ฉบับที่ 197 ซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์

สาวๆ เกือบทั่วโลกใฝ่ฝันให้ตัวเองมีรูปร่างที่ดีได้สัดส่วน ทำให้อาหารเสริมลดน้ำหนักเป็นหนึ่งสินค้าขายดีสำหรับคนอยากหุ่นดีด้วยวิธีลัด ยิ่งด้วยยุคสมัยนี้ที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้การซื้อของสะดวกสบายง่ายเพียงปลายนิ้ว ธุรกิจการขายอาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์จึงยิ่งขยายตัวและควบคุมได้ยากขึ้น ซึ่งหากใครไม่อยากโดนหลอกให้เสียเงินฟรี ลองมาดูเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้ร้องรายนี้กัน


คุณมานีสนใจอยากลดน้ำหนัก เธอจึงเลือกซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักที่โฆษณาผ่านทางร้านค้าออนไลน์ในแอปพลิเคชันอินสตาแกรม (Instagram) และพบว่ามียี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาว่า เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศเกาหลี ได้มาตรฐานปลอดภัย มี อย. และ GMP ช่วยให้แขนขาเรียว ลดไวไม่ลดทานฟรี เหมาะกับคนดื้อยา อ้วนสะสม หลังคลอด ซึ่งหลังจากดูรายละเอียดต่างๆ แล้ว เธอก็คิดว่าสินค้าดังกล่าวน่าจะปลอดภัยจริง จึงตัดสินใจสั่งซื้อและโอนเงินชำระค่าสินค้าไปจำนวน 550 บาท


อย่างไรก็ตามหลังแจ้งแม่ค้าว่าโอนเงินเรียบร้อยแล้วและสอบถามถึงเลขพัสดุสินค้ากลับพบว่า แม่ค้าไม่สนใจข้อความของเธอและปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเป็นอาทิตย์ โดยได้ตอบกลับมาภายหลังว่ากำลังจัดส่งอยู่ ขอให้เธอเย็นๆ ก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้คุณมานีมั่นใจว่าโดนโกงเงินแน่นอน เธอจึงไปแสดงความคิดเห็นในอินสตาแกรมของแม่ค้าและขอให้คืนเงินที่โอนไป ซึ่งแม่ค้าก็ได้เข้ามาตอบกลับว่าจะคืนเงินให้ แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปพร้อมส่งสินค้ามาให้แทน 


เมื่อได้รับสินค้าคุณมานีก็พบว่าบรรจุภัณฑ์ไม่เหมือนกับในรูปที่โฆษณาไว้ เธอจึงไม่กล้ารับประทานและติดต่อกลับไปยังแม่ค้าอีกครั้งเพื่อขอให้คืนเงิน ซึ่งแม่ค้าก็ได้แจ้งมาว่าจะคืนเงินให้ แต่ต้องส่งสินค้าคืนมาก่อน และเมื่อคุณมานีส่งสินค้าดังกล่าวคืนไป แน่นอนว่าแม่ค้าก็หายเข้ากลีบเมฆไป ด้วยการลบบัญชีผู้ใช้ในอินสตาแกรมทิ้งและปิดทุกช่องทางการสื่อสารกับเธอ ทำให้คุณมานีต้องส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ 


แนวทางการแก้ไขปัญหา 

เรื่องนี้ขอแยกเป็นสองกรณี กรณีที่ซื้อสินค้าแล้วโดนโกงเงินนั้น ผู้ร้องสามารถรวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น โฆษณาการขายสินค้าดังกล่าวบนอินสตาแกรม บทสนทนาซื้อขาย หลักฐานการโอนเงินและสินค้าที่ซื้อมา ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้ หรือแจ้งเบาะแสและส่งตัวอย่างสินค้าให้ อย. ลงพื้นที่ตรวจสอบผ่านทางสายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียน ผาน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป


อย่างไรก็ตามในกรณีนี้พบว่าผู้ขายได้ปิดร้านค้าบนอินสตาแกรมไปแล้ว รวมทั้งผู้ร้องได้ส่งสินค้าคืนไปแล้ว และไม่สามารถติดตามหาเบาะแสอื่นๆ ของสินค้านี้ได้อีกเลย มีเพียงชื่อยี่ห้อเท่านั้น จึงแนะนำให้ผู้ร้องร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. เพื่อให้ติดตามและสุ่มเก็บตัวอย่างมาเพื่อตรวจสอบต่อไป 


สำหรับกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งมักโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผิวขาวหรือเสริมสรรถทางเพศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นเพียงอาหารที่ช่วยเสริมหรือเติมเต็มสารอาหารที่ร่างกายขาดเท่านั้น ไม่ใช่ยาที่สามารถออกฤทธิ์หรือมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากฉลากดังนี้

1. หากสินค้าดังกล่าวเป็นอาหารจะต้องใช้เลข อย. 13 หลัก 2. หากเป็นยาจะต้องใช้เลขทะเบียนยาและไม่ได้อยู่ในกรอบของ อย. ซึ่งจะต้องระบุว่า “ทะเบียนยาเลขที่” หรือ “Reg. No.” ตามด้วยอักษรและตัวเลข


นอกจากนี้เราควรตรวจสอบรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือรับรองจากอย. ได้จริงหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx ซึ่งหากพบว่า รายละเอียดในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ ควรสันนิษฐานว่าอาจเป็นสินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน และไม่ควรเสี่ยงรับประทานเนื่องจากอาจทำให้ได้รับสารอันตรายอย่าง ไซบูทรามีน (Sibutramine) เพราะที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ที่มักโฆษณาว่าช่วยลดน้ำหนักจำนวนมาก ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกายและมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ 


มากไปกว่านั้นหากพบว่า สินค้าดังกล่าวเข้าข่ายเป็นยารักษาโรคก็ถือว่าผิดกฎหมายได้เช่นกัน เพราะตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่า ต้องไม่ขายนอกสถานที่ตามที่อนุญาต เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง การขายในอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการขายนอกสถานที่ที่อนุญาต มีความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ยา มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาด้วย เพราะยาถือเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้โฆษณา จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท


            ทั้งนี้หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์และรับประทานภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาจพบสารอันตรายดังที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือสารอันตรายอื่นๆ อีก นอกจากนี้การรับประทานยาลดความอ้วน ต้องทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เพื่อช่วยให้รูปร่างสมส่วนและสุขภาพดี 


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค อาหารเสริม ลดน้ำหนัก ออนไลน์

ฉบับที่ 272 พนักงานโรงแรมทำ “โน้ตบุ๊ก” เสียหาย

        เวลาจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งที คิดว่าหลายๆ คน คงจะเลือกแล้ว เลือกอีกกับที่พัก เพราะนอกจากเราจะเสียเงินทั้งที ก็คงอยากได้ที่พักแบบคุ้มค่าและปลอดภัย ให้คุ้มกับเงินที่เสียไปใช่ไหมล่ะ?         ก็เหมือนกับคุณวี ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่...ไม่ใช่เรื่องที่พักไม่ตรงปกอย่างที่คิดหรอกนะ แต่เป็น เรื่องที่ทางพนักงานของโรงแรมนั้น ทำทรัพย์สินของคุณวีเสียหายนะสิ โดยคุณวีเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังว่า เขาได้ไปเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเขาเดินทางถึงโรงแรมดังกล่าว ก็มีรถกอล์ฟมารอรับ-ส่งทันที ในขณะที่ขนย้ายทรัพย์สินขึ้นบนรถกอล์ฟ ก็มีกระเป๋าใบหนึ่งที่เขาตั้งใจวางในลักษณะยืนตั้งเอาไว้ปกติ เพราะในกระเป๋าดังกล่าวมีโน้ตบุ๊ก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อขนย้ายเสร็จสิ้น ก็เดินทางไปห้องพักทันที แต่...เมื่อมาถึงห้องพักกลับต้องตกใจ! เพราะว่าพนักงานโรงแรมดันเอา กระเป๋าเป้ที่มีโน้ตบุ๊ก ไปวางไว้ในลักษณะแนวนอนราบไปกับพื้น ทำให้ขวดน้ำที่อยู่ในกระเป๋าไหลมาโดนโน้ตบุ๊ก ซึ่งทางพนักงานเองก็ยอมรับว่าเป็นคนวางไว้แบบนั้นเอง         คุณวี จึงต้องรีบแก้ปัญหาโดยการนำกระเป๋าเป้ตั้งขึ้น พร้อมกับรีบเอาของทั้งหมดออกจากกระเป๋า ซึ่งในขณะเดียวกัน ทางพนักงานก็ได้กล่าวว่า “ขอตัวก่อนนะครับ” จึงทำให้ทางคุณวีรู้สึกว่า ทางพนักงานไม่มีการพูดกล่าวขอโทษ หรือพยายามช่วยเหลือเรื่องดังกล่าวเลย และโน้ตบุ๊กของเขาก็เสียหายอีกด้วย         แนวทางแก้ไขปัญหา         หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางผู้ร้องได้มีการติดต่อส่งอีเมลไปยังโรงแรม พร้อมแจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อมา ทางโรงแรมก็ได้ติดต่อทางผู้ร้องมาว่าจะทำการตรวจสอบเรื่องราว 1 วัน และจะติดต่อกลับมา ซึ่งทางโรงแรมก็ได้ติดต่อกลับมาพร้อมแจ้งว่าจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ผู้ร้องส่งข้อมูล เช่น ใบเสร็จรับเงิน และโน้ตบุ๊กที่เสียหายไปยังโรงแรม แต่เมื่อคุณวีได้ส่งข้อมูลไปแล้วพบว่า ไม่มีการติดต่อกลับมาจากทางโรงแรมอีกเลย จึงได้แจ้งไปทางสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทางสำนักงานใหญ่จึงจะชดเชยเป็นเงินเพียง 5,000 บาท เท่านั้น ซึ่งทางผู้ร้องยังรู้สึกว่าไม่โอเค         เบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวัน และได้ทำหนังสือไปถึงทางโรงแรมดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้บริโภคนั้น ระมัดระวังทรัพย์สินตัวเองด้วย หากเป็นทรัพย์สินมีค่าหรือของที่รู้สึกว่าเสียหายได้ง่าย อ่อนไหว ควรป้องกันโดยการแจ้งพนักงานให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 บัญชีเทรดคริปโตฯ โดนแฮ็ก หลัง login ผ่านเว็บไซต์ เงินดิจิทัลถูกขโมยเกลี้ยง

        การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์นั้นไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล ต่างก็ต้องเสี่ยงกับเหล่ามิจฉาชีพที่คอยจ้องแฮ็กข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เพื่อรอจังหวะขโมยถอนเงินในบัญชีออกไปด้วยรูปแบบที่แนบเนียนและแยบยล จนมีหลายเคสที่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และผู้เสียหายเองก็ทำได้เพียงรอๆ ๆ ๆ         คุณกิจเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่รอคอยอย่างมีความหวัง เขาเล่าว่าซื้อขายคริปโตฯ (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มบิทคับ (Bitkub) มาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยปกติจะ login ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาจำเป็นต้อง login ผ่านเว็บไซต์ ปรากฎว่าเขาต้อง login 2-3 รอบ ถึงจะเข้าบัญชีตัวเองได้ พอเข้าได้ปุ๊บก็มีข้อความเด้งขึ้นมาปั๊บว่า "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว"          เขางงมาก ใครถอน? ถอนไปได้ไง? เพราะเขายังไม่ได้สั่งถอนเหรียญ หรือสั่งทำอะไรเลยด้วยซ้ำ เขารีบเข้าไปดูในกระเป๋าตังค์ดิจิทัล แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพบว่าไม่มีเหรียญเหลืออยู่เลย เขาจึงติดต่อไปทางบริษัทบิทคับ ซึ่งแนะนำให้เขาไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ก่อน ทางบริษัทจึงจะเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลังข้างในให้ได้ เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจขอนแก่น และแจ้งตำรวจออนไลน์ด้วย หลังจากนั้นทางบริษัทได้ส่งหลักฐานการทำธุรกรรมมาให้ พบว่าเหรียญของเขาทั้งหมดถูกขายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะถูกนำไปซื้อเหรียญใหม่แล้วถอนออกไปทันที         คุณกิจพยายามทำทุกหนทางที่ทำได้ เขาติดต่อตำรวจออนไลน์อยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ จึงไปให้สถานีตำรวจที่ขอนแก่นติดต่อให้ หลังจากนั้นตำรวจออนไลน์จากส่วนกลางได้ทำเรื่องมายังสถานีตำรวจขอนแก่นให้สอบสวนเรื่องนี้ เขาได้ไปให้ปากคำพร้อมมอบหลักฐานทั้งหมดไปแล้ว แต่เขาไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะดูเหมือนการดำเนินการค่อนข้างช้า เขาจึงไลน์มาเพื่อปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อกลับไปยังคุณกิจเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จึงทราบว่าทางตำรวจ สภ.ขอนแก่นได้ขอให้คุณกิจส่งสำเนาเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปให้เพิ่มเติม ซึ่งเขาก็จัดการเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว และยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าของคดีอยู่ทุกสัปดาห์ด้วย แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิมว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ         ล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสื่อถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในกรณีนี้ ซึ่งทางสำนักงาน กลต.ติดต่อกลับมาว่าได้รับเรื่องร้องเรียนนี้และประสานไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้นจะแจ้งกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการคริปโตฯ ว่า เคสแบบนี้ต้องตามกันยาวนานเป็นปีๆ ทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 ชีวิตเสี่ยงภัย จากหม้อแปลงไม่ได้มาตรฐาน!

        การพักอาศัยอยู่ใกล้ทางสาธารณะอาจจะมีปัญหาได้เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต เช่นเรื่องราวของคุณนัด ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมู่ 2 ถนนกาญจนวนิช ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามานานนับสิบปี โดยหน้าบ้านของคุณนัดนั้นมีเสาไฟฟ้าถึง 3 เสา คุณนัดไม่คิดว่า เสาไฟหน้าบ้านที่มีมานานจะเป็นอันตรายได้ จนเมื่อแขวงการทางได้ยกระดับทางหน้าบ้านให้สูงขึ้นอีกราว  2 เมตร นั่นจึงทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ถูกต้องตามมาตรฐานคือสูงกว่าระดับพื้น 4 เมตร กลับเป็นหม้อแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะสูงกว่าระดับพื้นเพียง 2 เมตร!           สถานการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อนานวันสายไฟ สายสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งและพาดผ่านหม้อแปลงและเสาไฟยิ่งมากขึ้น มากขึ้น กระจุก ยุ่งเหยิงอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้เดินผ่านสัญจรไปมา ยิ่งในช่วงหน้าฝนตกหรือพายุเข้าอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง เสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ และหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูดผู้คนบริเวณใกล้เคียงได้         คุณนัดอดรนทนเห็นต่อไม่ไหว จึงติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. เขตสงขลา) ให้เข้ามาจัดการสายไฟที่พะรุงพะรัง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแล้วก็ทำเพียงมัดรวมสายไว้ แต่นานวันเข้าสายไฟก็กลับมายุ่งเหมือนเดิม  อีกทั้งคุณนัดยังได้แจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ขอให้ตรวจสอบและแก้ไข ยกหม้อแปลงขึ้นแต่กลับได้รับการชี้แจงว่า การย้ายระดับหม้อแปลงไฟฟ้า คุณนัดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อ้าว ! ทำไมภาระกลายมาเป็นของคุณนัด โดยค่าดำเนินการทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 78,056.50 บาท คุณนัดเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ผลักภาระที่จะต้องดำเนินการเองให้ประชาชนรับผิดชอบ จึงแจ้งมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา           หลังจากคุณนัดได้เข้ามาร้องเรียน และขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ความเดือดร้อนจากกรณีติดตั้งหม้อแปลงที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา  จึงแนะนำให้คุณนัดทำหนังสือร้องเรียนปัญหาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาคุณนัดแจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตแล้ว จนล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 2566  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลาได้ติดต่อพูดคุยกับคุณนัดว่าจะเข้ามาดำเนินการให้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งตามมาตรฐาน ภายในเดือน ก.พ. 2567 ทั้งนี้ คุณนัดและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรอติดตามการทำงานครั้งนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 บัตรเครดิตหายในต่างประเทศ

        จะทำอย่างไร เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถูกขโมยกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เงินสดและบัตรเครดิตหาย พอคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มเวียนหัวกับปัญหาที่จะตามมาแล้ว หนักไปกว่านั้นเมื่อในกระเป๋าเงินมีบัตรเครดิตอยู่ถึง 3 ใบ!            เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณแยมเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์  ขณะคุณแยมและครอบครัว นั่งรับประทานอาหารกลางวันในร้าน KFC  โดยได้วางกระเป๋าไว้ข้างๆ ตัว   แต่...เพียงแค่ 10 นาที รู้ตัวอีกกระเป๋าก็หายไปแล้ว ในกระเป๋าใบนั้นมีทั้งเงินสด โทรศัพท์มือถือ พาสปอร์ต และบัตรเครดิตการ์ดอยู่ 3 ใบ         คุณแยมตกใจมากจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนการระงับบัตรเครดิต เนื่องจากโทรศัพท์มือถือได้ถูกขโมยไปด้วย จึงแจ้งระงับบัตรเครดิตได้สำเร็จเมื่อเดินทางกลับถึงโรงแรมที่เข้าพัก        เวลาระหว่างตั้งแต่บัตรหาย จนเมื่อคุณแยมได้โทรศัพท์แจ้งติดต่อธนาคารของทั้ง 3 บัตรเครดิต บัตรเครดิตทั้ง 3 ใบ มียอดการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งหมด บัตรใบที่ 1 (บัตรสีเงิน) มียอดใช้จ่าย 4-5 รายการ แล้วบัตรก็ถูกตัดไปเองโดยอัตโนมัติ  บัตรใบที่ 2 ( สีน้ำเงิน) มียอดซื้อสินค้าราคา 15,000 บาท แต่เมื่อแจ้งปฏิเสธรายการไป ยอดก็ถูกยกเลิก แต่ปัญหาที่คุณแยมหนักใจ และอยากส่งเสียงบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบัตรที่ 3 (บัตรสีม่วง) เพราะเมื่อหายมียอดรูดบัตรราคาเท่า ๆ กัน  ติดต่อกันถึง 24 ยอดเมื่อถึงโรงแรมแล้วจึงค่อยระงับได้         เมื่อกลับมาประเทศไทย คุณแยมจึงได้อีเมล์ถึงธนาคารของบัตรสีม่วงทันทีแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ คุณแยมจึงโทรไปทาง Call Center อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะมีการติดต่อกลับแต่ก็หายเงียบไป  คุณแยมจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศเพื่อขอให้เข้ามากำกับดูแลการทำงานของธนาคารสีม่วง และหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัตรสีม่วงได้แจ้งว่าจะประนีประนอมการชำระหนี้ให้คุณแยม โดยให้ชำระ 50% (ประมาณ 18,000 บาท) และให้ตอบรับภายในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา         คุณแยมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงไม่มีระบบป้องกันใดๆ ให้ผู้ถือบัตรเลย แม้จะเกิดการรูดบัตรเครดิต 24 ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติชัดเจน ก็ไม่มีระบบที่ช่วยระงับการใช้งานโดยอัตโนมัติ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Contactless โดยไร้สัมผัส ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต สมาร์ทวอทช์ ธนาคารต่างประเทศรวมถึงในประเทศด้วย ซึ่งหลายธนาคารได้มีระบบให้ใส่รหัสเพื่อตรวจพบการใช้บัตรผิดปกติแล้ว แต่ธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงก็ยังไม่มีระบบดังกล่าว  คุณแยมจึงมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะการที่เธอต้องจ่ายเงิน ประมาณ 18,000 บาท จากการที่ธนาคารไม่มีระบบป้องกันและยังเป็นกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมยด้วย เธอมีหลักฐานการแจ้งความอย่างชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับเธอสุดๆ  แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับคุณแยม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอแนะนำว่า          1.เมื่อบัตรเครดิตหาย ให้รีบโทรศัพท์อายัดบัตรกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือทันทีที่สามารถทำได้         2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่เกิดเหตุ         3.ทำหนังสือขอปฏิเสธการชำระยอดเงิน พร้อมแนบใบแจ้งความ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมกันนี้ให้ทำสำเนาอีกชุด ส่งไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา         4. เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง         สำหรับกรณีคุณแยม ขณะนี้ได้ทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินและรอคำตอบจากทางธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเรื่องไม่อาจยุติลงได้ คงต้องใช้กระบวนการทางศาลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)