ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทดสอบคุณภาพน้ำผึ้งแท้ ได้คุณภาพตามน้ำผึ้งแท้ทุกตัวอย่างการทดสอบ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบคุณภาพน้ำผึ้งที่ระบุในฉลากว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ จำนวน 19 ตัวอย่าง พบทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

        วันนี้ (11 พฤศจิกายน .. 2565)  นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)  กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และห้างออนไลน์ จำนวน 19 ตัวอย่าง ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อดูคุณภาพของน้ำผึ้งตัวอย่างว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ เป็นน้ำผึ้งแท้ที่ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในคุณภาพได้หรือไม่ เนื่องจากน้ำผึ้งเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมด้วยเชื่อมั่นในสรรพคุณทั้งบำรุงร่างกายและเป็นยาบำบัด แต่ปัจจุบันประชาชนอาจกังวลว่าน้ำผึ้งที่วางจำหน่ายทั่วไปเป็นน้ำผึ้งแท้หรือไม่ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตาเปล่า ทั้งยังพบน้ำผึ้งปลอมวางจำหน่ายปะปนกับน้ำผึ้งแท้อยู่มากมาย    



  

        น้ำผึ้ง 19 ตัวอย่างที่ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทำการทดสอบ คือ กู๊ดบี , ชุมชนผึ้งจากดอกลำไย ,น้ำผึ้งดอยคำ, เขาค้อทะเลภู ,โคลส์ บลู กัม ฮันนี่ , เวชพงศ์  น้ำผึ้งสดแท้  , ท็อปส์  ดอกลำไย , น้ำผึ้งสวนจิตรลดา ,น้ำผึ้งไตรฟลอร่าฮันนี่ สวีท บี , บี  โบตานี , แฮปปี้ เมท , น้ำผึ้งบัวหลวง, โลตัส น้ำผึ้งดอกลำไย, น้ำผึ้งตราคาเฟอเมซอน , น้ำผึ้งตราไทยฮันนี่ , น้ำผึ้งตราดอยผาผึ้ง ,น้ำผึ้ง ตรา Tai Honey Queen , น้ำผึ้งป่าเดือนHoney House , น้ำผึ้งป่าตรา BEARY  HONEY  จากน้ำผึ้งจำนวน 19 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบพบว่า คุณภาพส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้ง มกษ.8003-2556 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 211 ..2543 เรื่องน้ำผึ้ง 
        สำหรับค่ามาตรฐานคุณภาพในมิติต่างๆ ของน้ำผึ้งแท้ที่ได้ทำการทดสอบคุณภาพ ประกอบด้วย 1. ความชื้น(น้ำ) มีเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เกินร้อยละ 21 ของน้ำหนัก 2. น้ำตาลรีดิวซิ่ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของน้ำหนัก  3.น้ำตาลซูโครส ไม่เกินร้อยละ 5 ของน้ำหนัก 4.เถ้า ไม่เกินร้อยละ 0.6 ของน้ำหนัก 5.สารที่ไม่ละลายน้ำ ไม่เกินร้อยละ 0.1 ของน้ำหนัก 6. น้ำตาลฟรุกโตส 7. ความเป็นกรดทั้งหมดไม่เกิน 50 มิลลิอิควิวาเลนด์ของกรด / กิโลกรัม (ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขต้องไม่เกิน 40) 8. ค่าไดแอสเตท ไม่น้อยกว่า 3 9.ค่าสารไฮดรอกซีเมททิลเฟอร์ฟิวรัล ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม
        ผลการทดสอบของน้ำผึ้งทั้ง 19 ตัวอย่าง  พบค่าความชื้นมีค่าอยู่ระหว่าง 14.1- 19 ค่าน้ำตาลรีดิวซิ่ง 67.60 - 76.47 ค่าน้ำตาลซูโครส 0 -7.0 ค่าของเถ้าพบ 0.02 - 0.11 สารที่ไม่ละลายน้ำ 0.001- 0.026 ค่าความเป็นกรด 2.45 – 29.85 ค่าไดแอสเตส 0.77-13.95 ค่าสารไฮดรอกซีเมททิลเฟอร์ฟิวรัล  4.42- 86.50 
        อีกปัจจัยที่หลายคนมักกังวล และสงสัยคือสีของน้ำผึ้ง ซึ่งแตกต่างกันออกไปได้ตามแหล่งน้ำหวาน ได้แก่ ดอกไม้หรือพืชพรรณ ที่ผึ้งนำมาสู่รวง ซึ่งจาก 19 ตัวอย่างที่ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มทดสอบ มีทั้งน้ำผึ้งจากดอกทานตะวัน  ดอกลำไย  ดอกไม้ป่า จึงได้เห็นน้ำผึ้งมีสีที่มีความเข้มแตกต่างกัน ซึ่งไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติการเป็นน้ำผึ้งแท้แต่อย่างใด 
สรุป น้ำผึ้ง จำนวน 19 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบมี คุณภาพส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้ง มกษ.8003-2556 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 211 ..2543 เรื่องน้ำผึ้ง  เมื่อทั้งหมด คือ น้ำผึ้งแท้ เราจึงเปรียบเทียบฉลากอีกครั้งเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ตามราคาที่เหมาะสม น้ำผึ้งที่ถูกที่สุดคือ น้ำผึ้ง ตรา TAI HONEY QUEEN  ราคาต่อกรัม = 0.08 บาท  ส่วนน้ำผึ้งที่มีราคาต่อกรัมแพงที่สุดได้แก่ สวีท บี น้ำผึ้งไตรฟลอร่าฮันนี่  ราคาต่อกรัม = 0.65 บาท
        อ่านรายละเอียดผลทดสอบได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ https://www.chaladsue.com/article/4094
 

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค น้ำผึ้ง น้ำผึ้งแท้

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทดสอบสารเคมีก่อมะเร็งกางเกงชั้นในชาย (สีดำ

        ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในหลายผลิตภัณฑ์รอบตัวเรา ภัยเงียบใกล้ตัวที่สุดที่มักประมาทคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน และยิ่งอ่อนไหวขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชุดชั้นใน          นิตยสารฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง, ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่างไปแล้วในฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ปี 2556  พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน  2 ตัวอย่าง จากตัวอย่างที่เก็บตรวจทั้งหมด  11 ตัวอย่าง           ในปี 2022 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชายชนิดสีดำ จำนวน  11 ตัวอย่างทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (สีเอโซที่ให้อะโรแมติกแอมีน) , ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และ ค่าความเป็นกรด-ด่าง อีกครั้งพบผลการทดสอบดังนี้          ·     มี 3  ตัวอย่างที่ตรวจพบ สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน คือ  กางเกงใน GIORDANO,  กางเกงใน Me-Style และกางเกงใน DOUBLE GOOSE (ห่านคู่)  โดยสารที่ตรวจพบคือ 4,4'-Diaminodiphenylmethane (1 ใน 24 ตัวตาม มอก. 2346-2550) ปริมาณที่พบเกินมาตรฐาน คือ  ยี่ห้อ GIORDANO พบปริมาณ 61.40 มก./กก. ยี่ห้อ Me-Style พบ 59.89 มก./กก.  สำหรับ DOUBLE GOOSE (ห่านคู่) พบ 14.55 มก./กก. ไม่เกินค่ามาตรฐาน        ·     ตัวอย่างที่พบค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอสูงคือ  Me-Style มีค่ากรด - ด่าง 7.26  แต่ไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานคือช่วงระหว่าง 4-7.5)           ·     ทั้ง 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์         แม้ทั้ง การทดสอบของฉลาดซื้อจำนวน 11 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์  แต่สารเคมีอันตรายในกลุ่มเสื้อผ้าสิ่งทอ ยังน่าเป็นห่วง ล่าสุด (29 พ.ย.) กรีนพีซ เยอรมนี แถลงว่าจากการตรวจ สินค้า SHEIN ในหลายแห่งทั่วโลก ทั้งหมด 42 ชิ้น ประกอบไปด้วยเครื่องแต่งกาย รองเท้า ทั้งสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผลิตภัณฑ์สำหรับทารก พบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ 7 ชิ้น (คิดเป็น 15%) โดยการพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์นี้ผิดเงื่อนไขการจำกัดปริมาณสารเคมีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้มีผลิตภัณฑ์ 5 ชิ้นจากทั้งหมดผิดเงื่อนไข โดยปนเปื้อนเกิน 100% หรือมากกว่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ 15 ชิ้นจากทั้งหมดปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระดับที่น่าเป็นห่วง (คิดเป็น 32%)…………………………………………………………………………………………………..อันตรายและค่ามาตรฐานของสารที่ดำเนินการตรวจ (  ที่มา อ้างอิงตาม มอก.2346-2550        ·     ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟอร์มาลีน”  คือสารเคมีทำให้ผ้าฝ้ายเรียบ รีดง่าย ยับยาก ยังผสมในสีทาบ้าน พลาสติก รวมถึงการดองศพ ฟอร์มาลดีไฮด์ที่สะสมอยู่ในผ้าจะระเหยออกมาในอากาศส่งผลต่อระบบประสาท ระคายผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเป็นต้นเหตุของมะเร็งได้> ปริมาณต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปชนิดที่ 2)         ·     ค่าความเป็นกรด – ด่างในสิ่งทอ หรือ pH ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ สำหรับผิวหนังมนุษย์ที่มีความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากค่าความเป็นกรด-ด่าง จากเสื้อผ้าทำให้สมดุลผิวเสียไป ผิวหนังอาจระคายเคืองและเสียความสามารถในการปกป้องผิว ดังนั้นค่าความเป็น กรด-ด่าง ควรต้องอยู่ระหว่าง 4.0 ถึง 7.5 ตามมาตรฐานจึงจะมีความปลอดภัย             ·     สารเคมีในสีย้อม โรแมติกแอมีน 24 ชนิด เป็นกลุ่มสารอันตรายเมื่อสัมผัสผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดอาการแพ้จนกระทั่งเกิดมะเร็งได้  บางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติต่อพันธุกรรม และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ>  ต้องมีไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม…………………………………………………………………………………………………..อ่านผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำ  ฉบับเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/4145 #สิทธิผู้บริโภค#สารเคมีในชุดชั้นใน#FastFashion#WhoMadeMyClothes 

อ่านเพิ่มเติม>

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจฉลากครีมนวดผม พบซิลิโคนในครีมนวดทุกตัวอย่าง ซึ่งจะสะสมทำให้ผมร่วงได้ เตือนผู้บริโภคศึกษาชื่อสารเคมีบางชนิดเพื่อรู้เท่าทันฉลาก

        วันนี้ (28 ตุลาคม 2565) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้เปิดเผยผลสำรวจฉลากครีมนวดผม เนื่องจากในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเส้นผม และหนังศีรษะหลายชนิด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงสุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ครีมนวดผม” จำนวน 12 ตัวอย่าง  ในเดือนมิถุนายน 2565  จากห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไป  ได้แก่ยี่ห้อ ซันซิล , เทรซาเม่ , ลอรีอัล ปารีส , บุ๊ทส์ , รีจอยส์ , โดฟ , เฮดแอนด์โชว์เดอร์ , แพนทีน , วัตสัน ,  เฮอร์บัล เอสเซนส์ ,ซึบากิ ,เคลียร์ ผลการสำรวจฉลากครีมนวดผม ทั้ง 12 ตัวอย่าง           -  พบสารซิลิโคนทั้ง 12 ตัวอย่าง        -  ไม่พบ พาราเบน ฟอร์มาดีไฮด์ และอิมิดาโซลิตินิล ยูเรีย        -  พบเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) ใน 7 ตัวอย่าง  คิดเป็น 58.33 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -  พบพีน็อกซี่เอทานอล ใน 8 ตัวอย่าง คิดเป็น 66.67 % ของตัวอย่างทั้งหมด        -  เมื่อคำนวณเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ  1 มิลลิลิตร พบว่า ยี่ห้อเคลียร์ แอนตี้แดนดรัฟ สกาล์ป แคร์ คอนดิชันเนอร์ ไอซ์คูล เมนทอล แพงสุดคือ 0.61 บาท ส่วนยี่ห้อซันซิล แดเมจ รีสโตร์เซรั่มคอนดิชันเนอร์ แอคทีฟ-อินฟิวส์ชั่น ถูกสุดคือ 0.16 บาท         นอกจากนี้ จาก 12 ตัวอย่าง  มี 4 ตัวอย่างที่พบสารกันเสียทั้งเมทิลไอโซไทอะโซลิโนนและพีน็อกซี่เอทานอล ซึ่งเป็นการใช้สารเคมีกันเสียมากกว่า 1 ชนิดใน 1 ผลิตภัณฑ์  และมี 4 ตัวอย่างที่ระบุวันที่ผลิตแต่ไม่ระบุวันหมดอายุ         ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายปัจจัยแวดล้อมทำให้ผมเสียทั้งแสงแดด ฝุ่นควัน ความร้อนจากการเป่าและหนีบผม รวมถึงสารเคมีจากการทำสีผม ไฮไลต์ผม สังเกตพบว่า ในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจึงมีการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเส้นผม และหนังศีรษะหลายชนิด และเนื่องจากผู้บริโภคต้องการดูแลเส้นผมมากขึ้น จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ได้รับความนิยมมากขึ้น ตามไปด้วย  ในปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมในประเทศไทย เติบโตถึง 5.6% มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท ในการตลาดระดับโลก ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2563         ดังนั้น ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำในการเลือกซื้อ เลือกใช้ครีมนวดผมคือ หนึ่ง เลือกซื้อครีมนวดผมคือ  เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย และมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด คือ ชื่อผลิตภัณฑ์ประเภทสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและสถานที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและปริมาณสุทธิ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญที่เชื่อถือได้ และผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบปริมาณ และคุณภาพเทียบกับราคาได้   สอง เมื่อซื้อครีมนวดผมที่มีโปรโมชันลดราคาเยอะๆ ยิ่งควรสังเกตวันหมดอายุให้ดี เพราะหากหมดอายุไปแล้ว จะเสียเงินเปล่าและจะทำให้สารเคมีในครีมนวดผมมีอันตรายต่อเส้นผมและหนังศีรษะมากขึ้น  สาม  การใช้ครีมนวดผม ไม่ควรชโลมครีมนวดผมที่หนังศีรษะเพราะทำให้หนังศีรษะมัน ครีมนวดผมนั้นยังถูกออกแบบมาให้บำรุงเฉพาะเส้นผม การใช้ครีมนวดผมให้ได้ผลดีที่สุด คือการใช้บริเวณกลางเส้นผมจรดปลาย  นอกจากนี้เมื่อรู้ว่า ครีมนวดผมที่เลือกใช้มีส่วนผสมของซิลิโคน ยิ่งควรล้างออกให้สะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีตกค้างสะสม  สี่ หากระคายเคืองผิว หรือแพ้ คันจากการใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ นอกจากหยุดใช้และไปพบแพทย์แล้ว ควรศึกษาฉลาก ดูส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นให้ดี เพราะจะได้สามารถเลือกซื้อครีมนวดผมที่จะไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่แพ้อีกในครั้งหน้า          นอกจากนี้ฉลาดซื้อขอแนะนำว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติใกล้ตัว ในครัว เช่น มะกรูด อัญชัน ไข่ไก่ โยเกิร์ต  น้ำมันมะพร้าว  เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้บำรุงเส้นผม โดยที่ไม่มีสารเคมีตกค้างได้เช่นกัน         อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่บทความทดสอบ จากนิตยสารฉลาดซื้อ “มีอะไรน่าสนใจใน “ครีมนวดผม” https://www.chaladsue.com/article/4095

อ่านเพิ่มเติม>

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง ของทุกประเภทกาแฟ

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกันดำเนินการทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทคั่วและสำเร็จรูป รวมเก็บตัวอย่างทั้งหมด 27 ตัวอย่าง แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง กาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ผลการทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56- 372.62 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่าง พบอะคริลาไมด์ปริมาณสูงกว่า เกณฑ์ของสหภาพยุโรป         วันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ในงานแถลงข่าวผลการทดสอบ การปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารอะคริลาไมด์เป็นสารกลุ่มที่ มีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังที่จำเป็นในยุคสมัยนี้ เนื่องจากมีการบริโภคกาแฟกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคให้ทำการสำรวจปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทกาแฟคั่วและกาแฟสำเร็จรูป         การเก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์ โดยเก็บกาแฟคั่วทดสอบ 12 ตัวอย่าง ได้แก่ Illy, Suzuki, Aroma, Bon Cafe, the coffee Bean, Doitung, UCC, Doi Chaang, Movenpick, Bluekoff, Arigato และ Starbucks ส่วนกาแฟสำเร็จรูปนั้นได้เก็บทดสอบ 15 ตัวอย่าง ได้แก่ Nescafe Gold, Moccona, เขาช่อง กาแฟ, Bon Aroma Gold, Dao Coffee Gold, BigC Happy PricePro, Tchibo Family, AGF Maxim Freeze Dried Coffee, Nescafe Red Cup, Festa Gold, Davidoff Rich Aroma, Nescafe Tester’s Choice House Blend, UCC The blend1 117, My Choice Gold และ Aro Instant Coffee         ตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปนั้นได้กำหนดให้มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่วและไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบว่าที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารซึ่งพบว่า พริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดและรองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้ง มันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป เผือกฉาบ อย่างไรก็ดีปริมาณที่พบนั้นถือว่า เป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะก่อพิษต่อร่างกาย ผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่างคือ พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง โดยผลการวิเคราะห์พบปริมาณที่อยู่ระหว่าง 135.56-372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนในกลุ่มกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างนั้น พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่างเช่นกัน โดยพบปริมาณสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่างกาแฟที่มีปริมาณระหว่าง 298.79–954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ที่น่าสังเกตคือ มี 2 ตัวอย่างที่พบสารอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา มี 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม, เอจีเอฟ แม็กซิม มี 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบสารอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย ในแง่อันตรายต่อผู้บริโภคนั้นสารอะคริลาไมด์ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในหนูทดลอง มีการศึกษาพบว่าในหนูเพศผู้นั้นเกิดเนื้องอกที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์และต่อมไทรอยด์ ในขณะที่ในหนูเพศเมียนั้นเกิดเนื้องอกที่เต้านมและเนื้อในต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้การที่มีรายงานการพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารหลายชนิดและมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับปริมาณการสัมผัสของมนุษย์ การดูดซึมในมนุษย์ และความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลอง ทาง US.NTP Center for the Evaluation of Risks to Human Reproduction ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์มนุษย์จึงได้ผลิตเอกสารเรื่อง NTP-CERHR Monograph on the Potential Human Reproductive and Developmental Effects of Acrylamide (NIH Publication No. 05–4472 ของเดือน February 2005) เกี่ยวกับผลของสารอะคริลาไมด์ในการก่อความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์มารดา สำหรับปริมาณสารอะคริลาไมด์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ แพทย์ประจำสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ในบทความเรื่อง"ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ว่า “ร่างกายควรได้รับสารอะคริลาไมด์ไม่เกิน 2.6 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากได้รับมากกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง” นางสาวทัศนีย์กล่าวเสริมว่า การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการได้รับสารอะคริลาไมด์ปริมาณสูงจากอาหารหลายชนิดในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานของผู้ที่มีระบบกำจัดสารพิษไม่สมบูรณ์ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากอันตรายที่มีการสะสมในร่างกาย จึงควรลด ละ เลี่ยงอาหารที่ผ่านความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือใช้อุณหภูมิสูงเกิน 120 oC เพราะเป็นอาหารลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอะคริลาไมด์         นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและชื่อผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเผยแพร่แจ้งเตือนภัย เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกาแฟก็เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม แต่สารปนเปื้อนต่างๆที่อยู่ในกาแฟนั้นผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ดังนั้นผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจเลือกบริโภคกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลดีต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในระยะยาว ตลอดจนสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ประกอบการผลิตกาแฟที่จะได้ทบทวนกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ดังที่สภาผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยผลวิเคราะห์สารอะคริลาไมด์ในกาแฟเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า การไม่พบอะคริลาไมด์ในกาแฟ 2 ตัวอย่าง จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กาแฟ 49 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตสามารถลดโอกาสในการเกิดสารอะคริลาไมด์ได้ โดยหลังจากนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำผลทดสอบครั้งนี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟของประเทศไทยต่อไปอ่านผลทดสอบได้ที่ : https://chaladsue.com/article/4070

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)