แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ฉลาดซื้อ โรตีสายไหม น้ำพริกหนุ่ม กุนเชียง น้ำสลัด น้ำปลาร้า ปลาสลิด น้ำปู เค้กเนย ปลาทับทิม เนื้อไก่
เหมือนจะเป็นเหตุการณ์ประจำไปแล้วในช่วงปลายปีต่อต้นปีที่ฝุ่น PM 2.5 จะแผ่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างผลกระทบต่อสุขภาพชนิดร้ายลึก (ไม่นับด้านเศรษฐกิจ) ยิ่งสำหรับคนที่ร่างกายไวต่อมลพิษ แค่เดินออกไปข้างนอกไม่นานก็อาจเกิดอาการคันยุบยิบตามตัว มิพักต้องพูดถึงพ่อค้า แม่ค้า หรือคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ไล่เรียงเส้นเวลากลับไปก็ชวนคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสถานการณ์ที่เพิ่งเห็นชัดในช่วงสามสี่ปีมานี้เอง คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือถ้าถอยกลับไปนานกว่านั้น เราไม่มีปัญหานี้เลยหรือ? แล้วฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน? มันวนซ้ำเป็นวัฏจักรมาสามสี่ปีเหตุใดจึงยังไม่เห็นการแก้ปัญหาใดจากภาครัฐ? เราจะค่อยๆ หาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ก่อนอื่นเรามาทบทวนสั้นๆ ว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร มันคือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันมีปริมาณสูงมากเช่นที่เป็นอยู่เราจะเห็นมันเหมือนหมอกหรือควัน ถ้าคุณถูกโอบล้อมด้วยมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน คุณอาจมีอาการแสบตา ไอ จาม เป็นไข้ ผิวหนังอักเสบ และด้วยขนาดที่เล็กมากมันจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่หลอดลม เดินทางไปถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด ปอดอักเสบ หรือหัวใจขาดเลือด สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในที่นี้คือรถ ควันบุหรี่ การเผาขยะ การเผาเพื่อการเกษตรหญ้า หรือการเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ยิ่งอันตรายมากขึ้นเนื่องจากมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆ เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไดออกซิน ยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ในไทย สาหัสติดอันดับโลก ย้อนกลับไปที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2562 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ครองแชมป์อันดับ 1 ที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะฝุ่น PM 2.5 ฝุ่น PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปี 2561 อีกทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่มีปัญหาคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี รายงานสภาพคุณอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 24 มกราคม 2564 พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม, ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ เขตบางกะปิ และริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก มองในแง่ความร้ายแรงนี่คือสถานการณ์เร่งด่วนยิ่งยวดเพราะเราทุกคนต้องหายใจ เกิดเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ.2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565-2567)ว่าแต่เรารู้เห็นความคืบหน้าอะไรบ้างยังคงเป็นคำถามคาใจ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่สถานการณ์เฉพาะในไทย องค์การอนามัยโลกประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ จำนวนมาและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกวางเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายปีของไทยในปี 2560 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่าและการวิเคราะห์ข้อมูลใน State of Global Air ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558 ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 จากการวัดคุณภาพอากาศของ World Air Quality Index พบว่า ประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนติดอันดับที่ 3 จาก 96 ประเทศทั่วโลก โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 190 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ มันมาจากไหน? ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ความร้ายแรงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ความเข้มข้นและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ ที่ตอนนี้มีคำอธิบายว่าเป็นฝาชีครอบ ผมมักเปรียบเทียบกับการจุดธูปในห้องพระ ถ้าวันหนึ่งเราปิดประตูหน้าต่างควันธูปก็จะฟุ้งอยู่ในห้อง ในลักษณะเดียวกัน สถานการณ์ความเข้มข้นมันเกิดจากลักษณะอากาศว่าไหลเวียนดีแค่ไหน ในช่วงนี้ที่สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากอากาศไหลเวียนไม่ดี จุดนี้การพยากรณ์อากาศจะช่วยได้” เนื่องจากอากาศเย็นทำให้ความกดอากาศสูง ฝุ่นที่อยู่ในอากาศไม่สามารถลอยขึ้นข้างบนได้ ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มีแหล่งกำเนิดฝุ่นหลักจากรถยนต์ ซ้ำเติมด้วยสภาพอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง และยังซ้ำเติมด้วยฝุ่นที่มาจากพื้นที่อื่น เช่น การเผาในพื้นที่ภาคกลาง หรือฝุ่นควันที่มาจากกัมพูชา ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เป็นต้น แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ในพื้นที่อื่นๆ ก็เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย เช่นในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งก็มีอันตรายเหมือนกัน หากพื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่น PM 2.5 มาพร้อมกับสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ ในภาคเหนือมันก็มาพร้อมกับสารเคมีทางการเกษตร และการที่มันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า การเผาพื้นที่เกษตร ปริมาณรถยนต์ หรือการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ล้วนเพิ่มมากขึ้น ฝุ่น PM 2.5 จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดร.นพ.วิรุฬ เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยมีการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 มาประมาณ 10 ปี แต่ไม่มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ประมาณสองสามปีที่แล้วภาคประชาชนและกรีนพีซจึงเรียกร้องให้มีการนำฝุ่น PM 2.5 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่ต้องแก้ไขและสิ่งที่เราทำได้ ทั้งที่มีวาระแห่งชาติออกมา แต่เรากลับไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เป็นเพราะอะไร ตอบแบบรวบรัดที่สุดเพราะ ‘ระบบราชการ’ ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า “เป็นปัญหาเรื่องการจัดการของกลไกภาครัฐ ประเทศไทยมีกรมควบคุมมลพิษซึ่งควรจะทำหน้าที่นี้จึงตกเป็นเป้าการโจมตีซึ่งส่วนหนึ่งก็มีปัญหา แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจเพราะว่ากรมควบคุมมลพิษทำได้แค่การประกาศมาตรฐาน ส่วนการจัดการกับต้นกำเนิดอย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีอำนาจเข้าไปจัดการ “แล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลโรงงานก็มีหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเรื่องมลพิษจึงเกิดความย้อนแย้งกันในตัว เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ถ้ามีมาตรการควบคุมมลพิษมากขึ้นอุตสาหกรรมก็ไม่เติบโต มันเป็นปัญหาในเชิงระบบ ถ้ามาคุยกันจริงๆ แต่ละคนก็จะบอกว่าต้องการช่วย แต่ไม่มีอำนาจเพราะอำนาจในการควบคุมมันกระจัดกระจายและทิศทางของประเทศเองก็เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงเป็นปัญหาเชิงระบบ” ดังนั้น ในภาพรวมจึงต้องแก้ไขระบบการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเชื่อมโยงอำนาจ เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการแก้ไขจากข้างบนลงข้างล่าง อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.วิรุฬ แสดงทัศนะว่า “การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ผมคิดว่าต้องทำ 2 ทางคือทำจากข้างบนลงมาและทำจากข้างล่างขึ้นไปด้วย ซึ่งการทำจากข้างบนก็ต้องการแรงผลักดันจากข้างล่างที่เรียกร้องให้ข้างบนแก้ไข มีการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อผลักดันกฎหมาย” ส่วนการทำจากข้างล่างขึ้นไป... “ผมเคยเสนอว่าต้องทำใน 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือตัวเราเองที่ต้องเข้าใจและปกป้องตัวเองก่อน ต้องติดตามสถานการณ์ เป็น active citizen ที่ดูแลตัวเอง ต้องรู้ว่าตัวเราไวต่อปัญหาคุณภาพอากาศหรือไม่ ระดับที่ 2 คือปกป้องคนในครอบครัว อย่างผมมีลูกเล็กๆ และมีผู้สูงอายุที่บ้าน ผมก็ต้องรู้ว่าลูกคนไหนไวเป็นพิเศษเพราะแต่ละคนแต่ละวัยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่นดูแลบ้านของเราให้มีห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ที่ไวต่อมลพิษทางอากาศเป็นห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ถ้าดีขึ้นมาหน่อยก็มีเครื่องฟอกอากาศ “ระดับที่ 3 คือการทำงานร่วมกับชุมชนหมายถึงการร่วมกันดูแลครอบครัวอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น บางครอบครัวมีฐานะดีหน่อย มีเครื่องฟอกอากาศเกินก็อาจจะให้อีกครอบครัวหนึ่งยืมหรือมีระบบที่ช่วยซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาถูกที่ทุกคนพอจะซื้อได้หรือหาหน้ากากที่เหมาะกับเด็กในโรงเรียน ส่วนระดับสุดท้ายคือระดับสังคมที่ต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” พ.ร.บ.อากาศสะอาด อากาศสะอาดคือสิทธิในการมีชีวิต จากที่เห็นแล้วว่าการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงระบบอันเนื่องจากความซ้ำซ้อน การทำงานแยกเป็นเอกเทศ และขาดการบูรณาการของหน่วยงานราชการ จึงมีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่ ดร.นพ.วิรุฬ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เขาอธิบายว่า “เป้าหมายของการเสนอกฎหมายนี้เพื่อจัดการคุณภาพอากาศ ระบบการจัดการ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการจัดการเพื่อสุขภาพ โดยหลักการเราเน้นการจัดการแบบมีส่วนร่วม เป้าหมายจึงไปพ้นจากเรื่องมลพิษ แต่มีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน” ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org) ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือพลังของผู้บริโภค ดร.นพ.วิรุฬ เสนอความคิดว่า ควรมีการ air pollution footprint เช่นเดียวกับ carbon footprint คือดูว่ากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของภาคธุรกิจสร้างมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน “เช่นผู้บริโภคต่อต้านบริษัทรถยนต์ที่ไม่ติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศให้กับรถหรือต่อต้านบริษัทผลิตอาหารที่ส่งเสริมการปลูกแบบอุตสาหกรรมแล้วมีการเผา ผมคิดว่าพลังของผู้บริโภคจะเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องจัดการกับกระบวนการผลิตของตนซึ่งจะช่วยให้การจัดการต้นกำเนิดมลพิษเป็นไปได้มากขึ้นแทนที่จะรอภาครัฐอย่างเดียว” การมีอากาศสะอาดให้หายใจคือสิทธิในการมีชีวิต ดังนั้น ขออากาศสะอาดให้พวกเรา
“ถังเช่า” รุกคืบโฆษณาอ้างสรรพคุณ คนกิน “ตับ ไต” พัง “หมอลี่” ตีแผ่ที่มาถังเช่าดั้งเดิมได้จากซากหนอน ผิดกับอาหารเสริม ใช้การเพาะเห็ดสกัดถังเช่า คาดสรรพคุณต่างกัน กสทช.-อย. ตรวจสอบพบโฆษณาอวดครึ่งหมื่นรายการ มพบ. จี้ออกเอกสารคำเตือนหวังเป็นข้อมูลตัดสินใจ “หมอยา” แนะหลักการกิน อยู่ ไม่ต้องฟอกไต กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น มีปัญหามาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยเฉพาะในระยะหลังที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง ทำให้การตรวจสอบติดตามเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และตามหลังปัญหาอยู่มาก โดยที่เห็นชัดในขณะนี้คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสวนผสมของถังเช่า สารสกัดถังเช่า ที่มีอยู่เกลื่อนตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ ทั้งในรูปแบบของการโฆษณาโดยตรงและการโฆษณาแฝง ทำให้ประชาชนซื้อหามารับประทานจำนวนมาก และก็พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสุขภาพตามมา เรื่องนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บอกว่า อันดับแรกตนขอให้ข้อมูล “ในฐานะแพทย์” ซึ่งจากข้อมูลดั้งเดิมของจีน “ถังเช่า” เป็นสิ่งมีชีวิต คือ ตัวหนอนที่เกิดขึ้นในภูเขา ที่ประเทศจีน ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีเชื้อรา หรือว่าเห็ดไปเจริญงอกงามในตัวหนอนกลายเป็น “ซาก” คนจีนจึงบริโภคซากตัวหนอนและจากเชื้อราไปในคราวเดียวกัน ถือเป็นยาจีนอย่างหนึ่ง สรรพคุณในตำราแพทย์แผนจีนคือรักษาไอเรื้อรัง บำรุงไต มีฤทธิ์ร้อน ใช้กับคนที่ร่างกายมีความเย็น ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน และระบุชัดเจนว่ามีผลกระทบกับการเกาะตัวของเลือด ห้ามกินในคนที่ต้องผ่าตัด และยังมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงห้ามกินในคนที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น แต่ถังเช่าที่ขายในประเทศไทยไม่ได้มาจากตัวหนอน แต่มาจากการเอาเห็ดประเภทที่เป็นเชื้อราแบบเดียวกับที่อยู่ในตัวหนอน ซึ่งอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์ แต่อยู่ในตระกูลเดียวกันมาเพาะและสกัดออกมา ซึ่งเมื่อเป็นการสกัด ก็จะไม่เหมือนกับถังเช่าดั้งเดิม ดังนั้นการจะอวดอ้างว่าบำรุงไตได้หรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไป แต่แน่นอนว่าเวลามีการนำอาหารเสริมเหล่านี้มาจำหน่ายและบริโภค ก็จะมีการติดตามผลข้างเคียงว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เช่นปี 2561 ที่รพ. เชียงราย มีอายุรแพทย์ด้านไตเตือนว่าการทานสมุนไพรรวมถึงถังเช่า อาจทำให้เกิดไตวายเพิ่มขึ้น และมีเภสัชกรทำการทดสอบพบว่าคนที่กินถังเช่าทำให้ค่าไตผิดปกติ แต่เมื่อหยุดกินค่าไตก็ดีขึ้น “จึงยังไม่มีข้อมูลสรุปว่าเป็นพิษต่อไต หรือบำรุงไต แต่ก็เพียงพอที่จะเตือนผู้บริโภคว่าอาหารเสริมไม่กินก็ไม่เสียหายเพราะไม่ใช่อาหารหลัก แล้วกรณีถังเช่านั้น ไม่ได้ขาดสารอาหารอะไรทั้งสิ้น แต่เราไปทานเข้าไป ดังนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ และหลักการกินในจีนไม่ได้กินตลอดชีวิต แต่กินเป็นช่วงเวลา เช่น กิน 1 เดือนแล้วหยุดกิน ไม่เคยมีคำแนะนำให้กินอาหารเสริมไปเรื่อยๆ จน 50-60 ปี แบบนี้ไม่ใช่ หลักการแพทย์แผนจีน ก็เหมือนของไทยก็คือบริโภคให้ครบหมู่ บริโภคให้ครบถ้วน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน แต่ที่ไทยเวลาเอามาสกัดขายพูดอย่างกับว่าถังเช่าเป็นอาหารเสริมครอบจักรวาล” นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าให้พูดในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ก็ต้องบอกว่า ในภาพรวมประเทศไทยมี อย. ดูแลเรื่องอยู่ ส่วน กสทช.มีอำนาจในการดูแลเนื้อหาการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ เท่านั้น ซึ่งในแต่ละเรื่อง หาก อย.มีการยืนยันว่าเป็นโฆษณาเกินจริง ทางกสทช.ก็สั่งระงับโฆษณา หากฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ แต่ถ้า อย. ไม่ยืนยัน กสทช. ไปสั่งก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายทันที ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการพบกลยุทธ์ในการโฆษณาของบริษัทเหล่านี้ โดยใช้โทรทัศน์ วิทยุ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้คนติดตามเท่านั้น เนื้อหาจึงไม่ค่อยมีอะไรที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย แต่จะเปิดทางให้คนไปติดตามช่องทางอื่น มีการโฆษณาโอ้อวด เกินจริง แต่กสทช.ดูแลไม่ถึง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ ดังนั้นคำเตือนคือ 1 ถ้ามีใครกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถังเช่าเป็นประจำและมีอาการผิดปกติ ให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีอาการผิดปกติอะไร กินอะไรไปบ้าง เพราะในอดีตก็เคยมีการทำสารสกัดใบขี้เหล็ก หลังพบว่าใบขี้เหล็กมีสรรพคุณเป็นยายาระบาย แต่พอทำเป็นสารสกัดแล้วกินเข้าไปทำให้เกิดตับอักเสบ จึงนำมาสู่การถอนทะเบียน ก็เช่นเดียวกับถังเช่าที่เดิมคือสมุนไพรที่ได้จากซากหนอน ไม่ใช่สารสกัดจากถังเช่า ดังนั้นสมุนไพรดั้งเดิมมีฤทธิ์อย่างหนึ่ง พอเป็นสารสกัดก็ให้ฤทธิ์อีกแบบหนึ่ง หากมีผลกระทบอะไรก็ให้แจ้งกับแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแจ้งเตือนมาที่อย. ให้ตรวจสอบต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าสารสกัดถั่งเช่าบำรุงสุขภาพจริงๆ แต่มีข้อจำกัด ว่ากระทบกับการทำงานของไตซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป “ในระหว่างนี้สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้คือ หากยี่ห้อไหนโฆษณาว่าบำรุงไต ให้สงสัยไว้เลยว่าเป็นการโอ้อวด เพราะอาหารเสริมจริงๆ เป็นอาหารเสริมสุขภาพทั่วไป จะมาบอกว่าบำรุงเฉพาะส่วนไม่ได้ จะรักษาเฉพาะส่วนไม่ได้ ที่จริงควรจะมีคำเตือนด้วยว่าอาหารเสริมนี้ใครกินได้ ใครกินไม่ได้ ยิ่งคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงยิ่งต้องระวัง ก่อนกินให้ถามตัวเองก่อนว่ากินเพื่ออะไร และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินไปตลอดชีวิต” ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับถังเช่าขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกว่า 427 รายการ บางรายการเพิกถอนทะเบียนไปแล้วโดยที่ขึ้นทะเบียนนั้นมีทั้งถังเช่าสกัดอย่างเดียว ถังเช่าสกัดผสมอย่างอื่น เช่นผสมวิตามินซี ผสมโสม ผสมกาแฟ ผสมสมุนไพรอีกหลายประเภท หรือผสมผลไม้ เรียกว่ามีสารพัดที่มีถังเช่าไปผสมอยู่ ซึ่งคำถามต่อมาคือการที่ผสมสิ่งเหล่านี้จำนวนมาก แล้วมีการเสริมฤทธิ์ หรือว่าต้านฤทธิ์กันหรือไม่ หรือผลเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ได้รับการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากว่า “ถังเช่า” ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมากอยู่ในขณะนี้ สามารถเชื่อถือได้หรือไม่ มีสรรพคุณตามที่โฆษณาจริงหรือไม่ จริงๆ ก่อนหน้านี้ราวๆ ปี 2562 มีรายงานของ รศ.ดร.ภญ.มยุรี มีกรณีผู้บริโภค 3 ราย ร้องเรียนว่ารับประทานถังเช่าและเกิดปัญหาว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต โดยมี 1 คนเกิดปัญหาไตวายเรื้อรัง และปี 63 เจออีก 8 ราย ทั้งหมดรวมเป็น 11 ราย ดังนั้น เมื่อมีรายงานว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของไต ทางมูลนิธิฯ จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบเรื่องของการออกฤทธิ์ด้วย รวมถึงควรมีการเขียนคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เพราะถ้าดูข้อมูลจะพบว่าที่ประเทศจีน จะรับประทานกันหน้าหนาว ในคนที่ต้องการฤทธิ์ร้อน และไม่ได้รับประทานทุกวัน แต่ที่โฆษณาในประเทศไทยกลับบอกว่าต้องทานทุกวันเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขอให้ กสทช. พิจารณาเรื่องการลงโทษสื่อที่มีการโฆษณาเกินจริง หรือการโฆษณาแฝงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย มีระยะเวลาในการโฆษณาผิดกฎหมายอยู่ โดยกสทช. อาจจะชวนดิจิทัลทีวีหรือสื่อต่างๆ มาทำข้อตกลงได้ไปในแนวทางการป้องปราม น.ส.สารี ยังบอกอีกว่า ทั้งนี้หากผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์มาแล้ว พบว่าตัวเราเองไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีโรคประจำตัวอยู่ สิ่งแรกคือถ้าสามารถคืนได้ก็ให้นำไปขอเงินคืน แต่หากคืนไม่ได้ก็ไม่แนะนำให้รับประทาน อย่างไรก็ตาม มีหลายคนอยากให้มูลนิธิฯ ช่วยฟ้องร้องคดีกรณีที่รับประทานแล้วเกิดปัญหาต่อตับและไต ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายหลายตัวที่จะช่วยผู้บริโภค เช่น ว่าด้วยเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัยคือความรับผิดของบริษัท เมื่อมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นในส่วนนี้หากทางบริษัทไม่ได้เขียนคำเตือนไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่หากเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นอาจจะส่งผลต่อการทำงานของไต ก็ถือว่าเตือนเราแล้วโอกาสที่ผู้บริโภคจะไปฟ้องคดีก็ลำบาก “หลักที่ผู้บริโภคจะต้องคิดไว้คือเมื่อเป็นอาหารห้ามโฆษณาเป็นยา ถ้าโฆษณาว่ารักษาโรค บำรุง สิ่งต่างๆ จะผิดพ.ร.บ.อาหาร ทันที นี่คือหลักการเบื้องต้นที่ผู้บริโภคจะเอาไปใช้ได้เลย ดังนั้น ผู้บริโภคอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ สุขภาพของเราไม่ใช่เรื่องพวกนี้แน่นอน การมีสุขภาพดีมีอีกหลายเรื่องที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ และคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมของเรา ไม่ใช่เรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่อย่างนั้นเราคงต้องอยู่กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ออกมาจำนวนมาก” ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค. พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (.กสทช) เปิดเผย ว่า จากการที่ กสทช. ร่วมมือกับ อย. กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตั้งแต่กลางปี 2561 มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ได้แก่ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย โดย กสทช. ทำการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ และ อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณานั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีการขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียง ผลพบว่าสามารถตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณี แบบที่พบว่ามีการโฆษณานั้น บางรายที่เคยโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยมีอาจารย์ภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ มีการใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าของอาจารย์ มีอาการดีขึ้น เดินได้ ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ ใช้ยาแผนปัจจุบันน้อยลง หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เห็ดหลินจือโดยพรีเซนเตอร์นักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปี บ้างก็กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์แล้วจะมีอาการดีขึ้น ถึงขั้นปีนต้นไม้ และขี่จักรยานได้ เป็นการจัดฉากการโฆษณาลวงโลก ซึ่งเคยถูกจับดำเนินคดีแล้วแต่ก็กลับมาอีกครั้ง แต่ทำโดยผู้โฆษณารายใหม่ ซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ มีนักแสดง แสดงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สภาพร่างกายทรุดโทรม แต่เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กลับหายจากอาการป่วยได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง กสทช ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา เราจะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท และนอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจ ในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์ “ค่าปรับของ กสทช. นั้นแพง กฎหมายกำหนดไว้สูงถึง ไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงแค่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเท่านั้นที่โดนลงโทษปรับ แต่ยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับ รายละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงซ้ำ ภายหลังได้รับคำสั่งเตือนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อัตราค่าปรับของ กสทช. นั้นสูง ยิ่งเป็นวิทยุรายเล็กๆ โดนปรับ ก็อาจส่งผลให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ มีข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาต จะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย” อย่างไรก็ตาม นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ทั้งโรคต้อทุกชนิด กระจกตาเสื่อม สายตาสั้น-ยาว ตาแห้ง เคืองตา แสบตา บ้างอ้างว่าเพียงแค่รับประทานอาหารเสริมเหล่านี้แล้ว สายตากลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องผ่าตัด มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ ไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ 1,388 คดี ทั้งนี้ ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณาตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำเสนอภาพหรือคลิปวีดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จากที่เป็นผู้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าแล้วหายจากโรค สามารถกลับมาชีวิตได้เหมือนคนปกติ จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคตับ โรคไตนั้น พบว่าปัญหาหนึ่งที่เจอในปัจจุบัน คือผู้ป่วยมีการกินยาแก้ปวด ยาชุด ยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการปลอมปม ใส่ยาต่างๆ ลงไป รวมถึงสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใส่สมุนไพรที่ทำให้เกิดพิษต่อตับหรือไตได้ เช่น ที่เมืองไทยพบทั้งในน้ำมันกัญชา สารสกัดมะระขี้นก สารสกัดเห็ดหลินจือ หนานเฉาเหว่ย และถังเช่าที่พบความถี่มากขึ้น โดยพบว่ามีทั้งการกินมากเกินไป หรือกินหลายตัวที่มีพิษต่อตับหรือไตเหมือน ๆ กัน ทำให้เกิดปัญหา สมุนไพรบางชนิดตีกับยาบางตัว ทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เป็นต้น ถัดมาคือคอลลาเจนที่มีการใช้เยอะในผู้สูงอายุและปัญหากำลังจะตามมา ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ ราวๆ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต ส่วนประชาชนทั่วไปอายุน้อย 20 30 หรือ 40 ปีต้นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัวหรืออายุน้อย คิดว่าตัวเองแข็งแรงจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะต้องใช้ให้ถูกใช้ให้เป็น รศ.ดร.ภญ.มยุรี บอกว่า หลักการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ต้องใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น คือใช้ 3 เดือนแล้วหยุด 1 เดือน ก็จะค่อนข้างปลอดภัย แต่จะกินของเหล่านี้ต้องดูว่ากินเพื่ออะไร มีงานวิจัยในคนรับรองหรือไม่ว่ามีประโยชน์หรือปลอดภัย แต่ถ้าบอกว่าอยากจะกินเพื่อความสบายใจ ไม่ได้หวังผลอะไร ในส่วนนี้ไม่น่าจะเป็นอะไร เพียงแต่ต้องกินตามที่ฉลากแนะนำ ไม่ควรกินเกินกว่านั้น และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางอย.อย่างถูกต้อง ผู้ใช้ควรตรวจสอบเลขสารระบบให้ชัดว่าถูกต้องก่อนซื้อมาใช้ “อย่างไรก็ตาม กินแล้วต้องหยุด อย่ากินยาวเป็นปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ๆ เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ ไม่มีการทำวิจัย ว่ากิน 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลจะเป็นอย่างไร โดยมากจะทำวิจัย 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลความปลอดภัยระยะยาว” อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลก พบว่าส่วนหนึ่งที่นิยมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพรต่างๆ นั้น เนื่องจากมองว่าของที่มาจากธรรมชาติย่อมปลอดภัย ซึ่งต้องชี้แจงก่อนว่าเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะไม่มีอะไรปลอดภัย 100% ยกตัวอย่าง ถ้ากินโปรตีนเยอะก็สามารถทำให้ไตวายได้ กินเกลือเยอะก็เป็นโรคไตได้ “หลักการง่ายๆ ขนาดอาหารที่กินกันทั่วไปนั้น ถ้ากินเกินพอดี เกินความต้องการของร่างกายก็เป็นอันตรายได้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไรหลายอย่าง นี่คือหลักการเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ ใช้ได้ แต่ต้องรู้วิธีใช้ให้ปลอดภัย สำหรับคนทั่วไป คือ 1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร โลหะหนัก เชื้อรา เชื้อจุลชีพต่างๆ 2. เนื่องจากเราไม่ได้ใช้เพื่อการรักษาโรค แต่เพื่อเสริมอาหาร ซึ่งปกติเราก็ไม่ได้กินอาหารชนิดเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะถ้ากินซ้ำๆ ก็จะได้สารอาหารเดิมๆ ดังนั้นให้กินสลับประเภทอาหาร บางคนปั่นน้ำผลไม้กิน ก็ปั่นอย่างเดิมทุกวัน อันตราย เพราะอาจมียาฆ่าแมลงปนอยู่ กินทุกวันก็จะได้ยาฆ่าแมลงนั้นทุกๆ วัน หรือพวกเกลือแร่บางอย่างอาจจะได้เยอะเกิน เพราะฉะนั้นวิธีการคือ ต้องสลับชนิดการกิน และกินในปริมาณปกติ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไปในแต่ละวัน” ด้าน น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า “ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ควรตรวจสอบกับเลขสารบบของอย. ให้แน่ชัด ถึงแม้ว่าจะพบปัญหาการปลอมเลขอย. แต่อย่างน้อย การที่เราตรวจสอบ และดูรายชื่อ หน้าตาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของอย.ก่อน ก็น่าจะช่วยคัดกรอง และเป็นทางเลือกที่ทำให้เราอันตรายน้อยที่สุด” ปัญหาหนึ่งของการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมาจากช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกิดขึ้นทุกวัน และมีการโฆษณาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุกวันนี้ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่แล้ว โดยผู้ทำผลิตภัณฑ์สามารถออกผลิตภัณฑ์แล้วสามารถโฆษณาได้เองผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ในขณะกระบวนการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายไปยังหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อย. หรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น เมื่อประชาชนโทรศัพท์เข้าไปแจ้งเบาะแส แล้วถูกขอหลักฐาน เอกสารการบันทึกเทปต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานทำเนินการเปรียบเทียบต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกยุ่งยาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาช่องทางากรมีส่วนร่วม ให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายโดยไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฯ เคยเสนอเรื่องการให้รางวัลนำจับ และปัจจุบัน อย.เริ่มเปิดให้มีการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั้งหมด หรือจะมีวิธีการอะไรที่ อย.ไปบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นหรือไม่ เช่น ออกประกาศให้สาธารณชนรับทราบเลยว่าโฆษณาอะไรบ้างที่เป็นโฆษณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ ประชาชนอย่าหลงเชื่อดาราอย่าไปรีวิว influencer ก็อย่าไปเชื่อมากนัก และแต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลการเข้าถึงฐานข้อมูลของอย. ได้ซึ่งหากหน่วยงานสามารถคลิกเข้าไปดูได้ แล้วแต่ละหน่วยงานสามารถเรียกปรับได้เอง โดยไม่ต้องส่งเรื่องย้อนกลับไปที่อย.เพื่อวินิจฉัยก่อน อาทิ กรณีประชาชนไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจ เมื่อก่อนถูกตำรวจไล่กลับมาให้ไปเคลียร์กันเอง แต่หากตำรวจสามารถคีย์ไปยังข้อมูลฐานระบบได้แล้วเรียกปรับได้เลย ตรงนี้ประชาชนก็มีส่วนร่วม เมื่อแจ้งหลักฐานเสร็จก็ให้รางวัลนำจับคิดว่าตรงนี้ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง
ทุกวันนี้เวลาซื้อสินค้าหรือบริการแล้วไม่เป็นอย่างที่โฆษณา สินค้าไม่ตรงปก บริการไม่เป็นธรรมและอีกสารพัดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. จะเป็นหน่วยงานแรกที่ผู้บริโภคนึกถึง เอาล่ะ เรื่องการทำหน้าที่ของ สคบ. เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน ไม่ใช่หัวข้อที่เราจะคุยกันตรงนี้ ประเด็นคือ สคบ. เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่ ‘ตัวแทนผู้บริโภค’ เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภา ตัวแทนผู้บริโภคก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันนี้เราในฐานะผู้บริโภคมีตัวแทนผู้บริโภคที่จะคอยเป็นปากเสียง คอยตรวจสอบผู้ประกอบการ เสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงการฟ้องร้องแทนผู้บริโภคหรือยัง? คำตอบคือ ยังไม่มี ทั้งที่แนวคิดนี้ก่อร่างสร้างตัวมาไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่อย่างว่าในประเทศที่รัฐสนใจเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิของผู้บริโภค (และประชาชน) การจะได้ตัวแทนผู้บริโภคย่อมต้องต่อสู้ให้ได้มา ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ปีหน้าเราจะได้เห็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เกิดขึ้น ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภคแบบเป็นกันเอง ถาม-เส้นทางการเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นอย่างไรตอบ-แนวคิดเรื่ององค์กรอิสระของผู้บริโภคปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐในมิติต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น โดยในมาตรา 57 ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมายและมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ‘องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค’ 10 ปีผ่านไปจนถึงปี 2549 เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 ยังคงบัญญัติเรื่องนี้ไว้และขยายความเพิ่มเติมให้มีหน้าที่ ‘ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย’ เช่นเคย ยังไม่ทันที่องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้น รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องนี้อีกครั้งในมาตรา 46 ว่า ‘สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ’ ในที่สุด พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ก็ถือกำเนิดขึ้น หลังต้องรอคอยถึง 23 ปี ถาม-สภาองค์กรของผู้บริโภคคืออะไร?ตอบ-พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ให้นิยามสภาองค์กรของผู้บริโภคเพียงว่าคือ ‘สภาขององค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้’ ทำให้ต้องดูต่อว่า ‘องค์กรผู้บริโภค’ คืออะไร ซึ่งกฎหมายให้นิยามว่า ‘องค์กรที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่สิบคนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะจัดตั้งเป็นรูปแบบใด และจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย’ ทั้งนี้องค์กรผู้บริโภคตามนิยามของกฎหมายมี 2 รูปแบบคือองค์กรที่เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมารวมตัวกัน จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้บริโภคก็ได้ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร แบบที่ 2 คือนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งกี่คน ดูเพียงว่าเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายหรือไม่ และมีวัตถุประสงค์ว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเปล่า เมื่อนำนิยามทั้งสองมารวมกัน สภาองค์กรของผู้บริโภคก็คือสภาที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ถาม-อำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคมีอะไรบ้างตอบ-กฎหมายกำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1.ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง 2.สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้ 3.รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ 4.สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสภาองค์กรของผู้บริโภค 5.สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการด าเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค 6.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล 7.ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ หรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภค แล้วแต่กรณี และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้มีอำนาจประนีประนอมยอมความด้วย 8.จัดให้มีหรือรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ถาม-แล้วจะจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-กฎหมายกำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขอย่างน้อย 150 องค์กรสามารถรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคได้กับนายทะเบียนกลาง ซึ่งก็คือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้วจะต้องดำเนินการตรวจสอบและประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน หลังจากนั้นทั้ง 150 องค์กรที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องเรียกประชุมสมาชิกและร่างข้อบังคับสภาภายใน 30 วันนับจากประกาศจัดตั้ง เช่น วัตถุประสงค์ของสภา โครงสร้างการบริหาร การคัดเลือกกรรมการ ข้อบังคับ แนวทางนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ถาม-ขณะนี้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคขึ้นหรือยังตอบ-ยัง ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2563 พบว่ามีองค์กรผู้บริโภครวมตัวกันได้ 151 องค์กรที่ยื่นขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่การตรวจสอบเอกสารของนายทะเบียนกลาง พบว่ามี 7 องค์กรที่ต้องแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสาร หากนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารที่ครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงจะประกาศการจัดตั้งสภาองค์กร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในภายในปี 2564 นี้ ถาม-ถ้ามีองค์กรผู้บริโภคต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาองค์กรผู้บริโภคสามารถทำได้หรือไม่ตอบ-ทำได้ หากเข้าเกณฑ์ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคพบอุปสรรคสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประการแรก ผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เพียงพอ โดยมองเป็นแค่เรื่องการซื้อขายสินค้าและบริการเท่านั้น เช่น บางจังหวัดนายทะเบียนมองว่าองค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบริการสุขภาพหรือคุ้มครองสิทธิ์ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาลได้ ไม่ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่การรักษาพยาบาลถือเป็นบริการอย่างหนึ่ง ประการที่ 2 การสร้างภาระขั้นตอนเกินจำเป็น เช่น การจะตั้งองค์กรผู้บริโภคตัวผู้ก่อตั้งทั้งหมดจะต้องไปยืนยันตัวตน ณ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือนายทะเบียนจังหวัด ทั้งที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภคเกินจำเป็น ทำให้การจดแจ้งมีความยุ่งยาก ทั้งที่ในมาตรา 6 ระบุว่า ‘ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และให้รับฟังความคิดเห็นขององค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วย’ ประการที่ 3 การตีความเกี่ยวกับตำแหน่งกรรมการองค์กรผู้บริโภคที่บางองค์กรเกิดจากการรวมตัวของประชาชนทั่วไป การจะทำงานให้มีความน่าเชื่อถือ มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ย่อมต้องมีนักวิชาการมาสนับสนุน ประเด็นคือหากกรรมการด้านวิชาการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ นายทะเบียนจะตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อนุญาตให้จดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภค ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์ของกฎหมาย เนื่องจากนักวิชาการที่มาให้ความเห็นไม่สามารถครอบงำองค์กรได้เพราะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในองค์กรผู้บริโภคที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งการจะแก้ไขรายชื่อกรรมการและข้อบังคับไม่ใช่เรื่องง่าย การตีความลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถจดแจ้งได้ ถาม-จะป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจสวมรอยเข้ามาเป็นองค์กรผู้บริโภคและจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-เพราะต้องการให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจึงมีการกำหนดคุณลักษณะขององค์กรผู้บริโภคที่จะมีสิทธิ์รวมตัวกันเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคในมาตรา 5 ว่าต้องไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือถูกครอบงำโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง และไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคล บวกกับการมีกระบวนการตรวจสอบที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น การตรวจสอบชื่อกรรมการองค์กรว่ามีชื่อเป็นกรรมการบริหารอยู่ในบริษัทใดหรือไม่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือการตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่จากกรมบัญชีกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้มีการร้องคัดค้านหากเห็นว่าองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ ไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 5ถาม-ช่วยยกตัวอย่างการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมตอบ-กรณีการควบรวมกิจการของ CP และเทสโก้ โลตัส ซึ่งทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุญาตให้ควบรวมได้ ทั้งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ CP มีอำนาจเหนือตลาด กรณีเช่นนี้กฎหมายให้อำนาจสภาองค์กรของผู้บริโภคตรวจสอบมติของ กขค. ได้ โดยทำความเห็นได้ว่าลักษณะการควบรวมแบบนี้จะกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากการผูกขาดทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสินค้าและบริการบางประเภท แต่เมื่อ กขค. เห็นชอบให้ควบรวมได้แล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภคหากเห็นว่ามีผลกระทบ หรือกรณีการแบนพาราควอต สมมติว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างมากเห็นว่าพาราควอตปลอดภัย มีคำสั่งไม่แบน แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้กันทั่วโลก มีข้อเท็จจริงทางวิชาการที่พิสูจน์ได้ สภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติได้เช่นกันข้อดีประการหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือมีข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ในการทำหน้าที่ในข้อ 1, 2, 3, 7 หรือ 8 ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริต ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นจากความรับผิด ถาม-เราจะตรวจสอบการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-ความรับผิดรับชอบ (accountability) เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับอำนาจหน้าที่ กลไกการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคถูกล่าวถึงในมาตรา 17 ว่า ‘เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพและการตรวจสอบการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตามระยะเวลาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี การประเมินผลการดำเนินงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการคัดเลือกตามวิธีการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด การประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาสภาองค์กรของผู้บริโภค และการสนับสนุนจากประชาชน หรือในด้านอื่นตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น’ และในมาตรา 18 ‘ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อาจขอให้ประธานกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือขอให้มาชี้แจงด้วยวาจาได้’ ถาม-เมื่อเกิดสภาผู้บริโภคขึ้นแล้ว ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรตอบ-สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นพื้นที่รวมตัวของสมาชิกองค์กรผู้บริโภค ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองที่มีการรวมกลุ่มและต้องการการสนับสนุนก็สามารถทำเรื่องขอรับการสนับสนุนได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ภารกิจหลักที่สภาองค์กรของผู้บริโภคควรรีบผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วคือการทำให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในทุกจังหวัด จัดการบริการแบบ one stop service ให้แก่ผู้บริโภคในการร้องเรียน ขอข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส เป็นต้น ก็จะช่วยทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคในไทยมีความเข้มแข็งขึ้นกว่าในอดีต เพราะในโลกทุนนิยม พลังของ ‘ผู้บริโภค’ คือพลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและทำให้ทุนนิยมอ่อนโยนลงกว่าที่เป็นอยู่
ฉลาดซื้อเคยนำเสนอผลการประเมินนโยบายด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ในการจัดซื้ออาหารสด ของห้างค้าปลีกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 8 แบรนด์ (Big C, CP Fresh Mart, Foodland, Gourmet Market, Siam Makro, Tesco Lotus, Tops, และ Villa Market) มาแล้ว และพบว่าโดยรวมแล้วห้างในบ้านเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนักคราวนี้เรามาเจาะลึกดูเรื่องความรับผิดชอบต่อ “สวัสดิการของผู้บริโภค” กันบ้าง ตัวชี้วัดที่จะให้คะแนนคราวนี้ได้แก่ข้อมูลในเรื่องต่อไปนี้ที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 1. ความปลอดภัยของอาหารในร้าน: บริษัทมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของอาหารที่ได้มาตรฐานและโปร่งใสหรือไม่2. ส่วนประกอบและที่มาของอาหาร: บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารหรือไม่3. ภาวะโภชนาการ: บริษัทให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการหรือไม่ อย่างไร4. กลไกรับเรื่องร้องเรียน: บริษัทมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่5. กลไกเยียวยา: บริษัทมีกลไกเยียวยาที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่6. การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค: บริษัทเปิดให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภค มีส่วนร่วมในประเด็นความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมหรือไม่7. การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค (consumer education): บริษัทให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนของอาหารมากน้อยเพียงใด8. ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ: บริษัทให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ มากน้อยเพียงใดในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย แต่ละตัวชี้วัดจะมีสามข้อย่อย ซึ่งหากผู้วิจัยพบว่ามีข้อมูลในข้อนั้นก็จะให้หนึ่งคะแนน รวมทั้งหมดจึงเป็น 24 คะแนน ในภาพรวมเราพบว่าสิ่งที่ห้างค้าปลีกทำคะแนนได้มากที่สุดสามอันดับแรกคือ การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค การให้ความรู้ประเด็นภาวะโภชนาการ และการมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ · หมายเหตุ บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานความก้าวหน้าเรื่อง ผลการประเมินความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการผู้บริโภค ในธุรกิจอาหารและการจัดซื้ออาหารของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจัดทำโดยทีมวิจัยป่าสาละ ใครได้คะแนนสูงที่สุด Siam Makro ได้คะแนนสูงสุดในหมวดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค (5 คะแนน จาก 24 คะแนน หรือร้อยละ 20.83)[JM1] บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารบนฉลากอย่างชัดเจน รวมถึงสัดส่วน GMO ด้วย ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะ ประกาศนโยบาย/กลยุทธิ์เพื่อความยั่งยืนในห่วงโซ่อาหารอย่างชัดเจน มีโครงการด้านสวัสดิการผู้บริโภคหรือสิ่งแวดล้อมของอาหาร ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ที่ใช้กลไกการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และมีบทบาทในการพัฒนามาตรฐานความยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรม อันดับสองได้แก่ Tops ได้ไป 4 คะแนน (ร้อยละ 16.67) บริษัทให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่ผู้บริโภค ผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ รวมถึงรณรงค์และให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภคทั้งในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย มีกลไก/แนวปฏิบัติในการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจน บริษัทประกาศนโยบายความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร และกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน อันดับสามคือ CP Fresh Mart ได้ 3 คะแนน (ร้อยละ 12.50) บริษัทประกาศนโยบายและกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด และมีการรายงานความคืบหน้ารายปี มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจนและมีแนวปฏิบัติรวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ผู้บริโภคจะได้รับการตอบรับเรื่องร้องเรียนส่วนที่เหลือ (Big C, Foodland, Gourmet Market, Tesco Lotus, และ Villa Market) ไม่มีคะแนน ในภาพรวมห้างค้าปลีกในบ้านเรายังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องนี้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค เช่นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ระหว่างนี้มาดูตัวอย่างแนวปฏิบัติหรือนโยบายที่น่าสนใจของสามห้างที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ กันไปก่อน ·ความปลอดภัยของอาหารแอปพลิเคชัน Scan Me ของ Tops ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตและสถานที่จําหน่ายเนื้อสัตว์และซีฟู้ด (ปลา) ณ จุดขายใน 24 สาขาทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้ได้สินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัย ·ส่วนประกอบ/ที่มาของอาหารSiam Makro ส่งเสริมการแสดงฉลากสําหรับถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ประกอบด้วย 22ชนิด ·ความรู้เรื่องภาวะโภชนาการSiam Makro จัดทําฉลากแสดงค่าพลังงาน ปริมาณนํ้าตาล ไขมัน และโซเดียม (Guideline Daily Amount –GDA) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการลดความหวาน มัน หรือเค็มได้ ในขณะที่ Tops ให้ความรู้ผู้บริโภคในเรื่องวิธีหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ·กลไกรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคCP Fresh Mart มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสินค้า/บริการของซีพีเฟรชมาร์ท โดยกําหนดรูปแบบการจัดการข้อร้องเรียนไว้ 3 ระดับตามความความรุนแรงของปัญหา และทําหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามผลการตรวจสอบจนปัญหาของลูกค้าได้รับการแก้ไข ข้อร้องเรียนด้านคุณภาพ (เช่น สี กลิ่น รส ฯลฯ) ใช้เวลาจัดการภายใน 5 วัน ข้อร้องเรียนด้านความปลอดภัย (เช่น สิ่งแปลกปลอม) ภายใน 3 วัน และข้อร้องเรียนด้านวิกฤต (เช่น ผู้บริโภคเจ็บป่วย) ภายใน 24 ชั่วโมง ·การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเรื่องความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารTops ประกาศนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน “เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการพัฒนา คัดสรรสินค้าที่นํามาจําหน่ายอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย แหล่งที่มาของสินค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น มีกระบวนการจัดซื้อเป็นธรรมและโปร่งใส ผลักดันผู้ร่วมค้าให้พัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบการประกันคุณภาพที่สามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตมีความปลอดภัย” Siam Makro กำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2563 คู่ค้าธุรกิจหลักทั้งหมดต้องได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน และมีแนวทางการจัดหาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ในขณะเดียวกันวัตถุดิบหลักทั้งหมดก็ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่า CP Fresh Mart กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563 ไว้ดังนี้ การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร การพัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการระบุเป้าประสงค์ที่ชัดเจน และจัดทํารายงานความยั่งยืนประจําปีมาตั้งแต่ปี 2554 ·ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นSiam Makro ร่วมมือกับกรีนพีซ (Greenpeace) เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิตทูน่าชนิดก้อนในน้ําเกลือ ตราเอโร่ (aro) ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง แม่นยํา มีข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ทูน่าที่ใช้ แหล่งที่มา เช่น มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code ที่สินค้าก็จะทราบว่าปลาทูน่าถูกจับด้วยวิธีการใช้อวนล้อม ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม บทความนี้นำเสนอเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินในสามด้านได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก 2) สิ่งแวดล้อมคู่ค้า-ความปลอดภัย และ 3) ผู้บริโภค โดยแต่ละหมวดประกอบด้วย 8 ตัวชี้วัด หมวดละ 24 คะแนน (คะแนนรวมทั้งหมดจึงเท่ากับ 72 คะแนน) จากผลคะแนนโดยรวมทั้งสามด้าน เราจะเห็นว่า Siam Makro, Tops, และ CP Fresh Mart ได้คะแนนสูงสุด (9 จาก 72 คะแนน หรือร้อยละ 13.89) ตามด้วย Tesco Lotus ที่ได้คะแนน 3 แต้ม หรือร้อยละ 4.63 ในขณะที่ Gourmet Market ได้ไป 2 แต้ม โดยได้คะแนนจากมิติด้านสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีกห้างที่ไม่ได้คะแนนด้านใดเลยตามเกณฑ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ได้แก่ Big C Villa Market และ Foodland ------สำหรับนโยบายเรื่องการลดถุงพลาสติก (สำหรับผู้บริโภค) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในหมวดสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก ทีมวิจัยให้ Gourmet Market Tesco Lotus และ Tops ห้างละ 2 คะแนน Gourmet Market มีโครงการ เดอะมอลล์ กรุ๊ป โก กรีน (THE MALL GROUP GO GREEN) GREEN EVERYDAY งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม เป็นต้นมา Tesco Lotus มีนโยบายลดใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จําเป็น โดยเริ่มใช้มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกสําหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้น ในสาขาเอ็กซ์เพรสและตลาดทั่วประเทศ รวมประมาณ 1,800 สาขา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 Tops มีมาตรการงดใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น งดใช้กล่องโฟมในโซนฟู้ดพาร์ค และโซนซื้ออาหารกลับบ้านในศูนย์อาหารทุกแห่งที่บริหารงาน โดย “CPN ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลในการงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนในTopsห้างสรรพสินค้าและเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์” ในขณะที่ CP Fresh Mart และ Siam Makro ได้ไปห้างละ 1 คะแนน CP Fresh Mart งดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันพุธตลอดปี 2562 มีแคมเปญรักษ์โลก ‘ชวนช้อป! พกกระเป๋า ไม่เอาถุง’ ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกปีละ 3 ล้านใบ และจะเป็นร้านปลอดถุงพลาสติกในปี 2565 Siam Makro ไม่มีการแจกถุงพลาสติกมาตลอด 29 ปีของการดําเนินธุรกิจ ถึงปัจจุบันลดถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 5,400 ล้านใบ
ความคิดเห็น (0)