แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ละคร มัดหัวใจยัยซุปตาร์
ละครโทรทัศน์แนวสืบสวนสอบสวนของต่างประเทศ มักยืนอยู่บนความคิดที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่การเข้าถึงความจริงในคดีความฆาตกรรมต่างๆ นั้น ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยมาเป็นคำตอบ แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อละครแนวพีเรียดอย่าง “ลายกินรี” หันมาผูกเรื่องราวการ “สืบจากศพ” ชนิดย้อนไปในยุคประวัติศาสตร์ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะมาเป็นคำตอบกันโน่นเลยทีเดียว เปิดเรื่องละครย้อนไปในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อผัวเมียคู่หนึ่งกำลังตกปลาไปขาย แต่กลับพบศพชายต่างชาติคนหนึ่ง ที่ท่อนบนแต่งกายคล้ายสตรีและมีผ้านุ่งลายกินรีพันติดอยู่กับร่างกาย ส่วนท่อนล่างนั้นเปลือยเปล่า ซึ่งต่อมาละครก็เฉลยว่าเป็นศพของ “กปิตันฌอง” ชาวฝรั่งเศสที่ผูกพันกับราชสำนักยุคนั้น จุดเริ่มเรื่องแบบนี้ดูผิวเผินก็ไม่ต่างจากการวางพล็อตของซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไป แม้จะมีเส้นเรื่อง “สืบจากศพ” เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงว่า ใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรฆ่ากปิตันฌอง แต่ในเวลาเดียวกัน เพราะเหตุการณ์ย้อนกลับไปราวสามร้อยกว่าปีก่อน ละครจึงเป็นประหนึ่ง “ห้องทดลอง” ให้ผู้ชมในกาลปัจจุบัน ได้หันมาทบทวนหวนคิดถึงคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือกันแนบแน่นในสังคมทุกวันนี้ และค่านิยมหนึ่งที่คดีฆ่ากปิตันฌองได้ตีแผ่ให้เห็นก็คือ การตั้งคำถามต่อตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้หญิง เมื่อต้องดำรงตนอยู่ในวิถีแห่งชายเป็นใหญ่ที่มายาคติหลักของสังคมโอบอุ้มเอาไว้ โดยสะท้อนผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงที่ถูกผูกโยงเข้ากับการเปิดโปงปมที่มาและที่ไปแห่งการฆาตกรรม ตัวละครผู้หญิงคนแรกที่เกี่ยวพันกับกรณีนี้ก็คือ นางเอก “พุดซ้อน” หญิงสาวที่สืบทอดวิชาชีพหมอรักษาคนไข้จาก “หมอโหมด” ผู้เป็นบิดา แต่เพราะคนในสมัยก่อนโน้นไม่เชื่อมั่นในหมอผู้หญิง พุดซ้อนจึงบังหน้าโดยใช้ชื่อ “หมอมี” ผู้เป็นพี่ชายที่ไม่เอาถ่าน มาเป็นหมอรักษาผู้ไข้แทน เมื่อชะตาชีวิตของพุดซ้อนถูกลากโยงให้ได้มาตรวจศพของกปิตันฌอง และเธอลงความเห็นว่า ชายชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตก่อนที่จะถูกลากศพมาทิ้งอำพรางในแม่น้ำ พุดซ้อนก็ถูกดูแคลนจาก “หลวงอินทร์” หรือ “ออกญาอินทราชภักดี” เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา พระเอกหนุ่มผู้ไม่เพียงตั้งแง่กับหมอพุดซ้อน แต่ยังใช้ข้ออ้างเรื่องความเห็นของหญิงสาวจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสยามประเทศ อันจะนำไปสู่ภัยสงครามในยุคที่จักรวรรดิยุโรปเรืองอำนาจอยู่ อย่างไรก็ดี หน้าฉากของวาจาดูถูกเหน็บแนม และข้ออ้างเรื่องความขัดแย้งกับชาติมหาอำนาจ แท้จริงแล้วยังมีเบื้องลึกอีกด้านที่สังคมพยายามกีดกันผู้หญิงออกไปจากการเข้าถึงสรรพวิชาความรู้ของพวกเธอ ทั้งนี้ หากความรู้แพทยศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ถูกขีดขอบขัณฑ์ให้อยู่ใต้อำนาจบัญชาแห่งบุรุษเพศ สังคมก็จะมีความพยายามปิดกั้นศักยภาพของสตรีที่ก้าวล่วงมาใช้อำนาจแห่งความรู้เพื่อสืบสวนคดีความฆาตกรรม ไม่ต่างจากที่พุดซ้อนได้เคยพูดตอกหน้าหลวงอินทร์ว่า “ท่านตั้งป้อมใส่ข้า เพียงเพราะว่าหมอหญิงถูกมองเป็นเพียงหมอตำแยเท่านั้น” แม้จะถูกด้อยค่าความรู้ที่มี แต่เพราะวิถีแห่งผู้หญิงมีลักษณะแบบ “กัดไม่ปล่อย” เหมือนที่พุดซ้อนกล่าวว่า “พ่อข้าสอนไว้เสมอว่า หากตั้งใจทำสิ่งใด จงมุ่งหน้าทำให้สำเร็จ ยิ่งเกิดเป็นแม่หญิง ยิ่งต้องพิสูจน์ให้คนที่ปรามาสมองให้เห็นจงได้” ดังนั้น เราจึงเห็นภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าของหมอพุดซ้อนที่พากเพียรใช้องค์ความรู้ต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาจากบิดา เพื่อเผยให้ฆาตกรที่ซ่อนตัวอยู่ในเงามืดของเหตุฆาตกรรม เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ความรู้ด้านเภสัชและเคมีโบราณมาทดสอบสารพิษของ “เห็ดอีลวง” ที่คนร้ายใช้วางยาฆ่ากปิตันฌอง การประยุกต์ทฤษฎีด้านนิติวิทยาศาสตร์มาวินิจฉัยรอยมีดที่อยู่บนร่างของศพ ไปจนถึงการใช้ชุดความรู้การผ่าศพที่ทั้งผิดธรรมเนียมจารีตของชาวสยาม และไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่ผู้หญิงพึงจักกระทำ และที่สำคัญ ดังที่คนโบราณมักกล่าวว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่สำหรับพุดซ้อนแล้ว แม้นางเอกของเราก็เรียนรู้อยู่แก่ใจว่า “ความจริง” เองก็อาจนำหายนภัยมาให้เกือบปางตาย แต่เจตจำนงแน่วแน่ของเธอก็ยังคงยืนหยัดใช้ความรู้เพื่อพิสูจน์ “ความจริง” ที่ผู้หญิงก็เข้าถึงได้เช่นกัน สำหรับตัวละครผู้หญิงคนที่สองก็คือ “มาดามคลารา” ภรรยาของกปิตันฌอง แม้มาดามจะพูดให้การกับหลวงอินทร์ว่า “สามีข้าเป็นคนดี เป็นลมหายใจ เป็นที่รักของข้า” แต่เบื้องหลังคราบน้ำตาที่คลาราแสดงออกให้กับสามีที่เสียชีวิต กลับซุกซ่อนภาพความรุนแรงทางสังคมที่กระทำต่อกายวาจาใจของสตรี ซึ่งแท้จริงแล้วก็หาใช่สิ่งห่างไกลไปจากตัวของผู้หญิงไม่ เพราะความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นได้แม้ในครอบครัว อันเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่ใกล้ชิดกับชีวิตของมนุษย์มากที่สุด ไม่เพียงแต่คลาราจะถูกบิดาจับคลุมถุงชนกับกปิตันฌองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ภายหลังแต่งงานเธอก็ต้องขมขื่นกับสามีฝรั่งที่มองว่า “เมียเป็นเพียงสัตวเลี้ยงตัวหนึ่งเท่านั้น” ดังนั้น ทุกครั้งที่น้ำจัณฑ์เข้าปาก และด้วยลุแห่งอำนาจชายเป็นใหญ่ กปิตันฌองก็จะวิปลาสเสียสติลงมือทำทารุณกรรมภรรยา ไปจนถึงทำร้าย “เอี้ยง” สาวใช้จนขาพิการ และยังก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่า “อุ่น” เมียของ “จั่น” ผู้เป็นบ่าวในเรือน เพราะความอดทนของผู้หญิงมีขีดจำกัด แม้สังคมจะบอกหญิงผู้เป็นภรรยาทั้งหลายว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” แต่ความรุนแรงในครอบครัวที่เหตุปัจจัยมาจากความอยุติธรรมทางเพศ มีผลไม่มากก็น้อยที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคดีความฆาตกรรมดังกล่าว ดังที่คลาราเองก็พูดเพราะเข้าใจผิดเรื่องตนเป็นคนฆ่าสามีว่า “ข้าไม่เคยเสียใจสักนิดที่ฆ่ากปิตันด้วยมือของข้าเอง” และสำหรับตัวละครผู้หญิงคนสุดท้ายก็คือ “เจ้าจอมกินรี” เจ้าจอมคนโปรดในรัชสมัยนั้น และเป็นเจ้าของผ้านุ่งลายกินรีที่พบบนศพกปิตันฌอง ซึ่งในตอนจบเรื่องละครก็ได้เฉลยว่า เจ้าจอมกินรีเป็นผู้ชักใยข้างหลังความตายของกปิตันและอีกหลายชีวิตในท้องเรื่อง แม้ละครอาจตีความว่า การกระทำของเจ้าจอมกินรีเป็นตัวอย่างของคนทรยศต่อชาติบ้านเมือง แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวละครนี้ก็แสดงนัยว่า ในขณะที่ใครต่อใครเชื่อว่า การเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองเป็นคุณค่าที่มีเฉพาะในเพศบุรุษ เจ้าจอมกินรีก็คือผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถทำเพื่อชาติได้ แม้ว่าบางครั้งก็ต้องยอมแลกมากับความสูญเสียและถูกตราหน้าจากประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะหรือบุรุษเพศก็ตาม แม้ “ลายกินรี” จะมีจุดร่วมไม่ต่างจากละครแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องอื่นที่ต้องเผย “ความจริง” เรื่องตัวฆาตกรผู้ฆ่าก็ตาม แต่จากคำพูดของ “คุณหญิงแสร์” ซึ่งกล่าวกับหลวงอินทร์บุตรชายที่ว่า “อคติในหัวใจทำลายแง่งามในชีวิตเสมอ” บางทีคำพูดนี้ก็เป็นบทสรุปดีๆ ที่บอกกับเราด้วยว่า การลดอคติทางเพศลงเสียบ้าง จะทำให้เรามองเห็นตัวตนและเจตจำนงของสตรีที่มุ่งมั่นทำเพื่อวิชาความรู้ ครอบครัว และชาติบ้านเมืองได้เช่นกัน
นักคิดในกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแห่งสตรี หรือที่รู้จักกันในชื่อของนักทฤษฎีเฟมินิสต์บางคน เคยแสดงทัศนะไว้ว่า ระบอบ “ปิตาธิปไตย” หรือการกำหนดคุณค่าให้กับ “ชายเป็นใหญ่” ได้แผ่ซ่านอยู่ในถ้วนทุกอณูของสังคม และภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่นี้เอง ผู้หญิงกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่ถูกกดขี่ ลิดรอน จำกัดสิทธิและโอกาส หรืออีกนัยหนึ่ง สตรีก็คือเพศสภาพที่ต้องรองรับทุกขเวทนามากที่สุดในระบบการให้คุณค่าดังกล่าว แต่ในเวลาเดียวกัน นักทฤษฎีที่ศึกษาสิทธิทางเพศรุ่นหลัง ก็ได้โต้แย้งและขยับขยายมุมมองออกไปด้วยว่า ระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงจะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงเท่านั้น แม้แต่กับกลุ่มเพศทางเลือกหรือ “LGBTQ+” ก็ต้องเซ๋นสังเวยและทนทุกข์ทรมานจากระบอบคิดที่ว่านี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย เพื่อฉายภาพวิบากกรรมที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งต้องเผชิญเพียงเพราะเลือกเพศสภาพต่างไปจากสังคมกระแสหลักเช่นนี้ เราก็อาจพินิจพิจารณาได้จากตัวอย่างชีวิตของ “เทียน” พระเอกหนุ่มคุณชายใหญ่แห่งกลุ่มทุนจีนธุรกิจ “ตระกูลซ่ง” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “คุณชาย” เปิดเรื่องมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับตระกูลซ่ง ซึ่งเป็นตระกูลคนจีนที่มีอิทธิพลในสยามประเทศช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยความที่เป็นผู้นำตระกูลใหญ่ “เจ้าสัวซ่ง” จึงถูกวางตัวให้เป็นประมุขของ “สมาคมห้ามังกร” และตำแหน่งนี้ก็จะผ่องถ่ายมาที่เทียนบุตรชายคนโตของเจ้าสัวซ่งในเวลาต่อมา แต่ทว่า ปมสำคัญที่ถูกผูกไว้เป็นคุณค่าหลักที่ตัวละครต่างยึดมั่นก็คือ อคติที่มีต่อ “ต้วนซิ่ว” หรือความรังเกียจต่อกลุ่มชายรักชาย ซึ่งแสดงให้เห็นตั้งแต่ฉากเริ่มต้นเรื่อง เมื่อ “เจ้าสัวจาง” หนึ่งในผู้นำตระกูลซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมห้ามังกร ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองเพราะถูกจับได้ว่าเป็นต้วนซิ่ว เจ้าสัวซ่งและพี่น้องคนอื่นจึงพากันกีดกันเขาจากความเป็นสมาชิกสมาคม แต่ก่อนที่จะตายนั้น เขาได้กล่าวกับเจ้าสัวซ่งว่า “ถึงแม้อั๊วจะเป็นต้วนซิ่ว อั๊วก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรี…สักวันอั๊วขอให้พี่ใหญ่รับรู้ความเจ็บปวดที่อั๊วมี” ฉากการฆ่าตัวตายของเจ้าสัวจาง เป็นรอยประทับที่สร้างบาดแผลให้กับสมาชิกตระกูลซ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียนมีทีท่าจะเป็นต้วนซิ่วเช่นกัน ทำให้ “อาลี่” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “นายแม่” มารดาของเทียน และ “อาเจีย” สาวใช้คนสนิทของนายแม่ที่รู้ความลับนี้ ต้องคอยปกปิดมิให้ใครล่วงรู้ ตั้งแต่ที่เทียนยังเด็กจนเขาโตพอจะรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกรสืบต่อจากเจ้าสัวซ่ง เรื่องราวหลังจากนั้นไม่นานนัก เทียนก็ได้ตกหลุมรัก “จิว” ผู้ชายธรรมดาที่ขายน้ำตาลปั้นยังชีพเลี้ยงน้องๆ สองคน แต่อีกด้านหนึ่ง จิวก็คือนักฆ่าฟรีแลนซ์รับจ้างให้กับ “เจ้าสัวหม่า” อีกหนึ่งในสมาชิกสมาคมห้ามังกรผู้หวังขึ้นมาช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าสมาคมไปจากคนในตระกูลซ่ง เมื่อมีอำนาจและผลประโยชน์ของตระกูลซ่งเป็นเดิมพัน อีกทั้งเมื่อมีความลับเรื่องต้วนซิ่วที่อาจทำให้สถานะนำของเทียนสั่นคลอน นายแม่จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อมิให้อนาคตของประมุขสมาคมหลุดไปอยู่ในมือของ “หยาง” ผู้เป็นลูกชายของ “จันทร์” เมียรอง และเป็นน้องชายต่างมารดาของเทียน พร้อมๆ กับที่เราได้เห็นภาพสมรภูมิแห่งบ้านตระกูลซ่งที่ลุกเป็นไฟ เพียงเพื่อรักษาความลับในเพศวิถีของเทียน แต่เพราะสรรพกำลังใดๆ ก็ไม่มีอยู่ในมือ หนทางเดียวที่นายแม่จะปกป้องความลับของบุตรชายได้ก็คือ การใช้ “ความรู้” เป็นอำนาจ ดังนั้น “เห็ดดูดเลือด” อันเป็นวิชาลับของการเพาะเห็ดพิษที่เติบโตบนตัวแมลงทับ ก่อนจะสกัดมาเป็นผง “ว่านแมลงทับ” จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ปลิดชีวิตทุกคนที่ก้าวล่วงมารับรู้ความลับของคุณชายเทียน แม้จะตระหนักว่า “ความลับไม่เคยมีในโลก” แต่เมื่อนายแม่ได้เริ่มต้นใช้ว่านแมลงทับฆ่าเหยื่อรายแรกอย่าง “ตง” คนงานที่บังเอิญมารู้ความลับเรื่องต้วนซิ่วของเทียน การปกปิดและรักษาความลับก็ได้นำไปสู่เหยื่อฆาตกรรมรายที่สอง…สาม…สี่…ตามมา อย่างไรก็ดี แม้ในทางกฎหมาย ความผิดฐานฆ่าคนตายอาจมีนายแม่และอาเจียเป็นผู้ต้องหาในคดีความอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าเบื้องลึกยิ่งไปกว่านั้น เหตุปัจจัยที่ทำให้หลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อซ่อนงำความลับเรื่องต้วนซิ่วของคุณชายใหญ่ตระกูลซ่ง ก็มีจำเลยหลักที่มาจากการกำหนดคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยอย่างมิอาจเลี่ยงได้ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่า ในทางหนึ่งระบอบชายเป็นใหญ่ได้กดขี่สร้างความเจ็บปวดให้กับตัวละครผู้หญิงทั้งหลาย ตั้งแต่นายแม่และจันทร์ที่ต้องลุกขึ้นมาต่อกรห้ำหั่นกันเพียงเพื่อหาหลักประกันอันมั่นคงให้กับสถานะในบ้านของพวกเธอเอง หรือเมียบ่าวอย่าง “บัว” ที่เพราะเป็นหมัน จึงถูกกดทับคุณค่าจนต้องระเห็จมาอยู่เรือนหลังเล็กของบ้าน หรือ “ไช่เสี่ยวถง” หญิงม่ายที่ต้องดูแลโรงน้ำชาต่อจากสามี ก็ต้องดิ้นรนให้กิจการของเธอดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางเสียงดูหมิ่นดูแคลนจากบรรดาเฮียๆ สมาชิกโดยตรงของสมาคมห้ามังกร แต่เพราะระบอบปิตาธิปไตยไม่เพียงกดกั้นศักยภาพของสตรีเพศเท่านั้น หากยังสร้างบาดแผลและความทุกข์ระทมให้กับชายรักชายที่อยู่ใต้ร่มระบอบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากภาพวัยเด็กของเทียนที่ถูกนายแม่เฆี่ยนตีเพียงเพราะเขาแต่งตัวเลียนแบบนางเอกงิ้วที่ชื่นชอบ หรือภาพของเขาในวัยหนุ่มที่นายแม่พยายามจับคลุมถุงชนด้วยหวังจะให้แปรเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ ไปจนถึงภาพความรักอันเจ็บปวดและต้องซ่อนเร้นของเขากับจิวที่ทุกคนพากันกีดขวางและประทับตราว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ จากอัตวินิบาตกรรมของเจ้าสัวจาง จนถึงเรื่องราวรักต้องห้ามของเทียนกับจิว ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนจารีตประเพณีที่ว่า เฉพาะเพศวิถีแห่งรักต่างเพศเท่านั้นที่จะสืบต่อระบอบปิตาธิปไตยให้จีรังยั่งยืน ดังนั้นมูลเหตุที่เจ้าสัวซ่งกังวลต่อคำครหาที่ว่าเลี้ยงลูกชายอย่างไรให้เป็นต้วนซิ่ว และไม่เหมาะสมที่จะขึ้นครองบัลลังก์สมาคมห้ามังกรได้ แท้จริงก็เป็นแค่การกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่า ชายรักชายแบบต้วนซิ่วไม่อาจผลิตทายาทรุ่นถัดไปที่จะเป็นหลักประกันการสืบต่อระบบคุณค่าแบบชายเป็นใหญ่ได้ในอนาคต ทุกๆ ระบบคุณค่าของสังคม จุดเริ่มต้นก็ล้วนมาจากข้อตกลงที่ผู้คนในยุคหนึ่งสม้ยหนึ่งได้อุปโลกน์ขึ้นเพื่อตอบรับความเป็นไปแห่งยุคสมัยนั้น แต่หากข้อตกลงดังกล่าวไม่สอดรับกับยุคสมัยที่ต่างไป หรือแม้แต่สร้างความบอบช้ำบาดหมางระหว่างมนุษย์ สมาชิกในสังคมก็น่าจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนั้นๆ ได้เช่นกัน หากหลายชีวิตต้องสูญเสียไปเพื่อรักษาความลับเรื่องเพศสภาพของเทียน และหากความลับเรื่องต้วนซิ่วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความดีเลวของมนุษย์แต่อย่างใด บางทีคำสารภาพของพระเอกหนุ่มในฉากขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้าสมาคมห้ามังกร จึงเป็นประหนึ่งเสียงจากกลุ่มเพศทางเลือกในสังคมปิตาธิปไตยที่ว่า “ผมไม่เคยต้องการความเห็นใจ หรือต้องการความเข้าใจจากทุกคนเลย ผมแค่อยากเป็นตัวของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ผมเลือก โดยที่ทุกคนให้เกียรติผม ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่คนควรจะได้รับ”
กล่าวกันว่า ผู้หญิงเป็นประหนึ่ง “เหรียญที่มีสองด้าน” ที่ไม่เพียง “การสร้างสรรค์” โลกด้วยความรัก แต่ยังมีพลังแห่ง “การทำลายล้าง” ให้ทุกสิ่งอย่างราพณาสูรได้ ตามตำนานความเชื่อของฮินดูนั้น พระอุมาเทวีชายาแห่งพระศิวะคือตัวแทนของเทพสตรีผู้ปกปักรักษา เป็นมหาเทวีแห่งความรักและคุณธรรมความดีงาม แต่ในอีกปางหนึ่งของพระอุมาเทวีก็คือ พระแม่กาลี ผู้มีพลังทำลายล้างความชั่วร้ายทั้งมวล ดังภาพเคารพที่เรามักเห็นพระแม่กาลีมีร่างอันดูดุดันน่าเกลียดน่ากลัว ถืออาวุธตัดศีรษะประหัตประหารอสูรร้าย เพื่อปกป้องทวยเทพและสามโลกให้รอดพ้นพิบัติภัย เพื่อขานรับกับวิธีคิดว่าด้วย “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรีดังกล่าว ละครโทรทัศน์แนวดรามาที่ผูกปมฆาตกรรมความตายอย่าง “สาปซ่อนรัก” ก็ดูจะเป็นตัวอย่างของการฉายภาพพลังสองด้านของผู้หญิง ภายใต้สายสัมพันธ์ของความเป็นแม่ ละครจำลองภาพของตระกูล “ยินดีพงษ์ปรีชา” กลุ่มนายทุนไทยเชื้อสายจีน เจ้าของธุรกิจ “ตลาดยินดี” ที่มั่งคั่งร่ำรวย และแม้จะเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ แต่คำสาปซึ่งสลักฝังเอาไว้ตั้งแต่ต้นตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาที่เล่าขานต่อกันมาแบบไม่รู้ที่มาที่ไปก็คือ คำสาปแช่งให้ตระกูลใหญ่นี้จะเหลือไว้เพียงผู้หญิงและแม่ม่าย ซึ่งจะขึ้นครองอำนาจและขัดแย้งช่วงชิงผลประโยชน์ที่สั่งสมสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยเหตุนี้ ฉากเปิดเรื่องของละครจึงสำทับคำสาปแช่งดังกล่าว เมื่อ “เจ้าสัวพธู” บุตรชายคนสุดท้ายของตระกูลได้ตกตึกลงมาเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเหลือเพียงลูกสะใภ้และบรรดาลูกสาว อันนำไปสู่ศึกสงครามของเหล่าสตรีผู้ห้ำหั่นแย่งชิงสมบัติอันมหาศาลกันชนิดไม่มีใครยอมใคร ในสมรภูมิดังกล่าว ตัวละครหญิงที่เป็นคู่ชกแบบซูเปอร์เฮฟวีเวทสองฝั่งก็คือ “หงษ์” สะใภ้ผู้เป็นภรรยาของเจ้าสัวพธูที่ปรารถนาจะอยู่ “เหนือมังกร” และหวังรวบอำนาจของตระกูลมาอยู่ใต้อุ้งหัตถ์ของเธอ กับ “ภัทรา” บุตรีคนโตที่ไม่เพียงจะลงเล่นสนามการเมืองใหญ่ระดับประเทศ แต่ยังเข้ามาช่วงชิงอำนาจในระบบกงสีของตลาดยินดีที่ตระกูลของเธอบุกเบิกมาตั้งแต่แรกเริ่ม ในฝั่งของหงษ์นั้น ไม่เพียงแต่เธอจะอ้างสิทธิ์ที่สถาปนาตนขึ้นเป็นประมุขของบ้าน ในฐานะสะใภ้ผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักรตลาดยินดีมาจนเติบใหญ่รุ่งเรืองเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง แรงผลักที่ทำให้หงษ์ต้องลงมาเล่นเกมช่วงชิงอำนาจก็คือ “หนูหนิง” ลูกสาวบุญธรรมของเจ้าสัวพธูกับหงษ์ซึ่งเธอรักเยี่ยงลูก ที่ภายหลังละครเองก็เฉลยว่าหนูหนิงเป็นหลานแท้ๆ ที่หงษ์วางแผน “ย้อมแมว” มาเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมนี้ ส่วนในฟากของภัทรา ผู้ที่สร้างบารมีจากการเล่นการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะถือคติว่าสมบัติของตระกูลต้องเป็นของคนในสายเลือดเดียวกันเท่านั้น ภัทรายังมีดีลสำคัญก็คือ บุตรชายเพลย์บอยเซียนพนันอย่าง “เทียน” ที่เธอคาดหวังจะผลักดันให้เข้ามาท้าประลองช่วงชิงมรดกตระกูลจากหงษ์กับหนูหนิง นอกจากคู่ชกหลักอย่างหงษ์กับภัทราแล้ว สมรภูมิของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาก็ยังมีแนวรบย่อยๆ ของเหล่าตัวละครหญิงอีกหลายนาง ตั้งแต่ “เจิน” ซ้อใหญ่ที่เอาแต่สปอยล์ตามใจ “พริ้ง” บุตรสาวหนึ่งเดียวของเธอ ตามด้วย “พิศ” บุตรีคนรองจากภัทราที่แก้เคล็ดคำสาปตระกูลด้วยการเปลี่ยนเพศสภาพของบุตรชาย “แคท” ให้มีจิตใจเป็นหญิง ไล่เรียงไปจนถึง “ภา” กับ “เพลิน” บุตรสาวสุดท้องสองนางที่วันๆ ไม่ทำอะไรเป็นโล้เป็นพาย แต่ก็ขันอาสามาช่วงชิงความเป็นใหญ่ในตระกูล และแล้วจุดปะทุแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ก็เริ่มต้นขึ้นในวันเปิดพินัยกรรม เพราะเจ้าสัวพธูได้เขียนพินัยกรรมไว้สองฉบับ โดยฉบับใหม่ได้เผยความจริงว่า “ซัน” นักกฎหมายพระเอกหนุ่มที่ทุกคนต่างคิดว่าเป็นเพียงเด็กในบ้านลูกชายของ “ศักดิ์” คนขับรถ แต่แท้จริงกลับเป็นบุตรชายที่เกิดกับภรรยาอีกคนของเจ้าสัวพธู และมีสิทธิ์ในกองมรดกของตระกูลด้วยเช่นกัน เมื่อตัวหารเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งในกองมรดกก็ลดน้อยลง แต่เพราะอำนาจไม่เคยเข้าใครออกใคร และสิงสู่ให้ทุกคนเขาไปในวังวนของผลประโยชน์ดังกล่าว ดังนั้น ฆาตกรรมและความตายของตัวละครคนแล้วคนเล่าที่โรยร่วงเป็นใบไม้ปลิดปลิว ก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นตลอดเวลาว่า “ใครกันจะเป็นรายต่อไป” ตามเส้นเรื่องหลักของละครเหมือนจะชวนตั้งคำถามว่า ระหว่าง “คำสาป” กับ “กิเลสแห่งรักโลภโกรธหลง” อันใดกันแน่ที่ทำให้สมาชิกของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเข่นฆ่ากันตายเป็นใบไม้ร่วงเช่นนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นนำของตระกูล เราก็ยังได้เห็นตัวละครเล็กๆ อย่างบรรดาพ่อค้าแม่ขายในตลาดยินดี ที่เลือกสมาทานเป็นลิ่วล้อลูกไล่รับใช้กลุ่มก๊วนย่อยๆ ของชนชั้นนำกันอย่างออกหน้าออกตา ภาพของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องมีสังกัดไม่ต่างจาก “กบเลือกนาย” เหมือนจะสะท้อนข้อเท็จจริงว่า เพราะสงครามของชนชั้นนำมีผลกระทบต่อชนชั้นที่อยู่ฐานรากเสมอ ดังนั้น การเข้าสวามิภักดิ์ต่ออำนาจของใครสักคนในระดับบน ก็น่าจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดให้กับคนกลุ่มนี้ ไขว้ขนานไปกับสงครามห้ำหั่นที่มีมรดกมหาศาลเป็นหมุดหมายนั้น ละครได้ย้อนกลับไปสาธิตให้เห็น “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรี ทั้งนี้ เหตุผลของหงษ์ที่แม้จะเป็นสะใภ้แต่งเข้าบ้าน แต่ก็พร้อมจะ “ระเบิดพลีชีพ” สู้ตายในศึกครั้งนี้ ก็เพราะเธอผูกใจเจ็บด้วยคิดว่าภัทราคือคนที่ฆ่าลูกชายเธอให้จมน้ำตาย เธอจึงมอบความรักและสร้างหนูหนิงขึ้นมาเป็น “สงครามตัวแทน” ให้กับบุตรชายที่เสียชีวิตไป และเพราะความเป็นแม่มีทั้งด้าน “สร้างสรรค์” และ “ทำลายล้าง” นี่เอง ฉากที่หงษ์ดูแลห่วงใยหนูหนิงก็สะท้อนพลังความรักของแม่ที่จะมอบให้ลูกจนหมดหัวใจ และในทางกลับกัน ก็พร้อมจะล้างบางทุกคนที่ขัดขวางความสุขและการขึ้นเป็นประมุขของบ้านที่หนูหนิงพึงได้รับ แม้ว่าจะต้องสูญเสียกี่ชีวิตต่อชีวิตก็ตาม ไม่ต่างจากภัทราเองที่เมื่อต้องสูญเสียเทียนผู้เป็นบุตรชาย เพราะเล่ห์ลวงของหงษ์ที่ตอกย้ำคำสาปดั้งเดิมของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชา ภัทราจึงเปิดศึก “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” กับหงษ์และหนูหนิง โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีแต่อย่างใด ก่อนที่ฉากจบจะมีสมาชิกตระกูลเหลือรอดจากสงครามผลประโยชน์เพียงไม่กี่คน ใน “เหรียญสองด้าน” ของความเป็นสตรีเพศนั้น ถ้าเราจะย้อนมองกลับไปสู่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องพระอุมาเทวีที่มีสองด้านของการสร้างสรรค์และทำลายล้างแล้ว เหตุปัจจัยที่พระนางเป็นเยี่ยงนั้นก็เพื่อปกป้องทวยเทพและสรรพชีวิตให้พ้นพิบัติภัย แต่มาในโลกของศึกสายเลือดที่มีเดิมพันเป็นมรดกอันมหาศาลของตลาดยินดีด้วยแล้ว ความรักความแค้นและการเข่นฆ่าตามคำสาปของตระกูลดูจะสืบเนื่องมาแต่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มก้อนมากกว่ากระมัง ตราบใดที่ผลประโยชน์ยังบดบังตาอยู่เช่นนี้ ทั้งหงษ์ ภัทรา และตัวละครหญิงในอาณาจักรยินดีพงษ์ปรีชา ก็คงต้องครวญเพลงกันต่อไปว่า “คงจะเป็นเหมือนโดนคำสาปที่สั่งให้ยังรักโลภโกรธหลง…จนตาย”
เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสลงสนามเก็บข้อมูลพื้นที่วิจัยแถบภาคอีสาน และได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์บรรยากาศการประกอบพิธีกรรมเข้าทรงหมอผีพื้นบ้าน ในฐานะภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน แม้วิถีชุมชนจะดูแปลกตาสำหรับนักวิจัยที่มาจากสังคมเมืองหลวง แต่หลายๆ ภาพที่เห็นตรงหน้าก็ชวนให้รู้สึกได้ว่า “ไม่เชื่อแต่ก็ไม่กล้าจะลบหลู่” ในครั้งนั้น ชุมชนหมู่บ้านที่เป็นสนามวิจัยก็ไม่ได้ปฏิเสธองค์ความรู้แพทย์แผนใหม่ เพราะชาวบ้านก็ยังคงไปรักษาหาหมอที่โรงพยาบาลกันเป็นเรื่องปกติ แต่คู่ขนานกันไป ชาวบ้านเองก็สำเหนียกว่า ความเชื่อผีดั้งเดิมเป็นอีกหนึ่งวิถีทางที่ผู้คนท้องถิ่นศรัทธา ในฐานะกลไกจัดการโรคภัยและสุขภาวะชุมชนด้วยเช่นกัน จนกระทั่งได้มาเปิดดูละครโทรทัศน์เรื่อง “ภูตแม่น้ำโขง” ความทรงจำของการทำงาน ณ สนามวิจัยในท้องถิ่นอีสานเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ก็หวนกลับมาชวนให้ตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติดั้งเดิมกับชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กันอีกครั้ง ละครได้ย้อนยุคไปเมื่อปีพุทธศักราช 2514 “อัคนี” แพทย์หนุ่มพระเอกของเรื่อง ได้เดินทางจากเมืองหลวงมาที่หมู่บ้านนางคอย ริมแม่น้ำโขง เพื่อมาสานต่องานวิจัยของ “หมอประเวศ” ผู้เป็นบิดา ที่ศึกษาค้นคว้าด้าน “จิตเวชศาสตร์วัฒนธรรม” หรือโรคทางจิตที่เกิดจากความเชื่อและสิ่งลี้ลับในท้องถิ่นชนบท และมาเป็นหมอคนใหม่ประจำสุขศาลาของหมู่บ้าน การมาถึงหมู่บ้านอัน “ไกลปืนเที่ยง” ของหมออัคนี ทำให้เขาได้พบกับ “บัวผัน” สาวชาวบ้านซื่อใสจิตใจดี แต่มีหนี้กรรมที่พันผูกกันมาตั้งแต่ชาติภพก่อน โดยที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีวิญญาณของ “เจ้าแม่ทอหูก” จุดเริ่มต้นของตำนานความเชื่อเรื่อง “ภูตแม่น้ำโขง” เป็นสตรีอีกหนึ่งนางที่ผูกตรึงตัวเองไว้ในสามเส้าแห่งบ่วงรักบ่วงกรรมดังกล่าวด้วย ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องละคร บัวผันได้ถูกมนต์สะกดของเจ้าแม่ทอหูกล่อลวงให้ไปลิ้มรสไข่พญานาค เธอจึงตกอยู่ใต้อาณัติบัญชาของภูตแม่น้ำโขงมานับจากนั้น ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายของเจ้าแม่ทอหูกเอง เพื่อธำรงอำนาจและความเป็นอมตะ นางจึงต้องดื่มโลหิตของมนุษย์ จนทำให้มีหลากหลายชีวิตที่ถูกพรากมาเซ่นสังเวยยังใต้วังบาดาล จะว่าไปแล้ว โดยแก่นของละครคือการให้คำอธิบายว่า กรรมมิใช่เพียงการกระทำที่เกิดขึ้นในชาตินี้เท่านั้น หากแต่เป็นผลของการกระทำตั้งแต่อดีตชาติ และวนเวียนเป็นวัฏฏะมาจนถึงปัจจุบันกาลด้วยเช่นกัน การที่หมออัคนีได้มาพานพบกับทั้งบัวผันและวิญญาณเจ้าแม่ทอหูก ก็เป็นเพราะทั้งสามคนยังเวียนว่ายในสังสารวัฏของรักสามเส้าที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งปางบรรพ์ หรือการที่ทั้งบัวผันและ “บุญเรือน” ผู้เป็นมารดาต้องมาเผชิญทุกข์กรรมมากมาย ก็มาจากกรรมเก่าที่สร้างไว้ในชาติอดีตนับเป็นพันปี รวมไปถึงการที่ชาวบ้านหลายชีวิตในหมู่บ้านนางคอยต้องประสบพบเจอกับเรื่องลึกลับมากมาย บ้างถูกผีสิง บ้างต้องตายลง ก็ล้วนมาแต่วิบากกรรมที่พวกเขาก่อและตกทอดมาจากชาติปางก่อน แต่ทว่า ภายใต้แก่นเรื่องละครที่อธิบายถึงวัฏจักรแห่งกรรมเช่นนี้ ผู้ชมเองก็ได้เห็นการปะทะประสานกันระหว่างโลกทัศน์สองชุด ที่วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นคุณค่าวิทยาการแห่งสังคมโลกสมัยใหม่ มาต่อสู้ต่อกรกับความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติเร้นลับอันเป็นองค์ความรู้ตามวิถีชาวบ้านในสังคมดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้ นับแต่ก้าวแรกที่หมออัคนีได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านนางคอย หมอผู้ยึดมั่นในชุดความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่จึงได้สัมผัสเหตุการณ์อันแปลกประหลาด ซึ่งผิดแผกไปจากที่เขาคุ้นชินเมื่อครั้งอยู่ในเมืองกรุง แม้ชาวบ้านต่างก็คอยเตือนสติเขาอยู่เนืองๆ ว่า “ถ้าหมอมาอยู่ที่นี่ ในที่สุดหมอจะได้เห็นในสิ่งที่หมอไม่คิดว่าจะได้เห็น” ดังนั้น ควบคู่ไปกับเรื่องราวความรักความแค้นที่วิญญาณอสูรใต้ลำน้ำโขงรอคอยที่จะได้ครองคู่กับชายคนรักมายาวนานนับพันปี เราจึงเห็นภาพของการแบทเทิลช่วงชิงชัยระหว่างความเชื่อท้องถิ่นตามวิถีชาวบ้านกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งซัดสาดเข้ามาจากโลกภายนอก ฉากที่ชาวบ้านเกิดอาการผีเข้าจนสติไม่สมประดี ก็ถูกพระเอกหนุ่มตีความว่าเป็นอาการของโรคลมชักและการเกิดอุปาทานหมู่ หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าอาการของโรคฮีสเตอเรีย หรือฉากที่ “ญาแม่คำแพง” หญิงสูงวัยผู้เป็นร่างทรงของ “เจ้านางแก้วพิมพา” ทำพิธีเสี่ยงทายรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน ด้วยการตั้งไข่ไก่บนดาบ หมออัคนีก็รำพึงแกมปรามาสว่าเป็นเพียง “มายากล” ที่เชื่อถือไม่ได้เลย หรือกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่บัวผันและแม่เผชิญอยู่ทั้งเรื่อง ถึงขนาดที่นางบุญเรือนผู้มีอาการป่วยเรื้อรังมานานก็ยืนยันว่า เป็น “โรคเวรโรคกรรม” ที่เจ้ากรรมนายเวรจากชาติที่แล้วกลับมาทวงคืนหนี้กรรมเก่า แต่หมอหนุ่มอัคนีก็ตัดสินไปแล้วว่า นั่นเป็นความงมงาย เพราะเขาไม่เชื่อว่าผีมีอยู่จริง สำหรับสังคมไทย วิทยาศาสตร์เป็นชุดความรู้ใหม่ที่ชนชั้นนำสยามรับเข้ามาเมื่อราวร้อยกว่าปีนี่เอง แต่ก่อนหน้านั้น ระบบความรู้ของไทยหยั่งรากมาจากไสยศาสตร์กับพุทธศาสนากันเป็นเวลาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่ง ก่อนที่หมอวิทยาศาสตร์จะสถาปนาอำนาจขึ้นมาแบบที่เราเห็นๆ กันในปัจจุบัน ชาวบ้านในยุคดั้งเดิมต่างก็เคย “ฝากผีฝากไข้” ไว้กับองค์ความรู้สุขภาพพื้นบ้านและการทรงเจ้าเข้าผีกันจนเป็นวิถีปกติ ดังนั้นแล้ว แม้จะมี “เหตุผลของวิทยาศาสตร์” แบบที่หมออัคนีใช้หักล้างผลักไสให้เรื่องวิญญาณภูตแม่น้ำโขงกลายเป็นเรื่องงมงายไร้สาระเพราะพิสูจน์จับต้องไม่ได้ แต่ทว่า “เหตุผลของชาวบ้าน” ก็ได้เข้ามาปะทะคัดง้างกับอหังการความรู้ที่พระเอกหนุ่มยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา แบบเดียวกับที่ “พ่อเฒ่าเชียงหล้า” แห่งหมู่บ้านนางคอย ก็เคยตั้งคำถามกับหมออัคนีว่า “ตั้งแต่หมอมาอยู่ที่นี่ มีอะไรที่วิทยาศาสตร์ให้คำตอบกับหมอได้บ้าง” และ “ในโลกนี้มีเรื่องราวหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์หาคำตอบไม่ได้ บางเรื่องก็ละเอียดเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ” จนท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อเจ้าแม่ทอหูกพยายามใช้มนต์สะกดพาหมออัคนีมาทำพิธีมฤตสัญชีวนี เพื่อให้เขากลายเป็นภูตผีครองคู่กับนางตลอดกาล หมอหนุ่มจึงเกิดตระหนักรู้ว่า แม้ความจริงทางวิทยาศาสตร์อาจรับรู้ผ่านอายตนะทางรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัสได้ก็ตาม แต่สิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวบ้านยึดถืออยู่ในสัมผัสที่หก ก็เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ดำรงคุณค่าเกินกว่าที่วิทยาศาสตร์จะหยั่งถึงได้จริงๆ จากฉากเนื้อเรื่องละครที่ย้อนยุคไปเมื่อราวห้าสิบปีก่อน กับการนั่งดูละคร “ภูตแม่น้ำโขง” ในห้วงเวลาห้าทศวรรษให้หลัง แม้สังคมทุกวันนี้จะเจริญก้าวหน้าทันสมัยไปมากเพียงไร ละครก็ยังกระตุกต่อมความคิดให้เราระลึกได้ว่า ในขณะที่เรายอมรับวิทยาศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต แต่ตำนานความเชื่อเจ้าแม่ทอหูกที่ทอผ้าบรรเลงเพลงอยู่ใต้ลำน้ำโขง ก็มิอาจเจือจางลางเลือนไปเสียจากวิถีแห่งโลกสมัยใหม่ได้เลย
ความคิดเห็น (0)