แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ถั่งเช่า ผลิตภัณฑ์อาหาารเสริม โฆษณา ไตพัง
เหมือนจะเป็นเหตุการณ์ประจำไปแล้วในช่วงปลายปีต่อต้นปีที่ฝุ่น PM 2.5 จะแผ่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างผลกระทบต่อสุขภาพชนิดร้ายลึก (ไม่นับด้านเศรษฐกิจ) ยิ่งสำหรับคนที่ร่างกายไวต่อมลพิษ แค่เดินออกไปข้างนอกไม่นานก็อาจเกิดอาการคันยุบยิบตามตัว มิพักต้องพูดถึงพ่อค้า แม่ค้า หรือคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ไล่เรียงเส้นเวลากลับไปก็ชวนคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสถานการณ์ที่เพิ่งเห็นชัดในช่วงสามสี่ปีมานี้เอง คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือถ้าถอยกลับไปนานกว่านั้น เราไม่มีปัญหานี้เลยหรือ? แล้วฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน? มันวนซ้ำเป็นวัฏจักรมาสามสี่ปีเหตุใดจึงยังไม่เห็นการแก้ปัญหาใดจากภาครัฐ? เราจะค่อยๆ หาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ก่อนอื่นเรามาทบทวนสั้นๆ ว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร มันคือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันมีปริมาณสูงมากเช่นที่เป็นอยู่เราจะเห็นมันเหมือนหมอกหรือควัน ถ้าคุณถูกโอบล้อมด้วยมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน คุณอาจมีอาการแสบตา ไอ จาม เป็นไข้ ผิวหนังอักเสบ และด้วยขนาดที่เล็กมากมันจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่หลอดลม เดินทางไปถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด ปอดอักเสบ หรือหัวใจขาดเลือด สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในที่นี้คือรถ ควันบุหรี่ การเผาขยะ การเผาเพื่อการเกษตรหญ้า หรือการเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ยิ่งอันตรายมากขึ้นเนื่องจากมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆ เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไดออกซิน ยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ในไทย สาหัสติดอันดับโลก ย้อนกลับไปที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2562 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ครองแชมป์อันดับ 1 ที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะฝุ่น PM 2.5 ฝุ่น PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปี 2561 อีกทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่มีปัญหาคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี รายงานสภาพคุณอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 24 มกราคม 2564 พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม, ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ เขตบางกะปิ และริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก มองในแง่ความร้ายแรงนี่คือสถานการณ์เร่งด่วนยิ่งยวดเพราะเราทุกคนต้องหายใจ เกิดเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ.2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565-2567)ว่าแต่เรารู้เห็นความคืบหน้าอะไรบ้างยังคงเป็นคำถามคาใจ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่สถานการณ์เฉพาะในไทย องค์การอนามัยโลกประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ จำนวนมาและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกวางเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายปีของไทยในปี 2560 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่าและการวิเคราะห์ข้อมูลใน State of Global Air ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558 ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 จากการวัดคุณภาพอากาศของ World Air Quality Index พบว่า ประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนติดอันดับที่ 3 จาก 96 ประเทศทั่วโลก โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 190 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ มันมาจากไหน? ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ความร้ายแรงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ความเข้มข้นและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ ที่ตอนนี้มีคำอธิบายว่าเป็นฝาชีครอบ ผมมักเปรียบเทียบกับการจุดธูปในห้องพระ ถ้าวันหนึ่งเราปิดประตูหน้าต่างควันธูปก็จะฟุ้งอยู่ในห้อง ในลักษณะเดียวกัน สถานการณ์ความเข้มข้นมันเกิดจากลักษณะอากาศว่าไหลเวียนดีแค่ไหน ในช่วงนี้ที่สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากอากาศไหลเวียนไม่ดี จุดนี้การพยากรณ์อากาศจะช่วยได้” เนื่องจากอากาศเย็นทำให้ความกดอากาศสูง ฝุ่นที่อยู่ในอากาศไม่สามารถลอยขึ้นข้างบนได้ ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มีแหล่งกำเนิดฝุ่นหลักจากรถยนต์ ซ้ำเติมด้วยสภาพอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง และยังซ้ำเติมด้วยฝุ่นที่มาจากพื้นที่อื่น เช่น การเผาในพื้นที่ภาคกลาง หรือฝุ่นควันที่มาจากกัมพูชา ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เป็นต้น แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ในพื้นที่อื่นๆ ก็เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย เช่นในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งก็มีอันตรายเหมือนกัน หากพื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่น PM 2.5 มาพร้อมกับสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ ในภาคเหนือมันก็มาพร้อมกับสารเคมีทางการเกษตร และการที่มันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า การเผาพื้นที่เกษตร ปริมาณรถยนต์ หรือการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ล้วนเพิ่มมากขึ้น ฝุ่น PM 2.5 จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดร.นพ.วิรุฬ เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยมีการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 มาประมาณ 10 ปี แต่ไม่มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ประมาณสองสามปีที่แล้วภาคประชาชนและกรีนพีซจึงเรียกร้องให้มีการนำฝุ่น PM 2.5 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่ต้องแก้ไขและสิ่งที่เราทำได้ ทั้งที่มีวาระแห่งชาติออกมา แต่เรากลับไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เป็นเพราะอะไร ตอบแบบรวบรัดที่สุดเพราะ ‘ระบบราชการ’ ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า “เป็นปัญหาเรื่องการจัดการของกลไกภาครัฐ ประเทศไทยมีกรมควบคุมมลพิษซึ่งควรจะทำหน้าที่นี้จึงตกเป็นเป้าการโจมตีซึ่งส่วนหนึ่งก็มีปัญหา แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจเพราะว่ากรมควบคุมมลพิษทำได้แค่การประกาศมาตรฐาน ส่วนการจัดการกับต้นกำเนิดอย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีอำนาจเข้าไปจัดการ “แล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลโรงงานก็มีหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเรื่องมลพิษจึงเกิดความย้อนแย้งกันในตัว เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ถ้ามีมาตรการควบคุมมลพิษมากขึ้นอุตสาหกรรมก็ไม่เติบโต มันเป็นปัญหาในเชิงระบบ ถ้ามาคุยกันจริงๆ แต่ละคนก็จะบอกว่าต้องการช่วย แต่ไม่มีอำนาจเพราะอำนาจในการควบคุมมันกระจัดกระจายและทิศทางของประเทศเองก็เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงเป็นปัญหาเชิงระบบ” ดังนั้น ในภาพรวมจึงต้องแก้ไขระบบการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเชื่อมโยงอำนาจ เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการแก้ไขจากข้างบนลงข้างล่าง อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.วิรุฬ แสดงทัศนะว่า “การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ผมคิดว่าต้องทำ 2 ทางคือทำจากข้างบนลงมาและทำจากข้างล่างขึ้นไปด้วย ซึ่งการทำจากข้างบนก็ต้องการแรงผลักดันจากข้างล่างที่เรียกร้องให้ข้างบนแก้ไข มีการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อผลักดันกฎหมาย” ส่วนการทำจากข้างล่างขึ้นไป... “ผมเคยเสนอว่าต้องทำใน 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือตัวเราเองที่ต้องเข้าใจและปกป้องตัวเองก่อน ต้องติดตามสถานการณ์ เป็น active citizen ที่ดูแลตัวเอง ต้องรู้ว่าตัวเราไวต่อปัญหาคุณภาพอากาศหรือไม่ ระดับที่ 2 คือปกป้องคนในครอบครัว อย่างผมมีลูกเล็กๆ และมีผู้สูงอายุที่บ้าน ผมก็ต้องรู้ว่าลูกคนไหนไวเป็นพิเศษเพราะแต่ละคนแต่ละวัยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่นดูแลบ้านของเราให้มีห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ที่ไวต่อมลพิษทางอากาศเป็นห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ถ้าดีขึ้นมาหน่อยก็มีเครื่องฟอกอากาศ “ระดับที่ 3 คือการทำงานร่วมกับชุมชนหมายถึงการร่วมกันดูแลครอบครัวอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น บางครอบครัวมีฐานะดีหน่อย มีเครื่องฟอกอากาศเกินก็อาจจะให้อีกครอบครัวหนึ่งยืมหรือมีระบบที่ช่วยซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาถูกที่ทุกคนพอจะซื้อได้หรือหาหน้ากากที่เหมาะกับเด็กในโรงเรียน ส่วนระดับสุดท้ายคือระดับสังคมที่ต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” พ.ร.บ.อากาศสะอาด อากาศสะอาดคือสิทธิในการมีชีวิต จากที่เห็นแล้วว่าการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงระบบอันเนื่องจากความซ้ำซ้อน การทำงานแยกเป็นเอกเทศ และขาดการบูรณาการของหน่วยงานราชการ จึงมีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่ ดร.นพ.วิรุฬ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เขาอธิบายว่า “เป้าหมายของการเสนอกฎหมายนี้เพื่อจัดการคุณภาพอากาศ ระบบการจัดการ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการจัดการเพื่อสุขภาพ โดยหลักการเราเน้นการจัดการแบบมีส่วนร่วม เป้าหมายจึงไปพ้นจากเรื่องมลพิษ แต่มีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน” ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org) ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือพลังของผู้บริโภค ดร.นพ.วิรุฬ เสนอความคิดว่า ควรมีการ air pollution footprint เช่นเดียวกับ carbon footprint คือดูว่ากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของภาคธุรกิจสร้างมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน “เช่นผู้บริโภคต่อต้านบริษัทรถยนต์ที่ไม่ติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศให้กับรถหรือต่อต้านบริษัทผลิตอาหารที่ส่งเสริมการปลูกแบบอุตสาหกรรมแล้วมีการเผา ผมคิดว่าพลังของผู้บริโภคจะเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องจัดการกับกระบวนการผลิตของตนซึ่งจะช่วยให้การจัดการต้นกำเนิดมลพิษเป็นไปได้มากขึ้นแทนที่จะรอภาครัฐอย่างเดียว” การมีอากาศสะอาดให้หายใจคือสิทธิในการมีชีวิต ดังนั้น ขออากาศสะอาดให้พวกเรา
“อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้ ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์ เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้... “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์ ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก. ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218) “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ 2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219) “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221) “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227) มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232) กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563 “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220) ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235) มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก. โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก. 4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235) ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003 มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537 มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ 3.006 มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ 3.303 มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432 มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872 มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230) อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก 3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62 รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์ “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231) สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่) ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216) การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน) ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน
ทุกวันนี้เวลาซื้อสินค้าหรือบริการแล้วไม่เป็นอย่างที่โฆษณา สินค้าไม่ตรงปก บริการไม่เป็นธรรมและอีกสารพัดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. จะเป็นหน่วยงานแรกที่ผู้บริโภคนึกถึง เอาล่ะ เรื่องการทำหน้าที่ของ สคบ. เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน ไม่ใช่หัวข้อที่เราจะคุยกันตรงนี้ ประเด็นคือ สคบ. เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่ ‘ตัวแทนผู้บริโภค’ เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภา ตัวแทนผู้บริโภคก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันนี้เราในฐานะผู้บริโภคมีตัวแทนผู้บริโภคที่จะคอยเป็นปากเสียง คอยตรวจสอบผู้ประกอบการ เสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงการฟ้องร้องแทนผู้บริโภคหรือยัง? คำตอบคือ ยังไม่มี ทั้งที่แนวคิดนี้ก่อร่างสร้างตัวมาไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่อย่างว่าในประเทศที่รัฐสนใจเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิของผู้บริโภค (และประชาชน) การจะได้ตัวแทนผู้บริโภคย่อมต้องต่อสู้ให้ได้มา ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ปีหน้าเราจะได้เห็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เกิดขึ้น ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภคแบบเป็นกันเอง ถาม-เส้นทางการเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นอย่างไรตอบ-แนวคิดเรื่ององค์กรอิสระของผู้บริโภคปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐในมิติต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น โดยในมาตรา 57 ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมายและมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ‘องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค’ 10 ปีผ่านไปจนถึงปี 2549 เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 ยังคงบัญญัติเรื่องนี้ไว้และขยายความเพิ่มเติมให้มีหน้าที่ ‘ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย’ เช่นเคย ยังไม่ทันที่องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้น รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องนี้อีกครั้งในมาตรา 46 ว่า ‘สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ’ ในที่สุด พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ก็ถือกำเนิดขึ้น หลังต้องรอคอยถึง 23 ปี ถาม-สภาองค์กรของผู้บริโภคคืออะไร?ตอบ-พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ให้นิยามสภาองค์กรของผู้บริโภคเพียงว่าคือ ‘สภาขององค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้’ ทำให้ต้องดูต่อว่า ‘องค์กรผู้บริโภค’ คืออะไร ซึ่งกฎหมายให้นิยามว่า ‘องค์กรที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่สิบคนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะจัดตั้งเป็นรูปแบบใด และจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย’ ทั้งนี้องค์กรผู้บริโภคตามนิยามของกฎหมายมี 2 รูปแบบคือองค์กรที่เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมารวมตัวกัน จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้บริโภคก็ได้ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร แบบที่ 2 คือนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งกี่คน ดูเพียงว่าเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายหรือไม่ และมีวัตถุประสงค์ว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเปล่า เมื่อนำนิยามทั้งสองมารวมกัน สภาองค์กรของผู้บริโภคก็คือสภาที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ถาม-อำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคมีอะไรบ้างตอบ-กฎหมายกำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1.ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง 2.สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้ 3.รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ 4.สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสภาองค์กรของผู้บริโภค 5.สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการด าเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค 6.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล 7.ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ หรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภค แล้วแต่กรณี และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้มีอำนาจประนีประนอมยอมความด้วย 8.จัดให้มีหรือรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ถาม-แล้วจะจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-กฎหมายกำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขอย่างน้อย 150 องค์กรสามารถรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคได้กับนายทะเบียนกลาง ซึ่งก็คือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้วจะต้องดำเนินการตรวจสอบและประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน หลังจากนั้นทั้ง 150 องค์กรที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องเรียกประชุมสมาชิกและร่างข้อบังคับสภาภายใน 30 วันนับจากประกาศจัดตั้ง เช่น วัตถุประสงค์ของสภา โครงสร้างการบริหาร การคัดเลือกกรรมการ ข้อบังคับ แนวทางนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ถาม-ขณะนี้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคขึ้นหรือยังตอบ-ยัง ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2563 พบว่ามีองค์กรผู้บริโภครวมตัวกันได้ 151 องค์กรที่ยื่นขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่การตรวจสอบเอกสารของนายทะเบียนกลาง พบว่ามี 7 องค์กรที่ต้องแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสาร หากนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารที่ครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงจะประกาศการจัดตั้งสภาองค์กร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในภายในปี 2564 นี้ ถาม-ถ้ามีองค์กรผู้บริโภคต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาองค์กรผู้บริโภคสามารถทำได้หรือไม่ตอบ-ทำได้ หากเข้าเกณฑ์ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคพบอุปสรรคสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประการแรก ผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เพียงพอ โดยมองเป็นแค่เรื่องการซื้อขายสินค้าและบริการเท่านั้น เช่น บางจังหวัดนายทะเบียนมองว่าองค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบริการสุขภาพหรือคุ้มครองสิทธิ์ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาลได้ ไม่ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่การรักษาพยาบาลถือเป็นบริการอย่างหนึ่ง ประการที่ 2 การสร้างภาระขั้นตอนเกินจำเป็น เช่น การจะตั้งองค์กรผู้บริโภคตัวผู้ก่อตั้งทั้งหมดจะต้องไปยืนยันตัวตน ณ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือนายทะเบียนจังหวัด ทั้งที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภคเกินจำเป็น ทำให้การจดแจ้งมีความยุ่งยาก ทั้งที่ในมาตรา 6 ระบุว่า ‘ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และให้รับฟังความคิดเห็นขององค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วย’ ประการที่ 3 การตีความเกี่ยวกับตำแหน่งกรรมการองค์กรผู้บริโภคที่บางองค์กรเกิดจากการรวมตัวของประชาชนทั่วไป การจะทำงานให้มีความน่าเชื่อถือ มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ย่อมต้องมีนักวิชาการมาสนับสนุน ประเด็นคือหากกรรมการด้านวิชาการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ นายทะเบียนจะตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อนุญาตให้จดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภค ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์ของกฎหมาย เนื่องจากนักวิชาการที่มาให้ความเห็นไม่สามารถครอบงำองค์กรได้เพราะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในองค์กรผู้บริโภคที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งการจะแก้ไขรายชื่อกรรมการและข้อบังคับไม่ใช่เรื่องง่าย การตีความลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถจดแจ้งได้ ถาม-จะป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจสวมรอยเข้ามาเป็นองค์กรผู้บริโภคและจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-เพราะต้องการให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจึงมีการกำหนดคุณลักษณะขององค์กรผู้บริโภคที่จะมีสิทธิ์รวมตัวกันเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคในมาตรา 5 ว่าต้องไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือถูกครอบงำโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง และไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคล บวกกับการมีกระบวนการตรวจสอบที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น การตรวจสอบชื่อกรรมการองค์กรว่ามีชื่อเป็นกรรมการบริหารอยู่ในบริษัทใดหรือไม่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือการตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่จากกรมบัญชีกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้มีการร้องคัดค้านหากเห็นว่าองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ ไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 5ถาม-ช่วยยกตัวอย่างการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมตอบ-กรณีการควบรวมกิจการของ CP และเทสโก้ โลตัส ซึ่งทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุญาตให้ควบรวมได้ ทั้งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ CP มีอำนาจเหนือตลาด กรณีเช่นนี้กฎหมายให้อำนาจสภาองค์กรของผู้บริโภคตรวจสอบมติของ กขค. ได้ โดยทำความเห็นได้ว่าลักษณะการควบรวมแบบนี้จะกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากการผูกขาดทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสินค้าและบริการบางประเภท แต่เมื่อ กขค. เห็นชอบให้ควบรวมได้แล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภคหากเห็นว่ามีผลกระทบ หรือกรณีการแบนพาราควอต สมมติว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างมากเห็นว่าพาราควอตปลอดภัย มีคำสั่งไม่แบน แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้กันทั่วโลก มีข้อเท็จจริงทางวิชาการที่พิสูจน์ได้ สภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติได้เช่นกันข้อดีประการหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือมีข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ในการทำหน้าที่ในข้อ 1, 2, 3, 7 หรือ 8 ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริต ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นจากความรับผิด ถาม-เราจะตรวจสอบการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-ความรับผิดรับชอบ (accountability) เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับอำนาจหน้าที่ กลไกการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคถูกล่าวถึงในมาตรา 17 ว่า ‘เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพและการตรวจสอบการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตามระยะเวลาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี การประเมินผลการดำเนินงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการคัดเลือกตามวิธีการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด การประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาสภาองค์กรของผู้บริโภค และการสนับสนุนจากประชาชน หรือในด้านอื่นตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น’ และในมาตรา 18 ‘ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อาจขอให้ประธานกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือขอให้มาชี้แจงด้วยวาจาได้’ ถาม-เมื่อเกิดสภาผู้บริโภคขึ้นแล้ว ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรตอบ-สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นพื้นที่รวมตัวของสมาชิกองค์กรผู้บริโภค ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองที่มีการรวมกลุ่มและต้องการการสนับสนุนก็สามารถทำเรื่องขอรับการสนับสนุนได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ภารกิจหลักที่สภาองค์กรของผู้บริโภคควรรีบผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วคือการทำให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในทุกจังหวัด จัดการบริการแบบ one stop service ให้แก่ผู้บริโภคในการร้องเรียน ขอข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส เป็นต้น ก็จะช่วยทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคในไทยมีความเข้มแข็งขึ้นกว่าในอดีต เพราะในโลกทุนนิยม พลังของ ‘ผู้บริโภค’ คือพลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและทำให้ทุนนิยมอ่อนโยนลงกว่าที่เป็นอยู่
ฉลาดซื้อเคยนำเสนอผลการประเมินนโยบายด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ในการจัดซื้ออาหารสด ของห้างค้าปลีกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 8 แบรนด์ (Big C, CP Fresh Mart, Foodland, Gourmet Market, Siam Makro, Tesco Lotus, Tops, และ Villa Market) มาแล้ว และพบว่าโดยรวมแล้วห้างในบ้านเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนักคราวนี้เรามาเจาะลึกดูเรื่องความรับผิดชอบต่อ “สวัสดิการของผู้บริโภค” กันบ้าง ตัวชี้วัดที่จะให้คะแนนคราวนี้ได้แก่ข้อมูลในเรื่องต่อไปนี้ที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 1. ความปลอดภัยของอาหารในร้าน: บริษัทมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของอาหารที่ได้มาตรฐานและโปร่งใสหรือไม่2. ส่วนประกอบและที่มาของอาหาร: บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารหรือไม่3. ภาวะโภชนาการ: บริษัทให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการหรือไม่ อย่างไร4. กลไกรับเรื่องร้องเรียน: บริษัทมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่5. กลไกเยียวยา: บริษัทมีกลไกเยียวยาที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่6. การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค: บริษัทเปิดให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภค มีส่วนร่วมในประเด็นความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมหรือไม่7. การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค (consumer education): บริษัทให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนของอาหารมากน้อยเพียงใด8. ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ: บริษัทให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ มากน้อยเพียงใดในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย แต่ละตัวชี้วัดจะมีสามข้อย่อย ซึ่งหากผู้วิจัยพบว่ามีข้อมูลในข้อนั้นก็จะให้หนึ่งคะแนน รวมทั้งหมดจึงเป็น 24 คะแนน ในภาพรวมเราพบว่าสิ่งที่ห้างค้าปลีกทำคะแนนได้มากที่สุดสามอันดับแรกคือ การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค การให้ความรู้ประเด็นภาวะโภชนาการ และการมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ · หมายเหตุ บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานความก้าวหน้าเรื่อง ผลการประเมินความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการผู้บริโภค ในธุรกิจอาหารและการจัดซื้ออาหารของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจัดทำโดยทีมวิจัยป่าสาละ ใครได้คะแนนสูงที่สุด Siam Makro ได้คะแนนสูงสุดในหมวดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค (5 คะแนน จาก 24 คะแนน หรือร้อยละ 20.83)[JM1] บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารบนฉลากอย่างชัดเจน รวมถึงสัดส่วน GMO ด้วย ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะ ประกาศนโยบาย/กลยุทธิ์เพื่อความยั่งยืนในห่วงโซ่อาหารอย่างชัดเจน มีโครงการด้านสวัสดิการผู้บริโภคหรือสิ่งแวดล้อมของอาหาร ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ที่ใช้กลไกการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และมีบทบาทในการพัฒนามาตรฐานความยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรม อันดับสองได้แก่ Tops ได้ไป 4 คะแนน (ร้อยละ 16.67) บริษัทให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่ผู้บริโภค ผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ รวมถึงรณรงค์และให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภคทั้งในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย มีกลไก/แนวปฏิบัติในการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจน บริษัทประกาศนโยบายความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร และกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน อันดับสามคือ CP Fresh Mart ได้ 3 คะแนน (ร้อยละ 12.50) บริษัทประกาศนโยบายและกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด และมีการรายงานความคืบหน้ารายปี มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจนและมีแนวปฏิบัติรวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ผู้บริโภคจะได้รับการตอบรับเรื่องร้องเรียนส่วนที่เหลือ (Big C, Foodland, Gourmet Market, Tesco Lotus, และ Villa Market) ไม่มีคะแนน ในภาพรวมห้างค้าปลีกในบ้านเรายังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องนี้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค เช่นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ระหว่างนี้มาดูตัวอย่างแนวปฏิบัติหรือนโยบายที่น่าสนใจของสามห้างที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ กันไปก่อน ·ความปลอดภัยของอาหารแอปพลิเคชัน Scan Me ของ Tops ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตและสถานที่จําหน่ายเนื้อสัตว์และซีฟู้ด (ปลา) ณ จุดขายใน 24 สาขาทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้ได้สินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัย ·ส่วนประกอบ/ที่มาของอาหารSiam Makro ส่งเสริมการแสดงฉลากสําหรับถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ประกอบด้วย 22ชนิด ·ความรู้เรื่องภาวะโภชนาการSiam Makro จัดทําฉลากแสดงค่าพลังงาน ปริมาณนํ้าตาล ไขมัน และโซเดียม (Guideline Daily Amount –GDA) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการลดความหวาน มัน หรือเค็มได้ ในขณะที่ Tops ให้ความรู้ผู้บริโภคในเรื่องวิธีหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ·กลไกรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคCP Fresh Mart มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสินค้า/บริการของซีพีเฟรชมาร์ท โดยกําหนดรูปแบบการจัดการข้อร้องเรียนไว้ 3 ระดับตามความความรุนแรงของปัญหา และทําหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามผลการตรวจสอบจนปัญหาของลูกค้าได้รับการแก้ไข ข้อร้องเรียนด้านคุณภาพ (เช่น สี กลิ่น รส ฯลฯ) ใช้เวลาจัดการภายใน 5 วัน ข้อร้องเรียนด้านความปลอดภัย (เช่น สิ่งแปลกปลอม) ภายใน 3 วัน และข้อร้องเรียนด้านวิกฤต (เช่น ผู้บริโภคเจ็บป่วย) ภายใน 24 ชั่วโมง ·การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเรื่องความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารTops ประกาศนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน “เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการพัฒนา คัดสรรสินค้าที่นํามาจําหน่ายอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย แหล่งที่มาของสินค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น มีกระบวนการจัดซื้อเป็นธรรมและโปร่งใส ผลักดันผู้ร่วมค้าให้พัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบการประกันคุณภาพที่สามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตมีความปลอดภัย” Siam Makro กำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2563 คู่ค้าธุรกิจหลักทั้งหมดต้องได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน และมีแนวทางการจัดหาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ในขณะเดียวกันวัตถุดิบหลักทั้งหมดก็ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่า CP Fresh Mart กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563 ไว้ดังนี้ การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร การพัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการระบุเป้าประสงค์ที่ชัดเจน และจัดทํารายงานความยั่งยืนประจําปีมาตั้งแต่ปี 2554 ·ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นSiam Makro ร่วมมือกับกรีนพีซ (Greenpeace) เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิตทูน่าชนิดก้อนในน้ําเกลือ ตราเอโร่ (aro) ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง แม่นยํา มีข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ทูน่าที่ใช้ แหล่งที่มา เช่น มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code ที่สินค้าก็จะทราบว่าปลาทูน่าถูกจับด้วยวิธีการใช้อวนล้อม ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม บทความนี้นำเสนอเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินในสามด้านได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก 2) สิ่งแวดล้อมคู่ค้า-ความปลอดภัย และ 3) ผู้บริโภค โดยแต่ละหมวดประกอบด้วย 8 ตัวชี้วัด หมวดละ 24 คะแนน (คะแนนรวมทั้งหมดจึงเท่ากับ 72 คะแนน) จากผลคะแนนโดยรวมทั้งสามด้าน เราจะเห็นว่า Siam Makro, Tops, และ CP Fresh Mart ได้คะแนนสูงสุด (9 จาก 72 คะแนน หรือร้อยละ 13.89) ตามด้วย Tesco Lotus ที่ได้คะแนน 3 แต้ม หรือร้อยละ 4.63 ในขณะที่ Gourmet Market ได้ไป 2 แต้ม โดยได้คะแนนจากมิติด้านสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีกห้างที่ไม่ได้คะแนนด้านใดเลยตามเกณฑ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ได้แก่ Big C Villa Market และ Foodland ------สำหรับนโยบายเรื่องการลดถุงพลาสติก (สำหรับผู้บริโภค) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในหมวดสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก ทีมวิจัยให้ Gourmet Market Tesco Lotus และ Tops ห้างละ 2 คะแนน Gourmet Market มีโครงการ เดอะมอลล์ กรุ๊ป โก กรีน (THE MALL GROUP GO GREEN) GREEN EVERYDAY งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม เป็นต้นมา Tesco Lotus มีนโยบายลดใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จําเป็น โดยเริ่มใช้มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกสําหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้น ในสาขาเอ็กซ์เพรสและตลาดทั่วประเทศ รวมประมาณ 1,800 สาขา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 Tops มีมาตรการงดใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น งดใช้กล่องโฟมในโซนฟู้ดพาร์ค และโซนซื้ออาหารกลับบ้านในศูนย์อาหารทุกแห่งที่บริหารงาน โดย “CPN ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลในการงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนในTopsห้างสรรพสินค้าและเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์” ในขณะที่ CP Fresh Mart และ Siam Makro ได้ไปห้างละ 1 คะแนน CP Fresh Mart งดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันพุธตลอดปี 2562 มีแคมเปญรักษ์โลก ‘ชวนช้อป! พกกระเป๋า ไม่เอาถุง’ ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกปีละ 3 ล้านใบ และจะเป็นร้านปลอดถุงพลาสติกในปี 2565 Siam Makro ไม่มีการแจกถุงพลาสติกมาตลอด 29 ปีของการดําเนินธุรกิจ ถึงปัจจุบันลดถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 5,400 ล้านใบ
ความคิดเห็น (0)