แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ละคร เพชฌฆาตจันทร์เจ้า มนุษย์
“ชาติ” กับ “ประเทศ” ต่างกันอย่างไร คำว่า “ประเทศ” มีแนวโน้มจะหมายถึงพื้นที่รูปธรรมซึ่งปัจเจกบุคคลยืนเหยียบและใช้ชีวิตอยู่ หากแต่ “ชาติ” จะมีนัยเป็นนามธรรม หรือเป็นจิตสำนึกร่วมที่ปัจเจกบุคคลต่างเกี่ยวโยงร้อยรัดเข้าหาอาณาบริเวณหนึ่งๆ จนมีคำถามสำคัญว่า ความเป็นชาตินั้นสามารถยึดโยงปัจเจกบุคคลข้ามเวลาและข้ามพื้นที่ได้หรือไม่ และคงอยู่หรือผันแปรไปอย่างไรท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แค่ได้ยินชื่อเรื่องละครโทรทัศน์แนวดรามาแฟนตาซีว่า “สิเน่หาส่าหรี” ผู้เขียนก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ต่อโครงเรื่องและตัวละครที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา โดยมีฉากหลังของพล็อตเรื่องเป็นดินแดนในอนุทวีป จะว่าไปแล้ว ก่อนที่สยามประเทศในอดีตจะเผชิญหน้ากับอารยธรรมใหม่ของมหาอำนาจชาติตะวันตก กระแสการเปิดรับวัฒนธรรมอินเดีย หรือที่เรียกว่า “ภารตภิวัตน์” นั้น มีมาช้านานก่อนที่ชาวสยามจะรู้จักกับชนเผ่าแขกขาวอารยันจากยุโรปกันเสียอีก ดังนั้น เมื่อเรื่องราวของวัฒนธรรมภารตะกลายมาเป็นเรื่องเล่าในของละครโทรทัศน์ จึงดูน่าสนใจยิ่งว่า ในทัศนะมุมมองแบบไทยร่วมสมัย เราจะรับรู้ความเป็นภารตวิถีกันเช่นไร ด้วยฉากหลังที่ได้แรงบันดาลใจจากกระแสภารตภิวัตน์ ละคร “สิเน่หาส่าหรี” ได้กำหนดเส้นเรื่องหลักที่ว่าด้วยจิตสำนึกแห่งความเป็นชาติ โดยสร้างจินตนาการประเทศสมมติขึ้นมาในนาม “มันตราปุระ” ซึ่งได้ชื่อว่ามั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรและอัญมณีมากมาย แต่ก็สามารถเล็ดรอดจากการเป็นอาณานิคมในห้วงยุคที่จักรวรรดินิยมอังกฤษเรืองอำนาจ แม้จะอยู่รอดจากลัทธิเมืองขึ้นจนผ่านกาลเวลามายาวนานได้อย่างน่าอัศจรรย์ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในดินแดนอนุทวีปในยุคเดียวกัน) แต่มันตราปุระก็มีขนบธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่เข้มข้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับการสืบทอดราชบัลลังก์ และการคัดเลือกพระชายาขององค์รัชทายาท ผู้จะกลายมาเป็นมหารานีเคียงคู่กับองค์กษัตริย์แห่งมันตราปุระในอนาคต ด้วยเหตุดังกล่าว ปมแห่งเรื่องละครจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้หญิงไทยหรือสตรีต่างชาติอย่าง “นิลปัทม์” ตัดสินใจจะเสกสมรสกับ “เจ้าชายชัยทัศน์” องค์รัชทายาทแห่งมันตราปุระ อันเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งแตกต่างไปจากที่เคยยึดถือกันมา และเป็นเหตุวิสัยให้ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างเวลาและต่างพื้นที่ได้เวียนว่ายข้ามแดนดินมาพบเจอกัน สตรีนางแรกก็คือ นางเอก “นวลเนื้อแก้ว” ดีไซเนอร์หญิงไทยผู้เป็นพี่สาวแท้ๆ ของนิลปัทม์ ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูแลน้องสาวสุดที่รัก ไม่เพียงแต่นวลเนื้อแก้วต้องเรียนรู้วัฒนธรรมแห่งดินแดนใหม่ที่ดูผิดแผกแตกต่างไปจากที่เธอคุ้นชินแล้ว เธอยังต้องสวมบทบาทเป็น “คนแดนไกลที่ใช่” ตามคำทำนายซึ่ง “เจ้าชายกีริช” พระเอกหนุ่มเฝ้าตามหา เพื่อช่วยปลดปล่อยปริศนาแห่งมันตราปุระที่ร่ำลือตกทอดมาจากอดีต ผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ศศิประไพ” มหารานีองค์ปัจจุบันของ “กษัตริย์ชัยนเรนทร์” และเป็นผู้ควบคุมกฎการตั้งว่าที่พระชายาให้องค์รัชทายาท แม้ด้านหนึ่งเธอจะเริ่มต้นจากการตั้งแง่รังเกียจสาวไทยอย่างนิลปัทม์แบบออกนอกหน้า เนื่องจากแหวกธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือมา แต่อีกด้านหนึ่ง มหารานีเองก็คือตัวแทนผู้หญิงที่ยึดมั่นในสำนึกความเป็นชาติต่อมันตราปุระอย่างเข้มข้น และสตรีคนสุดท้ายก็คือ “ราชมาตาสริตา” วิญญาณย่าทวดของกีริชและชัยทัศน์ ผู้ซึ่งข้ามภพข้ามกาลเวลามาคอยพิทักษ์ปกป้องราชบัลลังก์แห่งมันตราปุระ และเป็นผู้วางปริศนาเรื่อง “คนแดนไกลที่ใช่” ที่จะมากอบกู้บ้านเมืองจากตระกูล “พสุธา” ของตัวละคร “ขจิต” ผู้เป็นอริราชศัตรู เนื่องจากชาติถูกสร้างขึ้นเพื่อยึดโยงปัจเจกบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มาระบุตัวตนในจินตกรรมดังกล่าวร่วมกัน ดังนั้น การที่ผู้หญิงสามคนที่ต่างภพต่างพื้นที่และต่างเวลาได้โคจรมาบรรจบพบเจอกันจึงมิใช่ด้วยเหตุบังเอิญ หากแต่เป็นด้วยอานุภาพแห่งสำนึกความเป็นชาติที่ร้อยรัดให้ผู้หญิงทั้งสามได้มาปฏิบัติภารกิจรักษาอธิปไตยและการดำรงอยู่แห่งมันตราปุระนั่นเอง นอกเหนือจากที่ชาติจะได้ถักทอผู้หญิงซึ่งไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนให้มายึดมั่นในภารกิจเดียวกันแล้ว เพื่อให้จิตสำนึกแห่งชาติที่มีต่อมันตราปุระปรากฏเป็นรูปธรรม สำนึกร่วมอันเป็นนามธรรมดังกล่าวจะเผยตัวออกมาอย่างเข้มข้นได้ก็ต่อเมื่อปัจเจกบุคคลยึดเหนี่ยวอยู่ในสัญลักษณ์ร่วมบางอย่าง เพื่อตอกย้ำความเป็น “เรา” ที่แตกต่างจากความเป็น “อื่น” (คงคล้ายๆ กับที่ความเป็นชาติแบบไทยๆ ก็ต้องสร้างประเทศเพื่อนบ้านให้กลายเป็นอื่นหรือเป็นศัตรูในจินตกรรมของเรา) ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงได้สร้างสัญลักษณ์ร่วมเป็น “ตราแผ่นดิน” ที่หายสาบสูญไป และกำหนดรหัสข้อตกลงไว้ว่า หากผู้ใดค้นพบและครอบครองตราแผ่นดิน ผู้นั้นก็จะได้ปกครองมันตราปุระด้วยความชอบธรรม เพราะตราแผ่นดินมิใช่แค่วัตถุหนึ่งๆ หากเป็นสัญลักษณ์ที่อุปโลกน์ขึ้นแทนสำนึกร่วมในความเป็นชาติ เราจึงเห็นภาพตัวละครสตรีที่แตกต่างหลากหลายมา “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อค้นหาและส่งมอบการถือครองตราสัญลักษณ์อันเป็นสิ่งสมมติแทนตัวตนแห่งมันตราปุระ โดยมิพักว่าพวกเธอจักต้องถือกำเนิดในแว่นแคว้นแดนดินของประเทศนั้นๆ จริง หรือจะข้ามภพจากห้วงเวลาใดในทางประวัติศาสตร์มาก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนวลเนื้อแก้ว “คนแดนไกลที่ใช่” ซึ่งถูกมอบหมายให้ต้องบุกบั่นถักทอผืนผ้าส่าหรี เพื่อเผยให้เห็นลายแทงที่ซ่อนของตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน หรือมหารานีศศิประไพ “คนที่ถูกต้อง” ที่ถือกำเนิดในมันตราปุระ ผู้จะค้นหาสตรีที่เหมาะสมเป็นพระชายาแห่งองค์รัชทายาท ไปจนถึง “วิญญาณพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง” ของราชมาตาสริตา ผู้คอยช่วยเหลือให้ภารกิจครอบครองตราแผ่นดินลุล่วงไปได้ในท้ายที่สุด เมื่อพลังสามประสานของ “วันเดอร์วูแมน” จากต่างพื้นที่และห้วงเวลารวมกันกลายเป็นหนึ่งเดียว ตัวละครผู้หญิงกลุ่มนี้ก็จะค้นพบความจริงดังที่ราชมาตาสริตาได้กล่าวไว้ในนิมิตว่า ด้วยสำนึกร่วมในความเป็นชาติ “ไม่ว่าเธอจะทำอะไร เธอต้องรู้ตัวว่าเธอแกร่งกว่าที่เธอคิด” จนมาถึงฉากจบเรื่องเมื่อพลังประสานของผู้หญิงที่ผนวกรวมกับจินตกรรมคำว่า “ชาติ” ผู้ชมจึงได้เห็นปาฏิหาริย์แห่งตราแผ่นดินที่ทำลายอริราชศัตรูอย่างขจิตแบบน่าตื่นตะลึง ก่อนจะปิดท้ายกับภาพแบบภารตวิถีที่ชาวเมืองทั้งหมดในมันตราปุระออกมาเต้นเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนานในชุดพื้นเมืองและส่าหรีหลากสีสัน เพราะ “ชาติ” มิใช่ “ประเทศ” เพราะจินตนาการไม่ใช่วัตถุที่จับต้องเป็นของจริง และเพราะปัจเจกบุคคลถูกกำหนดบทบาทให้ปกป้องและสืบต่อสำนึกร่วมในความเป็นชาติ จึงไม่แปลกกระมังที่สตรีผู้ถือกำเนิดในมาตุภูมิ ผู้หญิงที่ข้ามแดนดินมาจากถิ่นอื่น และผู้หญิงที่ข้ามภพชาติห้วงเวลา จะสามารถประสานพ้องเสียงเพื่อธำรงจินตกรรมร่วมของชาติ ที่ปนเปผสมผสานระหว่างภารตภิวัตน์กับความเป็นไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์
หากจะถามว่า แม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของไทยหรือสยามประเทศคือแม่น้ำอะไร ทุกคนก็คงตอบได้ทันทีว่า “แม่น้ำเจ้าพระยา” และหากจะถามบนข้อสงสัยเดียวกันว่า แล้วแม่น้ำสายหลักของพม่าหรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาคือแม่น้ำสายใด เราก็คงตอบได้เช่นกันว่า “แม่น้ำอิรวดี”ฃโดยหลักทางภูมิศาสตร์แล้ว แม่น้ำสองสายดังกล่าวไม่ได้มีเส้นทางที่จะไหลมาเชื่อมบรรจบกันได้เลย แต่หากพินิจพิจารณาในเชิงสังคมการเมืองแล้ว เส้นกั้นพรมแดนเกินกว่าสองพันกิโลเมตรระหว่างรัฐชาติ กลับมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมบางเส้นที่ผูกโยงข้ามตะเข็บชายแดนกันมาอย่างยาวนานด้วยเหตุฉะนั้น พลันทีช่องทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสออกอากาศละครโทรทัศน์ที่ตั้งชื่อเรื่องแบบดูดีมีรสนิยมว่า “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ผู้เขียนก็เริ่มสงสัยใคร่รู้ว่า สายสัมพันธ์ทางความคิดและความหมายที่ข้ามแว่นแคว้นแดนดินระหว่างไทยกับพม่าจะถูกตีความออกมาเยี่ยงไร โดยโครงที่วางไว้เป็นละครแนวโรแมนติกดรามาแบบข้ามภพชาตินี้ ผูกโยงเรื่องราวชีวิตของนางเอกสาว “นุชนาฏ” ผู้มีภูมิลำเนาอยู่พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มต้นงานใหม่เป็นผู้ช่วยเชฟประจำโรงแรมใจกลางกรุงย่างกุ้ง เป็นเหตุให้เธอได้มาพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “ปกรณ์” หัวหน้าเอ็กเซ็กคูทีฟเชฟคนไทย ที่ทั้งแสนจะเจ้าระเบียบและโผงผางตรงไปตรงมา แต่ภายใต้ท่าทีขึงขังจริงจังนั้น เขาก็เป็นคนที่มุ่งมั่นในวิชาชีพการทำอาหารยิ่งนัก และเหมือนกับชื่อเรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” เมื่อตัวละครนุชนาฏผู้ที่หลุดไปจากบริบทของสังคมไทยที่หลอมตัวตนมาตั้งแต่เกิด และได้ไปพำนักอยู่ในนครย่างกุ้ง เธอก็ได้เริ่มเห็นอีกด้านหนึ่งของพม่าที่แตกต่างไปจากภาพจำของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถูกกล่อมเกลาและติดตั้งจนเป็นสำนึกในโลกทัศน์ของคนไทย แม้จะยังคงแบกเอาอคติต่อพม่าในฐานะภาพเหมารวมอันฝังตรึงในห้วงคำนึงแบบไทยๆ มาไว้ในความคิดของเธอตั้งแต่แรกก็ตาม แต่การที่นุชนาฏได้มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่และเป็นประสบการณ์จริงจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประสบการณ์ตามภาพจำที่เผชิญหน้ากับประสบการณ์ตรงจากของจริงจึงก่อเกิดเป็นคำถามมากมายในใจที่เธอเริ่มมองพม่าผิดแผกไปจากเดิม เริ่มต้นตั้งแต่ที่ปกรณ์ต้องประกอบอาหารเพื่อต้อนรับ “อูเทวฉ่วย” มหาเศรษฐีใหญ่ของพม่า ที่วางแผนจะเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการโรงแรมที่เขาทำงานอยู่ และเมนูอาหารพื้นเมืองที่ต้องจัดเตรียมในครานี้ก็คือ “โมฮิงกา” ทั้งปกรณ์และนุชนาฏจึงต้องร่วมกันสืบเสาะค้นหาว่า ตำรับอาหารที่ชื่อโมฮิงกานั้นคืออันใด มีรสชาติเช่นไร และจะปรุงแต่งอย่างไรจึงจะสร้างความประทับใจให้กับนายทุนใหญ่ผู้นี้ได้ เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีภาพจำที่หยั่งรากฝังลึกว่า พม่าเป็นศัตรูอันยิ่งใหญ่ของรัฐชาติสยามประเทศ ภาพที่ฝังลึกดังกล่าวนี้จึงเป็นยิ่งกว่ากำแพงที่สกัดไม่ให้เราปรารถนาจะก้าวข้ามเพื่อไปทำความรู้จักหรือเรียนรู้ความเป็นไปของผู้คนที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามพรมแดนสมมติทางภูมิศาสตร์ ดังนั้นภาพที่ตัวละครเอกทั้งคู่ต้องดั้นด้นสืบค้นหาสูตรการปรุงโมฮิงกา ก็มีนัยที่เสียดสีในทีว่า เผลอๆ จะเป็นคนไทยนี่เองที่ไม่อยากข้องแวะ หรือแทบจะไม่รู้จักเสียเลยว่า วัฒนธรรมการกินการอยู่ของผู้คนที่แค่ข้ามฝั่งเส้นแบ่งภูมิศาสตร์ไปนั้น เขา “เป็นอยู่คือ” หรือใช้ชีวิตวัฒนธรรมกันอย่างไร แล้วความซับซ้อนของโครงเรื่องก็เพิ่มระดับขึ้นไปอีก เมื่อนุชนาฏได้มาเดินเล่นที่ถนนพันโซดันในนครย่างกุ้งกับเพื่อนใหม่ชาวพม่าอย่าง “ซินซิน” และเธอได้มาสะดุดตากับหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่อง “อิเหนา” ฉบับพม่า ความลึกลับของหนังสือโบราณนี้เองทำให้นุชนาฏได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกที่แปลกตาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน เพราะไม่ใช่แค่การได้แยกตัวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยเท่านั้น แต่การหลุดย้อนเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งอดีตก็ทำให้นุชนาฏค้นพบว่า เมื่อชาติภพปางก่อนเธอคือ “ปิ่น” หญิงสาวชาวกรุงศรีอยุธยาหรือ “โยเดีย” ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่อังวะ เมื่อสยามประเทศต้องเสียกรุงครั้งที่สองให้กับพม่า ปิ่นได้มาเป็นข้าหลวงประจำตำหนักของ “เจ้าฟ้ากุณฑล” และ “เจ้าฟ้ามงกุฏ” พระราชธิดาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ที่พลัดถิ่นมาในเวลาเดียวกัน การได้มาสวมบทบาทใหม่เป็นนางปิ่นผู้ข้ามภพชาติ ทำให้นุชนาฏได้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ความขัดแย้งในสนามทางการเมืองระหว่างไทยกับพม่าเมื่อครั้งอดีต (หรือแม้แต่สืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน) ดูจะเป็นการต่อสู้ต่อรองผลประโยชน์เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำผู้ยึดครองอำนาจรัฐเอาไว้ หากทว่าในระดับของสามัญชนคนธรรมดาทั่วไปแล้ว ชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมดูจะเป็นอีกด้านที่ผิดแผกแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง ยิ่งเมื่อนุชนาฏในร่างของปิ่นได้มาเจอกับ “สะสะ” หรือที่ใครๆ ต่างเรียกกันว่า “หม่องสะ” ศิลปินลูกครึ่งมอญ-พม่า ผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ละครหลวงในราชสำนักอังวะ และปลุกปั้นให้ปิ่นได้เป็นนางรำในโรงละครหลวง อันนำไปสู่การประสานนาฏยศิลป์ของสองวัฒนธรรมผ่านท่าร่ายรำที่ทั้งคู่ออกแสดงร่วมกันหน้าพระที่นั่ง ไปจนถึงการเพียรพยายามแปลบทนิพนธ์อิเหนามาเป็นภาษาพม่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในวังวนแห่งการช่วงชิงผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยประสบการณ์ที่หลุดเข้าไปในอีกห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ นุชนาฏจึงได้ทบทวนหวนคิดว่า แท้จริงแล้ว อคติความชิงชังที่ฝังอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะถูกสร้างขึ้นบนสมรภูมิแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง หาใช่เป็นความขัดแย้งในพื้นที่สังคมพลเมืองแต่อย่างใด “อันรักกันอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี อันชังกันนั้นใกล้สักองคุลี ก็เหมือนมีแนวป่ามาปิดบัง…” ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำทางการเมืองก็ยังคงใช้วาทกรรมความชิงชังแบบเดิมมาปิดกั้นไม่ให้คนไทยสนใจใคร่รู้จักความจริงด้านอื่นของเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ จนนำไปสู่ภาพเหมารวมว่า พม่าก็ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นปรปักษ์หรือศัตรูในจินตกรรมความเป็นชาติของไทยเท่านั้น เหมือนกับฉากเริ่มต้นเรื่องที่นุชนาฏตั้งแง่รังเกียจคำพูดของซินซินที่เรียก “อยุธยา” บ้านเกิดของเธอว่า “โยเดีย” อันเนื่องมาแต่ภาพจำที่ถูกกล่อมเกลาสลักฝังไว้ในหัวว่า คำเรียกโยเดียหมายถึงการปรามาสดูถูกคนไทยว่าเป็นพวกขี้แพ้ หากแต่ซินซินกลับให้คำอธิบายไปอีกทางหนึ่งว่า คำเรียกเช่นนี้หาใช่จะมีนัยว่าไทยเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามแต่อย่างใด เพราะในมุมมองของคนพม่าแล้ว ศัตรูในจินตนาการที่ตัวใหญ่กว่า น่าจะเป็นชาติตะวันตกที่เคยฝากบาดแผลความทรงจำไว้ตั้งแต่ยุคลัทธิล่าอาณานิคม จาก “เจ้าพระยา” สู่ “อิรวดี” ก่อนที่ฉากจบตัวละครจะออกจาก “อิรวดี” ย้อนกลับมาสู่ดินแดนราบลุ่มริมน้ำ “เจ้าพระยา” แต่สำหรับผู้ชมแล้ว จินตนาการแบบใหม่ที่ท้าทายภาพจำต่อประเทศเพื่อนบ้าน คงไม่มากก็น้อยที่น่าจะทำให้เราลองหันกลับมาอ่านบทนิพนธ์อิเหนาฉบับแปล ลองดูนาฏยกรรมพม่า หรือลองลิ้มรสเมนูโมฮิงกากันด้วยความรัก หาใช่ด้วยรสชาติความชิงชังเพียงเพราะไม่รู้จักหรือไม่อยากจะคุ้นเคย
ตามสามัญสำนึกคนทั่วไป “ความรักโรแมนติก” หรือที่เรียกติดปากว่า “โรมานซ์” เป็นอารมณ์ปรารถนาที่มักตอบโจทย์ให้กับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ความรักโรแมนติกเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้หญิงสาวในวัยนี้ได้ “หลบหนี” เพื่อไปแต่งปั้นจินตกรรมภาพ “ผู้ชายในฝัน” ที่เธอคาดหมายจะครองคู่ในอนาคต หากเป็นดั่งความข้างต้นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงที่มีชีวิตเกินวัยแรกเริ่มความรักโรแมนติก และได้พบเจอกับ “ผู้ชายในชีวิตจริง” กันแล้ว ปรารถนาจะหวนมาสัมผัสชีวิตรักโรมานซ์กันอีกสักครั้งบ้าง คำถามข้อนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และความรักโรแมนติกจะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้หญิงกลุ่มหลังนี้อย่างไร คำตอบต่อความสงสัยข้างต้นดูจะเป็นโครงเรื่องหลักของละครโทรทัศน์ “กะรัตรัก” กับการนำเสนอเรื่องราวของ “กะรัต” หญิงสาวเฉียดวัย 40 ปี ผู้บริหารคนเก่งแห่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “ไดมอนส์พร็อพเพอร์ตี้” และแต่งงานอยู่กินกับสามีนักธุรกิจอย่าง “ชาคริต” ที่เป็นผู้บริหารงานอีกคนในบริษัทเดียวกัน แม้จะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 6 ขวบอย่าง “พัตเตอร์” เป็นโซ่ทองคล้องใจ และคล้องผูกสายสัมพันธ์ในครอบครัวมานานหลายปี แต่เพราะกะรัตเป็นหญิงแกร่งและหญิงเก่งไปเสียแทบจะทุกด้าน สถานะของ “ช้างเท้าหลัง” ในบ้านที่จับพลัดจับผลูย่างก้าวมาเทียบเคียงเป็น “ช้างเท้าหน้า” เช่นนี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผู้ชายอีโก้สูงเยี่ยงชาคริตมิอาจยอมรับได้ ยิ่งเมื่อทั้งกะรัตและชาคริตต้องมาลงสนามแย่งชิงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนโปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ “ริเวอร์ไชน์” ของบริษัทต้นสังกัดด้วยแล้ว ความริษยาลึกๆ ต่อศรีภรรยาก็ยิ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในใจของชาคริตที่รอคอยวันระเบิดปะทุออกมา ความขัดแย้งบนผลประโยชน์นอกบ้าน ที่เขย่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ในชายคาบ้านเดียวกันมายาวนาน ทำให้กะรัตเองก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมว่า “เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน” แต่ทว่าหลังวันแต่งงานผ่านพ้นไป ชีวิตรักโรแมนติกที่เคย “ชมว่าหวาน” ก็อาจเจือจางจน “แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” ได้เช่นกัน สถานการณ์ของหญิงทำงานวัยสี่สิบกะรัตยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแค่ในสนามแข่งขันกับชาคริตผู้เป็นสามี และยังมี “เวนิส” สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่เปิดตัวเป็นคู่แข่งเพื่อชิงชัยเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ริเวอร์ไชน์ด้วยอีกคน แม้แต่ในสนามชีวิตครอบครัว กะรัตยังต้องประกาศสงครามกับ “นิตา” เลขานุการสาว ผู้มุ่งมั่นเป็น “แมวขโมยปลาย่าง” ที่คอยจะฉกเอาชาคริตผู้กำลังระหองระแหงกับภรรยามาเป็นสามีของตน จนในที่สุด เมื่อศึกรุมเร้ารอบด้าน พร้อมๆ กับความรักหวานชื่นที่โรยราจืดจางลง เพราะสามียื่นเจตจำนงขอหย่าขาดจากภรรยา กะรัตผู้ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน จึงเลือกหันไปครวญเพลงในยุค 90s ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ร้องว่า “เก็บใจไว้ในลิ้นชัก คงไม่เจอแล้วรักแท้ เบื่อกับความปรวนแปร มันไม่แคร์และไม่หวัง…” เมื่อหัวใจต้องแห้งแล้งลง ไม่ต่างจาก “ลิ้นชักที่ปิดตายเพราะรักร้าว” ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเช่นกะรัตก็ได้แต่เชื่อว่า เธอไม่อาจหวนมาสัมผัสกับชีวิตรักโรมานซ์ได้อีก เหมือนกับประโยคที่เธอพูดกับตัวเองหลังถูกสามีขอหย่าว่า “ฉันต้องกลายเป็นอีบ้าที่หมดความต้องการทางเพศ หมดเสน่ห์และแรงดึงดูดทางเพศแบบที่สาวๆ พึงมี” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กะรัตก็สำเหนียกอยู่ลึกๆ ว่า “จะบอกอะไรให้ ผู้หญิงต้องการความรักมากที่สุด” ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงวัยเฉียดเลข 40 มีแต่จะแห้งเหือดลงไปพร้อมกับสายสัมพันธ์ที่แปลกแยกและเปราะบาง เฉกเช่นฉากเปิดเรื่องของละครที่กะรัตถูกขอหย่า และต้อง “ยืนอยู่กลางลมฝนสู้ทนฟันผ่า” เพราะประตูรถหนีบชายกระโปรงเอาไว้ กลับมีตัวละครชายหนุ่มหน้ามนอย่าง “ไอ่” ปรากฏกายเดินถือร่มคันใหญ่มากางปกป้องเธอไว้ในสภาวะของ “กายที่มันอ่อนล้าแทบยืนไม่อยู่” นั้นเอง ไอ่เป็นตัวละครนักศึกษาฝึกงานด้านสถาปัตย์ อันที่จริงแล้ว ชายหนุ่มแอบตกหลุมรักกะรัตตั้งแต่ครั้งที่เธอได้รับเชิญมาบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และก็เหมือนกับที่ไอ่กล่าวกับกะรัตว่า “ถ้าจักรวาลมีเหตุผลมากพอให้เราได้เจอกัน ยังไงเราก็จะได้เจอกัน” ดังนั้น ในท้ายที่สุดเหตุผลแห่งจักรวาลก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันในวันที่ชีวิตของผู้หญิงอย่างกะรัตรู้สึกอ่อนแอที่สุด หากโรมานซ์เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มภาพ “ชายในฝัน” ให้กับผู้หญิงสาวแรกรุ่นทั้งหลาย อารมณ์รักโรแมนติกแบบเดียวกันนี้ก็สามารถเป็นกลไก “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ทางความรู้สึกให้กับผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนได้ไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อไอ่เริ่มตั้งคำถามกับกะรัตถึง “บ้าน” ว่าเป็น “สถานที่ที่มีคนเปิดไฟรอให้เรากลับมา แล้วเราก็พูดว่า กลับมาแล้วครับ” และตามด้วยการ “ขายขนมจีบ” ให้กับบอสสาวรุ่นใหญ่ว่า “ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก” กะรัตจึงตอบตกลงที่จะครวญเพลงยุค 90s ต่อเนื่องให้กับชายหนุ่มรุ่นน้องว่า “เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจจากเธอ เมื่อไหร่ที่เผลอยังนึกว่าเธออยู่ในฝัน…” แม้เมื่อเลิกร้างกับชาคริตไป กะรัตจะมี “มาร์ก” ซีอีโอรูปหล่อพ่อม่ายเรือพ่วง แถมคุณสมบัติเหมาะสมกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และฐานะการงานการเงิน เสนอตัวมาเป็นพ่อเลี้ยงคนใหม่ให้กับน้องพัตเตอร์ แต่เรื่องของความรักก็หาได้เกี่ยวพันกับเหตุผลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยไม่ เพราะไอ่ได้กลายมาเป็นคำตอบในใจโทรมๆ ของกะรัตไปแล้ว และความรู้สึกโรมานซ์ที่มีต่อหนุ่มรุ่นน้องห่างวัยในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงวัยเฉียดสี่สิบกะรัตเหมือนมีน้ำทิพย์ชะโลมใจ และย้อนวัยให้เธอเป็นประหนึ่งดรุณีดอกไม้แรกรุ่นกันอีกครา เหมือนกับที่บทเพลงบอกว่า “ยังมีอีกหรือรักแท้ที่เคยเสาะหามานาน วันนี้เป็นไงเป็นกันจะรักเธอ…” ดังนั้น เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผู้ชายในฝันที่เธอปรารถนา ควบคู่ไปกับการช่วงชิงชัยในเกมธุรกิจของบริษัท เราจึงเห็นภาพของกะรัตที่เดินเกมรุกนั่งกินโต๊ะจีนกับครอบครัวของไอ่ เข้าสู่สนามต่อสู้กับ “อัญญา” คู่แข่งรุ่นเด็กกว่าที่แอบมาชอบชายหนุ่มคนเดียวกับเธอ ไปจนถึงตอบรับรักหนุ่มรุ่นน้องต่อหน้าสาธารณชนแบบไม่แคร์เวิร์ลด์ ในฉากจบของเรื่องที่ทั้งกะรัตและไอ่เดินจูงมือกัน ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขอยู่ริมทะเล จึงเป็นภาพที่แตกต่างไปจากฉากอวสานของละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ทั่วไป ที่มักเป็นพระเอกนางเอกซึ่งดูเหมาะสมรุ่นวัยจะมาเดินเคียงคู่ตระกองกอดกันในซีนรักริมทะเลแบบเดียวกันนี้ ภาพความรักกระหนุงกระหนิงของกะรัตและไอ่ที่ดูต่างออกไปจากวิถีปฏิบัติของละครเรื่องอื่นๆ คงให้ข้อสรุปกับผู้หญิงได้ว่า กาลครั้งหนึ่งพวกเธอเคยได้สัมผัสความรักโรแมนติกมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์รักโรมานซ์ก็อาจจืดจางลางเลือนลง จนกว่าจะมีเหตุผลของจักรวาลและความมุ่งมาดปรารถนาของผู้หญิงเองเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเธอได้รับความรู้สึกรักโรแมนติกกลับคืนมา และ “she will never walk alone” อีกต่อไป
“ผี” เป็นความเชื่อแบบหนึ่งที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคบุพกาล ก่อนที่พุทธศาสนาจะถูกนำเข้าจากอนุทวีปมาหยั่งรากแตกกอออกเป็นความเชื่อหลักของสังคมไทยเสียด้วยซ้ำ สำหรับคนไทยเราแล้ว ผีเป็น “อมนุษย์” หรือมี “ความเป็นอื่น” ซึ่งต่างไปจากมนุษย์ ผีมีทั้งที่ร้ายและที่ดี อันว่าผีร้ายก็น่าจะหมายรวมถึงภูตผีสัมภเวสีที่เฝ้าแต่จะหลอกหลอนทำร้ายผู้คน แต่ทว่าในส่วนของผีดีนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นกุศโลบายความเชื่อที่คนโบราณสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุมจัดระเบียบจารีตปฏิบัติต่างๆ ให้กับผู้คนในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผีจึงเป็นกลไกการควบคุมทางสังคม เพราะผีร้ายจะลงโทษทัณฑ์ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตนไปในทางไม่ดี ดังข้อห้ามในสังคมไทยไม่ให้ผู้ใดกระทำ “เสียผี” หรือ “ผิดผี” แต่ในเวลาเดียวกัน ผีดีก็จะคอยพิทักษ์ปกป้องผู้ที่ประพฤติดี เฉกเช่นวลีที่ว่า “คนดีภูตผีย่อมคุ้มครอง” แต่คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ หากผีเป็นกลไกกำกับควบคุมการขับเคลื่อนชีวิตผู้คนไปในทิศทางที่ถูกที่ควร และเมื่อใดก็ตามที่คนดีตกอยู่ในภยันตราย ผีดีก็จะคอยช่วยเหลือคุ้มครองด้วยแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผีที่คอยอภิบาลปกป้องคนดีกลับต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ จนหาทางออกไม่ได้เสียเอง คำตอบข้อนี้คงต้องเรียนรู้จากชะตากรรมของผีในละครโทรทัศน์กึ่งคอมเมดี้กึ่งดรามาอย่าง “Help Me คุณผีช่วยด้วย” เรื่องราวความรักของ “มุทิตา” ยูทูบเบอร์สาวสวย นักรีวิสินค้าน้อยใหญ่ กับ “เขตขันธ์” ไฮโซนักธุรกิจหนุ่มคุณสมบัติสุดเพอร์เฟ็คต์ รูปหล่อพ่อรวยแม่หวง ที่กว่าจะลงเอยครองคู่กันได้ ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากวิญญาณผีของ “อานนท์” เพื่อให้ “มิสชั่น” ของเธอและเขา “พอสสิเบิ้ล” ได้ในฉากแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะมุทิตามาจากครอบครัวของชนชั้นกลาง มีมารดาเป็นอดีตนางงามและเป็นแม่บ้านสายมูผู้บ้าโชคลางอย่าง “เฉิดฉาย” กับบิดาข้าราชการครูผู้คิดบวกอย่าง “วิหาร” จึงก่อกลายเป็นปมเงื่อนที่แม่ของเขตขันธ์ “คุณนายมัณฑนา” ตั้งแง่รังเกียจว่าที่ลูกสะใภ้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจสังคมหาใช่จะควรคู่กับบุตรชายมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยไปได้เลย ปมความขัดแย้งที่สั่งสมมานี้จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวละคร เมื่อเขตขันธ์วางแผนจัดฉากเซอร์ไพรส์ขอมุทิตาแต่งงาน โดยจ้างอานนท์อดีตสตั๊นแมนอารมณ์ดีมาแกล้งปลอมเป็นโจร แต่แผนการนี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมุทิตาเลือกปฏิเสธเขตขันธ์โดยอ้างว่า เธอเองยังไม่พร้อมจะใช้ชีวิตคู่กับเขาในเวลานั้น แต่แล้วการณ์ยิ่งกลับตาลปัตรมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากความรักของตัวละครเอกจะดูไม่เป็นไปตามคาดหวังแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ภาพตัดสลับมาที่อานนท์ซึ่งขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านเพื่อไปหาลูกเมีย กลับถูกคนร้ายดักปล้นและทำร้ายจนเสียชีวิต อานนท์จึงกลายมาเป็นวิญญาณผีเร่ร่อนซึ่งตายก่อนกำหนด เพียงเพราะ “หน่วยคัดกรองบุญบาป” ของยมโลกวินิจฉัยอายุขัยของเขาผิดพลาดคลาดเคลื่อน หากผีเป็นอุบายที่ใช้เป็นกลไกควบคุมทางสังคม และให้ความคุ้มครองดูแลต่อผู้กระทำดี ดังนั้น แม้จะเป็นวิญญาณร่อนเร่ล่องลอย ยมทูตจึงได้มอบหมายพันธกิจให้อานนท์เล่นบทบาทคอยช่วยเหลือสรรพชีวิตทั้งหลายที่ทำคุณงามความดี แต่กลับต้องเผชิญห่วงกรรมต่างๆ เพื่อให้หลุดพ้นทุกข์ทั้งปวง เมื่อต้องเล่นบทบาท “คุณผี” ที่คอยปกป้องดูแลสัตว์โลก และเพราะอานนท์กับมุทิตาเกิดร่วมวันเดือนปีเดียวกัน ทำให้วิญญาณอานนท์สามารถปรากฏร่างให้มุทิตาเห็นได้ และคอยเฝ้าช่วยเหลือความรักของนางเอกสาวได้ลงเอยสมหวังกับเขตขันธ์ให้จงได้ แต่ทว่า ยิ่งเมื่อก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตส่วนตัวและสายสัมพันธ์ระหว่างยูทูบเบอร์สาวกับไฮโซเศรษฐีหนุ่ม คุณผีอานนท์ก็เริ่มตระหนักว่า แท้จริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังปัญหาทั้งหมดทั้งมวลในชีวิตคนเราล้วนมีสาเหตุมาจากการเห็นผิดจนติดยึดและไม่อาจปล่อยวางทุกข์ต่างๆ นั้นได้เลย อาการยึดติดไม่ปล่อยวางนี้ ดูจะแผ่ซ่านประหนึ่งโรคระบาดฝังแน่นอยู่ในจิตใจของถ้วนทั่วทุกตัวละคร ตั้งแต่ตัวมุทิตาเองที่ยึดติดงานเป็นสรณะ จนลืมไปว่าการบ้างานเกือบทำให้เธอต้องสูญเสียชายคนรักไป แถมร่วมด้วย “สุธาพร” หมอหนุ่มอดีตคนรักของมุทิตาที่ไม่ยอมมูฟออน หากแต่เฝ้าวนเวียนในชีวิตนางเอก จนทำให้เขตขันธ์เองก็มักขาดสติเป็นเนืองๆ เพราะคิดว่าหญิงคนรักยังมีเยื่อใยต่อชายคนรักเก่าอยู่ อาการ “ผีซ้ำด้ำพลอย” ยังบังเกิดตามมาอีก ไม่ว่าจะมาจาก “ปวีณา” หญิงคนรักใหม่ของหมอสุธาพรที่เป็นยิ่งกว่าโรคลมเพชรหึงและไม่ยอมปล่อยวางเรื่องความรัก จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมความสูญเสียในฉากจบเรื่อง หรือ “ละออองค์” หญิงสาวอีกคนผู้เป็นศัตรูหัวใจที่คอย “กดปุ่มสตีล” เพื่อฉกเขตขันธ์ไปจากนางเอกมุทิตา ไปจนถึงคุณนายมัณฑนาที่เฝ้ายึดติดอยู่กับการไร้ฐานานุรูปทางเศรษฐกิจสังคมของว่าที่ลูกสะใภ้ จนเพิกเฉยต่อความรู้สึกที่อยู่ในหัวใจของบุตรชายตนเอง เมื่อความรักของมุทิตากับเขตขันธ์ต้องเปิดศึกรอบด้าน และกลายมาเป็นแหล่งหลอมรวมมนุษยชาติผู้เปี่ยมมิจฉาทิฐิมากหน้าหลายตาหลากเหตุปัจจัยและผลประโยชน์เยี่ยงนี้แล้ว อาการที่ตัวละครเอกต้องกู่ร้อง “help me” ขอให้คุณผีอานนท์เข้ามาช่วยเหลือ จึงเหมือนกับ “แผ่นเสียงตกร่อง” ที่ผู้ชมได้ยินซ้ำๆ ตลอดทั้งเรื่อง แม้วิญญาณอานนท์จะถูกยมทูตวางตัวเล่นให้บทบาทคุณผีซูเปอร์ฮีโร่ช่วยภารกิจให้มนุษย์สัมฤทธิ์ผลสมหวังก็ตาม แต่ที่ชวนขบขันเสียดสีอยู่ในทีก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว บรรดาผีๆ ทั้งหลายในปรโลกเอง ก็เหมือนจะติดกับอยู่ในวังวนการไม่ปล่อยวาง ไม่ต่างจากตัวละครผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์เราๆ กันเลย ตั้งแต่วิญญาณ “อากง” ที่เป็นห่วงลูกหลานจนไม่ยอมปล่อยวาง วิญญาณ “ป้าศรี” แม่ค้าส้มตำผู้ตามอาฆาตสามีหนุ่มที่แอบมีเมียน้อย วิญญาณผีโฮสผัวน้อยที่รอคอยการหลุดพ้น และวิญญาณอีกน้อยใหญ่ รวมไปจนถึงตัวของคุณผีอานนท์เองที่ผูกห่วงไว้กับ “อนงค์” ผู้เป็นภรรยา และหึงหวง “พงศ์สนิท” ชายหนุ่มที่เสนอตนมาเป็นตัวเลือกใหม่ให้กับอดีตภรรยาของเขา จนมาถึงฉากจบของเรื่องที่วิญญาณอานนท์สามารถช่วยเหลือตัวละครเอกจนสมหวังเรื่องความรักได้แล้ว คุณผีของเราก็ได้เล็งเห็นว่า ความทุกข์ทั้งปวงในชีวิตล้วนเกิดขึ้นจากการยึดติดไม่ยอมปล่อยวาง อานนท์จึงเริ่มทำใจวางอุเบกขาเรื่องความรัก ก่อนจะตัดสินใจอำลามุทิตาเพื่อเดินทางไปสู่สัมปรายภพ บทสรุปของละครจึงเหมือนจะย้อนกลับไปสู่เสียงความในใจของอานนท์ที่เปิดฉากให้เราได้ยินตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “เพราะแต่ละคนมีวิบากแห่งกรรมของตน หากไม่รู้จักปล่อยวาง ตายไปแล้วก็จะไม่มีความสุข” นี่ขนาดทั้งคนทั้งผียึดติดอยู่กับเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ และเรื่องของครอบครัว คนกับผีก็เกิดอาการเสียศูนย์จนต้องร้อง “help me” กันจ้าละหวั่น ถ้าเป็นเรื่องการยึดติดกับเก้าอี้ ชื่อเสียง ลาภยศ เงินทอง ไปจนถึงอำนาจด้วยแล้ว ถึงจะตะโกน “help me” สักกี่พันครั้ง ก็ไม่รู้ว่าคนและผีจะยอมหลุดพ้นปล่อยวางกันได้จริงๆ ล่ะหรือ
ความคิดเห็น (0)