ฉบับที่ 172 กระแสต่างแดน

ไก่สด คนไม่สดบรรดาเนื้อไก่ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Woolworths Aldi และ Coles และที่นำมาประกอบเป็นอาหารในร้านอย่าง KFC Pizza Hut หรือ Subway ในออสเตรเลียนั้น มาจาก “โรงงานนรก” ที่ พนักงานจากไต้หวันและฮ่องกงหลายพันคนทำงานวันละ 18 ชั่วโมง โดยไม่ได้ค่าจ้างล่วงเวลา คนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้ามาทำงานด้วยวีซ่าแบบ working holiday ด้วยค่าแรงชั่วโมงละ 11.50 เหรียญ (ประมาณ 300 บาท)พวกเขาอาศัยอยู่ในที่พักที่บริษัท “จัดหา” ให้ โดยหักค่าเช่าสัปดาห์ละ100 (ประมาณ 2,500 บาท) เหรียญต่อคนออกจากรายได้ ข่าวบอกว่าบางที “ที่พัก” ของคนเหล่านี้ ก็มีคนร่วมพักถึงหลังละ 21 คน บริษัท Baiada Group ดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้จัดส่งไก่สดให้กับร้านค้าปลีกและร้านอาหารต่างๆ ใช้วิธีจ้างผู้รับเหมาช่วงแบบห่างๆ โดยไม่สนใจรับรู้ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในโรงงานเหล่านั้นทั้งเรื่องของสิทธิแรงงานและสวัสดิการที่อยู่อาศัย เมื่อทางการขอข้อมูลอะไร...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!

ฉบับที่ 169 กระแสต่างแดน

I’m burning it! องค์กร Fight for 15$ ที่ต่อสู้เพื่อสภาพการทำงานที่ดีและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการเปิดโปง “เรื่องในครัว” ของแม็คโดนัลด์ ร้านฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขามากเป็นอันดับสองของอเมริกา องค์กรนี้รายงานว่ามีพนักงานร้านแม็คโดนัลด์ 28 คน จากสาขาใน 19 เมือง เคยได้รับบาดเจ็บจากอุปกรณ์ที่มีอันตรายและมาตรการความปลอดภัยที่หละหลวมในครัวของแม็คโดนัลด์ US Occupational Safety and Health Administration (OSHA) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐฯ ยอมรับว่าได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจริงในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา โฆษกของ OSHA กล่าวว่ากำลังสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่ ถ้าพบว่าผิดจริง บริษัทอาจเสียค่าปรับระหว่าง 7,000 ถึง 70,000 เหรียญ (230,000 – 2,300,000 บาท) แล้วแต่ความรุนแรงของข้อหา ก่อนหน้านี้ OSHA เคยสำรวจความเห็นของพนักงานในร้านฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาจำนวน 1,426 คน และพบว่าในปีที่ผ่านมา เกือบร้อยละ 80 เคยได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก และหนึ่งในสามของคนเหล่านี้ได้รับคำแนะนำจากหัวหน้างานให้ใช้ของใกล้ๆ มืออย่าง เนย มัสตาร์ด มายองเนส หรือซอสมะเขือเทศ ทาแผลบรรเทาปวด! แม็คโดนัลด์ อเมริกา(ซึ่งมีทั้งหมด 14,000 สาขา) บอกว่า บริษัทคำนึงถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานเสมอมา แต่ก็พร้อมที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาดังกล่าว   ทางเลือกที่น้อยลง? Greenpeace Energy ผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี เตรียมฟ้องร้องคณะกรรมการสหภาพยุโรป ที่อนุมัติให้ประเทศอังกฤษสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้ บริษัทดังกล่าวทำการศึกษาในรายละเอียดและพบว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ ไม่ได้เป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อราคาพลังงานในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อราคาของพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนสูงกว่าเนื่องจากเป็นการรับซื้อพลังงานจากผู้ผลิตรายย่อยในราคาคงที่ ในขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้รับเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตจากรัฐ ในปี 2006 อังกฤษประกาศสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ฮิงค์ลี่ย์พ้อยนท์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มูลค่าการลงทุนทั้งหมด 40,000 ล้านยูโร ตามแผนการลดการปล่อยคาร์บอน ตามกำหนดการเดิมเขาจะสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรงให้เสร็จพร้อมใช้งานก่อนคริสต์มาสปี 2017 แต่เนื่องจากมีผู้คัดค้านจำนวนมาก แผนดังกล่าวจึงยังไม่ได้เริ่ม และในที่สุดรัฐบาลอังกฤษจึงลงขันช่วยเหลือผู้ประกอบการ 22,000 ล้านยูโร การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างบริษัทพลังงานด้วยกัน เพราะการคิดค่าไฟฟ้าไม่ได้คิดจากต้นทุนที่แท้จริงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นเอง รายงานดังกล่าวยังระบุว่า เยอรมันจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะปัจจุบันรัฐบาลเยอรมันเป็นผู้จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาพลังงานในตลาดกับราคาพลังงานทางเลือก ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า แม้ว่าในเบื้องต้นรัฐบาลเยอรมันอาจจ่ายเพียง 17 ล้านยูโร จากกองทุนพลังงานทางเลือกมูลค่า 20,000 ล้านยูโร ของประเทศ แต่การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ อาจทำให้ โปแลนด์ โรมาเนีย หรือลิทัวเนีย อาจเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย และนั่นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตลาดพลังงานทางเลือกในเยอรมนีมากขึ้น ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? อิตาลีเป็นต้นตำหรับพาเมซานชีส ที่ผู้คนทั่วโลกนิยมชมชอบ แต่เชื่อหรือไม่ว่าปีที่ผ่านมาอิตาลีผลิตชีสดังกล่าวได้เพียง 295,000 ตัน ในขณะที่อเมริกาผลิตออกมาได้มากกว่า 300,000 ตัน กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพาเมซานชีสในอิตาลี นำโดย Coldiretti ออกมารวมตัวกันที่เมืองโบโลญญา เพื่อประท้วง “ชีสปลอม” เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอุตสาหกรรมการผลิตชีส ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแคว้นอิมีเลีย โรมัญญา เมื่อสามปีก่อน และปีที่แล้วราคาส่งก็ลดลงร้อยละ 20 จนเหลือเพียงกิโลกรัมละประมาณ 250 บาท   เอาเป็นว่าตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา มีหนึ่งในสี่ของเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตชีสดังกล่าวเลิกกิจการไปแล้ว ความจริงแล้ว ชีส “Parmigiano Reggiano” และ “Grana Padano” ได้รับการคุ้มครองการตั้งชื่อจากแหล่งกำเนิดสินค้าจากสหภาพยุโรปอยู่แล้ว เช่น ถ้าจะเรียกตัวเองว่าเป็น Parmigiano Reggiano ของแท้ ต้นตำรับ ก็ต้องเป็นชีสที่ผลิตจากฟาร์มในเมืองพาร์มาหรือพื้นที่รอบๆ เท่านั้น แต่ตอนนี้เกษตรกรอิตาลีทำได้แค่ประท้วง เพราะจะไปเอาผิดกับบริษัทอเมริกันว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็คงไม่ได้ เพราะคุณพี่เขาทำชีสที่ว่าออกมาขายในชื่อภาษาอังกฤษว่า Parmesan Cheese ซึ่งไม่ได้อยู่ในการคุ้มครอง อันนี้ผู้บริโภคต้องเลือกแล้ว ... ถ้าคุณอยากกินของอร่อยจากอิตาลี ก็ต้องดูชื่อให้ดีนะจ๊ะ   จำกัดเนื้อ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายโจโค วิโดโด ต้องการให้ประเทศของเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางอาหาร เขาจึงเริ่มจากการจำกัดการนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศ ปีที่แล้วอินโดนีเซียนำเข้าเนื้อวัวถึง 170,000 ตัน แต่ปีนี้ในไตรมาสแรก มีการนำเข้าเพียง 12,000 ตันเท่านั้น ผลกระทบต่อประชากร 240 ล้านคนคือราคาเนื้อวัวที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมกิโลกรัมละ 80,000 รูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 200 บาท) ขึ้นเป็น 105,000 (ประมาณ 260 บาท) และอาจขึ้นไปอีกเมื่อราคาน้ำมันกลับมาเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าราคาเนื้ออาจเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 รูเปียอินโดนีเซีย (370 บาท) ในเดือนรอมฎอนด้วย รัฐบาลเริ่มการจำกัดการนำเข้า แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมการส่งเสริมการทำฟาร์มวัวเนื้อในประเทศมากนัก และภาวะอาหารแพงนี้อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในที่สุด ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยมีความพยายามเช่นนี้และประสบความล้มเหลวมาแล้ว นอกจากจะขาดแคลนเนื้อวัวเพื่อการบริโภคยังมีปัญหาการคอรัปชั่นของนักการเมืองด้วย(ร้อยละ 40 ของเนื้อวัวที่บริโภคในอินโดนีเซียถูกนำเข้าจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับสามของโลก)   ความสุขของกิมจิ เด็กเกาหลีเครียดกับการเรียนไม่แพ้ชาติใดในโลก เรื่องนี้มีตัวเลขการสำรวจมายืนยัน สถาบันสุขภาพและสังคมของเกาหลีได้ทำการเปรียบเทียบความรู้สึกของเด็กในวัย 11,13 และ 15 ปี ในเกาหลีกับเด็กๆ ในประเทศอื่นๆ โดยใช้ข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีในปี 2013 ประกอบกับรายงานของยูนิเซฟว่าด้วยการสำรวจความรู้สึกเป็นสุขของเด็กๆ ในประเทศที่ร่ำรวย 29 ประเทศที่ทำขึ้นในปี 2009 และ 2010 เมื่อให้เด็กๆ จัดอันดับความกดดันเรื่องการเรียนระหว่างเลข 0 ถึง 4 โดยคนที่เลือกหมายเลข 3 ขึ้นไป จะถือว่าเป็นกลุ่มที่เครียดมาก พบว่า เกาหลีมีเด็กถึงร้อยละ 50 ที่รู้สึกว่าตัวเองเครียดมาก ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของการสำรวจคือร้อยละ 33.3  และเด็กที่เครียดเรื่องเรียนน้อยที่สุดคือเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์(ร้อยละ 16.8) ในทางกลับกัน มีเพียงร้อยละ 18.5 ของเด็กๆ ที่เกาหลีเท่านั้นที่ตอบว่า ชอบชีวิตการไปโรงเรียน เป็นอันดับห้าจากล่างสุด รองจากสาธารณรัฐเช็ค ฟินแลนด์ อิตาลี และเอสโตเนีย ส่วนประเทศที่มีเด็กชอบการไปโรงเรียนมากที่สุดได้แก่ ไอร์แลนด์ (ร้อยละ 42.5) แล้วความสุข ความพึงพอใจในชีวิตน้อยๆ ของพวกเขาล่ะ? มีเพียงร้อยละ 60.3 ของเด็กเกาหลีเท่านั้นที่ตอบว่าพึงพอใจ ในขณะที่เด็กๆมากกว่าร้อยละ 80 ในประเทศอื่นๆ ตอบว่าพวกเขาพึงพอใจกับชีวิตของตัวเอง ยกเว้นโปแลนด์ (79.7) และโรมาเนีย (76.6) นักวิจัยของเกาหลีให้ข้อสรุปว่า เด็กๆ ของพวกเขามีสุขภาพกายดีเยี่ยม แต่สุขภาพจิตยังต้องปรับปรุงอีกมาก สืบเนื่องจากการเป็นสังคมที่เอาจริงเอาจังกับการประสบความสำเร็จทางการเรียนนั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ความคิดเห็น (0)