ฉบับที่ 209 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม


ซูเปอร์มาร์เก็ต คือหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้บริโภคไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็นที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในครอบครัว การเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานโดยตรงและสร้างงานโดยอ้อมจำนวนมาก การเป็นปลายทางของสินค้าของซัพพลายเออร์  เกษตรกร ชาวประมงและผู้ประกอบการรายย่อยอีกนับล้านทั่วประเทศ หากจะกล่าวว่าซูเปอร์มาร์เก็ต คือคนกลางที่เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคนับล้านเข้าด้วยกันคงจะไม่ผิดนัก


ปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอาหารของซูเปอร์มาร์เก็ต

งานวิจัยจากองค์การอ็อกแฟม (2561) ชี้ให้เห็นว่า มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต 


ในหลายประเทศทั่วโลก เกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหาร กลายเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) เนื่องมาจากรายได้ที่จากการขายสินค้าการเกษตรนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ การขาดอำนาจการต่อรอง และพื้นที่ในการสะท้อนปัญหาไปถึงผู้ซื้อ ในขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปนั้น มีรายได้ที่เติบโตน้อยกว่าค่าครองชีพ ทำให้แรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา ในบางรายต้องทำงานเกินกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และพบแรงงานในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในเชิงสัญญาการจ้างงาน การต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการหางานและเข้าทำงาน จนก่อให้เกิดปัญหาความยากจนแม้ว่าจะมีงานทำ(In-work Poverty) 


ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต จึงชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ ที่สามารถใช้อำนาจต่อรองในฐานะผู้ซื้อผ่านนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น ว่ามีนโยบายครอบคลุมไปถึงประเด็นด้านสังคมเหล่านี้ไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร 


เป็นที่มาของงานรณรงค์ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก  โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ที่จะเริ่มต้นด้วยการใช้ กรอบการประเมินนโยบายด้านความเท่าเทียมและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทค้าปลีก  เพื่อมองภาพสถานการณ์ของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  โดยหวังให้เกิดความร่วมมือหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขายอาหารรายใหญ่ในระบบอาหารของไทย 


บริษัทค้าปลีกที่ได้รับการประเมินนโยบาย

ในปี 2560-2561 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะนั้น พิจารณาจากมูลค่าการตลาด สัดส่วนของกลุ่มสินค้าอาหาร และความสำคัญต่อกลุ่มผู้บริโภคในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมาก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการติดต่อและได้รับการประเมินมีทั้งสิ้น 8 แห่ง ได้แก่ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ฟู้ดแลนด์, วิลล่า มาร์เก็ท, ซีพี เฟรชมาร์ท, และ Gourmet Market    


ทั้งนี้นอกเหนือจากประเทศไทยซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ก็ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะด้านความเป็นธรรมและยั่งยืนเช่นเดียวกัน โดยมีองค์การอ็อกแฟมในระดับสากลเป็นองค์กรผู้ประเมิน โดยใช้กรอบการประเมินชุดเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศไทย


กรอบและแนวทางการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทย

กรอบการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทย เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารนั้นอ้างอิงมาจากกรอบ Food Retailers Accountability Tool ขององค์การอ็อกแฟมในระดับสากล โดยประกอบไปด้วยการประเมินใน 4 มิติ คือด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ด้านแรงงาน ด้านผู้ประกอบการรายย่อย และด้านสตรี ซึ่งทั้งสี่มิติถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอาหารที่โปร่งใสและเป็นธรรม


มิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ พิจารณาจากการมีนโยบายและการกำกับดูแล ตลอดจนคณะกรรมการหรือผู้บริหารที่ดูแลประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท(Human Rights Due Diligence) การพัฒนาและปรับใช้กลไกร้องทุกข์และการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ(Grievance Mechanism and Remedy) ตลอดจนการมีมาตรฐานจริยธรรมทางการค้าและการตลาด(Ethical Marketing Standards)


มิติด้านแรงงาน ครอบคลุมถึงการมีนโยบายสิทธิแรงงานสำหรับห่วงโซ่อุปทานของบริษัทงยึดตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ เช่น แรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง สถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ การจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ การไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับใช้ในองค์กร ตลอดจนการสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานมีนโยบายและแนวปฏิบัติแบบเดียวกัน นอกจากนี้มิติด้านแรงงานยังให้ความสำคัญกับการที่บริษัทเข้าร่วมหรือจัดตั้งการริเริ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่น่าเชื่อถือ(Credible Multi-stakeholder Initiatives) เพื่อร่วมกันจัดการกับปัญหาสิทธิแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ


มิติด้านผู้ประกอบการรายย่อย การประเมินในมิติผู้ประกอบการรายย่อยนั้น องค์ประกอบสำคัญของการประเมินคือ การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessments: HRIAs) ของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อผู้ผลิตรายย่อย การสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยเพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงของผู้ผลิต การมีแนวทางการจัดซื้อและข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรม การสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถรวมตัวเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองของผู้ผลิต ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มรายได้ของผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทาน


มิติด้านสตรี เน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมของสิทธิระหว่างชายและหญิง ตลอดจนบทบาทและความสำคัญของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาจากการลงนามพันธสัญญาส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ(UN Women's Empowerment Principles), ความโปร่งใสในการติดตามและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสตรีในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท การประเมินผลกระทบของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อสตรี การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อปรับปรุงบทบาทของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น


หลักการประเมินจะพิจารณาบนพื้นฐานของนโยบายของบริษัทที่เผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้เท่านั้น เช่น ทางเว็บไซต์ขององค์กร รายงานประจำปี รายงานด้านความยั่งยืนและธรรมภิบาลขององค์กร ตลอดจนหลักจริยธรรมพนักงานและนโยบายการจัดซื้อที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ เป็นต้น โดยพิจารณาจากนโยบาย การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โครงการ รวมถึงผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ผู้ผลิตรายย่อย และสตรี


เหตุผลหลักในการพิจารณาจากข้อมูลสาธารณะ เนื่องจากสามารถแสดงให้ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนประชาชนทั่วไปในประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลและรับทราบความมุ่งมั่นตั้งใจของบริษัทค้าปลีกในการเป็นองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร


ระยะเวลาการดำเนินการและการมีส่วนร่วม

การประเมินครั้งนี้ทางภาคีทั้งสามองค์กรได้ประสานกับทางบริษัทค้าปลีกอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมิน การนำเสนอผลการประเมินเบื้องต้น และเปิดโอกาสให้ทางบริษัทได้แสดงความคิดเห็นตลอดจนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ภายใต้กรอบเวลาที่เพียงพอ (4 เดือน) ให้ทางบริษัทสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา


ในกระบวนการทำงาน ทางภาคีทั้งสามให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูล และคำอธิบายเพิ่มเติมแก่ทางบริษัทค้าปลีกที่ถูกประเมิน ตลอดจนยินดีตอบคำถามและข้อสงสัยเพื่อให้ทางการจัดทำ Scorecard ในครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังได้เชิญทางซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด เข้าร่วมพบปะเพื่อร่วมรับฟังหลักการและเหตุผล กรอบและแนวทางการประเมินนโยบาย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากภาคเอกชนสามารถสอบถามข้อมูลและข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินในครั้งนี้


นอกจากนี้ในระหว่างช่วงที่ทำการประเมิน บริษัทยังสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายด้วย 


ผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย 

 ข้อสรุป

จากการประเมินนโยบายสาธารณะของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของไทยทั้ง 8 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-เมษายน 2561 มีข้อค้นพบที่สำคัญดังนี้


1. ซูเปอร์มาร์เก็ตของไทยในภาพรวมยังมีระดับของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับที่มาของอาหาร นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และการทำงานกับคู่ค้า ค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีเพียงบางบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีความจำเป็นต้องจัดทำรายงานประจำปี และรายงานด้านความยั่งยืนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายรายนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและโปรโมชั่นเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (หรือมีบริษัทแม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) มีผลการประเมินที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ 


2. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยทำได้มากกว่ามิติอื่นๆในภาพรวม คือมิติด้านเกษตรกรรายย่อย (Small-Scale Producers) ซึ่งพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 ราย ได้รับคะแนนในประเด็นการส่งเสริมให้เกษตรกรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนจัดการอบรมและเพิ่มพูนความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามประเด็นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยสามารถพัฒนาได้อีกคือการพัฒนานโยบายและข้อตกลงการจัดซื้อที่เป็นธรรม (Sourcing practices and fair deals) เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทได้รับข้อตกลงที่โปร่งใส มั่นคง และยาวนานเพียงพอ ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยมีอานาจในการต่อรอง และรวมตัวกันเพื่อเพิ่มรายได้และให้ได้ข้อตกลงในการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมเกษตรรายย่อยในปัจจุบันมักเป็นการทำงานเชิงโครงการในแต่ละกลุ่มสินค้าหรือแต่ละพื้นที่มากกว่าเป็นนโยบายที่มีความผูกพันกับองค์กร


3. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังสามารถทำให้ดีขึ้นคือมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ (Transparency and Accountability) และมิติด้านแรงงาน (Workers) ซึ่งมีซูเปอร์มาร์เก็ต 3 รายที่ได้รับคะแนนในหมวดดังกล่าว ทั้งนี้ช่องว่างที่สำคัญคือการขาดการศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาห่วงโซ่อุปทานที่มีความเสี่ยงด้านแรงงานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอันจะนำไปสู่การทำการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตลอดจนการตรวจสอบด้านมนุษยนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ต่อไป นอกจากนี้มีบริษัทค้าปลีกเพียงส่วนน้อยที่แสดงคำมั่นอย่างเปิดเผยในการยอมรับหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งระบุถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการแสดงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล


4. มิติด้านสตรีเป็นมิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยได้รับคะแนนน้อยที่สุด ทั้งนี้ผลการประเมินดังกล่าวมิได้แสดงว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสตรีหรือความเท่าเทียมทางเพศ แต่แสดงให้เห็นว่าประเด็นด้านสตรียังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างชัดเจนและเปิดเผย ตลอดจนไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในนโยบายที่ทางบริษัทปรับใช้กับคู่ค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆ อย่างไรก็ดีสัญญาณที่ดีที่เห็นได้บางประการคือมีซูเปอร์มาร์เก็ตไทยบางรายมีโครงการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มสตรี หรือวิสาหกิจที่ส่งเสริมอาชีพสตรี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรายได้และลดความเปราะบางให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยที่เป็นสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


จะเห็นได้ว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 รายจาก 7 รายที่มีผลการประเมิน ทั้งนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีผลการประเมินในแต่ละหมวดแสดงถึงการที่บริษัทค้าปลีกรายนั้น ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความเท่าเทียมของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของตน ตลอดจนเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนานโยบายด้านความโปร่งใสที่แตกต่างอย่างมีนัยยะจากองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตามภาพรวมของการประเมินชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถขยายมิติของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) มาครอบคลุมถึงประเด็นด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรายย่อย ด้านสตรี และต้านความโปร่งใสของนโยบายในภาพรวมได้อีกมาก 


ทั้งนี้หากผู้อ่านสนใจหรือต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านรายงาน “ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย กับนโยบายสาธารณะด้านสังคม” ฉบับเต็มได้ที่ www.dearsupermarkets.com


------------------------------------------------

บทบาทและความสำคัญของซูเปอร์มาร์เก็ตในไทย

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท (2559) โดยมีสัดส่วนสูงถึงราว 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีมูลค่าเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วน 27.4% ภาพของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมมาก ในปี 2544 สัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกส่งสมัยใหม่อยู่ที่เพียง 25% ในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้เข้ามาทดแทนธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม คือมีสัดส่วนเกินกว่า 60% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด


นอกเหนือจากมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดแรงงาน โดยมีการจ้างงานราวร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ คิดเป็นอันดับสามรองจากภาคการเกษตรและภาคบริการ ข้อมูลในในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วประเทศมีการจ้างงานประมาณ 6.6 ล้านคน


หนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยในปัจจุบันอย่างมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสดและอาหารแห้ง ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตและการเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับอำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง 


จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะของปี 2559 พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนทางการตลาด (Market Share) สูงที่สุดในไทยคือ เทสโก้ โลตัส ซึ่งมีรายได้ในปี 2559 อยู่ที่ 218,163 ล้านบาท รองลงมาคือแม็คโคร (172,790 ล้านบาท) และบิ๊กซี (120,918 ล้านบาท) ตามลำดับ โดยซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งสามแห่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 500,000 ล้านบาท


นอกเหนือไปจากสัดส่วนทางการตลาดที่สูง ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ยังมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค (Market Penetration) และมีฐานลูกค้าจำนวนมาก โดยซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 7 อันดับแรกของไทยมีสาขารวมกันทั่วประเทศมากกว่า 3,000 สาขา ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนกระจายตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค


ปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตหลายรายได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ตลอดจนเป็นการลดต้นทุนการเปิดสาขา ทั้งยังช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น กล่าวได้ว่าจากนี้ต่อไปหน้าร้านของซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่แค่เพียงสาขานับพันที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่อยู่บนอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของผู้บริโภคกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศเช่นกัน


ในบรรดาสินค้านับหมื่นชนิดที่วางขายอยู่บนชั้นวางสินค้า กลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ คือสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉพาะอาหารสดต่างๆ จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องไปจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในตลาดสด ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยหันมาซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2558) สินค้าประเภทอาหารคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉลี่ย และเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าใช้จ่ายในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภคจึงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสำคัญกับซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกัน

















แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

500 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ซูเปอร์มาร์เก็ต นโยบาย สาธารณะ สังคม

ฉบับที่ 275 สารเคมีตลอดกาลในเสื้อผ้า

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนคุณไปดูผลทดสอบสิ่งทอที่ระบุว่ามีคุณสมบัติกันละอองน้ำ คราวนี้ไม่ใช่การทดสอบเปรียบเทียบคุณสมบัติการใช้งานหรือความพึงพอใจของผู้บริโภค แต่เป็นการวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่ม PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สารเคมีตลอดกาล” ซึ่งใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำกันคราบสกปรกเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ (International Pollutants Elimination Network หรือ IPEN)* และองค์กรสมาชิก เจาะจงตรวจวิเคราะห์หาสาร PFAS ในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เนื่องจากเป็นกลุ่มสารที่สามารถทำให้ผู้ที่ทำงานในโรงงานได้รับอันตรายสะสม ลูกค้าที่ซื้อไปสวมใส่ก็สัมผัสกับสารเหล่านี้โดยตรง และการซักทำความสะอาดยังทำให้สารเหล่านี้แพร่ไปสู่อากาศหรือแหล่งน้ำ ที่สำคัญคือมันสามารถสะสมและคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้อย่างยาวนานด้วย   การทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสมาชิกของ IPEN ใน 13 ประเทศจากเอเชีย อัฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เคนยา เยอรมนี โปแลนด์ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร เนธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเชก สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยองค์กรสมาชิกในประเทศไทยที่ร่วมส่งตัวอย่างเข้าทดสอบได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศตัวอย่างทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่ได้จากการสุ่มซื้อในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี 2565 ถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชารลส์ ในสาธารณรัฐเชกเนื่องจากมีสารเคมี PFAS หลายพันชนิดที่ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ การทดสอบจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ การตรวจหาสารกลุ่ม PFAS ตัวที่ระบุ 58 ชนิด และการวัดระดับ EOF (Extractable Organic Fluorine) หรือสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ ซึ่งผลที่ได้จะสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS   ผลการตรวจวิเคราะห์ในภาพรวมเราพบว่ามีถึง 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65) จากเสื้อผ้าทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่มีการใช้หรือการปนเปื้อนของสารในกลุ่ม PFAS หากดูเฉพาะตัวอย่างที่เป็นแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง พบว่ามีถึง 16 ตัวอย่างที่มีระดับสารเคมีในกลุ่ม PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป (6 ตัวอย่าง)การตรวจวิเคราะห์พบสาร FTOHs (หนึ่งในสารกลุ่ม PFAS) และผลผลิตจากการสลายตัวของสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติด้านความทนทาน การสะท้อนน้ำ และการป้องกันรอยเปื้อน ในตัวอย่างที่ส่งตรวจ เกิดจากการใช้โพลีเมอร์ที่ได้จากฟลูโรเทโลเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและ FTOHs ตัวที่พบมากที่สุดคือ PFOA ซึ่งเป็นสารเคมีที่จัดอยู่ในรายการ “ต้องกำจัด” ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์ม จึงไม่ควรนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าทำไมเราถึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล”? สารเคมีในกลุ่ม PFAS ทุกตัวมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีนที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมาก ทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก เราจึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล” งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า PFAS สามารถถูกปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อมได้ตลอดช่วงชีวิตของมัน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้ ไปจนถึงการกำจัด และเพราะมันกำจัดได้ยาก ความเข้มข้นของสารเคมีเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมจึงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นักวิจัยพบ PFAS ทั้งในดิน น้ำ อากาศ รวมถึงแหล่งน้ำดื่ม และฝุ่นผงตามบ้าน มีหลักฐานว่ามันสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลถึงขั้วโลกเหนือเลยทีเดียวเราจำเป็นต้องใช้มันหรือไม่?ปัจจุบันมีสารชนิดอื่นที่สามารถนำมาใช้แทนได้โดยให้คุณสมบัติอย่างเดียวกัน เห็นได้จากผลการทดสอบครั้งนี้ เราพบเสื้อผ้าที่มีฟังก์ชันคล้ายกันที่ผลวิเคราะห์ระบุว่าปราศจากสาร PFAS ถึง 21 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกันจะพบว่าตัวอย่างที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับถ้ามองในภาพรวมจากทั้ง 13 ประเทศจะพบว่าตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก ครองอันดับสิ่งทอที่มี PFAS ในปริมาณมากที่สุด (1304.7 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสองตัวอย่างจากสหรัฐ (983 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสามได้แก่อีกหนึ่งตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก (825.1 นาโนกรัม/กรัม) ส่วนตัวอย่างจากไทยนั้นเข้ามาเป็นอันดับที่ 9·     คำอธิบายEOF (Extractable Organic Fluorine) หมายถึงปริมาณสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ LOD (Limit of Detection) หมายถึงปริมาณต่ำสุดที่สามารถวัดได้ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่่ 273 คาร์ซีท 2023

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบเบาะนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กหรือ​ คราวนี้ฉลาดซื้อนำเสนอให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกกัน 24 รุ่น มีตั้งแต่รุ่นที่รองรับน้ำหนักสูงสุดได้ 10 กิโลกรัม ไปจนถึง 36 กิโลกรัม และเหมาะสำหรับความสูงของเด็กตั้งแต่ 40 – 125 เซนติเมตร ในสนนราคาตั้งแต่หมื่นต้นๆ ไปจนถึงประมาณ 26,000 บาท*         การทดสอบดังกล่าวทำอย่างต่อเนื่องโดยองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ หรือ International Consumer Research & Testing (ICRT) ฉลาดซื้อ ในฐานะองค์กรร่วมทดสอบ จึงมีผลการทดสอบมานำเสนอสมาชิกทุกปี (ดูผลทดสอบครั้งก่อนหน้าได้ในฉบับที่ 262 และ 234)         การทดสอบแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่การจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้งานจริงโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คน และครอบครัวที่มีบุตรหลานวัย 3 ปี 6 ปี และ 10 ปี อีกจำนวน 10 ครอบครัว โดยรถที่นำมาติดตั้งคาร์ซีทเพื่อการทดสอบมีสามประเภทคือ รถแฮทช์แบ็คสามประตู รถอเนกประสงค์แบบสปอร์ตห้า ประตู และรถตู้อเนกประสงค์          การให้คะแนนแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่         ความปลอดภัย (50 คะแนน) เช่น ความสามารถในการป้องกันการบาดเจ็บจากการชนทั้งด้านหน้าและด้านข้าง การดูดซับแรงกระแทก ความแข็งแรงในการยึดติดกับเบาะรถ เป็นต้น         ความสะดวกในการใช้งาน (40 คะแนน) เช่น การติดตั้งกับตัวรถ การปรับขนาดให้พอดีตัวเด็ก การป้องกันโอกาสการใช้ผิดวิธี และความยากง่ายในการทำความสะอาด เป็นต้น         การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ (10 คะแนน) ทั้งที่นั่งและเบาะพิง รวมถึงความนุ่มสบาย และการประหยัดพื้นที่ในตัวรถ เป็นต้น         นอกจากนี้ยังมีการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายที่ถูกประกาศห้ามใช้ในยุโรป เช่น พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ หรือโลหะหนักต่างๆ บนวัสดุหุ้มเบาะ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เด็กจะได้รับสารเคมีดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสและการเลีย         คราวนี้รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดได้ไปเพียง 77 คะแนน (Besafe iZi Go Modular X2 i-Size + iZi Modular i-Size base และ Cybex Cloud T + Base T ทั้งสองรุ่นราคาประมาณ 20,000 บาท)  และเช่นเดียวกับครั้งก่อน เราพบว่าคาร์ซีท “แบรนด์” เดียวกัน อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพระดับเดียวกันเสมอไป ถ้าอยากรู้ว่ารุ่นไหนให้ความปลอดภัยมากกว่า ใช้งานสะดวกกว่า หรือรองรับสรีระของเด็กได้ดีกว่า เชิญติดตามได้ในหน้าถัดไป* ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 273 ผลทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ

        ใครอยากรู้ว่า call center มือถือค่ายไหนติดต่อได้ไวทันใจ หรือต้องรอนาน ตามมาๆ         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่  AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566   วิธีการทดสอบ         ผู้ทดสอบจะใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่าย (AIS 1175, DTAC 1678, NT 1888 และ TRUE 1242) โดยแบ่งขั้นตอนการติดต่อเป็นการเปลี่ยนโปรโมชั่น การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ การย้ายค่าย และปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะโทร.ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.00 – 18.00 น.และ 19.00 – 23.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลา 9.00 – 16.00 น. และ 19.00 – 23.00 น. โดยจับเวลาตั้งแต่เริ่มต้นที่ 0.01 จนถึงได้พูดคุยกับโอเปอเรเตอร์ ผลการทดสอบ        เมื่อใช้เครือข่าย AIS โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.TRUE (6.31)          2.AIS (3.10)             3.DTAC (2.37)            4.NT (0.40)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (5.27)          2.AIS (2.46)             3.DTAC (2.06)            4.NT (0.53)         การย้ายเครือข่าย =>                                             1.TRUE (5.11)          2.DTAC (2.56)           3.AIS (2.24)               4.NT (1.37)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>          1.TRUE (4.33)          2.DTAC (3.02)           3.AIS (2.42)               4.NT (0.58)         ·     ลูกค้า AIS หากต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่นและมีปัญหาสัญญาณหายฯ ควรโทร.ในวันทำงานช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ส่วนใครจะถามเรื่องค่าใช้จ่ายผิดปกติและการย้ายค่าย แนะนำให้โทร.ในวันหยุดตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น     เมื่อใช้เครือข่าย DTAC โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.AIS (6.47)            2.DTAC (3.56)            3.TRUE (3.39)              4.NT (1.21)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (5.02)          2.AIS (2.48)               3.DTAC (2.23)              4.NT (1.18)        การย้ายเครือข่าย =>                                             1.AIS (3.43)             2.TRUE (1.15)            3.DTAC (1.13)              4.NT (1.01)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>           1.DTAC (4.08)         2.AIS (3.05)               3.TRUE (2.58)              4.NT (0.43)         ·     ลูกค้า DTAC แนะนำให้โทร.ในวันทำงานช่วงค่ำ 1 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม แต่หากต้องการย้ายค่ายโทร.ช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จะเร็วกว่า และเลี่ยงติดต่อในวันหยุดเพราะจะต้องรอนานกว่า      เมื่อใช้เครือข่าย NT โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.TRUE (3.52)          2.AIS (3.24)                3.DTAC (1.54)             4.NT (0.47)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (3.30)          2.AIS (3.18)                3.DTAC (1.39)             4.NT (1.16)         การย้ายเครือข่าย =>                                             1.TRUE (9.45)         2.DTAC (3.35)             3.AIS (2.13)                4.NT (0.38)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>           1.TRUE (4.00)          2.AIS (2.40)                3.DTAC (1.47)             4.NT (0.38)        ·     ลูกค้า NT โทร.ถามทุกเรื่องได้จากโอเปอเรเตอร์โดยตรง ทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม รอสายนานสุดไม่เกิน 4 นาที แต่ถ้าอยากให้ไวแบบไม่ถึงนาทีก็โทร.ช่วงค่ำวันหยุดได้เลย     เมื่อใช้เครือข่าย TRUE โทร.ออก call center แต่ละเครือข่าย มีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                     1.TRUE (4.29)          2.AIS (3.30)                3.DTAC (2.57)             4.NT (0.39)         การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                        1.TRUE (3.01)          2.AIS (2.55)                3.DTAC (2.27)             4.NT (1.06)        การย้ายเครือข่าย =>                                          1.TRUE (5.03)          2.AIS (2.48)                3.DTAC (2.22)             4.NT (0.59)         ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>        1.TRUE (3.00)         2.AIS (2.53)                 3.DTAC (2.20)             4.NT(1.00)         ·     ลูกค้า TRUE แนะนำให้โทร.ในวันทำงานช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น แต่หากต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่น ให้โทร.ช่วงค่ำๆ จะเร็วกว่า  *หมายเหตุ ลูกค้าในที่นี้ คือ ผู้ใช้เบอร์ที่โทร.ออก และเบอร์ติดต่อ call center เป็นของเครือข่ายเดียวกัน     เมื่อใช้โทรศัพท์พื้นฐาน โทร. ออก call center แต่ละเครือข่าย มีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                     1.AIS (3.14)            2.DTAC (2.14)                3.TRUE (2.06)            4.NT (1.01)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                       1.AIS (2.48)            2.DTAC (2.40)                3.TRUE (2.22)            4.NT (0.57)        การย้ายเครือข่าย =>                                         1.TRUE (3.09)         2.DTAC (1.35)                3.NT (1.02)                4.AIS (0.55)         ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>       1.AIS (3.17)            2.TRUE (1.52)                3.DTAC (1.48)            4.NT (0.52)         ·     ผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานโทร.ออก ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในอันดับ 1 น้อยกว่าใช้ทุกค่ายโทร.ออก ยกเว้นใช้เครือข่าย TRUE โทร.ออก เรื่องปัญหาสัญญาณฯ  ข้อสังเกต         ·          call center ของ TRUE ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน เมื่อโทร.ออกด้วยเบอร์ของ AIS, NT และ TRUE  เอง บางครั้งพนักงานมีการตัดสาย        ·          call center ของ NT ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยเร็วสุดทุกขั้นตอน เมื่อโทร.ออกด้วยเบอร์มือถือของทุกค่าย และติดต่อพนักงานได้ทุกครั้ง        ·          call center ของ AIS, DTAC และ TRUE มีบางครั้งที่ติดต่อพนักงานไม่ได้        ·          call center ของ DTAC และ TRUE มีบางครั้งที่พนักงานติดต่อกลับ        ·          ระยะเวลานานสุดที่จับเวลาได้คือ 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE ในขั้นตอนการย้ายค่าย ช่วงวันและเวลาทำงาน        ·          ระยะเวลาเร็วสุดที่จับเวลาได้คือ 0.30 นาที เมื่อใช้เบอร์โทรศัพท์พื้นฐานโทร.ไปยัง call center ของ NT ในขั้นตอนสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายผิดปกติ ช่วงวันและเวลาทำงาน สรุปผลโพลล์         จากการสำรวจเรื่อง call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร         จำนวน 1,116 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 4 -10 กันยายน 2566         ·        ร้อยละ     46.6            เป็นลูกค้าของ AIS        ·        ร้อยละ     33.4            เป็นลูกค้าของ TRUE        ·        ร้อยละ     18               เป็นลูกค้าของ DTAC        ·        ร้อยละ     2                 เป็นลูกค้าของ NT         ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88.4) เคยโทร.ติดต่อ Call Center โดยมีผู้ใช้ทั้งเบอร์แบบหมายเลข 4 ตัว (ร้อยละ 50.8)        และแบบหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 02 (ร้อยละ49.2) พอๆ กัน ในเรื่องต่างๆ ดังนี้        ·        ร้อยละ    44.4        ใช้งานอินเทอร์เนตไม่ได้        ·        ร้อยละ    44           ค่าบริการผิดปกติ        ·        ร้อยละ    43.2        ตรวจสอบการใช้งาน        ·        ร้อยละ    26.6        โทรเข้า/ออกไม่ได้        ·        ร้อยละ    25.4        เปลี่ยนโปรโมชั่น        ·        ร้อยละ    23.1        สอบถามโปรโมชั่น         เหตุผลในการย้ายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ได้แก่        ·        ร้อยละ     38.9       ได้รับโปรโมชั่นที่ดีกว่าจากกการย้าย           ·        ร้อยละ    24.5        ลดค่าใช้จ่าย                  ·        ร้อยละ    17.4        เปลี่ยนเครื่องมือถือ        ·        ร้อยละ    17.4        ปัญหาสัญญาณมือถือ                  ·        ร้อยละ    1.8         อื่นๆ                                                                                                 เมื่อถามว่าเคยโทร.หา call center แล้วรอนานแค่ไหนกว่าจะได้คุยสายกับเจ้าหน้าที่ คำตอบคือ        ·  11 – 15    นาที          ร้อยละ    31.5        ·  6 – 10      นาที          ร้อยละ    25.3        ·  16 – 20    นาที          ร้อยละ    16        ·  1 – 5        นาที          ร้อยละ    15.5        ·  21 – 25    นาที          ร้อยละ    5.6        ·  26 -30      นาที          ร้อยละ    2.9        ·  น้อยกว่า 1 นาที          ร้อยละ    1.9        ·  มากกว่า 30 นาที        ร้อยละ    1.3 จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ร้อยละ 92.5 คิดว่าภาครัฐควรมีการแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบ Cell Broadcasting ด้วยการส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยตรง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม

        ย้อนไปกว่า 60 ปีแล้วที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม (fabric softener) กันในครัวเรือน เหตุผลหนึ่งคือเพื่อลดปัญหาผ้าแข็งหลังซักด้วยผงซักฟอก โดยมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ 2 ส่วนหลักคือ ส่วนที่ทำให้ผ้านุ่ม ได้แก่ กรดไขมันที่ได้จากสัตว์ เมื่อสัมผัสผิวผ้าจะทำให้เกิดความนุ่ม ไม่แข็ง และสารที่ให้กลิ่นหอมติดทนนาน ปัจจุบันน้ำยาปรับผ้านุ่มที่จำหน่ายในประเทศไทยโดยทั่วไปจะเป็นชนิดน้ำที่ใช้ใส่ผสมในน้ำล้างสุดท้ายที่ซักผ้า มีทั้งสูตรมาตรฐานและสูตรเข้มข้น จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยม         แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อมูลส่งต่อกันถึงผลกระทบต่อสุขภาพหลังการใช้ แต่ทาง อย.ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าถึงน้ำยาปรับผ้านุ่มมีส่วนทำให้เกิดสารตกค้างในผ้า แต่มีปริมาณที่น้อยมาก การสวมใส่เสื้อผ้าบนผิวหนังจึงไม่มีสารที่ซึมเข้าสู่เลือดจนส่งผลต่อฮอร์โมนได้ ยกเว้นคนที่มีอาการแพ้ เกิดผื่น         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางคนยังมีคำถามคาใจว่า เราจำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มจริงๆ หรือเป็นอิทธิพลของสื่อที่กระตุ้นให้ต้องซื้อใช้กันแน่ ?         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสิรมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม (สูตรมาตรฐาน) จำนวน 10 ตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มาสำรวจฉลากเพื่อปรียบเทียบความคุ้มค่า และข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้พิจารณาว่าจะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อต่อไป ผลสำรวจฉลาก         ·     จากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มทั้งหมด 10 ตัวอย่าง มีปริมาณสุทธิตั้งแต่ 450 – 650 มิลลิลิตร และมีราคาขายปลีกแบบถุงชนิดเติมตั้งแต่ถุงละ 10 – 59 บาท         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุด = 0.09 บาท คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ ถูกสุด = 0.02 บาท ได้แก่ ยี่ห้อโปร กลิ่นการ์เดน สวีท ยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ และยี่ห้อเฟรช แอนด์ ซอฟท์ กลิ่นเลิฟลี่ คิส        ·     เมื่อดูวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์             Ø มีอายุเก็บไว้ได้นานตั้งแต่ 1- 3 ปี นับจากวันผลิต            Ø มี 2 ตัวอย่างที่ระบุเฉพาะวันผลิต คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์         ·     เมื่อพิจารณาข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุเบอร์โทร.ติดต่อศูนย์บริการลูกค้า ได้แก่ ยี่ห้อไฟน์ไลน์ สูตรพิงค์ บลอสซั่ม และยี่ห้อสมาร์ท กลิ่นเลิฟลี่ พิงค์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ ได้แก่ ยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ ข้อสังเกต        ·     ทุกตัวอย่างผลิตโดยบริษัทในประเทศไทย เป็นสูตรมาตรฐาน ที่ระบุคุณสมบัติไว้คล้ายๆ กัน คือ เมื่อใช้แล้วจะช่วยให้เสื้อผ้านุ่มฟู หอมนาน ถนอมสีผ้า ใส่สบายไม่ลีบติดตัว รีดเรียบง่าย และลดกลิ่นอับ         ·     ส่วนใหญ่มีคำเตือนหรือคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยว่า เก็บให้พ้นมือเด็ก ห้ามรับประทาน ระวังเข้าตา หากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรสวมถุงมือยางขณะใช้         ·     มี 2 ตัวอย่างที่มีรูปแม่และเด็กอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยไม่มีข้อความระบุไว้ชัดเจน เช่น ซักเสื้อผ้าเด็กได้ไร้สารตกค้าง เป็นต้น จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับเสื้อผ้าเด็ก  ฉลาดซื้อแนะ        ·     ก่อนใช้ ควรอ่านคำเตือนต่างๆ วิธีใช้และปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละยี่ห้อที่แนะนำไว้บนฉลาก        ·     หากใช้ครั้งแรก ควรซื้อแบบซองเล็กๆ มาทดลองใช้ก่อนว่าเป็นกลิ่นหอมที่ชอบ ใช้แล้วตอบโจทย์ และไม่เกิดอาการแพ้ทั้งทางผิวหนังและทางเดินหายใจ แล้วจึงเลือกซื้อขนาดใหญ่เพื่อให้คุ้มราคากว่า        ·     ไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าบางชนิด เพราะอาจทำให้คุณสมบัติของผ้าลดลงหรือเกิดการระคายเคืองจากการสัมผัสสารตกค้างได้ง่าย เช่น ผ้าขนหนู ชุดกีฬา ชุดเด็กอ่อน และชุดชั้นใน เป็นต้น        ·     เสื้อผ้าที่แช่น้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว ไม่ควรนำไปตากแดดจัดนานๆ หรือเข้าเครื่องอบผ้า เพราะความร้อนจะทำให้กลิ่นหอมจางหายไปจนหมดได้ ผลคือใช้ก็เหมือนไม่ได้ใช้นั่นเอง          ·ห้ามทิ้งบรรจุภัณฑ์และน้ำล้างสุดท้ายที่ผสมน้ำยาปรับผ้านุ่มลงในแม่น้ำ คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศไทยไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมนำถุงชนิดเติมมารีไซเคิล เช่น เย็บกระเป๋า แผ่นรองนั่ง หรือส่งไปทำอิฐบล็อก แผ่นหลังคา ตามหน่วยงานที่รับบริจาคได้ที่มาhttps://www.consumerreports.org/appliances/laundry/why-fabric-softener-is-bad-for-your-laundry-a5931009251/https://www.choice.com.au/home-and-living/laundry-and-cleaning/laundry-detergents/buying-guides/fabric-softeners

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)