ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวนมากและกินเวลานานเสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา 
        บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือโฆษณาหรือรายการโทรทัศน์เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม 
        ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า 
        เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?




ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19 
        แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติการทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น 
        ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย 
        ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 . โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว 
        แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น 
        กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ


 
แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย
        ...การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ..2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที
         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ..2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง
 
สำรวจโฆษณาทีวี 
        เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ 
        จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 . ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย
        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง
        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง
        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง


         
โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ? 
        ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ 
        ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 
        เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ) 
        เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่
        1) ช่องบริการทางสาธารณะ
        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ
        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ
        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)
         พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที
 
มุมมองผู้บริโภค 
        ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมีโฆษณาทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53) 
        อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมีโฆษณาแฝงและรายการแนะนำสินค้าในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25) 
        และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)
        หากพบว่าโฆษณาและโฆษณาแฝงของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ)
 
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ 
        จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค 
        อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับโฆษณาแต่รับไม่ได้กับโฆษณาแฝงและหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที 
        ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ 
        รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา 
        ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.
        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย
        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องงานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย ..บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)



อ้างอิง
http://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20
www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-.aspx
www.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspx
http://www.supinya.com/2016/06/7578
https://www.thansettakij.com/content/428726
https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

แหล่งข้อมูล: บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค โฆษณา โควิด-19 ทีวีดิจิทัล โฆษณาทางโทรทัศน์

ฉบับที่ 279 กดไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง : “ใบส่งตัว” ลิดรอนสิทธิการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วย

        เคยได้ยินข่าวนี้ไหม...อีกไม่นาน สังคมไทยจะลืมปัญหาวิกฤตใบส่งตัวในกรุงเทพฯ หลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับระบบการจ่ายเงินใหม่ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา         จนกระทั่งมีการรวมตัวของ ผู้ประสบภัยจากใบส่งต่อ นำปัญหาไปร้องเรียนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ในรอบสามเดือนหรือการเตรียมฟ้องต่อศาลปกครองให้ สปสช. ยกเลิกวิธีการจ่ายเงินและบริหารเครือข่ายปฐมภูมิแบบใหม่ก็ตาม เพราะฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ สปสช. ออกข่าวถี่ ๆ ว่า ปัญหาของผู้ร้องเรียนกว่าเข้ามา 4,800 ราย เคลียร์ไปแล้ว 4,100 ราย เหลือ 572 รายที่กำลังสะสาง และต่อมาก็ให้ข่าวอีกว่า “แจ้งโรงพยาบาลหลายรอบแล้วว่า ไม่มีใบส่งตัวก็เบิกได้” ขณะเดียวกันก็พยายามให้ข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อกลบเสียง “ทุกข์” ของผู้ป่วย         ขณะที่โลกคู่ขนาน “กลุ่มร้องทุกข์” : รวมคนได้รับผลกระทบจากใบส่งตัว บัตรทอง นโยบายใหม่ของ สปสช. ใน Facebook ยังมีการปรับทุกข์ระหว่างผู้ป่วยด้วยกันอยู่ อาทิ คลินิกไม่ออกใบส่งตัว ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ คิดสั้น , ผู้ป่วย 20 โรคเรื้อรังคลินิกปฏิเสธใบส่งตัว , คลินิกให้คนคนไข้ย้ายสิทธิไปที่อื่น , คลินิกเรียกผู้ป่วยที่มีใบส่งตัวมาตั้งต้นรับใบส่งตัวใหม่” รวมถึง คลินิกออกใบส่งตัวเป็นรายโรคต่อครั้ง กำหนดวันเวลาให้คนไข้ยุ่งยาก ,  ผู้ป่วยเกินศักยภาพแต่คลินิกไม่ส่งตัว , ถูกคลินิกเรียกเก็บเงินหรือตั้งกล่องรับบริจาค อ้างว่า สปสช. ไม่มีเงินจ่ายให้ , คลินิกไม่ออกใบส่งต่อ เตรียมปิดตัวปล่อยคนไข้ลอยแพ ฯลฯ         แม้ผู้ป่วยจำยอมทำตามเงื่อนไขของหน่วยบริการปฐมภูมิหรือคลินิกอบอุ่นแล้ว กลับเป็นภาระในการเข้าถึงบริการมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ถ้าในใบนัดแพทย์มีการเจาะเลือดผู้ป่วยต้องไปเจาะเลือดตอนเข้าและมาใหม่อีกครั้งตอนเย็นเพื่อฟังผล ทำให้ต้องไปคลินิก 2 รอบต่อการบริการหนึ่งครั้งไม่เหมือนการไปโรงพยาบาลเดิมที่เคยรักษาตัวที่จบทุกขั้นตอนภายใน 1 ครั้งต่อวัน         เช่นเดียวกับที่ผู้ป่วยบางรายที่ต้องได้รับยาโรคเรื้อรัง ที่เคยได้รับยาจากโรงพยาบาล 2 - 3 เดือน คลินิกก็ให้ยา 3 วัน และให้ใบค้างยา เพื่อให้ผู้ป่วยมารับใหม่วันหลัง เมื่อผู้ป่วยขอให้ส่งยาทางไปรษณีย์ คลินิกก็ไม่มีบริการนี้ แปลว่าต้องมารับยาวันหลัง เพราะคลินิกไม่มีคลังยาเพียงพอสำรองยาเพื่อผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือบางรายได้ใบส่งตัวครั้งละ 1 เดือนต่อโรค ขณะที่ใบนัดแพทย์จากโรงพยาบาลส่งตัวนัดทุก 4 เดือน ซึ่งแปลว่า ผู้ป่วยต้องกลับมาให้คลินิกทำใบส่งตัวทุกครั้งอยู่ดี และบางคลินิกก็ติดประกาศชัดเจนว่าจะออกใบส่งตัวให้ผู้ป่วยวันละ 20 คนเท่านั้น ทำให้ญาติแลผู้ป่วยต้องมารอคิวแต่เช้า เหมือนซื้อหวยรายวัน         แน่นอน สิ่งที่หล่นค้างยังถูกพูดถึงอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกหน่วยบริการปฐมภูมิทำตัวว่าง่ายตามระบบ ที่ดื้อดึงและน่ารังเกียจเป็นจำนวนน้อยก็จริง         แต่ “ใบส่งตัว” ก็กลายเป็น “ใบอนุญาต” ให้ผู้ป่วยมีสิทธิมีชีวติต่อตามยถากรรม ภายใต้การบริการจัดการของระบบสุขภาพที่ล้มเหลว ?? การปรับทุกข์กันเองของผู้ป่วยข้างต้นดังที่ยกมานั้น เสมือนการส่งสัญญาณ “ความท้อของผู้ป่วยและครอบครัว” จำนวนหนึ่ง ที่เริ่มทยอยเลิกใช้สิทธิบัตรทอง ยอมเสียค่าใช้จ่ายเองดีกว่า เพื่อข้ามขั้นตอนอันยุ่งยาก ที่สร้างภาระค่าเดินทางและเวลาที่เสียมากไปกว่าค่ายาและค่าบริการตามสิทธิที่พึงได้         สัญญาณเช่นนี้ ผิดเจตนารมณ์การก่อตั้ง “กองทุนบัตรทอง” หรือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนล้มละลายจากความเจ็บป่วย และเป็นหลักประกัน “สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข” ซึ่งถูกเขียนเป็นกฎหมายและระบุไว้รัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เขียนไว้ชัดเจนว่า “หน่วยบริการสุขภาพ หรือสถานพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย หากแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องรักษา”         กรุงเทพฯ : ศูนย์กลางโรงพยาบาลของประเทศ แต่คนเข้าไม่ถึง         สถานการณ์การใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ ดังปรากฎเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องช่วงเดือนมีนาคม เมษายนที่ผ่านมา สะท้อนว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพกำลังล้มละลายความน่าเชื่อถือไปแล้ว และถ้าจะแก้ไขให้ทะลุปัญหาเรื่องใบส่งตัว คงต้องมาทำความเข้าใจบริบทเชิงโครงสร้างพื้นฐาน 2 เรื่องก่อน คือ (ก) คนกรุงเทพฯ หมายถึงใครบ้าง และ (ข) โครงสร้างบริการสุขภาพใน กทม. ซับซ้อนอย่างไร เพราะทั้งสองเรื่องนี้ หรือ “ภูมินิเวศน์ระบบสุขภาพของ กทม.” (Geo Health service system) มีอิทธิพลต่อการคิดคำนวณการจ่ายเงินหรือบริการกองทุนสุขภาพใน กทม. อย่างมาก         (ก) นิยามคนกรุงเทพฯ มี 2 ส่วนประกอบกัน คือ (1) ประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ กทม. ประมาณ 5.5 ล้านคน และ (2) ที่เรียกกันว่าประชากรแฝง คือ คนที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ใน กทม. ทั้งถาวระและเช้าไปเย็นกลับ ประมาณ 2.5 - 3 ล้านคน คนกรุงเทพฯ ทั้งสองส่วนนี้มีสิทธิบัตรทองประมาณ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้เคยลงทะเบียนใช้บริการ ผู้ป่วยนอก 1.7 ครั้งต่อไป ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 3.4 ครั้งต่อคนต่อปี ส่วนคนกรุงเทพฯ นอกสิทธิบัตรทอง ที่เหลือนั้นเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมและจำนวนหนึ่งใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ (รวมญาติด้วย)                 (ข) โครงสร้างบริการสุขภาพใน กทม. ซับซ้อน : ทั่วทั้งพื้นที่ กทม. มีโรงพยาบาล 160 แห่งมากที่สุดในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน 113 แห่ง มีเพียง 12 แห่ง กำกับโดยกรุงเทพมหานคร ในฐานะรัฐท้องถิ่น มีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 14 แห่ง กว่าครึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะด้าน มีโรงพยาบาลทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม 6 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งที่เป็นของรัฐและมูลนิธิอีก 15 แห่ง เช่น โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ อาทิ ศิริราชพยาบาล รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ เป็นต้น โรงพยาบาลและหน่วยบริการเหล่านี้ไม่มีระบบข้อมูลเชื่อมโยงกันนอกเครือข่าย และต่างคนต่างให้บริการ         กล่าวเฉพาะ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ที่ควรเป็นด่านแรกให้ประชาชนเข้าถึงก่อน เหมือนที่คนต่างจังหวัดเข้าถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  สำหรับ กทม.แล้ว, มีหน่วยบริการปฐมภูมิเพียง 300 แห่งทั่วพื้นที่ (คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.) ทั้งมีปัญหาในการกระจายตัวอย่างมาก ราว 30 แห่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีหน่วยบริการ 270 แห่งอยู่รอบนอก กทม. รวมศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) จำนวน 69 แห่งของกรุงเทพมหานครด้วย บางเขตมีหน่วยบริการมาก บางเขตไม่มีเลย รวมทั้งการมีหน่วยบริการกระจุกตัวตามถนนสายเศรษฐกิจทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการไม่สะดวก           ที่สำคัญ ระบบบริการสุขภาพในกทม. มีลักษณะ “แหว่งกลาง” คือ นอกจากหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีปัญหาการกระจายตัวไม่ครอบคลุมพื้นที่แล้ว ยังขาด โรงพยาบาลรัฐในระดับทุติยภูมิ รองรับผู้ป่วย (มีโรงพยาบาลสังกัด กทม. 12 แห่งและของกระทรวงสาธารณสุขอีกจำนวนหนึ่ง)  แต่กลับมีโรงพยาบาลตติยภูมิ โรงพยาบาลเฉพาะทางเต็มไปหมด เพราะเป็นศูนย์กลางทรัพยากรของประเทศ  ดังนั้นด้วยความแหว่งกลางของระบบการรักษา เมื่อเจ็บป่วยเกินศักยภาพที่หน่วยบริการปฐมภูมิรักษาได้ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อข้ามไปรักษากับโรงพยาบาลระดับตติยภูมิเลย เช่น โรงเรียนแพทย์ เป็นต้น ทำให้โรงพยาบาลรัฐใน กทม. ทุกสังกัดผู้ป่วยหนาแน่นมาก         การรักษาแบบกระโดดข้ามจากหน่วยบริการปฐมภูมิไปรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะทาง หรือโรงพยาบาลตติยภูมิเลยทำให้ “ต้นทุนด้านสุขภาพ” ของคน กทม. สูงกว่าคนต่างจังหวัดมาก เพราะบางครั้งมีการใช้เทคโนโลยีการรักษาเกินจำเป็น ใช้ยาราคาแพง (เพราะไม่ได้ผ่านการจัดซื้อยารวมเหมือนโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข) อีกทั้งค่าบริการสูงจากต้นทุนบุคลากรที่สูงกว่าโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านลบที่สุดของระบบ คือ ผู้ป่วยต้องรอคิวนานกับการได้นัดพบแพทย์หนึ่งครั้ง แม้จะเป็นโรคเรื้อรังต้องติดตามรักษาอย่างต่อเนื่องก็ตาม ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยไหลล้นไปใช้บริการกับโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก ซึ่ง สปสช. พยายามจะแก้ปัญหาทั้งความหนาแน่นของการเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐและการละทิ้งสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน   ความอยู่รอดของหน่วยบริการสุขภาพ ไม่ใช่ความอยู่รอดของประชาชน         หลังทศวรรษ 2530 การเกิดขึ้นของกองทุนประกันสังคม และหลังปี 2545 การเกิดขึ้นของ “กองทุนบัตรทอง” เพื่อยืนยันว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยทั้งสองกองทุนจ่ายเงินให้หน่วยบริการสุขภาพลักษณะ “เหมาจ่ายรายหัว” (มีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามเกณฑ์และระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRG กำกับ) นับเป็นการปฏิรูประบบบริการสุขภาพครั้งใหญ่ โดยมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพเข้ามาเป็นปัจจัยเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการสุขภาพของคนไทยทั่วประเทศ อย่างน้อย 48 ล้านคน เป็นความมั่นใจว่าประชาชนมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยมี สปสช. เข้ามาเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการ “กองทุนบัตรทอง” เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการโดยเป็นหลักประกันว่า ผู้ป่วยจะต้องได้รับบริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนจนไม่ต้องร้องขอรับบริการเยี่ยงคนอนาถาเช่นอดีต  พูดให้ง่ายการบริหารกองทุนสุขภาพ คือ การบริการระบบบริการสุขภาพนั่นเอง และเป็นการบริหารความเชื่อมั่นระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ผู้บริหารกองทุน ผู้ให้บริการสุขภาพและผู้มีสิทธิบัตรทอง เช่นนี้ “ใบส่งตัว” จึงเข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องมือ “กำกับสิทธิ” แต่จะให้สิทธิดีขึ้นหรือแย่ลงก็อยู่ที่การบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกองทุนกับผู้ให้บริการสุขภาพ         ดังนั้นสถานพยาบาลใดให้บริการดี มีคุณภาพ ก็จะมีคนขึ้นทะเบียนมาก เงินหรือรายได้ก็จะได้มากตามจำนวนคนที่ขึนทะเบียน  แต่คนเราก็ไม่ได้เจ็บป่วยกันทุกคน หรือเจ็บป่วยกันทั้งปี หัวใจหลักของหลักประกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องของการ “เฉลี่ยทุกข์” ด้วยหลักการเช่นนี้ ทำให้แต่ละโรงพยาบาลมีเงินหรือรายได้เข้า “หลายกระเป๋า”  เป็นการสำรองค่าใช้จ่ายที่มีความแตกต่างกันของแต่ละหน่วยบริการ เช่น         •    โรงเรียนแพทย์ มีรายได้อย่างน้อย 5 กระเป๋าจาก ผู้ป่วยนอก walk in เข้ามา, จากการเปิดลงทะเบียนสิทธิประกันสังคม, สิทธิหลักประกันสุขภาพ, สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและเงินบริจาคจำนวนมาก จึงมีสายป่านค่อนข้างยาว (แต่ระยะหลังจำกัดจำนวนผู้ใช้สิทธิบัตรทองและประกันสังคม เนื่องจากต้องรับภาระส่งต่อผู้ป่วยจากทั่วประเทศ)         •    โรงพยาบาลรัฐของ สธ. กทม. และทุกสังกัด รายได้หลักมาจากกองทุนบัตรทอง เพราะมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก รองลงมาคือ สวัสดิการข้าราชการในสังกัด สิทธิประกันสังคม ผู้ป่วยนอก walk in เข้ามาไม่มากนักและต้องรับภาระบริการฉุกเฉินทางการแพทย์เป็นภารกิจสำคัญ ไม่ค่อยมีช่องทางการรับบริจาค โรงพยาบาลหลายแห่งจึงเลือกเปิดคลินิกนอกเวลาและคลินิกพรีเมียมเพิ่มเติม          •    โรงพยาบาลเอกชน รายได้จากผู้ป่วยนอก walk in เข้ามา, บางแห่งมีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนสิทธิประกันสังคม ทั้งนี้ระยะหลังไม่เปิดขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองเพราะเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มโรคของ สปสช. “ต่ำ” กว่าวิธีคิดเรื่องต้นทุนและกำไร ระยะหลังโรงพยาบาลเอกชนจึงทยอยออกจากกองทุนบัตรทองและหันไปจับมือกับบริษัทขายประกันสุขภาพเอกชนราคาแพงแทน ศูนย์โรคเฉพาะทางจึงเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการขายแพ็คเก็จสุขภาพตามช่วงวัย         ยกเว้น หน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีรายได้หลักจากกองทุนบัตรทองเท่านั้น แม้ผู้ป่วยนอก walk in เข้ามา แต่ก็ไม่มากนัก มีบางรายงานของ สปสช. พบว่า หน่วยบริการปฐมภูมิต้องมีผู้ขึ้นทะเบียนอย่างน้อย 8,000 - 10,000 คน การ “เฉลี่ยทุกข์” หรือ ถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายและการตามจ่ายการส่งต่อผู้ป่วยจึงพอจะ “เลี้ยงตัว” ได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคลินิกหรือทุกศูนย์บริการทางการแพทย์จะมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองขึ้นทะเบียนให้พออยู่ได้ ทำให้การส่งต่อผู้ป่วย “ความอยู่รอด” ของคลินิกปฐมภูมิ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำไมชนวนเหตุ “ใบส่งตัว” จึงละเมิดสิทธิรักษาพยาบาล         มองอย่างรอบด้าน ทุกข์ของผู้ป่วยใน กทม. ขณะนี้ มีปัจจัยหลักมาจาก (ก) การเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินให้หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไม่สอดคล้องกับภูมินิเวศน์ระบบสุขภาพในกทม. และ (ข) บริบทการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ครั้งที่ 2 จากนโยบายรัฐบาล “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เข้ามาเสริมแรงให้ทุกปัญหาระเบิดที่ กรุงเทพมหานคร         •    การเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินให้หน่วยบริการปฐมภูมิ        ก่อนโควิด 19 ระบาด “หน่วยบริการปฐมภูมิที่ผู้มีสิทธิบัตรทองขึ้นทะเบียน” เดิมใช้การเบิกจาก โมเดล 5 จ่ายตามราคาเบิกจ่ายจริงแบบปลายเปิด ที่เรียกว่า “เบิกตามจริง” จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่อง “ใบส่งตัว” ไปให้ “หน่วยบริการรับส่งต่อ” (โรงพยาบาลทุติยภูมิ ตติยภูมิ) ซึ่งจะกลับมาเรียกเก็บค่าบริการจากหน่วยบริการปฐมภูมิ เพราะ สปสช. มีระบบการจ่ายเงินค่าชดเชยค่าบริการลักษณะ globla budget (op anywhere) โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ในปีที่มีบริการน้อย วงเงินที่เหลือจากการให้บริการจะโอนเพิ่มให้คลินิกปฐมภูมิ แต่ปีทีมีการรับบริการมาจนเกินวงเงิน globla budget ก็จะได้รับเงินชดเชยค่าบริการลดลงตามสัดส่วน         หลังสถานการณ์โควิดระบาด ปี 2564 - 2565 คลินิกยังได้รับค่าชดเชยจากกองทุนปริ่ม ๆ กับต้นทุนการส่งต่อ เพราะเริ่มมีผู้ป่วยใช้บริการสัดส่วนมากขึ้นตามลำดับ และตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 สปสช. ยังตกลงกับ กรุงเทพมหานครเพิ่มเติม “หน่วยบริการปฐมภูมิ โมเดล 5” นี้ เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่งทุกที่ เพิ่มเติม คือ ให้ ศบส. เป็น “แม่ข่าย” ดูแลคลินิกอบอุ่นและคลินิกเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียน กับสปสช. ด้วย แต่เชิงบทบาทหน้าที่ยากมากที่ ศบส. จะเข้าไปดูแล กำกับ ติดตามการทำงานของลูกข่าย เพราะไม่มีโครงสร้างอำนาจที่เกาะเกี่ยวกันเลยซึ่งต่างจากหน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลเอกชนเป็นแม่ข่าย ปี 2564 -2566 จึงเป็นช่วงเวลาทองของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อเจ็บป่วยเกินศักยภาพการรักษาหน่วยบริการปฐมภูมิบางแห่งออกใบส่งตัวให้ระยะเวลา 1 ปีเลยก็มี         ทว่า ตั้งแต่ปี 2566 ผู้ใช้บริการบัตรทองมากขึ้นและมีการส่งต่อมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้คลินิกปฐมภูมิเริ่มได้รับค่าชดเชยจาก สปสช. ติดลบ และในปี 2567 หลังรัฐบาลเพื่อไทยประกาศนโยบาย “ควิกวิน” (Quick win) นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งมุ่งมั่นจะทำให้เสร็จทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคม ทั้งคลินิกปฐมภูมิ และ สปสช. เองได้ประมาณการว่า จะมีผู้เข้ารับบริการจำนวนมากกว่าเดิมจนอาจทำให้ค่าใช้จ่ายเกินวงเงิน globla budget มากขึ้นด้วย หมายความว่า คลินิกปฐมภูมิก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้นเป็นลำดับจึงเริ่มมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เครือข่ายคลินิกอบอุ่นในกทม. กว่า 100 แห่ง ขึ้นป้ายที่ สปสช. ว่า “บัตรทอง กทม. เงินไปไหนหมด ไม่มีเงินจ่ายคลินิกบัตรทอง” เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของการบริการงบประมาณของ สปสช. ที่มีไม่เพียงพอจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการปฐมภูมิ มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 แล้ว และจนถึงปัจจุบันคาดว่าจะได้รับเงินเพียง 70% จากที่จ่ายจริงไปแล้ว นั่นทำให้ผู้ประกอบการสถานพยาบาลบางรายประสบปัญหาขาดทุนจนถึงขั้นอาจต้องปิดบริการ ซึ่ง นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขา สปสช. รับปากกับเครือข่ายฯ ว่า  (1) เตรียมปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยให้ใหม่ และ (2) จะลงพื้นที่เพื่อพูดคุย หารือ รับฟังปัญหาคลินิกอบอุ่น         13 กุมภาพันธ์ เครือข่ายสถานพยาบาล 5 สถาบัน คือ (1) เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย “ยูฮอสเน็ต” (UHosNet) (2) ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (3) ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ (4) สมาคมคลินิกอบอุ่น และ (5) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน บุกพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในขณะนั้น)  ในฐานะประธานบอร์ดบริหาร สปสช. ให้แก้ปัญหาการเงินการคลังของ สปสช. ซึ่งทำให้หน่วยบริการขาดสภาพคล่อง ติดหนี้ค่าบริการโรงพยาบาลและหน่วยบริการจำนวนมากเรียกร้องให้มี (ก) แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม (Provider Board) และ (ข) หยุดใช้ โมเดล 5 (จ่ายตามจริง) ในกทม. และกลับมาใช้ โมเดล 2 (เหมาจ่ายรายหัว) (ค) แนะนำให้จัดสรรงบฯ ค่าบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมให้เพียงพอ สำหรับการบริการในไตรมาสที่เหลือของปี 2567         วันที่ 21 กุมภาพันธ์ สปสช. จึงมีมติให้เปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายเงินหน่วยบริการปฐมภูมิ เป็น โมเดล 2 (เหมาจ่ายรายหัว) ซึ่งเป็นรูปแบบเดิมที่ใช้มาก่อนปี 2564 มีผลตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 และความวุ่นวายทั้งปวงตามที่ปรากฎเป็นข่าวก็เกิดขึ้นนับจากวันที่มติมีผลบังคับ เพราะเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น มีจำนวนเรื่องร้องเรียนไปที่สปสช. มากกว่า 4,000 เรื่อง         วันที่ 15 มีนาคม คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพฯ (อปสช 13) ที่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน จึงมีมติเพิ่มขึ้น ให้สปสช. กันเงินเหมาจ่ายผู้ป่วยนอก 30 บาทต่อประชากรต่อเดือน เพื่อใช้เป็น “กองทุนส่งต่อผู้ป่วยนอก” (op refer) และให้ สปสช. เบิกจ่ายค่าบริการ (clearing house) ให้กับโรงพยาบาลรับส่งต่อตามหลักเกณฑ์ ดังนี้         (ก) คลินิกอบอุ่นที่ส่งต่อผู้ป่วย ต้องตามจ่ายส่วนแรก จากเหมาจ่ายรายหัว ไม่เกิน 800 บาท/ครั้ง         (ข) กรณีโรงพยาบาลรับส่งต่อเรียกเก็บเงินเกินจาก 800 บาท/ครั้ง เงินส่วนเกินให้เบิกจาก “กองทุนส่งต่อผู้ป่วยนอก” หากเงินไม่พอ ให้ สปสช. หักเงินเพิ่มเติม และหากสิ้นปีเงินเหลือให้คืนเงินให้หน่วยบริการปฐมภูมิ ภายหลังเรียกการจ่ายลักษณะนี้ว่า โมเดล 5 ใหม่ (op new model 5)         อย่างไรก็ตามไม่ว่า สปสช. จะพยายามปรับระบบอย่างไร การสื่อสารระหว่างผู้บริหารกองทุนกับหน่วยบริการยิ่งกลายเป็นลิงแก้แห และเคราะห์กรรมตกแก่ผู้ป่วย          สัปดาห์ที่สามหลังการเปลี่ยนระบบ  วันที่ 21 มีนาคม จึงเกิด “ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองใน กทม.” ขึ้น และเข้ายื่นหนังสือถึง รมว.สธ. เป็นครั้งแรก โดยมีข้อเรียกร้อง (1) ให้คลินิกอบอุ่นส่งตัวผู้ป่วยที่จำเป็นไปโรงพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ (2) เขียนใบส่งตัวให้เหมาะสม เช่น 3 เดือน - 1 ปี (3) ให้ผู้ป่วยนอก ขอใบส่งตัวจาก ศบส. ได้ ในกรณีที่คลินิกอบอุ่นไม่ออกใบส่งตัวให้ และ (4) เปิดเผยข้อมูลหน่วยบริการที่ถูกร้องเรียน         ปัญหาที่หนักหนาสาหัสของ สปสช. คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยบริการทุกระดับ เพราะใน ‘มุม’ ของ “คลินิกปฐมภูมิ” มองว่า ขณะนี้ (ก) ได้รับเงินไม่เพียงพอ กับการตามจ่ายค่าบริการให้โรงพยาบาลที่ส่งต่อทั้งมีเงื่อนไขต้องจ่ายค่าบริการส่งต่อก่อน สปสช. จึงจะนำเงินที่เหลือมาจ่ายให้คลินิก (ข) ค่าใช้จ่ายในการส่งต่อสูงมาก ในปีที่ผ่านมา คลินิกปฐมภูมิส่งต่อผู้ป่วยไปสถานบริการตติยภูมิ 35% แต่มีค่าใช้จ่ายเป็นสัดส่วนมากถึง 70% ของงบประมาณ ดังนั้นเมื่อหักเงินที่จ่ายค่าส่งต่อแล้ว นอกจากคลินิกปฐมภูมิจะติดลบค่าบริการแล้วสัดส่วนที่ได้รับเงินชดเชยจาก สปสช. ก็น้อยลงอย่างมาก จนไม่สามารถบริหารต้นทุนบุคลากรได้          ทั้งนี้มีคำปลอบใจจาก สปสช. ที่ขอให้คลินิกปฐมภูมิ เพิ่มบริการส่งเสริมสุขภาพเพราะมีงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ในเขตกทม. เหลืออยู่มาก ไม่ได้ใช้เท่าใดนักเพื่อนำมาเพิ่มรายได้ของคลินิกนั้นแต่มันก็คนละเรื่องและไม่ใช่ทางออก           ‘อนงค์ โรจน์กูลชัย’ ผู้บริหารสหคลินิก เขตดินแดง หนึ่งในคลินิกอบอุ่นที่ดูแลประชากรประมาณ 12,000 คน วิเคราะห์ “สาเหตุที่แท้จริง คือ สปสช. จัดสรรงบประมาณมาไม่เพียงพอ ดังนั้นแม้จะเปลี่ยนเป็นระบบเหมาจ่ายก็ไม่ได้แตกต่างกัน”         สถานการณ์สุก ๆ ดิบ ๆ โมเดลเก่าก็ยังค้างจ่ายอยู่มาก เปลี่ยนโมเดลใหม่แล้วก็ไม่เห็นอนาคต “ใบส่งต่อ” จึงถูกแช่แข็งไว้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิจำนวนหนึ่งที่ “ดื้อ” โดยมีประชาชนกลายเป็นตัวประกันถูกละเมิดการรักษาแบบต้องคลำหาทางออกกันเอง         •    บริบท “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”         คงจะดีมาก หาก “ระบบใบส่งตัวถูกยกเลิกไป” เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของกทม. และสามารถใช้บัตรประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิของตนเองหรือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิได้ทุกแห่ง และยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่หน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพได้ ไม่ว่าจะมีสิทธิบัตรทองอยู่ที่จังหวัดใดก็สามารถใช้สิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แค่เพียงมีบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้นตามที่รัฐบาลแถลงนโยบายไว้         การจะทำได้จริงนั้น หัวใจคือการเชื่อมระบบข้อมูลสุขภาพและการเงินของทุกหน่วยบริการให้เป็นระบบเดียวกันทุกระดับ ทุกสังกัด และยกระดับหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้จัดบริการสุขภาพ อาทิ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ การออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยาและใบสั่งแล็บออนไลน์ การแพทย์และเภสัชกรรมทางไกล การนัดหมายออนไลน์ ส่งยาและเวชภัณฑ์ที่บ้านผ่าน Health Rider และการส่งยาทางไปรษณีย์ เป็นต้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มุ่งหวังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอยและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน นั่นคือสิ่งที่ สปสช. และกระทรวงสาธาณสุขวาดหวังและทยอยทำนำร่องทดลองไปแล้วหลายจังหวัด บน “เงื่อนไข” ว่าจะต้องเติมงบประมาณจำนวนหนึ่งเข้าไปในระบบเบิกจ่ายค่าบริการ (clearing house) จาก “งบกลาง" ของรัฐบาล โดยหน่วยบริการจะได้รับเงินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากการส่งเบิก เพื่อให้ระบบ Financial Data Hub ที่ส่วนกลางกำลังพัฒนาเป็นระบบอัจฉริยะนั้น “เป็นจริงที่สุด”         หลายจังหวัดนำร่องระบบถูกทดสอบผ่านไปได้ด้วยดี เพราะหน่วยบริการเป็นสังกัดเดียวกันทำให้ระบบข้อมูลสุขภาพ ระบบการเงินและระบบบริการปรับตัวได้ ทว่า “นโยบายความหวัง” นี้จะเกิดขึ้นที่ กทม.ได้จริงหรือ เมื่อ “เงื่อนไขพื้นฐาน” โครงสร้างบริการสุขภาพใน กทม. ซับซ้อน หลากหลายสังกัดและต่างคนต่างให้บริการ กลายเป็น ข้อท้าทายอย่างมาก และยังมีเหตุเพิ่มเติมจาก (ก) หน่วยบริการได้รับเงินไม่เพียงพอกับการตามจ่ายค่าบริการให้โรงพยาบาลที่ส่งต่อ และ (ข) ค่าใช้จ่ายในการส่งต่อสูงมากยังไม่ได้ถูกแก้         ตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ข้อเรียกร้องของผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ขอให้ กทม. เปิดรับลงทะเบียนผู้ป่วยบัตรทองที่ ศบส.ในสังกัด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการลงทะเบียนในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ต้องการ และเป็นตามนโยบายส่งเสริมเส้นเลือดฝอยด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร แม้ กทม.จะรับปากว่าหากคลินิกฯ ไม่ยอมออกใบส่งตัวให้มาขอใบส่งตัวกับ ศบส. ได้ แต่ในทางปฏิบัติ โรงพยาบาลใหญ่ ยังขอใบส่งตัวจากคลินิกฯ เช่นเดิม เพราะกลัวเบิกเงินไม่ได้          ล่าสุด หลายคลินิกปฐมภูมิ กทม. ต้องการจะขอยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองกับ สปสช. ซึ่งจะทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้มี “สิทธิว่าง” จึงขอให้ กทม. เตรียมหน่วยบริการปฐมภูมิในสังกัด คือ ศบส. ให้พร้อมรองรับประชาชนด้วย (นี่แค่ระบบบริการสุขภาพของรัฐท้องถิ่นยังไม่ได้ข้ามเครือข่ายไปไหนเลย) ยิ่งมิต้องกล่าวถึง ระยะเวลาในการเชื่อมระบบข้อมูลและการเงินข้ามเครือข่าย ข้ามสังกัดให้เป็นระบบเดียวกันจะเกิดขึ้นจริง กี่โมง ?         ระยะเวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ นี้  ไม่ใช่เพียงข้อท้าทาย แต่จะกลายเป็นการกดปัญหาไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง และเป็นการลิดรอนสิทธิการมีชีวิตที่ดีของผู้ป่วยก็ถูกทำให้กลายเป็น “เรื่องปกติ” ที่คุ้นชินอีกหนึ่งเรื่อง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 สูตรการลดน้ำหนักแบบไหนบ้างที่เหมาะสมกับตัวเรา

        ปีที่ผ่านมา ผมได้ถูกร้องขอจากแพทย์ที่ดูแลโรคหัวใจให้ลดน้ำหนักตัว ซึ่งเดิมผมมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 78 กิโลกรัมส่วนสูง 163 เซนติเมตร ค่า MBI ( Mass Body Index) จะอยู่ที่ 29.36 จัดอยู่ในเกณฑ์อ้วนมาก นอกจากจะมีค่า BMI ที่สูงจนน่าตกใจแล้ว ความดันโลหิตก็สูงมาก ในที่สุดก็ต้องโดนหามส่งเข้าโรงพยาบาล เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน         สูตรในการลดน้ำหนักที่ผมนำมาใช้ในการปฏิบัตินั้น ถ้าจะจำแนกหลักการน่าจะแบ่งได้เป็น 2 หลักการ คือ หลักการแบบ Moderate Low Carb ซึ่งเป็นหลักการที่บริโภคคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) ต่อวันให้น้อยลง เน้นรับประทานผัก รับประทานเนื้อสัตว์ เนื้อปลาได้ ผลิตภัณฑ์จากนมได้ ธัญพืชหรือพืชพลังงานที่มีเส้นใยสูง สูตรนี้ในช่วงแรกๆ ผมไม่ได้ออกกำลังกายและใช้พลังงานมากนัก (เพราะเกรงว่าจะหิวเร็ว) ซึ่งหลักการนี้ใช้ได้ผลสำหรับผม         หลังจาก 1 ปีผ่านไป น้ำหนักตัวลดลงมาอยู่ที่ 67 กิโลกรัม นับว่าประสบความสำเร็จแบบไม่ทรมานร่างกายและจิตใจมากนัก ในช่วงเวลานั้นเอง ผมได้ศึกษาสูตรการลดน้ำหนักอีกหลายสูตรทั้งจากอินเทอร์เนต และสอบถามจากผู้มีประสบการณ์หลายท่าน ตลอดจนศึกษาและลองปฏิบัติจริงจากคู่มือวารสาร Test ของเยอรมันที่เป็นสมาชิกอยู่ โดยปฎิบัติตนตามหลักการอย่างมีวินัยแต่ก็ไม่ได้เคร่งเครียดจนเกินไป         เมื่อต้นปีวารสาร Test ได้เผยแพร่ผลการประเมินสูตรสำหรับการลดน้ำหนักที่นิยมนำมาปฏิบัติโดยเฉพาะด้านโภชนาการมีจำนวนทั้งหมด 15 สูตร พบว่า มีเพียง 5 สูตรที่ได้รับการประเมินว่า เหมาะสำหรับการนำมาใช้ปฏิบัติ อีก 10 สูตรได้รับการประเมินว่า ไม่เหมาะที่จะนำมาปฏิบัติ ผมเห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาแบ่งปันกัน        ข้อมูลที่นำมาเผยแพร่ต่อไปนี้เป็นการทดสอบตามหลักวิชาการของนิตยสาร Test ฉบับเดือน มกราคม 2024 ซึ่งได้มาจากการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เนต ประเมินและวิเคราะห์จากวารสารวิชาการและร้านหนังสือว่ามีแนวความคิดอะไรบ้างที่ “คนเยอรมัน” สนใจและกำลังใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการลดน้ำหนักกันอยู่ สำหรับวิธีการประเมินว่าสูตรไหนเหมาะสมหรือไม่นั้น ทางวารสาร Test ได้ให้คณะทำงานที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้าน Food Science เป็นผู้ทำการประเมิน โดยพิจาณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าแต่ละสูตรมีหลักฐานทางวิชาการมายืนยันหรือไม่ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน ตลอดจนไม่ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว         ทุกสูตรของการลดน้ำหนักที่ได้รับการประเมินว่า “เหมาะสม” ที่จะนำมาปฏิบัติมีหลักที่สำคัญ คือ ลดปริมาณการบริโภคพลังงานต่อวันให้ต่ำกว่าเดิม 500 กิโลแคลอรี ซึ่งนอกจากจะคุมเรื่องปริมาณการบริโภคพลังงานแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดน้ำหนัก เมื่อลดน้ำหนักลงมาได้ตามเป้าแล้ว ร่างกายจะเกิดความคุ้นชินกับพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป สูตรลดน้ำหนักที่ได้รับการประเมินว่า “เหมาะสม”สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้ไม่ยาก มีจำนวน 5 สูตร (1) DGE Mixed Diet เป็นสูตรการลดน้ำหนักของ สถาบัน German Society for Nutrition ซึ่งมีหลักในการปฏิบัติ 10 ข้อได้แก่         1. รับประทานผักและผลไม้หลากหลายสี         2. แต่ละวันรับประทานผักอย่างน้อย 3 ส่วน (400 กรัม) ผลไม้อย่างน้อย 2 ส่วน (250 กรัม)         3. รับประทานผลิตภัณฑ์แป้งที่ทำมาจาก Whole Wheat        4. รับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทุกวัน และรับประทานเนื้อปลา สัปดาห์ละไม่เกิน 2 ครั้ง เนื้อสัตว์ ปริมาณ 300- 600 กรัมต่อสัปดาห์ ตลอดจนรับประทานไข่บ้าง        5. ใช้น้ำมันที่ดีต่อสุขภาพได้แก่ น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันคาโนลา        6. ลดปริมาณการบริโภคเกลือและน้ำตาล        7. ดื่มน้ำบ่อย ๆ         8. ปรุงอาหารแบบรักษาคุณค่าทางอาหาร        9. รับประทานแบบมีสติ ไม่เร่งรีบ        10. ชั่งน้ำหนักทุกวัน และหมั่นออกกำลังกาย (2) Intermitten Fasting (IF) สูตรลดน้ำหนักนี้ เน้นไปที่การรับประทานอาหารเป็นเวลา หลักการรับประทานอาหารและงดอาหารเป็นเวลานี้มีหลายแนวปฏิบัติ เช่น แนวปฏิบัติแบบ 16:8 กล่าวคือใน 1 วัน ที่มีเวลา 24 ชั่วโมงจะงดอาหาร 16 ชั่วโมง และมีช่วงเวลารับประทานอาหารได้ 8 ชั่วโมง โดยไม่จำกัดประเภทของอาหารที่จะรับประทาน หรือแนวปฏิบัติ 5:2 แบบนี้คือการรับประทานอาหารปกติ 5 วันต่อสัปดาห์และรับประทานอาหารแคลอรีต่ำ 2 วันต่อสัปดาห์ (บริโภคพลังงานไม่เกิน 600 กิโลแคลอรี/วัน) สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน type 2 ควรปรึกษาแพทย์ก่อน (3) สูตรโภชนาการเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean Nutrition) สูตรลดน้ำหนักนี้เน้นไปที่การบริโภคพืชผัก ตามแบบฉบับของชาวเมดิเตอเรเนียน ประกอบไปด้วย ถั่ว ธัญพืช ปลา อาหารทะเล บริโภคเนื้อสัตว์แต่น้อย น้ำมันมะกอกเป็นไขมันหลัก ไวน์แดงในปริมาณพอสมควร เน้นการทำอาหารเอง และรับประทานกันเป็นกลุ่มเป็นคณะ รับประทานในบรรยากาศที่รื่นเริง ไม่เร่งรีบ (4) สูตรมังสวิรัติ (Vegetarian Foods) หลักการคือไม่บริโภคเนื้อสัตว์ รับประทานผลไม้และผัก ธัญพืช Whole Wheat ถั่ว โดยอาจรับประทานอาหารที่ทำจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้บ้าง หรือแบบ Ovo-Lacto Vegan คือไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไม่รับประทานเนื้อปลา แต่รับประทานไข่และนมได้ แบบ Lacto Vegan รับประทานนมจากสัตว์ได้แต่ไม่รับประทานไข่ ถ้าแบบ Pescetarian อันนี้รับประทานเนื้อปลาได้ข้อสังเกตจากสูตรแบบมังสวิรัติ คือ ยังไม่มีผลการศึกษาอย่างแน่ชัดว่า การไม่รับประทานนมจากสัตว์จะส่งผลต่อกระดูกหรือไม่ ซึ่งนมสัตว์จะมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการเสริมสร้างกระดูก (5) Moderate Low Carb สูตรนี้มีหลักการลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล เน้นผักและโปรตีน ให้ความสำคัญกับการบริโภคถั่ว มากกว่าการบริโภคธัญพืชและมันฝรั่ง (มันฝรั่งเป็นอาหารหลักของคนยุโรป)  สูตรลดน้ำหนักแบบนี้จากผลการศึกษาพบว่า สามารถลดน้ำหนักในช่วงแรกๆ อย่างฮวบฮาบมากกว่าสูตรอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป สามารถลดน้ำหนักในอัตราใกล้เคียงกัน การรับประทานไข่ช่วยทำให้อิ่มนานพอๆ กับรับประทานแป้ง ข้อเสียของสูตรนี้คือ การปฏิบัติอาจจะไม่ง่ายในช่วงที่ร่างกายกำลังปรับตัวเพราะความต้องการคาร์โบไฮเดรต และหากรับประทานเนื้อสัตว์หรือไขมันคุณภาพต่ำมากเกินไปก็ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับไตก็ไม่ควรใช้สูตรนี้ในการลดน้ำหนักเพราะการรับประทานโปรตีนมากๆ ส่งผลลบต่อการทำงานของไต         อย่างไรก็ตามยังมีสูตรการลดน้ำหนักอีก 2 สูตรที่ เหมาะสมแบบมีข้อจำกัด เพราะต้องมีการเตรียมการที่ค่อนข้างยาก ได้แก่         (1) สูตร Glyx Diet สูตรนี้มีการจัดทำรายการอาหารตามค่าดัชนี Glycemic Index (GI-Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดเปรียบเทียบความสามารถในการดูดซึมอาหาร ซึ่งมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นของอาหารชนิดต่างๆ  โดยทั่วไปค่า GI ยิ่งต่ำยิ่งดี สำหรับคนที่สามารถลดระดับการบริโภคพลังงานได้ต่ำกว่าเดิมได้ 500 กิโลแคลอรีต่อวัน จึงสามารถลดน้ำหนักได้จริง อาหารที่มีค่า GI ต่ำเช่น ผัก ธัญพืชแบบ Whole Wheat เนื้อสัตว์ ปลา ไขมัน อาหารที่มีค่า GI สูงเช่น ผลไม้ มันฝรั่ง แป้งสาลีขัดขาว และขนมหวาน          (2) Vegan Food เน้นรับประทานอาหารแบบมังสวิรัตไม่รับประทานอาหารที่มาจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนเตรียมการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ สำหรับสารอาหารที่ได้เฉพาะจากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น วิตามิน B12 ก็จำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารเสริมมาเพื่อชดเชย ข้อควรระวังสำหรับการใช้สูตรนี้ คือ อาหารจากการผลิตอุตสาหกรรมอาจมีปริมาณพลังงานที่สูงได้ สูตรนี้ไม่แนะนำสำหรับหญิงมีครรภ์ และเด็ก ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของสูตรนี้คือความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งมีผลงานวิจัยออกมายืนยัน (Epic- Oxford Study)         เมื่อกล่าวถึงสูตรที่เหมาะสมและเหมาะสมแบบมีข้อจำกัดแล้ว คราวนี้มาดูที่ สูตรลดน้ำหนักที่ได้รับการประเมินว่า “ไม่เหมาะสม” เพราะยังมีข้อสงสัยและข้อมูลเชิงประจักษ์ทางวิชาการ ได้แก่         (1) Ayurvedic Diet แนวความคิดในการรับประทานอาหารตามหลักปรัชญาและความเชื่อ อายุรเวทของอินเดียโบราณ         (2) Blood Group Diet แนวความคิดนี้ คือรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับกรุปเลือดของตน         (3) Eat the Half แนวความคิดนี้ก็คือ รับประทานอาหารเพียงครึ่งเดียวจากที่เคยรับประทานปกติ         (4) Genetic based Diet คนที่สนใจแนวความคิดนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการทดสอบและวิเคราะห์ DNA ของตน หลังจากนั้น ผู้ให้บริการคอร์สลดน้ำหนักก็จะให้คำแนะนำอาหารในการรับประทานว่าควรรับประทานอะไรบ้าง         (5) Keto Diet แนวความคิดนี้คือรับประทานอาหารกลุ่ม คาร์โบไฮเดรตเพียง 10 % จากอาหารที่ให้พลังงาน          (6) Mono or Crash Diet สำหรับ Mono Diet มีแนวความคิดรับประทานอาหารบางอย่างเป็นเวลาต่อเนื่องกัน และอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นมีปริมาณพลังงานน้อย ดังนั้นบางคนก็เรียกว่า Crash Diet เพราะเชื่อว่าสามารถลดน้ำหนักได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว         (7) Paleo Diet มีแนวความคิดรับประทานอาหารเหมือนกับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์         (8) Trennkost Diet มีแนวความคิด แยกรับประทานอาหารระหว่างคาร์โบไฮเดรต และ โปรตีน ใน 1 มื้อ         ผมหวังว่าสมาชิกและผู้อ่านที่สนใจสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในเบื้องต้นได้ และหากมีความจำเป็นที่จะต้องลดน้ำหนัก ขอแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการครับ มาถึงจุดนี้ผมขอให้กำลังใจทุกท่านที่มีความตั้งใจที่จะลดน้ำหนัก ซึ่งต้องอาศัยทั้งความตั้งใจ ความรู้ การปรับทัศนคติ ความเชื่อและที่สำคัญ คือเวลาและความใส่ใจต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารครับ ขอให้ทุกท่านโชคดีและประสบความสำเร็จ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ‘ร่างผังเมืองกรุงเทพ’ รัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น

        “การที่ผังเมือง คือ ธรรมนูญท้องถิ่นนี้ ผังเมืองจึงไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพของผู้จัดทำ แต่ความเป็นมืออาชีพของการจัดทำเป็นเรื่องของการตอบคำถามได้ไหมว่าประชาชนอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมือง”         พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เขียนอธิบายเรื่องผังเมือง ผังเมืองกรุงเทพฯ (1) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ไว้ในเว็บไซต์มติชนได้น่าสนใจและเป็นคำถามสำคัญว่า ‘ประชาชนอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมือง’         ผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผังเมืองที่ทำมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งโดยปกติแล้วควรมีการปรับปรุงทุกๆ 5 ปี แต่กลับล่วงเลยมา 10 กว่าปี การปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพรอบนี้มี 2 คำถามใหญ่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นพ้องกัน นั่นก็คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผังเมืองใหม่ดังกล่าวกำลังเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนหรือไม่ เมื่อคนกรุงฯ ไม่มีสิทธิในผังเมืองของตนเอง         “ถูกเวนคืนบ้านเพื่อไปสร้างถนน 6 เลน 1,400 หลังคาเรือนกับโครงการสร้างถนนลอยฟ้าแค่ 20 กิโลเมตร ถัดมาปัจจุบันเรามีถนนวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก มีถนนราชพฤกษ์ มีถนนกัลปพฤกษ์ คนฝั่งธนฯ ไม่ได้ข้ามไปฝั่งธน คนฝั่งธนฯ ข้ามไปฝั่งพระนคร เรามีสถานีรถไฟฟ้าประมาณ 3 สาย ถ้าท่านยังอ้างว่ารถติดอยู่ แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหนคะ คำนึงถึงประชาชนบ้างมั้ย ทางขึ้น ทางลง บริเวณเอกชัยโดนหน้ากว้างทั้งหมด 250 เมตร ประมาณ 10 หลังคาเรือนที่โดนแค่หน้ากว้างแล้วก็โดนตลอดทั้งซอย อีกกี่ชีวิตคะ แล้วทำไมไม่ฟังเสียงการขยายถนนท้องถิ่นที่มีอยู่” คำบอกเล่าของ ดาลิน สิริสุวรรณกิจ ผู้ได้รับผลกระทบจากร่างผังเมือง         เธอยังกล่าวอีกว่าถนนท้องถิ่นที่ใช้เชื่อมต่อกับเส้นหลักเพื่อความคล่องตัวในการเดินทางกลับไม่ถูกสร้าง แต่กลับจะสร้างถนนลอยฟ้าที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังถูกไล่ที่โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ.2566 โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ         อีกฝากหนึ่งของเมืองกรุง ภูวนันท์ ภูวนัตตรัย ตัวแทนชุมชนซอยสุขุมวิท 53 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการอาคารสูงที่จะมาสร้างในซอยแคบไม่เกิน 10 เมตร ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าในซอยที่กว้างไม่เกิน 10 เมตรสามารถสร้างอาคารได้ไม่เกิน 8 ชั้น หากจะสร้างสูงกว่านั้นถนนต้องมีความกว้าง 10 เมตรขึ้นไป และถ้าจะสร้างอาคารใหญ่ที่สูงเป็นพิเศษถนนต้องเกิน 18 เมตร แต่ปัจจุบันกลับมีความพยายามเลี่ยงกฎหมาย เขากล่าวต่อว่า         “แล้วการที่จะประกาศแก้ผังเมืองตรงนี้มีสิ่งที่ผมห่วงกังวลเป็นพิเศษเพราะมีแผนที่จะขยายถนนหลายสายเพิ่มความกว้างจากเดิมให้กลายเป็น 12 เมตร 18 เมตร เป็นความกังวลที่ผมขออนุญาตไม่ไว้วางใจ ท่านนายกฯ ปัจจุบันก็มาจากบริษัทอสังหาฯ ท่านผู้ว่าฯ ก็เคยอยู่บริษัทอสังหาฯ ที่ปรึกษากรุงเทพมหานครก็อยู่บริษัทอสังหาฯ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ความพยายามที่จะขยายถนนเหล่านี้อาจจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อสร้างก็จะสร้างผลกระทบมากกับประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพ”         นอกจากนี้ ประเด็น FAR (Floor Area Ratio) BONUS หรือมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองด้วยการทำโครงการให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด โดยประชาชนได้รับประโยชน์แลกกับสิทธิประโยชน์ในการก่อสร้างพื้นที่อาคารเพิ่มเติมตามที่กฎหมายกำหนด ภูวนันท์ยังกล่าวว่าไม่ไว้ใจและไม่เชื่อว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะทำจริง เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีจำนวนมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่เกิดการทำผิดกฎหมาย แต่ผู้บังคับกฎหมายทั้งกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นๆ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ เช่น กรณีโรงแรมเอทัส ซอยร่วมฤดี ที่สร้างในซอยแคบ หรือหลายโครงการในซอยทองหล่อที่ไม่สร้างถนนรอบโครงการสำหรับรถดับเพลิงแต่ใช้ประโยชน์เป็นที่ส่วนตัวก็ไม่มีการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายทั้งที่ศาลสั่งตัดสินเกิน 10 ปีแล้ว ผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้ผ่านการศึกษาอย่างรอบด้าน         ปัญหาสำคัญของร่างผังเมืองกรุงเทพคือไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ต้น แต่มีการร่างผังขึ้นก่อนแล้วจึงเปิดรับฟังความเห็นประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างผังเมืองฉบับนี้ คนกรุงเทพฯ ทั้งที่มีที่อยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานจึงเหมือนถูกมัดมือชก วีระพันธ์ จีนะวัฒน์ สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า         “ร่างผังเมืองที่ทำออกมาก่อน พ.ร.บ.ปี 2562 ชอบหรือไม่ ไม่ได้ผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วจะใช้เป็นฐานในการทำกระบวนการต่อได้อย่างไร ทำไม่ออกแบบผังเมืองเพื่อประชาชน เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ตรงไหน จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดความหนาแน่นได้อย่างไร”        วีระพันธ์ยังชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ของร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ขาดการมีส่วนร่วมนี้อีกหลายจุด เช่น ไม่ควรให้ผู้พัฒนาเลือกใช้พื้นที่ได้อย่างอิสระในทุกพื้นที่เพราะพื้นที่แต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน, ต้องมีการระบุโซนพื้นที่ที่จะให้ FAR Bonus ที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่และควรเพิ่มมาตรการ FAR Bonus ส่งเสริมและอุดหนุนด้านการเกษตรในพื้นที่ที่ต้องการรักษาพื้นที่สีเขียวทั้งสองด้านของผังเมืองกรุงเทพ หรือแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เขาไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะในระยะเวลา 5-7 ปีจากนี้ไป เพราะหากดำเนินการตามร่างที่กำหนดมาจะเร่งให้เกิดความหนาแน่นของเมืองเพื่อสนับสนุนการพัฒนามากกว่าสนับสนุนพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นต้น         “ต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน” วีระพันธ์กล่าวสรุป “มีมาตรการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิต มีพื้นที่สีเขียวเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเพียงพอ มีพื้นที่ย่านชุมชนท้องถิ่นเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของย่าน มีพื้นที่ในการรักษาสิทธิธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้พอเหมาะกับสิทธิการพัฒนา มีระบบสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยกระจายอยู่ในพื้นที่เมือง ต้องทำผังเฉพาะให้เสร็จสิ้นหลังทำผังเมืองรวมแล้ว” ร่างผังเมือที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกับคนที่ไม่มีอำนาจ         ด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอข้อคิดที่สำคัญในการทำผังเมืองซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในการร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้คำนึงถึง เขากล่าวว่าผังเมืองเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่นซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าใครมีอำนาจในเมือง ขณะที่ผังเมืองเป็นสิ่งที่ต้องคุ้มครองประชาชนได้ซึ่งผังเมืองที่มองเห็นแต่สีต่างๆ ปะปนกันไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะคุ้มครองหรือจะให้อำนาจประชาชนได้อย่างไร         โดยหลักการแล้วผังเมืองต้องทำหน้าที่ 2 ประการคือกำหนดทิศทางการพัฒนาและควบคุมการพัฒนาซึ่งร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่มี และเมื่อผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่นก็ย่อมต้องทำให้ประชาชนทุกคนอ่านเข้าใจ สามคือผังเมืองต้องมีความศักดิ์สิทธิ์บางประการ พิชญ์ลงรายละเอียดว่าร่างผังกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกับคนที่ไม่มีอำนาจ ขณะที่คนมีอำนาจเมื่ออ่านผังนี้จะรู้ทันทีว่าตนจะแสวงหาประโยชน์อย่างไร         “บ้านผมอยู่ดีๆ ก็มีใบมาบอกว่าจะมีคอนโดมาสร้าง จะสร้างได้ยังไงในซอยที่มีถนนอยู่แค่สี่เลน แต่จะสร้างคอนโด 30 ชั้น ประเด็นคือเราจะมีสิทธิเมื่อมันมากระทบเราและนี่คือหัวใจของผังเมืองไทย ทุกอย่างจะขึ้นกับคำว่าเจ้าของที่ดิน ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของที่ดินคุณไม่มีสิทธิอะไรเลยในเมืองแห่งนี้ซึ่งมันมีปัญหาอยู่ การไม่มีสิทธิอะไรเลยไม่ใช่เพราะเราไม่มีประโยชน์ต่อเมืองนี้ เมืองนี้มันโตได้ด้วยการที่ไม่ให้สิทธิ์เรา โดยการเอาประโยชน์จากเรา คนจำนวนมากในเมืองนี้ไม่ใช่คนที่อยู่ในกรุงเทพแต่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเขาอยู่เขาไม่มีโฉนดที่ดิน ไม่มีความเป็นเจ้าของที่ดิน แต่เขามีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองนี้ได้เพราะเขาทำประโยชน์ให้เมือง เขาขายของก็ทำให้ต้นทุนในเมืองถูกลง ประชากรแฝงไม่ใช่คนที่ซื้อของในเมืองนี้และจ่ายภาษีบริโภคซึ่งเป็นแกนของภาษีเมืองหรือครับ อันนี้คือพื้นที่ที่คุณจะเคลมได้ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมืองนี้”         พิชญ์ยังตั้งคำถามอีกว่าร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับนี้สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการพัฒนาได้จริงหรือไม่และอะไรคือศูนย์กลางหรือมูลค่าที่ดินหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้ามองในแง่มูลค่าที่ดินจะพบว่าผังเมืองใหม่จะเพิ่มมูลค่าที่ดินเพราะมันเพิ่มและอนุญาตให้มีการพัฒนาที่ดินในบริเวณตึกสูงได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ไม่มีการกำหนดสิทธิของประชาชนที่จะมีโอกาสอยู่ในเมืองมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือถ้าเพิ่มพื้นที่ที่มีความหนาแน่เพิ่มขึ้น คนที่เคยเช่าก็ต้องออกหรือต้องไปแอบซุกอยู่ตามที่ต่างๆ         พิชญ์กล่าวย้ำอีกครั้งว่าผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่กำหนดความสัมพันธ์ของประชาชนทุกคน ประชาชนจึงต้องเป็นจุดตั้งต้นว่าอยากได้เมืองแบบไหน ต้องพูดคุยกันก่อน แล้วคนที่เขียนผังต้องเขียนตามความต้องการของประชาชน ไม่ใช่เขียนเสร็จแล้วให้ประชาชนบอกว่าเอาหรือไม่เอา         “เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญตอนนี้คือต้องยุติการปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพฯ แล้วเขียนใหม่บนหลักคิดที่ว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตร่วมกัน” ประชาชนต้องจับปากกาและขีดผังเมืองเอง         ด้านอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งกล่าวในนามภาคประชาชนก็คิดไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่เห็นว่า การจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลับรับฟังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาอย่างกรณีการขยายซอยเล็กให้ใหญ่ขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคอนโดมีเนียมขนาดใหญ่          “ส่วนเรื่องที่มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว อย่างเช่นบึงรับน้ำคู้บอนในโซนเขตคันนายาว อันนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลยในการเข้าไปรับฟังความคิดเห็น พี่น้องประชาชนโหวตว่าอยากได้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รับน้ำจำนวน 130 ไร่ รับน้ำได้ 870,000 ลูกบาศก์เมตร ปรากฏว่าบึงรับน้ำคู้บอนไม่อยู่ในผังเมือง แล้วตอนนี้กลายเป็นบ้านจัดสรรที่ถูกจัดสรรไปแล้ว กำลังจะเตรียมการก่อสร้าง”         อรรถวิชช์เห็นว่าภาคประชาชนจะต้องมีสิทธิ์จับปากกาและขีดสีเมืองกรุงเทพมหานคร เขายกตัวอย่างว่าเขตพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเพียง 2 ประเภทคือเขียวลายสำหรับอนุรักษ์ชนบทและเกษตรและสีน้ำตาลอ่อนสำหรับการอนุรักษ์เพื่อศิลปวัฒนธรรม จะสังเกตเห็นว่าไม่มีสีที่ขีดขึ้นเพื่ออนุรักษ์พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของเขตเมือง สิ่งนี้ทำให้เห็นการเติบโตของเมืองที่พิสดารอย่างการขยายถนนเพื่อสร้างบ้านหรือคอนโดมีเนียมได้         จากกระแสและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ทำให้คณะกรรมาธิการของรัฐสภาได้เชิญผู้ว่าราชาการกรุงเทพมหานครไปสอบถามเรื่องนี้ทำให้การประกาศร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม โดยทางผู้ว่าฯ ระบุว่าระหว่างนี้จะให้ทุกเขตเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในเขตของตนเอง         ในส่วนของภาคประชาชน นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายกำลังเดินหน้าให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการทำงานความคิดผ่านกับเครือข่ายผู้บริโภคและร่วมสังเกตการณ์ว่าแต่ละเขตมีการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ถ้ามี มีการให้ข้อมูลเพียงพอหรือเปล่า ซึ่ง ณ ตอนนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีเขตใดเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 PFAS อุบัติภัยสารเคมีอันตรายที่เข้าสู่มนุษย์ทุกช่องทาง

        ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกหวั่นวิตกและส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายของสารเคมีกลุ่ม PFAS หรือ Per- and Polyfluoroalkyl Substances  อย่างแพร่หลาย         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักถึงอันตรายและการรับมือที่เราจะสามารถทำได้ PFAS  คืออะไร         PFAS  (per-and polyfluoroalkyl substances)        เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณลักษณะมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีน ที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมากทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก สารเคมีกลุ่ม PFAS คุณสมบัติสำคัญคือต้านความร้อน น้ำมันและน้ำได้ดี  ปัจจุบันสารเคมีกลุ่มนี้มีมากถึง 14,000 ชนิดและถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม         PFAS เป็นสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกค้นพบตั้งแต่ใน ค.ศ. 1940 คุณสมบัติด้านความทนทาน ยากต่อการสลายตัว และเมื่อสลายแล้วยังแปรเปลี่ยนสภาพเป็นอีกสารหนึ่งได้ตลอดเวลา ดังนั้นทั่วโลกจึงขนานนาม สารเคมีกลุ่มนี้ในอีกชื่อว่า “สารเคมีตลอดกาล”          PFAS  พบได้ทั้งในดิน แหล่งน้ำ สัตว์น้ำ เช่น ปลา อาหารแปรรูป น้ำดื่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องครัว บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร เช่น กล่องพิซซ่า ถุงใส่ป๊อบคอร์น ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู เครื่องสำอาง ไหมขัดฟันและยังอีกมากมาย  อันตรายของสารเคมี  PFAS         ราว 4 เดือนผ่านมาแล้วที่ทีมข่าวของสำนักข่าว Bloomberg ได้ลงไปสอบสวนถึงการปนเปื้อนของ PFAS  ในชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่บนหมู่เกาะแฟโร         หมู่เกาะแห่งนี้อยู่แอตแลนติกเหนือ ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพประมงมากว่าร้อยปี พวกเขายืนยันว่าในพื้นที่ไม่มีการประกอบอุตสาหกรรมเคมีใดๆ เลยแต่ตอนนี้สารเคมี PFAS กลับกำลังปนเปื้อนในชุมชนของเขาอยู่เต็มไปหมด         PFAS  เดินทางไปแล้วทุกๆ ที่แม้ในพื้นที่ห่างไกลจนอาจยากจะจินตนาการถึง ด้านผลกระทบต่อสุขภาพยิ่งชัดเจน แต่เมื่อย้อนมองกลับไปยังพื้นที่จุดต้นกำเนิดของสาร  PFAS        ณ ฝั่งตะวันออกของรัฐมินิโซตาใกล้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัท 3M บริษัทที่เริ่มผลิตสารเคมีมาตั้งแต่ปี 1902 ซึ่งในปี 1960 บริษัทได้ฝังกลบสารเคมีขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ ต่อมาสารเคมีดังกล่าวได้รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ แต่สถิติมะเร็งในเด็กในพื้นที่บริเวณนี้ต่างหากที่ส่งเสียงดังเพราะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ          เอมี่ (Amy) มารดาของบุตรสาวชื่อ Lexi ที่เป็นมะเร็งตั้งแต่วัยเด็กเล่าว่าเธอเริ่มสงสัยว่า บุตรสาวเป็นมะเร็งจากสภาพแวดล้อมในเมืองโอ๊คเดล รัฐมินนิโซตา เพราะเธอดื่มน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชน นอกจากนั้น Lexi ยังได้รับประทานปลาจากทะเลสาบในพื้นที่โดยรอบอยู่เสมอเพราะคนในครอบครัวชอบตกปลา และนั่นอาจทำให้เธอต้องกลับมาฉุกคิดว่าสภาพแวดล้อมที่เธออยู่นี้ อาจไม่ได้ปลอดภัยต่อลูกน้อย เมื่อต้องสัมผัสทั้งน้ำดื่มและอาหาร ที่ล้วนมาจากแหล่งน้ำในพื้นที่อยู่อาศัย Lexi ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่เธอยังเด็ก และต้องเข้ารับการบำบัดในโปรแกรมอย่างเคร่งคัดกว่า 5ปี  ปัจจุบันอาการของ Lexi ดีขึ้น แต่เด็กหลายคนไม่โชคดีเหมือนเธอ เมื่อสถิติข้อมูลระบุว่าผู้เสียชีวิตในเมืองโอ๊คเดล จากปี 2003 – 2015 กว่า 171% นั้น เสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อเปรียบเทียบการการเสียชีวิตนอกพื้นที่การปนเปื้อน  PFAS ไม่เพียงทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง         การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้พบว่า PFAS ส่งผลต่อการลดอัตราการเจริญพันธุ์  การทำงานของตับ ระบบเลือดและหัวใจ เพิ่มความดันในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า  ลดภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองโรคให้อ่อนแอลง         การแพร่กระจายของ PFAS ได้กระจายกว้างออกไปอย่างมากในปัจจุบัน ในปี 2023  หน่วยงานสำรวจเชิงธิรณีวิทยาของรัฐบาลกลางสหรัฐ เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุดที่บ่งชี้ว่า น้ำประปากว่าเกือบครึ่งประเทศมีการปนเปื้อนสาร PFAS  และไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง ไทรอยด์ โรคอ้วน ทำลายตับและระบบฮอร์โมนของร่างกาย         ปี 2023 เช่นเดียวกันที่นักวิทยาศาสตร์จาก Environmental Working Group ได้ตรวจตัวอย่างปลาน้ำจืด 500 ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเป็นปลาน้ำจืด 44 สายพันธุ์ เช่น กลุ่มปลากะพง ปลากดอเมริกัน ปลาคอด ซึ่งเป็นปลาที่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร ผลการศึกษาพบกลุ่มตัวอย่างมีปริมาณสารเคมี PFAS เฉลี่ย 9,500 นาโนกรัมต่อเนื้อปลา 1 กิโลกรัม ทำให้ปลาน้ำจืดมีสารเคมีตกค้างสูงมากกว่าปลาทะเลถึง 280 เท่า         นักวิทยาศาสตร์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการบริโภคปลาน้ำจืดหนึ่งครั้งต่อปีอาจเท่ากับการดื่มน้ำ ที่มีสารเคมี PFAS เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นการรับเคมีในปริมาณที่สูงและอันตราย        ทั่วโลกร่วมส่งเสียงเตือนอันตรายของ PFAS             แม้ชื่อสารเคมี PFAS จะเริ่มปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ ในช่วงระยะ  5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนมากขึ้นแล้ว กลับถูกนักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงกันอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะทั้งงานวิจัยตลอดจนการออกมาเรียกร้องของนักวิทย์ซึ่งพยายามให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ควบคุมการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ มีมานานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่เคยได้รับการขานรับ  ทั้งที่มันอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก         ในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์อิสระกว่า 110 คนได้รวมตัวกันออกมาเตือนถึงอันตรายของ PFAS ในน้ำดื่ม ทั้งยังตอกย้ำว่า มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่กำหนดให้มีสาร PFOA และ PFOS ซึ่งเป็นสาร 2 ชนิดในกลุ่มสารเคมี PFAS ที่พบได้บ่อยไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยจาก PFAS ได้         ปัจจุบันประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจาก PFAS  และเริ่มมีมาตรการ ควบคุม จำกัด ไปจนถึงการห้ามใช้สาร PFAS ในหลายระดับที่แตกต่างกัน  สหภาพยุโรป         ในสหภาพยุโรปการกำกับควบคุมการใช้สารเคมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วย สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยองค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป European Chemical Agency (ECHA) ได้สร้างระเบียบเครื่องมือกลไกให้ประเทศสมาชิกร่วมปฎิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อปกป้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม          ปัจจุบันการควบคุมการใช้สารเคมี PFAS ในสหภาพยุโรปมีหลายระดับ บางชนิดมีการห้ามใช้แล้วเช่น การห้ามใช้ PFAS ในโฟมกันไฟตั้งแต่ปี 2011 และยังคงอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านการห้ามใช้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกลุ่มที่ให้ใช้อย่างจำเป็น ซึ่งมีการกำกับ ควบคุมอย่างเคร่งครัด     สหภาพยุโรป เป็นภูมิภาคแรกๆ ที่ตื่นตัว เห็นถึงอันตรายของสาร PFAS และแม้จะมีความต้องการให้ยุติการใช้ PFAS อย่างสิ้นเชิงแต่ยังเป็นเรื่องยากเพราะได้เผชิญกับการแทรกแซงของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหนักมาโดยตลอด   สหรัฐอเมริกา         ปัจจุบันหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ ผ่านกฎหมายเพื่อ ‘ห้าม’ หรือ ‘จำกัด’ การใช้สาร PFAS แล้วโดยรัฐแคลิฟอร์เนียได้ห้ามใช้ PFAS ทั้งหมดในเครื่องสำอางในเดือน ตั้งแต่กันยายน 2022 โดยมีช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับการบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2025  และไม่นานนี้เอง รัฐมินิโซต้าได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้ PFAS โดยตั้งใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และให้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จนถึงในปี 2032 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นปีที่บรรลุการไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สาร PFAS  โดยสมบูรณ์          อย่างไรก็ตามหลายรัฐของสหรัฐอเมริกายังมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น นอร์ทแคโรไลนา ช่วงปลายปี 2023  ที่สหประชาชาติหรือ UN ถึงกับตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ลงตรวจสอบและเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของสารเคมี PFAS ในภูมิภาคนี้หลังพบว่า โรงงาน The Fayetteville โดยบริษัท Chemours เป็นแหล่งสำคัญที่ปล่อย PFAS ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยแม้ UN ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทและระบุถึงงานวิจัยที่ตรวจพบสารเคมี PFAS ของ Chemours ในปลาและพืชผล รวมถึงตัวอย่างเลือดของคนในคนในภูมิภาคนี้กว่า 97% แต่ก็ยังไม่รับการตอบรับที่จะเฝ้าระวังให้มากขึ้น         ในรัฐเทกซัสในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกษตรสองรายยังได้ยื่นฟ้องบริษัทSynagro บริษัทจัดการของเสียขนาดใหญ่ที่ได้นำโคลนหมักมาขายให้เกษตรโดยอ้างว่าเป็นดินโคลนที่มีสารอาหารใช้ทดแทนเป็นปุ๋ยทางเลือกได้และราคาถูกกว่า แต่เมื่อเกษตรนำมาโคลนเหลวเข้ามาใช้แล้ว ไม่นานสุขภาพก็เริ่มแย่ลง สัตว์เลี้ยงตายลง สารเคมีปนเปื้อนในน้ำดื่ม ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่ส่งออกจำหน่ายด้วย         การเข้าไปทดสอบโดยองค์กร PEER หรือ Public Employees for Environmental Responsibility ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรยังพบว่าในฟาร์มของเกษตรกรดังกล่าว ในน้ำดื่มปนเปื้อน PFAS มากกว่าค่ามาตรฐานถึง 13,000 เท่า ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์เกินระดับที่ปลอดภัยถึง 250,000 เท่า สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่นี้กำลังแพร่ไปข้ามรัฐในอเมริกาเมื่อมีการขายโคลนในลักษณะนี้ไปในหลายๆ ที่ เกษตรกรจึงยื่นฟ้องต่อบริษัท Synagro เนื่องจากบริษัท ควร/น่าจะคาดหมายได้ หรือตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ขายออกไปมีความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกาสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือ EPA ได้จัดตั้งสภาด้าน PFAS ขึ้นมาโดยตรง ตั้งแต่ปี  2021 เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบจาก PFAS และรัฐบาล ได้ทุุ่มงบประมาณเพื่อกำจัดสาร PFAS และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกปี  นิวซีแลนด์        ปัจจุบันนิวซีแลนด์ได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางโดยให้มีผลตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ปัจจุบันจึงนับเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ให้ภาคผู้ผลิตมองหา คิดค้น สารทดแทนใหม่  นิวซีแลนด์นับเป็นประเทศแถวหน้าที่ปกป้องประชาชนเชิงรุกจากสารเคมี PFAS ทั้งนี้เพราะคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Auckland  ได้ตรวจเครื่องสำอางที่นำเข้าภายในประเทศพบว่าถึง 90% ปนปื้อนสาร PFAS จึงทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอันตรายร่วมกันอย่างชัดเจน  ออสเตรเลีย         ตั้งแต่ปี 2023 ประเทศออสเตรเลียประกาศที่จะเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้ PFAS ทั้งตั้งแต่การผลิตภายในประเทศ การนำเข้าและการส่งออก  ควบคุมในแผนงานเจ็ดอุตสาหกรรมสารเคมีใน  ออสเตรเลียที่ห้ามใช้สารเคมีที่จะส่งผลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยรัฐบาลจะประกาศรายชื่อสารเคมี ที่ห้ามใช้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2025 กลุ่มธุรกิจสารเคมีทั้งหมดจึงต้องหาสารตัวเลือกอื่นๆ มาใช้ทดแทน โดยจะให้มีการใช้สารเคมี PFAS เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น        ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้พัฒนาโปรแกรมให้ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารเคมี PFAS แบบสมัครใจมาแล้วและยังกำหนดการใช้อย่างเคร่งครัดในโฟมกันไฟ การประกาศแผนการควบคุม PFAS ครั้งล่าสุดจึงเป็นการยกระดับขึ้นอีกขั้นของความจริงจังในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน         สถานการณ์ของ PFAS ในประเทศไทย        ในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ห้ามใช้สารPFAS รวมถึงอนุพันธ์ของสาร 13 รายการ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2566         เช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปและอาเซียน เนื่องจากจัดเป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์โดย ต่อมา อย.ยังได้ตรวจสอบเครื่องสำอางที่ขออนุญาตจดแจ้งในประเทศไทยแล้ว ไม่พบการใช้สาร PFAS (Per- and polyfluoroalkyl substances) หรือสารเคมีอมตะ         อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางเป็นเพียงอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันมีการนำสาร PFAS ไปใช้เป็นวัตถุตั้งต้นทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติกเครื่องปรับอากาศ สิ่งทอ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์และอีกมากมาย         เดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับ เครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ หรือ IPEN ศึกษาทดสอบการปนเปื้อนของสาร PFAS "สารเคมีตลอดกาล" ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอใน 13 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งตัวอย่างเสื้อผ้าเข้าทดสอบ จากทั้งหมด 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศในยุโรป 7 ประเทศ (เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย มอนเตเนโกร) 4 ประเทศในเอเชีย (บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย) สหรัฐอเมริกา และเคนยา         ผลการตรวจวิเคราะห์เสื้อผ้าทั้งหมดจาก 13 ประเทศรวม 72 ตัวอย่าง (แจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง และเสื้อผ้าประเภทอื่นอีก 16 ตัวอย่าง) พบว่ามี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.3) ที่มีสาร PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว และจากแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง มีถึง 35 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ที่มีสารเคมี PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว ทั้งนี้พบเสื้อกลุ่มแจ็กเก็ต 16 ตัวอย่าง มีปริมาณสารเคมี PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด         ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป 6 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกัน จะพบว่า ตัวอย่างที่ ที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับ         การศึกษาวิจัยครั้งนี้ IPEN และเครือข่ายองค์กรสมาชิก จึงได้เสนอต่อรัฐบาลทุกประเทศ เร่งดำเนินการดังนี้         1.ออกประกาศห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อผ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ         2. สนับสนุนการพัฒนาข้อกำหนดในการควบคุมสารเหล่านี้ทั้งหมดในระดับสากล (รวมถึงฟลูออริเนตโพลีเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและฟลูออโรโพลิเมอร์) และปฏิบัติตามอย่างกลไก         3. บังคับให้มีการเปิดเผยวัสดุและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น ออกกฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในสินค้าต่อประชาชนทั่วไป ร้านค้าปลีก และหน่วยงานกำกับดูแล         4. วางแผนและส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ การสนับสนุนทางการเงิน และการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปใช้ทางเลือกที่ปลอด PFAS โดยดูแลให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมต่อพนักงานและชุมชน         5.เพิ่มทรัพยากรและศักยภาพของศุลกากรในการตรวจวิเคราะห์สินค้านำเข้าที่มีการใช้หรือปนเปื้อนสาร  PFAS         ในมุมมองของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า เนื่องจากมีการใช้สาร PFAS ในหลากหลายอุตสาหกรรม การที่หน่วยงานรัฐแม้มีงบประมาณจำกัด แต่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้า เช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ได้ตรวจสาร PFAS ในเครื่องสำอาง การตรวจสินค้าอุปโภค บริโภคที่สาร PFAS มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ร่างกายในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชน ได้เฝ้าระวังอันตรายและสุขภาพ จึงควรการดำเนินให้เกิดความต่อเนื่องและหลากหลายสินค้า และสำหรับกลุ่มผู้ผลิต เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การยุติการใช้สาร PFAS อาจจะใช้เวลายาวนาน         ปัจจุบันการมีฉลากที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าที่ซื้อหรือใช้ มีสาร PFAS ชนิดใดและปริมาณเท่าใด พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้สินค้าดังกล่าว        จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนทุกคน                                   

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)