ฉบับที่ 251 ส้มอมพิษ

        แคมเปญ "ส้มอมพิษ" หรือ Orange Spike เป็นกิจกรรมจากความร่วมมือกันของภาคีภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam)  ภายใต้แคมเปญ ผู้บริโภคที่รัก’ (Dear Consumers) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2654 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมหลักคือ การเชิญชวนให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องการใช้สารพิษในส้มและเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตติดคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตส้มได้ 
        คนไทยมีโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายได้จากการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเป็นระยะเวลานาน เพราะเกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายมากเกินไปจนเจ็บป่วย จากสถิติพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องถึง 85,000 รายต่อปี และผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งเฉลี่ยจะเกิดขึ้นถึง 122,757 คนต่อปีสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสารพิษตกค้างจากการบริโภคเป็นภัยเงียบที่พร้อมจะคุกคามผู้บริโภคตลอดเวลา การเสนอให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการติดคิวอาร์โค้ดแสดงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต นอกจากเป็นการยืนยันความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยแจกแจงถึงอันตรายของสารเคมีที่เกษตรกรใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ สามารถหลีกเลี่ยง และรักษาสุขภาพไว้ได้ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงอันตรายของสารพิษตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นงานเปิดตัวแคมเปญ 
        การรู้ถึงแหล่งที่มาของอาหาร เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถนำมาใช้พิจารณาในการซื้อสินค้าเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภค แคมเปญนี้จึงเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ขอให้ดำเนินการติดคิวอาร์โค้ดกำกับสำหรับการสแกนตรวจสอบที่มาของส้มที่วางจำหน่ายอย่างโปร่งใส  (Traceability)  ซึ่งจากภาพรวมที่ปรากฎในช่วงเวลาของการเริ่มต้นแคมเปญ พบว่า การสแกนคิวอาร์โค้ดของซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งโดยรวมยังให้ข้อมูลไม่มากพอ 
        ดังนั้นเพื่อติดตามสถานการณ์ในรอบหนึ่งปีหลังการเรียกร้องของภาคประชาสังคมต่อความรับผิดชอบของซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ บิ๊กซี โลตัส ท็อปส์ และแม็คโคร ในเรื่องการให้ข้อมูลย้อนกลับสินค้าในห่วงโซ่อุปทานส้มทางคณะทำงาน แคมเปญ "ส้มอมพิษ" จึงทำสำรวจ ในระหว่างวันที่ 11 – 30 .. 2564 พบว่า แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ดำเนินการสำรวจทั้ง 4 แห่ง ยังไม่มีความคืบหน้าหรือการปรับปรุงข้อมูลใน QR Code ได้ตรงตามข้อเรียกร้องของแคมเปญ



กรอบในการเรียกร้องให้นำเสนอเพื่อการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับสินค้าในห่วงโซ่อุปทานส้ม
    ชื่อสินค้า
    รูปสินค้า
        1. หมวดที่มาของส้ม ได้แก่ ชื่อสวน จังหวัดที่ตั้งของสวน ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก
        2. หมวดกระบวนการปลูกส้ม ได้แก่ กระบวนการเพาะปลูก ระยะเวลาการเพาะปลูก รายการสารเคมีที่ใช้ ข้อมูลการเก็บเกี่ยว วันที่ เก็บเกี่ยว ข้อมูลการเว้นระยะในการเพาะปลูก การเก็บรักษาและการขนย้ายผลิตผล
        3. หมวดกระบวนการคัดเลือกส้มของซูเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงการตรวจสอบย้อนกลับ การบันทึกข้อมูล ข้อมูลการปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว ข้อมูลการเก็บรักษา ข้อมูลการขนย้ายผลิตผล มาตรฐานที่ใช้คัดเลือก วิธีการคัดแยก โรงคัดแยก วันที่ในการจัดจำหน่าย


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ส้ม ส้มอมพิษ สารพิษในส้ม สารพิษ

ฉบับที่ 277 เอาใจสายเทรด (2) ทำความรู้จักกราฟแท่งเทียน

        วันนี้ยังคงเอาใจสายเทรดกันต่อ ด้วยการทำความรู้จักแบบคร่าวๆ กับกราฟชนิดหนึ่ง ต่อให้เป็นคนที่ไม่สนใจการลงทุนหรือการเทรดก็มีโอกาสผ่านหูผ่านตากันมาบ้างตามหน้าสื่อธุรกิจ-เศรษฐกิจ เจ้ากราฟประเภทนี้แทบจะเป็นกติกาท่าบังคับที่สายเทรดต้องเรียนรู้ ไม่งั้นจะไปต่อยาก         กราฟนี้มีชื่อว่า Candlestick Chart หรือกราฟแท่งเทียน         มันก็คือกราฟที่เป็นแท่งๆ มีสีเขียวกับสีแดง ยาวบ้าง สั้นบ้าง ที่เรียงต่อๆ บางช่วงก็ไต่ขึ้น บางช่วงก็ทรงๆ ออกด้านข้าง บ้างช่วงก็ไต่ลง และด้านบนกับด้านล่างก็มักจะมีเส้นตรงขีดขึ้นหรือลงต่อจากตัวแท่งเทียนเลยถูกเรียกว่า ไส้เทียน นี่แหละที่เรียกว่ากราฟแท่งเทียนและสายเทรดทุกคนต้องทำความรู้จักและตีความนัยที่เจ้าแท่งสีเหล่านี้กำลังบอกแนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคต         เจ้าแท่งเทียนนี่บอกอะไร? มันบอก 4 อย่างคือราคาซื้อขายแรกในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ใช้วาดแท่งเทียน, ราคาสุดท้ายที่มีการซื้อขายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่นำมาวาดแท่งเทียน, ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด         ตัวแท่งเทียนเป็นตัวบอกราคาเปิดและราคาปิดของหุ้นตัวหนึ่งๆ ในวันนั้นๆ ส่วนไส้เทียนคอยบอกว่าในวันนั้นๆ ราคาหุ้นที่นำมาวาดกราฟซื้อ-ขายกันที่ราคาสูงสุดและต่ำสุดเท่าไหร่ ถ้าราคาสุดท้ายของหุ้นในวันนั้นปิดสูงกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีเขียว (บางที่ใช้แท่งโปร่งๆ แทนสีเขียว) แต่ถ้าราคาสุดท้ายปิดต่ำกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีแดง         ทีนี้ก็จะมีคนถามว่า แล้วถ้าราคาปิดกับราคาเปิดเท่ากันล่ะ? กราฟแท่งเทียนของวันนั้นก็จะไม่มีตัวแท่งเทียน มีแค่ขีดแนวนอนพาดทับไส้เทียน รูปจะออกมาคล้ายกากบาท ซึ่งเส้นแนวนอนที่ว่าจะอยู่กลาง ค่อนไปทางด้านบน หรือค่อนไปทางด้านล่างก็ขึ้นกับการซื้อ-ขายหุ้นในวันนั้น         หรือพูดให้ง่ายๆ เข้า กราฟแท่งเทียนก็คือตัวบอกปริมาณความต้องการซื้อและขายหุ้นตัวหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งยังบอกสภาพทางจิตวิทยาหรืออารมณ์ของตลาดต่อหุ้นตัวนั้น ซึ่งช่วยให้เห็นลักษณะการซื้อ-ขาย รวมถึงแนวโน้มในอนาคต เช่น แรงซื้อจำนวนมากทำให้ราคาหุ้นปิดสุดท้ายสูงกว่าราคาเปิด หรือถ้าราคาปิดของวันกับราคาต่ำสุดของวันก็แปลว่ายังมีแรงขายต่อเนื่อง แต่ตลาดหุ้นดันปิดทำการซะก่อน มันก็จะพอตีความได้ว่าวันรุ่งขึ้นอาจมีแรงขายทำให้หุ้นตัวนี้ราคาตกลงไปอีก เป็นต้น         พอเอากราฟแท่งเทียนของหุ้นสักตัวมาสร้างกราฟในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นเช่นสักหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หรือสามเดือน นักเทรดก็จะพอเห็นแนวโน้มในอนาคตแล้ววางแผนเทรดหุ้นเพื่อทำกำไร ...ก็ต้องลองไปหาหนังสืออ่านต่อกันเอง         แต่โปรดจำไว้ข้อหนึ่ง ไม่มีใครเดาใจตลาดได้ วันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน ดังนั้น จงวางแผนเทรดให้ดี รู้ว่าจะเขาเมื่อไหร่และรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงเวลาต้องออก

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 สามสิ่งที่ต้องรีบจัดการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเอไอ

        คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบทความที่กำลังอ่านอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เขียนขึ้นโดยเอไอ        มันไม่ใช่ฝีมือของเอไอหรอก แต่ถ้าใช่ คุณก็ควรมีสิทธิรู้ไม่ใช่หรือ         ประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในยุคของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ได้ (Generative AI / เจนเนอเรทีฟเอไอ) ก็มีความเข้มข้นขึ้นทุกวัน ธุรกิจนี้มีผู้เล่นน้อย มีบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ผูกขาดการเป็นเจ้าของข้อมูลและโมเดลต่างๆ ของเอไอ เราทำนายว่าในอนาคตจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เราจึงกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากมุมมองของผู้บริโภค ในขณะที่ตลาดหลักๆ ที่มีการใช้เอไอ มุ่งความสนใจไปที่การต่อต้านการผูกขาดทางการค้า         สิ่งที่ชัดเจนคือปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ตั้งแต่กฎหมาย บรรทัดฐาน และค่านิยมต่างๆ ทำให้ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมจึงไม่เพียงพอ ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้เท่าทันพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด         คำแนะนำของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นความสำคัญของความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่ผู้คนเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม และทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดและบังคับใช้ระเบียบต่างๆ ได้         การปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสของเอไอได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยีใหม่นี้ การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสามขั้นตอนต่อไปนี้         1. การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์         รายงานการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ พบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องวิธีการที่ใช้ในการสร้างเอไอและการนำเอาข้อมูลต่างๆ ไปใช้ โมเดลส่วนใหญ่ของเจเนอเรทีฟเอไอต้องอาศัยชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อฝึกฝนและเรียนรู้ เราต้องตั้งคำถามว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ถูกสร้างและบำรุงรักษาอย่างไร และเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่         ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ใช้เพื่อฝึกฝนโมเดลเอไอได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือไม่ การจ้างงานมนุษย์เพื่อทำหน้าที่จำแนกข้อมูลและใส่หัวข้อเป็นไปอย่างถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดการอย่างรับผิดชอบหรือไม่ นักพัฒนาควรเปิดเผยข้อมูลว่าด้วยสิ่งที่ตนเองใช้ในการสร้างเครื่องมือสำหรับผู้บริโภค แบบเดียวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่ามีอะไรอยู่ในอาหาร เสื้อผ้า หรือยารักษาโรค         2. การเผยแพร่และจัดจำหน่าย         เมื่อโมเดลเอไอถูกสร้างขึ้น มันควรถูกนำมาใช้โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก         การพัฒนาโมเดลเอแแบบปิดหรือเปิดกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในกรณีโมเดลแบบเปิด โค้ดต้นฉบับหรือคำสั่งในโปรแกรมจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ว่าใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ขณะที่โมเดลแบบปิดจะเป็นของส่วนตัวและมีลิขสิทธิ์         ทั้งสองรูปแบบต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากคนที่เห็นด้วย มันน่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่สังคมสามารถนำมาใช้ได้ แต่เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อโมเดลดังกล่าวถูกปล่อยออกไป มันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร         นักพัฒนาหรือผู้ที่นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงหรือเปิดเผยความเสี่ยงของมันให้สังคมรู้หรือไม่ มีการอนุญาตให้บุคคลภายนอก เช่น นักวิจัย หรือหน่วยงานกำกับดูแล เข้าไปตรวจสอบคำกล่าวอ้างเหล่านั้นโดยอิสระหรือไม่ ในกรณีของโมเดลแบบเปิด มีการกำหนดเกณฑ์ว่าใครสามารถนำโค้ดไปสร้างต่อ หรือกำหนดสิ่งที่สามารถทำได้กับโค้ดดังกล่าวหรือไม่         เราเคยได้ยินข่าวว่าโมเดลของปัญญาประดิษฐ์แบบเปิดถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลามกอนาจารโดยบุคคลที่อยู่ในภาพไม่ได้ให้ความยินยอม สภาผู้บริโภคแห่งนอร์เวย์ได้ออกคำเตือนโดยละเอียดว่าด้วยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสามารถสร้างข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ปริมาณมหาศาล เป็นการติดอาวุธให้กับมิจฉาชีพในการสร้างเรื่องหลอกลวงผู้บริโภค และมันยังทำให้การหลอกลวงออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากแก่การตรวจสอบด้วย งานวิจัยพบว่าจากคนหนึ่งร้อยคน มีผู้ที่สามารถบอกได้ว่าเนื้อหาที่อ่านเป็นฝีมือของเอไอเพียง 50 คนเท่านั้น         ที่การประชุมใหญ่ระดับโลกของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลในปี 2023 เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเพียงพอจากภัยดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในคำประกาศเพื่อหยุดการหลอกลวงออนไลน์ (Global Statement to Stop Online Scams) สิ่งที่ต้องมีคือกฎระเบียบและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกัน ตรวจจับ สกัดกั้น และรับมือกับการหลอกลวงเหล่านี้         ผู้ที่กำลังพัฒนาระบบเอไอจะต้องตระหนักและรายงานสิ่งที่ตนเองรู้เกี่ยวกับอันตรายที่สามารถเกิดขึ้น         3. การกำหนดความรับผิดชอบ         เราจำเป็นต้องเค้นถามให้ได้คำตอบว่ามีขั้นตอนกระบวนการที่เข้มข้นพอเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ และมีการกำหนดระดับความรับผิดชอบหรือระดับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม แล้วหรือยัง ทั้งนี้รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการชดเชยเยียวยา การเปิดเผยเรื่องการขออนุญาตเข้าถึงฐานข้อมูลของรัฐ และการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น         พูดง่ายๆ คือ ถ้าระบบเอไอสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เราจะโทษใคร และใครมีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว เรื่องความรับผิดต้องระบุให้ชัดเจน         เรื่องศักยภาพของเอไอและเทคโนโลยีอื่นๆ ในการทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือสร้างอคติ มีคนพูดถึงค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีใครพูดถึงคนที่ต้องเป็นผู้รับผิด รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในเรื่องวิธีการสนับสนุนหรือท้าทายการตัดสินใจโดยอัลกอริธึมของเอไอ เช่น การให้บริการเงินกู้ บริการสุขภาพ การทำประกัน หรือการจ้างงาน เป็นต้น         เอไอเข้าครอบคลุมทุกพื้นที่         เราต่างก็รู้ดีถึงพลังของเอไอในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในแบบที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ แต่ระดับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและภาวะไร้การควบคุมทำให้เราต้อง เร่งกำหนดนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค         ในปี 2024 นี้ เราต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนว่ามีการลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างและคิดหาวิธีที่ดีที่สุดในการใช้โอกาสอย่าง “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ซึ่งเราได้กำหนดหัวข้อเรื่อง “เอไอที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” หรือการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส รวมถึงการประชุม G20 ที่ริโอเดอจาเนโร เพื่อให้เกิดการพูดคุยและสร้างการเปลี่ยนแปลง         ความพยายามด้านกฎหมายที่สำคัญ เช่น “พรบ. เอไอของสหภาพยุโรป” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการรับรู้และการสนับสนุนจากภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนในเรื่องแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภค         เราต่างก็ต้องการใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยี ถ้าเราทำอย่างรับผิดชอบ เจนเนอเรทีฟเอไอ สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายโดยมีผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากไม่มีการพูดคุยหรือจำกัดขอบเขตของความเสี่ยงเหล่านี้ ผลที่ได้อาจต่างไปโดยสิ้นเชิง         เราต้องดูแลผู้บริโภคเดี๋ยวนี้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 เอาใจสายเทรด

        ตอนนี้ขอเอาใจสายเทรดหุ้นกันบ้าง ว่าแต่มันคืออะไร มันก็เป็นการสร้างผลตอบแทนจากหุ้นรูปแบบหนึ่งที่ไม่เน้นการถือหุ้นระยะยาวและรอให้ราคาเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท แต่เน้นการจับจังหวะซื้อและขายหุ้น อ่านกราฟ เข้าใจจิตวิทยาการลงทุน แล้วก็ซื้อมา (ตอนราคาต่ำ) ขายไป (ตอนราคาสูง) ซึ่งราคาต่ำกับสูงนี่ก็ไม่เหมือนกันในแต่ละคนเพราะแผนการเทรดไม่เหมือนกัน         ก็เหมือนเดิมนั่นแหละ คุณต้องรู้ตัวก่อนว่าคุณรักจะเทรดหุ้น มีเวลานั่งดู ศึกษา และวิเคราะห์กราฟ มีแผนการเทรดชัดเจน และและและต้องมีวินัย ข้อนี้ต้องมีเหมือนกันไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแบบไหน นักเทรดบางคนถึงกับพูดว่า ‘วินัย’ คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ         สิ่งที่สายเทรดทุกคนต้องเสาะแสวงหาความรู้ชนิดขาดไม่ได้คือการทำความเข้าใจกราฟและอินดิเคเตอร์ต่างๆ เพื่อดูแนวโน้มของหุ้นที่จะลงมือเทรด หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า แนวรับ-แนวต้าน ตลาดหมี ตลาดกระทิง กราฟแท่งเทียน เอลเลียตเวฟ และอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ต้องเรียนรู้ทั้งสิ้น         มีความรู้ที่ควรต้องมีแล้ว คุณก็ต้องกลับมาวางแผนการเทรดหุ้น หาจังหวะเข้าและออก เพราะถ้าเข้าสุ่มสี่สุ่มห้าคุณอาจต้องเจอคำว่า คนแพ้จ่ายรอบวง ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจการบริหารเงินสดหรือสภาพคล่อง ไม่มีทางที่การเทรดทุกครั้งจะได้กำไร มันต้องมีวันที่ฟ้าไม่เข้าข้าง เกิดสงครามในอีกซีกโลก หรือแม้แต่อ่านกราฟผิดทำให้คุณขาดทุน ซึ่งคุณต้องรู้ตัวเองว่าคุณยอมรับการขาดทุนได้เท่าไหร่         โดยมากแล้วนักเทรดมักจะกำหนดผลขาดทุนเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น 5 เปอร์เซ็นต์ สมมติคุณเทรดหุ้นด้วยเงิน 100 บาท ถ้าหุ้นขึ้นคุณอาจปล่อยให้ let profit run หรือปล่อยให้หุ้นมันวิ่งไปเรื่อยๆ ตามแนวโน้มขาขึ้นของตลาด แต่เมื่อไหร่ที่เงินของคุณขาดทุนลงมาเหลือ 95 บาท ซึ่งก็คือผลขาดทุนที่คุณรับได้และกำหนดไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ จุดนี้คุณต้อง cut loss หรือขายตัดขาดทุนซะตามแผนการเทรดที่วางไว้         อย่าคิดว่า ไม่เป็นไร ขอรออีกนิด เดี๋ยวมันคงเด้งกลับขึ้นมา งั้นซื้อเพิ่มถัวเฉลี่ยไปก่อน หยุด! ห้ามเด็ดขาด เพราะคุณกำลังทำนอกแผนที่วางไว้ เมื่อถึงจุด cut loss ก็ต้องทำ เพื่อปกป้องเงินต้นให้เสียหายน้อยที่สุด การเทรดนอกจากจะไม่กำไรทุกครั้งแล้ว ยังอาจขาดทุนหลายครั้งด้วย         ถ้าคุณไม่มีวินัยในการทำตามแผนการเทรด คุณอาจเสียเงินต้นจำนวนมาก การหวังว่าการเทรดครั้งต่อๆ ไปจะทำให้เงินต้นที่เสียไปทั้งหมดกลับคืนมาพร้อมกำไรนั้นยากมากๆ ก็บอกแล้วว่าวินัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด         ดังนั้น ถามตัวเองว่าเหมาะกับทางนี้หรือไม่ ศึกษาการเทรดหุ้น วางแผนการเทรด บริหารเงินในมือให้ดี และจงมีวินัยกับแผนที่คุณสร้าง

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)