ฉบับที่ 272 ระบบการแจ้งเตือนภัย

        กระแสเสียงการถามหาระบบการแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ร้ายที่พารากอน ห้างใหญ่และหรูหราใจกลางเมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา 
        เกิดประเด็นคำถามประเภทที่ว่า จะดีแค่ไหนหากประเทศไทยเรามีระบบเตือนภัยแบบที่ส่งข้อความตรงถึงประชาชนอย่างรวดเร็วทางเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ “มือถือ” ที่ผู้คนต่างพกติดตัวอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรืออาชญากรรมรุนแรง และจะได้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในการเตรียมพร้อมรับมือ หรือป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจากภยันตรายและความเสียหาย 
        ตามด้วยคำถามสำคัญว่า เหตุใดประเทศไทยจึงยังไม่มีระบบเตือนภัยดังกล่าวดังเช่นนานาอารยประเทศ 
        หน่วยงานอย่าง กสทช. ได้รับการคิดถึงพร้อมกับการต่อว่าต่อขาน ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส (DES) รวมถึงรัฐบาล ดูจะไม่ถูกเรียกร้องเท่า อาจเพราะว่ามีการออกมาตอบสนองเร็ว ให้ข่าวและให้ข้อมูลว่ากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง พร้อมอธิบายทั้งเรื่องของระบบ กระบวนการดำเนินงาน ความคืบหน้า ฯลฯ 
        สาระสำคัญคือการบอกว่า ในระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือนนั้น จะมีระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อยู่แล้วอย่างไม่ครอบคลุม และใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ตลอดจนใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนในระยะปานกลางและยาวจะเป็นระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสารทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการนั้น พร้อมกันในคราวเดียว 
        ว่ากันว่า ข้อดีของระบบ Cell Broadcast ก็คือการส่งข้อมูลที่รวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่โดยไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางด้านประสิทธิภาพก็สูงกว่าระบบ SMS นั่นคือสามารถจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที ในขณะที่ระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาอีกประมาณ 120 นาทีในการส่งข้อความไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้ครบ นอกจากนั้น Cell Broadcast ยังมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ


 
        ดีอีเอสอ้างว่า Cell Broadcast เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะต้องพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ทั้งนี้ได้ประกาศกรอบเวลาด้วยว่า คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน และอย่างช้าไม่เกิน 1 ปี 
        นอกจากทางดีอีเอสแล้ว ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยพูดถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทราฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เพื่อให้กลายเป็น Traffy Fondue Plus นั่นคือการเพิ่มในส่วนของเมนู “การแจ้งเหตุ-เตือนภัย” เพื่อให้ประชาชนสามารถคลิกเพื่อรับข่าวสารฉุกเฉินและแจ้งเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งรวมถึงสภาพอากาศและสภาพการจราจร 
        อย่างไรก็ตาม ถ้าติดตามข่าวสารอย่างลงรายละเอียดจะพบว่า ทั้งรัฐบาลโดยดีอีเอสและ กทม. ต่างมีการประสานงานและหารือกับ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง SMS แบบ Location Based Service หรือระบบ Cell Broadcast ล้วนเป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่ กสทช. ได้ดำเนินการพัฒนามาก่อนแล้ว กรอบระยะเวลาที่ดีอีเอสประกาศออกมาก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จของการดำเนินการของ กสทช. นั่นเอง 
        เท่าที่มีการให้ข่าวสารข้อมูลจากทางฟาก กสทช. กลไกและการทำงานของระบบ Cell Broadcast จะประกอบด้วย 1) การทำ command center เพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ส่งอย่างไร ซึ่ง กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2) การอัปเดตซอฟต์แวร์ที่กระจายส่งสัญญาณให้ใช้ cell broadcast ได้ นอกจากนั้นจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์และปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ของเสาสัญญาณที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนของทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาระบบที่ผ่านมาล่าช้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกระแสเสียงเรียกหาระบบเตือนภัยขึ้นมาในระลอกล่าสุดนี้ กสทช. ก็ตั้งใจที่จะใช้งบประมาณจากกองทุน USO หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนในเรื่องนี้ 
        ดูเหมือนว่า ด้วยการยืนยันของรัฐบาลนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ทำให้กระแสเสียงเรียกร้องแผ่วจางไป ส่วนหนึ่งอาจถือว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการรอคอยให้ถึงกำหนดเวลา 
        แน่นอนว่า หากถึงเวลาที่กำหนดและระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีและไม่มีอันใดต้องโต้แย้ง แต่หากพิจารณาจากสิ่งต่างๆ เท่าที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐให้ข้อมูล จุดเพ่งเล็งอยู่ที่ระบบในเชิงเทคนิคเป็นหลัก แต่ในส่วนของระบบการบริการจัดการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้มีการให้น้ำหนัก 
        มีเพียงรองผู้ว่า กทม. ผศ. ทวิดา กมลเวชช ที่กล่าวถึงมิติงานในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ทำนองว่า ในส่วนการบริหารจัดการฝั่งผู้ให้บริการทางเทคนิคจะมี กสทช. เป็นแกนกำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทางผู้ให้บริการในเรื่องการเชื่อมต่อระบบและการกระจายสัญญาณ แต่ในส่วนการสั่งการ ภาครัฐยังต้องไปหารือกันว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานใด โดยเฉพาะงานสำคัญอย่างการคัดกรองข้อความแจ้งเตือน และอีกส่วนที่สำคัญคือ การบริหารจัดการคนและพื้นที่เกิดเหตุให้สามารถรองรับได้ 
        ปัญหาคือ หากเป็นการดำเนินการโดย กทม. ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ก็คงทำได้ไม่ถึงระบบแห่งชาติ 
        ประเด็นข้อความต้นทางที่จะสื่อสารออกไปถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อนหลายมิติ จำเป็นต้องมีการคัดกรอง ไม่เพียงแต่ว่าจะเป็นเนื้อหาลักษณะใด หากแต่ต้องเลือกสรรตั้งแต่ในระดับว่าจะแจ้งเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องเป็นลักษณะการเตือนภัยแบบใด ล่วงหน้าหรือฉุกเฉินย่อมต่างกัน 
        ส่วนข้อความก็ต้องมีทั้งความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ มีเนื้อหาอยู่ในกรอบที่สมดุลและเหมาะสม ในความหมายที่ว่ามีการให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเป็นการเตือนภัยและให้คำแนะนำที่จำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจจนเกิดความสับสนอลหม่าน ยังไม่นับเรื่องปลีกย่อยเช่นเรื่องภาษาที่จะใช้ในการแจ้งและเตือนภัย 
        ยังไม่นับถึงต้นทางความมีอยู่ของข้อมูล ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจจัดได้ว่ายังมีความบกพร่องไม่น้อย ในบางด้านจัดได้ว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ยกตัวอย่าง ในส่วนของอุบัติภัยด้านมลพิษและเคมี ยามที่เกิดไฟไหม้หรือการระเบิดในโรงงาน หน่วยงานรัฐไม่ได้มีฐานข้อมูลที่จะทราบได้โดยทันทีว่า โรงงานแห่งนั้นๆ มีสารเคมีใดอยู่บ้าง หรือเป็นแหล่งก่อเกิดมลพิษชนิดใด โดยทั่วไปข้อมูลพื้นฐานเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ เท่าที่มีก็เป็นส่วนๆ กระจัดกระจายอยู่กับหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นการจะไปถึงขั้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวหรือป้องกันอันตรายแก่ผู้ประสบเหตุ ซึ่งต้องการข้อมูลเชิงองค์ความรู้ที่มากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นเรื่องเกินจะทำได้จริง 
        เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในกรณี “โรงงานหมิงตี้ฯ” และ “โรงงานอินโดรามาฯ” ล้วนเป็นประจักษ์หลักฐานที่เด่นชัดถึงความขาดพร่องในเรื่องข้อมูลด้านนี้ การพัฒนาระบบ PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) หรือข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มกระทั่งนับหนึ่ง เนื่องจากร่างกฎหมายที่เคยมีการนำเสนอก็ถูกนายกรัฐมนตรีคนก่อนปัดตกไป ในขณะที่ยังไม่เห็นวิสัยทัศน์ใดๆ ในเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลนี้ 
        ความพร้อมในส่วนของเนื้อหาและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามได้ เพราะถ้าประเทศไทยจะมีระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศเพียงส่วนของระบบสื่อสาร แต่ไม่มี “สาร” ดีๆ และเหมาะสมที่จะส่งออกไป ระบบดังกล่าวก็คงไม่มีความหมาย 
        เรื่องของการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยเหตุฉุกเฉินของประเทศจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของ กสทช. หรือแม้แต่ดีอีเอส แต่ต้องการการบูรณาการหลายหลากหน่วยงาน และต้องการเจ้าภาพที่ชัดเจนซึ่งดูแลงานในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยต้องเริ่มจากการมีเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาล รวมถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจครบถ้วนด้วย

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค Cell Broadcast กสทช SMS มือถือ แจ้งเตือน

ฉบับที่ 278 ‘ออมทอง’ vs ‘กองทุนทอง’ (1) ไม่ต้องมีเงินก้อนก็ซื้อทองได้

        ณ เวลาที่เคาะแป้นพิมพ์อยู่ ราคาขายทองรูปพรรณตกราวๆ บาทละ 41,000 บาทไปแล้ว ใครเห็นราคาแล้วเป็นต้องตกใจและเสียใจที่ไม่ได้ซื้อทองตอนราคาต่ำกว่านี้ ไม่ต้องเสียใจหรอก ไม่ว่ากับสินทรัพย์อะไรก็มักเป็นอย่างนี้เสมอแหละ         ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ถูกแนะนำให้มีติดพอร์ตไว้เพราะมันช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ตอนปี 2540 ราคาทองคำคือ 4,869 บาท 27 ปีผ่านไปราคาพุ่งขึ้นมาเกือบ 10 เท่า เห็นได้ว่าทองคำมันก็ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอัตราเงินเฟ้อ การถือครองทรัพย์สินเป็นทองคำจึงเท่ากับลดความเสี่ยงของพอร์ตสินทรัพย์ทั้งหมด        คำถามมีอยู่ว่า ถ้าฉันจะซื้อทองใส่พอร์ตต้องทำยังไง?         คำถามเหมือนง่าย...ก็เอาเงินไปซื้อทองสิ แต่คำตอบยากกว่าที่คิด สิ่งแรกคือคุณต้องมีเงินก้อนเกือบๆ ครึ่งแสนถ้าคิดจะซื้อทองรูปพรรณหนัก 1 บาท ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินเยอะขนาดนั้น ปัญหาต่อมา สมมติว่าคุณมีเงินซื้อการเก็บรักษาทองคำให้ปลอดภัยก็ดูยุ่งยาก การแขวนไว้ที่คอเป็นทางเลือกแรกๆ ที่หลายคนคิด แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่ามันก็เหมือนแขวนเหยื่อล่ออาชญากรไว้ที่คอ หรือต่อให้เก็บไว้ที่บ้านก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะปลอดภัย คนรวยๆ เลยใช้วิธีเอาทองไปเก็บไว้ที่ธนาคารที่มีบริการตู้เซฟแบบที่เห็นในหนังนั่นแหละ ถามว่าคุณมีทองและเงินมากพอจะทำหรือเปล่า ถ้ามี การเก็บรักษาทองคำก็ไม่เป็นปัญหาอะไรนัก         แต่ระบบทุนนิยมก็ช่วยแก้ปัญหาให้คนที่อยากเก็บทองคำไว้ในพอร์ตโดยลดความยุ่งยากที่ว่ามาข้างต้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือออมทองกับซื้อกองทุนทองคำ         โดยข้อดีของ 2 วิธีนี้ก็คือคุณไม่จำเป็นต้องมีเงินสี่ซ้าห้าหมื่นหอบไปซื้อทองที่ร้าน แต่สามารถค่อยๆ ซื้อตามกำลังเงินในมือได้ตามมูลค่าขั้นต่ำที่ร้านทองหรือกองทุนทองนั้นๆ กำหนด บางทีมีแค่ 100 เดียวก็ซื้อทองได้แล้ว         100 อาจจะได้ทองคำประมาณหนวดกุ้ง แต่คุณไม่ต้องสะดุ้งจนเรือนไหวกลัวใครจะปล้น ที่สำคัญคือคุณสามารถใช้วิธีเดียวกับการลงทุนหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ นั่นก็คือ DCA หรือ Dollar Cost Average หรือการซื้อทุกเดือนด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งก็ได้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกับการซื้อทองคำแท่งด้วยตนเอง แต่สะดวกกว่า         ปัญหาอยู่ที่ว่าจะซื้อออมทองหรือทยอยซื้อทองทุกเดือนๆ หรือจะซื้อผ่านกองทุนทองคำดี         ไว้มาติดตามกันต่อตอนหน้า

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 ดังในเรื่องไม่ดี

        315 Gala รายการแฉผู้ประกอบการ “ยอดแย่” ประจำปีที่ออกอากาศในคืนวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาหรือวันสิทธิผู้บริโภคสากล ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของจีน (China Central Television หรือ CCTV) มีผู้ชมไม่ต่ำกว่า 70 ล้านคน ยังไม่นับอีกกว่า 1,560 ล้านวิวในเวยป๋อ         เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ถูก “ฟีเจอร์” ในรายการนี้จะถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบดำเนินคดี แถมยังอาจถูกบอยคอตจากผู้บริโภคไปอีกนานด้วย        มาดูกันว่าปฏิบัติการซ่อนกล้องของ CCTV ประจำปี 2024 มีอะไรน่าสนใจบ้าง         เริ่มต้นกันที่ผลิตภัณฑ์อาหาร กระแสต่อต้าน “อาหารพร้อมทาน”​ ในประเทศจีนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีก่อน ทีมงานจึงเลือกเปิดโปงการใช้เนื้อหมูที่ชำแหละอย่างไม่ถูกต้องตามหลักอนามัยของผลิตภัณฑ์ “หมูสามชั้นตุ๋นผักดอง” ของผู้ประกอบการรายหนึ่ง         นักข่าวของ CCTV พบว่าเนื้อหมูที่ใช้เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างส่วนหัวและตัวของหมู ซึ่งมีทั้งต่อมน้ำเหลืองและต่อมไทรอยด์ที่มีฮอร์โมนเป็นพิษต่อคนกิน กฎหมายจีนได้กำหนดกระบวนการเฉพาะเพื่อจัดการกับเนื้อส่วนดังกล่าวให้สะอาดปลอดความเป็นพิษ แต่โรงงานผลิตซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลอานฮุยและเคยถูกปรับจากความผิดนี้มาแล้วก็ยังไม่ปรับปรุงแก้ไข            เมนูนี้เป็นอาหารซิกเนเจอร์ของมณฑลกวางตุ้ง จึงสร้างความขุ่นเคืองใจให้ผู้คนในแถบนั้นที่ต้องเสียหน้าและผู้บริโภคทั่วประเทศที่ต้องเยงต่ออันตรายด้วย         จากเรื่องของอาหารมาดูที่เครื่องดื่มกันบ้าง ถ้าถามคนจีนตอนนี้สุราขาวที่ราคาแพงที่สุดของประเทศเขา มันไม่ใช่ “กุ้ยโจวเหมาไถ” ที่เรารู้จักกันดีเสียแล้ว           สุราหน้าใหม่ในบู๊ลิ้มที่เข้ามาชิงบัลลังก์สุราไฮเอนด์ได้แก่ “Ting Hua” ที่ขายปลีกในราคาขวดละไม่ต่ำกว่า 50,000 หยวน (ประมาณ 254,000 บาท) แบรนด์นี้ทำการตลาดหนักมาก ไม่ว่าจะไปไหนก็เห็นโฆษณาของเขา ทั้งในลิฟท์ นิตยสารบนเครื่องบิน แถมชาวเน็ตตาดียังบอกว่าแม้แต่ CCTV ที่กล่าวหาว่าเขาโฆษณาหลอกลวงก็ยังเคยฉายโฆษณาของเขาด้วยและที่เป็นประเด็นก็คือการโฆษณาเกินจริงของเขานี่เอง ทีมงาน 315 Gala ที่แยกย้ายกันไปไปสืบเสาะตามร้านค้าปลีกหลายแห่ง พบว่าพนักงานขายให้ข้อมูลกับลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถรักษาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ แถมยังบอกว่าส่วนผสมที่ “จดทะเบียนการค้า” เป็นส่วนผสมระหว่างแอลกอฮอลและสารให้ความเย็นชนิดหนึ่ง แต่เมื่อตรวจสอบกับหน่วยงานรัฐก็พบว่ามีเพียงการ “ยื่นขอ” จดทะเบียน แต่ยังไม่มีการ “รับจดทะเบียน” แต่อย่างใด และสารที่ว่าก็ไม่ใช่อะไรอื่น มันคือใบมินต์หรือสะระแหน่นั่นเอง         บริษัทรีบออกมาบอกกับสังคมว่าได้เก็บสินค้าทั้งหมดออกจากร้านค้าออนไลน์ และได้ตั้งทีมสืบสวนพิเศษเพื่อสืบหาการกระทำที่ผิดกฎหมายของลูกจ้างแล้ว ... แหม่         มาถึง “อุปกรณ์ช่วยโกง” แบบไฮเทคที่แม้จะน่ากลัวแต่กลับหาซื้อกันได้ไม่ยาก         ทีมสำรวจพบว่าเมนบอร์ดสำหรับโทรศัพท์มือถือที่สามารถควบคุมโทรศัพท์เครื่องอื่นได้ถึง 20 เครื่อง ที่มีหมายเลข IP ต่างกัน สามารถหาซื้อได้ในราคาตั้งแต่ 3,000 ถึง 6,000 หยวน (ประมาณ 15,200 ถึง 30,500 บาท) และถ้าเป็นมือสองก็อาจจะลดลงมาเหลือแค่ 100 หยวน (หรือ 500 บาท) เท่านั้น แถมยังพบว่าถ้าใช้เครื่องมือนี้หลายตัวพร้อมกันจะสามารถควบคุมเกม จำนวนโพสต์หรือแม้แต่การโหวตออนไลน์ได้ด้วย  เพราะมันใช้ง่ายเหมือนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ จึงมีคนนิยมซื้อไปใช้เพื่อดึงดูดลูกค้า สร้างโฆษณาในแพลตฟอร์ม ทำคลิปวิดีโอและยังสามารถเปลี่ยน IP ของวิดีโอ ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มหรือหน่วยงานราชการไม่สามารถตรวจเจอ จึงสามารถส่งลิงก์จำนวนมากได้โดยไม่ถูกระงับการใช้งานด้วย เรียกว่างานหลอกลวงเป็นทางของเขาเลยทีเดียว          คราวนี้เรามาดู “อุปกรณ์” ที่ใช้ไม่ได้ตามที่ควรจะเป็นกันบ้าง         ประเทศจีนมีข่าวพาดหัวเกี่ยวกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ค่อนข้างบ่อย ถังดับเพลิงจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ         ทีมงานปลอมตัวเป็นลูกค้าไปหาซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวจากร้านขายส่ง พวกเขาพบว่าหลายร้านจำหน่ายสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น จะต้องมีแอมโมเนียมดีไฮโดรเจนฟอสเฟตร้อยละ 75 แต่ผู้ค้าบางรายปรับลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 20 เพื่อจะได้ขายในราคาถูกลง         ตามกฎหมายของจีน อาคารและพื้นที่สาธารณะจะต้องมีถังดับเพลิง แต่เมื่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบออกไปตรวจสอบกลับพบว่าใบรับรองความปลอดภัยโดยผู้ผลิตนั้นเป็นของปลอม และถังดับเพลิงที่ติดตั้งนั้นจะมีทั้งแบบที่ผ่านและไม่ผ่านมาตรฐานปะปนกัน ประมาณว่าเอาไว้หลอกผู้ตรวจ ที่พีคสุดคือมีร้านหนึ่งบอกกับทีมงาน (ซึ่งเขาคิดว่าเป็นลูกค้า) ว่า “มันดับไฟไม่ได้หรอก ยิ่งพ่นไฟก็ยิ่งลาม” คนฟังก็ช็อคจนขำไม่ออก         แน่นอนว่าตอนนี้รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจทุกร้านที่ถูกพาดพิงในวิดีโอดังกล่าวแล้ว         เรื่องสุดท้ายว่าด้วยค่าธรรมเนียมตามหาเนื้อคู่         หนุ่มสาวจีนหลายคนเลือกใช้บริการหาคู่ออนไลน์เพราะทำแต่งานจนไม่มีเวลาออกไปคบหาดูใจกับใคร แต่การสืบเสาะโดยทีมจาก CCTV พบว่าบริษัทเหล่านี้หลอกเอาเงิน (แม้จะเป็นจำนวนไม่มาก) จากผู้ใช้บริการด้วยการสัญญาว่าเขาหรือเธอจะได้เจอรักแท้ พ่อสื่อแม่สื่อมืออาชีพเหล่านี้ (ซึ่งดูไปคล้ายเซลล์ขายสินค้ามากกว่า) ถูกฝึกมาให้สืบหาพื้นหลังทางการเงินของลูกค้าก่อนจะรับเข้าเป็นสมาชิกผู้ใช้บริการ จากนั้นก็จะล้างสมองให้เชื่อว่าเว็บหาคู่ของเขานี่แหละคือทางออกสุดท้าย ว่าแล้วก็จัดหา “เนื้อคู่ทิพย์” ขึ้นมา         หลังถูกเปิดโปง เว็บ jiayuan.com ซึ่งเป็นพื้นที่พบปะกันระหว่างลูกค้ากับพ่อสื่อแม่สื่อได้ยุติการดำเนินการแล้ว ก่อนหน้านี้เว็บดังกล่าวเป็นสปอนเซอร์ให้กับรายการหาคู่ชื่อดัง “ถ้าเธอคือคนที่ใช่” ที่คนดูก็รู้กันอยู่ว่าเตี๊ยมกันมาทั้งนั้น         หลายคนมองว่าการซ่อนกล้อง ปลอมตัว หรือบุกจับ ของรายการนี้เป็นการเล่นใหญ่เพื่อเอาเรตติ้ง ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน แต่อีกหลายคนก็สะใจที่เห็นคนทำผิดถูกลงโทษ อย่างน้อยมีสักครั้งในหนึ่งปีที่ผู้บริโภคได้รู้สึกว่า “คืนนี้เป็นคืนของฉัน”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 รวมมิตรปัญหา SMS (1)

        เมื่อราว 15 ปีก่อน ในขณะที่มีการร่างกฎหมาย กสทช. หรือพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ได้มีการปรารภเรื่องปัญหาการได้รับ sms หรือข้อความสั้นที่ส่งมาทางโทรศัพท์มือถือ บทบัญญัติหนึ่งจึงถูกบรรจุไว้ในวรรคท้ายของมาตรา 31 ความว่า         “ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ดำเนินการใด ๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ให้ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้”         จะเห็นได้ว่า ข้อความสำคัญ นอกเหนือจากคำว่า “การใช้เครือข่าย” แล้ว ยังมี “การโฆษณาอันมีลักษณะการค้ากำไรเกินควร” และ “ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ” ซึ่งสะท้อนและตอกย้ำอย่างเข้าเป้าว่า บทบัญญัตินี้มุ่งให้ กสทช. วางมาตรการแก้ไขปัญหา sms เป็นการเฉพาะ เพียงแต่ก็ไม่ได้จำกัดสำหรับปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดจากการใช้เครือข่าย หรือมีลักษณะเข้าตามข้อความสำคัญที่เหลือด้วย         ตรงกับข้อเท็จจริงในยุคนั้น ที่ปัญหาหลักๆ แล้วยังเป็นเรื่องของ sms รบกวน หรือที่บางคนเรียกว่า “sms ขยะ” ซึ่งสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคตรงตามตัว นั่นคือทำให้ถูกรบกวน         ส่วนปัญหา sms ที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า sms กินเงิน แม้ในขณะนั้นก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ยังมีลักษณะเป็นการให้บริการข้อมูลข่าวสารค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นข่าวด่วนข่าวร้อน คำทำนายดวง ใบ้หวย หรือคลิปเด็ดต่างๆ ฯลฯ รูปแบบจึงเป็นการคิดค่าบริการจากทุกๆ ข้อความสั้นที่มีการส่งเข้ามายังเครื่องมือถือของผู้รับ ในฐานะเป็นราคาของข้อมูลข่าวสารนั้นๆ บวกรวมด้วยค่าส่ง คิดออกมาเป็นราคาเหมาข้อความละเท่าไรก็ว่าไป หรือในยุคแรก บางกรณีก็คิดเป็นรายเดือน หรือรายสัปดาห์ รายวัน         ในยุคแรกนั้น แม้ปัญหากรณี sms กินเงินจะเกิดขึ้นแพร่หลายในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เกิดกว้างขวางจนถึงกับว่า ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือต่างประสบปัญหากันถ้วนหน้า ไม่เลือกยากดีมีจน เหมือนในช่วงเวลาต่อมา         โดยลักษณะปัญหา sms ในยุคแรกที่ผู้บริโภคประสบมักเกี่ยวข้องกับการได้รับข้อความจนรำคาญ ซ้ำร้ายยังถูกเรียกเก็บเงินด้วย การถูกหลอกล่อเข้าสู่บริการด้วยคำว่า “ทดลองใช้ฟรี ... วัน” แต่เมื่อครบเวลาแล้วก็กลายเป็นการเข้าสู่บริการแบบเสียเงินโดยอัตโนมัติ ไม่มีการสอบถามใหม่ กลายเป็นภาระให้ผู้บริโภคต้องเป็นฝ่ายหาทางตอบปฏิเสธ หรือบางกรณีไม่มีช่องทางให้ปฏิเสธด้วยซ้ำ หรือมีช่องทางที่ต้องดำเนินการยุ่งยาก และเมื่อทำแล้วไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ได้ เช่น ไม่มีคนรับสาย แจ้งไปแล้วแต่ยกเลิกไม่สำเร็จ บางกรณีก็เป็นการยัดเยียดบริการโดยผู้บริโภคไม่มีสิทธิเลือกหรือตัดสินใจว่าจะตอบรับหรือไม่         แม้ปัญหา sms รบกวนและ sms คิดเงินจะเป็นเรื่องที่ผู้คนเอือมระอากันอย่างยิ่ง จนถึงกับมีการระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งองค์กร กสทช. ดังกล่าวอย่างไรก็ตาม กระทั่งมีการตรากฎหมายออกมาบังคับใช้แล้ว และ กสทช. ได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้ว แต่ไม่เพียงปัญหาเดิมไม่หมดไป ทว่ากลับมีการพัฒนาสู่ปัญหาที่รุนแรงขึ้น ทั้งในส่วนของปัญหาลักษณะเดิม โดยเฉพาะ sms กินเงินที่มาในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ยัดเยียดหนักกว่าเดิม และเน้นให้ปลายทางไม่รู้ตัว         เรื่องการก่อความรำคาญจึงซาลง ในขณะที่เรื่องการสูญเสียค่าบริการเพิ่มแบบไม่รู้ตัวเกิดมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในระบบจ่ายรายเดือนหรือระบบเติมเงิน และส่วนใหญ่มักรู้ตัวเมื่อสูญเงินไปมากระดับหนึ่งแล้ว เช่น เกิดการผิดสังเกตว่า เงินที่เติมเข้าไปในระบบหายวับหรือหมดไปอย่างรวดเร็ว หรือตระหนักได้ว่าค่าบริการรายเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่ได้เปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย         นอกจากนั้น ในระยะสองสามปีหลังนี้ยังมีปัญหามิติใหม่เพิ่มเติมด้วย คือปัญหา sms หลอกลวง         ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า พัฒนาการของปัญหา sms มีลักษณะรุนแรงขึ้นและก่อความเสียหายได้หนักหน่วงขึ้นด้วย จากที่เพียงเป็นพวกข้อความโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่สร้างความรบกวนชวนรำคาญ กลายมาเป็นเหตุให้เสียเงินค่าบริการ กระทั่งกลายเป็นตัวเชื่อมต่อให้เกิดการหลอกลวงเอาทรัพย์สินถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวได้ และบางกรณีอาจสร้างความเสียหายอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นการหลอกลวงด้านความสัมพันธ์         ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหานั้น ก็พลอยซับซ้อนและยุ่งยากขึ้นไปด้วย จากเดิมที่เคย (น่าจะ) แก้ได้ด้วยมาตรการปิดกั้น หรือการจัดทำระบบข้อมูลผู้ประสงค์หรือไม่ประสงค์จะรับสายหรือ sms โฆษณาหรือเชิญชวนให้ซื้อสินค้าและบริการ ดังที่ในต่างประเทศทำกัน ที่เรียกว่า Do Not Call Register ซึ่งในภายหลังมีการพัฒนามาเป็น Do not Originate List         ทั้งที่มาตรการดังกล่าวยังคงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในประเทศไทย แต่ถึงวันนี้กลับกลายเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอสำหรับกรณีปัญหา sms หลอกลวง ไปเสียแล้ว         ส่วนมาตรการทางกฎหมายตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บัญญัติไว้ ว่าให้มี หลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด” นั้น หลังจากผ่านช่วงระยะเวลาแรกแห่งการถูกเพิกเฉยละเลยเกือบ 5 ปี ในที่สุดก็มีการตราออกมาเป็นประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558         อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจริง ประกาศดังกล่าวก็ถูกนำมาบังคับใช้น้อยมาก ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่จะได้ขยายความในตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 3 เรื่องโซลาร์เซลล์บนหลังคา : จากบ้านตัวเองถึงเวียดนามและแอฟริกาใต้

หนึ่ง หลังคาบ้านตนเอง แบบไหนละติดตั้งแล้วคุ้มทุน        สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเองด้วยระบบที่เรียกว่า “หักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering” ซึ่งเป็นระบบที่ลงทุนที่ประหยัดที่สุด ที่ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์เพิ่ม แต่ใช้มิเตอร์ตัวเดิมแบบจานหมุนที่มีอยู่แล้วเพราะไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทางอยู่แล้ว พูดง่ายๆก็คือเป็นการแลกไฟฟ้ากันระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้า  เมื่อถึงเวลาคิดบัญชีรายเดือน หากไฟฟ้าจากสายส่งไหลเข้าบ้านมากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้าน เจ้าของบ้านก็จ่ายเพิ่มเฉพาะในส่วนที่เกิน ระบบนี้มีการใช้กันประมาณ 68 ประเทศทั่วโลก  รัฐบาลไทยเราก็เคยมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการไปแล้วเมื่อ 27 กันยายน 2565 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้และได้รายงานคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา         ความจริงเมื่อประมาณ 4-5 ปีมาแล้ว กระทรวงพลังงานเคยออกระเบียบเพื่อรับซื้อไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ขายไฟฟ้าให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4 บาทกว่าๆ นอกจากนี้ยังรับซื้อเป็นเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น (ภายหลังได้ขยายเพิ่มเป็น 10 ปี)  ทั้ง ๆที่อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์อยู่ได้นานถึง 25 ปี ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน หรือเรียกว่าล้มเหลวก็ว่า เพราะ รับซื้อในราคาต่ำเกินไป ต่ำกว่าที่รับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มเสียอีก และรับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น         ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 2 ประการ คือ (1) ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม (2) ค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาลดลงจากเมื่อ 4-5 ปีก่อน   (3)  เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ทุกวันนี้มีอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้น หากเราติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองจำนวนหนึ่ง จึงถือเป็นการตัดยอดจำนวนไฟฟ้าที่ต้องซื้อลง  อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยก็จะถูกตามลงมาด้วย ผมจึงขอเสนอแนวคิดที่ปฏิบัติได้จริงมาให้ผู้อ่านพิจารณา         ผมขอยกตัวอย่างจริงนะครับ สมมุติว่า เราใช้ไฟฟ้าจำนวน 800 หน่วยต่อเดือน (บ้านชนชั้นกลางที่อยู่กัน 4-5 คน) ถ้าเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 เราจะต้องจ่าย (ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม) จำนวน  3,909.53  บาท เฉลี่ย  4.89 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเราใช้เพียง 470 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้า 2,207.98 บาท เฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย  ต่างกัน 19 สตางค์ต่อหน่วย จำนวนไฟฟ้าที่หายไป 330 หน่วย ทำให้เราจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง 1,701.55 บาท (เฉลี่ย 5.16 บาทต่อหน่วย)  ไฟฟ้าส่วนที่หายไปนี้มาจากการคิดว่า เราสามารถผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่ง 1 กิโลวัตต์จะผลิตได้ปีละ 1,320 หน่วย หรือเดือนละ 110 หน่วย นั่นเอง         คราวนี้เราเห็นแล้วนะครับว่า ยอดหน่วยไฟฟ้าที่อยู่บน(คือหน่วยที่ 471-800) ราคา 5.16 บาทต่อหน่วย ในขณะที่  470 หน่วยแรก มีอัตรา 4.70 บาทต่อหน่วย   การคิดจุดคุ้มทุนสำหรับผู้อยู่บ้านตอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่         มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา (1) เรามีการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากแค่ไหน เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้อยู่ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงถึง  ถ้าใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้น้อยก็ไม่เกิดประโยชน์  (2) จะคุ้มทุนในเวลากี่ปี โดยสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เราสามารถผลิตได้เท่ากับ 5.16 บาทต่อหน่วย         เท่าที่ผมทราบต้นทุนในการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ในปัจจุบันประมาณ 95,000 บาท ด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานที่ทางการไฟฟ้ารับรอง แผงโซลาร์มีอายุการใช้งาน 25 ปี แต่อุปกรณ์บางชิ้นมีอายุการใช้งานประมาณ 12 ปี อาจจะต้องเปลี่ยนหรือลงทุนใหม่เฉพาะอุปกรณ์ชิ้นนั้น (คือ อินเวิร์ทเตอร์ราคาประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท) แต่เอาเถอะ ผมขอสมมุติว่าค่าลงทุนตลอดโครงการ 25 ปี ด้วยเงิน 95,000 บาท         ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ขนาด 1 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,320 หน่วย ดังนั้น ในเวลา 4.7 ปี โซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่า 3X1,320X5.16X4.7 เท่ากับ 96,038 บาท  หรือคุ้มทุนภายใน 56 เดือน แต่ขอย้ำนะครับว่า โครงการนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่บ้านตอนกลางวันและพยายามใช้ไฟฟ้าที่ตนผลิตได้ให้หมด เช่น เปิดแอร์ ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ        คราวนี้มาคิดกรณีที่บางท่านอาจจะไม่มีเงินลงทุน ก็มีทางออกครับ มีธนาคารอย่างน้อย 2 แห่ง ปล่อยเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 4.9% ต่อปี สมมุติว่าเรามีเงินดาวน์ 1.5 หมื่นบาท และผ่อนส่วนที่ต้องกู้ 80,000 บาทนาน 60 เดือน สิ้นเดือนแรกซึ่งเป็นเดือนที่ผ่อนมากที่สุดเท่ากับ 1,660 บาท(ในจำนวนนี้เป็นเงินต้น 1,333.33 บาท) เงินค่าไฟฟ้าที่เราลดลงมาได้เดือนละ 1,701.55 บาทก็เพียงพอกับค่าผ่อนครับ เมื่อครบ 60 เดือนเราก็ผ่อนหมด ที่เหลืออีก 20 ปีถือว่าเราได้ชุดโซลาร์เซลล์มาฟรีๆ น่าสนใจไหมครับ สอง รัฐบาลเวียดนามวางแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและสำนักงาน 50% ภายใน 2030         จากเรื่องที่หนึ่ง เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้พยายามกีดกันการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์โดยผู้บริโภค แต่รัฐบาลเวียดนาม โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP8 (ประกาศใช้เมื่อพฤษภาคม 2023 และใช้งานในช่วง 2021-2030)  ได้กำหนดว่า “อย่างน้อย 50% ของบ้านพักอาศัยและอาคารสำนักงานต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองภายในปี 2030” รวม 2,600 เมกะวัตต์ โดยใช้สายส่งที่มีอยู่แล้วซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่แต่อย่างใด(หน้า 5)         เล่ามาแค่นี้ ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนาม หมายเหตุ ถึง บก. กรุณาอย่าเลื่อนภาพไปที่อื่น เพราะผู้อ่านจะไม่เข้าใจกับเนื้อหาที่เขียนครับ         เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 คุณ Geordin Hill-Lewis นายกเทศมนตรีเมือง Cape Town (มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและอาคารพาณิชย์ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าดับเนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้ากันมากเกินในบางช่วงเวลา (Loadshedding) ก่อนหน้านี้ (ในช่วง 15 เดือนของปี 2022-2023) ชาวเมือง Cape Town ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพิ่มขึ้นถึง 349% (จาก 983 เมกะวัตต์เป็น 4,412 เมกะวัตต์-ข่าว Bloomberg)         นายกเทศมนตรียังกล่าวเสริมอีกว่า “Cape Town จะเป็นเมืองแรกที่ได้ปรับยุทธศาสตร์พลังงานอย่างเป็นทางการเพื่อยุติเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ และการกระทำที่สำคัญที่สุดคือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการจ้างงาน...ในระยะสั้นภายใน 2026 เราได้วางแผนป้องกันไฟฟ้าดับไว้ 4 ระยะคือ (1) เราได้เปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ที่วางใจไม่ได้ (2) จากการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีราคาแพงไปสู่การกระจายแหล่งอุปทาน (supply) ที่เชื่อถือได้ (3) ทำให้ราคาไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และ (4) นำไปสู่แหล่งพลังงานที่ทำให้เป็นกลางทางคาร์บอน”         ผมได้นำเสนอใน 3 เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคา คือ (1) การกีดกันโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของรัฐบาลไทย ด้วยเหตุผลต่างๆนานา และทางออกของผู้บริโภครายบุคคล (2) การส่งเสริมที่เป็นแผนพลังงานชาติของรัฐบาลเวียดนาม และ (3) การส่งเสริมของรัฐบาลแอฟริกาใต้และนายกเทศมนตรีเมือง Cape Town ครบถ้วนแล้วครับเพื่อเป็นการตอกย้ำในข้อมูลดังกล่าว ผมจึงขอตบท้ายด้วยข้อมูลเชิงสถิติ ถึงจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ต่อหัวประชากรของบางประเทศ ในปี 2014 กับ 2022  ดังภาพข้างล่างนี้         ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับข้อมูลนี้ครับ เมื่อปี 2014 เราเคยผลิตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่อีก 8 ปีต่อมา เรากลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงกว่า 2 เท่าตัว  นอกจากนี้ ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของไทย กว่าร้อยละ 98 ผลิตมาจากโซลาร์ฟาร์มซึ่งเป็นกลุ่มทุนพลังงาน แทนที่จะสนับสนุนผู้บริโภครายปัจเจกด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตนเองสาม ตัวอย่างจากเมือง Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ 

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)