ฉบับที่ 220 ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งแพง ยิ่งเหลื่อมล้ำ

        


        ว่ากันตามหลักการ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามแต่ว่าตนสังกัดสิทธิไหน และเป็นที่รู้กันว่าการไปใช้สิทธิของตน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่อนข้างใช้เวลานานในการรอคอย มันอาจหมายถึงการสิ้นเปลืองเวลาทั้งวันเพื่อพบแพทย์ไม่เกิน 10 นาที คนไข้จำนวนหนึ่งจึงเลือกใช้เงินซื้อเวลาและความสะดวกสบายด้วยการไปโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะเชื่อว่ามีเงินเพียงพอที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล 
        แต่บ่อยครั้งก็คาดการณ์ผิด ที่ว่าเอาอยู่ กลับเอาไม่อยู่ 

โรงพยาบาลเอกชนบวกกำไรค่ายา 16,000 เปอร์เซ็นต์ 




        งานวิจัยเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ของ .นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ความแพงดังกล่าวมีช่วงห่างตั้งแต่ 60-400 เท่า เช่น วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มิลลิกรัม ราคา 6.50 บาท เพิ่มเป็น 450 บาท 
        ขณะที่รายการเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามีราคาต่างกันตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท กลายเป็น 440 บาท ไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท เพิ่มเป็น 460 บาท 
        นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น เช่น การให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่กลับส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น 
        ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ร้อยละ 29.33 ถึงร้อยละ 8,766.79 หรือตั้งแต่ 10.83 บาทถึง 28,862 บาท คิดเป็นอัตรากำไรตั้งแต่ร้อยละ 47.73 ถึงร้อยละ 16,566.67 เช่น ยา S-DOPROCT ราคายาอยู่ที่ 17 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนขายเฉลี่ยที่ 148 บาท ราคาขายสูงสุดอยู่ที่ 303 บาท หรือยา AMPHOTERICIN-B ราคายาคือ 452 บาท ขายเฉลี่ยที่ 937 บาท ราคาที่ขายสูงสุดอยู่ที่ 2,200 บาท เป็นต้น 




        สอบถามไปยัง ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ว่าเหตุใดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนจึงแพงขนาดนี้     
        ถ้ามองในภาพรวมก็ไม่น่าจะมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ราคายาอาจต้องบวกต้นทุนการเก็บรักษา การดูแลคงคลัง ค่าบุคลากรที่ดูแลยา อันนี้คือตัวเม็ดยา ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ ...สถานพยาบาล มีประกาศแนบท้ายออกมาฉบับหนึ่งว่า ถ้าโรงพยาบาลจะคิดค่ายาให้บวกค่าอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นเหตุให้ราคาต่างจากร้านขายยามากหรือไม่ ก็น่าจะไม่มาก เพียงแต่ว่าเวลาเขาบวกเข้าไป มันรวมค่าบริการด้วยหรือเปล่า ไม่รู้ ที่ทำให้เขาเพิ่มราคายาขึ้นมา เพราะถ้าเภสัชกรให้บริการ เวลาจะจ่ายตัวเม็ดยาที่บวกต้นทุนไปแล้ว กับค่า Professional Fee หรือค่าวิชาชีพของเภสัชกร ในร้านยาที่มีเภสัชกรก็ต้องให้บริการเหมือนกัน ก็ยังหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือถ้าต่างกัน 50 เปอร์เซ็นต์ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าต่างกันไปถึงหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็คงรับไม่ได้ 
        ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนเคยพูดว่า บางบริการเขาไม่สามารถเรียกเก็บได้จากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาจึงมาบวกที่ค่ายา ต่อไปก็คุยกันว่าบริการต่างๆ ต้องเอามาตีแผ่ว่าคือค่าอะไร แล้วก็คิดกันตรงไปตรงมา ไม่บวกพ่วงไปกับค่ายา อนาคตต้องทำให้ราคามันโปร่งใสขึ้น อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ให้มาบางตัวสูงถึง 15,000-16,000 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องกลับมาดูว่าเป็นค่าอะไรบ้าง และทำให้เห็นว่าแต่ละบรรทัดเป็นค่ายาจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปตั้งหมวดใหม่
 
การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น 




        นอกจากค่ายาที่แพงเกินเหตุแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนมักนำมาใช้กับผู้ป่วยคือการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นหรือ Over Treatment เช่น กรณีถูกมีดบาดมือ 1 เซนติเมตร แต่ถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดหมดเงินไป 6 หมื่นกว่าบาท 
        เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่า เคยมีคนไข้รายหนึ่งมีอาการท้องเสียและเห็นว่าตนทำประกันสุขภาพไว้จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลนำคนไข้รายนี้ตรวจสารพัดตรวจ ทั้งที่คนไข้บอกว่าเพิ่งตรวจร่างกายมา ซึ่งการตรวจบางรายการก็ไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย ซ้ำยังให้คนไข้รายนี้นอนห้องไอซียูอีกหลายวัน สุดท้ายประกันสุขภาพที่ทำไว้ไม่พอจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเกินไปอีก 3 แสน 
        ผ่านไปเกือบ 2 ปี เพราะอายุความค่าจ้างทำของมัน 2 ปี ทางโรงพยาบาลก็ฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเรียกค่ารักษาพยาบาล ทางมูลนิธิก็ให้ผมหาทนายต่อสู้คดี เอาบิลต่างๆ ให้ผู้รู้เช็คว่าทำอะไรไปบ้าง ก็พบว่าไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย เป็นการตรวจซ้ำซ้อน มีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าห้องพักในไอซียูที่ไม่จำเป็นหลายรายการ เราเขียนคำให้การต่อสู้คดีว่าไม่มีความจำเป็น แต่ไปตรวจเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสีย แล้วอาการก็ไม่ถึงกับต้องอยู่ไอซียู ศาลก็ไกล่เกลี่ย ในที่สุดทางโรงพยาบาลก็ลดราคาลงมา ฝ่ายจำเลยก็ยอมจ่ายให้จบไป
 
เครือข่ายผู้บริโภคผลักดันคุมโรงพยาบาลเอกชน 
        เครือข่ายผู้บริโภคพยายามผลักดันให้มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมานาน อย่างน้อยในรอบนี้ก็มีมาตั้งแต่ 2561 จนกระทั่ง 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นให้มีการประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม ทว่า 
        ประกาศนั้นก็ไม่มีผลอะไร เพราะยังไม่มีการประกาศมาตรการว่าจะควบคุมกำกับยังไง กกร. ก็เลยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งอนุฯ นี้คุยกันครั้งแรกบอกว่าจะเริ่มต้นที่ยาและเวชภัณฑ์ก่อน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ให้เวลา 60 วันในการศึกษา พบว่ามีการทำรายการยาและเวชภัณฑ์ของ UCEP กรณีฉุกเฉิน ซึ่งราคากลางนี้มาจากการพูดคุยกันระหว่าง 3 กองทุน ปรากฏว่ามีราคากลางของยาอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่ารายการ แล้วก็มีรายการเวชภัณฑ์ 5 พันกว่ารายการ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นราคากลางที่ผ่านการตกลงของทั้ง 3 กองทุนเวลาไปตามจ่ายให้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับหน่วยบริการสุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าว 
        นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง ให้ส่งราคายาที่ซื้อและขายเพื่อเอามาเปรียบเทียบว่ามีการคิดกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนแรกไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องออกเป็นหนังสือโดยใช้อำนาจตาม ...ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ..2542 ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงส่งข้อมูลให้ ทำให้เห็นว่ามีการบวกกำไรเข้าไปสูงมากดังที่ปรากฏข้างต้น
 
กกร. เดินหน้ามาตรการ 
        ล่าสุด ทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 52 ..2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาและใช้ประกอบการตัดสินใจ 
        ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบเมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในกรณีจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ทางโรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย     
        อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น
 
สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลปกครอง 
        คงพอคาดการณ์ได้ว่าทางฟากโรงพยาบาลเอกชนย่อมไม่พอใจประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม สิ่งที่ตามมาคือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชนอีก 41 แห่งร่วมกันฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกประกาศ กกร. ฉบับนี้ ไม่ให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยข้ออ้างว่าการออกประกาศนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายทางโรงพยาบาลเอกชนไม่มีส่วนร่วม ประการต่อมาอ้างว่าการออกประกาศบังคับเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เพราะไม่บังคับโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ที่เก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเช่นกัน โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ กกร. ตามมาด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธาน กกร. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน 
        ชัดเจนว่าในฐานะองค์กรผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ แล้วเราก็ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง กกร. ฉบับนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงตัดสินใจร้องสอดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี คือเราไม่ได้เป็นคู่ความตั้งแต่ต้น แต่เรามีสิทธิที่จะร้องสอดด้วยความสมัครใจและอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถูกฟ้องทั้งหมด เพื่อจะได้ช่วยกันต่อสู้คดี ยืนยันถึงความจำเป็น และการออกประกาศนี้ชอบแล้วสุภัทรา กล่าว 
        ประเด็นนี้มีองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศสนใจเข้ามาร้องสอดร่วมกันจำนวนมาก และได้ไปยื่นร้องสอดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา
 
การปล่อยเสรียิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ 
        อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การที่ประชาชนเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน นอกจากความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่นการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องยอมรับว่าการบริการของโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคมต้องใช้เวลารอคิวนาน ตรงนี้อาจถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของระบบ สุภัทรากล่าวว่า        
        เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ความเพียงพอของบุคลากร เครื่องมือที่เพียบพร้อม มันยังมีความไม่เพียงพออยู่ เราจึงเปิดโอกาสให้มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศที่ทำระบบประกันสุขภาพ เขาจะจำกัดการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนมากๆ เช่น ไต้หวัน สวีเดน จะให้มีโรงพยาบาลเอกชนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต้องไม่มากกว่ารัฐเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การมีอยู่ของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบปัญหาเชิงระบบที่ยังไม่ดีนัก 
        แต่ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมันต่างจากธุรกิจอื่น แล้วโรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะความเจ็บป่วย การบริการสาธารณสุข เป็นงานบริการเชิงคุณธรรมที่ไม่ใช่จะเอากำไรเท่าไหร่ก็ได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันถ้ามันแพงไปเรื่อยๆ ไม่มีการจำกัดควบคุม มันยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น คนที่มีเงินก็มีโอกาสรอด คนไม่มีเงินก็ตายก่อน จึงจำเป็นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพและต้องมีการกำกับควบคุมดูแล เราคงต้องดูว่าจะกำกับควบคุมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะจะทำให้ราคาต่างๆ ในระบบสุขภาพสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน การดึงแพทย์ พยาบาล ก็อาจมีผลต่อการคิดค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่
 
มาตรการต่อไป 
        มาตรการต่างๆ ของ กกร. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ภญ.ยุพดี ให้ข้อมูลว่าขั้นต่อไปต้องมาดูราคาที่เหมาะสมของยาแต่ละกลุ่ม แต่ละตัว ต้องมีวิธีการในการบอกว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ซึ่งกำลังให้ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ข้อมูลอยู่ 
        วันนี้ประเทศไทยมีรหัสยาซึ่งบอกถึงลักษณะของยา ขนาดกี่มิลลิกรัม ของแบรนด์ไหน ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้สามารถเทียบราคายาได้รหัสต่อรหัส แต่อันอื่นๆ ยังไม่มีรหัสเลย เช่น วัสดุการแพทย์ บริการการแพทย์ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงสาธารณสุขและหลายองค์กรกำลังให้ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ทำรหัสวัสดุการแพทย์ และในอนาคตอาจต้องทำรหัสบริการการแพทย์อีก 
        ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อกรณีค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่บวกกำไรเพิ่มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น 
        ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่ต้องทำคือการยืนยันสิทธิของตนเมื่อต้องเผชิญการเอาเปรียบ เพราะการร้องเรียน 1 ครั้งย่อมดีกว่าการบ่น 1000 ครั้ง

แหล่งข้อมูล: กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน ผู้บริโภค ค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาล

ฉบับที่ 275 5 เรื่องเตือนภัยผู้บริโภค ปี 2567

        ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากประชาชนทั้งหมด 1,600 เรื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่อง บริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป , อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย , การเงิน การธนาคาร , บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเหล่านี้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน    1.มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์         กลุ่มที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์มีหลายลักษณะ ไม่ว่าซื้อของแล้วไม่ได้ของเลยหรือซื้อของแล้วได้ไม่ตรงตามสินค้าที่สั่ง สั่งสินค้าแล้วได้รับแต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งานได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะของใช้ โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ         ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนของ เพจปลอม ที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ ผู้เสียหายนั้นถูกมิจฉาชีพจาก เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์ภาพข้อความและที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลอกให้จองที่พัก โดยเมื่อผู้เสียหายเห็นรูปที่พักในเพจสวยถูกใจ จึงติดต่อไปสอบถามรายละเอียดเพื่อจองที่พักในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งแอดมินเพจก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเสนอส่วนลด 3,300 บาท หากเธอโอนเงินค่าที่พักเข้ามาทันที เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้วต่อมาทางเพจยังแจ้งให้โอนค่าประกันความเสียหายของที่พักอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายไม่ได้คิดมากอะไรนัก คิดว่าเงินประกันย่อมได้คืนในตอนสุดท้าย จึงโอนเงินให้อีกเป็นครั้งที่ 2 รวมโอนเงินไปทั้งสิ้น 14,700 บาท  ต่อมาผู้เสียหายจึงพบว่า ความจริงเมื่อเดินทางไปตามแผนที่ไม่พบที่พักดังกล่าว (BEACH VIEW pool Villa) แต่กลับเป็นที่พักของโรงแรมชื่อ Canary Good Pool Villa ซึ่งเจ้าของได้ดำเนินการแจ้งความแล้วเช่นกันที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปไปใช้           “ถามว่าทำไมเราถึงเชื่อและหลงโอนเงินไปให้ คือในเพจเขาเหมือนจริงทุกอย่าง มีรูปห้อง มีรูปคนมาเข้าพัก มีรีวิว มีการกดไลค์ มีผู้ติดตามทุกอย่าง เราเลยเชื่อ ตอนนี้เราได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วแต่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืนเพราะตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วแต่เขายังไม่มาเราก็กำลังติดตามเรื่องอยู่” ผู้เสียหายเล่าให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น         มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของและบริการส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมหรือบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok  ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือบริการได้ มีที่อยู่แน่ชัด ผู้ขายมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและมีระบบการระงับการเงิน การประกันเงินที่เพียงพอเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น  2.สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า         กลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ ด้วย         สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎ ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก         กรณีการเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงามเกิดได้ทั้งตั้งแต่ถูกล่อลวงให้ใช้บัตรเครดิตแม้ต่อมาผู้บริโภคจะขอยกเลิกก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก อาจต้องเสียเงินไปบางส่วนแล้ว บางกรณีประชาชนถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สเสริมความงามแต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญา หรือสถานเสริมความงามปิดตัวลงไม่สามารถใช้บริการได้ และหลายกรณีเข้าใช้บริการแล้วต่อมากลับพบว่า คลินิกใช้ยาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หลายกรณีประชาชนเกิดความเสียหายขึ้นกับร่างกายจากการรับบริการแต่ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกินเวลาเนิ่นนาน         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน  และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้  3.ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ         แม้เรื่องนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิไม่มากนัก  แต่เราเห็นว่าปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร          กรณีที่มีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า   "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี  และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง 4.  สื่อและโทรคมนาคม         หลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%)  คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%)         ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์  กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย   5.การซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย         ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ  หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว  ......................................................... ผู้บริโภคจะป้องกันตัวเอง ได้อย่างไร           คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า จากปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขาย รวมถึงบริษัทขนส่ง ควรร่วมเข้ามากำหนดมาตรการกำกับดูแลด้วย โดยควรมีระบบที่สามารถบันทึก บัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ใช้ส่งของ ควรมีระบบที่ช่วยกันตรวจสอบว่าหากถูกตีกลับบ่อยครั้ง อาจมีระงับบัญชีชั่วคราว ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที         “แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และ TikTok เราจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ของการซื้อขายไปแล้ว แต่การจัดทำระบบเพื่อความปลอดภัย การตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของร้านค้ายังพัฒนาไม่มากเท่าแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเพื่อการซื้อขายจริงๆ เราจึงเรียกร้องว่าหากประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อทำการซื้อขายแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรจะต้องยกระดับ มาตรการความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ให้มีความปลอดภัยที่เพียงพอ”         ในด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัยนฤมลสะท้อนว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคเป็นผู้เช่าซื้อ ผ่อนไปนาน 3 เดือนหรือ 20 ปี สถานะไม่ได้ต่างกันหากยังผ่อนไม่หมดหรือแต่เมื่อผ่อนหมดไปแล้วผู้บริโภคก็จะใช้อำนาจขัดทรัพย์ไม่ได้ กฎหมายยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอยู่มาก         กรณีที่มีเรื่องฟ้องคดีแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่บริษัทเจ้าของโครงการยังสามารถโอนถ่ายทรัพย์สินไปเสียก่อน หรือ ทำให้บริษัทล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งเรื่องนี้นฤมลสะท้อนว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จะต้องร่วมมือกันในอีกหลายฝ่ายเพราะต้องเป็นนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนถึงจะได้รับการคุ้มครองได้         คุณธนทรัพย์  ชิตโสภณดิลก  เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวถึงปัญหาประชาชนถูกดูดเงินออกจากแอพพลิเคชั่น การเงิน การลงทุนต่างๆว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 และเป็นปัญหาอย่างมากในปี 2565 ปัจจุบันแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ประชาชนยังต้องระมัดระวัง          “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีฝ่ายงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัลอยู่แล้ว ระบบในแอพลิเคชั่นมีการให้ยืนยันตัวตนทุกครั้งที่มีการฝาก - ถอน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัล มักจะถูกโจรกรรมโดยการเข้าไป พิชชิ่ง คือการกดเข้าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างมาเพื่อหลอกหากไม่ได้ดูให้ดีเพราะชื่อโมเดนของเว็บไซต์จะคล้ายกันมากเช่นเว็บไซต์  zintmes เขาจะปลอมเป็น zintmess  เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีช่องให้กรอกข้อมูล Username และ Password เหมือนกัน หากเผลอกรอกข้อมูลนี้ไปแล้วมีโอกาสสูงอย่างมากที่มิจฉาชีพจะมีข้อมูลของผู้เสียหายและเข้ามาในบัญชีจริง โอนถ่ายเงินไปซื้อเหรียญอื่น และโอนต่อไปเรื่อยๆ จนไปต่างประเทศ การสืบว่า บัญชีปลายทางเป็นบริษัท หรือเป็นใคร เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่ตำรวจแล้ว หากไปต่างประเทศจึงปรากฏตามข่าวว่าตำรวจยังสามารถดำเนินการได้ล่าช้า”         ด้านปัญหาที่ประชาชนเข้ารับบริการจากคลินิกเสริมความรับ และได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า สคบ. มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในเรื่องนี้ คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 หากประชาชนมีหลักฐานการจ่ายเงินและยังไม่ได้เข้าใช้บริการก็ย่อมสามารถขอรับเงินคืนได้  ซึ่งตามมาตรา 11 พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ระบุให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากประชาชนพบเห็นการโฆษณาจากที่ใดให้เก็บหลักฐานไว้ และเมื่อมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นหลักฐานประกอบอีก กฎหมายจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้ทำสัญญาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกประชาชนไม่ได้รับสินค้าหรือใช้บริการ ก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถนำหลักฐานการโฆษณา การจ่ายเงิน ในการฟ้องเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หากประชาชนศึกษาไว้จะเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองสิทธิของตนเองได้  ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก          ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รอง สว. (สอบสวน) กก.2 กองบังคับการปราบปราม  การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า 5 อันดับสูงสุดของเรื่องที่มีการแจ้งความออนไลน์เข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หลอกให้รักโรแมนส์สแกม และการโดนหลอกผ่านคอลเซนเตอร์           " สำนักงานตำรวจเรามีโครงการ CIB เตือนรักระวังภัย 4 ห้องหัวใจระวังโจรเพราะมี 4 มิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของความรักคือ 1.1.Romance Scam หลอกให้รัก หลอกให้โอน ด้วยการปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี หลอกว่าจะบินมาแต่งงาน ส่งของมีค่ามาให้ ให้เราโอนเงินค่าดำเนินการ 2.Hybrid Scam หลอกให้ลงทุน ด้วยการปลอมโปรไฟล์ให้ดูดี เข้ามาตีสนิทพูดคุยเชิงชู้สาว ก่อนจะใช้คารมคำหวานหลอกให้ลงทุน 3.Sextortion ข่มขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการหลอกให้ถ่ายรูปโป๊ ชวนแลกภาพโป๊เปลือยก่อนจะนำไปแบล็กเมล์ ข่มขู่จะปล่อยภาพหลุดแลกเงิน 4.Dating fraud ลวงให้ออกเดท ด้วยการ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ขอนัดเจอ ก่อนล่อลวงไปข่มขืน กักขัง คิดถึงสัมพันธ์ออกแบบจำลอง และทำร้ายร่างกาย”         ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ให้คำแนะนำ/ ข้อสังเกตเพื่อให้ประชาชน ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไว้ดังนี้        ·     เพจปลอมที่หลอกขายสินค้า หรือให้จองที่พักมักจะลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกต         ·     บัญชีที่ให้โอนเงินหากเป็นโรงแรมหรือที่พัก ควรเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ชื่อบุคคล         ·     เมื่อติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดในการซื้อสินค้าหรือบริการแนะนำให้ประชาชนขอเบอร์โทรศัพท์และหมั่นโทรไปสอบถามข้อมูลให้บ่อยครั้งที่สุด เพราะโดยปกติเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพจะตั้งระบบให้ไม่สามารถโทรกลับ หรือติดต่อได้โดยง่าย          ·     หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกว่าเป็นตำรวจหรือหลอกว่าเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดใดๆ อย่าตื่นตระหนกแต่ให้ขอข้อมูลจากมิจฉาชีพว่ามาจากสถานีตำรวจใดและให้ประชาชนตรวจสอบกลับไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มิจฉาชีพอ้างถึงได้ติดต่อมาจริงหรือไม่         ·     มิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกไม่ว่าจะทั้งในเพจปลอม หรือ คอล เซ็นเตอร์มักมีลักษณะเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยเร็วโดยการยื่นข้อเสนอ จูงใจต่างๆ หรืออาจทำให้ตระหนก ตกใจไม่มีเวลาคิดตรวจสอบข้อมูลจนรีบโอนเงินไป        ·     ประชาชนควรหมั่นติดตาม ข่าวสารแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนกันการฉีดวัคซีนการเตือนภัยให้ตัวเอง หากทำไม่สม่ำเสมออาจไม่เท่าทันรูปแบบของมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน         ·     ให้ประชาชนมีสติในการซื้อ ไม่โลภ หากสินค้าราคาถูกกว่าตลาดมากๆ ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดสังเกตเพราะปัจจุบัน มีการปลอมสินค้าทุกรูปแบบ เช่น ผงชูรส ผงซักฟอก เป็นต้น  และควรซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ควรซื้อในแพลตฟอร์มที่มีการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย   มีมาตรการความปลอดภัย           ·     ปัจจุบัน ประชาชนควรเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น รู้ว่า ใช้ AI สร้างบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาได้จริง หรือการการพูดคุยกับ มิจฉาชีพทางคอล เซ็นเตอร์นานๆ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องสนุกแต่เทคโนโลยีจะสามารถปลอมเสียงของเราไปหาประโยชน์กับรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเราได้  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่274 ปี 2567 สู่ประเทศไทยที่ธุรกิจโทรคมนาคมผูกขาดแล้วโดยสมบูรณ์

        วันที่ 1  มีนาคม 2567  จะครบรอบระยะเวลา 1 ปี  หลังบริษัททรู และดีแทค ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”        ปัจจุบันกว่า 10 เดือนภายหลังการควบรวม สถานการณ์ไม่ผิดแผกและยังใกล้เคียงกับหลายคำเตือนที่หลากหลายฝ่ายได้ส่งเสียงเตือน ก่อน กสทช.ส่งสัญญาณ ไฟเขียวให้เกิดกการควบรวม ครั้งสำคัญในครั้งนี้        คือตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมในประเทศไทย จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างเสรี ไม่อาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเปิดให้บริการได้อีกแล้วโดยง่าย และผลกระทบต่างๆ สุดท้ายย่อมตกถึงประชาชน         แรกเริ่มผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ไม่ได้เด่นชัดมาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่มาจากศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ที่ได้ติดตามศึกษาวิจัยในชื่อว่า "กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC" เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา         งานศึกษาชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามมาตรการการควบรวมที่ กสทช. กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการและเรื่องสำคัญคือ การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของทั้งสองค่ายที่จะต้องลดลงร้อยละ 12  ใน 90 วัน แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยครั้งนี้กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น         รายงานวิจัยซึ่งสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคจำนวน 99 หมายเลข จาก "ทุกค่ายมือถือ" ใน 50 จังหวัดทุกภูมิภาค (ระบบเติมเงิน 48 หมายเลข และระบบรายเดือน 51 หมายเลข) พบว่า หลังจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไทยทั่วประเทศจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยลดลงราว 0.5-3.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ แต่นาทีการโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถือที่ผู้บริโภคได้รับก็ลดลงด้วยเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค กลับพบว่ากลุ่มนี้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยรวมราว 2.9% โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลง 3.3%         ราคาค่าบริการจริง ๆ ยังลดลงไม่ถึงตามเกณฑ์ 12% ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะลดลงไปเพียง 2-3% เท่านั้น...หรือหากมองว่านาทีการโทรได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลงด้วย...ค่าบริการย่อมไม่เคยลดลงเลย         อีกฟากหนึ่ง ผลเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการไม่ได้อยู่เพียงในรายงานวิจัยชิ้นนี้เท่านั้น เมื่อประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงปัญหาจากการใช้บริการสัญญาณมือถือ ทั้งความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มีปัญหา ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น และอีกหลากหลายปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและอาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาอื่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้รวบรวมให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสภาผู้บริโภค จัดทำแบบสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ใช้บริการทุกเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566         การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก โดยร้อยละ 81 ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ใช้บริการค่ายมือถือที่ควรวมธุรกิจโทรคมนาคม         นอกจากผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายหลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม  ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่ AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566         เพื่อเฝ้าระวังมาตรฐานการให้บริการ  Call Center หลังทรูและดีแทคได้ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และประชาชนจำนวนมากยังหวังพึ่ง Call Center ในการสอบถามข้อมูล รับปัญหา และแก้ไขปัญหาให้พวกเขา          การทดสอบครั้งนี้สำรวจในกลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,116 ราย โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่ายมือถือ         ผลการทดสอบตอกย้ำถึงปัญหา call center โทรติดยาก โดยพบว่า ระยะเวลานานสุดที่จับคือนานถึง 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE call center ของ TRUE ยังเป็นค่ายมือถือที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน         นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ฝ่ายเผยแพร่ ผู้ริเริ่มโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หลังบริษัททรูและดีแทคได้ควบรวมธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566เผยด้วยความห่วงกังวลว่า บริการ Call Center เป็นช่องทางสำคัญที่คอยรับเรื่อง แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค การควบรวมธุรกิจที่ไม่มีการปรับเพิ่มการให้บริการ ยิ่งทำให้ Call Center กระจุกตัวและมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่ายมือถือต้องดูแลมากขึ้นหลังการควบรวมจึงต้องไม่ลดมาตรฐานลง ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่บริการด้วย AI เพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประชาชนได้เสนอผ่านการสำรวจด้วยเช่นกัน         ย้อนกลับไปดู กสทช. ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง                 ก่อนเสียงร้องเรียนถึงปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือของประชาชนจะดังขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยตรง ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง         ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ กสทช.มีท่าทีหลีกเลี่ยงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ด้วยการยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่เพียง ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เท่านั้น           อย่างไรก็ตามแม้ในวันที่  20 ต.ค. 2565  กสทช. จะใช้อำนาจเพียง ‘รับทราบ’ แต่มติดังกล่าว ยังมาพร้อมกำหนดเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมที่ กสทช. วางกำหนดไว้เองคือ        1.  การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย                •  อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12                •  ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ                •  ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ                •  ให้ประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้         2.  การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)                •  จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ และข้อมูลต่างๆ เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมจัดจ้างที่ปรึกษา         3.  การคงทางเลือกของผู้บริโภค                •  กำหนดให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี         4.  สัญญาการให้บริการ                •  บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว         5.  การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ                •  บริษัทต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป          ฉัตร คำแสง หนึ่งในคณะวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ชี้ว่า ข้อมูลภายหลังการควบรวมคือ เครือข่ายคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งก็คือเอไอเอส ยังมีการปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือให้เท่ากับกลุ่มทรู-ดีแทคด้วย รายงานการดำเนินการของทรู-ดีแทค ชี้ว่า อาจไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะตามที่รายงานต่อ กสทช. และข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ลดลงในตลาดโทรคมนาคมที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเสนอแนะว่า กสทช. ควรนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำรวจประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้พบเจอ มาประกอบการพิจารณาด้วย         "ทั้ง 3 เจ้า แพ็กเกจแทบจะก๊อป (copy) วางกันหมด มันเห็นหลักฐานอยู่ว่า การแข่งขันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ตามที่โฆษณา" นักวิจัย 101 PUB ระบุ         ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)   ผู้รวบรวมผลกระทบจากการรวมธุรกิจ ทรู- ดีแทค และเสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า “ หลังประกาศควบรวมธุรกิจวันที่ 1 มี.ค. 2566 เพียง วันที่ 3 มี.ค. เราก็พบว่ามีการสำรวจราคาแพ็กเกจทั้ง 3 เครือข่าย มีการปรับราคาแพ็คเกจมือถือรายเดือนทั้ง 3 เครือข่าย จนเท่ากันหมด เคสร้องเรียนที่เข้ามาที่มูลนิธิ ยังมีทั้งปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ตลดลง, เน็ตไม่พอต้องซื้อแพคเกจเสริม หลังการควบรวมสัญญาณอ่อน  ใช้ได้บางพื้นที่ ไม่ครอบคลุม ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้แจ้งล้วงหน้าและต้องจ่ายราคาสูงขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนสิทธิพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ร้องเรียนมีหลักฐานเข้ามาประกอบชัดเจน”         ที่ผ่านมากสทช.  ได้จัดแถลงข่าวด่วน วันที่19 ธ.ค.66 กสทช.ในเรื่อง ”เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังทรู – ดีแทค ถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพ - บริการ “ ยืนยัน ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ หลังทรูควบรวมดีแทค ยังไม่พบปัญหาตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนทุกกรณี ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการการยุบเสาไปยังพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่า จึงทำให้สัญญาณให้บริการไม่เสถียรในบางช่วงเวลาและไม่ได้สื่อสารให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ทราบ โดย กสทช. ได้สุ่มตรวจความเร็วของอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ยืนยันได้ว่า คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ นี่คือเสียงจากนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาพรวมการทำงานของ กสทช. กลับไม่ได้ราบรื่น เรียบร้อยตามถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อการประชุมของ กรรมการของ กสทช. ไม่อาจขึ้นได้ สะท้อนความขัดแย้งภายในจนไม่อาจขับเคลื่อนวาระสำคัญที่ กสทช.จะต้องดำเนินการมาตลอดปี 2566 โดยประชุมของ กรรมการ กสทช. ล่มต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง  ซึ่งแม้จะมีความพยายามจัดการประชุมให้เกิดขึ้นสำเร็จโดยเป็นการประชุม 3 วันต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาคือ วันที่ 20 25 และ 26 ธันวาคม 2566 แต่ในการประชุมครั้งแรกของปี 2567 คือวันที่ วันที่ 10 ม.ค.ยังมีวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ทั้งยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ  วาระสำคัญจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วนที่ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อ 4- 6 เดือนมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้         การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาจึงทั้งล่าช้า ไม่อาจตัดสินใจเรื่องสำคัญจนคั่งค้างจำนวนมาก ไม่เท่าทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน การกำกับติดตามการดำเนินการของบริษัทที่ไม่เป็นไปอย่างเชิงรุก รอให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเข้ามาให้พิจารณาเท่านั้น  อะไรที่ยังเป็นความหวังอยู่บ้าง         แม้ประชาชนได้รับปัญหา และมีภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้นจากการควบรวมธุรกิจของทรูและดีแทคแล้ว และการทำงานของ กสทช. ยังล่าช้า ไม่อาจให้ความชัดเจนและเชื่อมั่นต่อสังคมได้ อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีสัญญาณที่ดีในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าแม้เป็นการยื่นฟ้องพ้นเวลาแต่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง ถือเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ         “บริการโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม  มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว         การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบมความนั่น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ”  ข้อความดังกล่าวนี้คือคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด          “ข้อมูลจากสำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ในปี 2565 หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง ทรูและดีแทค รวมกันแล้วมีมากกว่า  77,000,000 เลขหมาย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้คดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และเราจะรวบรวมผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชั้นศาลต่อไป ”         “การดำเนินการหลังจากนี้ เรากำลังทำแนวทางเพื่อการทดสอบความเร็วของอินเตอร์เน็ต (Speed Test) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเราตระหนักดีว่าเราจะต้องทำงานบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน รัดกุมมากขึ้น เช่นที่เราได้ทำในการสำรวจที่ผ่านมา ทำให้ความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ถูกรวบรวมและสื่อสารมาได้อย่างมีพลัง และเราจะดำเนินการอีกหลายอย่าง เราจะไม่ทำให้เรื่องนี้เงียบเพียงเพราะ กสทช. หรือบริษัทออกมาบอกว่าเขาได้ดำเนินการอะไรแล้วบ้าง แต่ความเดือดร้อนยังมีอยู่ ถึงทุกวันนี้เรายุติการสำรวจไปแล้วแต่เรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือก็ยังเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ อยู่ต่อเนื่อง ” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป         โดยที่ผ่านมา วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นฤมล ได้ร่วมกับ นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายคณะทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ กสทช. เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวม TRUE – DTAC พร้อมแนบหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเครือข่ายมือถือทุกระบบ จำนวน 2,924 ราย        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า การดำเนินการที่ดีที่สุดในเวลานี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการมือถือให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. ควรกำกับดูแลให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. ได้เป็นผู้กำหนดวางแนวทางไว้ด้วยตนเองอย่างเข้มงวด         นอกจากเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ ที่ กสทช.ได้วางไว้แล้วสิ่งที่ในวันนี้ กสทช.ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วอีกต่อไปจะต้องดำเนินการเปิดรับฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากประชาชน ที่วันนี้พร้อมเข้ามีส่วนร่วมและทุกปัญหาที่ร้องเรียน มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้         เพราะเพียงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการสำรวจเพียงช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่   9 - 23 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนยังสามารถให้ข้อเสนอได้ต่อทั้ง กสทช.และบริษัทผู้ให้บริการอย่างชัดเจน         จึงไม่ยากเลยที่ กสทช. จะดำเนินการรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ไปตรวจสอบ หากวันนี้ กสทช.มองเห็นแล้วว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 สถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2566

        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการสำเร็จ 1,277 เรื่อง จากเคสร้องเรียนทั้งหมด 1,614 เรื่อง โดยแบ่งปัญหาของผู้บริโภค 9 เรื่องเด่นใน 4 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป, บริการขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงินการธนาคารและประกัน เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา     9 เรื่องเด่น ประจำปี 2566    เรื่องที่ 1        ·     หมวดบริการขนส่งและยานพาหนะ        M-Flow ตามที่มีนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ผ่านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง  ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 นั้น          มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการ และประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บค่าปรับทางด่วน  โดยมีเรื่องร้องเรียนดังนี้         1. อัตราค่าปรับแพง ระบบ M-Flow กำหนดให้ผู้ใช้บริการชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันใช้บริการ หากไม่ชำระภายในระยะเวลาดังกล่าวจะถูกปรับ 10 เท่าของค่าธรรมเนียม โดยให้ผู้ใช้บริการดำเนินการชำระเงิน หากไม่เห็นด้วยให้เข้ามาชี้แจงต่อกรมทางหลวงภายในระยะเวลาที่กำหนด (ให้ระยะเวลาเข้าไปชี้แจงประมาณ 8 วัน) หากไม่ดำเนินการชี้แจงจะถูกปรับจากการไม่มาชี้แจงตามกำหนดเวลา (200 บาทต่อกรณี) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าอัตราค่าปรับไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง         2. ไม่ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ใช้ระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่ทราบว่า หากใช้เส้นทางของระบบ M-Flow แล้วต้องชำระค่าบริการหรือไม่ หรือต้องชำระค่าบริการอย่างไร หรือบางรายอาจถูกรถเบียดเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ จนหลุดเข้าไปใช้เส้นทางดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ แล้วไม่ทราบว่าต้องดำเนินการชำระเงินอย่างไร ซึ่งกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ก็เลยกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระไปแล้ว         3.ป้ายแสดงไม่ชัดเจน จำนวนป้ายแสดงน้อย และมีขนาดเล็ก หากไม่สังเกต หรือไม่คุ้นเส้นทางก็จะไม่ทราบว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นเส้นทาง M-Flow         4.ไม่รู้ยอดอัตราค่าบริการ และช่องทางการชำระ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการชำระเงินให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายไม่ทราบด้วยว่าได้ใช้งานผ่านเส้นทาง M-Flow แล้ว         5.หนังสือแจ้งให้ชำระค่าบริการมาถึงช้า ทำให้เกินกำหนดชำระต้องเสียค่าปรับ ผู้ใช้บริการบางรายแจ้งว่า หนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่งมาถึงก่อนวันถึงกำหนดเพียง 1 วัน โดยไม่ได้ระบุช่องทางการชำระเงินมาในหนังสือ แต่ระบุเพียงว่า “ท่านสามารถชำระผ่านเว็บไซต์ระบบ M-Flow  (www.mflowthai.com)” หรือบางรายได้รับหนังสือหลังจากเกินกำหนดชำระแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวน 10 เท่า         6.ระบบโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ระบบ M-Flow ได้จัดให้มีการส่งเหตุผลการโต้แย้งค่าผ่านทางได้ ผ่านเว็บไซต์ https://mflowthai.com/mflow/dispute และเหตุผลในการโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ครอบคลุมปัญหาที่ผู้ใช้บริการได้รับจริง โดยในเว็บไซต์จะมีเหตุผลการโต้แย้งให้เลือกได้ดังนี้         (1) มีหนังสือยกเว้นภายหลังผ่านทาง         (2) ชำระเงินแล้วมีหนังสือแจ้งเตือน/ขอคืนเงิน/ขอคืนแต้ม         (3) ไม่ได้ผ่านทาง         (4) ข้อมูลซื้อขายรถไม่ตรงกับกรมขนส่งทางบก         (5) ซื้อขายรถแบบโอนลอย         (6) รถสวมทะเบียน         (7) รถหาย/รถโดนขโมย         (8) การผ่านทางซ้ำ (การสร้างรายการผ่านทางซ้ำ)         (9) ขนาดรถไม่ถูกต้อง         (10) เคลื่อนย้ายรถส่งซ่อมการดำเนินการ         1. ทำหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหาย (มพบที่.119/2565)                                                                      2.ทำหนังสือ/ข้อเสนอ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW (มพบที่ 272/2566)    เรื่องที่ 2        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        งานวิ่ง Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 ถูกยกเลิก แต่บริษัท ทีละก้าว จำกัด ไม่คืนเงินซึ่งจะจัดในวันที่ 21-22 ม.ค. 66 จัดที่โรงเรียนสลักเพชร เกาะช้างใต้ จ.ตราด โดยสมัครทางช่องทาง Google Form 2023 ผู้เสียหายได้ชำระค่าสมัครเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.2566 เพจ Ultra-Tail Unseen Koh Chang ประกาศแจ้งยกเลิกงานดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงประสงค์ให้บริษัทคืนเงินค่าสมัคร โดยได้แจ้งขอคืนเงินไปยังบริษัทฯแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด        การดำเนินการ         1. บริษัท ทีละก้าว จำกัด จัดการแข่งขันวิ่งเทรลเกาะช้าง จังหวัดตราด ในวันที่ 21-22 มกราคม 2566 และได้มีการประกาศยกเลิกฉุกเฉิน ผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" ที่เป็นของผู้จัดงาน ประกาศเพียง 1 วัน และแจ้งเพียงช่องทางเดียว         2. 3 มิถุนายน 2566 เนื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบปัญหาการยกเลิกงานวิ่งดังกล่าวจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Ultra-Trail Unseen Koh Chang ของ ผู้จัดงานวิ่ง พบว่าโพสต์ล่าสุด 18 เมษายน 2566 ได้โพสต์แจ้งการคืนเงินเฉพาะค่าสมัครวิ่งให้กับผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่อง แต่จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมีผู้เสียหายจำนวนมาก ที่ยื่นเรื่องตามคิวแรกแจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินคืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศให้ผู้เสียหายงานวิ่งเทรลเกาะช้าง ส่งหลักฐานเพื่อนำสู่การไกล่เกลี่ยกับผู้จัดให้เร่งจ่ายเงินคืน พร้อมส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน กรณี Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 (งาน UTKC 2023) (21-22 มกราคม 2566) ดังนี้            (1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน            (2) หลักฐานการสมัครวิ่ง, หมายเลขประจำตัวนักวิ่ง             (3) หลักฐานการโอนเงิน            (4) หลักฐานการจองที่พัก หรือค่าเสียหายอื่นๆ         มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 18 ราย         3. 13 กรกฎาคม 2566 เชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 จากการไกล่เกลี่ย ผู้ร้องและบริษัทฯได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท ดังนี้             (1)  บริษัทฯจะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อนักวิ่งที่ตกหล่นและอัพเดตรายชื่อนักวิ่งให้สามารถตรวจสอบได้ พร้อมระบุลำดับการคืนเงินผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" และบริษัทฯจะดำเนินการตอบข้อความผู้ร้องและเคลื่อนไหวข้อมูลทางเพจ ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566             (2)  บริษัทฯจะดำเนินการประสานนักวิ่งเพื่อขอข้อมูลที่พัก รวบรวมเพื่อประสานสภาอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ประสานไว้             (3)  บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่นักวิ่งตามรอบที่ลงทะเบียนเดิม โดยจะเริ่มคืนรอบที่ 2 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องตกลงรับข้อเสนอที่บริษัทฯแจ้ง             (4)  13 กันยายน 2566 ผู้เสียหายรอบการคืนเงิน 16 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2566 แจ้งมายังมูลนิธิฯว่ายังไม่ได้รับการคืนเงินจากบริษัทฯตามที่ได้ทำบันทึกไว้ จึงประสานไปยังบริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินแก่ผู้ร้องภายในวันที่ 22 กันยายน 2566 เมื่อครบกำหนดผู้ร้องกลับไม่ได้รับเงินคืนตามสัญญา และตรวจสอบจากผู้ร้องพบว่ายังไม่มีผู้ร้องคนใดได้รับการคืนเงิน            (5)  12 ตุลาคม 2566 ติดต่อบริษัทฯสอบถามความคืบหน้าการคืนเงิน บริษัทฯขอให้ส่งรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง มูลนิธิฯจึงส่งอีเมล์พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง            (6)  18 ตุลาคม 2566 บริษัทฯแจ้งว่าได้รับอีเมล์และรายชื่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 แต่จนถึงปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับการการคืนเงินและไม่ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้เช่นเดียวกัน ***  ซึ่งผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ในการดำเนินคดีพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง มายังมูลนิธิฯเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีได้     เรื่องที่ 3        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        การปรับผังเวทีคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพ และ บัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น  ทำให้ผู้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่         การดำเนินการ         ดำเนินการเจรจาแทนผู้ร้อง โดยผู้จัดงาน บริษัท ไบร์ท แพนเทอร์ จำกัด ได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ร้องที่ประสงค์จะขอเงินคืน หากผู้ร้องจะขอเงินคืนสามารถแจ้งชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ/อีเมล์ และให้มูลนิธิฯดำเนินการประสานไปยังบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเปลี่ยนผังบริษัทฯแจ้งว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้     เรื่องที่ 4        ·     หมวดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย            บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโด 4 ปีไม่เสร็จตามสัญญา ไม่คืนเงิน โดยมีโครงการดังนี้             1.โครงการ RISE Phahon - Inthamara : ขณะนี้สร้างเสร็จถึงชั้น 2 แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             2.โครงการ The Excel ลาซาล 17 : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             3.โครงการ The Excel Hideaway รัชดาห้วยขวาง : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : 31 ธันวาคม 2562            4.โครงการ The Excel Hideaway สุขุมวิท 50 : ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ ( ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด กุมภาพันธ์ 2563)             5. โครงการ Impression เอกมัย สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : มิถุนายน 2563  โดยมูลนิธิฯดำเนินการช่วยยื่นฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี , และยื่นฟ้อง ที่ ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี         การดำเนินการ         ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี                               1. ฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี                                              2.ยื่นฟ้อง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี     เรื่องที่ 5     ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        Asia Society Fitness สาขารามคำแหง119 ปิดให้บริการ สมาชิกที่สมัครในสาขาดังกล่าวไม่สะดวกไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่น บริษัทฯไม่กำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา  ผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน บริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการคืนเงินภายใน30 วัน เมื่อครบกำหนดบริษัทฯไม่คืนเงินและไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้         การดำเนินการ        ทำหนังสือขอให้คืนเงิน (มพบที่ 147/2566) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทฯ     เรื่องที่ 6    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ถูกว่าจ้างให้ซื้อมือถือ  ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่าคนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา     การดำเนินการ         ตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้หากบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชี ให้รีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และใช้เอกสารที่แจ้งความไปติดต่อขอยกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการ     เรื่องที่ 7    ·     หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน         ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปีแต่ได้รับเงินปันผลไม่ครบตามสัญญา ผู้ร้องสมัครทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ  (มีเงินปันผล)  จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท เริ่มทำสัญญาวันที่ 8 สิงหาคม 2545 กรมธรรม์ครบสัญญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ผู้ร้องแจ้งว่าก่อนทำสัญญาพนักงานขายแจ้งแก่ผู้ร้องว่าหากทำสัญญาครบ 20 ปี จะได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาบริษัทฯแจ้งว่าจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ร้องจำนวน 70,000 บาท ผู้ร้องจึงทำเรื่องร้องเรียนโต้แย้งการจ่ายเงินปันผล บริษัทฯพิจารณาเสนอการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากเดิมแก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 180,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่รับข้อเสนอเนื่องจากไม่เป็นตามสัญญาที่ระบุว่าผู้ร้องจะต้องได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  หลังจากรับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิฯทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาเจรจาแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆจากทางบริษัทฯ จึงดำเนินการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้ร้อง         การดำเนินการ         1.ทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ( มพบ. 038/2566)บริษัทฯไม่มาไกล่เกลี่ย         2.ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี          เรื่องที่ 8    ·     สินค้าและบริการทั่วไป         ร้องเรียนกรณีถูกบริษัท  มิเนอรัล บิวตี้ จำกัด  เสนอขายเครื่องสำอางค์ของ Aqua Mineral แพงเกินจริง         การดำเนินการ         เจรจาตามความประสงค์ที่ร้องเรียน     เรื่องที่ 9    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด หรือทัวร์ “อ้วน ผอม จอมเที่ยว” ยกเลิกทัวร์ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และเกิดความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท         การดำเนินการ         ประสานกรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวแจ้งกรณีถูกบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด ยกเลิกทัวร์ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารหลักฐาน 5 รายการ ดังนี้         1. รายการนำเที่ยวที่ซื้อ         2. ใบเสร็จรับเงิน         3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ชำระเงิน         4. หลักฐานการแจ้งยกเลิกการเดินทาง (ถ้ามี)         5. เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อความการแชตพูดคุยต่างๆ         ส่งทางอีเมล tgtcenter@tourism.go.th หรือ เดินทางมาร้องเรียนได้ตนเอง ที่กรมการท่องเที่ยว (บริเวณโถงกลาง) ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ         หลังจากส่งเอกสารครบถ้วนนิติกรจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องทั้งนี้กรมจะดำเนินการเชิญบริษัทฯมาเจรจาหากบริษัทฯไม่มาเจรจาหรือเจรจาไม่ได้ กรมจะนำเงินกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวมาชดเชยแก่ผู้เสียหาย และจะดำเนินการส่งเรื่องให้สคบ.ดำเนินการฟ้องคดี         สามารถติดตามการแถลงข่าว สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2566 ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลงานปี2566 (ffcthailand.org)

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 ภัยการเงินในเด็กและเยาวชน

        กลางปีที่ผ่านมา  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เผยข้อมูลภาพรวมการทำงานรับเรื่องร้องเรียนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบปัญหาผู้บริโภคอันดับต้นๆ คือถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ และที่น่าวิตกอย่างมาก คือมีเยาวชนจำนวนมากถูกหลอกให้ทำธุรกรรมด้านการเงินมากขึ้นและมากขึ้น  อีกทั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้เรายังได้เห็นข่าวเด็กและเยาวชนถูกหลอกให้ซื้อโทรศัพท์แต่ไม่ได้ของทั้งยังไม่ได้เงินคืน  หรือหลายคนถูกหลอกให้โอนเงินซื้อสินค้า ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจจบชีวิตลง นับเป็นสถานการณ์ที่น่าสะเทือนใจของสังคม         รู้หรือไม่ว่า ภัยการเงินในโลกออนไลน์เป็นความเสี่ยงที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ติด 1 ใน 5 ความเสี่ยงสำคัญระดับโลก         ในประเทศไทยข้อมูลจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-30 มิถุนายน 2566) จำนวนคดีที่มีผู้เสียหายเกี่ยวกับภัยออนไลน์เข้าแจ้งความ 287,122 เรื่อง มาจาก 14 ประเภทคดี มูลค่าความเสียหายรวมอยู่ที่ 39,847,206,321 ล้านบาท โดยภัยการเงินทางออนไลน์เกิดขึ้นแล้วใน 7 กลุ่มประเภทคือ หลักๆ คือ 1.ซื้อของออนไลน์ จากโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ไม่รู้จัก   2.หลอกยืมเงิน คนร้ายแฮกข้อมูลจากคนใกล้ตัวของเรา 3.หลอกจะให้ทำงาน  4.หลอกให้โอนเงิน / ลงทุน  5. หลอกให้จ่ายภาษี  6. หลอกให้ผ่อนสินค้าแทน 7. โรแมนส์ สแกม         ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งซับซ้อนและแพร่ระบาด เมื่อลงไปในกลุ่มเปราะบางคือ เด็กและเยาวชน สำรวจภัยการเงินที่เข้าหาเยาวชนผ่านเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ข้อมูลเฉพาะในปี 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนภัยทางเงินออน์ไลน์ที่เข้ามาหาเยาวชนหลากหลายลักษณะ มีตัวอย่างดังนี้           กรณีที่ 1 เด็กอายุ 12 ปีถูกหลอกให้ผ่อนมือถือราคา กว่า 60,000 บาท         เรื่องราวของคุณเบญจวรรณ ที่ลูกสาวอายุ 12 ปี เห็นสื่อโฆษณาให้ผ่อนมือถือ ราคา 60,000 บาท ใน Instragram และหลงเชื่อโอนเงินไปให้หลายครั้ง  โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ปรึกษาพ่อแม่ ต่อเมื่อพ่อแม่ได้รู้ขอคืนเงินกับทางร้านและไม่ยอมคืนเงิน จนคุณเบญจวรรณขู่จะดำเนินคดีจึงได้เงินคืนในที่สุด          กรณีที่ 2 โดนหลอกเปิดซิมเป็นหนี้หลักหมื่น!         นักศึกษามหาวิทยาลัยปี 1 ที่ต้องการหารายได้เมื่อห็นข้อความโฆษณาว่า “เงินเดือนหลักหมื่น! เป็นลูกจ้างบูธขายมือถือในห้างฯ รับทั้งแบบประจำและฟรีแลนซ์ จึงหลงเชื่อและสมัครแต่กลับถูกหลอกให้ไปลงทะเบียนซิมกับค่ายมือถือเพื่อยืนยันตัวตน จึงจะได้รับการพิจารณารับเป็นพนักงาน โดยมิจฉาชีพได้พาน้องนักศึกษาไปถึงศูนย์บริการและหลบหายไป เมื่อนักศึกษาเปิดซิมโทรศัพท์ได้ทั้ง 3 เบอร์โทรศัพท์แล้วจึงกลับมา 3 เดือนต่อมา นักศึกษาคนดังกล่าวถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก 3 ค่าย มือถือรวมกับค่าปรับเป็นเงินกว่า 2 หมื่น ทำให้นักศึกษา และคุณแม่เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะถูกหลอก ไม่ได้ทำงานและยังเสียเงินอีกด้วย           กรณีที่ 3 ขายตรง ขายฝัน ลวงเด็ก         เมื่อนักศึกษาหญิงวัย 17 ปี อยากมีรายได้และได้รับการชักชวน จาก UP LINE ของบริษัทขายตรงยักษ์ใหญ่สัญชาติตะวันตกรายหนึ่ง ( ไม่ใช่ แชร์ลูกโซ่ ) จึงขอเงินจากคุณพ่อเพื่อสมัครสมาชิก 1,500 บาทและได้รับคำแนะนำจากพ่อขายของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปากกา ยาสีฟัน ต่อมาผู้เป็นพ่อได้รับโทรศัพท์และรู้ว่าลูกสาวไปกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อคอร์สดดูแลสุขภาพของบริษัทขายตรงดีงกล่าวราคา 15,000 บาทเพราะถูกชักชวนว่าหากไม่เคยทดลองใช้บริการเองจะขายสินค้าและบริการของบริษัทไม่ได้   นักศึกษาจึงไปกู้เงินในกลุ่มทวิตเตอร์ ที่เด็กๆ ปล่อยเงินกู้กันเองแต่กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยราคาแพง จากนั้นยังถูกชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ สุดท้ายเป็นวังวนที่ไม่สามารถปิดหนี้กับบริษัทขายตรงได้  และทำให้มีหนี้สินรวมกว่า 5 หมื่นบาท  สาเหตุที่เราถูกหลอกและเยาวชนคือเหยื่อที่กำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ         ทำไมมิจฉาชีพจึงหลอกเราได้ ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า ประชาชนตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์ เพราะมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ทำให้หลงเชื่อได้คือ          1.เทคโนโลยี ปัจจุบันสามารถ ปลอมเบอร์ ปลอมเอกสาร เปลี่ยนชื่อผู้ส่งให้ปลายทางเห็นว่าเป็นหน่วยงานใดก็ได้  หลายเรื่องประชาชนยังไม่ทราบว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ เมื่อไม่มีความรู้จึงหลงเชื่อ         2. มีการซื้อขายข้อมูลกันจริงในประเทศไทย และยังมีข้อมูลรั่วไหล         3.มิจฉาชีพใช้จิตวิทยาสร้างความน่าเชื่อถือ โน้มน้าวและกดดัน ทำให้รีบตัดสินใจ         4. คนไทยยังขาดวินัยทักษะทางการเงินที่ดี  มีหนี้สินครัวเรือนสูง         การตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์จึงเป็นปัญหาเชิงระบบ เป็นปัญหาที่มีมิติที่ซับซ้อนเกิดจากหลายปัจจัยและเมื่อมิจฉาชีพเจาะกลุ่มลงมาที่กลุ่มเยาวชน ปัญหาจึงยิ่งบานปลาย          สพลดนัย  พระธรรมมัง  อายุ 17  ปี เลขานุการสภาเด็กและเยาวชน  จังหวัดชลบุรี  กล่าวว่า         “ผมเกิดมาในยุคที่มีโซเชียล มีอินเตอร์เน็ตแล้ว เราโตมากับสิ่งนี้ เราไม่มีความเข้าใจเปรียบเทียบว่าก่อนหน้านี้มีความปลอดภัยที่มากกว่านี้อย่างไร ซึ่งเราจะเน้นติดต่อกันทางโซเชียลตลอดและอาจจะทำให้พวกเราคิดว่าโลกโซเชียลที่เราใช้อยู่ปลอดภัยและเวลาที่เราคิดจาทำอะไรสักอย่าง  ด้วยความเป็นเด็ก เราอาจจะไตร่ตรองไม่ได้มากพอ  สิ่งที่เราทำไป เราคิดว่าไม่ได้มีผลต่อเรามากขนาดนั้น จนอาจเกิดเหตุการณ์  ผลกระทบกับเราไปแล้ว เราถึงรู้ทีหลังว่าไม่ทันแล้ว  ซึ่งเรามักจะไม่ค่อยกล้าปรึกษาผู้ใหญ่ เพราะกลัวการถูกต่อว่า”           ในปี 2565  กรมกิจการเด็กและเยาวชนเผยว่า เด็กไทยร้อยละ 81  มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง ร้อยละ 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน wi-fi ที่บ้าน ซึ่งการมีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองนั้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 40% ประกอบกับมิจฉาชีพเข้าหาเยาวชนด้วยการโน้มน้าว เชิญชวนให้เล่นพนัน ฝากเงินได้แม้ในจำนวนไม่มากเพียงหลัก 30 – 50 บาท ก็สามารถทำได้ ทำให้เยาวชนอาจประมาทหลงเข้าไปทำธุรกรรมแต่กลับทำให้ถูกดูดข้อมูล ข่มขู่ได้         ปัจจุบันพบว่ามีบัญชีม้าอยู่ในระบบธนาคารแล้วจำนวนมากถึง 200,000 - 500,000 บัญชี จากบัญชีธนาคารในประเทศทั้งหมดกว่า 121 ล้านบัญชี และยังพบรายชื่อผู้เข้าข่ายบัญชีม้าเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 1,000 รายชื่อ         นี่จึงเป็นองค์ประกอบที่พร้อมให้ภัยการเงินทางออนไลน์ยิ่งระบาด เมื่อเด็ก เยาวชนไทยส่วนใหญ่มีเครื่องมือการสื่อสารแล้วแต่กลับแวดล้อมด้วยมิจฉาชีพให้เข้าถึงได้ทุกเมื่อ และเมื่อถูกหลอกแล้วก็ยากแสนยากที่จะได้ทรัพย์สินที่สูญหายไป กลับคืนมา  เราจะดูแลเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากภัยการเงินออนไลน์ได้อย่างไร         คุณเบญจวรรณ ดำรงกิจการ  แม่ของเด็กหญิงวัย 12 ปีที่ได้เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ หลังจากบุตรสาวได้ถูกหลอกให้ผ่อนมือถือราคากว่า 60,000 บาท เมื่อคุณเบญจวรรณทราบเรื่องและได้คำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและยืนยันจะดำเนินคดีกับมิจฉาชีพให้ถึงที่สุด สุดท้ายจึงได้รับเงินคืนเล่าว่า         “ลูกสาวน่าจะเห็นโฆษณาให้ผ่อนมือถือจากใน IG  เลยกดเข้าไป เขายังไม่มีบัญชีธนาคาร  แต่มีบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ทจึงโอนผ่อนจากตรงนั้น โทรศัพท์ราคา 60,000 บาท ลูกเราอยากได้ บอกกับทางร้านว่าพ่อแม่อนุญาตแล้ว แล้วเขาผ่อน 5 บาท บ้าง 100 บาทบ้าง ครั้งที่โอนเยอะที่สุด คือ 500 บาท ทางร้านก็บอกว่า ผ่อนมากน้อยไม่เป็นไร ขอให้โอนมาเรื่อยๆ พอเรารู้เราถามลูกว่า หนูลองคำนวณดูสิ  หนูผ่อนเท่านี้ อีกกี่ปีจะได้มือถือ คิดแล้ว 10 ปีแต่เด็กเขาอยากได้ เขายังเชื่อก็บอกเราว่า ‘แต่ร้านบอกว่า ถึงเวลานั้นหนูก็เปลี่ยนเครื่องได้นะแม่’  คือความไร้เดียงสาของเด็ก เขาไม่ได้คิดรอบคอบ ไม่ได้มองไปไกลๆ ได้”         “เรารู้ว่าลูกแอบผ่อนมือถือ เพราะเราแอบดูมือถือเขา เวลาที่เขาหลับ การที่ลูกมีโทรศัพท์มือถือไม่ได้หมายความว่า  เราจะไม่สามารถรู้เรื่องของเขาได้ เราตกลงกับลูกเลยว่า ตราบใดที่ลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ เราจำเป็นต้องมีรหัสเข้าดูมือถือเขา พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น เราเอามาเป็นโอกาสที่เอาข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแชร์กับลูก ว่ามีความจำเป็นอะไรที่แม่ต้องเข้าไปดู เราคิดว่าพ่อแม่ปัจจุบันต้องใส่ใจในทุกสิ่ง แล้วต้องมีวิธีการในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับลูกว่า เราไม่ได้ละเมิดสิทธิพื้นฐานของลูกนะ แต่มีความจำเป็นว่าถ้าเราปล่อยให้เขาตัดสินใจโดยที่เราไม่รับรู้ด้วยที่เขายังไม่บรรลุนิติภาวะจะมีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง”         ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เผยว่า  การที่เด็กและเยาวชนถูกหลอกตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์ มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ปัจจัยภายในคือ เด็กและเยาวชนยังมีพัฒนาการทางสมองด้านอารมณ์ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กมีความสามารถในการ เข้าใจ วางแผน การคาดคะเนเหตุการณ์ได้ไม่เท่าผู้ใหญ่ สมองส่วนอารมณ์ของเขายังหุนหัน พลันแล่น เป็นช่วงชีวิตที่จะเจ้าอารมณ์ ส่งผลให้เมื่อโดนหลอก มีปัญหาชีวิตเขาอาจจะจัดการได้ไม่เหมาะสม ทำร้ายตัวเองและหลายรายจบชีวิตตัวเองแบบที่ได้เห็นตามข่าว         “ ส่วนปัจจัยภายนอก คือมิจฉาชีพที่เขาเข้ามาหลอก ต้องยอมรับว่าเขาก็พัฒนา วิธีการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็อยู่ในสังคมที่มีการซื้อขายข้อมูลด้วย  ถ้าใครมาพูดถึงข้อมูลส่วนตัวของเราที่เราไม่เคยบอกใคร เขาก็ดูน่าเชื่อถือขึ้นมาแล้ว คือไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปเดินให้เขาหลอก การถูกหลอกจึงเกิดขึ้นได้เพราะมีหลายปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราไม่อาจบอกได้ง่ายๆ ว่าเพราะเธอโง่หรือไม่ฉลาด ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถนำมาบูลลี่ได้ เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่หรือหมอ ก็ถูกหลอกได้หมด เราก็เห็นมาแล้ว”         ธนกฤษ ชี้ชวนให้เห็นว่า ความสำคัญคือการรับมือหลังจากเมื่อปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วว่าครอบครัวสามารถเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้พราะสุดท้าย ด้วยความเป็นเด็กย่อมต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือ         “ บางครอบครัวบอกว่า มีอะไรมาบอกพ่อแม่ได้ทุกเรื่องนะ แต่พอมาเล่าแล้วโดนว่า “ทำไมถึงทำอย่างนั้น” “ไม่ฉลาดเลย” เด็กก็ได้รับ Feedback ที่ไม่ดีไป เขาก็เกิดการเรียนรู้ว่ามาปรึกษาพ่อแม่ไม่ได้นะ บางบ้านพ่อแม่อาจจะบอกตลอดว่า “ระวังนะ มันมาหลอก อย่าไปหลงเชื่อนะ” แต่วันนึงเมื่อตกเป็นเหยื่อ เขาเลยอาจจะคิดว่า เออ เรามันโง่จริงๆ แหละ พ่อแม่เตือนแล้วเด็กเขาดีลกับความกังวลได้ไม่นาน ก็จะเครียด จะเศร้า สุดท้าย อ่ะ ตายดีกว่าไหมล่ะ ตัวเองมองแล้วมันแก้ไขปัญหาไม่ได้ไง”         “การเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกหลานในครอบครัวของเราได้ ซึ่งในทางจิตวิทยาจะบอกว่าสัมพันธภาพของเรากับเขาดี พอดีแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ประตูในการแก้ไขปัญหาเรามีมาก ที่เรามักจะได้ยินว่า เลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน ไม่ตัดสิน ไม่วิพาก์วิจารณ์หรือตำหนิ อาจเป็นเรื่องที่ยังยากสำหรับบางครอบครัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ค่อยๆ ฝึกเพื่อดูแลลูกหลานของเราเอง สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ถ้าปัญหายังไม่เกิดกับคุณ ลองถามตัวเองว่าถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น แล้วเราโกรธไหม เราโกรธแล้วเราทำอะไร เรายังอยากจะรับฟังปัญหา ความรู้สึกของลูกไหม เพราะการรับฟังจริงๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว เราต้องสำรวจความคิดของเราว่าเป็นอย่างไร แล้วเราต้องปรับความคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครผิด ใครถูกที่แท้จริง คนเป็นพ่อแม่ต้องกลับมาศึกษาอารมณ์ ความคิดของตัวเองว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เราจะถามลูกว่า “ ทำไมลูกถึงมีปัญหา  ทำไม”  “ลูกไม่ได้คิดเหรอ” หรือเลือกจะรับฟังอย่างตั้งใจ แค่นี้เราก็ตอบได้แล้วว่าเราเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานได้หรือไม่ นี่คือจุดเริ่มต้น  ส่วนการตรวจเช็คโทรศัพท์ ผมคงไม่บอกว่า ทำอะไรดีหรือไม่ดี แต่ละบ้านย่อมมีความเหมาะสมที่จะทำอะไรได้แตกต่างกัน และถ้าสัมพันธภาพกับเด็กไม่ดี เราทำอะไรลงไปอาจจำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ก็ได้ แต่พัฒนาการช่วงวัยรุ่น เขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวแล้วเขาหวง และผมมองว่า เราจะเช็คโทรศัพท์เขาทุกครั้งที่เรากังวลมันช่วยลดความกังวลของเราเอง หรือช่วยป้องกันลูกได้จริงๆ ผมมองว่า การพูดคุย แลกเปลี่ยนกันตลอด ว่าตอนนี้มีแบบนี้นะ หนูเจอแบบนี้บ้างไหม “ถ้าหน่วยงานราชการจริง ตำรวจจริง เขาไม่โทรหาเราครั้งเดียวหรอก เดี๋ยวเขาต้องมาหาเราเอง” ให้มีการแลกเปลี่ยนกันเป็นปกติ แล้วมีอะไรเขาเองที่อยากมาแลกเปลี่ยน มาเล่าให้เราฟังแบบนั้นน่าจะดีที่สุด”         นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เผยว่า ภัยการเงินในเด็กและเยาวชนที่มีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเรื่องการถูกหลอกไปเปิดซิมจำนวนมาก ซึ่งแม้หลายคนจะได้ทราบว่ากฎหมายการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 กำหนดโทษไว้ในมาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก (บัญชีม้า) หรือให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์ (คนเปิดซิมม้า) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังอาจชะล่าใจว่าเมื่อเป็นเด็กจะได้รับโทษลดลง แต่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ง่ายเลย         “กรณีที่เป็นเด็กและเยาวชน แน่นอนว่าเมื่อทำผิด ก็มีกระบวนการทางกฎหมายที่เน้นไปที่การบำบัด แก้ไขเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม  แต่สิ่งที่ได้รับเหมือนๆ กันคือการถูกเรียกเก็บเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซึ่งเราจะเห็นว่าสุดท้ายผู้ปกครองก็จะเข้ามารับผิดชอบตรงนี้ หรือบางรายเด็กต้องการแก้ไขปัญหาเองก็กลายเป็นทำให้หาทางออกที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมากขึ้น”         “ เรื่องภัยการเงินทางออนไลน์เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันดูหลายฝ่ายจริงๆ แต่ดิฉันคิดว่าทางออกที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องเยาวชนของเราและทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ คือการปลูกฝังเรื่องวินัย ทักษะความรอบรู้ทางการเงิน เริ่มจากเราสังเกตลูกหลานของเราว่าตอนนี้เขามีการใช้เงินอย่างไร มีระเบียบไหม และเราเองสามารถจะเป็นคนที่แนะนำให้ความรู้กับเขาได้ไหม เพราะจุดเริ่มต้นหลักๆ ที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ คืออยากได้เงิน เมื่อเกิดปัญหา เรายิ่งต้องการเงินแต่เราไม่มี เราก็ไปกู้นอกระบบ ยิ่งทำให้สร้างปัญหาไปเรื่อยๆ  และยิ่งตอนนี้เราเห็นว่า มีบัตรเครดิต บัตรต่างๆ ให้นักศึกษาใช้ แม้คนกลุ่มนี้เขาจะยังไม่มีรายได้ประจำก็ตาม แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย สุดท้ายเป็นครอบครัวที่จะรับผลที่เกิดขึ้น”คำแนะนำเพื่อเฝ้าระวัง สร้างความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ สื่อสาร        ·     หมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอจะทำให้รู้เท่าทัน  เทคนิค วิธีการที่มิจฉาชีพใช้         ·     พูดคุย สร้างความเข้าใจและอัพเดตภัยการเงินต่างๆ ในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ         ·     ปลูกฝังวินัย ทักษะทางการเงินให้แก่เด็กและเยาวชนตั้งแต่ลูกยังเด็ก         ·     ติดตามความรู้การเงินการลงทุนดีๆ เพื่อเห็นโอกาสในการลงทุนที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ        ·     ตั้งค่าการใช้แอพลิเคชันที่ใช้อยู่เป็นประจำให้ปลอดภัย เช่น ไม่ใช้รหัสผ่านที่เป็นเบอร์โทรศัพท์ หรือ วัน เดือน ปีเกิด ไม่เชื่อมต่อแอพลิเคชั่นต่างๆ ให้ลิ้งค์เข้าหากัน เพื่อป้องกันการถูกดูดข้อมูล หรือการตั้งค่าไลน์ไม่ให้บุคคลสาธารณะเข้าถึงได้ให้กับมือถือของบุตรหลาน เป็นต้น         ·     ไม่ซื้อของออนไลน์จากร้านที่ไม่รู้จักหรือ ควรโทรไปสอบถามให้บ่อยครั้ง จนแน่ใจก่อน         ·     ไม่โอนเงินลงทุน หรือหลงเชื่อคนที่รู้จักแต่ติดต่อมาทางออนไลน์ เพราะบุคคลดังกล่าวอาจถูกแฮกข้อมูลได้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อน          ·     ก่อนกรอกข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ในเว็บไซต์ใดๆ ควรตรวจความปลอดภัยของเว็บไซต์ก่อนด้วยการเข้าไปตรวจเช็คโดเมนเนมของเว็บไซต์ว่าปลอดภัย เชื่อถือได้หรือไม่        ·     ระมัดระวังการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปปลอมจาก google play เพราะแอปปลอมจะอนุญาตเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในเครื่องได้        ·     เลือกลงทุนในบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น โดยเข้าไปตรวจทะเบียนรายชื่อ Investor Alert ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. ( www.sec.or.th ) หรือแอปพลิเคชัน SEC Check First        ·     ทุกการทำธุรกรรม การโอน การลงทุน เก็บหลักฐาน ข้อมูล รายละเอียดไว้เสมอเพื่อเป็นหลักฐานในการติดตามหาตัวคนร้ายในภายหลังได้  

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)