ฉบับที่ 252 ผลทดสอบสารตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

        ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง   
        การสุ่มเก็บตัวอย่างส้มทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 โดยเก็บจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ แต่ไม่รวมสารกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 
 
รายละเอียดการเก็บตัวอย่างทดสอบ  
        ส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile
 

 
สรุปผลการทดสอบ
จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า
        1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 .. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) .. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท
        2. น้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ
 
ข้อสังเกตจากการทดสอบ 
        จากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 
        สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
  
สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้
        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ 
        2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ 
        3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67% 
        4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง 
        กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ
  
รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้ม


ฉลาดซื้อแนะ
        เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย 
        ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง 
        ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่




แหล่งข้อมูล: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน)

300 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ส้ม น้ำส้ม สารตกค้าง น้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท น้ำส้มกล่อง น้ำส้มขวด

ฉบับที่ 265 ฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”

        ในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลเนื่องจากความขาดจิตสำนึกของผู้ประกอบการที่มักง่ายนำวัตถุอันตรายมาใช้กับอาหารเพื่อหวังผลในการป้องกันการเน่าเสียโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค         อาหารที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักพบการปนเปื้อนฟอร์มาลินคือ อาหารทะเล ข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ปีงบประมาณ 2563 ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปลอมปนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง (ร้อยละ 5.02) โดยพบมากที่สุดในปลาหมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ ปลาหมึก ร้อยละ 2.36 แมงกะพรุน ร้อยละ  1.55 และกุ้งร้อยละ 0.14 ตามลำดับ          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่าง หมึกกรอบ จำนวน  14 ตัวอย่าง จากแหล่งจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง และร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง  แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ        จาก “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลินสูงสุด 3 อันดับแรก คือ        1) 1576.63 มก./กก. จากตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ในแพลตฟอร์ม SHOPEE ร้าน PPN seafood wishing           2) 1238.63 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด อตก. กรุงเทพฯ ร้านคุณจอย ไข่สด        3) 1072.17 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด ปากน้ำ สมุทรปราการ ร้าน หญิง & เต๋อ          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตารางผลทดสอบ        ผลทดสอบสารฟอร์มาลินในหมึกกรอบจำนวน 14 ตัวอย่าง        เก็บตัวอย่างเดือน เมษายน 2566        ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น         วิธีลดความเสี่ยงจากหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลิน        1.ไม่ซื้อหมึกกรอบที่มีกลิ่นฉุน แสบจมูก        2.ล้างให้สะอาดก่อนรับประทานด้วยการแช่น้ำนาน 5-10 นาทีแล้วล้างซ้ำด้วยน้ำอีกสองถึงสามครั้งหรืออาจแช่ด้วยน้ำที่ละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ        3.กรณีกินในร้านอาหารควรรับประทานในปริมาณไม่มาก หรือเลือกร้านที่มีการทำความสะอาดอาหารอย่างดีก่อนนำมาเสิร์ฟลูกค้าขอบคุณข้อมูลจากฟอร์มาลิน-ฟอร์มัลดีไฮด์ | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)ขอบคุณข้อมูลจากคลิป สูตรปลาหมึกกรอบจากปลาหมึกแห้ง ทำเองไม่ง้อร้าน (trueid.net)

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 264 ผลสำรวจฉลากเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink)

        เครื่องดื่มชูกำลัง  เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยคุ้นเคย เพราะเริ่มต้นจากสร้างภาพโฆษณาการขายจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ชาวบ้าน และด้วยราคาจำหน่ายที่ไม่แพง เข้าถึงง่ายทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก เกิดมูลค่าทางการตลาดสูง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ผลิตหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้นโดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2564 ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverage) รวมอยู่ที่ราว 97-1.99 แสนล้านบาท ในจำนวนมูลค่าทั้งหมดนี้ เครื่องดื่มชูกำลัง ถือสัดส่วนมากเป็นลำดับที่ 3 คือราวร้อยละ13 มีมูลค่าในตลาดกว่า 30,000 ล้านบาทเป็นรองจากเครื่องดื่มน้ำอัดลมและโซดา (ร้อยละ 31)  และน้ำดื่ม (ร้อยละ 22) เท่านั้น         ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มชูกำลังมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง จากเครื่องดื่มสำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  เมื่อเพิ่มส่วนผสมวิตามินต่างๆ และสมุนไพร  เช่น โสม กระชายดำ ทำให้มีภาพลักษณ์เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารกรุงเทพที่พบว่า การปรับให้มีภาพว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ช่วยผลักดันตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตขึ้นแม้ในสถานการณ์โควิด 19  เครื่องดื่มชูกำลังยังขยายกลุ่มเป้าหมาย ปรับเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และเฉพาะกลุ่มมากขึ้นบางแบรนด์ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าคือกลุ่มผู้ชอบเล่นเกมส์โดยเฉพาะ          นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง จำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ  ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคพิจารณาได้ครบถ้วน            ผลการสำรวจฉลาก        1.  20 ตัวอย่าง ระบุว่า ใช้วัตถุกันเสีย          2.  19 ตัวอย่าง  ระบุว่าใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  มี 1 ตัวอย่าง คือ  คันโซ  คูณสอง ระบุไม่ผสมวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล        3.  เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่ให้พลังงานมาก 5 ลำดับแรก  1) คันโซ คูณสอง ให้พลังงาน 110 กิโลแคลอรี(Kcal) ต่อ 1 หน่วยบริโภคหรือ 1 ขวด  2) ไทยเทเนียม พาวเวอร์ ให้พลังงาน 100 (Kcal) 3) คอมมานโด  ออริจินอล และอัศวิน เครื่องดื่มสมุนไพรให้พลังงาน 80 (Kcal)  4) โสมพลัส ให้พลังงาน 70 (Kcal)   และ 5) กระทิงแดง  ทีโอเปล็กซ์- แอล และเอ็ม 150 กระชายดำ ให้พลังงาน 60 (Kcal)           4.  เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่ให้ปริมาณน้ำตาลมาก 5 ลำดับแรก  1) คันโซ คูณสอง ให้น้ำตาล 28 กรัมต่อ 1 ขวด  2) คือ ไทยเทเนียม พาวเวอร์ ให้น้ำตาล 20 กรัม 3) คอมมานโด  ออริจินอล 18 กรัม 4) เอ็ม 150 กระชายดำ  15 กรัม และ 5) โสมพลัส 14 กรัม        5.  เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงที่สุดคือยี่ห้อร็อคสตาร์ 0.12 บาท และถูกที่สุดคือ พรีเดเตอร์ช็อต แอคทีป กลิ่นเบอร์รี่  ราคา 0.04 บาท        การควบคุมเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน/เครื่องดื่มชูกำลัง อยู่ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 402 พ.ศ.2562 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 2)         สาระสำคัญคือการแสดงฉลากกำหนดให้ระบุข้อความว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ...(ขวดหรือกระป๋องตามลักษณะบรรจุภัณฑ์) เพราะอาจทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” ด้วยตัวอักษรเส้นทึบสีแดง ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นขาว ฉลาดซื้อแนะ          -          เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนกำลังถูกชูภาพว่าช่วยเพิ่มพลังให้ร่างกายและปัจจุบันยังฉายภาพการเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยิ่งขึ้น แต่บางยี่ห้อให้ปริมาณน้ำตาลและพลังงานสูงกว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมด้วยซ้ำ เช่น เครื่องดื่มเป๊บซี่ – โคล่า 1 แก้ว (200 มล.) ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี และให้น้ำตาล 16 กรัม แต่ในเครื่องดื่มชูกำลัง  คันโซ  คูณสอง  (150 มล.) ให้พลังงาน 110 กิโลแคลอรี่ ให้น้ำตาล 28 ก. เครื่องดื่มชูกำลังจึงทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ไม่ต่างจากน้ำอัดลมและผู้ป่วยเบาหวานควรบริโภคอย่างพิจารณาระมัดระวัง        -          เมื่อเทียบปริมาณน้ำตาลที่เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด สามารถมีน้ำตาลได้ถึง 5 – 6 ช้อนชา ขณะที่ปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายควรได้รับไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน  อีกทั้งในแต่ละวันเรายังได้รับปริมาณน้ำตาลจากอาหารอื่นๆ อีกมาก จึงควรบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังเป็นครั้ง        -     มีวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีพลัง ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำสะอาดตั้งแต่ตื่นนอนจะช่วยปลุกให้ร่างกายเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสดใสจากภายใน การรับประทานอาหารที่ดีที่มีสารอาหารที่ครบถ้วน และการออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 263 วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการในอาหารเม็ดแมวโต

เมี้ยว...เมี้ยว...เมี้ยว...นุดคนไหนเป็นทาสแมว มามุงกันตรงนี้เร็ว!         ปัจจุบัน ราว 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทยมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน แน่นอนว่าต้องมีหลายบ้านที่เลี้ยงแมว และหลายคนไม่ได้เลี้ยงแบบคนรักสัตว์ทั่วไปเท่านั้น แต่ดูแลเหมือนลูกหรือสมาชิกในครอบครัวกันเลยทีเดียว โดยมีการสำรวจพบว่าทาสแมวพร้อมจ่ายเพื่อเลี้ยงเจ้าเหมียวเฉลี่ย 14,200 บาทต่อปี แบ่งเป็นค่าอาหารเม็ดทั้งปีอยู่ที่ 4,200 บาท (ที่มา : RS พฤศจิกายน 2564) หรือเดือนละ 350 บาท  เอาละ ไหนๆ จะจ่ายทั้งทีแล้ว ก็ต้องเลือกอาหารเม็ดที่ดีมีคุณภาพให้เจ้าเหมียวแสนรักกันหน่อย            นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก “อาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” จำนวน 12 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลาก และส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษที่ไม่ควรมี และสารอาหารต่างๆ ที่ควรมีอย่างเหมาะสม เพื่อให้ทาสแมวใช้ตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเม็ดให้แมวสุดเลิฟได้อย่างคุ้มค่า ให้เจ้าเหมียวกินแล้วเติบโตสมวัยอย่างปลอดภัยด้วยสรุปผลการวิเคราะห์         สิ่งที่ตรวจหาในการเปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมวครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่         1. กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี : สหภาพยุโรปกำหนดให้ในอาหารแมวมีไมโคทอกซิน HT-2 และ T-2 ได้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมว ส่วนองค์กรทดสอบระหว่างประเทศให้ข้อสังเกตไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 183 ว่าอาหารแมวไม่ต้องมีไฟเบอร์ก็ได้ เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน สรุปผลการทดสอบ             - ไม่พบ HT-2 ในทุกตัวอย่าง             - พบ T-2 ปริมาณน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท             - ทุกตัวอย่างมีไฟเบอร์มากกว่า 1% ยี่ห้อมีโอ รสปลาทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 1.99% ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 4.17%          2. กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี : อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ European Pet Food Industry Federation (FEDIAF 2021) แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีโซเดียม 80 มิลลิกรัม(0.08 กรัม) และแมกนีเซียม 40 มิลลิกรัม(0.04 กรัม)(หากแมวได้รับโซเดียมมากเกินไปจะเสี่ยงเป็นโรคไต และถ้าได้แมกนีเซียมมากเกินไปอาจเป็นนิ่วในไตได้) สรุปผลทดสอบ             - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมมากกว่า 80 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพียวริน่า ฟริสกี้ส์ รสรวมมิตรปลาทะเล มีมากที่สุด คือ 687.36 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 393.58 มิลลิกรัม             - ทุกตัวอย่างมีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 40 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพ็ทส์ เฟรนด์ รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 164.02 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 75.86 มิลลิกรัม         3. กลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี : อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ FEDIAF 2021 แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีทอรีน 100 มิลลิกรัม(0.10 กรัม) ทอรีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายแมวไม่สามารถผลิตเองได้ หากได้รับน้อยเกินไปอาจทำให้แมวตาบอด ขนหรือฟันร่วงก่อนเวลาอันควร รวมถึงมีความปกติของระบบสืบพันธุ์ โปรตีน 25 กรัม ไขมัน 9 กรัม แคลเซียม 400 มิลลิกรัม (0.40 กรัม) และฟอสฟอรัส 260 มิลลิกรัม (0.26 กรัม) สรุปผลทดสอบ             - ทุกตัวอย่างมีทอรีนมากกว่า 100 มิลลิกรัม ยกเว้นยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า มี 93.19 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อที่มีทอรีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 (197.09 มิลลิกรัม), วิสกัส รสปลาทูน่า (191.17 มิลลิกรัม) และมีโอ รสปลาทูน่า (187.90 มิลลิกรัม)             - ทุกตัวอย่างมีโปรตีนมากกว่า 25 กรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุดคือ 35.44 กรัม ส่วนยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 มีน้อยที่สุด คือ 26.95 กรัม             - ทุกตัวอย่างมีไขมันมากกว่า 9 กรัม ยี่ห้อแม็กซีม่า มีมากที่สุด คือ 22.4 กรัม ส่วนยี่ห้อเพ็ทส์เฟรนด์ รสทูน่า มีน้อยที่สุด คือ 10.1 กรัม            - ทุกตัวอย่างมีแคลเซียมมากกว่า 400 มิลลิกรัม ยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุด คือ 2035.37 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 813.08 มิลลิกรัม            - ทุกตัวอย่างมีฟอสฟอรัสมากกว่า 260 มิลลิกรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุด คือ 1382.41 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 695.47 มิลลิกรัม         และเมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณอาหารเม็ดแมว 1 กรัม พบว่ายี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท ราคาแพงที่สุด คือ 0.38 บาท ส่วนยี่ห้อโลตัส รสปลาทูน่า ราคาถูกที่สุด คือ 0.08 บาท ข้อสังเกต         - ฉลาดซื้อฉบับที่ 183 ได้เสนอผลทดสอบอาหารเม็ดสำหรับแมวโตเต็มวัย ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำร่วมกับห้องปฏิบัติการของสถาบันสัตวแพทย์แห่งชาติสวีเดนไว้ ซึ่งพบว่ามีไมโคทอกซิน มากถึง 180 ไมโครกรัม/กิโลกรัม แต่จากตัวอย่างอาหารแมวที่มีขายในบ้านเราครั้งนี้ตรวจพบไมโคทอกซิน ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยมาก อาจสะท้อนได้ว่าผู้ผลิตอาหารแมวใส่ใจในคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีไฟเบอร์มากกว่า 1 % ในทุกตัวอย่างเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว         - ทุกตัวอย่างมีความชื้นไม่มากกว่าร้อยละ 14 ของน้ำหนัก ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้         - ทุกตัวอย่างระบุข้อมูลคุณภาพของอาหารสัตว์ทางเคมี (โปรตีน ไขมัน และกาก) ไว้ตรงกับผลวิเคราะห์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ มีเพียงยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า ที่ฉลากระบุว่ามีโปรตีนไม่น้อยกว่า 30% แต่ผลวิเคระห์ออกมาได้ 29.83% (ซึ่งน่าจะพออนุโลมกันได้)        - ตัวอย่างส่วนใหญ่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแมวจะย่อยยากและอาจเกิดอาการแพ้ได้ ฉลาดซื้อแนะ         - ก่อนซื้อทุกครั้ง ต้องหาเลขทะเบียนอาหารสัตว์ให้เจอ โดยสังเกตตัวเลข 10 หลักที่อยู่ด้านหลังซองอาหารแมว เพื่อแสดงว่าอาหารผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว จากนั้นดูส่วนผสมและสารอาหารว่ามีอะไรบ้าง มีสารปรุงแต่งที่ต้องระวังไหม แสดงปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันให้หรือเปล่า ถ้ามีมาตรฐานรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ยิ่งดี ที่สำคัญคือต้องระบุวันหมดอายุไว้ชัดเจน         - อาหารเม็ดแมวมี 2 ประเภทหลัก ๆ คือสูตรโภชนาการครบถ้วนสำหรับแมวที่สุขภาพดี หาซื้อได้ทั่วไป และสูตรป้องกันโรคที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเฉพาะจุดสำหรับแมวป่วย ควรซื้อจากโรงพยาบาลสัตว์ และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน         - แม้ซื้ออาหารเม็ดแมวถุงใหญ่จะคุ้มกว่าถุงเล็ก แต่ถ้าเก็บไว้นานเกินไปจนทำให้กลิ่น รสชาติและสัมผัสของอาหารเม็ดเปลี่ยนไป แมวอาจไม่ยอมกิน ก็น่าเสียดาย จึงควรเลือกซื้ออาหารเม็ดแมวในปริมาณที่แมวสามารถกินหมดได้ภายใน 1 เดือนเพื่อรักษาความสดใหม่ไว้         - แมวแต่ละตัวมีโอกาสแพ้สารแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นธัญพืช โปรตีนจากสัตว์บางชนิด สารกันบูดและสารกันความชื้นต่าง ๆ หากสังเกตว่าแมวกินอาหารแล้วมีอาการผิดปกติ เช่นผื่นขึ้น ตุ่มขึ้น ตาบวม น้ำมูกน้ำตาไหล ให้เปลี่ยนอาหาร ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปรักษาและนำอาหารนั้นไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย         - ไม่ควรซื้ออาหารแมวที่มีสีสันฉูดฉาดเกินไป เพราะอาจมีส่วนผสมที่ทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไตได้        - ไม่ควรเทอาหารแมวค้างคืนหรือเททิ้งไว้นานจนเกินไป เพราะอาหารจะเสื่อมสภาพและเป็นแหล่งของเชื้อโรคแทนได้        - แม้แมวเป็นสัตว์กินเนื้อที่ไม่จำเป็นต้องได้รับไฟเบอร์สูงมากเท่าสัตว์กินพืช แต่ไฟเบอร์ก็มีประโยชน์สำหรับแมวที่มีปัญหาท้องผูก และแมวอ้วนลงพุงที่จำเป็นต้องลดน้ำหนักข้อมูลอ้างอิงhttps://europeanpetfood.org/wp-content/uploads/2022/03/Updated-Nutritional-Guidelines.pdfhttps://my-best.in.th/ (วิธีเลือกอาหารเม็ดแมว)https://www.talingchanpet.net/ (การอ่านฉลากอาหารสัตว์เลี้ยง)บทความ“Pet Parent” เลี้ยงสัตว์แบบเลี้ยงลูก กำลังมาแรง ในประเทศไทย โดย ลงทุนแมน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 263 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (2)

        จากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่าในปีนี้ประเทศไทยได้มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 หรือบริโภคไม่เกิน 700 - 800 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ภายในปี พ.ศ. 2568         ฉลาดซื้อฉบับที่ 261 (พฤศจิกายน 2565) ได้สำรวจโซเดียมในถั่วอบเกลือ (1) พบปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม ในฉบับนี้เราจะมาสำรวจต่อในกลุ่มถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ซึ่งเป็นซูเปอร์ฟู้ดขวัญใจคนรักสุขภาพกัน               นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ ถั่วอัลมอนด์ และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 19 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน และราคา นำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 19 ตัวอย่าง ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ 5 ตัวอย่าง ถั่วอัลมอลด์ 5 ตัวอย่าง และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 9 ตัวอย่าง พบว่า         - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 160 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อทองการ์เด้น อัลมอนด์อบเกลือ (มีโพแทสเซียม 220 มิลลิกรัมด้วย) และเจดีย์คู่ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ส่วนยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ในขณะที่ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม (แต่มีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม)          - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 9 กรัม ในยี่ห้อเจดีย์คู่ พิสตาชิโออบเกลือ   ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 3 กรัม         - ยี่ห้อคาเมล พิสทาชิโออบรสธรรมชาติ ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 40 กรัม ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 15 กรัม (ไม่รวมเปลือก) ราคาต่อปริมาณ         เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย ราคาแพงสุดคือ 1.15 บาท ส่วนยี่ห้อสแนคทาวน์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ราคาถูกสุดคือ 0.67 บาท  ตารางเปรียบเทียบผลสำรวจฉลากตัวอย่างถั่วอบเกลือ 2 กลุ่ม           จากตารางนี้พบว่า ตัวอย่างถั่วกลุ่มเปลือกแข็ง (Nut) มีปริมาณโซเดียมและโปรตีนต่อหน่วยบริโภคน้อยกว่าตัวอย่างถั่วกลุ่ม (1) แต่มีราคาสูงสุดต่อปริมาณ 1 กรัมแพงกว่าประมาณ 4.4 เท่า ข้อสังเกต         - มี 1 ตัวอย่างที่ได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” คือ ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม หรือ 633.33 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม)         -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์นี้ ได้แก่ ยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มี 31.25 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม และยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย มี 66.67 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม         - มี 2 ตัวอย่างที่ไม่ระบุข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหารไว้บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อคาเมล เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ และยี่ห้อลูคาส เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วเกลือ ฉลาดซื้อแนะ        - รสชาติเค็มๆ มันๆ ของถั่วอบเกลือ ทำให้ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน หากเผลอกินมากไปอาจได้รับพลังงานและโซเดียมเกินจำเป็นได้ ปริมาณที่แนะนำกันคือ 30 กรัมต่อวัน (ถั่วพิสทาชิโอ 30 เม็ด อัลมอนด์ 20 เม็ด และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 15 เม็ด อาจมากน้อยกว่านี้นิดหน่อยได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเมล็ดถั่วด้วย)         - แม้ไม่มีคำว่าเกลือในชื่อก็ไม่แน่ว่าจะไม่มีโซเดียม จึงควรพิจารณาส่วนประกอบและข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคไตและความดันสูง         - ถ้าเลือกได้ ควรเลือกถั่วอบที่ไม่ปรุงรสใดๆ เลย จะดีต่อสุขภาพมากที่สุด         - ควรเคี้ยวถั่วให้ละเอียดก่อนกลืน โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ หากเป็นถั่วเปลือกแข็งเมล็ดใหญ่ควรตำหรือบดให้เล็กลง เพื่อป้องกันการติดคอ สำลัก หรือฟันหักได้         - หากซื้อถั่วถุงใหญ่ ควรแบ่งบริโภคให้พอเหมาะ และเก็บถั่วที่เหลือในภาชนะที่ปิดมิดชิด วางไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงแสงแดดและความชื้นข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.th (เลือกกิน “ถั่ว” ให้ถูก ดีต่อสุขภาพแน่นอน)https://www.pobpad.com (ถั่วพิสตาชิโอ อาหารลดน้ำหนักและบำรุงสุขภาพ/ กินอัลมอนด์อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ/ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ของว่างเปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการ)

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)