ฉบับที่ 136 แฟชั่นคอนแทคเลนส์ บิ๊กอายส์: ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อ

เลนส์สัมผัสหรือคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา และขจัดความรำคาญของการสวมใส่แว่นตาสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้แก่ผู้ที่มีสายตาผิดปกติให้มีความสวยงามเหมือนธรรมชาติ ทำให้การมองเห็นภาพได้ชัดเจนเสมือนตาปกติโดยไม่ต้องสวมใส่แว่นตา

ปัจจุบันได้มีกระแสแฟชั่นใส่คอนแทคเลนส์เพื่อความสวยความงามที่แพร่หลายอยู่ในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงาน ตัวอย่างเช่น   คอนแทคเลนส์ที่ใส่แล้วปรับสีดวงตาให้เป็นสีต่างๆ ได้ดังใจ ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาล เทา ฟ้า เขียว หรือคอนแทคเลนส์บิ๊กอาย ที่ใส่แล้วดวงตาจะกลมโตแบบดาราเกาหลีหรือญี่ปุ่น ซึ่งคอนแทคเลนส์ประเภทนี้เหมือนกับคอนแทคเลนส์ที่ใส่แล้วช่วยปรับสีดวงตา แต่บริเวณตรงกลางของคอนแทคเลนส์บิ๊กอายมีลักษณะเป็นเลนส์ใสและบริเวณขอบเลนส์มีสีดำหรือสีเข้มต่างๆ ที่จะทำให้มองเห็นว่าผู้ใส่มีตาดำขยายใหญ่และกลมโตกว่าปกติ

 

คอนแทคเลนส์ คืออะไร ?

คอนแทคเลนส์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุน้ำหนักโมเลกุลสูงที่เรียกกันว่าโพลีเมอร์หรือวัสดุอื่น มีลักษณะเป็นแผ่น ใช้ครอบบนกระจกตา (Cornea) เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตา เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับตา เพื่อความสวยงาม หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น

คอนแทคเลนส์ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคอนแทคเลนส์ที่ใช้เพื่อแก้ไขความผิดปกติของสายตา จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตามปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เลนส์สัมผัส เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการใช้คอนแทคเลนส์ในทางที่ผิดโดยจะมีการบังคับใช้กับเลนส์สัมผัสทั้งชนิดที่ใช้แก้ไขความผิดปกติของสายตาเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับตา และชนิดที่ใส่เพื่อความสวยงามหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น โดยกำหนดให้เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตและต้องมีคุณภาพมาตรฐานและข้อกำหนดตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเห็นชอบ

 

ชนิดของคอนแทคเลนส์

  1. คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard Contact Lens)

เป็นเลนส์ที่ทำจากพลาสติกเนื้อแน่นแข็ง จึงทำให้อากาศและน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ เลนส์ชนิดนี้จึงมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถใช้ติดต่อกันได้นานๆ และการใส่เลนส์ชนิดนี้ในระยะแรก(ประมาณ 1-3 อาทิตย์) จะเคืองตามาก แต่เลนส์ชนิดนี้สามารถแก้ไขภาวะสายตาเอียงได้ดี และมีอายุการใช้งานทนทาน ไม่ค่อยมีอาการแพ้ หรือติดเชื้อ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม

2.  คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Contact Lens)

เป็นเลนส์ที่ทำด้วยวัสดุประเภทซิลิโคนไฮโดรเจล ซึ่งเป็นพลาสติกนิ่ม ยืดหยุ่น บิดงอได้ และยอมให้อากาศและน้ำซึมผ่านได้ เลนส์ชนิดนี้มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำสูง จึงเป็นที่นิยมใช้อย่างมากในปัจจุบัน เพราะสามารถใส่ได้ง่าย ใส่ได้นาน และไม่ค่อยมีอาการเคืองตา แต่มีข้อเสียคือ มีอาการติดเชื้อและแพ้ได้บ่อยกว่า อายุการใช้งานสั้นกว่า และสามารถแก้ไขภาวะสายตาเอียงได้น้อย

คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มมีหลากหลายชนิด ขึ้นกับรูปแบบการใช้งาน ปัจจุบันมีทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง (Disposable Contact Lens) เช่น คอนแทคเลนส์ชนิดใส่วันเดียวทิ้ง  และคอนแทคเลนส์ชนิดที่ใส่ต่อเนื่อง สามารถสวมใส่ได้ติดต่อกันตามระยะเวลาที่ระบุ

3.  คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่อากาศซึมผ่านได้ เป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติคล้ายเลนส์ชนิดแข็ง แต่

สามารถให้อากาศซึมผ่านตัวเลนส์ไปสู่กระจกตาได้ในปริมาณสูง จะทำให้เห็นภาพชัดเจน ละเอียดขึ้น มีราคาถูกกว่าเลนส์ชนิดนิ่ม เนื่องจากใช้ได้นานกว่าและจะมีความคงทนต่อการเกิดรอยขูดขีดและการเกาะติดของคราบมากกว่า สวมใส่สบายตากว่าชนิดแข็ง จึงเป็นการรวมข้อดีของเลนส์ชนิดแข็งและชนิดนิ่มมาไว้ด้วยกัน

 

ข้อแนะนำในการเลือกชนิดของคอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ การเลือกใช้คอนแทคเลนส์คู่แรก ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์เสียก่อน เพื่อตรวจสภาพตาว่าเหมาะสมจะใช้หรือไม่? มีโรคตาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้หรือไม่? เปลือกตาปกติดีหรือไม่? การกระพริบตาทำได้อย่างปกติหรือไม่? น้ำตามีพอเพียงหรือไม่? กระจกตาปกติดีหรือไม่? ตลอดจนทำการตรวจวัดระดับสายตาของผู้ใช้ว่าสั้น ยาว หรือเอียงเท่าไหร่?

นอกจากนี้จักษุแพทย์จะถามถึงภารกิจประจำวัน ลักษณะของงานที่ทำ และความตั้งใจของผู้ใช้ว่า จะใช้เป็นประจำหรือเป็นบางโอกาส เพื่อจะได้เลือกคอนแทคเลนส์ชนิดและขนาดที่เหมาะสม อาทิ เช่น ถ้าต้องการใช้คอนแทคเลนส์ในขณะออกกำลังกายที่ต้องมีการเคลื่อนไหวรุนแรง ได้แก่ กีฬาเทนนิส ว่ายน้ำ ผู้ใช้ควรใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ชนิดแข็งไม่เหมาะเพราะหลุดง่าย ทั้งนี้จักษุแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์จะแนะนำวิธีใช้ วิธีใส่และถอด ตลอดจนการดูแลรักษา รวมทั้งการทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ และนัดผู้ใช้เพื่อการตรวจเป็นระยะๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ใช้ใช้คอนแทคเลนส์ได้อย่างปลอดภัย

-----------------------------------------------------------------

ข้อมูลที่ผู้บริโภคควรสังเกตบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจซื้อ

เมื่อตัดสินใจจะใช้คอนแทคเลนส์ และได้รับความเห็นชอบจากจักษุแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจซื้อ ในหัวข้อดังนี้

  1. ชื่อคอนแทคเลนส์ และวัสดุที่ใช้ทำเลนส์
  2. คุณสมบัติของคอนแทคเลนส์ เช่น กำลังหักเห ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางรัศมีความโค้ง เป็นต้น
  3. ชื่อของสารละลายหรือน้ำยาที่ใช้แช่คอนแทคเลนส์ และชนิดของวัตถุกันเสียในน้ำยา ระยะเวลาการใช้งาน ยกเว้นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่ไม่กำหนดระยะเวลาการใช้งาน
  4. มีการระบุเดือน ปีที่หมดอายุ
  5. เลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์
  6. ชื่อ และสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า

 

เอกสารอ้างอิง

  1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัส. กรกฎาคม 2552.

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ คอนแทคเลนส์ บิ๊กอายส์

ฉบับที่ 275 ใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

        การใส่คอนแทคเลนส์ยังคงเป็นที่นิยม บางคนใส่เพื่อแก้ปัญหาทางด้านสายตา แต่บางรายก็เพื่อแฟชั่นความสวยงามเฉยๆ แต่รู้หรือไม่ แม้การใส่คอนแทคเลนส์จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรแต่ก็ควรจะต้องระมัดระวังกันไว้ เพราะเกี่ยวพันกับอวัยวะสำคัญอย่างดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบาง หากดูแลไม่ดีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ ยิ่งเฉพาะสำหรับมือใหม่ที่หัดใส่คอนแทคเลนส์เป็นครั้งแรกด้วยนั้น ยิ่งต้องดูแลให้ปลอดภัย ฉลาดซื้อจึงมีวิธีที่ถูกต้องมาแนะนำ การเลือกซื้อคอนแทคเลนส์         คอนแทคเลนส์ที่จำหน่ายโดยทั่วไปส่วนมากจะมีระยะเวลาในการใส่ เช่น หลักๆ ก็จะมีเป็นแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เป็นต้น ซึ่งสำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรจะใส่ตามระยะเวลาที่เลือกซื้อ เช่น หากเลือกซื้อแบบรายวัน ก็ควรใช้แบบวันต่อวันและเปลี่ยนใหม่ในวันถัดไปทันที ไม่ควรเอาแบบรายวันมาใส่เป็นรายเดือนเด็ดขาด รวมถึงแบบอื่นๆ ด้วย ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย         ในหมู่วัยรุ่นมักจะนิยมใส่คอนแทคเลนส์โดยซื้อจากตามท้องตลาดทั่วไป โดยไม่ตรวจเช็กรายละเอียดอื่นๆ แนะนำว่า ควรต้องดูฉลากกันสักหน่อย เช่น ชื่อคอนแทคเลนส์ วัสดุที่ใช้ วันเดือนปีที่หมดอายุ ที่สำคัญเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสามารถนำเลขมาตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ - กระทรวงสาธารณสุข อย่าลืมติ๊กเครื่องมือแพทย์ก่อนตรวจสอบ  ข้อควรรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์        1. สำหรับผู้ที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์เนื่องจากปัญหาสายตาสั้นแนะนำให้สอบถามผู้เชี่ยวชาญและเข้าตรวจวัดค่าสายตาก่อนใส่         2. ล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์ทุกครั้งก่อนใส่         3. ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ควรนำออกมาแช่น้ำยาคอนแทคเลนส์ก่อนทุกครั้ง ไม่แนะนำให้แช่เป็นน้ำเกลือหรือน้ำเปล่า         4. ตรวจเช็กก่อนใส่ว่าเลนส์ไม่พลิกหรือกลับด้าน เพื่อป้องกันการใส่ผิดด้านแล้วเกิดการระคายเคือง        5. เมื่อใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่รู้สึกระคายเคืองตา แสดงว่าเข้าที่เรียบร้อยแล้ว หากมีอาการแสบตาระคายเคืองไม่หาย แนะนำควรถอดออกทันที         6. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอนข้ามคืน (ต้องถอดออกก่อนเสมอ) เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรืออื่นๆ ที่อันตรายต่อดวงตาได้        7. สำหรับคนที่ปัญหาตาแห้งบ่อยควรพกน้ำตาเทียมเพื่อหยอดระหว่างวัน แนะนำใช้แบบธรรมดาไม่เป็นแบบหยอดตาแล้วเย็นหรือใดๆ ทั้งสิ้น        8. ที่สำคัญคือไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับคนอื่นโดยเด็ดขาด  ดูแลรักษาอย่างไรหลังใช้งาน         สำหรับคนที่ใช้แบบรายสัปดาห์ รายเดือนหรือปี ควรเปลี่ยนน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ในตลับทุกครั้งหลังใช้งาน และควรทำความสะอาดอีกด้วย โดยมีวิธีดังนี้         ล้างมือให้สะอาดและนำคอนแทคเลนส์ ไว้บนฝ่ามือเทน้ำยาลงที่เลนส์แล้วใช้นิ้วถูทำความสะอาดบริเวณเลนส์สักพัก และล้างด้วยน้ำยาอีกรอบ เมื่อเสร็จให้นำใส่ตลับแล้วแช่น้ำยาเหมือนเดิม รวมถึงทำความสะอาดตลับที่ใส่ทุกวัน ในส่วนของตลับใส่ก็ควรเปลี่ยนอย่างน้อยทุก 3 เดือน  ข้อควรระวัง        ·     พิจารณาบรรจุภัณฑ์หรือขวดบรรจุคอนแทคเลนส์ ต้องไม่มีรอยชำรุดหรือเสียหาย หากเจอในลักษณะนั้น ไม่ควรนำมาใช้งาน        ·     น้ำยาคอนแทคเลนส์ ควรดูฉลากให้ชัดเจน โดยเฉพาะวันเดือนปีที่หมดอายุ ถ้าหมดอายุแล้วไม่ควรนำมาใช้ต่อ ไม่ต้องเสียดายให้ทิ้งไปเลย นอกจากนี้อ่านฉลากหรือวิธีการใช้งานให้ละเอียดและควรทำตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากตัวน้ำยาคอนแทคเลนส์ก็มีหลากหลายรูปแบบ บางอันสามารถหยอดตาได้หรือบางอันไม่ได้  และวิธีการใช้งานอาจแตกต่างกัน และอย่าลืม ไม่ควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแทนน้ำยาเด็ดขาด         ·     หากมีอาการปวดเจ็บตาผิดปกติจากเดิม เช่น ตาแดง ตามัว ตามแห้ง รวมถึงอาการต่างๆ มากกว่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา  ข้อมูลจาก : วิธีการดูแล คอนแทคเลนส์ ที่ถูกต้อง วิธีใส่คอนแทคเลนส์ที่ปลอดภัย ทำได้ง่ายใน 7 ขั้นตอนคอนแทคเลนส์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยคอนแทคเลนส์ : เภสัชกรหญิง กิตติมา วัฒนากมลกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 การดูแล “ส้นเท้าแตก”

        ปัญหาผิวหนังที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ อาการส้นเท้าแตก ซึ่งแม้มันจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอะไรมากมาย หรืออันตรายต่อสุขภาพ แต่มักสร้างความรำคาญแถมอาจทำให้เสียความมั่นใจในการโชว์เท้าสวยๆ ของตัวเอง        สาเหตุในการเกิด “ส้นเท้าแตก” อาจจะเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่คือความเสี่ยงด้านพฤติกรรมต่างๆ  เช่น  การไม่สวมรองเท้าและเดินเท้าเปล่าบ่อยจนเกิดการเสียดสีมากๆ  อากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นหากบริเวณส้นเท้าไม่ทาครีมก็ทำให้ขาดความชุ่มชื่นจนเท้าแตกได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม บางคนอาจเกิดจากการอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแพ้สารเคมี ส่วนสาเหตุที่อาจพบไม่บ่อย คือ เกิดจากอาการป่วยหรือโรคที่เป็นนั้นเอง         ทั้งนี้ เรื่องอายุที่มากขึ้นก็เช่นกัน เมื่อเรามีอายุมากขึ้นจะมีผิวแห้งกร้านกว่าวัยหนุ่มสาว บริเวณที่เสียดสีกับปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะยิ่งเร่งให้ส้นเท้าแตกง่ายขึ้น  แล้วเราควรจะดูแลส้นเท้าแตกของเราอย่างไร การดูแลส้นเท้าแตก        ·     เลือกทาครีมบำรุงบริเวณส้นเท้าที่ให้ความชุ่มชื้นเยอะๆ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มให้ความชุ่มชื้น เช่น  ยูเรีย กลีเซอลีน สามารถทาและสวมถุงเท้าก่อนนอนได้เลย        ·     เรื่องการรักษาสุขอนามัยก็สำคัญ สามารถทำความสะอาดด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นแต่ไม่ควรเป็นน้ำที่ร้อนจนเกินไปเพราะจะทำให้เสียความชุ่มชื้นได้ ไม่ควรแช่นานจนเกินไป หลังจากนั้น สามารถนำหินมาขัดส้นเท้าเบาๆ ได้ เพื่อนำเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก ทั้งนี้ ไม่ควรขัดแรงๆ อีกด้วย ควรขัดเบาๆ ก็พอ        ·     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทำร้ายผิว ไม่แห้งตึง  หรือเป็นกรดด่างเกินไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนหรือมีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนผสมยิ่งดี แนะนำให้อ่านฉลากส่วนผสมก่อนซื้อทุกครั้ง        ·     ในส่วนของคนที่ชอบถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่า แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใส่รองเท้าทุกครั้ง ก่อนเดินไปที่พื้นเพื่อป้องกันการเสียดสี เปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้าหุ้มส้นได้ยิ่งดี แต่ก็ไม่ควรเป็นรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป        ·     การดื่มน้ำเป็นประจำวันละ 8 แก้ว ก็เป็นตัวช่วยจากภายในสู่ภายนอกได้         นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตตัวเองด้วยว่าปัญหาส้นเท้าแตกของตัวเองที่เกิดนั้น มาจากสาเหตุใด  แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤกรรม         อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางคนอาจจะเป็นมากถึงขนาดส้นเท้าแตกลาย หรือมีอาการเจ็บเป็นแผลลึก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยยิ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เพราะแพทย์จะเลือกทำการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ อาจจะจ่ายยารับประทาน ยาทาผิวหรือต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก เป็นต้น ข้อมูลจาก Hello คุณหมอ : วิธีแก้ส้นเท้าแตก และวิธีดูแลส้นเท้าไม่ให้แห้งแตกPobPad :  ส้นเท้าแตก สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 เล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บควรอย่างไรดี

        การทำเล็บเพื่อความสวยมีการพัฒนารูปแบบไปอย่างหลากหลาย ร้านทำเล็บมีกันเกลื่อนเมือง มีทั้งการทำเล็บเจลที่นิยมทำกันมากหรือการต่อเล็บปลอมแล้วตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งเป็นเล็บปลอมจากอะคริลิก PVC แต่รู้หรือไม่ อาจเสี่ยงให้เกิดเชื้อราหรือเป็นเล็บเขียวๆ หลังจากถอดเล็บปลอมออกไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเพราะว่ามองไม่เห็น จะมารู้ตัวอีกทีก็หลังจากถอดเล็บออกมาเท่านั้น         อาการเล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ส่วนมากคือเกิดจากความอับชื้น และจากอุปกรณ์ของช่างที่ไม่สะอาด ดังนั้นเพื่อให้รู้จักสังเกตอาการก่อนจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ลุกลาม สามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือหลังจากถอดเล็บปลอมออกแล้ว พบว่า เล็บเป็นสีเขียว หรือสีขาวหรือออกเหลืองๆ  และบางคนอาจมีอาการคัน บวม แดง ก็แสดงว่าติดเชื้อราเข้าแล้ว  เกิดอาการเล็บติดเชื้อรา ควรทำอย่างไรดี         ฉลาดซื้อ แนะนำว่าหลังถอดเล็บทุกครั้งให้ดูแลความสะอาดให้ดี พร้อมกับพักระยะเวลาการต่อเล็บปลอมหรือทาสีเจลไปอีกสักพักก่อน เพื่อให้เล็บได้ฟื้นตัว หากมีอาการแบบที่บอกไว้ข้างต้น ควรทายาฆ่าเชื้อราเพื่อรักษาอาการคู่ไปด้วย โดยหากเป็นไม่มากแค่ออกสีเขียวๆ ปรึกษาเภสัชกรให้แนะนำยาที่เหมาะแก่การรักษาให้ แต่หากมีอาการมาก คัน อักเสบ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันทีเพื่อไม่ให้เชื้อราเกิดลุกลามจนหน้าเล็บพัง เพราะในกรณีที่ลุกลามมากๆ อาจจะต้องให้แพทย์ทำการรักษา เช่น ตัดเล็บหรือถอดเล็บบริเวณเกิดเชื้อราออก ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาให้รับประทานโดยเฉพาะ         อีกเรื่องคือ หากใครที่ต่อเล็บแล้วพบว่าเล็บเหมือนจะหลุดแต่ยังไม่หลุด จนมีช่องว่างระหว่างตรงกลางไว้ แนะนำให้รีบไปถอดออกทันที อย่าปล่อยไว้ เพราะอาจมีช่องว่างให้น้ำเข้าไปจนเกิดความอับชื้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อเกิดเชื้อราโดยเฉพาะนั้นเอง ร้านทำเล็บต้องสะอาด         การเลือกร้านทำเล็บ ควรเลือกที่น่าเชื่อถือ มีการทำความสะอาดอุปกรณ์และมีอุปกรณ์เพื่อการฆ่าเชื้ออย่างดี ที่สำคัญฉลาดซื้อย้ำเตือนเสมอ คือ มีใบอนุญาตหรือช่างผ่านการอบรมมาอย่างดี รวมถึงเรื่องสุขอนามัยของร้าน เช็กให้ดีก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง  เพราะการที่เราจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน เราควรที่จะเน้นเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยเป็นหลักข้อมูลจาก : www.Pobpad.com ข้อควรรู้ก่อนทำเล็บปลอม เพื่อป้องกันเล็บพังwww.Pobpad.com ความหมาย เชื้อราที่เล็บwww.hellokhunmor.com เล็บปลอม กับข้อควรรู้ก่อนต่อเล็บปลอม

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 รู้ก่อนตัดสินใจ “สักคิ้ว”

        “การสักคิ้ว” เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการความสวยความงามของไทย ก็อย่างว่าคิ้วคือมงกุฎของหน้า สาเหตุที่คนนิยมกัน ก็เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาบริเวณส่วนคิ้ว เช่น บางคนต้องการสักคิ้วเพื่อแก้ปัญหาคิ้วบางจนเกินไป ไม่มีความมั่นใจหรือบางคนแค่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วให้ดูสวยขึ้น เป๊ะปังอยู่ตลอดเวลานั้นเอง การสักคิ้วสมัยนี้ก็มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้ง 3 มิติ 6 มิติ แบบการฝังสีคิ้วสไตล์เกาหลี เพิ่มโหงวเฮ้งของใบหน้าก็มีหาได้ทั่วไป          อย่างไรก็ตาม หากต้องการสักคิ้วจริงๆ อยากให้ผู้บริโภคศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจสักหน่อย เพราะหากสักพลาดไปแล้วแน่นอนแก้ยากกว่าที่คิด หลายคนคงจะเห็นได้จากข่าวที่มีคนพลาดไปสักคิ้วแล้วได้คิ้วทรงแปลกๆ ให้เห็นกันอยู่บ่อย ฉลาดซื้อ จึงอยากแนะนำ ดังนี้          1. ตรวจสอบร้านสักคิ้วที่เราต้องการใช้บริการ ช่างมีใบรับรองวิชาชีพหรือไม่ ก่อนลงมือสักมีการใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย         2. สถานที่ใช้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ซึ่งใบประกอบดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้ ภายในร้านต้องสะอาด ถูกอนามัย อยู่ในพื้นที่เปิดเผยเป็นหลักแหล่ง อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ควรใช้ซ้ำ         3. อ่านรีวิวก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง เพื่อศึกษาความน่าเชื่อถือของร้าน และให้แน่ใจว่าการใช้บริการจะปลอดภัย ตรงนี้แนะนำให้เช็กดีๆ         4. สำหรับคนที่แพ้ยาชาไม่ควรสักคิ้ว เนื่องจากการสักคิ้วก่อนลงเข็มจะต้องมีการลงยาชาเพื่อลดอาการเจ็บก่อน         5. ก่อนลงมือสักคิ้ว ควรแจ้งรายละเอียดทรงคิ้วที่อยากได้ให้ชัดเจน ให้ช่างร่างทรงคิ้วให้ดูก่อนยิ่งดีอย่าตามใจช่างเพราะอาจได้ทรงคิ้วที่ไม่ถูกใจ เมื่อสักไปแล้วการแก้ไขภายหลังก็ยากมากขึ้น         6. สำหรับคนที่ชอบเปลี่ยนทรงคิ้วตามกระแสบ่อยๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์     ความเสี่ยงในการสักคิ้ว         -  ไม่ได้ทรงคิ้วตามที่ต้องการอาจจะหนาเกินไป เหมือนที่คนทั่วไปเรียกว่า “คิ้วปลิง” นั้นเอง         -  การแก้ไขในภายหลังกรณีที่ทำการสักคิ้วไปแล้ว เช่น การสักคิ้วแบบถาวร ซึ่งอาจจะต้องแก้ด้วยการเลเซอร์ลบรอยสักเท่านั้น มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องทำอีกหลายครั้งจนกว่าสีจะจางเป็นปกติ แถมยังอาจมีแผลเป็นตามมาอีกด้วย         -  การเลือกร้านสักที่ไม่ถูกสุขอนามัย ไม่มีมาตรฐาน ทำให้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด         -  มีอาการแพ้สีที่ใช้สัก หรือยาชาโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน ทำให้เกิดการอักเสบ คัน หรืออื่นๆ แนะนำว่าอย่าปล่อยทิ้งไว้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที         -  ค่าใช้จ่ายในการสักคิ้ว ราคาสูงไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด                    นอกจากนี้  การสักคิ้วไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีก็มี เช่น ช่วยเสริมโหวงเฮ้ง ลดเวลาการเขียนคิ้วแต่งหน้า แก้ปัญหาสำหรับสาวคิ้วบางได้ตามที่กล่าวไปข้างบน แต่สำหรับใครที่ขี้เบื่อหรือชอบเปลี่ยนทรงคิ้ว แต่ยังอยากสักคิ้วจริงๆ  อาจเลือกการสักคิ้วแบบฝังสีฝุ่น ซึ่งเป็นการฝั่งสีคิ้วไปบริเวณบนหนังกำพร้า อยู่ได้ 3-6 เดือนหรือมากกว่านั้นและจะเริ่มจางหายไปเองตามธรรมชาติ เหมาะกับคนที่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วอยู่เรื่อย แต่อาจจะเหมาะสำหรับคนที่ชอบคิ้วสไตล์เกาหลีเท่านั้น          ทั้งนี้ “สำหรับคนที่ได้ไปสักคิ้วมาแล้ว ก็อยากให้ดูแลโดยการหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนน้ำ ทำตามคำแนะนำของช่าง เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อและอักเสบด้วยนะคะ”           ข้อมูลจาก : สักคิ้ว ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ - พบแพทย์ (pobpad.com)สักคิ้ว ข้อควรรู้ ขั้นตอน และแนวทางการดูแลตัวเองหลังสัก - พบแพทย์ (pobpad.com)

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)