ฉบับที่ 152 พลุและดอกไม้ไฟ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

พอใกล้ช่วงลอยกระทงทีไรเราก็มักจะได้ยินข่าวเรื่องการขอความร่วมมืองดเว้นการเล่นพลุเล่นดอกไม้ไฟ สาเหตุก็เพราะบ่อยครั้งที่ได้ยินข่าวบรรดาพลุหรือดอกไม้ไฟนำมาซึ่งอุบัติเหตุแบบคาดไม่ถึง รุนแรงมากบ้างน้อยบ้าง หลายครั้งที่มันนำไปสู่การสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเสียทรัพย์หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ที่สำคัญคือคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นพลุเล่นดอกไม้ไฟส่วนใหญ่ ก็คือ เด็กๆ ที่มักเล่นสนุกจนมองข้ามอันตราย

คำถามที่ตามมา คือ ในเมื่อพลุและดอกไม้ไฟเป็นสินค้าอันตราย แล้วการควบคุมการขาย การนำมาใช้นั้นได้มีการทำอย่างถูกต้องเข้มงวดแล้วหรือยัง ลองมาหาด้วยกันว่าบ้านเรามีวิธีจัดการกับปัญหาเรื่องอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟมากน้อยขนาดไหน

เจ็บ – ตาย เพราะพลุและดอกไม้ไฟ

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานการณ์การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2554 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,587 ราย เฉลี่ยปีละ 517.4 ราย โดยเป็นผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 6 ราย ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยแยกเป็นแต่ละปีพบว่ามีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุพลุ ดอกไม้ไฟ มีแนวโน้มสูงขึ้น จากในปี จากจำนวน 364 ราย ในปี พ.ศ. 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 642 ราย ในปี พ.ศ. 2554 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.76 เท่า

อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุพลุและดอกไม้ไฟ อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน มากที่สุดคือช่วงอายุ  10-14 ปี ร้อยละ 23.83 รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 14.48 และกลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 14.33

 

ชนิดของพลุและดอกไม้ไฟ

พลุและดอกไม้ไฟที่จำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งประเภทที่จุดแล้วทำให้เกิดแสงสว่าง และชนิดที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง แต่โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งประเภทของพลุและดอกไม้ไฟได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.พลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็ก หรือ แบบทั่วไป (Consumer Fireworks) ใช้เล่นเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แสงหรือเสียงที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการเผาไหม้ พลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็กจะมีปริมาณของส่วนผสมที่เป็นวัตถุระเบิดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อชิ้นสำหรับพลุและดอกไม้ไฟที่เล่นบนพื้นดิน และไม่เกิน 130 มิลลิกรัม สำหรับพลุและดอกไม้ไฟที่เล่นในอากาศ ตัวอย่างพลุและดอกไม้ไฟขนาดเล็กมีอย่างเช่น ประทัด ไฟเย็น พลุขนาดเล็ก กระจับ กระเทียม เป็นต้น

2.พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ หรือ แบบพิเศษ (Display Fireworks) พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่นิยมใช้กับงานแสดงในที่กว้าง โล่งแจ้ง ผู้ใช้จะต้องมีความชำนาญ ได้รับการฝึกอบรมในการใช้งานมาเป็นอย่างดี เพราะมีการระเบิดเผาไหม้ที่รุนแรงกว่า ที่สำคัญคือใช้ส่วนผสมของวัตถุระเบิดมากกว่า ตัวอย่างของพลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ ได้แก่ พลุและดอกไม้ไฟขนาดใหญ่ที่นิยมยิงขึ้นฟ้าสร้างภาพและสีสันต่างๆ

 

อันตรายที่มักเกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ

  • อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด

อุบัติเหตุที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟที่นำมาซึ่งความสูญเสียมากที่สุด ก็คืออุบัติเหตุที่เกิดจากการระเบิดของพลุและดอกไม้ไฟ โดยเฉพาะกับการระเบิดที่เกิดขึ้นภายในโรงงานที่ผลิต ซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุดิบที่เอื้อต่อการเกิดการระเบิดที่รุนแรง บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟเกิดการระเบิด ซึ่งมักเป็นเหตุการณ์รุนแรง แถมยังมีสิ่งที่ตามมาหลังการระเบิด ทั้งการเกิดเพลิงไหม้ และการรั่วซึมของสารเคมีที่เป็นอันตราย

นอกจากนี้สาเหตุของการระเบิดและไฟไหม้อาจไม่ได้เกิดจากความไม่ได้มาตรฐานของโรงงานที่ผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดจากความประมาทของผู้ที่ซื้อพลุไปจุดเล่นแล้วไม่ระมัดระวัง พลุหรือดอกไม้ไฟที่จุดไปตกยังบริเวณที่เสียงต่อการติดไฟทำให้ไฟเกิดลุกไหม้

อีกหนึ่งอุบัติเหตุจากพลุและดอกไม้ไฟที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ก็คือการที่ผู้เล่นซึ่งมักเป็นเด็กและเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการจุดพลุและดอกไม้ไฟ ซึ่งมีไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นมือ นิ้วมือ แขน หรือ แม้แต่ดวงตา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท ความคึกคะนอง ซึ่งการป้องกัน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสอดส่องดูแล ไม่ควรให้เด็กเล่นวัตถุอันตรายอย่างพลุเด็ดขาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องการขายก็ต้องควบคุมดูแลให้การขายพลุและดอกไม้ไฟเป็นไปตามกฎ

 

  • อันตรายจากการได้รับสารเคมี

เพราะส่วนประกอบหลักของพลุและดอกไม้ไฟเกิดจากการผสมกันของสารเคมีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต ที่มีผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจส่วนบน, สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน จะทำให้เกิดอาการตาแดง ผิวหนังอักเสบ หายใจขัด เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ, สารโปตัสเซียมไนเตรต หากสัมผัสถูกสารจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และเยื่อบุผิวหนัง ถ้ากลืนกินเข้าไปจะทำให้คลื่นไส้ ท้องเสีย และกล้ามเนื้ออ่อนแรง, สารแบเรียมไนเตรต เป็นสารที่

มีพิษมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหู ตา จมูก และผิวหนัง สารนี้มีผลทำลายตับ ม้าม และยังทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งอย่างที่เราได้รับทราบในข่าว เวลาที่เกิดการระเบิดของโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ จะมีการอพยพชาวบ้านที่อยู่ในละแวกที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ เพื่อหลีกหนีอันตรายจากสารเคมีต่างๆ ที่อาจรั่วซึมออกมาพร้อมการระเบิด

 

  • อันตรายการได้รับเสียงดัง

มีข้อมูลจากกรมอนามัย เรื่องความดังของเสียงระเบิดจากพลุและดอกไม้ไฟมีระดับเสียงกระแทกสูงถึง 130 เดซิเบล เอ (เดซิเบล เอ dB(A) คือ สเกลของเครื่องวัดเสียงที่สร้างเลียนแบบลักษณะการทำงานของหูมนุษย์ โดยจะกรองเอาความถี่ต่ำ และความถี่สูงของเสียงที่เกินกว่ามนุษย์จะได้ยินออกไป) ที่ระยะห่างจากจุดกำเนิด 5 เมตร ซึ่งสูงเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 85 เดชิเบล เอ การที่หูของเราได้รับเสียงที่มีความดังเกินกว่า 130 เดซิเบล เอ มีผลทำให้เราเกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากต้องได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการหูตึงถาวร นอกจากนี้เสียงที่ดังมากๆ ก็มีผลต่อเรื่องของสุขภาพจิต ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งมีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต

 

  • อันตรายจากความร้อน

พลุและดอกไม้ไฟใช้การจุดระเบิดเป็นตัวทำปฏิกิริยา ซึ่งการจุดไฟสิ่งที่ตามด้วยเสมอก็คือความร้อน หลายคนหลงเพลิดเพลินกับประกายสะเก็ดไฟที่สวยงาม จนลืมนึกถึงความร้อนของสะเก็ดไฟเหล่านั้น ซึ่งเป็นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก ตัวอย่างพลุที่ชื่อเรียกว่า ไฟเย็น ซึ่งเป็นที่นิยมมาก หลายๆ คนน่ารู้จักกันดี แม้จะชื่อไฟเย็นแต่เวลาที่จุดจะมีอุณหภูมิความร้อนสูงสุดถึง 900 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความร้อนในระดับที่สามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้หากไปสัมผัสถูก

 

11 ข้อห้าม!!! ป้องกันอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ

1.ห้ามให้เด็กๆ เล่นพลุและดอกไม้ไฟ หรือควรต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่

2.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟ ที่ซื้อจากร้านค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ  สินค้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เก่า และไม่มีฉลากภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจน

3.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟ ถ้ายังไม่ได้อ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้ คำเตือน

4. ห้ามจุดดอกไม้ไฟที่เสื่อมสภาพหรือดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วแต่ยังไม่ระเบิด(ไม่ทำงาน) เพราะพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด

5.ห้ามจุดพลุและดอกไม้ไฟ ถ้ายังไม่ได้เตรียมกระป๋องหรือถังใส่น้ำไว้ใกล้บริเวณที่จะจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

6.ห้ามเข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วหรือดอกไม้เพลิงที่ยังดับไม่สนิท

7.ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ หากไม่อยู่ในระยะที่ปลอดภัย คือ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน

8.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงพลุหรือดอกไม้ไฟไว้เล่นเองโดยเด็ดขาด

9.ห้ามเก็บพลุและดอกไม้ไฟไว้ในบ้าน หากต้องเก็บควรเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฝามิดชิด สถานที่เก็บควรเป็นที่แห้งและมีอากาศเย็น

10.ห้ามจุดพลุหรือดอกไม้ไฟ ในพื้นที่โล่งแจ้ง บริเวณที่มีหญ้าแห้งหรือบริเวณที่เป็นสนามหญ้า เพราะหญ้าเหล่านั้นสามารถลุกติดไฟได้ หลีกเลี่ยงบริเวณอาคารบ้านเรือน หรือแหล่งที่มีวัสดุที่ติดไฟง่าย พวก ก๊าซ น้ำมัน หรือเชื้อเพลิง

11.ห้ามเล่นพลุและดอกไม้ไฟโดยเด็ดขาด หากไม่จำเป็น

 

กฎหมายที่ทำหน้าที่ควบคุมการซื้อ-ขายและการใช้พลุและดอกไม้ไฟ

  • พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

ที่ให้อำนาจนายทะเบียนท้องที่แต่ละท้องที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตในการขาย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่นายทะเบียนท้องที่ยังมีสิทธิในการออกข้อกำหนดหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดจากพลุและดอกไม้ไฟ เช่น การกำหนดปริมาณน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดในสินค้าพลุและดอกไม้ไฟรวมทั้งหมดที่มีอยู่ในร้าน อย่างเช่น กำหนดให้มีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดรวมไม่เกิน 50 กิโลกรัม กำหนดเวลาปิดเปิดของร้านค้าพลุและดอกไม้ไฟ กำหนดให้ภายในร้านต้องมีลักษณะที่เหมาะสม  มีอากาศถ่ายเทดี มีอุปกรณ์ดับเพลิง ไม่จำหน่าย พลุและดอกไม้ไฟ รวมกับสินค้าอื่นที่ติดไฟง่าย อย่าง เชื้อเพลิง ก๊าซ น้ำมัน ไม้ขีดไฟ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ทำผิดมีสิทธิถูกบทลงโทษ ทั้งจำทั้งปรับ

 

  • พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

พลุ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง ถือเป็นวัตถุอันตราย ตามคำจำกัดความที่บอกว่าวัตถุอันตรายหมายถึง วัตถุไวไฟ และ วัตถุระเบิดได้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสินค้าที่ถูกผลิต นำเข้า และจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด โดยจะมีคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมตำรวจ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี ฯลฯ หน้าที่หลักๆ ของคณะกรรมการชุดนี้คือ ให้คำแนะนำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการรับขึ้นทะเบียน หรือเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตราย แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับวัตถุอันตรายให้ประชาชนได้ทราบ รวมถึงพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากวัตถุอันตราย

 

พลุ ดอกไม้ไฟ เป็นสินค้าควบคุมฉลาก

หนึ่งในความพยายามที่จะลดและป้องกันอันตรายจากพลุและดอกไม้ไฟ ก็คือการกำหนดให้ ดอกไม้ไฟ หรือ ดอกไม้เพลิง ซึ่งนิยามตามประกาศหมายรวมถึง พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใดอันมี สภาพคล้ายคลึงกัน เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ซึ่งสิ่งที่ดอกไม้ไฟต้องแสดงไว้บนฉลากเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค นอกจากรายละเอียดสำคัญพื้นฐานอย่าง

-ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า

-สถานที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้ขาย

-ปริมาณ ขนาด หรือน้ำหนักของสินค้า

-วิธีใช้

-ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้

-คำเตือน

-วันเดือนปีที่ผลิต

-ราคา

ตามข้อกำหนดในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 แล้ว ยังต้องมีการแสดงข้อมูลเฉพาะที่ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 36 พ.ศ. 2556 เรื่อง ให้ดอกไม้เพลิงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยรายละเอียดข้อมูลที่ต้องมีบนฉลากสินค้าดอกไม้ไฟ มีดังนี้

1. ผู้เล่นดอกไม้เพลิงที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของผู้ใหญ่

2. ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก

3. ไม่ควรเก็บรักษาไว้ในที่มีอุณหภูมิสูง

4. ไม่ควรจุดไฟใหม่ หากจุดชนวนแล้วไม่ติด

5. ควรเล่นในที่โล่งกว้าง ห่างไกลจากวัตถุไวไฟ

นอกจากนี้ยังต้องมีคำเตือน ที่ระบุว่า “อันตรายอาจถึงตายหรือพิการหากเล่นไม่ถูกวิธี หรือคึกคะนอง” โดยข้อความที่เป็นคำเตือนต้องใช้ตัวอักษรเส้นทึบขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความต้องตัดกับสีพื้นของฉลาก

ซึ่งประกาศฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป

 

โดยใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้มีการระบุโทษของผู้ที่จำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟ ดอกไม้เพลิง ที่ไม่มีฉลาก หรือมีฉลากไม่ถูกต้อง มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เล่นพลุไม่ระวัง ทำคนอื่นเดือดร้อน มีสิทธินอนคุก

อันตรายจากการเล่นพลุและดอกไม้ด้วยความประมาทจนนำไปสู่อุบัติเหตุนั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับตัวเองแล้ว ใครที่เล่นพลุและดอกไม้ไฟแล้วไปสร้างความเสียหายเดือนร้อนให้กับคนอื่นๆ ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เรื่องความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของ ตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท และยิ่งถ้าหากรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 224 มิสิทธิโดนลงโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต

 

ข่าวพลุระเบิด เมื่อไรจะเงียบเสียง

14 ส.ค.49

รถเทรลเลอร์บรรทุกดอกไม้ไฟนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย มายังจังหวัดสงขลา ได้เกิดระเบิดขึ้นขณะขนถ่ายเข้าเก็บภายในโกดัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย ซึ่งการระเบิดขึ้นมีความรุนแรงมาก เนื่องจากพลุที่เริ่มระเบิดภายในรถเทรลเลอร์ได้ลุกลามไปยังพลุและดอกไม้ไฟที่อยู่ในโกดัง ทำให้การระเบิดขยายวงกว้างขึ้น

31 ธ.ค.53

ดารานายแบบชื่อดัง ''สมเจตน์ สะอาด'' เสียชีวิตจากการถูกพลุระเบิดใส่เข้าที่ใบหน้า สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุจากการที่ตัวนายแบบตั้งใจจะเข้าไปดับพลุที่เตรียมไว้เพื่อจุดในงานส่งท้ายปีเก่า ซึ่งเกิดติดขึ้นมาก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้ ระหว่างที่เห็นพลุเกิดมีควันลอยออกมานายแบบหนุ่มตั้งใจก้มลงไปที่พลุเพื่อดับชนวน พลุก็เกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด  ลูกไฟจากแรงระเบิดกระแทกเข้าใบหน้าของนายแบบหนุ่ม ทำให้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

17 ม.ค.54

ที่จังหวัดอยุธยา เกิดเหตุระเบิดจากพลุและดอกไม้ไฟ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย สาเหตุเกิดจากบ้านหลังดังกล่าวลักลอบผลิตพลุและดอกไม้ไฟอย่างผิดกฎหมาย แรงระเบิดยังทำให้บ้านอีก 4 หลังรอบๆ ที่เกิดเหตุ ได้รับความเสียหายพังราบเป็นหน้ากลอง

24 ม.ค. 55

งานตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์ ณ อุทยานมังกรสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดเหตุดอกไม้ไฟระเบิด ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากพลุและดอกไม้ไฟที่สร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประเทศไทย สาเหตุจากพลุและดอกไม้ไฟจำนวนมากที่ถูกเตรียมไว้แสดงในงานเกิดระเบิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย บาดเจ็บมากกว่า 70 ราย มีบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้รุนแรงถึงขั้นไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 50 ครอบครัว

27 ส.ค.56

ถังเก็บดินระเบิดที่ผสมแล้วของโรงงานทำพลุซึ่งมีเจ้าของเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ทั้งโรงงานผลิตพลุ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และบ้านเรือนใกล้เคียงอีก 3 หลัง ได้รับความเสียหาย โรงงานพลุแห่งนี้ ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มีการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

9 มิ.ย.56

โรงงานผลิตพลุ ในตำบลสวนแตง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เกิดเหตุระเบิดรุนแรง จนทำให้โกดังเก็บพลุจำนวน 6 หลัง บ้านพัก และรถยนต์ 4 คันที่อยู่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ถูกแรงระเบิดได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยจำนวนพลุทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้ในโกดังมีมากกว่า 700 ลูก ที่น่าคิดคือโกดังแห่งนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับยึดพลุที่อยู่ในโกดังมาแล้วเมื่อปี 54 เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย แต่ก็ยังมาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในที่สุด

22 ต.ค. 56

เกิดเหตุโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุคาดว่าเกิดจากประกายไฟจากการก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียง กระเด็นมาติดกับพลุและดอกไม้ไฟ ที่ถูกเก็บไว้ในโกดัง เพื่อเตรียมจำหน่ายช่วงวันลอยกระทง เป็นผลให้เกิดการระเบิดขึ้น ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 5 คน


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ พลุ ดอกไม้ไฟ อันตราย

ฉบับที่ 265 ค่าแรงขั้นต่ำ คุณภาพชีวิตต่ำ กับข้อถกเถียงเรื่อง ‘เซอร์วิสชาร์จ’

        'การมีจิตใจบริการ' หรือ 'service mind' เป็นภาพลักษณ์หนึ่งที่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตมาหลายทศวรรษ        'คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ' เป็นภาพลักษณ์เชิดชูความเป็นไทยแบบเหมารวมและยากพิสูจน์ที่ถูกเชื่อว่าหนุนหลังให้เกิด service mind แง่มุมอันงดงามเรื่องน้ำใจที่มีแง่คมต่อการขูดรีดแรงงาน        ก่อนหน้านี้เกิดประเด็นเรื่อง 'เซอร์วิสชาร์จ' ว่าเก็บได้หรือไม่ได้ ถ้าจะเก็บต้องทำอย่างไร ผู้บริโภคไม่จ่ายได้หรือไม่ ฯลฯ เรื่องนี้มีตำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนในทางกฎหมาย ซึ่งเราจะรวบตึงมามัดไว้ด้วยกันให้ผู้บริโภคได้ทำความเข้าใจ         นอกเหนือจากนี้ จะชวนไปฟังความเห็นของเจ้าของร้านอาหารที่ผูกพ่วงตำแหน่งนายกสมาคมการท่องเที่ยว และจะชวนไปฟังเสียงบาริสต้าจากสหภาพแรงงานบาริสต้า คนทำงานบริการตัวเป็นๆ ผู้ไร้สุ้มเสียงจากข้อถกเถียงที่พวกเขาไม่ควรถูกทำให้เงียบ เก็บได้ แต่ต้องชัดเจน         ก่อนที่งานบริการจะค่อยๆ ถูกยกมาตรฐานวิชาชีพและองค์ความรู้ตามสายงานอันหลากหลายเช่นปัจจุบัน ในสังคมอเมริกันงานบริการอย่างงานเสิร์ฟอาหารเคยเป็นงานขั้นต่ำสุดที่คนหลีกเลี่ยง แต่มันก็เป็นงานที่จำเป็นต้องมีใครสักคนรับหน้าที่ เซอร์วิสชาร์จจึงเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานและยังมีบทบาทถึงปัจจุบัน         แล้วเซอร์วิสชาร์จเก็บได้ไหม? เอาตรงนี้ก่อน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ออกมาให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการสามารถคิดค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าอาหารตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ.2565 ข้อ 9 ได้ เซอร์วิสชาร์จนับเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามประกาศ         กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดอีกว่า หากผู้ประกอบการจะคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จำเป็นต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนและครบถ้วนโดยแสดงควบคู่กับราคาอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคทราบประกอบการตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่ อันเป็นสิทธิของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 4 ที่ระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย        1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ        2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ        3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ        4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ        5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา และชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตาม ข้อ -4         และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรแจ้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นไว้บริเวณหน้าร้านค้า มีกำหนดราคาที่เหมาะสมตามสมควร หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศฉบับนี้ ผู้บริโภคอาจปฏิเสธไม่ชำระค่าใช้จ่ายอื่นและสามารถร้องทุกข์ต่อกรมการค้าภายในได้ ทางเลือกของผู้บริโภค         สรุปว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถึงกระนั้นก็มีร้านอาหารบางแห่งเลือกที่จะไม่เก็บ             พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่และเจ้าของร้านอาหารเป็นลาวซึ่งไม่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จให้เหตุผลว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จจะมาพร้อมกับความคาดหวังของลูกค้าต่อมาตรฐานการบริการ ขณะที่ร้านเป็นลาวมีนโยบายและรูปแบบการบริการที่เน้นความเป็นกันเอง         “เราอยากรู้สึกเป็นเพื่อนกับลูกค้ามากกว่า แต่ถ้าในอนาคตเราต้องอยู่ในห้าง ต้องเป็นระบบ อันนั้นก็ไม่แน่ ต้องพิจารณากันอีกที แต่โดยส่วนตัวพบว่าสำหรับร้านเราไม่มีนโยบายเพราะเรารู้ว่าเราอาจบริการไม่ดีและก็ไม่อยากให้ลูกค้าคาดหวัง รู้สึกว่าจ่ายแล้วไม่คุ้มค่า” พันชนะยังอธิบายต่ออีกว่า         ในเมืองไทยการเก็บเซอร์วิสชาร์จเกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมโรงแรม มันเป็นแรงจูงใจให้แก่พนักงานที่แม้ว่าฐานเงินเดือนจะต่ำ แต่ได้รับค่าเซอร์วิสชาร์จจากการเข้ามาใช้บริการของแขกเป็นสิ่งชดเชย เมื่อมองในแง่การบริหารต้นทุน มันทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไม่สูงจนเกินไป เซอร์วิสชาร์จจึงมีหน้าที่ของมันในระบบนิเวศของธุรกิจ         เมื่อถามเธอในฐานะนายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ เธอเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นนโยบายของแต่ละร้านที่จะเลือกเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ เพราะร้านอาหารในเขาใหญ่เองมีความหลากหลาย ตั้งแต่สตรีทฟู้ดถึงแบบ fine dining ที่มีมาตรฐานการบริการขั้นสูง การกำหนดว่าต้องเก็บหรือไม่เก็บอาจไม่สอดคล้องกับสภาพของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ พันชนะบอกว่ามีร้านอาหารไม่ถึงร้อยละ 30 ในเขาใหญ่ที่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ และควรปล่อยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกว่าต้องการระดับการบริการแบบไหน เก็บได้ แต่ต้องเป็นของพนักงาน         ถามย้อนกลับมาฝั่งผู้บริโภคบ้างว่ายินดีจ่ายหรือไม่ ตามทัศนะของ พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ เจ้าของเพจกินกับพีท และพุธิตา ปราบ เจ้าของเพจ Wander Girls ทั้งคู่เป็นเพจรีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ สปา เห็นว่าทางร้านสามารถเก็บเซอร์วิสชาร์จได้         “ถ้าถามในมุมผู้ประกอบการคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรมี” พีรพัฒน์อธิบาย “เป็นกำลังใจให้พนักงาน แต่ประเด็นคือการจะมีสิทธิตรงนี้ ทางผู้ประกอบการเองก็น่าจะต้องคอยหมั่นเทรนพนักงานให้มีมาตรฐานที่ดีในการบริการลูกค้า ทั้งในส่วนหน้าร้านและในครัว เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”         ส่วนพุธิตามีจุดยืนว่า service charge ควรต้องมี         “เซอร์วิสชาร์จควรจะเป็นการเอาไปหารระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ด้วยค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยคนทำงานในสายงานพวกนี้ไม่ได้เงินเดือนสูงอยู่แล้ว บวกกับวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนอเมริกาที่ทิปหนัก เซอร์วิสชาร์จยังจำเป็นอยู่เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น มันก็มีกฎหมายไม่ให้เซอร์วิสชาร์จเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ได้แรงมาก คิดว่ามันเล็กน้อยมากกับสิ่งที่เขาต้องทำงานให้เรา”         แต่เมื่อเก็บเซอร์วิสชาร์จ การบริการก็ควรต้องมีมาตรฐานในระดับหนึ่ง พีรพัฒน์กล่าวว่าผู้ประกอบการต้องจัดอบรมพนักงานด้านมาตรฐานการให้บริการ ขณะที่พุธิตามองต่างเล็กน้อยว่า บริการดีหรือไม่ดี ค่อนข้างเป็นเรื่องอัตวิสัย แต่ละคนมีความคาดหวังต่างกัน การให้บริการตามที่เป็นอยู่จึงถือว่าเพียงพอ หากร้านไหนบริการแย่จริงๆ ก็มีการโซเชียล แซ็งชั่นอยู่แล้วในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำกับร้านอาหารให้ต้องรักษาคุณภาพบริการ        ประเด็นที่ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันคือเซอร์วิสชาร์จควรเป็นของพนักงาน ไม่ใช่ผู้ประกอบการ        พีรพัฒน์ กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่าเจอหลายที่ที่เอาสิบเปอร์เซ็นต์นี้เก็บเข้าตัวเอง พนักงานไม่ได้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูอย่างชัดเจนว่าลูกน้องได้หรือเจ้าของเก็บ ผมมองว่าควรลงที่พนักงานเต็มๆ มากกว่า” ในมุมคนทำงานคุ้มครองสิทธิ         อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเซอร์วิสชาร์จที่อยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องเก็บเท่าไหร่ ระบุเพียงว่าต้อง ‘เหมาะสม’ ซึ่งโดยปกติที่เก็บกันทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 10 ของค่าอาหารในแต่ละครั้ง         จุดนี้เอง นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย https://www.bbc.com/thai/articles/cx808jy8g3qo ว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จในไทยไม่มีมาตรฐานอ้างอิง ผู้บริโภคไม่รู้ว่าที่เก็บไปร้อยละ 10 ของราคาคิดจากอะไร ซึ่งทางมูลนิธิเคยหารือเรื่องนี้กับ สคบ. และกรมการค้าภายใน แต่ก็ไม่มีระเบียบหรือมาตรฐานกำหนดไว้ บอกเพียงว่าเก็บได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ ติดป้ายหน้าร้านเพื่อให้คนที่จะเข้ามากินเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเธอกล่าวว่าไม่ค่อยพบเห็นร้านที่ติดป้ายบอกว่ามีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ        นฤมลตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องค่าทิปและเซอร์วิสชาร์จอย่างจริงจัง เช่น เงินส่วนนี้คิดเป็นมูลค่าเท่าไรของรายได้ของธุรกิจค้าปลีกและบริการของไทย อ้างอิงจากมาตรฐานอะไร หรือเซอร์วิสชาร์จตกถึงมือพนักงานหรือไม่         ถึงตรงนี้เราจะเห็นร่องรอยสำคัญบางอย่างที่ขาดหายไปในการถกเถียงเรื่องเซอร์วิสชาร์จ นั่นก็คือเหล่าพนักงานบริการซึ่งสุ่มเสี่ยงจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง         จิตใจบริการหรือจิตวิญญาณของความเป็นทาส?        เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและคาเฟ่ จากการเปิดเผยของ เริงฤทธิ์ ลออกิจ บาริสต้าและสมาชิกสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ทำให้รู้ว่ายังมีพนักงานบริการที่ไม่ได้รับค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ         เขาให้ข้อมูลอีกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ที่ประกาศใช้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 คือ 340 บาทต่อวันหรือ 10,200 บาทต่อเดือน ที่ได้มากกว่านี้อาจอยู่ที่ประมาณ 11,000-12,000 บาท มันเป็นรายได้ที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสนับสนุนให้มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ         “มุมมองต่อลูกค้าจากแรงงานอย่างเรา เมื่อก่อนหนักมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่คือการเปรียบลูกค้าเป็นพระเจ้า ทำให้ทุกบริการของแรงงานเป็นบริการพิเศษ ไม่ใช่แค่ผมไปเสิร์ฟ แต่ผมต้องยิ้มแย้ม ที่จริงผมไม่ต้องยิ้มก็ได้ งานผมแค่เสิร์ฟ แต่ในไทยไม่ได้ เราต้องมีเซอร์วิสไมด์ วันนี้จะมีปัญหาอะไรก็ตาม ต้องยิ้ม พอนิยามว่าลูกค้าคือพระเจ้า เราแทบจะบริการลูกค้าเต็มที่อยู่แล้ว เพิ่มด้วย                 “เวลามีคนมารีวิวร้านผมว่าบริการดี เป็นมิตร ผมก็จะบอกกับเพื่อนคนทำงานด้วยกันว่า ใช่สิ เพราะใส่จิตวิญญาณของความเป็นทาสลงในบริการนั้นด้วย แบบนี้ควรจะได้มั้ย แต่มันก็เป็นงานประจำของคุณอยู่แล้ว นั่นไง แล้วมันต้องพิเศษขนาดไหน” เริงฤทธิ์ตั้งคำถามกฎหมายคลุมเครือเปิดช่องนายจ้างฮุบเงินเซอร์วิสชาร์จ        กฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบเก็บเซอร์วิสชาร์จได้และนับเป็นรายได้ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องจัดการอย่างไรกับเซอร์วิสชาร์จ ต้องให้พนักงานหรือไม่ ต้องให้ในสัดส่วนเท่าไหร่ ช่องว่างนี้กลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเก็บเซอร์วิสชาร์จเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของตนโดยไม่แบ่งให้พนักงานตามที่พีรพัฒน์เล่า               “กฎหมายให้ไปตกลงกันเอง คิดว่านายจ้างกับลูกจ้างใครมีอำนาจการตัดสินใจมากกว่ากัน ไม่มีหลักประกันว่านายจ้างให้เท่านี้สมเหตุสมผลแล้ว พอไม่มีหลักประกัน แรงงานไม่กล้ามีปากเสียงในเรื่องเซอร์วิสชาร์จที่จะได้แต่ละเดือน ก็ต้องรอความอนุเคราะห์ของนายจ้าง อะไรคือหลักประกันของคนทำงานภาคบริการว่านายจ้างจะให้ ไม่มี มีนายจ้างฮุบเซอร์วิสชาร์จ แล้วเราจะพิทักษ์สิทธิ์ของตนได้ยังไงในเมื่อกฎหมายยังคลุมเครือ” เริงฤทธิ์อธิบาย         แม้กฎหมายจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการใช้ดุลพินิจเองว่าจะเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ แต่ถ้าธุรกิจใดเลือกจะเก็บ เริงฤทธิ์ก็เรียกร้องให้ต้องมีกฎหมายระบุชัดเจนลงไปว่าเงินที่ได้จากเซอร์วิสชาร์จต้องถูกนำมาแบ่งให้พนักงานทุกคนเท่าๆ กัน         ฟังดูสมเหตุสมผลที่จะเป็นเช่นนั้น พุธิตา กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         “ส่วนตัวรับไม่ได้ เซอร์วิสชาร์จเราเต็มใจจ่ายให้พนักงานที่มาดูแลเรา ถ้าเขาเก็บเข้าร้าน อันนี้ไม่ถูกต้อง แสดงว่ามันไม่ใช่ค่าอาหารที่แท้จริง แอบเสียบในเซอร์วิสชาร์จ ถ้าคุณจะเก็บเข้ากำไร คุณต้องใส่ในค่าอาหาร ในฐานะผู้บริโภค เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์ว่าเวลาบริจาคไปตรวจสอบได้มากแค่ไหน อันนี้ก็เหมือนกัน เราพร้อมจ่ายเซอร์วิสชาร์จ แต่มันไปถึงคนที่เราอยากจะจ่ายให้จริงๆ หรือเปล่า ถ้ามันไม่ถึง เราทิปให้ยังจะง่ายกว่าอีก แต่ประเทศไทยมันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบได้เลย ตอนที่มีดราม่าก็เคยลองอ่านดู มันมีบางคนที่ไม่ได้จริงๆ” ค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี         เหมือนเป็นประโยคแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือเพราะค่าแรงต่ำ เซอร์วิสชาร์จจึงต้องมี ดังนั้น ถ้าค่าแรงสูง เซอร์วิสชาร์จก็ไม่จำเป็น จริงๆ แล้วไม่ใช่ประโยคแบบมีเงื่อนไข เซอร์วิสชาร์จควรเรียกเก็บเป็นปกติเพื่อให้แก่การบริการของพนักงาน เป็นสิ่งที่เริงฤทธิ์และพุธิตาเห็นสอดคล้องกัน         เมืองไทยค่าแรงขั้นต่ำถูกนิยามว่าเป็นค่าตอบแทนที่คนทำงานได้รับซึ่งเพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงานคนนั้นเพียงคนเดียว แต่ค่าแรงขั้นต่ำตามนิยามสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ค่าแรงขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการยังชีพตามอัตภาพของคนงาน รวมถึงภรรยาและบุตรอีก 2 คน เห็นได้ชัดว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยห่างไกลจากหลักการสากลไปมาก         ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เป็นต้น ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่ใช้หลักการเจรจาร่วมระหว่างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและนายจ้าง ซึ่งต่างจากไทยที่นายจ้างเข้มแข็งมาก ส่วนสหภาพแรงงานอ่อนแอ         เหตุนี้ เงื่อนไขเดียวที่เริงฤทธิ์ยอมรับได้ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จคือ         “ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จ คุณต้องทำให้แรงงานมีอำนาจที่จะรวมตัวและต่อรองขึ้นค่าแรงของตนเองได้โดยอิสระ”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 264 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอน 2

        ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างคดีฟ้องปิดปาก อย่างลงลึกมากขึ้นคือ คดีหมายเลขดำที่  723/2565 โดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์                   เรื่องราวของคดีนี้เริ่มต้นในช่วงปี 2562 ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสหนึ่งที่สังคมจับตาให้ความสนใจอย่างมาก คือ การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในการเกษตรคือ  พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2562 ปรับให้ทั้ง 3 สาร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกและห้ามใช้         ภายหลังมีมติดังกล่าวยิ่งทำให้สังคมให้ความสนใจ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีจึงได้รับเชิญให้ไปแสดงความเห็นในสถานีวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ เป็นจำนวน ทั้งยังใช้เพจเฟซบุ๊กรณรงค์ ให้ความเข้าใจแก่สังคมเรื่องอันตรายของทั้ง  3 สารเคมี  ในระหว่างนี้เขาได้แชร์โพสต์ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยที่มีข้อความว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซตแต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟซิเนต” มายังเพจของมูลนิธิชีววิถี   และนั่นคือที่มาของการถูกฟ้องที่เริ่มต้นขึ้น         “โพสต์ดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นการบิดเบือนเพราะไม่ได้พูดถึงภัยอันตรายทั้งหมด  นั่นคือประเด็นหนึ่งที่ได้ทั้งแสดงความเห็น ทั้งโพสต์ในเฟซบุ๊ก รวมถึงอธิบายในสื่อต่างๆ  สีของฉลากไม่ได้พูดถึงพิษเรื้อรัง การก่อกลายพันธุ์ การก่อมะเร็ง”  วิฑูรย์กล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาแชร์โพสต์ดังกล่าวเพราะอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า ฉลากสีที่กำหนดประเภทของสารเคมี ไม่ได้ให้ข้อมูลอันตรายทั้งหมดของสารเคมีแต่ละชนิด โดยเฉพาะอันตรายในระยะยาวที่จะสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรครุนแรงได้หลายโรค  การที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้สื่อสารและทำให้ประชาชนเข้าใจอันตรายของสารเคมีตามฉลากของสีจึงยังไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด          สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ มองเรื่องนี้ว่าเป็นหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงยื่นฟ้องวิฑูรย์ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์   ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91,326,328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) , 16   ลงวันที่ฟ้องในศาลชั้นต้นวันที่  17 มีนาคม 2564         “โดยเมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีที่จัดตั้งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยด้านทรัพยากร ชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนเพื่อประโยชน์สาธารณด้านสิ่งแวดล้อม  มูลนิธิดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งจำเลยและบุคคลในมูลนิธิของจำเลยเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความอันตรายและจากการศึกษาทางวิชาการของจำเลยตามเอกสารหมายเลข จ.5 ได้แบ่งประเภทความอันตรายของสารเคมีเกษตรด้วยแถบสียังไม่สามารถวัดอันตรายของพิษเรื้อรังได้ ประกอบกับคู่มือการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังมีการจำแนกความอันตรายจากสารพิษตามหลักเกณฑ์พิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังไว้ด้วย  ดังนั้นกรณีที่จำเลยกล่าวถ้อยคำทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊คผ่านเพจมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นการเตือนให้ตระหนักหรือระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ให้ผลเป็นพิษแก่ผู้บริโภคเป็นไปตามฐานะตำแหน่งการงานที่จำเลยดำรงอยู่ ”                  “เราคิดว่า ผลของคดีนี้ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ต่อไปเป็นอิสระจากความกลัวและเป็นการยืนยันว่า การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจะคุ้มครองเราเองจากการฟ้องคดีปิดปาก” จันทร์จิรา  ทนายความกล่าวยืนยันผลของคดี         ด้านวิฑูรย์กล่าวว่า “คำตัดสินของศาลเป็นการยืนยัน  สิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์ วิจารณ์  หรือแสดงความคิดเห็น  ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำตัดสินแบบนี้ควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในคดีความอื่นๆ  ด้วยที่จะปกป้องประโยชน์ของคนที่ทำงานเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยต่อไป”           “เพราะในที่สุดแล้วผมคิดว่าการมีคดีแบบนี้เยอะๆ มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของสังคมโดยรวมเลย ในท้ายที่สุด คนที่จะสูญเสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบ คือสังคมส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ในประเทศ การที่คนเล็กคนน้อยถูกฟ้องร้องในคดีพวกนี้  เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วประเทศไทยควรมีทั้งแนวปฏิบัติ แนวกฎหมายที่จะช่วยป้องกันคุ้มครองคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 262 ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด

        ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด        2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้”         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565  (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3)  อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415   เรื่อง (ร้อยละ  19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม  378  เรื่อง (ร้อยละ  18.1)           อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง”         ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้         สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก”         ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น         ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป         เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี                   สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ         บริการสุขภาพ  เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน         อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา         บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า         “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก”         อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์          อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง        พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)