แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค โน้ต์บุ๊ก โรงแรม ที่พัก ทรัพย์สิน
การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์นั้นไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล ต่างก็ต้องเสี่ยงกับเหล่ามิจฉาชีพที่คอยจ้องแฮ็กข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เพื่อรอจังหวะขโมยถอนเงินในบัญชีออกไปด้วยรูปแบบที่แนบเนียนและแยบยล จนมีหลายเคสที่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และผู้เสียหายเองก็ทำได้เพียงรอๆ ๆ ๆ คุณกิจเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่รอคอยอย่างมีความหวัง เขาเล่าว่าซื้อขายคริปโตฯ (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มบิทคับ (Bitkub) มาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยปกติจะ login ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาจำเป็นต้อง login ผ่านเว็บไซต์ ปรากฎว่าเขาต้อง login 2-3 รอบ ถึงจะเข้าบัญชีตัวเองได้ พอเข้าได้ปุ๊บก็มีข้อความเด้งขึ้นมาปั๊บว่า "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" เขางงมาก ใครถอน? ถอนไปได้ไง? เพราะเขายังไม่ได้สั่งถอนเหรียญ หรือสั่งทำอะไรเลยด้วยซ้ำ เขารีบเข้าไปดูในกระเป๋าตังค์ดิจิทัล แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพบว่าไม่มีเหรียญเหลืออยู่เลย เขาจึงติดต่อไปทางบริษัทบิทคับ ซึ่งแนะนำให้เขาไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ก่อน ทางบริษัทจึงจะเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลังข้างในให้ได้ เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจขอนแก่น และแจ้งตำรวจออนไลน์ด้วย หลังจากนั้นทางบริษัทได้ส่งหลักฐานการทำธุรกรรมมาให้ พบว่าเหรียญของเขาทั้งหมดถูกขายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะถูกนำไปซื้อเหรียญใหม่แล้วถอนออกไปทันที คุณกิจพยายามทำทุกหนทางที่ทำได้ เขาติดต่อตำรวจออนไลน์อยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ จึงไปให้สถานีตำรวจที่ขอนแก่นติดต่อให้ หลังจากนั้นตำรวจออนไลน์จากส่วนกลางได้ทำเรื่องมายังสถานีตำรวจขอนแก่นให้สอบสวนเรื่องนี้ เขาได้ไปให้ปากคำพร้อมมอบหลักฐานทั้งหมดไปแล้ว แต่เขาไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะดูเหมือนการดำเนินการค่อนข้างช้า เขาจึงไลน์มาเพื่อปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อกลับไปยังคุณกิจเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จึงทราบว่าทางตำรวจ สภ.ขอนแก่นได้ขอให้คุณกิจส่งสำเนาเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปให้เพิ่มเติม ซึ่งเขาก็จัดการเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว และยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าของคดีอยู่ทุกสัปดาห์ด้วย แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิมว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสื่อถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในกรณีนี้ ซึ่งทางสำนักงาน กลต.ติดต่อกลับมาว่าได้รับเรื่องร้องเรียนนี้และประสานไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้นจะแจ้งกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการคริปโตฯ ว่า เคสแบบนี้ต้องตามกันยาวนานเป็นปีๆ ทีเดียว
การพักอาศัยอยู่ใกล้ทางสาธารณะอาจจะมีปัญหาได้เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต เช่นเรื่องราวของคุณนัด ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมู่ 2 ถนนกาญจนวนิช ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามานานนับสิบปี โดยหน้าบ้านของคุณนัดนั้นมีเสาไฟฟ้าถึง 3 เสา คุณนัดไม่คิดว่า เสาไฟหน้าบ้านที่มีมานานจะเป็นอันตรายได้ จนเมื่อแขวงการทางได้ยกระดับทางหน้าบ้านให้สูงขึ้นอีกราว 2 เมตร นั่นจึงทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ถูกต้องตามมาตรฐานคือสูงกว่าระดับพื้น 4 เมตร กลับเป็นหม้อแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะสูงกว่าระดับพื้นเพียง 2 เมตร! สถานการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อนานวันสายไฟ สายสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งและพาดผ่านหม้อแปลงและเสาไฟยิ่งมากขึ้น มากขึ้น กระจุก ยุ่งเหยิงอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้เดินผ่านสัญจรไปมา ยิ่งในช่วงหน้าฝนตกหรือพายุเข้าอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง เสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ และหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูดผู้คนบริเวณใกล้เคียงได้ คุณนัดอดรนทนเห็นต่อไม่ไหว จึงติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. เขตสงขลา) ให้เข้ามาจัดการสายไฟที่พะรุงพะรัง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแล้วก็ทำเพียงมัดรวมสายไว้ แต่นานวันเข้าสายไฟก็กลับมายุ่งเหมือนเดิม อีกทั้งคุณนัดยังได้แจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ขอให้ตรวจสอบและแก้ไข ยกหม้อแปลงขึ้นแต่กลับได้รับการชี้แจงว่า การย้ายระดับหม้อแปลงไฟฟ้า คุณนัดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อ้าว ! ทำไมภาระกลายมาเป็นของคุณนัด โดยค่าดำเนินการทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 78,056.50 บาท คุณนัดเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ผลักภาระที่จะต้องดำเนินการเองให้ประชาชนรับผิดชอบ จึงแจ้งมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังจากคุณนัดได้เข้ามาร้องเรียน และขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ความเดือดร้อนจากกรณีติดตั้งหม้อแปลงที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา จึงแนะนำให้คุณนัดทำหนังสือร้องเรียนปัญหาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาคุณนัดแจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตแล้ว จนล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 2566 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลาได้ติดต่อพูดคุยกับคุณนัดว่าจะเข้ามาดำเนินการให้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งตามมาตรฐาน ภายในเดือน ก.พ. 2567 ทั้งนี้ คุณนัดและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรอติดตามการทำงานครั้งนี้ต่อไป
จะทำอย่างไร เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถูกขโมยกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เงินสดและบัตรเครดิตหาย พอคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มเวียนหัวกับปัญหาที่จะตามมาแล้ว หนักไปกว่านั้นเมื่อในกระเป๋าเงินมีบัตรเครดิตอยู่ถึง 3 ใบ! เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณแยมเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ขณะคุณแยมและครอบครัว นั่งรับประทานอาหารกลางวันในร้าน KFC โดยได้วางกระเป๋าไว้ข้างๆ ตัว แต่...เพียงแค่ 10 นาที รู้ตัวอีกกระเป๋าก็หายไปแล้ว ในกระเป๋าใบนั้นมีทั้งเงินสด โทรศัพท์มือถือ พาสปอร์ต และบัตรเครดิตการ์ดอยู่ 3 ใบ คุณแยมตกใจมากจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนการระงับบัตรเครดิต เนื่องจากโทรศัพท์มือถือได้ถูกขโมยไปด้วย จึงแจ้งระงับบัตรเครดิตได้สำเร็จเมื่อเดินทางกลับถึงโรงแรมที่เข้าพัก เวลาระหว่างตั้งแต่บัตรหาย จนเมื่อคุณแยมได้โทรศัพท์แจ้งติดต่อธนาคารของทั้ง 3 บัตรเครดิต บัตรเครดิตทั้ง 3 ใบ มียอดการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งหมด บัตรใบที่ 1 (บัตรสีเงิน) มียอดใช้จ่าย 4-5 รายการ แล้วบัตรก็ถูกตัดไปเองโดยอัตโนมัติ บัตรใบที่ 2 ( สีน้ำเงิน) มียอดซื้อสินค้าราคา 15,000 บาท แต่เมื่อแจ้งปฏิเสธรายการไป ยอดก็ถูกยกเลิก แต่ปัญหาที่คุณแยมหนักใจ และอยากส่งเสียงบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบัตรที่ 3 (บัตรสีม่วง) เพราะเมื่อหายมียอดรูดบัตรราคาเท่า ๆ กัน ติดต่อกันถึง 24 ยอดเมื่อถึงโรงแรมแล้วจึงค่อยระงับได้ เมื่อกลับมาประเทศไทย คุณแยมจึงได้อีเมล์ถึงธนาคารของบัตรสีม่วงทันทีแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ คุณแยมจึงโทรไปทาง Call Center อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะมีการติดต่อกลับแต่ก็หายเงียบไป คุณแยมจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศเพื่อขอให้เข้ามากำกับดูแลการทำงานของธนาคารสีม่วง และหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัตรสีม่วงได้แจ้งว่าจะประนีประนอมการชำระหนี้ให้คุณแยม โดยให้ชำระ 50% (ประมาณ 18,000 บาท) และให้ตอบรับภายในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา คุณแยมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงไม่มีระบบป้องกันใดๆ ให้ผู้ถือบัตรเลย แม้จะเกิดการรูดบัตรเครดิต 24 ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติชัดเจน ก็ไม่มีระบบที่ช่วยระงับการใช้งานโดยอัตโนมัติ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Contactless โดยไร้สัมผัส ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต สมาร์ทวอทช์ ธนาคารต่างประเทศรวมถึงในประเทศด้วย ซึ่งหลายธนาคารได้มีระบบให้ใส่รหัสเพื่อตรวจพบการใช้บัตรผิดปกติแล้ว แต่ธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงก็ยังไม่มีระบบดังกล่าว คุณแยมจึงมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะการที่เธอต้องจ่ายเงิน ประมาณ 18,000 บาท จากการที่ธนาคารไม่มีระบบป้องกันและยังเป็นกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมยด้วย เธอมีหลักฐานการแจ้งความอย่างชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับเธอสุดๆ แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับคุณแยม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอแนะนำว่า 1.เมื่อบัตรเครดิตหาย ให้รีบโทรศัพท์อายัดบัตรกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือทันทีที่สามารถทำได้ 2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่เกิดเหตุ 3.ทำหนังสือขอปฏิเสธการชำระยอดเงิน พร้อมแนบใบแจ้งความ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมกันนี้ให้ทำสำเนาอีกชุด ส่งไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา 4. เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง สำหรับกรณีคุณแยม ขณะนี้ได้ทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินและรอคำตอบจากทางธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเรื่องไม่อาจยุติลงได้ คงต้องใช้กระบวนการทางศาลต่อไป
ช่วงนี้ในโลกออนไลน์มีผู้บริโภคหลายคน พบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารที่ซื้อมาบริโภคอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารในร้านสะดวกซื้อหรือแม้แต่ในร้านอาหารทั่วไป ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ทางมูลนิธิฯ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน ดังนั้นเสียงผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อจะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของคุณวีผู้เสียหายที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ โดยเขาได้เล่าให้ฟังว่า ได้ซื้อขนมเค้กแบรนด์ดังเจ้าหนึ่งมา 1 กล่อง (ภายในกล่องจะแยกขนมเป็นชิ้นๆ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กจำนวน 10 ชิ้น) จากร้านขายของชำแถวบ้าน เป็นขนมแบรนด์โปรดของคุณวีเลยแหละเพราะก็กินตั้งแต่เด็กจนโต หลังจากซื้อมาก็ได้รับประทานไปตามปกติแถมขนมก็ยังอร่อยเหมือนเดิมเลย แต่ด้วยความขนม 1 กล่องมีหลายชิ้น เลยกินไปเรื่อยๆ ไม่ได้กินครั้งเดียวจนหมด ทีนี้พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เขากลับมากินอีกครั้งฉีกซองออกมาก็เจอราสีขาวปนเขียวๆ ขึ้นอยู่บนขนม อ้าว! มันหมดอายุแล้วหรอ!(คุณวีคิด) เมื่อดูฉลากวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่หมดนะ จึงทำให้เขาเป็นกังวลและเลือกที่จะไม่บริโภคต่อ เขาได้นำผลิตภัณฑ์มาร้องเรียนและเปิดให้ทางมูลนิธิฯ ดู ซึ่งพบว่าขนมเค้กดังกล่าวขึ้นราอีก 4 ซอง ทีนี้คุณวีเลยเป็นกังวลเกรงว่าผู้บริโภครายอื่นจะได้รับปัญหาเช่นเดียวกัน จึงขอความช่วยเหลือว่าควรจะทำอย่างไรดี? แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางมูลนิธิฯ หลังจากได้รับเรื่องจากคุณวี ได้มีการแจ้งไปทางบริษัทดังกล่าวที่ผลิตสินค้าและได้นัดหมายเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีสินค้ามีลักษณะขึ้นราก่อนวันหมดอายุ ซึ่งทางผู้จัดการบริษัทดังกล่าวก็ยินดีที่จะชดเชยให้เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท พร้อมกับนำกระเช้าผลไม้และขนมเค้กดังกล่าว จำนวน 2 ลัง มามอบให้ เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงทำหนังสือขอโทษและแจ้งผลตรวจขนมดังกล่าวจากห้องแล็ปให้แก่ผู้เสียหายทราบด้วย ถือว่าทางบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์ ดังกล่าวให้แก้ไขปัญหา ดังนี้ 1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน เช่น ใบเสร็จจากร้านค้า 2. ไปพบแพทย์ตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน 3. นำหลักฐานแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ 4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) แจ้งความประสงค์ที่จะต้องการให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร 5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท เขียนสรุปปัญหาที่พบ ส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า ระบุให้ชัดเจนถึงความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น กรณีที่ไม่ได้จะนำสินค้าเก็บไว้เพื่อร้องเรียน หากผู้บริโภคเจอ “เชื้อรา” ปนเปื้อนในอาหาร ทางฉลาดซื้อไม่แนะนำให้รับประทานต่อให้ทิ้งไปเลย เนื่องจากตัวเชื้อราอาจมีการแพร่เชื้อไปโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากรับประทานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
ความคิดเห็น (0)