ฉบับที่ 215 เบี้ยประกันสำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้ประชาชนในฐานะ พลเมือง และผู้บริโภค


            หลายๆ ครั้งที่ติดตามข่าว โดยเฉพาะกรณีที่ ประชาชนหรือผู้บริโภค ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการรักษาสิทธิของตนเองนั้น มักปรากฏว่า มักจะมีทนายอาสา หรือ มูลนิธิต่างๆ เอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือ สงเคราะห์ เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมนั้น คดีความต่างๆ จำเป็นต้องใช้บริการของทนายทั้งในกรณีขอคำปรึกษา และว่าความให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน
            กรณีของเยอรมันเอง ได้มีบริการสำหรับ ให้ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้บริการ ทนายความโดยอาศัยหลักการ การซื้อเบี้ยประกันสิทธิของประชาชน (Rechtsschutzversicherung: Legal Expense Insurance)
            หลักการของประกันลักษณะนี้จะคล้ายกับ การซื้อประกันสุขภาพ ที่จะต้องหาหมอในกรณีป่วย ประชาชนที่มีประกันสุขภาพ ก็ใช้บริการประกันสุขภาพ แต่บริการประกันสิทธิ คือ การใช้บริการของทนาย ในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และต้องใช้บริการทนาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นระบบประกันสิทธิแบบจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าจึงเข้ามาปิดช่องว่าง ของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้กับ ประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ สำหรับวันนี้จะขอยกตัวอย่าง ประกันสิทธิทางถนน (Verkehrrechtschutz: Traffic right Insurance) ซึ่งเป็นประกันภัยที่เหมาะและมีประโยชน์กับทุกคนที่จะต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน ขี่รถจักรยาน หรือ ขับรถยนต์ ในกรณีที่เกิดคดีความกันบนท้องถนน ประชาชนที่มีประกันสิทธิ ก็สามารถปรึกษาเรียกหาทนายความมาเป็นที่พึ่งได้



 
            เหตุการณ์ลักษณะใดบ้างที่ประกันสิทธิบนท้องถนนให้ความคุ้มครอง
                1 กรณีกิดอุบัติเหตุ หลายๆ ครั้งที่ รถยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยาน การพิสูจน์ถูก ผิดในคดี จำเป็นที่จะต้องใช้บริการทนายในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผู้ขับขี่รถยนต์ หรือ คนขับขี่จักรยาน ที่มักได้รับบาดเจ็บ จากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดถูก หรือผิด จนกว่าจะได้รับคำพิพากษาจากศาล
                2 กรณีซื้อยานพานะแล้วปรากฏว่าเป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจำเป็นต้องใช้ ทนายในการทำคดี
                3 ในกรณีที่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งขอกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนกฎจราจร ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ต่อศาลโดยสามารถปรึกษากับทนาย โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด บริษัทรับทำประกันรับผิดชอบ
                ในกรณีที่ผู้ประกันสิทธิเป็นฝ่ายผิด ก็สามารถใช้บริการนี้ เพื่อป้องกัน การเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริงได้
                5 ในการต่อสู้ทางคดีความ ฝ่ายผิด เป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้คดีความให้กับอีกฝ่ายด้วย ดังนั้น หลายๆ กรณี มักจะจบด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ต้องใช้บริการปรึกษาทนายความ
            ขอยกตัวอย่าง กรณีการเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ เฉี่ยวชน กับรถจักรยาน กรณีที่ เกิดความเสียหายเฉพาะตัวรถจักรยาน เจ้าของจักรยาน เรียกค่า เสียหาย 1000 ยูโร แต่ ประกันของฝ่ายรถยนต์มองว่า เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป เมื่อตกลงกันไม่ได้จึง ต้องฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าเสีย ซึ่งค่าใช้จ่ายของทนายความ คือ 350 ยูโร และค่าฤชาในการฟ้อง อีก 160 ยูโร ในกรณีที่คนขับขี่รถจักรยานเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องรับภาระจ่ายค่าคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งของคู่ความด้วย รวมๆแล้ว คนขับขี่จักรยานต้องจ่ายรวมเบ็ดเสร็จ 770 ยูโร ในกรณีที่คดีเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 1560 ยูโร และถ้าเป็นชั้นฎีกา อาจเพิ่มสูงถึง 2600 ยูโร ซึ่งมากกว่า มูลค่าความเสียหาย
ถ้าเกิดกรณีบาดเจ็บ และคนขับขี่จักรยานเรียกร้องค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บ 25000 ยูโร คนขับขี่จักรยานก็ต้องจ่ายค่าทำคดี ในศาลชั้นต้นสูงถึง 6480 ยูโร ชั้นอุทธรณ์ 13265 ยูโร และชั้นฎีกา 22300 ยูโร ดังนั้นค่าคดีความจึงขึ้นอยู่กับมูลค่าความเสียหาย
            เบี้ยประกันสิทธิคุ้มครองทางถนน จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญกับผู้ใช้เส้นทางการเดินทางทุกคน ระบบประกันสิทธิโดยใช้รูปแบบของการจ่ายเบี้ยประกันจึงเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ ในประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเลือกซื้อประกันสิทธิแบบนี้ โดยสามารถเปรียบเทียบราคา และสิทธิประโยชน์ได้จาก การรวบรวมข้อมูลของ องค์กรผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ ทดสอบเปรียบเทียบของสินค้าและบริการเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อเบี้ยประกันได้ตามความสมัครใจ



แหล่งข้อมูล: ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค รักษาสิทธิ ประกันสุขภาพ อุบัติเหตุ

ฉบับที่ 235 แนวความคิดและผลการศึกษาหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Basic Incomes)

        หลักการรัฐสวัสดิการคือ การที่เราเมื่อมีอาชีพมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีและส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามสัดส่วนของรายได้ โดยที่เงินที่เรานำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมจะเป็นหลักประกันทางการเงินในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราสามารถใช้เงินจากกองทุนในการรักษาพยาบาล กรณีตกงานหรือเลิกจ้างก็สามารถได้รับเงินทดแทน จนกระทั่งเราได้งานใหม่และมีรายได้กลับคืนมาอีกครั้ง หรือกรณีบำนาญชราภาพเราก็มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน          เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประกันสังคม ที่หลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้ใช้กันมาตั้งแต่มีการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานมนุษย์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้า ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีข้อจำกัดคือใช้ได้กับคนที่ประกอบอาชีพมีรายได้ประจำเท่านั้น  ปัจจุบันจึงมีแนวคิดในเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย คือแนวความคิดเรื่องหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข (unconditional basic incomes) หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไขคืออะไร         หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข หรือ unconditional basic incomes คือ ประชาชนทุกคนในประเทศ จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งจำนวนเงินที่จะได้รับนั้นเพียงพอในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานเรียกได้ว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่จะมีรายได้ดำรงชีพ อย่างไรก็ตามแนวความคิดดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงและสร้างความสงสัยให้กับหลายๆ คนว่า        1. คนเราไม่จำเป็นต้องมีอาชีพมีงานทำต่อไปใช่หรือไม่ ?        2. งานบางประเภทจะสูญหายไปถ้าค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ?        3. หลักการนี้ ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะใช้เงินจำนวนมาก ?        4. หลักการนี้ส่งให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าจะแพงขึ้น ?        5. หลักการนี้ไม่ยุติธรรม เพราะคนรวยก็มีสิทธิได้รับเงินเหมือนกัน ?        6. หลักการนี้จะเหมือนกับเป็นการลงโทษคนขยันที่ยังทำงานอยู่ ?        7. หลักการนี้จะเป็นจุดจบของรัฐสวัสดิการ ?        8. หลักการนี้จะนำไปสู่สังคมของความเห็นแก่ตัว ?          จากแนวความคิดและคำถามตลอดจนข้อสงสัยต่อประเด็นดังกล่าวเบื้องต้น ได้มีกลุ่มคนที่สนใจสวัสดิการรูปแบบนี้ ก่อตั้งเป็นสมาคมเพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig) เพื่อทำการทดลองเชิงปฏิบัติการ (Social Experiment) โดยที่องค์กรนี้จะทำหน้าที่ระดมเงินเพื่อนำมาให้กับคนที่ต้องการรายได้ขั้นต่ำที่แน่นอนทุกเดือน เดือนละ 1000 ยูโร เป็นระยะเวลานาน 1 ปี กระบวนการคัดเลือกคนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ใช้กระบวนการสุ่ม เหมือนกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ไม่ต้องใช้เงินซื้อแต่ต้องลงทะเบียนเพื่อแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมการทดลองโครงการของสมาคมนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.  2014 มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน        บทเรียนและข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษานี้        1 คนที่ได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานโดยที่ไม่มีเงื่อนไขจะเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นมามีความเชื่อมั่นในอนาคตและรู้สึกมั่นคงกับชีวิต ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่การได้รับเงินแบบไม่มีเงื่อนไขคนรู้สึกเป็นอิสระ เมื่อคนในสังคมรู้สึกมั่นคง สังคมก็จะมั่นคง        2 เดิมคนที่มีรายได้น้อยและได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้เริ่มลงทุนในชีวิตอย่างฉลาดไม่ว่าจะลงทุนในการศึกษามาเรียนเพิ่มวุฒิเพิ่มประสบการณ์ หรือมีอาชีพอิสระเริ่มยอมรับกับความเสี่ยงในการที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือเริ่มซื้อของใช้ที่เดิมอาจไม่มีกำลังซื้อ          สำหรับคนที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว และได้รับการเช้าร่วมโครงการนี้พบว่า ตนเองมีอิสระมากขึ้นและเมื่อย้อนกลับมาดูอดีตของตนที่ผ่านมาพบว่า ตนเองต้องเผชิญกับความเครียดและความกลัวในชีวิต ในช่วงปีที่ได้รับเงินจากโครงการชีวิตตนเองผ่อนคลายมีเวลาให้กับตนเองในการทบทวนบทบาทหน้าที่และมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ได้ใช้เงินจากโครงการนี้เลย         ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากผลการทดลองทางสังคมในเยอรมนีเกี่ยวกับหลักประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับทุกคน ครั้งหน้าจะมาสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อครับ         แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคม เพื่อหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานขึ้น (Mein Grundeinkommen e.V. Gemeinnützig)https://www.mein-grundeinkommen.de/erkenntnisse/was-ist-es

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 233 ปัญหาการขอยกเลิกเที่ยวบิน ในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง (Covid-19)

        ปัญหาการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรง ของเชื้อไวรัส โควิด 19 ส่งผลให้ ผู้บริโภคที่ได้จองตั๋ว แพ็คเกจการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึง การเดินทางโดยเครื่องบิน และการจองที่พักในโรงแรม ผ่าน บริษัทตัวแทน พักไม่สามารถบินไปได้ เนื่องมาจากมาตรการของรัฐในการปิดสนามบิน เพื่อลดปัญหาการนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีให้ความสำคัญ         ข้อเสนอของรัฐบาลเยอรมนี ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และป้องกัน การล้มละลายของภาคธุรกิจ คือการให้ภาคธุรกิจสามารถออกคูปอง มูลค่าเท่ากับราคาของแพ็คเกจ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าสถานการณ์ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น ก็สามารถนำคูปองชดเชยนั้นมาใช้ได้ มาตรการนี้ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นพ้องกับรัฐบาลสำหรับมาตรการดังกล่าว ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกการได้รับการชดเชย ที่ผู้บริโภคพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกขอรับคูปอง หรือการขอคืนเป็นเงินสด         ถึงแม้ว่า ประเด็นทางกฎหมายจะชัดเจนแล้วสำหรับ กรณีการชดเชยความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมียอดเงินที่ยังคงค้างอยู่จาก การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน เป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านยูโร ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ก็ยังคงใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบ และคดโกงผู้บริโภค โดยหลอกผู้บริโภคว่า ไม่สามารถคืนเงินได้ หรือ การคืนเป็นเงินจะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงมาก และมักจะขอเวลาในการคืนเงินที่ยาวนานผิดปกติ          จากการติดตามสถานการณ์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และอาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริโภคและประชาชนที่เดือดร้อน          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ของไทย ก็พบว่า ไม่แตกต่างกัน และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ ก็มีมติเห็นชอบในการติดตามประเด็นเรื่องนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลการร้องเรียน ตลอดจนกำลังประสานกับคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรในการจัดการปัญหา การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ต่อประเด็นการชดเชยความเสียหายที่ล่าช้า หรือ การไม่สามารถชดเชยความเสียหายในการยกเลิกสัญญาภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ การล้มละลายของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ในกรณีที่ สายการบินขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถาการณ์ โควิด 19 โดยเฉพาะสายการบินที่มีสัญชาติไทยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) และสายการบินนกสกู้ต จำกัด ที่ขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า        สำหรับข้อมูลการร้องเรียนกรณีปัญหาการยกเลิกตั๋วเครื่องบินทั้งจากการซื้อด้วยตนเอง มีผู้ร้องเรียน 172 ราย และซื้อผ่านเอเจนซี่ จำนวน 71 ราย จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563)กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตนเอง สามารถยุติข้อพิพาทได้ 40 ราย คิดเป็น 23 % กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจนซี่ สามารถยุติข้อพิพาทได้ 13 ราย คิดเป็น 18 %สำหรับการยุติเรื่องร้องเรียนมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น        ·  ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน        ·  สามารถเก็บเครดิตไว้ใช้ครั้งต่อไป        ·  เก็บวงเงินไว้ใช้ภายใน 2 ปี        ·  สามารถเลื่อนตั๋วโดยสารได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย        ·  ได้รับเครดิตการบิน ชดเชย เป็น 120 %สำหรับการยุติเรื่องที่ซื้อตั๋วโดยสารผ่านเอเจนซี่ ก็มีลักษณะคล้ายๆกันไม่ว่าจะเป็น        · ได้รับเงินคืน        ·  ได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิต        · ได้รับเงินคืน แต่ถูกหักค่าดำเนินการ/ค่าธรรมเนียม        ·  ได้รับเครดิตเงินคืน ที่สามารถใช้ได้ภายใน 1 ปี        ·  ได้รับการเลื่อนเที่ยวบิน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย          สำหรับรูปแบบการชดเชย เยียวยาผู้โดยสารนั้น จะสังเกตได้ว่า มีช่องทางการคืนเงิน ผ่านบัตรเครดิต ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็อาจเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงมาก ตั้งแต่ 20- 28% และกรณีผู้โดยสาร ต้องการเงินสด การถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมการถอนแต่ละครั้ง ประมาณ 3 % จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภค/ผู้โดยสาร มีต้นทุนสูงกว่ามากถ้าต้องการเงินสดที่มีวงเงินอยู่ในบัตรเครดิต         ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การได้รับเงินชดเชยคืน ควรจะอยู่ในรูปแบบเงินสด เช็คเงินสด หรือ โอนเข้าบัญชี ธนาคารครับสำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเรื่อง การคืนตั๋วโดยสารเครื่องบินก็สามารถ ร้องเรียนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นะครับ เบอร์โทร 02-2483737 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือ สามารถร้องเรียนออนไลน์ ได้ที่www.consumerthai.org ตามหลักการที่ว่า ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่า บ่น 1,000 ครั้ง(แหล่งข้อมูล https://www.vzbv.de/pressemitteilung/pauschalreisen-gutscheine-bleiben-freiwillig-erstattungen-lassen-auf-sich-warten )

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 232 วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ศิลปะในการแสดงความเห็นออนไลน์

        ไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มรีวิวเรื่องต่างๆ เราสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับใคร ในเรื่องใดก็ได้ แต่เพราะเราไม่ได้นั่งอยู่กับคนที่เรากำลังวิจารณ์ รวมถึงการแสดงความเห็นแบบไม่ระบุชื่อ อาจทำให้หลายคนแสดงความเห็นด้วยความโกรธ ความผิดหวัง หรือเกลียดชัง โดยไม่มีการกลั่นกรอง แต่การใช้แพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความคิดเห็นก็ไม่ต่างจากการใช้รถใช้ถนนบนโลกจริง การแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นออนไลน์ จะต้องคำนึงถึงกฎและมารยาทเช่นกัน         ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่การเขียนสิ่งที่เป็นโดยไม่ตรงกับความจริงนั้นอาจมีผลทางกฎหมาย แม้แต่เรื่องที่เราอาจจะมองข้าม เช่นการเขียนวิจารณ์ว่า "ผมว่าพิซซ่าร้านนี้ไม่อร่อย" นั้นถือเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเขียนว่า "ร้านนี้เอาพิซซ่าแช่แข็งมาอุ่นให้ลูกค้า" อาจเข้าข่ายการใส่ความ หากทางร้านไม่ได้ทำเช่นนั้นจริง ความแตกต่างระหว่าง การแสดงความคิดเห็นและการตั้งข้อกล่าวหา อาจมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่         ดังนั้นก่อนจะแสดงความคิดเห็น เราควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้        1. ตั้งอยู่บนความจริง        การวิพากษ์วิจารณ์ร้านค้าหรือบริการต่างๆ นั้นได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นธรรม พยายามกล่าวอ้างตามข้อเท็จจริง  ระวังอย่าให้อารมณ์มาเป็นตัวกำหนด เพราะอาจทำให้ความเห็นของเรากลายเป็นการใส่ร้าย ซึ่งอาจมีผลทางกฎหมาย        2. การเปิดเผยข้อมูล        เมื่อเข้าใช้ระบบโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้คิดอย่างรอบคอบว่าใครอ่านความเห็นของเราได้บ้าง ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อดูว่าใครสามารถเข้ามาดูข้อมูลโปรไฟล์และกิจกรรมของเราได้        3. อย่าใช้อารมณ์นำ        ถ้าเราได้แสดงความเห็นออกไป ที่เข้าข่ายดูถูกเหยียดหยามหรือใส่ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง ขอให้รีบลบโพสต์นั้นโดยเร็วที่สุด อย่าเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน เพราะถ้าถูกส่งต่อไป อาจทำให้ถูกออกจากงานได้         โดยทั่วไปไม่มีใครต้องกังวลเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นในด้านลบ ถ้าสิ่งที่กล่าวนั้นเป็นธรรม ตั้งอยู่บนความจริงและเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยหลักการแล้วการวิจารณ์ไม่ควรมุ่งทำร้ายผู้อื่นหรือเป็นการแก้แค้น        วิจารณ์อย่างไรให้ได้ผล        · แนะนำว่าปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ดีกว่าที่จะเขียนแค่ว่าอะไรต้องปรับปรุง หรือแค่ติว่าอะไรไม่ดี        · วิจารณ์ในสิ่งที่เราได้สัมผัสหรือประสบมาด้วยตัวเองเท่านั้น        · เน้นว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเราเอง เช่น "ผมคิดว่ากาแฟเข้มไปหน่อย"        · ไม่อ้างข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน        · ไม่เปิดเผยชื่อบุคคล (อาจมีข้อยกเว้น)        สำหรับเจ้าของกิจการ หรือผู้ที่ทำงานกับผู้คนนั้น มักจะตกเป็นเป้าหมายของการประเมินและวิพากษ์วิจารณ์เสมอ  โดยทั่วไปผู้มีอาชีพในกลุ่มนี้ ต้องยอมรับคำวิจารณ์เกี่ยวกับบริการของพวกเขา แต่เมื่อพบเจอกับการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม อาจใช้วิธีจัดการเบื้องต้นดังนี้         · ในคำวิจารณ์ที่รุนแรง มักมีคำแนะนำที่นำไปใช้ในการปรับปรุงการบริการที่สามารถนำไปใช้ได้ซ่อนอยู่เสมอ        · ระบบโซเซียลหรือแพลตฟอร์มบางแห่ง อนุญาตให้เจ้าของกิจการเข้าไปชี้แจงต่อคำวิจารณ์ได้ ให้รีบเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริง จะสามารถลดความเสียหายจากความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรมได้        · หากพบคำวิจารณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ของแพลทฟอร์มนั้นโดยตรง ถ้าไม่สำเร็จอาจต้องให้ทางกฏหมายจัดการ        · สำหรับเรื่องที่ผิดกฏหมายอย่างชัดเจน ควรไปแจ้งความ         ผู้รับคำวิจารณ์ควรตระหนักว่า การแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตมักจะแตกต่างจากการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวเสมอ การที่ไม่ต้องระบุตัวตนอาจทำให้ผู้วิจารณ์ขาดความระมัดระวังในการใช้คำพูด ส่วนทางผู้วิจารณ์เองก็ควรจะระลึกว่าอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นคนเหมือนกัน ควรยึดหลักการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้ถูกวิจารณ์ได้นำความคิดเห็นนั้นไปใช้ปรับปรุงบริการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 231 สภาองค์กรผู้บริโภคเกิดช้า ผู้บริโภคมีแต่เสียประโยชน์ (2)

        อีกบทบาทสำคัญของสภาองค์กรผู้บริโภค คือการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง เพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่  โดยช่วยเหลือในการปฏิบัติการในชุมชน เฝ้าระวังการจำหน่ายหรือโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น การเฝ้าระวังยาชายแดน หรือการเฝ้าโฆษณาวิทยุที่เกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพชวนเชื่อให้เข้าใจผิดเรื่องการลดความอ้วน รักษาโรค เสริมสมรรถภาพทางเพศ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวงจากโฆษณา  ในทุกวันนี้ เราต้องยอมรับว่าปัญหาผู้บริโภคมีหลากหลาย ลำพังเพียงหน่วยงานรัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นการมีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงมีความสำคัญในการช่วยสอดส่อง เฝ้าระวัง และรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของผู้บริโภค ในพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคได้ง่าย และองค์กรผู้บริโภคต่างๆ ก็จะทำหน้าที่เก็บข้อมูล ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหา และเอาผลการดำเนินการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาขับเคลื่อนในการทำงานระดับจังหวัดหรือภูมิภาค        อย่างไรก็ตาม องค์กรผู้บริโภคที่มีอยู่ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่แสวงหากำไร ดังนั้น รายได้ขององค์กรจึงมาจากเงินบริจาค หรือการขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ  และต้องทำโครงการของงบประมาณจากหน่วยงานรัฐ ทำให้มีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงจำเป็นต้องมี สภาองค์กรผู้บริโภคในการให้ความสนับสนุนทั้งในเรื่องงบประมาณและพัฒนาคนทำงาน  ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคก็จะเข้าไปสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคที่มีคุณภาพ มีคนทำงานที่มีศักยภาพ เช่น สนับสนุนการจัดอบรมพัฒนาความรู้เกี่ยวกับสิทธิ กฎหมายผู้บริโภคใหม่ๆ พัฒนาการใช้ระบบฐานข้อมูล การทำงานเฝ้าระวัง เป็นต้น  และบ่อยครั้งที่พบว่าผู้บริโภคซึ่งได้รับการช่วยเหลือ อยากนำประสบการณ์และความรู้ของตนเองกลับมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานองค์กรผู้บริโภค ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคก็มีส่วนส่งเสริมให้อาสาสมัครผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นได้รับการพัฒนาศักยภาพความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค เพื่อมาช่วยเหลือผู้บริโภคคนอื่นๆ ต่อไป         แต่ที่ผ่านมากระบวนการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคมีความล่าช้า เห็นได้จากกฎหมายต้องการเพียง 150 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งมารวมตัวกันเป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค แต่ ณ วันนี้ เวลาผ่านไปกว่า 8 เดือนมีองค์กรผู้บริโภคมากกว่า 1,000องค์กรขอจดแจ้ง แต่มีเพียง 58 องค์กรเท่านั้นที่มีผ่านการจดแจ้งและได้รับการประกาศชื่อเป็นทางการ  จึงเกิดคำถามต่อการทำงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ในฐานะนายทะเบียนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเพื่อรับจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค อาจมีคนสงสัยว่ากฎหมายไม่กำหนดกรอบเวลาในการรับจดแจ้งไว้หรือ คำตอบคือไม่ใช่ การรับจดแจ้งกฎหมายกำหนดเวลาไว้ชัดเจนว่านายทะเบียนต้องเร่งดำเนินการพิจารณาคำขอจดแจ้งให้เสร็จภายใน 60 วัน และหากทำไม่ทันสามารถขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน หรือสรุปสั้นๆ คือเต็มที่มีเวลาตรวจสอบนานถึง 4 เดือน แต่ปรากฏว่าจนทุกวันนี้ เวลาที่กฎหมายให้ไว้ก็หมดไปแล้ว หลายองค์กรยังไม่ได้รับการประกาศผลจดแจ้ง หลายองค์กรนายทะเบียนจังหวัดตรวจสอบผ่านแล้ว ส่งชื่อมาให้ สปน.ประกาศ ก็ยังไม่มีการดำเนินการ          บางองค์กรที่ได้รับแจ้งผลว่าไม่ผ่านการจดแจ้ง ก็ถูกตีความกฎหมายในเรื่องการเป็นองค์กรที่ถูกครอบงำหรือจัดตั้งโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ  ซึ่งการตรวจสอบจะพิจารณาจากเพียงการดูว่ากรรมการคนใด มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทที่ไหนบ้าง หรือเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐใดบ้าง ไม่ได้มีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดว่าบุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมหรือพฤติการณ์ครอบงำหรือได้จัดตั้งองค์กรผู้บริโภคนั้นอย่างไรบ้าง         นอกจากปัญหาการตีความกฎหมายไปในทางจำกัดสิทธิองค์กรผู้บริโภคของนายทะเบียนที่รับจดแจ้งทั้งส่วนกลางและนายทะเบียนจังหวัดแล้ว พบว่ามีการใช้อำนาจเกินกฎหมาย ในหลายจังหวัดนายทะเบียนจังหวัดตรวจสอบองค์กรและออกหลักฐานรับจดแจ้งไปแล้ว แต่ สปน. กลับตรวจสอบเอกสารหลักฐานซ้ำ และให้ขอให้นายทะเบียนจังหวัดกลับไปตรวจสอบใหม่อีกครั้ง ทั้งที่อำนาจในการตรวจสอบและรับจดแจ้งเป็นของนายทะเบียนจังหวัด สปน.ไม่มีสิทธิและมีหน้าที่เพียงแค่ประกาศชื่อองค์กรที่รับจดแจ้ง ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการสร้างขั้นตอนเกินสมควรทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค        จากหลายปัญหาที่กล่าวข้างต้น องค์กรผู้บริโภคก็ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ สปน. ให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้ตรวจสอบและเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบของ สปน. รวมถึงการตีความกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิองค์กรผู้บริโภค ร้องเรียนต่อศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบกฎหมายพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภครวมถึงจัดเวทีวิชาการ รวมตัวองค์กรผู้บริโภคไปแสดงเจตนารมณ์ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้ สปน.เร่งรัดประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคให้ครบ 150 องค์กรโดยเร็ว          อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความล่าช้าในการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค ส่งผลทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคล่าช้า ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เนื่องจากปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกวัน สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคระดับประเทศเป็นพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ดังนั้น หากมีสภาองค์กรผู้บริโภคเร็วเท่าใด ก็ย่อมสามารถป้องกันปัญหา ยุติ ยับยั้งการละเมิดสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้เร็วเท่านั้น ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับผู้บริโภค         ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสภาองค์กรผู้บริโภคได้ด้วยวิธีง่ายๆ เพียงช่วยกันโพสต์ปัญหาผู้บริโภคที่ท่านพบในสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุค อินสตราแกรม หรือทวิตเตอร์ และติดแฮชแท๊ก “สภาองค์กรผู้บริโภค” “สิทธิผู้บริโภค”  

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)