ฉบับที่ 180 รู้เท่าทันกัญชากับการรักษามะเร็ง

ระยะนี้มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์จากต่างประเทศเกี่ยวกับน้ำมันกัญชาว่ามีประโยชน์สารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง  มีผู้ป่วยหลายรายที่กินแล้วอาการดีขึ้น บางรายหายจากมะเร็ง  ในประเทศไทยเริ่มมีการพูดคุยเรื่องนี้กันมากพอควรว่า ถ้ามีประโยชน์จริงก็ควรนำมาใช้กับผู้ป่วยเพราะเป็นพืชที่ขึ้นได้ง่ายและจะเป็นการประหยัดเงินทองในการซื้อยาราคาแพงจากต่างประเทศ  เราจึงควรรู้เท่าทันเรื่องกัญชากับการรักษามะเร็งกัน


มารู้จักกัญชา
กัญชาเป็นพืชจากเอเชียกลางแต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในหลายๆ ส่วนของโลก กัญชาจะผลิตน้ำยางที่เป็นสารประกอบชื่อ แคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ซึ่งมีฤทธิ์ทางยา มีผลต่อทั่วร่างกายรวมทั้งระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน  สารในแคนนาบินอยด์หลักที่มีฤทธิ์คือ delta-9-THC  สารมีฤทธิ์ตัวอื่นคือ แคนนาบิดอล (cannabidol) ซึ่งอาจช่วยลดอาการปวดและการอักเสบ


มีการใช้กัญชามาตั้งแต่ดั้งเดิมมากกว่า 3,000 ปี  ทั้งในตะวันออกและตะวันตก  ปีค.ศ. 1942 กัญชาได้ถูกตัดออกจากเภสัชตำรับในสหรัฐอเมริกาด้วยสาเหตุเรื่องความปลอดภัย และในปีค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494)  ถูกจัดเป็นยาเสพติดเป็นครั้งแรก  สำหรับประเทศไทย กัญชาได้กลายเป็นยาเสพติดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522


แม้ว่ากัญชาจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา  แต่ก็มีการอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 12 รัฐ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


กัญชาอาจใช้กิน สูดดม หรือพ่นทางใต้ลิ้น  เมื่อกินทางปาก สาร delta-9-THC จะถูกกระบวนการของตับเปลี่ยนเป็นสารเคมีที่มีผลต่อจิตประสาท  เมื่อสูบหรือสูดดม สารแคนนาบินอยด์จะซึมเข้ากระแสเลือดอย่างรวดเร็ว  ผลกระตุ้นทางจิตจะเกิดน้อยกว่าการกินทางปาก
การศึกษาทางการแพทย์


สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) ได้รายงานว่า


มีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลองเกี่ยวกับการยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกชนิดต่างๆ ตั้งแต่การทำให้เซลล์มะเร็งแก่ตายเร็วขึ้น ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่  มะเร็งเต้านม มะเร็งสมอง มะเร็งตับ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังช่วยการอยากอาหาร ลดปวด ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดความกระวนกระวาย และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น


การศึกษาการใช้กัญชาเพื่อการรักษามะเร็งในผู้ป่วยนั้นยังไม่มีในระบบฐานข้อมูลใน PubMed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ แต่มีการศึกษาทางคลินิกเพื่อหาทางในการบำบัดอาการข้างเคียงของมะเร็งและการบำบัดมะเร็ง ได้แก่

•    การรักษาเนื้องอกที่เป็นก้อน มะเร็งสมอง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา
•    ยาสกัดจากกัญชา 2 ชนิดสามารถขึ้นทะเบียนยาในสหรัฐอเมริกา ชื่อทางการค้าคือ dronabinol และ nabilone  เพื่อใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยจากการรักษาตามมาตรฐานหรือการรับยาเคมีบำบัด
•    ในเรื่องการเจริญอาหาร พบว่ายาจากกัญชามีผลในการเจริญอาหารหรือเพิ่มน้ำหนักร่างกายน้อยกว่าการรักษาตามมาตรฐาน  แต่กลับได้ผลดีในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
•    มีงานวิจัยในขนาดเล็กที่พบว่าสารประกอบในกัญชานั้นได้ผลดีในการลดอาการปวด รวมทั้งอาการคลื่นไส้อาเจียน  แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมรับให้เป็นแนวทางในการรักษาความปวด
•    มีการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนน้อย พบว่า กัญชาที่ใช้สูดดมช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น พัฒนาความรู้สึกของสุขภาวะ และลดความวิตกกังวล

โดยสรุป มีหลักฐานทางการแพทย์มากพอที่ยืนยันได้ว่า กัญชามีผลดีในการรักษาอาการข้างเคียงของมะเร็งและโรคอื่นๆ เช่น เอชไอวี  สารสกัดจากกัญชาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาถึงสองชนิดในอเมริกา  แม้ว่าการวิจัยเรื่องการใช้กัญชาในการรักษามะเร็งนั้นยังไม่มากเพียงพอ  แต่สำหรับการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ซึมเศร้า นอนไม่หลับในผู้ป่วยมะเร็งนั้นก็เกิดประโยชน์มากมายเพียงพอแล้ว  ประเทศไทยจึงควรทบทวนเรื่องคุณค่าของกัญชาเสียใหม่  เพื่อนำมาใช้บำบัดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจำนวนมหาศาล
                            

แหล่งข้อมูล: นพ.ประพจน์ เภตรากาศ

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ รู้เท่าทัน กัญชา มะเร็ง

ฉบับที่ 252 รู้เท่าทันโรคขาดธรรมชาติ

        เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (อังกฤษ: 2021 United Nations Climate Change Conference) หรือรู้จักในชื่อย่อว่า COP26  เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร  เป้าหมายสำคัญของการประชุมคือ การคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส         ปัจจุบัน ความรุนแรงของภัยธรรมชาติเกิดจากหายนะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่จากภัยธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียงเล็กน้อยจะส่งผลทำให้เกิดหายนะอย่างรุนแรงไปทั่วโลก และมีผลทำให้ภูมิอากาศของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถคาดเดาได้ พายุ น้ำท่วม ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง น้ำทะเลขึ้นสูง ไฟไหม้ป่า ต่างๆ เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  และมนุษยชาติส่วนใหญ่จะยังไม่ตระหนักถึงภัยร้ายจนกว่าจะจะสายเกินแก้ไข         ผลกระทบต่อสุขภาพของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีตั้งแต่ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร น้ำดื่ม          ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ที่มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องกินยาประจำบางชนิด จะเกิดความเสี่ยงสูงสุด โรคระบาดที่เกิดจากแมลงจะเพิ่มสูงขึ้น อาหารจะมีคุณค่าทางอาหารลดลง         อีกประเด็นหนึ่งที่ ธรรมชาติมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และเริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน คือ อาการของโรคขาดธรรมชาติ          โรคขาดธรรมชาติเกิดจากการที่วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเริ่มห่างไกลหรือสัมผัสธรรมชาติน้อยลง วิถีชีวิตที่อยู่ในเมือง รวมถึงการไม่มีเวลาหรือไม่ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า การไม่มีสมาธิ ประสาทสัมผัสต่างๆ ลดลง การขาดความสุขและคุณค่าของชีวิต         เมื่อไปพบแพทย์เพื่อหาโรคหรือความผิดปกติ ก็อาจไม่พบอะไรทางกายภาพที่ผิดปกติ การตรวจเลือด เอกซเรย์ก็ไม่พบความผิดปกติ หมอก็อาจจ่ายยาลดความเครียด ยาบำรุง ทำให้ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันมากขึ้น จนเมื่อไม่กินยาก็ไม่มีความสุข         อาการของโรคขาดธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันครั้งแรกเมื่อ ริชาร์ด ลุฟว์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Last Child in the Wood ในปีพ.ศ. 25485 ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ เด็กคนสุดท้ายในป่า ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักคำว่า โรคขาดธรรมชาติ         ต่อมา นายแพทย์ยามาโมโตะ ทัดสึทาเกะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำการรักษาผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นที่มีอาการขาดธรรมชาติจำนวนมาก ได้เขียนหนังสือเรื่อง โรคขาดธรรมชาติ ปีพ.ศ. 2557 ซึ่งมูลนิธิเพื่อเด็กพิการร่วมกับสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ในปีพ.ศ. 2564 เพื่อเผยแพร่ให้รู้จักโรคนี้และการเยียวยารักษา         ธรรมชาติที่ผิดปกติ ภาวะที่โลกร้อนขึ้น ส่งผลทางมหภาคต่อโลกใบนี้อย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน การขาดและห่างเหินขาดธรรมชาติที่แท้จริง ก็ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางกายภาพและจิตใจ         สุขภาวะของมนุษย์ในปีพ.ศ. 2565 ที่มาถึง นอกจากการฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจที่บอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติรอบตัวเราอีกด้วย เราต้องฟื้นฟูการปลูกป่า การไม่ตัดไม้ใหญ่ที่มีอยู่ การสร้างสวนป่า สวนสาธารณะ และหาเวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 250 รู้เท่าทันกินเนยถั่ว

กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม        เนยถั่วลิสงเป็นอาหารยอดนิยมที่ผู้คนใช้ในการประกอบอาหารและของว่างหลายชนิด เป็นอาหารที่ไม่ควรมีคอเลสเตอรอลและเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เต็มไปด้วยโปรตีนและไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเนยถั่วลิสงมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามความที่มันเป็นอาหารที่มีรสมันจัดจึงน่าสงสัยว่าดีต่อสุขภาพจริงหรือ         เนยถั่วลิสงนั้นต่างจากเนยสำหรับทาขนมปัง (หรือ butter ที่ทำจากนมวัว) ตรงที่เนยถั่วลิสงมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงเท่าที่ถั่วลิสงมี แต่เนยทาขนมปังนั้นเป็นไขมันเกือบทั้งหมด โดย 100 กรัม เนยถั่วลิสงมีโปรตีนประมาณ 25 กรัม ในขณะที่เนยทาขนมปังนั้น 100 กรัม มีโปรตีนไม่เกิน 1 กรัม         นอกจากนี้ไขมันในเนยถั่วลิสงยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงหรือ PUFA ซึ่งไม่มีคอเลสเตอรอล ในขณะที่เนยทาขนมปังมีไขมันตามที่นมมีคือ มักเป็นไขมันอิ่มตัวแต่อาจมีไขมันไม่อิ่มตัวได้บ้างตามอาหารที่วัวกินว่า เป็นหญ้าหรือกากถั่วเหลือง กากข้าวโพด ที่สำคัญคือ เนยทาขนมปังมีคอเลสเตอรอลได้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นถ้าเนยถั่วลิสงยี่ห้อใดมีการเติม butter เพื่อให้รสชาติดีโอกาสพบคอเลสเตอรอลในระดับหนึ่งย่อมเป็นไปได้         สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชั่น (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชั่นสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ aflatoxin  (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก         อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 calories เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 249 รู้เท่าทันเข็มขัดยืดกระดูกสันหลัง

        มีการโฆษณาขายเข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนกับราวในเว็บไซต์จำนวนมาก ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทย ระบุว่าเพื่อรักษาอาการปวดหลังโดยเฉพาะหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ซึ่งโดยปกตินักกายภาพบำบัดจะทำการรักษาโดยการดึงหลังด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เรามารู้เท่าทันกันเถอะว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังนี้ดีจริงหรือไม่ เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนคืออะไร         มีการโฆษณาว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังและห้อยแขวนนี้ช่วยลดอาการปวดหลัง ช่วยทำให้ส่วนโค้งส่วนเว้าของกระดูกสันหลังกลับคืนสู่ปกติ ช่วยการคลายเส้นประสาทที่ถูกกดทับ รักษาโรคกระดูกสันหลังได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ หลายเท่า เข็มขัดนี้รับน้ำหนักตัวได้มากกว่า 150 กก. จึงไม่มีปัญหาในผู้ที่อ้วน มีน้ำหนักตัวมาก ไม่เจ็บรักแร้ ไม่แน่นหน้าอก และใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย         วิธีการใช้ก็ผูกรัดเข็มขัดรอบบริเวณทรวงอกให้กระชับ เข็มขัดจะมีสายยึดเหมือนห่วงสำหรับโยงกับราวแขวนข้างบน เมื่อห้อยกับราวข้างบนเรียบร้อยโดยให้เท้าทั้งสองข้างพ้นจากพื้น ก็ปล่อยให้น้ำหนักตัวถ่วงลงมา ส่วนบนของลำตัวที่มีเข็มขัดรัดไว้ก็จะห้อยแขวนกับราว ส่วนล่างของร่างกายใต้เข็มขัดลงมาก็จะถ่วงน้ำหนักทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวถูกถ่วงลงล่างด้วยน้ำหนักตัวส่วนล่าง ทำให้เกิดแรงดึงกระดูกสันหลังส่วนล่างเหมือนการดึงด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด การดึงยืดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษามาตรฐานวิธีหนึ่งในการรักษาอาการของกระดูกสันหลัง         การดึงยืดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษามาตรฐานวิธีหนึ่งในการรักษาอาการปวดคอ ปวดหลังเรื้อรังโดยเฉพาะการเกิดการกดของรากประสาทสันหลัง การดึงยืดกระดูกสันหลังนั้น เชื่อว่า จะเป็นการคลายการกดรากประสาทและช่วยให้หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการเยียวยาการบาดเจ็บและซ่อมแซมตัวเองได้เร็วขึ้น ในการกายภาพบำบัดจึงใช้การถ่วงดึงด้วยแรงหรือน้ำหนักขนาดต่างๆ ขึ้นกับตำแหน่งของกระดูกสันหลัง         เมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง นักกายภาพบำบัดก็จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงและใช้เข็มขัดรัดรอบช่วงเอวและเชิงกรานและดึงด้วยแรงหรือถ่วงน้ำหนักไปทางปลายเท้า ดึงแล้วคลาย เป็นระยะ ประมาณ 20 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง         การยืดกระดูกสันหลังด้วยเข็มขัดแบบแขวน ก็เป็นการดึงยืดกระดูกสันหลังส่วนล่างด้วยน้ำหนักตัวส่วนล่างใต้เข็มขัด และเป็นการดึงยืดแบบถ่วงน้ำหนักตลอดเวลา ไม่เป็นการดึงแล้วคลาย ประสิทธิผลของเข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวน         พยายามค้นงานวิจัยในวารสารวิชาการต่างๆ ก็ยังไม่พบการตีพิมพ์ผลการศึกษา จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนนี้ได้ผลดีในการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือการกดทับรากประสาทสันหลังได้หรือไม่         เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนจัดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์เพราะใช้ในการรักษา อย.คงต้องมาดูแลเรื่องการโฆษณาและความปลอดภัยในการใช้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 248 รู้เท่าทันการหุงข้าวแบบลดน้ำตาลอย่างง่ายๆ

        ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลว่า ไม่สามารถลดน้ำตาลได้ร้อยละ 70 ตามโฆษณา ฉบับนี้เราจะบอกถึงวิธีหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีหุงข้าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะวิธีการหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลในข้าวได้        การหุงข้าวแบบที่ช่วยลดน้ำตาลนั้น มีงานวิจัยใน Pubmed ปี ค.ศ. 2015 ว่า ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำมาทำให้เย็นลง จะทำให้แป้งของข้าวเกิดการคืนตัว (retrogration) ทำให้เพิ่มปริมาณของแป้งและผลิตภัณฑ์ของแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์หรือแป้งที่ให้พลังงานต่ำ (resistant starch) ซึ่งจะไม่สามารถถูกย่อยด้วยเอนไซม์และถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์ แป้งที่ทนต่อการย่อยจึงเป็นเหมือนเส้นใยอาหาร สามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไขมันสายสั้นๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่  ผลจากการย่อยที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณพลังงานในระดับต่ำกว่าปกติ หรือทำหน้าที่คล้ายกับใยอาหาร ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน อ้วน หัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น         งานวิจัยได้ศึกษา ข้าวขาวที่หุงสุกใหม่ๆ (ข้าวควบคุม) ข้าวขาวที่หุงสุกแล้วทิ้งให้เย็นในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง (ข้าวทดลอง I) และข้าวขาวที่หุงสุกแล้วแช่ตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำมาอุ่นใหม่ (ข้าวทดลอง II)  ผลการศึกษาพบว่า แป้งที่ทนต่อการย่อยในข้าวควบคุม ข้าวทดลอง I และข้าวทดลอง II เป็น 0.64 กรัม/100 กรัม, 1.30 กรัม/100 กรัม และ 1.65 กรัม/100 กรัม ตามลำดับ และเมื่อทำการศึกษาผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 15 คน พบว่า ข้าวทดลอง II จะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวควบคุมและข้าวทดลอง I อย่างมีนัยสำคัญ         โดยสรุป การทำให้ข้าวที่หุงสุกเย็นลงจะทำให้เกิดแป้งที่ทนต่อการย่อย การแช่ข้าวที่หุงสุกในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาอุ่นให้ร้อน จะช่วยลดดัชนีน้ำตาลของข้าวเมื่อเทียบกับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ หุงข้าวด้วยน้ำมันมะพร้าวช่วยลดพลังงานจากข้าวได้         นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสถานีวิทยุบีบีซี ว่า นักวิจัยชาวศรีลังกาสามารถลดแคลอรี่ในข้าวได้ร้อยละ 60 โดยการหุงข้าวในน้ำมันมะพร้าวเป็นเวลา 40 นาที ทิ้งให้เย็นและแช่ข้าวในตู้เย็นเป็นเวลา 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้        สรุป     ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้แป้งของข้าวกลายเป็นแป้งที่ทนต่อการย่อย และถูกดูดซึมน้อยลงในลำไส้เล็ก มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการกินข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ผู้ที่เป็นเบาหวาน อ้วน จึงควรลองเปลี่ยนวิธีเป็นรับประทานข้าวหุงสุกที่แช่ตู้เย็น และนำมาอุ่นร้อนหรือเปลี่ยนวิธีการหุงข้าวเพื่อช่วยลดน้ำตาล

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)