ปีใหม่นี้ เลือกอะไรเป็นของฝาก!




นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,271 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งมีการแบ่งแยกตามแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 


กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับหนึ่งคือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับที่สองคืออาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับที่สามคือของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 24.4 อันดับที่สี่คือเครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับที่ห้าคือผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9

ของฝากจากภาคเหนือ อันดับแรกคือน้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับที่สองคือแคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับที่สามคือหมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับที่สี่คือไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับที่ห้าคือใบชา ร้อยละ 18.3

ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรกคือแหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับที่สองคือหมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับที่สามคือกุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับที่สี่คือแหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับที่ห้าคือน้ำพริก ร้อยละ 18.3

ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับแรกคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับที่สองคือข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับที่สามคืออาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับที่สี่คือผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับที่ห้าคือน้ำปลา ร้อยละ 17.5

ของฝากจากภาคกลาง อันดับแรกคือขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับที่สองคือสายไหม ร้อยละ 27.1อันดับที่สามคือโมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับที่สี่คือกะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับที่ห้าคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9

ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับแรกคือทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับที่สองคือขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับที่สามคือขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับที่สี่คือขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับที่ห้าคือมะขามสามรส ร้อยละ 19.7

ของฝากจากภาคใต้ อันดับแรกคือปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับที่สองคือกะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับที่สามคือกุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับที่สี่คือน้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับที่ห้าคือเครื่องแกง ร้อยละ 21.3

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0

และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมาไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4



นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมเรื่องการเลือกซื้อสินค้าของฝากว่า ฉลากเป็นสิ่งจำเป็นและผู้บริโภคไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบข้อมูลที่แสดงบนฉลากก่อนการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากฉลากเป็นหนึ่งในสิทธิของผู้บริโภคที่ว่าด้วยการได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ดังนั้นก่อนการซื้อทุกครั้ง ควรปฏิบัติดังนี้

1) ให้พิจารณาว่ามีฉลากหรือไม่ หากเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลาก ควรหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตามหากของฝากประเภทอาหารหลายๆ ชนิดเป็นอาหารประเภทที่ผลิตขายเฉพาะหน้าร้านของตัวเอง กฎหมายอนุญาตให้ไม่ต้องแสดงฉลาก ดังนั้นก่อนซื้อผู้บริโภคควรสอบถามข้อมูลสำคัญอย่าง วันที่ผลิตและวันหมดอายุ การเก็บหรือการดูแลรักษา ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นหรือไม่ เพื่อไม่ให้อาหารบูดเสียเร็ว 

2) ถ้าหากมีการแสดงฉลาก ให้พิจารณาการแสดงรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นภาษาไทย และ ถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่ ทั้งนี้หากฉลากไม่เป็นภาษาไทยควรหลีกเลี่ยง

หากพบผู้ประกอบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการอาจมีความผิดได้สองกรณี ดังนี้ 

กรณีแรก หากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิตจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (2) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ 2522 เรื่อง ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย อาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งแสนบาท

กรณีที่สอง หากไม่แสดงฉลากหรือแสดงฉลากไม่ถูกต้องครบถ้วน จะมีความผิดตามมาตรา 6 (10) ของ พ.ร.บ.อาหารฯ  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สามหมื่นบาท  

หากซื้อสินค้ามาแล้วพบความผิดปกติหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคสามารถใช้สิทธิร้องเรียนได้โดยตรงกับผู้ผลิต/ ผู้จัดจำหน่ายตามที่อยู่ที่ระบุไว้บนฉลากหรือตามสถานที่ที่ซื้อสินค้ามา


นอกจากนี้ก่อนเลือกซื้อของกินเป็นของฝาก นอกจากพิจารณาเรื่องฉลากเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องดูเรื่องอื่นๆ ควบคู่กัน เพื่อให้ได้ของฝากที่สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น 

1) สถานที่ขายหรือสถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น แมลง สารเคมี และอาหารควรถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทของอาหาร

2) สภาพภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด ไม่มีร่องรอยที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของสิ่งปนเปื้อน

3) ลักษณะของอาหารต้องอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน ไม่มีร่อยรอยของการเกิดเชื้อราหรือเชื่อจุลินทรีย์ หรืออยู่ในสภาพอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการบริโภค


ที่ผ่านมาเคยมีข้อมูลผลทดสอบเรื่องความไม่ปลอดภัยของของฝากกลุ่มอาหารอยู่บ้าง เช่น เมื่อปี 2559 ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง เป็นต้น ที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ พบว่าจากทั้งหมด 1,071 ตัวอย่าง พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต การปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส และ เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน 

รวมทั้งในกรณีของ ปลาหมึกแห้ง ที่มูลนิธิฯ เคยสุ่มวิเคราะห์ตัวอย่างปลาหมึกแห้ง เมื่อปี 2553 พบการปนเปื้อนโลหะหนักทั้ง 8 ตัวอย่างที่สุ่มทดสอบ ทั้ง แคดเมียม ตะกั่ว และ ปรอท โดยเฉพาะ แคดเมียม ที่พบเกินค่ามาตรฐาน 4 จาก 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ

ส่วนในกลุ่ม ขนมปัง ขนมอบ ขนมเค้ก ก็มักมีความเสี่ยงในเรื่องของสารกันบูด ส่วนอาหารจำพวกแหนมเนือง มีความเสี่ยงของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษที่อาจปนเปื้อนมาพร้อมผักสดที่ล้างทำความสะอาดไม่ดีพอ เช่นเดียวกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรือแปรรูปจากเนื้อสัตว์ หากรับประทานโดยที่อาหารไม่ผ่านการปรุงให้สุก หรือผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

500 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: poll ของฝาก หมดอายุ ปีใหม่


ความคิดเห็น (0)