แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ช้อปปิ้ง ตรวจสุขภาพ
คุณอภิรักษ์เป็นคนที่รักสุขภาพ และมีความชอบพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นอย่างมาก มาวันหนึ่งคนรู้จักแถวบ้านคุณอภิรักษ์ได้เข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรยี่ห้อหนึ่ง โดยโฆษณาสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณอภิรักษ์ได้อ่านส่วนผสมและสรรพคุณต่าง ๆ บนฉลากสินค้า ก็เห็นว่ามีสมุนไพรหลายตัวที่น่าสนใจ ทั้งคนที่นำผลิตภัณฑ์มาเสนอขายยังเป็นคนที่รู้จักมักคุ้น และเคยได้ยินคนในละแวกบ้านกล่าวถึงกัน บนฉลากก็ยังมีเลข อย.รับรองอีกด้วย คุณอภิรักษ์จึงได้ซื้อน้ำสมุนไพรสกัดเอาไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทดลองรับประทาน ไม่กี่วันต่อมามีข่าวว่า เพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งที่ดื่มผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัดดังกล่าว เกิดอาการคันและบวมตามร่างกายจนต้องทยอยกันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งเมื่อหน่วยงานนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบยังพบว่า ผลิตภัณฑ์มีการสวมเครื่องหมายเลข อย.ปลอมและมีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อน นับเป็นโชคดีของคุณอภิรักษ์ที่ยังไม่ได้หยิบน้ำสมุนไพรสกัดยี่ห้อดังกล่าวมารับประทาน แต่อยากได้ความรับผิดชอบจากผู้ผลิตจึงโทรมาปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) คือ อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษตาม มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถใช้คำโฆษณาในลักษณะเพื่อบรรเทา รักษา หรือแก้โรคต่าง ๆ ได้ เพราะไม่ใช่เวชภัณฑ์ยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรค ในกรณีนี้ยังเข้าข่ายใช้คำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ซึ่งตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อาหารฯ ยัง ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แนะนำให้คุณอภิรักษ์นำสินค้าไปมอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามกฎหมาย
หากรถยนต์ที่ซื้อมาได้ไม่นานสร้างปัญหากวนใจให้ท่านทุกครั้งที่ขับรถฝ่าฝนหรือแม้แต่จะล้างรถ ด้วยอาการน้ำรั่วซึมเข้าไปในห้องโดยสาร ท่านจะทำอย่างไร คุณทิชาพาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งเป็นรุ่นลิมิเต็ด เมื่อเดือนธันวาคม 2560 แรกเริ่มใช้งานก็ยังไม่พบปัญหาอะไรจนวันหนึ่ง ขับรถไปติดฝนอยู่ที่แยกไฟแดงแล้วก็สังเกตว่ามีน้ำค่อยๆ ซึมเข้าในรถ คุณทิชาพาตกใจที่เกิดเหตุนี้ขึ้นเพราะรถยนต์ของตนแม้จะใช้งานมาได้สักพักแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในอายุประกัน ทำไมปัญหาแบบนี้จึงเกิดขึ้น วันรุ่งขึ้นจึงพารถยนต์ไปศูนย์ซ่อมใหญ่ของบริษัทรถ ช่างตรวจสอบอาการแล้วระบุว่า ขอบยางอาจจะเสื่อมสภาพจะทำการแก้ไขให้ “เชื่อไหมคะว่า ดิฉันต้องนำรถคันนี้เข้าๆ ออกๆ ศูนย์ซ่อมกี่ครั้งแล้ว” 4 ครั้งคือฟางเส้นสุดท้ายที่คุณทิชาพาไม่อยากทนอีกกับปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าห้องผู้โดยสาร ทุกครั้งทีรถอยู่ในสายฝนหรือแม้แต่การล้างรถ เธอจึงนำเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อสอบถามความประสงค์ของคุณทิชาพา เธอต้องการให้บริษัทรับผิดชอบด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไหล่หรืออะไรก็ตามที่มันสร้างปัญหานี้ให้จบเสียที เพราะไม่ต้องการนำรถเข้าอู่ซ่อมแล้วซ่อมอีก ทางศูนย์ฯ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน บริษัทรถยนต์ขอโอกาสนำรถยนต์เข้าซ่อมอีกครั้ง (ครั้งที่ 5) คุณทิชาพาตกลงแต่ขอให้รับหลักการว่า หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทางบริษัทฯ ต้องซื้อรถยนต์คืนไป หลังจากรถถูกนำเข้าอู่ซ่อมครั้งที่ 5 ตอนที่ได้รับการนัดหมายให้รับรถยนต์คืน เหมือนอาการต่างๆ ดีขึ้น มีการทดลองฉีดน้ำก็ไม่พบอาการรั่วซึมคุณทิชาพาสบายใจยินดีรับรถยนต์กลับมาใช้งาน แต่พอผ่านมาได้สัก 4 เดือน อาการรถมีน้ำซึมได้หวนกลับมาอีกเมื่อเธอล้างรถ คุณทิชาพาจึงขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเรื่องคดีเพื่อให้บริษัทฯ ซื้อรถยนต์คืนไปเถอะ ผลของคดีจบกันที่ ทางบริษัทรถยนต์คืนเงินให้ผู้ร้องหรือคุณทิชาพา ในราคาที่คุณทิชาพารับได้เพราะก็มีค่าเสื่อมต่างๆ ที่เกิดจากการใช้งาน เรื่องยุติ
เครื่องสำอางกับสุภาพสตรีเป็นของคู่กัน ยิ่งผลิตภัณฑ์นั้นได้รับคำโฆษณาว่าเป็นของที่ดาราใช้หรือดาราเป็นเจ้าของแบรนด์ มันจะดึงดูดใจมากไปกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ธรรมดา คุณศรีสุดาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านบางนาในวันหยุดตามประสาสาวนักช้อป ขณะเดินผ่านบูธในลานกิจกรรมพิเศษ สาวๆ นักขายได้ชักชวนคุณศรีสุดาให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและพูดคุยโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าโดยอ้างว่า เครื่องสำอางในบูธนี้แบรนด์นี้ เป็นสินค้าที่ดาราดังคนหนึ่งใช้อยู่เป็นประจำ คุณศรีสุดาตั้งใจจะซื้อครีมล้างหน้าที่มีโปรโมชันแถมที่มาร์คหน้าในราคา 1,300 บาท เพราะทดลองมาร์คหน้าแล้วรู้สึกโอเค “ดิฉันสอบถามพนักงานว่ามีเว็บไซต์ให้เข้าไปติดตามสินค้าหรือค้นหารายละเอียดอื่นๆ หรือไม่ พนักงานตอบว่ามีค่ะ แต่หนูไม่ทราบ ยังไงจะให้ทางบริษัทติดต่อกลับไปนะคะ” ขณะคุณศรีสุดากำลังจะถามเรื่องอื่นๆ ต่อ พนักงานขายก็ชิงลงมือโอ้อวดว่า เครื่องสำอางนี้เป็นของบริษัทที่ดาราดังคนหนึ่งพร้อมโชว์ภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งภาพของตัวพนักงานและดาราคนดังกล่าวหลายรูป สร้างความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก คุณศรีสุดาก็ฟังเพลินไปดูภาพสินค้าและดาราเพลินไปหน่อย สุดท้ายกลายเป็นว่า จ่ายเงินค่าเครื่องสำอางไป 13 รายการ รวมเป็นเงิน 127,000 บาท ผ่านบัตรเครดิต คุณศรีสุดานั้นย้ำว่าขอให้พนักงานขายส่งเว็บไซต์ของบริษัทเครื่องสำอางให้ตนเองทันทีที่กลับบริษัทฯ เพราะตนเองต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์รวมทั้งรีวิวที่ดาราคนดังได้ใช้ตัวสินค้าเหล่านี้ ต่อมาคุณศรีสุดาได้รับลิงค์ที่เป็นเพจเฟซบุ๊กของบริษัทหนึ่ง ซึ่งไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่คุณศรีสุดาซื้อมาเลย หนำซ้ำที่อยู่ของบริษัทในเพจไม่ตรงกับที่อยู่ของบริษัทที่อยู่ในใบเสร็จสินค้าราคาแสนกว่าบาทที่อยู่ในมือคุณศรีสุดา เธอจึงรีบติดต่อพนักงานขายแต่ติดต่อไม่ได้หลายวัน อย่างไรก็ตามวันหนึ่งก็ติดต่อได้ พนักงานขายบอกว่าสินค้าในมือเธอเป็นสินค้าใหม่ยังไม่มีรายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ และโอนเรื่องให้พนักงานของบริษัทคนอื่นมาพูดแทน “จะข้องใจอะไรกับสินค้าหนู ของนำเข้าถูกกฎหมายทุกอย่าง” ซึ่งวิธีการพูดจาแสดงถึงความโกรธเกรี้ยว คุณศรีสุดาจึงไม่พอใจมากและไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาด้วย เพราะเกิดความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่แทบไม่มีรายละเอียดอะไรเลย จึงนำสินค้าทั้งหมดกลับไปคืนที่บูธที่ยังจัดขายสินค้าอยู่ แต่พนักงานขายแจ้งว่าผู้บริหารบริษัทไม่อยู่ไปเมืองนอกขอเวลา 7 วัน ต่อมาได้รับแจ้งว่า ไม่รับคืนสินค้า “ดิฉันเห็นว่าการขายสินค้าของบริษัทไม่เป็นธรรมเพราะอวดอ้างและโฆษณาด้วยข้อมูลเท็จ เอาดารามาแอบอ้าง ไม่มีเว็บไซต์หรือรายละเอียดของสินค้าด้วย ดิฉันสามารถทำอย่างไรได้บ้าง” แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่ากรณีนี้ทั้งสองฝ่ายน่าจะไกล่เกลี่ยกันได้ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน และได้ส่งเรื่องราวถึงห้างสรรพสินค้าที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่จัดแสดงสินค้าให้รับทราบปัญหา ต่อมาทราบจากคุณศรีสุดาว่าได้ไปร้องเรียนไว้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย แต่ตกลงกันไม่ได้คุณศรีสุดาต้องการคืนสินค้าและขอคืนเงินทั้งหมด ส่วนบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่รับคืนสินค้า ดังนั้นทางคณะอนุกรรมการของทาง สคบ.จะส่งร้องเพื่อขอให้พิจารณารับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป คุณศรีสุดาจึงยุติเรื่องร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
ธันวาคมปีนี้ นอกจากลมเย็นอ่อนๆ จะพัดมาให้คนกรุงเทพได้ชื่นใจกันบ้างแล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระดมอัดฉีดเพื่อส่งเสริมให้คนท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยก็เริ่มติดลมบน ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวบางแห่งช่วงปลายปีเริ่มมีสีสัน ธุรกิจที่ซบเซาเพราะโควิดไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม หรือขนส่งสาธารณะพลอยได้รับอานิสงส์คึกคักตามกันไปด้วย ช่วงส่งท้ายปีเก่ารอรับปีใหม่แบบนี้ แม้จะอยู่ในช่วงรอยต่อของการฟื้นตัวทั้งภาครัฐและเอกชน แต่คาดหมายว่าเมื่อถึงวันหยุดยาวสิ้นปีทุกเส้นทางทุกยานพาหนะจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ทยอยเดินทางทั่วทุกสารทิศ แม้พาหนะยอดฮิตอย่างรถทัวร์และรถตู้โดยสารจะเป็นบริการเช่าที่ประหยัด สะดวกสบาย และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไงเสียรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นพาหนะเดินทางที่ “จำเป็น” และตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนจำนวนมาก ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่ลดน้อยลง จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของกรมการขนส่งทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่ (สะสม 7 วัน) ปี 2563 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง ลดลงจากปี 2562 จำนวน 370 ครั้ง โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยพาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์ แม้อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะจะมีน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ แต่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้โดยสาร ต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ ต้องเข้มงวดในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถที่ต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ไม่ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด และตรวจเช็คความพร้อมก่อนออกให้บริการ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารที่ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพของกรมการขนส่งทางบก เช่น การติดตั้ง GPS ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับติดตามและควบคุมความเร็วของรถ และเป็นสาเหตุสำคัญในการลดอุบัติเหตุได้ ผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตนในเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น คือคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่บนรถโดยสาร ซึ่งตรงนี้เหมือนง่ายแต่กลับเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะแม้จะมีบทบัญญัติลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยมีการจับปรับอย่างจริงจังทำให้ผู้โดยสารบางส่วนเคยชินในการละเลยความปลอดภัย ไม่ยินดีกับการคาดเข็มขัดนิรภัย ด้วยเหตุ อึดอัด ไม่สะดวก อายเพื่อน หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์นี้ ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารที่ต้องคาดเข็มขัดขณะอยู่บนรถโดยสาร โดยถ้าผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเจอตรวจจับปรับไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน แต่ปัจจุบันก็ยังพบปัญหารถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือถูกมัดไว้ไม่ให้ใช้ หรืออยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการขนส่งรายใดใช้รถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยมาให้บริการ หรือมีอุปกรณ์และส่วนควบชำรุดเสียหายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท เข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงพาหนะรถยนต์ทุกประเภท เพราะเข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบไว้เพื่อช่วยลดความรุนแรงและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เข็มขัดนิรภัยสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั่วไปได้ร้อยละ 40 - 50 ลดการบาดเจ็บสาหัสได้ถึงร้อยละ 43 - 65 และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 40 - 60 แต่ต้องใช้งานอย่างถูกต้องด้วย การไม่คาดเข็มขัดนิยภัยนั้น อาจส่งผลที่อันตรายอย่างคาดไม่ถึง เช่น แรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถวิ่งเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเท่ากับรถตกจากที่สูงประมาณตึก 8 ชั้น และคนที่อยู่ในรถถ้าไม่คาดเข็มนิรภัย เมื่อรถชนและหยุดกะทันหัน ศีรษะใบหน้าและลำตัวของคนในรถจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับคนในรถ หรือสิ่งของด้านหน้า หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง หรือไขสันหลัง เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การคาดเข็มขัดนิรภัยจึงสำคัญ และเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติทุกคน
ความคิดเห็น (0)