แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ชามเมลามีน ภาชนะ ชาม
หลายคนอาจมีความชอบเป็นส่วนตัวในการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่มิได้ซักมาก่อน ด้วยรู้สึกว่าการรีดเสื้อหรือกางเกงให้เรียบเหมือนที่วางขายในร้านนั้นทำได้ยาก จึงขอใส่โชว์ให้ดูดีที่สุดสักครั้งหนึ่งก่อนซัก ใครที่ทำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่ก่ออันตรายเช่นภูมิแพ้ได้ เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักนั้นระหว่างที่เหงื่อออกมักก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้าและผิวกายจนทำให้สีย้อมผ้าส่วนที่อาจหลงเหลือในการผลิตหลุดออกมาสู่ผิวกาย นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ใหม่ในการเล่นกีฬาที่ทำจากผ้าหรือใยสังเคราะห์ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น ที่รัดเข่า รัดน่อง รัดข้อมือ ฯ ก็เป็นอีกแหล่งของสีย้อมผ้าส่วนเกินที่หลุดออกมาก่อปัญหาภูมิแพ้ได้เช่นกัน มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ซักมีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างอยู่ เช่น บทความเรื่อง Quinolines in clothing textiles—a source of human exposure and wastewater pollution? ในวารสาร Analytical and Bioanalytical Chemistry ของปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดนได้ทดสอบเสื้อผ้า 31 ตัวอย่างที่ซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสี วัสดุ ยี่ห้อ และราคาจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ จอร์เจีย โปรตุเกส จีน บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ อิตาลี ปากีสถาน โปแลนด์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีกลุ่ม “ควิโนลีน (quinoline)” และอนุพันธ์อีก 10 ชนิด ใน 29 ตัวอย่าง โดยระดับของสารเคมีกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงเป็นพิเศษในเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ สำหรับสารประกอบ Quinoline ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการผลิตสีย้อมเสื้อผ้านั้น หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้จัดว่าเป็น " possible human carcinogen" (เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) เนื่องจากการศึกษาบางเรื่อง เช่น Tumor-Initiating Activity of Quinoline and Methylated Quinolines on The Skin of Sencar Mice ในวารสาร Cancer Letters ของปี 1984 ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสารกลุ่มนี้กับการกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลอง เพียงแต่ว่ายังไม่มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง นอกจากนี้สารเคมีอีกชนิดที่พบได้ในเสื้อผ้าใหม่คือ ไนโตรอะนิลีน (Nitroaniline) ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์สีย้อมผ้ากลุ่มเอโซ (Azo dyes) นั้นมีบทความเรื่อง NTP Toxicology and Carcinogenesis Studies of p-Nitroaniline (CAS No. 100-01-6) in B6C3F1 Mice (Gavage Studies) ใน National Toxicology Program technical report series ปี 1993 ที่ระบุหลักฐานการศึกษาในสัตว์ทดลองที่เชื่อมโยงผลเสียเนื่องจากสารเคมีนี้ต่อสุขภาพผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งรวมถึงมะเร็ง) ถ้าสารเคมีบางส่วนยังคงติดอยู่ในเส้นใยของเสื้อผ้า MDA เป็นสารที่นำมาใช้สำหรับผลิตโพลียูรีเทน ซึ่งมีการนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ยืดแล้วหดกลับได้เท่ากับขนาดเดิม และสามารถรีดให้เรียบได้ด้วยเตารีดที่อุณหภูมิต่ำ ทนต่อเหงื่อไคลและไขมันจากร่างกายได้ดีกว่ายางธรรมชาติ ใยสแปนเด็กซ์ถูกย้อมสีต่างๆ ได้ ทนต่อการขัดสีและทนต่อปฎิกริยาออกซิเดชั่นดี จึงมีความนิยมนำมาใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในสตรี ชุดอาบน้ำ ขอบถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการให้มีการยืดกระชับ เช่น ผ้าพันข้อเท้าและหัวเข่า ผ้าพันกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงอาจมี MDA ตกค้างได้ นอกจากสาร MDA แล้วเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มักถูกย้อมด้วยสีกลุ่มเอโซซึ่งหลายชนิดสหภาพยุโรปห้ามใช้หรือจำกัดการหลงเหลือของสี ทั้งที่สีบางชนิดไม่ได้ก่อมะเร็งด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ขณะใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังแสดงในบทความเรื่อง Formation of a carcinogenic aromatic amine from an azo dye by human skin bacteria in vitro ในวารสาร Human & Experimental Toxicology ของปี 1999 ซึ่งให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซบางชนิดถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารประกอบแอโรแมติกอะมีนโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง อีกทั้งมีข้อมูลทางพิษวิทยาว่า สารประกอบแอโรแมติกอะมีนหลายชนิดถูกดูดซึมได้ทางผิวหนัง โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้นำเอา Direct Blue 14 (สีเอโซชนิดหนึ่งซึ่งมักถูกใช้สำหรับผ้าฝ้าย ป่าน ไหมเทียม และเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ) มาผสมกับเชื้อ Staphylococcus aureus (พบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์) แล้วบ่มในเหงื่อสังเคราะห์ (20 มิลลิลิตร, pH 6.8) ที่ 28 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาถูกสกัดและวิเคราะห์โดยใช้ HPLC ที่มีชุดตรวจวัดเป็น mass spectrometer ทำให้ตรวจพบสาร o-tolidine (3,3'-dimethylbenzidine) ซึ่งเป็นสารพิษในระดับ IARC Group 2B carcinogen (อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และอนุพันธ์ของ Direct Blue 14 อีกสองชนิดซึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน บทความที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันอีกเรื่องคือ Azo dyes in clothing textiles can be cleaved into a series of mutagenic aromatic amines which are not regulated yet ในวารสาร Regulatory Toxicology and Pharmacology ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซเป็นสีที่แบคทีเรียที่ผิวหนังหลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงสีชนิดนี้ไปเป็นแอโรแมติกอะมีน ซึ่งอาจถูกดูดซึมทางผิวหนังในปริมาณที่อาจก่อปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สีเอโซต่างๆ อาจถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งชนิดแอโรแมติกอะมีนชนิดใดชนิดหนึ่งใน 22 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (ดูรายละเอียดได้จาก เอกสาร COMMISSION REGULATION (EC) No 552/2009 of 22 June 2009) และผลการทดสอบจาก Ames Test (การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์) ซึ่งใช้ทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในการศึกษานี้พบว่า แอโรแมติกอะมีน 4 ชนิดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อนับรวมกับข้อมูลเดิมที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วว่า มีสีที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อกลายพันธุ์ 36 ชนิด จึงทำให้ระบุได้ว่า จากสีเอโซ 180 ชนิด (ซึ่งนับเป็น 38% ของสีย้อมเอโซในฐานข้อมูลสีย้อมผ้า) ถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบนผิวหนังไปเป็นแอโรแมติกอะมีนที่ก่อกลายพันธุ์ได้ 40 ชนิด ผู้บริโภคหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า โดยปรกติแล้วเสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมักใช้สารเคมีหลายชนิดช่วยในการผลิต (ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งเหล่านี้แก่ผู้บริโภค) สารเคมีหลายชนิดนั้นรวมถึงสารเคมีกันน้ำและกันน้ำมัน ที่นิยมกันคือ ฟลูออโรเซอร์แฟกแตนต์ (fluorosurfactant ที่ใช้มากคือ Per- and polyfluoroalkyl substances หรือ PFAS ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคลือบกระทะชนิดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันคือ Polytetrafluoroethylene (PTFE)) ที่มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่รายงานถึงความปลอดภัย การซักเสื้อผ้าก่อนใส่นั้นทำให้โอกาสเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” เพราะยังอาจมีสารเคมีอื่นๆ ที่อาจทยอยหลุดออกจากเสื้อผ้าสู่ผิวหนังเมื่อเสื้อผ้ามีอายุและเสื่อมสภาพ หรือกำลังสวมระหว่างการเล่นกีฬาจนเหงื่อซก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนเสื้อที่สวมใส่เล่นกีฬาจนเปียกเหงื่อระหว่างเล่นกีฬาบ้าง ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่หลุดออกมาได้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับการดูดซึมของผิวหนังหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ………… การระบุเส้นใยธรรมชาติ 100 % ผู้บริโภคทั่วไปมักมีความคิดว่า วัสดุสังเคราะห์มักใช้สารเคมีมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า มีเสื้อผ้าที่ระบุว่าผลิตจาก 'ผ้าฝ้าย 100%' เพื่อให้ผู้บริโภคดีใจว่าอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น มักไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือสารเติมแต่งใดที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสื้อผ้าฝ้ายแบรนด์เนมที่ติดฉลากว่าเป็น ผ้าฝ้าย 100% นั้น บางตัวใส่สบายมากแต่ถ้าพ่อไม่รวยพอคงซื้อใส่ไม่ไหวแน่ นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556 เคยรายงานผลการเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนในสีย้อมและฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับย่น) แล้วต่อมาในฉลาดซื้อฉบับที่ 259 ประจำเดือน กันยายน 2565 ฉลาดซื้อได้รายงานผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผลจากครั้งแรกซึ่งพบว่า กางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจทั้งหมดนั้นมีสีย้อมที่ให้สารประกอบแอโรแมติกอะมีนเกินกำหนดคือ กางเกงในชื่อดังราคา 1090 บาทต่อ 6 ตัว (พบ 61.40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) กางเกงในราคา 169 บาทต่อ 2 ตัว (พบ 59.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และมีกางเกงในอีกหนึ่งยี่ห้อที่ตรวจพบแม้ไม่เกินมาตรฐานซึ่งขาย 169 บาทต่อ 2 ตัวเช่นกัน (พบ 14.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สำหรับสารเคมีที่ตรวจพบนั้นคือ 4,4'-ไดอะมิโนไดฟีนิลเม็ทเทน (4,4'-Diaminodiphenylmethane) หรืออีกชื่อคือ 4,4'-เมทิลีนไดแอนิลีน (4,4’-Methylenedianiline หรือ MDA) ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในสถานที่ทำงาน โดย US National Institute for Occupational Safety and Healthของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยนั้น MDA เป็นสารเคมี 1 ใน 24 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสินค้าต่างๆ ตามมาตรฐาน มอก. 2346-2550 เคยมีบทความเรื่อง Detection of azo dyes and aromatic amines in women under garment ในวารสาร Journal of Environmental Science and Health, Part A: Toxic/Hazardous Substances and Environmental Engineering ของปี 2016 ได้รายงานถึงการประเมินตัวอย่างชุดชั้นในสตรีจำนวน 120 คอลเลคชั่นที่ถูกซื้อจากหลายห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า มีการปล่อยสารประกอบแอโรแมติกอะมีนสู่ผิวหนังเพียงใด ผลการวิเคราะห์พบว่า 74 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนในระดับต่ำ ในขณะที่ 18 ตัวอย่างพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)
ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ติ๊กต๊อกเกอร์คนหนึ่งแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ การใส่ถุงเท้านอนอาจส่งผลร้ายต่อร่างกาย เสี่ยงต่อโรคไหลตาย โดยอ้างถึงข้อมูลจากบทความของหมอชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง (ไม่ระบุแหล่งที่มา) กล่าวว่า “การใส่ถุงเท้านอนส่งผลเสียต่อร่ายกายในระยะยาวโดยเฉพาะเด็กทารก เนื่องจากเวลาที่มนุษย์นอนนั้นอุณหภูมิของร่างกายต้องลดลง แต่เมื่อใส่ถุงเท้าแล้วกลายเป็นการขวางทางการระบายความร้อนของร่ายกาย จึงอาจทำให้ไหลตายได้” ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้เกิดการอภิปรายกันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยมีแนวโน้มว่า ไม่น่าจะจริง สุดท้ายติ๊กต๊อกเกอร์คนนี้ได้ออกมาขอโทษที่นำข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบมาเผยแพร่ เนื่องจากเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและตรงกับตัวเขาที่โดนแม่คอยบอกด้วยความหวังดีเสมอว่า “ให้ใส่ถุงเท้านอนนะลูก” ประเด็นการใส่ถุงเท้านอนนั้น จริงแล้วเป็นเรื่องจำเป็นต่อสุขภาพสำหรับคนที่มีเท้าเย็นกว่าส่วนอื่นของร่างกายเป็นประจำ สำหรับผู้เขียนซึ่งสังเกตตนเองมานานกว่า 30 ปีแล้วพบว่า คืนใดที่รู้ว่าเท้าเย็นมากกว่าปรกติ แม้ห่มผ้าที่ทำให้ร่างกายอุ่นแล้วก็ตาม (อุณหภูมิห้องนอนถูกปรับอากาศอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส) ตอนรุ่งเช้ามักปวดหัวไมเกรน ซึ่งเมื่อเป็นบ่อยเข้าผู้เขียนจึงตั้งสมมุติฐานว่า ความเครียดของร่างกายเนื่องจากเท้าเย็นน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไมเกรน ดังนั้นผู้เขียนจึงเริ่มใส่ถุงเท้านอน หลังจากนั้นก็ไม่มีอาการไมเกรนในตอนเช้าอีกเลย ส่งผลให้ปัจจุบันผู้เขียนซึ่งมีอายุย่างเข้า 70 ปีแล้วก็ใส่ถุงเท้าเกือบทั้งวัน ยกเว้นวันที่อากาศร้อนมากช่วงกลางวันหรือเวลาต้องมีกิจกรรมที่เท้าเปียกน้ำ เช่น รดน้ำต้นไม้ สำหรับการปวดหัวไมเกรนเนื่องจากปัจจัยอื่นนั้นยังมีอยู่บ้างจึงต้องคอยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นเหตุกระตุ้นต่าง ๆ งานวิจัยเกี่ยวกับผลดีของการใส่ถุงเท้านอน งานวิจัยที่อธิบายเกี่ยวกับการใส่ถุงเท้านอนแล้วส่งผลดีต่อร่างกายนั้นมีมากพอควร จึงขอยกตัวอย่างสัก 3 เรื่องที่น่าสนใจให้ผู้อ่านได้พิจารณา โดยงานวิจัยเรื่องแรกชื่อ Effects of Barefoot Habituation In Winter on Thermal and Hormonal Responses in Young Children - A Preliminary Study ในวารสาร Journal of Human Ergology นั้น เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างนักวิจัยชาวเกาหลี ญี่ปุ่นและฮ่องกง เกี่ยวกับผลของการใส่ถุงเท้าหรือไม่ใส่ถุงเท้าต่อการปรับตัวของร่างกายเมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำ งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการสวมถุงเท้าหรือการเดินเท้าเปล่าเป็นประจำในฤดูหนาวมีผลต่อระดับอุณหภูมิผิวหนังของปลายแขนและปลายขา และมีผลต่อการขับฮอร์โมนบางชนิดในเด็ก โดยในการทดลองที่ 1 นั้น ได้ทำการวัดอุณหภูมิผิวหนังเท้าและขาในเด็กก่อนวัยเรียนนาน 30 นาที ขณะอยู่ในห้องเรียนที่ควบคุมไว้ที่อุณหภูมิ 23±2°C และความชื้น 50±5% ซึ่งพบว่าอุณหภูมิของผิวหนังที่ขาในกลุ่มเท้าเปล่ามีแนวโน้มว่าต่ำกว่าที่ขาของกลุ่มที่ใส่ถุงเท้า ส่วนการทดลองที่ 2 เป็นการศึกษาในเด็กประถมซึ่งถูกแบ่งกลุ่มให้สวมและไม่สวมถุงเท้า จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณของฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งเมื่อเกิดความเครียดหรือความคับขันในสถานะการณ์ต่าง ๆ ระหว่างการนอนหลับตอนกลางคืนซึ่งพบว่า เด็กประถมในกลุ่มที่เท้าเปล่ามีแนวโน้มการขับนอร์อะดรีนาลีนและคอร์ติซอลออกมาในปัสสาวะ (ซึ่งขับออกมาในตอนเช้า) สูงกว่าเด็กประถมที่ใส่ถุงเท้า ทำให้สรุปได้ประมาณว่า เด็กเล็กที่มีนิสัยชอบเดินเท้าเปล่าต้องพยายามปรับตัวต่อความเย็นของอากาศให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วยการเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งดูได้จากปริมาณฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างพลังงานเมื่อร่างกายมีความเครียดที่ตรวจพบในปัสสาวะสูงกว่าเด็กที่ใส่ถุงเท้า (ข้อมูลส่วนนี้อาจพอช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อเท้าเย็นเกินไปเพราะไม่ใส่ถุงเท้าแล้วฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการปรับตัวเมื่อเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อมต่อร่างกายต้องเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งการเผาผลาญให้เกิดความร้อนสูงขึ้น และถ้ากระบวนการดังกล่าวไม่สำเร็จหรือไม่เพียงพอ ผู้เขียนจึงเกิดอาการไมเกรน ดังนั้นการใส่ถุงเท้าเพื่อป้องกันความหนาวเย็นที่เท้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น) บทความที่สองเป็นงานวิจัยของนักวิจัยชาวดัทช์เรื่อง Skin temperature and sleep-onset latency: Changes with age and insomnia ในวารสาร Physiology & Behavior ของปี 2007 ซึ่งศึกษาถึงผลของอุณหภูมิที่เท้าก่อนนอนหลับ บทความนี้ให้ข้อมูลว่า โดยปรกติช่วงเวลาที่เริ่มนอนจนหลับนั้นมีการลดลงอุณหภูมิของเท้าซึ่งทำให้นักวิจัยสนใจว่า ช่วงเวลาที่เริ่มเข้าสู่การนอนหลับนั้นมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิผิวหนังก่อนนอนหรือไม่ โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาทุกคนที่เลือกมานั้นไม่มีการใช้ยาที่ส่งผลต่อการนอนหลับหรือระบบนาฬิกาชีวิต ไม่ใช้ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น คนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี 8 คนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ (อายุ 21-39 ปี เพศละ 4 คน) ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง 8 คนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ (อายุ 56–80 ปี เพศละ 4 คน) และผู้สูงอายุ 8 คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับแต่มีสุขภาพดี (อายุ 51–66 ปี เพศละ 4 คน) โดยผลการศึกษาพบว่า ตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละวันที่มีการนอนหลับและการตื่นนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย การศึกษานี้นักวิจัยสามารถเพิ่มแนวโน้มในการทำให้อาสาสมัครนอนหลับเร็วขึ้นได้ด้วยการทำให้ผิวหนังอุ่นขึ้นจนถึงระดับที่ปกติเกิดขึ้นก่อนหลับและระหว่างการนอนหลับด้วยการทำให้เท้าอุ่นด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การปรับอุณหภูมิเท้าด้วย 1. แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนเข้านอน 2. สวมถุงเท้าปรับความร้อนได้ (heatable bed socks) ก่อนปิดไฟนอน และ 3. สวมถุงเท้าปรับความร้อนได้หลังปิดไฟนอน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การกระตุ้นให้เท้าอุ่นหรือการใส่ถุงเท้าปรับอุณหภูมิหลังจากปิดไฟนอนสามารถเร่งการนอนหลับในผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาการนอนหลับได้ ส่วนในผู้สูงอายุที่ปรกตินอนไม่ค่อยหลับนั้นไม่มีวิธีการใดในการศึกษานี้ที่ช่วยเร่งการนอนหลับ ในการศึกษาถึงผลของการใส่ถุงเท้าต่อคุณภาพของการนอนหลับนั้น พบได้ในบทความเรื่อง Effects of feet warming using bed socks on sleep quality and thermoregulatory responses in a cool environment ในวารสาร Journal of Physiological Anthropology ของปี 2018 ซึ่งเป็นผลการศึกษาของนักวิจัยชาวเกาหลีที่ศึกษาในชายหนุ่ม 6 คน (อายุ 22.7 ± 2.0 ปี) ซึ่งไม่มีปัญหาการนอนหลับยากที่เข้าร่วมการทดลองถึงผลการทำให้เท้าอุ่นขึ้นระหว่างการนอนหลับ 7 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิ 23°C ความชื้นสัมพัทธ์ 50% เพื่อวัดช่วงเวลาเข้าสู่การนอนหลับ (sleep-onset latency) คุณภาพของการนอนหลับ ช่วงเวลานอนหลับทั้งหมด จำนวนการตื่นกลางคันหลังจากนอนหลับแล้ว ลักษณะการเคลื่อนไหวร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิเฉลี่ยของทวารหนักและผิวหนังระหว่างการนอนหลับ 7 ชั่วโมง และทำแบบสอบถามถึงคุณภาพการนอนหลังตื่นนอนตอนเช้า ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่สวมถุงเท้าสำหรับใส่นอน (bed socks ทำด้วยเส้นใย polyester 98.6% และ polyurethane 1.4%.) เทียบกับผู้ที่นอนเท้าเปล่านั้น มีช่วงเวลาเข้าสู่การนอนหลับสั้นลงโดยเฉลี่ยคือ 7.5 นาที เวลานอนรวมนานขึ้น 32 นาที (กลุ่มไม่ใส่ถุงเท้าเฉลี่ยการนอนราว 7 ชั่วโมง) การตื่นนอนกลางดึกน้อยลง 7.5 เท่า และคุณภาพการนอนหลับดีขึ้น 7.6% โดยที่มีอุณหภูมิของเท้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.3 °C ในขณะที่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวหนังและทวารหนัก หรือการตอบแบบสอบถามถึงคุณภาพการนอน ดังนั้นโดยสรุปแล้วการทำให้เท้าอุ่นโดยใช้ถุงเท้า (bed socks) ระหว่างการนอนหลับในสภาพแวดล้อมที่เย็นมีผลในเชิงบวกต่อคุณภาพการนอนหลับ แต่ไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุณหภูมิแกนกลางของร่างกายซึ่งชี้ว่าคุณภาพการนอนหลับสามารถปรับปรุงได้โดยการปรับอุณหภูมิเท้าให้อุ่นไว้ตลอดการนอน ก่อนจบบทความนี้ผู้เขียนมีความสนใจระหว่างการเขียนว่า bed socks นั้นต่างจากถุงเท้าที่ใส่กันเป็นประจำอย่างไร ก็ได้พบข้อมูลประมาณว่า “Bed sock” นั้นส่วนใหญ่เป็นถุงเท้ายาวซึ่งเมื่อใส่แล้วมักพับลงมาที่ระดับข้อเท้าหรืออาจไม่พับแล้วปล่อยยาวถึงหัวเข่า เป็นถุงเท้าที่หนากว่าปรกติและส่วนที่พับลงมาที่ข้อเท้าบางรุ่นมีความปุกปุยด้วยวัสดุใยสังเคราะห์หรือวัสดุธรรมชาติ เช่น ฝ้ายหรือขนสัตว์ ราคาของถุงเท้าชนิดนี้ในประเทศไทยมีความหลากหลายมาก เช่น ถ้าซื้อบนแพลตฟอร์มที่มีสินค้าขายเกือบทุกอย่างนั้นมีราคาราว 25 บาท (4 คู่ 100) ซึ่งท่านผู้อ่านคงพอเดาคุณภาพและความประทับใจได้ว่าน่าจะเป็นอย่างไร ส่วนที่ขายบนแพลตฟอร์มในต่างประเทศนั้นเท่าที่เห็นคือ $10 สหรัฐขึ้นไป หรือหนักหน่อยที่เป็นแบรนด์เนมสำหรับคนไทยที่พอใจคำอธิบายคุณภาพว่า Adult Bed Socks in Organic Merino Wool, Natural White,...นั้นราคาของร้านที่เป็นสาขาในไทยคือ เกือบห้าพันบาท ซึ่งประหยัดได้เกือบ 40% (แสดงว่าราคาเดิมน่าจะเป็น 8 พันกว่าบาท) ดังนั้นผู้ที่สนใจในการดูแลสุขภาพเท้าเพื่อให้นอนหลับสบายขึ้นสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามความเหมาะสมของเท้าและกระเป๋าสตางค์ของแต่ละคน ส่วนผู้เขียนนั้นถุงเท้าอเนกประสงค์ราคา 3 คู่ 100 ซึ่งจะหนาและมีขนาดใหญ่หน่อยก็พอเพียงต่อการป้องกันการเกิดไมเกรนหลังตื่นนอนแล้ว
ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 มีข่าวจากสหรัฐอเมริกาในหลายเว็บไซต์ว่า คณะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในรัฐฟลอริดาได้อนุมัติการปล่อยยุงที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมหลายล้านตัวบน Florida Keys (ซึ่งเป็นกลุ่มหมู่เกาะปะการังราว 4,500 เกาะอยู่ที่ปลายคาบสมุทรฟลอริด้า รัฐฟลอริด้า) โดยใช้เวลา 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2564 ถึง 2565 เพื่อให้ยุงดัดแปลงพันธุกรรมหรือ ยุง GMO ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติปะปนอยู่กับยุงทั่วไปโดยหวังว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้ช่วยลดปริมาณยุงที่เป็นพาหะของเชื้อ ไวรัสเดงกี (Dengue virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก อาการคือ ไข้สูง 3-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เมื่อยแขนขา ปวดกระดูก และอาจมีผื่นแดงตามตัว เนื่องจากเส้นเลือดฝอยแตก เซื่องซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน และ ไวรัสซิก้า (Zika virus) ที่ก่อให้เกิดโรคซิก้า อาการคล้ายไข้เลือดออก เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นขึ้น และอีกลักษณะที่พบได้บ่อยกว่าคือ ตาแดงแบบไม่มีขี้ตา การอนุมัติโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการนำร่องที่มีการถกเถียงและถูกคัดค้านโดยกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จำนวนมากด้วยกังวลว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่คาดคิดต่อระบบนิเวศและอาจมีศักยภาพที่ก่อให้เกิดยุงลูกพันธุ์ทางที่สามารถต้านยาฆ่าแมลงได้ในอนาคต ผู้ไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติในครั้งนี้มีจำนวนมากเกือบ 240,000 คน ได้ลงชื่อในคำร้องทางเว็บไซต์ Change.org ที่กล่าวหาบริษัท Oxitec กำลังใช้รัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นฐานทดลองแมลงกลายพันธุ์ ยุง GMO นี้มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Oxitec ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอาบิงดัน (Abingdon) ของสหราชอาณาจักร ได้ทำการทดสอบยุงดัดแปลงพันธุกรรมในที่โล่งเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยวางกล่องที่มีไข่ยุงที่ผสมพันธุ์แล้วไว้ในจุดที่เลือกใน Florida Keys โดยยุง GMO ของบริษัท Oxitec นั้นมีชื่อทางการค้าว่า Oxitec's Friendly™ เป็นยุงสายพันธุ์ Aedes aegypti หรือยุงลายซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มียีนที่เมื่อผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียแล้วป้องกันไม่ให้ลูกน้ำตัวเมียรอดชีวิตเป็นยุงตัวเมียที่กัดคนและก่อโรคอันตราย แต่ไม่เกิดปัญหากับลูกน้ำที่กลายเป็นยุงตัวผู้ จากบทความเรื่อง Description of OX5034 Aedes aegypti Mosquito, including Active and Inert Ingredients ที่ดาว์นโหลดได้จาก www.regulations.gov ซึ่งเป็นจดหมายจากผู้บริหารของ Oxitec ถึงผู้บริหารของ US.EPA มีข้อความอธิบายว่า ในยุงดัดแปลงพันธุกรรมนี้ในกรณีที่ลูกน้ำเป็นเพศเมียจะมียีน OX5034 rDNA (recombinant DNA) ที่ถอดรหัสได้โปรตีนชื่อ tTAVOX5034 ซึ่งจะเจริญเป็นยุงตัวเต็มวัยได้เฉพาะในสภาวะที่มียาปฏิชีวนะ tetracycline หรืออนุพันธ์ของ tetracycline เท่านั้น ดังนั้นในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติลูกน้ำเพศเมียจึงตายในระยะเป็นตัวอ่อนช่วง L2/L3 ในขณะที่ลูกน้ำเพศผู้สามารถมีชีวิตรอดจนโตเต็มวัย ซึ่งหมายความว่ายุงลาย OX5034 ที่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติที่เลี้ยงโดยไม่มี tetracycline จะมีแต่ตัวผู้ที่ไม่กัดและไม่ดูดเลือดคนจึงไม่เป็นพาหะของโรค อธิบายง่ายๆ คือ การเลี้ยงยุงสายพันธุ์นี้ในห้องปฏิบัติการต้องมีการเติม tetracycline ลงไปในน้ำด้วยจึงจะได้ยุงตัวเมียรอดมาเป็นแม่พันธุ์ เป้าประสงค์สำคัญของการใช้ยุง GMO นั้นคือ การลดทอนจำนวนยุงตัวเมียไปเรื่อยๆ ยุง Oxitec's Friendly™ นั้นมี marker gene ที่ทำให้เรืองแสงในที่มืดจึงทำให้มันถูกแยกออกจากยุงพื้นบ้านอื่นๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นในการลงทุนใช้ยุงพิเศษนี้ ผลการทดลองที่เริ่มในปี 2020 จนถึงปี 2022 นั้นเป็นอย่างไร นักวิจัยได้เสร็จสิ้นการศึกษายุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมในที่โล่งเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์ตามที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพทำการทดลองนั้นเป็นไปในเชิงบวก แต่ยังจำเป็นต้องมีการทดสอบที่ใหญ่ขึ้นเพื่อพิจารณาว่า สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการยับยั้งประชากรยุงที่อาจเป็นพาหะนำไวรัสได้หรือไม่ บทความเรื่อง First Results From Us Trial Of Genetically Modified Mosquitoes ในวารสาร Nature ของปี 2022 กล่าวว่า การทดลองนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ใน Florida Keys โดย Oxitec ได้ติดตามประเมินผลในพื้นที่ที่ปล่อยเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีการรายงานผลการทดลองครั้งแรกระหว่างการสัมมนาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 แม้ว่าจะยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลเป็นทางการก็ตามว่า ปฏิบัติการได้ผลหรือไม่ ในการประเมินผลนั้น หลังจากที่นักวิจัยได้วางกล่องที่มีไข่ยุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมบนพื้นที่ที่กำหนดไว้แล้วก็ได้วางกับดักล้อมรอบพวกมันในรัศมีมากกว่า 400 เมตร กับดักเหล่านี้บางส่วนถูกใช้เป็นแหล่งให้ยุงวางไข่ และบางส่วนใช้จับยุงตัวเต็มวัย ซึ่งนักวิจัยพบว่า ยุงตัวผู้ที่ฟักออกจากไข่มักบินไปมาภายในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ (10,000 ตารางเมตร) รอบจุดที่ถูกปล่อย ซึ่งเป็นแนวเดียวกับที่ยุงลายป่าบินและเกิดการผสมพันธุ์กัน จากนั้นยุงป่าตัวเมียได้วางไข่ในกับดักของ Oxitec รวมถึงในกระถางดอกไม้ ฝาถังขยะและกระป๋องน้ำอัดลม ในบริเวณนั้น นักวิจัยของ Oxitec เก็บไข่ยุงที่ได้จากยุงป่าตัวเมียที่ผสมกับยุงตัวผู้ของบริษัทได้มากกว่า 22,000 ฟอง แล้วนำไข่ทั้งหมดกลับไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อฟักให้ออกเป็นตัวซึ่งพบว่า ยุงตัวเมียตายหมดก่อนโตเป็นยุงเต็มวัย (ยุงตัวเมียทุกตัวมียีนที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งเป็น lethal gene) นอกจากนี้ทีมงานยังพบว่ายีนที่ทำให้ยุงตัวเมียตายยังคงอยู่ในยุงป่าตัวผู้เป็นเวลาสองถึงสามเดือน หรือ ประมาณสามชั่วอายุของยุงและจากนั้นก็หายไป ทำให้ไม่พบยุงที่มียีนที่ทำให้ตายนั้นเกินกว่า 400 เมตรจากจุดปล่อย โดยตรวจสอบด้วยการวางกับดักเป็นเวลาสิบสัปดาห์หลังจากพบยุงตัวผู้ที่มียีนที่ทำให้ตายได้ครั้งสุดท้าย ผลจากการศึกษาที่ Florida Keys นั้นถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่แล้วหรือไม่ การศึกษาที่ Florida Keys เป็นเพียงการศึกษานำร่องเพื่อหาข้อมูลมาใช้พิจารณาว่า วิธีการนี้ยับยั้งประชากรยุงป่าได้ดีเพียงใด บริษัท Oxitec วางแผนที่จะรวบรวมข้อมูลเหล่าที่ได้จาก Florida Keys ไปใช้ในส่วนขยายของการศึกษาที่อื่น ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐนั้นๆ ล่าสุดเว็บของ Delta Mosquito and Vector Control district ใน Tulare county (เทศมณฑลทูแลร์) ของรัฐแคลิฟอร์เนียให้ข้อมูลว่า บริษัทกำลังรอการอนุมัติจาก US.EPA ในแผนงานที่จะปล่อยยุงตัวผู้ของบริษัทจำนวน 2.4 พันล้านตัว ในการศึกษาแห่งที่สองในเมืองวิเซเลีย (Visalia) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งบริษัทกำลังสร้างตึกศูนย์วิจัยและพัฒนา ในความเป็นจริงนั้นการระบาดของโรคที่ยุงลายเป็นพาหะอาจเกิดขึ้นได้แม้เป็นพื้นที่ที่ประชากรยุงลายมีจำนวนน้อย ดังนั้นการลดจำนวนประชากรยุง จึงไม่อาจแปลได้ผลว่าเป็นการยับยั้งโรคแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามปฏิบัติการของบริษัท Oxitec นั้นยังดูดีกว่าปล่อยให้มียุงนี้เกิดกันตามบุญตามกรรมแล้วฉีดหมอกควันเหมือนในหลายประเทศ ซึ่งดูไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างไร ประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงคือ การลดจำนวนยุงลายไม่ทำให้ความต้องการยาฆ่าแมลงลดลง เพราะยุงลาย Aedes aegypti นั้นคิดเป็นเพียงประมาณ 4% ของประชากรยุงใน Florida Keys ยุงอีกสายพันธุ์คือ black salt marsh mosquito หรือ Aedes taeniorhynchus ซึ่งก่อความรำคาญมากกว่ายุงลายนั้น คิดเป็นประมาณ 80% ของประชากรยุงบน Florida Keys ดังนั้นบริษัทขายยาฆ่าแมลงจึงยังสบายใจอยู่
เวลาผู้บริโภคได้รับข้อมูลถึงการมีโปรตีนปริมาณสูงในส่วนของพืชที่เป็นอาหารชนิดใหม่ (novel food) นั้น สำหรับผู้ซึ่งไม่ได้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนวิชาเคมีทางอาหารที่มีการใช้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหาร อาจจำเป็นต้องรับฟังโดยดุษฎี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ผ่านวิชาดังกล่าวอาจฉุกใจว่า ปริมาณโปรตีนในตัวอย่างนั้นอาจไม่ใช่โปรตีนจริงก็ได้ กรณีตัวอย่างที่อาจเป็นปัญหานั้นได้แก่ การอ้างว่าใบของพืชชนิดหนึ่งมีโปรตีนสูงกว่านมหรือไข่ ซึ่งปรากฏในบางรายการโทรทัศน์บ้าง Youtube บ้าง หรือสื่อช่องทางอื่นๆ ซึ่งผู้รับข่าวสารจำต้องตั้งหลักคิดให้ดีแล้วถามตัวเองว่า ผู้ให้ข้อมูลได้ข้อมูลมาได้อย่างไร ในความเป็นจริงแล้วตัวอย่างนั้นๆ ต้องถูกนำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการหรือเอกชนที่ได้มาตรฐานตามกระบวนการของ ISO ซึ่งผู้รับข้อมูลควรสอบถามผู้ให้ข้อมูลว่า ใครเป็นผู้วิเคราะห์ปริมาณโปรตีนให้และควรมีเอกสารรับรองเป็นเรื่องเป็นราวจึงจะเชื่อได้ในระดับหนึ่ง ทำไมจึงควรเชื่อได้แค่ในระดับหนึ่งนั้นมีคำอธิบายว่า ในการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนของสิ่งที่เป็นอาหารมนุษย์นั้น ถ้าสิ่งนั้นดูไม่น่าเป็นอาหารที่มีคุณค่า เช่น ใบปาล์ม ผู้รับข้อมูลต้องใช้วิจารณญาณว่า ข้อมูลนั้นอาจเป็น “ความเข้าใจผิด” เนื่องจากการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนเป็นเรื่องที่ต้องมีความเข้าใจในการแปรผลที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นผลที่นำมาพูดอาจผิดพลาด เพราะผลการวิเคราะห์ที่ได้อาจไม่ได้หมายถึงโปรตีนจริงโปรตีนในพืช เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า ใบไม้จากพืชบางชนิดนั้นพอนับได้ว่าเป็นแหล่งของโปรตีนที่มนุษย์กินได้ ในหนังสือชื่อ Handbook of Hydrocolloids (Second edition) ซึ่งเป็น Series in Food Science, Technology and Nutrition พิมพ์โดย Woodhead Publishing Limited ในเมือง Oxford สหราชอาณาจักร ในปี 2009 มีบทที่ 15 เป็นเรื่องของ Vegetable protein isolates ซึ่งให้ข้อมูลว่า ใบไม้มีการสังเคราะห์โปรตีนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้นอาหารสัตว์บางชนิดจึงใช้โปรตีนเข้มข้นจากใบไม้ (leaf protein concentrate) บางชนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่งผลให้ใบไม้ดังกล่าวดูมีอนาคตในการเป็นอาหารเสริมโปรตีนที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์ องค์การอนามัยโลกจึงเสนอให้มนุษย์บริโภคโปรตีนที่สกัดจากใบไม้เป็นครั้งแรกในราวปี 1960 แต่ไม่ประสบความสำเร็จนักเนื่องจากโปรตีนที่สกัดได้จากใบไม้มักมีรสขม เหม็นเขียว และสีออกเขียวเข้ม สำหรับงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับโปรตีนในใบไม้มักเป็นการศึกษาใบอัลฟาฟา (alfalfa) ใบถั่วฟาบา ใบถั่วลันเตา ผักโขม (amaranth) พืชน้ำเช่น แหน (duckweed) ซึ่งมักแสดงผลว่า โปรตีนที่ศึกษามีกรดอะมิโนจำเป็นคือ เมไธโอนีน (methionine) ในปริมาณต่ำ และมักมีสารพิษทางโภชนาการคือ สารไฟเตต สารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ หรือสารแทนนิน เป็นองค์ประกอบตามธรรมชาติ ประเด็นสำคัญที่ผู้รับข้อมูลควรทราบคือ การหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างนั้นใช้วิธีการใด เพราะโดยปรกติแล้วการหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารซึ่งมีความหลากหลายนั้นมักใช้วิธี เจลดาห์ล (Kjeldahl method) เป็นหลัก ยกเว้นในบางกรณีใช้วิธีวัดการหักเหแสง (refractive index measurement) เพื่อหาปริมาณโปรตีนในนมสดซึ่งต้องการความรวดเร็ว เนื่องจากนมต้องได้รับการแปรรูปก่อนการเสียสภาพโดยพื้นฐานแล้วกระบวนการวิเคราะห์โดยวิธีเจลดาห์ลนั้น เป็นการวิเคราะห์จำนวนอะตอมไนโตรเจน โดยไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ไนโตรเจนนั้นอยู่ในโมเลกุลอะไร และที่สำคัญองค์ประกอบตามธรรมชาติของพืช เช่น ใบพืช นั้นมีสารธรรมชาติมากมายหลายชนิด (ที่ไม่ใช่โปรตีน) มีอะตอมไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบระดับโมเลกุล นักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีทางอาหารแบ่งสารประกอบในอาหารที่มีไนโตรเจนออกเป็น 2 ประเภทคือ protein nitrogen และ non-protein nitrogen ดังนั้นในการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารด้วยวิธีเจลดาห์ลแล้วได้ผลเป็นปริมาณไนโตรเจนโดยรวมนั้นจะต้องเอาค่า conversion factor ที่ได้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเหมาะสมสำหรับอาหารแต่ละอย่างมาคูณค่าไนโตรเจนออกมาเป็นค่าปริมาณโปรตีน โดยค่า conversion factor สำหรับอาหารแต่ละชนิดที่นักวิเคราะห์รู้กันว่า ได้มีการทำวิจัยเชิงลึกแล้วว่าช่วยให้ได้ค่าโปรตีนจริงในอาหารแต่ละชนิดเป็นเท่าใด เช่น 6.38 สำหรับเนื้อสัตว์ ไข่และข้าวโพด, 6.25 สำหรับข้าวฟ่าง, 5.83 สำหรับข้าวเจ้า, 5.4 สำหรับผลิตภัณฑ์ธัญญพืช, 5.6 สำหรับปลาและกุ้ง, 4.59 สำหรับสาหร่ายสีแดง เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดที่ทันสมัยขึ้นนั้นสามารถดูได้จากบทความเรื่อง Calculation of Nitrogen-to-Protein Conversion Factors: A Review with a Focus on Soy Protein ในวารสาร Journal of the American Oil Chemists' Society ของปี 2019 หรือจาก Official Methods of Analysis of AOAC INTERNATIONAL, 21st Edition (2019) ปัญหาที่มักเกิดเกี่ยวกับการระบุถึงปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารใหม่ เช่น ใบไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งดูแล้วไม่น่ามีใครสนใจทำวิจัยหา conversion factor เฉพาะไว้ ผู้ทำการวิเคราะห์จำต้องใช้ค่า conversion factor ทั่วไป คือ 6.25 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีโอกาสผิดพลาดได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำเอาโอกาสผิดพลาดดังกล่าวไปหาประโยชน์คือ กรณีของนมด้อยคุณค่าที่ถูกเติมสารเมลามีน (melamine) ในประเทศจีน ซึ่งเมลามีนเป็นสารที่มี อะตอมไนโตรเจนในโมเลกุลสูง โดยสูตรเคมีของเมลามีนโมโนเมอร์คือ C3H6N6 ดังนั้นเมื่อมีการเติมเมลามีนลงในนมที่มีโปรตีนต่ำแล้ว เมื่อมีการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนในนมด้วยวิธีเจลดาห์ลนั้นอาจทำให้แปลความว่า นมที่ถูกปลอมแปลงมีปริมาณโปรตีนสูงเหมือนนมธรรมดา เพราะมีการใช้ conversion factors ของนมสดมาคูณค่าไนโตรเจนที่วิเคราะห์ได้ออกมาแล้วแปรผลเป็นปริมาณของโปรตีน ดังนั้นจากการที่มีรายการโทรทัศน์บางรายการซึ่งเผยแพร่บนสื่อต่างๆ กล่าวถึงใบไม้ของพืชบางชนิด เช่น ใบปาล์ม ใบว่าน ว่ามีโปรตีนสูงนั้น ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะในการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างที่เป็นอาหารใหม่ด้วยวิธีเจลดาห์ลนั้นจำต้องใช้ค่า conversion factor ทั่วไปคือ 6.25 เป็นตัวคูณเพื่อให้ได้ปริมาณโปรตีนออกมา ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้เพราะยังไม่เคยมีการวิเคราะห์ว่า ใบไม้นั้นมีโปรตีน ในการประเมิณคุณภาพของโปรตีนในตัวอย่างอาหารนั้น AOAC หรือ Association of Official Agricultural Chemists (ซึ่งเป็นองค์กรที่นักเคมีทางอาหารเชื่อถือ) ได้กำหนดไว้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้กันในการประเมินเพราะสะดวกและเร็วที่สุดพร้อมทั้งมีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งนั้นคือ PER (Protein Efficiency Ratio หรือ อัตราส่วนประสิทธิภาพโปรตีน) หลักการของ PER โดยย่อนั้นเป็นการใช้สัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐาน (laboratory animals) เช่น หนู rat หรือหนู mouse ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนคน (แต่อาจใช้ไก่หรือปลาที่มีการเพาะพันธุ์จนเป็นมาตรฐานแล้วได้เช่นกัน) โดยแบ่งสัตว์ออกเป็นกลุ่ม ๆ ให้มีน้ำหนักเฉลี่ยของสัตว์ทั้งหมดใกล้เคียงกัน จากนั้นกำหนดให้กลุ่มหนึ่งกินอาหารมาตรฐานที่สัตว์นั้นกินแล้วเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ซึ่งมีไข่หรือเคซีนที่เป็นโปรตีนในนมเป็นแหล่งโปรตีน และอีกกลุ่มกินอาหารที่มีการแทนที่โปรตีนในอาหารทั้งหมดด้วยตัวอย่าง (เช่น ใบไม้) ที่สนใจศึกษา (ถ้าจะให้ละเอียดรอบคอบกว่าจำต้องมีกลุ่มที่สามที่เป็น pair fed control ด้วย) โดยเมื่อคำนวณค่าพลังงานรวมของอาหารที่ทดสอบแล้วต้องประมาณเดียวกันกับค่าพลังงานรวมของอาหารมาตฐานในลักษณะที่เรียกว่า isocaloric diet ในการศึกษาต้องทำการจดน้ำหนักสัตว์และน้ำหนักอาหารที่สัตว์กินทุกวัน (เมื่อเก็บไว้ยืนยันการว่าการเจริญเติบโตเป็นปรกติ) และเมื่อสิ้นสุดการทดลอง เช่น 4 สัปดาห์ สัตว์ทดลองแต่ละตัวต้องถูกชั่งน้ำหนักแล้วหารด้วยน้ำหนักโปรตีนที่คำนวณจากน้ำหนักที่สัตว์กินอาหารรวมทั้งสิ้น ผลที่ได้คือ ค่า PER.
ความคิดเห็น (0)