ฉบับที่ 175 บัตรเดบิตพ่วงประกัน รู้ให้ทันก่อนใช้

เดี๋ยวนี้บัตรเดบิตไม่ได้มีไว้แค่กดเงินสดจากบัญชีของเราผ่านทางตู้ ATM เพียงอย่างเดียว แต่บัตรเดบิตใบเดียวยังทำได้อีกหลายอย่าง แต่ที่หลายๆ คนให้ความสนใจแถมยังเคยเป็นประเด็นร้อนแรงจนเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ก็คือ “บัตรเดบิตที่มาพร้อมสิทธิด้านประกันอุบัติเหตุ”  ที่เคยผู้บริโภคออกมาโวยว่าถูกธนาคารเอาเปรียบบังคับให้ทำบัตรเดบิตพ่วงประกัน ซึ่งค่าธรรมเนียมแพงกว่าบัตรเดบิตทั่วไป ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปดูกันสิว่า “บัตรเดบิตที่มาพร้อมสิทธิด้านประกันอุบัติเหตุ” (เราเลือกเฉพาะคุ้มครองด้านอุบัติเหตุ) มีข้อดี-ข้อเสียยังไง เป็นทางเลือกที่น่าสนใจแค่ไหน สำหรับคนที่อยากมีประกันอุบัติเหตุไว้ให้อุ่นใจเวลาเจอเหตุที่ไม่คาดฝัน แต่เดี๋ยวก่อน ข้อมูลเรื่องการใช้สิทธิเรามีมาฝากแน่ๆ แต่สิ่งที่เราอยากบอกคือ ลักษณะการให้บริการที่ไม่ตรงไปตรงมาของธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงเพื่อมิให้ก่อปัญหาในอนาคต    โดยฉลาดซื้อ...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!

ฉบับที่ 173 จับตา “ราคาสินค้า”

ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายเสียงต่างบอกตรงกันว่า เศรษฐกิจประเทศเราเวลานี้ ไม่ใช่ช่วงอู้ฟู่ เพราะกำลังซื้อจากภาคประชาชนดูเหมือนหดหายไปเยอะ งานอีเว้นท์เพื่อส่งเสริมการขายทั้งหลายดูจะมีคนเดินเข้างานกันน้อยลง ไม่เว้นกระทั่งงานกาชาด ที่ประชาชนเคยให้ความสนใจมาก ผู้ผลิตหลายรายก็บ่นว่า “ปีนี้ยอดขายไม่ดี” หรือถึงแม้ว่าหลายคนกำลังทรัพย์ในกระเป๋าไม่ได้หดหายไปไหน แต่ก็คงสัมผัสได้ถึง “พลังงานบางอย่าง” ทำให้ไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้เงิน ส่วนคนที่มีภาระหนี้สินติดตัว ไม่ว่าจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือผ่อนหนี้บัตร อันนี้ก็คงไม่ต้องหวังให้จับจ่ายเพิ่ม เพราะคงต้องประหยัดกันสุดฤทธิ์     จริงๆ ของบางอย่างประหยัดได้ ก็เห็นว่าจำเป็นต้องประหยัด แต่ของอีกหลายอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสินค้าในชีวิตประจำวัน ประเภทเครื่องอุปโภค บริโภคในครัวเรือนนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อย่างไรเสียก็ต้องซื้อต้องใช้  ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้หลายชนิดเป็นสินค้าควบคุมราคาโดยภาครัฐ(กระทรวงพาณิชย์) หากจะปรับราคา ก็ต้องเข้าไปคุยกับหน่วยงานเพื่อขออนุมัติก่อน ส่วนสินค้าจำเป็นหลายรายการที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุม บางทีก็ต้องระวัง เพราะอาจถือโอกาส ปรับสูตรเปลี่ยนไซส์ เพื่อขึ้นราคาทางอ้อมได้      ฉลาดซื้อเราก็เป็นนักช้อปตัวยง(ช้อปมาทดสอบนะคะ) ไหนๆ ก็เดินห้างสรรพสินค้าบ่อย จึงถือโอกาส จับตาสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน เพื่อดูว่ามีการปรับตัวกันแค่ไหน อย่างไร เราทดลองเก็บตัวอย่างสินค้าหลายรายการ เลือกยี่ห้อที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงในอันดับต้นๆ ของแต่ละกลุ่มรายการสินค้า โดยเริ่มเก็บตัวอย่างครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2557 และเก็บตัวอย่างสินค้า(ยี่ห้อเดียวกันกับครั้งแรก) อีกครั้งในเดือน พฤษภาคม 58 ที่ผ่านมา โดยเลือกซื้อจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 2 แห่ง จากนั้นเปรียบเทียบราคา ณ จุดขาย พบว่า ส่วนใหญ่ราคายังคงที่ แต่หลายรายการก็พบว่า มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เช่น สบู่ก้อนปรับราคาขึ้นไปถึงประมาณร้อยละ 30-40 ส่วนน้ำมันพืชมีการปรับราคาขึ้นประมาณร้อยละ 10-20          

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 169 เอทีเอ็มแบบธรรมดา ธนาคารยังมีบริการไหม

เปิดหัวเรื่องมาแบบนี้ เพราะมีคำถามจากผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ที่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกับทำบัตรเอทีเอ็ม เพื่อไว้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ปัญหาที่เป็นประสบการณ์ร่วมกันคือ ธนาคารมักเสนอบัตรเอทีเอ็มแบบที่มีลักษณะเป็นบัตรเดบิตไปด้วย(สามารถใช้บัตรรูดแทนเงินสดได้ตามจำนวนเงินที่มีในบัญชี) หรือไม่ก็เสนอบัตรที่มีการทำประกันภัยไปด้วย ทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำบัตรพุ่งพรวดไปหลายร้อยบาท เรื่องนี้มิใช่เพิ่งมามีปัญหา แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เวลามีการโวยวายผ่านสื่อขึ้นมาสักครั้ง ทุกธนาคารก็ให้คำตอบประมาณว่า ธนาคารไม่มีการบังคับ(แบบตรงๆ) ว่าทุกคนต้องทำบัตรเอทีเอ็มชนิดพิเศษ ผู้บริโภคสามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ ซึ่งก็จริง แต่ในสถานการณ์จริง ผู้บริโภคมักถูกบังคับกลายๆ ให้ต้องเลือกทำบัตรเอทีเอ็มแบบพิเศษด้วยข้ออ้างประเภท “บัตรเอทีเอ็มธรรมดาหมด ต้องรอหลายอาทิตย์กว่าบัตรจะมา” หรือ “บัตรแบบนี้ดีกว่าเยอะ สามารถเบิกถอนได้คราวละมากๆ” เป็นต้น ผู้บริโภคหลายคนจึงเลือกเอาความสะดวก ไหนๆ ก็มาแล้ว ทำไปให้เสร็จๆ เพื่อไม่ต้องเสียเวลามาอีก จึงจำยอมทำไป ทั้งที่ไม่เต็มใจเท่าไหร่ เสียงบ่นเสียงครวญจึงเกิดขึ้นมากมาย เพราะค่าธรรมเนียมบัตรประเภทพิเศษนี้ จะวนเวียนมาอีกทุกๆ ปี ซึ่งเป็นเรื่องเกินความจำเป็น   ปัญหาการเปิดใช้บริการเอทีเอ็ม ปัญหาการเงินการธนาคารเป็นประเด็นหนึ่งที่ คณะกรรมการองค์การอิสระภาคประชาชน ให้ความสำคัญและในปี2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มทดลองทำหน้าที่ ได้มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ทางคณะกรรมการฯ มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ 1.ยกเลิกการขายพ่วง บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม ร่วมกับการขายประกัน ข้อเสนอนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหนังสือตอบว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย จะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และออกประกาศ หรือกำหนดมาตรการบังคับ ห้ามการขายพ่วงบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และประกันภัย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้แยกแบบฟอร์มการสมัคร (แยกโต๊ะสำหรับการขายประกันโดยเฉพาะ) 2.ยกเลิกการบังคับ ทำบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มธรรมดา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่า ได้ทำหนังสือถึงธนาคารต่างๆ เพื่อจัดการปัญหาการบังคับทำบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มแล้ว 3.ลดราคาค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต ข้อเสนอนี้ ในขั้นต้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินทางอินเตอร์เน็ตแล้ว(มีเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร) อย่างไรก็ตาม แม้มีการตอบรับเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหา การบังคับทำบัตรเดบิตแทนเอทีเอ็มธรรมดา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีเสียงร้องเรียนมาจากฟากผู้บริโภคว่า ปัญหายังไม่หมดไป ธนาคารหลายแห่งยังมามุขเดิมๆ คือพยายามบ่ายเบี่ยงการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ของผู้บริโภค ดังนั้นในการประชุมคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชนด้านการเงินและการธนาคาร  ครั้งที่ 5/2557 จึงมีมติให้ทดลองติดตามมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า มีผลในทางปฏิบัติจริงหรือไม่ ในประเด็น 1) บัตรเอทีเอ็มธรรมดายังทำได้อยู่หรือไม่ 2) ค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ตรงกับที่ทางธนาคารแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยฉลาดซื้อขออาสาทดสอบเรื่องดังกล่าว   ขั้นตอนการทดสอบ 1.เราเลือกธนาคารเป้าหมาย 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยเลือกจาก 3 สาขาของแต่ละธนาคาร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 2.จัดหาอาสาสมัครเพื่อไปทดลองเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็ม โดยในการทดสอบอาสาสมัครจะบอกเพียงขอทำบัตรเอทีเอ็มเท่านั้นเพื่อดูการเสนอบริการของพนักงานว่ามีการให้ข้อมูลแบบใด เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงค่อยยืนยันว่าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาเท่านั้น เพื่อดูว่าพนักงานจะมีปฏิกิริยาอย่างไร และอาสาสมัครยังสามารถทำเฉพาะบัตรเอทีเอ็มธรรมดาได้หรือไม่ 3.ก่อนจะส่งอาสาสมัครไปเปิดบัญชี เราได้ตรวจสอบข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูข้อมูลเรื่องค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต ที่แต่ละธนาคารได้แจ้งไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพบว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ยกเลิกการให้บริการบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาแล้ว มีเพียงบัตรเดบิต “บีเฟิร์ส” เท่านั้น     จากตารางจะเห็นว่า การทำบัตรเอทีเอ็ม 1 ใบ แบบธรรมดาจะเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า+รายปี ไม่เกิน 300 บาท เว้นธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีค่ารายปี 250 บาท+แรกเข้า 100 บาท รวมเป็นเงิน 350 บาท ข้อสังเกตคือ บัตรเอทีเอ็มธรรมดา ของธนาคารกสิกรไทย กรุงศรีฯ และไทยพาณิชย์จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า+รายปี ไม่แตกต่างจากการทำบัตรเดบิตแบบธรรมดา เว้นของธนาคารกรุงไทยที่ค่าธรรมเนียมบัตรธรรมดาจะถูกกว่าบัตรเดบิต คือ บัตรเอทีเอ็มธรรมดา 230 บาท บัตรเดบิตธรรมดา 300 บาท         จากการทดลองสรุปว่า 12 สาขาของธนาคารเป้าหมาย ที่อาสาสมัครได้ทดลองเปิดบัญชีใหม่พร้อมทำบัตรเอทีเอ็ม พบว่า ไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ ถึง 6 สาขา (50%) โดยธนาคารกสิกรไทยทำไม่ได้เลยทั้ง 3 สาขาที่อาสาสมัครได้ทดลองขอใช้บริการ รองลงมาคือ ธนาคารกรุงไทย ทำไม่ได้ 2 สาขา ไทยพาณิชย์ ทำไม่ได้ 1 สาขา(อ้างบัตรหมดเช่นกัน) ส่วนที่ต้องปรบมือให้ คือธนาคารกรุงศรีฯ อาสาสมัครของเราสามารถเปิดบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ทั้งสามสาขา   ฉลาดซื้อแนะ 1.ถ้าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาจริงๆ ขอให้ยืนยันกับทางพนักงานว่าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาเท่านั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมจะไม่เกิน 300 บาท เว้นธนาคารไทยพาณิชย์ 350 บาท 2.ระวังพนักงานเล่นกลกับท่าน กรณีที่บัตรเอทีเอ็มธรรมดาของธนาคารอาจมีหลายประเภท ท่านอาจได้ประเภทที่ค่าธรรมเนียมสูงแทนบัตรธรรมดาที่ค่าธรรมเนียมต่ำ  หรือได้เป็นบัตรเดบิตมาแบบงงๆ เพราะค่าธรรมเนียมเท่ากัน 3.โปรดเลือกบริการโดยคำนึงถึงความเสี่ยง ด้วยค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มกับบัตรเดบิต อาจไม่ได้มีราคาต่างกัน ท่านจึงอาจเลือกบัตรเดบิตเพื่อความสะดวก แต่การเลือกใช้บัตรเดบิตต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัย เพราะบัตรเดบิตสามารถนำไปรูดซื้อสินค้าได้เช่นเดียวกับบัตรเครดิต เพียงแต่ไม่เกินยอดเงินในบัญชี ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงในการสุญเงิน หากท่านทำบัตรสูญหายหรือถูกขโมยไปใช้ เพราะผู้ไม่หวังดีต่อท่านจะสามารถรูดซื้อสินค้าได้ง่ายๆ เพียงแค่ปลอมลายมือชื่อของท่านเวลาซื้อของเท่านั้น(ร้านค้าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้พิจารณาเรื่องลายมือชื่อสักเท่าไร) ดังนั้นท่านอาจสูญเงินทั้งหมดในบัญชีไปได้ง่ายๆ 4.ถ้าพบปัญหาว่าไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ เพราะการอ้างเรื่องบัตรหมด ท่านควรทำหนังสือร้องเรียนต่อธนาคารดังกล่าว โดยการส่งจดหมายถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานใหญ่ของธนาคารนั้น เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการให้บริการ ถ้าจะไม่มีบัตรแบบธรรมดาแล้ว ก็ควรประกาศยกเลิกไปอย่างเป็นทางการ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 133 เงินทองของมายา เปรียบเทียบปัญหาด้านการเงินจากทั่วโลก

  เนื่องในโอกาสวันผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม เราขอพาคุณเปลี่ยนบรรยากาศไปทัวร์ 1 วัน 10 ประเทศ อัพเดทเรื่องเงินๆทองๆ รอบโลกกัน ผู้บริโภคชั้นแนวหน้าอย่างพวกเรา รู้จัก “สิทธิในการเลือก” เป็นอย่างดี แต่เราอาจลืมสังเกตไปว่า ในบรรดาสิทธิผู้บริโภคทั้ง 8 ข้อ(แบบสากล) นั้น “สิทธิในการเลือก” ของเราถูกละเมิดโดยบริการการเงินการธนาคารมากที่สุด แม้ค่าธรรมเนียมจะแพงสักเท่าไร บริการจะแย่สักแค่ไหน เราก็ (ยินดี?) ทนกันต่อไป จะมีสักกี่คนที่อยากจะเป็นธุระเปลี่ยนไปใช้บริการจากธนาคารเจ้าใหม่ เพราะรู้สึกไม่พอใจกับเจ้าเดิม หรือเพราะเห็นข้อเสนอของเจ้าใหม่ที่ดีกว่า  เรื่องของเรื่อง ... ดูไม่ออกจริงๆ ว่าใครให้บริการหรือข้อเสนอที่ดีกว่ากัน ฝรั่งเศส ที่นี่เขามีสถิติยืนยันว่า ใน 100 คน มีถึง 15 คน ที่ “อยาก” จะเปลี่ยนธนาคาร แต่ “เปลี่ยน” จริงๆแค่ 5 คนเท่านั้นข่าวบอกมาว่า ที่นี่มีจำนวนผู้ประกอบการค่อนข้างจำกัด แถมยังมีค่าบริการแพงเป็นอันดับต้นๆของยุโรป แต่คนฝรั่งเศสกลับมีการรับรู้เรื่องการเปลี่ยนธนาคารน้อยมาก (ยืนยันโดยงานสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อน โดยองค์กรผู้บริโภค UFC-Que Choisir) บรรดาธนาคารที่นี่ไม่มีการอำนวยความสะดวกใดๆ ให้แก่ผู้ที่ต้องการจะย้ายบัญชีเงินฝากไปอยู่กับเจ้าใหม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่สนใจจะรับลูกค้าที่เปลี่ยนจากเจ้าอื่นมาที่ตนเองเช่นกัน หลักๆ แล้วเขาเน้นการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มเติมให้กับลูกค้าเก่ามากกว่า  นอกจากนี้เขายังคิดค่าธรรมเนียมสำหรับบริการที่มีคู่แข่งน้อย เช่น บัตรเดบิต สูงมากด้วย   สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว Bank of America ประกาศจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน เดือนละ 5 เหรียญ (ประมาณ 150 บาท) จากผู้ใช้บัญชีเงินฝากที่รองรับบัตรเดบิต ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2012 เป็นต้นไป โดยมีธนาคารอีก 3 แห่ง (JP Morgan Chase / Wells Fargo และ Sun Trust) ตั้งท่าว่าจะทำเช่นเดียวกัน อเมริกันชนฟังแล้วขมขื่น เป็นลูกค้ากันมาก็นาน แล้วทำไมถึงยังต้องเสียเงินเพื่อเข้าไปใช้เงินในบัญชีเงินฝากของตัวเองอีก ว่าแล้วผู้บริโภคกว่า 40,000 คน ก็ร่วมกันเขียนอีเมล์ถึงสภาคองเกรส ร้องขอให้มีการตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ ในที่สุดแผนการนี้ล้มเลิกไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  ------------------------------------------------------------------------------------------------------- สถิติความอัดอั้นตันใจ อังกฤษ   ครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2553 มีเรื่องร้องเรียนบริการการเงิน/ธนาคาร กว่า 1,700,000 เรื่อง อินเดีย  ระหว่าง ปี พ.ศ. 2552 – 2553 มีเรื่องร้องเรียนบริการการเงิน/ธนาคาร เกือบ 80,000 เรื่อง จีน  มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้ใช้บริการธนาคาร ไม่พอใจกับค่าธรรมเนียมอัตราปัจจุบันบราซิล  เรื่องร้องเรียนยอดฮิตอันดับสอง ของ “สคบ.” ที่นั่นคือ บริการการเงิน/ธนาคาร-------------------------------------------------------------------------------------------------------เปลี่ยน ... วันนี้เธอแค่เปลี่ยน  ลองมาดูสถิติการ “เปลี่ยน” ของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2551 ร้อยละ 25  “เปลี่ยน” ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตร้อยละ 22  “เปลี่ยน” ผู้ให้บริการประกันรถยนต์ร้อยละ 9  “เปลี่ยน” ผู้ให้บริการธนาคาร -------------------------------------------------------------------------------------------------------   สวีเดน ที่นี่เขาเท่จริงไรจริง มีการคงสิทธิหมายเลขบัญชีธนาคารด้วยระบบที่ชื่อว่า BankGiro ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะไปใช้บริการของธนาคารไหน เมื่อไรก็ได้ ถ้าพบผลิตภัณฑ์หรือข้อเสนอที่น่าสนใจกว่า ด้วยการอ้างอิงหมายเลขบัญชีเดิม แต่เดี๋ยวก่อน องค์กรผู้บริโภคของสวีเดน Sveriges Konsumenter บอกว่าผู้ที่ใช้ประโยชน์จากระบบ BankGiro นี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรธุรกิจ ส่วนผู้บริโภคทั่วไปนั้นยังมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนไปใช้บริการจากธนาคารอื่นนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก แถมสุ่มเสี่ยงอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่มีระบบรองรับแต่คนก็ยังไม่ “เปลี่ยน” เรื่องนี้สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบธนาคารของคนสวีเดน มีสถิติยืนยันว่าความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินนั้นลดลงอย่างฮวบฮาบในระหว่างปี พ.ศ. 2552 – 2553 -------------------------------------------------------------------------------------------------------ความจริงแล้วคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมธนาคารแห่งยุโรป ได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการโอนย้ายบัญชีเงินฝากของตนไปอยู่กับธนาคารอื่นในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปทั้งหมด รวมถึงนอร์เวย์ มาตั้งแต่เมื่อสามปีก่อน แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ลงตัวในทางปฏิบัติ-------------------------------------------------------------------------------------------------------   เนเธอร์แลนด์ ด้วยระบบ OVERSTAPSERVICE ที่มีใช้กันมาตั้งแต่ปี 2548 ที่กำหนดให้ธนาคารเดิมโอนประวัติการจ่ายเงินในช่วงเวลาย้อนหลัง 13 เดือน ไปยังบัญชีของผู้บริโภคที่ทำไว้กับธนาคารเจ้าใหม่ ทำให้คนที่นี่สามารถใช้สิทธิในการเลือกของตนเองได้สะดวกกว่าที่อื่น งานสำรวจขององค์กรผู้บริโภค Consumentenbond พบว่าผู้มีบัญชีธนาคารกว่า 1,900 คน มีการใช้บริการนี้ประมาณ 80,000 – 100,000 ครั้งต่อปี และผู้บริโภคมีความพึงพอใจต่อบริการธนาคารโดยรวมเพิ่มขึ้น จากที่เคยให้ 7 เต็ม 10 เมื่อปี 2549 ก็เพิ่มเป็น 8.5 เต็ม 10 ในปี 2554 แม้จะย้ายกันได้สะดวก แต่ก็ยังไม่สามารถใช้หมายเลขบัญชีเดิมได้อยู่นั่นเอง   ออสเตรเลีย ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมา สถาบันการเงินที่ให้บริการรับจำนองบ้าน จะต้องมีข้อมูลให้กับผู้บริโภคในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยต้องแจกแจงข้อมูลต่อไปนี้ในภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ให้จบภายใน 1 หน้ากระดาษ • เงื่อนไขเงินกู้ / จำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระ• อัตราดอกเบี้ย • จำนวนเงินที่ต้องจ่ายทั้งหมด เมื่อจ่ายจนครบทุกงวด• ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ธนาคารจะเรียกเก็บ -------------------------------------------------------------------------------------------------------ธนาคารใหญ่ขึ้น ทางเลือกผู้บริโภคน้อยลงอังกฤษ ธนาคารใหญ่ 5 อันดับแรก ยึดครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 87  แค่ Lloyds ธนาคารเดียวก็คุม 1 ใน 4 ของบัญชีเงินฝากทั้งประเทศแล้ว อีกร้อยละ 20 ของลูกค้าที่กู้ซื้อบ้านก็อยู่กับธนาคารนี้เช่นกันฝรั่งเศส  ร้อยละ 90 ของบัญชีเงินฝาก ร้อยละ 80 ของบัญชีเงินกู้ และร้อยละ 60 ของกรมธรรม์ประกันชีวิต อยู่กับธนาคาร 6 อันดับแรก อเมริกา ส่วนแบ่งการตลาดของ 50 ธนาคารอันดับต้นในปี  2553 เท่ากับส่วนแบ่งการตลาดของธนาคาร 150 อันดับแรก ในปี 2551ออสเตรเลีย ธนาคาร 4 อันดับต้น มีส่วนแบ่งร้อยละ 78 ของบัญชีเงินฝาก และมากกว่าร้อยละ 80 ของบัญชีเงินกู้บราซิล  ร้อยละ 75 ของบัญชีเงินฝาก อยู่กับธนาคาร 5 อันดับแรกเยอรมนี ร้อยละ 78 ของบัญชีเงินฝาก อยู่กับธนาคาร 6 อันดับแรก  -------------------------------------------------------------------------------------------------------   อังกฤษ คงจำกันได้ว่าที่นี่เขาพยายามกอบกู้ธนาคารขนาดใหญ่ที่อาการเข้าขั้นโคม่า ด้วยเงินภาษีของประชาชน นอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรม (แต่จำเป็น) ในเรื่องนี้แล้ว ขณะนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการแยกให้ชัดเจนระหว่างธนาคารทั่วไป และธนาคารเพื่อการลงทุน เพราะระดับความเสี่ยงมันต่างกันลิบลับ เมื่อธนาคารเพื่อการลงทุน (ซึ่งสมควรเป็นผู้เชี่ยวชาญ) เก็งกำไรผิด ตัดสินใจพลาดเอง รัฐก็สมควรปล่อยให้ล้มไปเอง ไม่ต้องนำเงินสาธารณะเข้าไปอุ้มการลงทุนส่วนบุคคล -------------------------------------------------------------------------------------------------------ทำงานแทบตาย หายไปกับค่าโอนในแต่ละปี เงินจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกโอนจากแรงงานข้ามชาติไปยังประเทศบ้านเกิด (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา) เพื่อจุนเจือคนในครอบครัว เป็นค่าซ่อมบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วคนเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่โอน บางครั้ง มากกว่าร้อยละ 20 ด้วยซ้ำ ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ค่อนข้างจำกัดเพราะไม่มีข้อมูล ในขณะที่ธนาคารก็ยังไม่มีความโปร่งใสในมาตรฐานการตั้งราคาด้วยเช่นกัน แม้แต่ ธนาคารโลก World Bank เองก็เคยบอกว่า ถ้าธนาคารลดค่าธรรมเนียมการโอนให้ร้อยละ 5   จะมีเงินกลับไปสู่ครอบครัวในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น 15,000 ล้านเหรียญต่อปีเลยทีเดียว-------------------------------------------------------------------------------------------------------   เนื่องในโอกาสวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล World Consumer Rights Day ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปี สหพันธ์ผู้บริโภคสากลและองค์กรสมาชิก 220 องค์กรใน 115 ประเทศ (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ของเราก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย) จะร่วมกันรณรงค์เรียกร้องให้เกิดบริการทางการเงินการธนาคารที่หลากหลาย โปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากขึ้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 125 เงินฝากดอกเบี้ยสูง... แค่จูงใจหรือได้จริง!?

 การฝากเงินกับธนาคารของใครหลายคนอาจไม่ใช่เพียงแค่การออมเงิน แต่เป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับเงินที่นำไปฝาก ด้วยผลกำไรที่ได้จาก “ดอกเบี้ย”  การฝากเงินไว้กับธนาคารแล้วปรารถนาดอกเบี้ยสูงแทบเป็นไปได้น้อยในบัญชีประเภท ออมทรัพย์ ดังนั้นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เลือกฝากกับ “บัญชีเงินฝากประจำ” ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา แถมช่วงนี้กระแสฝากเงินรับดอกเบี้ยสูงกำลังมาแรง ธนาคารหลายเจ้าใช้กลยุทธ์ดึงดูดใจลูกค้าด้วยตัวเลขดอกเบี้ยสูงปี๊ด แบบที่ใครเห็นก็ต้องตะลึง รู้สึกใจเต้นตึงตัง อยากควักเงินจากกระเป๋าเอาไปเข้าบัญชีแบบเดี๋ยวนั้นทันที   สงครามเงินฝากดอกเบี้ยสูง!!!  ช่วงนี้แต่ละธนาคารกำลังทำสงครามแย่งชิงเม็ดเงิน (ฝาก) จากลูกค้ากันอย่างหนัก โดยต่างก็ชูเรื่องเงินฝากดอกเบี้ยสูงมาเป็นจุดขาย ซึ่งส่วนใหญ่เลือกใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ย 7% มาเป็นตัวเรียกแขก ให้หลายคนเกิดแรงบันดาลใจหันมาออมเงินกันวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า ไม่ว่าจะเป็น ธ.นครหลวงไทย กับโปรโมชั่นเงินฝากประจำพิเศษ super grow up 10 เดือน, ธ.ไทยพาณิชย์ เงินฝากประจำดอกเบี้ยก้าวกระโดด 11 เดือน, ธ.กสิกรไทย เปิดบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยพุ่งพรวด 13 เดือน ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเพื่อนที่ 7.50% หรือแม้แต่ ธ.ออมสิน ก็มีเงินฝากประจำ 11 เดือน ให้ดอกเบี้ย 7% เป็นทางเลือกให้กับคนที่อยากฝากเงินไว้กินดอก  ลองมาดูกันหน่อยสิว่าแต่ละธนาคารใช้โปรโมชั่นอะไรมาจูงใจคนที่รักการออมอย่างเรากันบ้าง   ธ.นครหลวงไทย เงินฝากประจำพิเศษ super grow up 10 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 6 = 2.00%เดือนที่ 7 – 8 = 2.50%เดือนที่ 9 - 11 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.10% เงื่อนไข-ต้องมีสมุดบัญชีคู่ฝากอีกหนึ่งบัญชี-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท ไม่จำกัดวงเงิน-จ่ายดอกเบี้ย 3 ครั้ง เดือนที่ 6 เดือนที่ 8 และเดือนที่ 10-ฝากไม่ครบ 6 เดือนไม่ได้ดอกเบี้ย-บัญชีไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ-หากจะถอนต้องถอนทั้งยอดฝาก ยอดฝากใดก็ได้----------   ธ.กสิกรไทย เงินฝากประจำดอกเบี้ยพุ่งพรวด 13 เดือน ดอกเบี้ย 7.50%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 3 = 2.00%เดือนที่ 4 – 6 = 2.50%เดือนที่ 7 – 9 = 3.25%เดือนที่ 10 – 11 = 5.75%เดือนที่ 12 – 13 = 7.50%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.827%เงื่อนไข-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท-จ่ายดอกเบี้ยเดือนที่ 3 เดือนที่ 6 เดือนที่ 9 เดือนที่ 11 และเดือนที่ 13-ผู้ฝากต้องมีบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวันอีกหนึ่งบัญชี เพื่อใช้ผูกกับบัญชีใหม่ไว้สำหรับรองรับการโอนดอกเบี้ยตามช่วงเวลาที่ครบกำหนด-ถ้าถอนเงินก่อนครบกำหนด จะได้รับดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี-ถ้าถอนเงินต้นบางส่วนก่อนครบกำหนด เงินต้นส่วนที่เหลือเมื่อฝากจนครบกำหนดยังคงได้รับดอกเบี้ยตามปกติ-----------    ธ.ไทยพาณิชย์ เงินฝากประจำดอกเบี้ยก้าวกระโดด 11 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 4 ดอกเบี้ย 2%เดือนที่ 5 – 8 ดอกเบี้ย 3%เดือนที่ 9 – 11 ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.727% ต่อปีเงื่อนไข-ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท ฝากครั้งต่อไปขั้นต่ำ 1,000 บาท-ไม่จำกัดวงเงินสูงสุด -ฝากไม่ครบ 3 เดือน ไม่ได้รับดอกเบี้ย-ฝากเกิน 3 เดือน แต่ไม่ครบ 11 เดือน จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราเดียวกับบัญชีออมทรัพย์ ------------   ธ.ทหารไทย เงินฝากประจำ Up & Up 24 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 6 = 2.00%เดือนที่ 7 -12 = 3.00%เดือนที่ 13 – 18 = 4.00%เดือนที่ 19 – 24 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย = 3.1875% ต่อปีเงื่อนไข-เปิดบัญชีครั้งแรกและการฝากครั้งต่อไปกำหนดขั้นต่ำที่ 25,000 บาท -จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนพร้อมหักภาษี ณ ที่จ่าย-ถอนเงินก่อนครบกำหนดต้องถอนเต็มจำนวนเงินของแต่ละรายการที่ฝาก คิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาฝากในเดือนที่ถอน-ถอนเงินได้เฉพาะกับสาขาที่เปิดบัญชีไว้เท่านั้น และต้องมีสมุดคู่ฝากด้วย------------------------------   ธ.ออมสิน เงินฝากประจำ 11 เดือน ดอกเบี้ย 7%อัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)เดือนที่ 1 – 3 = 2.50%เดือนที่ 4 – 6 = 3.00%เดือนที่ 7 – 9  = 3.50%เดือนที่ 10 – 11 = 7.00%อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.7273% เงื่อนไข -ฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท -คิดดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาฝาก-ฝากไม่ครบ 3 เดือน ไม่ได้รับดอกเบี้ย-ฝากครบ 3 เดือน แต่ไม่ครบ 11 เดือน คำนวณดอกเบี้ยให้ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 11 เดือน ตามระยะเวลาที่ฝากไว้จริง-ไม่สามารถถอนบางส่วนของเงินฝากแต่ละรายการได้ ให้ถอนปิดทั้งรายการฝากนั้น-ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ หรือค้ำประกันบุคคลได้--------   ความจริงในเลข 7 ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ย 7% ต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ยิ่งถ้านำไปเทียบกับดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากประจำแบบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน ที่ได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 3.75% ต่อปี (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) ยิ่งกับบัญชีออมทรัพย์ธรรมดายิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะคิดดอกเบี้ยให้แค่ปีละ 0.75% เท่านั้น  ดอกเบี้ย 7% ที่ธนาคารนำมาเป็นจุดขายยั่วใจให้เรายอมควักเงินไปนอนนิ่งๆ อยู่ที่ตู้เซฟของธนาคาร ในความเป็นจริงแล้วเรา 7% ที่ว่าอาจเป็นแค่ตัวเลขลวงตา เพราะเมื่อมาพิจารณาในเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารกำหนดไว้จะพบว่าดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจริงๆ อาจได้ไม่ถึง 7% เนื่องจากบัญชีเงินฝากที่บอกว่าจะคิดดอกเบี้ยให้เราสูงถึง 7% ต่อปีนั้น   จะใช้หลักการคิดดอกเบี้ยแบบขั้นบันได หมายถึงดอกเบี้ยจะมีการเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการฝากตามแต่ที่เงื่อนไขของบัญชีเงินฝากนั้นๆ จะกำหนดไว้ เช่น 10 เดือน หรือ 11 เดือน โดยในช่วง 3 เดือนแรก เราจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินอยู่ที่ประมาณ 2 – 3% ต่อปี   หลังจากนั้นมูลค่าของดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาของการฝาก 6 เดือน 8 เดือน จนในช่วงเดือนท้ายๆ เราถึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7% เมื่อเฉลี่ยตลอดช่วงเวลาการฝากเงินเราจะได้รับดอกเบี้ยสุทธิจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 3 – 4% เท่านั้น   ซึ่งตัวเลขนี้ก็ยังไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิจริงๆ ที่เราได้ เพราะดอกเบี้ยที่ทางธนาคารแจ้งกับเรานั้นเป็นดอกเบี้ยที่เฉลี่ยต่อปี แต่บรรดาบัญชีเงินฝากประจำให้ดอกเบี้ยสูงทั้งหลายที่แต่ละธนาคารส่งมาประชันกันนั้นถือเป็นบัญชีแบบพิเศษ คือจะเป็นการเปิดให้ฝากในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นและอายุของบัญชีที่ใช้คิดปันผลดอกเบี้ยของบางบัญชีก็ไม่ถึง 1 ปี ซึ่งนั่นก็ทำให้ตัวเลขดอกเบี้ยเฉลี่ยที่แจงไว้ก็ต้องลดลงไปอีกเมื่อถึงเวลาที่คิดยอดรวม แถมยังต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยที่ได้รับอีกด้วย ------------------------------------------------------   วิธีการคำนวณหาดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้จริงๆ จากการฝากเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง  หลายคนอาจจะคิดว่าการคำนวณหาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเป็นเรื่องยาก เห็นตัวเลขมากๆ แล้วอาจจะตาลาย แต่ความจริงแล้วการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากนั้นง่ายนิดเดียว  สูตรที่ใช้ในการคำนวณก็คือ ระยะเวลาการฝาก × อัตราดอกเบี้ย ÷ ด้วย 12 ซึ่งก็จำนวนเดือนใน 1 ปี  ตัวอย่างธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7% ระยะเวลาการฝาก 10 เดือน โดยคิดดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได แบ่งการจ่ายเป็น 3 ครั้ง ช่วงเดือนที่ 1 – 5 ให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เดือนที่ 6 – 8 ให้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี และในเดือนที่ 9 – 10 ให้ดอกเบี้ย 7% ต่อปี ถ้าสมมุติว่าเรามีเงินต้นอยู่ 10,000 บาท เราก็จะสามารถคิดดอกเบี้ยจริงด้วยการคำนวณดังต่อไปนี้ เดือนที่ 1 – 5 ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี = 2.00 คูณ 5 หาร 12 = 0.83% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ใน 5 เดือนแรกเดือนที่ 6 – 8 ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี = 3.00 คูณ 3 หาร 12 = 0.75% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ใน 3 เดือนต่อมาเดือนที่ 9 – 10 ให้ดอกเบี้ย 7.00% ต่อปี = 7.00 คูณ 2 หาร 12 = 1.16% เป็นดอกเบี้ยที่ได้ในอีก 2 เดือนต่อมา รวมฝากเงิน 10 เดือนจะได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.74% ไม่ใช่ 7% อย่างที่ธนาคารโฆษณาไว้ ------------------------------------------------------   เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเงินฝากประจำพิเศษดอกเบี้ยสูง  -ต้องดูที่ดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการฝาก อย่าเชื่อตัวเลขดอกเบี้ยที่ธนาคารเอามาโฆษณา ซึ่งดอกเบี้ยเฉลี่ยจะมีการแจ้งไว้ในเงื่อนไขรายละเอียดจากคิดดอกเบี้ยอยู่แล้ว  -เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงให้ดอกเบี้ยสูงกว่าในระยะเวลาที่สั้นกว่า ถ้าเทียบกับเงินฝากประจำทั่วไป  -แม้การฝากประจำระยะยาวจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากระยะสั้นหรือฝากแบบออมทรัพย์ แต่ก็ส่งปัญหาต่อสภาพคล่องของผู้ฝาก เพราะไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้สะดอก ถ้ามีการถอนก็จะมีการปรับลดดอกเบี้ยทันที แถมยังอาจเสียสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หากในอนาคตข้างหน้าเกิดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดก่อนถึงวันที่ครบกำหนดฝาก  -เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงฝากขั้นต่ำที่ 1 หมื่นบาท ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการฝาก ส่วนเงินฝากประจำทั่วไปดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามวงเงินฝาก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเป็นวงเงินที่สูงมากระดับหลายล้านบาท  -อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยบัญชีฝากประจำ 3 เดือนอยู่ที่ 1.50 – 3.45% ต่อปี, 6 เดือนอยู่ที่ 1.70 – 3.50% ต่อปี, 12 เดือนอยู่ที่ 1.90 -3.75% ต่อปี และ 24 เดือนอยู่ที่ 2.40 – 4.45% ต่อปี (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย)-เงินฝากประจำที่มีการแบ่งจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในรอบระยะเวลาการฝากแต่ละประเภท ถ้าผู้ฝากถอนเงินก่อนครบกำหนด โดยธนาคารได้มีการแบ่งจ่ายดอกเบี้ยไปแล้ว ธนาคารจะดำเนินการเรียกคืนดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้วคืนตามสัดส่วนที่คำนวณจากยอดเงินต้น และไม่คืนภาษีเงินที่ได้เสียไปแล้ว ------------------------------------------------------  พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก  พ.ร.บ ที่จะช่วยให้อุ่นใจว่าเงินที่เราฝากไว้มีคนคอยดูแล หากวันหนึ่งธนาคารที่เราฝากเงินไว้เกิดเรื่องไม่คาดฝันถูกปิดกิจการ เงินของเราจะได้รับการคุ้มครอง ทั้งเงินฝากประเภทออมทรัพย์ กระแสรายวัน เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับเงินฝากที่เป็นเงินบาท เฉพาะของธนาคารพาณิชย์  สำหรับวงเงินที่ได้รับการคุ้มครองตามประกาศของ พ.ร.บ. คือ11 ส.ค.53 – 10 ส.ค. 54 คุ้มครองเต็มจำนวนเงินฝาก11 ส.ค.54 – 10 ส.ค.55 คุ้มครองไม่เกินวงเงิน 50 ล้านบาท11ส.ค.55 เป็นต้นไป คุ้มครองไม่เกินวงเงิน 1 ล้านบาท  (*หลังจาก 11ส.ค.55 ถ้าหากมีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท เงินส่วนที่มาต้องรอการชดเชยจากการขายทรัพย์สินของธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ) ------------------------------------------------------ เงินฝากประเภทอื่นๆ ที่น่าสนใจ  เงินฝากทวีทรัพย์ ดอกเบี้ย 3% ต่อปี (ธ.กสิกรไทย)วงเงินฝาก 1,000 – 25,000 บาท โดยต้องฝากเงินเท่าๆ กันทุกเดือนติดต่อกัน 24 เดือน ถึงจะได้รับดอกเบี้ย 3% ต่อปี แถมยังได้ดอกเบี้ยพิเศษอีก 2.50% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ในความพยายามที่สามารถฝากมาจนครบ 2 ปี แต่ถ้าขาดฝากแค่ 1 งวด ก็จะถูกปรับให้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% ต่อปี)  เงินออมปลอดภาษี ดอกเบี้ย 3.35% ต่อปี (ธ.นครหลวงไทย)ข้อดีคือไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ต้องทำตามเงื่อนไขคือ ฝากเงินจำนวนเท่าๆ กัน ติดต่อกันทุกเดือน นาน 24 เดือน หรือ 36 เดือน โดยถ้าฝากครบตามกำหนดจะมีโบนัสดอกเบี้ยเพิ่มให้ ฝาก 24 เดือนจะได้ดอกเบี้ยเพิ่มอีก 5% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ส่วน 36 เดือนจะได้เพิ่มอีก 6 % ของดอกเบี้ยที่ได้รับ สำหรับวงเงินในการฝากกำหนดไว้ที่ 500 – 600,000 บาท แต่ถ้าฝากช้าเกิน 2 ครั้งจะถูกตัดสิทธิการเป็นบัญชีปลอดภาษี และห้ามถอนเงินจนกว่าจะครบกำหนดฝาก  เงินฝากไม่ประจำ ทีเอ็มบี ดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี (ธ.ทหารไทย)ไม่จำกัดวงเงินในการฝาก จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง แต่ว่ามีข้อห้ามหลายอย่าง ทั้งไม่สามารถใช้บัตร ATM หรือบัตรเดบิตไม่ได้ ใช้ชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ได้ แถมถ้าถอนเงิน โอนเงินที่เคาน์เตอร์ของธนาคารมากกว่า 2 ครั้งใน 1 เดือน ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายการละ 50 บาท แต่ทำผ่านระบบออนไลน์ไม่เสียค่าธรรมเนียม   ออมทรัพย์ฟรีค่าธรรมเนียม  ดอกเบี้ย 0.75% ต่อปี (ธ.ทหารไทย)บัญชีเงินฝากประเภทนี้แม้จะให้ดอกเบี้ยเท่ากับบัญชีออมทรัพย์ทั่วๆ ไป แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่สามารถใช้ทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ทำให้สามารถช่วยประหยัดเงินในบัญชีได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมผ่านเครื่อง ATM ผ่านะระบบอินเตอร์เน็ท ผู้ถือบัญชีนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าธรรมเนียมจากการผ่อนซื้อสินค้าโดยการหักบัญชี และค่ารักษาบัญชี แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่าต้องมีเงินอยู่ในบัญชีไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาท ไม่งั้นจะถูกหักค่าธรรมเนียมเดือนละ 50 บาท (อ้าว!ไหนว่าฟรีค่าธรรมเนียม)-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  ***หมายเหตุ: อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่ระบุในบทความ มาจากประกาศล่าสุดของแต่ละธนาคารในเดือน กรกฎาคม 2554 ตัวเลขอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามประกาศอื่นๆ ในอนาคต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ความคิดเห็น (0)