ฉบับที่ 253 มันฝรั่งทอดอร่อยปลอดภัย..ในญี่ปุ่น

        คนไทยกินข้าวเป็นแหล่งของแป้งมาแต่นมนาน ไม่เคยมีใคร (คิดจะ) ทักท้วงว่า ข้าวมีสารพิษ แต่ชาวตะวันตกกินมันฝรั่งเป็นแหล่งของแป้งกลับถูกเตือนว่า ระวังอาจมีสารพิษได้ สารพิษในมันฝรั่งนั้นคืออะไร นอกเหนือไปจาก อะคริลาไมด์ ที่เกิดระหว่างการทอด 
        เดือนมกราคม 2565 facebookครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่นได้โพสต์ข้อความประมาณว่า บริษัทจำหน่ายขนมอบกรอบรายใหญ่ในญี่ปุ่นรายหนึ่งประกาศว่า  พบสารกลัยโคอัลคาลอยด์ (glycoalkaloid) ในมันฝรั่งทอดกรอบที่นำเข้าจากไทยในปริมาณที่สูงเกินกำหนด จึงทำการเรียกสินค้าคืน (recall) จากผู้บริโภคและผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้เต็มจำนวน สำหรับจำนวนขนมอบกรอบที่มีการเรียกคืนนั้นคือ 3,348 ถุง
         เหตุผลที่ต้องเรียกคืนสินค้านั้นเกิดเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 หน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยของอาหารในญี่ปุ่นได้ออกประกาศว่า ตรวจพบสารกลัยโคอัลคาลอยด์ซึ่งหลัก แล้วคือ โซลานีน (solanine) และชาโคนีน (chaconine) ที่มีความเข้มข้นสูงเกินมาตรฐานจากส่วนหนึ่งของมันฝรั่งทอดกรอบซึ่งนำเข้าและจำหน่ายโดยบริษัทหนึ่ง 




        ประเด็นที่คนไทยควรสนใจคือ ในญี่ปุ่นและประเทศที่กำลังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นั้นมีการตรวจสอบปริมาณสารพิษจำเพาะที่เกิดในอาหารแต่ละประเภท (ไม่ใช่แค่โลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช และอื่นๆ ที่เป็นสารพิษทั่วไป) เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นมีเฉพาะในพืชบางชนิด ซึ่งมีมันฝรั่งเป็นแกนนำในการถูกตรวจสอบ เนื่องจากเมื่อมันฝรั่งถูกแปรรูปโดยทอดเป็นแผ่นกรอบบางนั้น ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่นิยมกินคู่กับเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ระหว่างการดูกีฬาเป็นอย่างยิ่งในหลายประเทศ 
        สำหรับท่านผู้อ่านฉลาดซื้อที่พอมีความรู้ด้านพิษวิทยาและได้เนื้อข่าวตัวเต็มดังกล่าว อาจรู้สึกว่าข้อมูลวิชาการจาก facebook ข้างต้นนั้นค่อนข้างหลวมไปหน่อย ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเรื่องเก่าๆ เกี่ยวกับมันฝรั่งมาคุยกันว่า ควรระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากมันฝรั่งนั้นทำอะไรก็อร่อยไปหมดและคนไทยก็บริโภคกันเยอะ 

        มันฝรั่งเป็นพืชหัวซึ่งมนุษย์ใช้บริโภคเป็นอาหารแป้ง และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกมานานแล้ว เชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่บนพื้นที่ระหว่างประเทศเม็กซิโกและชิลี ลากยาวไปบนแถบที่ราบสูงบนเทือกเขาแอนดีส ในประเทศโบลิเวียและเปรูยังปรากฏว่ามีมันฝรั่งป่าพันธุ์พื้นเมืองชนิดที่ปลูกให้เทวดาเลี้ยงขึ้นอยู่จนทุกวันนี้ 

        สำหรับข้อมูลที่กล่าวถึงกลัยโคอัลคาลอยด์ในบทความวิชาการนั้นมีมากเช่น ในบทความทบทวนเอกสารวิชาการเรื่อง A Review of Occurrence of Glycoalkaloids in Potato and Potato Products ตีพิมพ์ในวารสาร Current Research in Nutrition and Food Science ของปี 2016 ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีบทความทบทวนเอกสารเกี่ยวกับความเป็นพิษของมันฝรั่งในระดับลึกจนเกินความจำเป็นของผู้บริโภคทั่วไปเช่น บทความเรื่อง Formation and control of chlorophyll and glycoalkaloids in tubers of Solanum tuberosum L. and evaluation of glycoalkaloid toxicity ตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Food Research ของปี 1975 และที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ หลายบทความได้กล่าวถึงงานวิจัยที่แสดงถึงฤทธิ์ก่อลูกวิรูป (ทำให้ลูกสัตว์พิการแต่กำเนิด) ของกลัยโคอัลคาลอยด์เช่น บทความในวารสาร Teratology หน้าที่ 73-78 ของปี 1975, วารสาร Food and Chemical Toxicology หน้าที่ 537-547 ของปี 1991 และวารสาร Molecular Biology Reports หน้าที่ 9235-9238 ของปี 2020 เป็นต้น 
        สำหรับผู้บริโภคที่ชอบปรุงอาหารกินเองอาจมีประสบการณ์ว่า เมื่อซื้อมันฝรั่งมาเก็บไว้ในครัวแล้วลืมจนมาพบว่า มันฝรั่งเริ่มมีสีเขียว (ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วสีเขียวนั้นคือ คลอโรฟิลล์) และมีต้นอ่อนเริ่มงอกพร้อมรากแล้ว สิ่งที่หลายคนทำคือ ตัดลำต้นและรากทิ้ง จากนั้นปอกเปลือกออก เฉือนส่วนที่มีสีเขียวทิ้งแล้วรีบปรุงเป็นอาหาร จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า แค่ตัดเอาส่วนสีเขียว ต้นอ่อนและรากทิ้งนั้น มันฝรั่งนั้นยังปลอดภัยดีพอในการบริโภคหรือ 
        ปรกติแล้วมันฝรั่งมีเปลือกออกสีน้ำตาลหลายระดับเฉดสี แต่ถ้าเริ่มมีบางส่วนของหัวออกสีเขียวเมื่อใด นั่นแสดงว่ามันฝรั่งนั้นกำลังเข้าสู่กระบวนการเริ่มงอกแล้ว ซึ่งช่วงนี้มันฝรั่งจะสร้างสารพิษคือ กลัยโคอัลคาลอยด์ เพิ่มออกมาจากเดิมที่มีอยู่นัยว่า ความเป็นพิษของสารกลุ่มนี้ช่วยป้องกันการเข้ารุกรานของแมลงที่เป็นศัตรูพืช 




        คำว่า glycoalkaloid นั้น glyco คือ กลุ่มน้ำตาล ส่วน alkaloid คือ สารอินทรีย์ที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบในโมเลกุล โดยทั่วไปอัลคาลอยด์มักมีฤทธิ์ทางยาและ/หรือเป็นสารพิษ ในธรรมชาตินั้นพบอัลคาลอยด์มากในพืชชั้นสูง ตามส่วนต่างๆ ของพืชเช่น ใบ ดอก ผล เมล็ด รากและเปลือก แต่ก็มีบ้างที่อัลคาลอยด์เป็นสารพิษจากเชื้อรา เช่น ergot alkaloid ที่เกิดจากราชื่อ Claviceps purpurea ซึ่งปนเปื้อนบนข้าวไรน์ที่เกี่ยวหนีหิมะไม่ทัน ส่วนพืชชนิดอื่นที่อาจพบกลัยโคอัลคาลอยด์ได้คือ มะเขือต่างๆ 
        หัวมันฝรั่งที่เริ่มออกสีเขียวเนื่องจากกำลังงอกนั้นมีสารพิษกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากปริมาณที่มีน้อยเป็นพึ้นฐานของหัวมันทั่วไป (ซึ่งไม่แสดงความเป็นพิษ) แต่ที่น่าสนใจคือ หัวมันที่ถูกโยนจนช้ำ (ทั้งจากคนงานและลูกค้าที่เลือกสินค้าแบบไร้มรรยาท) หัวมันที่เก็บในที่อุณหภูมิสูงไป ได้รับแสงแดด หรือมีแมลงเจาะ มักสร้างกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มขึ้น สมมุติฐานหนึ่งในการสร้างสารพิษกลุ่มนี้คือ เป็นการเตรียมตัวเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่จะเข้าโจมตี ประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีสารพิษเกิดขึ้นใต้เปลือกแล้ว สารพิษนั้นจะซึมไปรอบๆ ส่วนที่มีสีเขียว การตัดต้นหรือรากทิ้งแล้วเฉือนส่วนที่เป็นสีเขียวทิ้งนั้นไม่ได้ช่วยให้สารพิษหมดไป ทดสอบได้จากการลองชิมดูจะรู้สึกถึงรสขมซึ่งเป็นธรรมชาติของอัลคาลอยด์
        มีผู้หวังว่าการให้ความร้อนแก่มันฝรั่งระหว่างการปรุงอาหารน่าจะทำลายกลัยโคอัลคาลอยด์ได้ ซึ่งคำตอบคือ ไม่ ทั้งนี้เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นเป็นสารที่ค่อนข้างทนความร้อน การปรุงอาหารธรรมดาจึงทำลายได้ไม่มากนัก ในทางอุตสาหกรรม เช่น การทำมันฝรั่งทอด โดยพื้นฐานแล้วหัวมันมักถูกล้างในระบบการผลิตด้วยน้ำร้อนและลวกไอน้ำ โดยน้ำนั้นอาจมีการปรับให้มีฤทธิ์เป็นด่างเพื่อช่วยทำให้เปลือกยุ่ย ง่ายต่อการขัดให้เปลือกหลุดออกไปด้วยเครื่องอัตโนมัติ ดังนั้นสารพิษนี้จึงอาจหลุดละลายไปกับเปลือกที่หลุดในน้ำเป็นบางส่วน แต่ส่วนที่เหลือนั้นเมื่อถูกทอด ต้ม หรือผัดอย่างไร สารพิษก็ถูกทำลายได้ยาก ดังปรากฏเป็นการปนเปื้อนในมันฝรั่งทอดที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยและเป็นข่าวดังกล่าวข้างต้น 
        ในประเด็นว่ามีกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งดิบสักเท่าไรนั้น ข้อมูลจากเอกสารวิชาการหลายฉบับที่มีการเผยแพร่ในต่างประเทศกล่าวประมาณว่า โดยปรกติแล้วมีไม่เกิน 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทั้งหัว โดยเฉพาะส่วนใหญ่อยู่ที่เปลือกซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์อาจมากกว่า 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของเปลือก ดังนั้นจึงอาจไม่ปลอดภัยนักสำหรับผู้ที่ชอบกินมันฝรั่งปรุงสุกพร้อมเปลือกโดยหวังได้ใยอาหารเพิ่ม แต่ในหัวมันฝรั่งที่มีสีเขียวแล้วอาจมีกลัยโคอัลคาลอยด์ถึง 250–280 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทั้งหัว โดยส่วนเปลือกที่มีสีเขียวอาจมีถึง 1500 –2200 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของเปลือก 
        ปรกติแล้วถ้าผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทำจากมันฝรั่งสภาพดี ผู้บริโภคอาจไม่รู้สึกถึงรสขม อีกทั้งเรามักจิ้มผลิตภัณฑ์นั้นกับซอสที่ชอบ แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนของกลัยโคอัลคาลอยด์ปริมาณสูงและมีการบริโภคปริมาณมากความเป็นพิษอาจเกิดขึ้น เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ปวดท้อง ถ่ายท้อง อาเจียน ชีพจรเบาลง หายใจช้าลง ทั้งนี้เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นมีฤทธิ์ทำลายผนังเซลล์ของทางเดินอาหาร และเป็นสารพิษต่อระบบประสาทในลักษณะเดียวกับสารกำจัดแมลงชนิดออร์กาโนฟอสเฟตคือเป็น cholinesterase inhibitor แต่อาการนั้นไม่หนักถึงขั้นเสียชีวิตแบบเกษตรกรที่ได้รับสารกำจัดแมลงโดยตรง 
        ในประเทศที่บริโภคมันฝรั่งเป็นแหล่งของอาหารแป้งหลายๆ ประเทศนั้น ได้มีการเผยแพร่ความรู้ถึงวิธีการป้องกันการเพิ่มขึ้นของกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งว่า ควรเก็บมันฝรั่งในที่เย็นและไม่ควรนานนัก เพราะขนาดอยู่ในตู้เย็นแล้วมันฝรั่งซึ่งเป็นพืชเขตอบอุ่นนั้นยังงอกได้ มีผู้พบว่ามันฝรั่งเก็บที่ 25 องศาเซลเซียสเกิดกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มเป็น 3 เท่าของการเก็บในตู้เย็น ที่ 7 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำว่า ไม่ควรให้หัวมันโดนแสงแดดหรือแสงไฟโดยไม่จำเป็น ต้องขนส่งอย่างเบามืออย่าให้ช้ำ และที่สำคัญคือ ต้องอยู่ในภาชนะกันแมลงได้ 
        ในกรณีที่มันฝรั่งถูกเก็บอย่างดีแต่นานไปหน่อยจนงอกแล้ว ผู้เขียนได้ลองนำไปฝังดินปนทรายแล้วรดน้ำไม่ต้องมากนักจะพบว่ามันงอกได้และออกดอกคล้ายมะเขือด้วย ทั้งนี้เพราะมันฝรั่งหรือ potato (Solanum tuberosum) และมะเขือหรือ eggplant (Solanum melongena) นั้นเป็นญาติสนิทกัน และณ.วันที่เขียนบทความนี้ผู้เขียนกำลังรอว่า จากมันหนึ่งหัวที่ฝังดินไว้จะเพิ่มเป็นมันหลายหัวได้หรือไม่

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค มันฝรั่ง มันฝรั่งทอด

ฉบับที่ 275 นัดยานัตถุ์แทนสูบบุหรี่ลดมะเร็งปอด

        เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในเว็บ pantip.com มีกระทู้หนึ่งถามว่า ยานัตถุ์ อันตรายมั้ยคะ โดยมีใจความสำคัญว่า “คุณพ่อดิฉันเลิกบุหรี่ได้ ก็มานัดยานัตถุ์ได้หลายปีแล้วค่ะ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เคยเห็นเสมหะคุณพ่อมีสีดำๆ วันก่อนลูกสาวดิฉันเห็นคุณตาจามมีน้ำมูกเป็นสีดำๆ เลยมาบอกดิฉัน ดิฉันเลยกังวล ว่าจะอันตรายไหม แล้วที่สูดผงๆนั่ นเข้าไป มันจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหลอดลมกับปอด ตามความเข้าใจของดิฉัน ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ”         จากนั้นก็มีผู้เข้ามาตอบกระทู้ว่า “มันน่าจะเข้าไปที่ปอดได้บ้าง แต่จังหวะที่เป่านั้น เท่ากับหายใจออกครับ ผงยาจะเคลือบฝังจมูกอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำมูกจะถูกขับออกมา เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม พิษนั้นมีน้อยกว่า ควันที่ได้จากใบยาสูบ อันเป็นส่วผสมหลักเดียวกันกับบุหรี่ โดยยานัด XXX มีใบยาสูบ ประมาณ 50 % นอกนั้นเป็นสมุนไพร และที่ช่วยทำให้เย็นอย่างหนึ่งคือพิมเสนครับ ยานัตถุ์สามารถช่วย ระงับการจามจากภูมิแพ้ได้ชะงัก และสามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้อย่างดี เพราะมีส่วนผสมของสารนิโคตินนั้นเอง....” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เมื่อมีทั้งคำถามและคำตอบ นั่นแสดงว่า การนัดยานัตถุ์นั้นยังมีปรากฏอยู่ในบ้านเรา         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า         ในประเทศไทยนั้น ยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษคือ snuff) คือ ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูกเพื่อบำบัดโรคหรือวัตถุประสงค์อื่น ตัวยาอาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่มีผงใบยาสูบเป็นหลัก อาจผสม สเปียร์มินต์ (มีองค์ประกอบเป็น คาร์โวน ลิโมนีน เมนทอล และเมนโทนให้ความหอมเย็น) อบเชย เมนทอล การบูร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์ถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน         ยานัตถุ์มี 2 ประเภทคือ ยานัตถุ์แบบชื้น (Moist snuff) ซึ่งผู้ใช้เหน็บยานัตถุ์แบบนี้ที่หลังริมฝีปากบนหรือล่างหรือระหว่างแก้มกับเหงือก (ว่าไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ยาฉุนของคนไทยโบราณ) ซึ่งผู้บริโภคต้องคายหรือกลืนน้ำยาสูบที่สะสมอยู่ซ้ำๆ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งมักคายทิ้ง ส่วนยานัตถุ์ประเภทที่ 2 เป็นแบบแห้ง (Dry snuff) ซึ่งใช้โดยการสูดหายใจเข้าทางจมูกที่มีการใช้มานานพอควรในประเทศไทย โดยนำผงยานัตถุ์บรรจุลงไปในท่อเหล็กรูปตัวยู ใส่ปลายท่อด้านหนึ่งเข้ารูจมูกแล้วใช้ปากเป่าปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ตัวยาฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่ ปัจจุบันการนัดยาในประเทศไทยนั้นยังพบเห็นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุตามชนบทบางจังหวัด         ในประเทศไทยนั้นยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษใด ๆ ร่างกายดูดซึมนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุปากหรือจมูก ระดับนิโคตินในเลือดมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้ยานัตถุ์         เมื่อ 16 มีนาคม 2023 www.fda.gov มีบทความเรื่อง FDA Authorizes Copenhagen Classic Snuff to be Marketed as a Modified Risk Tobacco Product มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่อย่างเข้มงวด รวมถึงคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products Scientific Advisory Committee) ความคิดเห็นสาธารณะ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คำกล่าวอ้างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในส่วนที่เกี่ยวกับยานัตถุ์นั้น มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดลดลงได้ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯไม่ได้กล่าวว่า ยานัตถุ์นั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเสพยานัตถุ์ก็ไม่ควรเริ่มเสพ เพราะถ้าไปดูข้อความบนตลับยานัตถุ์ที่มีขายในสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อนั้นจะพบคำเตือนประมาณว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เกิดโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้ (This product can cause gum disease and tooth loss)         ในเว็บ www.health.harvard.edu เมื่อ 17 เมษายน 2023 มีบทความเรื่อง Is snuff really safer than smoking? ซึ่งให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ทดลองโครงการใช้ยานัตถุ์เป็นทางลดการสูบบุหรี่ โดยบริษัทผู้ขายยานัตถุ์ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้อัตรามะเร็งปอดลดลง แต่ถ้ากระบวนการทางการตลาดแบบใหม่ของยานัตถุ์กลายเป็นการดึงดูดผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมถึงวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ยานัตถุ์มาก่อนมาใช้ยานัตถุ์จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก โครงการนี้ต้องถูกยกเลิก         ในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถิติของ US.CDC (Centers for Disease Control and Prevention) นั้น ผู้ใหญ่ 5.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันเป็นประจำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรผู้ใหญ่ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายก็ใช้เช่นกันด้วยร้อยละที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.6 % และประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลว่า การใช้ยานัตถุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสูบบุหรี่คือ แค่ $300 ถึง $1,000 ต่อปี เทียบกับหลายพันดอลลาร์ต่อปีที่บางคนจ่ายในการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ไม่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสควันบุหรี่มือสอง         ในด้านความปลอดภัยของยานัตถุ์นั้น ผู้บริโภคจำต้องรับสภาพว่า มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษใดบ้างเมื่อเริ่มใช้ ในบทความเรื่อง Smokeless tobacco and cigarette smoking: chemical mechanisms and cancer prevention ในวารสาร Nature Reviews Cancer ของปี 2022 ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันจำนวนมากนำไปสู่การสัมผัสสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งรวมถึงสารกลุ่มไนโตรซามีนเช่น  เอ็น-ไนโตรโซนอร์นิโคติน (N'-nitrosonornicotine) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งช่องปากที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารไนโตรซามีนที่พบเฉพาะในใบยาสูบ (ที่ยังไม่ถูกเผาไหม้หลังบ่ม) เกิดจากปฏิกิริยาของอัลคาลอยด์ในยาสูบกับเกลือไนไตรต์ ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ N'-nitrosonornicotine (NNN), 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) และ 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanol (NNAL) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อมะเร็งปอด         จากการตั้งความหวังว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในการใช้ยานัตถุ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่นั้น แต่โอกาสก่อปัญหาสุขภาพยังมีอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก US.CDC ที่กล่าวว่า ยานัตถุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก (เช่น ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม) หลอดอาหาร และตับอ่อน มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่ออันตรายต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา ก่อปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันเปลี่ยนสี โรคเหงือก ฟันเสียหาย สูญเสียกระดูกรอบฟัน ฟันหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในผู้ใช้ที่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ จึงกลายเป็นนิสัยที่ยากจะเลิกได้อย่างรวดเร็ว         สุดท้ายแล้วสถานะของการนัตถุ์ยาต่อผู้บริโภคทั่วไปนั้นคือ ควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่ใช่ผู้เสพติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่าแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุว่า การนัตถุ์ยาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่สิ่งสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่มีการสนับสนุนการใช้ยานัตถุ์และไม่รับรองให้ยานัตถุ์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการสันทนาการ ที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือ การไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 ทำไมคุกถึงเต็ม..วิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบ

        การได้รับสารตะกั่วอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ความบกพร่องของระบบไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตช้า แต่ประเด็นที่สำคัญสุดคือ ความเสียหายต่อระบบประสาท เนื่องจากการสัมผัสสารตะกั่วอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบทางระบบประสาทหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการทำงานของการรับรู้โดยรวมของสมองลดลง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงลบ เชาวน์ปัญญา (IQ) ลดลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ความจำไม่ดีพร้อมกับความเข้าใจและการอ่านบกพร่อง ตะกั่วในสิ่งแวดล้อมมาจากไหนถึงเข้าไปอยู่ในตัวมนุษย์ได้ คนไทยมีคำตอบนี้ทุกคนหรือไม่         ปัญหาการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่นั้นไม่เท่ากัน ผลกระทบของการสัมผัสสารตะกั่วต่อเด็กมีความรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากการดูดซึมสารตะกั่วทางสรีรวิทยาในเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบทางระบบประสาทที่ไม่สามารถบำบัดให้หายได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US. Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า "ไม่มีระดับการสัมผัสสารตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก" และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลดค่าอ้างอิงสารตะกั่วในเลือดจาก 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร เป็น 3.5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรม         มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรมคือ บทความเรื่อง Association of Childhood Blood Lead Levels With Criminal Offending (การเชื่อมโยงผลของระดับสารตะกั่วในเลือดในวัยเด็กในการก่อความผิดทางอาญา) ในวารสาร JAMA Pediatrics ของปี 2017 ซึ่งเป็นการศึกษาซึ่งติดตามกลุ่มประชากรของนิวซีแลนด์ที่เกิดระหว่างวันที่ 1 เมษายน 1972 ถึง 31 มีนาคม 1973 (ประมาณกว่า 50 ปีมาแล้ว) โดยมีผู้เข้าร่วมหญิง 255 คนและชาย 298 คน ตั้งแต่เด็กจนมีอายุ 38 ปี (ธันวาคม 2012) โดยเมื่ออายุ 11 ปีผู้เข้าร่วมได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่วแล้วพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.01 ไมโครกรัม/เดซิลิตร จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปพบว่า ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 154 คน (27.8%) มีความผิดทางอาญา, 86 คน (15.6%) ถูกพิพากษาลงโทษซ้ำ และ 53 คน (9.6%) มีความผิดฐานกระทำความผิดรุนแรง และเมื่อพิจารณาถึงอายุที่ก่อความผิดพบว่า เริ่มเพิ่มขึ้นที่อายุ 15 ปี จนถึงจุดสูงสุดที่อายุ 18 - 21 ปี และจากนั้นลดต่ำลงเท่าที่อายุ 15 ปี เมื่ออายุ 38 ปี อย่างไรก็ดีแม้เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติโดยรวมแล้วกลับพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างระดับสารตะกั่วในเลือดและการก่ออาชญากรรมนั้นมีความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำ ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของงานวิจัยนี้ในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารตะกั่วในเลือดและการกระทำผิดทางอาญาที่เป็นผลสืบเนื่อง         ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ในประเด็นเดียวกันซึ่งทำวิจัยแบบ meta-analysis ของนักวิจัยจาก George Washington University เรื่อง The association between lead exposure and crime: A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วกับอาชญากรรม) ในวารสาร PLOS Global Public Health ของปี 2023 ซึ่งได้พิจารณาบทความ 17 บทความจาก 617 บทความที่เลือกมาพิจารณาตอนเริ่มต้น โดยผลการศึกษาได้เชื่อมโยงการสัมผัสสารตะกั่วทั้งในขณะอยู่ในครรภ์หรือในช่วงวัยเด็กกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการมีพฤติกรรมในการก่ออาชญากรรมในวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยนี้ระบุในท้ายที่สุดถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างสารตะกั่วและรูปแบบการก่อความเสียหายต่อพฤติกรรมเมื่อเด็กโต แม้ว่าความเข้มข้นของสารตะกั่วในเลือดจะต่ำมากก็ตาม         เนื้อหาและประเด็นสำคัญในงานวิจัยของนักวิจัยจาก George Washington University ดูน่าสนใจมาก เพราะผู้วิจัยได้ทำการทบทวนการศึกษา 17 เรื่องซึ่งระบุถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งรวมถึงการก่ออาชญากรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในหลายประเทศแล้วสรุปการพบหลักฐานว่า การสัมผัสสารตะกั่วมีความเกี่ยวข้องต่อผลกระทบทางชีวภาพในเด็กที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในระยะยาว ผู้ทำวิจัยเน้นว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยต่อการสัมผัสสารตะกั่วสำหรับเด็ก และประเทศต่างๆ ควรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องเด็กและสตรีมีครรภ์จากการได้รับสารตะกั่ว เพื่อส่งเสริมสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคนประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาหรือไม่         เป็นที่รู้กันในวงนักวิชาการว่า การสัมผัสสารตะกั่วอาจมาจากหลายแหล่ง เช่น ขยะอุตสาหกรรม แบตเตอรี่รีไซเคิล สีที่มีสารตะกั่ว แหล่งอาหารต่างๆ และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น ของเล่นเด็กบางประเภท เครื่องครัว และถ้วยชามเซรามิกหรือกระเบื้องเคลือบ ประเด็นสำคัญคือ หน่วยราชการและองค์กรเกี่ยวกับการออกกฏหมายของไทยมีความตระหนักถึงปัญหาเนื่องจากสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมอย่างไร          เว็บของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (https://www.mnre.go.th) มีบทความเรื่อง ภัยร้ายใกล้ตัวจากพิษของตะกั่ว และเว็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th) มีเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคพิษตะกั่วในกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งทั้งสองบทความได้ให้ข้อมูลถึงอันตรายจากตะกั่วอย่างลึกซึ้ง แสดงว่า หน่วยราชการเข้าใจดีถึงภัยและแหล่งที่มาของสารตะกั่วที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ประกอบการต่างๆ นั้นไม่สามารถอ้างถึงความไม่รู้ในกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับตะกั่ว เพราะมีประกาศสำคัญคือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโรงงานหลอมตะกั่วจากแบตเตอรี่เก่า ซึ่งมีการบังคับเกี่ยวกับการดำเนินการกำจัดขยะสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กฏหมายนี้ได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544        สำหรับตัวอย่างงานวิจัยที่ระบุถึงปัญหาสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของไทยนั้น เช่น รายงานการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณใน พ.ศ. 2542 เรื่อง การปนเปื้อนของตะกั่วและโครเมียมในน้ำทิ้งจากการย้อมสีกระจูดที่ทะเลน้อย ที่พบว่า ปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.050-0.123 พีพีเอ็ม ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.082 พีพีเอ็ม ตัวเลขดังกล่าวนี้เกินค่ามาตรฐานที่ยิมยอมให้มีได้คือ 0.05 พีพีเอ็ม และปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขจากงานวิจัยใดที่บอกว่า ปริมาณตะกั่วและโครเมียมในทะเลน้อยจังหวัดพัทลุงนั้นลดหรือเพิ่มแต่อย่างใด         คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งของตะกั่วที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ข้อมูลที่อาจให้คำตอบต่อคำถามนี้ได้จากเว็บไซต์ของหอสมุดรัฐสภา (https://library.parliament.go.th/th) ซึ่งมีบทความเรื่อง ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เรียบเรียงโดย วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยบทความดังกล่าวออกอากาศเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา          ข้อมูลที่น่าสนใจตอนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าขยะบางประเภทเพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่า มีการนำเข้าขยะมาอย่างผิดเงื่อนไข มีการลักลอบนำเศษซากอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ใช้ไม่ได้ปะปนเข้ามาภายในประเทศด้วย โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าขยะสูงขึ้นมาก โดยใน พ.ศ. 2558 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกประมาณ 7.7 หมื่นตัน แต่ใน พ.ศ. 2560 มีปริมาณเกือบ 3 แสนตัน และใน พ.ศ. 2561 สูงถึงกว่า 6.2 แสนตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกรายใหญ่ของโลกได้ห้ามนำเข้าขยะ 24 ประเภทเมื่อปลาย พ.ศ. 2560 จึงทำให้ขยะเป็นจำนวนมากเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่มีการควบคุมน้อยกว่า ซึ่งเป้าหมายใหม่คือประเทศในอาเชียน ซึ่งรวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วย”         ข้อมูลล่าสุด (https://workpointtoday.com, 23 ก.พ. 2566) ที่ดูน่าจะพอทำให้ใจชื้นได้บ้างว่า รัฐบาลที่ผ่านไปแล้วได้ประกาศว่า “ใช้ความพยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการกันอย่างน้อยจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและเป็นขั้นเป็นตอน โดยยึดหลักความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า ควบคู่กับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสำคัญ” ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูว่า มันจะเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปอ่านเอกสาร ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ดาวน์โหลดมาอ่านได้ https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1775920210326023304.pdf) เรื่อง สังเขปค่าอ้างอิงทางสุขภาพสำหรับการประเมินความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสุขภาพจากตะกั่วด้วยตัวอย่างเลือด ซึ่งอาจพอทำให้เห็นภาพว่า อนาคตเกี่ยวกับปริมาณตะกั่วในเลือดคนไทยนั้นเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 รู้ก่อนดื่มกาแฟไร้คาเฟอีน

        สมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐฯ (National Coffee Association - NCA) ระบุว่า การดื่มกาแฟปราศจากคาเฟอีนหรือดีแคฟ  (decaffeinated coffee) นั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10% ของตลาดในสหรัฐอเมริกา กาแฟประเภทนี้เหมาะกับคนที่มีปัญหาดื่มกาแฟปรกติแล้วใจสั่น คนที่ต้องนอนหลับให้ได้ในเวลาที่กำหนด ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้หญิงที่ตั้งท้อง ฯ จึงเลี่ยงไปดื่มกาแฟที่ได้มาจากกระบวนการสกัดสารคาเฟอีนออก พฤติกรรมนี้ดูแล้วน่าจะดีต่อสุขภาพ (จิต) อย่างไรก็ดีหลังจากที่หลายคนได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟประเภทนี้มากขึ้นกว่าผู้บริโภคทั่วไปก็พบว่า กาแฟดีแคฟบางยี่ห้อผ่านการผลิตโดยอาศัยสารเคมีซึ่งมีข้อมูลควรระวัง ส่งผลให้ความกังวลใจ (มากกว่าเดิม) มาเยี่ยมเยือน ผู้บริโภคกลุ่มนี้ควรได้รับการบอกกล่าวอย่างไรถึงจะมีความสบายใจขึ้นในการดื่มกาแฟดีแคฟ  กาแฟไร้คาเฟอีนนั้นผลิตอย่างไร         กาแฟประเภทนี้ผลิตจากเมล็ดกาแฟที่คาเฟอีนถูกกำจัดออกไปอย่างน้อย 97% นั่นคือ สำหรับเมล็ดกาแฟทุกๆ 100 กรัม ปริมาณคาเฟอีนควรไม่เกิน 0.1 กรัม (สำหรับในประเทศไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 197) พ.ศ. 2543 เรื่อง กาแฟ กำหนดว่า มีคาเฟอีนไม่เกินร้อยละ 0.1 ของน้ำหนัก)         มีหลายวิธีในการขจัดคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟ เช่น การใช้น้ำช่วยพร้อมการกรองด้วยถ่านกัมมันต์ (Swiss water process) กระบวนการที่สองคือ การใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ คือ methylene chloride (ซึ่งมีอีกชื่อคือ dichloromethane) หรือใช้ ethyl acetate ช่วยในการผลิต และกระบวนการสุดท้ายเป็นการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลว (supercritical fluid extraction ซึ่งมีค่าความดันวิกฤตเป็น 73.8 บาร์ และอุณหภูมิวิกฤตเป็น 31.1 องศาเซลเซียส) ช่วยในการผลิต         ส่วนขั้นตอนการผลิตกาแฟดีแคฟแบบสั้นๆ คือ เมล็ดกาแฟถูกล้างในตัวทำละลายจนกระทั่งสกัดคาเฟอีนออกมามากที่สุด จากนั้นจึงกำจัดตัวทำละลายออก แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปคั่วและบด คุณสมบัติของกาแฟไร้คาเฟอีนควรเกือบเหมือนกับกาแฟทั่วไป ยกเว้นปริมาณคาเฟอีนที่มีน้อยมาก ทำไมบางคนถึงกังวลกับดีแคฟที่ผลิตโดยใช้สารเคมีช่วยในการกำจัดคาเฟอีน          Methylene chloride เป็นสารออกฤทธิ์หลักในน้ำยาล้างสี (paint stripper หรือ paint remover) ที่ถูกห้ามโดย US.EPA ในเดือนมีนาคมปี 2019 ในทางตรงกันข้ามปัจจุบัน US.FDA ยังอนุญาตให้ใช้ Methylene chloride ในกระบวนการกำจัดคาเฟอีน (ทำหน้าที่เป็น processing aid) ในกาแฟโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผกระบวนการกำจัดคาเฟอีนบนฉลาก         Methylene chloride ในปริมาณน้อยถูกร่างกายเผาผลาญให้เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ที่อาจนำไปสู่พิษจากคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ในผู้อ่อนไหวบางคน รายงาน Report on Carcinogens, Fifteenth Edition (2021) ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปเล่มและออนไลน์ของ U.S. National Toxicology Program ให้ข้อมูลว่า Methylene chloride (หรือ Dichloromethane) ได้รับการจัดว่า เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยอาศัยหลักฐานที่เพียงพอของการก่อมะเร็งจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง เพียงแต่ข้อมูลทางระบาดวิทยายังไม่พอ อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัยที่บอกว่าระดับใดของ Methylene chloride ในอาหารที่อาจก่อมะเร็งในคน สำหรับ IARC (International Agency for Research on Cancer องค์กรหนึ่งซึ่งสังกัดองค์การอนามัยโลกที่มีบทบาทในการประเมินและจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งแล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรียกว่า IARC Monograph) กล่าวว่า Methylene chloride อยู่ใน Group 2B (possibly causing cancer in humans)         ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อกาแฟดีแคฟจากออนไลน์หรือจากซูเปอร์มาเก็ตได้เป็นบางยี่ห้อที่ระบุการกำจัดคาเฟอีนด้วย Swiss water process ซึ่งมักมีราคาแพงกว่าชนิดที่ไม่บอกกระบวนการเอาคาเฟอีนออก อย่างไรก็ดีไม่มีอะไรเป็นการรับประกันว่าจะได้ของตรงฉลาก (เมื่อซื้อออนไลน์) ยกเว้นเชื่อในความน่าเชื่อถือของผู้ขายที่ไม่ใช่ตัวแทนโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต มีข้อมูลหรือไม่ว่า กาแฟดีแคฟมี Methylene chloride ตกค้าง         ปัจจุบันหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินอันตรายต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (California Environmental Health Hazard Assessment) ได้เพิ่ม Methylene chloride เข้าไปในรายการของข้อเสนอ 65 (Prop. 65) เพราะการประเมินอย่างเป็นทางการของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นได้สรุปว่า ในระหว่างตั้งครรภ์ Methylene chloride สามารถถ่ายทอดจากแม่ (สัตว์ทดลอง) สู่ลูกได้         สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากทั้งสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ล้วนเป็นผู้บริโภคกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนเป็นประจำ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่ากาแฟนั้นเอาคาเฟอีนออกด้วยวิธีใด เพราะฉลากกาแฟดีแคฟนั้นไม่บังคับให้ระบุวิธีการเอาคาเฟอีนออก นอกจากผู้ผลิตจะรู้สึกเองว่า ในการติดฉลากว่า ใช้กระบวนการ Swiss water process น่าจะก่อความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อบริโภคมากขึ้น         Clean Label Project ซึ่งเป็นองค์กรณ์เอกชน (NGO) ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกาได้มีเอกสารในเว็บขององค์กรเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2022 เรื่อง More Methylene Chloride! ซึ่งรายงานผลการวิเคราะห์ Methylene chloride ในกาแฟดีแคฟ หลายยี่ห้อโดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐบาล ผลปรากฏว่าพบ methylene chloride ในกาแฟดีแคฟบางยี่ห้อ (ขอสงวนนาม) ซึ่งผลการทดสอบในภาพรวมนั้นระดับของ Methylene chloride สูงขึ้นกว่าระดับที่เคยตรวจพบในครั้งก่อนหน้าเมื่อหลายปีราว 10 เท่า-100 เท่า แต่ก็ยังต่ำกว่าขีดจำกัดตามกฎระเบียบทั้งหมดที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมล็ดกาแฟสายพันธุ์ที่มีคาเฟอีนต่ำหรือไม่มีคาเฟอีนเลยมีหรือไม่         Wikipedia ให้ข้อมูลว่าในปี 2004 มีรายงานบนโลกออนไลน์ว่า กาแฟชนิดหนึ่งมียีน caffeine synthase บกพร่อง ส่งผลให้เกิดการสะสมธีโอโบรมีน (theobromine) แทนที่สารนี้จะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นคาเฟอีน ลักษณะดังกล่าวเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ การผสมข้ามพันธุ์จนเกิดภาวะดังกล่าวหรืออาจใช้กระบวนการทางพันธุวิศวกรรมเพื่อ knock out (ปิดการทำงาน) ยีนที่สร้างคาเฟอีน         ในปี 2009 ความก้าวหน้าในการปลูกเมล็ดกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนกลับมาเป็นที่สนใจอีก รายงานข่าวกล่าวว่า เป็นกาแฟชนิดที่เรียกว่า "Decaffito" คำๆ นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายคุณสมบัติกาแฟนี้ และเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทในบราซิล         กาแฟ Decaffito ที่พบในธรรมชาตินั้นคือ กาแฟสายพันธุ์ Coffea charrieriana ที่ปราศคาเฟอีน (หรือมีน้อยมาก) ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศเคนยา ทวีปอัฟริกา แต่รายละเอียดในรูปงานวิจัยนั้นตีพิมพ์ในวารสาร Botanical Journal of the Linnean Society ของปี 2008 เรื่อง A new caffeine-free coffee from Cameroon ส่วนเมล็ดกาแฟชนิดซึ่งมีคาเฟอีนเป็นองค์ประกอบสำคัญและนิยมปลูกทั่วโลกคือ Coffea arabica และ Coffea robusta โครงการค้นหากาแฟไร้คาเฟอีนนั้นเป็นอย่างไร         มีตัวอย่างโครงการลักษณะนี้ที่ศูนย์วิจัยกาแฟชั้นนำของ Instituto Agronomico de Campinas (IAC) ในบราซิล หน่วยงานนี้ได้เริ่มกระบวนสำคัญของโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการสองทศวรรษในการพัฒนากาแฟสายพันธุ์ที่ไม่มีคาเฟอีน (หรือมีต่ำมาก) ตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า การพัฒนาดังกล่าวมีศักยภาพทางธุรกิจที่โดดเด่นอย่างมาก         ความสำเร็จของสายพันธุ์กาแฟที่เพาะได้อาจเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มในภูมิภาคที่มีการบริโภคมหาศาล อย่างเช่น ยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งลูกค้าต้องการดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่มาจากธรรมชาติแทนที่การดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่ต้องผ่านกระบวนการทางเคมี นอกจากนั้นบริษัทที่จำหน่ายกาแฟไร้คาเฟอีนจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากสามารถข้ามขั้นตอนทางอุตสาหกรรมในการขจัดสารคาเฟอีนออกจากกาแฟพันธุ์ปกติไปได้ พร้อมกับภาพพจน์ที่ว่า บริษัทนั้นใส่ใจต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค         ปัจจุบันกาแฟบางสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นภายในศูนย์วิจัยการแฟของ IAC ให้มีคาเฟอีนต่ำนั้น ได้ถูกนำไปปลูกตามภูมิภาคต่างๆ ของบราซิลแล้ว โดยต้นกาแฟมักใช้เวลาราวสองถึงสามปีจึงจะออกผลผลิตเป็นครั้งแรกเพื่อทดสอบผลที่ได้ อย่างไรก็ดียังไม่มีใครสนใจกล่าวถึงธีโอโบรมีนที่อาจสูงขึ้นได้ในกาแฟที่ไร้คาเฟอีนว่า อาจก่อปัญหาอื่นตามมา เพราะเคยมีข่าวในบ้านเราว่า เด็กสาวเกือบขิตเพราะดื่มโกโก้เย็นที่ชงอย่างเข้มข้น (ซึ่งโกโก้นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีธีโอโบรมีนสูงเป็นซิกเนเจอร์)

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)