แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ฟ้องคดี ฟ้องปิดปาก ปปช.
ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างคดีฟ้องปิดปาก อย่างลงลึกมากขึ้นคือ คดีหมายเลขดำที่ 723/2565 โดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เรื่องราวของคดีนี้เริ่มต้นในช่วงปี 2562 ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสหนึ่งที่สังคมจับตาให้ความสนใจอย่างมาก คือ การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในการเกษตรคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2562 ปรับให้ทั้ง 3 สาร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกและห้ามใช้ ภายหลังมีมติดังกล่าวยิ่งทำให้สังคมให้ความสนใจ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีจึงได้รับเชิญให้ไปแสดงความเห็นในสถานีวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ เป็นจำนวน ทั้งยังใช้เพจเฟซบุ๊กรณรงค์ ให้ความเข้าใจแก่สังคมเรื่องอันตรายของทั้ง 3 สารเคมี ในระหว่างนี้เขาได้แชร์โพสต์ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยที่มีข้อความว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซตแต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟซิเนต” มายังเพจของมูลนิธิชีววิถี และนั่นคือที่มาของการถูกฟ้องที่เริ่มต้นขึ้น “โพสต์ดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นการบิดเบือนเพราะไม่ได้พูดถึงภัยอันตรายทั้งหมด นั่นคือประเด็นหนึ่งที่ได้ทั้งแสดงความเห็น ทั้งโพสต์ในเฟซบุ๊ก รวมถึงอธิบายในสื่อต่างๆ สีของฉลากไม่ได้พูดถึงพิษเรื้อรัง การก่อกลายพันธุ์ การก่อมะเร็ง” วิฑูรย์กล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาแชร์โพสต์ดังกล่าวเพราะอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า ฉลากสีที่กำหนดประเภทของสารเคมี ไม่ได้ให้ข้อมูลอันตรายทั้งหมดของสารเคมีแต่ละชนิด โดยเฉพาะอันตรายในระยะยาวที่จะสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรครุนแรงได้หลายโรค การที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้สื่อสารและทำให้ประชาชนเข้าใจอันตรายของสารเคมีตามฉลากของสีจึงยังไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ มองเรื่องนี้ว่าเป็นหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงยื่นฟ้องวิฑูรย์ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91,326,328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) , 16 ลงวันที่ฟ้องในศาลชั้นต้นวันที่ 17 มีนาคม 2564 “โดยเมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีที่จัดตั้งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยด้านทรัพยากร ชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนเพื่อประโยชน์สาธารณด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งจำเลยและบุคคลในมูลนิธิของจำเลยเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความอันตรายและจากการศึกษาทางวิชาการของจำเลยตามเอกสารหมายเลข จ.5 ได้แบ่งประเภทความอันตรายของสารเคมีเกษตรด้วยแถบสียังไม่สามารถวัดอันตรายของพิษเรื้อรังได้ ประกอบกับคู่มือการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังมีการจำแนกความอันตรายจากสารพิษตามหลักเกณฑ์พิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังไว้ด้วย ดังนั้นกรณีที่จำเลยกล่าวถ้อยคำทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊คผ่านเพจมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นการเตือนให้ตระหนักหรือระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ให้ผลเป็นพิษแก่ผู้บริโภคเป็นไปตามฐานะตำแหน่งการงานที่จำเลยดำรงอยู่ ” “เราคิดว่า ผลของคดีนี้ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ต่อไปเป็นอิสระจากความกลัวและเป็นการยืนยันว่า การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจะคุ้มครองเราเองจากการฟ้องคดีปิดปาก” จันทร์จิรา ทนายความกล่าวยืนยันผลของคดี ด้านวิฑูรย์กล่าวว่า “คำตัดสินของศาลเป็นการยืนยัน สิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์ วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็น ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำตัดสินแบบนี้ควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในคดีความอื่นๆ ด้วยที่จะปกป้องประโยชน์ของคนที่ทำงานเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยต่อไป” “เพราะในที่สุดแล้วผมคิดว่าการมีคดีแบบนี้เยอะๆ มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของสังคมโดยรวมเลย ในท้ายที่สุด คนที่จะสูญเสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบ คือสังคมส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ในประเทศ การที่คนเล็กคนน้อยถูกฟ้องร้องในคดีพวกนี้ เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วประเทศไทยควรมีทั้งแนวปฏิบัติ แนวกฎหมายที่จะช่วยป้องกันคุ้มครองคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด 2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565 (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3) อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415 เรื่อง (ร้อยละ 19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม 378 เรื่อง (ร้อยละ 18.1) อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง” ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้ สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก” ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ บริการสุขภาพ เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก” อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์ อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย
อาจจะ 20 หรือ 30 ปีก่อน ครั้งที่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูมและมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เกิดคำทำนายว่า ‘หนังสือเล่มจะหายไป’ นักอ่านจะหันมาอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ยังไม่เป็นจริง) เพราะหนังสือเล่มมีเสน่ห์ในตัวที่ยังไม่มีสื่อชนิดอื่นเข้ามาแทนที่ ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด’ มายาคติที่ไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ไม่เป็นจริงแล้ว) แต่ก็ถูกเชื่อกันอยู่พักใหญ่ ปัจจุบันมีข้อมูลทางสถิติยืนยันแล้วว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่านั้นเยอะ ผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังคงอ่านหนังสือเล่มสูงถึงร้อยละ 88 ขณะที่การอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็สูงขึ้นอย่างน่าจับตา ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 3 เล่มต่อเดือน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมชมงานถึง 1,355,893 คน สามารถสร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงาน 347,331,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ถึงร้อยละ 74 แต่ ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ก็พบข้อมูลที่ดูขัดแย้งกันว่า ‘ในภาพรวม พบว่าพฤติกรรมคนไทย มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นทุนเดิม เนื่องจากระบบการศึกษาในประเทศ ที่ไม่ได้สนับสนุนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านตั้งแต่ระดับเยาวชน ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ผู้อ่านมีทางเลือกในการเสพสื่ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นและพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในปัจจุบันที่ใช้เวลาในการเสพสื่อสั้นลง รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง ยิ่งทำให้คนไทยยิ่งหันไปเสพเนื้อหาแบบอื่นแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบกับการเข้าถึงแหล่งหนังสือต่างๆ เช่น ห้องสมุด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ไม่ได้สร้างการเข้าถึงให้กับผู้อ่านอย่างเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านในต่างจังหวัดเข้าถึงหนังสือได้ยาก’ ‘รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง’ ประโยคนี้คือประเด็นสำคัญที่เราจะคุยกัน หนังสือไทยแพงจริงไหม? “คำว่าแพงหรือไม่แพงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ มันขึ้นกับว่าเราจ่ายไหวมั้ย เพราะฉะนั้นถ้าเทียบในระดับราคาหนังสือต่อเล่มต่อค่าครองชีพ เมืองไทยถือว่าแพงแน่ๆ เพราะค่าแรงมันต่ำ แต่ค่าหนังสือมันขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับค่าครองชีพคือแพง ถ้ามองในมุมว่าราคาหนังสือปัจจุบันเทียบกับราคาหนังสือในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ถือว่าแพงราคามาตรฐาน แต่ค่าแรงเรามันต่ำเราก็เลยรู้สึกว่าหนังสือแพง อย่างในญี่ปุ่นราคาหนังสือเล่มละ 350-1,000 เยน 1,000 เยนคือเล่มใหญ่ ถือว่าแพงแล้ว ประมาณ 256 บาท (ค่าเงินวันที่ 14 ธันวาคม) แต่ค่าแรงชั่วโมงละ 1,100 เยน ทำงาน 1 ชั่วโมงซื้อหนังสือได้แล้วเล่มหนึ่ง แต่ของไทยทำงานฟาสต์ฟู้ดเหมือนกัน พาร์ทไทม์ ชั่วโมงละ 28-36 บาท มันซื้อหนังสือไม่ได้ เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นก็ร้อยขึ้นแล้ว” ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) “ถามว่ามันขึ้นตามเงินเฟ้อมั้ย ใช่ ทุกสำนักพิมพ์น่าจะเจอเหตุผลเดียวกัน เพียงแต่ว่าปัญหาคำว่าแพงมันไปพันกับเรื่องค่าครองชีพและจีดีพีโดยรวมของประเทศด้วย ถ้าจะพูดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยกับราคาปกหนังสือ ณ ปัจจุบัน ผมคิดว่ามันก็แพง” มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน “แพงนะ รู้สึกเลยว่าแพงขึ้นมากจากตอนที่ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด บางสำนักพิมพ์ราคาสูงมากเลย ในใจทบทวนง่ายๆ อาจจะแบบสามเล่มพัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าสองเล่มพันก็มี เลยรู้สึกว่าแพงมากขึ้น ยิ่งหนังสือแปล ยิ่งแพง ต้องยอมรับว่าแพง เป็นของฟุ่มเฟือย” คชรักษ์ แก้วสุราช แอดมินเพจ ‘อ่านเจอ’ “ทำไมถึงแพง บางคนก็ตอบว่าเพราะค่าแรงมันถูก หมายถึงว่ามันไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นหนังสือมันเป็นความฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องถูกมองว่าแพง แล้วก็ไม่ใช่ความบันเทิงราคาถูกอีกแล้ว เมื่อก่อนยังพอเป็นไปได้ที่คนทั่วจะสามารถซื้อหนังสืออ่าน ต้องยอมรับแล้วว่ามันสูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน นักออกแบบปก บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และสำนักพิมพ์ B&B Press ทำไมถึงแพง? อย่างน้อยคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือในหลายบทบาทก็ยอมรับว่าราคาหนังสือไทยแพง แต่ความแพงนี้มีที่มา เราจะจัดกลุ่มกันดูว่าเป็นเพราะอะไร ประเด็นแรกคือจำนวนการพิมพ์น้อยทำให้ไม่เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (economy of scale) ถอยกลับไปประมาณ 10 ปีก่อนการพิมพ์หนังสือเริ่มต้นที่ 3,000 เล่ม ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 500-1,000 เล่ม ขณะที่ fixed cost ต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบรรณาธิการ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าแปล เป็นต้น สูงขึ้น เมื่อตัวหารน้อยลงราคาขายต่อหน่วยจึงต้องแพงขึ้น คำถามที่ตามมา เหตุใดยอดพิมพ์จึงลดลงทั้งที่คนอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ประเด็นนี้มองได้หลายมุม มุมแรก สำนักพิมพ์มีความหลากหลายมากขึ้นตัวเลือกการอ่านมีมากขึ้น ทำให้ยอดขายต่อเล่มต่อปกลดลงจึงต้องพิมพ์จำนวนน้อยลง เชื่อมโยงสู่ขนาดของตลาดในประเทศซึ่งธีรภัทรมองว่ามีขนาดใหญ่พอ แต่สิ่งที่ต้องนำมาคำนวณคือผู้เสพมีตัวเลือกการเสพ content มากกว่าในอดีตมาก หนังสือไม่ใช่แหล่งสาระความรู้และความบันเทิงเดียวเช่นในอดีต แต่แม้ว่าขนาดตลาดจะใหญ่พอก็ไม่ใหญ่โตเท่ากับตลาดหนังสือในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือเวียดนามที่มีจำนวนประชากรไล่ตั้งแต่พันกว่าล้านถึงเกือบร้อยล้านและมีวัฒนธรรมการอ่านที่ค่อนข้างแข็งแรง ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ยอดพิมพ์เริ่มต้นกันที่ 10,000 เล่ม เมื่อตลาดเล็กกว่าการอ่านน้อยกว่าก็ย้อนกลับไปเรื่องยอดพิมพ์ กระดาษแพงซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสำนักพิมพ์ ขณะที่ราคากระดาษในบ้านเราผูกกับราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะปี 2565 ราคากระดาษพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ในไทยมีผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่อยู่ 2 เจ้า ได้แก่ เอสซีจีและดับเบิ้ลเอเป็นอีกเกรดหนึ่งไม่เหมาะกับการผลิตหนังสือ(ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่ากระดาษแพงเพราะเก็บภาษีกระดาษ ธีรภัทรบอกว่าประเทศไทยยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากระดาษตั้งแต่ปี 2535 และหนังสือก็ได้รับยกเว้นไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม) โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวอะไร? ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มักไม่ถูกนำมาคิดในสมการ-โครงสร้างพื้นฐาน เรืองเดช จันทรคีรี ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือมายาวนาน โพสต์โครงสร้างราคาหนังสือในเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2021 พบว่า ในราคาหนังสือ 100 บาทจะถูกคิดเป็นค่าสายส่งและหน้าร้านสูงถึงร้อยละ 40-45 เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเหลือกำไรคืนสู่สำนักพิมพ์น้อยกว่าร้อยละ 10 ดูแล้วเหมือนสายส่งผู้ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือต่างๆ กำลังเอาเปรียบ แต่ธีรภัทรอธิบายว่าความจริงแล้วเมื่อหักต้นทุนแล้ว สายส่งเหลือกำไรเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น ธีรภัทรอธิบายต่อว่าเหตุผลที่ค่าสายส่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของราคาหนังสือเป็นเพราะต้นทุนการขนส่งของไทยสูง กลับไปที่ญี่ปุ่น ค่าสายส่งคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของราคาหนังสือเท่านั้น เพราะในญี่ปุ่นใช้วิธีขนส่งหนังสือผ่านรถไฟไปยังหัวเมืองหรือจังหวัดต่างๆ แล้วนำรถบรรทุกมารับเพื่อไปกระจายต่อทำให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าของไทยที่ต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นหลัก ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพต่ำส่งผลให้ราคาหนังสือแพงกว่าที่ควรจะเป็น (และแน่นอนว่าค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการเข้าถึงหนังสือ) รัฐควรทำอะไร? คำถามสำคัญมีอยู่ว่ารัฐควรยื่นมือเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลงหรือไม่ “ผมเห็นด้วยว่ารัฐต้องเข้ามาช่วย ถ้าคุณไม่สามารถสนับสนุนเรื่องการพิมพ์ได้ คุณควรสนับสนุนเรื่องบุ๊คแฟร์ ทุกสำนักพิมพ์อยากมีพื้นที่ในการปล่อยของ บางสำนักพิมพ์เล็กๆ ขายได้งานหนึ่งก็อยู่ได้ทั้งปี แต่ทำไมเขาต้องมาเสียค่าเช่า อย่างศูนย์สิริกิติ์เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ก็แพงขึ้นเป็นพื้นที่ของเอกชน ทำไมรัฐไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดบุ๊คแฟร์คือ มันควรสนับสนุนด้านการขาย การตลาด “ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือราคาแพงคือกระดาษ ทุกวันนี้กระดาษนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่สามารถผลิตในไทยได้หรือกลุ่มเอสซีจีก็ผลิตน้อยลง หันไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่ได้กำไรมากกว่า ถ้าเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ผมว่าช่วยสำนักพิมพ์ได้ยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลยในการลดต้นทุนการผลิต รัฐเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ด้วยการช่วยดีลกับตลาดต่างประเทศให้ราคาถูกลงหรือเรื่องโลจิสติกส์ที่ควรจะถูกลง แต่การจะให้คนในวงการอยู่ได้จริงๆ คุณต้องสนับสนุนตลาดหนังสือ” มณฑล กล่าว ส่วนกิตติพลกล่าวด้วยความหวังที่น้อยกว่านั้น “ไม่มีผู้นำในรัฐบาลไหนตั้งใจทำให้เรารู้หรอก กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าเขาทำได้เขาทำตั้งนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังจู้จี้ว่าประวัติศาสตร์ยังไม่ไทยพอ แสดงว่ามันสวนทางกับเรื่องการศึกษาที่แท้จริงและอย่างที่เราเห็นว่าในตำราในหลักสูตรต่างๆ มันสอนให้เราอ่านได้น้อยลงคิดได้น้อยลงเขียนได้น้อยลง สิ่งที่เราเห็นอยู่ก็เป็นโลกของชนชั้นกลางที่มีโอกาสมากกว่าแต่การศึกษาภาคบังคับทำให้เราพังทุกอย่างที่เราอยากรู้ “พอพูดถึงเรื่องนี้มันไม่มีหรอกแบบล็อตเตอรี่ ฟันด์ของอังกฤษที่ช่วยซัพพอร์ตสิ่งพิมพ์จะไปขอใคร ส่วนใหญ่ก็องค์กรด้านวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ต่างหากที่จะหยิบยื่นเข้ามา ประเทศที่ยากจนกว่าเราในลาติน อเมริกายังมีงบที่ช่วยซัพพอร์ตด้านวัฒนธรรมเลยให้มากกว่าที่รัฐบาลไทยให้กับคนในประเทศอีก ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้ามีความตั้งใจจริงใจจะทำตั้งแต่แรกเขาทำไปตั้งนานแล้วแต่เขาไม่ได้ต้องการ” ทำไมไม่ควรพึ่งพารัฐ? ขณะที่ธีรภัทรมีมุมมองที่ต่างออกไปประมาณหนึ่ง “เวลาถกเถียงเรื่องแบบนี้เราชอบมองหนังสือเป็นเรื่องเดียวทั้งหมด ถามว่าเราควรอุดหนุนหนังสือเด็ก หนังสือเพื่อการเรียน เพื่อพัฒนาการให้ราคาถูก เข้าถึงได้มั้ย ผมว่าควร จำเป็น แล้วหลังจากนั้นเขาจะไปซื้อหนังสืออ่านในวัยที่โตขึ้นด้วยศักยภาพของตัวเอง แต่ถามว่ารัฐควรจะอุดหนุนทั้งหมดให้ราคาหนังสือทุกชนิดถูกลงมั้ย ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจของแต่ละฝ่าย หนังสือถูกทั้งหมดแล้วต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการสนับสนุน มันคุ้มหรือเปล่าในมุมมองของรัฐ” เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะสนับสนุนด้านพื้นที่การจัดงานหนังสือและตลาดเพื่อให้สำนักพิมพ์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เท่าเทียมมากขึ้น เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะอุดหนุนราคากระดาษ เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มาก สำนักพิมพ์ได้รับประโยชน์ทั่วถึง และแทรกแซงอุตสาหกรรมกระดาษในไทยที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่เขาคัดค้านการสนับสนุนสำนักพิมพ์หรือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เขายังมองว่าอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการพิมพ์ เพราะหากพึ่งพารัฐมากเกินไปย่อมเท่ากับเปิดช่องโหว่ให้รัฐเข้ามาควบคุมเนื้อหาหนังสือโดยปริยายวิสัยทัศน์ที่ต่างกัน แผน 20 ปีที่ต่างกัน ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 3.64 มีมูลค่ารวมที่ 6 แสนล้านบาทในปี 2567 ทว่าใน Sector หนังสือกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารจะมีอัตราการเติบโตคาดการณ์ต่ำสุด อย่างไรก็ตาม e-book และ audiobook ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง จุดนี้สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อการอ่านหนังสือเล่มแค่ไหน อย่างไร (ถึงกระนั้น เราอาจต้องนำเรื่อง digital divided หรือช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตัลมาขบคิดร่วมด้วย) ในรายงานข้างต้นได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเกาหลีและเยอรมนีไว้ค่อนข้างละเอียด ช่วยให้เห็นว่าทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านมากเพียงใด เช่น เกาหลีใต้มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบกว่า 20 ปี มีหน่วยงานอิสระอย่าง KPIPA ทำหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ ฯลฯ และทั้งสองประเทศมีนโยบายสร้างนิสัยรักการอ่านและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านเหมือนกัน นอกจากนี้ รายงานยังจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ ไว้ ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2022/6/20/media_6-CEA-Publishing-Final-Report.pdf เรานำเสนอส่วนนี้อย่างรวบรัดตัดความเพราะพื้นที่จำกัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ใส่ใจกับการเรียนรู้ของพลเมืองนั้นมีอยู่ มีการคิด มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และประเทศที่ขาดวิสัยทัศน์ก็มีอยู่เช่นกัน แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ 20 ปีของเกาหลีใต้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย...
ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ปัจจุบันกลุ่มคนสูงวัยมียอดใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตขึ้นมาก และมีแนวโน้มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสะดวก รวดเร็ว มีให้เลือกหลากหลาย และลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สูงวัยหลายคนที่พบปัญหาต่างๆ จากการชอปปิงออนไลน์ ผู้สูงอายุถูกหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์ (สรุปปัญหาจากกลุ่มตัวอย่าง จ.พะเยา) เนื่องจากมีการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดพะเยาอย่างต่อเนื่อง คุณพวงทอง ว่องไวและเครือข่ายผู้สูงอายุ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุใน 9 อำเภอ ของจ.พะเยา แบ่งเป็นช่วงอายุ 60 – 65 ปี (46.8%) ช่วงอายุ 66-70 ปี (26.8%) และช่วงอายุ 71-75 ปี (13.9%) แบ่งเป็นเพศชาย 101 คน และเพศหญิง 130 คน โดยใช้แบบสอบถามทั้งหมด 231 ชุด เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุใน จ.พะเยา ถูกหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งสรุปผลสำรวจในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้ ช่องทางการรับรู้ข้อมูลสื่อสารในการซื้อสินค้า – ทีวี เป็นสื่อที่กลุ่มผู้สูงอายุเข้าถึงมากที่สุด เนื่องจากชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรับชมทีวีกัน ประกอบกับทุกวันนี้มีการขายสินค้าผ่านทางรายการทีวีมากขึ้น ส่วนทาง Line และ Facebook นั้น ผู้สูงอายุยุคปัจจุบันมีการใช้งานสมาร์ตโฟนกันมาก จึงทำให้เข้าถึงสื่อโฆษณาตามสื่อโซเชียลนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น ประเภทสินค้าออนไลน์ที่ซื้อ - อาหารเสริม และ ยา เป็นสินค้าสองอันดับแรกที่ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่เลือกซื้อ เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นมีหลากหลายประเภท ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ส่วนอันดับที่สามคือ อุปกรณ์ของใช้ (อุปกรณ์แต่งบ้าน อุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์แต่งรถ) เป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุเพศชายเลือกซื้อมากกว่าเพศหญิง เหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ - สาเหตุที่ผู้สูงอายุเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่คือ เพื่อรักษาสุขภาพ และเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นได้ว่าผู้สูงอายุในปัจจุบันหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเองก็หันมาจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ซื้อสินค้าออนไลน์เพราะอยากทดลอง อีกด้วย ปัญหาที่พบในการซื้อสินค้าออนไลน์ – ปัญหายอดฮิตอันดับแรกคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา รองลงมาจะเป็นไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งและได้รับสินค้าล่าช้า จากปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้การสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ของผู้สูงอายุลดลงได้ เมื่อประสบปัญหาแล้วท่านทำอย่างไร – ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะประสานร้านค้า เพื่อให้ทางร้านดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป รองลงมาคือ ไม่ได้ทำอะไร และ ทิ้งสินค้านั้นไป จึงทำให้ผู้สูงอายุเสียเงินเปล่าและเสียโอกาสไปกับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ (อาจเป็นไปได้ว่ามีผู้สูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่จะประสานหน่วยงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือ แสดงว่าจำนวนผู้เสียหายจริงๆ น่าจะมีมากกว่าที่เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ หลายเท่าตัว) ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา –ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นควรให้ควบคุมคุณภาพร้านออนไลน์และกำหนดบทลงโทษและการชดเชยเยียวยา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์เกรงกลัวในการทำความผิด และมีการจัดทำทะเบียนร้านค้าเพื่อให้การขายออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้สำรวจได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมายนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างแรงจูงใจทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า ด้วยวิธีการโฆษณาขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดที่ขายตามปกติมาก และช่องทางการติดต่อเพื่อชำระเงินไม่ยุ่งยาก ก่อนซื้อติดต่อพูดคุยสอบถามเรื่องสินค้าง่าย แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้ากลับพบปัญหาต่างๆ ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ หรือผิดกฎหมาย ขายสินค้าที่ติดฉลากที่ผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ระบุเลขสาระบบอาหาร การโฆษณาขายสินค้าที่มีข้อความหรือ โฆษณาเกินจริง หรือสินค้าไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้าง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ที่แม้จะมีกฎหมายควบคุมดูแลผู้ค้าออนไลน์ จัดการผู้กระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ หรือความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่โดยสภาพบังคับใช้ยังไม่เอื้อต่อการปรามการกระทำความผิด และยังขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จึงไม่สามารถกำกับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สูงอายุรู้ไม่เท่าทันกลโกงของร้านค้าออนไลน์ จากเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดขึ้น โดยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. : ETDA) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมด้วย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและแนะแนวทางลดความเสี่ยงให้ผู้สูงอายุไม่ถูกโกงจากการชอปปิงออนไลน์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้ - ช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (44 %) รองลงมาคือทางไลน์ (31.25%) - ผู้สูงอายุมักถูกดึงดูดจากการโฆษณาที่ใช้วิธีการลดราคาสินค้าลงมาก ๆ มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ ใช้ข้อความที่เกินจริง สร้างเรื่องราวให้เชื่อ และมีผู้สูงอายุเป็นพรีเซ็นเตอร์ - หากสินค้ามีการอ้างข้อมูลทางสถิติ จะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรซื้อ - ถ้ามีการตั้งราคาจนถูกลงมาก ๆ อาจมองว่ามาหลอกขาย หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ - ถ้าไม่ได้บอกแหล่งที่มาว่าเอาข้อมูลมาจากไหนให้เชื่อไว้ว่าเป็นเท็จ - การซื้อสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต เช่น อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรเช็กข้อมูลหรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.หรือ อย.ก่อน เพื่อความปลอดภัย - อย่าเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ให้หาข้อมูลก่อน ทั้งข้อมูลของผู้ขาย ที่อยู่ของผู้ขาย โดยนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิ้ล (google) - เลือกซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ - ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะหากเกิดปัญหาจะตามตัวได้ยาก - ผู้สูงอายุอย่าอายที่จะปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ - ในจำนวนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ทั้งหมดที่มีผู้ร้องเรียนกับ สพธอ. พบปัญหาซื้อขายออนไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง สพธอ. จึงได้ร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการประสานงานการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลความรู้ผู้บริโภค รวมทั้งช่วยจัดการแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์ - กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการซื้อขายออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัวควรมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูล ความรู้ คำปรึกษา และแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติ จากที่ Nikkei Asian Review นำเสนอกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าที่ผู้สูงอายุสั่งซื้อมากผิดปกติคือ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Foods) สาเหตุหนึ่งมาจากตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เช่น ตัวหนังสือ หรือปุ่มแจ้งเตือนต่าง ๆ มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ยากแก่การสังเกต นอกจากนี้ อาการป่วยของผู้สูงวัยก็มีผลต่อการสั่งซื้อออนไลน์ที่ผิดปกติด้วย เช่นกรณีของคุณยายฐานะดีชาวญี่ปุ่นวัย 86 ปี ที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้กดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ชนิดเดิม ๆ ซ้ำๆ ไปมากถึง 10 ล้านเยน ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อมจากมหาวิทยาลัยเกียวโตมองว่า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องจากไม่มีใครคอยช่วยเตือน นั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์นี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกระดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น Amazon ที่สามารถตรวจจับความผิดปกตินี้ได้แล้ว หากมีการกดซื้อสินค้าซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายวัน ระบบจะขึ้นแจ้งเตือนให้เห็นชัด ๆ ด้วยว่าเกิดการซื้อซ้ำที่มากเกินไป ไม่แน่ว่า ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในประเทศไทยได้เช่นกัน ก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ 1.ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงินไม่ควรใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free-WiFi) - มิจฉาชีพอาจปล่อยสัญญาณให้ใช้ โดยให้ผู้ซื้อกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขอใช้สัญญาณ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ดังนั้น เพื่อป้องกันโดนขโมยข้อมูลทางการเงิน จึงควรใช้ WiFi ที่มีรหัสอย่างชัดเจน หรือเชื่อมต่อผ่านระบบสัญญาณมือถือส่วนตัวดีที่สุด 2. ตั้งสติก่อนคลิกทุกครั้ง - บ่อยครั้งที่เวลาสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์มักมีป็อบอัปเด้งข้อมูลโปรโมชั่น หรือส่วนลดต่างๆ ขึ้นมา ผู้ซื้อควรอ่านให้ละเอียดก่อนคลิกทุกครั้ง เพราะอาจโดนมัลแวร์หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่แฝงมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่คลิกเข้าไปดูได้ 3. เลือกซื้อจากเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือร้านที่เชื่อถือได้ – ร้านค้าต้องไม่มีประวัติการโกง ส่งสินค้าจริง เเละขายสินค้าที่มีคุณภาพ หากไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ อย่าสั่งซื้อเป็นอันขาด 4. เปรียบเทียบราคา และอ่านรีวิวจากผู้ซื้อ – ราคาควรสมเหตุสมผลกับตัวสินค้า ระวังสินค้าถูกเกินไปอาจเสื่อมคุณภาพหรือใกล้หมดอายุ และสังเกตด้วยว่ามีรีวิวจากหน้าม้าที่มาอวยเกินจริงหรือเปล่า 5. อ่านรายละเอียดของสินค้าให้ครบ - ร้านค้าต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าให้ครบถ้วน เช่น ขนาด สี ลวดลาย จำนวนชิ้น ฯลฯ ค่อย ๆ พิจารณา อย่าพึ่งรีบกดซื้อ เพราะอาจถูกกลโกงจากภาพสินค้าเเละข้อมูลที่ไม่ตรงกันได้ 6. สอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย – ร้านค้าที่ดีควรมีช่องทางการติดต่อผู้ขายเสมอ หากไม่มั่นใจในสินค้า มีข้อสงสัย หรืออยากทราบที่มาของสินค้า ควรสอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย รวมถึงขอดูรูปถ่ายสินค้าจริงประกอบการตัดสินใจ จะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปกได้อีกหนึ่งทาง การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ 7. กรอกข้อมูลส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องกรอกทุกช่อง - สังเกตจากเครื่องหมายว่า ส่วนใดจำเป็นต้องกรอก เช่น เครื่องหมาย * 8. อ่าน “เงื่อนไขในการให้บริการ” และ “การขอความยินยอม” หรือนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียดด้วย - จะได้รู้ว่ามีการเก็บข้อมูลเราไปเพื่ออะไร นำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น เอาข้อมูลที่เรากรอกไปส่งต่อให้คนอื่นหรือไม่ 9. พยายามจำรหัสผ่านให้ได้ หรือจดไว้ในที่ลับเฉพาะ - เมื่อใช้งานเว็บไซต์ หรือจะจ่ายเงิน ถ้ามีบริการช่วยจำหรือให้บันทึกรหัสผ่าน อย่าเผลอกด “ตกลง” แม้สะดวกสบายสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป แต่อาจโดนสวมรอยได้ 10. ตรวจสอบขั้นตอนวิธีการสั่งสินค้า และการส่งสินค้า – ผู้ซื้อควรรู้ขั้นตอนการสั่งและการส่งสินค้าของผู้ให้บริการ รวมถึงดูวันจัดส่ง วิธีการจัดส่ง โดยการยืนยันด้วยหมายเลขพัสดุ เพื่อติดตามและตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้า 11.การชำระเงิน ถ้าเลือกได้ แนะนำให้ผู้สูงวัยเลือกจ่ายเงินแบบเก็บปลายทาง เพื่อความปลอดภัยเเละมั่นใจว่าได้ของแน่นอน แต่ต้องเช็กก่อนว่าได้สินค้าตรงปกจริงๆ จึงค่อยจ่ายเงิน หากเลือกการโอนเงินหรือตัดบัตรเครดิต ก็ต้องตรวจสอบจำนวนเงิน ชื่อและเลขบัญชีให้ถูกต้องก่อนกดยืนยันทุกครั้ง หลังการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ 12.เก็บหลักฐานซื้อขายทุกชิ้นไว้ให้ครบ –ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการชำระเงิน ชื่อและเลขบัญชีธนาคารของเว็บไซต์ หรือร้านค้าออนไลน์ รวมถึงบันทึกหน้าจอสนทนากับผู้ขายไว้ด้วย เพราะหากเกิดปัญหาตามหลังมา ผู้ซื้อจะได้มีหลักฐานไว้ยืนยันเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง 13.เช็กว่าร้านค้านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ซื้อไปเผยแพร่ในช่องทางสาธารณะหรือเปล่า เพราะในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นอกจากห้ามร้านค้าขอข้อมูลของลูกค้าเกินความจำเป็นแล้วยังห้ามเผยแพร่สลิปที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขพัสดุของลูกค้า ในช่องทางสาธารณะต่าง ๆ ด้วย แต่ให้แจ้งข้อมูลแก่ลูกค้าในช่องทางส่วนตัวได้ หรือในกรณีที่พนักงานขนส่งสินค้าขอถ่ายรูปใบหน้าเพื่อยืนยันการรับสินค้า ผู้รับสามารถปฏิเสธการถ่ายภาพได้ และเปลี่ยนให้ถ่ายรูปมือขณะรับสินค้าแทน 15. เมื่อผู้ซื้อได้สินค้าแล้ว ก่อนจะเปิดกล่องพัสดุ ให้ตรวจเช็กชื่อผู้ส่งและผู้รับว่าถูกต้องหรือไม่รวมถึงอัดคลิปวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุเก็บไว้ทุกครั้ง พร้อมตรวจเช็กสินค้าให้ละเอียดไปด้วย เพื่อป้องกันสิทธิ์ที่พึงมีของผู้ซื้อ และใช้เป็นหลักฐานหากได้รับสินค้าไม่ตรงปก ชำรุด หรือไม่ถูกต้องตามรายการที่สั่งซื้อ รวบรวมข้อมูลจาก...สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)เพจเฟซบุ๊กกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่องยูทูบ NSMThailand และ เว็บไซต์ myhellomonday.com
ความคิดเห็น (0)