ฉบับที่ 203 รักกันพัลวัน : เพราะ 1+1 ก็อาจไม่เท่ากับ 2 เสมอไป


สังคมมนุษย์ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบแบ่งขั้วหรือแบ่งความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนมานานแล้ว ถ้าไม่ขาวก็ต้องเชื่อว่าดำ ถ้าไม่ดีก็ต้องแปลว่าเลว หรือถ้าพูดว่า “ใช่” แล้ว ก็จะบอกว่า “ไม่ใช่” ไม่ได้ อันมีนัยว่า สรรพสิ่งล้วนแต่มีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงด้านเดียว 


ทั้งนี้ แม้แต่ในระบบคิดของคณิตศาสตร์หรือสถิติศาสตร์ ก็ยังกล่าวกันว่า O ไม่ใช่ 1 หรือ A ย่อมไม่ใช่ non-A และหากเรานำ 1 มาบวกกับ 1 ต้องได้คำตอบเท่ากับ 2 เสมอ จะผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปจากกฎเกณฑ์คำตอบนี้ไปไม่ได้เลย


วิธีคิดแบบแบ่งขั้วของสังคมเฉกเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นอยู่แม้แต่ในระบบการควบคุมเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือเพศและเพศวิถีของมนุษย์เรา


แม้เรื่องเพศวิถีจะดูผิวเผินเหมือนกับเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเป็นรสนิยมและความรื่นรมย์เฉพาะตน แต่กับในระบบคิดของสังคมแล้ว ต่อให้เป็นเรื่องเพศที่ “ส่วนตั๊วส่วนตัว” นั้น สังคมก็ยังเข้าไปกำกับควบคุมความหมายให้เราคิดได้แค่เป็นสองแพร่งสองทางเช่นกัน


ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเพศชาย ก็ต้องแสดงลักษณะแบบชายที่แข็งแรง เป็นเพศแห่งการพิทักษ์ปกป้อง แต่หากเป็นเพศหญิง ก็ต้องอ่อนโยนและรอคอยการปกป้องจากบุรุษเพศ หรือหากเป็นรสนิยมรักต่างเพศแบบชายหญิง ก็จะมีลักษณะตรงข้ามอย่างชัดเจนจากกลุ่มรักเพศเดียวกันแบบชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือบรรดา LGBT ทั้งหลาย


แต่อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ระบบคิดแบบแบ่งขั้วตรงข้ามกันดังกล่าวได้ถูกท้าทาย และตั้งคำถามเสียใหม่ว่า แน่ใจแล้วหรือที่เส้นกั้นแบ่งขั้วต่างๆ จะไม่มีการข้ามเส้น หรือแม้แต่สลายเส้นแบ่งนั้นๆ ให้พร่าเลือนลงไปก็ได้ เหมือนกับที่ 1 บวก 1 ก็อาจเป็น 1 (แบบที่เราเอาทรายกองหนึ่งมารวมกับอีกกองหนึ่ง ก็ได้เป็นทรายกองเดียวกัน) โดยไม่จำเป็นต้องได้คำตอบเป็น 2 เสมอไป


วิธีคิดเรื่องเส้นแบ่งที่ลางเลือนลงเช่นนี้ มีให้เห็นแม้แต่ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีและรักๆ ใคร่ๆ แบบที่ปุถุชนคนธรรมดาก็สามารถก่อกลายเป็นความ “รักกัน” ที่ “พัลวัน” อยู่ในละครโทรทัศน์ จนยุ่งเหยิงแทบแยกไม่ออกว่าจะแบ่งขั้วแบ่งวิธีคิดกันต่อไปได้เยี่ยงไร


เริ่มต้นเมื่อสาวหล่ออย่าง “ตุลญาณา” พนักงานดูแลสวนสัตว์ Blue Planet เกิดอาการอกหักรักคุดจากสาวๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่า หญิงห้าวอย่างตุลญาณาที่ไม่อาจแบกรับความเจ็บปวดจากผู้หญิงด้วยกันได้ จึงตั้งปณิธานกับตนเองว่า นับจากนี้จะกลับมามองหาผู้ชายดีๆ สักคนเพื่อคบเป็นแฟนหนุ่มให้ได้


อย่างไรก็ตาม แม้จะ “คิดใหม่ทำใหม่” กับการคบหามนุษย์เพศชาย แต่ความคิดของตุลญาณาก็ช่างย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่ง เมื่อลึกๆ เธอเองก็ต่อต้านบุรุษเพศ เพราะตั้งแต่เด็กก็เกลียดพ่อที่ขี้เมาไม่เป็นโล้เป็นพาย กอปรกับการก่อตัวของบุคลิกภาพที่ห้าวและแกร่งเกินหญิงทั่วไป ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เธอก็อยากลบภาพสาวหล่อ โดยเลือกเดินเกมรุกจีบหนุ่มอย่างเต็มตัว


ผู้ชายคนแรกที่ก้าวเข้ามาในชีวิตได้แก่ หนุ่มรุ่นพี่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยอย่าง “ฐานัท” ที่ตุลญาณาหวังว่า เขาจะช่วยปลุกเร้าสัญชาตญาณความเป็นหญิงที่อยู่หลืบลึกในตัวเธอให้ปรากฏออกมา แต่ปัญหาก็คือ ฐานัทเองกลับจัดวางนางเอกของเราไว้เพียงสถานะเป็นแค่น้องสาวหญิงห้าวผู้แสนดีเท่านั้น 


ส่วนชายหนุ่มคนที่สองก็คือ “โตมร” เพื่อนร่วมงานผู้ดูแลสิงสาราสัตว์ใน Blue Planet ด้วยกัน แม้จะเป็นคนที่ขยันขันแข็งและแอบรักตุลญาณามานานแสนนาน โดยไม่สนใจว่าเพศสภาพหรือเพศวิถีของเธอจะเป็นเช่นไร แต่ในทางกลับกัน ตุลญาณาก็เห็นว่าโตมรเป็นได้แค่เพื่อนที่แสนดีคนหนึ่งเท่านั้น


และแน่นอน ชายหนุ่มคนสุดท้ายที่เข้ามาเป็นตัวเลือกของตุลญาณาก็คือ “เมธากวิน” พระเอกหนุ่มของเรื่อง นอกจากเขาจะเป็นซีอีโอคนใหม่ของ Blue Planet แล้ว เจ้านายหนุ่มยังเป็นอดีต “ศัตรูหัวใจ” ที่เธอเคยมีคดีแย่งแฟนเก่ากับเขามาก่อน อันนำไปสู่สูตรพ่อแม่แม่งอนที่เขม่นกันตลอดแทบจะทั้งเรื่อง



ยิ่งเมื่อเมธากวินเข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลาว่า ตุลญาณาแอบมีจิตปฏิพัทธ์ต่อทั้ง “สโรชินี” แฟนสาวคนล่าสุดของเขา และ “พนิตพิชา” ลูกพี่ลูกน้องของตน ตุลญาณาจึงต้องเข้าไปอยู่ในวังวนรักๆ ใคร่ๆ ของชายสามหญิงสองที่อลวน “พัลวัน” กันยิ่งกว่า “ลิงพันแห” เสียอีก


ยิ่งเมื่อผนวกกับตัวแปรเรื่องเพศวิถีของตุลญาณาที่ดูคลุมเครือยิ่งนักว่า นางเอกสาวหล่อจะเป็น “ทอม” หรือจะเป็น “เธอ” พร้อมกับคำทำนายของหมอดูที่บอกว่าคู่แท้ของเธอจะต้องเป็นคนที่มอบจุมพิตแรก มอบลมหายใจ และมอบชีวิตใหม่ให้กับตุลญาณา “รักกันที่พัลวัน” ก็ยิ่ง “พัลวันแสนพัลวัน” กันหนักเข้าไปอีก


หากดูผิวเผินแล้ว โครงเรื่องของละครก็เหมือนจะสร้างขึ้นบนสูตรของการ “เปลี่ยนทอมให้เธอ” แต่เพราะเหตุที่ว่า 0 ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ 1 หรือ A ก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ non-A ดังนั้น ความซับซ้อนที่ “พัลวัน” ยวดยิ่งจึงมิใช่แค่การแบ่งขั้วกันระหว่าง “ทอม” กับ “เธอ” หรือมิใช่การแบ่งความคิดตรงข้ามกันเป็นแบบ “รักต่างเพศ” หรือเป็นแบบ “รักเพศเดียวกัน” เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น 


เฉกเช่นเดียวกับที่ 1 บวก 1 ก็สามารถออกมาเป็นคำตอบตัวเลขใดๆ ที่อาจไม่ใช่ 2 เสมอไป เรื่องของเพศวิถีจึงขึ้นอยู่กับสองมือมนุษย์ที่จะเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นได้ในทุกๆ ทาง เหมือนกับที่ “หญิงรักหญิง” อย่างตุลญาณาก็อาจพึงใจที่คบหากับหญิงหรือชาย และผู้ชายอย่างเมธากวินเองก็อาจจะเลือกคบหากับหญิงที่ออกแบบเพศวิถีมาแบบใดก็เป็นได้ เพราะทั้งคู่เชื่อในตอนจบของเรื่องว่า “เคมีที่เข้ากันของคนสองคน” ต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่าเพศวิถีซึ่งถูกจัดกรอบไว้แล้วด้วยกฎกติกาของสังคม


บทเรียนที่ทั้งตุลญาณาและเมธากวินเคยเผชิญเมื่อครั้งที่หมีควายหลุดออกไปจากกรงขัง และวิ่งไล่ล่าโตมรและใครต่อใครในสวนสัตว์ ก็ชี้ให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า สัญชาตญาณ (อันรวมถึงเรื่องเพศวิถีแห่งปุถุชน) นั้น ต่อให้จับขังกรงเพื่อกำกับวินัยควบคุมเอาไว้ แต่มันก็ไม่ต่างจากหมีควายที่ยากจะทำให้เชื่องหรือให้สั่งซ้ายหันขวาหันไปได้ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมจริงๆ หรอก


ไม่ว่าจะเรื่อง “รัก” หรือเรื่อง “ใคร่” คำตอบของมนุษย์เราทุกวันนี้ดูแสนจะ “พัลวัน” เสียยิ่งกว่าที่ 1+1 จักต้องได้ 2 เป็นคำตอบสุดท้ายเช่นนี้แล


แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค รักกันพัลวัน

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 พนมนาคา : เชื่อในสิ่งที่(ไม่ควร)เห็น เห็นในสิ่งที่(ไม่อยาก)เชื่อ

        เมื่อครั้งสังคมบุพกาลนานมา คนไทยได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งของหรือธรรมชาติแวดล้อม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งนามธรรม ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่คนเราก็ยึดโยงตนเองกับสายสัมพันธ์ที่มิอาจเข้าถึงได้ด้วยอายตนสัมผัสทั้งห้าด้าน         ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้นี้ สะท้อนออกมาในลักษณะของความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูตผีปีศาจ วิญญาณ การบูชาทวยเทพเทวดา รวมไปถึงการเคารพบูชาพญานาค หรือที่เรียกว่า “นาคาคติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันผูกโยงความสัมพันธ์กับคู่ตรงข้ามที่มีความเป็นอื่น หรือที่คนเราเรียกว่าเป็น “อมนุษย์”         เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้เอกอุทางด้านวัฒนธรรม เคยอธิบายว่า ผีเป็น “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน คือ มีทั้งผีชั้นสูงชั้นต่ำ มีทั้งผีดีผีร้าย”         ด้วยคำอธิบายของปัญญาชนแห่งสยามประเทศในอดีตเช่นนี้ บรรดาอมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีหรือพญานาค จึงไม่เพียงแต่มีความเป็นอื่น หากทว่าคือความเป็นอื่นที่มนุษย์เองก็เชื่อโดยมิพักต้องสงสัยหรือสืบถาม แม้ว่าเราจะเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือไม่ควรเห็นในสิ่งเหนือธรรมชาติลี้ลับดังกล่าวนั้นก็ตาม         ความเชื่อในความเป็นอื่นที่ไม่ควรเห็น หรือการเห็นในสิ่งเราเองก็มองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูจะเป็นความคิดหลักที่กลายเป็นแก่นเรื่องซึ่งเล่าผ่านละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีดรามาอย่าง “พนมนาคา” อันมีเนื้อหาว่าด้วยตำนานพญานาคผู้รอคอยหญิงคนรักแบบข้ามภพข้ามชาติมานับเป็นพันๆ ปี         เรื่องราวของละคร “พนมนาคา” นำเสนอภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “เอเชีย” นางเอกสาวผู้เป็นกุมารแพทย์สมัยใหม่ และเบื้องลึกปฏิเสธที่จะเชื่อในเรื่องเร้นลับซึ่งวิทยาศาสตร์มิอาจพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนั้น ความเชื่อมั่นในศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ของหมอเอเชียก็ถูกท้าทาย เมื่อคุณหมอสาวที่กำลังรักษาคนไข้อยู่ถูกญาติของคนไข้เอาน้ำมนต์สาดหน้า เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยถูกสิ่งเหนือธรรมชาติเล่นงาน และยังไปปรามาสว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาช่างดูไร้สาระงมงาย         ต่อมาละครก็ค่อยๆ เพิ่มบททดสอบอีกหลายระลอกเพื่อสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นในองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้วงสำนึกของหมอเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หญิงสาวพลัดตกจากดาดฟ้าของโรงพยาบาล แล้วทุกอย่างก็หยุดนิ่ง พร้อมกับมีกายทิพย์ของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งลอยตัวมาโอบรับตระกองเธอลงมาสู่พื้นดิน หรือการที่นางเอกสาวเริ่มรู้สึกลึกๆ ว่า ชายหนุ่มลึกลับคนเดียวกันนี้ เฝ้าติดตาม “ส่อง” ดูชีวิตเธออยู่ในโลกนิมิตหรือโลกคู่ขนานที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของเธอจะสัมผัสได้         การปะทะกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้หมอเอเชียเดินทางสู่หมู่บ้านไกลโพ้นริมตะเข็บชายแดนไทย-เขมรที่ชื่อ “พนมนาคา” และ ณ หมู่บ้านอีสานโบราณแห่งนี้เอง ที่เด็กจำนวนมาก รวมทั้งเด็กชาย “วันเนตร” ป่วยเป็นโรคประหลาดคล้ายกับมีเกล็ดงูขึ้นตามตัว ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปของพญานาค ในขณะที่คุณหมอกุมารเวชกลับยืนกรานว่านี่คืออาการของโรคที่ชื่อฟังดูแปลกหูว่า “อิชไธโอซิส”         ในขณะที่กำลังสืบหาสาเหตุต่ออาการป่วยแปลกประหลาดของเด็กๆ ในหมู่บ้านอยู่นั้น ยิ่งค้นหาคำตอบ ก็ยิ่งพบกับเรื่องเร้นลับปาฏิหาริย์ชวนสนเท่ห์ใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมอเอเชียก็ได้พบกับ “อนันตชัย” ชายหนุ่มลึกลับในภาพนิมิตของเธออีกครั้ง และบังเกิดความรู้สึกว่า เธอกับเขาผูกพันกันมานานแสนนาน         จากนั้นความจริงของเรื่องก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า พระเอกหนุ่มอนันตชัยก็คือ “พ่อปู่” หรือพญานาคผู้คุ้มครองหมู่บ้านพนมนาคา และในอดีตชาตินับพันปีก่อน เอเชียก็คือ “อนัญชลี” หญิงคนรักของเขา แต่เพราะ “อเนกชาติ” พญานาคผู้น้องมีความอิจฉาพี่ชาย และหวังจะครอบครองอนัญชลีเพื่อขึ้นเป็น “นาคาธิบดี” หรือเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคทั้งปวง จึงวางแผนให้อนัญชลีเข้าใจเขาผิดจนฆ่าตัวตายและกล่าวสัจวาจาสาปแช่งให้ตนรังเกียจอนันตชัยในทุกภพทุกชาติไป         เพราะอนันตชัยเองก็ตระหนักว่า “วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ และวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ ฉันพร้อมจะอยู่ ฉันพร้อมจะตายเพื่อรักคำเดียว…” เขาจึงติดตามและปกป้องเธอจากอเนกชาติมาแบบข้ามภพชาติ โดยมุ่งหมายจะรื้อถอนไฟล์ความทรงจำที่ผิดพลาด และทำพิธีกรรมถอนคำสาปให้หญิงคนรักได้กลับมาครองคู่กับเขาอีกครั้งในชาติปัจจุบัน         “ไม่ว่าเธอจะเคยเป็นใคร จะผ่านอะไรมาขอจงอย่าเป็นกังวล นี่คือคนของเธอ” อนันตชัยจึงต้องฝ่าฟันกับคำสาปในอดีตที่อนัญชลีได้ปฏิญาณว่า “ไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอรักชายคนนี้อีก” และยังต้องฝ่าด่านความรู้สมัยใหม่ เพื่อยืนยันกับเอเชียว่า “ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ของคุณพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี” และทำให้เธอเชื่อการมีอยู่ของพญานาคด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อเพียงเพราะคนอื่นบอกว่ามีจริง         โดยโครงเรื่องที่พระเอกหนุ่มจากต่างภพภูมิเฝ้ารอคอยการกลับมาครองคู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ เราก็พอจะคาดเดาฉากอวสานได้ไม่ยากว่า หลังจากผ่านอุปสรรคนานัปการ อนันตชัยก็สามารถกอบกู้และดีลีทไฟล์ความทรงจำอันผิดพลาดคลาดเคลื่อน และลงเอยความรักกับหมอเอเชียได้ในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับอเนกชาติที่ก็ต้องถูกเมืองบาดาลลงโทษไปตามกฎแห่งกรรม         ในด้านหนึ่ง การวางพล็อตเรื่องแบบรักอมตะระหว่างพญานาคากับมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ต่างจากการสืบทอดคติความเชื่อลึกๆ ของคนไทย ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์หรือข้ามวัฒนธรรม         แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อหมอเอเชียกับผองมิตรที่ทำกรรมร่วมกันในปางก่อนอย่าง “พุ่มข้าวบิณฑ์” และ “สิทธา” ได้สัมผัสเรื่องเหลือเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และประจักษ์แก่สายตาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่นาคราชผสานกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนใหม่ช่วยเยียวยาให้เด็กๆ พนมนาคาหายขาดจากอาการโรคเกล็ดงูได้ จากที่เคย “ไม่เชื่อแต่ไม่กล้าลบหลู่” ก็กลายเป็น “เชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม” แต่อย่างใด        กับโลกที่เรามองเห็นและสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้น เรื่องบางเรื่องเราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องชาติภพ บุญกรรม การกลับชาติมาเกิด หรือคติความเชื่อในพญานาค แต่ความรักข้ามภพของอนันตชัยกับอนัญชลีกับความศรัทธาต่อพ่อปู่ที่ชาวบ้านพนมนาคาต่างเคารพ คงให้ข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น แต่ขอเพียงเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม เราก็สัมผัสถึงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 เกมรักทรยศ : คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด

        ภายใต้ระบอบสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือสังคมแบบชายเป็นใหญ่นั้น บุรุษเพศมักมีอหังการว่า ตนมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของผู้หญิง และในระบอบสังคมดังกล่าวนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส จนอาจจะนำไปสู่บทสรุปให้กับผู้หญิงว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” ก็เป็นได้         แบบเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “เจนพิชชา” หรือ “หมอเจน” จิตแพทย์สาวชื่อดังในจังหวัดภูเก็ต กับสามีที่อยู่กินกันมานานอย่าง “อธิน” จนมีโซ่ทองคล้องใจสองคนคือ “พัชร์” กับ “พลอย” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เกมรักทรยศ” ที่ฉายภาพชีวิตคู่ซึ่งต้องภินท์พังลงเพราะความลุแก่อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ และด้วยการออกแบบพล็อตเรื่องของละคร ก็อาจทำให้บรรดาสามีทั้งหลายต้องผาดตาสัมผัสผู้หญิงที่นอนร่วมเตียงเคียงหมอนกันด้วยมุมมองแบบใหม่         เปิดฉากละครมาด้วยภาพชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกที่แสนจะอุดมคติ อบอุ่นลงตัว ควบคู่ไปกับอีกด้านที่อาชีพการงานของหมอเจนก็ดูจะเจริญก้าวหน้าในฐานะแพทย์สาวด้านจิตเวชมือต้นๆ ของโรงพยาบาล จนกระทั่งจุดหักเหของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหมอเจนไปพบเส้นผมของผู้หญิงติดอยู่บนผ้าพันคอของอธิน เพราะไฟไหม้อย่างไรก็ต้องมีควัน และเพราะหมอเจนมีคติประจำใจว่า “ความโง่ที่สุดของผู้หญิงคือการคิดว่าตนเองฉลาดกว่าคนอื่น” ดังนั้นเธอจึงเริ่มตั้งสมุฏฐานที่ว่า สามีที่เธอไว้ใจน่าจะกำลังนอกใจเธออยู่หรือไม่         ยิ่งสงสัยก็ยิ่งสืบค้น ยิ่งขุดค้นก็ยิ่งทยอยเจอหลักฐาน จากเส้นผมปริศนา มาเจอช่องลับในรถยนต์ เจอรูปลับในโทรศัพท์ เจอพฤติกรรมแปลกๆ ของสามีและคนรอบข้างเธอ เรื่อยไปถึงข้ออ้างที่อธินมักไปเยี่ยมแม่ที่สถานพักฟื้นคนชรา จนกลับบ้านค่ำมืดดึกดื่น         หลังจากปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ของเรื่องราว หมอเจนก็บรรลุคำเฉลยว่า เรื่องที่เธอกำลังระแวงว่า สามีแอบไปมี “โลกสองใบ” นั้นมีมูลความจริงอยู่ และก็ค่อยๆ ค้นพบต่อไปด้วยว่า ผู้หญิงที่สวมบทบาทเป็นภรรยาเก็บลับๆ ของอธินก็คือ “เคท” นักศึกษาไฮโซสาวสวยใสซื่อ ลูกผู้มีอิทธิพลด้านธุรกิจของจังหวัด         และที่สำคัญ สมการของเรื่องก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อหมอเจนยิ่งสืบค้น เธอก็ยิ่งได้คำตอบที่ซุกซ่อนซ้อนทับลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไม่ใช่เพียงสามีเท่านั้นที่ปิดบังเรื่องการนอกใจ หากแต่บุคคลรอบตัวของเธอและอธินเอง ต่างก็รู้เห็นเป็นใจ และก็ช่วยกันปกปิดความจริงจนทำให้เธอดูราวกับเป็น “ผู้หญิงโง่ๆ” คนหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็น “ชัช” และ “อันนา” สองสามีภรรยาเพื่อนบ้านที่หมอเจนคิดเสมอว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องที่สนิทที่สุด “โรส” หมออายุรเวทเพื่อนสนิทของอธินและก็เป็นเพื่อนที่หมอเจนมอบความไว้ใจมานาน “จูน” เลขานุการของอธินที่มักมาปรับทุกข์เรื่องชีวิตครอบครัวกับหมอเจน รวมไปถึง “สร้อยสน” มารดาของอธินที่เอาแต่ปกป้องลูกชายโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของลูกสะใภ้แต่อย่างใด         เพราะ “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” และยิ่งเป็น “ทุกๆ คนที่ไว้ใจ” ซึ่งอยู่ใกล้ชิดรอบตัวที่ใช้ทฤษฎีสมคบคิดทำร้ายจิตใจของเธอด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป แบบที่หมอเจนพูดกับโรสว่า “มันไม่ใช่เส้นผมเส้นเดียวน่ะสิ แต่มันเป็นเส้นผมที่บังตาฉันมาตลอด” ด้วยเหตุนี้ หมอเจนที่ “ตาสว่าง” จึงตัดสินใจแน่วแน่วว่า คงต้องเป็นเธอเองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ในการรับรู้และจัดการกับสามีที่มีบ้านหลังที่สอง         แม้หมอเจนจะเคยกล่าวกับโรสว่า “ความเชื่อใจเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์อันมั่นคง” แต่เมื่อหมดซึ่ง “ความเชื่อใจ” ที่มีต่อสามีและผู้คนรอบข้างไปเสียแล้ว หมอเจนจึงเลือกเดินเกมรุกเพื่อต่อสู้ในสมรภูมิแห่ง “เกมรักทรยศ” ในครั้งนี้                 ในขณะที่หน้าฉากของครอบครัวคือสถาบันที่สมาชิกในบ้านต้องปั้นภาพลักษณ์ให้คนอื่นๆ เห็นเพียงด้านความสุขสมานฉันท์กลมเกลียว ดังสำนวนที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” แต่เอาจริงๆ แล้ว หลังฉากของสถาบันครอบครัว บ่อยครั้งก็ไม่ต่างจากสนามรบที่มีการเมืองระหว่างเพศปะทุคุกรุ่นเป็นระยะๆ         ดังนั้น เมื่อฉากหลังเป็นยุทธสงครามจาก “เกมรัก” ที่พรางตาเธอด้วยความ “ทรยศ” หมอเจนจึงมุ่งหมายว่า เธอต้องเอาคืนทุกอย่างทั้งหมดที่เป็นของตนมาเสียจากอธิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ทรัพย์สมบัติ และลูกทั้งสองคน จะมียกเว้นก็แต่สามีเท่านั้นที่เธอต้องการฟ้องหย่า และไม่คิดที่จะถือครองกรรมสิทธิ์อีกต่อไป         เริ่มต้นจากที่หมอเจนส่ง “เตย” อดีตคนไข้ที่เธอวางใจให้ไปเช่าห้องพักอยู่ข้างห้องของเคท และทำทีตีสนิทเพื่อสืบสาวเรื่องราวความลับหรือแม้แต่ปั่นหัวศัตรูอยู่ตลอดเวลา จากนั้นเธอก็ยอมหลับนอนกับชัช เพราะไม่เพียงต้องการสั่งสอนอันนาให้เข้าใจความเจ็บปวดจากการถูกทรยศโดยคนใกล้ตัวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการคุมเกมการใช้ “เพศสัมพันธ์” แบบ one-night stand เป็นเครื่องมือทางอำนาจเพื่อแบล็คเมล์ให้ชัชเอาเอกสารบัญชีการเงินที่ติดลบของสามีมาใช้ต่อรองตอนฟ้องคดีหย่าร้างกัน         จนนำไปสู่ฉากที่หมอเจนเปิดโปงวีรกรรมของเคทกลางโต๊ะกินข้าวต่อหน้า “ท่านบุญณ์ญาณ์” และ “คุณหญิงมินตรา” เพื่อกระชากหน้ากาก “ลูกสาวที่แสนดี” ของทั้งคู่ว่า กำลังคบชู้กับอธินจนตั้งท้อง รวมถึงตอกหน้าเคทด้วยวลีเด็ดแห่งยุคว่า “จะตบหน้าฉันอีกเหรอ ตบมาตบกลับนะครั้งนี้ ไม่โกง”         หลังจากที่จัดฉากต่างๆ จนเขี่ยสามีให้ระเห็จออกไปจากชีวิตได้ หมอเจนก็กลับพบว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” ยิ่งมีจิตสำนึกแบบผู้ชายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเป็นเดิมพัน แบบที่อธินก็กล่าวกับตนเองว่า “บางทีผู้ชายก็รับไม่ได้ที่เห็นว่าเมียตัวเองเก่งกว่า ดีกว่า” เพราะฉะนั้นความพ่ายแพ้ในเกมยกแรกจึงทำให้หลายปีที่ผ่านไปเขาก็ยังเลือกจะกลับมาเพื่อทวงคืนแก้แค้นกับภรรยาอีกครั้ง         และเพราะนักจิตวิทยาอย่างหมอเจนก็รู้ถึงสัจธรรมที่ว่า สิ่งที่ผู้ชายทั้งหลายกลัวก็คือ สายตาของคนอื่นที่มองว่าเขาเป็นคนขี้แพ้หรือเป็นคนที่น่าสมเพชเวทนา ดังนั้น ในยกหลังของเกม หมอเจนจึงจัดการวางกลอุบายที่จะสั่งสอนให้อธินในครั้งนี้ไม่เหลือสิ่งใด แม้แต่ครอบครัวใหม่กับเคทและอนาคตของเขา         หากในการเมืองเรื่องอำนาจระหว่างเพศจะทำให้หมอเจนต้องเรียนรู้ความสูญเสีย โดยเฉพาะกับพัชร์บุตรชายที่เลือกจะหนีออกไปจากเกมขัดแย้งของพ่อและแม่ แต่เธอก็ได้คำตอบว่า ระหว่างการรักษาความสัมพันธ์กับสามีที่เป็นเพียง “ผู้ชายห่วยๆ” คนหนึ่ง กับเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะหลุดพ้นจากสายโซ่ที่ร้อยรัดไว้ด้วยบรรทัดฐานของภรรยาที่ดีที่ต้อง “แสร้งโง่” ตลอดเวลา เธอควรจะอยู่กับตัวเลือกข้อใด         คำตอบคงไม่ต่างจากฉากที่หมอเจนเอาเครื่องพ่นไฟมาลนหลอมแหวนแต่งงานจนไม่เหลือซากความทรงจำอัน “ลวงตา” ของอดีต คู่ขนานไปกับประโยคในท้ายเรื่องที่เธอกล่าวกับอันนา และกระแทกมาในใจของผู้ชมได้อย่างน่าขบคิดยิ่งว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากผู้ชายห่วยๆ คนหนึ่ง แต่ทำไมคนที่ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามฟาดฟันกันไม่จบไม่สิ้นต้องเป็นพวกผู้หญิงด้วย”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 ดวงใจจอมกระบี่ : แล้วเราก็พบรักกันในเมตาเวิร์ส

                นับแต่เบิกอรุณรุ่งแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา สังคมไทยและสังคมโลกค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งโลกเสมือนจริง ยิ่งในช่วงสักราว 2-3 ปีให้หลังมานี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ใหญ่ของเฟซบุ๊ก ได้ประกาศเจตนารมณ์ทักทายชาวโลกด้วยวลีว่า “Hello, Meta” ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า อารยธรรมของมวลมนุษยชาติกำลังเดินทางเข้าสู่โลกแห่ง “เมตาเวิร์ส” กันอย่างแท้จริง         โดยรากศัพท์ “เมตา” หมายถึง “เหนือกว่า” ส่วน “(ยูนิ)เวิร์ส” ก็แปลว่า “จักรวาล” เมื่อรวมกันเข้าก็หมายความได้ว่า เป็นจักรวาลอันเหนือกว่า หรือที่บัญญัติศัพท์คำไทยไว้อย่างเท่ระเบิดว่า “จักรวาลนฤมิต” ซึ่งเป็นประหนึ่งโลกอันแปลกใหม่ ที่เพียงแค่มีเทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนจริง มนุษย์เราก็เข้าไปสู่มิติพิศวงหรือทำลายกำแพงการเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง         ปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีเป็นจุดเชื่อมร้อยความจริงเข้าสู่โลกเสมือนแห่งจักรวาลนฤมิตดังกล่าว จะว่าไปแล้วก็คือ วิถีการมองโลกในแบบที่เชื่อว่า ทุกวันนี้เส้นกั้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงนับวันจะพร่าเลือนลง จนในที่สุดพื้นที่แห่งโลกเสมือนจริงก็มีพลังหลอกล่อยั่วยวนให้มนุษย์เราตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวาลเสมือนที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่นั่นเอง         ในขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศการก้าวเข้าสู่เมตาเวิร์สอย่างเต็มตัวในโลกตะวันตก ละครโทรทัศน์ของไทยก็ขานรับกับการสร้างให้ตัวละครมากหน้าหลายตาได้เดินทางข้ามภพไปมาระหว่างจักรวาลเหนือจริงกับโลกแห่งมนุษย์ ณ กาลปัจจุบัน แบบที่รับชมกันผ่านละครแนวแฟนตาซีเรื่อง “ดวงใจจอมกระบี่”         และเพื่อให้สอดรับกับความพิศวงงงงวยที่จะปรากฏสู่สายตาผู้ชม ละคร “ดวงใจจอมกระบี่” ก็เลยผูกเนื้อหาเรื่องราวให้ตัวละครอย่าง “หวังอี้เทียน” ที่เคยมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในนวนิยายออนไลน์แนวกำลังภายใน ได้เดินทางพลัดหลุดมาอยู่ในโลกมนุษย์ที่เราๆ เวียนว่ายใช้ชีวิตกันอยู่         จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นด้วยการเปิดตัวนางเอกสาว “นลิน” ผู้หญิงที่ดูจะเพียบพร้อมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและชื่อเสียงหน้าตาทางสังคม แต่ลึกๆ แล้ว เธอกลับมีชีวิตที่โดดเดี่ยว เพราะพ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก และยังต้องอยู่ด้วยความระแวงระวังภัยจาก “อติรุจ” และ “อิงอร” อาแท้ๆ กับอาสะใภ้ที่จ้องจะทำทุกอย่างเพื่อฮุบมรดกและหุ้นเกินกว่าครึ่งของธุรกิจตระกูลที่นางเอกเราถือครองอยู่         เพื่อจะหาจังหวะชีวิตที่หลบหนีจากสภาวะแปลกแยกไร้ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าว นลินจึงชอบอ่านวรรณกรรมจีนออนไลน์ จนมักฝันเฟื่องอยากไปพบรักกับพระเอกจอมยุทธ์ และหลุดไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกแฟนตาซีแบบบู๊ลิ้มที่ชวนตื่นตาตื่นใจ         และแล้ววันหนึ่งโชคชะตาก็ชักนำ เมื่อนลินที่อยู่ในสภาวะเหมือนจะสูญสิ้นซึ่งแรงเกาะเกี่ยวในใจ ก็ได้มาเจอกับตัวละครหวังอี้เทียนที่พลัดตกจากผาชิงดาวในอาณาจักรยุทธภพของนวนิยาย “ตำนานกระบี่เย้ยฟ้า” ที่นลินชื่นชอบและกำลังติดตามอ่านเรื่องราวเป็นตอนๆ จากโลกอินเทอร์เน็ต และนั่นก็เป็นปฐมบทที่ตัวละครในจินตนาการมาปรากฏอยู่แบบตัวเป็นๆ ตรงต่อหน้าของนางเอกสาว         ในขณะเดียวกัน นลินก็มีเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวคือ “เรน” และแม้ด้วยวิชาชีพของเรนจะเป็นแพทย์ผู้เติบโตมากับองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์จับต้องไม่ได้ หากว่าหมอเรนก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่คลั่งไคล้นิยายเรื่องตำนานกระบี่เย้ยฟ้า ไม่ต่างจากเพื่อนรักของเธอ         แม้จะยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์ แต่หมอเรนก็รู้วิธีถอดจิตไปสู่โลกเสมือน และทำให้เธอได้ไปพบเจอกับ “ฉีเซิน” สหายร่วมสาบานของหวังอี้เทียน ที่ออกตามหาเพื่อนรักผู้หายตัวไปจากยุทธภพ ทำให้ทั้งหมอเรนและฉีเซินต้องเดินทางสลับไปมาระหว่างโลกแฟนตาซีกับโลกปัจจุบันขณะ จนว้าวุ่นกันไปถ้วนหน้า         ด้วยเหตุที่ทั้งโลกความจริงและโลกจินตนาการต่างก็มีชีวิตของผู้คนที่โลดแล่น และต่างก็มีปัญหาของตัวละครซึ่งดำเนินอยู่ในโลกคู่ขนานทางใครทางมัน โดยทางด้านของหญิงสาวอย่างนลินก็ต้องเผชิญหน้ากับคนร้ายที่หมายปองชีวิตเธอในฐานะผู้ถือครองหุ้นกว่า 50% ของตระกูลดาราลัยกรุ๊ป ในขณะที่หวังอี้เทียนก็ต้องต่อสู้กับ “จอมโจรพรรคดอกไม้แดง” เพื่อรักษาความสงบสุขของยุทธภพ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประมุขสูงสุดแห่ง “สำนักคุ้มภัยพยัคฆ์เมฆา”         แต่ทว่า โลกที่ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกันแบบนี้ ก็สามารถจะไขว้พันกันจนลางเลือนเส้นกั้นแบ่งแห่งความจริงความลวงจนเจือจางหายไป คล้ายๆ กับประโยคที่หวังอี้เทียนได้พูดกับนลินในคราหนึ่งว่า “ทุกเรื่องราวในโลก ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ฟ้า อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่คน”         เพราะฉะนั้น อาจจะด้วยฟ้าลิขิตมาส่วนหนึ่งก็จริง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นน้ำมือมนุษย์เรานั่นเองที่เป็นผู้สร้างโลกเสมือนในจินตนาการขึ้นมา และโลกเสมือนที่มนุษย์เราสร้างไว้นี่เองก็ทำให้ตัวละครในโลกจริงและโลกไซเบอร์เวิร์ลด์ได้เดินทางข้ามไขว้ไปมาหากันได้ เป็นประหนึ่งประดิษฐกรรมของเมตาเวิร์สภายใต้กลิ่นอายแห่งยุทธจักรบู๊ลิ้ม         จากนั้น เมื่อเส้นทางของนวนิยายกำลังภายในได้มาบรรจบกับชีวิตจริงของมนุษย์เรา ก็ไม่แปลกที่ละครได้หวนคืนไปหยิบยกเรื่องราวและการกระทำของตัวละครแห่งอาณาจักรยุทธภพให้มาปรากฏอยู่ตรงหน้าต่อสายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเพลงกระบี่ของจอมยุทธ์ การใช้พัดด้ามติ้วเป็นศาสตราวุธ การเดินพลังลมปราณ การจี้จุดสกัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย การลอบวางยาพิษ การประลองยุทธ์เพื่อชำระหนี้แค้น และอื่นๆ อีกหลากหลายที่บรรดาคอหนังจีนกำลังภายในน่าจะรู้สึกคุ้นชินกันเป็นเรื่องปกติ         ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การกระทำอันคุ้นชินของตัวละครจากโลกยุทธภพดังกล่าว ละครยังได้ย้อนคืนคุณค่าหลักหลายอย่างที่มักปรากฏผ่านละครจีนแนวบู๊ลิ้ม ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมน้ำมิตร เป็นศิษย์ต้องเคารพครู ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูต่อพ่อแม่และบรรพชน รวมไปถึงการได้ยินวลีวาจาและคำพูดที่คมคายจากปากของตัวละคร เริ่มตั้งแต่ “ฟ้าไม่แล้งน้ำใจคนพยายาม” “นั่งไม่เปลี่ยนชื่อ ยืนไม่เปลี่ยนแซ่” “เป็นดั่งขุนเขาแมกไม้ อยู่เพื่อให้ มิใช่เพื่อรับ” “ไม่มีพรสวรรค์ หากตั้งใจฝึกฝนก็สำเร็จวิชาได้” และอื่นๆ อีกมากมาย        จนมาถึงฉากจบเรื่อง ไหนๆ ภาพจำลองของละครได้นำพาโลกบู๊ลิ้มมาบรรจบกับโลกจริงแล้ว ก็คงไม่น่าประหลาดใจนักที่เราจะเห็นคำตอบของเรื่องในแบบที่นลินได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตครองคู่อยู่ในโลกแฟนตาซีกับหวังอี้เทียน สลับกับฉีเซินที่เลือกออกจากโลกนิยายออนไลน์มาสานต่อความรักกับหมอเรนกันในโลกจริง         ถึงที่สุดแล้ว หากความรักไม่ต่างจากตัวแทนแห่งการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้วไซร้ ปรากฏการณ์อย่างเมตาเวิร์สที่ราวกับจะแร้นแค้นความรู้สึกผูกพันของมนุษย์จริงๆ ก็อาจให้คำตอบแก่ผู้คนที่สายสัมพันธ์โดดเดี่ยวเปราะบางได้ว่า บางทีคนเราก็อาจพบรักกันได้แม้แต่ในโลกเสมือนของเมตาเวิร์สนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)