ฉบับที่ 267 “ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้”

        ประเทศเกาหลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมาก  นิยมกันไปทั้งแบบเดี่ยวและแบบกรุ๊ปทัวร์ โดยการท่องเที่ยวกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน การซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวย่อมสร้างความสะดวกให้มากกว่า จึงได้รับความนิยมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามทัวร์เกาหลีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวไปประเทศเกาหลีใต้หลายกรณีด้วยกัน หลายรายประสบปัญหาจากการซื้อทัวร์เกาหลี ทำให้สูญเงินหรือไม่ได้ท่องเที่ยวตามที่หวังไว้หลายลักษณะ  ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้ ฉลาดซื้อได้รับความกรุณาจาก คุณพฤกษ สามกษัตริย์ มาแบ่งปันเรื่องราวปัญหาที่ได้พบเจอจากการซื้อทัวร์เกาหลีใต้  มาติดตามกันเลยค่ะ



 
เหตุการณ์เริ่มเกิดขึ้นอย่างไร 
        เริ่มที่ผมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ตั้งใจจะไปเที่ยวเกาหลี ครอบครัวผมมีลูกและภรรยา ครอบครัวของเพื่อนก็เหมือนกัน รวม 3 ครอบครัว เราจะไปกัน 9 คน  ตัวผมไปมาหลายรอบแล้ว แต่เพราะจากสถานการณ์โควิดเราทราบว่ามีความยุ่งยาก ญาติพี่น้องเลยบอกว่า งั้นเราไปซื้อทัวร์แล้วกัน การไปเองมันเดินทางลำบาก ถ้าไปกับทัวร์ เราได้ขึ้นรถบัส มีเซอร์วิส บริการดี  แล้วราคาก็ถือว่ายุติธรรม  โปรแกรมที่ผมจะไปคือเดินทางช่วงกลางเดือนมีนาคม  5 วัน 3 คืน  บริษัททัวร์ที่เกิดปัญหาขึ้น ผมจองทัวร์กับเขาเพราะว่า มีคนที่รู้จักเคยไปมาแล้ว และแนะนำมาพอติดต่อไป บริษัทบอกว่า ตอนนี้เรามีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 จากราคาต่อคนที่ 30,999 บาท เฉลี่ยลดลงมาที่ 17,499  จัดโปร 4 ชุด บวกกับอีก 1 คน  ราคาคำนวณทั้งหมดคือ 151,796 บาท 
        ทีนี้ผมทราบว่า ก่อนเดินทางต้องมีลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาก็บอกว่า  ใช่ค่ะ ต้องทำคะ แต่จะรบกวนจองทัวร์เข้ามาก่อนได้ไหม  เพราะว่าเดี๋ยวโปรมันจะหมดเราเลยบอกว่า ได้ๆ เดี๋ยวผมจะเริ่มโอนตังค์มาให้”   เขาเลยบอกว่า ขอเก็บเต็มจำนวนเลย เพราะว่าเวลาเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ผมเลยโอนเต็มจำนวนไปเลย 151,796 บาท
 
แล้วปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่
        เริ่มเกิดในขั้นตอนลงทะเบียน K-ETA บริษัททัวร์บอกว่า เดี๋ยวเขาทำให้ มันจะได้ผ่านง่ายเป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกันหมด แล้วเขาก็คิดเงินค่าดำเนินการคนละประมาณ  350 บาท ผมก็ส่งรายละเอียด ทั้ง 9 คนไปให้ คือครอบครัวผมและครอบครัวเพื่อนๆ ไป 3 ครอบครัว ปรากฏลงทะเบียน K-ETA ส่งไป 9 คน  คนที่ผ่าน  มี 4 คนครับ คือมีผมคนเดียวและเด็กอีกคน  กลายเป็นพ่อแม่ของที่เหลือไม่ผ่านกันสักคน ผมเลยบอกว่า อ้าว แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทำยังไงถ้าไม่ผ่าน เขาก็แนะนำว่า อย่าทำรอบ 2 – 3 เลย   เพราะว่าถ้าทำ จะไม่ผ่านอยู่ดี แล้วทำได้แค่ 3 รอบ
 
การลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ครั้งนี้คือบริษัทลงให้   
        ผมส่งข้อมูลให้บริษัทลงให้  คือผมวางใจเพราะผมไปเที่ยวเกาหลีเองแล้วหลายครั้ง คือเราไม่ค่อยเป็นคนที่น่าสงสัย แล้วน้องๆ คนอื่นๆ ที่ไปด้วยกันคนอื่นๆ เป็นเจ้าของกิจการ ได้รายสูงทุกอย่างโปรไฟล์ดีมากๆ  เขาไปต่างประเทศมาเยอะมาก เพียงแต่ว่ายังไม่เคยเข้าประเทศเกาหลีใต้  ส่วนเด็กๆ เขาไม่มีประวัติอะไร  ผมเลยให้ข้อมูลไป  ทางบริษัททัวร์ก็บอกว่า ไม่น่ามีปัญหาค่ะ เดี๋ยวจัดการให้เลย แต่ผู้ใหญ่ไม่ผ่านสักคน  มีผมคนเดียว 
        แต่ถามว่าลงทะเบียน K-ETA  ไม่ผ่านเพราะอะไร  ผมกำลังสันนิษฐานว่า บางทีรูปไม่ชัดเพราะว่าเขาใช้ AI ตรวจ ไม่ได้ใช้คนตรวจ ผมรู้สึกได้เลยว่าบางรูปมันไม่ตรงปก เพราะเนื่องจากว่า เขาจะให้เราถ่ายรูปหน้าตรงพื้นหลังสีขาว  ใส่เสื้อสีขาวแล้วส่งไป รูปพวกนี้ เราดูด้วยตาเรายังรู้สึกเลยว่าไม่เป็นธรรมชาติ  แต่ทางบริษัททัวร์ที่ทำให้ เขาก็ไม่ช่วยเราติงว่า พี่คะ รูปมันไม่เคลียร์นะคะ  พี่คะ ช่วยถ่ายรูปใหม่ได้ไหมจะไม่มีข้อแนะนำใดๆ เลย เขาได้อะไรจากเรา  เขาก็เอาไปทำต่อเลย
 
พอเกิดปัญหา แล้วเริ่มแก้ไขอย่างไร 
        ผมก็ถามทางเจ้าหน้าที่ว่า สถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้วเราต้องทำยังไง  เราผ่านกันแค่ 4 คน  เขาบอกว่า ก็จะต้องไป 4 คน เราบอกว่า ไม่ได้สิ  ผมจะเอาลูกคนอื่นไปยังไง  พ่อแม่เขาต้องไปด้วย ทางทัวร์เลยบอกว่า  อย่างนั้นเท่ากับว่าผมยกเลิกซึ่งเงื่อนไขการยกเลิกของเขา คนที่ผ่านคือผมกับเด็กอีกคน จะได้รับเงินคืนแค่ครึ่งเดียว จะหัก 50%  ส่วนคนที่ไม่ผ่านถูกหักรายละ 500 บาท  ผมเลยบอกว่าในความเป็นจริง ทำไมคุณถึงไม่บอกว่าให้ลงทะเบียน K-ETA ก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจองทัวร์ ถูกไหม เพราะว่าถ้าคุณมีเงื่อนไขคืนครึ่งเดียวสำหรับคนที่ผ่าน แล้วถ้าเราจะไปเป็นบางคนมันเป็นไปไม่ได้แน่นอน เขาไม่แจ้ง เขาบอกว่ามันไม่ได้จริงๆ ค่ะ มันเป็นกฎ 
        ผมจึงแจ้งยกเลิกการเดินทาง ยกเลิกทัวร์และเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
 
มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร 
        ผมคิดว่าเขาควรจะสื่อสารความเสี่ยงให้ผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจนกว่านี้ ต้องให้ชัดเจนมากๆ ผมติดที่ว่า เขาไม่พูดความเสี่ยงให้เราฟัง และไม่ช่วยเหลือเราในการแบบว่า เห้ย เดี๋ยวพี่จะเสียเงินฟรีนะ ถ้าทำตรงนี้ไม่ผ่าน  เขาไม่ช่วยเรา  แล้วอีกกรณีที่สำคัญ พอเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ผมคิดว่าช่วยๆ กันได้ เพราะว่าเขาก็ยังไม่ได้ซื้อตั๋วอะไรให้เราเลย เพราะล่วงหน้าเป็นเดือน เราเลยคิดว่าเขาจะคืนเงินให้เราเยอะกว่านี้ ผมจะรู้สึกดีกว่านี้ 
        ถามว่าในเอกสารโปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัทเขาระบุไว้ไหม เขาเขียนชัดเจนครับ  คือเขาระบุเลยนะว่า กรณีที่เราจ่ายเงินแล้ว และลงทะเบียนไม่ผ่าน เขาจะคืนเงินให้ 50% แต่กรณีผ่านแล้วมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ไปเขาจะหักไว้ครึ่งนึงแล้วกำหนดเวลาคุณจะต้องทำลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ให้ผ่าน คือในเอกสารเขามี แต่การขายทัวร์ของเจ้าหน้าที่ของไม่สื่อสารเราแบบนี้ มันจะมีแชท ที่ผมส่งรูปเข้าไป ที่ผมสอบถาม แล้วเราจะต้องทำยังไง เขาจะบอกว่าโอนจองก่อน รีบโอน เดี๋ยวหมดโปร คือเขาโทรมา เขาไม่ได้พิมพ์  เขาพิมพ์มาแค่ว่า ช่วยโอนเงินจองก่อนค่ะ เพียงแต่ผมคิดว่า เขาควรจะบอกว่า คุณลูกค้า ช่วยทำ K-ETAให้ผ่านก่อนนะคะ แค่คนละ 350 บาท  แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร เขาไม่แนะนำให้ทำ K-ETA ก่อน เราไม่เชิงปรึกษา เราถามเขาเพราะเห็นในเอกสารว่าต้องทำ เจ้าหน้าที่บอกว่า  “ไม่น่ามีปัญหานะคะ เพราะว่าไม่เคยมีใครมีประวัติอะไรเลย ดังนั้นทำคิดว่าน่าจะผ่านผมเชื่อตามด้วยความคิดแบบนี้ ผมเลยซื้อทัวร์ 
        อีกอย่าง สมมติถ้าผมรู้เงื่อนไขนี้อยู่แล้ว ผมบอกว่า ให้เขาทำ K-ETA ให้ก่อนได้ไหม ในนั้นเขาระบุว่าไม่ได้  เขาจะทำ K-ETA  ให้ต่อเมื่อเราลงทัวร์กับเขาแล้ว  เขาถึงจะมีบริการทำให้ อันนี้เป็นข้อที่ผมรู้สึกว่าผิด จริงๆ คุณต้องทำก่อนสิ  เราถึงจะจ่ายเงินทัวร์ ถึงจะยุติธรรม แต่กลายเป็นเราจ่ายทัวร์  แล้วให้เขาไปทำ ถ้าไม่ผ่าน ก็โดนเงื่อนไข โดนหักเงิน  ผมโดนหักเงินไป 33,732 บาท

 



จนถึงปัจจุบันปัญหาได้รับแก้ไขอย่างไร  
        ตอนแรกครอบครัวก็บอกว่า เราแจ้งไปที่  สคบ. เลยไหม แต่เงินกว่า 150,000 บาทเกิดจากการรวมกันของหลายครอบครัว   พวกเราหลายคนกลัวว่าเงินจะจม ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้คืน เงินแสนนึงเราเอามาทำอะไรได้มากมาย  ญาติพี่น้องผมบอกว่า ถ้าไม่ได้ไปเกาหลีเขาก็อยากเอาเงินไปเที่ยวประเทศเวียดนาม  ต้องใช้เงินในการทำทริปต่อไป เราเลยจำใจต้องเอาเงินคืนกลับมาให้ได้ก่อน เพราะว่ายังไงเราก็ไปไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องทิ้ง  เราก็ยอม แล้วทำเรื่องส่งไปให้ทำเงินคืนให้หน่อย  บริษัทบอกว่าจะคืนให้ภายใน 7 วัน  เราก็รอไปเกือบเดือน กว่าจะได้เงินคืน จนผ่านเวลาที่จะเดินทางไปแล้ว เราตามหลายครั้งจนได้เงินคืน  มาราว 1 แสน 1 หมื่นกว่าบาท 
 
อยากฝากอะไรถึงผู้ที่สนใจจะซื้อทัวร์ไปประเทศเกาหลี 
        ผมอยากให้บริษัททัวร์สื่อสารกับนักท่องเที่ยว กับผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจน  สื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนเลยว่า เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเรื่องอะไรบ้าง แบบขอตัวแดง บันทึกไว้ทุกที่เลย แค่ระบุว่า  อันนี้เขาพูดแบบ ก็มีกรณี มีตายาย พ่อแม่และลูกจะไปด้วยกันแต่พ่อแม่ไม่ผ่านเขาก็ไปกับตายายได้ ผมมองว่ามันตลกหรือเปล่า หลายกรณีมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเที่ยวได้  เอาจริงๆ ครับ ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้ ผมเลยคิดว่าง่ายมากเลย  บังคับให้ลูกค้า หรือคนที่จะไปทัวร์ลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ให้ผ่านก่อน  วิธีทำให้เรียบร้อยครับ  มีการสื่อสารแนะนำให้ประชาชนเข้าใจว่าจะลงลงทะเบียน K-ETA ให้ผ่านได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องมีชุดความรู้ที่ถอดออกแนะนำได้ ทำให้เรามีความเข้าใจที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ครับ

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ทัวร์ท่องเที่ยว ทัวร์ เกาหลี ข้อมูล K-ETA

ฉบับที่ 277 อยู่ยากไหมในวันที่ “เอไอ” ล้อมเมือง

        วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันผู้บริโภคสากล และในปี 2024 นี้สหพันธ์องค​กรผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งแง่มุมของการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ         ในโอกาสดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค ประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “เราจะช่วยกันยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต และ ฉลาดซื้อ ได้มีโอกาสคุยกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.โซธี ราชการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนิไล (Nilai University) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ได้รับเชิญมาในงานเสวนาดังกล่าว______ เรามีประเด็นที่น่าสนใจจากวงเสวนาและการพูดคุยมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ความท้าทายของผู้บริโภคในยุค AI         ผมตั้งข้อสังเกตว่า ใน “ระเบียบโลกใหม่” ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำธุรกิจแทบทุกประเภท เราจะพบความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างคนที่สามารถและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงถึงเทคโนโลยี ยกตัวอย่างที่มาเลเซียซึ่งการประปาฯ ได้ยกระดับการบริหารจัดการและนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาจัดการทั้งหมด รวมถึงเรื่องการแจ้งข่าวสารเรื่องการให้บริการ/การหยุดจ่ายน้ำ แต่ปัญหาคือการแจ้งอัตโนมัตินี้มันจะส่งไปยังผู้ใช้สมาร์ตโฟนเป็นหลัก คำถามคือแล้วคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนจะรู้ข่าวนี้ได้อย่างไร         แล้วเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา พอเราเริ่มเข้าใจ เริ่มจะเชี่ยวชาญการใช้ มันก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว ขณะเดียวกันรูปแบบตลาดก็เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน “สินค้า” เป็นการซื้อขาย “บริการ” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง         นอกจากความไม่แน่นอนเรื่อง “ความเสถียร” ของระบบที่ทำให้มันง่ายต่อการเจาะ ผู้บริโภคก็มีโอกาสพบปัญหามากขึ้น เช่น มีแนวโน้มจะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น หรืออาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้ง่ายขึ้น โฆษณาที่เราเห็นก็ถูกออกแบบมาให้ตรงความต้องการของเรามากขึ้น หรือแม้แต่เมื่อเราจะทำ “สัญญา” กับผู้ประกอบการ เราแต่ละคนก็อาจได้สัญญาที่เนื้อหาสาระไม่เหมือนกัน (ทั้งที่ซื้อผลิตภัณฑ์เดียวกัน) ซึ่งเป็นผลงานของอัลกอรึธึม นั่นเอง         ที่น่ากังวลอีกอย่างคือผู้บริโภคยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่อง “ตัวตนดิจิทัล” ที่เราใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งๆ ที่ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับตัวเรา ธุรกรรมของเรา ถูกบันทึกจัดเก็บอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่มีอำนาจเหนือเรามากขึ้น เราควรทำอย่างไร         ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องอยู่กับเทคโนโลยีนี้ หลีกเลี่ยงมันไม่ได้ สิ่งที่ควรจะต้องมีก็คือการกำกับดูแลที่ดีขึ้นด้วยการ “คิดใหม่ทำใหม่” เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ในยุคของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เราจะเห็นว่ามีธุรกิจทั้งรายใหญ่รายเล็กเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ถามว่าหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะรับมือกับผู้ประกอบการเป็นล้านรายเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่สามารถจัดหาบุคลากรมารับมือกับเรื่องนี้ได้เพียงพอหรอก ต่อให้คุณมีเจ้าหน้าที่สักหมื่นคน คุณคิดว่าจะจัดการพวกนี้ได้หมดไหม         ที่เราทำกันอยู่ตอนนี้คือการออกไปสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว หรือจัดการแก้ไขเรื่องที่ผู้บริโภคมาร้องเรียน ส่วนตัวผมมองว่าเราต้องเพิ่มบทบาทของมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ การรายงานต่อสังคมโดยบริษัท         เราต้องมีวิธีที่ดีขึ้นในการที่จะทำให้คนเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมาร้องเรียนพฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ประกอบการไปเลย         ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องการคือ การเปลี่ยน “วัฒนธรรม” ในเรื่องนี้ ไม่ใช่ใครทำผิดก็ตามปรับมันไปเรื่อย แปลว่าใครจ่ายค่าปรับได้ก็ทำผิดได้อย่างนั้นหรือ ผมยกตัวอย่างกรณีของออสเตรเลีย ถ้าคุณไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วราคาที่ปรากฎตรงแคชเชียร์มันแพงกว่าที่แสดงไว้บนชั้นวาง คุณจะได้ของชิ้นนั้นกลับบ้านไปเลยโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องให้ใครโทรเรียกผู้จัดการให้ลงมาเคลียร์ หรือต้องกรอกแบบฟอร์มร้องเรียนอะไรให้ยุ่งยาก มันต้องทำให้ธุรกิจมีกฎระเบียบในการจัดการตัวเองเมื่อทำผิด ไม่ใช่แค่มีหน่วยงานรัฐมาบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย         แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาพูดกันเรื่องการให้ความรู้กับผู้บริโภค การรับเรื่องร้องเรียนยังสำคัญไหม         แน่นอน อีกประเด็นที่ผมอยากพูดคือ เรื่องที่คนเขาร้องเรียนเข้ามาก็สำคัญนะ มันควรจะมีการ “ออดิท” ข้อมูลเรื่องร้องเรียนโดยบุคคลภายนอกด้วย ถ้าองค์กรหนึ่งเคลมว่าสามารถแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้ร้อยละ 98 ร้อยละ 99 ผมว่าทำใจให้เชื่อได้ยากเหมือนกันนะ เขาอาจจะทำได้จริงก็ได้ แต่เราก็ควรมีคนนอกมาตรวจสอบ แล้วคำว่า “แก้ไข” หมายถึงอะไร หรือแม้แต่ “เรื่องร้องเรียน” มันหมายความว่าอะไร ถ้าผมโทรมาแจ้งว่าไฟฟ้าที่บ้านดับแพราะมีอุปกรณ์บางอย่างเสีย แล้วเขาก็ส่งคนมาซ่อมให้ แบบนี้เรียกว่าเรื่องร้องเรียนไหม หรือว่าเรื่องร้องเรียนในที่นี้คือกรณีที่ผมต้องรอถึงสามวันกว่าจะมีช่างมาซ่อมให้           หลักๆ คือ เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าเรื่องแบบไหนถือเป็นเรื่องร้องเรียน         ขั้นที่สองคือต้องแยกแยะว่าเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาเป็นชนิดไหน แล้วสาม ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ผู้ร้องเรียนเป็นใคร คนจนร้องเรียนเข้ามาไหม คนเปราะบางร้องเรียนไหม คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลร้องเรียนเข้ามาไหม หรือว่าคนที่ร้องเรียนก็คือคนเดิมที่ร้องเข้ามาเป็นประจำ ความจริงอาจจะมีคนที่ไม่ได้ร้องเข้ามาเพราะไม่ถนัดเขียนอีเมล ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีปัญหา         แล้วหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนเองก็มีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะด้านเงิน บุคลากร หรืออื่นๆ เราต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ “จำเป็น” ต้องได้รับความช่วยเหลือจริงหรือเปล่า ถ้าเรามีข้อมูลรอบด้านทั้งที่เกี่ยวกับปัญหาที่ร้องเรียน รวมถึงตัวผู้ร้องเรียน ก็จะตอบคำถามนี้ได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในมาเลเซีย         โดยรวมแล้วมาเลเซียมีกฎหมายที่ดี ครอบคลุม มีการปรับปรุงแก้ไขให้เท่าทันสถานการณ์ปัญหามาโดยตลอด เช่น ล่าสุดมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผมมองว่าทำได้ดีก่อนหน้านี้กฎหมายเราไม่ครอบคลุมการซื้อขายออนไลน์ ก็แก้ไขให้ครอบคลุม แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้เพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับกฎหมายอีคอมเมิร์ซมากเท่าที่ควร         ในเรื่องของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตอนนี้มาเลเซียให้อำนาจกับเจ้าหน้ารัฐที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน ในการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงซอร์สโค้ดได้         ส่วนเรื่องของความยั่งยืน ตอนนี้รัฐกำหนดให้มีการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมถึงด้านผู้ประกอบการก็ต้องมีการผลิตที่ยั่งยืนด้วย เรามีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทส่งรายงานประจำปีว่าด้วยความยั่งยืน (ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการพัฒนา)         ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูล “รอยเท้าคาร์บอน” แต่เรื่องนี้ก็มีผลทางลบเหมือนกัน สายการบินในมาเลเซียขอขึ้นค่าโดยสารโดยอ้างว่าบริษัทต้องมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม         เราได้เห็นความพยายามที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการมากขึ้น แต่ผมสงสัยว่ามันจริงแค่ไหน หรือเป็นแค่การกล่าวอ้างให้เป็นไปตามเทรนด์เราทุกคนล้วนเปราะบาง         “เมื่อก่อนนี้พอพูดถึง “กลุ่มเปราะบาง” เราจะนึกถึงคนยากจน ผู้ป่วย หรือผู้พิการ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นพิเศษ แต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น “เราทุกคน” มีความเปราะบางในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น คนมีการศึกษาที่ไม่ถนัดเรื่องไอที หรือ คนรู้กฎหมายที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการเงินการธนาคาร ก็อยู่ในกลุ่มเปราะบางเช่นกัน”         อีกเรื่องที่ผมมองว่าเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้คือดูเหมือนเราจะไม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแบบที่มีมนุษยธรรมมากพอ เราทำให้คนอื่นต้องอับอาย ด่าว่าเขาออกสื่อ มีแต่เรื่องลบๆ ในโซเชียลมีเดียที่สร้างความเกลียดชัง อาจเป็นความเกลียดชังระหว่างชุมชน เชื้อชาติ เราต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ที่น่าเป็นห่วงคือนักการเมืองก็กำลังหาประโยชน์จากเรื่องแบบนี้        เรื่องดีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่อินโดนีเซียที่ผ่านมาคือ ไม่มีผู้สมัครคนไหนเอาเรื่องที่ผู้คนโจมตีกันในโซเชียลมีเดียมาใช้ในการหาเสียงเลย เขาพูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการพัฒนา ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะมีการกำหนดกติกาอย่างจริงจังโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการเลือกตั้ง หรือแม้แต่กรณีที่ผู้บริโภคที่ใช้วิธีโพสต์ต่อว่าผู้ประกอบการออกสื่อ ทั้งที่ความจริงแล้วการแก้ไขปัญหาจริงๆ ควรเป็นการพูดคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง เอาข้อเท็จจริงมาคุยกันมากกว่า         เราไม่มี “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในโซเชียลมีเดียที่ออกมาพูดอะไรเรื่องนี้บ้างหรือ ผมว่ามันแปลกมาก ผู้คนในภูมิภาคนี้เวลาเจอกันตัวต่อตัวก็สุภาพตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา แต่ทำไมตัวตนออนไลน์ของพวกเขาถึงได้ร้ายกาจขนาดนั้น หรือเพราะความห่างเหิน ห่างไกล ในสื่อสารผ่านเทคโนโลยีก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 องค์กรผู้บริโภคต้องทำงานแบบเสริมพลังกัน

        การรวมตัวกันเพื่อการทำงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค เริ่มมาอย่างยาวนานและชัดเจนตั้งแต่ปี 2526 กว่า 40 ปี ระบบนิเวศของการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงเต็มไปด้วยความเบ่งบานของกลุ่มองค์กรหลากหลายรูปแบบทุกระดับทุกพื้นที่ที่ต่างล้วนทำงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็งสิทธิได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง การเติบโตอย่างเข้มข้นนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สำเร็จ ในปี 2563 หลังจากเริ่มต้นผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540          รศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) และผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) มีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านยาและสุขภาพมาตั้งแต่ต้น สะท้อนมุมมองว่าในทศวรรษปัจจุบันและต่อไปหลังจากนี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่เข้มแข็ง มีคุณภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่ รศ.ภญ.ดร.วรรณา เลือกทำมาตั้งแต่ต้นและยังจะทำต่อไปอย่างแน่นอน      ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  คือหน่วยงานอะไร         ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เราเป็นศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิชาการที่เราทำงานกันมานานตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันเราขยายงานเป็นวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) ด้วย         คคส. เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สสส. ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อพูดถึง คคส. เราไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะองค์กรผู้บริโภค  เราทำงานกับผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม  นักวิชาการสาธารณสุขเยอะมาก งานของเราจึงออกเป็นลักษณะแผนงานวิชาการที่มีหลายเรื่อง งานวิชาการ งานพัฒนาศักยภาพคน จัดการพวกสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และติดตามเรื่องของกฎหมายด้วย  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  ทำงานอะไรบ้าง         เรามีแผนงานส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่  มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 เรื่อง หนึ่ง คือพัฒนากลไกและศักยภาพเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ สอง พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ สาม จัดการความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสี่ ติดตามอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราทำงานด้วยเราอยากเห็นผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวังคือ ชุมชน องค์กรผู้บริโภค ภาคี เครือข่ายมีศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค  มีการจัดการสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย   นิยามองค์กรผู้บริโภคไว้อย่างไร         องค์กรผู้บริโภคที่เราทำงานด้วยต้องบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะการทำงานประจำตามหน้าที่ เป็นราชการเราไม่ได้สนใจเฉพาะตรงนั้น เราทำงานทั้งกับผู้บริโภค อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค เราคิดว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แต่เป็นข้าราชการบางเวลาเพราะฉะนั้นการก้าวเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คคส. เราถือว่าถ้ารวมกลุ่มกัน เป็นองค์กรผู้บริโภคหมด       ที่จุฬาเองตั้งแต่อดีต  เรามีอดีตอาจารย์กับนิสิตเภสัชศาสตร์ รวมตัวกันมา ตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยา อาจารย์ในเวลาก็เป็นเป็นข้าราชการสอนหนังสือ แต่อาจารย์ยังนำความรู้ของอาจารย์มาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ขึ้นจนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็มีข้าราชการทั้งเกษียณและไม่เกษียณทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ เราก็เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ใช่ข้าราชการก็เป็นองค์กรผู้บริโภคด้วย น้องๆ เภสัชที่อยู่ตามต่างจังหวัด รวมตัวกันเป็นเภสัชชนบทก็เป็นองค์กรผู้บริโภคในนิยามของ คคส.  ภาพรวมขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ คคส. ทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างไร           ภารกิจของ คคส. เราทำงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจึงทำงานเข้มข้นได้ไม่ทุกเรื่อง เรามองว่าการทำงานกับองค์กรผู้บริโภค เราทำทั้งทางตรงและทางอ้อม  งานที่ทำทางตรงกับองค์กรผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศักยภาพ การอบรม การตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคเครือข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะของการที่ทำงานเฝ้าระวัง บางจุดหรือประเด็นที่เขาต้องการ เราก็จะพัฒนาศักยภาพน้องๆ เภสัชกรที่เขาก้าวเข้ามาด้วยความสนใจให้เป็นเภสัชกรที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักวิชาการสาธารณสุขที่ขยับมาทำเรื่องการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย งานจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  แบ่งองค์กรผู้บริโภคเป็นแบบไหนบ้าง กี่ประเภท แต่ละประเภทมีความเข้มแข็งแตกต่างกันมากน้อย อย่างไร         ถ้าตามกฎหมาย เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  คือตามเกณฑ์ เงื่อนไขและกลุ่มที่ 2 คือ องค์กรผู้บริโภคแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน         แต่ถ้ามองในมุมของ คคส. เรามีการพัฒนาเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น ซึ่งเราทำมานานก่อนที่จะมีสภาองค์กรผู้บริโภคอีกเพื่อไปตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคว่าการทำงานอย่างมีคุณภาพ มีโครงการสร้างองค์กร  กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของการทำงานที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง คคส. จึงตั้งเป็นเกณฑ์ผู้บริโภคคุณภาพ และ MOU กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เราได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเราเดินสายไปตรวจและรับรอง หากใช้เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพเป็นตัวตั้ง  ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผ่านการรับรองตัวประเมิน และจัดเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรทั่วไปที่เขาอาจยังไม่พร้อมให้เราประเมิน หรือว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะมีมากกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย    ส่วนที่สมาชิกของสภามักจะไม่ค่อยผ่านคือเรื่องของผลงาน และกระบวนการทำงาน  ปัญหาที่พบตอนที่ลงไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ได้เสริมจุดแข็งหรืออะไรไปบ้าง         แน่นอนว่าพอเราลงไปตรวจ เราจะเจอทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง  แต่เราก็บอกเลยว่า เราพร้อมตรวจใครที่คิดว่ามีความเข้มแข็งให้เราไปตรวจ เราก็พร้อม แต่เท่าที่ลงไปตรวจแล้วเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา เช่น เรื่องของการที่ไม่มีรายงานการประชุม ไม่มีการบันทึกเลย คือคนทำงาน เขาทำงานแต่การเก็บบันทึก รายละเอียดงานยังน้อยทำให้มีปัญหาคนภายนอกอาจมองว่าไม่มีผลงานกิจกรรมเลย ก่อนมี พ.ร.บ. สภาฯ  เราตรวจไป 226 องค์กร  พวกนี้เขาก็มีความพร้อมพอสมควร พอมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกณฑ์ของเราถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายด้วยบางส่วน แต่บางอันในเรื่องของคุณภาพยังไม่ได้นำไปใช้  การทำงานของเราตอนนี้พอลงตรวจแล้วรู้แล้วว่าขาดอะไร เช่นยังขาดส่วนวิชาการในลักษณะของการนำเสนอนโยบายซึ่งมีความสำคัญเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการประชุมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอหรือระดับประเทศ พอตรงนี้ขาดเราก็พัฒนาหลักสูตร เปิดอบรม ขอแค่สนใจอยากพัฒนาตัวเองเราจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพราะเรามีความร่วมมือกับ สสส.         องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ จากที่เราไปตรวจราว 300 – 400 องค์กร เราเห็นแล้วว่าบางทักษะอย่าง การ เขียนรายงานการประชุม เขียนโครงการของบประมาณแบบนี้ยังไม่เป็น การจัดทำบัญชีรับจ่าย การทำทะเบียน วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เขายังไม่ทำ เขาบอกว่าเขาเป็นจิตอาสา ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ไม่มีการทำบัญชี แต่การเป็นองค์กรที่ทำงานได้ด้วยการสนับสนุน เราสู้เพื่ออะไรหลายเรื่อง เราต้องมีความโปร่งใส  การทำงานกิจกรรมต่างๆ หากไม่รวบรวมเป็นเอกสารข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบวันนี้ เมื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรโดยกฎหมายขอสภาองค์กรของผู้บริโภค  สำนักนายกก็ตั้งคำถามแล้วเพราะผลงานกิจกรรมไม่มีแสดง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาไม่ได้ลงมาคลุกคลีใกล้ชิด         เราจะเติมส่วนขาดตรงนี้ลงไปในพื้นที่ เพราะองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเขาอยู่ในพื้นที่ เขาจะดูแลกัน ตลอดไปเป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะที่บางครั้งเราเข้าไปอบรมแล้วกลับมา มันไม่เกิดอะไร เราจึงสร้างคนโดยการให้เข้าอบรม 8 เดือน แล้วเป็นเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค  ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมตอนนี้ เรามี นคบส. หรือผู้ผ่านการอบรมทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ 100 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เราเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุน ส่วนน้องๆ เภสัชเขาเองอยู่ในระบบราชการ เขาก็ทำหน้าที่ราชการด้วย หลายคนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำองค์กรผู้บริโภค ในหน่วยงานประจำจังหวัด เราต่างหนุนเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค เรามองว่าช่วยกันทำงาน  มันเป็นความงดงาม ความเก่งขององค์กรผู้บริโภค และความเก่งของเภสัชช่วยกันทำงานไร้รอยต่อ สามารถส่งต่ออะไรที่ดีๆ ให้กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดของตัวเอง  อันนี้มันก็เป็นอะไรที่มันเห็นการขับเคลื่อน  ตัวอย่างของงานที่เป็นความสำเร็จขององค์กรผู้บริโภคและแนวโน้ม         เรื่องของความสำเร็จพี่มองว่าคือการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นการการต่อสู้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2540 จนนำมาสู่การจัดตั้งสภาฯ องค์กรได้ แต่การมีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เป็นช่วงเริ่มต้น เพราะความสำเร็จที่แท้จริง คือต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถคุ้มครองตัวเองได้  ซึ่งตอนนี้มีเรื่องของการโฆษณา เรื่องของอะไรที่มันหลอกลวงมากขึ้น  ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งสามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้  ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามนี่คือสุดยอด แต่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตอนนี้มีองคาพยพที่ใหญ่ขึ้น และต้องเคลื่อนไปด้วยกัน และยังเข้มแข็งในบางจังหวัดด้วย เรายังต้องช่วยหนุนเสริมกันอีกมาก  การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ต่อการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภค         สภาองค์กรผู้บริโภค อย่างที่บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ยิ่งมีองคาพยพเยอะขึ้น  การทำงานยังต้องกระจายให้ได้ ครอบคลุมทุกจังหวัด ตอนนี้เรายังพบว่ายังไม่ทั่วประเทศและยังเป็นการกระจุก  บางจังหวัดที่มีองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาก เราวิเคราะห์ว่าเพราะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร โรงพยาบาล ชมรม อสม. รพสต. องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไม่ว่าจะรูปแบบ ชมรม ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เขามีความร่วมมือกัน การลงไปตรวจประเมิน เราทำจริงจังเราได้เห็นทุกอย่าง พื้นที่ที่เขาพร้อม ทำงานจริง ลงไปทุกครั้ง เราจะเห็นคนที่ทำงานอยู่ตลอด หลายครั้งทำให้เราได้เจอคนที่มีศักยภาพเป็นเพชรเป็นแกนได้ เราสามารถพัฒนาส่งเสริมเขาต่อได้ด้วยหลายคนมากแล้ว เราจะไม่มีวันเจอถ้าเราไม่ได้ออกไปทำงาน ออกไปติดตามโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุย  เราได้คนที่เราไม่รู้จักเยอะเป็นน้องเภสัชที่ประกาศตัวและก้าวเท้าเข้ามาฝึกอบรมเป็นเภสัชกรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหลายคน  สิ่งที่อยากฝาก         วันนี้องค์กรผู้บริโภคต้องมีทักษะทั้งขับเคลื่อนได้ งานวิชาการได้  แต่ยังมีหลายจุด ทักษะที่เขายังขาด แต่เขาต้องทำงานหลายด้าน  หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันหนุนเสริมองค์กรผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเข้มแข็งจริงๆ  ความเข้มแข็งจะต้องไม่อยู่ที่หน่วยงานของเราเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่ได้อยู่แต่ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค อย. แต่ต้องอยู่ที่หน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกด้วย สมาชิกต้องเข้มแข็งเพราะพื้นที่ หากเราทำให้ระดับจังหวัดเข้มแข็ง เขาจะต่อยอดในพื้นที่ได้ เป็นในระดับอำเภอ ตำบล  วันนี้เรามองว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คนในจังหวัดที่เขามีหน่วยงานประจำจังหวัด ถ้ามีเขามีทุกข์ แล้วหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์เขาได้ การเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดตอบโจทย์เขาได้แต่จังหวัดที่ไม่มีก็แสดงว่าเขายังขาดอีกหลายจุด และเมื่อมีแล้ว เราฝากว่าการทำงานร่วมกัน  การช่วยกันทำงานมันควรเหมือนยา ช่วยกันทำงานต้องเสริมพลังกัน เราต้องรู้ว่าเราเก่งกันคนละแบบ เราต้องให้กำลังใจกัน หากเข้าขากัน ผลลัพธ์ประสิทธิภาพมันไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้ว 2 มันอาจจะเป็น 3 หรือ 4  หรืออาจจะมากกว่านี้ได้มากๆ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 สิริลภัส กองตระการ: จากวันที่หัวใจแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหวสู่การเป็นเสียงเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

        โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงหรือ? มันเป็นความอ่อนแอก็แพ้ไปของคนคนหนึ่งเท่านั้นหรือไม่? คนที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นคนคิดสั้นหรือ? ฯลฯ ในสังคมไทยมีคำถามมากมายที่ผลักไสโรคซึมเศร้าให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่เข้มแข็ง เปราะบาง เป็น loser เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีตราประทับอีกอย่างชิ้นที่สังคมและคนที่ไม่เข้าใจพร้อมจะแปะให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า         ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เหตุใดจึงยังมีมหาเศรษฐี ดารา นักร้องที่ประสบความสำเร็จฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า สิ่งนี้อาจบอกเป็นนัยๆ ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคของคนขี้แพ้หรืออ่อนแอ แต่มีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก         “คนไม่ป่วยไม่รู้ มันเป็นทั้งความรู้สึกที่ทั้งอัดอั้นทั้งเจ็บปวด” เป็นคำพูดของ สิริลภัส กองตระการ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรรมมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร กล่าว         เธอคือผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าจำนวนเงินไม่สอดคล้องกับขนาดของปัญหาที่ดำรงอยู่ เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด แต่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ น้อยเกินไป สิริลภัสอภิปรายในสภาว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากสารเสพติดมีจำนวน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน แตกต่างกันถึง 5 เท่า โดยในส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุดมีมากถึง 360,000 คน         อีกทั้งงบประมาณปี 2567 ของกรมสุขภาพจิตได้รับก็เป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของงบกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ทั้งที่กรมสุขภาพจิตของบประมาณไป 4,300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบมาเพียง 2,999 ล้านบาท เรียกว่าโดนตัดไปมากกว่าร้อยละ 69.4         ทำไมสิริลภัสผู้เคยครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 มิสทีนไทยแลนด์ ประจำปี 2546 ผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายบนเวทีการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2552 และนักแสดง ก่อนจะผันตัวสู่สนามการเมืองจึงใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ         นั่นก็เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามฆ่าตัวตาย โรคที่คนไม่เป็น (อาจ) ไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดของโรคนี้         “หมิวยังจำวันที่ทำร้ายตัวเอง วันที่พยายามจะจบชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่อยากเจ็บที่ใจอีกแล้ว เจ็บที่ใจไม่ไหวแล้ว หมิวขอไปโฟกัสความเจ็บตรงอื่นบ้างได้มั้ย เราแบกรับความรู้สึกอารมณ์ที่บีบอัดในใจเราไม่ไหวอีกแล้ว เราพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากความรู้สึกที่ดําดิ่งแล้ว เหมือนคนที่กําลังจมน้ำแล้วมีหินถ่วงตลอดเวลา แต่ ณ วันนั้นเรารู้สึกว่าเราแบบตะเกียกตะกายยังไงเราก็ขึ้นมาหายใจไม่ได้สักทีก็เลยอยากปล่อยทุกอย่างไปเลย” ในวันที่หม่นมืด         สิริลภัสได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์ที่ถูกส่งต่อมาจากมารดา ในที่สุดเธอก็ต้องเผชิญกับมันด้วยตัวเองจริงๆ เธอเข้ารับการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว นับจากวันที่เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ใจหวิว เครียดจนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลังจากทานยาและรับการบำบัดผ่านไประยะหนึ่งอาการก็ดีขึ้นเธอจึงหยุดยาเอง ซึ่งนี่เป็นข้อห้ามที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้หรือรู้แต่ก็เลือกที่จะหยุด มันทำให้อาการของเธอเหวี่ยงไหวกลับมาหนักหน่วงกว่าเดิม         “ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีก็ทําให้อาการแย่ลงกว่าเดิม แล้วก็ไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาณตอนนั้น เลยทําให้อาการกลับมาค่อนข้างแย่ลงกว่าเดิมในช่วงประมาณสามถึงสี่ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนักมาก ไปหาหมอบ่อยมาก ค่าใช้จ่ายสูง”        เธอจึงหาคลินิกเอกชนที่คิดค่าบริการถูกลงเพื่อลดภาระส่วนนี้ ทานยาต่อเนื่อง รับการบำบัด สร้างแรงจูงใจโดยการหาเป้าหมายให้ชีวิต อาการของเธอจึงดีขึ้นถึงปัจจุบัน         “แต่ก็ยังต้องทานยาเพื่อที่จะเมนเทนตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อให้คอยประเมินเพราะบางทีเรามาทํางานการเมืองด้วยนิสัยเราเป็นคนชอบกดดันตัวเองว่าอยากให้ประสิทธิภาพของงานออกมาดี เราอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันก็จะมีความใจร้ายกับตัวเองอยู่บ้าง คุณหมอก็ให้ยามาเพื่อช่วยลดความเครียด คลายวิตกกังวล ซึ่งตอนนี้หมิวรู้สึกว่ามันค่อนข้างคงที่แล้ว ส่วน pain point ที่เราเจอน่าจะเป็นเรื่องค่ารักษานี่แหละเพราะว่าครั้งหนึ่งก็เกือบหลักหมื่น ต่ำสุดก็เป็นหลักหลายพัน” สวัสดิการสุขภาพเชื่องช้าและไม่ครอบคลุม         ‘ฉลาดซื้อ’ ถามว่าทำไมเธอจึงไม่ใช่สิทธิสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ คำตอบที่ได้คงเหมือนกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดนั่นคือต้องใช้ระยะเวลารอนานกว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง เธอยกตัวอย่างแม่ของเธอที่ใช้สิทธิข้าราชการในโรงพยาบาลรัฐ เมื่อพบจิตแพทย์ครั้งหนึ่งแล้ว นัดครั้งต่อไปคืออีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ยาที่ได้รับมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจนต้องเลือกว่าจะหยุดยาหรือจะทานต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อพบจิตแพทย์         จากประสบการณ์ข้างต้นเธอจึงเลือกใช้บริการคลินิกเอกชนที่ไม่ต้องรอนานและได้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการทุกอาทิตย์ เพราะด้วยอาชีพนักแสดงสภาวะจิตใจย่อมส่งผลต่อการทำงาน เธอจึงไม่สามารถรอและอยู่กับยาที่ส่งผลข้างเคียงได้ ซึ่งต้องแลกด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าเพื่อแลกกับประสิทธิภาพในการรักษา         แน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่มีกำลังพอก็ต้องเลือกรับการรักษาตามสิทธิที่ตนมี แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุม สิริลภัสยกตัวอย่างสิทธิประกันสังคมว่า บางครั้งการรักษาที่มีประสิทธิภาพผู้ป่วยจะต้องพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาควบคู่กัน แต่สิทธิที่มีนั้นครอบคลุมเฉพาะการพบจิตแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม         “หมิวอภิปรายให้เห็นตัวเลขไปแล้วว่าจํานวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดกับจํานวนผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ มันต่างกันยังไง พอไปดูในงบโครงการต่างๆ ก็เป็นโครงการบําบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดโครงการป้องกันไม่ให้เยาวชนเค้าถึงยาเสพติด คือโครงการต่างๆ เน้นหนักไปที่ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด แต่ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างที่ได้อภิปรายไว้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงหลายหลายครั้งสาเหตุเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยคนนั้นขาดยา มีอาการหลอนแล้วก็ออกมาก่อความรุนแรง” โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล         นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จก็สูงขึ้นทุกปี กลุ่มสํารวจที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากเป็นวัยรุ่นต่อด้วยคนวัยทํางาน         “กลุ่มคนเหล่านี้กําลังจะเป็นบุคลากรที่ทํางานจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป เราเห็นรัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมเรื่องการมีบุตรเพื่อเติบโตมาเป็นบุคลากรทางสังคม ทํางาน เสียภาษี ในขณะที่มีผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันคุณไม่ได้มองปัญหาว่าเรามีบุคลากรที่เป็นวัยรุ่น วัยทํางาน ที่กําลังเสียภาษีให้คุณอยู่ แต่กลุ่มคนเหล่าส่วนหนึ่งที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต และจํานวนหนึ่งมีความพยายามฆ่าตัวตาย”         สิริลภัสเสริมว่าในการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นใช้เกณฑ์อายุที่ 15 ปี แต่ปัจจุบันเด็กอายุตั้งแต่ 14 ลงไปที่ต้องพบกับการกลั่นแกล้งรังแก ความรุนแรงในครอบครัว ความกดดันและความคาดหวังจากครอบครัว และสังคมรอบข้างที่ทุกคนต่างพยายามนำเสนอชีวิตด้านดี ด้านที่ประสบความสำเร็จของตนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันลงบนบ่าของวัยรุ่นกลุ่มนี้โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังภาพชีวิตกินหรูอยู่ดี 1 ภาพอาจไม่ได้สวยหรูดังที่เห็น         แต่ภาพที่เสพมันได้หล่อหลอมให้พวกเขาต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นเช่นภาพที่เห็น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้สูง ตามค่านิยมต่างๆ ในสังคม กลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ลงไปจึงอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าที่ตกสำรวจ หมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีมากกว่าที่ปรากฏในผลสำรวจ         “ส่วนวัยทํางานก็เช่นเดียวกัน ตื่นเช้ามาฝ่ารถติดไปทํางาน ทํางานเสร็จหมดวันต้องฝ่ารถติดกลับบ้าน แล้วก็วนลูปเป็นซอมบี้ในทุนนิยม แล้วบางคนต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน อย่างหมิวมีครอบครัว เราต้องดูแลครอบครัวเราด้วย ดูแลพ่อแม่ด้วย นี่คือภาวะแซนด์วิช ทุกอย่างมันกดทับเราไว้หมดเลย สุดท้ายแล้วบางคนหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลาแม้กระทั่งนั่งนิ่งๆ แล้วหายใจกับตัวเองดูว่าวันนี้ฉันทําอะไรบ้าง ฉันเหนื่อยกับอะไร เพราะแค่ต้องฝ่าฟันรถติดกลับบ้านก็หมดพลังแล้ว”         เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และหมดไฟเป็นเวลานาน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ถ้ารับการดูแล ป้องกัน และรักษาแต่เนิ่นๆ หรือมีความรู้สามารถดูแลตัวเองได้ก่อนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปัญหาคือขณะนี้ระบบสาธารณสุขมีบุคลากรด่านหน้าไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ด่านหน้ายังอ่อนแอ         แม้ทางภาครัฐจะพยายามพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงการใช้บริการแอปพลิเคชั่นอย่างหมอพร้อม มีแบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง แต่จากประสบการณ์ของสิริลภัสพบว่าระบบไม่เป็นมิตรต่อการใช้งาน        “ขอโทษนะคะหมิวพยายามเข้าแอปหมอพร้อมแล้วนะ ต้องลงลงทะเบียน ใส่รหัสเลขประจําตัวประชาชน หมิวไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่จะต้องลงทะเบียนว่าแบบเกิดปีที่เท่าไหร่ต้องไปไล่ปีเอาเอง บางทีก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์หรือเปล่า มันออกแบบมาได้โอเคแล้วหรือยัง แต่เขาบอกว่ามีแบบประเมินในหมอพร้อมก็ถือเป็นเรื่องดี”นะคะอะย้อนกลับมาตรงบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิต”         ส่วนสายด่วนสุขภาพจิต สิริลภัสเล่าว่าเคยให้ทีมงานที่ทําข้อมูลทดลองโทร กว่าจะมีคนรับสายต้องรอนานถึง 30นาที เธอบอกว่าคนกําลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้ว แค่นาทีเดียวเขาอาจจะไม่รอแล้ว อีกทั้งค่าตอบแทนของบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิตก็ได้รับเพียง 50 บาทต่อครั้งและเงื่อนไขว่าจะจ่ายเฉพาะรายที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ หมายความว่าผู้ที่โทรเข้าไปต้องบอกชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชนถ้าผู้ใช้บริการเพียงแค่ต้องการปรึกษา ไม่สะดวกแจ้งข้อมูล แสดงว่าบุคลากรด่านหน้าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใช่หรือไม่         ยังไม่พูดถึงประเด็นคุณภาพในการให้บริการ เพราะถ้าผู้ให้บริการให้คําปรึกษาแบบลวกๆ จะเกิดอะไรขึ้น จากการตรวจสอบเสียงสะท้อนการใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตพบปัญหาว่า หนึ่ง-รอนาน สอง-โทรไปแล้วรู้สึกดิ่งกว่าเดิมหรือได้รับการให้คําปรึกษาที่ไม่ได้ทําให้ดีขึ้น เธอจึงเสนอให้ต้องพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรด่านหน้าและเพิ่มตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มบุคลากร         “และมันไม่ควรจบแค่นี้ ควรจะมีเซสชั่นอื่นๆ ที่ทําให้คนที่รู้สึกว่าชั้นอยากจะได้รับการรักษาหรือได้รับการบําบัด มีทางเลือกให้เขาเข้าถึงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีน้อยมาก ทีนี้พอผ่านบุคลากรด่านหน้าไปแล้วถ้าจะต้องส่งถึงจิตแพทย์จริงๆ ก็พบอีกว่าจิตแพทย์ในประเทศไทยก็มีน้อยมากและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ”         ตัดมาที่ภาพในต่างจังหวัด กรณีต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอาจอยู่ไกลจากบ้านมาก ทำให้มีต้นทุนด้านค่าเดินทางสูงเพราะระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดไม่ครอบคลุม         “เสียค่าเดินทางไม่พอยังเสียเวลาอีก กว่าจะหาหมอได้แต่ละครั้งคือรอคิวนานมาก ย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกเลยว่าถ้ายามีเอฟเฟคก็ต้องเหมือนรีเซ็ตระบบการรักษาตัวเองใหม่ ซึ่งทําให้การเข้าถึงบริการการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนมีน้อยและจํากัดมาก ทําให้จํานวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราต้องมองว่าผู้ป่วยหนึ่งคนกว่าที่เขาจะเข้ารับการบําบัดรักษาฟื้นฟูมันไม่สามารถประเมิน เพราะมันคือเรื่องความรู้สึก มันต้องประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่จะต้องทํางานควบคู่กันไป ซึ่งต้องใช้เวลา”         ทันทีที่ผู้ป่วยหลุดออกจากระบบเท่ากับว่าอัตราการป่วยยังคงอยู่หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาป่วยอีก เพราะหากเจอเหตุการณ์ที่กระตุ้น (trigger) อารมณ์ความรู้สึกก็สามารถป่วยซ้ำได้ สิริลภัสจึงเห็นว่าถ้าสามารถเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรด่านหน้าได้มากก็จะช่วยป้องกันไม่ให้จํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็มีความหลากหลายทั้งด้านเพศ อายุ สถานภาพ ชาติพันธุ์ การศึกษา การมีบุคลากรที่เพียงพอจึงเป็นแนวทางแรกที่จะโอบรับความหลากหลายได้         สิริลภัสได้รับข้อมูลล่าสุดจากรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่าจะมีทุนเพื่อผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 50-70 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนจิตแพทย์เป็น 1.8 คนต่อประชากรแสนคนจากเดิมที่อยู่ประมาณ 1.2 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ยังไม่นับว่าต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตจิตแพทย์ได้ 1 คน         นอกจากปัญหาการผลิตบุคลากรสาธารณสุขแล้ว ปัจจุบันยังมีนักบำบัดที่สามารถดูแลสุขภาพจิตให้แก่ผู้มาใช้บริการได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการมอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ทำให้ไม่สามารถตั้งสถานประกอบวิชาชีพเองได้ ทั้งที่นักบำบัดเหล่านี้ถือเป็นด่านหน้าอีกด่านหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต         ถึงกระนั้น การบำบัดหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีราคาค่อนข้างสูง สิริลภัสคิดว่าถ้าสามารถนำการบำบัดต่างๆ เข้าสู่ระบบสวัสดิการสุขภาพได้ย่อมดีที่สุดสําหรับผู้ป่วย เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการที่ค่าบริการการบำบัดยังสูงอยู่เพราะผู้ให้บริการยังมีน้อย ขณะที่ผู้ต้องการใช้บริการมีมาก ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด         “หมิวเชื่อว่าราคาจะถูกลงกว่านี้ได้ถ้ามีมากขึ้น การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะทําให้ซัพพลายเพิ่มมากขึ้น คือตอนนี้เรามีนักบําบัด แต่เขาต้องไปแปะตัวเองอยู่กับคลินิกหรือสถานที่ใดสักที่หนึ่งเพราะเขาไม่สามารถเปิดสถานที่บําบัดของตนได้ พอเป็นแบบนี้มันก็จะนําไปสู่การเกิดลัทธิต่างๆ เพราะเมื่อเข้าเซสชั่นบำบัดไปขุดเจอปมในใจเข้า ผู้ใช้บริการก็รู้สึกว่าคนนี้นี่แหละที่นําแสงสว่างมาให้ แล้วก็กลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคลไปเลย” ความหวัง         สิริลภัสแสดงความเห็นอีกว่าต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เช่น ควรเพิ่มยาที่มีประสิทธิภาพและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งจะช่วยลดภาระค่ายาของผู้ป่วย         จากทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่าระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่เวลานี้ไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่กำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องผลักดันทั้งเชิงนโยบายของภาครัฐและการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้าง         “เราอยากเห็นการจัดสรรงบที่ตรงจุด ตอนนี้เราควรให้ความสําคัญกับการทํายังไงก็ได้ให้ประชาชนที่เป็นแล้วเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุด ไม่เพิ่มจํานวนผู้ป่วย และลดจํานวนผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม”         โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกเพียงลำพัง หากมีปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งสาธารณะ การจะจัดการปัญหาทั้งระบบพร้อมๆ กันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย         สิ่งที่เราต้องการมากๆ เวลานี้อาจจะเป็น ‘ความหวัง’ เพราะหัวใจมนุษย์แตกสลายเองไม่ได้หากไม่ถูกทุบทำลายจากภายนอก

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)