ฉบับที่ 182 รู้จัก “เครดิตลิมิต” ชีวิต 4G จ่ายไม่เกินร้อย

ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า sms หรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ โทรศัพท์มือถือ Smart Phone เดี๋ยวนี้ ทำอะไรได้มากมาย นอกจากเป็นโทรศัพท์ เอาไว้ติดต่อ โทรออก-รับสายแล้ว ยังใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ท่องเว็บไซต์ เล่นเกมส์ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ พูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้คนผ่าน Social Network หรือจะช็อปปิ้งซื้อของออนไลน์ก็สามารถทำได้ไม่ยาก จะดูหนัง ฟังเพลง ก็มีให้เลือกจนตาลาย หลายคนใช้แล้วก็ติดใจ เพราะมันทำให้ชีวิตมีสีสัน สะดวกสบาย และสนุกสนาน แต...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: ปิติชัย พงษ์วานิชอนันต์

250 point

LINE it!

ฉบับที่ 186 เส้นทางสายออร์กานิก

ฉันเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าผ่อนอารมณ์จากไอแดดด้านนอก ข้าวของสารพันถูกจัดเรียงบนชั้นไว้อย่างสวยงาม ยั่วความ อยากได้ อยากมี เป็นอย่างดี ของพื้นๆหลายอย่างมักดูดีขึ้นในห้างเสมอ ฉันคิดในใจ พลันที่สายตาเหลือบไปเห็นกองผักหลากชนิดที่ถูกจัดวางอยู่ไม่ไกล ยังไม่ทันที่จะก้าวเข้าไปดูใกล้ๆ ความรู้สึกขัดแย้งในใจก็ปรี่เข้ามาอย่างช่วยไม่ได้  ข่าวหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า ของที่ประทับ”ตราออร์แกนิก” ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่ง ถูกตรวจพบว่า มีสารปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐาน ผลตรวจสอบคงเป็นที่ผิดหวังของหลายฝ่าย จึงกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงเสียใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อต่างๆ วิทยุ โทรทัศน์ หรือในโลกโซเชียล ฉันนึกกระหยิ่ม และอยากจะพูดดังๆ ว่า “เพิ่งรู้กันหรอกหรือ”จริงๆ แล้วด้วยความที่ฉันเรียนเรื่องอาหาร และผูกพันอยู่กับวงการอาหารมาบ้าง ความเข้าใจที่ว่าความเป็นออร์แกนิกมันเป็นวิถีชีวิต มากกว่าการตีตราด้วยสัญลักษณ์เพียงไม่กี่อย่าง ก็ค่อยๆถูกซึมซับเข้าไปในแก่นความคิด ปรัชญาออร์แกนิกที่ฉันเข้าใจคือ การหวนกลับไปสู่ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมให้มากที่สุด ให้ลองย้อนกลับไปดูว่าคนโบราณเขาปลูกพืชอย่างไร ทำอย่างไรให้ดินสมบูรณ์ในโลกที่สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ยังไม่เป็นที่รู้จัก การหว่านเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศถือว่าเป็นการเพาะปลูกที่พึ่งพาธรรมชาติล้วนๆ การสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชโดยมีมนุษย์และสรรพสัตว์ในธรรมชาติเป็นผู้ช่วยทีขาดไม่ได้ แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้ให้ผลผลิตมากเท่าการเกษตรในยุคปัจจุบัน  แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคุณภาพ และคุณค่าอาหารของพืชผล แต่ในปัจจุบันเมื่อเกษตรกรรมถูกทำให้กลายเป็นอุตสาหรรมกลายๆ  เรื่องราวของการปลูก การหว่าน ผู้คนที่ผ่านเข้ามาทำในวงจรการปลูก ก็ค่อยๆหายไป พร้อมๆกับการเข้ามามีส่วนร่วมของพ่อค้าคนกลาง การตัดตอน ต่อ เติม เรื่องราวการผลิตเพื่อเน้นค้ากำไร ทำให้ผู้บริโภคสมัยใหม่เกิดความหวาดระแวง จนต้องหันมาพึ่งพากับสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานออร์แกนิก” แทน กระนั้นก็ตาม มาตรฐานความเป็นออร์แกนิกที่ผู้บริโภคหวังจะพึ่งพา ก็ถูกฉีกออกด้วยกำลังเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมออร์แกนิก  ที่กำลังเนื้อหอมในตลาดปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเคยคุยกับคุณลุงฝรั่งคนหนึ่งที่พบกันโดยบังเอิญ คุณลุงเป็นคนตัวไม่ใหญ่นัก แต่ดูทะมัดทะแมง ลุงแกเล่าว่า แกเป็นเจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองที่ไม่ได้ไกลออกไปนัก เมื่อฉันถามว่าฟาร์มของลุงปลูกพืชแบบออร์แกนิกมั้ย แกกล่าวว่า“ออร์แกนิกเหรอ มันก็แค่ภาพลักษณ์เท่านั้นแหละ สิ่งที่ผมทำมันยิ่งกว่าออร์แกนิกเสียอีก” คุณลุงกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมให้เหตุผลว่า ผักทุกอย่างที่ปลูกที่ฟาร์มล้วนแล้วแต่ได้รับการดูแลอย่างดีเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว โดยลูกแก แฟนของลูก เพื่อนของลูก มาช่วยกันลงแขก แกไม่สนใจกับมาตรฐานออร์แกนิกที่ถูกกำหนดขึ้น เพราะการขอจดมาตรฐานไม่เพียงแต่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น(การขอจด USDA Organic ในฟาร์มอย่างแกมีค่าใช้จ่ายปีละเกือบล้านบาทเลยทีเดียว) แต่ยังทำให้ราคาสินค้าของแกสูงขึ้นมากจนคนทั่วไปไม่สามารถซื้อหาได้ นอกจากนี้แกก็ไม่เห็นถึงความสำคัญว่าต้องหาที่จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าให้ใหญ่โต แกบอกว่า มีกลุ่มคนที่เข้าใจ และเชื่อใจในการปลูกของแกที่คอยอุดหนุนกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แกแนะว่าแกขายของผ่าน Farmers’ Market (ตลาดนัดเกษตรกร) ซึ่งต้องการสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ซื้อขายจากเกษตรกรโดยตรง รวมถึง CSA (Community Supported Agriculture) ที่คล้ายๆกับเครือข่ายการสนับสนุนการเกษตรที่จะทั้งกลุ่มจะไปเหมาผลิตภัณฑ์ฟาร์มมาทั้งปี โดยที่ทางฟาร์มจะส่งผักผลไม้ที่ได้ตามฤดูกาลไปให้สมาชิกอาทิตย์ละครั้ง ด้วยการสนับสนุนจากชุมชนเช่นนี้ ทำให้ฟาร์มของแกอยู่ได้ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็อยู่อย่างมีความสุข เพราะเหมือนเป็นการเผยแพร่ปรัชญาออร์แกนิกไปในตัวฉันเข้าใจได้ดีว่าในความหมายของคุณลุง Farmers’ Market เป็นอย่างไร มันคือตลาดที่มีกลุ่มเกษตรกรเป็นตัวตั้งตัวตี มักจัดขึ้นบนลานโล่งแจ้งหรือทางข้างถนน ไม่ว่าหน้าฝนหน้าหนาว แดดจะออก หิมะจะตก ทุกวันอาทิตย์ ชาวบ้านร้านช่อง เกษตรกร หรือคนธรรมดา ก็จะมารวมตัวกันในที่ที่นัดไว้แล้วเปิดหลังรถขายของขึ้น เพราะบางคนก็ขนของมาเต็มกระบะ แล้วก็โยนผักผลไม้มาให้คนที่จะมาซื้อได้ชิม ไม่มีการแต่งตัวสวยงามใดๆ จากผู้ขาย ไม่มีการเช็ดพืชผลแบบเช็ดแล้วเช็ดอีก เพราะบางรายก็เพิ่งเด็ด ขุด เอาพืชพันธุ์ของตนเองออกมาเมื่อตอนเช้าของวันนั้นเอง หัวแครอทยังมีคราบดิน ผลไม้ก็จะมีให้ชิมเป็นหย่อมๆ ลูกที่สุกเต็มที่ ดูเหมือนจะเริ่มเน่า เป็นลูกที่หวานที่สุด และก็ราคาถูกที่สุด เพราะต้องรีบขายให้ออก ไม่เพียงแค่พืชผักเท่านั้นยังมีสินค้าอื่นอีกมาก ทั้งแยม โยเกิร์ต ขนมปัง ซึ่งคนที่นำมาขายก็จะมีเต้นท์เป็นของตัวเอง เมื่อคนขาย พบคนซื้อ บทสนทนาที่มาที่ไปของอาหารต่างๆ ก็เกิดขี้นอย่างช่วยไม่ได้ “ผักนั้นเอามาจากไหน ปลูกยังไง เนื้อหมูนี้ออร์แกนิกหรือเปล่า ทำไมถึงออร์แกนิก ทำไมถึงไม่ทำออร์แกนิก ให้อะไรเป็นอาหารไก่ ผลไม้นี้ตอนปลูกใช้อะไรเป็นปุ๋ย เอาไปทำอะไรกินดี ส่วนไหนที่อร่อยที่สุด นมนี้เป็นหางนมหรือไม่ ชีสนี้ใช้นมแพะ หรือนมวัว ขนมปังนี้ใช้แป้งอะไรทำ คนแพ้ Gluten ทานได้มั้ย บลา บลา บลา”   บทสนทนาล้วนดeเนินไปอย่างมีอรรถรส ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คำถามมักติดตามมาด้วยคำอธิบายยาวเหยียด พร้อมกับเหตุผลที่ทำให้ฉันสัมผัสได้ดีถึงหยาดเหงื่อ แรงงาน ความภูมิใจ และความรู้สึกผูกพัน ที่คนขาย มีต่อผลผลิตของเขาเมื่อฉันก็ย้อนกลับมามอง Farmers’ Market ในบ้านเรา ฉันพบว่ามันไม่ได้เป็น ตลาดของเกษตรกรตรงตัวแบบที่เราเข้าใจกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ขายผลิตผลทางการเกษตรตรงๆ ส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่ขายมักเป็นอาหารแปรรูป ทั้งของกินเล่น เครป ขนมปัง วัฟเฟิ้ล ชา กาแฟ ไอศกรีม เบอร์เกอร์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือตกแต่งซึ่งล้วนแล้วแต่เน้นสินค้าทำมือให้เข้ากับรสนิยมต่างชาติ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มาอาศัยในเมืองไทย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นคนไทยซึ่งมักส่งสำเนียงภาษาต่างชาติออกมาเป็นประจำ ทำให้ฉันสามารถบอกได้เกือบจะทันทันทีว่าเขาเหล่านี้หาได้เป็นคนไทยทั่วๆไปไม่แน่นอนว่าการผลิตสินค้าเพื่อเอาใจคนกลุ่มนี้ ผู้ผลิตและผู้ขายย่อมต้องมีต้นทุนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์ หรือ ต้นทุนความรู้ ทั้งความรู้ในการผลิต และความรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกษตรกรไทยทั่วไปที่ยังต้องเก็บหอมรอมริบเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คงไม่สามรถยกระดับตัวให้กลายเป็นผู้ขายในตลาดนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันกับที่ Farmers’ Market ได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเมืองกรุง ผู้คนมากมายต่างพากันมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าคลีนๆที่ว่านึ้ เกษตรกรหลายรายที่ไม่ได้ขัดสนได้ถือเอาตลาดแห่งนี้เป็นที่พบปะกับผู้บริโภค เรียนรู้ตลาดและความต้องการที่หลากหลาย แต่ใช่ว่าผู้ขายสินค้าการเกษตรทั้งหมดจะเห็นตรงกัน เพราะพร้อมๆกับที่ชื่อเสียงของตลาดแห่งนี้ได้มีมากขึ้น บริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยที่ค่อยๆ กินรวบทั้งระบบการผลิต การค้าส่ง และค้าปลีก ก็เล็งเห็นช่องทางการขายแบบใหม่ ที่ให้กำไรดีกว่าสินค้าเดิม ก็ได้หาเหตุแอบแฝงมาในนามเกษตรกรรายย่อย และขายสินค้าของตนเองอย่างภาคภูมิใจด้วยถือว่าตนเองก็เป็น “ออร์แกนิก” เช่นกัน ฉันถอนหายใจอย่างปลงๆ พร้อมกับรู้สึกกระอักกระอ่วนเล็กๆ อาจเป็นเพราะมีเค้าลางส่อว่า “เงิน” มีค่ามากกว่า “ปรัชญา” ที่ฉันเคารพหรือเปล่า ฉันคิดไปว่า “เงิน” สามารถ “ซื้อ” ปัจจัยการผลิตได้ตั้งแต่ ที่ดิน นักวิชาการ แรงงาน วัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อเอามาสร้างความร่ำรวยให้เพิ่มขึ้นได้อย่าง “ง่ายดาย” แล้วอะไรคือ หยาดเหงื่อแรงงานของคนผลิตที่ฉันอยากสนับสนุน “เงิน” ของฉันจะถูกนำไปใช้เพียงเพื่อต่อ “เงิน” ให้คนอื่นที่ไม่ได้ขัดสนอะไรเท่านั้นหรือ แล้วความภูมิใจที่ฉันอยากมอบให้แรงงาน เหมือนกับคุณลุงเจ้าของฟาร์มคนนั้นมันอยู่ไหน ฉันรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง มันช่วยไม่ได้ ก็เมื่อความคิด จินตนาการมันสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงฉันเดินค่อยๆเดินถอยออกมาจากชั้นผัก “ออร์แกนิก” พร้อมๆ กับยิ้มเยาะให้กับตัวเลือกที่จำกัดของผู้บริโภคชาวกรุงยังอีกไกล...ที่คนบ้านเราจะเห็นออร์แกนิกเป็นปรัชญามากกว่าเป็นเพียงสินค้าสุขภาพยังอีกไกล...กว่าปรัชญาจะแทรกซึมให้เข้าไปถึงเบื้องลึกในใจของคนไทยยังอีกไกล...ที่แรงงานภาคเกษตรจะได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่าเม็ดเงินยังอีกไกล...ที่ตราออร์แกนิกจะสิ้นความหมายเพราะความเชื่อใจที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กันยังอีกไกล...ที่  Farmers’ Market จะเป็นของทุกคน เพื่อทุกคน อย่างแท้จริงฉันคงได้แต่เพียงหวังว่า “วันนั้น” จะมาถึง ก่อนที่จะสายเกินไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 ไขความลับ 5 ข้อของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ประเทศไทยยามนี้ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความหดหู่ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคหดหาย ร้านรวงต่าง ๆ ก็พลอยห่อเหี่ยวตามไปด้วย เศรษฐกิจฝืดเคือง เงินทองขาดสภาพคล่อง หลายคนเริ่มต้องมองหาแหล่งเงินกู้ เอาไว้สำรองในภาวะฉุกเฉิน คนที่มีแก้วแหวนเงินทองของมีค่า ที่พอจะขายหรือจำนำเปลี่ยนเป็นเงินสด ก็ดิ้นรนกันไป แต่ทรัพย์สินอย่างรถยนต์นั้น เป็นของชิ้นใหญ่ที่ไม่ได้ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนทองคำ มิหนำซ้ำสำหรับบางคน รถยนต์ คือ เครื่องมือประกอบอาชีพ ขายไปแล้วก็ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ถ้ามีหนทางเปลี่ยนรถเป็นเงินสด เพื่อมาแก้ปัญหาความขัดสนเฉพาะหน้าไปก่อนได้ก็คงดี “ต้องการเงินสด รถคุณกู้ได้ อนุมัติไว ไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน แถมยังมีรถขับเหมือนเดิม”    โอ้โห !!! อะไรมันจะวิเศษอย่างนี้ หลายคนคงนึกในใจเวลาที่ได้ยินโฆษณาประเภท รถแลกเงิน เงินติดล้อ คาร์ฟอร์แคช ฯลฯ แหม มันดีเลิศประเสริฐศรี จนอยากจะขับรถไปกู้เงินให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย แต่ช้าก่อน วันนี้ ผมมีความลับ 5 ข้อ ของสินเชื่อประเภทนี้ มาบอกให้คุณรู้ ก่อนตัดสินใจไปกู้เงิน ความลับข้อที่ 1 ธุรกิจสินเชื่อ หรือ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ธุรกิจปล่อยเงินกู้” ประเภทรถแลกเงินนั้น มีชื่อจริงอย่างเป็นทางการว่า “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” เพราะเจ้าหนี้จะเก็บแค่สมุดจดทะเบียนรถไว้เป็นหลักประกัน โดยไม่ได้ยึดรถไว้ ลูกหนี้จึงยังคงมีรถขับตามปกติ ความลับข้อที่ 2 คนที่จะขอสินเชื่อกลุ่มนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของรถในเล่มทะเบียน จะเป็นรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ก็กู้ได้ทั้งนั้น ส่วนคนที่ยังผ่อนไม่หมด รถติดไฟแนนซ์เจ้าหนี้จะไม่ให้กู้     ความลับข้อที่ 3 การจำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม แบบนี้คนที่มาขอสินเชื่อจะต้องทำสัญญาขายรถยนต์ของตนเองให้กับเจ้าหนี้ในราคาที่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของรถรุ่นนั้น ๆ ที่ซื้อขายกันโดยทั่วไป เมื่อเซ็นสัญญาซื้อขายและโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถในเอกสารเล่มทะเบียนเรียบร้อย  เจ้าหนี้ก็จะเอารถที่เราเพิ่งขายไปนั่นแหละ มาให้ลูกหนี้ทำสัญญาเช่าซื้ออีกครั้งหนึ่ง กำหนดให้ผ่อนกี่งวด บวกดอกเบี้ยร้อยละเท่าไรก็ว่ากันไป ถ้าชำระครบ เจ้าหนี้ก็จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์กลับมาเป็นของลูกหนี้     ดังนั้น ในระหว่างการผ่อนหนี้จำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม คุณต้องรู้ว่า คุณไม่ใช่เจ้าของรถคันนั้นอีกต่อไปแล้ว (แม้ที่ผ่านมาคุณจะผ่อนรถคันนั้นหมดไปแล้วก็ตาม) ตอนนี้คุณเป็นแค่ผู้เช่าซื้อ ดังนั้น ถ้าขาดส่งค่าเช่าซื้อ 2 งวดเมื่อไร เจ้าหนี้ก็มีสิทธิมายึดรถไปได้ และที่สำคัญ ห้ามเอารถคันนี้ไปขายต่อเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ได้     ความลับข้อที่ 4 การจำนำทะเบียนแบบโอนลอย  แบบนี้จะไม่มีการทำสัญญาเช่าซื้อ แต่เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขายรถยนต์แบบโอนลอยแทน คือเซ็นเอกสารสัญญาซื้อขาย เอกสารการโอนต่าง ๆ ไว้ครบถ้วนพร้อมโอนทะเบียนแล้ว เพียงแต่เจ้าหนี้ยังไม่แจ้งเปลี่ยนชื่อเจ้าของในสมุดจดทะเบียน ซึ่งตามกฎหมายสัญญาซื้อขายนี้ เมื่อจ่ายเงินกันแล้วก็ถือว่าสมบูรณ์ กรรมสิทธ์ในรถเป็นของผู้ซื้อ (เจ้าหนี้) แล้ว แม้ว่าชื่อเจ้าของในเล่มทะเบียนยังเป็นชื่อของลูกหนี้ก็ตาม เพราะสมุดจดทะเบียนไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ความลับข้อที่ 5 สรุปว่าแม้ชื่อธุรกิจประเภทนี้จะเรียกว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่นิติกรรมสัญญาที่คุณทำกับเจ้าหนี้จริง ๆ แล้ว ถ้าเรียกกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ คุณทำสัญญาขายรถของคุณให้เจ้าหนี้ แล้วเจ้าหนี้ก็เอารถนั้นแหละมาเป็นหลักประกัน ถ้าเกิดเบี้ยวหนี้ขึ้นมาเขาก็ยึดรถคันนั้นได้เลย นี่คือเหตุผลเบื้องหลังว่า ทำไมเจ้าหนี้ สินเชื่อประเภทนี้จึง อนุมัติไว ไม่ต้องการคนค้ำประกัน เพราะ เจ้าหนี้มีความเสี่ยงน้อย แม้จะยึดแค่เล่มทะเบียนไว้ แต่จริง ๆ แล้วเขาได้กรรมสิทธิ์ในรถของลูกหนี้ไปแล้วทั้งคันต่างหาก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 เป็นคนดี เสียภาษีน้อยกว่า รู้ยัง

นับตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2559 เป็นช่วงเวลาของการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีประจำปี 2558 แฟนๆ ฉลาดซื้อยื่นแบบกันรึยังครับ สำหรับคนที่มีแนวโน้มว่าจะได้เงินภาษีคืน รีบยื่นแบบหน่อยก็ดีนะครับ เพราะหากไปยื่นช่วงโค้งสุดท้ายก็จะต้องรอนานนิดหนึ่ง ส่วนคนที่ดูแล้วว่าอาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่ได้เงินภาษีคืน ก็เลยยังนิ่งนอนใจอยู่ ก็อย่าชะล่าใจ เพราะยังไงเกิดเป็นคนไทยมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีกันทุกคน ปี 2558 ผ่านไปแล้วยังไงก็แก้ไขไม่ได้ มาเริ่มต้นวางแผนภาษีปี 2559 กันตั้งแต่วันนี้ดีกว่าครับ รับรองว่าปีหน้าคุณจะมีเงินเหลือติดกระเป๋ามากกว่าปีนี้แน่นอน     การวางแผนภาษีนี้ไม่ใช่การหนีภาษีนะครับ เพราะหนีภาษีหรือโกงภาษีนั้นมันผิดกฎหมาย แต่การวางแผนภาษี คือการใช้สิทธิต่าง ๆ มาลดหย่อน เพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง ได้รับเงินภาษีคืนมากขึ้น ซึ่งการวางแผนภาษีนี้ก็มีหลากหลายวิธี แต่คุณรู้ไหมครับว่า “การเป็นคนดี” ก็ช่วยให้คุณเสียภาษีน้อยลง      1. เป็นคนดีมีความกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่ ลดหย่อนภาษีได้ ถ้าคุณเป็นลูกที่ดีดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมิได้ทำงานมีเงินได้หรือมีเงินได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี ทั้งพ่อแม่ของคุณหรือพ่อแม่ของแฟนคุณ(กรณียื่นภาษีร่วมกัน) ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ท่านละ 30,000 บาท สำหรับคนที่มีพี่น้องหลายคนก็ต้องพูดคุยตกลงกันนะครับว่าจะให้ใครเป็นคนใช้สิทธิลดหย่อนนี้ เพราะหากพ่อหรือแม่ออกหนังสือรับรองสิทธิลดหย่อนให้ลูกคนใดแล้ว ลูกคนอื่นก็จะมาใช้สิทธิซ้ำอีกไม่ได้     2. เป็นคนดีมีเมตตาดูแลคนพิการหรือทุพพลภาพ หักลดหย่อนได้ถึงคนละ 60,000 บาท ถ้าคุณดูแลคนพิการในครอบครัว (ซึ่งกฎหมายจำกัดสิทธิเฉพาะ คู่สมรส พ่อแม่ ลูกหรือลูกบุญธรรม) ไม่ว่าจะกี่คนก็ตามกฎหมายให้สิทธิลดหย่อนคนละ 60,000 บาท และถ้าคุณรับอุปการะคนพิการอื่น ๆ อีก อันนี้กฎหมายให้สิทธิลดหย่อนได้อีก 1 คน แต่ทั้งนี้ในบัตรประจำคนพิการจะต้องระบุชื่อคุณเป็นผู้ดูแล     3. เป็นคนดีรู้จักเก็บออม ได้สิทธิลดหย่อนภาษี นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่สามารถนำเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ปีละไม่เกิน 10,000 บาทแล้ว ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเกณฑ์เดียวกับที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ     4. เป็นคนดีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บริจาคเงินก็ได้สิทธิลดหย่อนภาษี ถ้าบริจาคให้สถานศึกษาสามารถนำมาหักภาษีได้ถึงสองเท่าของเงินที่บริจาค ส่วนการบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลอื่น ๆ นั้น จะต้องเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามประกาศของกระทรวงการคลังจึงจะได้สิทธิลดหย่อนตามจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว     ถึงตรงนี้ก็อยากจะเชิญชวนผู้อ่านร่วมกันบริจาคเงินให้ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ซึ่งนอกจากคุณจะได้ส่วนลดทางภาษีแล้ว เงินของคุณยังช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้น ผ่านการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งมีกิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งในแต่ละปีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิฯ สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาไม่น้อยกว่า 10,000 คน และยังยกระดับการทำงานคุ้มครองสิทธิไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม อาทิ การเรียกร้องให้โรงพยาบาลเอกชนยุติการเรียกเก็บเงินจากการใช้บริการกรณีฉุกเฉิน หรือการผลักดันให้มีการคิดค่าโทรศัพท์มือถือตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษ ซึ่งจะสามารถช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินได้มากกว่า 38,200 ล้านบาทต่อปี รวมทั้ง “ฉลาดซื้อ” ที่อยู่ในมือของท่านผู้อ่านขณะนี้ ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้สู่ผู้บริโภค

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 4 วิธี ลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ให้อุ่นใจแบบคุ้มค่า

ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ คงจะคุ้นหูกับคำว่า พรบ.รถยนต์ ,ประกันภัยชั้น 1 ,ชั้น 3 และคุ้นตากับสติ๊กเกอร์ประกันภัยที่ติดอยู่หน้ากระจกรถ และทุกปีมีหน้าที่จะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรถยนต์     ถ้าเป็นประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ซึ่งกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำประกันภัย เบี้ยประกันก็อยู่ที่ปีละ 650 – 1,000 บาทต้น ๆ ไม่แพงมากนักเพราะกฎหมายควบคุมอัตราเบี้ยประกันไว้     ส่วนประกันภาคสมัครใจ เช่น ประกันภัยชั้น 1 , ชั้น 3 ซึ่งเป็นส่วนเสริมที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้นั้น เบี้ยประกันอยู่ที่ปีละประมาณ 5 พันบาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับรถที่คุณใช้ ทุนประกันและความคุ้มครองที่คุณเลือก     ในกรณีที่เป็นรถประเภทเดียวกัน รุ่นเดียวกัน เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมบางคนจ่ายเบี้ยประกันได้ถูกกว่า ทั้งที่ทุนประกันและความคุ้มครองก็ได้รับเท่ากัน นั่นเป็นเพราะแต่ละคนได้รับส่วนลดเบี้ยประกันไม่เท่ากัน การจะได้ส่วนลดมากหรือน้อยนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของแต่ละละบริษัท ว่าต้องการกระตุ้นยอดขายมากขนาดไหน แต่อีกส่วนก็ขึ้นอยู่กับความรู้ของผู้บริโภคว่าจะเท่าทันตัวแทน นายหน้าประกันภัย ขนาดไหน ผมจึงอยากจะแนะนำ 4 เรื่องที่คุณควรรู้เพื่อการลดเบี้ยประกันภัย ให้ได้รับความคุ้มครองแบบอุ่นใจและคุ้มค่าเงินเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย      1. ระบุชื่อคนขับให้ชัดเจน ลดได้ 5 -20 % เพราะรถที่ใช้โดยคนคนเดียว ย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่ารถที่ขับกันหลายมือ ดังนั้น รถที่ใช้ในครอบครัว ถ้าระบุชื่อผู้ขับขี่ลงไปในกรมธรรม์จะลดเบี้ยประกันได้ และยิ่งถ้าคนขับมีอายุ มีวุฒิภาวะมากขึ้น ส่วนลดก็จะมากตาม     อายุ 18 -24 ปี ส่วนลดเบี้ย 5%    อายุ 25 – 35 ปี ส่วนลดเบี้ย 10%    อายุ 36 – 50 ปี ส่วนลดเบี้ย 15%    อายุ 50 ปี ขึ้นไป ส่วนลดเบี้ย 20%     แต่ต้องเตือนกันไว้ก่อนนะครับว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ที่ขับขี่รถยนต์ไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อระบุไว้ในกรมธรรม์ แบบนี้จะประกันจะไม่จ่ายค่าเสียหายส่วนแรกในวงเงินไม่เกิน 8,000 บาท     2. ขับดี มีส่วนลด 20 -50 % การขับขี่รถอย่างระมัดระวัง ไม่เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุแต่คุณมิได้เป็นฝ่ายผิด คุณมีสิทธิได้ส่วนลดเบี้ยประกันจากการมีประวัติที่ดี และส่วนลดจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในปีถัด ๆ ไป     ขับดีปีแรก ได้รับส่วนลด 20% เมื่อต่ออายุประกันปีต่อไป     ขับดี 2 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 30%     ขับดี 3 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 40%    ขัดดี 4 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 50%    เพื่อรักษาเครดิตส่วนลดนี้ บางครั้งการเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงอาจจะยังไม่จำเป็นต้องเคลมประกัน หากคำนวณแล้วว่าการซ่อมเองคุ้มกว่าส่วนลดเบี้ยประกันที่ได้รับ     3. รวมรถ ลดได้อีก 10% ถ้าคุณมีรถยนต์หลายคัน การทำประกันรถยนต์แบบกลุ่มตั้งแต่ 3 คันขึ้นไป สามารถขอส่วนลดได้อีก 10%     4. รับความเสี่ยงไว้เองบางส่วน จ่ายเบี้ยน้อยกว่า หรือที่ภาษาประกันเรียกว่า การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก หมายความว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุที่คุณเป็นฝ่ายผิด คุณจะร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ในวงเงินที่กำหนดไว้ เช่น ถ้าคุณกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกไว้ 5,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องซ่อมรถที่เสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท คุณจะต้องจ่ายเงินค่าซ่อมเองก่อน 5,000 บาท ประกันถึงจะจ่ายส่วนที่เหลือ     การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกในลักษณะนี้ ก็สามารถเอามาเป็นส่วนลดเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายได้เช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงของบริษัทประกันภัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ไม่มีประโยชน์ที่จะทำประกันภัยรถยนต์ราคาถูก ๆ กับบริษัทที่ไม่มั่นคงแต่พอถึงเวลาแล้วเคลมไม่ได้ อู่ซ่อมไม่มีมาตรฐาน พนักงานบริการแย่ เพราะมันจะได้ไม่คุ้มเสียนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ความคิดเห็น (0)