ฉบับที่ 228 เปลี่ยนวิกฤตในอากาศ...เป็นอาหาร

        


        มีการพยากรณ์มานานพอควรแล้วว่า มนุษย์บนโลกน่าจะเพิ่มเป็นประมาณหมื่นล้านคนในปี 2050 ซึ่งทำให้นักบริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศหลายคนกังวลว่า โลกอาจกำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงมนุษย์ที่มีอยู่ด้วยกระบวนการเกษตรแบบดั้งเดิม 
        สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กเคยได้ยินข่าวหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีความพยายามนำเอาสาหร่าย spirulina ซึ่งก็คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีขึ้นทั่วไปทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดมาเป็นแหล่งของโปรตีนแก่ประเทศยากจน แต่ปรากฏว่าระหว่างการประเมินความปลอดภัยในหนูทดลองนั้น มีผลการศึกษาบางประเด็นที่ส่อถึงปัญหาบางประการ องค์การอนามัยโลกจึงได้หันความสนใจในภารกิจหาโปรตีนให้ประเทศยากจนไปยัง ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่อุดมทั้งโปรตีนและมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อีกทั้งข้อความใน Wikipedia ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายประเภทนี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า U.S. National Institutes of Health ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพไม่พอจะแนะนำให้กินสาหร่ายชนิดนี้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์เช่นกัน 
        ผ่านไปกว่า 50 ปี ความพยายามค้นหาแหล่งโปรตีนราคาถูกยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม จนล่าสุดก็มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตชื่อ Air Protein ของบริษัท startup (ชื่อเดียวกันกับผลิตภัณฑ์) ในเมือง Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนียปรากฏขึ้นในอินเทอร์เน็ต บริษัทนี้คุยว่า สามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาศัยจุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศรอบตัวมนุษย์ให้กลายเป็นโปรตีน และอาจถึงการผลิตเป็นไขมัน วิตามินและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ เพื่อการบริโภคของมนุษย์ 
        คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการทำให้โลกร้อนขึ้น ผู้เขียนโชคดีได้พบเว็บบนอินเทอร์เน็ตหนึ่งที่มีสารคดีออนไลน์เรื่อง Decoding the Weather Machine ซึ่งผลิตโดย NOVA PBS (ราคา DVD สารคดีนี้ขายอยู่ที่ประมาณ $15.45) จึงเริ่มเข้าใจได้ว่า ทำไมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ดังนั้นการลดการปล่อยหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ จึงกำลังเป็นสิ่งที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังทำอยู่ ส่วนประเทศที่พัฒนาได้แค่ที่เป็นอยู่ ซึ่งมักมีงบการวิจัยต่ำกว่า 1% GDP ก็ดูคนอื่นทำต่อไป


ข่าวเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างโปรตีนจากอากาศ 




        ความสามารถในการสร้างโปรตีนจากองค์ประกอบของอากาศที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความสงสัยแก่ผู้เสพข่าวบางคนว่า เป็นไปได้จริงหรือที่จะสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ข้อมูลที่ได้หลังจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็นการอาศัยจุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph (ซึ่งจริงแล้วมีในธรรมชาติรวมถึงในลำไส้ของมนุษย์) เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นโปรตีน กล่าวอีกนัยหนึ่งประมาณว่า ในขณะที่พืชดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใช้แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นสารอาหารและองค์ประกอบอื่นที่พืชต้องการ จุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph ใช้แหล่งพลังงานอื่นในกระบวนการที่ต่างกันแต่ได้ผลในแนวทางเดียวกัน ดังที่ Dr. Lisa Dyson ผู้เป็น CEO ของ Air Protein (และเป็นผู้ร่วมตั้งบริษัทแม่ชื่อ Kiverdi ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม) คุยไว้ในคลิปที่บรรยายให้ TEDx Talks ชื่อ A forgotten Space Age technology could change how we grow food (www.youtube.com/watch?v=c8WMM_PUOj0) 
        Hydrogenotroph นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานที่ได้จากการรีดิวส์คาร์บอนไดออกไซด์ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนไปเป็น ก๊าซเม็ทเตน กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความต่างศักย์ด้านอีเล็คโตรเคมิคอลเพื่อใช้การสร้างสารพลังงานสูงคือ ATP ซึ่งถูกนำไปใช้ในกิจการสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างโปรตีน ดังนั้นเมื่อปริมาณของเซลล์แบคทีเรียเพิ่มขึ้นมากพอ ผู้เลี้ยงจึงสามารถใช้กระบวนการทางชีวเคมีในการสกัดเอาโปรตีนออกมาได้
ความจริง Lisa Dyson ได้ยอมรับในการบรรยายต่างๆ ว่า แนวคิดเรื่องโปรตีนจากอากาศนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ NASA ที่ทำตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในความพยายามมองหาวิธีผลิตอาหารสำหรับภารกิจในอวกาศของนักบินในอนาคตที่ต้องไปยังต่างดาวที่มีทรัพยากรจำกัดในการประทังชีวิต ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "ระบบวงปิดของคาร์บอน หรือ the close loop carbon cycle" ที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่แปลงองค์ประกอบจากอากาศที่หายใจออกมาเป็นอาหารให้นักบินอวกาศกิน และเมื่อมีสิ่งขับถ่ายต่างๆ ออกมา ซึ่งโดยหลักคือ คาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกนั้นจะถูกส่งเข้าสู่วงจรการผลิตใหม่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว วงจรดังกล่าวไม่ใช่วงจรปิดเสียทีเดียว เพราะต้องมีการเติมบางสิ่งบางอย่างเข้าไปช่วยให้วงจรเดินหน้าได้ พร้อมกำจัดบางสิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้ง 
        ข้อมูลหนึ่งซึ่งสำคัญมากเพราะ Lisa Dyson ได้พยายามกล่อมให้ผู้ฟังคล้อยตามคือ ผลพลอยได้จากการสร้างโปรตีนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพราะกระบวนการนี้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีการปลูกป่าบนพื้นโลกให้มากขึ้น พืชจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยประสิทธิภาพดีกว่าและประหยัดกว่า แถมยังเป็นการผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วย




ผลกระทบที่อาจถูกละเลยไปอย่างตั้งใจ 
        สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรละเลยคือ ผู้ผลิต Air Protein ได้ทำเป็นลืมที่จะกล่าวถึงการประเมินในลักษณะ Cost/Benefit ของกระบวนการ ซึ่งควรจะเป็นส่วนที่แสดงถึง ความคุ้มทุนของการดำเนินการของบริษัทในการผลิต เพราะเท่าที่ผู้เขียนตามดูในการบรรยายของ Lisa Dyson นั้นไม่ได้ระบุว่า  มีการใช้น้ำ แร่ธาตุ และพลังงานมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิต 
        สิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ Air Protein นั้นไม่ได้เป็นบริษัท startup เพียงแห่งเดียวที่คุยว่า สามารถใช้อากาศในการผลิตโปรตีน เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน บริษัทสัญชาติฟินแลนด์หนึ่งที่ชื่อว่า Solar Foods ก็ได้ประชาสัมพันธ์ว่า กำลังสร้างสารอาหารคือ โปรตีนจากอากาศซึ่งตั้งชื่อว่า Solein (ซึ่งน่าจะมาจากการสมาสคำ solar และ protein) โดยที่กระบวนการของบริษัทนี้ได้เลยจากการพิสูจน์ความเป็นไปได้แล้ว เพราะ Solar Foods คุยว่า สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ขณะนี้ได้เตรียมที่จะผลิตในขนาดของอุตสาหกรรมพร้อมทั้งขอจดสิทธิบัตรและทำการระดมทุนได้ราว 2 ล้านยูโรผ่านการจัดการของ Lifeline Ventures โดยหวังว่าจะกระจายสินค้าคือ Solein ในปี 2021 และในปี 2022 ตั้งเป้าจะผลิตโปรตีนสำหรับอาหาร 50 ล้านมื้อ (ข้อมูลจากบทความชื่อ The Future of Protein Might be ‘Gas Fermentation,’ or Growing Food Out of Thin Air ในเว็บ https://thespoon.tech วันที่ 26 เมษายน 2019) 

        สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการสร้างอาหารจากอากาศคือ การดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์นั้น มีความยากง่ายขึ้นกับสถานที่เลือกทำการผลิต เพราะถ้าเป็นอากาศจากชุมชนที่มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงนั้น ความจำเป็นในการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจากอากาศก่อนเพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์คงต้องลงทุนสูงพอดู นอกจากนี้เมื่อการผลิตโปรตีนนั้นไม่ต้องการพื้นที่มากนักและคงควบคุมการผลิตได้ด้วยระบบอัตโนมัติแล้ว การลดของจำนวนตำแหน่งงานทางด้านปศุสัตว์อย่างมากมายคงไม่ยากที่จะคาดเดาได้ และที่น่าสนใจคือ นอกจากความพยายามผลิตโปรตีนจากอากาศแล้ว ยังมี startup อีกมากมายที่มุ่งเน้นในการปฏิวัติกระบวนการผลิตอาหารอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย จนอาจทำให้ไม่เหลือที่ยืนแก่เกษตรกรในหลายประเทศที่ยังไม่ปรับตัวมัวแต่ประท้วงเรื่องการห้ามใช้วัตถุอันตราย ทั้งที่กระบวนการผลิตอาหารในอนาคตนั้นน่าจะเป็นกระบวนการปิดที่ไม่ต้องใช้วัตถุอันตรายช่วยเหลือการผลิตแล้ว





แหล่งข้อมูล: ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค อากาศ อาหาร ธรรมชาติ

ฉบับที่ 277 ผงซักฟอกที่ไม่เหมือนเดิม

        ปลายเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2554 น้ำที่ท่วมบ้านผู้เขียนในแขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา นานเกือบ 2 เดือนได้ลดลง ในช่วงนั้นผู้เขียนได้รับการเสนอจากเพื่อนบ้านว่าจะรับทำความสะอาดบ้านให้ด้วยน้ำยาล้างบ้านที่มีเอ็นซัม (enzyme) เป็นองค์ประกอบด้วยราคา 5000 บาท ในสถานการณ์ตอนนั้นผู้เขียนได้ตอบปฏิเสธไปเพราะไม่ค่อยศรัทธาและเสียดายสตางค์ อีกทั้งยังพอมีแรงกายและแรงใจที่จะจัดการบ้านของตนเอง ต่อมาผู้เขียนจำได้ว่า เริ่มได้ยินโฆษณาขายผงซักฟอกแนวใหม่ที่กล่าวว่า ขจัดคราบหนักด้วยพลังเอ็นซัม ป้องกันการย้อนกลับของคราบสกปรก คงความสว่างสดใส ฟื้นฟูใยผ้าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม          ข้อความโฆษณาเพื่อหว่านล้อมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าใหม่นั้นมักกล่าวว่า “เป็นผงซักฟอกที่ผสมเอ็นซัมเหมาะสำหรับสลายคราบหนักบนเสื้อผ้า ซักผ้าขาวได้ดั่งใจ ผ้าสีขาวใส หอมลึก หอมนานฝังแน่นด้วยแคปซูลน้ำหอม สามารถใช้สำหรับซักด้วยมือหรือเครื่องซักผ้า (สูตรฟองน้อย) ขจัดคราบสกปรกได้อย่างรวดเร็ว ผ้าขาวเป็นประกายเหมือนใหม่ ไม่ผสมแป้ง แช่ผ้าค้างคืนไม่เหม็นอับ”         ในต่างประเทศมีการแยกประเภทผงซักฟอกตามแต่ละชนิดของเอ็นซัมเพื่อกำจัดคราบเฉพาะ เช่น ชนิดมีโปรตีเอส (protease) ใช้กำจัดคราบโปรตีนออกจากผ้า ชนิดมีอะไมเลส (amylase) ใช้กำจัดคราบแป้งติดแน่นบนเนื้อผ้า และชนิดมีไลเปส (lipase) เพื่อกำจัดคราบไขมันบนเนื้อผ้า โดยมีคำแนะนำให้ทำการแช่ผ้าไว้ก่อนซัก 30 นาที – 1 ชั่วโมง หรือดูให้เหมาะสมตามคราบที่เปื้อนบนเนื้อผ้า หรืออาจทิ้งไว้ค้างคืนถึงหลายๆ วัน ก็ไม่มีปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ เพราะผงซักฟอกแนวใหม่ไม่มีแป้งและสารเพิ่มปริมาณที่เป็นอาหารของแบคทีเรีย         ผู้บริโภคหลายท่านอาจพอมีความเข้าใจอยู่แล้วว่า เอ็นซัมทำหน้าที่ช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมีในสิ่งมีชีวิตและบางชนิดก็มีศักยภาพในการทำงานนอกสิ่งมีชีวิตได้ด้วย เช่น ปาเปน (papain) ในยางมะละกอ ดังนั้นการเติมเอ็นซัมลงในผงซักฟอกจึงทำให้ผงซักฟอกมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการกำจัดคราบสกปรกขนาดใหญ่ที่เกาะติดกับเส้นใยผ้า โดยคราบนั้นถูกเอ็นซัมที่เหมาะสมย่อยสลายเป็นอนุภาคขนาดเล็กแล้วหลุดออกจากเส้นใยผ้าได้ง่ายขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความร้อนช่วยเหมือนในการซักผ้าแบบเดิม ซึ่งมักลดคุณสมบัติของเนื้อผ้า เพราะความร้อนมักทำให้เส้นใยผ้าบางชนิดลดความแข็งแรงหรือบางชนิดเสียรูปทรงไปเลย และความร้อนอาจทำให้สีย้อมบนเนื้อผ้าเปลี่ยนเฉดไปด้วย         ความคิดในการนำเอาเอ็นซัมมาช่วยในการซักผ้าเริ่มตั้งแต่ปี 1959 (พ.ศ. 2502) โดยออตโต โรห์ม (Otto Röhm) ได้เสนอให้มีการเพิ่มเอ็นซัมในผงซักฟอก ซึ่งคือโปรตีเอสที่สกัดจากอวัยวะของสัตว์ที่ได้จากโรงฆ่าสัตว์ อย่างไรก็ดีแม้ว่าผงซักฟอกสูตรของโรห์มได้ประสบความสำเร็จมากกว่าวิธีการทำความสะอาดเสื้อผ้าแบบเดิม แต่เอ็นซัมที่ใช้นั้นไม่เสถียรนักเมื่อต้องถูกผสมกับด่างและสารฟอกขาว ต่อมาจึงมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยการใช้เอ็นซัมโปรตีเอสที่ผลิตโดยจุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะซึ่งมีความเสถียรกว่า         ชนิดของเอ็นซัมที่ใช้ในการซักผ้านั้นต้องมีความพิเศษเหนือเอ็นซัมทั่วไปคือ สามารถทำงานได้ในสภาวะปรกติของการซักผ้า เช่น อุณหภูมิของน้ำอาจสูงถึง 60 °C และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นด่างหรือเป็นกรด อยู่ได้ดีในสารละลายที่มีความเข้มข้นขององค์ประกอบอื่นเช่น แร่ธาตุที่แตกตัวเป็นไอออนปริมาณสูง และการมีอยู่ของสารลดแรงตึงผิวหรือสารมีฤทธิ์ออกซิไดซ์ สำหรับเอ็นซัมที่นิยมนำมาเติมลงในผงซักฟอกโดยหลักๆ นั้นมี 3 ประเภท คือ         โปรติเอส (proteases) เป็นเอ็นซัมที่มีการใช้มากที่สุดในผงซักฟอก โดยทำหน้าที่ย่อยโปรตีนให้มีขนาดเล็ก (proteolysis) ด้วยการตัดสายโปรตีนให้มีขนาดที่เล็กลง คราบโปรตีนบนเสื้อผ้าจึงหลุดออกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น รอยเลือด, เหงื่อไคล และคราบอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีน         อัลฟา-อะไมเลส (alpha-amylases) เป็นเอ็นซัมที่มีหน้าที่ย่อยแป้งให้มีขนาดเล็กลง จึงถูกใช้เพื่อกำจัดคราบอาหารที่เกิดจากแป้งพาสต้า, มันฝรั่ง, น้ำเกรวี่, ช็อกโกแลต อาหารเด็ก ตลอดจนเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของแป้ง นอกจากนี้อัลฟา-อะไมเลสยังช่วยกำจัดคราบเจลที่เกิดจากการพองของผงแป้งเมื่อโดนความชื้นทำให้เกิดคราบเหนียวจับกับฝุ่นละอองได้ง่ายจนลดความสดใสของผ้า        ไลเปส (lipase) เป็นเอ็นซัมที่มีหน้าที่ย่อยไขมันหรือน้ำมันที่ไม่ละลายน้ำให้มีขนาดเล็กลงจนผงซักฟอกสามารถเข้าทำปฏิกิริยากับโมเลกุลไขมันหรือโมเลกุลน้ำมันที่เล็กลงจนกลายสภาพเป็นโมเลกุลที่ละลายน้ำได้ การเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัม         การเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมนั้นมีคำแนะนำโดยทั่วไปว่า ผู้บริโภคควรใส่ใจในการใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมเซลลูเลส (cellulases) เพื่อช่วยกำจัดคราบซอสและซุปที่ทำจากผักและผลไม้ เพราะเอ็นซัมชนิดนี้มีผลกับเสื้อผ้าที่มีเส้นใยทำมาจากฝ้าย ลินิน หรือในกรณีผ้าใยสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของเส้นใยที่เป็นเซลลูโลสจากพืช เนื่องจากเอ็นซัมสามารถตัดพันธะไกลโคไซด์ (glycosidic bond) ของเส้นใยเซลลูโลสซึ่งผลที่ตามมาคือ ผ้าเปื่อยเร็ว         กรณีผ้าเปื่อยเร็วนั้นอาจเกิดได้ในกรณีใช้ผงซักฟอกที่ผสมเอ็นซัมแมนนาเนส (mannanase) เพื่อขจัดคราบอาหารที่มีองค์ประกอบบางส่วนเป็นยางไม้เช่น guar gum ที่มีองค์ประกอบเป็นโพลีเมอร์ของน้ำตาลแมนโนส (mannose) เรียกว่า แมนแนน (mannan) ที่เป็นโพลีแซ็กคาไรด์ชนิดหนึ่งพบได้ในเฮมิเซลลูโลสซึ่งเป็นองค์ประกอบของเส้นใยธรรมชาติจากพืชบางชนิดที่นำมาทอเป็นผ้า ส่วนผ้าไหมซึ่งทราบกันดีว่า มีองค์ประกอบเป็นเส้นใยโปรตีนจากรังไหมนั้น ก็ไม่ควรใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมโปรตีเอสเพราะลักษณะที่ดีของผ้าไหมอาจเสียไประหว่างการซัก ผงซักฟอกเอ็นซัมกับสิ่งแวดล้อม         การกล่าวว่า ผงซักฟอกแนวใหม่ช่วยลดโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นดูมีความเป็นจริง เพราะนอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดคราบของผงซักฟอกแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เอ็นซัมเป็นที่นิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด คือ เอ็นซัมเป็นสารชีวภาพที่ได้จากธรรมชาติซึ่งไม่เป็นอันตรายในการซักและทิ้ง ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถประหยัดพลังงาน เนื่องจากการไม่ต้องใช้น้ำร้อนในการซักผ้าในประเทศที่น้ำประปาในฤดูหนาวมีอุณหภูมิต่ำ         มีข้อควรคำนึงบางประการที่กลุ่มผู้ประกอบการระบุไว้เอกสารเรื่อง Guidance for the Risk Assessment of Enzyme-Containing Consumer Products (คำแนะนำในการประเมินความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่มีเอ็นซัม) ของ American Cleaning Institute เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2009 ที่กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษ 1960 ไม่ค่อยมีใครทราบเกี่ยวกับอันตรายของเอ็นซัมและคิดเอาเองว่า “เป็นส่วนผสมจากธรรมชาติจึงควรปลอดภัย” ดังนั้นเอ็นซัมในยุคเริ่มแรกที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานผลิตผงซักฟอกจึงอยู่ในรูปแบบผงละเอียดที่ลอยฟุ้งได้มากในอากาศ (เชื่อกันว่าอยู่ที่ > 1 มก./ลบ.ม.) ส่งผลให้การสูดดมฝุ่นของเอ็นซัมเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการผลิตแอนติบอดีจำเพาะคือ อิมมูโนโกลบูลิน E (immunoglobulin E หรือ IgE) ที่ส่งผลให้เกิดอาการภูมิแพ้ของทางเดินหายใจในหมู่คนงานผลิตผงซักฟอกและแม่บ้านบางคนของคนงานที่ซักเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนด้วยฝุ่นเอ็นซัมของสามีที่เป็นคนงาน         ดังนั้นเมื่อทราบถึงปัญหาดังกล่าว ผู้ผลิตสินค้าจึงใช้เทคโนโลยีการห่อหุ้มเอ็นซัมเป็นเม็ด (encapsulation) เพื่อลดการเกิดฝุ่น ทำให้อุบัติการณ์ของอาการภูมิแพ้ในทางเดินหายใจในผู้บริโภคและคนงานหมดไป ดังนั้นผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมช่วยในการซักผ้าจึงต้องเป็นชนิดที่ใช้เอ็นซัมที่ได้รับการพัฒนาให้อยู่ในรูปการห่อหุ้มเป็นเม็ด (encapsulated particle) เท่านั้น         ประการสุดท้ายที่น่าจะสำคัญในยุคที่เศรษฐกิจอาจอยู่ในสภาพ “วิกฤต” คือ ผู้บริโภคควรประเมินก่อนตัดสินใจซื้อว่า มีเหตุผลใดในการซื้อผงซักฟอกแนวใหม่ที่แพงกว่าของเก่ามาใช้ เช่น ต้องดูจากลักษณะการใช้เสื้อผ้าในอาชีพที่ต่างกัน โดยคนที่ทำงานในที่ร่มซึ่งเหงื่อออกน้อยและไม่น่าจะเกิดคราบสกปรกหนักบนเสื้อผ้าก็อาจไม่จำเป็นต้องซื้อมาใช้ ยกเว้นถ้าผู้บริโภคเป็นผู้บริหารระดับสูงเงินเดือนมากพอและต้องรักษาภาพพจน์การเป็นคนประณีต นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง         ส่วนในกรณีของผู้บริโภคที่ทำงานในสถานที่ที่เสื้อผ้าต้องสัมผัสคราบสกปรกหนักมากเช่น ช่างเครื่อง คนฆ่าสัตว์ พนักงานทำความสะอาด ผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง ฯลฯ บุคคลในอาชีพเหล่านี้จำเป็นต้องทบทวนว่า ถ้าซื้อผงซักฟอกแนวใหม่นี้มาใช้จะทำให้เงินที่ควรเก็บไว้ใช้เมื่อแก่ลดลงเท่าใด อีกทั้งมักมีการโฆษณาที่ใช้ดารา (ซึ่งอาจซักผ้าด้วยมือไม่เป็น) มากระตุ้นให้ซื้อผงซักฟอกประเภทนี้สำหรับซักเสื้อผ้าให้เด็กเล็ก แม่ผู้ประเสริฐทั้งหลายก็ควรประเมินว่า จะมีคนที่มีค่าพอสักกี่คนในการที่ต้องลงทุนซื้อของแพงมาซักผ้าลูกเพื่อให้เขาได้ชื่นชมว่า ลูกใส่เสื้อผ้าสะอาด  ประการสำคัญคือ ผู้บริโภคเชื่อได้อย่างไรว่า ผงซักฟอกที่ซื้อมานั้นมีเอ็นซัมจริงอย่างที่โฆษณาไว้โดยไม่ต้องซื้อมาลองผิดลองถูก 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 มะเร็งปอดในนักกีฬาหนุ่มไม่สูบบุหรี่

        คนบนโลกออนไลน์ได้รู้จักหมอหนุ่มวัย 28 ปีคนหนึ่งที่บอกเล่าอาการป่วยมะเร็งปอดของตัวเองผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า เป็นคนที่ชอบออกกำลังกายแต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 โดยหมอหนุ่มท่านนี้ใส่ใจในความผิดปกติของอาการไอของตนเองจึงเข้ารับการตรวจร่างกายแล้วพบว่า กำลังป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ หมอหนุ่มได้ตั้งประเด็นที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วยว่า ปัจจัยเดียวที่เป็นไปได้คือ ภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงในจังหวัดเชียงใหม่มานานหลายปี สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเชียงใหม่ทุกคนต่างรับผลจากฝุ่น PM 2.5 พอ ๆ กันแต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นมะเร็งปอด แล้วปัจจัยใดที่น่าจะทำให้คนหนุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่สูบบุหรี่กลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนอื่น การกลายพันธุ์ของเซลล์อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปอด         ข้อมูลทางการแพทย์กล่าวว่า มะเร็งปอดนั้นแบ่งได้ในชั้นต้นเป็น 2 ประเภทคือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มักพบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด มีการแพร่กระจายเร็ว มีความเข้าใจว่าเกิดจากการที่สารเคมีบางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติของระบบฮอร์โมน โดยทั่วไปนั้นมะเร็งปอดชนิดนี้ตอบสนองต่อเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี แต่โอกาสหายขาดยังเป็นไปได้น้อย ส่วนประเภทที่ 2 คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 75-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีการแพร่กระจายที่ช้าจึงมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก จึงนำไปสู่การผ่าตัดเอาก้อนและต่อมน้ำเหลืองออกพร้อมการบำบัดร่วมกับการให้เคมีบำบัดและรังสีรักษาหรือการบำบัดเสริมอื่นๆ ทำให้มีโอกาสหายขาดได้         การเกิดมะเร็งซึ่งรวมถึงมะเร็งปอดนั้นเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีนหลายยีน ซึ่งบทความเรื่อง Genomic profiling in non-small-cell lung cancer in young patients. A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบถึงการทำรูปแบบจีโนมในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในผู้ป่วยอายุน้อย) ในวารสาร ESMO Open ของ European Society for Medical Oncology ในปี 2021 ได้ให้ข้อมูลว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยนั้นพบไม่บ่อยนัก ดังนั้นจึงทำการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับรูปแบบจีโนมของผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งปอดตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 จากเอกสารในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หลักต่าง ๆ แล้วเลือกต้นฉบับงานวิจัย 23 ฉบับมาพิจารณาซึ่งพบว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เกิดขึ้นบ่อยในสตรีและเป็นมะเร็งแบบ adenocarcinoma (มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ต่อมหรือเยื่อบุที่ผลิตเมือกหรือของเหลว มะเร็งประเภทนี้พบได้บ่อยในมะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ปอด และลำไส้ใหญ่) และบ้างก็อยู่ในระยะที่ลุกลาม ซึ่งในการทบทวนข้อมูลครั้งนี้พบว่า การกลายพันธุ์ของหลายยีนในเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic cells) มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ซึ่งสร้างโปรตีน p53 ที่ควบคุมระบบการแบ่งเซลล์ให้เป็นปรกติ การกระตุ้นการตายของเซลล์ในลักษณะ apoptosis และความเสถียรของยีนด้วยกลไกการซ่อมแซมต่างๆ         การกลายพันธุ์ของยีน EGFR T790M ยีนนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า gatekeeper gene ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่ป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น และป้องกันการสะสมของการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเพิ่มจำนวนเซลล์ผิดช่วงเวลา สำหรับ epidermal growth factor receptor (EGFR) นั้นเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวหนัง ผลของการกลายพันธุ์นำไปสู่การแสดงออกของตัวรับ EGFR บนผนังมากเกินไป ทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นลักษณะขยายการทำงานของเซลล์ที่ไม่ปรกติจึงมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งหลายชนิดรวมถึงมะเร็งชนิด adenocarcinoma ในปอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งสมอง (Glioblastoma) และเนื้องอกของเยื่อบุผิวที่ศีรษะและคอ         การกลายพันธุ์ของกลุ่มยีน BRCA ได้แก่ BRCA1, BRCA2 (และอาจเพิ่ม BRCA3 ในอนาคต) ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มอาการมะเร็งเต้านมและรังไข่ทางพันธุกรรม         การกลายพันธุ์ของยีน HER2 (Human epidermal growth factor receptor) จนกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีงานวิจัยพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักพบความผิดปรกติของ HER2 เป็น positive นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิดรวมถึงมะเร็งปอด         การกลายพันธุ์ของยีน YAP1 (yes associated protein 1) ซึ่งสร้างโปรตีนตัวควบคุมการถอดรหัสที่กระตุ้นการถอดรหัสยีนที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์และการแพร่กระจายและยับยั้งการฆ่าตัวตายแบบ apoptosis ดังนั้นการกลายพันธุ์จึงส่งผลให้การเกิดมะเร็งได้ง่ายขึ้น         การกลายพันธุ์ของยีน CHECK2 ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่หยุดยั้งการเติบโตของเนื้องอก ความผิดปรกติของยีนนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมตลอดชีวิตเป็นสองเท่า นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และทำให้เกิดความสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงของยีนนี้โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งปอด การกลายพันธุ์ของยีนใดที่อาจเป็นต้นเหตุสำคัญของมะเร็งปอด         ยีนที่ดูน่าสนใจเป็นพิเศษได้ถูกระบุในบทความของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่อง TP53 gene mutations of lung cancer patients in upper northern Thailand and environmental risk factors (การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือของประเทศไทยและปัจจัยเสี่ยง) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Genetics and Cytogenetics ของปี 2008 บทความนี้รายงานผลการศึกษาถึงผลของปัจจัยต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ของยีน TP53 ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงกว่าส่วนอื่นของประเทศ (หลายบทความในอดีตตั้งประเด็นว่า ความนิยมในการสูบบุหรี่ขี้โยนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดสูงของสตรีชาวเหนือ)         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 พบได้มากประมาณ 40-70% ในเนื้อเยื่อมะเร็งปอด และการกลายพันธุ์ของยีนนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ของมะเร็งปอดซึ่งอาจเป็นผลจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม รายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า จำนวนและรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีน TP53 มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร ซึ่งความแตกต่างนี้อาจเกิดจากเชื้อชาติที่ต่างกัน หรือได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน รวมไปถึงลักษณะการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน         ในการศึกษานี้ได้มีศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอดและครอบครัว (ญาติสายตรงและพี่-น้องผู้ป่วย) พร้อมมีกลุ่มควบคุมเพื่อดูว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิด (germline mutations หรือ inherited mutations นั้น เป็นการที่ยีนมีความผิดปกติตั้งแต่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดหลังการปฏิสนธิ และส่งผ่านความผิดปกตินี้ผ่านเซลล์สืบพันธุ์ไปยังรุ่นลูกหลานต่อไปได้ เช่น การกลายพันธุ์ของยีน BRCA ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ชนิดที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้) มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดของประชากรกลุ่มนี้หรือไม่ โดยนักวิจัยได้ดำเนินการสกัดดีเอ็นเอจากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและกลุ่มควบคุม พร้อมกับสกัดดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดและเนื้อเยื่อปอดปกติของผู้ป่วยแต่ละรายเปรียบเทียบกับลำดับเบสอ้างอิงที่ได้จาก GenBank (accession no. X54156) ซึ่งผลการศึกษาจากผู้ป่วย 55 รายและกลุ่มควบคุม 57 ราย รวมทั้งจากบิดา-มารดาของผู้ป่วยอีก 8 ราย ไม่พบการกลายพันธุ์แต่กำเนิดในดีเอ็นเอที่สกัดจากเม็ดเลือดขาว การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิดไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic mutation) 19 ตำแหน่ง ในดีเอ็นเอที่สกัดได้จากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดของผู้ป่วย 18 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดีไม่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งใดๆ ซ้ำกันจนเป็น hot spot (ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่เด่นชัดถึงโอกาสของการเกิดมะเร็ง)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อทดสอบผลของปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ พบว่าการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี ได้แก่บ้านซีเมนต์หรือบ้านที่มีห้องครัวอยู่ภายในบ้าน มีผลต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ         ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและสารก่อกลายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งปอด และเป็นไปได้ว่าการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อาจเกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือไปจากการสูบบุหรี่ ซึ่งหากรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการกลายพันธุ์แล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปอดต่อไปได้ในอนาคต ซึ่ง ณ.ปัจจุบัน พ.ศ. 2567 นั้นก็ดูเหมือนยังไม่ทราบในสิ่งที่บทความตั้งความหวังไว้ ดังนั้นคนไทยในภาคเหนือจึงยังอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 นัดยานัตถุ์แทนสูบบุหรี่ลดมะเร็งปอด

        เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในเว็บ pantip.com มีกระทู้หนึ่งถามว่า ยานัตถุ์ อันตรายมั้ยคะ โดยมีใจความสำคัญว่า “คุณพ่อดิฉันเลิกบุหรี่ได้ ก็มานัดยานัตถุ์ได้หลายปีแล้วค่ะ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เคยเห็นเสมหะคุณพ่อมีสีดำๆ วันก่อนลูกสาวดิฉันเห็นคุณตาจามมีน้ำมูกเป็นสีดำๆ เลยมาบอกดิฉัน ดิฉันเลยกังวล ว่าจะอันตรายไหม แล้วที่สูดผงๆนั่ นเข้าไป มันจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหลอดลมกับปอด ตามความเข้าใจของดิฉัน ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ”         จากนั้นก็มีผู้เข้ามาตอบกระทู้ว่า “มันน่าจะเข้าไปที่ปอดได้บ้าง แต่จังหวะที่เป่านั้น เท่ากับหายใจออกครับ ผงยาจะเคลือบฝังจมูกอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำมูกจะถูกขับออกมา เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม พิษนั้นมีน้อยกว่า ควันที่ได้จากใบยาสูบ อันเป็นส่วผสมหลักเดียวกันกับบุหรี่ โดยยานัด XXX มีใบยาสูบ ประมาณ 50 % นอกนั้นเป็นสมุนไพร และที่ช่วยทำให้เย็นอย่างหนึ่งคือพิมเสนครับ ยานัตถุ์สามารถช่วย ระงับการจามจากภูมิแพ้ได้ชะงัก และสามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้อย่างดี เพราะมีส่วนผสมของสารนิโคตินนั้นเอง....” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เมื่อมีทั้งคำถามและคำตอบ นั่นแสดงว่า การนัดยานัตถุ์นั้นยังมีปรากฏอยู่ในบ้านเรา         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า         ในประเทศไทยนั้น ยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษคือ snuff) คือ ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูกเพื่อบำบัดโรคหรือวัตถุประสงค์อื่น ตัวยาอาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่มีผงใบยาสูบเป็นหลัก อาจผสม สเปียร์มินต์ (มีองค์ประกอบเป็น คาร์โวน ลิโมนีน เมนทอล และเมนโทนให้ความหอมเย็น) อบเชย เมนทอล การบูร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์ถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน         ยานัตถุ์มี 2 ประเภทคือ ยานัตถุ์แบบชื้น (Moist snuff) ซึ่งผู้ใช้เหน็บยานัตถุ์แบบนี้ที่หลังริมฝีปากบนหรือล่างหรือระหว่างแก้มกับเหงือก (ว่าไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ยาฉุนของคนไทยโบราณ) ซึ่งผู้บริโภคต้องคายหรือกลืนน้ำยาสูบที่สะสมอยู่ซ้ำๆ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งมักคายทิ้ง ส่วนยานัตถุ์ประเภทที่ 2 เป็นแบบแห้ง (Dry snuff) ซึ่งใช้โดยการสูดหายใจเข้าทางจมูกที่มีการใช้มานานพอควรในประเทศไทย โดยนำผงยานัตถุ์บรรจุลงไปในท่อเหล็กรูปตัวยู ใส่ปลายท่อด้านหนึ่งเข้ารูจมูกแล้วใช้ปากเป่าปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ตัวยาฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่ ปัจจุบันการนัดยาในประเทศไทยนั้นยังพบเห็นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุตามชนบทบางจังหวัด         ในประเทศไทยนั้นยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษใด ๆ ร่างกายดูดซึมนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุปากหรือจมูก ระดับนิโคตินในเลือดมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้ยานัตถุ์         เมื่อ 16 มีนาคม 2023 www.fda.gov มีบทความเรื่อง FDA Authorizes Copenhagen Classic Snuff to be Marketed as a Modified Risk Tobacco Product มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่อย่างเข้มงวด รวมถึงคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products Scientific Advisory Committee) ความคิดเห็นสาธารณะ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คำกล่าวอ้างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในส่วนที่เกี่ยวกับยานัตถุ์นั้น มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดลดลงได้ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯไม่ได้กล่าวว่า ยานัตถุ์นั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเสพยานัตถุ์ก็ไม่ควรเริ่มเสพ เพราะถ้าไปดูข้อความบนตลับยานัตถุ์ที่มีขายในสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อนั้นจะพบคำเตือนประมาณว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เกิดโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้ (This product can cause gum disease and tooth loss)         ในเว็บ www.health.harvard.edu เมื่อ 17 เมษายน 2023 มีบทความเรื่อง Is snuff really safer than smoking? ซึ่งให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ทดลองโครงการใช้ยานัตถุ์เป็นทางลดการสูบบุหรี่ โดยบริษัทผู้ขายยานัตถุ์ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้อัตรามะเร็งปอดลดลง แต่ถ้ากระบวนการทางการตลาดแบบใหม่ของยานัตถุ์กลายเป็นการดึงดูดผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมถึงวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ยานัตถุ์มาก่อนมาใช้ยานัตถุ์จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก โครงการนี้ต้องถูกยกเลิก         ในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถิติของ US.CDC (Centers for Disease Control and Prevention) นั้น ผู้ใหญ่ 5.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันเป็นประจำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรผู้ใหญ่ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายก็ใช้เช่นกันด้วยร้อยละที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.6 % และประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลว่า การใช้ยานัตถุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสูบบุหรี่คือ แค่ $300 ถึง $1,000 ต่อปี เทียบกับหลายพันดอลลาร์ต่อปีที่บางคนจ่ายในการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ไม่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสควันบุหรี่มือสอง         ในด้านความปลอดภัยของยานัตถุ์นั้น ผู้บริโภคจำต้องรับสภาพว่า มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษใดบ้างเมื่อเริ่มใช้ ในบทความเรื่อง Smokeless tobacco and cigarette smoking: chemical mechanisms and cancer prevention ในวารสาร Nature Reviews Cancer ของปี 2022 ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันจำนวนมากนำไปสู่การสัมผัสสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งรวมถึงสารกลุ่มไนโตรซามีนเช่น  เอ็น-ไนโตรโซนอร์นิโคติน (N'-nitrosonornicotine) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งช่องปากที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารไนโตรซามีนที่พบเฉพาะในใบยาสูบ (ที่ยังไม่ถูกเผาไหม้หลังบ่ม) เกิดจากปฏิกิริยาของอัลคาลอยด์ในยาสูบกับเกลือไนไตรต์ ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ N'-nitrosonornicotine (NNN), 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) และ 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanol (NNAL) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อมะเร็งปอด         จากการตั้งความหวังว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในการใช้ยานัตถุ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่นั้น แต่โอกาสก่อปัญหาสุขภาพยังมีอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก US.CDC ที่กล่าวว่า ยานัตถุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก (เช่น ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม) หลอดอาหาร และตับอ่อน มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่ออันตรายต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา ก่อปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันเปลี่ยนสี โรคเหงือก ฟันเสียหาย สูญเสียกระดูกรอบฟัน ฟันหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในผู้ใช้ที่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ จึงกลายเป็นนิสัยที่ยากจะเลิกได้อย่างรวดเร็ว         สุดท้ายแล้วสถานะของการนัตถุ์ยาต่อผู้บริโภคทั่วไปนั้นคือ ควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่ใช่ผู้เสพติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่าแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุว่า การนัตถุ์ยาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่สิ่งสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่มีการสนับสนุนการใช้ยานัตถุ์และไม่รับรองให้ยานัตถุ์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการสันทนาการ ที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือ การไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)