แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค นอน โฆษณา เส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ ที่นอน
ทุกวันนี้ การกระชับใบหน้าโดยไม่ต้องทำศัลยกรรมตกแต่งเพื่อให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์และไม่แก่ตามวัยนั้นกำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะไม่ต้องลงมีด ไม่มีรอยแผลเป็นที่ใบหน้า ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล และผลที่ได้ก็ดูเหมือนกับการทำผ่าตัด จึงมีการโฆษณากันในสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และวิธีการก็มีหลากหลายตั้งแต่ การฉีดโบท็อกซ์ การดูดและฉีดไขมัน การฉีดฟิลเลอร์ การลอกหน้า และการร้อยไหม ซึ่งมีการโฆษณาการทำร้อยไหมเพื่อกระชับใบหน้ากันมาก เรามารู้เท่าทันการร้อยไหมกันเถอะ การร้อยไหมคืออะไร การร้อยไหม คือ การใช้ไหมเส้นเล็กจำนวนมากมาร้อยเป็นเครือข่าย บริเวณใต้ผิวหนังที่ร้อยไหมเข้าไปจะถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ ทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ที่สร้างเส้นใยคอลลาเจนให้มาพันรอบแนวเส้นไหม ทำให้เกิดการดึงรั้งผิวหน้า ทำให้ผิวหน้าเต่งตึงและกระชับ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตมาเลี้ยงชั้นผิวหนังเพิ่มขึ้นด้วย ไหมชนิดที่นิยมใช้กันมากทำมาจากโพลีไดออกซาโนน (polydioxanone หรือ PDO) ที่ใช้ในการทำผ่าตัดเย็บเส้นเลือดหัวใจ ไม่มีปฏิกิริยาต่อผิวหนัง จึงมีโอกาสแพ้น้อยมาก ผ่านการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งในและต่างประเทศ เส้นไหมจะถูกดูดซับโดยผิวหนังภายหลังจากการร้อยไหมหลายๆ เดือน และสามารถสลายตัวได้เองภายใน 8 เดือน ชนิดของเส้นไหมที่นิยมใช้มี 3 แบบ คือ เส้นไหมเรียบ เส้นไหมเกลียว เส้นไหมที่มีเงี่ยง ปัจจุบันเริ่มมีการโฆษณาการนำไหมทองมาใช้ เพราะคนมีความเชื่อว่าทองเป็นของมีค่า การใช้ไหมทองจึงเชื่อมโยงกับความคงทนของทอง แต่ความเป็นจริงก็คือ ไหมทองยังไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การร้อยไหมทองไม่สามารถแก้ไขหรือเอาออกได้ เนื่องจากทองจะถูกพังผืดยึดเอาไว้ เมื่อดึงออกมาจะทำให้ผิวหนังบุ๋ม และถ้ารับการตรวจด้วยเครื่องมือที่ให้ความร้อน หรือรังสีแม่เหล็กวิ่งเข้าสู่ทองซึ่งเป็นโลหะ จะทำให้เกิดความร้อนจนไหม้ได้ การร้อยไหมได้ผลจริงหรือไม่ และอยู่นานแค่ไหน เมื่อทบทวนข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) ทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า การร้อยไหมสามารถทำให้ผิวหนังเกิดการยกกระชับได้จริง หรือสามารถคงสภาพการกระชับได้นาน และไหมละลายชนิด PDO ที่ได้การรับรองความปลอดภัยจาก อย. แต่นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า อย. ไม่อนุญาตหรือไม่รับรองวิธีการร้อยไหมเพื่อวัตถุประสงค์ของการกระชับผิว แต่อนุญาตให้ใช้ในการเย็บแผลเท่านั้น เมื่อทบทวนงานวิจัยใน Pubmed มีการวิเคราะห์อภิมานในบทความ 188 บทความ ที่มีคุณภาพและตรงมีเพียง 44 บทความ พบว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือมีน้อยมากที่ยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของการร้อยไหม มีเพียง 2 บทความที่แสดงระยะเวลาที่ได้ผลที่สั้นมากของการยกกระชับใบหน้า สรุป การร้อยไหมกระชับใบหน้าดูเหมือนได้ผลในระยะสั้น เนื่องจากการบวมและการสร้างคอลลาเจนที่ใบหน้า ทำให้ดูเต่งตึง แต่งานวิจัยทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิผล ความปลอดภัย
ช่วงนี้คงไม่มีอะไรมาแรงเท่าเครื่องดื่มผสมวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ที่โฆษณาขายกันอย่างครึกโครมว่าเพิ่มพลังและดีต่อสุขภาพ มีดารา ศิลปินชื่อดังที่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ยี่ห้อต่างๆ จนฉุดยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ คืออะไร บริษัทเครื่องดื่มสุขภาพกำลังเพิ่มการใส่วิตามินและเกลือแร่ลงไปในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำดื่มสำหรับนักกีฬา และน้ำดื่มธรรมดา เนื่องจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพเชื่อว่ามีประโยชน์กว่าการดื่มน้ำธรรมดา ทำให้เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เหล่านี้มีวางขายทั่วไปหมด ตั้งแต่ ในร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของในปั๊มน้ำมัน ร้านขายของชำ จนถึงร้านอาหารข้างทางเครื่องดื่มวิตามินมีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัยจริงหรือ เครื่องดื่มวิตามินต่างๆ ที่ขายในท้องตลาด อาจมีวิตามินและสารอาหารที่ใส่เข้าไปในปริมาณน้อย บางชนิดก็ไม่มีความจำเป็น บางชนิดถ้าบริโภคในปริมาณมากและระยะยาวอาจเป็นอันตราย “ปกติ เราได้รับวิตามินและแร่ธาตุตามธรรมชาติจากอาหาร หลายคนยังกินวิตามินเสริมเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังมากินเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เพิ่มอีก ทำให้มีการบริโภควิตามินและแร่ธาตุมากเกินกว่าความจำเป็น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Mridul Datta จากภาควิชาโภชนาการ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าว ทุกวันนี้ งานศึกษาแสดงว่า ประชากรแต่ละคนได้รับวิตามินและแร่ธาตุในระดับที่สูง มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาบริโภควิตามินรวมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขนมปัง อาหารหลายอย่าง มีการเพิ่มวิตามิน B, A และ D ในประเทศไทยก็มีการการโฆษณานมผงยี่ห้อต่างๆ ว่ามีสารอาหารต่างๆ จำนวนมาก วิตามินที่บริโภคในปริมาณมาก วิตามินบางชนิดละลายในน้ำได้ เช่น วิตามิน B และ C ซึ่งจะขับถ่ายออกทางปัสสาวะ แต่วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น A, D, E และ K จะสะสมในเนื้อเยื่อ และเกิดความเสี่ยง เพราะคงตัว ไม่ขับออกทางปัสสาวะ เมื่อบริโภคต่อเนื่อง จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นและมีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งต้องระวัง งานศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่ตีพิมพ์ใน JAMA ปีค.ศ. 2009 ทำการศึกษาคลินิกใน ผู้ป่วยโรคหัวใจกว่า 6,000 ราย ซึ่งได้รับวิตามิน B หรือ ยาหลอกเป็นเวลากว่า 7 ปี พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับกรดโฟลิคและ B12 มีอัตราการเสียชีวิตและมะเร็งสูงกว่า ในปีค.ศ. 2012 การทบทวนการศึกษาทางคลินิกในประชากร 300,000 รายโดย Cochrane พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามิน A, E เพิ่มอัตราการเสียชีวิต ในปีถัดมา หน่วยงานป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาได้สรุปว่า “มีหลักฐานจำกัดที่ยืนยันว่า การบริโภควิตามินและแร่ธาตุสามารถป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจได้”เครื่องสุขภาพมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ การทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ปีค.ศ. 2019 พบว่า ปัญหาใหญ่ของเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพคือ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือมีน้ำตาลในปริมาณสูง ก่อให้เกิดโรคอ้วน ฟันผุ เบาหวาน และโรคหัวใจ เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ที่ขายกันทั่วไป ส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลม หลายยี่ห้อจึงมีรสหวานเท่ากับหรือมากกว่าน้ำอัดลม ยกเว้นบางประเภทที่บอกว่าน้ำตาลเป็น 0 แต่ก็ใช้รสหวานจากน้ำตาลเทียม ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มวิตามินหรือแร่ธาตุจึงมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้ สรุป เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่สามารถมีผลเสียต่อสุขภาพได้ จากวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำตาล ที่บริโภคมากเกินจำเป็น
นอกจากเห็ดถั่งเช่าที่โฆษณากันอย่างครึกโครมแล้ว ยังมีคอลลาเจนที่โฆษณากันไม่น้อยกว่าเห็ดถั่งเช่าหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ มีทั้งที่เป็นคอลลาเจนผลิตในประเทศไทย จากต่างประเทศ จากสัตว์บกและสัตว์น้ำมากมายหลายชนิด ดีจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะ คอลลาเจนมาจากไหนบ้าง ร่างกายของเราสร้างคอลลาเจนตามธรรมชาติ และใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง ผม เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และอื่นๆ อีกมากมาย คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบโปรตีนหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและผิวหนัง แต่เมื่ออายุมากขึ้น การสร้างคอลลาเจนน้อยลง ดังนั้นการกินคอลลาเจนเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำให้มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนจำนวนมากทั้งที่เป็นผง เป็นแคปซูล ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากส่วนของสัตว์ เช่น เกล็ดปลา หอยเป๋าฮื้อ กระดูกหรือหนังวัว หมู เป็นต้น คอลลาเจนมีอยู่ทั่วร่างกาย เราอาจแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ชนิดที่ I มีมากในสัตว์ทะเล นิยมใช้เพื่อลดริ้วรอยของใบหน้า ผิวหนัง แต่ก็มีผลดีต่อกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ ชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบหลักในกระดูกอ่อน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ปกป้องข้อ หมอนรองกระดูกสันหลัง ตา มีมากในน้ำต้มกระดูก กระดูกไก่ ชนิดที่ 3 พบมากในลำไส้ กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และมดลูก คอลลาเจนชนิดที่ 1 และ 3 ส่วนใหญ่พบมากและผลิตมาจากวัว ผงคอลลาเจนที่ขายในท้องตลาด จะเป็น "hydrolyzed" การ hydrolyze หมายถึง กรดอะมิโนถูกทำให้แตกตัวเป็นหน่วยเล็กๆ ซึ่งทำให้ผงสามารถละลายในน้ำได้ดี การกินคอลลาเจนช่วยรักษาโรคข้อเสื่อมจริงหรือไม่ เมื่อทบทวนงานวิจัยในวารสารต่างๆ พบว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่า การกินคอลลาเจนช่วยให้ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้สร้างเสริมส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนัง ลดอาการปวดตามข้อได้ แต่เมื่อทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ที่มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบงานวิจัยหลายๆ งานวิจัย พบว่า การศึกษาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน 20 ชนิด ในงานวิจัย 69 ที่มีการตีพิมพ์ 7 รายงานสามารถลดอาการปวดของข้อได้ดี ส่วนอีก 6 รายงานสามารถลดอาการปวดข้อได้ แต่ผลดีทางคลินิกไม่ชัดเจนไม่มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนใดเลยที่มีผลในการลดอาการปวดในระยะยาว คุณภาพของงานวิจัยมีตั้งแต่น้อยจนถึงดี ดังนั้น การกินคอลลาเจนอาจลดอาการปวดของข้อได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่ยืนยันผลดี รวมทั้งยังไม่มีผลทางคลินิกว่า โครงสร้างของข้อ กระดูก และเนื้อเยื่ออื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การช่วยลดอาการปวดข้อ การปวดกล้ามเนื้อที่ดีและได้ผล คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การกินปลาตัวเล็กตัวน้อยจะได้ปริมาณคอลลาเจนจากอาหารเพียงพอ สรุป ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนในรูปแบบต่างๆ นั้นอาจมีผลการลดอาการปวดข้อในระยะสั้น ไม่ได้ผลในระยะยาว และไม่ได้ทำให้โครงสร้างของข้อ กระดูกเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
โรคความเสื่อมที่ผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นคือ สายตาเสื่อม มองเห็นไม่ชัด พร่ามัว จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ที่จะมาโฆษณาชักชวนให้ผู้สูงอายุบริโภคเพื่อให้สายตาดีขึ้นไม่ต้องผ่าตัด เมื่อเข้าไปดูผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาก็พบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก แต่ที่มีคนถามไถ่มากคือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดี คอนแทค ว่ามีสรรพคุณรักษาดวงตาตามโฆษณาจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ดีคอนแทคคืออะไร มีการโฆษณาดีคอนแทค (D-Contact ) ทั้งจากผู้จำหน่าย ร้านค้า ว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ช่วยดูแลดวงตาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้แก่ ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม วุ้นในตาเสื่อม ตาบอดกลางคืน โรคตาแห้ง เป็นต้น มีการโฆษณาว่าในดีคอนแทคมีส่วนประกอบหลักจากสารต่างๆ จากธรรมชาติ ได้แก่ เบต้ากลูแคนจากยีสต์ สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ กรดแอสคอร์บิก สารสกัดจากแครนเบอร์รี่ สารสกัดจากบลูเบอรี่ สารสกัดจากดอกดาวเรือง เบต้า- แคโรทีน วิตามิน บี 12 รวมทั้งมีเลขทะเบียน อ.ย 10-1-15456-5-0019 ราคาขายมีตั้งแต่กล่องละ 700 กว่าบาทจนถึง 1,200 กว่าบาท กล่องละ 30 แคปซูล โดยสามารถหาซื้อได้จากผู้ขายตรงและในร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ดีคอนแทคน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย พยายามค้นข้อมูลดีคอนแทคในต่างประเทศ ก็ไม่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ในชื่อ ดีคอนแทคในต่างประเทศ และพยายามค้นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องใน Pubmed และ Cochrane และในหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่พบ จึงเป็นไปได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย เลขทะเบียนอ.ย 10-1-15456-5-0019 เมื่อค้นข้อมูลในอย. พบข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ดีคอนแทค” อวดอ้างสรรพคุณช่วยรักษาโรคที่เกิดกับดวงตาทางสื่อต่างๆ โดยมีการระบุสรรพคุณสามารถป้องกันรักษาโรคทางตา เช่น ต้อกระจก , ต้อหิน , ต้อเนื้อ , วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา ทั้งนี้ อย. ขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ “ดีคอนแทค” ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เลขสารบบอาหาร 10-1-15456-5-0001 จึงไม่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง ส่วนการขออนุญาตโฆษณามีเนื้อหาเพียง ดีคอนแทค เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และระบุคำเตือนว่า อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค ต่อมา นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวว่า อย. ได้รับการยืนยันข้อมูลทางวิชาการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่พบหลักฐานทางวิชาการรับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค มีสรรพคุณรักษาดวงตาได้จริง จึงได้ออกคำสั่ง อย.ที่ 127/2562 ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค เลขสารบบอาหารที่ 10-1-15456-5-0001 ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2562 สรุป ผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากอย. แต่มีการนำไปโฆษณาใช้เป็นการรักษาโรค ซึ่งเป็นการผิดกฎหมายจึงขอให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันไว้ว่า การมีเลขทะเบียนอย. นั้น ไม่ใช่การรับรองว่าเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้รักษาโรคได้ต่างๆ นานาตามโฆษณา
ความคิดเห็น (0)