ฉบับที่ 188 แมงกะพรุน


สัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ที่อยู่คู่โลกมามากกว่า 500 ล้านปี มีลำตัวใส นิ่ม ไร้สมองและหัวใจมาตั้งแต่แรกมีบนโลก


แมงกะพรุนมีหลายชนิดนับได้เป็นหมื่น มีทั้งชนิดกินได้และชนิดที่มีพิษร้ายแรง แมงกะพรุนป้องกันตัวเองด้วยเข็มพิษที่หนวด ถ้าโดนทิ่มตำเข้าไปจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ตั้งแต่เบาะๆ อย่างทำให้คัน เป็นผื่น บวมแดง เป็นรอยไหม้ปวดแสบปวดร้อน เป็นแผลเรื้อรังหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไปเจอพิษชนิดร้ายแรงเข้า โดยเฉพาะแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส ซึ่งเป็นแมงกะพรุนที่ถูกจัดอันดับให้มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก


แต่คนเรานั้นช่างสังเกตทำให้เจอะเจอแมงกะพรุนชนิดที่สามารถนำมาบริโภคได้ และจัดว่ามีคุณค่าทางอาหารพอสมควรเสียด้วย โดยเฉพาะเจลาตินที่เป็นส่วนของเนื้อตัวใสๆ นั้นจัดเป็นโปรตีนชั้นดี แคลอรีต่ำ กล่าวกันว่าคนจีนนั้นจับแมงกะพรุนมากินกว่า 1,000 ปีแล้ว เชื่อว่ากินแล้วบำรุงข้อ บรรเทาโรคเก๊าท์


เมื่อชาวประมงเก็บแมงกะพรุนขึ้นมาจากทะเลจะนำมาล้าง ตากแห้งแล้วหมักด้วยเกลือ สารส้ม และโซเดียมไบคาร์บอเนต(ผงฟู) หลายวันก่อนจะนำออกขาย เป็นแบบแมงกะพรุนแห้ง ซึ่งจากแมงกะพรุนสดหนักประมาณ 30-50 กิโลกรัม พอแห้งจะเหลือเพียงแค่ 1 กิโลกรัมเท่านั้น แมงกะพรุนแห้งมีหลายเกรด ราคาจะสูงต่ำไปตามคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เกรดเอจะถูกส่งขายตลาดต่างประเทศอย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น เพราะคนที่นั่นเขานิยมรับประทานกันมาก


แมงกะพรุนแห้งนำมาทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ยำ ใส่ในเย็นตาโฟหรือลวกจิ้มในร้านสุกี้ และบางพื้นที่อย่างชลบุรี ก็มีการนำแมงกะพรุนสดไปดองกับเปลือกไม้ เช่น เปลือกต้นมะยม จะได้แมงกะพรุนดองที่มีสีออกแดงๆ รสชาติอร่อยแปลกไปอีก โดยแมงกะพรุนชนิดที่รับประทานได้ ส่วนใหญ่ที่พบในทะเลบ้านเราคือ แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนจาน แมงกะพรุนหอม และแมงกะพรุนลอดช่อง

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนๆลน์ แมงกะพรุน อาหาร โรค

ฉบับที่ 159 อาหารกระป๋อง

อาหารกระป๋องเป็นหนึ่งในความสำเร็จอันน่าทึ่งของการถนอมอาหารที่มนุษย์คิดขึ้นมาได้ ก่อนที่จะรู้ถึงสาเหตุจริงๆ ที่ทำให้อาหารบูดเสีย ประวัติศาสตร์ของอาหารกระป๋องเริ่มต้นที่ขวดแก้ว โดยนาย นิโคลัส ฟรองชัวร์ อัปแปร์ต  ชาวฝรั่งเศส ได้สนองนโยบายด้านการสงครามของกษัตริย์นโปเลียน ที่ประกาศจะให้รางวัลแก่ผู้ที่คิดค้นวิธีการเก็บรักษาอาหารได้นานๆ สำหรับใช้เป็นเสบียงในกองทัพ งานนี้นายนิโคลัส รับเงินไป 12,000 ฟรังส์ กับวิธีการนำอาหารใส่ขวดแก้วแล้วผนึกฝาให้แน่นพร้อมกับต้มขวดบรรจุอาหารในน้ำเดือด วิธีนี้คือการสเตอริไลเซชั่น(Sterilization) หรือกระบวนการใช้ความร้อนเพื่อทำลายจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งยังคงเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องน่าทึ่งเพราะขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า สาเหตุที่ทำให้อาหารบูดเสียมาจากจุลินทรีย์ และการใช้ความร้อนคือการทำลายเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ พวกนี้ จากขวดแก้วได้พัฒนามาเป็นกระป๋องที่ผลิตจากโลหะ และต่อยอดไปสู่การบรรจุอาหารในถุง(pouch) ซึ่งทำจากวัสดุพลาสติกประเภทต่างๆ แต่กระป๋องโลหะยังคงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและการนำวัสดุมารีไซเคิลได้ใหม่ อาหารบรรจุกระป๋องที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่ดี สามารถเก็บรักษาได้นานราว 2 ปี เว้นพวกที่มีความเป็นกรด เช่น ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์หมักดอง ไม่ควรเก็บเกินกว่า 18 เดือน อาหารกระป๋องควรอยู่ในสภาพดีเมื่อเลือกซื้อ ไม่บุบ บวม และเนื่องจากอาหารกระป๋องอยู่ในสภาพไม่มีอากาศ หากมีลมพุ่งออกมาจากกระป๋องในขณะเปิดควรทิ้งไปทันที ห้ามกิน //

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 131 อาหารเส้น

ชนชาวโลกนั้นชอบกินเส้น ไม่ว่าจะเส้นก๋วยเตี๋ยว หมี่ซัว พาสต้า ราเม็ง อุด้ง ขนมจีนหรือข้าวซอย ต่างล้วนผลิตจากแป้งที่ทำจากธัญพืชหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละพื้นถิ่น ปัญหาที่ถกเถียงกันมานานคือ ใครเป็นผู้ให้กำเนิดอาหารเส้น ถ้าคิดถึงแหล่งอารยธรรมในอดีต ก็ต้องเป็นชนชาติทางอียิปต์โบราณ โรมัน หรือจีน ในอียิปต์ไม่ปรากฏหลักฐานเรื่อง อาหารเส้นที่นั้นเน้นขนมปัง ส่วนโรมันมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ติดต่อกับราชวงศ์ฮั่น เมื่อ 2,300 ปีก่อนโดยการนำโม่หินมาให้คนจีนรู้จัก และจีนเริ่มใช้โม่บดข้าวสาลีจนเป็นแป้ง   จากนั้นนำแป้งสาลีมาผสมน้ำนวดจนเข้ากันดี แล้วจึงนำไปนึ่งหรือต้มสุกเป็นก๋วยเตี๋ยวแต่มีหลักฐานใหม่สุดพบว่า ไหหินอายุราว 4,000 ปีก่อน ขุดพบที่เมือง Lajia ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน   มีเส้นก๋วยเตี๋ยวติดอยู่ ลักษณะของเส้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง0.3 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร และมีสีเหลือง ทำด้วยข้าวบาร์เลย์ (Hordeum) ข้าวสาลี(Triticum) และข้าวฟ่าง (Panicum) เป็นอันยุติในตอนนี้ว่า จีนนั่นเองคือชาติแรกที่ผลิตอาหารเส้นบ้านเรานิยมกินอาหารเส้นไม่แพ้ชาติอื่น โดยเฉพาะเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเส้นต่างๆ เหล่านี้ ก็เข้าสู่ระบบการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม ทำให้มีการเติมแต่งสารเคมีมากมาย รวมทั้งสารกันบูดเพื่อให้เก็บรักษาเส้นไว้ได้นานๆดังนั้นบางทีก็เปลี่ยนจากกินเส้นมาเป็นเกาเหลาบ้างก็น่าจะดี

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)