องเก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้         กรณีการลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แนะนำว่าควรเป็นการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เพราะเคสนี้เกิดความเสียหายที่ผู้ร้องเรียนได้รับบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)