นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 99 เสียงผู้บริโภค

เสียงผู้บริโภค
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

 

ทีโอที ยังเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์
เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมานานแล้วว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ค่ายต่างๆ จะสามารถเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ได้หรือไม่หลังจากที่ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าบริการตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ทั้งๆ ที่เวลาเปิดบริการใช้ครั้งแรกไม่ยักมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายแต่อย่างใด

 

คุณจิรอร พนักงานขายประกันจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่มีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายใหม่หลังผิดนัดชำระค่าบริการเกิน 2 งวด คุณจิรอรขอเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้านมาตั้งแต่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจนปัจจุบันกลายเป็นกับบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) แต่ด้วยความที่มีภารกิจการงานมากมายในแต่ละวันทำให้เกิดอาการผัดวันประกันพรุ่งไม่มีโอกาสไปจ่ายค่าโทรศัพท์เสียที จนล่าช้าไปถึง 2 เดือน

 

พอไม่จ่ายค่าโทรศัพท์เป็นเดือนที่สองก็เป็นเรื่องล่ะทีนี้ เพราะถูกทีโอทีตัดสัญญาณให้บริการโทรศัพท์ทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า คนขายประกันอย่างคุณจิรอรเลยต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดาเพราะไม่มีโทรศัพท์ไว้ใช้งานติดต่อกับลูกค้า

“ตายแล้วนี่ฉันลืมจ่ายค่าโทรศัพท์หรือเนี่ย” คุณจิรอรอุทานออกมาหลังจากใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรไปสอบถามถึงสาเหตุสัญญาณโทรศัพท์บ้านขาดหายไปหลายวัน

“ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไม่จ่ายเขาหรอกค่ะ แต่มันลืมจริง ๆ ก็ขอโทษขอโพยเขาไปและคิดว่าแค่จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างอยู่เรื่องน่าจะจบและได้กลับมาใช้โทรศัพท์ใหม่ แต่ทางพนักงานเขาบอกว่าเราต้องจ่ายค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ด้วยอีก 107 บาทรวมแวต เราก็เลยถามไปว่าการต่อสัญญาณโทรศัพท์ใหม่สมัยนี้เนี่ยมันยุ่งยากอะไรแค่ไหนถึงต้องเรียกค่าใช้จ่ายกันเป็นร้อย ตามจริงแล้วเงินค่ารักษาเลขหมายที่จ่ายให้ทุกๆ เดือนก็เกินพอแล้วมั้ง ก็ถามเขาไปอย่างนี้”

“เขาบอกไงรู้ไหมคะ ยังไงก็ต้องจ่ายถ้าไม่จ่ายก็ไม่ต่อโทรศัพท์ให้ เจอมุขนี้เข้าเราก็เลยต้องจ่ายให้เขาไปด้วยความจำยอม แต่พอกลับมาถึงบ้านเปิดดูหนังสือพิมพ์เจอข่าวว่า กทช. ว่าเขาห้ามเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์แบบนี้ไปแล้ว เราก็เลยเป็นงงค่ะ อ้าว...แล้วทำไมทีโอทียังมาเรียกเก็บเงินกับเราอยู่ มันยังไงกัน”

คุณจิรอรจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงิน 107 บาทคืนจากทีโอที

แนวทางแก้ไขปัญหา
ข่าวที่คุณจิรอรได้อ่าน
คงเป็นข่าวนี้ครับ ...
เมื่อวันที่ 12 มีนาคมทีผ่านมา (12 มี.ค. 2552) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้มีมติชี้ชัดในเรื่องการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ หลังจากที่เรื่องนี้ยืดเยื้อมาระยะหนึ่ง โดย กทช. มีมติให้ทุกบริษัทงดเว้นการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดหรือค้างชำระค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือน

มตินี้จะมีผลให้ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคซึ่งถูกตัดบริการโทรออกเพราะชำระค่าบริการล่าช้า และเมื่อนำเงินไปชำระต้องถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่เป็นจำนวน 107 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือในบางรายเรียกเก็บ 214 บาท ต่อไปนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม มตินี้จะใช้บังคับทั้งกับ บมจ.ทีโอที บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส บจก.ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมิเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น บมจ.ทีทีแอนด์ที บจก.เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น

อย่างไรก็ดี แม้จะมีมติ กทช. ชี้ชัดออกมาอย่างนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่เป็นระยะๆ จากผู้บริโภคว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ แม้ผู้บริโภคบางรายได้พยายามทักท้วงด้วยการอ้างถึงมตินี้แต่ก็ไม่เป็นผล พนักงานของผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามสาขาต่าง ๆ ได้อ้างว่ายังไม่มีคำสั่งโดยตรงมาจากสำนักงานใหญ่ จึงต้องมีการเรียกเก็บไปก่อน

ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาแบบนี้ คือให้จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระให้เรียบร้อย หากยังไม่มีการต่อสัญญาณโทรศัพท์ให้และมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ ผู้ใช้บริการควรเขียนเป็นหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์นั้นๆ ว่า ขอทักท้วงและปฏิเสธการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ดังกล่าวเพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนในมติของ กทช. และขอให้ผู้ให้บริการดำเนินการต่อสัญญาณโทรศัพท์โดยทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผู้ให้บริการผิดสัญญาการให้บริการ เราในฐานะผู้ใช้บริการมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้เป็นรายวันเลยล่ะครับ จะเรียกร้องค่าเสียหายผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของ กทช. ก็ได้ หรือจะเล่นลูกหนักฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลก็ได้ทั้งนั้นครับ



การบินไทยทำที่นั่งผู้โดยสารหาย

ไม่ได้ตั้งชื่อเรื่องขึ้นมาเพื่อความเท่นะครับแต่เกิดขึ้นจริงๆ ผู้โดยสารจ่ายเงินซื้อตั๋วชั้นธุรกิจล่วงหน้าแล้ว มีตั๋วอยู่ในมือแล้ว พอมาเช็คอินเจ้าหน้าที่บอกไม่มีชื่ออยู่ในระบบ ทำได้แค่จัดที่นั่งชั้นประหยัดให้แทน บริการประทับใจจริงๆ

คุณปัทมา เขียนเล่าความทุกข์ของตัวเองผ่านทางช่องทางร้องทุกข์ออนไลน์ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า อยากทราบว่ากรณีซื้อตั๋วเครื่องบินของการบินไทย ชั้นธุรกิจ มีตั๋วอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว แต่ในวันเดินทางเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์บอกว่า ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการจองเพราะโดนตัดที่นั่งออกไปแล้ว อยากทราบว่ากรณีนี้ร้องเรียนได้หรือไม่

คุณปัทมาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่การบินไทยบอกว่าเป็นเพราะระบบ เห็นว่ามีการจองซ้ำซ้อนกับเอเยนต์ขายตั๋ว แต่ทางเราไม่ได้ซื้อกับทางเอเยนต์ แต่จ่ายเงินกับการบินไทยและได้ตั๋วมาเรียบร้อยแล้ว อยากทราบว่ากรณีนี้อย่างนี้จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เพราะในที่สุดเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์หาที่นั่งชั้นประหยัดให้แทนแต่จ่ายเงินในชั้นธุรกิจ
“เราซื้อตั๋วแล้ว จ่ายเงินแล้ว ทำไมการบินไทยมีสิทธิตัดที่งนั่งได้ด้วยหรือ เอาที่นั่งของเราไปขายให้คนอื่นอย่างนี้ก็เท่ากับได้เงินสองต่อน่ะสิ”

แนวทางแก้ไขปัญหา
น่าสงสารจริง ๆ ครับ ไม่รู้มีตัวดีหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่ไหนไปเบียดเบียนที่นั่งประชาชนคนธรรมดาที่ใช้สิทธิในความเป็นราษฎรเต็มขั้นซื้อตั๋วชั้นธุรกิจ จ่ายเงินแล้ว ได้ตั๋วอยู่ในมือแล้ว แต่ที่นั่ง
กลับหายไปเสียนี่โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนจากการบินไทย ทำได้เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดที่นั่งชั้นประหยัดให้แทน คุณปัทมาถามว่าจะเรียกร้องอะไรได้มั้ย ได้สิครับ

อย่างแรกก็คือ ขอคำชี้แจงจากการบินไทยว่าทำไมถึงได้เกิดเหตุการณ์การบริการที่ประทับใจแบบนี้ขึ้นได้ อย่างที่สองคือ ค่าโดยสารส่วนเกินที่ได้จ่ายไปสำหรับที่นั่งชั้นธุรกิจแต่กลับได้บินไปกับที่นั่งชั้นประหยัด ซึ่งการบินไทยจะต้องคืนให้กับผู้โดยสารในช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่ผู้เสียหายเขาประสงค์ และอย่างที่สามก็คือ เรื่องความเสียหายทางด้านจิตใจที่การบินไทยจะต้องพิจารณารับผิดชอบด้วย ก็แหมผู้โดยสารเขาอุตส่าห์ซื้อตั๋วและจ่ายเงินกับการบินไทยแท้ๆ กลับทำที่นั่งเขาหายไปเฉยๆ จะไม่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้อย่างไร

ข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปถึงการบินไทยให้เรียบร้อยแล้วนะครับ โปรดรอผลตอบรับจากการบินไทยโดยพร้อมเพรียงกัน



โตโยต้าคัมรี่ ACV30 ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

เป็นเรื่องยากที่คนซื้อรถจะรู้ว่าถุงลมนิรภัยที่ติดมากับรถนั้น จะสามารถทำงานได้เจ๋งลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเหมือนอย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการชนเกิดขึ้นนั่นแหละ นับเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่ต้องลงทุนไม่น้อยเพื่อจะรู้ผลเพียงว่ามันทำงานหรือไม่ทำงาน

ด้วยโฆษณาถึงสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีเยี่ยม และมีระบบถุงลมนิรภัยที่ได้รับการรับรองว่าถูกออกแบบมาให้ทำงานเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงทางด้านหน้าตลอดทั้งแนวทำให้คุณจิระ(นามสมมติ) ตัดสินใจซื้อรถเก๋งโตโยต้าคัมมรี่ ACV30 ด้วยเงิน 1.5 ล้านเศษ ๆ เมื่อประมาณปี 2545 ขับมาหลายปีดีดักก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุให้ได้ทดลองใช้ระบบถุงลมนิรภัยสักครั้ง ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่มีคนใช้รถหน้าไหนอยากจะทดลองใช้มันด้วยซ้ำหรอกครับ คุณจิระจึงเหมือนคนใช้รถส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถยังสามารถทำงานได้ตามปกติหากมีการชนเกิดขึ้น

จนเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณจิระได้ขับรถยนต์ไปตามถนนสายดอยสะเก็ด-เชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางตามสันเขามีโค้งหลายโค้ง แม้จะขับด้วยความระมัดระวังใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่คุณจิระก็ไม่รอดขับไปชนกับรถกระบะที่วิ่งสวนทางมาอย่างแรงจนรถยนต์ได้รับความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ส่วนถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถแทนที่จะทำงานมันกลับเงียบเฉยไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ

ปล่อยให้ทั้งคนขับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสกันทั้งคัน ไม่ว่าจะป็นคุณจิระคนขับได้รับบาดเจ็บซี่โครงซ้ายร้าว เจ็บหน้าอก ภรรยาของคุณจิระที่นั่งคู่กันมาด้านหน้ากระดูกไขสันหลังช่วงกลางหลังถึงกับแตกละเอียด ในขณะที่เพื่อนซึ่งนั่งมาทางด้านหลังของคนขับได้รับบาดเจ็บช้ำบริเวณหน้าอกซ้าย แก้มบวม

คุณจิระคิดว่า ถ้าถุงลมนิรภัยทำงานได้จริง ผู้โดยสารจะไม่บาดเจ็บหนักถึงขนาดนี้ และโตโยต้าควรรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง

คุณจิระได้ส่งรถไปให้บริษัท โตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ตรวจสอบความเสียหายและสาเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2552 ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาในเดือนมีนาคม 2552 โดยโตโยต้าสรุปผลการตรวจสอบออกมาว่า


1. ลักษณะการชน เป็นการชนปะทะแบบเฉียงและการชนในลักษณะแบบมุดด้านใต้ซึ่งตำแหน่งที่รถถูกชนอยู่บริเวณด้านบนเหนือแชสซีดูดซับแรงกระแทก ซึ่งทำให้แรงปะทะที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทางด้านหน้าซ้าย-ขวาทำงาน ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีการส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECU SRS จึงทำให้ระบบถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยจึงไม่พองตัวออกมาตามเงื่อนไขการทำงานของระบบถุงลมนิรภัย

2. การชนบริเวณตรงกลางที่ทำให้คานรับแรงกระแทกจากการชนงอตัวเข้าด้านในบริเวณตรงกลาง การชนในลักษณะนี้จะทำให้คานดูดซับแรงจากการชนเสียรูปและดูดซับแรงการชนแล้วเกิดแรงดึงให้แชสซีดูดซับแรงเสียรูปตามแรงบดึงของการชน จึงทำให้แรงปะทะที่เกิดจากการชนไม่ได้รับแรงกระแทกโดยตรงจากจากการชน ดังนั้นแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจากการชนจึงถูกซับแรงและแรงหน่วงที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทำงานได้ ดังนั้นระบบถุงลมนิรภัยจึงไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยไม่พองตัว

3. จากการตรวจสอบระบบการสั่งงานของระบบ Air bag จะแยกอิสระถึงแม้ว่าวงจรเซนเซอร์ด้านซ้ายจะขาดวงจรเนื่องจากการชน แต่เซนเซอร์ด้านขวาและเซนเซอร์ตรงกลางก็ยังสามารถที่จะสั่งการทำงานของถุงลมนิรภัยได้ถ้าแรงปะทะแรงหน่วงที่เกิดขึ้นเพียงพอที่จะทำให้เซนเซอร์ทั้ง 2 ที่เหลือทำงาน
อ่านเสียยืดยาว ถ้าสรุปให้ง่ายกว่านั้นโตโยต้าพยายามยืนยันนั่งยันว่า การทำงานของระบบถุงลมนิรภัยในรถรุ่นนี้ใช้งานได้ตามปกติ แต่ความผิดพลาดครั้งนี้มีนิดเดียวคือ รถชนกันเบาไปหน่อยไม่พอที่จะปลุกระบบถุงลมนิรภัยให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น

เป็นใครได้ฟังผลการตรวจสอบแบบนี้ก็ต้องโมโหกันบ้างล่ะครับ คุณจิระก็ไม่แพ้กัน

“รถชนจนยับ คนในรถเจ็บหนักแต่ถุงลมไม่ออก ตอนซื้อรถยนต์เขาบอกว่าถ้าชนที่ความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถุงลมก็จะพองออกปกป้องคนที่อยู่ในรถ แต่ในวันนั้นผมขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังเป็นการชนแบบประสานงากับรถกระบะที่วิ่งสวนมา แต่ถุงลมไม่ออกทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีจดหมายส่งมาว่าบริษัทจะไม่รับผิดชอบเพราะเราชนเบาไปถุงลมเลยไม่ออก ทำให้เรารู้สึกแย่เอามากๆ ตอนนี้รถก็ไม่มีใช้ งานก็ทำไม่ค่อยได้เพราะอาการบาดเจ็บ อย่างนี้เราจะเรียกร้องอะไรได้ไหมครับ”


แนวทางแก้ไขปัญหา

น่าเห็นใจครับดูจากสภาพยับเยินของรถและอาการบาดเจ็บของผู้โดยสารแล้ว งานนี้ไม่น้อยเลย และเมื่อดูจากรายงานผลการตรวจสอบของโตโยต้าพบความเสียหายของรถจากการชนหลายจุดยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการชนครั้งนี้ไม่เบา จากการตรวจวาสอบของโตโยต้าพบความเสียหายภายนอกพบบริเวณด้านหน้ารถ กันชน ไฟหน้าและฝากระโปรงหน้าได้รับความเสียหาย ตรวจสอบภายในห้องเครื่องยนต์พบว่าเครื่องยนต์ถูกกระแทก ฝาหน้าเครื่องแตก หม้อน้ำเสียหาย แบตเตอรี่แตก และกล่องฟิวส์ถูกกระแทก ตรวจสอบคานรับแรงกระแทกด้านหน้ามีการเสียรูปงอตัวบริเวณตรงกลาง ตรวจสอบโครงสร้างแชสซีดูดซับแรงการชน(GOA) ด้านหน้าซ้าย-ขวาได้รับความเสียหายงอตัวเข้าด้านในต่อเนื่องจากการชนตรงกลาง ที่สำคัญตรวจสอบภายในห้องโดยสารไม่พบความเสียหายและถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

ดังนั้นผู้บริโภคจึงมีสิทธิเต็มร้อยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะความเสียหายทางด้านร่างกายสุขภาพอนามัยที่เกิดจากการไม่ทำงานของถุงลมนิรภัย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และอาจขอให้ศาลท่านมีคำสั่งเรียกเก็บรถยนต์รุ่นนี้คืนจากผู้ใช้รถทุกคนได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นรถยนต์ที่ไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถจริง

เบื้องต้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้นบ้างคิดเป็นมูลค่าหรือตัวเงินจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นให้ทำจดหมายเรียกค่าเสียหายดังกล่าวไปยังบริษัทรถยนต์เพื่อให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งเขาอาจจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้จำนวนหนึ่ง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หากผู้บริโภคเห็นว่าค่าเสียหายที่ทางบริษัทตอบกลับมาไม่สมเหตุสมผล สามารถที่จะยืนฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในภายหลังก็ได้


 

อย่างนี้มันต้อง…ถอน
เรื่องโดยบุญยืน ศิริธรรม

ต้องถามว่าเรายังจำลุงช่วย ณ ธนาคารออมสินได้ไหมล่ะจ๊ะ หากจำไม่ได้จะบอกให้ ก็ลุงช่วยคนที่เอาขี้ราดตัวประท้วงออมสินไง แนะๆๆ จำได้แล้วใช่ไหม ในสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างนี้ เหตุการณ์อย่างนั้นกำลังจะกลับมาอีก ผู้เขียนไม่อยากเห็นลุงช่วย 2…3 จึงนำเรื่องที่ประสบด้วยตัวเอง 2 เรื่อง 2 ธนาคาร จะมาเล่าสู่กันฟัง

ธนาคารแรก ธกส. (ไม่ใช่ธรณีกรรแสงนะ เอ๊ะหรือว่าใช่) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธนาคารคนจนไง...) เพราะคนที่ใช้ธนาคารนี้โดยเฉพาะในชนบทส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกษตรกรและส่วนใหญ่มาใช้บริการกู้เงินและใช้หนี้ หมุนกันอยู่อย่างนี้ คือต้องส่งตามงวดของสัญญา ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นหนี้ ธกส. และก็เป็นลูกค้าชั้นดี ส่งตรงทุกงวดไม่เคยบิดพลิ้ว

ที่ส่งมาก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2552 ครบสัญญา ผู้เขียนก็นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปใช้หนี้ แล้วก็กู้กลับเท่ากับเงินต้นที่ส่งไป ตอนแรกก็ไม่มีอะไร จนเมื่อเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์เรียกหมายเลขให้เราไปรับเงิน ก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนมายืนรออยู่ พร้อมบอกว่า “เอาเงินต้นที่กู้ไว้ออกมาทั้งหมดไม่ได้ ต้องแบ่งส่วนหนึ่งออมไว้กับธนาคาร” (อ้าว..เรากู้เงินเราเสียดอกเบี้ยนะจะมาบอกว่าเราต้องออมได้ไง..)

ผู้เขียนก็บอกว่ายังไม่พร้อมที่จะออม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของธนาคารลูกค้าทุกคนต้องทำตาม (เฮ้ย..เงินฉันนะ......จะออมไม่ออมฉันต้องตัดสินใจเองไม่ใช่ถูกบังคับ) จึงตอบกลับไปว่า ถึงจะเป็นนโยบายของธนาคาร แต่ก็นำมาบังคับลูกค้าไม่ได้ การจะออมหรือไม่ออมต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้า เพราะเงินที่กู้ออกมาอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินหลายเท่า และที่สำคัญคนที่ตัดสินใจกู้เงินก็เพราะมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน เมื่อเขากู้เสียดอกธนาคารมาบังคับให้ออมไม่ได้ เพราะเงินนี้เป็นสิทธิของเรา จะฝากหรือไม่ฝากเรามีสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจ ไม่ใช่ใครจะมาบังคับได้

เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นอาการแข็งขืนของเรา ก็เดินกลับไปนั่งที่เดิมไม่พูดอะไรต่ออีก นี่เป็นบุญยืนนะ... คิดดูหากเป็นชาวบ้านที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง คงหนีไม่พ้น ต้องเอาเงินที่กู้มาดอกแพงๆ มาฝากได้ดอกถูกๆ เป็นแน่แท้....

ธนาคารที่ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ อันนี้เรามีเงินฝากอยู่ และก็มีเงินบางส่วนไปฝากเพิ่ม(บัญชีออมทรัพย์) เจ้าหน้าที่ธนาคารก็แนะนำว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ปัจจุบันดอกเบี้ยต่ำมากแค่ 50 สตางค์เท่านั้น จึงแนะนำให้เรานำเงินส่วนหนึ่งไปฝากอีกรูปแบบหนึ่งที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าหลายเท่า เช่น ฝาก 40,000 บาท ปีที่ 2 จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนถึง 6,000 บาท ฝากแล้วถอนคืนได้ปกติ ให้ข้อมูลด้านดีด้านเดียว เรียกได้ว่าหว่านล้อมพูดแต่ความดีงามของเงินฝากประเภทนั้น จนเราแทบละลาย พร้อมบอกย้ำว่าไม่ต้องกลัวนี่ธนาคารทำเองไว้ใจได้ ไป 10 ครั้งก็ชวน 10 ครั้ง (ชวนทุกครั้งที่เห็นหน้า) ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ได้คิดอะไร พอบ่อยครั้งเข้าก็เริ่มสงสัย มันอะไรกันแน่ชวนจัง? จึงทำทีเป็นสนใจและขอข้อมูลเพิ่มซึ่งขอไม่ง่าย (แต่ก็ได้มาจนได้ล่ะ)ปรากฏเงินฝากที่ถูกชักชวนมันไม่ใช่บัญชีเงินฝากธรรมดา แต่มันเป็นการชวนลงประกัน (ตอนมันชวนมันไม่บอกสักคำ) หากเราไม่รอบคอบ เห็นแก่ดอกเบี้ยยอมฝากอย่างที่เขาแนะนำ หากฝาก 40,000 บาท และถอนในหนึ่งปีต่อมาเราจะได้เงินเพียง 9,750 บาท เท่านั้นนะพี่น้อง ที่เหลือจะถูกหักเป็นค่าคุ้มครองในหลายส่วน คิดดูว่าอย่างนี้ ลุงช่วย 2…3 ก็น่าจะเกิดขึ้นไม่ยากใช่ไหม

เจ้าหน้าที่พวกนี้แปลกตอบสนองแต่นโยบายธนาคาร ไม่สนใจสิทธิของลูกค้าผู้มีพระคุณอย่างเราเลย น่าจะคิดนะว่าหากเราไม่เข้าไปใช้บริการ ธนาคารจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเงินเดือนให้ เอ้า.. ใครมีหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ดูแลหน่อย รัฐมนตรีการคลังก็เป็นหนุ่มไฟแรงปล่อยให้ธนาคาร มาให้ข้อมูลหลอกลวงและใช้นโยบายมาบังคับผู้บริโภคอย่างนี้ได้ไง

อย่างนี้มันต้องถอน

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)