นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 182 เสียงผู้บริโภค

 

ฉลากอาหารไม่มีเลข อย. 13 หลักถือว่าผิดกฎหมาย

เครื่องหมาย อย. เป็นสิ่งที่การันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง เมื่อซื้ออาหารแปรรูปต่างๆ มารับประทาน แต่เครื่องหมาย อย. อย่างเดียวอาจไม่ถูกต้อง เพราะจำเป็นต้องมี เลขสารบบอาหารหรือเลขประจำตัวผลิตภัณฑ์อาหาร 13 หลักแสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. ด้วย จึงจะเรียกว่า ถูกต้อง


คุณสุจิตราซื้อนมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ยี่ห้อ อืมม!..มิลค์ (Umm!..Milk) รสกล้วยหอม ราคา 55 บาท จากห้างสรรพสินค้าเซ็นทัลลาดพร้าวกลับมารับประทานที่บ้าน แต่ได้สังเกตว่านมดังกล่าว แม้จะมีเครื่องหมาย อย.แต่ไม่มีเลขสารบบอาหาร เธอจึงสอบถามไปยังหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของนมยี่ห้อดังกล่าวซึ่งชี้แจงกลับมาว่า “นมปรุงแต่ง 0% แล็กโทส รสกล้วยหอม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ อืมม!..มิลล์ ที่อยู่ในขั้นตอนการขอ อย. และสามารถจำหน่ายได้เนื่องจากจำหน่ายในจำนวนจำกัด โดยมีการส่งตรวจคุณภาพกับ อย. เสมอ”


อย่างไรก็ตามคุณสุจิตรา ยังข้องใจในคำตอบของบริษัทฯ เธอจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะไม่แน่ใจว่านมดังกล่าวได้รับมาตรฐานและมีความปลอดภัยจริงหรือไม่


แนวทางการแก้ไขปัญหา
หลังได้รับเรื่องร้องเรียนศูนย์ฯ จึงไปซื้อนมดังกล่าวจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งพบว่ามีเพียงเครื่องหมาย อย. แต่ไม่มีเลขสารบบอาหารจริง จึงทำหนังสือสอบถามและขอให้มีการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่ง อย. ตอบกลับมากว่า ได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการตรวจสอบสถานที่ผลิตพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งพบว่ามีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่การแสดงอาหารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ดำเนินการปรับตามประกาศ (ไม่เกิน 30,000 บาท) เรียบร้อยแล้ว


ทั้งนี้สำหรับอาหารใดๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ต้องมีฉลากอาหาร ก็ไม่ควรวางจำหน่ายก่อนได้รับเครื่องหมาย อย. เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

 

ย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
ความคาดหวังของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือคงหนีไม่พ้นเรื่อง สัญญาณเครือข่ายที่ดีและมีความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคอย่างเราสามารถเลือกใช้บริการเครือข่ายที่ต้องการได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมายผ่านการบริการที่เรียกว่า การย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม อย่างไรก็ตามมีผู้ใช้บริการบางส่วนที่ได้รับความไม่สะดวกจากการใช้บริการดังกล่าว โดยเขาไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ได้เลยเป็นเวลาเกือบ 10 วัน ภายหลังการติดต่อขอย้ายเครือข่ายใหม่


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสุชาติ ซึ่งเดิมทีใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ดีแทค (Dtac) แต่พบว่าในพื้นที่ที่เขาใช้งานไม่ค่อยมีสัญญาณโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าว ส่งผลให้การติดต่องานต่างๆ ไม่สะดวกเท่าที่ควร เขาจึงต้องการเปลี่ยนค่ายใหม่เป็นเครือข่าย ทรูมูฟเอช (TrueMove-H) อย่างไรก็ตามภายหลังไปดำเนินการย้ายค่ายในวันที่ 13 มี.ค.และรอให้มีการรีเซทสัญญาณใหม่ครบ 3 วันแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้ โดยทางทรูมูฟเอชแจ้งว่าไม่สามารถดึงสัญญาณโทรศัพท์ได้ เนื่องจากเครือข่ายเดิมไม่อนุญาต ทำให้ผู้ร้องมาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะได้รับความเดือนร้อนติดต่องานหรือธุระต่างๆ ทางโทรศัพท์มือถือไม่ได้เลย

แนวทางการแก้ไขปัญหา
ภายหลังศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามปัญหาดังกล่าวที่ Call center ของเครือข่ายดีแทค (1678) ก็ได้รับการชี้แจงว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องการดึงสัญญาณ ซึ่งทางเครือข่ายกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องจะสามารถโอนย้ายเครือข่ายใหม่ได้ภายในวันที่ 21 มี.ค.ทำให้สิ่งที่ผู้ร้องทำได้ในขณะนั้นคือ รอ! ให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสร็จสิ้น และในที่สุดหลังจากรอเครือข่ายเดิมดำเนินการย้ายค่ายไปทั้งหมดเกือบ 10 วัน เขาก็สามารถกลับมาใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ตามปกติ


สำหรับเหตุการณ์นี้แม้ผู้ร้องจะได้ใช้งานเครือข่ายใหม่ที่เขาต้องการ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่เสียไป ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าประกาศการย้ายค่ายเบอร์เดิมของ กสทช. ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถเลือกใช้เครือข่ายใหม่ที่ดีกว่าได้ตามต้องการ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ คือ กรอกแบบคำขอโอนย้ายพร้อมแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ที่ออกให้โดยหน่วยงานของราชการ ณ จุดให้บริการของค่ายใหม่ที่จะย้ายไป และชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 29 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากนั้นก็รอรับ SMS แจ้งผลการอนุมัติ ซึ่งประมาณ 3 วันทำการ (วันจันทร์ - ศุกร์ ไม่รวมเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ก็จะสามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้นั้น ผู้บริโภคสามารถทำตามได้จริงแค่ไหน


* หมายเหตุ สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการย้ายค่าย หรือผู้ให้บริการเครือข่ายไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงได้ที่ กสทช. Call center 1200 (โทรฟรี) ซึ่งมีอำนาจตาม พรบ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 64, 65, 66 ในการสั่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการย้ายค่าย ซึ่งหากฝ่าฝืน



โปรดดูวันหมดอายุก่อนซื้อ
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการร้องเรียนจำนวนมาก เกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งทางบริษัทฯ ทั้งหลายก็ยินดีที่จะตรวจสอบให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันเราก็พบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าไรนัก ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อนซื้อ ต้องเสี่ยงดวงว่าจะสังเกตเห็นก่อนรับประทานเข้าไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่ดวงดีอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้


คุณสมชายซื้อนมกล่องยี่ห้อดูแม็กไฮคิววัน จำนวน 2 แพ็ค ราคา 132 บาท จากห้างเทสโกโลตัสแถวบ้าน ภายหลังลูกชายนำนมไปดื่มก็มีอาการอาเจียนและอุจจาระเหลว เขาจึงนำนมกล่องดังกล่าวมาตรวจสอบดูและพบว่า มีกลิ่นเปรี้ยวผิดปกติและเลยวันหมดอายุไปตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการให้ทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีความรอบคอบในการวางจำหน่ายสินค้า และแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น


อีกกรณีหนึ่ง ผู้ร้องซื้อกาแฟยี่ห้อมอคโคน่า ราคา 99 บาท จากห้างเทสโกโลตัสสาขามหาชัย โดยไม่ได้ตรวจสอบวันหมดอายุ ภายหลังนำกลับมาที่บ้านจึงสังเกตเห็นว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อ 3 เดือนก่อน เธอจึงนำสินค้าพร้อมใบเสร็จรับเงิน กลับไปที่ห้างดังกล่าว ซึ่งภายหลังการติดต่อที่จุดบริการลูกค้า เธอเรียกร้องให้ทางห้างเยียวยาค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท แต่พนักงานกลับนำกระเช้าของขวัญมาให้ พร้อมขอเก็บสินค้าดังกล่าวไปแทน ซึ่งเธอยินยอมให้สินค้าไป แต่ยืนยันที่จะขอรับค่าเสียหาย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้พนักงานจึงเสนอให้คูปองเงินสดจำนวน 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าห้างดังกล่าวควรมีความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ จึงปฏิเสธข้อเสนอของพนักงานและขอสินค้านั้นคืน แต่พนักงานก็ได้แจ้งว่าทำสินค้าดังกล่าวหายไปแล้ว เธอจึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธ์เพื่อขอความช่วยเหลือ

แนวทางการแก้ไขปัญหา
สำหรับ 2 กรณีข้างต้นมีประเด็นเหมือนกันคือ สินค้าหมดอายุแล้วแต่ยังวางจำหน่าย และมีคู่กรณีเดียวกันคือห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส ศูนย์ฯ จึงนัดเจรจาพร้อมกันระหว่างผู้ร้องทั้ง 2 กรณีและสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้สำหรับในกรณีแรกผู้จัดการห้างได้ติดต่อผู้ร้องเพื่อขอตรวจสอบสินค้า และพร้อมจ่ายค่าเยียวยาให้จำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการนัดเจรจา ผู้ร้องทั้งคู่ต้องการค่าชดเชยคนละ 20,000 บาท ทำให้ทางบริษัทฯ ขอนำข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไปพิจารณาก่อน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ ทางศูนย์ฯ ก็จะคอยติดตามความคืบหน้าต่อ ทั้งนี้แนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหา เมื่อเราซื้อสินค้ามาโดยไม่ได้ตรวจสอบฉลากก่อน แล้วพบว่าหมดอายุไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำคืออย่ารีบทิ้งสินค้าดังกล่าว โดยให้ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ / วันหมดอายุ / ใบเสร็จรับเงิน* และแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการร้องเรียน


*หมายเหตุ เนื่องจากใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิด เราจึงไม่ควรทิ้งทันทีที่ซื้อของเสร็จ เพราะหากมีปัญหาอาจทำให้การฟ้องร้องเป็นไปอย่างลำบาก



รองเท้าใหม่ใช้ได้แค่วันเดียว
ของใช้ต่างๆ ย่อมเสื่อมสภาพตามวันเวลา แต่หากเราซื้อของมาแล้วใช้ได้แค่วันเดียว ถึงแม้จะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่น่ายินดีสักเท่าไร  ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้


คุณมัลลิษาซื้อรองเท้าคู่ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ Kito ราคาเกือบ 400 บาท จากการออกบูทขายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าย่านอนุสาวรีย์ชัย แต่วันแรกที่สวมใส่ก็พบว่ารองเท้าดังกล่าวชำรุด โดยพื้นรองเท้ากับรองเท้าได้แยกออกจากกัน ซึ่งเธอคิดว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะมาจากล็อต (Lot) การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมั่นใจในตราสินค้าว่ามีคุณภาพและเชื่อว่าอย่างน้อยก็ต้องใช้งานได้เป็นปี จึงส่งอีเมล์ร้องเรียนปัญหาดังกล่าว พร้อมแนบรูปถ่ายสินค้าที่ชำรุดไปยังบริษัท เพื่อให้มีการตรวจสอบและชดเชยความเสียหาย เพราะถือว่าเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ อย่างไรก็ตามภายหลังส่งเรื่องร้องเรียนไปก็ไม่มีการตอบรับจากบริษัท เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ

แนวทางการแก้ไขปัญหา
ศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้ากับทางบริษัทฯ ซึ่งแจ้งว่ายังไม่พบการร้องเรียนดังกล่าว จึงขอให้ส่งรายละเอียดปัญหาไปอีกครั้งทางแฟกซ์ โดยภายหลังได้รับทราบปัญหาก็ขอโทษพร้อมชดเชยผู้ร้องด้วยการส่งรองเท้าคู่ใหม่มาให้ พร้อมชี้แจงว่าปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการข้อผิดพลาดทางการผลิต ซึ่งพนักงานฝ่ายการผลิตอาจลืมขัดพื้นรองเท้าที่สำหรับทากาวให้ยึดเกาะ ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับรองเท้าคู่ใหม่ก็ยินดียุติการร้องเรียน

 

 

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)