ฉบับที่ 240 ร้อยเล่ห์มารยา : ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย ใจในร่างกายกลับไม่เจอ

        


        ย้อนกลับไปเกือบสามทศวรรษก่อน หลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี .. 2535 คุณแอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ได้นิพนธ์บทเพลง ทะเลใจ อันมีเนื้อหาลุ่มลึกเชิงปรัชญา โดยเฉพาะความท่อนหนึ่งของเพลงที่กล่าวว่า คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ... ซึ่งชวนให้สะท้อนย้อนคิดว่า ในช่วงวิกฤติแห่งชีวิตและสังคม การยั้งคิดมีสติไตร่ตรองเพื่อประสานกายและใจให้สมดุลเท่านั้น จะเป็นคำตอบที่เราได้ เรียนรู้เพื่ออยู่เพียงตัวและจิตใจ เป็นมิตรแท้ที่ดีตลอดกาล 
        ตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น คำว่า สติ ก็น่าจะหมายถึง การเตือนให้ปุถุชนทั้งหลายพึงกระทำ พูด คิด หรือระลึกได้โดยไม่ประมาท อันเป็นพื้นฐานให้เราได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบและสุขุมคัมภีรภาพ เพื่อให้ได้ผลที่ดีตามมาต่อทั้งตนเองและผู้อื่น  
        30 ปีให้หลัง กับวิกฤติความชอบธรรมทางการเมืองร่วมสมัย วิถีเศรษฐกิจที่ผันผวนไม่แน่นอน สภาวะความเสี่ยงจากโรคระบาดที่ไม่มีที่มาที่ไป ดูเหมือนว่า คำถามเรื่อง สติแห่งการระลึกได้ถึงกายและใจแห่งปัจเจกชน ได้ย้อนกลับมาท้าทายและทดสอบผู้คนทุกวันนี้ให้ต้องทบทวนตัวเรากันอีกคราหนึ่ง
        จากภาพสังคมระดับใหญ่ ตัดเข้ามาแม้แต่ในสถาบันครอบครัวที่ใกล้ชิดกับเรา ก็ดูจะเป็นสถาบันแรกที่ถูกเขย่าให้สั่นคลอนไปถึงก้นบึ้งในการดำรง สติ แห่งปัจเจกบุคคล ดังเช่นบททดสอบที่เกิดขึ้นกับ พิชชา หรือ เอม ในละครโทรทัศน์เรื่อง ร้อยเล่ห์มารยา 
        เปิดเรื่องละครกับฉากแรกที่เป็นภาพการเตรียมจัดงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 5 ปีงานแต่งงานของเอม เธอปรากฏตัวในชุดสีแดงสด ซึ่งดูผิดแผกไปจากภาพลักษณ์ของนางเอกละครโทรทัศน์ทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องอ่อนหวาน เรียบร้อย หรือจิบดื่มน้ำส้มน้ำผลไม้อยู่เป็นนิจสิน 
        จากนั้น เมื่อเธอรับโทรศัพท์จาก ปานแก้ว และรู้ว่า นางแบบสาวทะเยอทะยานผู้นี้ได้เล่นสงครามประสาทฉลองดินเนอร์อยู่กับ ภมร สามีของเอม เพียงแค่นั้นอาการ ไร้ซึ่งสติ และขาดการยั้งคิดของนางเอกในชุดสีแดงสดอย่างเอมก็บังเกิดขึ้นทันใด 
        เพราะเป็นนางเอกสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ยอมคน ฉากเริ่มเรื่องของละครจึงเปิดด้วยภาพของเอมที่ไล่ตบตีคุกคามภรรยาน้อย เพราะ เสียทองเท่าหัว ก็ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร และในขณะเดียวกัน ละครก็คงจะบอกเป็นนัยด้วยว่า หลังจากนี้ผู้ชมก็จะได้เห็นภาพอาการ สติแตกสุดขั้วโลก ของนางเอกปรากฏออกมาอีกเป็นระยะๆ 
        ในขณะที่ศัตรูหัวใจอย่างปานแก้วเป็นเพียงข้อสอบชุดแรกของเอม แต่กับบททดสอบถัดมาจาก คุณรัญญา แม่สามีของเอมก็ยังกระหน่ำซ้ำมาไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะคุณรัญญาเองก็มักจะพร่ำสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า เมียไม่สำคัญ แต่เงินกับอำนาจสำคัญกว่า เธอจึงไม่ยอมอ่อนข้อและคุกคามลูกสะใภ้ผู้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจวงศ์ตระกูลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
        ความไม่ลงรอยกันอันคลาสสิกที่ปะทุปะทะทั้งคารมและการกระทำระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ จึงเป็นอีกระลอกของความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในสถาบันครอบครัว เพราะแม่ผัวอย่างคุณรัญญาก็ยืนยันกับลูกสะใภ้อย่างชัดเจนว่า ผลประโยชน์ไม่มีคำว่ายืดหยุ่น แม้แต่กับคนในครอบครัว 
        แต่ทว่าบททดสอบอันท้าทายที่สุดในชีวิตของเอม กลับมาจาก ตติยา หรือ นิ่ม ผู้มีสถานะเป็นน้องสาวบุญธรรม แต่ในห้วงลึกแล้ว แอบเกลียดพี่สาวคนนี้อย่างเข้ากระดูกดำ เพราะนิ่มเคืองแค้นที่ชีวิตของเธอเป็นเพียงเด็กบ้านแตก ขาดความอบอุ่นมาตั้งแต่เกิด ซึ่งตรงข้ามกับเอมที่ทั้งมีและได้ทุกสิ่งแทบจะสิ้นเชิง 
        ด้วยเหตุนี้ ภายใต้ใบหน้าและกิริยาที่อ่อนหวาน แต่ปมแค้นที่ปรารถนาให้เอมต้องเจ็บปวดแบบเดียวกับที่เธอสั่งสมความรู้สึกนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ นิ่มจึงวางแผนสร้างปัญหาต่างๆ ตั้งแต่แอบก่อปัญหาเรื่องงานในบริษัทของเอม ไปจนถึงจัดฉากอาศัยความเจ้าชู้ของภมรเป็นทุนเดิม เพื่อให้เผลอไผลไปมีความสัมพันธ์จนเธอท้อง อันนำไปสู่การหย่าร้างระหว่างเอมกับสามีในที่สุด 
        เฉกเช่นเดียวกับชื่อเรื่องของละคร ร้อยเล่ห์มารยา เอมต้องเผชิญกับ มารยาหลายร้อยเล่มเกวียน ของผู้คนรอบข้าง ทั้งจากอนุภรรยาของสามีที่ตามราวีไม่สิ้นสุด จากแม่ผัวที่ไม่ยอมเลิกรา และจากน้องบุญธรรมที่คอยเจ้าคิดเจ้าแค้น ท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า ภายใต้สภาวะวิกฤติที่ห้อมล้อมรุมเร้าแบบนี้ นางเอกของเราจะยังคง สติ ที่จะยืนหยัด มีชีวิตเพื่อสู้คืนวันอันโหดร้าย กันต่อไปได้ถึงระดับใด 
        แต่เพราะ มารมีบารมีจึงบังเกิด ในขณะที่ มารมีมาให้ผจญอยู่หลายระลอก เอมก็ยังมีบุคคลแวดล้อมเป็นเพื่อนร่วมสุขทุกข์ ไม่ว่าจะเป็น ชัยยศ และ พรพรรณ บิดามารดาผู้เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตโหดร้ายมาก่อน รวมไปถึงกลุ่มเพื่อนผู้หญิงหลายรุ่นวัย ทั้ง พี่สุนีย์ นิภา” “เบล และแม้แต่ มินตรา น้องสาวของภมร ที่ทุกคนล้วนรักและหวังดีกับเอมมาตลอด  
        และนอกจากครอบครัวและผองเพื่อนที่เคียงข้างแล้ว แน่นอนว่า ยังต้องมีพระเอกหนุ่มอย่าง รามิลที่เป็นคนรักเก่า และคอยเหนี่ยวรั้ง สติ ของเอม ทุกครั้งที่เธอเผชิญกับมรสุมวิกฤติที่ซ้ำกระหน่ำเข้ามา 
        ด้วยบทบาทอาชีพทนายความ รามิลจึงเป็นสัญลักษณ์แทนสติและการใคร่ครวญด้วยเหตุผล และเมื่อต้องมาปะทะกับตัวแทนแห่งอารมณ์อย่างเอม รามิลจึงเป็นอีกขั้วตรงข้ามที่กระตุกให้เอมรู้จักใช้สติระลึกและยั้งคิดเท่าทัน เล่ห์มารยาหลากร้อยเล่มเกวียน ที่เข้ามากระแทกอารมณ์ความรู้สึกของเธอ 
        แต่ที่ดูจะเป็นนัยเสียดสีอยู่ในทีก็คือ แม้แต่กับตัวละครที่มีสติที่สุดอย่างทนายหนุ่มรามิล ทุกครั้งที่เขาต้องเผชิญหน้ากับ ปฐวี ผู้เป็นบิดา ซึ่งรามิลเชื่อว่า พ่อมีส่วนทำให้มารดาเสียชีวิต รามิลเองก็ถูกเขย่าให้อยู่ในอาการขาดสะบั้นซึ่งสติไปได้เช่นกัน 
        การไร้ซึ่งสติที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อ่อนไหวทางอารมณ์อย่างเอม ไปจนถึงตัวละครที่แม้จะมีเหตุผลและสัมมาสติอย่างรามิล ก็คงไม่ผิดนักที่เราจะได้ข้อสรุปว่า ใน ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์ นั้น ปุถุชนทุกคนย่อม หลงทางไปไม่ยากเย็น และ อับโชคตกลงกลางทะเลใจได้จริง  
        จนเมื่อมาถึงตอนท้ายของเรื่องที่เอมประสบอุบัติเหตุจากแผนการของนิ่ม เอมก็ค่อยๆ เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง ตาบอดทางกายที่มองไม่เห็นกับ ตาบอดทางใจที่ฉาบเคลือบไว้ด้วยมิจฉาสติ 
        เพราะตราบใดที่ ร้อยเล่ห์มารยา ยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเรา รอบชีวิตครอบครัวเรา รายรอบไปถึงวิกฤติทางเศรษฐกิจการเมืองของสังคมเรา การดำรงอยู่แห่งสติเท่านั้นที่จะปลดปล่อยให้ปัจเจกบุคคลได้เข้าใจว่า ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข

แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ร่างกาย ชีวิต

ฉบับที่ 276 กลเกมรัก : สงสารแต่ลูกปลาบู่…

                “สงสารแต่แม่ปลาบู่ อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นางเอื้อยเป็นลูกกำพร้า ถึงเวลามาร่อนรำ…”         นิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” เล่าถึงชีวิตของ “เอื้อย” เด็กน้อยผู้กำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยความรักความผูกพัน แม่ของเด็กหญิงเลยกลับชาติมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง แต่ก็มิวายถูก “อ้าย” น้องสาวต่างมารดา ตามราวีจับแม่ปลาบู่ทองมาฆ่ามาแกง กลายเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะชีวิตลำเค็ญที่สืบต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน         แม้ข้อคิดหลักของนิทานเรื่อง “ปลาบู่ทอง” จะยืนยันกับเด็กๆ ว่า ให้รู้จักคิดดีทำดีแล้วจะได้ดี รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา อดทนยึดมั่นกตัญญูแม้จะถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา หากทว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ในเรื่องราวก็คือ ภาพความน่าสงสารของเด็กกำพร้า เพราะขาดซึ่งพ่อหรือแม่ที่เฝ้าคอยปกป้องดูแล         พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดความหมายของ “เด็ก” ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และนิยามถึง “เด็กกำพร้า” เอาไว้ว่า เป็นเด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้         แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะนิยามความหมายของ “เด็กกำพร้า” เอาไว้แบบกลางๆ แต่ก็เป็นเรื่องชวนประหลาดใจว่า เมื่อภาพเด็กกำพร้ามาปรากฏอยู่ในจินตกรรมของเรื่องแต่งทั้งหลาย เด็กกำพร้ากลับมักถูกกำหนดคุณค่าให้ดูน่าสงสาร และมีชะตากรรมที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ไล่เรียงตั้งแต่นิทานคลาสสิกเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ไปจนถึงละครโทรทัศน์แนวรักสี่เส้าเรื่อง “กลเกมรัก”         เริ่มต้นเรื่องขึ้นมาด้วยการฉายให้เห็นภาพของ “อนล” พระเอกหนุ่มลูกชายของ “อาทิตย์” รองประธานบริษัท KTP ของตระกูลกำธรภูวนาถ ที่ต้องการเวนคืนที่ดินจากกลุ่มคนจนในสลัม เพราะคุณอาทิตย์มีปณิธานประจำใจที่คอยสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า “คนจนก็ไม่ต่างจากมดปลวก ไร้ค่า ไร้ประโยชน์”         แต่ในเวลาเดียวกัน “ภูมิ” ผู้เป็นน้องชายของอาทิตย์ และรั้งตำแหน่งประธานบริษัท KTP กลับไม่เห็นด้วย ทำให้พี่น้องต้องขัดแย้งกัน ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยังเป็นเพราะผลประโยชน์ที่แบ่งกันไม่ลงตัว จนเป็นศึกสายเลือดภายในตระกูลเดียวกันของกลุ่มทุนรายใหญ่         ภูมิมีบุตรชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอนลชื่อ “ภีม” ซึ่งมองว่า “บ้าน” ไม่ใช่เพียง “สิ่งที่เป็นอาคารสถานที่อยู่อาศัย” หากแต่เป็น “ทุนของความสุข” สำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้นหรือฐานะทางสังคม ดังนั้น ไม่เพียงแต่รุ่นพ่อที่ขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่รุ่นลูกก็ยังไม่ลงรอยกันด้วยโลกทัศน์ที่หล่อหลอมมาคนละชุด         ตัดภาพจากฉากชีวิตครอบครัวชนชั้นนำ อีกด้านหนึ่งละครก็จำลองภาพรูปแบบความเป็นครอบครัวซึ่งต่างออกไปของคนอีกกลุ่ม ที่ใช้ชีวิตอยู่ในมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านสายชล กับตัวละครนางเอก “อันดา” และเพื่อนรัก “ลลิษา” ที่เติบโตมาด้วยกัน และแม้จะเป็นเพื่อนรักและสนิทกันมาแต่เด็ก และแม้จะถูกเลี้ยงดูมาโดย “หมอเบญ” ผู้เป็นประหนึ่งแม่บุญธรรมในมูลนิธิบ้านสายชล แต่ชะตาชีวิตของทั้งอันดาและลลิษาก็ไม่ต่างจากเอื้อยและอ้ายในตำนานเรื่องเล่า “ปลาบู่ทอง” เอาเสียเลย                 ในขณะที่อันดาเป็นตัวแทนของสาวน้อยสดใสแสนดี และคอยช่วยเหลือเพื่อนรักทุกครั้งที่ทำผิดและหมอเบญคาดโทษเอาไว้ แต่ทว่ากับลลิษาแล้ว ลึกๆ มีแต่ความอิจฉาริษยา เพราะคิดวาหมอเบญและใครต่อใครต่างพากันมอบความรักความเอ็นดูให้แต่กับอันดาเพียงคนเดียว         และแล้วชะตากรรมของตัวละครทั้งสี่ชีวิตก็มีอันต้องโคจรมาพบกัน เมื่อ “รมิตา” ได้ทราบความจริงจาก “ถาวร” บิดาผู้เป็นนายทุนใหญ่เจ้าของธุรกิจตระกูลอัศวชานนท์ว่า ลูกสาวคนเดียวของเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงตัดสินใจออกตามหา ประจวบกับภีมที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุจากคนปองร้าย ได้หนีมาหลบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ กับมูลนิธิบ้านสายชล ทำให้ตัวละครทั้งหมดได้เข้าไปผูกพันทั้งกับความลับของบุตรสาวที่หายตัวไปของรมิตา และกับความขัดแย้งที่ปะทุอยู่ในตระกูลเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ไปโดยปริยาย         เพราะเสียงก้องในหัวใจของสาวน้อยผู้กำพร้าบุพการีอย่างลลิษาได้แต่ครวญเพลง “ก็อยากเป็นคนที่ถูกรัก” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเพราะเธอแอบไปรู้ความลับที่หมอเบญปกปิดเอาไว้ว่า อันดาน่าจะเป็นบุตรสาวที่สาบสูญไปของรมิตา ลลิษาจึงสวมวิญญาณ “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” และสวมรอยเป็นลูกสาวมหาเศรษฐี เพื่อแย่งชิงทุกอย่างไปจากอันดา ไม่ต่างจากต่อมริษยาของอ้ายที่มีต่อเอื้อยลูกสาวแม่ปลาบู่ทองแต่อย่างใด         เมื่อมี “mission” อันแน่วแน่ที่จะพรากทุกอย่างมาจากเพื่อนรัก ลลิษาจึงลงมือปฏิบัติการ “กลเกม” ต่างๆ ที่จะทำให้เธอหลุดพ้นไปจากบ่วงในใจของเด็กกำพร้าผู้ที่ไม่เคยมีใคร และยังเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอะไร เพื่อให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้เข้าไปครอบครองคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ใฝ่ฝันมาแต่เด็ก         ไม่ว่าจะเป็นการใช้ล็อคเก็ตของอันดามาสวมอ้างเป็นทายาทเศรษฐีนี ลงทุนกรีดข้อเท้าเพื่อสร้างตำหนิให้เหมือนแผลเป็นของเพื่อนรัก หลอกใช้ “กระทิง” ชายคนรักให้ร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าว ไปจนถึงกำจัดอีกหลายชีวิตที่ล่วงรู้ความลับ รวมถึงฆาตกรรมทั้งหมอเบญผู้อุปการะเลี้ยงดูเธอจนเติบโต และ “ซอนญ่า” ที่แอบเอาดีเอ็นเอของหญิงสาวไปตรวจพิสูจน์ความจริง          ศึกรบที่อันดาต้องเผชิญก็ว่าหนักหน่วงแล้ว ศึกรักที่ต้องประมือกับลลิษาก็ยังหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะเมื่อลูกพี่ลูกน้องสองคนที่ขัดแย้งกันในกลเกมธุรกิจ มาแอบหลงรักชอบพออันดา ลลิษาที่หวังในตัวของพระเอกหนุ่มจึงเพิ่มดีกรีของเสียงร้องในใจขึ้นไปอีกด้วยว่า “ถ้าเลวแล้วได้ครอบครอง ฉันยอมให้มองว่าร้าย…”         เมื่อกลเกมแห่งธุรกิจมาบรรจบกับกลเกมแห่งความรัก ความขัดแย้งของสองพระเอกหนุ่มลูกพี่ลูกน้องในวงศ์วานเดียวกันที่ฟั่นเกลียวกับความขัดแย้งของหญิงสาวกำพร้าสองคนที่กลายมาเป็น “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จึงกลายเป็นเส้นเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นไปกับบทสรุปว่า ตกลงแล้วข้อขัดแย้งในกลเกมเรื่องรบและเรื่องรักจะคลี่ลายได้อย่างไร และความลับเรื่องปมชาติกำเนิดที่จะทำให้ลูกปลาบู่ทองอย่างอันดากลับคืนสู่อ้อมอกของมารดาจะออกมาในแบบไหน         อนุสนธิจากความลับของอันดาที่มีล็อคเก็ตและตำหนิแผลเป็นช่วยนำพาให้เธอกลับคืนสู่บัลลังก์ครอบครัวอัศวชานนท์ ในขณะเดียวกับที่ลลิษาก็ถูกลงโทษให้ตายตกไปตาม “กลกรรม” ที่ได้กระทำมาตลอดทั้งเรื่อง ก็คงยืนยันอุทาหรณ์เดียวกับนิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ที่สอนให้เราคิดดีทำดี และเฉพาะเด็กหญิงที่รู้จักมุ่งมั่นทำความดีเท่านั้น จากเด็กน้อยผู้น่าสงสารก็จะกลายเป็น “เจ้าหญิงในนิยาย” ที่กลับคืนสู่อ้อมอกแม่ และได้อยู่ครองคู่กับ “เจ้าชายรูปงาม” ได้ในที่สุด       ดูละคร “กลเกมรัก” จนจบ ได้แต่รำพึงรำพันอนิจจาน่าเวทนาก็แต่ลูกปลาบู่อย่างลลิษา ผู้ที่ทำแม้ในสิ่งที่ผิด เพียงเพื่อเขยิบสถานะจากเด็กผู้ใฝ่ฝัน “อยากเป็นคนที่ถูกรัก” สักครั้งในชีวิต ถึงที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรและไม่เหลือใครสักคน งานนี้ก็คงได้แต่ครวญเพลงบทใหม่ว่า “สงสารแต่ลูกปลาบู่…” แล้วกระมัง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 พนมนาคา : เชื่อในสิ่งที่(ไม่ควร)เห็น เห็นในสิ่งที่(ไม่อยาก)เชื่อ

        เมื่อครั้งสังคมบุพกาลนานมา คนไทยได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งของหรือธรรมชาติแวดล้อม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งนามธรรม ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่คนเราก็ยึดโยงตนเองกับสายสัมพันธ์ที่มิอาจเข้าถึงได้ด้วยอายตนสัมผัสทั้งห้าด้าน         ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้นี้ สะท้อนออกมาในลักษณะของความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูตผีปีศาจ วิญญาณ การบูชาทวยเทพเทวดา รวมไปถึงการเคารพบูชาพญานาค หรือที่เรียกว่า “นาคาคติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันผูกโยงความสัมพันธ์กับคู่ตรงข้ามที่มีความเป็นอื่น หรือที่คนเราเรียกว่าเป็น “อมนุษย์”         เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้เอกอุทางด้านวัฒนธรรม เคยอธิบายว่า ผีเป็น “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน คือ มีทั้งผีชั้นสูงชั้นต่ำ มีทั้งผีดีผีร้าย”         ด้วยคำอธิบายของปัญญาชนแห่งสยามประเทศในอดีตเช่นนี้ บรรดาอมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีหรือพญานาค จึงไม่เพียงแต่มีความเป็นอื่น หากทว่าคือความเป็นอื่นที่มนุษย์เองก็เชื่อโดยมิพักต้องสงสัยหรือสืบถาม แม้ว่าเราจะเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือไม่ควรเห็นในสิ่งเหนือธรรมชาติลี้ลับดังกล่าวนั้นก็ตาม         ความเชื่อในความเป็นอื่นที่ไม่ควรเห็น หรือการเห็นในสิ่งเราเองก็มองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูจะเป็นความคิดหลักที่กลายเป็นแก่นเรื่องซึ่งเล่าผ่านละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีดรามาอย่าง “พนมนาคา” อันมีเนื้อหาว่าด้วยตำนานพญานาคผู้รอคอยหญิงคนรักแบบข้ามภพข้ามชาติมานับเป็นพันๆ ปี         เรื่องราวของละคร “พนมนาคา” นำเสนอภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “เอเชีย” นางเอกสาวผู้เป็นกุมารแพทย์สมัยใหม่ และเบื้องลึกปฏิเสธที่จะเชื่อในเรื่องเร้นลับซึ่งวิทยาศาสตร์มิอาจพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนั้น ความเชื่อมั่นในศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ของหมอเอเชียก็ถูกท้าทาย เมื่อคุณหมอสาวที่กำลังรักษาคนไข้อยู่ถูกญาติของคนไข้เอาน้ำมนต์สาดหน้า เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยถูกสิ่งเหนือธรรมชาติเล่นงาน และยังไปปรามาสว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาช่างดูไร้สาระงมงาย         ต่อมาละครก็ค่อยๆ เพิ่มบททดสอบอีกหลายระลอกเพื่อสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นในองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้วงสำนึกของหมอเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หญิงสาวพลัดตกจากดาดฟ้าของโรงพยาบาล แล้วทุกอย่างก็หยุดนิ่ง พร้อมกับมีกายทิพย์ของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งลอยตัวมาโอบรับตระกองเธอลงมาสู่พื้นดิน หรือการที่นางเอกสาวเริ่มรู้สึกลึกๆ ว่า ชายหนุ่มลึกลับคนเดียวกันนี้ เฝ้าติดตาม “ส่อง” ดูชีวิตเธออยู่ในโลกนิมิตหรือโลกคู่ขนานที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของเธอจะสัมผัสได้         การปะทะกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้หมอเอเชียเดินทางสู่หมู่บ้านไกลโพ้นริมตะเข็บชายแดนไทย-เขมรที่ชื่อ “พนมนาคา” และ ณ หมู่บ้านอีสานโบราณแห่งนี้เอง ที่เด็กจำนวนมาก รวมทั้งเด็กชาย “วันเนตร” ป่วยเป็นโรคประหลาดคล้ายกับมีเกล็ดงูขึ้นตามตัว ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปของพญานาค ในขณะที่คุณหมอกุมารเวชกลับยืนกรานว่านี่คืออาการของโรคที่ชื่อฟังดูแปลกหูว่า “อิชไธโอซิส”         ในขณะที่กำลังสืบหาสาเหตุต่ออาการป่วยแปลกประหลาดของเด็กๆ ในหมู่บ้านอยู่นั้น ยิ่งค้นหาคำตอบ ก็ยิ่งพบกับเรื่องเร้นลับปาฏิหาริย์ชวนสนเท่ห์ใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมอเอเชียก็ได้พบกับ “อนันตชัย” ชายหนุ่มลึกลับในภาพนิมิตของเธออีกครั้ง และบังเกิดความรู้สึกว่า เธอกับเขาผูกพันกันมานานแสนนาน         จากนั้นความจริงของเรื่องก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า พระเอกหนุ่มอนันตชัยก็คือ “พ่อปู่” หรือพญานาคผู้คุ้มครองหมู่บ้านพนมนาคา และในอดีตชาตินับพันปีก่อน เอเชียก็คือ “อนัญชลี” หญิงคนรักของเขา แต่เพราะ “อเนกชาติ” พญานาคผู้น้องมีความอิจฉาพี่ชาย และหวังจะครอบครองอนัญชลีเพื่อขึ้นเป็น “นาคาธิบดี” หรือเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคทั้งปวง จึงวางแผนให้อนัญชลีเข้าใจเขาผิดจนฆ่าตัวตายและกล่าวสัจวาจาสาปแช่งให้ตนรังเกียจอนันตชัยในทุกภพทุกชาติไป         เพราะอนันตชัยเองก็ตระหนักว่า “วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ และวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ ฉันพร้อมจะอยู่ ฉันพร้อมจะตายเพื่อรักคำเดียว…” เขาจึงติดตามและปกป้องเธอจากอเนกชาติมาแบบข้ามภพชาติ โดยมุ่งหมายจะรื้อถอนไฟล์ความทรงจำที่ผิดพลาด และทำพิธีกรรมถอนคำสาปให้หญิงคนรักได้กลับมาครองคู่กับเขาอีกครั้งในชาติปัจจุบัน         “ไม่ว่าเธอจะเคยเป็นใคร จะผ่านอะไรมาขอจงอย่าเป็นกังวล นี่คือคนของเธอ” อนันตชัยจึงต้องฝ่าฟันกับคำสาปในอดีตที่อนัญชลีได้ปฏิญาณว่า “ไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอรักชายคนนี้อีก” และยังต้องฝ่าด่านความรู้สมัยใหม่ เพื่อยืนยันกับเอเชียว่า “ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ของคุณพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี” และทำให้เธอเชื่อการมีอยู่ของพญานาคด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อเพียงเพราะคนอื่นบอกว่ามีจริง         โดยโครงเรื่องที่พระเอกหนุ่มจากต่างภพภูมิเฝ้ารอคอยการกลับมาครองคู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ เราก็พอจะคาดเดาฉากอวสานได้ไม่ยากว่า หลังจากผ่านอุปสรรคนานัปการ อนันตชัยก็สามารถกอบกู้และดีลีทไฟล์ความทรงจำอันผิดพลาดคลาดเคลื่อน และลงเอยความรักกับหมอเอเชียได้ในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับอเนกชาติที่ก็ต้องถูกเมืองบาดาลลงโทษไปตามกฎแห่งกรรม         ในด้านหนึ่ง การวางพล็อตเรื่องแบบรักอมตะระหว่างพญานาคากับมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ต่างจากการสืบทอดคติความเชื่อลึกๆ ของคนไทย ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์หรือข้ามวัฒนธรรม         แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อหมอเอเชียกับผองมิตรที่ทำกรรมร่วมกันในปางก่อนอย่าง “พุ่มข้าวบิณฑ์” และ “สิทธา” ได้สัมผัสเรื่องเหลือเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และประจักษ์แก่สายตาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่นาคราชผสานกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนใหม่ช่วยเยียวยาให้เด็กๆ พนมนาคาหายขาดจากอาการโรคเกล็ดงูได้ จากที่เคย “ไม่เชื่อแต่ไม่กล้าลบหลู่” ก็กลายเป็น “เชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม” แต่อย่างใด        กับโลกที่เรามองเห็นและสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้น เรื่องบางเรื่องเราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องชาติภพ บุญกรรม การกลับชาติมาเกิด หรือคติความเชื่อในพญานาค แต่ความรักข้ามภพของอนันตชัยกับอนัญชลีกับความศรัทธาต่อพ่อปู่ที่ชาวบ้านพนมนาคาต่างเคารพ คงให้ข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น แต่ขอเพียงเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม เราก็สัมผัสถึงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 เกมรักทรยศ : คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด

        ภายใต้ระบอบสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือสังคมแบบชายเป็นใหญ่นั้น บุรุษเพศมักมีอหังการว่า ตนมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของผู้หญิง และในระบอบสังคมดังกล่าวนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส จนอาจจะนำไปสู่บทสรุปให้กับผู้หญิงว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” ก็เป็นได้         แบบเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “เจนพิชชา” หรือ “หมอเจน” จิตแพทย์สาวชื่อดังในจังหวัดภูเก็ต กับสามีที่อยู่กินกันมานานอย่าง “อธิน” จนมีโซ่ทองคล้องใจสองคนคือ “พัชร์” กับ “พลอย” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เกมรักทรยศ” ที่ฉายภาพชีวิตคู่ซึ่งต้องภินท์พังลงเพราะความลุแก่อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ และด้วยการออกแบบพล็อตเรื่องของละคร ก็อาจทำให้บรรดาสามีทั้งหลายต้องผาดตาสัมผัสผู้หญิงที่นอนร่วมเตียงเคียงหมอนกันด้วยมุมมองแบบใหม่         เปิดฉากละครมาด้วยภาพชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกที่แสนจะอุดมคติ อบอุ่นลงตัว ควบคู่ไปกับอีกด้านที่อาชีพการงานของหมอเจนก็ดูจะเจริญก้าวหน้าในฐานะแพทย์สาวด้านจิตเวชมือต้นๆ ของโรงพยาบาล จนกระทั่งจุดหักเหของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหมอเจนไปพบเส้นผมของผู้หญิงติดอยู่บนผ้าพันคอของอธิน เพราะไฟไหม้อย่างไรก็ต้องมีควัน และเพราะหมอเจนมีคติประจำใจว่า “ความโง่ที่สุดของผู้หญิงคือการคิดว่าตนเองฉลาดกว่าคนอื่น” ดังนั้นเธอจึงเริ่มตั้งสมุฏฐานที่ว่า สามีที่เธอไว้ใจน่าจะกำลังนอกใจเธออยู่หรือไม่         ยิ่งสงสัยก็ยิ่งสืบค้น ยิ่งขุดค้นก็ยิ่งทยอยเจอหลักฐาน จากเส้นผมปริศนา มาเจอช่องลับในรถยนต์ เจอรูปลับในโทรศัพท์ เจอพฤติกรรมแปลกๆ ของสามีและคนรอบข้างเธอ เรื่อยไปถึงข้ออ้างที่อธินมักไปเยี่ยมแม่ที่สถานพักฟื้นคนชรา จนกลับบ้านค่ำมืดดึกดื่น         หลังจากปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ของเรื่องราว หมอเจนก็บรรลุคำเฉลยว่า เรื่องที่เธอกำลังระแวงว่า สามีแอบไปมี “โลกสองใบ” นั้นมีมูลความจริงอยู่ และก็ค่อยๆ ค้นพบต่อไปด้วยว่า ผู้หญิงที่สวมบทบาทเป็นภรรยาเก็บลับๆ ของอธินก็คือ “เคท” นักศึกษาไฮโซสาวสวยใสซื่อ ลูกผู้มีอิทธิพลด้านธุรกิจของจังหวัด         และที่สำคัญ สมการของเรื่องก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อหมอเจนยิ่งสืบค้น เธอก็ยิ่งได้คำตอบที่ซุกซ่อนซ้อนทับลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไม่ใช่เพียงสามีเท่านั้นที่ปิดบังเรื่องการนอกใจ หากแต่บุคคลรอบตัวของเธอและอธินเอง ต่างก็รู้เห็นเป็นใจ และก็ช่วยกันปกปิดความจริงจนทำให้เธอดูราวกับเป็น “ผู้หญิงโง่ๆ” คนหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็น “ชัช” และ “อันนา” สองสามีภรรยาเพื่อนบ้านที่หมอเจนคิดเสมอว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องที่สนิทที่สุด “โรส” หมออายุรเวทเพื่อนสนิทของอธินและก็เป็นเพื่อนที่หมอเจนมอบความไว้ใจมานาน “จูน” เลขานุการของอธินที่มักมาปรับทุกข์เรื่องชีวิตครอบครัวกับหมอเจน รวมไปถึง “สร้อยสน” มารดาของอธินที่เอาแต่ปกป้องลูกชายโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของลูกสะใภ้แต่อย่างใด         เพราะ “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” และยิ่งเป็น “ทุกๆ คนที่ไว้ใจ” ซึ่งอยู่ใกล้ชิดรอบตัวที่ใช้ทฤษฎีสมคบคิดทำร้ายจิตใจของเธอด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป แบบที่หมอเจนพูดกับโรสว่า “มันไม่ใช่เส้นผมเส้นเดียวน่ะสิ แต่มันเป็นเส้นผมที่บังตาฉันมาตลอด” ด้วยเหตุนี้ หมอเจนที่ “ตาสว่าง” จึงตัดสินใจแน่วแน่วว่า คงต้องเป็นเธอเองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ในการรับรู้และจัดการกับสามีที่มีบ้านหลังที่สอง         แม้หมอเจนจะเคยกล่าวกับโรสว่า “ความเชื่อใจเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์อันมั่นคง” แต่เมื่อหมดซึ่ง “ความเชื่อใจ” ที่มีต่อสามีและผู้คนรอบข้างไปเสียแล้ว หมอเจนจึงเลือกเดินเกมรุกเพื่อต่อสู้ในสมรภูมิแห่ง “เกมรักทรยศ” ในครั้งนี้                 ในขณะที่หน้าฉากของครอบครัวคือสถาบันที่สมาชิกในบ้านต้องปั้นภาพลักษณ์ให้คนอื่นๆ เห็นเพียงด้านความสุขสมานฉันท์กลมเกลียว ดังสำนวนที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” แต่เอาจริงๆ แล้ว หลังฉากของสถาบันครอบครัว บ่อยครั้งก็ไม่ต่างจากสนามรบที่มีการเมืองระหว่างเพศปะทุคุกรุ่นเป็นระยะๆ         ดังนั้น เมื่อฉากหลังเป็นยุทธสงครามจาก “เกมรัก” ที่พรางตาเธอด้วยความ “ทรยศ” หมอเจนจึงมุ่งหมายว่า เธอต้องเอาคืนทุกอย่างทั้งหมดที่เป็นของตนมาเสียจากอธิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ทรัพย์สมบัติ และลูกทั้งสองคน จะมียกเว้นก็แต่สามีเท่านั้นที่เธอต้องการฟ้องหย่า และไม่คิดที่จะถือครองกรรมสิทธิ์อีกต่อไป         เริ่มต้นจากที่หมอเจนส่ง “เตย” อดีตคนไข้ที่เธอวางใจให้ไปเช่าห้องพักอยู่ข้างห้องของเคท และทำทีตีสนิทเพื่อสืบสาวเรื่องราวความลับหรือแม้แต่ปั่นหัวศัตรูอยู่ตลอดเวลา จากนั้นเธอก็ยอมหลับนอนกับชัช เพราะไม่เพียงต้องการสั่งสอนอันนาให้เข้าใจความเจ็บปวดจากการถูกทรยศโดยคนใกล้ตัวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการคุมเกมการใช้ “เพศสัมพันธ์” แบบ one-night stand เป็นเครื่องมือทางอำนาจเพื่อแบล็คเมล์ให้ชัชเอาเอกสารบัญชีการเงินที่ติดลบของสามีมาใช้ต่อรองตอนฟ้องคดีหย่าร้างกัน         จนนำไปสู่ฉากที่หมอเจนเปิดโปงวีรกรรมของเคทกลางโต๊ะกินข้าวต่อหน้า “ท่านบุญณ์ญาณ์” และ “คุณหญิงมินตรา” เพื่อกระชากหน้ากาก “ลูกสาวที่แสนดี” ของทั้งคู่ว่า กำลังคบชู้กับอธินจนตั้งท้อง รวมถึงตอกหน้าเคทด้วยวลีเด็ดแห่งยุคว่า “จะตบหน้าฉันอีกเหรอ ตบมาตบกลับนะครั้งนี้ ไม่โกง”         หลังจากที่จัดฉากต่างๆ จนเขี่ยสามีให้ระเห็จออกไปจากชีวิตได้ หมอเจนก็กลับพบว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” ยิ่งมีจิตสำนึกแบบผู้ชายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเป็นเดิมพัน แบบที่อธินก็กล่าวกับตนเองว่า “บางทีผู้ชายก็รับไม่ได้ที่เห็นว่าเมียตัวเองเก่งกว่า ดีกว่า” เพราะฉะนั้นความพ่ายแพ้ในเกมยกแรกจึงทำให้หลายปีที่ผ่านไปเขาก็ยังเลือกจะกลับมาเพื่อทวงคืนแก้แค้นกับภรรยาอีกครั้ง         และเพราะนักจิตวิทยาอย่างหมอเจนก็รู้ถึงสัจธรรมที่ว่า สิ่งที่ผู้ชายทั้งหลายกลัวก็คือ สายตาของคนอื่นที่มองว่าเขาเป็นคนขี้แพ้หรือเป็นคนที่น่าสมเพชเวทนา ดังนั้น ในยกหลังของเกม หมอเจนจึงจัดการวางกลอุบายที่จะสั่งสอนให้อธินในครั้งนี้ไม่เหลือสิ่งใด แม้แต่ครอบครัวใหม่กับเคทและอนาคตของเขา         หากในการเมืองเรื่องอำนาจระหว่างเพศจะทำให้หมอเจนต้องเรียนรู้ความสูญเสีย โดยเฉพาะกับพัชร์บุตรชายที่เลือกจะหนีออกไปจากเกมขัดแย้งของพ่อและแม่ แต่เธอก็ได้คำตอบว่า ระหว่างการรักษาความสัมพันธ์กับสามีที่เป็นเพียง “ผู้ชายห่วยๆ” คนหนึ่ง กับเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะหลุดพ้นจากสายโซ่ที่ร้อยรัดไว้ด้วยบรรทัดฐานของภรรยาที่ดีที่ต้อง “แสร้งโง่” ตลอดเวลา เธอควรจะอยู่กับตัวเลือกข้อใด         คำตอบคงไม่ต่างจากฉากที่หมอเจนเอาเครื่องพ่นไฟมาลนหลอมแหวนแต่งงานจนไม่เหลือซากความทรงจำอัน “ลวงตา” ของอดีต คู่ขนานไปกับประโยคในท้ายเรื่องที่เธอกล่าวกับอันนา และกระแทกมาในใจของผู้ชมได้อย่างน่าขบคิดยิ่งว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากผู้ชายห่วยๆ คนหนึ่ง แต่ทำไมคนที่ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามฟาดฟันกันไม่จบไม่สิ้นต้องเป็นพวกผู้หญิงด้วย”

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (1)

Nok 2021-03-19 00:48:26

คนดูละครอ่านแล้วคิดตามเห็นภาพเลยค่ะ