แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ครีมนวดผม
คลีนซิ่ง (Cleansing) หรือ รีมูฟเวอร์ (Remover) เป็นผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวหน้าหน้าได้ล้ำลึก ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นช่วยขจัดคราบเครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ความมันส่วนเกิน รวมถึงละอองฝุ่นควันจากมลภาวะต่างๆ ให้หลุดออกไปอย่างหมดจด ช่วยลดการอุดตันจากไขมันหรือสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิวและปัญหาผิวต่างๆ ทำให้ผู้ใช้เผยผิวหน้าสุขภาพดีอย่างมั่นใจ ปัจจุบันมีผู้ผลิตพัฒนาคลีนซิ่งออกมาหลายสูตรมาก ผู้บริโภคควรเลือกให้ตอบโจทย์กับสภาพผิว ความจำเป็น และความคาดหวังผลหลังใช้ รวมทั้งเลี่ยงสารที่อาจทำให้มีอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวด้วย นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกคลีนซิ่ง/รีมูฟเวอร์ จำนวน 23 ตัวอย่าง 22 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 มาสำรวจฉลากว่ามีสารอันตรายต้องห้ามในเครื่องสำอางหรือไม่ มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเปล่า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจ • มี 16 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้งพาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม คิดเป็น 69.56% ของตัวอย่างทั้งหมด • พบพาราเบน (Methylparaben : เมทิลพาราเบน) ในยี่ห้อบิโอเร • พบแอลกอฮอล์ ใน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า และโอเรียนทอล พริ้นเซส • พบน้ำหอม ใน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, โอเรียนทอล พริ้นเซส, อีฟโรเซ, สมูท อี และคลีนแอนด์ เคลียร์ • เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณคลีนซิ่ง 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุดคือ ยี่ห้อไบโอเดอร์มา = 3.56 บาท ส่วนที่ถูกสุดคือ ยี่ห้อเคที่ดอลล์ = 0.39 บาท ข้อสังเกต • เมื่อเช็กเลขที่จดแจ้ง (11-1-6400007766) บนฉลากยี่ห้อคิวท์เพรสเพียว ออริจิน ไมเซลลาร์ เคล็นซิ่ง วอเทอร์ พบว่าสถานะใบรับจดแจ้งเป็น “ยกเลิก” โดยมีข้อมูลว่าใบอนุญาตหมดอายุเมื่อ 20/6/66 (เช็กได้ที่ https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx) • มี 12 ตัวอย่าง ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคืองผิว โดยในจำนวนนี้มี 5 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบโดยผู้เชี่ยวด้านจักษุร่วมด้วย ได้แก่ ยี่ห้อบิโอเร, การ์นิเย่, นูโทรจีนา, นีเวีย และสมูท อี • มี 4 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคือง แต่พบสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในส่วนประกอบ ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า(มีแอลกอฮอล์), บิโอเร(มีเมทิลพาราเบน), สมูท อี และคลีน แอนด์ เคลียร์ (มีน้ำหอม) • มี 3 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันหมดอายุ ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, บิโอเร และลอรีอัล ปารีส ไมเซลล่า วอเตอร์ • มีระบุวันผลิต-หมดอายุไว้นานสุดคือ 4 ปี(ยี่ห้อบิเฟสต้า) รองลงมาคือ 3 ปี (16 ตัวอย่าง) และน้อยสุดคือ 2 ปี (3 ตัวอย่าง) • ยี่ห้อแพลนท์เนอรี่และเซนกะมีกรดซาลิไซลิกในส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทารก ฉลาดซื้อแนะ • คลีนซิ่งจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง ผู้บริโภคควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม • หากเพิ่งเริ่มใช้คลีนซิ่ง หรืออยากเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ ควรซื้อขวดเล็กมาทดลองใช้ก่อน ถ้าใช้ได้ผลดีถูกใจแล้วค่อยซื้อแบบขวดใหญ่มาใช้จะคุ้มค่ากว่า • ตัวอย่างที่นำมาสำรวจฉลากครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น คลีนซิ่งสูตรน้ำ (คลีนซิ่งวอเตอร์ หรือ ไมเซล่าวอเตอร์) ที่ต้องใช้คู่กับสำลีเช็ดหน้า เหมาะกับคนที่มีผิวมัน ผิวผสม โดยเฉพาะผิวเป็นสิวง่าย แต่มักขจัดคราบที่เป็นน้ำมันได้ไม่มาก คลีนซิ่งบางยี่ห้ออาจต้องใช้ปริมาณเยอะและเช็ดหน้าซ้ำๆ นานๆ ทำให้มีโอกาสที่ผิวจะระคายเคืองได้ง่าย และควรเลือกใช้สำลีเช็ดหน้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนโยน เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหน้าอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดริ้วรอยได้ • ควรทำตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ไม่ใช้บริเวณผิวที่เป็นแผล ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนเช็ด หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น • แม้หลายยี่ห้อจะระบุว่าเช็ดคลีนซิ่งแล้วไม่ต้องล้างออก แต่ก็อยากแนะนำให้ล้างออกโดยไวถ้าทำได้ เพราะสารต่างๆ ในคลีนซิ่งจะได้ไม่ต้องสัมผัสกับผิวหน้านานเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการระคายเคืองผิวนั่นเอง • การเลือกคลีนซิ่งที่ผ่านการทดสอบการระคายเคืองอาจการันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องดูส่วนประกอบด้วย เพราะอาการแพ้เป็นลักษณะเฉพาะบุคคล เพื่อความมั่นใจให้ทดสอบโดยทาคลีนซิ่งไว้บริเวณหลังหู ข้อพับแขน หรือท้องแขน ถ้าหลังจาก 48 ชั่วโมงแล้ว ผิวไม่บวมแดง แสบหรือคัน ก็ใช้ได้ ข้อมูลอ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/news/prnews/1027713 https://www.pobpad.com/salicylic-acid
“แผ่นมาส์กหน้า” เป็นนวัตกรรมเพื่อดูแลผิวหน้าโดยเฉพาะ ซึ่งนำวัสดุจำพวกกระดาษ เส้นใยหรือแผ่นเจล ฯลฯ มาทำเป็นรูปใบหน้าแล้วชุบส่วนผสมของสารบำรุงผิวหน้าเข้มข้นจนชุ่ม เวลาใช้ให้วางแผ่นมาส์กหน้าแนบสนิทกับผิวหน้า สารบำรุงต่างๆ จะเข้าสู่ผิวได้อย่างล้ำลึก ช่วยกระตุ้นให้กระบวนการทำงานของผิวดีขึ้น จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทั้งดูแล บำรุง และฟื้นฟูผิวหน้าที่เห็นผลเร็ว ใช้สะดวก หาซื้อง่าย และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันแผ่นมาส์กหน้ามีให้เลือกหลากหลายสูตรที่ตอบโจทย์ปัญหาผิวต่างๆ ทั้งเพิ่มความชุ่มชื้น ลดสิว ลดริ้วรอย ลดจุดด่างดำ ฯลฯ นอกจากผู้บริโภคจะคาดหวังผลลัพธ์ให้ผิวหน้าเนียน สดใส ฉ่ำวาว หลังจากใช้แล้ว ก็ต้องอย่าลืมนึกถึงความปลอดภัยควบคู่กันด้วย นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์แผ่นมาส์กหน้า จำนวน 32 ตัวอย่าง 20 ยี่ห้อ ทั้งที่ซื้อจากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 มาสำรวจดูว่ามีข้อความที่ควรระบุไว้บนฉลากไหม มีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (พาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม) หรือเปล่า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกว่ายี่ห้อไหนเหมาะสมกับความต้องการ คุ้มค่าและปลอดภัย ผลการสำรวจ · ทุกตัวอย่าง บนฉลากระบุ”เลขที่จดแจ้ง” ของเครื่องสำอางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุข · ไม่พบ พาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม ใน 11 ตัวอย่าง · พบพาราเบน (Methyl Paraben : เมทิลพาราเบน) ใน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อเซนกะ เพอร์เฟ็ค อควา ริช มาส์ก ลูมิเนียส มอยส์ และเบาวซี มาส์ก เบาวซี มอยส์ ยี่ห้อลูลูลูน เฟซ มาสก์ และยี่ห้อเมดิฮีล ออร่า อัลฟ่า มาสก์ อีเอ็กซ์ · พบแอลกอฮอล์ ใน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อเฟธ อิน เฟซ ไอ แอม ออลเวย์ส ไบรท์ เพิร์ล เซลลูโลส ชีท ยี่ห้อเอสสึโอะเอะสึ ไฮยาลูรอน โฟร์ดี เฟิร์มมิ่ง มาสก์ ยี่ห้อลูลูลูน เฟซ มาสก์ ยี่ห้อการ์นิเย่ สกิน แนทเชอรัลส์ ซากุระ โกลว์ วอเตอร์- โกลว์ เซรั่ม มาส์ก และยี่ห้อปาล์มเมด เพิร์ล มาส์ก ชีท · พบน้ำหอม ใน 17 ตัวอย่าง · เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อ 1 แผ่น พบว่า แพงสุดคือ ยี่ห้อเซนกะ เพอร์เฟ็ค สกิน ฟิท มาส์ก ไฮเดรติ้ง อีเอ็กซ์ ซี เกรพ ราคา 139 บาท ส่วนที่ถูกสุดคือ ยี่ห้อมิว-นิค ไบร์ทเทนนิ่ง สุพรีม มาสก์ ราคา 9 บาท ข้อสังเกต · ราคาแพงสุดและถูกสุดมีส่วนต่างห่างกันมาก ประมาณ 15.4 เท่า โดยรวมแล้วราคาต่อแผ่นจะอยู่ในหลักสิบและมีราคาแตกต่างกันพอสมควร แต่มี 2 ตัวอย่างที่ราคาหลักร้อยขึ้นไป · ปริมาณน้ำหนักสุทธิของแผ่นมาส์กหน้า มากที่สุดคือ 30 กรัม/แผ่น น้อยที่สุดคือ 18 กรัม/แผ่น · มี 13 ตัวอย่าง ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคืองของผิว · มี 5 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต (แผ่นมาส์กหน้าควรมีอายุไม่เกิน 3 ปี นับจากวันผลิต) ฉลาดซื้อแนะ · ควรตรวจสอบส่วนผสมของแผ่นมาส์กหน้าก่อนทุกครั้งว่ามีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเปล่า โดยเฉพาะคนที่ผิวแพ้ง่าย และหากใช้แล้วพบว่าเกิดอาการแพ้ก็ควรหยุดใช้ทันที · หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร และผู้ที่มีอาการแพ้พาราเบน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของพาราเบน โดยมักจะระบุคำว่า “ไม่มีส่วนผสมของพาราเบน (Paraben Free)” ไว้บนฉลาก · ควรเลือกแผ่นมาส์กหน้าให้เหมาะกับสภาพผิวและตอบโจทย์ปัญหาผิวของตนจริงๆ เช่น สภาพผิวแห้งหรือต้องการบำรุงให้หน้าชุ่มชื้นเป็นพิเศษ ให้เลือกที่มี Hyaluronic Acid หรือ Ceramide หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น แตงกวา ว่านหางจระเข้ สาหร่ายทะเล หรือน้ำผึ้ง เป็นต้น เพราะมีคุณสมบัติช่วยคืนความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำใต้ชั้นผิวได้นานขึ้น หากมีปัญหาหน้ามันหรือต้องการลดสิว ควรเลือกที่ไม่มีซิลิโคนและน้ำมันแร่ เพื่อป้องกันการเกิดสิวอักเสบหรือสิวอุดตัน เป็นต้น · เลือกขนาดให้พอดีกับใบหน้า หากไม่ชัวร์ ให้ซื้อมาลองใช้แผ่นหนึ่งก่อนว่าจะแนบสนิทพอดีกับหน้าไหม · ควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่แนะนำบนฉลาก ไม่ควรมาส์กหน้าทิ้งไว้นานกว่าเวลาที่ระบุไว้ เพราะแผ่นมาส์กจะเริ่มดึงความชุ่มชื้นออกจากผิวหนังเรา ทำให้ผิวยิ่งแห้งกว่าเดิม · แผ่นมาส์กหน้าเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หากเลือกได้ควรเลือกวัสดุที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย และหากใช้ประจำควรซื้อแบบบรรจุห่อละหลายแผ่น เพื่อลดปริมาณขยะได้ ข้อมูลอ้างอิง https://my-best.in.th/20805https://bestreview.asia/best-sheet-mask/https://www.pobpad.com : บทความ พาราเบน สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือ
ได้เวลานำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดประจำปีกันอีกครั้ง ระหว่างที่บ้านเราเข้าสู่ฤดูฝน (แต่แดดจ้าไม่เคยหายไป) ทางยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนและเป็นช่วงที่ผลิตภัณฑ์นี้กำลังเป็นที่ต้องการ เรามีผลิตภัณฑ์กันแดดทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ในรูปแบบของครีม โลชัน และสเปรย์ ที่มีค่า SPF30 และ SPF50+ ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบมาฝากสมาชิก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงคัดเลือกมาเพียง 24 ผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนในลำดับต้นๆ เท่านั้น คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้ร้อยละ 65 ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVBร้อยละ 20 ความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่น ไม่เหนอะหนะ ไม่ทิ้งคราบ)ร้อยละ 10 ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 5 ฉลากเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ในภาพรวมเราพบว่าคะแนนประสิทธิภาพในการกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนัก (ทั้งหมดจัดอยู่ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป) แต่ก็มีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อที่ต้องปรับปรุงเรื่องฉลากและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเคลมเกินจริงหรือเคลมในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราทดสอบไม่มีสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และไม่มีพาราเบน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก แต่เราก็พบว่าค่า SPF ที่แจ้งไว้นั้น มีทั้งที่เกินและขาดจากค่าที่วัดได้จริงในห้องปฏิบัติการ ที่ให้มาเกินเราไม่ว่า แต่ก็มีอย่างน้อย 6 ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF น้อยกว่าที่แจ้งไว้บนฉลากผลการทดสอบยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ราคาแพงเพื่อดูแลผิวหนังก่อนออกเผชิญแสงแดด พลิกหน้าถัดไปเพื่อหาครีม/สเปรย์กันแดดที่ถูกใจคุณได้เลย · ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร ปอนด์อังกฤษ หรือแดนิชโครน เป็นต้น โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ
ฉลาดซื้อฉบับที่แล้ว นำเสนอผลสำรจฉลากยาดมในรูปแบบหลอด น้ำ และขี้ผึ้งกันไปแล้ว ฉบับนี้เราจะมาดูฉลากยาดมสมุนไพรกัน ซึ่งจะแตกต่างจากยาดมทั่วไปตรงที่มีชิ้นส่วนสมุนไพรแห้งที่มีกลิ่นหอมเติมลงไปในส่วนประกอบด้วย เช่น กานพลู ดอกจันทน์ พริกไทยดำ กระวาน และผิวผลส้มมือ เป็นต้น ในปัจจุบัน กระแสการแพทย์ทางเลือกที่บำบัดอาการป่วยด้วยสมุนไพร เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ยาดมสมุนไพรได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งมีขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากและมีต้นทุนที่ไม่สูง จึงมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยผลิตยาดมสมุนไพรออกมากันหลายสูตรหลายกลิ่น ทำให้บางครั้งผู้บริโภคมองจนตาลายก็ยังตัดสินใจเลือกไม่ได้ นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก ยาดมสมุนไพร ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้สูดดมแก้วิงเวียนและคัดจมูก ที่บรรจุทั้งในขวด/กระปุกแก้ว พลาสติกและโลหะ จำนวน 15 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก จากยาดมสมุนไพร 15 ตัวอย่าง แบ่งเป็นแบบบรรจุในกระปุกแก้วและพลาสติกอย่างละ 7 ตัวอย่าง และกระปุกโลหะ 1 ตัวอย่าง พบว่า · ยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง (กระปุกพลาสติก) เป็นตัวอย่างเดียวที่มีข้อความที่ควรแสดงบนฉลากอยู่ครบ (ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต คำว่า “ยาสิ้นอายุ” และวัน/เดือน/ปี ที่ยาสิ้นอายุ ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบ คำว่า “ยาแผนโบราณ” “ยาสามัญประจำบ้าน” และ “ยาใช้เฉพาะที่” ) · มี 9 ตัวอย่าง ระบุว่าเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” โดยปรากฏสัญลักษณ์ คิดเป็น 60% ของตัวอย่างทั้งหมด · มี 6 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาแผนโบราณ” ได้แก่ ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราวังว่าน ตราราสยาน และตราโบว์แดง (ทั้งแบบกระปุกแก้ว กระปุกพลาสติก และสูตร 2) · มี 4 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาสิ้นอายุ” พร้อมแสดงวัน/เดือน/ปีที่ยาสิ้นอายุ โดยระบุไว้ไม่เกิน 3 ปี ได้แก่ ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราโบว์แดง(กระปุกแก้วและพลาสติก) และยาดมชุติภา · เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ แพงสุด คือ 32.50 บาท ส่วนยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (กระปุกพลาสติก) ถูกสุด คือ 0.70 บาทข้อสังเกต · ตัวอย่างที่แสดงข้อความที่ควรมีบนฉลากไว้ไม่ครบ มีดังนี้ (1) ไม่มีชื่อทางการค้ากำกับไว้ ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ (2) ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, ยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย (3) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ ได้แก่ ยาดมชุติภา และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์ (4) ไม่ระบุเลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา ได้แก่ 5 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา และยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง(กระปุกแก้ว) (5) ไม่ระบุจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก (6) ไม่ระบุวัน/เดือน/ปีที่ผลิตยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย (7) ไม่ระบุคำว่า “ยาใช้ภายนอก” หรือ “ยาใช้เฉพาะที่” ด้วยอักษรสีแดงเห็นได้ชัด ได้แก่ ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่, ยาดมชุติภา, ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพร ไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย · ยาดมชุติภา ระบุอายุยาอยู่ที่ 33 ปี (วันผลิต 25/8/2022 ยาสิ้นอายุ 25/8/2055) น่าจะเป็นการพิมพ์ผิด · ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์ ไม่ระบุส่วนประกอบไว้ · มี 7 ตัวอย่างที่ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบไว้ · มี 5 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมทีเอฟดี, ยาดมชุติภา, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย · ยี่ห้อสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ มีหน่วยปริมาณเป็นซีซี ในขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ ระบุเป็นกรัม · ส่วนใหญ่จะมีพิมเสน การบูร เกล็ดสะระแหน่ และน้ำมันยูคาลิปตัส เป็นส่วนประกอบเหมือนยาดมทั่วไป ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ที่นำมาใช้มากสุด 3 ลำดับแรก คือ กานพลู (กลิ่นหอมจัด น้ำมันหอมระเหยมาก ช่วยขับลม) ดอกจันทน์ (แก้ลม ขับลม) และผิวมะกรูด (มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลม วิงเวียน) · 3 ใน 5 ของตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา ใช้คำว่า ‘สมุนไพร’ นำหน้าชื่อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้อแนะ · ยาดมสมุนไพรจัดเป็นยาแผนโบราณ หากผลิตเพื่อจำหน่ายต้องทำการขึ้นทะเบียนเป็นตํารับยาแผนโบราณให้ถูกต้อง แต่ไม่บังคบหากเป็นในรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีส่วนประกอบและลักษณะการใช้สูดดมเพื่อแก้อาการวิงเวียน คัดจมูก คล้ายกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง หากเลือกได้ผู้บริโภคควรเลือกยาดมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ดมที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องหรือมีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน หรืออย่างน้อยๆ ควรมีแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตหรือซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือได้ · การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน · ระวังการสัมผัสถูกกับบริเวณริมฝีปาก รอบดวงตา หรือบริเวณผิวหนังอ่อน อาจทำให้ระคายเคืองได้ และควรเก็บให้พ้นจากมือเด็กด้วย · การสูดดมนานๆ บ่อยๆ อาจทําให้เกิดอาการระคายเคืองจมูกและทางเดินหายใจได้ ควรใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ หากใช้แล้วเกิดความผิดปกติ ควรหยุดใช้ทันทีและรีบปรึกษาแพทย์ · มีคำแนะนำจากผู้ผลิตบางรายว่า หากกลิ่นยาดมสมุนไพรเริ่มจางแล้ว ให้นำไปตากแดด จะทำให้กลิ่นสมุนไพรกลับมาหอมขึ้นได้ (ผู้บริโภคลองทำตามดูว่าได้ผลจริงหรือไม่)
ความคิดเห็น (0)