แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ
เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ปลูกบ้าน ซื้อที่ดิน
ฉบับนี้ขอพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงนี้ นั่นคือ “การกู้เงิน” อย่างที่เราทราบกันว่า พอเกิดโรคระบาดโควิด หลายคนตกงานขาดรายได้ แต่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม บางคนถึงขั้นต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในแต่ละวันและมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไปกู้เงินนอกระบบ ผลที่ตามมาคือ ถูกคิดดอกเบี้ยที่สูง เจ้าหนี้นอกระบบบางรายคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 ต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าเกินอัตราที่กฎหมายให้เรียกได้ กล่าวคือ กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรือ ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หากคิดเกินนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เคยมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายทุกเดือนๆ ที่ถูกคิดเกินกฎหมายส่วนนี้ ลูกหนี้จะมีสิทธิเรียกคืนได้หรือไม่ ซึ่งศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่า เงินที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว ลูกหนี้เรียกร้องให้คืนไม่ได้และเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเช่นกัน แต่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปหักกับเงินต้นที่ลูกหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อหักแล้วเงินต้นเหลือเท่าใด ลูกหนี้ก็รับผิดชอบหนี้เฉพาะส่วนที่เหลือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560) ดังนั้น หากท่านใดตกเป็นลูกหนี้นอกระบบ เราควรต้องรอบคอบโดยเก็บหลักฐานการชำระเงินส่วนดอกเบี้ยและเงินต้นแต่ละเดือนไว้ แนะนำให้โอนเข้าบัญชี ไม่ควรชำระเป็นเงินสด เพราะเจ้าหนี้จะไม่มีใบเสร็จหรือหลักฐานชำระหนี้ให้เรา เพื่อหากเกิดข้อพิพาทขึ้น เราจะได้มีหลักฐานต่อสู้ได้ว่าเงินดอกเบี้ยที่เราจ่ายไปนี้ ต้องนำไปหักเงินต้น จะอ้างว่าที่ผ่านมาเราจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี นั่นเอง
สวัสดีครับฉบับนี้อยากหยิบยกปัญหาใกล้ตัวเราทุกคนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย หลายท่านคงฝันว่าอยากจะมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่ท่านทราบหรือไม่ ในเรื่องการก่อสร้างบ้าน กฎหมายได้กำหนดอายุความไว้หลากหลาย เช่น อายุความเรียกค่าจ้างทำของ กำหนดไว้ 2 ปีนับแต่รับมอบงาน แต่มีข้อสังเกตว่า อายุความ 2 ปีนี้ ใช้กับคู่สัญญาที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นคนธรรมดาที่ว่าจ้างให้สร้างบ้าน หรือเรียกว่าจ้างสร้างเป็นการส่วนตัว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2534 การฟ้องเรียกค่าจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 มีกำหนดอายุความ2 ปี นับแต่วันรับมอบงาน โจทก์สร้างบ้านและรั้วพิพาทเสร็จส่งมอบให้จำเลยเมื่อเดือนตุลาคม 2526 และจำเลยได้เข้าไปอยู่ในบ้านพิพาทเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2526 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเอาไม้แบบพิพาทของโจทก์ไปทำสะพานทางเดินและเรียกทรัพย์หรือราคาทรัพย์ดังกล่าวคืนนั้นเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความบัญญัติห้ามไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556 จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยโดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้าง เป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาคาจ้างจากผู้ว่าจ้าง จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้นต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7) โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลย ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความถึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แต่ถ้าฝ่ายผู้ว่าจ้างทำโครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เช่น พวกบ้านจัดสรร และว่าจ้างผู้รับจ้างทำการรับเหมาก่อสร้างบ้านตามแบบแปลนของผู้ว่าจ้าง เช่นนี้ ต้องใช้อายุความ 5 ปี ในการฟ้องร้องเรียกสินจ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9931/2552 คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง จำเลยรับจ้างก่อสร้างถนนและสะพานจากกรมทางหลวงแล้วจำเลยนำงานก่อสร้างสะพานไปว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอีกต่อหนึ่ง งานก่อสร้างสะพานเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างจากกรมทางหลวงอยู่ด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้างเรียกเอาค่างานที่ได้ทำให้แก่จำเลยเพื่อกิจการของจำเลย เข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) อายุความเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่เราต้องรู้เพื่อจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องของเราได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่นในเรื่องนี้ หากจะเรียกค่าจ้างก่อสร้างบ้าน กรณีสร้างแบบส่วนตัว ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 2 ปี หรือหากเป็นบ้านโครงการก็ต้องฟ้องภายใน 5 ปีครับ
การเป็นหนี้ เชื่อว่าหลายท่านหรือคนใกล้ตัวต้องมีมาคุยเรื่องหนี้กันบ้าง โดยเฉพาะหนี้จากการกู้ยืมเงินไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ แต่ในครั้งนี้ผมจะขอกล่าวถึงหนี้ของผู้ค้ำประกัน เพราะเป็นคนที่เจตนาดี ช่วยค้ำประกันหนี้ให้คนอื่นทั้งที่ตัวเองไม่ได้ใช้เงิน แต่สุดท้ายเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ตนเองก็โดนบังคับชำระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับผู้ค้ำประกันหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระได้ ดังนั้นผมจึงคิดว่าเรื่องของ “สิทธิของผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกท่านควรรู้ครับ เมื่อเจ้าหนี้มาทวงหนี้จากผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ ดังนี้ 1. บอกปัดให้เจ้าหนี้ไปเรียกเอาจากลูกหนี้ก่อน ก่อนที่ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนลูกหนี้นั้น ผู้ค้ำสามารถให้เจ้าหนี้ไปเอาจากลูกหนี้ได้ก่อน ดังนั้นหากเจ้าหนี้มาทวงหนี้กับผู้ค้ำ ให้ผู้ค้ำแจ้งไปเลยว่า ให้ไปเอาจากลูกหนี้ก่อน 2. ตรวจสอบว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้หรือไม่ ถ้าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ ผู้ค้ำก็แจ้งเจ้าหนี้ให้ไปบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ 3. ตรวจสอบข้อสัญญาค้ำประกัน หากมีข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ ผลคือเจ้าหนี้จะต้องไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน จนก็กระทั่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วจึงค่อยมีเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน 4. ตรวจสอบว่ามีการแจ้งให้ผู้ค้ำทราบหลังลูกหนี้ผิดนัดภายใน 60 วัน หรือไม่ เนื่องจากข้อกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าหนี้ให้ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันทราบเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ภายใน 60 วัน เพื่อที่ผู้ค้ำจะชำระหนี้ เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัด โดยที่ผู้ค้ำฯไปเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ภายหลัง หากไม่แจ้งผู้ค้ำไม่ต้องรับผิดชอบในดอกเบี้ย ค่าติดตามทวงหนี้ ค่าสินไหมทดแทนต่างๆ 5. ตรวจสอบว่าเจ้าหนี้ มีการลดหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ หากมีผู้ค้ำได้รับประโยชน์นั้นด้วย เนื่องจากข้อกฎหมายให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันเป็นโมฆะ (ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ก็มีผลถึงผู้ค้ำประกัน แต่ถ้าเป็นผลเสียแก่ผู้ค้ำจะใช้บังคับไม่ได้ ) 6. ตรวจสอบว่าเจ้าหนี้ มีการขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีการขยายระยะเวลา โดยผู้ค้ำไม่ได้รับทราบหรือยินยอม ผู้ค้ำก็พ้นความรับผิด 7. หลังชำระหนี้แทนลูกหนี้ มีสิทธิฟ้องลูกหนี้ตามวงเงิน ที่ชำระแทน พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น คำพิพากษาฎีกาที่ 3847/2562 รูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไปยังค้ำประกัน กฎหมายไม่ได้ระบุรูปแบบไว้ และการแจ้งผู้ค้ำต้องดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด หากไม่ได้แจ้งตามกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดรูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้วเพื่อผู้ค้ำประกันจะได้ใช้สิทธิเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้เพื่อลดภาระหนี้ การตีความข้อความในหนังสือบอกกล่าวจึงไม่จำต้องยึดถือรูปแบบที่เคร่งครัด เมื่อปรากฏว่าหนังสือบอกกล่าวซึ่งโจทก์ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีเนื้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จำนวนเงินค้างชำระและยังมิได้ชำระหนี้ ขอให้ไปชำระหนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความที่แจ้งว่าลูกหนี้ผิดชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นหนังสือบอกกล่าวตามความมุ่งหมายมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็น อุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ตามมาตรา 686 วรรคสอง โจทก์คงเรียกให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่คิดได้เพียง 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันแม้จะมีข้อกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้ค้ำประกันไว้ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ง่าย หากลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินหรือติดตามตัวไม่ได้ ผู้ค้ำก็ยังต้องรับผิดอยู่ ดังนั้นการจะค้ำประกันให้ใครควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง ศึกษาข้อมูลรายละเอียดทั้งของตัวลูกหนี้เอง และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจนะครับ
ฉบับนี้ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับการติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งปกติเวลาเราไปเดินตามห้างร้านต่างๆ ก็จะมีการแสดงราคาสินค้าให้เราทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามหากมีใครสักคนอยากได้สินค้านั้นแต่ไม่ต้องการจ่ายตามราคาที่ร้านกำหนด เลยแอบเอาป้ายราคาสินค้าอื่นมาติดแทนแล้วเอาไปจ่ายเงิน พนักงานเก็บเงินไม่ได้ตรวจให้ดี ก็คิดเงินตามราคาสินค้าที่ติดป้ายราคาปลอมนั้น เช่นนี้จะถือว่ามีความผิดเข้าข่ายลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่ โดยประเด็นนี้เองเคยเกิดขึ้นจริงและมีคดีที่ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ด้วย ซึ่งกล่าวโดยสรุปศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง” โดยได้วางหลักไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542 การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเอาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอยู่ในตัว และจำเลยกระทำโดยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายให้ยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่จำเลยไม่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่ จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าเป็นเรื่อง “การฉ้อโกง” เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาป้ายราคาถูกมาปิดทับป้ายราคาแพง อันเป็นการแสดงข้อความเท็จในตัว ทำให้พนักงานหลงเชื่อว่าราคาโคมไฟเพียง 134 บาท แล้วยินยอมส่งมอบทรัพย์ คือโคมไฟตั้งโต๊ะให้โดยสมัครใจจากผลของการฉ้อโกง และที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการลักทรัพย์ต้องเป็นกรณีเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อนุญาต ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522 การที่ผู้เสียหายเอาเงินออกมาเพื่อร่วมทำธนบัตรปลอมด้วยความเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง โดยผู้เสียหายยังครอบครองยึดถือธนบัตรเหล่านั้นอยู่ แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายเอาธนบัตรเหล่านั้นของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายมิได้ส่งมอบให้นั้นเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้น หากกรณีแรก จำเลยเอาโคมไฟไปโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตหรือสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ความคิดเห็น (0)