ฉบับที่ 261 ภูตแม่น้ำโขง : สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มี


        เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสลงสนามเก็บข้อมูลพื้นที่วิจัยแถบภาคอีสาน และได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์บรรยากาศการประกอบพิธีกรรมเข้าทรงหมอผีพื้นบ้าน ในฐานะภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน แม้วิถีชุมชนจะดูแปลกตาสำหรับนักวิจัยที่มาจากสังคมเมืองหลวง แต่หลายๆ ภาพที่เห็นตรงหน้าก็ชวนให้รู้สึกได้ว่า ไม่เชื่อแต่ก็ไม่กล้าจะลบหลู่ 
        ในครั้งนั้น ชุมชนหมู่บ้านที่เป็นสนามวิจัยก็ไม่ได้ปฏิเสธองค์ความรู้แพทย์แผนใหม่ เพราะชาวบ้านก็ยังคงไปรักษาหาหมอที่โรงพยาบาลกันเป็นเรื่องปกติ แต่คู่ขนานกันไป ชาวบ้านเองก็สำเหนียกว่า ความเชื่อผีดั้งเดิมเป็นอีกหนึ่งวิถีทางที่ผู้คนท้องถิ่นศรัทธา ในฐานะกลไกจัดการโรคภัยและสุขภาวะชุมชนด้วยเช่นกัน 
        จนกระทั่งได้มาเปิดดูละครโทรทัศน์เรื่อง ภูตแม่น้ำโขง ความทรงจำของการทำงาน สนามวิจัยในท้องถิ่นอีสานเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ก็หวนกลับมาชวนให้ตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติดั้งเดิมกับชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กันอีกครั้ง 
        ละครได้ย้อนยุคไปเมื่อปีพุทธศักราช 2514 อัคนี แพทย์หนุ่มพระเอกของเรื่อง ได้เดินทางจากเมืองหลวงมาที่หมู่บ้านนางคอย ริมแม่น้ำโขง เพื่อมาสานต่องานวิจัยของ หมอประเวศ ผู้เป็นบิดา ที่ศึกษาค้นคว้าด้าน จิตเวชศาสตร์วัฒนธรรม หรือโรคทางจิตที่เกิดจากความเชื่อและสิ่งลี้ลับในท้องถิ่นชนบท และมาเป็นหมอคนใหม่ประจำสุขศาลาของหมู่บ้าน
        การมาถึงหมู่บ้านอัน ไกลปืนเที่ยง ของหมออัคนี ทำให้เขาได้พบกับ บัวผัน สาวชาวบ้านซื่อใสจิตใจดี แต่มีหนี้กรรมที่พันผูกกันมาตั้งแต่ชาติภพก่อน โดยที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีวิญญาณของ เจ้าแม่ทอหูก จุดเริ่มต้นของตำนานความเชื่อเรื่อง ภูตแม่น้ำโขง เป็นสตรีอีกหนึ่งนางที่ผูกตรึงตัวเองไว้ในสามเส้าแห่งบ่วงรักบ่วงกรรมดังกล่าวด้วย 
        ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องละคร บัวผันได้ถูกมนต์สะกดของเจ้าแม่ทอหูกล่อลวงให้ไปลิ้มรสไข่พญานาค เธอจึงตกอยู่ใต้อาณัติบัญชาของภูตแม่น้ำโขงมานับจากนั้น ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายของเจ้าแม่ทอหูกเอง เพื่อธำรงอำนาจและความเป็นอมตะ นางจึงต้องดื่มโลหิตของมนุษย์ จนทำให้มีหลากหลายชีวิตที่ถูกพรากมาเซ่นสังเวยยังใต้วังบาดาล 
        จะว่าไปแล้ว โดยแก่นของละครคือการให้คำอธิบายว่า กรรมมิใช่เพียงการกระทำที่เกิดขึ้นในชาตินี้เท่านั้น หากแต่เป็นผลของการกระทำตั้งแต่อดีตชาติ และวนเวียนเป็นวัฏฏะมาจนถึงปัจจุบันกาลด้วยเช่นกัน 
        การที่หมออัคนีได้มาพานพบกับทั้งบัวผันและวิญญาณเจ้าแม่ทอหูก ก็เป็นเพราะทั้งสามคนยังเวียนว่ายในสังสารวัฏของรักสามเส้าที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งปางบรรพ์ หรือการที่ทั้งบัวผันและ บุญเรือน ผู้เป็นมารดาต้องมาเผชิญทุกข์กรรมมากมาย ก็มาจากกรรมเก่าที่สร้างไว้ในชาติอดีตนับเป็นพันปี รวมไปถึงการที่ชาวบ้านหลายชีวิตในหมู่บ้านนางคอยต้องประสบพบเจอกับเรื่องลึกลับมากมาย บ้างถูกผีสิง บ้างต้องตายลง ก็ล้วนมาแต่วิบากกรรมที่พวกเขาก่อและตกทอดมาจากชาติปางก่อน 
        แต่ทว่า ภายใต้แก่นเรื่องละครที่อธิบายถึงวัฏจักรแห่งกรรมเช่นนี้ ผู้ชมเองก็ได้เห็นการปะทะประสานกันระหว่างโลกทัศน์สองชุด ที่วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นคุณค่าวิทยาการแห่งสังคมโลกสมัยใหม่ มาต่อสู้ต่อกรกับความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติเร้นลับอันเป็นองค์ความรู้ตามวิถีชาวบ้านในสังคมดั้งเดิม 
        ด้วยเหตุนี้ นับแต่ก้าวแรกที่หมออัคนีได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านนางคอย หมอผู้ยึดมั่นในชุดความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่จึงได้สัมผัสเหตุการณ์อันแปลกประหลาด ซึ่งผิดแผกไปจากที่เขาคุ้นชินเมื่อครั้งอยู่ในเมืองกรุง แม้ชาวบ้านต่างก็คอยเตือนสติเขาอยู่เนืองๆ ว่า ถ้าหมอมาอยู่ที่นี่ ในที่สุดหมอจะได้เห็นในสิ่งที่หมอไม่คิดว่าจะได้เห็น 
        ดังนั้น ควบคู่ไปกับเรื่องราวความรักความแค้นที่วิญญาณอสูรใต้ลำน้ำโขงรอคอยที่จะได้ครองคู่กับชายคนรักมายาวนานนับพันปี เราจึงเห็นภาพของการแบทเทิลช่วงชิงชัยระหว่างความเชื่อท้องถิ่นตามวิถีชาวบ้านกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งซัดสาดเข้ามาจากโลกภายนอก 
        ฉากที่ชาวบ้านเกิดอาการผีเข้าจนสติไม่สมประดี ก็ถูกพระเอกหนุ่มตีความว่าเป็นอาการของโรคลมชักและการเกิดอุปาทานหมู่ หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าอาการของโรคฮีสเตอเรีย หรือฉากที่ ญาแม่คำแพง หญิงสูงวัยผู้เป็นร่างทรงของ เจ้านางแก้วพิมพา ทำพิธีเสี่ยงทายรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน ด้วยการตั้งไข่ไก่บนดาบ หมออัคนีก็รำพึงแกมปรามาสว่าเป็นเพียง มายากล ที่เชื่อถือไม่ได้เลย 
        หรือกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่บัวผันและแม่เผชิญอยู่ทั้งเรื่อง ถึงขนาดที่นางบุญเรือนผู้มีอาการป่วยเรื้อรังมานานก็ยืนยันว่า เป็น โรคเวรโรคกรรม ที่เจ้ากรรมนายเวรจากชาติที่แล้วกลับมาทวงคืนหนี้กรรมเก่า แต่หมอหนุ่มอัคนีก็ตัดสินไปแล้วว่า นั่นเป็นความงมงาย เพราะเขาไม่เชื่อว่าผีมีอยู่จริง 
        สำหรับสังคมไทย วิทยาศาสตร์เป็นชุดความรู้ใหม่ที่ชนชั้นนำสยามรับเข้ามาเมื่อราวร้อยกว่าปีนี่เอง แต่ก่อนหน้านั้น ระบบความรู้ของไทยหยั่งรากมาจากไสยศาสตร์กับพุทธศาสนากันเป็นเวลาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่ง ก่อนที่หมอวิทยาศาสตร์จะสถาปนาอำนาจขึ้นมาแบบที่เราเห็นๆ กันในปัจจุบัน ชาวบ้านในยุคดั้งเดิมต่างก็เคย ฝากผีฝากไข้ ไว้กับองค์ความรู้สุขภาพพื้นบ้านและการทรงเจ้าเข้าผีกันจนเป็นวิถีปกติ 
        ดังนั้นแล้ว แม้จะมี เหตุผลของวิทยาศาสตร์แบบที่หมออัคนีใช้หักล้างผลักไสให้เรื่องวิญญาณภูตแม่น้ำโขงกลายเป็นเรื่องงมงายไร้สาระเพราะพิสูจน์จับต้องไม่ได้ แต่ทว่า เหตุผลของชาวบ้าน ก็ได้เข้ามาปะทะคัดง้างกับอหังการความรู้ที่พระเอกหนุ่มยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา 
        แบบเดียวกับที่ พ่อเฒ่าเชียงหล้า แห่งหมู่บ้านนางคอย ก็เคยตั้งคำถามกับหมออัคนีว่า ตั้งแต่หมอมาอยู่ที่นี่ มีอะไรที่วิทยาศาสตร์ให้คำตอบกับหมอได้บ้าง และ ในโลกนี้มีเรื่องราวหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์หาคำตอบไม่ได้ บางเรื่องก็ละเอียดเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ 
        จนท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อเจ้าแม่ทอหูกพยายามใช้มนต์สะกดพาหมออัคนีมาทำพิธีมฤตสัญชีวนี เพื่อให้เขากลายเป็นภูตผีครองคู่กับนางตลอดกาล หมอหนุ่มจึงเกิดตระหนักรู้ว่า แม้ความจริงทางวิทยาศาสตร์อาจรับรู้ผ่านอายตนะทางรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัสได้ก็ตาม แต่สิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวบ้านยึดถืออยู่ในสัมผัสที่หก ก็เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ดำรงคุณค่าเกินกว่าที่วิทยาศาสตร์จะหยั่งถึงได้จริงๆ 
        จากฉากเนื้อเรื่องละครที่ย้อนยุคไปเมื่อราวห้าสิบปีก่อน กับการนั่งดูละคร ภูตแม่น้ำโขง ในห้วงเวลาห้าทศวรรษให้หลัง แม้สังคมทุกวันนี้จะเจริญก้าวหน้าทันสมัยไปมากเพียงไร ละครก็ยังกระตุกต่อมความคิดให้เราระลึกได้ว่า ในขณะที่เรายอมรับวิทยาศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต แต่ตำนานความเชื่อเจ้าแม่ทอหูกที่ทอผ้าบรรเลงเพลงอยู่ใต้ลำน้ำโขง ก็มิอาจเจือจางลางเลือนไปเสียจากวิถีแห่งโลกสมัยใหม่ได้เลย

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ภูตแม่น้ำโขง ละคร

ฉบับที่ 272 ดวงใจจอมกระบี่ : แล้วเราก็พบรักกันในเมตาเวิร์ส

        นับแต่เบิกอรุณรุ่งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา สังคมไทยและสังคมโลกค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งโลกเสมือนจริง ยิ่งในช่วงสักราว 2-3 ปีให้หลังมานี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ใหญ่ของเฟซบุ๊ก ได้ประกาศเจตนารมณ์ทักทายชาวโลกด้วยวลีว่า “Hello, Meta” ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า อารยธรรมของมวลมนุษยชาติกำลังเดินทางเข้าสู่โลกแห่ง “เมตาเวิร์ส” กันอย่างแท้จริง         โดยรากศัพท์ “เมตา” หมายถึง “เหนือกว่า” ส่วน “(ยูนิ)เวิร์ส” ก็แปลว่า “จักรวาล” เมื่อรวมกันเข้าก็หมายความได้ว่า เป็นจักรวาลอันเหนือกว่า หรือที่บัญญัติศัพท์คำไทยไว้อย่างเท่ระเบิดว่า “จักรวาลนฤมิต” ซึ่งเป็นประหนึ่งโลกอันแปลกใหม่ ที่เพียงแค่มีเทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนจริง มนุษย์เราก็เข้าไปสู่มิติพิศวงหรือทำลายกำแพงการเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง         ปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีเป็นจุดเชื่อมร้อยความจริงเข้าสู่โลกเสมือนแห่งจักรวาลนฤมิตดังกล่าว จะว่าไปแล้วก็คือ วิถีการมองโลกในแบบที่เชื่อว่า ทุกวันนี้เส้นกั้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงนับวันจะพร่าเลือนลง จนในที่สุดพื้นที่แห่งโลกเสมือนจริงก็มีพลังหลอกล่อยั่วยวนให้มนุษย์เราตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวาลเสมือนที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่นั่นเอง         ในขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศการก้าวเข้าสู่เมตาเวิร์สอย่างเต็มตัวในโลกตะวันตก ละครโทรทัศน์ของไทยก็ขานรับกับการสร้างให้ตัวละครมากหน้าหลายตาได้เดินทางข้ามภพไปมาระหว่างจักรวาลเหนือจริงกับโลกแห่งมนุษย์ ณ กาลปัจจุบัน แบบที่รับชมกันผ่านละครแนวแฟนตาซีเรื่อง “ดวงใจจอมกระบี่”และเพื่อให้สอดรับกับความพิศวงงงงวยที่จะปรากฏสู่สายตาผู้ชม ละคร “ดวงใจจอมกระบี่” ก็เลยผูกเนื้อหาเรื่องราวให้ตัวละครอย่าง “หวังอี้เทียน” ที่เคยมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในนวนิยายออนไลน์แนวกำลังภายใน ได้เดินทางพลัดหลุดมาอยู่ในโลกมนุษย์ที่เราๆ เวียนว่ายใช้ชีวิตกันอยู่         จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นด้วยการเปิดตัวนางเอกสาว “นลิน” ผู้หญิงที่ดูจะเพียบพร้อมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและชื่อเสียงหน้าตาทางสังคม แต่ลึกๆ แล้ว เธอกลับมีชีวิตที่โดดเดี่ยว เพราะพ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก และยังต้องอยู่ด้วยความระแวงระวังภัยจาก “อติรุจ” และ “อิงอร” อาแท้ๆ กับอาสะใภ้ที่จ้องจะทำทุกอย่างเพื่อฮุบมรดกและหุ้นเกินกว่าครึ่งของธุรกิจตระกูลที่นางเอกเราถือครองอยู่         เพื่อจะหาจังหวะชีวิตที่หลบหนีจากสภาวะแปลกแยกไร้ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าว นลินจึงชอบอ่านวรรณกรรมจีนออนไลน์ จนมักฝันเฟื่องอยากไปพบรักกับพระเอกจอมยุทธ์ และหลุดไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกแฟนตาซีแบบบู๊ลิ้มที่ชวนตื่นตาตื่นใจ         และแล้ววันหนึ่งโชคชะตาก็ชักนำ เมื่อนลินที่อยู่ในสภาวะเหมือนจะสูญสิ้นซึ่งแรงเกาะเกี่ยวในใจ ก็ได้มาเจอกับตัวละครหวังอี้เทียนที่พลัดตกจากผาชิงดาวในอาณาจักรยุทธภพของนวนิยาย “ตำนานกระบี่เย้ยฟ้า” ที่นลินชื่นชอบและกำลังติดตามอ่านเรื่องราวเป็นตอนๆ จากโลกอินเทอร์เน็ต และนั่นก็เป็นปฐมบทที่ตัวละครในจินตนาการมาปรากฏอยู่แบบตัวเป็นๆ ตรงต่อหน้าของนางเอกสาว         ในขณะเดียวกัน นลินก็มีเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวคือ “เรน” และแม้ด้วยวิชาชีพของเรนจะเป็นแพทย์ผู้เติบโตมากับองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์จับต้องไม่ได้ หากว่าหมอเรนก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่คลั่งไคล้นิยายเรื่องตำนานกระบี่เย้ยฟ้า ไม่ต่างจากเพื่อนรักของเธอ         แม้จะยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์ แต่หมอเรนก็รู้วิธีถอดจิตไปสู่โลกเสมือน และทำให้เธอได้ไปพบเจอกับ “ฉีเซิน” สหายร่วมสาบานของหวังอี้เทียน ที่ออกตามหาเพื่อนรักผู้หายตัวไปจากยุทธภพ ทำให้ทั้งหมอเรนและฉีเซินต้องเดินทางสลับไปมาระหว่างโลกแฟนตาซีกับโลกปัจจุบันขณะ จนว้าวุ่นกันไปถ้วนหน้า         ด้วยเหตุที่ทั้งโลกความจริงและโลกจินตนาการต่างก็มีชีวิตของผู้คนที่โลดแล่น และต่างก็มีปัญหาของตัวละครซึ่งดำเนินอยู่ในโลกคู่ขนานทางใครทางมัน โดยทางด้านของหญิงสาวอย่างนลินก็ต้องเผชิญหน้ากับคนร้ายที่หมายปองชีวิตเธอในฐานะผู้ถือครองหุ้นกว่า 50% ของตระกูลดาราลัยกรุ๊ป ในขณะที่หวังอี้เทียนก็ต้องต่อสู้กับ “จอมโจรพรรคดอกไม้แดง” เพื่อรักษาความสงบสุขของยุทธภพ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประมุขสูงสุดแห่ง “สำนักคุ้มภัยพยัคฆ์เมฆา”         แต่ทว่า โลกที่ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกันแบบนี้ ก็สามารถจะไขว้พันกันจนลางเลือนเส้นกั้นแบ่งแห่งความจริงความลวงจนเจือจางหายไป คล้ายๆ กับประโยคที่หวังอี้เทียนได้พูดกับนลินในคราหนึ่งว่า “ทุกเรื่องราวในโลก ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ฟ้า อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่คน”         เพราะฉะนั้น อาจจะด้วยฟ้าลิขิตมาส่วนหนึ่งก็จริง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นน้ำมือมนุษย์เรานั่นเองที่เป็นผู้สร้างโลกเสมือนในจินตนาการขึ้นมา และโลกเสมือนที่มนุษย์เราสร้างไว้นี่เองก็ทำให้ตัวละครในโลกจริงและโลกไซเบอร์เวิร์ลด์ได้เดินทางข้ามไขว้ไปมาหากันได้ เป็นประหนึ่งประดิษฐกรรมของเมตาเวิร์สภายใต้กลิ่นอายแห่งยุทธจักรบู๊ลิ้ม         จากนั้น เมื่อเส้นทางของนวนิยายกำลังภายในได้มาบรรจบกับชีวิตจริงของมนุษย์เรา ก็ไม่แปลกที่ละครได้หวนคืนไปหยิบยกเรื่องราวและการกระทำของตัวละครแห่งอาณาจักรยุทธภพให้มาปรากฏอยู่ตรงหน้าต่อสายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเพลงกระบี่ของจอมยุทธ์ การใช้พัดด้ามติ้วเป็นศาสตราวุธ การเดินพลังลมปราณ การจี้จุดสกัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย การลอบวางยาพิษ การประลองยุทธ์เพื่อชำระหนี้แค้น และอื่นๆ อีกหลากหลายที่บรรดาคอหนังจีนกำลังภายในน่าจะรู้สึกคุ้นชินกันเป็นเรื่องปกติ         ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การกระทำอันคุ้นชินของตัวละครจากโลกยุทธภพดังกล่าว ละครยังได้ย้อนคืนคุณค่าหลักหลายอย่างที่มักปรากฏผ่านละครจีนแนวบู๊ลิ้ม ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมน้ำมิตร เป็นศิษย์ต้องเคารพครู ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูต่อพ่อแม่และบรรพชน รวมไปถึงการได้ยินวลีวาจาและคำพูดที่คมคายจากปากของตัวละคร เริ่มตั้งแต่ “ฟ้าไม่แล้งน้ำใจคนพยายาม” “นั่งไม่เปลี่ยนชื่อ ยืนไม่เปลี่ยนแซ่” “เป็นดั่งขุนเขาแมกไม้ อยู่เพื่อให้ มิใช่เพื่อรับ” “ไม่มีพรสวรรค์ หากตั้งใจฝึกฝนก็สำเร็จวิชาได้” และอื่นๆ อีกมากมาย         จนมาถึงฉากจบเรื่อง ไหนๆ ภาพจำลองของละครได้นำพาโลกบู๊ลิ้มมาบรรจบกับโลกจริงแล้ว ก็คงไม่น่าประหลาดใจนักที่เราจะเห็นคำตอบของเรื่องในแบบที่นลินได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตครองคู่อยู่ในโลกแฟนตาซีกับหวังอี้เทียน สลับกับฉีเซินที่เลือกออกจากโลกนิยายออนไลน์มาสานต่อความรักกับหมอเรนกันในโลกจริง         ถึงที่สุดแล้ว หากความรักไม่ต่างจากตัวแทนแห่งการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้วไซร้ ปรากฏการณ์อย่างเมตาเวิร์สที่ราวกับจะแร้นแค้นความรู้สึกผูกพันของมนุษย์จริงๆ ก็อาจให้คำตอบแก่ผู้คนที่สายสัมพันธ์โดดเดี่ยวเปราะบางได้ว่า บางทีคนเราก็อาจพบรักกันได้แม้แต่ในโลกเสมือนของเมตาเวิร์สนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 271 มาตาลดา : วอท อะ วันเดอร์ฟูล เวิร์ลด์

        สิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นฉาก พล็อตเรื่อง หรือแม้แต่ตัวละครต่างๆ ไม่เคยโผล่ขึ้นมาจากสุญญากาศแบบไร้ที่เป็นมาเป็นไป หากแต่มีเงื่อนไขและที่มาที่ไปซึ่งยึดโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัวเราเสมอ และที่สำคัญ ภาพที่เห็นผ่านละครและตัวละครอันหลากหลายที่เราสัมผัสอยู่นั้น ล้วนเป็นจินตนาการซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนย้อนให้เราคิดถึงความเป็นจริงในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่        กับคำอธิบายชุดนี้ ดูจะเข้ากันได้ดีกับชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “มาตาลดา” ที่ได้รับการเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ “ฮีลหัวใจ” ให้กับผู้ชมผ่านโลกของละครโทรทัศน์แนวรักโรแมนติก        มาตาลดาถูกสรรค์สร้างให้เป็นนางเอกผู้มี “พลังแห่งความใจดี” เป็นผู้หญิงที่ประหนึ่งขี่ม้าหลุดออกมาจากท้องทุ่งลาเวนเดอร์ คอยให้ความหวัง ให้พลังใจกับคนรอบข้าง มองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ อาจเป็นเพราะว่า “เกริกพล” พ่อของเธอเป็นกะเทยนางโชว์เจ้าของสมญานามว่า “เกรซ” ถูก “เปา” ผู้เป็นอากงไล่ออกจากบ้าน ด้วยเหตุผลเพราะ “เกิดมาเป็นคนผิดเพศ” พ่อเกรซจึงตั้งมั่นและสัญญากับตนเองว่า จะเลี้ยงมาตาลดาให้ “กลายเป็นคนที่ใจดีที่สุดในโลก” ให้จงได้        กับการเปิดตัวในฉากแรกๆ ของมาตาลดา เราก็จะเห็นพลังของความใจดีที่แผ่ซ่านไปทั่ว นับตั้งแต่เปิดฉากที่พ่อเกรซเล่านิทานให้เธอฟัง เพื่อให้เด็กน้อยเติบโตมาเป็นประหนึ่งเจ้าหญิงผมทองผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไปจนถึงฉากที่มาตาลดาให้ความเอ็นดูและรับเลี้ยงบรรดาสุนัขจรจัดแทบจะทุกตัวที่พลัดหลงผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ        ในขณะที่มาตาลดาเป็นตัวละครที่ใจดีชนิดที่หาได้ยากยิ่งในกาลสมัยปัจจุบัน ผู้คนที่อยู่รายล้อมรอบชีวิตเธอกลับถูกออกแบบให้ดูมีความผิดปกติหรือมีปมบาดแผลในจิตใจกันถ้วนหน้า        เริ่มจากนางโชว์ “ตัวตึง” อย่างพ่อเกรซเอง ที่เลือกเพศวิถีอันต่างออกไปจากความคาดหวังของสังคม จนถูกทุบตีอัปเปหิออกจากบ้าน และไปๆ มาๆ ก็กลับกลายเป็นบาดแผลที่ทั้งพ่อเกรซ อากง และอาม่า “เฟิน” ต่างก็บาดเจ็บจากทิฐิที่อากงสาดใส่เพศสภาพ LGBTQ+ ของบุตรชายไม่แตกต่างกันเลย        ตามมาด้วยพระเอกหนุ่ม “ปุริม” หรือที่ “บุญฤทธิ์” ผู้เป็นพ่อ ตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า “เป็นหนึ่ง” ก็คืออีกหนึ่งตัวละครซึ่งต้องทนทุกข์ยากจากการแบกภาระและความคาดหวังที่บิดาอยากให้เขาเป็นที่หนึ่งเหนือทุกๆ คน และแม้เขาจะเรียนเก่งเรียนดีจนได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจอันดับต้นๆ ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็กลายสภาพเป็น “หมอหัวใจที่ไม่มีหัวใจและไร้ความรู้สึก”        ฉากต้นเรื่องที่เป็นหนึ่งใส่แว่นตาของนักประดาน้ำนั่งอยู่เดียวดายในห้องนอน ก็ไม่ต่างจากการบ่งบอกนัยว่า ชีวิตของเขาถูกบิดากำหนดและกดทับไว้ให้จมอยู่ใต้ห้วงมหาสมุทรแห่งความคาดหวังของครอบครัวที่หนักอึ้งอยู่บนสองบ่า        ในเวลาเดียวกัน สำหรับบุญฤทธิ์ที่หน้าฉากสังคมประสบความสำเร็จทั้งชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน หากแต่ความรู้สึกผิดจากอดีตที่ตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เขาถ่ายโอนความเจ็บปวดมาที่การเรียกร้องความเป็นเลิศจากบุตรชาย และสร้างความรู้สึกทุกข์ใจให้กับ “ชนิดา” ผู้เป็นภรรยาไปด้วยเช่นกัน        เพื่อผลักดันให้บุตรชายได้ขึ้นเป็นที่หนึ่งดังใจปรารถนา บุญฤทธิ์เจ้าของงานเขียนหนังสือเรื่อง “ชีวิตไม่ติดกรอบ” กลับเลือกสร้างกรอบจับคู่เป็นหนึ่งกับหญิงสาวในวงสังคมอย่าง “อรุณรัศมี” ที่สวยหรูดูแพง เพียบพร้อมทั้งความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจสังคม และยิ่งเมื่อภายหลังเป็นหนึ่งมาติดพันหลงรักมาตาลดา บุตรสาวของกะเทยนางโชว์ บุญฤทธิ์ก็ยิ่งออกฤทธิ์กีดกันความรักของทั้งคู่ในทุกทาง        แต่ในทางกลับกัน หลังฉากชีวิตของอรุณรัศมี ลูกสาวท่านรัฐมนตรีที่ดูเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ ลึกๆ กลับเป็นผู้หญิงที่แล้งน้ำใจ ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะทุกคนที่เหนือกว่าตน โดยเฉพาะกับมาตาลดาที่แสนจะธรรมดาแต่กลับปาดหน้าเค้กพิชิตหัวใจเป็นหนึ่งไปได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากมารดาของอรุณรัศมีเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยลุกขึ้นมาสู้ แต่ยอมศิโรราบต่อการถูกกระทำทารุณทั้งกายวาจาใจอยู่ตลอดจากชายผู้เป็นสามี        ส่วนทางฝั่งของชนิดามารดาของเป็นหนึ่ง ก็มีน้องสาวคือ “ชุลีพร” ที่จิตใจห้วงลึกตั้งแง่อิจฉาริษยาความสำเร็จของพี่สาว และเอาแต่เสี้ยมสอน “ไตรฉัตร” บุตรชายให้เอาชนะเป็นหนึ่ง ด้วยการแย่งชิงอรุณรัศมีมาเป็นคนรักของตนให้ได้ และยิ่งเมื่อภายหลังไตรฉัตรรู้ว่าผู้หญิงที่เป็นหนึ่งรักอยู่ก็คือมาตาลดา เขาก็เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นนางเอกผู้แสนใจดีแทน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพียงเพราะต้องการปกปิดความรู้สึกเจ็บปวดที่ชุลีพรมักเปรียบเทียบว่าตนเป็นรองต่อเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา        ท่ามกลางผู้คนรายรอบที่ชีวิตช่างดูกะปลกกะเปลี้ยพิการทางใจนั้น ตัวละครมาตาลดาได้เล่นบทบาทที่แตกต่าง ไม่เพียงทำหน้าที่สร้างกำลังใจให้กับสรรพชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในท้องเรื่อง หากแต่ผลานิสงส์แห่งความใจดีและมองโลกสวย ยังช่วยคลี่คลายเปลาะปมให้ตัวละครผ่านพ้นความเจ็บปวดและเยียวยารอยร้าวต่างๆ ระหว่างพ่อแม่กับลูก ปู่กับหลาน พี่กับน้อง สามีกับภรรยา หรือผู้คนต่างรุ่นต่างวัย ควบคู่ไปกับคำพูดและวลีเด็ดๆ ที่พร่ำสอนคุณธรรมให้ตัวละครและผู้ชมได้ร่วมกันขบคิดเพื่อให้เข้าใจชีวิตไปพร้อมๆ กัน        ในโลกที่จิตใจของมนุษย์ช่างเปราะบางอยู่นั้น ประโยคที่มาตาลดาพูดกับเป็นหนึ่งผู้เป็นคุณหมอโรคหัวใจที่ไร้หัวใจว่า “คนไข้ไม่จำเป็นต้องอยากได้หมอที่เก่งที่สุด แต่เป็นหมอที่เข้าใจหัวใจเค้าดีที่สุด เค้าอาจกำลังมองหาหมอที่ใจ และมองเห็นเค้าเป็นคนก็เป็นได้” ก็สะท้อนให้เห็นว่า ก้นบึ้งของปัญหาที่ปัจเจกบุคคลยุคนี้เผชิญอยู่ ที่สุดแล้วก็คงมาจากการมองข้ามความเข้าอกเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจริงๆ        เมื่อผู้เขียนดูละครเรื่องนี้จบ เกิดคำถามข้อแรกขึ้นมาว่า ระหว่างมาตาลดากับตัวละครที่ป่วยทางจิตใจกันถ้วนหน้าอยู่นั้น ใครคือมนุษย์จริงๆ ในโลกมากกว่ากัน คำตอบที่เราน่าจะเห็นพ้องก็คือ ตัวละครอื่นๆ ต่างดูเป็นผู้คนที่พบได้ในโลกใบนี้ หาใช่มาตาลดานางเอกผู้แสนดีที่ดูช่างเซอร์เรียลิสต์เหนือจริงเสียนี่กระไร        และหากจะถามต่อไปว่า แล้วในขณะที่ละครสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตผ่านตัวละครอื่นๆ อยู่นั้น ตัวละครอุดมคติประหนึ่งยูโธเปียอย่างมาตาลดาปรากฏตนขึ้นมาได้อย่างไร กับคำถามข้อนี้เชื่อกันว่า หากในโลกความจริงมนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ที่จัดการไม่ได้ โลกสัญลักษณ์ที่สมมติตัวละครแนวอุดมคตินี่เอง จะช่วยบำบัดความขัดแย้งอย่างน้อยก็ในจินตนาการให้บรรเทาเบาบางลงไป        เมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง ที่ตัวละครซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามความรักและครอบครัว ต่างให้อภัยและลุกขึ้นมาเต้นรำกันอย่างสนุกสนานราวกับไม่เคยมีปัญหาใดๆ กันมาเลยในชีวิต ไม่เพียงแต่เป็นการ “ฮีลหัวใจ” ของผู้ชมเท่านั้น หากแต่ยังชวนขบคิดไปด้วยว่า กับความขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ในโลกความจริง ถ้าเราเคยเยียวยามาได้แล้วในอุดมคติแห่งโลกของละคร เราจะทำให้การคลี่คลายปัญหาเช่นนี้บังเกิดขึ้นในโลกความจริงได้หรือไม่ และอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 270 แค้น : เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม

        “ความแค้น” คืออะไร? พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า “แค้น” คือ อาการโกรธเจ็บใจอยู่ไม่หาย และหากเป็น “คนเจ้าคิดเจ้าแค้น” แล้ว จะหมายถึง คนที่มักผูกอาฆาตพยาบาท ผูกใจเจ็บกับคนที่ทำร้ายหรือทำให้ตนได้รับความลำบากอย่างไม่รู้จักลดละ ไม่รู้จักให้อภัย         ในทางพุทธศาสนา ที่ยึดหลักแห่งความเมตตาการุณย์เป็นที่ตั้งนั้น อธิบายว่า ความแค้นเป็นคู่ปรับตรงกันข้ามกับความเมตตา เป็นเสมือนไฟแผดเผาใจให้มอดไหม้ มักนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงเสียหาย และนำสู่ความหงุดหงิดงุ่นง่านทรมานใจตนเอง ดังนั้น ศาสนาจึงสอนให้ปุถุชนพยายาม “ดับความแค้น” ในใจ เมื่อมีคนใดมาทำให้โกรธแค้น ก็พึงแผ่เมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตทั้งปวง         แม้ว่าความแค้นจะเป็นคู่ตรงข้ามกับการให้อภัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแค้นเป็นสิ่งที่เกิดเนื่องมาแต่ “ความต้องการอำนาจ” ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการ “เอาคืน” จากความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม ดุจดังความแค้นฝังแน่นชนิด “ตายไม่เผาผี” กันไปข้างหนึ่งระหว่าง “เหมือนแพร” กับ “ปรางทอง” ในละครโทรทัศน์ที่ชื่อเรื่องสั้นๆ ตรงเป้าตรงประเด็นว่า “แค้น”         แล้วทำไมผู้หญิงสองคนต่างจึงโกรธแค้นกันชนิด “เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม” และ “ตายกันแบบไม่เผาผี” อีกเลย? ละครได้ย้อนไปหาคำตอบผ่านชีวิตของเหมือนแพร หญิงสาวที่ในชีวิตไม่เคยตระหนักเลยว่า ความรักที่เธอมีให้ผู้ชายคนหนึ่ง และความศรัทธาที่มีต่อผู้หญิงที่เธอเคารพรักเสมือนเป็นญาติคนสนิท จะพลิกผันจาก “ความรัก” เป็น “ความแค้น” ที่ปะทุฝังแน่นอยู่ในอุรา         ถ้าสังคมไทยทุกวันนี้มีความขัดแย้งระหว่างคนต่างเจนเนอเรชันเป็นสมรภูมิที่ปะทุปะทะกันอย่างเข้มข้น ภาพจำลองสนามรบของคนต่างรุ่นวัยแบบนี้ก็ถูกถ่ายทอดให้เห็นผ่านความแค้นที่ระเบิดออกมาเป็น “ศึกสองนางพญา” ระหว่างนางเอกเหมือนแพร กับปรางทิพย์ หรือที่เธอเรียกว่า “น้าปราง”         สงครามความแค้นครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อราวยี่สิบปีก่อน ที่ปรางทองได้เข้ามาในบ้านของเศรษฐีที่ดินตระกูล “พิพัฒน์ผล” แต่เพราะมีสถานะเป็นลูกติดของ “ปรางทิพย์” ผู้เป็นภรรยาน้อย เธอจีงถูก “ปิ่นมณี” บุตรสาวคนเดียวของตระกูลปฏิบัติกับเธอเยี่ยงเด็กรับใช้ในบ้าน หรือทาสในเรือนเบี้ย จนบ่มเพาะเป็นความแค้นที่อยู่ในใจของปรางทองมานับจากนั้น         สองปีถัดมา เมื่อปิ่นมณีได้ให้กำเนิดเหมือนแพร ก็ยิ่งตอกย้ำให้สถานะของปรางทองตกต่ำลงไปอีก แม้เหมือนแพรจะสนิทสนมและนับถือเธอประหนึ่งน้าแท้ๆ แต่ปรางทองก็มีชีวิตไม่ต่างจากสาวใช้ที่ต้องดูแลเด็กน้อย และเป็นรองทุกอย่างให้กับเด็กหญิงที่วันหนึ่งจะโตมาเป็นเจ้าของสมบัติตระกูลพิพัฒน์ผลทั้งหมด         ด้วยความแค้นต่อโชคชะตาที่ปรางทองสั่งสมเอาไว้ เธอจึงมุ่งมั่นตั้งแต่มารดาเสียชีวิตว่า สักวันหนึ่งจะยึดทรัพย์สินทุกอย่างของบ้านพิพัฒน์ผลมาเป็นของตนให้ได้ ดังนั้น เมื่อปรางทองเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอจึงเริ่มแผนการเสนอตัวเข้าไปช่วยงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล และยังชักชวนแฟนหนุ่ม “อรรณพ” ให้มาเป็นผู้ช่วยของ “พัฒนะ” บิดาของเหมือนแพร โดยแนะนำว่าเขาเป็นเพื่อน มิใช่แฟน         และแล้วแผนการของปรางทองก็สัมฤทธิ์ผล หลังจากที่พัฒนะและปิ่นมณีเสียชีวิตลง เธอก็ได้ยุให้เหมือนแพรที่ไร้เดียงสาและอยู่ในวัยแตกเนื้อสาว เซ็นเอกสารยินยอมให้อรรณพเป็นผู้จัดการมรดกและดำเนินการทางธุรกิจแทน ก่อนจะยืมมืออรรณพที่เด็กสาวแอบหลงรักมาฮุบสมบัติของพิพัฒน์ผลจนสำเร็จดังหวัง หลังจากนั้นปรางทองก็เปิดตัว “เก่งกาจ” ลูกชายวัยสองขวบ ความรักความไว้ใจกลายเป็นความเจ็บปวดและสูญเสียทุกอย่าง จนเหมือนแพรเลือกตัดสินใจฆ่าตัวตาย         แม้เหมือนแพรจะรอดจากอัตวินิบาตกรรมครานั้น แต่ด้วยจิตใจที่แตกสลาย เธอได้เลือกบินไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศอยู่สิบกว่าปี กว่าที่จะทำใจกลับมาเยียวยาบาดแผลซึ่งฝังรากอยู่ในห้วงความทรงจำลึกๆ ของเธอ         ในขณะที่หลักศาสนาพร่ำสอนว่า “พึงระงับความแค้นด้วยการให้อภัย” และ “กฎแห่งกรรมเป็นวัฏจักรที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้” แต่สิ่งที่พบเจอมาในชีวิตของเหมือนแพรที่บัดนี้กลายเป็นปัจเจกบุคคลผู้มีวุฒิภาวะมากขึ้น ได้นำไปสู่คำถามใหม่ๆ ที่ว่า “ทำไมคนที่ทำแต่เรื่องชั่วๆ ยังลอยหน้าอยู่ในสังคมได้” และแม้ “พิธาน” พระเอกหนุ่มน้องชายของอรรณพจะเตือนสติให้เธอละเลิกความพยาบาท แต่เหมือนแพรก็เลือกประกาศกับเขาว่า “ถ้ากรรมไม่ทำงาน แพรก็จะลงมือทำเอง”         อย่างไรก็ดี ในสมรภูมิครั้งใหม่นี้ ปรางทองกลับเป็นผู้ที่ถือไพ่เหนือกว่า เพราะเธอได้รวบปัจจัยการผลิตทั้งหมดมาจากชีวิตเหมือนแพร และแปลงทรัพยากรเม็ดเงินและธุรกิจในมือเป็นอำนาจในการจัดการกับอดีตหลานสาว จนถึงกับประกาศศึกว่า “มันได้กินยาตายรอบสองแน่ แล้วครั้งนี้มันจะได้ตายสมใจ” รวมทั้งใช้แม้แต่กำลังความรุนแรงแบบไร้มนุษยธรรมเพื่อเผด็จศึกชนิดที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน          ทว่า สิ่งที่ปรางทองมองข้ามไปก็คือ ในศึกแค้นคำรบใหม่นี้เช่นกัน คู่ชกที่เธอปรามาสว่าอ่อนหัดกลับมีเจตนารมณ์แน่แน่วที่จะแปลงเพลิงแค้นให้เป็นพลังต่อสู้ แม้ว่าในยกแรกๆ เหมือนแพรจะเพลี่ยงพล้ำขนาดที่ถูกลากมาตบมาซ้อมในที่สาธารณะท่ามกลางสายตาผู้คนนับร้อยในงานกาล่าของชาวไฮโซ แต่ประสบการณ์แต่ละครั้งก็บ่มเพาะให้เหมือนแพรสุขุมคัมภีรภาพ และรู้จักเป็นผู้เดินเกมบนกระดานได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น         ในขณะที่คนรุ่นก่อนแบบปรางทองเลือกวิธีต่อสู้ในเกมแบบการเล่น “หมากรุก” ที่ทำทุกอย่างโดยมุ่งเป้าพิชิตตัวขุนผู้เป็นตัวนำเพื่อชนะศึกในกระดาน แต่ทว่าคนรุ่นใหม่แบบเหมือนแพรกลับชำนิชำนาญการเล่นเกมแบบ “หมากล้อม” ช่วงชิงเก็บแต้มเล็กแต้มน้อย จนในท้ายที่สุดก็จะยึดพื้นที่หมากโกะได้หมดทั้งกระดาน         เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นภาพเหมือนแพรที่ค่อยๆ วางแผนซื้อหุ้นของธุรกิจพิพัฒน์ผลกลับมาทีละเล็กละน้อย และช่วงชิงแนวร่วมพันธมิตรของปรางทองทีละคนสองคน ไล่ตั้งแต่บรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยแต่ละคน “โภไคย” และ “ดาหวัน” ผู้ร่วมทำธุรกิจกับปรางทอง พิธานพระเอกหนุ่มที่แอบรักเธออยู่ หรือแม้แต่วางแผนหลอกใช้และปั่นหัวเก่งกาจลูกชายของปรางทอง ให้เขากบฏแข็งข้อต่อผู้เป็นแม่แบบไม่เคยเป็นมาก่อน         แต่ทว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ละครก็ได้ตั้งคำถามว่า หากจะแปลงความแค้นเป็นสงครามปั่นประสาทแบบ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” เยี่ยงนี้ “ความเลว” ก็ไม่อาจล้มล้างได้ด้วยการปะทะกันทางอารมณ์แต่อย่างใด หากแต่ต้องใช้ “ความจริง” เท่านั้นที่จะทำให้ปัจเจกบรรลุชัยชนะ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเหมือนแพรก็เคยถูกใช้ความรักความหวังดีมาสร้างเป็นจิตสำนึกปลอมๆ จนมองข้าม “ความจริง” อันเป็นธาตุแท้ของศัตรู         ในสังคมที่ความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยว และโอกาสในชีวิตที่ถูกพรากไปโดยไร้กฎกติกา ชะตากรรมของตัวละครก็อาจบอกเราได้ว่า ถ้าจะให้ความยุติธรรมบังเกิดขึ้นจริง บางทีเราต้องหัดแปลงแรง “แค้น” ให้เป็นสติในการเห็นถึง “ความจริง” ที่จะปลดปล่อยจิตสำนึกจอมปลอมที่แอบล่อหลอกลวงตาเอาไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 269 หมอหลวง : กว่าจะเป็นนักรบเสื้อกาวน์

        วิชาแพทยศาสตร์ของไทย แต่เดิมพัฒนาองค์ความรู้มาจากการใช้ยาสมุนไพรและตำรับยาตำราหลวง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “แพทย์แผนไทย” จนเมื่อราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ระบบสาธารณสุขและความรู้แพทย์แผนใหม่ได้ลงรากปักฐานในสยามประเทศ และกลายมาเป็นชุดวิทยาการการแพทย์แผนหลักจวบจนปัจจุบัน         ที่สำคัญ ทุกวันนี้ไม่เพียงบุคลากรทางการแพทย์แผนใหม่จะมีบทบาทดูแลรักษาสุขภาพคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทเป็นชนชั้นนำหรือ “คีย์แมน” ที่แทรกซึมเข้าไปในอีกหลากหลายแวดวงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และอีกมากมาย         เพราะแพทย์แผนใหม่ได้สถาปนาอำนาจและบทบาทนำในสังคมไทยมาเกินกว่าศตวรรษเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่ละครโทรทัศน์จะหยิบเรื่องราวมาผูกเป็นเรื่องเล่าในความบันเทิงแบบมวลชน และล่าสุดก็ผูกโยงเป็นละครแนวพีเรียดที่ย้อนยุคไปในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคณะมิชชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่คริสตศาสนาและวิทยาการการแพทย์แบบตะวันตก พร้อมๆ กับการริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนไทย เป็นฉากหลังของเรื่องราว ดังที่เราได้มองผ่านละครเรื่อง “หมอหลวง”         ละครกึ่งดรามากึ่งคอมเมดี้เรื่อง “หมอหลวง” เริ่มต้นด้วยภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “อัคริมา” หรือ “บัว” นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ ที่เหมือนจะไร้ญาติขาดพี่น้อง และแม้มุ่งมั่นว่าสักวันหนึ่งจะได้สวมเสื้อกาวน์เป็นหมอที่ดีในอนาคต แต่ในชั้นเรียนเธอกลับถูกตีตราจากอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นว่า เป็นนักศึกษาแพทย์ที่เรียนรั้งท้าย ไม่มีสติ ไม่มีวิจารณญาณที่จะเป็นหมอรักษาโรคได้ดี         กับชีวิตที่ดูแปลกแยกและไร้แรงเกาะเกี่ยวเช่นนี้ ปาฏิหาริย์ก็บังเกิดขึ้นเมื่อเกิดลมพายุใหญ่พัดหอบบัวออกจากห้องพักอันคับแคบ ทะลุมิติข้ามภพข้ามกาลเวลาประหนึ่งเมตาเวิร์ส มาโผล่ในจุลศักราช 1202 สมัยรัชกาลที่ 3 กันโน่นเลย         ปกติแล้วในความเป็นเรื่องละครแนวเดินทางข้ามเวลา หรือที่รู้จักกันว่า “time travel stories” นั้น ในฟากหนึ่งก็สะท้อนความรู้สึกโหยหาอดีตที่แสนหวานแต่ห่างหายไปแล้วจากสำนึกคนรุ่นปัจจุบัน แต่ในอีกฟากหนึ่ง ก็เป็นช่วงจังหวะที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลร่วมสมัยได้ทบทวนหวนคิดถึงตนเองในทุกวันนี้ โดยใช้ฉากทัศน์ของกาลอดีตมาเป็นภาพที่วางเปรียบเทียบเคียง         ด้วยเหตุดังนั้น หลังจากที่บัวได้หลุดมิติมาสู่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นางเอกสาวนักศึกษาแพทย์ก็ได้พบกับ “ทองอ้น” พระเอกหนุ่ม ลูกชายผู้ไม่เอาถ่านของตระกูลหมอหลวงสาย “หลวงชำนาญเวช” หรือที่ผู้คนเรียกขานว่า “หมอทองคำ” ผู้สืบทอดความรู้แพทย์แผนโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงเก่า         แม้ทองอ้นจะเป็นคนเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบดี แต่ด้วยเหตุผลที่เขาไม่ต้องการเด่นเกิน “ทองแท้” พี่ชายต่างมารดา จึงแกล้งทำตัวไม่เป็นโล้เป็นพาย เพื่อปิดบังความรู้ความสามารถที่แท้จริงของตน         แต่แล้วชีวิตทองอ้นก็ต้องมีอันพลิกผัน เมื่อมีพระราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหมอหลวงขึ้นมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดรับสมัครนักเรียนหมอหลวงในกรุงสยาม และเปิดโอกาสให้ลูกหลานชาวบ้านทั่วไปได้เข้ามาร่ำเรียนเพื่อเป็นหมอ ซึ่งอดีตเคยเป็นวิชาความรู้ที่ผูกขาดอยู่เฉพาะในสายตระกูลหมอหลวง และก็แน่นอนที่พระเอกหนุ่มทองอ้นก็คือหนึ่งในผู้สมัครเป็นนักเรียนหมอหลวงรุ่นแรกนั้นด้วย         จากนั้น ผู้ชมก็ได้เห็นภาพกระบวนการกลายมาเป็นหมอหลวงในยุคเก่าก่อน ผ่านสายตาและการรับรู้ของบัวหญิงสาวผู้ข้ามภพกาลเวลามาจากปัจจุบัน โดยผูกเล่าผ่านโครงเรื่องความขัดแย้งย่อยๆ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของหมอทองคำ ความวุ่นวายของชีวิตนักเรียนในโรงเรียนหมอหลวง ชีวิตหมอหลวงที่ต้องผูกพันกับทั้งราชสำนักและผู้ไข้ที่ขัดสน หรือแม้แต่เกี่ยวพันเข้าไปในสงครามสู้รบจริงๆ จากกลุ่มจีนอั้งยี่ และสงครามโรคภัยจากการระบาดของไข้ทรพิษ         และเพื่อให้ดูสมจริงในสายตาของผู้ชม ละครจึงตัดภาพสลับไปมา โดยให้ผู้หญิงร่วมสมัยอย่างบัวได้เรียนรู้วิทยาการสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณ ไปจนถึงได้เห็นฉากการผ่าตัดครั้งแรกในสยามประเทศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ตัวละครในอดีตอย่างทองอ้นและสหายได้ใช้จินตนาการหลุดมาสัมผัสเหตุการณ์จริงของระบบการจัดการสุขภาพผู้คนในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ให้พวกเขาได้เข้าไปเยี่ยมเยือนในห้องยิมออกกำลังกาย ไปจนถึงห้องผ่าตัดของศัลยแพทย์ในโรงพยาบาล         การสลับเรื่องราวไปมาของตัวละครสองห้วงเวลาที่หลุดเข้าสู่โลกเสมือนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็เชิญชวนให้ผู้ชมได้ลุ้นกับฉากสรุปตอนท้ายว่า บัวจะตัดสินใจเลือกครองคู่อยู่กับทองอ้นในกาลอดีต หรือจะเลือกกลับมาใช้ชีวิตที่เหลือแบบแปลกแยกโดดเดี่ยวกันอีกครั้ง หากแต่พร้อมๆ กันนั้น ละครข้ามเวลาเรื่องนี้ก็ชี้ชวนให้เราทบทวนถึงคุณค่าของวิชาชีพแพทย์ ผู้มีบทบาทในการกำหนดความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ปัจจุบัน         แม้หมอเองก็คือปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง แบบที่นักเรียนหมอหลวงก็มีการแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง มีความอิจฉาริษยา มีเรื่องพรรคพวกเส้นสาย หรือแม้แต่ออกอาการงกวิชาความรู้ แต่ในขณะเดียวกัน ภายใต้ความเป็นปุถุชนที่มีกิเลสรักโลภโกรธหลงนี้ แวดวงวิชาชีพหมอในอดีตก็มีการติดตั้งรหัสจริยธรรมที่กำกับควบคุมด้านมืดทั้งหลายมิให้ครอบงำกัดกร่อนจิตใจของบรรดาหมอหลวงเหล่านั้นไปได้โดยง่าย         คุณค่าหลักของหมอในอุดมคติที่ปรากฏในละคร มีตั้งแต่การต้องเคารพครู ช่างสังเกต ตั้งข้อสงสัย ไม่ย่อท้อที่จะค้นหาวิธีรักษาโรคให้เจอ รู้จักขวนขวายความรู้จากทั้งตำราดั้งเดิมและความรู้ใหม่ๆ ที่เก็บเกี่ยวได้รอบตัว ตลอดจนคุณธรรมอีกหลากหลายที่คนเป็นหมอพึงมี         แต่ที่ละครดูจะตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ก็คือ หมอที่ดีพึงยึดเอาประโยชน์ของ “ผู้ไข้” เป็นหลัก แบบที่ครูหมอรุ่นก่อนได้สอนอนุชนนักเรียนหมอหลวงว่า “จรรยาข้อแรกของหมอคือ ต้องมีเมตตาต่อผู้ไข้ไม่แยกชนชั้นวรรณะ” หรือ “ความรู้ด้านการแพทย์ไม่ได้มีไว้แข่งขันเพื่อเอาชนะกัน” หรือแม้แต่วิธีคิดต่อยาสมุนไพรหายากในโรงหมอหลวงที่ว่า “ยาหาใหม่ได้ แต่ชีวิตคนหาใหม่ไม่ได้”         เพราะฉะนั้น ฉากที่หมอทองคำลดตนก้มกราบคารวะ “หมอทัด” คู่ปรับในวิชาชีพแพทย์ที่ใช้ความรู้ช่วยเหลือผู้ไข้ให้ผ่านพ้นการระบาดของโรคฝีดาษได้ ก็อรรถาธิบายอยู่ในตัวว่า หากหมอหัดลดหรือวางอัตตาและทิฐิลงเสียบ้าง และพร้อมจะยอมรับความรู้ความสามารถคนอื่นเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ไข้ ก็เป็นรหัสจรรยาบรรณที่คนโบราณวางไว้ให้กับบรรดาหมอหลวงได้ยึดถือปฏิบัติ         กว่าศตวรรษได้ผ่านพ้นไป กับสังคมไทยที่มีแพทย์ชนชั้นนำเป็นกลจักรขับเคลื่อนอยู่นี้นั้น สถาบันการแพทย์ที่มีบทบาทและตัวตนอยู่ในสปอตไลต์ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามไปถึงจรรยาบรรณใต้เสื้อกาวน์อยู่เป็นเนืองๆ หากเราลองผาดตาเล็งเห็นคุณค่าที่ทองอ้นกับการก่อตัวของสถาบันหมอหลวงมาแต่อดีต ก็อาจจะเห็นหลักจริยธรรมที่นำมาตอบโจทย์ของแพทย์ที่มีต่อผู้ไข้และสังคมไทยอยู่ในนั้นได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)