ฉบับที่ 99 โตโยต้าคัมรี่ ACV30 ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

เป็นเรื่องยากที่คนซื้อรถจะรู้ว่าถุงลมนิรภัยที่ติดมากับรถนั้น จะสามารถทำงานได้เจ๋งลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเหมือนอย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการชนเกิดขึ้นนั่นแหละ นับเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่ต้องลงทุนไม่น้อยเพื่อจะรู้ผลเพียงว่ามันทำงานหรือไม่ทำงาน

ด้วยโฆษณาถึงสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีเยี่ยม และมีระบบถุงลมนิรภัยที่ได้รับการรับรองว่าถูกออกแบบมาให้ทำงานเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงทางด้านหน้าตลอดทั้งแนวทำให้คุณจิระ(นามสมมติ) ตัดสินใจซื้อรถเก๋งโตโยต้าคัมมรี่ ACV30 ด้วยเงิน 1.5 ล้านเศษ ๆ เมื่อประมาณปี 2545 ขับมาหลายปีดีดักก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุให้ได้ทดลองใช้ระบบถุงลมนิรภัยสักครั้ง ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่มีคนใช้รถหน้าไหนอยากจะทดลองใช้มันด้วยซ้ำหรอกครับ คุณจิระจึงเหมือนคนใช้รถส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถยังสามารถทำงานได้ตามปกติหากมีการชนเกิดขึ้น

จนเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณจิระได้ขับรถยนต์ไปตามถนนสายดอยสะเก็ด-เชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางตามสันเขามีโค้งหลายโค้ง แม้จะขับด้วยความระมัดระวังใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่คุณจิระก็ไม่รอดขับไปชนกับรถกระบะที่วิ่งสวนทางมาอย่างแรงจนรถยนต์ได้รับความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ส่วนถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถแทนที่จะทำงานมันกลับเงียบเฉยไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ

ปล่อยให้ทั้งคนขับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสกันทั้งคัน ไม่ว่าจะป็นคุณจิระคนขับได้รับบาดเจ็บซี่โครงซ้ายร้าว เจ็บหน้าอก ภรรยาของคุณจิระที่นั่งคู่กันมาด้านหน้ากระดูกไขสันหลังช่วงกลางหลังถึงกับแตกละเอียด ในขณะที่เพื่อนซึ่งนั่งมาทางด้านหลังของคนขับได้รับบาดเจ็บช้ำบริเวณหน้าอกซ้าย แก้มบวม

คุณจิระคิดว่า ถ้าถุงลมนิรภัยทำงานได้จริง ผู้โดยสารจะไม่บาดเจ็บหนักถึงขนาดนี้ และโตโยต้าควรรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง

คุณจิระได้ส่งรถไปให้บริษัท โตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ตรวจสอบความเสียหายและสาเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2552 ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาในเดือนมีนาคม 2552 โดยโตโยต้าสรุปผลการตรวจสอบออกมาว่า

1. ลักษณะการชน เป็นการชนปะทะแบบเฉียงและการชนในลักษณะแบบมุดด้านใต้ซึ่งตำแหน่งที่รถถูกชนอยู่บริเวณด้านบนเหนือแชสซีดูดซับแรงกระแทก ซึ่งทำให้แรงปะทะที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทางด้านหน้าซ้าย-ขวาทำงาน ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีการส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECU SRS จึงทำให้ระบบถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยจึงไม่พองตัวออกมาตามเงื่อนไขการทำงานของระบบถุงลมนิรภัย

2. การชนบริเวณตรงกลางที่ทำให้คานรับแรงกระแทกจากการชนงอตัวเข้าด้านในบริเวณตรงกลาง การชนในลักษณะนี้จะทำให้คานดูดซับแรงจากการชนเสียรูปและดูดซับแรงการชนแล้วเกิดแรงดึงให้แชสซีดูดซับแรงเสียรูปตามแรงบดึงของการชน จึงทำให้แรงปะทะที่เกิดจากการชนไม่ได้รับแรงกระแทกโดยตรงจากจากการชน ดังนั้นแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจากการชนจึงถูกซับแรงและแรงหน่วงที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทำงานได้ ดังนั้นระบบถุงลมนิรภัยจึงไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยไม่พองตัว

3. จากการตรวจสอบระบบการสั่งงานของระบบ Air bag จะแยกอิสระถึงแม้ว่าวงจรเซนเซอร์ด้านซ้ายจะขาดวงจรเนื่องจากการชน แต่เซนเซอร์ด้านขวาและเซนเซอร์ตรงกลางก็ยังสามารถที่จะสั่งการทำงานของถุงลมนิรภัยได้ถ้าแรงปะทะแรงหน่วงที่เกิดขึ้นเพียงพอที่จะทำให้เซนเซอร์ทั้ง 2 ที่เหลือทำงาน
อ่านเสียยืดยาว ถ้าสรุปให้ง่ายกว่านั้นโตโยต้าพยายามยืนยันนั่งยันว่า การทำงานของระบบถุงลมนิรภัยในรถรุ่นนี้ใช้งานได้ตามปกติ แต่ความผิดพลาดครั้งนี้มีนิดเดียวคือ รถชนกันเบาไปหน่อยไม่พอที่จะปลุกระบบถุงลมนิรภัยให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น

เป็นใครได้ฟังผลการตรวจสอบแบบนี้ก็ต้องโมโหกันบ้างล่ะครับ คุณจิระก็ไม่แพ้กัน

“รถชนจนยับ คนในรถเจ็บหนักแต่ถุงลมไม่ออก ตอนซื้อรถยนต์เขาบอกว่าถ้าชนที่ความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถุงลมก็จะพองออกปกป้องคนที่อยู่ในรถ แต่ในวันนั้นผมขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังเป็นการชนแบบประสานงากับรถกระบะที่วิ่งสวนมา แต่ถุงลมไม่ออกทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีจดหมายส่งมาว่าบริษัทจะไม่รับผิดชอบเพราะเราชนเบาไปถุงลมเลยไม่ออก ทำให้เรารู้สึกแย่เอามากๆ ตอนนี้รถก็ไม่มีใช้ งานก็ทำไม่ค่อยได้เพราะอาการบาดเจ็บ อย่างนี้เราจะเรียกร้องอะไรได้ไหมครับ”

แนวทางแก้ไขปัญหา

น่าเห็นใจครับดูจากสภาพยับเยินของรถและอาการบาดเจ็บของผู้โดยสารแล้ว งานนี้ไม่น้อยเลย และเมื่อดูจากรายงานผลการตรวจสอบของโตโยต้าพบความเสียหายของรถจากการชนหลายจุดยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการชนครั้งนี้ไม่เบา จากการตรวจวาสอบของโตโยต้าพบความเสียหายภายนอกพบบริเวณด้านหน้ารถ กันชน ไฟหน้าและฝากระโปรงหน้าได้รับความเสียหาย ตรวจสอบภายในห้องเครื่องยนต์พบว่าเครื่องยนต์ถูกกระแทก ฝาหน้าเครื่องแตก หม้อน้ำเสียหาย แบตเตอรี่แตก และกล่องฟิวส์ถูกกระแทก ตรวจสอบคานรับแรงกระแทกด้านหน้ามีการเสียรูปงอตัวบริเวณตรงกลาง ตรวจสอบโครงสร้างแชสซีดูดซับแรงการชน(GOA) ด้านหน้าซ้าย-ขวาได้รับความเสียหายงอตัวเข้าด้านในต่อเนื่องจากการชนตรงกลาง ที่สำคัญตรวจสอบภายในห้องโดยสารไม่พบความเสียหายและถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

ดังนั้นผู้บริโภคจึงมีสิทธิเต็มร้อยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะความเสียหายทางด้านร่างกายสุขภาพอนามัยที่เกิดจากการไม่ทำงานของถุงลมนิรภัย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และอาจขอให้ศาลท่านมีคำสั่งเรียกเก็บรถยนต์รุ่นนี้คืนจากผู้ใช้รถทุกคนได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นรถยนต์ที่ไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถจริง

เบื้องต้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้นบ้างคิดเป็นมูลค่าหรือตัวเงินจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นให้ทำจดหมายเรียกค่าเสียหายดังกล่าวไปยังบริษัทรถยนต์เพื่อให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งเขาอาจจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้จำนวนหนึ่ง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หากผู้บริโภคเห็นว่าค่าเสียหายที่ทางบริษัทตอบกลับมาไม่สมเหตุสมผล สามารถที่จะยืนฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในภายหลังก็ได้


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์โตโยต้า ถุงลม นิรภัย ไม่ทำงาน ปลอดภัย

ฉบับที่ 238 เดินทางปลอดภัยคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

        ธันวาคมปีนี้ นอกจากลมเย็นอ่อนๆ จะพัดมาให้คนกรุงเทพได้ชื่นใจกันบ้างแล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระดมอัดฉีดเพื่อส่งเสริมให้คนท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยก็เริ่มติดลมบน  ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวบางแห่งช่วงปลายปีเริ่มมีสีสัน ธุรกิจที่ซบเซาเพราะโควิดไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม หรือขนส่งสาธารณะพลอยได้รับอานิสงส์คึกคักตามกันไปด้วย         ช่วงส่งท้ายปีเก่ารอรับปีใหม่แบบนี้ แม้จะอยู่ในช่วงรอยต่อของการฟื้นตัวทั้งภาครัฐและเอกชน แต่คาดหมายว่าเมื่อถึงวันหยุดยาวสิ้นปีทุกเส้นทางทุกยานพาหนะจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ทยอยเดินทางทั่วทุกสารทิศ แม้พาหนะยอดฮิตอย่างรถทัวร์และรถตู้โดยสารจะเป็นบริการเช่าที่ประหยัด สะดวกสบาย  และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไงเสียรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นพาหนะเดินทางที่ “จำเป็น” และตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนจำนวนมาก         ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่ลดน้อยลง  จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของกรมการขนส่งทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่ (สะสม 7 วัน) ปี 2563 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง ลดลงจากปี 2562 จำนวน 370 ครั้ง โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยพาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์        แม้อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะจะมีน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ แต่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้โดยสาร ต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ        เจ้าหน้าที่ ต้องเข้มงวดในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถที่ต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ไม่ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด และตรวจเช็คความพร้อมก่อนออกให้บริการ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารที่ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพของกรมการขนส่งทางบก เช่น การติดตั้ง GPS ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับติดตามและควบคุมความเร็วของรถ และเป็นสาเหตุสำคัญในการลดอุบัติเหตุได้         ผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตนในเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น คือคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่บนรถโดยสาร ซึ่งตรงนี้เหมือนง่ายแต่กลับเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะแม้จะมีบทบัญญัติลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยมีการจับปรับอย่างจริงจังทำให้ผู้โดยสารบางส่วนเคยชินในการละเลยความปลอดภัย ไม่ยินดีกับการคาดเข็มขัดนิรภัย ด้วยเหตุ อึดอัด ไม่สะดวก อายเพื่อน หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์นี้        ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารที่ต้องคาดเข็มขัดขณะอยู่บนรถโดยสาร โดยถ้าผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเจอตรวจจับปรับไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน แต่ปัจจุบันก็ยังพบปัญหารถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือถูกมัดไว้ไม่ให้ใช้ หรืออยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการขนส่งรายใดใช้รถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยมาให้บริการ หรือมีอุปกรณ์และส่วนควบชำรุดเสียหายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         เข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงพาหนะรถยนต์ทุกประเภท เพราะเข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบไว้เพื่อช่วยลดความรุนแรงและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เข็มขัดนิรภัยสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั่วไปได้ร้อยละ 40 - 50 ลดการบาดเจ็บสาหัสได้ถึงร้อยละ 43 - 65 และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 40 - 60 แต่ต้องใช้งานอย่างถูกต้องด้วย         การไม่คาดเข็มขัดนิยภัยนั้น อาจส่งผลที่อันตรายอย่างคาดไม่ถึง เช่น แรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถวิ่งเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเท่ากับรถตกจากที่สูงประมาณตึก 8 ชั้น และคนที่อยู่ในรถถ้าไม่คาดเข็มนิรภัย เมื่อรถชนและหยุดกะทันหัน ศีรษะใบหน้าและลำตัวของคนในรถจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับคนในรถ หรือสิ่งของด้านหน้า หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง หรือไขสันหลัง เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การคาดเข็มขัดนิรภัยจึงสำคัญ และเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติทุกคน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 201 ซื้อยาสมุนไพรออนไลน์ ปลอดภัยแค่ไหน

สินค้าออนไลน์มีมากมายหลายประเภท แต่หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมากก็หนีไม่พ้นอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านโลกออนไลน์ จะมีความปลอดภัยจริงหรือคุณดวงใจโทรศัพท์มาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า น้องสาวของเธอมีอาการเท้าบวมและไม่ยอมไปโรงพยาบาล แต่ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรยี่ห้อ นราห์ (NARAH) ผ่านอินเทอร์เน็ตมาเพื่อรักษาอาการแทน ซึ่งเมื่อได้รับสินค้า เธอได้นำเลขที่สารบบอาหาร 13 หลักที่ระบุไว้บนฉลากคือ 50-1-02254-1-0009 ไปตรวจสอบผ่านการสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของ อย. ก็ไม่มีพบรายละเอียดใดๆ เธอจึงไม่มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความปลอดภัย นอกจากนี้สินค้ายังมีการโฆษณาแสดงสรรพคุณที่ดูเกินจริงอีกด้วย เช่น เป็นสมุนไพรเพื่อลด ควบคุมและป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันและโรคหัวใจได้ คุณดวงใจจึงส่งผลิตภัณฑ์และรายละเอียดต่างๆ มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยแถลงข่าวเตือนประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านอินเทอร์เน็ตว่า อาจเสี่ยงได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย เพราะมักมีการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงและแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว ผู้ที่ขายยาผ่านอินเทอร์เน็ตหรืออาหารเสริมที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย จึงขอความร่วมมือผู้บริโภคไม่สนับสนุนผู้กระทำผิดกฎหมาย และช่วยแจ้งเบาะแสหากพบเห็นการจำหน่ายสินค้าในลักษณะนี้ที่สายด่วน อย. 1556และสำหรับในกรณีนี้ ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว ด้วยการทำหนังสือถึง อย. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบ ซึ่งภายหลังทาง อย. ก็ได้แจ้งผลการดำเนินการมาว่า ผู้ขอจดทะเบียนเลขระบบอาหารของสมุนไพรนราห์ ได้ขอยกเลิกเลขทะเบียนสารระบบอาหารไปแล้ว เนื่องจากมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาหลายราย ซึ่งขณะนี้ อย. กำลังสืบเรื่องและเตรียมส่งต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ดำเนินคดีและแจ้งระงับการโฆษณาการขายสินค้าดังกล่าว โดยหากดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จะทำหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 169 ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเข้าถึงอาหารปลอดภัย

15 มีนาคม ของทุกปี  คือวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล  เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน  จากการที่ถูกละเมิดสิทธิโดยผู้ประกอบการที่ไร้ธรรมาภิบาล  โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแท้จริงแล้ว  ประเทศไทยมีการพูดถึงสิทธิผู้บริโภคมาก่อนปี 2520  และผลักดันจนทำให้เกิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522  โดยกำหนดสิทธิผู้บริโภคไว้ถึง 5 ประการ  คือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา/สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ/สิทธิจะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย   (ยังมีสิทธิผู้บริโภคสากลอีก 3 ข้อ)และให้มี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ  มาเป็นผู้กำกับดูแลงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย  และมีการขยายงานคุ้มครองผู้บริโภค ออกไปอีกหลายหน่วยงานในแต่ละด้านแต่รัฐก็คือรัฐ งานทุกเรื่องเป็นไปอย่างล่าช้า   ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม  แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มีผลบังคับใช้มากว่า 35 ปีแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง!งานสมัชชาผู้บริโภคที่จัดขึ้นวันที่ 15 มีนาคม ปีนี้   เน้นไปที่เรื่องการเข้าถึงอาหารปลอดภัย  เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จริงจังกับเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้น  ไม่ใช่บริโภคอาหารตามที่โฆษณา เช่น  กินชาเขียว(น้ำตาลเยอะ)แล้วได้รถเบนซ์  กินเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ได้เงิน 10 ล้าน  คนก็ระดมกินกันมากมายเพื่อหวังรวย  มิได้กินเพื่อเป็นอาหาร  ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง มักชอบไปจัดงานอีเว้น  ในต่างจังหวัดโดยมีสิ่งล่อใจ ด้วยของขวัญของรางวัล และเชิญดารานักร้องดังไปปรากฏตัว  แต่มีข้อแม้ใครจะเข้างานต้องมีฝาขวด 10 ฝา  บางคนก็เตรียมมาจากบ้าน  คนที่ไม่ได้เตรียมมาก็ซื้อได้เลยหน้างาน สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ เด็กประมาณ 11 ขวบ ยืนกินเครื่องดื่มชูกำลังตรงนั้นรวดเดียว 10 ขวด  เพียงแค่อยากเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบ  โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีใครเสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการ       ยังไม่รวมถึงการโฆษณาอาหารเสริม  ให้เข้าใจผิดว่าเป็นยารักษาโรค   การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่สำคัญ  มี  2 ส่วน ต้องมีการกำกับการโฆษณาอาหารมิให้เกิดการโฆษณาเกินจริง และใช้การพนันมาสร้างแรงจูงใจให้ซื้อสินค้า   ควบคุมความหวานในอาหาร และกำหนดห้ามดื่มเกินวันละ กี่ขวด   เพราะ “ปากคือประตูสู่โรคภัย”  ไม่ควบคุมวันนี้ อนาคตเด็กไทย  จะเป็น “คนอมโรค” ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ  และความมั่นคงของประเทศ   ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคเท่าทัน!  ก่อนหยิบอะไรใส่ปากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง!  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 115 ก๊าซเอ็นจีวี พลังงานสะอาด ปลอดภัยจริงหรือ

ยวดยานนับหลายล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงอยู่เกือบ 2 แสนคัน คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดและปลอดภัย แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้วในวันนี้เราทราบถึงคำถามเรื่องนี้จากการจัดเวทีเสวนาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เวทีนี้จัดไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาจุดเริ่มเรื่องมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียน มาถึงคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยแจ้งว่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวง พลังงาน ได้ออกประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ ต้องการให้เอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ซึ่งถูกผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น จากฝั่งอ่าวไทย จากฝั่งอันดามัน จากแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร หรือจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติได้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ให้อยู่ระหว่าง 37-42 เมกกะจูล/ลูกบาก์เมตร(MJ/m3) และให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ของปริมาตรอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้บริโภคอาจคิดว่าก็ดีแล้วนี่ ที่มีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี แล้วจะมาร้องเรียนกันทำไม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตั้งคำถามสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ผลของประกาศฉบับนี้ ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดค่าดัชนีวอบบี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ซึ่งจะต้องมีการปิดปั๊มก๊าซเอ็นจีวีหลายแห่งในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรับปรุง” คุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่จะจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์กว่า 2 แสนคันและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อนที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดน่ะ ดันต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลของก๊าซธรรมชาติที่หลายๆ ประเทศมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 46-52.9 MJ/m3 และต่ำกว่าค่าดัชนีวอบบี้ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะจากแหล่งอ่าวไทยซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ที่นำมาผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีค่าดัชนีวอบบี้อยู่ที่ 41.9-44.0 MJ/m3ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ การไปกำหนดค่าดัชนีวอบบี้ที่ต่ำว่ามาตรฐานสากลและต่ำกว่าคุณสมบัติที่เป็นจริงของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ของประเทศเช่นนี้ ทำให้ ปตท. ใช้โอกาสนี้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในในเอ็นจีวีเพื่อให้ได้มาตรฐานต่ำๆ ตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และยังปล่อยให้เติมได้ถึง 18% ของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมด ในขณะที่มาตรฐานสากลยอมให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% หรือในบางมาตรฐานที่บางประเทศใช้กันเขาไม่ยอมให้มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเองและสิ่งที่สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กังวลมากที่สุด คือ หากปล่อยให้มีอัตราส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากภายในถังเก็บก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งกับรถยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในถังซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จะทำให้เกิดเป็น Feco3 หรือเหล็กคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้ถังเอ็นจีวีมีโอกาสกัดกร่อนได้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนว่า ถังก๊าซเอ็นจีวี(ที่ติดตั้งในรถยนต์กว่า 2 แสนคัน)มีโอกาสระเบิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซคุณสมบัติเบากว่าอากาศมากจึงต้องใช้แรงดันอัดมหาศาลและต้องอยู่ในถังที่มีสภาพความทนทานมากๆ เท่านั้น ใช้ถังเหล็กธรรมดาอย่างก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีไม่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ จึงขอตั้งเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้บริโภคทุกคนว่า เงินที่เราจ่ายซื้อเอ็นจีวีเติมลงไปในถังนั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพราะแทนที่เงิน 100 บาทที่จ่ายไปจะได้เอ็นจีวีที่มีคุณภาพช่วยรถวิ่งปรื๋อเต็มๆ 100 บาท กลับกลายเป็นเงินซื้อขยะอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 18 บาททั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับรถยนต์ของเราเลยสักนิด และท้ายสุดก็ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นแรงหนุนทำให้โลกร้อนขึ้นร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เบนซิล หรือดีเซลดังนั้น อ่านเรื่องนี้กันแล้วในฐานะคนอ่านฉลาดซื้อต้องช่วยกันตะโกนถามคำถามนี้กันดังๆ ครับ หวังว่าเมื่อกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ยินคำถามของผู้บริโภคแล้ว จะได้กลับไปใช้สมองคิดทบทวนการกำหนดคุณภาพมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีเสียใหม่โดยเร็ว อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแบบนี้เลยขอรับ

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)