ฉบับที่ 115 สารรบกวนฮอร์โมนในเครื่องสำอาง

สมาชิกฉลาดซื้ออาจเคยได้ยินเรื่องของการเกิดมะเร็งเต้านมที่คาดว่าอาจมีสาเหตุมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายซึ่งมีสารพาราเบนส์เป็นส่วนประกอบกันมาบ้าง

 

แม้จะยังไม่มีผลวิจัยที่ชี้ชัดลงไปได้ว่าพาราเบนส์ ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้เป็นสารกันหืนในเครื่องสำอางมากที่สุดนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือไม่ หลายๆ ประเทศก็เริ่มให้ความสนใจและเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ เช่น สหรัฐกำลังให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล เช่น แชมพู สบู่ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ครีมกันแดด เครื่องสำอาง รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก  ในขณะที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเน้นที่ยาสีฟัน แชมพู สบู่ และครีมบำรุงผิว  อังกฤษนั้นให้ความสำคัญกับเครื่องสำอาง ในขณะที่เกาหลีเน้นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและเครื่องสำอางสำหรับดวงตาเป็นพิเศษ

 

Consumers Korea หรือ สคบ. ของประเทศเกาหลีจึงถือโอกาสนี้เป็นเจ้าภาพในการสำรวจว่ามีการใช้สารพาราเบนส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสารรบกวนฮอร์โมน (Endocrine Disruptors หรือ EDCs) เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางที่เราใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายเพียงใด ว่าแล้วก็ชักชวนองค์กรผู้บริโภคในอีก 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา  อินเดีย บังคลาเทศ มองโกเลีย จีน อาร์เมเนีย ฟิจิ และออสเตรเลีย รวมเป็น 13 ประเทศร่วมการสำรวจครั้งนี้

 

แต่ละประเทศจะทำการเก็บตัวอย่างและบันทึกข้อมูลจากฉลากผลิตภัณฑ์ ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ปี 2552 พร้อมไปกับการทำสำรวจพฤติกรรมการใช้เครื่องสำอาง รวมถึงความเห็นของของสาวๆ ในแต่ละประเทศด้วย

 

ในการสำรวจครั้งนี้แต่ละประเทศจะเก็บตัวอย่างเครื่องสำอางยี่ห้อหลักๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ยี่ห้อ รวมๆ แล้วจึงมีเครื่องสำอางในการสำรวจครั้งนี้ทั้งหมด 314 ชิ้น  แต่ทั้งนี้มีเพียง 259 ชิ้นเท่านั้นที่มีการระบุส่วนผสมบนฉลาก การสำรวจส่วนผสมที่เป็นพาราเบนส์ จึงเป็นการทำกับ 259 ชิ้นนี้เท่านั้น

 

ผลสำรวจจาก 13 ประเทศ 
• ร้อยละ 73 ของตัวอย่างเครื่องสำอางจาก 13 ประเทศนั้นมีพาราเบนส์เป็นส่วนผสม


• จากฉลากของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 259 ชนิด นั้นเราพบว่ามีส่วนผสมทั้งหมด 626 ชนิด โดยส่วนผสมยอดฮิตที่พบบ่อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 
1. Talc
2. Mica
3. Propylparaben
4. Ethylparaben
5. Dimethicone


• บลัชออนคือผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้พาราเบนส์มากที่สุด  ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้พาราเบนส์น้อยที่สุดได้แก่ลิปกลอส

 

• เกาหลีเป็นประเทศที่มีเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพาราเบนส์มากที่สุด (ร้อยละ 95 ของตัวอย่าง) รองลงมาได้แก่ ฟิจิ (ร้อยละ 84.5 ของตัวอย่าง) และไทย (ร้อยละ 70.5 ของตัวอย่าง)

 

• ทั้งเครื่องสำอางราคาถูกและราคาแพง ต่างก็มีพาราเบนส์เป็นส่วนผสมเช่นเดียวกัน

 

• เครื่องสำอางส่วนใหญ่ไม่มีการระบุอายุที่เหมาะสมแก่การเริ่มใช้ ยกเว้นศรีลังกา ที่ร้อยละ 40 ของเครื่องสำอางมีการระบุอายุของผู้ใช้ไว้ด้วย

 

• การแจ้งผลข้างเคียงบนฉลาก พบมากที่สุดในเครื่องสำอางจากเกาหลี (ร้อยละ 75) รองลงมาได้แก่ศรีลังกา (ร้อยละ 70) ตามด้วยออสเตรเลียและจีน (ร้อยละ 40)

 

• คำเตือนเรื่องอาการแพ้ พบมากที่สุดในเครื่องสำอางของศรีลังกา (ร้อยละ 80) รองลงมาคือออสเตรเลีย (ร้อยละ 60)

 

พฤติกรรมการใช้เครื่องสำอาง

จากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภค จำนวนทั้งหมด 1,645 คน ใน 13 ประเทศ เราพบว่า

 

• คนส่วนใหญ่เริ่มใช้เครื่องสำอางเมื่ออายุ 20 ขึ้นไป ยกเว้น บังคลาเทศ อาร์เมเนีย อินโดนีเซีย และมองโกเลีย ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงอายุ 17 – 19 โดยเฉพาะกว่าร้อยละ 70 ของสาวๆมองโกเลียเริ่มใช้ในช่วงอายุดังกล่าว

 

• ลิปสติกคือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีการใช้สูงสุด รองลงมาคือแป้ง

 

• สำหรับประเทศไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้กันมากที่สุดคือ แป้งทาหน้า ตามด้วยลิปกลอส และลิปสติก

 

• ร้อยละ 40 ของผู้บริโภคใช้แป้งฝุ่น/แป้งแข็งเกือบทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกือบร้อยละ 80 ของสาวไทยก็ตอบว่าใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแทบทุกวัน รองจากไทยได้แก่อินโดนีเซียและมาเลเซีย

 

• ประมาณร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้ลิปสติกแทบทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกว่าร้อยละ 70 ของสาวๆ ฟิจิ

 

• ผู้บริโภคที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอางมากที่สุดได้แก่ ผู้บริโภคในมองโกเลีย (ร้อยละ 93.5) สาวไทยก็ใช่ย่อย มีมากกว่าร้อยละ 50 ที่ตอบว่าเคยได้รับผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอาง

 

• สิ่งที่ผู้บริโภคเกินครึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดอาการแพ้ คือสารเคมีในเครื่องสำอาง เหตุผลรองลงมาได้แก่ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะกับสภาพผิว

 

• สาวอินเดียทุกคนที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า สาเหตุของอาการแพ้มาจากสารเคมีในผลิตภัณฑ์ ในขณะที่สาวไทย ร้อยละ 71 เชื่อเช่นนั้น ส่วนที่เหลือเชื่อว่าเป็นเพราะไม่เหมาะกับสภาพผิวของตนเอง

 

• ร้อยละ 45 ของคนไทยที่ตอบ บอกว่าหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงด้วยการล้างหน้าให้สะอาด และสาวไทยเป็นกลุ่มที่ตอบว่าใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติสูงที่สุดเป็นอันดับสอง (ร้อยละ 30.3) รองจากอินเดีย (ร้อยละ 31.2)

 

ความรู้เรื่องพาราเบนส์
• ร้อยละ 28 ของผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถามทราบว่าในเครื่องสำอางมีพาราเบนส์เป็นส่วนประกอบ

 

• ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มที่รู้จักพาราเบนส์น้อยที่สุด ได้แก่ผู้บริโภคจากมองโกเลีย ไทย และอินเดีย (มีผู้รู้ว่ามีพาราเบนส์ในเครื่องสำอางเพียงร้อยละ 4.3  ร้อยละ 16 และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ)

 

• ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85) ไม่ทราบว่าพาราเบนส์เป็นหนึ่งในสารรบกวนการทำงานของฮอร์โมน

 

• สามประเทศที่มีการรับรู้ว่าพาราเบนส์เป็นสารรบกวนการทำงานของฮอร์โมนน้อยที่สุดได้แก่  เกาหลี มองโกเลีย และไทย (ร้อยละ 4.8 ร้อยละ 7.5 และร้อยละ 9 ตามลำดับ)

 

• โดยรวมแล้ว ร้อยละ 57.3 ตอบว่าจะหยุดใช้ถ้าเครื่องสำอางดังกล่าวมีพาราเบนส์เป็นส่วนประกอบ มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้บริโภคในมองโกเลีย อาร์เมเนีย อินโดนีเซีย ตอบว่าจะหยุดใช้ แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น

 

• โดยรวมแล้วร้อยละ 40 ของผู้บริโภคที่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้มองว่า ทางออกของเรื่องนี้คือการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกือบร้อยละ 80 ของสาวไทย  ส่วนสาวอินเดียนั้น กว่าร้อยละ 80 เชื่อว่าทางออกคือการปรับปรุงฉลาก


• บทบาทของภาคอุตสาหกรรม ที่ผู้บริโภคไทยมองคือ การผลิตเครื่องสำอางให้มีมาตรฐานสูงขึ้น

 

ฉลาก
• ร้อยละ 58 อ่านฉลากเครื่องสำอาง และจากการสำรวจครั้งนี้พบว่าประเทศไทยมีคนที่อ่านฉลากมากที่สุด (ร้อยละ 94) ตามด้วยบังคลาเทศ และจีน ส่วนผู้บริโภคที่อ่านฉลากน้อยที่สุดคือ เกาหลี และมองโกเลีย (ร้อยละ 31 และร้อยละ 44 ตามลำดับ)

 

• ข้อมูลที่ผู้บริโภคอ่านมากที่สุดได้แก่ วิธีใช้ ตามด้วยวันผลิต และส่วนผสม

 

• เหตุผลที่ผู้บริโภคไม่อ่านฉลากได้แก่ “ตัวอักษรเล็กเกินไป”  “ได้ข้อมูลเพียงพอแล้วจากผู้ขาย” และ “รู้จักสินค้านั้นดีอยู่แล้ว”  กรณีของสาวไทยนั้น เหตุผลหลักๆ ที่ไม่อ่านคือ เรื่องของขนาดตัวอักษรที่เล็กเกินไป

 

• สิ่งที่สาวไทยต้องการให้ปรับปรุงมากที่สุด คือการให้ข้อมูลส่วนผสมที่ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น

 

ผลสำรวจการใช้พาราเบนส์ในเครื่องสำอาง

ฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างฉลากจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 13 ยี่ห้อ ราคาตั้งแต่ 55 บาท (ดินสอเขียนคิ้ว มิสทีน บิวตี้พลัส) จนถึง 1,225 บาท (แป้งผสมรองพื้น อาทิสตรี้ ไอเดียล ดูอัล พาวเวอร์ ฟาวน์เดชั่น  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ซื้อจากห้าง ซูเปอร์มาร์เก็ต และจากตัวแทนขายตรง

1. มิสทีน
2. ชีเน่
3. สกินฟู้ด
4. เคมา (KMA)
5. บีเอสซี
6. อาทิสตรี้
7. เทลมี
8. โอเรียนทอล พริ้นเซส
9. คัฟเวอร์มาร์ค
10. อินทูอิท
11. กิฟฟารีน
12. อิทูดี้
13. คิวท์เพรส

 

 

รู้จักกับพาราเบนส์  (Parabens)
พาราเบนส์ เป็นสารกันเสียที่ใช้ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี มีการใช้มาตั้งแต่อดีต ได้รับการยอมรับว่าปลอดภัยที่จะผสมในผลิตภัณฑ์ทั้งอาหาร ยา และเครื่องสำอางทุกชนิด ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทั่วโลก ว่ามีประสิทธิภาพสูงในการเป็นสารกันเสียและมีความปลอดภัย

ข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัย


1. เนื่องจากมีการใช้พาราเบนส์อย่างมากมายในเกือบทุกสินค้า ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องอุปโภคบริโภค ทำให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์บางส่วนเป็นห่วงถึงความปลอดภัยในผู้บริโภคที่ใช้เป็นประจำ แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนที่ระบุว่ามีการสะสมในร่างกาย เนื่องจากสารชนิดนี้ถูกดูดซึมได้และจะถูกย่อยสลายและกำจัดออกจากร่างกายได้

2. ปริมาณที่ผสมในเครื่องสำอาง อาหาร หรือยา จะเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก จึงไม่มีนัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดปัญหาความเป็นพิษได้

3. นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มได้ทำการวิจัยและพบว่าอาจจะมีความเกี่ยวพันกับการเป็นต้นเหตุของสารก่อมะเร็งเต้านม เนื่องจากมีการผสมพาราเบนส์ในผลิตภัณฑ์ใต้วงแขน ขณะนี้มีการขยายวงการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก แต่นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มอื่นๆยังมีข้อโต้แย้งว่าโอกาสเป็นสารก่อมะเร็งนั้นน้อยมาก

4. เช่นเดียวกับข้อ 3 มีการวิจัยถึงผลของสารพาราเบนส์ที่มีคุณสมบัติคล้ายโฮโมนเอสโตรเจนของ ผู้หญิง แต่ทดลองแล้วมีความแรงน้อยกว่าโฮโมนธรรมชาติถึง 100,000 เท่า จึงไม่น่ากังวล

ข้อถกเถียงถึงความปลอดภัยในการใช้สารพาราเบนส์เป็นสารกันเสีย ทำให้หลายบริษัทฯยักษ์ใหญ่เริ่มหันมาใช้สารสกัดจากธรรมชาติ เช่น จากเมล็ดองุ่น ซึ่งจะได้สารเทียบเคียงกับ methylparabens อย่างไรก็ตามสำนักงาน อย.ทั่วโลกก็ยังคุ้มครองและอนุญาตให้ใช้สารชนิดนี้ได้อยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่อย.อนุญาตให้ใช้เฉพาะสารกันเสียที่เป็นพาราเบนส์เท่านั้น

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

300 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ฮอร์โมน เครื่องสำอาง คุณสมบัติ

ฉบับที่ 277 ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด และการโฆษณา ณ สถานที่ขาย

        เมื่อเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ ที่มีการแสดงฉลากระบุคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ว่า เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม กล่าวอ้างว่า ไม่มีสารเร่งการเจริญเติบโต ไม่มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ตอนนั้นได้ทำการเปรียบเทียบราคาพบว่า แพงกว่าราคาปกติสองเท่า แต่ยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์ตัวฉลากของสินค้าว่า มีจุดบกพร่องหรือข้อมูลที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคหรือไม่ ทางนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ร่วมกับนักวิชาการด้านเภสัชกรรมและนักกิจกรรมที่ปฏิบัติการขับเคลื่อนเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง การดื้อยาปฏิชีวนะ  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า ปลอดจากยาปฏิชีวนะ         อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม  ทำการวิเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ จากฉลากผลิตภัณฑ์ที่นิตยสารฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ได้ให้ข้อสังเกต ดังนี้         - มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก (อาจสะท้อนว่าไม่มีการกำกับดูแลให้มีรูปแบบเดียวกันหรือไม่)         - การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’  ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         - บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         - ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว ใครดูแลฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม         ดังนั้นจึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือหน่วยงานอื่น ฉลากมีปัญหา โฆษณาก็ไม่ต่าง         การสำรวจฉลากเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องของการโฆษณา ณ จุดขาย ดังนั้นทีมงานนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ลงสำรวจจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน มีทั้งร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ แผงในตลาดสด เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) ซึ่งรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็นได้ จากการสำรวจร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน และพบคำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน         การอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน  (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย พบ 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         จากข้อมูลการสำรวจการโฆษณา ณ จุดขายข้างต้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ วิเคราะห์ว่า ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 นั้นกำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า ’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์  OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2 .ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3. ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว        4. มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 สำรวจฉลากโภชนาการ “นมโปรตีนสูง”

        เมื่อ นมโปรตีนสูง ถูกสื่อสารเชื่อมโยงผ่านกลุ่มคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ คนที่ต้องการลดน้ำหนัก รักษามวลกล้ามเนื้อ หรือกลุ่มคนที่มองหาเครื่องดื่มมาทดแทนมื้ออาหาร ว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก มีโปรตีนสูงกว่านมธรรมดาหลายเท่า หาซื้อง่าย มีหลายรสชาติ อร่อย ดื่มได้ทันที และอิ่มท้องนาน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้หลายคนตัดสินใจซื้อมาดื่มตามแบบไม่ลังเล โดยบางทีก็มองข้ามเรื่องความจำเป็น ความปลอดภัย และความคุ้มค่าไป         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเลือกนมโปรตีนสูง จำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มาสำรวจฉลากและส่วนประกอบหลักเพื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการและราคา สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกได้ว่ายี่ห้อไหนมีโปรตีนสูงกว่ากัน หรือมีคุณลักษณะอื่นๆ ที่ตรงใจคุณ เช่น พลังงานสูง น้ำตาลน้อย ไขมันน้อย โซเดียมต่ำ และแคลเซียมสูง เป็นต้น ส่วนรสชาติไหนอร่อยคงต้องลองชิมกันเองแล้ว  ผลสำรวจ         -ทั้งหมด 8 ตัวอย่าง มีโปรตีนจากนมเป็นหลัก  5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อดัชมิลล์ นมคืนรูปปรุงแต่ง พร่องมันเนย พาสเจอร์ไรส์ โปรตีนสูง กลิ่นอัลมอนด์ สูตรเวย์พลัส ไม่เติมน้ำตาลทราย, ฮูเร่ ผลิตภัณฑ์นมชนิดพร่องมันเนย พาสเจอร์ไรส์ โปรตีนสูง รสช็อกโกแลต สูตรปราศจากน้ำตาลแลคโตส, แม็กซิมัส น้ำโกโก้ ผสมโปรตีนนม, เมจิ ผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนยพาสเจอร์ไรส์ โปรตีนสูง รสช็อกโกแลต สูตรเวย์ และมูฟ น้ำโกโก้ 20% ผสมโปรตีนนม ปราศจากน้ำตาลแลคโตส ส่วนอีก 3 ตัวอย่างมีโปรตีนจากพืชเป็นหลัก ได้แก่ ยี่ห้อออลลี่ เครื่องดื่มผสมโปรตีนจากพืช(ถั่วเหลือง ข้าวและถั่วลันเตา)ใยอาหารจากอินนูลิน วิตามินรวม และแร่ธาตุรวม รสโกโก้, โทฟุซัง นมถั่วเหลือง สูตรโปรตีนสูง รสช็อกโกแลต และอัพ เครื่องดื่มโปรตีนไอโซเลทจากพืช กลิ่นช็อกโกแลตฮาเซลนัท         -ทั้ง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณต่อ 1 ขวด ตั้งแต่ 310 – 360 มิลลิลิตร และมีราคาขายปลีกตั้งแต่ 40 – 59 บาทต่อขวด         -มี 4 ตัวอย่างที่ระบุว่า มีเวย์โปรตีนเข้มข้น ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยี่ห้อดัชมิลล์ (2.4%), ฮูเร่ (0.5%), แม็กซิมัส (ไฮโดรไลท์ 0.7%) และเมจิ (10.7%) เมื่อพิจารณาคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภคที่แนะนำ (1 ขวด) พบว่า        -ยี่ห้ออัพ มีโปรตีนมากที่สุด คือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อออลลี่มีน้อยที่สุด คือ 25 กรัม        -ยี่ห้อฮูเร่ มีพลังงานมากที่สุด คือ 230 กิโลแคลลอรี ส่วนยี่ห้อดัชมิลล์และเมจิ มีน้อยที่สุด คือ 170 กิโลแคลลอรี        -ยี่ห้อโทฟุซัง มีไขมันมากที่สุด คือ 7 กรัม ส่วนยี่ห้อเมจิและมูฟมีน้อยที่สุด คือ 2 กรัม        -ยี่ห้อดัชมิลล์ มีน้ำตาลมากที่สุด คือ 10 กรัม ส่วนยี่ห้อโทฟุซังและอัพมีน้อยที่สุด คือ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 สำรวจฉลากดาร์กช็อกโกแลต

        ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพามาสำรวจฉลากกับภารกิจเตือนภัย ”ขมซ่อนหวาน” ในดาร์กช็อกโกแลตกัน         ดาร์กช็อกโกแลต (Dark Chocolate) จัดเป็นหนึ่งในซูเปอร์ฟูดที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะกินแล้วมีประโยชน์มาก ช่วยคลายเครียด อารมณ์ดีมีความสุข และยังอาจรวมถึงการป้องกันโรคต่างๆ เช่น อัลไซเมอร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น แต่ดาร์กช็อกโกแลตที่ดีต่อสุขภาพควรมีเปอร์เซ็นต์โกโก้ทั้งหมดสูงกว่า 70% ขึ้นไป ซึ่งจะมีรสขม หลายคนลองชิมแล้วอาจรู้สึกว่ากินยาก จึงไปเลือกที่ผสมน้ำตาลและนมเพิ่มรสชาติให้กินง่ายขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคต้องระวังว่าดาร์กช็อกโกแลตที่มีน้ำตาลและนมในสัดส่วนมากๆ เพราะแม้จะอร่อยแต่กินบ่อยๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเลือกดาร์กช็อกโกแลต จำนวน 15 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมกราคม 2567 มาสำรวจฉลากเพื่อดูส่วนประกอบว่าผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐานหรือไม่ เปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการและราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจซื้อในครั้งต่อๆ ไป   ผลการสำรวจฉลาก เมื่อพิจารณาในส่วนประกอบสำคัญ พบว่า         - ยี่ห้อลินด์ เอ็กเซอร์เล็นซ์ ดาร์ก 99% โกโก้ มีโกโก้รวมทั้งหมดมากที่สุด คือ 99% ส่วนยี่ห้อเมจิ แบล็ค ช็อกโกแลต คอนแฟคชั่นเนอรี่ มีน้อยที่สุดคือ 40.4%         - ยี่ห้อบอนโอบอน ดาร์ค ช็อกโกแลต บาร์ มีน้ำตาลมากที่สุด คือ 49% ส่วนยี่ห้อมีอา อินเทนส์ ดาร์ก ช็อกโกแลต 85% และยี่ห้อเวทโทรส เบลเยี่ยน ดาร์ค ช็อกโกแลต 72% มีน้อยสุด คือ 10%         - ยี่ห้อเดียโบล ดาร์ก ช็อคโกแลต วิท สวีทเทนเนอร์ ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล (มอลตินอล)ส่วนยี่ห้อลินด์ เอ็กเซอร์เล็นซ์ ดาร์ก 99% โกโก้ ไม่ระบุว่ามีน้ำตาลในส่วนประกอบ  เมื่อพิจารณาคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า         - ยี่ห้อลินด์ เอ็กเซอร์เล็นซ์ ดาร์ก 99% โกโก้ มีมากที่สุดทั้งพลังงาน (310 กิโลแคลอรี) ไขมัน (25 กรัม) และโซเดียม (140 กรัม) ส่วนน้ำตาลมีน้อยที่สุดคือ 3 กรัม          - ยี่ห้อเนสท์เล่ ลัทเตอริฮ์เย่ ดาร์คช็อกโกแลต 80% มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 120 กิโลแคลอรี         - ยี่ห้อบอนโอบอน ดาร์ค ช็อกโกแลต บาร์ มีไขมันน้อยที่สุดคือ 7 กรัม         - ยี่ห้อลอตเต้ กาน่า แบล็ก ช็อกโกแลต มีน้ำตาลมากที่สุดคือ 23 กรัม และมีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 5 กรัม        และเมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อลินด์ เอ็กเซอร์เล็นซ์ ดาร์ก 99% โกโก้ แพงสุดคือ 3.50 บาท ส่วนยี่ห้อบอนโอบอน ดาร์ค ช็อกโกแลต บาร์ ถูกสุดคือ 0.48 บาท  ข้อสังเกต         - ทุกตัวอย่างผลิตและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่  มาเลเซีย ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม อาร์เจนติน่า สเปน ไอร์แลนด์ สาธารณรัฐกานา และสาธารณรัฐเช็ก         - มี  2 ตัวอย่างที่พบว่ามีเปอร์เซนต์โกโก้ทั้งหมดในส่วนประกอบน้อยกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก คือ ยี่ห้อลอตเต้ กาน่า แบล็ก ช็อกโกแลต ฉลากระบุ 50% แต่ในส่วนประกอบรวมได้ 48% และดัลซีเนีย ดาร์ค ช็อกโกแลต 72% ในส่วนประกอบรวมได้ 67%         - มี 2 ตัวอย่างที่เติมไขมันอื่นนอกจากไขมันโกโก้ ได้แก่ ยี่ห้อโมรินากะ ดาร์ส ดาร์ก (ไขมันปาล์ม 4 %) และเมจิ แบล็ค ช็อกโกแลต คอนแฟคชั่นเนอรี่ (มีน้ำมันพืช 14%)         - เมื่อคำนวณคุณค่าทางโภชนาการต่อปริมาณ 40 กรัมเท่ากัน (ค่าเฉลี่ยของหน่วยบริโภคที่แนะนำ) พบว่า ยี่ห้อริตเทอร์สปอร์ต โกโก้ ซีเล็คชั่น 81% มีมากที่สุดทั้งพลังงาน (256 กิโลแคลอรี) และไขมัน (20.8 กรัม) ยี่ห้อบอนโอบอน ดาร์ค ช็อกโกแลต บาร์ มีน้ำตาลมากที่สุดคือ 20.8 กรัม ส่วนยี่ห้อบัตเลอรส์ ดาร์กช็อกโกแลต 70% ยี่ห้อเดียโบล ดาร์ก ช็อคโกแลต วิท สวีทเทนเนอร์ และยี่ห้อเวทโทรส เบลเยี่ยน ดาร์ค ช็อกโกแลต 72% มีพลังงานน้อยที่สุดคือ 210 กิโลแคลอรี         - มีตราประทับ Rainforest Alliance Certified บนฉลากยี่ห้อเนสท์เล่ ลัทเตอริฮ์เย่ ดาร์คช็อกโกแลต 80% ยี่ห้อริตเทอร์สปอร์ต โกโก้ ซีเล็คชั่น 81% และยี่ห้อคาสิโน ช็อกโกล่าต์ นัวร์ เดอ ดีกัสตาซีอง 85% ซึ่งสัญลักษณ์นี้หมายความว่า ผลิตภัณฑ์หรือส่วนผสมที่ผ่านการรับรองนั้นผลิตขึ้นโดยใช้วิธีการที่สนับสนุนหลักสามประการของความยั่งยืน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ฉลาดซื้อแนะ         - ดาร์กช็อกโกแลตส่วนใหญ่ผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ ควรเลือกซื้อที่มีฉลากภาษาไทยกำกับไว้ชัดเจน มีเลขทะเบียน อย. ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยและเปรียบเทียบปริมาณของส่วนประกอบได้         - ก่อนซื้อดาร์กช็อกโกแลตควรดูเปอร์เซ็นต์ของโกโก้ทั้งหมด น้ำตาลและนม และเลือกให้ตอบโจทย์กับความต้องการ โดยมีคำแนะนำว่าหากอยากลดน้ำหนัก ให้เลือกที่ 80 - 100 % ใครเพิ่งลองกินและยังไม่ชินกับรสขม ให้เลือกที่ 50 - 80 % ใครชอบหวานให้เลือกน้อยกว่า 50% ส่วนใหญ่จะใส่น้ำตาลเยอะ ควรกินแต่น้อย         - ดาร์กช็อกโกแลตมีแคลอรี่สูงและมีคาเฟอีนด้วย ควรกินในประมาณที่เหมาะสม หรือไม่เกิน 60 กรัมต่อวัน แหล่งข้อมูลอ้างอิง https://bestreview.asia/best-dark-chocolate/#google_vignettehttps://www.thaihealth.or.th (บทความ กินช็อกโกแลตถูกหลัก ช่วยสร้างสุข)https://www.bio100.co.th/knowledge/rainforest-alliance-certified/

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 สำรวจฉลากโภชนาการ “ขนมในกระเช้าปีใหม่”

        ช่วงเทศกาลส่งความสุขในปีใหม่นี้ ผู้บริโภคคนไหนกำลังคิดจะเลือกซื้อขนมอบกรอบหวานหอม และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ มันๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส มาจัดกระเช้าปีใหม่ ด้วยหวังว่าผู้รับจะชอบใจ อยากให้แตะเบรกไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักมอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่อย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง น้ำตาล เนย นม เกลือ ผงฟู และสารกันเสีย ซึ่งหากกินเข้าไปเยอะๆ บ่อยๆ อาจเกิดการสะสมของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมในกระเช้าปีใหม่ (คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ และพาย) จำนวน 11 ตัวอย่าง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) และราคาต่อปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกขนมเหล่านี้จัดใส่กระเช้าปีใหม่ดีไหมหนอ  ผลการสำรวจ        ·     ทุกตัวอย่างระบุเลขที่ใบอนุญาตจาก อย. ไว้ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลได้         ·     เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของขนม 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค มีปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุดคือ 34 กรัม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม และ ยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้ มีน้อยที่สุดคือ 25 กรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค พบว่า            -        ปริมาณพลังงานมากที่สุด = 180 กิโลแคลอรี คือยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า มีน้อยที่สุด  = 120 กิโลแคลอรี            -        ปริมาณน้ำตาลมากที่สุด = 11 กรัม  คือยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม มีน้อยที่สุด = 2 กรัม             -        ปริมาณไขมันมากที่สุด = 9 กรัม ได้แก่ ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค และยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า และยี่ห้อแซง มิเชล กาเลต โอ เบอร์ ทิน บัตเตอร์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด = 5 กรัม             -        ปริมาณโซเดียมมากที่สุด = 135 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล(บิสกิตข้าวสาลี) ส่วนยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้  มีน้อยที่สุด = 40 มิลลิกรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ แพงสุดคือ 0.95 บาท ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ถูกสุดคือ  0.22 บาท  ข้อสังเกต        - เมื่อคำนวณในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคที่เท่ากัน คือ 30 กรัม (ปริมาณเฉลี่ย ได้จากผลรวมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ÷ 11) พบว่า ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีปริมาณพลังงานมากที่สุด = 160 กรัม ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม มีทั้งน้ำตาล (11.96 กรัม) และโซเดียม (141.30 มิลลิกรัม) ในปริมาณมากที่สุด         - หากเรากินโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม 1 ห่อ (3 ชิ้น) จะได้รับน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของที่แนะนำให้กินได้ต่อวัน(ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 24 กรัมต่อวัน) ถ้าเผลอกินเพลินเกิน 2 ห่อต่อวัน ร่างกายจะได้น้ำตาลเกินจำเป็น         - วัยผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น หากกินขนมแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล (บิสกิตข้าวสาลี) 2 ชิ้น หรือโอรีโอ ช็อกโกแลตครีม 3 ชิ้น ก็จะได้รับโซเดียมเกินครึ่งหนึ่งของที่แนะนำไว้แล้ว        - เมื่อลองนำเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณา ในปริมาณขนม 100 กรัม         ขนมบิสกิตและแครกเกอร์   กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 7 กรัม  และโซเดียม ≤ 500 มิลลิกรัม พบว่าทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมอยู่ในเกณฑ์        ขนมคุกกี้  กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 20 กรัม และ โซเดียม ≤ 300 มิลลิกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมเกินเกณฑ์นี้ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม (471.01 มก.)  ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ (348.48 มก.) และยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค (323.53 มก.)         - ทุกตัวอย่างบอกวันผลิตและวันหมดอายุไว้ มีอายุตั้งแต่ 10 – 21 เดือน โดยมี 8 ตัวอย่างที่อายุ 1 ปี         - ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ระบุวันหมดอายุ 01.12.23 และมีอายุนับจากวันผลิตนานถึง 21 เดือน         - มี 3 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เยอรมันฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร         - ทุกตัวอย่างแสดงข้อความเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”     ฉลาดซื้อแนะสำหรับผู้ให้        - หากจะซื้อขนมมาจัดกระเช้าปีใหม่ ต้องดูวันหมดอายุให้ดีๆ เพราะอาจมีสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายปะปนบนชั้นได้ ยิ่งถ้าใครซื้อแบบกระเช้าสำเร็จรูปก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ         - เลือกซื้อขนมที่ผลิตในประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ         - เปลี่ยนเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น กระเจี๊ยบมอญอบกรอบ บร็อคโคลี่อบแห้ง งาดำอัดแท่งหวานน้อย ลูกเดือยกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ วอลนัท) อบไม่ปรุงรส ดาร์คช็อคโกแล็ต (มี %cocoa มากกว่า 70%) เป็นต้น         - อย. แนะนำให้มอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ในแบบ “สุขใจผู้ให้ ห่วงใยผู้รับ” โดยเลือกที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับผู้รับ        - เมื่อได้รับขนมเหล่านี้เป็นของขวัญ มักได้เป็นกล่องหรือกระป๋องใหญ่ แกะแบ่งห่อเล็กปันคนอื่นๆ ด้วยก็ดีไม่ต้องเก็บไว้เยอะ และอย่าเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ เดี๋ยวจะอ้วน         - ถ้าวันไหนรู้ตัวว่ากินคุกกี้ แครกเกอร์ เยอะเกินแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป จะได้กินขนมให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเอง         - กินขนมคู่กับน้ำเปล่าดีที่สุด หากไม่อยากได้รับน้ำตาล ไขมันและโซเดียมเพิ่มอีก         - อย่าชะล่าใจ กินขนมอบกรอบรสหวานๆ เสี่ยงเป็นเบาหวานแล้วยังเสี่ยงเป็นโรคไตด้วย เพราะโซเดียมไม่ได้มีแต่ในเกลือที่ให้รสเค็ม แต่ยังแฝงอยู่ในผงฝูและสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมของขนมเหล่านี้ด้วย  ข้อมูลอ้างอิงwww.thaihealth.or.thwww.oryor.com

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)