จะดีไหม.. ถ้าคนไทยจ่ายหนี้ได้ด้วยแดด ?


เปรียบเทียบนโยบายพลังงาน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กับ รัฐบาลอินเดีย

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม


ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอินเดียนับจากช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา พบว่ามีทั้งสิ่งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่คล้ายคลึงกันก็คือมีการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ รัฐบาลอินเดียใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลไทยใช้เวลา 4 เดือนกว่าจึงจะได้แถลงนโยบายรัฐบาล


แต่ที่แตกต่างกันในสาระสำคัญที่มากกว่านั้นก็คือ การมีนโยบายเพื่อลดปัญหาสำคัญของชาติ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยเรามีความรุนแรงกว่าของประเทศอินเดียมาก กล่าวคือ ครัวเรือนของไทยมีจำนวนหนี้ที่มากกว่าหลายเท่าและเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่ามาก


ในปี 2560 ขณะที่ครอบครัวชาวอินเดียมีหนี้รวมกันประมาณเพียงร้อยละ 12 ของจีดีพี และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2553 เพียงร้อยละ 1.5  แต่ครอบครัวคนไทยในปี 2560 มีหนี้รวมกันถึงร้อยละ 70 ถึง 76 ของจีดีพี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ถึง 18  นับจากช่วงเดียวกัน  (ดูภาพประกอบ)




จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปี 2562  จำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ของคนไทยมีจำนวน 12.967 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 78.7 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับที่ 10 จากการสำรวจ 89 ประเทศทั่วโลก ข่าวสด 6 มิ.ย.62) หรือเฉลี่ยคนละ 195,000 บาท  ในขณะที่เมื่อสิ้นปี 2561 คนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 193,000 บาท


อันตรายของการมีหนี้จำนวนเยอะๆ และเป็นเวลานานๆ  จะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอกล่าวถึงสาเหตุของการมีหนี้และแนวทางการลดจำนวนหนี้ โดยจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมด้วยนโยบายโซลาร์เซลล์ โดยเน้นไปที่ประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งผมได้เรียนมาตั้งแต่ต้นว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


จากบทความเรื่อง วินัยทางการเงินของครัวเรือนไทยและบทบาทของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน”  ในรายงานนโยบายการเงิน มีนาคม 2562  ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จากการสอบถามความคิดเห็นในประเด็น สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนมีหนี้พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับสาเหตุ รายรับไม่พอกับรายจ่ายและ ขาดวินัยทางการเงินสูงเป็นดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ


แต่ในความเห็นของผมแล้ว ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ โดยผมจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบจากโครงการโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐคุชราต (Gujarat- มีประชากร 60 ล้านคน) ของประเทศอินเดียและของประเทศไทย




รัฐบาลอินเดียและรัฐบาลแห่งรัฐคุชราต ได้ออกนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจำนวน 2 แสนครอบครัวในปีงบประมาณ 2019-2020 โดยได้รับการอุดหนุนถึง 40% ของต้นทุนการติดตั้งที่ขนาดไม่เกิน 3 กิโลวัตต์ และ 20% สำหรับขนาดระหว่าง 3 ถึง 10 กิโลวัตต์  โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐรับค่าใช้จ่ายไปรวม 50% ที่เหลืออีก 50% เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องลงทุนเอง (https://cleantechnica.com/2019/07/11/gujarat-to-subsidize-rooftop-solar-systems-in-200000-homes/)


ไฟฟ้าที่ผลิตได้ หากเหลือใช้ก็สามารถขายให้กับระบบสายส่งได้ แต่ในรายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใด



โครงการดังกล่าวรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ประมาณ 4,500 ล้านบาท


สำหรับนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะแถลงในวันที่ 25-26 กรกฎาคม นี้  ผมยังเปิดไฟล์ทั้งหมดไม่ได้ (โดยอ้างว่าไฟล์เสีย) แต่ที่พบแล้วใน หัวข้อที่ 5.2 พัฒนาภาคอุตสาหกรรม มีเฉพาะประโยคที่ว่า ส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยไม่มีรายละเอียดอะไรเลย


อย่างไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประกาศไปแล้วเมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้งเล็กน้อย  สรุปว่า จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เฉพาะที่เหลือจากการใช้เอง ในราคาหน่วยละ 1.68 บาท เป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่ทางการไฟฟ้าขายให้กับครัวเรือนที่ใช้เดือนละ 500 หน่วย ในราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หน่วยละ 3.80 บาท (ความจริงคือ 3.93 บาท)


จากการศึกษาของกระทรวงพลังงานเองได้ข้อสรุปว่า ถ้าผู้อยู่อาศัยขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จำนวนครึ่งหนึ่งให้ทางการไฟฟ้าในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย อีกครึ่งหนึ่งสำหรับการใช้เอง จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนภายในเวลา 7.8 ถึง 10.2 ปี  โดยไม่มีการคิดค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุน นอกจากนี้อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ปกติจะนาน 25 ปี แล้วที่เหลืออีก 15 ปี จะให้นำไฟฟ้าไปขายให้ใคร ?


เป็นที่น่าสังเกตว่า กติกาการรับซื้อดังกล่าว แตกต่างจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ทาง กฟผ. จะต้องจ่าย ค่าความพร้อมจ่ายซึ่งหมายถึง ค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาและค่าดอกเบี้ยด้วย  


แต่กับกรณีโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคนธรรมดาซึ่งมีหนี้ท่วมหัว ทางกระทรวงพลังงาน (1) ไม่คิดดอกเบี้ยให้ (2) ซื้อในราคาที่ต่ำมาก ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงซื้อจาก กฟผ. ในราคา 2.72 บาทต่อหน่วย และ (3) รับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น  โดยมีเป้าหมายในการรับซื้อ 100 เมกะวัตต์  หรือ 1 ถึง 3 หมื่นหลังโดยประมาณ


ในขณะที่รัฐบาลอินเดียนอกจากจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ถึง 20 ถึง 40% ถึง 2 แสนหลังแล้ว ยังรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือและยังไม่ต้องติดมิเตอร์ (ที่ไม่จำเป็นถ้ารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เท่ากับราคาขาย) เพิ่มอีก 7,500 บาทต่อหลังอีกด้วย

 


นี่คือความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยธรรมดาๆ กับเจ้าของไฟฟ้าขนาดใหญ่


ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.จำนวนประมาณ 11,910 เมกะวัตต์ กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับที่ 267 ของโลก คือนาย Sarath Ratanavadi  (https://www.bloomberg.com/billionaires/)  และส่งผลให้คนไทยที่ถูกนโยบายพลังงานของรัฐบาลกดทับต้องมีหนี้ท่วมหัวดังที่กล่าวแล้ว


จริงอยู่ครับว่า สาเหตุของการเป็นหนี้มีหลายอย่าง แต่ตัวอย่างที่ผมยกมาเป็นแค่เรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าทั้งประเทศปีละ 6.7 แสนล้านบาท ถ้าเราจัดสรรให้แต่ละหลังคาสามารถผลิตเองได้สัก 1 ล้านหลัง ขนาด 3 กิโลวัตต์ ในราคาหน่วยละ 3.90 บาท ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ปีละ 17,400 ล้านบาท


นอกจากจะเป็นการช่วยลดจำนวนหนี้แล้ว จะมีการจ้างงานจำนวนมากซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วยนะครับ


เนื่องจากว่า ผมยังเปิดไฟล์คำแถลงนโยบายของรัฐบาลฉบับเต็มยังไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี2018) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้เอง


ผมมีข้อสังเกตต่อแผน พีดีพี 2018 ว่าคงยังเป็นแผนที่เอื้อต่อกลุ่มทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและกีดกันสิทธิของคนธรรมดาต่อไป เพราะว่าได้กำหนดให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG นำเข้าจากต่างประเทศ) ผลิตไฟฟ้าจากร้อยละ 59.7 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.7 ในปี 2561 และปี 2568 ตามลำดับ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.9 เป็น 10.6 ในช่วงเดียวกัน




ในขณะที่ในปี 2561 ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งมีแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่ได้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไปแล้วร้อยละ 11.6 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.6  ในปี 2568  นี่แค่จากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ถ้ารวมพลังงานลมและชีวมวลก็จะเป็นร้อยละ 57 ในปี 2568 (https://interactive.carbonbrief.org)


ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของทีมงานของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ว่า  เรามองพลังงานแสงอาทิตย์ว่าเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรและเราจะกระตุ้นให้มีโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารได้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตพลังงาน


แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับโซลาร์ฟาร์ม แต่ก็ยังดีกว่าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาทครับ ผมว่าโซลาร์รูฟนั่นแหละเหมาะที่สุดและราคาถูกกว่าด้วยครับ


เราสามารถลดหนี้คนไทยได้ด้วยแสงแดดครับ  ทำไมพลเอกประยุทธ์มองเรื่องนี้ไม่ออก ?

 

แหล่งข้อมูล: ผศ.ประสาท มีแต้ม

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: โซลาร์เซลล์ ประสาท มีแต้ม หนี้ครัวเรือน นโยบายพลังงาน

ฉบับที่ 275 ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน

        ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้ว่าคนไทยเราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพง และน่าจะบ่นกันมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปเพราะว่าการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งตามอุณหภูมิของอากาศที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าของปีนี้จะสูงกว่าของเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงถัดไปก็น่าจะสูงขึ้นกว่านี้อีก เพราะถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่รัฐบาลขอให้จ่ายแทนผู้บริโภคไปพลางก่อน ขอย้ำนะครับว่า ค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ทั้งหมดของค่าไฟฟ้า แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ กฟผ. จ่ายแทนเราไปก่อน อีกไม่นานเขาก็ต้องเรียกคืน         เรามาดูภาพรวมกันสักนิดครับ เมื่อปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้ารวมกัน 8.2 แสนล้านบาท แต่ในปีล่าสุดคือ 2566 ข้อมูลมีแค่ 9 เดือนแรกของปีเท่านั้น แต่ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ ค่าใช้จ่ายของทั้งปีก็จะประมาณ 9.6 แล้นล้านบาท คือสูงกว่าของปีก่อนถึง 1.4 แสนล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 17%) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเมื่อประเทศเรามีแหล่งก๊าซฯ เป็นของตนเอง แต่ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาผันผวนมาก จึงมีคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งไม่ต้องซื้อ ไฟฟ้าที่ได้ก็ถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ทุกชนิด         นี่แหละครับ คือประเด็นที่เราจะคุยกันเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคใช้ประกอบในการตัดสินใจตามชื่อบทความนี้         เพื่อให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น เรามาดูข้อมูลของประเทศอื่นเพื่อมาเปรียบเทียบกันก่อน ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก เอาเฉพาะที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านอย่างเดียวนับถึงสิ้นปี 2566 มีจำนวนกว่า 3.6 ล้านหลังคา ประเทศนี้มีประชากรเพียง 25 ล้านคน (คิดคร่าวๆก็ประมาณ 8.3 ล้านหลังคา)  โดยในรัฐออสเตรเลียใต้ได้ติดตั้งไปแล้วถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของจำนวนบ้าน (หมายเหตุในหมู่บ้านที่ผมอยู่ ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีได้ติดตั้งแล้ว 0.8% ของจำนวนบ้านทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงเกือบ 1 เท่าตัว เฮ้!) มีผลงานวิจัยถึงความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียว่า ทำไมจึงนิยมติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมาก พบว่ามีเหตุผล 3 ข้อ คือ (1) ค่าไฟฟ้าในออสเตรเลียแพงมาก ราคาขายปลีกรวมภาษีแล้วเฉลี่ย 8.20 บาทต่อหน่วย (ของไทย 4.84 บาท,เวียดนาม 2.85 บาท)   (2) เป็นประเทศที่มีแสงแดดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อพื้นที่ที่เท่ากันจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมากกว่าของประเทศไทยเราประมาณ 10-15% และ (3) เขารู้สึกอายที่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโลกร้อน (คนออสเตรเลียปล่อยก๊าซฯ 15.0 ตันต่อคนต่อปี,ไทย 3.8 เวียดนาม 3.5)         จากข้อมูลของ Our World In Data พบว่าในปี 2565 โดยเฉลี่ย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนามและไทย ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เฉลี่ยต่อคนได้ 1,484 ,826, 269 และ 70 หน่วย ตามลำดับ  ผมยกเอาข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นมาด้วยก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่แสงแดดไม่ค่อยดีนัก แต่เขาก็ยังให้ความสำคัญที่จะนำพลังงานแสงแดดมาใช้ประโยชน์  โดยน่าจะมีเหตุผลที่คล้ายกับความเห็นของชาวออสเตรเลียที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจัยสำคัญคืออะไร         ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีกฎระเบียบที่จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ไม่เหมือนกับประเทศออสเตรเลียและเวียดนาม กล่าวคือ  ใน 2 ประเทศดังกล่าวเขาอนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ใช้หรือเหลือจากการใช้แล้วสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนกับการฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่งก่อน พอถึงเวลากลางคืนเจ้าของบ้านก็เอาไฟฟ้าที่ได้ฝากไว้มาใช้ เมื่อครบเดือนก็คิดบัญชีกันตามมิเตอร์ที่บันทึกไว้ หากเราผลิตได้น้อยกว่าที่ใช้ เราก็จ่ายค่าไฟฟ้าส่วนเกินในราคาปกติ หากเราใช้มากกว่าที่ผลิตได้ ทางการไฟฟ้าก็จ่ายส่วนที่เกินไปให้เจ้าของบ้าน ในอัตราค่าไฟฟ้าที่เท่ากับที่ขายให้เรา นักวิชาการเรียกระบบนี้ว่า Net Metering หรือการหักลบหน่วยไฟฟ้า  ปัจจุบันระบบนี้มีการใช้กันแล้วกว่า 68 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน เช่น สหรัฐอเมริกาและศรีลังกา เป็นต้น         ประเทศไทยไม่ได้ทำเช่นดังกล่าวนั้น แต่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย (ในขณะที่ขายให้ผู้บริโภครวมภาษีแล้วประมาณ 4.84 บาทต่อหน่วย) และรับซื้อเพียงระยะเวลา 10 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุการใช้งานจริงนานถึง 25 ปี  ด้วยมาตรการดังกล่าว ต้องลงทุนติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว ราคาประมาณ 2 พันบาทซึ่งไม่มีความจำเป็นหากใช้ Net metering   นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าแบบของวิศวกรไฟฟ้าอีกประมาณ 5 พันบาทเมื่อนโยบายพลังงานของประเทศเราเป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคควรจะทำอย่างไร   นอกเหนือจากการร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้เหมือนกับประเทศอื่นแล้ว เราลองมาพิจารณารายละเอียดให้ลึกกว่านี้ ดังนี้ หนึ่ง  ต้นทุนในการติดตั้ง         เท่าที่ผมติดตามที่ประกาศขายกันในอินเตอร์เนตและสอบถามจากผู้รับติดตั้งบางราย พบว่า ถ้าติดขนาด 3 กิโลวัตต์จะใช้เงินลงทุนประมาณ 8.4 หมื่นบาท (เมื่อ 5 ปีก่อนประมาณ 1.1 แสนบาท) รวมต้นทุนทั้งหมดประมาณ 91,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 110 หน่วยต่อกิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับในประเทศไทย) ดังนั้น หากเป็น 3 กิโลวัตต์ตลอดเวลา 25 ปี จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 99,000 หน่วย ต้นทุนเฉลี่ยตลอด 25 ปีเท่ากับ 0.85 บาทต่อหน่วย (91,000 หารด้วย 99,000)  การประมาณการดังกล่าวนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย และเป็นการคิดโดยไม่รวมค่าดอกเบี้ยหรือค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ย สอง ผลตอบแทนจากการติดตั้ง         ในการคำนวณที่แสดงในตารางข้างล่างนี้อยู่บนสมมุติว่า         (1)        อัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิมทุกอย่าง โดยค่าเอฟทีเท่ากับเดิมคือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย        (2)        เดิมบ้านที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้ไฟฟ้าจำนวน 600 หน่วยทุกเดือน ค่าไฟฟ้า 2,878.29 บาท เฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย        (3)        เมื่อติดตั้งแล้ว แบ่งการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจำนวน 330 หน่วยต่อเดือน เป็น 5 กรณี ๆ แรก ใช้เอง 24% และขาย 76% ในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย จนถึงกรณีที่ 6 ใช้เอง 76% และขาย 24%         ผลการคำนวณพบว่า กรณีแรก (ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง 24%) จะให้ผลตอบแทนคุ้มทุนในเวลา 7.9 ปี (ดูตารางในภาพ)

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 262 นโยบายพรรคการเมืองด้านไฟฟ้า ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

ช่วงนี้ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป หลายพรรคการเมืองค่อยๆทยอยเสนอนโยบายด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนมากผมยังไม่เห็นนโยบายที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566  พรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอในเวทีปราศรัยที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.50 บาทต่อหน่วย (จากปัจจุบันถ้ารวมภาษีด้วย  5.33 บาทต่อหน่วย)หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ได้นำเสนอถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเพราะเรามีกำลังผลิตสำรองล้นเกิน หลายโรงไฟฟ้าแม้ไม่ได้เดินเครื่องเลยแต่ก็ยังได้รับเงิน  ซึ่งเป็นความจริงคุณหญิงสุดารัตน์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมพร้อมด้วยวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “เป็นสัญญาทาสทำค่าไฟแพง ปล้นคนไทยทั้งประเทศ แบบนี้ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ พรรคไทยสร้างไทยจะนำประเด็นนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อยกเลิกสัญญาทาส ที่ปล้นประชาชนไปให้นายทุน ข้าราชการ นักการเมือง ไปเสวยสุข นักการเมืองบางคนเอาเงินที่โกงประชาชนไปใช้เป็นทุนในการซื้อเสียงเลือกตั้ง แล้วเข้ามาโกงพี่น้องประชาชนต่ออีกรอบ” (ไทยรัฐออนไลน์ 15 ม.ค. 66)ต้องขอขอบคุณพรรคไทยสร้างไทยที่ได้นำเสนอมาตรการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศและเป็นภาระที่ไม่จำเป็นธรรมของประชาชนมายาวนานแล้วสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยนำเสนอวิธีการแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบให้กับรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบและไม่ตอบสนองแต่อย่างใดในประเด็นเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินและเป็น “สัญญาทาส” แบบไม่ผลิตเลยก็ยังได้รับเงินจากผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยเสนอให้รัฐบาลเปิดเจรจากับคู่สัญญาเพื่อหาทางออกที่ดีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเชื่อว่าการเจรจาที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ที่เรียกว่าแบบ Win-Win แต่พรรคไทยสร้างไทยเลือกที่จะให้ “ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ก็ว่ากันตามความเชื่อของพรรคนะครับแต่สิ่งที่สังคมไทยควรหยิบมาพิจารณาเป็นบทเรียนก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่วินิจฉัยด้วยเสียง 6 ต่อ 3 ว่า การที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (ถึงร้อยละ 68 ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมด) เป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56ผมว่านโยบายที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่พรรคการเมืองควรนำเสนอนอกเหนือจากเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินก็คือ การพึ่งตนเองด้านพลังงาน โดยการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องกำลังผลิตสำรองล้นเกินเชื้อเพลิงที่ว่านี้ก็คือแสงอาทิตย์ โดยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง เพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและราคาถูกลง สามารถคุ้มทุนได้ภายใน 6-8 ปีเรื่องนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเล็กๆ ผลิตได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ แต่ทราบไหมว่า ในปี 2021 ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้จำนวนกว่า 85,000 และ 48,000 ล้านหน่วย ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ)ในขณะที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตได้เพียง 4,800 ล้านหน่วยเท่านั้น (จากจำนวนทั้งหมดที่ใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วย) แต่ประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติกว่า 1.1 แสนล้านหน่วยต่อปี โดยที่การใช้ก๊าซธรรมชาตินอกจากจะถูกปั่นราคาให้สูงลิ่วจากสถาการณ์สงครามแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนด้วยกล่าวเฉพาะออสเตรเลียซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน แต่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 3 ล้านหลัง โดยใช้ระบบหลักลบกลบหน่วย (Net Metering) ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว เป็นการแลกหน่วยไฟฟ้ากัน(ในราคาที่เท่ากัน)ระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตลอดอายุขัยของอุปกรณ์ 30 ปี ไม่ใช่แค่ 10 ปีที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ตามอำเภอใจด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนติดโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์จำนวน 2 ล้านหลัง ปีละ 5 แสนหลังเมื่อครบจำนวนแล้วผู้บริโภคจำนวนดังกล่าว หากติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3.2 กิโลวัตต์ (ผลิตได้ปีละ 1,380 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ค่าไฟฟ้า 4.72 บาทต่อหน่วย) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าปีละกว่า 42,000 ล้านบาทนโยบายแบบนี้สามารถตรวจสอบได้ และไม่ขึ้นกับคำวินิจฉัยของศาล  หากเอาตามแนวทางพรรคไทยสร้างไทยเสนอ สมมุติว่าศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการทุจริต ประชาชนก็ไม่ได้อะไรเลย ทั้ง ๆที่ได้ตัดสินใจกาบัตรให้ไปแล้ว เหมือนกับหลายนโยบาย(ของหลายพรรค) ที่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลยในคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562ความจริงแล้ว เรื่องนโยบายหักลบกลบหน่วย มติคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการณ์โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  ได้มีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พร้อมกับได้มีหนังสือสั่งการ “ด่วนที่สุด” ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 6 หน่วยงานเพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่จนป่านนี้ 4 เดือนแล้ว ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลยมีคำสั่งใดที่ด่วนกว่า “ด่วนที่สุด” ไหมครับเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ประชาชาชนเราต้องรู้เท่าทันทั้งนักการเมืองและกลไกของระบบราชการทุกส่วนให้มากกว่าเดิม รวมทั้งทุกศาลด้วย

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับ 259 มาตัดยอดค่าไฟฟ้าแพงด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคากันเถอะ

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีนี้ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่าค่าเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา โดยค่า Ft ได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  และมีแนวโน้มที่ค่อนข้างแน่นอนว่าในช่วง 4 เดือนถัดไปของปี 2566 จะต้องขึ้นราคาอีก         ที่ผมใช้คำว่าค่อนข้างแน่นอนก็เพราะว่า ผลการคำนวณค่า Ft ในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะต้องขึ้นเป็น 2 บาทกว่าต่อหน่วย ไม่ใช่ 93.43 สตางค์ แต่ที่ลดลงมาแค่นี้ก็เพราะรัฐบาลได้ผลักภาระชั่วคราวไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ.เป็นหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ต่อให้ราคาก๊าซฯกลับมาเป็นปกติ กฟผ.ก็ต้องเก็บเงินจากผู้บริโภคมาคืนอยู่ดี ค่าไฟฟ้าจึงไม่มีทางจะถูกลงในช่วงสั้นๆ         หากมองในช่วงยาว ๆ รัฐบาลได้อนุมัติให้ ปตท.ลงทุนก่อสร้างระบบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงมาก ปัญหากิจการพลังงานไฟฟ้าไทยจึงค่อยๆรัดคอผู้บริโภคให้แน่นขึ้นๆ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นและแพงขึ้น ทั้งๆที่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ถูกลงได้แต่รัฐบาลไม่เลือก         นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ขอมาชวนผู้บริโภคคิดเพื่อการพึ่งตนเอง ด้วยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง         เรามาดูค่าไฟฟ้าในบ้านเรากันก่อนครับ ซึ่งปกติผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดู แต่เราชอบบ่นว่าค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเราหยุดอยู่แค่นี้ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น  แต่ถ้าเราสามารถค้นพบความจริงที่เราสามารถลงมือแก้ไขด้วยตนเองได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี         จากข้อมูลในตาราง(ดังภาพ) พบว่าค่าไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัยเป็นอัตราก้าวหน้า นั้นคือยิ่งใช้มากอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยิ่งแพงขึ้น  จากภาพอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 401 ขึ้นไปจะเท่ากับ 5.73 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)         จากการสอบถามเพื่อนๆที่เดินออกกำลังกายด้วยกันพบว่า แต่ละบ้านก็ใช้ไฟฟ้าเกิน 400 หน่วยต่อเดือน บางรายมากกว่า 600 หน่วยถึง 700 หน่วย ดังนั้น หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา จะทำให้ยอดจำนวนการใช้ไฟฟ้าของบ้านนั้นลดลงมา ส่วนที่ลดลงจะเป็นส่วนที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสูง ผมขอสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าส่วนที่เป็นยอดเท่ากับ 5.60 บาทต่อหน่วย เรามาดูกันว่า ผลจากการติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายในกี่ปี วิธีการคิดจุดคุ้มทุนอย่างง่าย         เนื่องจากผลตอบแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แผงโซลาร์ อินเวิตเตอร์ อุปกรณ์ยึด สายฟฟ้า ค่าการติดตั้ง จำนวนกิโลวัตต์ที่ติด ทิศทางการรับแสง ระยะเวลาและเงื่อนไขการประกัน เป็นต้น        สมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ราคารวม 125,000 บาท (สมมุติว่าเท่ากับ A บาท) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ตลอด 25 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 97,500 หน่วย (สมมุติว่าเท่ากับ B)         ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอด 25 ปี เท่ากับ A หารด้วย B ซึ่งเท่ากับ 1.28 บาทต่อหน่วย โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ยจากการลงทุน ไม่คิดค่าสึกหรอและการบำรุงรักษาซึ่งมีน้อยมาก         คราวนี้มาคิดเรื่องจุดคุ้มทุน สมมุติว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไปแทนที่ค่าไฟฟ้าที่เราต้องซื้อจากการไฟฟ้า 5.60 บาทต่อหน่วย มูลค่าดังกล่าวเท่ากับ 21,840 บาทต่อปี (สมมุติว่าเท่ากับ C) ระยะเวลาคุ้มทุนจะเท่ากับ A หารด้วย C ซึ่งเท่ากับ 5.7 ปี หรือ 5 ปี 8 เดือน  โดยที่การใช้งานได้นานอีก 19 ปีกว่า ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีก็ประมาณ 13%  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในขณะนี้ไม่ถึง 1%         ที่ผมนำมาคิดทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดน้ำเสีย เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งทั้งโลกกำลังวิกฤต  สนใจไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 257 มาติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองกันเถอะ ผลตอบแทน 15% ต่อปี

        บทความนี้มี 3 ส่วน คือ (1) แรงจูงใจ (2) อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว และ (3) ต้นทุนและผลตอบแทนหนึ่ง แรงจูงใจ         เป็นที่คาดกันว่าในงวดใหม่คือ เดือนกันยายน-ธันวาคมนี้จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft จาก 24.77 บาทต่อหน่วย เป็นเท่าใดก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแต่คาดว่าจะขึ้นมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมทั้งค่าไฟฟ้าฐานและภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่าค่าไฟฟ้าน่าจะประมาณ 5 บาทต่อหน่วย สาเหตุสำคัญที่ทางราชการบอกเราก็คือราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีราคาถูกมีจำนวนลดลง จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงมาก         เท่าที่ผมสอบถามจากเพื่อนๆ โดยส่วนมากมักจะไม่รู้ว่าตนเองใช้ไฟฟ้าเดือนละกี่หน่วย แต่จะตอบได้ว่าประมาณสักกี่บาท เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขอสมมุติว่า บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันจะเท่ากับ 2,796.86 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.66 บาท หากมีการขึ้นค่า Ft เป็น 65 สตางค์ต่อหน่วย (สมมุตินะครับ) ค่าไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 3,055.14 บาท เฉลี่ย 5.09 บาทต่อหน่วย ข้อมูลนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าเราควรจะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือไม่ ถ้าจะติดควรจะติดเท่าใดกี่ปีจึงจะคุ้มทุนสอง อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว         แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงนโยบายและข้อปฏิบัติของรัฐบาลกันสักหน่อยหลังการรัฐประหารโดย คสช.เมื่อปี 2557 ได้ไม่นานนัก “สภาปฏิรูปชาติ” ได้ทำข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานจัดทำโครงการ “โซลาร์รูฟ ภาคประชาชน” คือให้ประชาชนสามารถติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากมีเหลือก็สามารถขายให้กับการไฟฟ้าได้ภายใต้โครงการใหญ่ที่สะท้อนถึงเจตนาที่เร่งด่วนว่า “Quick Win” คือให้สำเร็จหรือประสบชัยชนะเร็วๆ         กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยได้ตั้งเป้าว่าจะติดตั้งให้ได้ทั้งประเทศรวมกัน 100 เมกะวัตต์ ถ้าเฉลี่ยมีการติดตั้งหลังละ 5 กิโลวัตต์ รวม 2 หมื่นหลังคา ภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยตั้งกติกาแบบท้าทายว่าใครมาก่อนจะได้รับอนุญาตก่อน ครบโควต้าแล้วหมดกันนะ         ฟังอย่างนี้แล้วดูเหมือนว่ากระทรวงพลังงานได้ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนนี้อย่างเต็มที่เลยหรือ Quick จริงๆ แต่จนแล้วจนรอดจนถึงปัจจุบันนี้มีผู้แจ้งความสนใจไม่ถึง 1.8 เมกะวัตต์ ทำไมประชาชนไม่ตอบสนอง ทั้ง ๆ ที่มีการเรียกร้องต้องการ         เหตุผลสำคัญก็คือว่า กกพ.ได้ตั้งกติกาที่หยุมหยิมเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผลในเชิงการลงทุนและรายได้ เช่น (1) สัญญารับซื้อแค่ 10 ปี แต่อายุโซลาร์ 25-30 ปี ระยะเวลาที่เหลือจะให้ทำอย่างไร (2) รับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย แล้วขยับมาเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ทั้ง ๆที่ การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย  (3) ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัวราคาประมาณ 8 พันบาท เพื่อวัดปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า (4) ต้องให้มีการเซ็นรับรองความแข็งแรงของอาคาร ทั้งๆ ที่คนธรรมดาๆ สามารถดูด้วยตาเปล่าก็รู้ว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ และ (5) ต้องให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าตรวจมาตรฐานของอุปกรณ์ ข้อนี้ผมเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นครับ แต่ถ้าแค่มีคำแนะนำที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างจริงจังก็น่าจะใช้ได้แล้ว เพราะเจ้าของบ้านก็คำนึงถึงความปลอดภัยบนหลังบ้านตัวเองเป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน         สภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำข้อเสนอนี้ถึงทั้งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด         แต่แล้วก็มีข่าวดีจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ สาระสำคัญคือมีการผ่อนผันเงื่อนไขเดิมของการไฟฟ้า 2 ประการ คือ         หนึ่ง  ไม่มีการตรวจสอบเงื่อนไขขีดจำกัดของหม้อแปลงไฟฟ้า (ว่าไม่เกิน 15% ของพิกัดหม้อแปลง) ที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ กล่าวคือ ต่อจากนี้ไม่ต้องคำนึงประเด็นนี้แล้ว         สอง ให้ยกเว้นการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตามข้อกำหนดฯ         ความสำคัญของประกาศฉบับนี้อยู่ที่ข้อที่สองนี้ คืออนุญาตให้ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ในตอนกลางวันสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนเป็นการฝากพลังงานไฟฟ้าไว้ในสายไฟฟ้า (เพื่อนำไปให้บ้านอื่นใช้ก่อน) ในช่วงนี้มิเตอร์แบบจานหมุนก็จะหมุนถอยหลัง ตัวเลขที่มิเตอร์ก็จะลดลง เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของบ้าน (ที่ติดโซลาร์) จะใช้ไฟฟ้าจากสายส่งก็จะไหลผ่านมิเตอร์ จานหมุนในมิเตอร์ก็จะหมุนเดินหน้า ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่มาจดมิเตอร์ก็ว่ากันไปตามตัวเลขที่ปรากฎสมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าจริงๆ จำนวน 600 หน่วย แต่เราผลิตได้เอง 350 หน่วย เราก็จ่ายเงินเพียง 250 หน่วย แต่ถ้าเราใช้ไฟฟ้าเพียง 300 หน่วย ทางการไฟฟ้าก็จะได้รับไฟฟ้าไปจำนวน 50 หน่วย โดยไม่คิดราคาให้กับเจ้าของบ้านแต่อย่างใด         แต่ถ้าเป็นระบบที่เรียกว่า “Net Metering” หรือการหักลบกลบหน่วย ทางการไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้านจำนวน 50 หน่วย เท่าที่ผมทราบจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นประเทศร่ำรวยและยากจนก็ใช้ระบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นระบบที่ประหยัดที่สุด ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์ราคา 8,000 บาท เพราะถ้าขายไฟฟ้าได้ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย หลังคาที่ติดขนาด 3 กิโลวัตต์ต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะได้ค่ามิเตอร์คืน ระยะเวลาการคืนทุนก็ต้องยืดออกไปอีก         แต่เอาเถอะครับ การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่อนผันให้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นผลดีพอสมควรแล้ว ไม่ทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีประกาศแบบนี้บ้างเมื่อไหร่         เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในการผ่อนผันดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางวิศวกรรมหรือความปลอดภัยที่เคยอ้างกันว่าไฟฟ้าจะไหลย้อนไปดูดพนักงานที่กำลังซ่อมระบบเลย แต่เป็นเหตุผลทางนโยบายที่ต้องการตอบสนองผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่อง “การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน” ประเทศออสเตรเลียซึ่งมีประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทยแต่มีการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 2.3 ล้านหลังคาเมื่อต้นปี 2022 และเป็นการติดภายใต้ระบบ “Net Metering” สาม ต้นทุนและผลตอบแทน         ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้ลดลงราคาอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 10-20%   เท่าที่ผมติดตามต้นทุนพร้อมค่าแรงติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ น่าจะประมาณ 1.2-1.3 แสนบาท ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ตารางเมตร โดยที่ 1 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,300 - 1,450 หน่วย ขึ้นอยู่กับว่าอยู่จังหวัดใด และทิศทางในการรับแสงแดดว่าเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นขนาด 5 กิโลวัตต์ ก็ประมาณ 1.5 - 2.0 แสนบาท         ในที่นี้ผมขอสมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ลงทุน 130,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3X1,300 หรือ 3,900 หน่วย หรือ 325 หน่วยต่อเดือน  ถ้าเราคิดอย่างง่ายๆ ว่า ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ 1 หน่วย ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายได้ 5 บาท (ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่จะขึ้นใหม่เดือนกันยายนนี้) นั่นคือ ได้ผลตอบแทนเดือนละ 1,650 บาท ปีละ 19,500 บาท ใช้เวลา 6.7 ปีก็คือทุน ถ้าคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยก็ 15% ต่อปี โดยที่ทุนที่เราลงไปยังใช้งานต่อได้อีก 18 ถึง 23 ปี         นี่เป็นการคิดอย่างคร่าวๆ ตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงในปีที่ 12 เราต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นใหม่ เช่น อินเวอร์เตอร์ (ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่มีราคาแพงที่สุด) ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ (และเป็นส่วนที่แพงที่สุด) จะมีอายุการใช้งานนาน 25-30 ปี นอกจากนี้อาจจะต้องเสียเงินค่าล้างแผงบ้างปีละครั้ง แต่เท่าที่ผมทราบบางบ้านติดมา 4 ปีแล้วยังไม่ได้ล้างแผงเลย ปล่อยให้ฝนช่วยล้างให้ ผลผลิตก็ไม่ได้ตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ อ่านมาถึงตอนนี้ ท่านคิดอย่างไรครับ เงินออมของท่านที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)