แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่น กาแฟ ขึ้นฉ่าย สะตอ หน่อไม้ฝรั่ง วิตามิน
การวิเคราะห์เพื่อหาว่ามีสารเคมีใดอยู่ในตัวอย่างที่อาจเป็นอาหาร เลือด น้ำทิ้งจากสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ นั้นมีหลายวิธี โดยวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การประยุกต์ใช้แอนติบอดี (antibody) มาช่วยในการวิเคราะห์ เพราะวิธีการซึ่งเรียกแบบกว้าง ๆ ว่า immunoassay นี้มีความแม่นยำ ความจำเพาะสูง เร็วและเมื่อนำมาใช้กันแพร่หลายพอจะทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการวิเคราะห์ด้วยวิธีอื่น สำหรับคนไทยในยุคที่โควิด-19 เคาะอยู่ที่หน้าประตูบ้านนี้ บางคนคงพอรู้บ้างว่า แอนติบอดี คือโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ ยับยั้งการรุกรานไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เหนือไปกว่านั้นบางคนอาจเคยรู้มาว่า แอนติบอดีในร่างกายอาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองสารเคมีหลายประเภท เช่น สารเจือปนในอาหาร สารเคมีทางการเกษตร และอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งที่สารเคมีเหล่านี้หลายชนิดไม่ได้มีความเป็นโปรตีน จึงไม่น่ามีคุณสมบัติของการเป็นแอนติเจน (antigenicity) ที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้ แต่ปรากฏว่าหลายคนที่ได้รับสารเคมีเหล่านี้กลับมีโอกาสเกิดอาการแพ้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับแอนติบอดีอย่างแน่นอน) ตัวอย่างเช่น บางคนแพ้สารประกอบซัลไฟต์ ซึ่งตกค้างจากกระบวนการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรม (จะเห็นว่าอาหารสำเร็จรูปที่เป็นผลิตภัณฑ์จากยุโรปมักมีคำเตือนบนฉลากประมาณว่า อาหารอาจมีสารกลุ่มซัลไฟต์ เพื่อเตือนคนที่แพ้สารนี้) บางคนแพ้สารกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนบนผักและผลไม้ บางคนแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ บางคนแพ้สีย้อมผม เป็นต้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้มีคำอธิบายทางวิชาการว่า สารเคมีหลายชนิดนั้นมีคุณสมบัติที่เรียกว่า แฮพเทน (hapten) แฮพเทน เป็นคุณสมบัติของสารเคมีที่สามารถเชื่อมตัวกับโปรตีนใดๆ ในน้ำเลือด แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสามมิติ (conformation) ของโปรตีนนั้นๆ ไปจากเดิม จนเซลล์ในระบบภูมิต้านทานของร่างกายจำไม่ได้คิดว่าเป็นโปรตีนแปลกปลอมจึงเริ่มกระบวนการต่อต้านเพื่อทำลายโปรตีนนั้น ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการที่เม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟลาจ (macrophage) เข้าทำลายในลักษณะเสมือนการฉีกโปรตีนโมเลกุลนั้นเป็นชิ้นๆ โดยบางชิ้นมีสารที่เป็นแฮพเทนติดอยู่ด้วย จากนั้นเม็ดเลือดขาวที่เป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีจะเข้าสำรวจว่า โปรตีนชิ้นใดมีศักยภาพเป็นแอนติเจน เพื่อเริ่มกระบวนการกระตุ้นให้เซลล์ที่มีหน้าที่สร้างแอนติบอดีเข้าหาโปรตีนชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่ละชิ้น ซึ่งรวมถึงชิ้นโปรตีนที่มีแฮพเทนติดอยู่ ดังนั้นแอนติบอดีที่ถูกสร้างขึ้นมาบางส่วน จึงสามารถจับตัวกับสารที่มีคุณสบบัติเป็นแฮพเทนได้ ความรู้เกี่ยวกับความสามารถเป็นแฮพเทนของสารเคมีบางชนิดช่วยให้นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ในการผลิตแอนติบอดีต่อสารเคมีที่ไม่ใช่โปรตีน เช่น สารพิษจากเชื้อรา สารเคมีทางการเกษตร สารเจือปนในอาหาร และอื่น เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ที่ง่ายและรวดเร็วขึ้นได้ ส่วนกระบวนการผลิตให้ได้สารแอนติบอดีต่อสารเคมีใดๆ ในปริมาณมากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีทางอณูชีววิทยาคือ cell fusion (โดยใช้สารเคมีเช่น polyethylene glycol) เพื่อควบรวมเซลล์ของสัตว์ที่สร้างแอนติบอดี เช่น เซลล์จากม้ามของสัตว์ที่ถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีที่จำเพาะกับสารเคมีที่สนใจ เข้ากับเซลล์มะเร็งบางชนิด (ที่นิยมกันคือ มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซลล์ที่เปลี่ยนสภาพเป็นเซลล์มะเร็ง) ได้เซลล์ใหม่ที่สร้างแอนติบอดีที่ต้องการและมีการแบ่งตัวไม่หยุด (กระบวนการนี้ถูกเรียกว่า การผลิตโมโนคลอนอลแอนติบอดี) จึงทำให้ได้แอนติบอดีในปริมาณมากจนคุ้มทุนเกิดกำไรในทางธุรกิจตรวจวัดหาปริมาณสารเคมีที่สนใจ การสร้างแอนติบอดีจากใบยาสูบ มาถึงศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางชีวโมเลกุลในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดการผลิตแอนติบอดีแนวใหม่ที่อาศัยเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมของพืช ทำให้ได้พืชหลายชนิดที่ผลิตสารแอนติบอดีจำเพาะต่อสารเคมีต่างๆ ตลอดไปจนถึงเชื้อโรคต่างๆ ในลักษณะของโมโนคลอนอลแอนติบอดี ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2563-2564 ได้มีการพูดถึงการได้มาซึ่งแอนติบอดีจากใบยาสูบที่สามารถต้านเชื้อ SARS-CoV-2 ข่าวจากหลายสื่อได้กล่าวถึงนวตกรรมหนึ่งในการผลิด rapid test เพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 นั้นระบุว่า มีการใช้แอนติบอดีมาตรฐานที่ผลิตได้จากใบยาสูบออสเตรเลีย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nicotiana benthamiana (มีญาติสนิทเป็นต้นยาสูบคือ Nicotiana tabacum และ Nicotiana rustica ที่ใช้ในการผลิตบุหรี่ในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งแต่อดีตกาลนั้นชนพื้นเมืองออสเตรเลีย (Aborigines) ใช้เป็นสารกระตุ้นให้มีชีวิตชีวา ความที่พืชในตระกูลของยาสูบนั้นมีศัตรูเป็นไวรัสหลายชนิด จึงเหมาะในการศึกษาที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะเพื่อพาหน่วยพันธุกรรมที่ต้องการเข้าสู่เซลล์ใบยาสูบ ที่สำคัญคือ ยาสูบสายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลีย (ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการผลิตแอนติบอดี) นั้นเป็นสายพันธุ์ที่ยังคงมียีน Rdr1 (RNA-dependent RNA polymerase 1) อยู่ จึงทำให้ง่ายต่อการที่ไวรัสชนิด RNA virus เข้ารุกราน มีบทความวิจัยหนึ่งของคนไทยเรื่อง Monoclonal Antibodies B38 and H4 Produced in Nicotiana benthamiana Neutralize SARS-CoV-2 in vitro ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Plant Science เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2020 ได้อธิบายถึงความสำเร็จในการใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ของออสเตรเลียผลิตโมโนคลอนอลแอนติบอดีของมนุษย์ 2 ชนิดคือ B38 และ H4 (เป็นรหัสเรียกชื่อของแอนติบอดีสองชนิดต่อโปรตีนที่เป็นหนามของไวรัส SARS-CoV-2) โดยในบทความนั้นได้กล่าวถึงการนำข้อมูลการเรียงตัวของกรดอะมิโนในโปรตีน B38 และ H4 ซึ่งถูกวิเคราะห์และเผยแพร่เป็นบทความวิจัยเรื่อง A noncompeting pair of human neutralizing antibodies block COVID-19 virus binding to its receptor ACE2 ใน www.sciencemag.org เมื่อ 13 พฤษภาคม 2020 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนซึ่งนำทีมโดย Yan Wu (สังกัด Capital Medical University, Beijing, China) มาใช้ประโยชน์ คณะวิจัยชาวไทยที่ตีพิมพ์บทความดังกล่าวในวารสาร Frontiers in Plant Science ได้ใช้เทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมซึ่งอาศัย geminiviral vector (เป็นไวรัสสาเหตุของโรคพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งมีกรดนิวคลีอิคเป็นแบบดีเอ็นเอสายเดี่ยว) พายีนที่สนใจในรูป DNA plasmid (สังเคราะห์โดย บริษัท Genewiz ในเมือง Suzhou ประเทศจีน ให้มีลำดับนิวคลีโอไทด์ที่อ่านผลภายในเซลล์ที่มีชีวิตแล้วได้โปรตีนที่มีลำดับกรดอะมิโนตรงกับแอนติบอดีสองชนิดคือ B38 และ H4 ตามที่ Yan Wu และคณะศึกษาไว้) เข้าสู่เซลล์ใบยาสูบ จากนั้นนักวิจัยได้นำเซลล์ใบยาสูบที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมแล้วไปเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นด้วยวิธีการทางอณูชีววิทยา ก่อนนำไปปลูกเป็นต้นยาสูบในโรงเรือนแบบปิด จนได้ใบยามากพอสำหรับการนำไปบดให้ละเอียด แล้วแยกเอาโปรตีนออกมาโดยอาศัยวิธีการ affinity column chromatography ได้สารแอนติบอดี B38 และ H4 ที่บริสุทธิ์ ซึ่งถูกนำไปทำการศึกษาถึงความสามารถในการจับตัวกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่แยกได้จากคนไข้ covid-19 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานถึงการผลิตแอนติบอดีจากพืชที่สามารถจับกับ receptor binding domain (หมายถึงหนามของไวรัส หรือ spike protein) ของ SARS-CoV-2 ในลักษณะที่เป็นการหยุดฤทธิ์ของไวรัสดังกล่าวสำเร็จ และรายงานต่ออีกว่า ได้กำลังศึกษาต่อในสัตว์ทดลองแล้ว ในการใช้พืชผลิตแอนติบอดีเพื่อใช้ในการบำบัดโรคติดเชื้อใดๆ นั้น ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์มีคำศัพท์ใหม่คำหนึ่งคือ pharming ซึ่งออกเสียงคล้าย farming มีความหมายว่า เป็นการทำการเกษตรที่ได้ผลผลิตเป็นยา โดยการอาศัยการตัดแต่งพันธุกรรมพืชใดพืชหนึ่งให้มีหน่วยพันธุกรรมเพิ่ม ที่เมื่อเซลล์ของพืชนั้นมีการอ่านรหัสพันธุกรรมที่ตัดแต่งใส่เพิ่มเข้าไปจะได้โปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นแอนติบอดีต่อจุลชีพใดจุลชีพหนึ่ง ในรัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา มีโรงงานผลิตแอนติบอดี (มีชื่อการค้าคือ ZMabb) จากใบยาสูบเพื่อสู้โรคที่เกิดจาก Ebola virus และได้รับอนุมัติแบบฉุกเฉินจาก US.FDA แล้ว นอกจากนี้ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาก็มีโรงงานหนึ่งที่กำลังผลิตแอนติบอดีสำหรับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้ยื่นขออนุมัติฉุกเฉินในการใช้จาก US.FDA และตั้งเป้าจะผลิตแอนติบอดีสำหรับ ไวรัส AIDS, ไวรัส Herpes และอื่น ๆ ส่วนในเอเชียนั้นได้มีบริษัทผลิตยาแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาให้ใบยาสูบออสเตรเลียสามารถผลิตแอนติบอดีต่อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคปากเท้าเปื่อยในหมู ประเด็นหนึ่งที่ควรได้รับความสนใจคือ แอนติบอดีนั้นไม่ว่ามาจากแหล่งใดก็ตามย่อมเป็นโปรตีน ซึ่งถ้าฉีดเข้าสู่คนหรือสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ เพียงครั้งเดียวแล้วบำบัดโรคได้เลย คงไม่ก่อปัญหาทางสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถ้าต้องใช้การฉีดมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป ร่างกายย่อมสังเกตได้ว่ามันเป็นโปรตีนแปลกปลอม ซึ่งมีความเป็น แอนติเจน จึงต้องสร้างแอนติบอดีออกมาสู้ ดังนั้นการใช้แอนติบอดีบำบัดโรค จึงย่อมจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ ถ้ามีการฉีดมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป มากกว่าการใช้วัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีของร่างกายเอง ด้วยเหตุที่ข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ใบยาสูบพันธุ์ออสเตรเลียผลิตเวชภัณฑ์ที่ไปต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้น มีมากมายทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ทางโทรทัศน์ และคลิปซึ่งหาดูได้ใน YouTube ประเด็นหนึ่งที่ก่อให้นักวิชาการหลายคนสับสนคือ ในการทำวิจัยต่างๆ นั้นมีความมุ่งหมายที่ต้องการผลิตวัคซีนหรือแอนติบอดีกันแน่ การใช้คำที่ต่างกันสับสนไปมาเกี่ยวกับการจัดการกับเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นเกิดเช่นกันกับนักข่าวต่างชาติ เช่น คลิปเรื่อง “Korean researchers mass produce swine flu vaccine using tobacco leaves” ซึ่งปรากฏใน YouTube ที่เล่าถึงการใช้ใบยาสูบออสเตรเลียผลิตแอนติบอดีสำหรับสู้กับไวรัสก่อโรคปากเท้าเปื่อยในหมูที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้น นักข่าวในคลิปนี้มีความสับสนในการใช้คำว่าวัคซีนในงานวิจัย ซึ่งความจริงแล้วดูเหมือนเป็นการผลิตแอนติบอดี (neutralizing antibody) ซึ่งใช้เป็นยาเพื่อจัดการกับไวรัสในลักษณะที่เรียกว่า passive immunization ไม่ใช่ผลิตเป็นวัคซีน นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านได้ดูคลิปชื่อ Future jobs: Pharmer ใน YouTube ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2010 แล้ว จะพบว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัย St. George's Medical School ใน London ชื่อ Professor Julian Ma ได้แสดงวิธีการผลิตแอนติบอดีต่อโรคเอดส์จากใบยาสูบอย่างคร่าวๆ ในห้องปฏิบัติการ และใช้คำว่า แอนติบอดี อย่างชัดเจนตลอดคลิป สิ่งที่เหนือกว่าในการใช้วัคซีนต่อการใช้แอนติบอดีเพื่อสู้โรคติดต่อนั้นคือ วัคซีนก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันครบทั้งระบบคือ T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ฆ่าสิ่งแปลกปลอม และ B-cells ชนิดที่ถูกพัฒนาให้สร้างแอนติบอดี เหนือจากนั้นที่สำคัญคือ จะเกิดเซลล์ความจำที่เรียกว่า memory cells ทั้ง T-cells และ B-cells เพื่อสู้กับเชื้อโรคที่ต้องการป้องกันอย่างรวดเร็วเมื่อร่างกายถูกโจมตีนั่นเอง
ระหว่างที่ประชากรโลกตั้งตารอวัคซีนต่อสู้เชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรค Covid-19 นั้น มีข่าวงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่อง Preexisting and de novo humoral immunity to SARS-CoV-2 in humans ในวารสาร Science ของปี 2020 ซึ่งอาจจะให้แนวทางในการอธิบายว่า ทำไมคนที่ได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นจึงมีอาการต่างกัน หรืออาจไม่มีอาการเสียด้วยซ้ำ บทความดังกล่าวระบุว่า ประชากรของโลกบางคนมีแอนติบอดี (antibody) ที่สามารถจัดการกับไวรัส SARS-CoV-2 ได้ ทั้งที่คนๆ นั้นไม่เคยป่วยเพราะรับเชื้อดังกล่าวมาก่อน ข้อมูลนี้ได้จากการดูผลวิเคราะห์เลือดที่ได้รับบริจาคก่อนการระบาดของ Covid-19 โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่สถาบัน Francis Crick Institute ในกรุงลอนดอนซึ่งได้ร่วมกับเพื่อนๆ จาก University College London ของสหราชอาณาจักรทำการศึกษานี้ จริงแล้วนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวตั้งวัตถุประสงค์ของงานเพื่อพัฒนาวิธีการตรวจวัดหาแอนติบอดีในเลือดของผู้ป่วยที่ฟื้นจากอาการป่วยหลังติดเชื้อ SARS-CoV-2 ให้ไวขึ้นกว่าวิธีเดิม เพื่อติดตามว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีแอนติบอดีอยู่ในร่างกายได้นานเพียงใดหลังจากหายดีแล้ว ในการศึกษานั้นจำต้องมีการตรวจสอบปริมาณแอนติบอดีจากน้ำเลือดของคนที่ไม่ได้สัมผัสเชื้อมาก่อนเลย (ซึ่งตัวอย่างนั้นต้องเก็บก่อนมีการระบาดของ Covid-19) เพื่อใช้เป็นกลุ่มควบคุมผลลบที่เรียกว่า negative control แต่ปรากฏว่าน้ำเลือดบางตัวอย่างจากกลุ่มควบคุมดังกล่าวถูกตรวจพบว่า มีระดับแอนติบอดีที่ต่อต้าน SARS-CoV-2 ในขนาดที่น่าสนใจต่างจากคนปรกติทั่วไป นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ตั้งสมมุติฐานถึงการสัมผัสโคโรนาไวรัสอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดอาการหวัดธรรมดา (common cold ซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้จากไวรัสต่างสกุลกันกว่า 200 สายพันธุ์ ไวรัสเหล่านี้ก่ออาการอักเสบของทางเดินหายใจตอนบนในลักษณะเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลดี) ว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ประชากรบางคนมีแอนติบอดีต่อโคโรนาไวรัสที่ก่ออาการหวัดธรรมดา โดยที่แอนติบอดีที่เกิดนั้นไม่ได้มีความจำเพาะต่อไวรัสก่อโรคแบบสัมบูรณ์ (absolute) กล่าวคือ สามารถทำปฏิกิริยากับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นซึ่งรวมถึง SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค Covid-19 ด้วย ปรากฏกรณ์นี้เรียกว่า immune cross-reactivity ซึ่งเป็นลักษณะการต้านเชื้อข้ามสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาในไวรัสหลายกลุ่มโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ นั้นต่างก็มีตุ่มโปรตีน (spike protein) บนผิวหน้าของตัวไวรัสซึ่งอาจมีสัณฐานของตุ่มโปรตีนดูคล้ายกันในภาพรวมจนทำให้แอนติบอดีเหมาเอาว่าเป็นไวรัสเดียวกัน ในบทความเรื่อง Common Human Coronaviruses ซึ่งเผยแพร่โดย US.CDC (Center of Disease Control and Prevention) นั้นได้กล่าวว่า โคโรนาไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการหวัดธรรมดาประจำปีของอเมริกานั้นมี 4 สายพันธุ์คือ HCoV-NL63, HCoV-229E, HCoV-OC43 และ HCoV-HKU1 ซึ่งมีความแตกต่างกันไม่มากนัก จริงแล้วไวรัสที่ก่ออาการหวัดธรรมดานั้นมีการหมุนเวียนเข้ามาก่อปัญหาสุขภาพของประชากรโลกเป็นระยะๆ มีบทความหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ Seasonal coronavirus protective immunity is short-lasting ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2020 ซึ่งในความเป็นจริงเป็นงานที่ทำการศึกษาต่อเนื่องมานาน 22 ปี ในอาสาสมัคร 513 คน ที่มีอายุระหว่าง 27-40 ปี ของโครงการ The Amsterdam Cohort Studies on HIV infection and AIDS ซึ่งพบว่า น้ำเลือดของอาสาสมัครมีระดับแอนติบอดีหลายชนิด (ซึ่งรวมถึงแอนติบอดีต่อโคโรนาไวรัสที่ก่ออาการหวัดธรรมดา) ตกค้างอยู่ในระยะยาวซึ่งอาจนานถึง 12 เดือน ดังนั้นโอกาสที่อาสาสมัครจะมีอาการเป็นหวัดซ้ำอีกครั้งจึงอาจเป็นอีก 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง ถึงอีก 12 เดือนบ้าง ผู้เขียนบทความได้อ้างถึงสมมุติฐานที่ว่า แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างสู้เชื้อโคโรนาไวรัสนั้นมักมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้หลายสายพันธุ์ในสกุลเดียวกันในลักษณะที่เรียกว่า immune cross-reactivity ซึ่งเป็นการสนับสนุนบทความในวารสาร Science ที่กล่าวถึงข้างต้นในประเด็นที่ว่า ระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นด้วยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์หนึ่งอาจไปป้องกันโคโรนาไวรัสอีกสายพันธุ์หนึ่งได้นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในบทความเรื่อง Antibodies fight off the new coronavirus, but what do T cells do? ในเว็บ www.medicalnewstoday.com ซึ่งกล่าวถึงการที่เซลล์ภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันไวรัส SARS-CoV-2 และระบุว่าเม็ดเลือดขาวชนิด T-cells ดูมีบทบาทมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดไว้ในระยะแรกของการระบาดของโรค โดยเม็ดเลือดขาวกลุ่ม T-cells นั้นได้ถูกกล่าวถึงว่ามีส่วนร่วมในการกระตุ้นการเกิดแอนติบอดีต้าน Covid-19 T-cells เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่มหนึ่งซึ่งไขกระดูกสร้างขึ้นในรูปแบบของเซลล์ต้นกำเนิด(stem cells) แล้วจึงมีการเคลื่อนย้ายบางส่วนไปยังต่อมไธมัส (Thymus gland) เพื่อพัฒนาเป็น T-cells ที่ทำงานหลายประเภท โดยที่สำคัญในกรณีนี้คือ Helper T-cells ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับ SARS-CoV-2 ดร. John Yewdell หัวหน้าแผนกชีววิทยาของเซลล์ที่ห้องปฏิบัติการโรคไวรัสที่สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ของสหรัฐอเมริกาได้ให้ภาพรวมของ T cells ในบริบทของ Covid-19 ว่าควรมุ่งถึง CD4 helper T-cell ซึ่งมีโปรตีนที่เรียกว่า cluster of differentiation 4 (CD4) ติดบนผิวเซลล์ โปรตีน CD4 นี้ทำหน้าที่ช่วยสำรวจหาเชื้อโรคในร่างกายของเราเพื่อส่งสัญญานให้ระบบภูมิคุ้มกันขั้นต้นจัดการย่อยไวรัสให้เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ในลักษณะโพลีเป็บไตด์ (ซึ่งเป็นสายกรดอะมิโนที่ต่อกันซึ่งสั้นเกินกว่าที่จะเรียกเป็นโปรตีนแต่ยังมีความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีซึ่งเรียกว่า antigenicity) แล้วถูกจับได้ด้วยโมเลกุลที่เรียกว่า Major Histocompatibility Complex (MHC) Class II ซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถกระตุ้นให้ CD4 helper T-cells เริ่มบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ B-cells ที่ถูกเปลี่ยนเป็น plasma cells ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงในการจับตัวกับตุ่มโปรตีนที่อยู่บนผิวของไวรัส เพื่อเริ่มกระบวนการทำลายไวรัสซึ่งมีหลายขั้นตอน สำหรับ B-cell นั้นเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวอีกชนิดที่ถูกพัฒนามาจากเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกแล้วถูกเคลื่อนย้ายไปยังส่วนของต่อมน้ำเหลืองที่ยังระบุชัดเจนไม่ได้ชัดว่าอยู่ตรงไหน (แต่ถูกค้นพบครั้งแรกที่ไขกระดูกบริเวณก้นกบของไก่ซึ่งเรียกว่า Bursa of Fabricius จึงเป็นที่มาของอักษรย่อ B) ซึ่งในการตอบสนองต่อปฏิสัมพันธ์กับ helper T-cell ชนิด CD4 นั้น B-cells จะถูกเปลี่ยนให้เป็นเซลล์ 2 ชนิดคือ เซลล์ที่ทำงานได้จริงในการสร้างแอนติบอดีซึ่งเรียกว่า plasma cells และ memory B-cells ซึ่งชนิดหลังนี้สามารถดำรงอยู่นานระยะหนึ่งเพื่อพัฒนากลับเป็น plasma cells ในการต่อสู้เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ (ซึ่งในกรณีของ T-cells ที่ถูกกระตุ้นแล้วนั้นก็มี memory T-cells เช่นกัน) ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ถูกไวรัสรุกรานคือ ขณะที่เซลล์ถูกบังคับให้สร้างโปรตีนและองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไวรัสต้องการนั้นจะมีการสร้างเปปไทด์บางชนิดขึ้นแล้วถูกส่งออกไปติดที่ผิวเซลล์ ซึ่งถูกรุกรานในลักษณะเดียวกับ Major Histocompatibility Complex เดิมของเซลล์ เป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้เป็นการบอกให้ระบบภูมิคุ้มกันรู้ว่า เซลล์นั้นกลายเป็นเซลล์ที่ติดเชื้อ ปรากฏการณ์นี่เป็นการส่งสัญญาณให้ CD8 T-cells (หรือ killer T-cell) สามารถค้นหาและทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อได้ จากข้อมูลที่เล่าให้ฟังนี้ท่านผู้อ่านอาจพอเห็นแนวทางรางๆ ของคำอธิบายเกี่ยวกับการตอบสนองในคนที่ติดเชื้อ Covid-19 ที่แสดงออกต่างกันไม่ว่ากรณีไม่แสดงอาการเลย แสดงอาการช้านานเกิน 14 วัน เป็นไข้แค่ไม่กี่วันกินยาเองก็หายนั้นเกิดเนื่องจากสาเหตุใด สำหรับแนวทางที่ชัดเจนนั้นอาจต้องรอให้มีการใช้วัคซีนที่ได้ผลแล้วในระดับหนึ่งในอนาคต
ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ) สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลย แต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่น ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต) หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี... ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrate บทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้ ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง
ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึง การสร้างข้อมูลของระบบตรวจสอบความเหมาะสมในการซื้อสินค้าอาหารต่อสุขภาพของลูกค้าซึ่งแปรไปตามยีน ฉบับนี้จะเล่าต่อว่าเมื่อลูกค้าต้องการซื้อสินค้าอาหารใดก็เพียงนำเอาสายรัดข้อมือ ซึ่งมีระบบอิเล็คทรอนิคที่ส่งสัญญาณไปสแกนที่บาร์โค้ดบนกล่องสินค้า แล้วจะมีสัญญาณขึ้นเป็นสีจากเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อเตือนว่าลูกค้าควรซื้อสินค้านั้นหรือไม่ อย่างไรก็ดีผู้ให้บริการไม่ได้อธิบายว่า การ สแกนที่บาร์โค้ดแล้วเกิดไฟเขียว เหลือง หรือแดงนั้นเป็นไปได้อย่างไร ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า เมื่อสายรัดข้อมือได้ข้อมูลว่าสินค้านั้นคืออะไรแล้ว รหัสที่อยู่ในบาร์โค้ดคงถูกส่งไปที่แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งคงต้องออนไลน์ไปยังแหล่งเก็บข้อมูลทางโภชนาการของสินค้าอาหารตามฉลากโภชนาการ (nutrition label) ที่น่าจะต้องเป็นการตกลงไว้กับบริษัทที่ขายสินค้านั้น จากนั้นข้อมูลทางโภชนาการจะถูกส่งกลับเข้าสมาร์ทโฟนเพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมกับข้อมูลรหัสพันธุกรรมของลูกค้าว่า ถ้าลูกค้ากินอาหารดังกล่าวแล้วจะเสี่ยงต่อภาวะอ้วน ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะกระดูกพรุน หรืออื่นๆ หรือไม่ แล้วส่งผลไปที่สายรัดข้อมือเพื่อแสดงสีของสัญญาณไฟ ในกรณีที่สีของไฟเป็นแดง คือไม่แนะนำให้ซื้อนั้น ลูกค้าสามารถเข้าดูเหตุผลได้จากแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยสรุปแล้ว DNAnudge นั้น เป็นการย่อกระบวนการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้าในลักษณะที่เรียกว่า Lab on Chip เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมในการกินสินค้าอาหารหนึ่งๆ ที่มีข้อมูลทางโภชนาการว่าเหมาะสมหรือไม่ ข้อสังเกตคือ ลูกค้าต้องเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของบริษัทว่าทำได้จริง มีเงิน (สายรัดข้อมือของบริการนี้คงทำหน้าที่บอกเศรษฐานะของเจ้าของได้เหมือนกับนาฬิกา) มีความสนใจและบังคับใจตนเองให้ปฏิบัติตนตามหลักการทางโภชนาการที่บริษัทได้ nudge ให้ และต้องอยู่ในบริเวณที่มีอินเทอร์เน็ต ระดับ 5 G การตรวจลำดับของหน่วยพันธุกรรมกับเชื้อโรค Covid-19 นอกจากการหารับประทานจากข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเพื่อธุรกิจหาประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม ยังได้พัฒนากระบวนการตรวจลำดับของหน่วยพันธุกรรมอย่างเร็วมาใช้ในการตรวจพบว่า ผู้รับบริการอยู่ในข่ายอาจติดเชื้อโรค Covid-19 มีผลการตรวจเป็นบวกหรือลบอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วได้ การตรวจว่าผู้ต้องสงสัยติดเชื้อหรือไม่ด้วยระยะเวลาช้าหรือเร็วนั้นมีผลทางจิตใจอย่างมาก งานวิจัยเรื่อง Impact of delays on effectiveness of contact tracing strategies for COVID-19: a modelling study ซึ่งตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Lancet Public Health ของปี 2020 ได้แสดงให้เห็นว่า การลดความล่าช้าในการทดสอบให้น้อยที่สุดมีผลกระทบมากที่สุดในการติดตามแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนแก่ผู้ที่อยู่ในข่ายติดเชื้อ ปฏิบัติการนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสได้ถึงร้อยละ 80 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2020 สำนักข่าวบีบีซีให้ข้อมูลว่า นายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักรกล่าวว่า มีการตรวจสารคัดหลั่งและตรวจหน่วยพันธุกรรม ซึ่งจะรู้ผลอย่างรวดเร็วภายในไม่เกิน 90 นาที เป็นการช่วยแยกแยะผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ออกจากโรคประจำฤดูกาลอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า นายกรัฐมนตรี Boris Johnson ตั้งเป้าการตรวจวัดไว้ที่ 200,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยในอนาคตอันใกล้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะจัดส่งชุดตรวจเร็วที่ใช้ตัวอย่างสารคัดหลั่งแบบชื่อ LamPORE (จากบริษัทวิจัย Oxford Nanopore) จำนวน 450,000 ชุด ไปยังสถานพยาบาลและห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อที่ก่อโรค covid-19 และจะเพิ่มจำนวนเป็นหลายล้านชุดในช่วงปลายปีนี้ โดยมีค่าใช้จ่ายราว 40 ปอนด์ต่อ 1 ตัวอย่าง จากนั้นตั้งแต่เดือนกันยายนรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเพิ่มเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมของบริษัท DnaNudge ซึ่งปัจจุบันมีใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาลเครือสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือ NHS จำนวน 8 แห่ง ไปยังโรงพยาบาลในเครือที่อื่นๆ อีก 5,000 เครื่อง โดยเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมดังกล่าวจะช่วยให้สามารถตรวจหาเชื้อเพิ่มได้อีก 5.8 ล้านตัวอย่าง ซึ่งเป็นความหวังว่าจะช่วยให้สามารถตัดห่วงโซ่แห่งการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังจะเซ็นสัญญาเพื่อซื้อเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ด้วย สำหรับความน่าเชื่อถือของระบบตรวจหาเชื้อไวรัสก่อ Covid-19 นั้น เซอร์จอห์น เบลล์ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดให้ข้อมูลว่า เครื่องตรวจที่กล่าวถึงนั้นมี "ความไว" พอๆ กับการตรวจ RT-PCR ในห้องปฏิบัติการ เว็บ https://edition.cnn.com เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2020 มีบทความเรื่อง FDA authorizes new test that could detect coronavirus in about 45 minutes ได้ให้ข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยที่เร็วขึ้นนี้เป็นนวัตกรรมของบริษัท Cepheid ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งความเร็วดังกล่าวนั้นช่วยลดความกังวลของผู้ต้องการรับการตรวจเนื่องจากอยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าติดเชื้อได้เป็นอย่างดี และน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมคนอเมริกันถึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากนั่นก็เพราะมีการตรวจที่เร็วและสะดวกนั่นเอง www.hospimedica.com/covid-19 มีบทความเรื่อง New Biosensor Detects COVID-19 Virus in Air ซึ่งรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากบริษัท Empa และ ETH Zurich สวิตเซอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเซ็นเซอร์ใหม่สำหรับตรวจจับไวรัสโคโรนาตัวใหม่ ที่บอกถึงความเข้มข้นของไวรัสในสิ่งแวดล้อม เช่น ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือในระบบระบายอากาศของโรงพยาบาล การตรวจหาไวรัสโดยใช้เซ็นเซอร์นี้ไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อแทนที่การทดสอบในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน อุปกรณ์นี้เหมาะที่จะใช้ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สถานีรถไฟหรือโรงพยาบาล เพื่อวัดการปรากฏตัวของไวรัสในอากาศ โดยเซ็นเซอร์ที่กล่าวถึงนี้เป็นไบโอเซ็นเซอร์แบบออปติคัล ที่ทำขึ้นจากโครงสร้างเล็กๆ ของทองคำที่เรียกว่า โกลด์นาโนไอแลนด์บนพื้นผิวแก้ว ซึ่งมีการตรึงหน่วยพันธุกรรมที่มีหน่วยโครงสร้างที่สามารถเข้ากันได้อย่างดีกับลำดับหน่วยโครงสร้างของ RNA ที่อยู่ภายใน SARS-CoV-2 ซึ่งเมื่อจับกันได้แล้วจะมีการแปลผลออกมาเป็นสัญญาณบวกของการตรวจหา และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเซ็นเซอร์ใหม่ตรวจจับไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงใด นักวิจัยได้พบความสำเร็จในการทดสอบกับไวรัส SARS-CoV (ซึ่งระบาดในปี 2546) เพื่อแสดงว่าสามารถแยกแยะออกจากตรวจจับไวรัสก่อโรค Covid-19 ได้ ทั้งที่เป็นโคโรนาไวรัสที่ใกล้เคียงกันมาก
ความคิดเห็น (0)