ฉบับที่ 117 เอาออกด่วน...ศพละห้าร้อยถึงหนึ่งพัน

 

“ มีโอกาสพบเห็นคนบางกลุ่มในสังคมประกอบอาชีพแบบนี้เยอะมากขึ้น จนไม่รู้ว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไปแล้วหรือยังไง “

น้องเภสัชกรท่านหนึ่ง ตั้งคำถามกับผม พร้อมแสดงหลักฐานเป็นนามบัตรให้ผมดู ทีแรกนึกว่ามันจะมาชวนผมไปใช้บริการ แต่สุดท้ายก็บอกว่าวันนี้จะมาเล่าวิธีการให้บริการทำแท้งของคลินิกต่างๆ ให้ฟัง

“ คลินิกทำแท้งก่อนนั้นจะหลบๆ ซ่อนๆ แต่ก็จะรู้กันเฉพาะกลุ่ม  แต่ปัจจุบันนี้ไม่รู้ว่าปัญหาเหล่านี้มันมากขึ้นหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ คลินิกเหล่านี้มันเลยผุดขึ้นมากมาย  แถมยังตั้งเด่นเป็นสง่า บอกใบ้ให้ผู้ประสงค์ใช้บริการรับรู้กันอย่างแนบเนียน”

น้องเภสัชกรท่านนี้เล่าว่าตนเองขับรถผ่านตั้งแต่ย่านรังสิต นวนคร ประตูน้ำพระอินทร์ เรื่อยมาจนถึงโรจนะ  พระนครศรีอยุธยา มองปราดเดียวก็รู้ทั้งที่ไม่เคยใช้บริการแต่ก็พอจะดูออก(ฮา)   เพราะคลินิกเหล่านี้ มักจะมีคำบอกใบ้ไปนัยยะว่า เช่น บริการให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัว (ใครจะไปบอกโต้งๆ ล่ะว่าบริการทำแท้ง  เรื่องแบบนี้ลูกค้าเขารู้ดี แต่เจ้าหน้าที่อาจจะรู้ช้าไปหน่อย)

วิธีการหาลูกค้าของคลินิกเหล่านี้ก็คล้ายคลึงกัน คือ จะมีหน้าม้านำนามบัตร ซึ่งเขียนเลขรหัสไว้ดังรูป(เข้าใจว่าเป็นรหัสของหน้าม้าที่มาเดินแจกนามบัตร)    จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน ผมก็เคยเจอประสบการณ์ตรง นั่งขายยาที่ร้าน ปรากฏว่ามีคนเดินเข้ามาฝากแจกนามบัตร  คลินิกบริการให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัว มีการให้ยอดสมนาคุณด้วยว่า ถ้ามีผู้ไปใช้บริการที่คลินิกนั้น และแจ้งว่ามาจากร้านก็จะได้ค่าตอบแทน ศพละ หนึ่งถึงสองพันบาท


แต่ยุคนี้แจกแบบนี้คงไม่ทั่วถึงหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ดังนั้นนอกจากจะตระเวณแจกตามร้านขายยาแล้วยังมีการไปแจกและฝากวางไว้ที่ร้านเสริมสวย  หรือกระทั่งรถตู้รับส่งพนักงานโรงงานต่างๆ

เมื่อมีผู้ต้องการจะทำแท้งมาติดต่อสอบถาม ตัวแทน จากร้าน ที่ได้ฝากนามบัตรเหล่านี้  ก็จะให้นามบัตรแก่ลูกค้าเพื่อให้ถือไปยังคลินิก ซึ่งหลังจากทำแท้งเรียบร้อยแล้ว คลินิกจะส่งค่าตอบแทนมาให้ภายหลัง  สนนราคาก็จะแตกต่างกันไป ตามขนาดอายุของครรภ์ แต่เท่าที่ทราบ ราคาตั้งแต่ศพละ 500 - 1000 บาท (แสดงว่ายังตรึงราคาเดิมไว้ได้ แม้จะผ่านไป 7-8 ปีแล้วก็ตาม)

น้องเภสัชกรท่านนี้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้น พบว่า คลินิกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคลินิกที่ไม่มีแพทย์ประจำ แต่จะมีชื่อแพทย์  " แขวนป้าย " เท่านั้น ส่วนผู้ที่เป็นคนทำแท้ง ส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ฝึกฝนจนชำนาญ ซึ่งพบว่าสามารถทำแผล ฉีดยา และตรวจรักษาโรคได้ด้วย

 

ใครผ่านหรือพบเหตุการณ์เหล่านี้ก็อย่าลืมแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลุยได้เลยนะครับ

 

แหล่งข้อมูล: ภก.ภาณุโชติ ทองยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ทำแท้ง

ฉบับที่ 277 ยาชื่อพ้อง มองคล้าย อันตรายกว่าที่คิด

        จากข่าวแม่พาลูกชายวัย 1 ขวบที่ลื่นล้มศีรษะฟาดพื้นในห้องน้ำไปรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้โรงพยาบาลสแกนสมอง และโรงพยาบาลได้ส่งตัวลูกไปสแกนสมองที่โรงพยาบาลอีกแห่ง ระหว่างเดินทางพยาบาลที่นั่งไปด้วยให้น้องกินยานอนหลับ เพื่อที่น้องจะได้หลับไม่ดิ้นตอนเข้าเครื่องสแกน ปรากฎว่ายาที่ให้กลับไม่ใช่ยานอนหลับแต่เป็นยาที่มีกรดไตรคลอโรอะเซติก (TCA) ที่เป็นยาใช้ภายนอกสำหรับใช้ในการจี้-รักษาหูดหงอนไก่ เมื่อเด็กกินไปแล้วจึงเกิดอาการปากและลำคอไหม้ หลังจากเกิดเหตุมีการสืบสวนที่มาของยา เจ้าหน้าที่เภสัชที่จ่ายยาให้น้องกินอ้างว่าหยิบผิด เนื่องจากมีบรรจุภัณฑ์คล้ายกันกับยานอนหลับ         ปัญหายา “ชื่อพ้อง มองคล้าย”         ปัญหาลักษณะนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงเฉพาะยาในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังพบกับยาทั่วไปทั้งในร้านขายยา คลินิก สถานพยาบาลเอกชน รวมถึงร้านชำ ซึ่งมีทั้งเกิดจากความคล้ายกันโดยบังเอิญและความจงใจของบริษัทผู้ผลิตยา เนื่องมาจากผลประโยชน์เพื่อการโฆษณาทางการค้าที่คอยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายการกำกับควบคุมเข้มงวดที่ต่างกัน กล่าวคือ โฆษณาสินค้าตัวหนึ่ง แต่วางสินค้าที่ชื่อพ้องกันหรือลักษณะภายนอกบรรจุภัณฑ์ที่คล้ายกัน ทั้งที่ตัวยาสำคัญออกฤทธิ์นั้นแตกต่างกัน จึงเกิดความเสี่ยงนำไปสู่การใช้ยาผิดจากข้อบ่งใช้หรืออาจได้รับยาผิดกลายเป็นยาที่เคยแพ้มาก่อนนี้ หรืออาจได้รับยาต่ำกว่าหรือเกินกว่าขนาดที่ปลอดภัย หรืออาจได้รับยาคนละชนิดแล้วเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างกรณีที่เป็นข่าวนี้        ปัญหาความคล้ายคลึงของฉลากยาที่มีลักษณะ “ชื่อพ้อง มองคล้าย” เป็นปัญหาที่มีมานานและได้รับการแก้ไขในระดับองค์กรหรือโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่ต้นทางการอนุญาต ไม่ให้มียาที่“ชื่อพ้อง มองคล้าย”เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ยาของประชาชน            ความโหดร้าย ยาหน้าคล้าย ที่หมายมุ่ง            น้าป้าลุง แยกออกไหม ใครใคร่สน        ทั้งผลิต โฆษณา บิดเบือนปน                              ระชาชน ทุกข์ยาก ลำบากกาย             แสวงหา ยารักษา ยามป่วยเจ็บ                        แก้อักเสบ หรือฆ่าเชื้อ เรียกหลากหลาย        เสี่ยงลองกิน ตามคำบอก จากตายาย                   อันตราย ถึงชีวิน สิ้นเหลียวแล             บริษัทยา ผู้ผลิต คิดอะไรอยู่                            กฎหมายรู้ ผลกระทบ ไม่แยแส        อนาคต สุขภาพไทย จะอ่อนแอ                           หากไม่แก้ ทำไม่รู้ อดสูใจ             ยาสามัญ ประจำบ้าน เรียกขานชื่อ                    แท้จริงคือ แค่โฆษณา ยาอยู่ไหน        มีทะเบียน ไม่ผลิต หรืออย่างไร                            ยาปลอดภัย ยาสามัญ เฝ้าฝันรอ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 กาแฟโด่..กินแล้วโด่หรือดับ?

        “ชายวัย 69 พาสาวคู่ขาเข้าม่านรูด ดื่มกาแฟโด๊ปพลังก่อนช็อกดับคาห้องพัก จากการสอบสวนได้ข้อมูลว่าก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสาวคู่ขา ชายคนนี้ได้ดื่มกาแฟยี่ห้อหนึ่ง เพื่อเพิ่มสมรรถภาพให้อวัยวะแข็งตัว ซึ่งแพทย์คาดว่าอาจจะส่งผลต่อการสูบฉีดของหลอดเลือดที่มากเกินไป จนทำให้ชายคนนั้นเกิดอาการช็อกหมดสติ และเสียชีวิต”          จากข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ภญ.โศภิต สุทธิพันธ์ได้สืบค้นข้อมูลในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตกับ อย. แต่กลับพบว่ามีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ด่านอาหารและยาจังหวัดนราธิวาส ได้เคยพบและได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบ “ซิลเดนาฟิล (Sildenafil)”ในผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) ของ อย. ได้เคยติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นจากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลของต่างประเทศ พบข้อมูลว่า Health Sciences Authority (HSA) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้ตรวจพบสารนี้ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเช่นกัน           นอกจากนี้ในปี 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์กาแฟยี่ห้อหนึ่งซึ่งไม่ระบุเลขสารบบอาหาร ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญ คำเตือนในการบริโภค ครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ซึ่งได้ส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 ตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบ “ทาดาลาฟิล (Tadanafil)” ในผลิตภัณฑ์ และได้รายงานข้อมูลให้ อย.เฝ้าระวังทั่วประเทศไปแล้ว         ปัจจุบัน ซิลเดนาฟิล และ ทาดานาฟิล จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ จึงไม่สามารถหาซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ หาซื้อตามร้านขายยาได้เอง ผู้ซื้อจะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น         ซิลเดนาฟิล เป็นยาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย แต่ยานี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและไม่ช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ได้นานขึ้น แต่กลับมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ปวดศีรษะ หน้าแดง ร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ ตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีฟ้าสีเขียว และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ ส่วนทาดาลาฟิล (tadalafil) อยู่ในกลุ่มเดียวกับซิลเดนาฟิล ออกฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด ซึ่งมีข้อควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไต ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่ ผลิตภัณฑ์อาหารที่พบการปลอมปนซิลเดนาฟิล และ ทาดานาฟิล จัดเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยแก่การบริโภค ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมาย         ดังนั้น ผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อหรือซื้อกาแฟสำเร็จรูปพร้อมบริโภคที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศผ่านทางสื่อออนไลน์ เพราะเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากการปลอมปนยาที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ อย.ไม่เคยอนุญาตให้มีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าว หากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับด้านสมรรถภาพทางเพศควรปรึกษาแพทย์ และหากพบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านอินเตอร์เน็ต หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศทันที

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)